เดือน ๖ จุลศักราช ๑๒๕๒

วันที่รัชกาล ๗๘๓๐ วัน ๗ ๖ ค่ำ ปีขานโท๒๓ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๑๙ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๕๒ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

วันนี้เป็นวันจ่ายช้างที่จะเป็นพาหนะในการเดินทาง ซึ่งได้มาถึงพร้อมแล้วคือช้างเมืองชุมพร ประทิว ท่าแซะ รวม ๗๔ เชือก ช้างเมืองไชยา ๒๓ เชือก ช้างเมืองระนอง ๕๔ เชือก เมืองหลังสวน ๒ เมืองนครศรีธรรมราช ๓๒ รวมเป็นช้าง ๑๘๕ เชือก

เวลาบ่ายพระยาเพชรกำแหงกับกรมการแลราษฎรมาคอยเฝ้าถวายของอยู่มาก เวลาบ่าย ๒ โมงเศศ เสดจออก พระครูจุฬามุณี วัดมงคลนิมิต นำคนโทบังกะหรี่เงินว่าเป็นของขุดได้จากแผ่นดินกับป้านแลถ้วยชามของเก่าต่าง ๆ มาถวาย ได้มีพระราชดำรัสด้วยตามสมควรแล้ว พระราชทานปัจจัยมูลราคา ๑ ชั่ง แล้วพระสุรินทรามาตย์ทูลเบิกเจ้าเมืองกรมการแลราษฎรทูลเกล้า ฯ ถวายของต่าง ๆ

วันนี้พระยานครศรีธรรมราช ซึ่งคุมช้างมารับเสด็จมาถึงได้เข้าเฝ้าด้วย โปรดเกล้า ฯ พระราชทานกาถังเงินขนาดใหญ่แก่พระยาวิชิตภักดี ๑ ขนาดย่อมแก่พระยานครศรีธรรมราช ๑ พระยาเพชรกำแหง ๑ แลพระราชทานเสื้อสักกะหลาดแก่กรมการราษฎรที่ทูลเกล้า ฯ ถวายของ โปรดเกล้า ฯ พระราชทานเงินตามสมควรทั่วกันแล้ว มีพระราชดำรัสกับ พระยาไชยา พระยาชุมพร } ด้วยเรื่องภูมิประเทศบ้านเมืองเป็นต้นอยู่จนบ่าย ๔ โมงเศศ เสด็จขึ้นเวลาบ่าย ๕ โมงเศศ เสดจออกทรงเรือพระที่นั่งกันเชียงพร้อมด้วยกระบวนข้างใน ข้ามฟากไปประภาศบ้านท่าตะเภา ซึ่งเป็นเมืองชุมพร ย่ำค่ำแล้วเสด็จกลับ.

วันที่รัชกาล ๗๘๓๑ วัน ๑ ๖ ค่ำ ปีขานโท๒๓ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๒๐ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

วันนี้เป็นวันกำหนดที่จะได้เสด็จทางบก ตั้งแต่พลับพลาชุมพรเป็นต้นทางไป พาหะนะที่จะบันทุกเครื่องสัมภาระทั้งปวงในครั้งนี้ใช้ช้างทั้งสิ้น ช้างทรงพระไชยผูกพระที่นั่งกระโจมทอง ช้างคนขี่ผูกกูบ ช้างบันทุกของผูกสับปคับผูกว่อง กระบวนช้างล่วงน่าไปแต่กลางคืนบ้าง ไปแต่รุ่งเช้าบ้างเป็นกระบวนหลังบ้าง

เวลาย่ำรุ่งแล้วเสด็จออกทรงม้าพระที่นั่งสีเหลืองยังไม่ได้ขึ้นระวางเป็นม้าฝีเท้าคือทั้งเร็วแลเรียบ พร้อมด้วยกระบวนนำตามเป็นกระบวนม้า กระบวนข้างในนั้นเก้าอี้ผูกคานคนหามมาข้างหลังกระบวนเสด็จอีกกระบวนหนึ่ง เสดจพระราชดำเนินจากพลับพลาเมืองชุมพร ไปตามทางเดิมที่สำหรับเดินช้างบันทุกสินค้าไปมาในรหว่างเมืองกระกับเมืองชุมพรเป็นแต่ตกแต่งถากถางบ้างเล็กน้อย สินค้าที่นี่ที่เป็นขาออกเป็นสินค้ากรุงเทพ ฯ มีหม้อเข้าเป็นสำคัญกว่าอื่น ขากลับบันทุกหวายชุมพรเป็นต้นซึ่งเปนสินค้าเกิดที่เมืองกระเข้ามาเมืองชุมพร ค่าจ้างบันทุกไปมาเที่ยวละ ๔ บาท ตั้งแต่พ้นทุ่งนาซึ่งเรียกว่ากรอกธรณีออกไปก็เป็นที่ลุ่มๆ ดอนๆ ไปตลอด ทางที่ข้ามลำน้ำนั้นถ้าเป็นลำคลองใหญ่คือคลองชุมพร ซึ่งทบไปทบมาต้องข้ามหลายแห่งนั้นทำเป็นตพานข้าม ลำน้ำลำห้วยที่ไม่สู้กว้างนักก็ไม่ได้ทำ มาทาง ๒๐๐ เส้นเศศถึงบ้านถ้ำสนุกนี้มีบ้านแลสวน เสด็จประทับเสวยเข้าในสวนอำแดงนุ้ย สองข้างทางตั้งแต่กรอกธรณีมาจนถึงบ้านถ้ำสนุกนี้มีทุ่งนาเกือบจะติดต่อกันไปแต่เป็นที่ร้างเสียหลายตำบล เพราะน้ำฝนน้ำท่าไม่ปรกติ เข้ามักจะเสียมากกว่าได้

เวลา ๔ โมงเศศเสดจพระราชดำเนินจากบ้านถ้ำสนุกนี้ครู่หนึ่งถึงหลักสามร้อยเส้นเป็นที่สุดที่คนเมืองชุมพรไปทำมาหากิน ทางต่อนี้ไปเป็นป่าดิบโปร่งๆ มีต้นตะเคียนต้นยางใหญ่ห่าง ๆ ที่ทึบก็ทึบด้วยไม้เล็กๆ คือไผ่ผากแลระกำเป็นพื้น ทางระยะนี้ต้องขึ้นเนินแลข้ามคลองหลายแห่ง ที่ต้องข้ามห้วยตลิ่งสูงสองแห่งคือห้วยพรึงกับบกแพะ แผ่นดินที่สูงในตอนนี้เพียง ๑๕๐ ฟิต เวลา ๒ โมงเศศถึงบกแพะซึ่งเป็นที่ตั้งพลับพลาเป็นที่ประทับร้อนเป็นระยะทาง ๑๖๒ เส้น เสดจประทับร้อนอยู่จนเวลาบ่าย ๓ โมงเสดจจากตำบลบกแพะต่อไป ทางตอนนี้ต้นไม้ทึบกว่าที่ล่วงมาแล้ว แต่ทึบด้วยไผ่ผากขึ้นชิดลำประกันครอบทางมีไม้ใหญ่เป็นระยะห่าง ๆ คือต้นยูงเป็นต้น แลต้องขึ้นสูงลงต่ำถี่ขึ้นเพราะทางเดินเลียบขึ้นไปตามไหล่เขาแต่เขาเหล่านี้เป็นดินแดง ๆ มากกว่าเป็นศิลา ศิลาก้อนมีบ้างก็เป็นศิลาลอย ต้องข้ามชุมพร ๒ แห่งคือท่าแซะแลหาดพม่าตาย ตามทางที่มานี้แลเห็นภูเขารอบทุกด้านสลับสับเปลี่ยนกันมา ไหล่เขาที่สูงตอนนี้อยู่ใน ๒๕๐ ฟิตไปหา ๓๐๐ ฟิต บ่าย ๔ โมงถึงพลับพลาประทับแรมตำบลท่าไม้ลาย รวมเป็นระยะทาง ๖๐๐ เส้นเศศ ประทับพักครู่หนึ่งแล้วเสดจขึ้นทอดพระเนตรพลับพลา ที่ซึ่งตั้งพลับพลานี้อยู่ในระหว่างซอกเขาทั้งสองข้าง มีลำคลองชุมพรอยู่ใกล้เขาด้านหนึ่ง มีพลับพลาท้องพระโรงหลังหนึ่ง ๕ ห้อง พลับพลาข้างในหลังหนึ่ง ๗ ห้องหันน่าลงลำคลองมีชานกว้างปลูกลงไปในน้ำใต้ร่มอินทนิน ๔ ต้น น้ำในลำธารลึกอยู่ในคืบเศศศอกหนึ่งไหลเชี่ยว ข้างน่าใช้ปักเต๊นเป็นที่เจ้านายแลข้าราชการพัก รั้วค่ายใช้ม่านฉนวน ทอดพระเนตรทั่วแล้วเสดจออก พระอัษฎงค์กับกรมการเมืองชุมพรที่มาทำพลับพลาเข้าเฝ้าพระราชทานของแลเสื้อผ้าแก่กรมการทั่วกัน เวลาบ่าย ๕ โมงเศศกระบวนข้างในมาถึงพร้อมกันแล้วเสดจขึ้น

วันที่รัชกาล ๗๘๓๒ วัน ๒ ค่ำ ปีขานโท๒๓ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๒๑ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลาเช้าโมงเศศเสดจออกทรงม้าพระที่นั่งกระบวนข้างในเหมือนวันก่อน เสด็จพระราชดำเนินจากพลับพลาท่าไม้ลายไปตามระยะทางหน่อยหนึ่งมีเรือนชาวเมืองกระมาทำไร่อยู่ในแขวงเมืองชุมพรสองหลัง ทางเดินตอนนี้ยิ่งขึ้นสูงลงต่ำมากขึ้นกว่าตอนหลัง เวลาวันนี้ต้นไม้ก็ยิ่งทึบมากขึ้น ท่าซึ่งข้ามห้วยก็ยิ่งสูงยิ่งชันมากขึ้น มีลำน้ำกว้างคือคลองชุมพรสองแห่ง ที่ย่านเสือเต้นแห่งหนึ่ง บกกลางแห่งหนึ่ง ต้องทำตพานข้ามไปขึ้นตำบลท่าศาลเป็นพรมแดนเมืองชุมพรกับเมืองกระต่อกันเป็นที่พลับพลาประทับเสวยเช้า มีบ้านเรือนคนที่มาทำไร่อยู่หลายหลัง เรือนตามเขาที่ต่ำๆ ก็เป็นที่ล้มไม้ทำไร่โดยมาก ประทับเสวยเข้าแล้ว เวลาเช้า ๕ โมง เสดจขึ้นทรงช้างพังเล็บดำเป็นช้างของพระยานครศีรธรรมราชฝีเท้าเร็วแลหลังดี ผูกสับปคับเบาะอย่างแขกของพระยาระนอง ออกจากพลับพลาประทับเข้าไปตามทางในช่องเขาที่แคบหน่อยหนึ่งจึ่งออกที่กว้างแลเห็นเขาเป็นวงรอบสลับซับซ้อนกันไปรอบข้างเมื่อช้างขึ้นที่สูงก็เห็นกระบวนน่าแลกระบวนหลังได้ตลอด เมื่อลงที่ต่ำก็เห็นกระบวนที่ลงจากที่สูงข้างหลังแลขึ้นที่สูงข้างน่างามนัก ในกลางที่กว้างนี้เป็นที่น้ำแบ่งเรียกว่า (ตร่อ) น้ำแบ่ง ลำธารข้างหนึ่งน้ำตกไปลงคลองชุมพรข้างหนึ่งน้ำตกไปลงคลองปากกะลี้ ฤๅปากฉลีกเมืองกระ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้จารึกอักษรพระนาม จ,ป,ร, อย่างเช่นในอัฐทองแดงไว้ที่ก้อนศิลาใหญ่ข้างทางแห่งหนึ่งแต่เป็นศิลาลอยแล้วมอบเครื่องมือไว้ให้ผู้ช่วยเมืองไชยาอยู่จารึกต่อไป เสดจจากที่นั้นมาทางประมาณหกสิบเจ็ดสิบเส้นลงปากหินซอง เป็นทางไปในรหว่างเขาติดต่อกันเหมือนกำแพงกันทั้งสองข้าง เขานั้นกั้นขวางๆ รีๆ เกือบจะทุกท่า คือตะแคงบ้างเลี้ยวบ้างตามยาวบ้างขวางตรงๆ บ้าง ต้องเดินในลำธาร แต่ในลำธารนั้นไม่เปนศิลาก้อนใหญ่ แลถึงว่าน้ำไหลเชี่ยวก็ไม่มากพออาบ น่าลำธารไปกว้างสองศอกบ้างศอกเศศบ้าง มีต้นบอนขึ้นทั้งสองฟากสพรั่งเขียวไปตลอด ลางตอนก็ตรงลิ่วแลสุดตา แต่ลงเดินในลำธารไปหลายสิบเส้นจึงไปมีที่คดเคี้ยวสายน้ำลึกมากขึ้น ต้องตัดทางขึ้นเดินข้ามหัวเขาแลลงที่ชันสูงตั้งแต่สามวาสี่วาจนถึงห้าวาหกวา บางแห่งชันโกรกจนถึงต้องสับคั่นก็มี ในกลางย่านหินซองนี้มีน้ำตกจากศิลาที่เขา สูงสักเจ็ดศอกแปดศอกแห่งหนึ่ง แลน้ำจืดสนิดเหมือนพุที่เขาในทเลทั้งปวง มาจนถึงห้วยกุ้ยจึงได้พ้นหินซอง คือหมดลูกเขาทั้งสองข้างพร้อมกันออกที่กว้างแลเห็นเขาที่ข้ามมาแล้วเป็นกำแพงดำเงื้อมอยู่ข้างหลัง ตามซ้ายขวาแลข้างน่าก็มีเขาสกัดกันไปรอบ แต่ห่างออกไปไม่เหมือนที่หินซอง เวลาบ่ายโมงเศศถึงพลับพลาประทับร้อนที่บกอินทนิน ระยะทาง ๘๐๐ เส้นเศศ เสด็จประทับร้อนที่พลับพลาซึ่งตั้งอยู่ริมธารน้ำต้นคลองกะลี้ฤๅฉลีกบ่าย ๓ โมงเศศเสด็จทรงม้าพระที่นั่งออกจากพลับพลาประทับร้อนบกอินทนินมาตามระยะทางซึ่งตัดผ่านไปตามหัวเนินมาถึงตำบลช้างกลิ้งเป็นทางแคบเลียบไปตามไหล่เขาที่ชัน พื้นลำธารข้างล่างลึก ตั้งแต่พ้นตำบลช้างกลิ้งมาแล้วไม่ต้องข้ามน้ำข้ามธารอีก เป็นแต่ขึ้นสูงลงต่ำบ้าง เพราะเป็นที่พื้นราบแลป่าก็เป็นไม้รายห่าง ๆ โปร่งๆ มาจนถึงคลองกะลี้ฤๅฉลีกซึ่งต้องทำตพานข้าม อนึ่งทางตั้งแต่ท่าสารพรมแดนเมืองกระมาจนคลองกะลี้ฤๅฉลีกเขาล้มไม้ตัดทางกว้างขวางเป็นทางสายโทรเลขได้ปักเสาไว้แล้วก็มาก ที่ยังไม่ได้ปักเสาก็มีเสาทอดประจำที่อยู่แล้วบ้าง ตัดไว้แล้วยังไม่ได้มาประจำที่บ้าง จะทอดเมื่อไรก็ได้ น้ำที่คลองนี้ถ้าเวลาน้ำลงช้างข้ามได้ถ้าน้ำขึ้นแล้วช้างหยั่งไม่ถึง น้าขึ้นเรวลงเรว แลขึ้นมากลงมากด้วย ตรงที่ตพานข้ามนี้มีโรงโปลิศ แลมีซุ้มใบไม้โปลิศมายืนรายรับเสดจสองข้างเป็นแขกครึ่งหนึ่ง ไทยครึ่งหนึ่ง แขกแต่งเสื้อแดงโพกผ้า ไทยเสื้อน้ำเงินสวมหมวกกลมไม่มีกระบัง ถือปืนทั้งสองพวกสักยี่สิบสามยี่สิบสี่คน นายทหารเป็นแขกแต่บอกถวายคำนับอย่างไทย ที่ริมฝั่งคลองนั้นมีเขาๆ หนึ่ง บนไหล่เขามีวัด หลังโรงโปลิศมีโรงเรือนราษฎรหลายหลังมีสวนแลไร่บ้าง ต่อเข้าไปเป็นท้องทุ่งกว้างตลอดลงไปถึงลำคลองปากจั่นแตไม่มีคันนา ตามฝั่งข้างฝ่ายแดนอังกฤษแลเห็นภูเขาสูงเป็นเทือกยาวตลอดอยู่ไกล ๆ ฝั่ง ข้างฝ่ายไทยเทือกเขาต่ำกว่าข้างอังกฤษ แตห่างทางออกไปมาก เสด็จพระราชดำเนินไปตามทางเข้าในหมู่ไม้หน่อยหนึ่งจึ่งถึงทุ่งนาที่กว้าง บ้านเรือนราษฎรจับรายไปตามขอบทุ่ง ทางตรงไปจนถึงท้ายเนินที่ตั้งพลับพลาแล้วเลี้ยวไปในหว่างเขาอีกลูกหนึ่งซึ่งอยู่ใกล้กับเนินพลับพลาไปขึ้นเนินด้านตวันตก เวลาบ่าย ๔ โมงครึ่งเสดจถึงพลับพลาบนหลังเนินรวมระยะทางเสดจพระราชดำเนินวันนี้ประมาณ ๕๐๐ เส้น พระยารัตนเศรษฐีผู้ว่าราชการเมืองระนองมารับเสดจอยู่ที่พลับพลานี้ด้วย มีพระราชดำรัสกับพระยารัตนเศรษฐีครู่หนึ่งแล้วเสดจทอดพระเนตรพลับพลาๆ นี้ตั้งอยู่บนเนินกลางทุ่งห่างลำแม่น้ำประมาณสองเส้นเศศปลูกเป็นทรงยี่ปุ่นหันน่าไปข้างทิศทักษิณ มีท้องพระโรงห้องหนึ่งเฉลียงสามด้าน ด้านน่าพื้นลงดินแลมีมุขออกไปอีกด้านหนึ่งมีบันไดขึ้นสองข้างกลางมีพนัก เฉลียงด้านข้างพื้นลดไม่มีฝา เปิดตลอดตั้งเก้าอี้รายทั้งสองด้านข้าง ต่อเข้าไปอีกหลังหนึ่งหลังคาลดทั้งสามชั้นมีมุข ๓ ด้าน ๆ ใต้ต่อมากับท้องพระโรง มุขน่ากั้นเป็นสองห้องๆ น่าหันน่าออกหาท้องพระโรง ห้องในหันน่าไปทางตวันตก น่าห้องเปิดเป็นระเบียงไว้ ถัดเข้าไปร่วมในห้องกลางเป็นท้องพระโรงข้าง ชั้นลดด้านน่ากั้นเป็นห้องด้านละห้องมุขด้านตวันออกตวันตกกั้นเป็นห้องนอนมีเครื่องใช้ครบ มีบันไดออกข้างหลังสองข้าง ต่อเข้าไปอีกหลังหนึ่งเป็นสองชั้นถัดเข้าไปร่วมในเป็นห้องนอนมีเครื่องใช้พร้อม ชั้นบนเป็นที่พระบันทมฝากั้นด้วยกระแชงแลดาษผ้าขาว ม่านใช้ผ้า แดง เขียว ขาว } บ้าง ในค่ายมีโรงพัก ๕ หลัง มีแคร่ใช้เป็นที่ประทับเล่นหลังหนึ่ง ข้างน่ามีเพิงริมฝาสกัดด้านละเพิง มีที่พักแลที่เลี้ยงเจ้านายข้าราชการข้างละสองหลัง รั้วค่ายกั้นด้วยไม้มพร้าว ทอดพระเนตรทั่วแล้วเสดจออกประทับท้องพระโรงมีพระราชดำรัสด้วยพระยารัตนเศรษฐีด้วยข้อราชการต่างๆ จนบ่าย ๕ โมง ๒๐ นาที กระบวนข้างในมาถึงพร้อมกันแล้วเสดจขึ้น เวลา ๒ ทุ่มเศศเสดจออกมีพระราชดำรัสด้วยข้อราชการต่างๆ จนเวลายามเศศเสดจขึ้น

ภูมิประเทศเมืองกระนี้เป็นเขามาก แต่ก็มีที่ว่างพอทำนาไร่ได้ทางทำมาหากินตามปรกติของคนในพื้นเมืองนั้น คือทำเข้าไร่ทำนา เย็บจาก ตัดหวาย ทำได้ แต่คนน้อยไม่เต็มภาคภูมิ ได้ความตามบาญชีสัมโนครัวจำนวนรัตนโกสินทร๒๒ศก ๑๐๘ แบ่งเป็น ๔ อำเภอ คืออำเภอปากจั่น อำเภอคลองวัน อำเภอน้ำจืด อำเภอลำเลียง รวมเป็นครัว ๖๔๘ ครัว รายตัวคนเป็น ๒๗๐๔ คน เป็นชายฉกรรจ์ ๘๔๕ เด็ก ๕๘๓ รวมชาย ๑๔๒๘ หญิงฉกรรจ์ ๗๑๘ เด็ก ๕๕๘ รวมหญิง ๑๒๗๖ คน เล็กเลขเมืองชุมพร ๑๒๐ ครัว รายตัวคน ๒๘๐ ฉกรรจ์ ๖๐ เศศ คนในเมืองกระนี้ไม่มีเลขสัก เก็บเงินเปนครัวๆ ละ ๓ รูเปีย คนจอนเก็บ ๖ สิ้นวันที่ ๒๑ เท่านี้

วันที่รัชกาล ๗๘๓๓ วัน ๓ ๖ ค่ำ ปีขานโทศก ๑๒๕๒

วันที่ ๒๒ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลาเช้า ๔ โมง เสด็จลงเรือพระที่นั่งกรรเชียงพร้อมด้วยกระบวนข้างใน เรือกลไฟจักรนารายน์จูงล่องลงมาตามลำน้ำปากจั่นประมาณ ๓ ชั่วโมง ถึงตำบลน้ำจืดซึ่งเป็นเมืองพระยาอัษฎงค์ไปตั้งขึ้นใหม่ มีตพานยาวขึ้นไปจดถนน แต่งซุ้มใบไม้แลธงรับเสด็จ มิสเตอร์เมอรีฟิลด์แอสสิสแตนคอมมิสชันเนอที่มะลิวันมาคอยรับเสด็จอยู่ที่ตพาน เรือพระที่นั่งประทับท่าแล้วเสดจขึ้น มีพระราชดำรัสด้วยมิสเตอเมอรีฟิลด์พอสมควร แล้วเสด็จขึ้นประทับพระราชยานเสดจพระราชดำเนินไปตามถนน ถนนนี้กว้างประมาณสัก ๘ ศอกฤๅสิบศอกยาวประมาณ ๑๐ เส้นเศศผ่านไปในที่ซึ่งตัดต้นไม้ลงไว้จะทำนา ขึ้นไปถึงที่สุดถนนนี้ มีถนนกว้างอีกสายหนึ่ง มีประตูใบไม้แลร้านพระสงฆ์สวดถวายไชยมงคลอยู่ที่สามแยกนั้น เสดจพระราชดำเนินไปประทับบ้านพระอัษฎงค์ มีพระราชดำรัสด้วยข้อราชการต่างๆ เสดจพระราชดำเนินกลับลงประทับในเรือพระที่นั่งล่องลงมาประมาณ ๒ ชั่วโมง ในตอนนี้ฝนตกตลอดมา เวลาบ่าย ๕ โมงเศศถึงเรือพระที่นั่งอุบลบุรทิศ ซึ่งทอดอยู่ที่คลองเขมาข้างฝั่งอังกฤษประทับแรมบนเรือพระที่นั่งอุบสบุรทิศในที่นี้

วันที่รัชกาล ๗๘๓๔ วัน ๔ ๖ ค่ำ ปีขานโท๒๓ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๒๓ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลาเช้าโมงหนึ่งกับ ๒๐ นาที ออกเรือพระที่นั่งอุบลบุรทิศ เวลาเช้า ๔ โมง เรือพระที่นั่งเข้าทอดที่ใต้เกาะฝีปากอ่าวเมืองระนอง เวลาเที่ยงเสดจลงประทับเรือพระที่นั่งกรรเชียงพร้อมด้วยกระบวนข้างใน เรือกลไฟจูงออกไปทอดพระเนตรแหลมเกาะสองฤๅเกาะสนซึ่งอังกฤษเรียกว่าวิกตอเรียปอยนต์ อ้อมออกไปน่านอกแล้วจึงเลี้ยวเหลมมาเข้าปากน้ำเมืองระนองมาประทับที่ตะพาน ตั้งแต่ทะเลเข้ามาจนถึงท่านี้ประมาณ ๒ ไมล์ ตะพานนี้ยาวประมาณ ๒ เส้นเศศ มีแพลอยแลศาลาปลายตะพาน ตกแต่งใบไม้แลธงตลอดที่ชมต้นตะพานมีซุ้มใบไม้ซุ้มหนึ่ง พระยารัตนเศรษฐีแลกรมการไทยจีนมารับเสดจอยู่ประมาณ ๕๐ ๖๐ } คน มีพระราชดำรัสด้วยตามสมควร แล้วเสดจขึ้นประทับบนรถพระที่นั่งซึ่งพระยารัตนเศรษฐีจัดมารับเสดจ แลรับเจ้านายข้าราชการหลายรถ เสด็จพระราชดำเนินไปตามระยะทาง ถนนนี้กว้างประมาณ ๓ วา ถมด้วยกรวดแร่แขงเรียบดี สองข้างทางข้างตอนต้นเป็นป่าโกงกาง ขึ้นไปหน่อยหนึ่งถึงที่เรือกสวนรายขึ้นไปทั้งสองข้างทาง มีตะพานข้ามสามตะพานเป็นตะพานเสาไม้จริงปูกระดานท่าสีขาว ต่อเข้าไปมีทุ่งนาอยู่แปลงหนึ่ง แล้วก็เป็นหมู่สวนหมู่ไร่ต่อไปอีกจนถึงต้นตลาดเก่า เลี้ยวแยกไปตามถนนที่ทำใหม่เป็นถนนกว้างประมาณ ๘ วา ไปจนถึงถนนขึ้นเขาซึ่งเป็นที่ตั้งพลับพลา รวมระยะทาง ๑๐๐ เส้นเศศ ตามถนนนี้มีเรือนโรงสองข้างทางแน่นหนาผู้คนครึกครื้น ตามระยะทางที่เสดจพระราชดำเนินนี้พวกจีนได้แต่งซุ้มรับเสดจเป็นระยะมาถึงหกซุ้ม ทางที่ขึ้นเขานั้นตัดอ้อมวงไป เวลาบ่าย ๔ โมงเศศถึงพลับพลาบนยอดเขา พระยาจรูญราชโภคากรแลพระยาสุรพลพิพิธมาคอยรับเสด็จอยู่ที่นี่ด้วยมีพระราชดำรัสด้วยแล้วเสดจขึ้นทอดพระเนตรพลับพลา

ที่เขานี้สูงประมาณ ๑๑๐ ฟิศแต่เปนเนินลาด ๆ มีที่กว้างใหญ่โตมาก พลับพลาที่ทำนั้นก็ทำเสาเครื่องไม้จริง แต่กรุฝานั้นใช้ไม้ระกำทั้งลำประกอบเข้าเป็นลายต่าง ๆ หลังคานั้นมุงด้วยไม้เกล็ดแล้ว ๒ หลัง นอกนั้นมุงจากดาษสี มีท้องพระโรงหลังหนึ่ง ที่ประทับข้างในหลังหนึ่ง ยกเป็นท้องพระบันทมสูงขึ้นไปหลังหนึ่ง มีตพานยาวมีหลังคาแล่นไปจดหลังแปดเหลี่ยมอีกหลังหนึ่ง มีเครื่องตกแต่งพร้อม ที่พื้นชาลาก็ตกแต่งปราบเป็นตอน ๆ ปลูกหญ้าตัดทางเป็นสวนก่อเขาแลมีกรงสัตว์ต่างๆ ตามข้างทางแลชายเนินมีที่พักเจ้านาย ข้าราชการแลโรงบินเลียดโรงทหารพรักพร้อม พื้นประดับด้วยหญ้าแลต้นไม้บันไดถนนวงเวียนไปเป็นที่ระโหถาน ทอดพระเนตรทั่วแล้วเสด็จออกมีพระราชดำรัสด้วยข้าราชการต่างๆ แล้วเสด็จขึ้น เกือบย่ำค่ำเสดจออกพระราชดำเนินประพาศบริเวนเขานั้นโดยรอบแล้วเสดจพระราชดำเนินไปขึ้นเขาเล็กอีกเขาหนึ่ง ซึ่งอยู่ตรงน่าท้องพระโรงบนยอดเขาปลูกเปนศาลา ๔ มุขไว้ในหมู่ร่มไม้หลังหนึ่งเป็นที่เงียบสงัด ประพาศอยู่จนย่ำค่ำแล้วจึ่งเสดจกลับมาประทับท้องพระโรง มีพระราชดำรัสด้วยข้อราชการต่างๆ จนสองทุ่มเศษเสดจขึ้น

วันที่รัชกาล ๗๘๓๕ วัน ๕ ๖ ค่ำ ปีขานโท๒๓ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๒๔ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลาเช้า ๓ โมงเศศเสดจออกทรงรถพระที่นั่งพร้อมด้วยกระบวนข้างใน เสด็จพระราชดำเนินไปประพาศตลาดเก่า มีโรงจีนเป็นฝากระดานมุงจากประมาณ ๑๐๐ หลัง ที่สุดถนนถึงบ้านเก่าพระยารัตนเศรษฐีซึ่งตั้งอยู่ที่หาดใกล้ฝั่งคลอง อยุดรถพระที่นั่งเสดจพระราชดำเนินเข้าไปทอดพระเนตรในบ้านนั้นมีเรือนหมู่ใหญ่ แต่หักพังเสียโดยมากเพราะพระยารัตนเศรษฐีไม่ได้อยู่ในที่นี้ด้วย สายน้ำที่คลองนั้นซึมเข้ามาในบ้านชื้นไปหมดทำให้เกิดป่วยไข้จึ่งได้ย้ายไปตั้งบ้านใหม่ ทอดพระเนตรทั่วแล้วเสดจกลับตามทางริมตลาดนัดแล้วเสดจขึ้น เวลากลางวันเสดจออก พวกจีนมาเฝ้าเป็นอันมากมีจีนชื่อมลิกีลิมชาคุณ เป็นมิวนิซีปัลกอมมิศชันเนอเมืองมริดมาเฝ้าทูลเกล้า ฯ ถวายของต่าง ๆ ด้วย มีพระราชดำรัสแลพระราชทานของตอบแทนตามสมควรแล้วเสด็จขึ้น เวลาบ่าย ๕ โมงเศศเสด็จออกทรงปลูกต้นมะขามที่น่าท้องพระโรงคู่หนึ่ง เมื่อเวลาทรงปลูกนั้นมีแตรวงเป่าสรรเสริญพระบาระมีด้วย ทรงปลูกแล้วเสด็จทรงรถพระที่นั่งพร้อมด้วยกระบวนข้างในไปประพาศบ่อน้ำร้อนซึ่งเป็นที่เหมืองของพระยาระนองระยะทาง ๗๐ เส้น ถนนเรียบร้อยดี ที่บ่อน้ำร้อนนั้นอยู่ข้างลำธารมีสองบ่อ ๆ บนน้ำร้อน ๑๔๔ ดิกรี บ่อล่างร้อน ๑๕๔ ดิกรี ทอดพระเนตรอยู่จนพลบเสดจกลับ

วันที่รัชกาล ๗๘๓๖ วัน ๖ ๖ ค่ำ ปีขานโท๒๓ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๒๕ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลาเช้าเสดจออกทรงรถพระที่นั่งพร้อมด้วยกระบวนข้างในไปประพาศบ้านใหม่พระยารัตนเศรษฐี ไปทางถนนผ่านไปน่าออฟฟิศโทรเลขซึ่งเป็นเรือนฝากระดานยกพื้นสูง แลตรางทำเปนตึกหลังกาสังกะสี บ้านพระยาระนองนั้นอยู่ริมเขา ก่อกำแหงรอบสูงสัก ๑๐ ศอก กว้างใหญ่ประมาณ ๔ เส้น ที่บนซุ้มประตูทำเป็นหอรบ แต่ตัวกำแพงนั้นก็มีช่องปืนกรุแต่อิฐบาง ๆ ไว้ มีตึกสามหลังแฝดเฉลียงรอบ แต่ตัวพระยาระนองยังไม่มีอยู่ที่นี่ ทอดพระเนตรทั่วแล้วเสดจไปประพาศเรือนที่อยู่ของพระยาระนอง มีหอนั่งหลังหนึ่งเรือนที่ไว้ป้ายพระยาดำรงสุจริตหลังหนึ่ง ที่พระยาระนองอยู่เองนั้นเป็นเรือนเตี้ย ๆ พื้นฟากหลังหนึ่ง เรือนแถวพระศรีโลหะภูมิ์แลพระอัษฎงค์อยู่ฝาจากพื้นฟากอีกหลังหนึ่ง ทอดพระเนตรทั่วแล้วเสดจออกจากบ้านพระยาระนองไปประพาศสวนพระยาระนองสวนนี้อยู่ริมเขาเป็นที่ทดลองพืชน์พรรณไม้ต่าง ๆ ด้วย ที่กว้างใหญ่ปลูกต้นจันท์เทศ กาแฟส้มโอเบตาเวีย มะพร้าวกูกูแลพริกไทย มีพลับพลา ๔ มุขอยู่กลางสวนเป็นที่ประทับ ทอดพระเนตรทั่วแล้วเสด็จกลับ บ่ายวันนี้ไม่ได้เสดจพระราชดำเนินแห่งใดเพราะฝนตก เป็นแต่เสด็จออกมีพระราชดำรัสด้วยข้อราชการต่าง ๆ กับพระยาสุรพลพิพิธแลข้าราชการอื่น ๆ แล้วพระราชทานตราเครื่องราชอิศริยาภรณ์ จุลสุราภรณแก่พระยารัตนเศรษฐี ๑ มันฑนาภรณ์แก่พระยาจรูญราชโภคากร ๑ พระอัษฎงค์ ๑ พระศีรโลหภูมิพิทักษ์ ๑ วิจิตราภรณ์แก่หลวงพิไชยชินเขตร ๑ แล้วเสดจขึ้น

อนึ่ง พระยาระนองกราบบังคมทูลขอพระราชทานนามพลับพลานี้ เพื่อจะได้รักษาไว้เป็นที่ถือน้ำพระพิพัฒต่อไป แลขอพระราชทานนามเขาที่ตั้งพลับพลาแลถนน ได้โปรดพระราชทานชื่อพระที่นั่งว่า รัตนรังสรรค์ เขาที่ตั้งวังชื่อนิเวศนคีรี ถนนตั้งแต่ท่าขึ้นมาจนสุดตลาดเก่า ระยะ ๘๐ เส้นเศศ ชื่อถนนท่าเมือง ถนนทำใหม่ตั้งแต่สามแยกตลาดเก่าไปตามน่าบ้านใหม่พระยาระนองถึงตพานยูง ชื่อถนนเรืองราษฎ ถนนตั้งแต่ตพานยูงออกไปจนถึงที่ห้องซุ้ยพระยาดำรงค์สุจริตประมาณ ๗๐ เส้นเศศ ชื่อถนนชาติเฉลิม ถนนตั้งแต่ถนนไปบ่อน้ำร้อนถึงเหมืองในเมือง ชื่อถนนเพิ่มผล ถนนไปบ่อน้ำร้อนประมาณ ๗๐ เส้นเศศ ชื่อถนนชลระอุ ถนนน่าพระราชวังเป็นถนนใหญ่ชื่อถนนลุวัง ถนนอ้อมรอบตลาดนัดต่อกับถนนลุวังชื่อถนนกำลังทรัพย์ ถนนตั้งแต่ถนนเรืองราษฎ์มาถึงถนนชลระอุผ่านน่าศาลชำระความซึ่งทำเป็นตุก ๔ มุขขึ้นใหม่ยังไม่แล้ว ชื่อถนนดับคดี ถนนแยกจากถนนเรืองราษฎ์ลงไปท่าริมคลองชื่อถนนทวีสินค้า กับอีกถนนหนึ่งซึ่งพระยาระนองคิดจะทำไปถึงตำบลหินดาษเป็นทางโทรเลข ขอพระราชทานชื่อไว้ก่อนนั้น ชื่อถนนผาดาษ

วันที่รัชกาล ๗๘๓๗ วัน ๗ ๖ ค่ำ ปีขานโท๒๓ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๒๖ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลาเช้าเสดจออกทรงเจิมกระดานป้ายชื่อพระที่นั่งแล้ว ทรงรถพระที่นั่งพร้อมด้วยกระบวนข้างในเสดจไปประพาศที่ห้องซุ้ยพระยาดำรงสุจริต ตามทางนี้เป็นนาเป็นสวนตลอด เมื่อจวนจะถึงที่ฝังศพเป็นสวนหมาก มพร้าว มะม่วง } ของพระยาระนองทั้ง ๒ ฟาก ตามที่ดินว่างปลูกสัปรศเป็นพื้น ที่น่าที่ฝังศพปลูกต้นไม้ดอกต่างๆ ที่ริมถนนน่าที่ฝังศพมีป้ายศิลาสูงสักสี่ศอกจารึกเรื่องชาติประวัติของพระยาดำรงสุจริตทั้งภาษาไทยภาษาจีนเป็นคำสรรเสริญตลอดจนบุตรแลหลาน ถัดเข้าไปมีเสาธงศิลาคู่หนึ่งแพะคู่หนึ่ง เสือคู่หนึ่ง ม้าคู่หนึ่ง ขุนนางฝ่ายบุ๋นฝ่ายบู๊คู่หนึ่ง แลก่อเขื่อนปูศิลาเป็นชั้น ๆ ขึ้นไป ๓ ชั้น จึ่งถึงลานที่ฝังศพ มีพนักศิลาสลักเป็นรูปสัตว์แลต้นไม้ตัวเด่น ๆ ที่กุฎนั้นก็ล้วนแล้วด้วยศิลาตลอดจนถึงที่ทำเป็นหลังเต่า ตัดแผ่นศิลาเป็นเกล็ตโต ๆ เหมือนย่างกระดองเต่า ต่อขึ้นไปบนเนินพูนดินเป็นลอนไปสามลอน เขาที่ทำห้องซุ้ยนี้ชื่อเขาระฆังทองที่ฝังศพมารดาแลญาติพี่น้องก็อยู่ในหมู่เดียวกันนั้น ทอดพระเนตรทั่วแล้วเสดจกลับทางถนนชลระอุ แล้วเลี้ยวลงถนนเพิ่มผลปลายถนนเพิ่มผลถึงบ่อแร่ เสด็จพระราชดำเนินไปดูที่กำลังทำการ ที่เหมืองนี้เป็นอย่างเหมืองใหญ่แต่ใช้ระหัดน้ำมีคนทำการ ๙๐ คน ทำได้เนื้อดีบุกวันละ ๒๐ ขันเศศ แล้วเสดจพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโรงทำแร่ เครื่องที่ทำนั้นใช้แรงน้ำ ทอดพระเนตรทั่วแล้ว เวลาเช้า ๕ โมงเศศเสดจกลับมาลงเรือพระที่นั่งกรรเชียง เรือกลไฟจูงมาประทับเรือพระที่นั่งอุบลบุรทิศ เวลาบ่ายโมงกับ ๔๕ นาที ออกเรือพระที่นั่งอุบลบุรทิศจากน่าเมืองระนองไปที่เกาะพูลจืดซึ่งเป็นด่านต่อแดนมีโรงโปลิศของเมืองระนองตั้งรักษาอยู่ที่นั้น เรือพระที่นั่งเข้าทอดในช่องเกาะสนกับเกาะพูลจืดต่อกัน แล้วเสดจลงเรือพระที่นั่งกันเชียงพร้อมด้วยกระบวนข้างใน เรือกลไฟจูงไปประพาศโรงด่านซึ่งตั้งอยู่บนหัวแหลมบนเนินชายเขาโรงหนึ่ง ข้างล่างโรงหนึ่ง ตรงหลังโรงโปลิศขึ้นไปบนเขาเป็นที่ล้มไม้ทำไร่ เรือพระที่นั่งแล่นเลี้ยวอ้อมเกาะพูลจืดลงไปในระว่างเกาะเสียงไหกับเกาะพูลจืด แล้วแล่นเลียบลงไปรอบเกาะพูลจืดเล็กอีกเกาะหนึ่งอยู่ท้ายเกาะพูลจืด แล้วอ้อมกลับขึ้นมาจนถึงกลางย่านของเกาะพูลจืด แล้วจึ่งเสดจกลับมาประทับเรือพระที่นั่งอุบลบุรทิศ

การทำมาหากินในเมืองระนองมีดีบุกเปนสำคัญ การทำนามีแต่ชั่วคนไทยทำเข้าไร่ทั้งนั้น นาพื้นราบทำน้อย คนไทยในเมืองระนองนี้ไม่ได้เก็บเงินค่าราชการ ฤๅจะเรียกว่าค่าหลังคาเรือนเป็นแต่เกณฑ์มารักษาเมืองในเวลาตรุสจีน กับการจอนเช่นทำทางโทรเลข ยอดสัมโนครัวกรมการเมืองระนอง ๒๔ ครัว อำเภอ ๘๖ ครัว ไพร่ชายฉกรรจ์ ๑๕๓๐ คน เด็กเจ็ดร้อยสี่สิบเก้าคน รวมชาย ๒๒๗๙ คน หญิงฉกรรจ์ ๑๑๐๙ คน เด็ก ๖๑๖ คน รวมหญิงพันเจ็ดร้อยยี่สิบห้าคน รวมชาย ๔๐๐๔ คน รวมทั้งครัวกรมการอำเภอ ๑๑๒๒ ครัว แขกเดิมหลวงขุนหมื่น ๘ ครัว ไพร่ชายฉกรรจ์ ๔๒ คน เด็ก ๒๕ คน รวม ๑๐๗ คน หญิงฉกรรจ์ ๓๗ คน เด็ก ๒๑ คน รวมคน ๕๘ คน รวมชายหญิง ๑๖๕ คน เป็นครัว ๓๕ ครัว จีนมีบุตรภรรยา ๓๐๐ จีนจอน ๒๘๐๐ รวม ๓๑๐๐ รวมคนเดิมชาย ๕๖๐๔ หญิง ๑๗๘๓ รวม ๗๓๘๕ คน คนใหม่มาแต่เมืองอื่น ๆ คือเมืองไชยา ๒๙ ครัว หลังสวน ๙๐ ครัว ชุมพร ๑๐ ครัว นคร ๒ ครัว กระ ๒ ครัว ฝ่ายอังกฤษ ๒ ครัว รวม ๑๓๕ ครัว ชายฉกรรจ์ ๑๘๕ คน เด็ก ๑๒๖ คน รวม ๔๑๑ คน หญิงฉกรรจ์ ๑๗๕ คน เด็ก ๙๑ คน รวม ๒๖๖ คน รวมไทยมาใหม่ ๕๗๗ คน แขกมาแต่เมืองถลาง ๑๔ ครัว เมืองตกั่วทุ่ง ๑๗ ครัว รวม ๓๑ ครัว เป็นชายฉกรรจ์ ๔๓ คน เด็ก ๓๐ คน รวม ๗๓ คน หญิงฉกรรจ์ ๓๕ คน เด็ก ๓๗ คน รวม ๗๒ คน รวมชายหญิง ๑๔๕ คน รวมเก่าใหม่ ๕๙๘๘ คน หญิง ๒๑๒๑ คน รวมทั้งสิ้น ๘๑๐๙ คน

การทำนุบำรุงแลรักษาบ้านเมืองเป็นการแขงแรงดี โปลิศถือปืนมีอยู่ ๕๐ คน จ่ายรักษาการที่เกาะพูลจืดต่อเขตรแดน ๗ คน ที่บางพระใกล้แขวงละอุน ๔ คน ที่ปากน้ำ ๕ คน ที่ละกรูดทางไปเมืองหลังสวน ๔ คน นอกนั้นอยู่ประจำการที่เมืองระนองผลัดเปลี่ยนกันได้เงินเดือนคนละ ๕ เหรียญ เสื้อผ้านุ่งแลอาหารต่างหาก เวลาตี ๑๑ ทุ่ม ออกเรือพระที่นั่ง

วันที่รัชกาล ๗๘๓๘ วัน ๑ ๖ ค่ำ ปีขานโท๒๓ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๒๗ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เรือพระที่นั่งเดินมาทางช่องหว่างเกาะเสี้ยงไห้กับเกาะช้าง ไม่มีคลื่นลมอันใดเปนปรกติ เวลาเช้า ๔ โมง ๔๕ นาที ถึง ปากอ่าวที่เข้าเมืองตะกั่วป่าเรียกปากกุรา รอเรือพระที่นั่งรับผู้นำร่องแล้วเดินเรือพระที่นั่งต่อมา ที่ปากน้ำเมืองตะกั่วป่ามีเกาะใหญ่ ๆ ตั้งต่อ ๆ กันบังตลอด มีช่องซึ่งจะเข้าไปได้เป็น ๔ ช่อง ช่องที่ ๑ ข้างเหนือคือปากกุราเป็นระหว่างเกาะกุรากับฝั่ง ช่องที่ ๒ เรียกว่าปากฉีกเป็นช่องปากกุรากับเกาะพระทองต่อกัน ช่องที่ ๓ เรียกว่าปากปันส่วน เป็นหว่างเกาะพระทองกับเกาะปันส่วน ช่องที่ ๔ นั้นเรียกคลองบ้านม่วง เมื่อเรือพระที่นั่งเดินมาหลังเกาะนี้ แลเห็นทเลแต่เมื่อตรงช่อง นอกนั้นก็เป็นเขาสูงทั้ง ๒ ฝั่งมีศิลาในนั้นมาก มีเกาะเล็กๆ หลายเกาะคือเกาะหนูเกาะแมว เกาะนกและเกาะอื่นๆ เรือพระที่นั่งเวสาตรีมาทอดอยู่ที่กลางทางยิงสลุดรับเสดจ เวลาบ่ายโมงครึ่งถึงน่าเกาะเสม็ดน้อย เรือพระที่นั่งทอดประทับที่น่าเกาะเสม็ดน้อย พระยาเสนานุชิตคุมเรือมารับเสดจเป็นอันมาก แล้วขึ้นมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทบนเรือพระที่นั่ง เสดจออกมีพระราชดำรัสด้วยข้อราชการต่างๆ ครั้นเวลาบ่าย ๕ โมงเสดจลงเรือพระที่นั่งกันเชียงพร้อมด้วยกระบวนข้างใน เสด็จขึ้นประพาศพลับพลาที่พระยาเสนานุชิตทำไว้รับเสดจบนเกาะเสม็ดน้อย พลับพลานี้ทำเป็นสามห้องเฉลียงรอบทำเป็นอย่างประนิต ทอดพระเนตรทั่วแล้วเวลาย่ำค่ำเสดจกลับมาประทับแรมในเรือพระที่นั่งอุบล

วันที่รัชกาล ๗๘๓๙ วัน ๒ ๑๐ ๖ ค่ำ ปีขานโท๒๓ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๒๘ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลาเช้าโมงครึ่งเสดจลงประทับเรือพระที่นั่งกันเชียงพร้อมด้วยกระบวนข้างในเรือกลไฟองค์รักจูง เรือมุรธาวสิตสลุดแล้วออกเรือพระที่นั่งเดินเข้าไปในลำน้ำๆ นีกว้างมีต้นเสม็ดโกงกางทั้ง ๒ ฟาก ต่อเข้าไปข้างในจึงเป็นต้นไม้ต่ำๆ เรือพระที่นั่งมาติดที่ตื้น ๔ ครั้ง เพราะกรุยร่องน้ำไม่แน่นอน เจ้าเมืองก็ไม่รู้เบาะแสอันใด จึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ปลดเรือพระที่นั่งจากเรือกลไฟตีกันเชียงไป ในลำน้ำตอนนี้ในนี้มีทุ่งว่างๆ มากเขาใหญ่ๆ แลเห็นตลอดทางไปข้างซ้าย แต่ข้างขวาไม่ติดเนื่องกันขาดเป็นสาย ๆ แลตั้งอยู่ห่างฝั่ง ที่มีที่ชิดฝั่งน้ำอยู่สองเทือกๆ หนึ่งถึงมีลูกเนินมาตกน้ำ เรียกว่าวังปร้ามีวัดอยู่ที่นั้น บ้านเรือนซึ่งตั้งอยู่ใกล้ฝั่งน้ำก็มีห่างๆ มีที่เป็นหมู่ใหญ่อยู่ แต่บ้านจีนทำปาณาฏิบาตเรียกว่าตำบลโคกเคียน แลเห็นแต่ยอดหมากมะพร้าวอยู่ลึกๆ เข้าไปโดยมาก ลำน้ำตอนนี้ยิ่งแคบเข้าแลมีหาดกว้างๆจนถึงร่องน้ำพอจุลำเรือ เมื่อถึงเมืองจึ่งมีบ้านหมู่ใหญ่ทั้งสองฟากน้ำ เรือพระที่นั่งเข้าเทียบตพานพลับพลามียิงสลุดด้วย แล้วเสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปตามถนน พวกญาติวงษเจ้าเมืองแลกรมการ จีนหัวน่ามายืนรับเสด็จอยู่ข้างทางเป็นอันมาก ครั้นเสดจถึงพลับพลาแล้วเสด็จขึ้น พลับพลานี้ตั้งอยู่ฝั่งตวันตกกลางทุ่งห่างลำน้ำขึ้นไปสักเส้นเศศ ตรงฉนวนน้ำที่เสดจขึ้นเป็นท้องคุ้งน้ำเซาะตลิ่งพังลงไปเป็นชายเลนกว้าง ต้องปักตพานลงไปจนถึงร่องน้ำ ที่ตพานแลทางเสด็จพระราชดำเนินจนถึงพลับพลาบักปรำดาษผ้าขาวตลอดไปตัวพลับพลามีท้องพระโรงหลังหนึ่งเป็นตรีมุขน่ามุขเปิดโถง เรือนที่พักเจ้านายอยู่ด้านหุ้มกลองสองข้างๆ ละหลัง พลับพลาข้างในอีกหลังหนึ่งห้าห้องเฉลียงรอบมุขน่ามาต่อติดกับท้องพระโรง มุขหลังยื่นไปอีกสองห้องเป็นที่พระบันทมหลังหนึ่ง ถัดออกไปอีกห้าหลัง มีพื้นชานเดินได้ถึงกันตลอด ในหว่างพื้นดินทำเป็นสวนปลูกพริกมะเขือผักต่างๆ เครื่องใช้ต่างๆ มีพร้อมเพรียง

เวลา ๓ โมงเศศเสดจออกมาประทับที่พลับพลาบนรั้วค่ายพร้อมด้วยกระบวนขางใน เจ้าเมืองกรมการจัดกระบือมาชนถวายทอดพระเนตร ๔ คู่ พระราชทานรางวัลแก่เจ้าของกระบือชนตามสมควรแล้ว เสดจทรงรถพระที่นั่งไปประพาศตลาด รถพระที่นั่งออกจากน่าพลับพลาไปหน่อยหนึ่งก็ถึงทางถนนกว้างสัก ๔ วา เสาโทรเลขปักไปตามทางนี้ว่าตรงไปถึงเมืองพังงา สองข้างทางนี้ข้างหนึ่งเป็นที่ลุ่ม ข้างหนึ่งเปนชายเขาซึ่งเรียกว่าเขามามังฤๅเขาโตกตั้งอยู่ใกล้ๆ พลับพลา ฟากถนนข้างเขานี้เป็นบ้านน้องพระยาเสนานุชิตติดกันเป็นบ้านๆ ตลอดไป ในท้องตลาดเป็นตึกสองชั้นอย่างจีนทั้ง ๒ ฟากถนนใหญ่โตตลอดไป แต่ชำรุดทรุดโทรมแทบทั้งนั้น เสดจพระราชดำเนินตลอดตลาดแล้ว เสดจไปทอดพระเนตรบ้านพระยาเสนานุชิต มีกำแพงสูงเป็นสี่เหลี่ยมไมสู้กว้างใหญ่นัก มีเรือนพระยาเสนานุชิตปลูกขึ้นใหม่ยังไม่แล้วหลังหนึ่ง นอกนั้นก็เป็นเรือนฝากระแชงอ่อนแลกระท่อมเล็กกระท่อมน้อย ทอดพระเนตรทั่วแล้วเสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรโรงกลวงซึ่งเปนที่หลอมดีบุกตั้งอยู่ใกล้ที่นั้นแล้วเสด็จกลับมาตามทางเดิมถึงพลับพลาย่ำค่ำแล้ว เวลาทุ่มเศศเสดจออกมีพระราชดำรัสกับพระยาเสนานุชิตด้วยข้อราชการต่าง ๆ จน ๒ ทุ่มเศศเสดจขึ้น คืนวันนี้เวลาดึกฝนตกมาก

วันที่รัชกาล ๗๘๔๐ วัน ๓ ๑๑ ๖ ค่ำ ปีขานโท๒๓ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๒๙ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลาเช้า ๔ โมงเศศ เสด็จออก พวกจีนมาเฝ้าทูลเกล้า ฯ ถวายของต่างๆ เปนอันมาก โปรดเกล้าฯ พระราชทานของตอบแทนตามสมควรทั่วกันแล้ว เวลาบ่าย ๕ โมงเศศ เสด็จกลับลงประทับเรือพระที่นั่งกันเชียง มีสลุดอีกครั้งหนึ่ง เรือพระที่นั่งออกจากท่าเวลา ๕ โมง ๒๐ มินิต เวลาบ่าย ๒ โมง ๑๕ มินิต ถึงเรือพระที่นั่งอุบลที่เกาะเสม็ดน้อย เวลา ๒ ทุ่มเศศ เสดจออกพระราชทานสัญญาบัตรให้นายจันน้องพระเรืองฤกธิ์รักษาราษฎ์ เป็นพระเรืองฤทธิ์รักษาราษฎ์ แล้วเสด็จขึ้น เวลา ๑๐ ทุ่มออกเรือพระที่นั่ง

วันที่รัชกาล ๗๘๔๑ วัน ๔ ๑๒ ๖ ค่ำ ปีขานโท๒๓ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๓๐ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เรือพระที่นั่งเดินออกมาทางช่องปากปันส่วนถูกลูกกลิ้งมาตลอดทาง บ่าย ๔ โมงเศศเรือพระที่นั่งเข้าทอดในอ่าวเมืองภูเกจที่หว่างเกาะตะเภาน้อย เรือมุรธาวสิตสลุด บนเกาะตะเภาน้อยนี้มีไลต์เฮาสเสาธง แลเรือนด่านโปลิศ แลที่เกาะโต๊ะแชซึ่งตั้งอยู่อีกฟากหนึ่งของอ่าวนั้นก็มีไลต์เฮาสแลเสาธงบอกเรือ เวลาค่ำจุดโคมไฟที่ไลต์เฮาสเสาธงทั้ง ๒ แลที่กรุยร่องน้ำข้างที่พลับพลาบนฝั่งสว่างไสวดี ที่ภูเก็จนี้มีเรือเมล์ปีนังเดินสองลำ ชื่อโรทลำหนึ่ง เปสีลำหนึ่ง เรือเซหัวของพระยาระนองก็แวะที่นี่ด้วย เวลาค่ำพระยาศีรสรราช พระนราธิราช พระอนุรักษ์โยธามาคอยเฝ้าที่เรือพระที่นั่ง เวลาทุ่มเศศเสด็จออก มีพระราชดำรัสด้วยข้อราชการต่างๆ จนยามเศศเสด็จขึ้น วันนี้ฝนตกมาตั้งแต่บ่าย ๕ โมงจน ๔ ทุ่งจึงได้หยุด ย, ข,

วันที่รัชกาล ๗๘๔๒ วัน ๕ ๑๓ ๖ ค่ำ ปีขานโท๒๓ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๑ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

วันนี้ฝนตกมาตั้งแต่เช้าจน ๒ โมงเศษจึ่งหาย เวลาเช้า ๒ โมงกับ ๔๐ นาทีเสด็จลงประทับเรือพระที่นั่งกระเชียงพร้อมด้วยกระบวนข้างในออกเรือพระที่นั่งมา เรือมุรธาวสิตยิงสลุด ครั้นเรือประทับท่าตพานทหารบนเมืองยิงสลุดอีกครั้งหนึ่ง ตพานนี้ทำแอบตพานศิลาของเก่าลงมา เพราะตพานศิลาเดิมนั้นเขินน้ำ ที่ต้นตพานตกแต่งด้วยใบไม้แลมีซุ้มใบไม้ กรมการแลพวกจีนหัวน่าแต่งตัวเต็มแบบอย่างจีนผู้ดีมาคอยรับเสดจอยู่เป็นอันมากทหารกรุงเทพ ฯ แลโปลิศแขกสำหรับเมืองยืนรับเสด็จที่น่าด่าน ตั้งแต่ตะพานขึ้นไปดาษปะรำผ้าขาว มีระบายตลอดทางยาวขึ้นไปหลายเส้น จึ่งถึงบริเวณโรงทหารใหม่ ที่ตั้งโรงทหารนี้เป็นเมืองเก่าที่ขุดแร่ขึ้นแล้ว มีห้วงใหญ่ห้วงน้อยพรุนไปทั้งนั้น แลมีประตูกั้นปิดน้ำให้ขังไว้ด้วย มูลดินซึ่งขุดเปิดบ่อแร่กองเปนหย่อมสูง ๆ เหมือนลูกเนินเขาเล็กเขาใหญ่ โรงทหารนั้นปลูกขึ้นบนกองดินที่เป็นเนินใหญ่ แล้วทำทางวงเวียนไปตามบ่อแร่ที่ขังน้ำปลูกไม้ดอกไม้ผล พลับพลานั้นตั้งถัดโรงทหารเข้าไป ที่โรงทหารใช้เปนโรงเลี้ยงข้าราชการ แล้วตกแต่งพื้นที่เพิ่มเติมออกไปทั่วทั้งบริเวน ดูเป็นที่สอาดงดงามตามเนินน้อยเนินใหญ่มีศิลาที่นั่งเล่นหลังเล็กหลังใหญ่ แลกระโจมทหารรักษายามรายรอบ มีโรงแตรแปดเหลี่ยมทำด้วยไม้จริงสองหลัง พลับพลานั้นทำที่กองดินใหญ่ในกลางเมืองซึ่งน้ำจืดขังรอบ มีตพานยาวข้ามเหมืองใหญ่ตรงน่าพลับพลาตพาน ๑ การตกแต่งพลับพลาพิศดารยิ่งกว่าพลับพลาอื่นๆ มีต้นไม้ดัดอย่างจีนตั้งเรียงรายเปนอันมาก

เสด็จขึ้นประทับบนพลับพลาแล้วพวกกรมการแลจีนหัวน่าเข้าเฝ้าทูลเกล้า ฯ ถวายของต่าง ๆ มีพระราชดำรัสด้วยข้อราชการต่าง ๆ แล้วพระราชทานของตอบแทนตามสมควร แล้วพระราชทานสัญญาบัตรตั้งจีนเลี่ยงกี่เปนหลวงขจรจีนสกล จีนตันเพ็กเกียดเปนหลวงพิทักษ์จีนประชาตำแหน่งนายอำเภอทั้งสองคน

เวลาบ่าย ๓ โมงเศศเสดจพระราชดำเนินไปประพาศเหมืองแร่ของหลวงบำรุงจีนประเทศเรียกว่าเหมืองไฮป๋าตั้งอยู่ที่ใกล้หลังพลับพลา เหมืองนี้ใหญ่โตมากโดยกว้างเกือบสามเส้นยาวกว่า ๔ เส้น ใช้คนทำการวันหนึ่งถึง ๙๐๐ คน เครื่องวิดน้ำใช้เครื่องสติมอินยิบ เวลาทอดพระเนตรนี้เขาได้ระดมลูกจ้างทำการถวายตัววันหนึ่งขุดล้างได้อย่างมาก ๒๙ ถัง อย่างน้อย ๗ ถัง ทอดพระเนตรทั่วแล้วเสดจกลับมาประพาศรอบบริเวนที่ตั้งพลับพลา แล้วขึ้นทรงรถพระที่นั่งไปประพาศตลาด รถพระที่นั่งไปตามทางที่ดาษปะรำผ้าขาว แล้วเลี้ยวข้างเรือนเจ้าท่าไปประมาณ ๓๐ เส้นเศศถึงคอเวอนแมนต์ออฟฟิศ ถัดคอเวอนแมนต์ออฟฟิศเข้าไปเป็นถนนตลาดมีตึกสองชั้นติตต่อกันทั้งสองฟากตลอดไปประมาณ ๓๐ เส้น ผู้คนแน่นหนาครึกครื้นขายของใช้ของกินต่าง ๆ มาก ตามน่าตึกเหล่านั้นก็ปักต้นไม้ผูกผ้าแดงรับเสด็จตลอดไปตึกที่นี้ก็มีเก่าบ้างใหม่บ้างไม่สู้ทรุดโทรมนัก แต่ถนนอยู่ข้างทรุดโทรมมากเสด็จไปทางประมาณ ๘๐ เส้นถึงถนนที่จะแยกไปกระทู้ จึ่งเสด็จกลับตามทางเดิมมาประทับที่คอเวอนแมนออฟฟิศ เสด็จพระราชดำเนินประพาศจนทั่ว ที่คอเวอนแมนต์ออฟฟิศนี้ก็อยู่ข้างจะทรุดโทรมมาก พระที่นั่งที่ทำขึ้นใหม่ที่แล้วเสร็จบ้างยังค้างบ้าง ทอดพระเนตรแล้ว เวลาจวนค่ำเสด็จมาลงเรือพระที่นั่งที่ท่าด่าน แล้วออกเรือพระที่นั่งไปประทับเรือพระที่นั่งอุบลบุรทิศ

ภูมิประเทศเมืองภูเก็จเป็นที่มีแร่มาก จำนวนเหมืองใหญ่ที่ทำอยู่ในเมืองภูเก็จเดี๋ยวนี้ ๖๒ ตำบล เหมืองน้อย ๖๙ ตำบล รวม ๑๓๑ เหมือง จีนที่ทำการอยู่ ๘๙๘๔ คน จีนที่เข้าออกในเมืองนั้นไม่แน่ บางปีมากบางปีน้อย ในแถวตลาดมีจำนวนตึกสามร้อยสิบเบดหลัง เรือน ๓๖๗ หลัง รวม ๖๗๘ หลัง คน ๒๗๖๗ คน ที่ตลาดกระทู้ตึกยี่สิบหกหลัง โรงร้าน ๑๑๒ หลัง รวม ๑๓๘ หลัง คน ๖๒๓ คน ตามแขวงอำเภอ ๘ ตำบล ๕๙๑ โรงเรือน คน ๒๒๗๗ คน นอกจากคนที่ทำเหมือง โปลิศที่รักษาเมืองอยู่บัดนี้เป็นหลายหมวดหลายกอง มีทั้งไทยทั้งจีนทั้งมาลายูแลแขกซิมแต่งตัวต่างๆ กัน การฝึกหัดยังไม่เรียบร้อย จำนวนโปลิศที่ใช้อยู่ทั้งสิ้น ๒๓๘ คน เวลา ๒ ทุ่มครึ่งออกเรือพระที่นั่งจากเมืองภูเก็จ เดินทางนอกเกาะยาวที่เรียกปุลุอันยัง เวลา ๗ ทุ่มถึงหัวเกาะยาวน้อย ทอดเรือพระที่นั่งรออยู่จนเวลา ๑๑ ทุ่มเลื่อนเรือพระที่นั่งเข้าไปอีก

วันที่รัชกาล ๗๘๔๓ วัน ๖ ๑๔ ๖ ค่ำ ปีขานโท๒๓ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๒ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เรือพระที่นั่งทอดในระหว่างเกาะหมากกับเกาะช่องสลัด เวลาเช้า ๔ โมงเศศ เสด็จลงเรือพระที่นั่งอุไทยราชกิจพร้อมด้วยกระบวนข้างในออกเรือพระที่นั่งไปเมืองตกั่วทุ่ง เมื่อเวลาเรือพระที่นั่งเดินมาตามทางฝนตกเปนคราว ๆ มีลมพัดจัดตลอดประมาณ ๒ ชั่วโมงจึ่งได้ถึงอ่าว ที่ปากช่องจะเข้าคลองตกั่วทุ่งมีเกาะย่อม ๆ สองเกาะเคียงกันเรียกนมสาว ถัดเข้าไปอยู่กลางลำน้ำมีเกาะ ชื่อปายี้เป็นที่พวกแขกเมืองตกั่วทุ่งอยู่ประมาณสักสิบห้าหลังเรือนหากินด้วยการทำปานาฏิบาด ที่เกาะนี้อยู่ในระหว่างน้ำสองแยก ๆ หนึ่งไปเมืองพังงา แยกหนึ่งไปเมืองตกั่วทุ่ง อยุดเรือพระที่นั่งแล้ว พระบริสุทธิโลหภูมินทราธิบดีลงมาเฝ้าในเรือพระที่นั่ง มีพระราชดำรัสด้วยพอสมควรแล้ว เสด็จลงเรือพระที่นั่งกันเชียง เรือกลไฟองค์รักษ์จูงต่อไป ถัดเกาะปายี้เข้าไปมีเขาที่ตกถึงลำน้ำสองเขา คือเขาไม้แก้วกับเขาตักน้ำ ตามทางเข้าไปก็ไม่มีบ้านเรือนคนเป็นแต่ไม้โกงกางตลอดไป มีอยู่แต่ที่ด่านซึ่งเป็นลำน้ำแยกไปเมืองพังงาอีกทางหนึ่ง เรือกลไฟเดินต่อไปอีกไม่ได้ต้องปลดเรือพระที่นั่งตีกันเชียงต่อไปอีกไม่ช้านักก็ถึงตพานขึ้นเมือง ตพานนี้ต้องทำข้ามที่ชายเลนยาวประมาณสักสามเส้นเศศ ๔ เส้น จึ่งถึงดินดอนที่ตั้งพลับพลา เวลาบ่าย ๒ โมงเศศเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรบนพลับพลา พลับพลานี้ทำเปนที่ประทับแรม ท่าทางแลแผนที่คล้ายกันกับที่เมืองตกั่วป่า เป็นแต่ทำวิจิตพิศดารขึ้นไปกว่าบ้างบางสิ่ง เครื่องตกแต่งคือเตียงเก้าอี้เป็นต้น ใช้ไม้มริดคนไทยทำเกือบทั้งสิ้น มีพระราชดำรัสชมเชยตามสมควร แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปประพาศโรงกลวงที่บ้านพระบริสุทธิซึ่งอยู่ข้างพลับพลานั้น การทำดีบุกที่เมืองนี้ไม่สู้เป็นการใหญ่โตนัก เพราะแร่ดีบุกมักจะมีเป็นห้วงเป็นตอนไม่ใคร่เป็นลำสายใหญ่ เหมืองหนึ่งที่เป็นอย่างใหญ่คนทำไม่เกิน ๕๐ คน ถัดโรงกลวงไปเป็นศาลากลางอยู่น่าบ้านพระบริสุทธิเป็นคานอันเดียวกันกับที่ตั้งพลับพลา กำแพงบ้านนั้นใช้ตีระเนียดไม้กระดานกว้างขวางใหญ่โต หลังประตูทำร้านเป็นหอรบ ข้างในบ้านกันเปนสองตอน มีเรือนจากอยู่นอกระเนียดหมู่หนึ่งเป็นเรือนใหญ่ มีตึกฝาขัดแตะถือปูนใหญ่หลังหนึ่ง ตามลานบ้านก็ทุบปราบราบเรียบแลปลูกต้นไม้เป็นระยะ แต่เป็นที่พึ่งตั้งใหม่ยังไม่งามบริบูรณ ข้างหลังบ้านออกไปทำเป็นสวนปลูกต้นจำปาดะทุเรียนมะม่วงหิมพานแลมพร้าว ตัดถนนหลายสายปลูกต้นไม้รายไป ทอดพระเนตรแล้วเสด็จพระราชดำเนินออกจากบ้านพระบริสุทธิไปประพาศตลาดมีถนนกว้างประมาณ ๖ วา มีโรงตลาดเหมือนอย่างเมืองระนองหลายสิบหลัง แต่ยังไม่เต็มภูมที แลไม่สู้ครึกครื้นนัก ของที่ชายนั้นก็มีแต่ของเล็ก ๆ น้อย เสด็จพระราชดำเนินไปจนสุดตลาดแล้วเสด็จขึ้น ทรงรถพระที่นั่งเสด็จกลับมาตามทางเดิมแล้วแยกไปตามทางสายโทรเลขซึ่งไปต่อแดนเมืองพังงาระยะทาง ๑๑๘ เส้น ถนนนี้กว้างประมาณ ๔ วาพูนดินได้ที่มีรางสองข้างน้ำไม่ขังถนน แลทางนั้นขึ้นสูงลงต่ำเป็นลูกเนินไปทั้งนั้นที่สูงมากก็ตัดฉายลงให้ราบพอรถไปได้ ภูมฐานบ้านเมืองงดงาม แลมีการเพาะปลูกขึ้นใหม่เปนการเจริญอยู่ ตามข้างทางข้างซ้ายแลเห็นเทือกเขาเปาะซึ่งเป็นเทือกยาวใหญ่ยืนประจำไปตามข้างถนนจนตลอด ที่บนหลังเขานั้นก็เป็นที่ทำไร่รายกันไป ที่พื้นล่างที่เป็นที่ราบก็เป็นนาออกมาจนถึงข้างถนนโดยมาก ฟากข้างขวาไม่มีเขาแต่มีนาคั่นกับป่าไม้เล็ก ๆ มีบ้านเป็นหมู่ๆ อยู่บ้าง สวนพริกไทยเกิดขึ้นใหม่หลายแห่ง เมื่อสุดทางนี้ถึงลำธารเรียกว่าคลองวัดถ้ำเป็นพรมแดนกับเมืองพังงา มีพลับพลายกอยู่ที่ใกล้ต้นคันธรศริมลำคลองพลับพลาหนึ่ง ถัดพลับพลานั้นเป็นทางขึ้นที่เนินสูงไปตามลำดับ เสด็จพระราชดำเนินไปตามทางนั้นจนถึงวัดถ้ำ มีกุฏิพระสงฆ์อยู่หมู่หนึ่ง ปากถ้ำนั้นอยู่เสมอพื้นดิน ในถ้ำนั้นมีพระพุทธรูปยืนใหญ่อยู่ริมประตูองค์หนึ่ง ต่อเข้าไปมีพระนั่งใหญ่บ้างเล็กบ้าง มีพระปรางองค์หนึ่ง พระนอนใหญ่องค์หนึ่ง พระนิพพานองค์หนึ่ง ปลายถ้ำเข้าไปตรงน่าพระนอนมีศาลา ๒ ห้องโถง ๆ ผูกพัทธเสมาเป็นโบถมีพระสงฆ์มานั่งคอยรับเสด็จทำรูปที่ใกล้พระนิพพานมีศิลาเป็นรูปใบเสมาจารึกอักษรไทยปนขอมบอกเรื่องที่สร้างถ้ำว่าเปนของพระยาบริสุทธิ์โลหภูมินทราธิบดี (ถิน) ได้สร้างเมื่อพุทธศักราช ๒๔๐๑ ปี จุลศักราช ๑๒๒๐ ปีมเมีย สัมฤทธิศก ที่นี้เป็นที่ราษฎรไปประชุมกันในการนักขัตฤกษ์ทุกปี ได้ทรงพระราชหัตถเลขาด้วยเส้นดินสอดำเปนอักษร จ,ป,ร ๑๐๙ ไว้ที่ผนังถ้ำชั้นในนี้แห่งหนึ่ง เสด็จพระราชดำเนินทั่วแล้วเสด็จกลับตามทางเดิมบ่าย ๕ โมงเศศถึงพลับพลา วันนี้ฝนตกเปนพัก ๆ มาตั้งแต่บ่ายจนค่ำ เวลาจวนค่ำเสด็จพระราชดำเนินลงเรือพระที่นั่งเสด็จกลับ เวลา ๔ ทุ่มเศศถึงเรือพระที่นั่งอุบลบุรทิศที่เกาะหมาก

วันที่รัชกาล ๗๘๔๔ วัน ๗ ๑๕ ๖ ค่ำ ปีขานโท๒๓ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๓ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลาบ่ายโมง ๑ เสด็จลงเรือพระที่นั่งกันเชียงพร้อมด้วยกระบวนข้างใน เรือกลไฟจูงไปในทเลประมาณ ๔๕ นาทีเข้าปากอ่าวเมืองพังงา ตอนข้างปากน้ำมีเขาเป็นลูกลูกไม่ติดเนื่องกัน คือเขาพัง ๑ เขาแดง ๑ เขารังนก ๑ เขาตำน้ำ ๑ เรือกลไฟจูงเรือพระที่นั่งเข้าไปได้เพียงคลองบางเตยใต้เขากระท้อยปลดเรือพระที่นั่งตีกันเชียงเข้าไปเขากระท้อยนี้เปนเขาเทือกยาวชิดลำน้ำเมืองพังงาฝั่งข้างขวามือขึ้นไปโอบเมืองตลอดไปต่อกับเขานางหงษ์ ซึ่งเป็นเขาล้อมรอบเมืองพังงาเหมือนกำแพง เวลาที่เสดจเป็นเวลาน้ำลงแห้งเรือพระที่นั่งติดตื้นบ่อยๆ พระยาบริรักษ์ภูธรคุมคนลงมาคอยเข็ญเรือพระที่นั่งอยู่ตามทาง อนึ่ง ตั้งแต่เสด็จพระราชดำเนินจากเรือพระที่นั่งอุบลฝนตกพร่ำเพรื่อมาตลอดทาง จนถึงตพานที่ตรงลานซึ่งเป็นที่เตียนราบกว้างหญ้าแพรกขึ้นเขียวเสมอเหมือนสนามหญ้า มีพลับพลาโถงใหญ่หลังหนึ่ง เสด็จขึ้นทรงรถพระที่นั่งที่ตพานนี้ไปทางประมาณ ๑๕ มินิต ถึงพลับพลาเสด็จขึ้นประทับรับสั่งกับพระยาบริรักษ์ภูธรด้วยข้อราชการต่างๆ แล้วเสด็จขึ้น คืนวันนี้ฝนตกใหญ่เปนพัก ๆ ตลอดคืน พลับพลานี้ทำๆ นองเดียวกับพลับพลาเมืองตกั่วทุ่ง แปลกแต่มีหลังแปดเหลี่ยมอยู่กลางหมู่พลับนั้นอีกหลังหนึ่ง การตกแต่งก็เป็นอย่างโบราณเช่นเมืองตกั่วทุ่ง

วันที่รัชกาล ๗๘๔๕ วัน ๑ ๖ ค่ำ ปีขานโท๒๓ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๔ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

ฝนตกพรำมาแต่คืนนี้จน ๒ โมงเช้าจึ่งค่อยสงบ ๒ โมงเศศเสดจออก เจ้าเมืองแลกรมการไทยจีนทั้งเมืองพังงาแลเมืองตกั่วทุ่งซึ่งค้างอยู่ยังไม่ได้เฝ้าตามมาเฝ้าทูลเกล้า ฯ ถวายของต่างๆ เป็นอันมาก พระบริสุทธิ์ แลพระยาเสนานุชิตก็มาเฝ้าที่นี่ด้วย โปรดเกล้า ฯ พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์จุลสุราภรณ์แก่พระยาบริรักษ์ภูธร แลมัณฑนาภรณ์แก่พระบริสุทธิ์ แลพระราชทานของตอบแทนแก่ผู้ที่ถวายของตามสมควรมีพระราชดำรัสด้วยข้อราชการต่างๆ จนฝนหายแล้วจึงเสดจทรงรถพระที่นั่งพร้อมด้วยกระบวนข้างในไปตามทางใหญ่ ข้างทางเป็นสวนบ้างนาบ้างติดต่อกัน ไปจนถึงปลายถนนเข้าบรรจบถนนตลาเก่ามีตึกสองฟากไม่สู้มากนักแต่ไม่สูดทรุดโทรม ออกไปพ้นถนนตลาดหน่อยหนึ่งก็ถึงวัดประพาศประจิมเขตรอยู่ตรงเขาพังงา ซึ่งทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นแต่เมื่อครั้งเสดจพระราชดำเนินคราวก่อนเสดจเข้าประทับในวัดนั้น พระครูวัดประพาศแลเจ้าอธิการวัดอื่นมาคอยรับเสดจอีก ๘ รูป พระอันดับเก้ารูป ได้ถวายปัจจัยมูลตามสมควรแล้วพระราชทานเงินให้พระยาบริรักษภูธรไว้ทำการปฏิสังขรณ์วัดนั้นต่อไป ๑๐ ชั่ง แล้วเสด็จกลับตามทางเดิมแขกลงทางริมน้ำไปประภาศบ้านพระยาบริรักษ์ภูธรแล้วเสดจกลับ เวลาเที่ยงแล้วเสดจพระราชดำเนินมาลงเรือพระที่นั่งที่ท่าออกเรือพระที่นั่งมาบ่าย ๒ โมง ๔๕ นาที ถึงเรือพระที่นั่งอุบลบุรทิศที่เกาะหมาก

ภูมประเทศเมืองพังงานี้มีภูเขามาก บ้านพังงาที่ตั้งเปนเมืองอยู่ในหว่างเขานางหงษ์แลเขากระท้อย มีไร่นาสวนบ้างเป็นตอนๆ ไปตามพื้นที่การทำเหมืองนั้นเป็นการร่วงโรย ในบัดนี้มีเหมืองใหญ่อยู่ ๒ ตำบล นอกนั้นแปนเหมืองคราคือต้องอาไศรยน้ำฝนทำได้แต่ในรดูฝน มีคนทำอยู่เหมืองละสามสิบสี่สิบคน รวมคนที่ทำเหมืองอยู่ประมาณ ๖๐๐ เศศ ที่นามีน้อยต้องใช้เข้าเมืองพม่า การเพาะปลูกอื่นไม่ใคร่มีอันใด

วันที่รัชกาล ๗๘๔๗ วัน ๒ ๖ ค่ำ ปีขานโท๒๓ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๕ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลาเช้า ๔ โมงเศศเสดจลงเรือพระที่นั่งกันเชียงพร้อมด้วยกระบวนข้างใน เรียกลไฟจูงไปประพาศบ้านปากลาว ที่ปากอ่าวบ้านปากลาวนี้มีเกาะสองเกาะเรียกเกาะสองพี่น้อง ลำแม่น้ำกว้างใหญ่มีภูเขารายเข้าไปข้างฝั่งขวามือ ใน

ลำคลองมีศิลาในน้ำมาก มีเรือนโรงคนทำปลาอยู่ข้างฝั่งขวาประมาณ ๑๐ โรง แวะเรือพระที่นั่งเข้าไปทอดพระเนตรที่หมู่โรงนั้น แต่ไม่ได้เสด็จขึ้นแล้วออกเรือพระที่นั่งมา อนึ่งเป็นเวลาลมในทเลกำลังพัดจัดน้ำเป็นระลอกคลื่นใหญ่ เรือไฟจะเข้าต่อไปอีกไม่ได้จึ่งได้เสดจกลับมาขึ้นประพาศเกาะหมาก ที่เกาะหมากนี้เป็นสวนมพร้าวของพระยาบริรักษภูธรมีมพร้าวอยู่หลายพันต้นแต่ไม่สู้งามนัก ที่พื้นแผ่นดินมีแต่กรวดอยาบทรายหยาบไม่ใคร่มีดินปน มีเรือนจากของพระยาบริรักษอยู่หลัง ที่เกาะนี้ขุดได้น้ำจืดทุกแห่ง มีสายน้ำตกริน ๆ มาลงทเลแห่งหนึ่ง ประพาศอยู่จนบ่าย ๒ โมงจึ่งเสดจกลับมาเรือพระที่นั่งอุบลบุรทิศ

เวลาเย็นเสด็จขึ้นประพาศเกาะหมากนั้นอีกครั้งหนึ่งจนเวลาพลบเสดจกลับมาเรือพระที่นั่งอุบลบุรทิศ คืนวันนี้ฝนตกพร่ำเพรื่อมาจนเวลา ๕ ทุ่มเศศ ออกเรือพระที่นั่งจากเกาะหมาก แต่เป็นเวลาคลื่นลมจัดจึงทอดเรือพระที่นั่งประทับแรมที่หัวเกาะหมากอีกราตรีหนึ่ง เวลา ๗ ทุ่มเศศฝนจึ่งหยุด

วันที่รัชกาล ๗๘๔๗ วัน ๓ ๖ ค่ำ ปีขานโท๒๓ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๖ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลาย่ำรุ่งออกเรือพระที่นั่งจากหัวเกาะหมาก มีคลื่นลูกคลิ้งเรือแคลงมาจนบ่ายจึ่งสงบ เวลาบ่าย ๔ โมงเศศเรือพระที่นั่งเข้าทอดในอ่าวเกาะลันตา เวลาบ่าย ๕ โมงเศศเสดจลงเรือพระที่นั่งกันเชียงพร้อมด้วยกระบวนข้างในตีเลียบไปประพาศตามชายฝั่ง มีหมูเรืออยู่ที่เกาะนั้นประมาณห้าหกหลัง แต่เป็นเวลาน้ำลงมากฝั่งเปนชายเลนแลหินไปทั้งนั้นจึ่งไม่ได้เสด็จขึ้น แล้วเสดจกลับมาเรือพระที่นั่ง

อำเภอที่รักษาเกาะเป็นแขกมลายูมาเฝ้าในเรือพระที่นั่งได้รับสั่งถึงการต่างๆ แขกนายอำเภอกราบบังคมทูลว่าที่เกาะนี้มีมลายูประมาณ ๘๐ คน แต่เป็นแขกที่พูดภาษาของตัวไม่ได้เช่นนายอำเภอทั้งสิ้น มีจีนประมาณ ๒๐ คน ไทย ๒๐๐ เศศ แต่เป็นพวกชาวน้ำทั้งสิ้น คำที่เรียกว่าชาวน้ำนี้คือเป็นคนมีโรคตามผิวหนังที่เรียกว่าพันระในทำนาแลไร่ได้เข้าพอกินไม่ต้องซื้อที่อื่นหาปลาทำหอยมุข ตัดเปลือกโปลงๆนี้เปนสินค้าที่จีนมารับ จีนผูกภาษีจากเมืองกระบี่ทั้งเกาะเป็นเงิน ๑๐๐๐ เหรียญขายฝิ่นขายสุรา ตั้งบ่อนเบี้ย เก็บเปลือกโปลง ๑๐๐ มัดเก็บ ๑๐ เซนต์ ราคาซื้อขายกัน ๑๐๐ ละ ๑ เหรียญ ๒๐ เซนต์ แล้วโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินแก่แขกนายอำเภอนั้น ๑๐ เหรียญ เวลา ๑๑ ทุ่มออกเรือพระที่นั่ง

วันที่รัชกาล ๗๘๔๘ วัน ๔ ๖ ค่ำ ปีขานโท๒๓ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๗ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลาเช้า ๓ ครึ่งถึงปากอ่าวเมืองตรังเรือพระที่นั่งเดินเข้าไปในอ่าวประมาณ ๒ ไมล์จึ่งได้ทอด พระยามนตรีสุริวงษ์ซึ่งไปตรวจการตลอดถึงเมืองไทรย แลมารับเสด็จอยู่ที่นี้ได้ลงมาเฝ้าในเรือพระที่นั่ง

เวลาบ่ายโมงครึ่งเสดจลงเรือพระที่นั่งอุไทยราชกิจพร้อมด้วยกระบวนข้างใน เรือพระที่นั่งเดินเข้าไปตามลำน้ำมีป่าจากรายขึ้นไปตั้งแต่ปากน้ำตลอดจนถึงควนธานี แลมีที่ล้มไม้ทำไร่เป็น หย่อม ๆ บ้านหมู่ใหญ่ ๆ ก็มีคือบ้านควนยายทองสี ซึ่งเปลี่ยนเรียกว่าควนราชสีห์ แลบ้านย่านซื่อมีเขาอยู่ริมน้ำสองสามเขา เรียกว่าตลูลุด ขึ้นไปประมาณ ๒ ชั่วโมงหย่อน ๆ ถึงตำบลแก้มดำ ซึ่งเป็นที่โรงภาษีแลเรือเมล์จอด มีเรือเมล์เดินไปมากับเมืองปีนัง ๒ ลำ ตั้งแต่แก้มดำนี้มีถนนเดินขึ้นไปถึงควนธานีเป็นทางใหญ่แลตรง มีคลองลัดด้วยคลองหนึ่ง เวลาบ่าย ๓ โมงเศศถึงควนธานี เรือพระที่นั่งประทับที่พลับพลาริมน้ำแล้วเสดจขึ้นทรงพระราชดำเนินไปแต่ท่าจนถึงพลับพลาบนหลังเนินทางประมาณ ๒๐ เส้น ถนนนี้เป็นถนนใหญ่ทางระเรียบร้อยดี เสดจประทับพลับพลามีพระราชดำรัสด้วยพระยาตรังตามสมควรแล้วเสด็จขึ้น พลับพลานี้มีท้องพระโรงหลังหนึ่งเป็นตรีมุข มีเฉลียง ถัดเข้าไปข้างในหลังใหญ่หลังหนึ่ง ข้างน่ามีที่พักเจ้านายข้าราชการตามแบบ

บ่าย ๕ โมงเศศเสดจออกทรงพระราชดำเนินประพาศบ้านพระยาตรัง ที่ควนธานีนี้เป็นควนติด ๆ กันไปหลายควนตามหลังควนเหล่านี้ตัดทางเป็นทางรถหลายสาย มีทางยาวไปตำบลแก้มดำสายหนึ่ง ไปทับเที่ยงตลาดบางรักสายหนึ่ง บ้านพระยาตรังตั้งอยู่ชายเนินลูกนี้ รั้วบ้านใช้ไม้ปักห่าง ๆ ประตูไม้ช่องใหญ่ ๆ มีเรือนหลังคาจากปลูกชิด ๆ กันหลายหลังแล้วเสด็จไปประพาศสวนพระยาตรัง ซึ่งตกเป็นของหลวงมีหมากมพร้าวมาก ข้างปลายสวนริมน้ำมีหมู่ต้นจำปาดะหลายร้อยต้นเป็นที่งามดี แล้วเสด็จมาประพาศตึกซึ่งสมเด็จเจ้าพระยามาสร้างไว้ ว่าจะให้เป็นคอเวอนแมนต์ออฟพิศแต่ค้างอยู่ ศึกนั้นโตใหญ่มากพื้นที่ดินในบริเวณนั้นก็ตัดเป็นทางสวนเดินวนเวียนไปเป็นที่น่าสนุกสนาน ตามเชิงเขาเหล่านี้เป็นที่นาพื้นราบโดยมาก ย่ำค่ำเศศเสดจกลับ เวลาทุ่มเศศเสด็จกลับออก พระครูวิสุทธิวงษาจาริย์เจ้าคณะกับพระปลัดแลพระสงฆ์อันดับมาเฝ้ามีพระราชดำรัสด้วยตามสมควร แล้วโปรดให้ถวายเทศน์มหาชาติชูชกกัณฑ์ ๑ มหาพนกัณฑ์ ๑ โปรดถวายเครื่องบูชากัณฑ์ตามสมควรแลทรงกะระยะทางที่จะเสด็จพระราชดำเนินต่อไป ๕ ทุ่มเศศเสดจขึ้น

วันที่รัชกาล ๗๘๔๙ วัน ๕ ๖ ค่ำ ปีขานโท๒๓ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๘ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลาเช้า ๕ โมงเศศเสดจออก ผู้ว่าราชการแลกรมการจีนหัวน่ามาเฝ้าทูลเกล้า ฯ ถวายของต่าง ๆ เป็นอันมาก อนึ่ง พวกจีนที่อยู่ตลาดบางรักได้จัดของต่าง ๆ มาทูลเกล้า ฯ ถวาย มีกระบวนแห่ของถวายนั้นมาด้วย ผู้ซึ่งเป็นหัวน่านั้นคือหลวงภิรมย์สมบัติเป็นจีนมเกา กับหลวงประเทศ ขุนล่ามจีนมีชื่ออีก ๑๖ คน โปรดเกล้า ฯ พระราชทานของตอบแทนตามสมควรแลโปรดเกล้า ฯ แจกเงินพวกกระบวนแห่ของถวายนั้นด้วย แล้วเสดจไปประพาศวัดควนธานี เจ้าอธิการวัดต่าง ๆ รวม ๑๑ วัด แลพระสงฆ์อันดับในวัดนั้นประมาณ ๒๐ เศศ คอยเฝ้าอยู่ที่วัดนั้น โปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตรให้พระปลัดวัดควนธานี เป็นพระครูอาณาคารคุณธำรงเจ้าคณะรองแลพระราชทานปัจจัยมูลแก่พระสงฆ์ตามสมควรทั่วกัน อนึ่ง มีพราหมณ์มาเฝ้าสามคนได้พระราชทานเงินแจกด้วย เวลาบ่ายโมงหนึ่งเสดจพระราชดำเนินกลับจากวัดมาลงเรือพระที่นั่ง ในเวลาเสด็จพระราชดำเนินมีคนมานั่งดูตามข้างถนนอย่างเรียบร้อยตลอดไปทั้งเวลาเสด็จขึ้นแลเสด็จกลับ ออกเรือพระที่นั่งจากควนธานีมาเวลาบ่าย ๓ โมง ๒๐ นาทีถึงเรือพระที่นั่งอุบลบุรทิศ

เวลาย่ำค่ำเสด็จออกหลวงภิรมย์สมบัติตามมาเฝ้าในเรือพระที่นั่งด้วย โปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตรเลื่อนเป็นหลวงสมานสมัคจีนนิกรปลัดจีน แล้วพระราชทานเสื้อแจกแก่จีนผู้อื่นที่มาเฝ้าทั่วกัน แล้วพระราชทานเงินแจกเจ้านายข้าราชการที่ตามเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ตามสมควงทั่วกันแล้วเสด็จขึ้นประทับแรมที่นี้

ภูมิประเทศเมืองตรังนี้พื้นที่เป็นดินอุดมดีควรแก่การเพาะปลูก แต่การเพาะปลูกต่างๆมีอยู่แต่พวกจีนมะเกาะมากกว่าชาติอื่น ๆ พริกไทยเปนสินค้าใหญ่ แร่ดีบุกไม่สู้มีมาก คนในพื้นเมืองมีคนไทยมาก แต่ชายฉกรรจ์ประมาณ ๑๐๐๐๐ เศศ วัดมี ๓๐ วัด มีพระสงฆ์ ๑๐๐ เศศ

วันที่รัชกาล ๗๘๕๐ วัน ๖ ๖ ค่ำ ปีขานโท๒๓ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๙ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลาเช้า ๕ โมงเศศออกเรือพระที่นั่ง เที่ยงเศศออกปากน้ำมีคลื่นลูกกลิ้งบ้าง บ่าย ๕ โมงเศศ ถึงเกาะตรูเตาเปนเกาะใหญ่มีเกาะเล็ก ๆ รายอยู่ตามด้านน่า เรือพระที่นั่งเข้าทอดในอ่าวตรงเขาสูงน่าในมีคลองและมีบ้านคน เกาะนี้เป็นของเมืองไทย เวลา ๒ ทุ่มเศศ เสดจออกทรงเรื่องระยะทางที่จะเสด็จพระราชดำเนินต่อไป ๔ ทุ่มเศศ เสด็จขึ้น เวลาสิบเบ็ดทุ่มออกเรือพระที่นั่ง.

วันที่รัชกาล ๗๘๕๑ วัน ๗ ๖ ค่ำ ปีขานโท๒๓ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๑๐ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เรือพระที่นั่งเดินมาแต่เวลา ๑๑ ทุ่ม เวลาเช้าโมง ๑ ฝนตกหนักจนมืดไม่เห็นทางต้องหยุดเรือพระที่นั่งต่อฝนซาจึงได้เดินต่อไป เวลาเช้าโมงถึงเกาะลังกาวี เกาะนี้เป็นเกาะใหญ่มีภูเขาสูงๆ ซ้อนบังกันเปนชั้นๆ บ้าง หัวเขาท้ายเขาเกี่ยวกันบ้าง มีเกาะเล็กรายตามน่าเกาะใหญ่ตลอดไปเป็นอันมาก เรือพระที่นั่งเข้าทางริมเกาะตูบาแล้วเดินมาตามระหว่างเกาะเล็กเข้าทอดที่อ่าวตรงเขาสูง เรียกว่ากุหนุงรายาสูงประมาณ ๒๙๕๒ ฟิต เป็นสูงกว่าหมู่เขาทั้งปวงในเกาะนี้ เรือพระที่นั่งทอดที่เป็นปรกติ ในเวลาเช้า ๕ โมงกับ ๑๕ มินิต เวลาเที่ยงแล้วเสด็จทรงเรือพระที่นั่งกระเชียงไปประทับเรือพระที่นั่งเวสาตรี โปรดเกล้า ฯ ให้ไปรับพระยาไทรย แลตนกูมหมัดบุตรพระยายุทธการ หลวงธานินทรนิพัทธมาเฝ้าที่เรือพระที่นั่งเวสาตรี มีพระราชดำรัสด้วยเรื่องเกาะลังกาวีนี้ พระยาไทรยกราบบังคมทูลว่าที่เกาะนี้หลวงธานินทรนิพัทธ์เป็นเจ้าตำบล มีราษฎรมาตั้งทำมาหากินอยู่ที่นี้แต่ชายฉกรรจ์ประมาณ ๖๐๐ เศศ ได้เกณฑ์ใช้ราชการอยู่ประมาณ ๒๐๐ คน ที่น่าเบราตะลากามีที่นามาก ทำได้เข้าพอกินไม่ต้องซื้อ การหาปลาแลตัดฟืนมีมากจนได้จำหน่ายออกไปขายที่เมืองไทรยบ้าง เมืองปีนังบ้าง การตัดหวายแลเลื่อยไม้กระดานก็มีได้จำหน่ายออกไปเหมือนกันการตัดฟืนนั้นเป็นของพวกจีน มีอยู่ประมาณ ๑๐๐ เศศ

เวลาบ่าย ๓ โมงเศศเสดจลงเรือพระที่นั่งกระเชียงพร้อมด้วยกระบวนข้างในไปขึ้นที่เกาะตรงหมู่บ้านแสสวนมพร้าวของหลวงธานินทร์ มีพลับพลาเล็กอยู่ใต้ต้นมพร้าวหลังหนึ่ง หลังใหญ่เป็นปั้นหยาดาษปรำรอบหลังหนึ่ง เสด็จขึ้นประทับพักบนพลับพลาครู่หนึ่งแล้วเสด็จพระราชดำเนินไปประพาศสวนซึ่งพึ่งลงต้นดูกูใหม่ๆ มีต้นผลไม้อื่นๆ บ้างเล็กน้อยมีเรือนประมาณห้าหกหลัง แล้วเสด็จไปทอดพระเนตรคอกดักสุกรป่า แล้วเสด็จขึ้นประทับบนเลื่อนซึ่งเขาคิดทำขึ้นใหม่ตั้งเก้าอี้หวายมีเพดานลากด้วยกระบือไปตามทางที่รกหน่อยหนึ่งจึ่งออกทางเป็นถนนกว้างประมาณ ๓ วายาว ๓ ไมล์ ตามข้างถนนขึงข่ายไล่กระจง ประทับทอดพระเนตรไล่กระจง ๒ พัก ๆ แรกได้ ๓ ตัว พักหลังได้ ๔ ตัว แล้วเสด็จกลับมาตามทางเดิมลงเรือพระที่นั่งกระเชียงมาประทับแรมในเรือพระที่นั่งอุบลบุรทิศ

วันที่รัชกาล ๗๘๕๒ วัน ๑ ๖ ค่ำ ปีขานโท๒๓ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๑๑ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลาเช้า ๔ โมงเสด็จลงประทับเรืออุไทยราชกิจพร้อมด้วยกระบวนข้างในแลโปรดเกล้าฯ ให้พระยาไทร หลวงธานินทร์ตามเสด็จในเรือพระที่นั่งด้วย เรือเดินไปตามทางหว่างเกาะใหญ่กับเกาะเล็กรายรอบนอก ข้างในที่เกาะใหญ่ล้วนแต่เป็นภูเขาสูงสูง สลับซับซ้อนกันข้างนอกก็เปนเกาะเล็กๆ เรือพระที่นั่งอ้อมออกไปข้างน่านอกแลเห็นหมู่บ้านคนอยู่ในอ่าวเป็นบ้านหมู่ใหญ่ แลว่าที่ตาบลนี้เป็นที่ทำนามาก ทเลน่านอกนี้มีคลื่นเพราะฝนตกพรำอยู่เสมอตั้งแต่ออกเรือพระที่นั่งมา แล้วเรือพระที่นั่งเลี้ยวเข้าในอ่าวเข้าทอดที่หาดเสด็จขึ้นประทับที่พลับพลาบนฝั่งซึ่งปลูกต่อๆ กันไปหลายหลังแลกันเป็นข้างน่าข้างใน ประทับอยู่ครู่หนึ่งเสด็จขึ้นประทับบนแคร่ไม้มริดเหลี่ยมหุ้มเงินคานหุ้มผ้าเหลืองผูกสี ข้างในใช้เก้าอี้หาม เสด็จพระราชดำเนินไปตามที่ราบสักครึ่งทางจึ่งขึ้นเขาแต่ทางที่ขึ้นเขานั้นไม่ชันดอยสูงขึ้นไปตามลำดับแต่อยู่ข้างจะแฉะดินลื่นด้วยฝนตกทากชุมอย่างยิ่ง ข้างทางมีต้นไม้ใหญ่ครึ้มตลอด เมื่อขึ้นไปถึงสุดทางเลี้ยวเข้าในทางที่น้ำตกเปนไหล่เขาอันหนึ่ง ตัวลำธารที่มาแต่ข้างบนมีก้อนศิลาใหญ่ๆ กว้างกว่า ๑๐ วาเสด็จขึ้นประทับบนพลับพลาซึ่งตั้งอยู่ที่แขกนับถือกันเรียกว่าเบราตะลากา คือโบราณสูงประมาณ ๔๕๐ ฟิศ แล้วเสด็จพระราชดำเนินประพาศตามที่น้ำตก ตรงที่ตั้งพลับพลานี้เปนศิลาดาษเต็มไปกว้างอยู่ใน ๑๕ วาถึงเส้นหนึ่งยาวประมาณ ๒ เส้นเศศฤๅสามเส้นตามน่าศิลาดาษเหล่านั้นมีเป็นห้วง ๆ ห้วงที่กว้างถึงห้าวาหกวา ที่เล็กเพียงสองศอกสามศอกแต่ลึก ๆ ทุกบ่อ สายน้ำตกอาบลงมาตามน่าศิลาดาดนี้ เมื่อถึงที่บ่อใหญ่ใหญ่ก็ตกลงแลไหล่เขาต่อออกไป แต่ที่เป็นบ่อเล็กๆ สายน้ำที่ตกลงไปในบ่อนั้นแล้ววนเสียรอบหนึ่งจึ่งไหลตกต่อไป ที่ปลายศิลาดาดเป็นชง่อนเขาเดินออกไปได้แลเห็นเป็นชวากลึกลงไปจนถึงที่เรือพระที่นั่งจอด ที่ข้างชวากนั้นเป็นน่าผาชันสูงเรียกว่ากุหนุงชิงชัง ได้ทรงจารึกอักษรพระนาม จ,ป,ร, แลศักราชไว้ที่ก้อนศิลาแห่งหนึ่ง เสด็จประพาศอยู่ประมาณ ๒ ชั่วโมงเศศ บ่าย ๔ โมง ๔๕ นาทีเสดจกลับตามทางเดิมถึงเรือพระที่นั่งอุบลบุรทิศเวลา ๒ ทุ่มเศศ

วันที่รัชกาล ๗๘๕๓ วัน ๒ ๖ ค่ำ ปีขานโท๒๓ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๑๒ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลาเช้า ๔ โมง ๕๐ นาทีเสดจลงประทับเรืออุไทยราชกิจพร้อมด้วยกระบวนข้างในไปทางเมื่อวานนี้แต่ไปเลี้ยวออกทางซอกเกาะเล็กแล้วไปเลี้ยวเข้าช่องตรงทิศตวันตกเป็นชวากเขาเข้าไปหน่อยหนึ่งอยุดเรือพระที่นั่ง เสด็จลงเรือพระที่นั่งกระเชียงไปประทับพลับพลาบนหาดตรงน่าเขาใหญ่ พลับพลานั้นมี ๒ หลัง ประทับอยู่ครู่หนึ่งแล้วเสด็จทรงพระเสลี่ยงกระบวนข้างในเก้าอี้หามไปตามทางข้ามเอนเขาที่ต่อกันแล้วถึงที่ทเสสาบซึ่งเรียกว่าดายังบุนติง ทางที่มาเป็นป่าดิบมีไม้ใหญ่ครึมมากพื้นดินแดง ที่ทเลสาบนี้มีเขาใหญ่หลายลูกซับซ้อนกันเหมือนกำแพงกั้นอยู่โดยรอบ ทางที่ลงไปตามน่าผาชัน มีแคร่เป็นที่พักตอนหนึ่ง แล้วมีบันใดต่อลงไปถึงพลับพลาที่ปลูกบนหลังหาดแคบนิคหนึ่งเสาพลับพลาปักลงในน้ำ มีเป็นหลังเล็ก ๆ สามหลัง มีเรือเล็กไว้สำหรับทรงประพาศด้วย บริเวนทเลสาบนี้สันฐานรีเป็นรูปไข่โดยยาว ๕๐๐๐ ฟิศ กว้าง ๑๓๐๐ ฟิศ โดยรอบ ๘๐ เส้น น้ำที่ลึก ๙ วาสองศอก ที่ตื้น ๗ วา ฝั่งรอบสระเป็นน่าผาสูงแลชันทั้งนั้น มีช่องต่ำอยู่ ๒ ช่อง คือช่องที่ตั้งพลับพลาอยู่ด้านเหนือช่องหนึ่ง ไม่สู้ต่ำหนัก ช่องทางตวันตกช่องหนึ่งต่ำมาก เขาที่กั้นอยู่ก็บางเดินข้ามออกไปถึงทเลใหญ่ได้ เสด็จประทับที่พลับพลาครู่หนึ่งแล้วลงประทับเรือเล็กกับเจ้านาย ทรงพายไปประพาศในทเลสาบ แล้วฝนตกใหญ่ลงมาเสด็จกลับขึ้นประทับอยู่บนพลับพลาอยู่จนฝนหาย จึ่งเสดจลงทรงเรือเล็กทรงพายไปประพาศที่ช่องต่ำด้านตวันตก ทรงฉายพระรูปที่นั้นแล้วเสด็จกลับมาทรงจารึกอักษรพระนามแลศักราชไว้ที่น่าผาข้างทางเสดจแห่งหนึ่งแล้วเสดจกลับตามทางเดิมถึงเรือพระที่นั่งอุบลบุรทิศบ่าย ๔ โมงเศศออกเรือพระที่นั่งอุบลบุรทิศกลับทวนขึ้นไปทางเหนืออีกระยะทาง ๓ ชั่วโมงเศศ มืดมัวมีลมจัดแต่ไม่มีคลื่น เวลา ๒ ทุ่มเศศถึงตำบลคัวจะริตะทอดเรือพระที่นั่งเสดจลงประทับเรือพระที่นั่งกระเชียงไปประทับที่ตพาน มีคนมาตกแต่งแลกองไฟรับเสดจๆ ขึ้นที่ตพานนั้นแล้วเสดจพระราชดำเนินไปตามหาดประมาณเส้นหนึ่งถึงน่าผาที่จารึก เป็นเพิงเงื้อมยาวออกมาจนถึงหาดในเพิงเข้าไปจนถึงเขาประมาณ ๑๕ วาแล้วมีซอกเปนถ้ำเข้าไปข้างในอีก ที่จารึกนั้นเป็นน่าผาอยู่ในเงื้อมสูงพ้นจากพื้นดินขึ้นไปประมาณ ๓ วาเป็นน่าศิลาราบ เสดจขึ้นไปทอดพระเนตรหนังสือบนเกยซึ่งเขาปลูกไว้รับเสด็จ เมื่อเอาไฟส่องห่างๆ สัก ๓ ศอก ๔ ศอกแลเห็นตัวหนังสือชัดเป็นสีดำเจือแดงเมื่อเอาไฟเข้าไปใกล้ไม่เห็นตัวหนังสือ ๆ นั้นเป็นหนังสืออารับโบราณ โต้ประมาณ ๓ นิ้วเขียนติดกันเปนพืดกว้างขวาง ประทัด ๒ ศอกคืบ ๗ นิ้ว ยามตามประทัดสามศอกคืบ หนังสือนี้มีผู้อ่านได้บ้างแต่ไม่ได้ความ แล้วเสด็จพระราชดำเนินมาขึ้นที่ปากช่องอีกแห่งหนึ่งเป็นถ้ำอยู่ข้างซ้ายที่จารึก ถ้ำนั้นเป็นปล่องตรงเข้าไปยาวประมาณสิบสองสิบสามวาได้ทรงจารึกอักษรพระนามแลศักราชไว้ที่ผนังสุดถ้ำแห่งหนึ่ง แล้วเสดจกลับมาถึงเรือพระที่นั่งอุบลเวลา ๔ ทุ่มเศศออกเรือพระที่นั่งต่อมา เวลา ๑๐ ทุ่ม ๑๕ มินิตถึงปากอ่าวเมืองไทร เรือพระที่นั่งทอดประทับแรมที่น่าอ่าวนี้ มีคลื่นแคลงเรือพระที่นั่งบ้าง

วันที่รัชกาล ๗๘๕๔ วัน ๓ ๑๐ ๖ ค่ำ ปีขานโท๒๓ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๑๓ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลาย่ำรุ่งกับ ๒๐ มินิตเสดจลงประทับเรืออุไทยราชกิจพร้อมด้วยกระบวนข้างใน เจ้านายแลข้าราชการที่ตามเสดจแต่งตัวครึ่งยศติดตรา ออกเรือพระที่นั่งเดินมาประมาณครึ่งชั่วโมงเข้าปากอ่าว ที่ถัดแหลมป้อมเก่าเข้าไปมีโรงโปลิศฝาขัดแตะถือปูนยาวหลังหนึ่ง ที่อยู่ผู้รักษาด่านเป็นเรือนฝาขัดแตะถือปูนพื้นสองชั้นหลังหนึ่ง เป็นออฟฟิศโทรศัพท์ซึ่งมีขึ้นไปตั้งแต่ปากน้ำจนถึงเมืองอีกหลังหนึ่ง ต่อเข้าไปข้างในทั้งสองฟากน้ำมีเรือนพวกคนหาปลาสามหมู่ ๆ หนึ่งหลายๆสิบหลังเรือน มีเรือพายท้ายปักธงช้างออกมารับเสดจเป็นอันมาก ลำหนึ่งคนพายประมาณสิบห้าสิบหกคน เรือนั้นตกแต่งทาสีใหม่หมดจด แลคนพายนั้นแต่งตัวสวมเสื้อแลตะพายผ้าเหมือน ๆ กัน มีเรือพระที่นั่งทรงที่นั่งรองเป็นเรือคอนโดลาเก๋งพายมาด้วย เรือพระที่นั่งเดินเนือย ๆ มา พอเรือเหล่านั้นพายทันแวดล้อมเรือพระที่นั่งมาตลอดทาง เมื่อเรือพระที่นั่งเดินมานี้พบเรือเมล์เมืองปีนังเดินสวนลงไปสองลำปักธงช้าง เพราะพระยาไทรเช่าลำหนึ่ง พระยาปลิดเช่าลำหนึ่งไว้ใช้ในการรับเสดจ เรือเมล์สองลำนี้เดิมผลัดกันคนละลำสำหรับบันทุกเข้าสารโคเป็ดไก่ ฟืนแลดีบุกซึ่งเป็นสินค้าออกจากเมืองไทรไปเมืองปินัง ถัดหมู่บ้านที่ปากน้ำขึ้นไปริมน้ำมีต้นไม้รก ต่อขึ้นไปอีกประมาณชั่วโมงหนึ่ง จึ่งเป็นท้องนาริมน้ำเป็นสวนจาก ตั้งแต่สวนจากขึ้นมานี้มีบ้านเรือนคนรายๆ ขึ้นไปจนถึงหัวแหลมซึ่งเป็นที่เลี้ยวขึ้นไปถึงเมืองมีโรงสีไฟของจีนลิมเชียกคนในบังคับอังกฤษโรงหนึ่ง ตั้งแต่โรงสีไฟนี้ขึ้นไปลำน้ำเป็นสองแยก ที่ในระหว่างลำน้ำสองแยกนั้นเป็นเมืองล้วนแต่ตึกสองชั้นเต็มตลอดไปตามริมน้ำก็มีถนนตลอดตั้งแต่โรงสีขึ้นมาตามข้างถนนตกแต่งปักเสาแขวนธงช้างตลอด ตามน่าต่างตึกร้านผูกผ้าแดงห้อยธงทั่วทุกแห่ง มีตพานทำขึ้นใหม่เป็นตะพานข้างน่าตะพานข้างในมีโรงใหญ่เป็นที่เจ้าเมืองกรมการมารับเสดจที่ข้างน่า พวกเจ้าเมืองแลสีตวันกรมการแต่งตัวเต็มยศสวมเสื้อเยียรบับ พวกจีนแต่งตัวอย่างผู้ดีจีน มีทหารแขกซิบแถวหนึ่งประมาณ ๕๐ ๖๐ } คนแลกลองโน่บัด ข้างในมารดาพระยาไทรแลพวกญาติผู้หญิงมาคอยรับเสดจด้วย เรือพระที่นั่งประทับท่าประโคมกลองโนบัดแล้วเสดจขึ้นมีพระราชดำรัสปราไสย์เจ้าเมืองแลสีตวันกรมการทั้งปวงแล้วเสดจขึ้นทรงรถพระที่นั่งกับสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช แลโปรดเกล้า ฯ ให้พระยามนตรีสุริวงษแลพระยาไทรตามเสด็จบนรถพระที่นั่งด้วย รถข้างในนั้นหวันเต๊ะมารดาพระยาไทร หวันยะมารดาพระยาไทรไชนาระชิต ตวนอีตำภรรยาพระยายุทธการ เจะดาหราภรรยาพระยาสุรพลขึ้นตามเสดจบนรถพระที่นั่งด้วย รถพระที่นั่งเดินมาทางน่าบาไลบาชาตามทางปักเสาธงช้างแลมีซุ้มใบไม้ราย ๆ กันตลอดไประยะทางถึง ๔ ไมล์ไปอะนบูเก็ดนี้ ข้างซ้ายมือเป็นบ้านเรือนคนตลอดไปจนถึงอะนะบูเก็ด ข้างขวามือไปสักครึ่งทางต่อไปทุ่งนาตลอดไปจนถึงที่อะนะบูเก็ด แล้วรถพระที่นั่งอ้อมไปขึ้นทางข้างในเมื่อเสด็จขึ้นแล้ว ชักธงสะแตนดาดจึ่งได้ยิงปืนสลูด เสดจขึ้นประทับพระที่นั่งข้างในครู่หนึ่งแล้วเสดจออกท้องพระโรง เจ้าเมืองแลกรมการเมืองไทรเมืองปลิดแลพระยาสุนทรานุรักเข้าเฝ้าพร้อมกับมีพระราชดำรัสด้วยข้อราชการต่าง ๆ แก่เจ้าเมืองแลกรมการนั้น แล้วพระยาไทรกราบบังคมทูลขอทำวังที่อะนะบูเก็ดนี้ใหม่ ด้วยที่เดิมเล็กนักแลขอพระราชทานตัวอย่างด้วย โปรดเกล้า ฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้วเสดจขึ้น วันนี้เวลากลางวันฝนตกมาก เวลาเย็นฝนหายแล้วเสดจออกทรงพระราชดำเนินประพาศในบริเวนอะนะบูเก็ด ที่ตำบลนี้ตั้งอยู่ริมถนนซึ่งเป็นทางจะไปเมืองสงขลาอยู่ตรงแง่ลำคลองเมืองไทรเลี้ยวโอบเป็นปลายแหลม มีลำคลองเล็กตัดวงรอบในเข้ามาเกือบจะบรรจบรอบเป็นเกาะ ตามบริเวนนั้นปลูกเรือนที่พักเจ้านายข้าราชการแลโรงทหารโรงบิลเลียดตกแต่งสอาดงดงาม แลมีสวนมีสนามหญ้าเรียงรายกันไปรอบพระที่นั่ง พระที่นั่งนั้นเดิมเป็นตึกหลังหนึ่ง แล้วปลูกท้องพระโรงฝากระดานต่อออกมาทางมุขน่าหลังหนึ่ง ก่อตึกสามห้องแอบขึ้นไปคามมุขเดิมอีกหลังหนึ่งกั้นรั้วรอบเชิงเขา เครื่องตกแต่งเป็นอย่างประนีตแลมีบริบูรณ์พร้อมทุกอย่าง เสดจพระราชดำเนินทั่วแล้วเสด็จขึ้นประทับแรม

วันที่รัชกาล ๗๘๕๕ วัน ๔ ๑๑ ๖ ค่ำ ปีขานโทศก ๑๒๕๒

วันที่ ๑๔ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลาเช้า ๓ โมงเสดจออกขึ้นทรงรถพระที่นั่งพร้อมด้วยกระบวนข้างใน. โปรดเกล้า ฯ ให้พระยามนตรีสุริวงษแลพระยาสุรพลพิพิธตามเสดจบนรถพระที่นั่ง ด้วยรถพระที่นั่งออกจากพระราชวังอะนะบูเก็ดมาตามทางที่เสด็จขึ้นแล้วไปประกับที่บ้านพระยาสุรพลเสดจขึ้นทอดพระเนตรบ้านพระยาสุรพลทั่วแล้วเสดจมาประทับบนรถพระที่นั่ง โปรดเกล้า ฯ ให้พระยามนตรีกับพระยาไทรขึ้นบนรถพระที่นั่งไปประพาศที่บาไลบะชามีซุ้มใบไม้แลทหารแขกซิบยืนแถวรับเสด็จ ๆ ขึ้นทอดพระเนตรบาไลบะชาซึ่งเป็นศาลากลางเป็นศาล ๙ ห้องปลูกคร่อมกำแพงบ้านเจ้าเมืองออกมาอยู่นอกกำแหง ๗ ห้อง อยู่ในกำแพง ๒ ห้อง มีเฉลียงสามด้านๆ น่าเป็นมุขลดพื้นถึงดิน ที่ข้างบาไลบะชาน่ากำแพงมีถานก่ออิฐถือปูนสำหรับปลูกต้นเทียนใช้ย้อมมือในการแต่งงานบ่าวสาว ต่อออกไปข้างถนนมีโรงโน่บัดเป็นพื้นสองชั้น ชั้นบนไว้เครื่องประโคมคนอยู่ ทอดพระเนตรแล้วเสดจลงทางหลังบาไลบะชาไปทอดพระเนตรเรือนอีกหลังหนึ่งซึ่งเป็นที่สำหรับทำการแต่งงานแลการทำบุญต่าง ๆ แล้วไปทอดพระเนตรเรือนเจ้าพระยาไทรแลเรือนหวันเต๊ะ แล้วเสด็จกลับมาทรงรถพระที่นั่งไปประทับที่ตะพานท่าขึ้นเสดจลงทรงเรือพระที่นั่งคอนโดลาพาย เสด็จไปทอดพระเนตรหมอจับจรเข้ที่น่าโรงสีไฟตัวหนึ่ง ใต้โรงสีไฟตัวหนึ่งเป็นจรเข้ขนาด ๙ ๑๐ } ศอกแล้วเสด็จกลับมาขึ้นทรงรถพระที่นั่งไปประพาศถนนตลาดมีถนนยืนขึ้นไปสองสาย ถนนขวางสามสายสองข้างถนนเป็นตึก ๒ ชั้น ผู้คนแน่นหนาครึกครื้นมาก ตึกที่ยังสร้างขึ้นใหม่ก็มีมาก คุกทำคล้ายที่เมืองระนองแต่ย่อมกว่า แล้วเสดจกลับตามทางเดิมถึงพระราชวังอะนะบูเก็ดเวลาบ่าย ๒ โมง เวลาเย็นเสด็จออกพระยาไทรแลญาติพี่น้องมีรายามุดาเปนต้นแลผู้อื่นๆ รวมประมาน ๑๕ ๑๖ } คนกับจีนลิมเชียกเจ้าของโรงสีไฟ หลวงอร่ามสาครเขตรปลัดจีนที่ทำเหมืองดีบุกตำบลกุเลมกับจีนมาแต่ตำบลกะทู้เมืองภูเก็ดคนหนึ่งเฝ้า มีพระราชดำรัสด้วยข้อราชการต่าง ๆ แล้วเสดจขึ้น

วันที่รัชกาล ๗๘๕๖ วัน ๕ ๑๒ ๖ ค่ำ ปีขานโท๒๓ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๑๕ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลาเช้า ๔ โมงเศศเสดจออกขึ้นทรงรถพระที่นั่งพร้อมด้วยกระบวนข้างใน โปรดให้พระยามนตรีกับพระยาไทรยตามเสดจบนรถพระที่นั่งด้วย รถพระที่นั่งออกจากพระราชวังอะนะบุเก็ดไปตามทางเดิมจนถึงน่าบาไลบะชาแล้วจึงแยกไปตามถนนทุ่งนา ตามสองข้างทางเป็นท้องนาพื้นราบตลอดไปจนสุดสายตา ที่ริมลำน้ำมีสวนจากแทบทั้งนั้น ไร่อื่นๆ มีมันสำโรงเป็นต้นมีบ้างเล็กน้อย ทางตั้งแต่น่าบาไลบะชามา ๙ ไมล์ถึงที่ตั้งศพเจ้าพระยาไทรแลญาติวงษเมืองไทรย ในที่ฝังศพนั้นก่อกำแพงกั้นรอบยาวประมาณ ๑๕ ๑๖ } วา กว้างประมาณ ๖ ๗ } วา ในกำแพงนั้นเป็นที่ฝังศพญาติวงษเมืองไทร ศพเจ้าพระยาไทรนั้นมีพื้นก่อขึ้นมาพ้นดินคืบหนึ่ง ตรงหีบศพก่อเป็นชั้นสูงขึ้นไปอีก ๖ นิ้ว บนหลังชั้นนั้นก่อเป็นบัวมีรางกว้างสัก ๓ ๔ } นิ้วบรรจุทรายอยู่กลาง มีโรงเสาไม้ทาน้ำมันหลังคาเหล็กครอบในหลังคานั้นกางมุ้งมีตู้เล็กบันจุหีบตราเครื่องราชอิศิริยาภรณ์ของเจ้าพระยาไทรตั้งอยู่ด้วย ทอดพระเนตรแล้วมาประทับที่พลับพลา พระยาไทรกราบบังคมทูลว่ากุฏิที่ตั้งศพเจ้าพระยาไทรนี้ยังไม่เปนที่ชอบใจ โปรดเกล้า ฯ จะทำพระราชทานด้วยศิลาขาว แล้วเสด็จทรงรถพระที่นั่งกลับตามทางเดิม เวลาบ่ายหวันเต๊ะพาญาติวงษผู้หญิงเข้าเฝ้าทางข้างใน มีพระราชดำรัสปราไสแลพระราชทานสิ่งของตามสมควร เวลา ๒ ทุ่มเสดจออกประทับที่พลับพลาน่าโรงลคอน บังชาวัน ทอดพระเนตรละคร เวลา ๕ ทุ่มเศศเสด็จขึ้น

วันที่รัชกาล ๗๘๕๗ วัน ๖ ๑๓ ๖ ค่ำ ปีขานโท๒๓ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๑๖ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลาเช้า ๕ โมงเศศเสด็จออกทรงรถพระที่นั่งพร้อมด้วยกระบวนข้างใน พระยามนตรีแลพระยาไทรขึ้นนั่งบนรถพระที่นั่งตามเคย เสดจไปตามทางที่จะไปเมืองสงขลา สองข้างถนนนี้ข้างซ้ายมือตามริมน้ำเป็นสวนแลบ้านเรือนคนตลอดไปฟากข้างขวาเป็นสวนเตยสำหรับทอเสื่อโดยมากต่อออกไปเปนทุ่งนา มาทางประมาณ ๓ ไมล์เศศถึงเนินซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านพระยาสุรพล พระยาสุรพลกับภรรยามาคอยรับเสดจอยู่ที่ประตูบ้าน เสดจพระราชดำเนินขึ้นไปทอดพระเนตรเรือนที่อยู่พระยาสุรพลซึ่งตั้งอยู่กลางสวนเป็นเรือนหลังเดียว ๙ ห้องอยู่ในหมู่ต้นไม้ครึ้ม มีต้นมะม่วงมาก ต้นไม้ดอกคือจำปาจำปีมลิเป็นต้น ดูเป็นที่สบายเพราะเงียบสงัด เสดจทอดพระเนตรครู่หนึ่งเสดจมาทรงรถพระที่นั่ง พระยาสุรพลขึ้นท้ายรถพระที่นั่งตามเสดจด้วย ออกจากบ้านพระยาสุรพลมาเกือบจะถึงกลางที่สูงของเดินจึ่งถึงที่ไล่สัตว มีพลับพลายกสองหลังเสดจขึ้นประทับบนพลับพลาทอดพระเนตรไล่สัตว์แล้วเสดจกลับตามทางเดิมถึงน่าบ้านพระยาสุรพล หยุดรถพระที่นั่งทอดพระเนตรโคแลกระบือชนกันแล้วเสดจกลับมาถึงพระราชวังเวลาทุ่มเศศเสดจออกเจ้าเมืองแลกรมการเมืองปลิด เมืองสตูลแลกรมการจีน จีนหัวน่า แลจีนลูกค้า เข้าเฝ้าทูลเกล้า ฯ ถวายของต่างๆ เป็นอันมากทรงแบ่งรับไว้ตามสมควรแล้ว มีพระราชดำรัสด้วยข้อราชการต่าง ๆ แล้วเสดจขึ้น

อนึ่งได้ข่าวว่ากรมหลวงเทวะวงษวโรการมาถึงเมืองปีนังเมื่อบ่าย ๔ โมงวันนี้แล้ว

วันที่รัชกาล ๗๘๕๘ วัน ๗ ๑๔ ๖ ค่ำ ปีขานโท๒๓ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๑๗ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลาเช้าเจ้านายข้าราชการ แลเจ้าเมืองกรมการแต่งตัวเต็มยศพร้อมกันมาคอยเฝ้าที่ท้องพระโรง เวลาเช้า ๓ โมงเสดจออกโปรดเกล้า ฯ พระราชทานกระบี่ทองคำหนึ่งลูกดุมเพชรสำหรับหนึ่ง แก่พระยาไทร เครื่องราชอิศริยาภรณ์ จ,ม, แก่พระยาปลิด ๑ แก่พระยาสตูนหนึ่ง พระเสนีณรงค์ฤทธิ์รายามุดา ๑ ท,ช, แก่พระยาฤทธิไกรเกรียงเดช ๑ ว, ม, แก่พระพิไสยสิทธิสงคราม ๑ พระสุนทรรายา ๑ ตนกูมหมัดบุตรพระยาเกใด ๑ หลวงธานินทรนิพัทธ ๑ แลพระราชทานของต่างๆ แก่ผู้ที่ได้รับราชการในเวลาเสดจนี้ตลอดไป แลพระราชทานเงินเป็นรางวัลแก่ไพร่ที่ทำการเมืองไทร ๔๐๐๐ เหรียญ เมืองปลิด เมืองสตูน เมืองละ ๓๐๐ เหรียญ แล้วทรงฉายพระรูปหมู่พร้อมด้วยเจ้านายข้าราชการ แลเจ้าเมืองทั้งสามเมือง แล้วเสดจขึ้นทรงรถพระที่นั่งเสดจกลับมาลงเรืออุไทยราชกิจ พระยาไทรแลรายามุดาตามเสดจมาในเรือพระที่นั่งด้วย

อนึ่งมีพระราชดำรัสกับพระยาไทรว่าจะโปรดเกล้า ฯ ให้ทำไลต์เฮาที่แหลมป้อมเก่าเพื่อให้เป็นประโยชน์แก่การค้าขาย แลเป็นที่ระลึกในการเสดจพระราชดำเนินครั้งนี้ด้วย ตัวโคมนั้นจะพระราชทานมาแต่กรุงเทพ ฯ เสานั้นพระยาไทรรับทำ เวลาเที่ยงเศศพบเรือเสดจสนิทวงษ์แล่นสวนมาแลชักธงซิกแนลว่า “ปรินศ” จึ่งได้รอเรือพระที่นั่งรับกรมหลวงเทวะวงษ์ แลข้าราชการที่ตามเสด็จกับพระอัษฎงค์ขึ้นเรือพระที่นั่งแลออกเรือเดินต่อมา เวลา ๒ ทุ่ม ๑๕ มินิต ถึงเมืองปีนังเข้าทอดตรงน่าบ้านพระยาระนอง ซึ่งเป็นที่ทอดเรือรบ พระยารัตนเศรษฐี หลวงบริรักษโลหวิไสย หลวงทวีปสยามกิจ จีนเต๊กซุนลงมาเฝ้ารับเสดจในเรือพระที่นั่ง เวลายามเศศเสดจลงประทับเรือพระที่นั่งกระเชียง พร้อมด้วยกระบวนข้างในไปประทับตพานบ้านพระยารัตนเศรษฐี เสด็จขึ้นบนบ้านพระยารัตนเศรษฐี มีพระสงฆ์ในเมืองปินัง คือวัดปุลูติกอยอันดับ ๕ รูป วัดบาตูลันจังอธิการ ๑ อันดับ ๑๑ วัดในสมภาร ๑ แลพระยาจรูญ พระศรีโลหภูมกับคนอื่นๆ มาคอยรับเสด็จอยู่ที่โรงริมกำแพงเป็นอันมาก มีพระราชดำรัสปราไสยแลถวายกับปิยมูลแก่พระสงฆ์ทั้งปวงตามสมควรแล้วเสดจขึ้น ประทับบนเรือนพระยารัตนเศรษฐี ครู่หนึ่งเสดจออกทรงรถพระที่นั่งไปประพาศตามถนนต่างๆ ที่ใกล้แล้วเสดจกลับ

วันที่รัชกาล ๗๘๕๙ วัน ๑ ๑๕ ๖ ค่ำ ปีขานโท๒๓ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๑๘ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลาเช้า ๔ โมงเสดจออก มิศเตอสดินเนอเรสิเดนต์เคาน์ซิลเลอ ๑ เมเยอเซเตอผู้บังคับการทหาร ๑ มิศเตอเบลผู้บังคับการโปลิศ ๑ แต่งตัวเต็มยศมาเฝ้ากราบบังคมทูลแสดงความเสียใจในการที่ไม่โปรดให้รับเสดจเป็นเกียรติยศ แลเชิญเสดจไปประทับเสวยโต๊ะแลทอดพระเนตรทหารฝึกหัดในวันเกิดกะวิน ได้ทรงบอกเลิกเสีย แล้วมีพระราชดำรัสปราไสยด้วยข้อความอื่น ๆ ตามสมควร แล้วกราบถวายบังคมลากลับ โปรดให้กรมหลวงเทวะวงษไปเยี่ยมตอบภายหลัง พวกเมืองตั้งแต่พระยาไทรเป็นต้นจนถึงพวกจีนเข้าเฝ้าจนบ่าย จึ่งได้เสดจทรงรถพระที่นั่งไปประพาศสวนเชิงเขาน้ำตกพร้อมด้วยกระบวนข้างในแล้วเสดจกลับ วันนี้เวลาบ่ายฝนตกมาก

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ