เดือน ๕ จุลศักราช ๑๒๕๒

จดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน

ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

พุทธศักราช ๒๔๓๓

ปีขาล จุลศักราช ๑๒๕๒

----------------------------

วันที่รัชกาล ๗๘๑๒ วัน ๓ ๑๒ ๕ ค่ำ ปีขานยังเปนเอก๒๒ศก ๑๒๕๑

วันที่ ๑ เมษายน รัตนโกสินทร๒๓ศก (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลาเช้า ๔ โมงเศษโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร เสด็จออกไปบำเพ็ญพระราชกุศลที่โรงเลี้ยงเด็กตำบลสวนมลิริมถนนบำรุงเมือง เสด็จกระบวนรถพร้อมด้วยทหารขี่ม้านำตามเสด็จประทับแล้วทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวชิรญาณวโรรสถวายศีลแล้วทรงประเคนอาหารบิณฑบาตรแก่พระสงฆ์ ๑๐ รูปที่สวดมนต์เวลาวานนี้ พระสงฆ์รับพระราชทานฉันแล้ว ทรงประเคนของไทยทานพอสมควร พระสงฆถวายอนุโมทนาแล้วเสด็จกลับ

เวลาวันนี้โปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นสรรพสาตรศุภกิจ จัดโต๊ะเลี้ยงดินเนอ ในพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาทมุขกระสรรด้านตวันออก ที่มุขกระสรรด้านตวันตกซึ่งเปนที่เสด็จออกขุนนางนั้นจัดตั้งโต๊ะกลมแลโต๊ะเหลี่ยมหลายโต๊ะ โต๊ะกลมนั้นมีเก้าอี้สำหรับโต๊ะ ๆ ละ ๔ เก้าอี้ โต๊ะเหลี่ยมสำหรับวางสิ่งของต่าง ๆ ซึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้จัดซื้อมาทำฉลากจะได้พระราชทานพระบรมวงษานุวงษ์ที่เสด็จมาประชุมเสวย กับพวงมาไลยที่ข้างในจัดออกมาจะได้พระราชทานด้วย

<img>

เวลาบ่าย ๕ โมงเศษพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกประทับที่สนามหญ้าน่าพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาทสนามกลาง โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นประจักษศิลปาคม พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นสรรพสาตรศุภกิจ จัดทำที่เล่นชิงนางปักด้วยลวดเหล็กกับพื้นหญ้าทำเปนห้อง แลตั้งโคมแฟร์แลมป์รายไปเปนระยะ ตามรหว่างปักธงช้างถัดออกมาด้านตวันตกปักเตนต์สำหรับที่ประทับสนามด้านตวันตกน่าเกยพระที่นั่งอาภรณ์พิโมขนั้นกั้นเปนโรงลครแลปักเตนต์สำหรับฝ่ายในเสด็จออกทอดพระเนตรลคร กั้นฉากออกไปถึงสนามน่าโรงลคร สนามด้านตวันออกนั้นเปนที่ทหารแตรสำหรับจะได้เป่าเมื่อเวลาเสด็จประทับเสวย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ที่สนามหญ้าจนเวลาทุ่มเศษเสด็จขึ้น เวลา ๒ ทุ่มเศษเสด็จออกพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาทมุขกระสรรด้านตวันออก ทหารแตรก็เป่าเพลงสรรเสริญพระบารมีแล้วเสด็จประทับเสวย พระบรมวงษานุวงษ์ที่ได้รับก๊าดเชิญก็เสวยพร้อมกัน ครั้นเสวยแล้ว พระเจ้าราชวรวงษ์เธอกรมขุนบดินทรไพศาลโสภณจึ่งกราบบังคมทูลถวายไชยมงคลแล้ว มีพระราชดำรัสตอบตามสมควรในการวันขึ้นปีใหม่ เวลานั้นทหารแตรเป่าเพลงสรรเสริญพระบารมีแล้วเสด็จพระราชดำเนินมาประทับที่มุขกระสันด้านตวันตก โปรดเกล้าฯ พระราชทานพวงมาไลยกับฉลากสิ่งของต่างๆแก่พระบรมวงษานุวงษ์ที่เสด็จมาประชุมเสวยนั้น ข้าราชการได้รับพระราชทานฉลากบางนาย เวลา ๕ ทุ่มเศษเสด็จลงประทับที่สนามหญ้า พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ, พระเจ้าน้องยาเธอ, แลสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ, โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้านายเล่นชิงนางอย่างใหม่เปนการสโมสรสำราญในวันปีใหม่ แล้วมีลครเล่นเรื่องขุนช้างขุนแผน เปนลครของพระเจ้าบวรวงษ์เธอพระองค์เจ้าเฉลิมลักษณาวงษ์แลอำแดงปลื้ม ข้างในออกด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับทอดพระเนตรสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ, พระเจ้าน้องยาเธอ, แลหม่อมเจ้าบางองค์เล่นชิงนางอยู่จนรุ่งสว่าง ลครก็เล่นอยู่จนสว่าง โปรดเกล้าฯ พระราชทานเปนรางวันในการเล่นลครเงิน ๓ ชั่ง แล้วเสด็จขึ้น

ผู้ที่เล่นชิงนางวันที่ ๑ เมษายน ร,ศ, ๑๐๙

๑ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช

๒ สมเด็จกรมพระภาณุพันธุวงษ์วรเดช

๓ กรมหลวงเทวะวงษวโรประการ

๔ กรมหมื่นประจักษศิลปาคม

๕ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์

๖ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ

๗ กรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์

๘ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัติวงษ์

๙ กรมหมื่นสรรพสาตรศุภกิจ

๑๐ พระองค์เจ้าวัฒนานุวงษ์

๑๑ พระเจ้าไชยันตมงคล

๑๒ พระองค์เจ้านันทวัน

๑๓ กรมหลวงพิชิตปรีชากร

๑๔ กรมหมื่นศิริธัชสังกาศ

๑๕ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์

๑๖ พระองค์เจ้าไชยานุชิต

๑๗ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ

๑๘ กรมหมื่นภูธเรศธำรงศักดิ์

๑๙ กรมหมื่นพรหมวรานุรักษ์

๒๐ หม่อมเจ้านิลวรรณ

๒๑ หม่อมเจ้าขาว

๒๒ กรมหมื่นนเรศรวรฤทธิ์

วันที่รัชกาล ๗๘๑๓ วัน ๔ ๑๓ ๕ ค่ำ ปีขานยังเป็นเอก๒๒ศก ๑๒๕๑

วันที่ ๒ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลาทุ่มเศษเสด็จออกในพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาทองค์กลาง ประทับทอดพระเนตรเครื่องโต๊ะลายครามอยู่จนเวลา ๕ ทุ่มเศษ เสด็จขึ้น

วันนี้ไม่เสด็จออกขุนนาง ไม่มีราชการอไร

วันที่รัชกาล ๗๘๑๔ วัน ๕ ๑๔ ๕ ค่ำ ปีขานยังเป็นเอก๒๓ศก ๑๒๕๑

วันที่ ๓ ๒ เมษายน รัตนโกสินทร๒๓ศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลาทุ่มเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาทองค์กลางทอดพระเนตรเครื่องโต๊ะลายครามต่าง ๆ จนเวลา ๔ ทุ่มเศษ เสด็จออกขุนนาง พร้อมด้วยพระบรมวงษานุวงษ์แลข้าทูลลอองธุลีพระบาท พระมนตรีพจนกิจนำใบบอกกราบบังคมทูลพระกรุณา ๘ ฉบับ

ฉบับ ๑ บอกพระพนมนครานุรักษเจ้าเมืองพนม ลงวันที่ ๑๐ สิงหาคม รัตนโกสินทร์๒๒ศก ๑๐๘

ความว่า เก็บได้เงินแทนผลเร่ว ส่วยเมืองเรณูนคร ๒ ชั่ง ๙ ตำลึง ๒ บาท เมืองรามราช ๑ ชั่ง ๔ ตำลึง เมืองอาทมาต ๒ ชั่ง ๒ บาท อากาศอำนวย ๕ ชั่ง ๘ ตำลึง } ๑๑ ชั่ง ๒ ตำลึง แต่งให้ท้าวพรหมบุตรภักดีผู้ช่วยท้าวเพี้ยคุมลงมาส่งกรุงเทพฯ กับว่า ณ ปีจออัฐ๑๙ศก พระพนมนครานุรักษไปเฝ้าพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคมที่เมืองหนองคาย มีรับสั่งให้จัดเงินแทนผลเร่วส่วยเมืองนครพนมแลเงินส่วยซื้อเข้าสาร ๔๐๐๐ ถังส่งขึ้นไปเมืองหนองคาย พระพนมนครานุรักษ์ได้จัดเงินส่วยเมืองนครพนม ๑๑๐ ชั่ง ๑๒ ตำลึง กองพระบริรักษ์ ๑ ชั่ง ๘ ตำลึง กับให้จัดเงินส่วย ๒๐ ชั่ง ๑๐ ตำลึง จัดซื้อเข้าเปลือก ๘๐๐๐ ถังสีซ้อมเปนเข้าสารได้ ๔๐๐๐ ถัง ส่งขึ้นไปเมืองหนองคายตามรับสั่ง ครั้น ณ ปีกุนนพศกพระยาสุริยเดชข้าหลวงมีหนังสือมาว่า เงินที่จะจ่ายไพร่พลทหารหามีไม่ ให้พระพนมนครานุรักษจัดเงินส่วยเมืองนครพนมแลเมืองขึ้นส่งขึ้นไปเมืองหนองคาย พระพนมได้แต่งให้ท้าวเพี้ยคุมเงินส่วยขึ้นไปส่งพระยาสุริยเดช, ๕ ครั้งเปนเงิน ๘๗ ชั่ง ๑๘ ตำลึง รวมทั้งส่งพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นประจักษศิลปาคม แลจัดซื้อเข้า ซื้อช้าง } เปนเงิน ๒๒๗ ชั่ง ๑๔ ตำลึง ๒ บาท กับโปรดเกล้าฯ ให้ยกเลขเมืองนครพนมรักษาด่าน ๑๐๐ คน ครั้นปีรกาสัปตศก พระยามหาอำมาตย์ข้าหลวงมีหนังสือขึ้นไปว่าให้เกณฑ์เลขส่วยที่จะรักษาด่านเพิ่มขึ้นอีก ๑๕๐ คนรวมเก่า ใหม่} ๒๕๐ คน ให้ยกส่วยตั้งแต่ปีกุนนพ๒๐ศกต่อไป พระพนมนครานุรักษได้เกณฑ์เลขเมืองนครพนม ๑๐๐ เมืองเรณูนคร ๕๐} ๑๕๐ คน ประจำรักษาด่านตามหนังสือพระยามหาอำมาตย์ข้าหลวงแล้ว กับเมื่อปีชวดสมฤทธิ๒๐ศก มีตราขึ้นไปให้เอาเงินส่วยจัดซื้อช้าง ๒ ช้างส่งขึ้นไปใช้ราชการที่เมืองหนองคาย พระพนม, ได้จัดเงินส่วยเมืองนครพนมซื้อช้างพังสูง ๔-๐-๔ } ราคา ๕ ชั่ง ๑๕ ตำลึง ช้างหนึ่ง เอาเงินส่วยเมืองเรณูนครซื้อช้างพลายสูง ๔-๕ } ราคา ๗ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ช้างหนึ่ง แต่งให้ท้าวเพี้ยคุมช้างไปส่งพระยาสุริยเดชข้าหลวงเมืองหนองคายแล้ว

ฉบับ ๒ ว่าพระสวัสดิอุดมกองนอกขึ้นเมืองนครพนมป่วยถึงแก่กรรม ท้าวสีหราชทำเรื่องราวยื่นว่า เลขกองพระสวัสดิ์อุดมนั้น เดิมเปนเลขของอุปฮาดบิดาท้าวสีหราชได้ควบคุมมา บัดนี้พระสวัสดิ์อุดมนายกองถึงแก่กรรมแล้ว ท้าวสีหราชขอควบคุมเลขกองพระสวัสดิ์อุดมทำส่วยทูลเกล้าฯ ถวายปีละ ๔ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ๒ บาทต่อไป พระพนมนครานุรักษเห็นว่า ท้าวสีหราชเปนบุตรอุปฮาดคนเก่าสมควรจะควบคุมท้าวเพี้ยตัวเลขได้ พระพนม, จึ่งได้ให้ท้าวสีหราชควบคุมเลขต่อไป กับส่งเงินแทนผลเร่วส่วยกองพระสวัสดิอุดมเปนเงิน ๔ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ๒ บาท จำนวนปีชวดสัมฤทธิ๒๑ศก แต่งให้ท้าวพรหมบุตรคุมลงมาส่ง

ฉบับ ๓ ว่า ราชวงษ์ป่วยเปนไข้ พระพนมนครานุรักษได้หาหมอรักษาพยาบาลอาการหาคลายไม่ วันที่ ๖ กรกฎาคม รัตนโกสินทรศก ๑๐๘ เวลาค่ำถึงแก่กรรม พระพนมแลท้าวเพี้ย ขอรับพระราชทานศิลาน่าเพลิงขึ้นไปเผาศพราชวงษตามเกียรติยศ

ฉบับ ๔ ว่าอุปฮาดป่วยเปนโรคจุกเสียด พระพนมได้หาหมอรักษาาตาบาลอาการหาคลายไม่ วันที่ ๓๐ กรกฎาคม รัตนโกสินทร๒๒ศก ๑๐๘ อุปฮาดถึงแก่กรรม พระพนม. ขอรับพระราชทานศิลาน่าเพลิงขึ้นไปเผาศพอุปฮาดตามเกียรติยศ

ฉบับ ๕ บอกพระยาสุริยเดชข้าหลวง ลงวันที่ ๒๐ พฤษภาคม รัตนโกสินทร์ศก ๑๐๘ ว่า พระพนมนครานุรักษเจ้าเมืองนครหนม มีหนังสือให้ท้าวเพี้ยคุมช้างซึ่งมีตราขึ้นไปให้หัดเงินซื้อไปส่งเมืองหนองคาย ๒ ช้าง ช้างพลาย ๑ สูง ๔-๕ } ราคา ๗ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ช้างพัง ๑ สูง ๔-๕ } ราคา ๕ ชั่ง ๑๕ ตำลึง } รวมเงิน ๑๓ ชั่ง ๕ ตำลึง พระยาสุริยเดชได้ตรวจชัณสูตรับช้างไว้ให้ท้าวเพี้ยคุมขึ้นไปส่งพระยาสุริยวงษาข้าหลวง ณ เมืองเชียงขวางตามท้องตราแล้ว

ฉบับ ๖ ว่าพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นประจักษศิลปาคม เมื่อจะเสด็จกลับลงมากรุงเทพ ฯ รับสั่งว่าเงินเดือนที่จะจ่ายไพร่พลทหารนั้น ให้พระยาสุริยเดชข้าหลวงมีหนังสือไปขอเงินส่วยของหลวงซึ่งค้างต่อ เจ้าเมือง กรมการ } ท้าวเพี้ยตามหัวเมืองชั้น กลาง นอก } มาจับจ่ายให้พอราชการ พระยาสุริยเดชได้มีหนังสือไปให้เจ้าเมือง ท้าวเพี้ย } เมืองชั้นกลาง ชั้นนอก } จัดเงินส่วยมาส่ง ณ เมืองหนองคาย พระพนมนครานุรักษได้ให้ท้าวเพี้ยคุมเงินส่วยแทนผลเร่วเมืองนครพนมแลเมืองขึ้นกองขึ้นไปส่งพระยาสุริยเดชตั้งแต่ปีกุนนพ๒๐ศกจนถึงปีฉลูเอก๒๒ศก รวม ๕ ครั้ง เปนเงิน ๘๗ ชั่ง ๑๘ ตำลึง ได้รับไว้จ่ายเปนเงินเดือน เงินเบี้ยเลี้ยง } นายทัพนายกอง} ทหารขุนหมื่นไพร่ตามอัตราแล้ว

ฉบับ ๗ บอกหลวงนรินทรภักดีปลัดกรมการเมืองพรหมบุรี ลงวันที่ ๒๐ มินาคม รัตนโกสินทร์๒๒ศก ๑๐๘ ว่า ได้ปฤกษาพร้อมด้วยบุตรภรรยาญาติพี่น้องพระพรหมประสาทศิลป์ที่ถึงแก่กรรม กำหนดจะได้เผาศพ ณเดือนเมษายน รัตนโกสินทร์๒๑ศก ๑๐๙ ขอรับพระราชาทานศิลาน่าเพลิงขึ้นไปเผาศพพระพรหมประสาทศิลป์ตามเกียรติยศ

ฉบับ ๘ บอกจ่าเร่งงานรัดรุดข้าหลวงเมืองพิไชย ลงวันที่ ๑ พฤศจิกายน รัตนโกสินทร๒๒ศก ๑๐๘ ว่า ได้หาตัวพระศรีอรรคฮาดเจ้าเมืองเชียงคารมาทำหางว่าวจำหน่ายเลขแลเก็บเงินส่วยลงมาส่งตามท้องตรา พระศรีอรรคฮาดว่าจะขอลงมาทำหางว่าวจำหน่ายเลขแก่เจ้พนักงานกรุงเทพ ฯ แล้วพระศรีอรรคฮาดนำใบเสร็จ ๔ หนังสือ ๑ } ฉบับ ของพระยาพิไชยคนเก่ากับใบเสร็จหลวงสัศดีเมืองพิไชย ๑ ฉบับ ใบเสร็จหลวงพิไชยบริรักษจ่าเมือง ๑ ฉบับ มาแจ้งว่าพระศรีอรรคฮาดได้นำเงินแทนทองคำส่วยเมืองเชียงคารจำนวน ปีมโรงโทศกครั้ง ๑ ๑๕ ชั่ง ปีมเสงตรีศกครั้ง ๑ ๒๘ ชั่ง ปีมเมียจัตวาศกครั้ง ๑ ๒๐ ชั่ง ๒ ตำลึง ปีมแมเบญจศกครั้ง ๑ ๑๐ ชั่ง } รวม ๔ ครั้งเปนเงิน ๗๓ ชั่ง ๒ ตำลึง พระยาพิไชยมิ่งได้ทำใบเสร็จให้ทั้ง ๔ ครั้ง แล้วพระศรีอรรคฮาดได้นำเงินส่วยจำนวนปีมแมเบญจศกส่งหลวงสัศดีเมืองพิไชยครั้ง ๑ เงิน ๑๙ ชั่ง ได้ทำใบเสร็จให้ฉบับ ๑ แล้วหลวงสัศดีได้นำเงิน ๑๙ ชั่ง นั้นไปส่งพระยาพิไชยมิ่ง ๆ ได้ทำใบเสร็จให้หลวงสัศดีฉบับ ๑ แลเมื่อปีวอกฉศก พระศรีอรรคฮาดได้เอาเงินส่วยจัดซื้อเข้าส่งขึ้นไปให้พระยาพิไชยมิ่งข้าหลวงเมืองหลวงพระบางครั้ง ๑ เงิน ๑ ชั่ง ๑๖ ตำลึง เมื่อปีกุนยังเปนอัฐศกพระศรีอรรคฮาดได้ส่งเงินส่วนให้นายจัน เมื่อยังเปนที่พระมหาดไทยครั้ง ๑ เงิน ๑๗ ชั่ง ๒ ตำลึง ๒ บาท เมื่อปีกุนนพศกได้ส่งเงินส่วยให้หลวงพิไชยบริรักษ์ เมืองพิไชย ซื้อเข้าจ่ายพวกครัวเมืองหลวงพระบางเงิน ๕ ชั่ง ได้ทำใบเสร็จให้ฉบับ ๑ รวมเงินส่วยที่ได้ส่งไว้เปนเงิน ๑๑๖ ชั่ง ๔ ตำลึง ๒ บาท กับว่าเมื่อปีกุนนพศก พระยาพิไชยมิ่งอยู่ ณ เมืองหลวงพระบาง มีหนังสือมาให้พระศรีอรรคฮาดเกณฑ์ไพร่ส่วยเมืองเชียงคาร ๑๐๓ คน ไปราชการทัพกับพระยาพิไชย ๆ เอาตัวไพร่ไปแต่ ๑๓ คน ไพร่อีก ๙๐ คนนั้นพระยาพิไชยคิดเอาเงินคนละ ๑ ชั่ง เป็นเงิน ๙๐ ชั่ง พระศรีอรรคฮาดได้ส่งเงินให้พระยาพิไชยแล้ว บัดนี้พระศรีอรรคฮาดเก็บได้เงินแทนทองคำส่วยเมืองเชียงคารเปนเงิน ๑๒ ชั่ง ๑๓ ตำลึง ๓ บาท จึงได้มอบเงินแทนทองคำส่วย ๑๒ ชั่ง ๑๓ ตำลึง ๓ บาท กับใบเสร็จพระยาพิไชย ๔ หลวงสัศดี ๑ หลวงพิไชยบริรักษ ๑ } หนังสือพระยาพิไชยซึ่งเกณฑ์เลขไปราชการทัพฉบับ ๑ ให้พระศรีอรรคฮาดคุมลงมาส่งด้วยแล้ว กับพระสรีอรรคฮาดลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทด้วย

แล้วพระสุรินทรามาตย์ นำใบบอกกราบบังคมพระกรุณา ๓ ฉบับ ฉบับ ๑ บอกพระยาอมรินทร์ฦๅไชยผู้ว่าราชการเมืองราชบุรี ลงวันที่ ๒๗ สิงหาคม รัตนโกสินทร์๒๒ศก ๑๐๘ ว่า พันนุ่มกำนัลบ้านบางยี่ซุ่นแขวงเมืองราชบุรี นำนาอยู่ชาวบ้านบ่อกระดานมาแจ้งความว่า วันที่ ๒๒ สิงหาคม ร,ศ, ๑๐๘ เวลาประมาณ ๒ ยามเศษ มีอ้ายผู้ร้ายเปนไทยประมาณ ๑๔ ๑๕ } คน โพกศีศะถือเครื่องสาตราวุธครบมือกับจุดคบเพลิงพังประตูยิงปืนสี่นัดขึ้นบนเรือน ๘ คน จับอำแดงจันมารดาภรรยานายอยู่กับนายฮกมัดแล้วทุบตี อ้ายผู้ร้ายเก็บเงินตรา ๑ ชั่ง ๒ ตำลึง กับทรัพย์สิ่งของทองเงินเครื่องภาชนใช้สอยไป แจ้งอยู่ในคำตราสินนั้นแล้ว

แต่เมื่อวันที่ ๒๐ สิงหาคม ร,ศ, ๑๐๘ เวลากลางวันอ้ายเพิ่มกับพวกคน ๑ มาซื้อสุราอำแดงจันรับประทานอยู่บนเรือนนายอยู่เมื่อวันมีผู้ร้ายมาปล้น นายอยู่รู้จักจำได้ว่าอ้ายเพิ่มคน ๑ แจ้งอยู่ในคำนายอยู่นั้นแล้ว พระยาอมรินทรฦๅไชยได้ให้กรมการกำนัลนายอำเภอไปจับอ้ายเพิ่มหาพบไม่ ได้แต่อีนวมภรรยาอ้ายเพิ่มคน ๑ แล้วค้นดูที่ในเรือนอ้ายเพิ่มได้ทองคำรูปภัณฑ์ตัวปลา ๑ ลูกประหล่ำสามลวด ๑ ซอง เงินปรุ ๑ ซ้อนเงิน ๑ ขันทองเหลือง ๑ ถาดหมาก ๑ พานเงินลาว ๑ เงินเหรียญ ๕ บาท ได้ถามอีนวมให้การว่า ทรัพย์สิ่งของทองเงินรูปภัณฑ์ที่ค้นได้นี้ อ้ายเพิ่มผัวอีนวมได้มาแต่เดือนสิงหาคม ร,ศ, ๑๐๘ จะได้มาแต่ไหนหาทราบไม่ พระยาอมรินทร์, แลกรมการได้ให้นายอยู่เจ้าของทรัพย์มาดูสิ่งของเงินทองรูปภัณฑ์ที่ค้นได้นั้นนายอยู่ว่าเปนของ ๆ นายอยู่ที่อ้ายผู้ร้ายปล้นถูกต้องกับคำตราสินแล้ว, พระยาอมรินทร์, ได้ให้กรมการกำนักพันนายบ้านสืบเสาะจับติดตามจับตัวอ้ายเพิ่มผู้ร้ายกับพวกเพื่อนต่อไป

ฉบับ ๒ ลงวันที่ ๒๐ ตุลาคม ร,ศ, ๑๐๘ ว่าวันที่ ๒๕ ตุลาคม ร,ศ, ๑๐๘ หมื่นพิทักษ์พานิชกำนัลบ้านทำมะเสนแขวงเมืองราชบุรี นำนายเปลี่ยนบุตรนายทองมาแจ้งความว่า วันที่ ๑๓ ตุลาคม เวลาประมาณ ๒ ยามเศษมีอ้ายผู้ร้ายเปนไทย ๕ คนหารู้จักชื่อไม่ มาด้วยเรือมาดมีเครื่องสาตราวุธ อ้ายผู้ร้ายยิงปืนเข้าไปในบ้านนายเปลี่ยน ๕ นัด จุดคบเพลิงขึ้นพังประตูเข้าไปตีฟันนายทองบิดานายเปลี่ยนห้าแผล, นายทองร้องเรียกให้จีนช่องบ้านใกล้เคียงช่วย จีนช่องออกมาน่าบันไดเรือน อ้ายผู้ร้ายยิงจีนช่องตกน้ำตายนายทองนายเปลี่ยนอำแดงผลเจ้าของทรัพย์ก็หนีไป อ้ายผู้ร้ายเก็บทรัพย์สิ่งของไป รวมราคาเงิน ๒ ชั่ง ๓ ตำลึง ครั้นรุ่งขึ้นเวลาเช้าเห็นไต้ใบพลวง ๗ ท่อน มีดพก ๒ เล่ม ผ้าขาวลายริ้วผืน ๑ ของอ้ายผู้ร้ายตกอยู่บนเรือนนายเปลี่ยน ๆ ได้ทำคำกฎหมายตราสินทรัพย์สิ่งของ แลคำชันสูตรบาดแผลนายทอง พลิกศพจีนช่องผู้ตายไว้ต่อกรมการแล้ว

ฉบับ ๓ ลงวันที่ ๒๗ มินาคม ร,ศ, ๑๐๘ ว่า วันที่ ๑๙ มินาคม ร,ศ, ๑๐๘ นายตั้งนายกลิ้งนายหยวกชาวบ้านดอนทรายแขวงเมืองราชบุรีมาแจ้งความว่า มีอ้ายผู้ร้ายประมาณ ๑๓ ๑๔ } คนไล่กระบือมาประมาณ ๒๐ กระบือพักซุ่มอยู่ในป่าหลังบ้านดอนทราย พระยาอมรินทร์. ได้ขอพลทหาร ๒ โหลต่อนายร้อยเอกนายเฟื่อง ๆ จัดให้นายแลพลทหาร ๒ โหล พร้อมด้วยหมื่นจ่าเมือง หมื่นไพรีพินาศ } กรมการไปตรวจดูตั๋วพิมพ์รูปตราหนังสือเดินทาง อ้ายผู้ร้ายยกปืนขึ้นจะยิงกรมการทหารๆ ได้ร้องห้าม ๔ ๕ } ครั้ง อ้ายผู้ร้ายหาฟังไม่ยิงถูกฟันแดงกำนัลที่น่าอกกระสุน ๑ ถูกนายเจ็กพลทหารที่เข่าซ้ายกระสุน ๑ ถูกนายพึ่งที่เท้าซ้ายกระสุน ๑ แล้วพลทหารก็ยิงปืนต่อสู้อ้ายผู้ร้ายต่างคนต่างยิง ทหารสิ้นกระสุนปืนรวม ๒๓๒ กระสุนถูกอ้ายผู้ร้ายตาย ๔ คน มีบาดแผลหนีไปได้หลายคน. ล้มอยู่คน ๑ จับได้ชื่ออ้ายเปี้ยวกับปืนบอก ๑ พระยาอมรินทร์. ได้ให้กรมการถามปากคำอ้ายเปี้ยว ๆ ให้การรับสารภาพว่า อายุ ๑๗ ปียังหาได้สักท้องมือไม่ อยู่บ้านตะแพงแขวงเมืองราชบุรี เดิมณเดือนกุมภาพันธ์ ร,ศ, ๑๐๘ อ้ายเปี้ยวกับมารดาแลพี่ชายพากันไปบ้านอ้ายเหมาอำแดงพา บ้านพุครั้งแขวงเมืองนครไชยศรีแล้วมารดากับพี่ชายกลับบ้านตะแพงแต่อ้ายเปี้ยวยังพักอยู่บ้านอ้ายเหมาอำแดงภา ครั้นวันที่ ๑๓ มินาคม ร,ศ, ๑๐๘ อ้ายเหมากับอ้ายอิ่มอ้ายหนูอ้ายแดงอ้ายจีนกอนอ้ายคำอ้ายพั่วอ้ายปาบ้านพุครั่ง อ้ายจีนตุบ้านคลองพลู อ้ายเพ็ดบ้านดอนรวกกับอ้ายแดงอ้ายชมพวกอ้ายจีนตุ รวม ๔๒ คน พากันไล่กระบือผู้ใหญ่ ๑๙ กระบือ มาพักอยู่ที่บ้านอ้ายเหมาได้สองคืน อ้ายเปี้ยวถามอ้ายเหมากับอ้ายมีชื่อทั้งนี้ว่าได้กระบือมาจากไหน อ้ายมีชื่อบอกว่าไปลักไล่มาจากแขวงกรุงเก่าแล้วให้อ้ายเปี้ยวช่วยกันไล่กระบือมาขายณแขวงเมืองราชบุรี มาพักอยู่บ้านดอนทราย อ้ายแจ่มอ้ายโห้บ้านดอนทรายเปนเพื่อนกับอ้ายเหมาหาเข้าปลามาเลี้ยงกัน อ้ายแจ่มอ้ายโห้ก็พักอยู่ที่ฝูงกระบือด้วยกันเวลาบ่ายประมาณโมง ๑ กรมการทหารแลนายอำเภอไปจะจับตัวอ้ายเปี้ยวแลพวกอ้ายเปี้ยวจึ่งได้ยิงกรมการแลทหารต่างคนต่างยิงต่อสู้กันอ้ายแจ่มอ้ายโห้ถูกปืนตายแต่พวกอ้ายเปี้ยวอีกหลายคนใครจะถูกกระสุนปืนบ้างหาเห็นไม่ อ้ายเปี้ยวถูกกระสุนปืนที่น่องทั้ง ๒ ข้างล้มอยู่กับปืนบอก ๑

พระยาอมรินทร์, ได้จัดให้กรมการพร้อมด้วยอำเภอกำนัลนายทหารแลพลทหารโหลหนึ่งไปตรวจดูศพอ้ายผู้ร้ายที่ตาย ๔ คน ได้หาตัวราษฎรชาวบ้านดอนทรายมาถามรู้จักชื่ออ้ายผู้ร้ายที่ตาย ๒ คนชื่อ อ้ายแจ่ม อ้ายโห้ } เปนคนบ้านดอนทรายแขวงเมืองราชบุรี อีก ๒ คน หารู้จักชื่อ รู้จักหน้า } ไม่ พระยาอมรินทร์.ได้จัดให้กรมการกำนัลอำเภอสืบเสาะจับอ้ายผู้ร้ายทั้งนี้ต่อไป

แล้วพระยานรินทรราชเสนี นำ พระยาศรีสรราชภักดี พระนราธิราชภักดี } ข้าหลวงที่ ๑ ๒ } กราบถวายบังคมลาออกไปเปลี่ยนพระอนุรักษ์โยต ข้าหลวงรักษาราชการหัวเมืองฝ่ายทเลตวันตก เจ้าพระยาพลเทพที่สมุหพระกระลาโหม กะเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง พระราชทาน ข้าหลวง เสมียนขุนหมื่น ไปรักษาราชการหัวเมืองนั้น

พระธาศรีสรราชภักดี ข้าหลวงที่ ๒ เงินเดือน } ตามแบบเดิม ๒๐: เพิ่มขึ้นใหม่ ๔: } ๒๔: เงิน ๕ ชั่ง เสมียน ๒ คน ๆ หนึ่งเดือนละ ๗ ตำลึง ๒ บาท ๑๕ ตำลึง ขุนหมื่น ๖ คน ๆ หนึ่งเดือนละ ๓ ตำลึง ๑๘ ตำลึง } ๖ ชั่ง ๑๓ ตำลึง

พระนราธิราชภักดี ข้าหลวงที่ ๒ เงินเดือน } ตามแบบเดิม ๑๐: เพิ่มขึ้นใหม่ ๒: } ๑๒: เงิน ๒ ชั่ง ๑๐ ตำลึง เสมียนคน ๑ เดือนละ ๗ ตำลึง ๒ บาท ขุนหมื่น ๔ คน ๆ หนึ่งเดือนละ ๓ ตำลึง ๑๒ ตำลึง } ๓ ชั่ง ๙ ตำลึง ๒ บาท

รวมเงินเดือนละ ๑๐ ชั่ง ๒ ตำลึง ๒ บาท

แล้วมีพระราชดำรัสถามพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์ ว่าเปนอัตรามาแต่หอรัษฎากรพิพัฒน์ฤๅ กราบบังคมทูลพระกรุณาว่าไม่ใช่ในอัตราหอ เจ้าพระยาพลเทพ, ขอรับพระราชทานเพิ่มนอก แล้วพระยานรินทรราชเสนีนำ พระยามนตรีสุริยวงษ์ ๑ หลวงอาวุธอรรคนี ๑ พระสุนทรวรนารถภักดผู้ช่วยราชการ นายนุ้ยมหาดเล็กบุตรพระสมปัตยานุรักษ์ } เมืองตะกั่วป่า ๒ หลวงคิรีพิทักษ ผู้ช่วยราชการเมืองกาญจนบุรี ๑ กราบถวายบังคมลาออกไปรักษาราชการบ้านเมือง แต่พระยามนตรีสุริยวงษ์นั้นออกไปตรวจเร่งผู้ว่าราชการเมืองไทย เมืองแขก } ฝ่ายทเลตวันตกทำพลับพลารับเสด็จพระราชดำเนิน หลวงอาวุธอรรคนีนั้นตามเสด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพไปตรวจบังคับทำทางรับเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ ตั้งแต่เมืองชุมพร ตลอดหัวเมืองฝ่ายทเลตวันตก พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ จะได้กราบถวายบังคมลาไปวันที่ ๔ เมษายน ร,ศ, ๑๐๙

แล้วโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตรข้าราชการ ๘ นาย ให้หลวงโยธาพินิจเจ้ากรมเรือกระโห้เปนหลวงภักดีราชกิจ มีตำแหน่งราชการในกรมมหาดไทย ถือศักดินา ๖๐๐

ให้นายรองเล่ห์อาวุธ มหาดเล็กเวรฤทธิ์เปนนายสุจินดามหาดเล็กหุ้มแพรนายยามเวรสิทธิ์ถือศักดินา ๔๐๐

ให้นายปรีดาราช มหาดเล็กหุ้มแพรต้นเชือกเวรชาญภูเบศร์ เปนจมื่นศักดิ์บริบาล ปลัดกรมพระตำรวจนอกซ้าย ฝ่ายพระราชวังบวร, ถือศักดินา ๖๐๐

ให้นายดั่นมหาดเล็กเวรศักดิ์ บุตรหลวงบริหารหิรัญราช เปนหลวงอนุรักษภักดี เจ้ากรมไพร่หลวงขึ้นกรมมหาดเล็ก ถือศักดินา ๘๐๐

ให้นายเลื่องมหาดเล็กเวรศักดิ์ บุตรพระอิศราธิไชย เปนนายรองชิตมหาดเล็กเวรสิทธิ์ถือศักดินา ๓๐๐

ให้นายวันมหาดเล็ก เปนหลวงเทพบรินทร์ เจ้ากรมหาดไทยตำรวจภูบาลขวา ฝ่ายพระราชวังบวร, ถือศักดินา ๗๐๐

ให้หลวงชลภูมพานิช เปนพระภักดีภัทรากร ผู้ช่วยราชการในกรมท่าซ้าย ถือศักดินา ๘๐๐

ให้นายร้อยโทหม่อมราชวงษ์นวน เปนนายร้อยเอก ในกรมทหารบก

เวลา ๕ ทุ่มเศษเสด็จขึ้น วันนี้มีประชุมปฤกษาราชการข้างใน

วันที่รัชกาล ๗๘๑๕ วัน ๖ ๑๕ ๕ ค่ำ ปีขานยังเปนเอก๒๒ศก ๑๒๕๑

วันที่ ๔ เมษายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลาเช้าวันนี้ เจ้าพนักงานแห่โกษศพพระยาราชภักดีแต่บ้านปากคลองสาร ไปเข้าเมรุวัดทองนพคุณ เวลา ๒ ทุ่มเศษ เสด็จออกพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาทองค์กลาง ประทับทอดพระเนตรเครื่องโต๊ะลายครามอยู่จนเวลา ๒ ยามเศษเสด็จขึ้น.

วันที่รัชกาล ๗๘๑๖ วัน ๗ ๕ ค่ำ ปีขานยังเปนเอก๒๒ศก ๑๒๕๑

วันที่ ๕ เมษายน รัตนโกสินทร๒๓ศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลาทุ่มเศษพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาทองค์กลางทอดพระเนตรเครื่องโต๊ะลายครามต่าง ๆ จนเวลา ๔ ทุ่มเศษ เสด็จออกขุนนางประทับบนพระแท่นแล้ว พระมนตรีพจนกิจกรมมหาดไทยนำใบบอกกราบบังคมพระกรุณา ๖ ฉบับ ฉบับ ๑ บอกพระพิเรนทรเทพข้าหลวงเมืองนครราชสีมา ลงวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ร,ศ, ๑๐๘ ว่ามีอ้ายผู้ร้ายคนไทยแลตองซู่ประมาณ ๑๑ ๑๒ } คน เข้าตีปล้นเรือนราษฎรบ้านหนองสแกแขวงเมืองนครราชสีมาเก็บเอาทรัพย์สิ่งของไป เต้วอ้ายผู้ร้ายเที่ยวเดินไปมา แต่หาทราบว่าสำนักอยู่แห่งใดไม่

รายหนึ่งอ้ายผู้ร้ายคนไทย ๕๐ คนตองซู่ ๒ คน มีเครื่องสาตราวุธครบมือกันไปถามซื้อยาที่เรือนนายคงแล้วเอาปืนยิงนายคงขาดใจตาย เก็บเอาทรัพย์สิ่งของไป ได้ให้โปลิศออกสืบจับยังหาได้ตัวไม่

ฉบับ ๒ ว่า มีอ้ายผู้ร้ายเลื่อยไม้เสาระเนียดแลขุดถอนเสาที่ฝังตามช่องกำแพงหัก ๒ ครั้ง ครั้ง ๑ อ้ายผู้ร้ายลักโคผู้มีชื่อออกไปได้ ครั้ง ๒ อ้ายผู้ร้ายยังหาทันสักโคออกไปได้ไม่ ได้ให้กรมการซ่อมแซมเสารเนียดใหม่ให้มั่นคงแลให้โปลิศออกลาดตระเวนคอยจับอ้ายผู้ร้ายต่อไป

ฉบับ ๓ ว่า พระพิทักษรักษาเขตร, หลวงพลสงครามกับโปลิศ ไปตามจับอ้ายผู้ร้ายถึงด่านบ้านลำจาก เห็นอ้ายผู้ร้าย ๒ คนอยู่ในกฏิพระสงฆ์ ได้พากันล้อมจับอ้ายผู้ร้ายหนีไปแล้วเอาปืนยิงถูกอ้ายผู้ร้ายล้มลง พระพิทักษรักษาเขตรได้ถามปากคำอ้ายผู้ร้ายบอกชื่อตัวว่าอ้ายน้อยคำเดียวขาดใจตาย พระพิทักษรักษาเขตรได้หลวงพลสงครามยังเที่ยวติดตามสืบจับต่อไป

ฉบับ ๔ บอกจ่าแรงรับราชการข้าหลวงเมืองสระบุรี ลงวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ร,ศ, ๑๐๘ ว่า วันที่ ๒๖ มกราคม เวลายามเศษมีอ้ายผู้ร้ายประมาณ ๑๑ ๑๒ } คน ถืออาวุธครบมือกันเข้าปล้นเรือนนายแย้มแขวงเมืองสระบุรี นายแย้มเอาปืนยิงถูกอ้ายผู้ร้ายคน ๑ พวกอ้ายผู้ร้ายพากันหามหนีไป นายแย้มเก็บได้แต่ไม้ขว้างกาแลคบเพลิงมาทำกฎหมายตราสีนไว้ ได้แต่งให้กรมการออกสืบจับยังหาได้ตัวไม่

รายหนึ่งวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ เวลา ๒ ยามเศษ อ้ายผู้ร้ายประมาณ ๒๓ คน ถือเครื่องสาตราวุธครบมือกันเข้าปล้นแพจีนเฮงหลงบ้านสีทา แขวงเมืองสระบุรี อ้ายผู้ร้ายเอาปืนยิงทาษจีนเฮงหลงตกน้ำตายคนหนึ่ง พวกจีนเจ้าของทรัพย์ยิงอ้ายผู้ร้ายเจ็บป่วยหลายคน อ้ายผู้ร้ายเก็บเอาทรัพย์สิ่งของไป ได้แต่งให้กรมการออกสืบจับได้ตัวอ้ายหวาผู้ร้ายที่ถูกปืนคนหนึ่ง อ้ายผู้ร้ายถูกปืนตายอยู่ในป่าคนหนึ่ง ได้ถามอ้ายหวาให้การสารภาพรับเปนสัตย์ ซัดถึงอ้ายมีชื่อ ๒๑ คน ได้แต่งให้กรมการออกสืบจับอ้ายผู้ร้ายต่อไป

ฉบับ ๕ บอกพระสรรคบุรานุรักษผู้ว่าราชการเมืองสรรคบุรี ลงวันที่ ๑๑ มกราคม ร,ศ, ๑๐๘ ว่า มีตราพระราชสีห์โปรดเกล้า ฯ ขึ้นไปว่า ให้ทำศาลากลางไว้ชำรความแลมีห้องสำหรับเก็บท้องตราแลหนังสือบอก แล้วให้คิดราคาเปนเงินมากน้อยเท่าใด ควรจะพระราชทานเงินส่วยอากรสิ่งใดจึงจะมีตราขึ้นไปให้ทราบ บัดนี้ศาลากลางเก่าชำรุดได้จ้างช่างทำขึ้นใหม่เปนราคา ๕ ชั่ง พระสรรคบุรานุรักษขอเอาเงินส่วยไม้น่า จำนวนปีชวดให้ค่าจ้างทำศาลากลาง

ฉบับ ๖ บอกพระยาไชยวิชิตผู้รักษากรุงเก่า ลงวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ร,ศ, ๑๐๘ ว่า นายน่วม บิดาอำแดงหนูภรรยานายฉ่ำผู้ตาย มาแจ้งความว่า วันที่ ๘ กุมภาพันธ์เวลาบ่าย ๔ โมงเศษ นายฉ่ำพี่นายต่วนน้องบิดามารดาเดียวกัน พากันไปเสพสุราเมาเกิดวิวาทกันขึ้น นายฉ่ำเอาดาบฟันศีศะนายต่วนลึกถึงกระดูกโลหิตไหล นายต่วนเอามีดพับแทงคอนายฉ่ำแห่งหนึ่งโลหิตตกใน นายฉ่ำอยู่ได้ประมาณครู่หนึ่งขาดใจตาย ผู้รักษาเมืองกรมการได้เอาตัวนายต่วนมาจำไว้มั่นคงแล้ว

พระสุรินทรามาตย์กรมพระกระลาโหม นำใบบอกกราบบังคมทูลพระกรุณา ๓ ฉบับ ฉบับ ๑ บอกพระมหาสิงคิคุณผู้ว่าราชการเมืองกำเนิดนพคุณว่า ตำแหน่งที่หลวงจรูญศักดิ์ประเสริฐกำเนิดนพคุณวิบุลย์ปรีชาปลัดว่างอยู่ยังหามีตัวไม่ ขอรับพระราชทานหลวงนรินทรภักดีเสนามหาดไทย เปนที่หลวงจรูญศักดิ์ประเสริฐ รับราชการฉลองพระเดชพระคุณ}ต่อไป

ฉบับ ๒ จีนขุนพัฒน์ซวมอากรบ่อนเบี้ยเตาสุรายาฝิ่นเมืองกำเนิดนพคุณ แต่ให้จีนโต๊ะตั้งโรงขายสุรายาฝิ่นบ่อนเบี้ยอำเภอบ่อทอง จำนวนปีรัตนโกสินทร๒๒ศก ๑๐๘ ได้ประมาณ ๓ เดือน จีนโต๊ะมาร้องกับพระมหาสิงคิคุณว่า มิสเตอเอเยเรมีนายงานบ่อแร่ทองห้ามมิให้ขายสุรายาฝิ่นตั้งบ่อนเบี้ย แล้วไล่จีนโต๊ะออกจากโรงเสีย จีนโต๊ะจะตั้งอยู่ก็จะเกิดวิวาทกันขึ้น พระมหาสิงคิคุณได้ให้กรมการไปสอบถามมิสเตอเอเยเรมีนายงานว่าได้ห้ามจริง แล้วมิสเตอเอเยเรมี ว่าราษฎรที่จะขึ้นมาค้าขายตำบลบ่อทองจะเรียกภาษีเกวียนละบาทหาบละสลึง แล้วห้ามมิให้เกวียนแลช้างของกรมการแลราษฎรเดินไปมา แล้วมิสเตอเอเยเรมีพาพวกแขกมาแต่สิงคโปร์ประมาณ ๑๕๐ คนเปนโปลิศไปไว้รักษาที่บ่อทอง

ฉบับ ๓ บอกพระยาฤทธิสงครามเจ้าเมืองไทรบุรีว่า พระชลสินธุ์สงครามไชยผู้ช่วยราชการป่วยเปนไข้ถึงแก่กรรม ได้แต่งให้หะยีหวันอับดนคุมเครื่องยศทองคำเข้ามาส่งแล้ว แล้วมีพระราชดำรัสสั่งพระยานรินทรราชเสนีว่า ให้ส่งต้นบอกพระมหาสิงคิคุณไปยังพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงเทววงษวโรประการ

แล้วพระสุรินทรามาตย์นำหลวงนรินทร์ภักดีเสนามหาดไทยเมืองกำเนิดนพคุณ เฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท ถวายขี้ผึ้งหนัก ๕๐ ชั่งจีน

พระยาศรีสิงหเทพนำพระธาศรีสุริยวรานุวัติ พิพัฒนพิไชย อภัยพิริยพาหุ ผู้สำเร็จราชการเมืองพิไชย ๑ หลวงราชฤทธีผู้ช่วยราชการเมืองเสียมราฐ ๑ กราบถวายบังคมลาไปรักษาราชการบ้านเมืองโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเครื่องยศแก่พระยาพิไชย คนโท ถาดหมาก } ทองคำแลเสื้อผ้าตามธรรมเนียม จึ่งมีพระราชดำรัสกับพระยาพิไชยว่า ซึ่งให้เปนข้าหลวงขึ้นไปรักษาราชการบ้านเมืองเปนการเรียบร้อยดีนั้น เปนความดีความชอบอยู่แล้วให้อุส่าห์รับราชการให้ดี

แล้วโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตรข้าราชการ ๙ นาย ให้หลวงภักดีณรงค์ เปนพระภักดีณรงค์ มีตำแหน่งราชการในกรมมหาดไทย ถือศักดินา ๘๐๐

ให้จ่าแรงรับราชการกรมพระตำหรวจนอกขวา เปนพระยาพิไชยรณรงค์สงคราม ผู้ว่าราชการเมืองสระบุรี ถือศักดินา ๓๐๐๐

ให้เจ้าไชยสงคราม เปนเจ้าสุริยวงษ์เมืองนครเชียงใหม่, ให้หนานบุนทวงษ์ เปนเจ้าราชสัมพันธวงษ์ เมืองนครลำปาง

ให้นายน้อยแก้วเมืองมูล เปนเจ้าราชภาคินัย เมืองนครลำปาง, ให้พระยาอุปราชเมืองแพร่ เปนพระยาพิริยวิไชย อุดรวิไสยวิผารเดช บรมนฤเบศรสยามิตร สุจริตภักดี เจ้าเมืองแพร่

ให้พระไชยราชา เปนพระบุรีรัตนเมืองแพร่, ให้นายน้อยอินตะ เปนพระไชยราชาเมืองแพร่, ให้ท้าวทองคำ เปนพระประทุมวิเศษ เจ้าเมืองภันธรวิไชย

เวลา ๕ ทุ่มเศษเสด็จขึ้น วันนี้มีการประชุมปฤกษาราชการข้างในด้วย.

วันที่รัชกาล ๗๘๑๗ วัน ๑ ๕ ค่ำ ปีขานยังเปนเอก๒๒ศก ๑๒๕๑

วันที่ ๖ เมษายน รัตนโกสินทร๒๓ศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกประทับพระราชยานแต่เกยน่าพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยข้าทูลลอองธุลีพระบาท ออกประตูศรีสุนทรไปประทับเกยที่พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย แล้วเสด็จพระราชดำเนินประทับเรือพระที่นั่งกลไฟ พระชลยุทธโยธินทร์สั่งให้ใช้จักร์ออกเรือพระที่นั่งล่องลำน้ำไป มีเรือข้าราชการนำตามเสด็จพอสมควร ไปประทับท่าตะพานวัดทองนพคุณแล้ว เสด็จพระราชดำเนินขึ้นประทับพลับพลายกน่าโรงธึมศพพระยาราชภักดี (ทองคำ) ศพขรัวยายแย้ม แล้วโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นพรหมวรานุรักษ ทอดผ้าไตร ๑๐ ไตรบังสกุลศพพระยาราชภักดีศพขรัวยายแย้มนั้นพระราชทานผ้าขาว ๔ พับ เงิน ๒๐๐ เฟื้อง บังสกุลตามธรรมเนียม แล้วทรงจุดฝักแคพระราชทานเพลิง ทั้ง ๒ ศพเสร็จแล้ว เสด็จพระราชดำเนินกลับประทับเรือพระที่นั่งกลไฟใช้จักร์ขึ้นตามลำน้ำขึ้นมาประทับท่าราชวรดิฐ เวลาย่ำค่ำแล้วเสด็จพระราชดำเนินขึ้นพระบรมมหาราชวัง ประทับที่พระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาทองค์กลาง ทอดพระเนตรเครื่องโตํะลายครามต่าง ๆ จนเวลา ๕ ทุ่มเศษเสด็จขึ้น

วันนี้มีการประชุมปฤกษาราชการข้างใน

วันที่รัชกาล ๗๘๑๘ วัน ๒ ๕ ค่ำ ปีขานยังเปนเอก๒๒ศก ๑๒๕๑

วันที่ ๗ เมษายน รัตนโกสินทร๒๓ศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลาทุ่มเศษพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกขุนนาง ณ พระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาทประทับบนพระแท่นแล้ว พระมนตรีพจนกิจกรมมหาดไทย นำใบบอกกราบบังคมทูลพระกรุณา ๙ ฉบับ

ฉบับ ๑ บอก พระยาประจันตประเทศ ท้าวเพี้ยกรมการ } เมืองสกลนคร ลงวันที่ ๑ กันยายน ร.ศ. ๑๐๘ ว่าได้พร้อมกันหาตัวเจ้าเมืองท้าวเพี้ยเมืองขึ้นแลนายหมวด นายกอง } ซ฿่งได้รับทำส่วยผลเร่ว ส่วยทองคำ } แลอากรขี้ผึ้งมาเร่งรัดให้ส่งเงินแทน ผลเร่ว ทองคำ } อากรขี้ผึ้งลงมาส่งกรุงเทพ ฯ บัดนี้เจ้าเมืองท้าวเพี้ยเมืองขึ้น ๗. กองนอก ๔. ได้นำเงินส่วยแทน ผลเร่ว ทองคำ } แลอากรขี้ผึ้งมาส่ง รวมเงิน ๑๕๐ ชั่ง ๑๘ ตำลึง ๑ บาท ๑ สลึง ได้มอบเงินรายนี้ให้ท้าวสุวรรณสารผู้เปนที่ราชบุตรแลท้าวเพี้ยนายหมวด นายกอง } คุมลงมาส่งแล้ว

ฉบับ ๒ ว่า ได้จัดซื้อช้างเมืองภูวดลสอางช้างพลายสูง ๐ ๔ ๐ ๕ } ช้างพังสูง ๐ ๔ ๐ ๒ } ราคาเงินช้างละ ๘ ชั่ง ๖ ชั่ง } ได้แต่งให้ ท้าวเพี้ย กรมการ } คุมไปส่งพระยาสุริยเดชข้าหลวง ณ เมืองหนองคายแล้ว

ฉบับ ๓ ว่า โปรดเกล้าฯ ให้ยกเลขส่วยเปนเลขกองด่านแลลาดตระเวนรักษาพระราชอาณาเขตร ๑๕๐ คน แล้วพระยามหาอำมาตย์ข้าหลวงใหญ่ จัดให้จมื่นมณเฑียรพิทักษ์เปนข้าหลวงไปตรวจด่านทางพระราชอาณาเขตรได้ยก ประตู เรือน } ด่าน ๖ ตำบล แล้วพระยามหาอำมาตย์จึงตั้งท้าวพังคีเปนที่พระเจริญอาณาเขตรกองด่าน ๑ ท้าวไชยกุมารเปนที่หลวงวิเศษรักษาพลปลัดกอง ๑ แต่เลข ๑๕๐ คนนั้นหาพอแก่ราชการไม่ พระยามหาอำมาตย์จึ่งให้เกณฑ์เลขส่วยเมืองภูวดลสอางอีก ๑๐๐ คน รักษาด่าน รวมเลขเก่าใหม่ ๒๕๐ คน ไปลาดตระเวนรักษาด่าน ขอรับพระราชทานหักเงินส่วยรายเลขส่วย ๑๐๐ คน ตามธรรมเนียม

ฉบับ ๔ ว่า มีตราพระราชสีห์โปรดเกล้า ฯ ออกไปให้หลวงภักดีณรงค์ ผู้เปนที่พระยาราชเสนาหลวงอนุชิตพิทักษผู้เปนที่พระยาปราจิณบุรี เปนข้าหลวงออกไปปักปันเขตรแดนเมือง นครพนม มุกดาหาร หนองหาร } กับเมืองสกลนครกระหนาบคาบเกี่ยวกันนั้น เปนที่ตกลงกันแล้ว ครั้นข้าหลวงกลับลงมากรุงเทพ ฯ พระจันทร์สุริยวงษาเจ้าเมืองมุกตาหาร ให้ท้าวเพี้ยกรมการไปถอนหลักเขตรแดนเมืองสกลนครที่ได้ตัดสินปักปันเขตรแดนแล้วนั้นออกเสีย พระยาประจันตประเทศขอรับพระราชทานข้าหลวงออกไปปักปันเขตรแดนตามหลักเดิม

ฉบับ ๕ ว่า ได้ให้ ท้าวเพี้ย กรมการ } ออกไปทำบาญชีสำมโนครัวตัวเลขในเมืองสกลนครแลเมืองขึ้นแล้ว ได้มอบบาญชีให้ท้าวสุวรรณสารผู้เปนที่ราชบุตรคุมลงมา กับว่าขุนพรพิทักษได้หาตัวพระยาประจันตประเทศไปที่เมืองนครพนม แล้วสั่งให้เก็บเงินส่วยแก่ตัวไพร่คนละ ๒ บาท ๒ สลึง มีราชการประการใดให้เอาเงินส่วยจ้างคนไป พระยาประจันตประเทศเห็นว่า จะเก็บเงินส่วยแก่ตัวเลขเสมอคนละ ๒ บาท ๒ สลึง เหมือนอย่างเมืองอุบลราชธานีนั้น ตัวเลขเมืองสกลนคร เมือง กอง } ขึ้นก็น้อยตัว เกลือกจะไม่พอจ่ายราชการจะขอรับพระราชทานนำใบเสร็จเก็บส่วยของหลวงตามตัวเลขเสมอคนละ ๒ บาทตามเดิม ถ้ามีราชการมาประการใดจะขอเกณฑ์เลขผลัดเปลี่ยนกันไปให้ทั่วหน้าเสมอกัน

ฉบับ ๖ ว่า หลวงณรงค์โยธาข้าหลวงพร้อมกับท้าวเพี้ยเมืองสกลนคร ขึ้นไปปันปักหลักพระราชอาณาเขตร หลังเขาประทัดต่อเขตรแดนญวน ได้ปักที่ลาดมองหลัก ๑ ลาดมะก่อหลัก ๑ } ลาดเมือยหลัก ๑ ลาดหลักหินหลัก ๑ } ลาดเหล็กไฟหลัก ๑ รวม ๕ หลัก ได้ส่งแผนที่ ๆ ได้ปักหลักพระราชอาณาเขตรลงมาแล้ว

ฉบับ ๗ บอกพระยาสุริยเดชข้าหลวงเมืองหนองคายว่า พระยาประจันตประเทศได้จัดเงินส่วนซื้อช้างพลาย พัง } สูง ๐ ๔ ๐ ๕ } ราคาเงิน ๘ ชั่ง ๐ ๔ ๐ ๒ } ราคาเงิน ๖ ชั่ง } มาส่งได้มอบให้พระยาประทุมเทวาธิบาลจัดท้าวเพี้ยคุมช้าง ไปส่งพระยาสุริยวงษาข้าหลวง ณ เมืองเชียงขวางแล้ว

ฉบับ ๘ บอกพระพิเรนทรเทพข้าหลวงเมืองนครราชสีมา ลงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ร,ศ, ๑๐๘ ว่า พระดำรงฤทธิไกรเจ้าเมืองพนมไพรแดนมฤคป่วยถึงแก่กรรม แต่เมืองพนมไพรเปนเมืองขึ้นเมืองสุวรรณภูม หลวงอุปฮาดท้าวเพี้ยไม่มีความรังเกียจสิ่งใด ยอมทำหนังสือสัญญาไว้ฉบับ ๑ ว่าไม่สมัคขึ้นเมืองสุวรรณภูม จะสมัคขึ้นกับเมืองนครราชสีมาต่อไป แล้วจึงได้มีหนังสือบอกให้หลวงอุปฮาด ท้าวเพี้ย } ถือไปแจ้งราชการต่อพระยามหาอำมาตย์ ๆ จึ่งได้มีตราจุลราชสีห์ ตั้งให้หลวงอุปฮาดเปนผู้ว่าราชการเมืองพนมไพรแดนมฤคทำราชการเก็บเงินส่วยผลเร่วต่อมา หลวงอุปฮาดได้รับราชการมาได้ ๗ ๘ } เดือนเปนการเรียบร้อยดี ขอรับพระราชทานหลวงอุปฮาดเปนที่พระดำรงฤทธิไกรเจ้าเมืองพนมไพรแดนมฤกขึ้นเมืองนครราชสีมาทำราชการฉลองพระเดชพระคุณต่อไป

ฉบับ ๙ ว่า พระดำรงฤทธิไกรเจ้าเมืองพนมไพรแดนมฤค ไปเมืองนครราชสีมาป่วยถึงแก่กรรม ยังหาได้ทำการเผาศพไม่ ขอรับพระราชทานหีบศิลาน่าเพลิงขึ้นไปเผาศพ กับได้ส่ง ถาดหมาก คนโท } เงิน เครื่องยศพระดำรงฤทธิไกรลงมาแล้ว กับหลวงอุปฮาดผู้จะเปนที่พระดำรงฤทธิไกรเข้ามาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท จัดได้ขี้ผึ้งหนัก ๔๐ ชั่งจีนทูลเกล้า ฯ ถวาย

แล้วพระสุรินทรามาตย์กรมพระกระลาโหม นำใบบอกกราบบังคมทูลพระกรุณา ๔ ฉบับ

ฉบับ ๑ บอกพระยาตรังคภูมาภิบาล ลงวันที่ ๓๐ ธันวาคม ร,ศ, ๑๐๘ ว่า, ขี้ผึ้งอากรในแขวงเมืองตรัง จำนวนปีชวดสัมฤทธิศก หลวงเสนามาตย์มหาดไทย หลวงรัตนากรคลัง ขุนมหาโยธี ซึ่งทำป่าผึ้งนำขี้ผึ้งมาส่งหนัก ๑๐๐ ชั่งจีน พระยาตรังคภูมาภิบาล ได้มอบขี้ผึ้งอากรรายนี้ ให้ขุนโภชนาเกษตรกรมการคุมเข้ามาส่ง

ฉบับ ๒ ว่า ภาษี หอยมุก ปลิงทะเล } ตำบลเกาะสลิบงน่าเมืองตรัง จำนวนปีชวดสัมฤทธิศกจีนม่าชิตรับทำภาษีเงิน ๘๐ เหรียญ กับภาษีเปลือกโปลงตำบลเกาะสลิบง จำนวนปีชวดสัมฤทธิศกได้ให้ขุนรักษานทีซึ่งรักษาเกาะนั้นเก็บภาษีไว้เปนเงิน ๓๘ เหรียญ ภาษี ๒ รายนี้ผู้ที่รับทำได้นำเงินมาส่ง บัดนี้ได้มอบเงินภาษี ๒ รายเปนเงิน ๑๑๘ เหรียญ ให้ขุนโภชนาเกษตรคุมเข้ามาส่ง

ฉบับ ๓ ลงวันที่ ๒๑ ตุลาคม ร,ศ, ๑๐๘ ว่า จีนเจงอ้ายซึ่งอยู่จัดการแทนจีนปานเจ้าภาษีฝิ่นโรงท่าแก้มคำ มาแจ้งความว่าเวลาคืนนี้พวกจีน ๓ คนนำฝิ่นห่อเดินทางมา พวกจีนเตงแลทหารก็ไล่ตามไป จีน ๓ คนเอาปืนยิงแต่หาถูกผู้ใดไม่ พวกทหารก็ยิงไปถูกจีนคน ๑ จีนเพื่อน ๒ คนวิ่งหนีไป พระยาตรังคภูมาภิบาลได้ให้หลวงฤทธิสรเดชกรมการไปตรวจดู พร้อมด้วยจีนหลงจู๊จีนเตงไปตำบลท่ากระดาน ตรวจพลิกศพจีนที่ตายเห็นรอยกระสุนปืนต้นขาซ้ายทลุออกตะโภกแล้วจีนหลงจู๊ให้ค้นหาฝิ่นเถื่อนที่ป่าหญ้าคา พบฝิ่นห่อ ๒ ก้อน จีนหลงจู๊ได้นำกฎหมายตราสินมอบก้อนฝิ่นไว้ต่อกรมการ

ครั้นวันที่ ๑๑ ตุลาคม จีนเถ้าแก่ฝ่ายมะเกาตลาดทับเที่ยง นำจีนเลนไกวมาแจ้งความว่าจีนกีเปนพี่จีนเลนไกว แต่จีนกีหาอยู่ไม่ไปที่เมืองปะเหลียนยังไม่กลับมา จีนเลนไกวจะขอไปดูศพจีนผู้ตาย พระยาตรังคภูมาภิบาลจึ่งให้นายแสงพร้อมด้วยจีนเถ้าแก่จีนเลนไกวไปดูศพ จีนเลนไกวไปดูจำสำคัญได้ว่าเปนศพจีนกีผู้พี่จึงได้ทำเรื่องราวมายื่นกล่าวโทษ นายปลอด นายชู } บ้านท่ากระดาน กับจีนหลงจู๊จีนเตงว่ายิงจีนกีผู้พี่ตาย จึงให้กรมการไปหาตัวนายปลอดนายชูจีนหลงจู๊จีนเตงที่ต้องคดีมาที่ศาลากลาง แล้วจีนฮวดจีนเจงอ้ายมาแจ้งความว่า จีนพวกนี้เปนหลงจู๊จีนเตงจัดการอยู่ที่โรงภาษีฝิ่นจะมาว่าความอยู่นั้นไม่ได้ จึ่งให้นายทิมเป็นผู้ว่าการแทนจีนเลนไกวโจทย์ไม่ยอมเปนการแก่งแย่งไม่ตกลงกัน จึ่งได้บอกกับจีนเถ้าแก่แลจีนเลนไกวโทว่า ความเรื่องนี้ให้รอไว้ก่อน จะบอกเข้ามา ณ กรุงเทพ ฯ เมื่อโปรดเกล้า ฯ ประการใดจะได้ทำตาม

กับจีนฮวดจีนเจงอ้ายโรงภาษีฝิ่นแจ้งความว่า จะขอให้หลงจู๊กลับทหารไปตรวจฝิ่นเถื่อนอยู่ที่ตำบลท่ากระดานแลย่านตาขาว แลขอกรมการไปด้วย พระยาตรังคภูมาภิบาลเห็นว่าที่ตำบลท่ากระดานย่านตาขาวนั้น ติดต่อพรหมแดนเมืองปะเหลียนแล้วก็เปนที่ไกลบ้านคน ครั้นจะจัดทหารกรมการไปตามที่จีนฮวดจีนเจงอ้ายขอ ก็กลัวเกลือกจะมีเหตุการณ์รบพุ่งฆ่าฟันกันขึ้น ด้วยที่นั้นเปนป่าตำบลบ้านระยะห่างๆ กัน

ฉบับ ๔ บอกพระยารัตนเศรษฐีผู้ว่าราชการเมืองระนอง ลงวันที่ ๑๘ มกราคม ร,ศ, ๑๐๘ ว่า มีตราพระคชสีห์โปรดเกล้า ฯ ออกไปว่า ให้พระยารัตนเศรษฐีประกาศกรมการแลราษฎรในแขวงอำเภอบ้านเมืองว่า ถ้าจะซื้อดินปืนเมืองสิงคโปร์สำหรับราชการบ้านเมือง ฤๅราษฎรจะใช้ยิงสัตว์แลไว้สำหรับตัวก็ดี ให้ผู้ว่าราชการเมืองกรมการมีใบบอกขออนุญาตเข้ามา ณ กรุงเทพฯ ถ้าราษฎรไพร่บ้านพลเมืองลูกค้าบรรทุกดินปืนซึ่งไม่ได้อนุญาตเข้ามาในบ้านเมือง ห้ามอย่าให้ซื้อขายกันเปนอันขาดนั้นทราบเกล้า ฯ ทุกประการแล้ว ได้ให้กรมการประกาศนายอำเภอกำนันพันนายบ้านแลราษฎรลูกค้าในแขวงเมืองแลแขวงเมืองขึ้นทราบทั่วกันแล้ว

ครั้น ณ วัน ค่ำปีกุญนพ๒๐ศก หลวงสมุทอัษฎงค์ผู้รักษาเมืองกะเปอ ให้กรมการคุมตัวจีนโกยจั๋วมาส่งว่า ลอบลักซื้อดินปืน ๑๐ ถ้ำ กับปืนแก๊บ ๑ บอกเข้ามาในแขวงเมืองกะเปอ ได้ถามจีนโกยจั๋วให้การรับสารภาพ เห็นด้วยเกล้า ฯ ว่าจีนโกยจั๋วมีความผิดครั้งเดียว จึ่งให้เรียกประกันจีนโกยจั๋วแลทำทานบนอื่นไว้ฉบับ ๑ ว่าสืบไปเมื่อน่าจีนโกยจั๋วนำดินปีนแลปืนเข้ามาในแขวงเมืองกะเปออีก ให้ปรับไหมมีโทษจงหนักจึ่งให้ปล่อยตัวจีนโกยจั๋วไป

ครั้นวันที่ ๑๙ ธันวาคม ร,ศ, ๑๐๘ หลวงสมุทอัษฎงค์กับขุนศรีคงคานายด่าน นำตัวจีนโกยจั๋วกับดินปืน ๑๑ ถ้ำแก๊บ ๒ อับมาส่ง จึงถามจีนโกยจั๋วให้การรับสารภาพ เห็นว่าจีนโกยจั๋วมีความผิดต่อหนังสือสัญญาทานบลจึ่งให้จำตรวนขังตรางไว้ได้คัดคำให้การจีนโกยจั๋วฉบับ ๑ สำเนาหนังสือทานบลฉบับ ๑ เข้ามาแจ้งราชการแล้ว

พระยานรินทรราชเสนีนำหลวงอุดมภักดีผู้ช่วยราชการเมืองสงขลา กราบถวายบังคมลากลับไปบ้านเมือง

แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์อธิบดีพระคลังมหาสมบัติ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์รองอธิบดี กำกับเจ้าพนักงานแจกเบี้ยหวัดพระราชทานกรมมหาดเล็ก ประจำรัตนโกสินทร๒๒ศก ๑๐๘ แล้วมีพระราชดำรัสกับพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นสมมตอมรพันธุ์ว่า นายเชยมหาดเล็กบุตรพระยาวิเสศสัจธาดานั้น ที่มหาดเล็กหุ้มแพรฤๅนายรองยังว่างอยู่บ้าง ให้นายเชยเปนสักที่ ๑ ตกลงเปนที่นายพินิตราชการ

เวลา ๔ ทุ่มเศษเสด็จขึ้นแล้วประทับที่ท้องพระโรงกลาง ทอดพระเนตรเครื่องโต๊ะลายครามต่าง ๆ จนเวลา ๒ ยามเศษเสด็จขึ้น

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ แลพระเจ้าน้องยาเธอ ทรงกำกับเจ้าพนักงานแจกเบี้ยหวัดอยู่จนเวลา ๕ ทุ่มเศษสิ้นเงินที่พระราชทานวันนี้ ๑๘๗ ชั่ง ๓ ตำลึง

วันที่รัชกาล ๗๘๑๙ วัน ๓ ๕ ค่ำ ปีขานยังเปนเอก๒๒ศก ๑๒๕๑

วันที่ ๘ เมษายน รัตนโกสินทร๒๓ศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลายามเศษพระบาทสมเด็จพระเจ้าอู้หัว เสด็จออกขุนนางณพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท ประทับบนพระแท่นแล้ว มีพระราชดำรัสถามพระยาศรีสิงหเทพว่ามีราชการอไรบ้าง พระยาศรีสิงหเทพกราบบังคมทูลพระกรุณาว่าไม่มีราชการอไร จึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ อธิบดีพระคลังมหาสมบัติ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษรองอธิบดี กำกับเจ้าพนักงานแจกเบี้ยหวัดแก่พระบรมวงษานุวงษ์ประจำรัตนโกสินทร๒๒ศก ๑๐๘ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าเกษมศรีศุภโยค ทรงตรวจบาญชีเรียกพระนาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่จนเวลา ๔ ทุ่มเสด็จขึ้น แลประทับที่ท้องพระโรงกลางทอดพระเนตรเครื่องโต๊ะลายครามต่าง ๆ เวลา ๕ ทุ่มเศษเสด็จขึ้น

วันนี้มีการประชุมปฤกษาราชการข้างในด้วย

สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระเจ้าน้องยาเธอทรงตรวจบาญชีเรียกพระนามแลทรงกำกับเจ้าพนักงานแจกเบี้ยหวัดอยู่จนเวลา ๕ ทุ่มเศษ รวมเงินที่พระราชทานวันนี้ ๖๗๒ ชั่ง ๑๘ ตำลึง

อนึ่งเวลาวันนี้เจ้าพนักงานจัดการแห่ศพอิ่มขรัวยายในพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์แต่บ้าน ไป ณ โรงธึมวัดบุบผาราม สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงษ์ กรมพระภาณุพันธุวงษ์วรเดช ทรงจัดในการศพนี้ด้วย

วันที่รัชกาล ๗๘๒๐ วัน ๔ ๕ ค่ำ ปีขานยังเปนเอก๒๒ศก ๑๒๕๑

วันที่ ๙ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลาบ่าย ๕ โมงเศษพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชอำเนินออกทางประตูแถลงราชกิจ เสด็จไปโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ทอดพระเนตรที่ต่าง ๆ ในบริเวณโรงเรียนนั้น แล้วเสด็จไปที่สนามหญ้า ข้าหลวงผู้สอบไล่วิชาแลอาจาริย์นักเรียนเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทเปนลำดับกัน แล้วเสด็จขึ้นประทับบนเรือนโถงกลางสวนนั้นพร้อมด้วยพระเจ้าน้องยาเธอแลข้าหลวงผู้สอบไล่วิชาอาจาริย์แลนักเรียน พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์ หัวน่าข้าหลวงกราบบังคมทูลพระกรุณารายงานนักเรียนที่สอบไล่วิชาได้แลตก ในจำนวนรัตนโกสินทร์ศก ๑๐๘ ความซึ่งกราบบังคมทูลโดยสังเขปว่า ได้ประชุมพร้อมกัน ณ หอสอบไล่วิชาในโรงเรียนสุนันทาลัย วันที่ ๒๔ มินาคมแลต่อไปรวม ๓ วันได้สอบวิชานักเรียนมีจำนวนดังนี้

นักเรียนเข้าสอบวิชาประโยคชั้นต้น พระภิกษุสามเณรเข้าสอบ ๑๑ รูป ได้หมด

นักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบเข้าสอบ ๓๘ คน ได้ ๒๕ คน ตก ๑๓ คน นักเรียนโรงเรียนหลวงตามพระอารามเข้าสอบ ๗๘ คน ได้ ๔๙ คน ตก ๒๙ คน รวมทั้งสิ้นนักเรียนเข้าสอบวิชาชั้นประโยคต้น ๑๒๗ คน ได้ ๘๕ คน ตก ๔๒ คน

จำนวนนักเรียนสอบวิชาชั้นประโยค ๒ มีจำนวนเข้าสอบ ๒๔ คน ได้ ๑๑ คน ตก ๑๓ คน

บรรดานักเรียนซึ่งได้เข้าสอบวิชาในคราวนี้ นายเขจร บุตรพระยาธรรมจรัญญานุกูลมนตรี เปนนักเรียนในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ สอบวิชาชั้นประโยคที่ ๒ ได้ดีกว่านักเรียนอื่นทั้งสิ้น สมควรจะได้รับพระราชทานรางวัลเอกประจำปีได้ ในส่วนวิชาชั้นประโยคต้นนั้น นายหลีบุตรขุนอภัยภาษี นักเรียนโรงเรียนวัดกลางเมืองสมุทปราการ สอบได้เปนอย่างดีกว่านักเรียนอื่นทั้งสิ้น สมควรจะได้รับพระราชทานรางวัลโท ในคราวสอบวิชานี้ได้

ส่วนนักเรียนในโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบที่สอบวิชาชั้นประโยคต้นได้เปนอย่างดีในโรงเรียนเดียวกันคราวนี้ คือพระบวรวงษเธอ พระองค์เจ้าโอภาษไพศาลรัศมี สมควรจะได้รับพระราชทานทุนเล่าเรียนที่ ๑ ของพระเจ้าบรมไหยิกาเธอกรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูรได้

พระนามแลชื่อข้าหลวงผู้สอบวิชาคราวนี้ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนราธิปประพันธ์พงษ์ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนนริศรานุวัดติวงษ์ หม่อมเจ้าประภากร ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงษเธอเจ้าฟ้ามหามาลา กรมสมเด็จพระบำราปปรปักษ์ พระยาศรีสุนทรโวหาร พระผดุงศุลกฤตย์ หลวงวินิจวิทยาการ หลวงไพศาลศิลปสาตร หม่อมราชวงษ์สำเริง, รวม ๙

กระแสพระราชดำรัสโดยความสังเขปว่า เมื่อได้เห็นแลได้ฟังรายงานซึ่งผู้ตรวจได้สอบไล่วิชานักเรียน ก็เปนเหตุให้บังเกิดความยินดีควรจะนับเปนผลแห่งที่ได้จัดทนุบำรุงการเล่าเรียนว่าได้สำเร็จตลอดแท้ ในทางหนังสือไทยมีแต่จะเจริญยิ่งขึ้นไป

แต่ส่วนวิชาหนังสืออังกฤษนั้น ความรู้ของนักเรียนซึ่งได้รับรางวัลยังอ่อนแก่ความรู้ เพราะเวลาที่เรียนนั้นไม่เสมอ แลนักเรียนไม่สู้มีผู้พอใจเล่าเรียนในภาษาอังกฤษ แลการที่จัดแบบอย่างซึ่งจะนำให้นักเรียนได้เรียนภาษาอังกฤษมากขึ้นยังไม่เปนการเรียบร้อยมีความเสียดายนัก จึงขอเตือนเจ้าพนักงานกรมศึกษาธิการ ให้คิดจัดการที่จะนำให้เด็กเล่าเรียนภาษาอังกฤษให้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน แลเตือนนักเรียนทั้งปวงให้อุส่าห์เล่าเรียนภาษาอังกฤษให้มากขึ้น คงจะเปนประโยชน์ตนแลประโยชน์ในทางราชการต่อไป

บัดนี้เรามีความยินดีที่จะให้รางวัลนักเรียนผู้ที่ได้สอบไล่วิชาหนังสือ แลขอบใจกรมศึกษาธิการแลอาจาริย์ทั้งปวงให้นักเรียนได้รับความรู้ สมดังความมุ่งมาทของเรายั่งยืนอยู่มิได้เสื่อมถอยด้วย

แล้วโปรดเกล้าฯ พระราชทานรางวัลนักเรียน คือ พระราชทานรางวัลที่ ๑ แลปกาสนียบัตรชั้นประโยคที่ ๒ คนหนึ่ง รางวัลที่ ๒ แลปกาสนียบัตรชั้นประโยคที่ ๑ คนหนึ่ง รางวัลวิเศษแลปกาสนียบัตรชั้นประโยคที่ ๒ สิบคน รางวัลทุนเล่าเรียนที่ ๑ แลปกาสนียบัตรชั้นประโยคที่ ๑ คนหนึ่ง รางวัลทุนเล่าเรียนที่ ๒ แลที่ ๓ ชั้นละคน ๒ คน รางวัลประจำปีโดยหมั่นเล่าเรียน ๘ คน รางวัลประจำปี โดยความรู้ ๒๖ คน รางวัลแต่ปกาสนียบัตรชั้นประโยคที่หนึ่ง ๓๘ คน รางวัลเงินเล่าเรียนสำหรับหมั่นเล่าเรียนสามัญ ๑๙ คน รวมนักเรียนที่ได้รับพระราชทานรางวัล ๑๕๑ คน แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จประทับพระราชยานกลับทางเดิม แล้วเสด็จออกพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาทองค์กลาง ทอดพระเนตรเครื่องโต๊ะลายครามต่าง ๆ จนเวลา ๕ ทุ่มเศษเสด็จขึ้น

วันที่รัชกาล ๗๘๒๑ วัน ๕ ๕ ค่ำ ปีขานยังเปนเอก๒๒ศก ๑๒๕๑

วันที่ ๑๐ เมษายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลาบ่าย ๕ โมงเศษพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จโดยพระราชยานแต่เกยพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท พร้อมด้วยข้าราชการแห่นำตามเสด็จออกประตูศรีสุนทรไปประทับเกยที่พระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยแล้วเสด็จพระราชดำเนินลงประทับเรือพระที่นั่งกราบล่องตามลำน้ำไปประทับตะพานน่าวัดประยุรวงษาวาศ แล้วเสด็จพระราชดำเนินขึ้น เสด็จโดยพระราชยานแต่เกยที่เชิงตะพานไปตามถนนข้างวัดประยุรวงษถึงวัดบุบผารามแล้วประทับพลับพลายกน่าโรงธึมศพอิ่มขรัวยาย โปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงษ์ทอดผ้าไตรของหลวง ๑. ไตรบังสกุลเสร็จแล้ว ทรงจุคฝักแคพระราชทานเพลิงแล้ว ทรงจุดดอกไม้เพลิงตามธรรมเนียม เวลาย่ำค่ำแล้วเสด็จกลับพระบรมมหาราชวัง

เวลา ๒ ทุ่มเศษเสด็จออกพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาทองค์กลาง โปรดเกล้า ฯ พระราชทาน โต๊ะ กา } ทองคำแก่พระยาพิสณฑ์สมบัติบริบูรณ พระพิศณุเทพเจ้ากรมมหาดไทยตำรวจภูธรซ้ายแล้ว ประทับทอดพระเนตรเครื่องโต๊ะลายครามต่าง ๆ จนเวลา ๒ ยามเศษเสด็จขึ้น

วันนี้มีการประชุมปฤกษาราชการข้างในด้วย

วันที่รัชกาล ๗๘๒๒ วัน ๖ ๕ ค่ำ ปีขานยังเปนเอก๒๒ศก ๑๒๕๑

วันที่ ๑๑ เมษายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลา ๒ ทุ่มเศษพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกพระที่นั่งจักรกรีมหาประสาทองค์กลาง ทอดพระเนตรเครื่องโต๊ะลายครามต่างๆ แลโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นสรรพสาตรศุภกิจ จัดต่อโต๊ะจีนเพิ่มเติมขึ้นอีก ด้วยเครื่องโต๊ะนั้นมีผู้ทูลเกล้า ฯ ถวาย แลทรงจัดซื้อขึ้นอีกเปนอันมาก ทอดพระเนตรเครื่องโต๊ะแลจัดโต๊ะอยู่จนเวลา ๒ ยามเศษเสด็จขึ้น ไม่ได้เสด็จออกขุนนาง

เวลาบ่ายวันนี้เจ้าพนักงานจัดการก่อพระเจดีย์ทรายณวัดเทพศิรินธราวาศ แลมีการสวดมนต์ฉลองพระเจดีย์ทรายด้วย พระสงฆ์ธรรมยุติกา ๓๐ รูป พระอริยมุนีเปนประธาน แลมีหมายจากกรมวังว่าจะเสด็จพระราชดำเนินกระบวนรถแต่หาเสด็จไม่ โปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าราชวรวงษเธอ กรมขุนเจริญผลพูนสวัสดิ์ เสด็จไปจุดเทียนเครื่องนมัสการพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์สัตตปริต

วันที่รัชกาล ๗๘๒๓ วัน ๗ ๕ ค่ำ ปีขานยังเปนเอก๒๒ศก ๑๒๕๑

วันที่ ๑๒ เมษายน รัตนโกสินทร์ศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลาเช้าเจ้าพนักงานจัดการที่จะเลี้ยงพระสงฆ์ที่วัดเทพศิรินธราวาศ แต่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหาได้เสด็จไม่ เวลาเช้า ๔ โมงเศษโปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าราชวรวงษ์เธอ กรมขุนเจริญผลพูนสวัสดิ์เสด็จไปเลี้ยงพระสงฆ์ ๓๐ รูปที่สวดมนต์เวลาวานนี้

เวลาบ่ายวันนี้เจ้าพนักงานจัดการที่พระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย พระสงฆ์จะได้สวดพระพุทธมนต์ในการพระราชพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษาอย่างเก่าตามธรรมเนียม เวลา ๒ ทุ่มเศษโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธเสด็จออกทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการ พระเจ้าบรมวงษเธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ถวายศีลทรงศีลแล้ว พระสงฆ์ราชาคณะผู้ใหญ่ น้อย } ธรรมยุติกา มหานิกาย } รวม ๖๐ รูปสวดพระพุทธมนต์จบแล้ว ถวายอติเรกพระพรลากลับ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเสด็จขึ้น

อนึ่งที่สนามหญ้าสนามกลางน่าพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานจัดการบังม่านเปนฉนวนรอบจนถึงบันไดขวา ซ้าย } พระที่นั่วจักรกรีมหาปราสาท ในม่านนั้นจัดที่เล่นชิงนางเหมือนวันที่ ๑ เมษายน

เวลา ๕ ทุ่มเศษพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกทางพระทวารพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาทพร้อมด้วยกระบวนฝ่ายใน ประทับพระเก้าอี้ที่สนามหญ้า ทอดพระเนตรฝ่ายในเล่นชิงนาง เปนการสโมสรสำราญพระราชหฤไทย จนเวลาย่ำรุ่งเสด็จขึ้น

วันที่รัชกาล ๗๘๒๔ วัน ๑ ๕ ค่ำ ปีขานยังเปนเอก๒๒ศก ๑๒๕๑

วันที่ ๑๓ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลาเช้า ๓ โมงเศษพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกที่พระราชอุทยานข้างใน โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานจัดที่สรงน้ำพระสงฆ์ตามภูเขาพระราชอุทยานข้างในแล้ว เจ้าพนักงานนำพระสงฆ์ราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อย} ที่สวดมนต์เวลาคืนนี้ เข้าทางประตูพรหมโสภาพระสงฆ์มาพร้อมแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประเคนไตรแพรสลับผ้าแก่พระสงฆ์ ๖๐ รูป แล้วพระสงฆ์ผลัดผ้าสรงน้ำตามที่เจ้าพนักงานจัดไว้นั้น แห่งละ ๒ ๔ ๕ } รูปแล้ว ทรงโปรยสุร่ายประพรมสงน้ำพระสงฆ์ตามธรรมเนียม แล้วเสด็จพระราชดำเนินออกพระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย พระสงฆ์ออกมาครองไตรที่พระราชทานนั้นแล้วมานั่งที่ตามลำดับ ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการแล้ว พระเจ้าบรมวงษ์เธอกรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ถวายศีล ทรงศีลแล้วทรงประเคนเข้าแช่แก่พระสงฆ์ ๆ รับพระราชทานฉันแล้วถวายอนุโมทนาถวายอติเรกพระพรลากลับ เวลาเที่ยงแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้น

เวลาบ่ายวันนี้เจ้าพนักงานจัดการที่พระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย แลพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์พระสงฆ์จะได้สวดพระพุทธมนต์ทั้ง ๒ แห่ง

เวลา ๒ ทุ่มเศษพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาทองค์กลางทอดพระเนตรเครื่องโต๊ะลายครามต่าง ๆ โปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมารเสด็จออกพระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัยทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการแล้ว สมเด็จพระพุฒาจาริย์ถวายศีลทรงศีลแล้วพระโพธิวงษาจาริย์ถวายขัดตำนานพระสงฆ์ ๔๒ รูปสวดพระพุทธมนต์ในการฉลองพระเจดีย์ทรายบรรดาศักดิ์ แล้วสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จไปที่ พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการแล้ว พระครูไทย ๔ รามัญ ๔ } สวดพระพุทธมนต์ในการพระราชพิธีเศกน้ำมุรธาภิเศก ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้สรงสนานในวันเถลิง๒๓ศก เวลา ๔ ทุ่มสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จขึ้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดพระเนตรเครื่องโต๊ะลายครามอยู่จนเวลา ๕ ทุ่มเศษเสด็จขึ้น

วันที่รัชกาล ๗๘๒๕ วัน ๒ ๑๐ ๕ ค่ำ ปีขานโท๒๓ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๑๔ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลาเช้าเจ้าพนักงานจัดการที่พระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย ที่จะได้เลี้ยงพระสงฆ์ในการพระราชพิธีกาลานุกาล โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จออกทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการ สมเด็จพระพุฒาจาริย์ถวายศีล ทรงศีลแล้วทรงประเคนเข้าแช่แก่พระสงฆ์ ๔๒ รูป พระครูไทย ๔ รามัญ ๔ } ที่สวดมนต์ในพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์มารับพระราชทานฉันในที่นี้ด้วย พระสงฆ์รับพระราชทานฉันแล้ว เวลาเช้า ๕ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกพระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่พระแท่นด้านตวันออก ได้พระฤกษเช้า ๕ โมงกับ ๖ นาทีสรงน้ำพระมุรธาภิเศกเสร็จแล้วเสด็จมาประทับทรงเครื่องที่พระที่นั่งราชฤๅดีแล้ว เสด็จมาประทับพระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย ทรงทอดผ้าคู่แลผ้าฉลากพระนามพระสงฆ์สดับปกรณ์พระบรมอัฏฐิพระอัฏฐิเสร็จแล้ว เวลาบ่ายโมงเศษเสด็จขึ้น

เวลาบ่าย ๒ โมงเศษเสด็จออกพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท ณ มุขด้านตวันออกประทับโต๊ะเสวยพร้อมด้วยพระบรมวงษานุวงษ์เสวยเข้าแช่ ประทับอยู่จนเวลาบ่าย ๓ โมงเสด็จขึ้น

เวลาบ่าย ๓ โมงเศษเสด็จออกทรงโปรยอัฐแลโสฬสหพระราชทานแก่พระบรมวงษานุวงษ์มหาดเล็กที่พระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาทแล้วเสด็จขึ้น

เวลาบ่าย ๕ โมงเศษเสด็จออกอีกครั้งหนึ่งทรงโปรยอัฐโสฬสพระราชทานแล้วเสด็จขึ้น

เวลา ๒ ทุ่มเศษโปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จไปวัดพระศรีรัตนสาศดารามสรงน้ำพระพุทธรัตนปฏิมากรแลพระพุทธรูปต่าง ๆ แล้วเสด็จไปหอพระนาถทรงทอดผ้าฉลากพระนามและผ้าคู่สดับปกรณ์พระอัฏฐิพระบรมวงษานุวงษ์เสร็จแล้วเสด็จกลับ

อนึ่งเวลาบ่ายวันนี้เจ้าพนักงานจัดการเวียนเทียนสมโภชพระเจดีย์ทรายบรรดาศักดิ์ที่พระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย แล้วแห่ไปวัดมหาธาตุตามเคย

วันที่รัชกาล ๗๘๒๖ วัน ๓ ๑๑ ๕ ค่ำ ปีขานโท๒๓ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๑๕ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลาบ่าย ๓ โมง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จลงประชุมปฤกษาราชการข้างใน

เวลาบ่ายวันนี้เจ้าพนักงานจัดการที่พระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัย จะได้เสด็จพระราชดำเนินออกแขกเมือง ครั้นเวลาย่ำค่ำแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกทางพระทวารเทวราชมเหศร์ เสด็จประทับเหนือพระราชบัลลังก์น่าพระที่นั่งเสวตรฉัตร พร้อมด้วยพระบรมวงษานุวงษ์ แลข้าทูลลอองธุลีพระบาทเฝ้าตามตำแหน่งแล้ว พระยาศรีสิงหเทพกราบบังคมทูลเบิกนำ พระยาพิริยพิไชยอุตรพิไสยวิบผารเดช บรมนฤเบศรสยามิศร์สุจริตภักดี เจ้าเมืองแพร่ ๑ พระบุรีรัตน ๑ พระไชยราชา ๑ เมืองแพร่ เจ้าราชสัมพันธวงษ์ ๑ เข้าราชภาคินัย ๑ เมืองนครลำปาง เจ้าสุริยวงษ ๑ เมืองนครเชียงใหม่ รวม ๖ นายกราบถวายบังคมลากลับไปรักษาราชการบ้านเมือง แลนำพระภักดีณรงค์ ๑ นายสุจินดา ๑ นายรองชิต ๑ จมื่นศักดิ์บริบาล ๑ หลวงเทพนรินทร์ ๑ รวม ๕ นาย กราบถวายบังคมลาไปราชการณเมืองอุบลราชธานี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสปฏิสันฐารกับแสนท้าวพระยาลาวแลข้าหลวงพอสมควรแล้ว โปรดเกล้า ฯ พระราชทานพานทองคำเครื่องในพร้อม ๑ คนโททองคำ ๑ กระโถนทองคำ ๑ เปนเครื่องยศแก่พระยาแพร่ พานทองคำเครื่องในถมปริกทอง ๑ คนโท กระโถน }ทองคำ เปนเครื่องยศแก่เจ้าราชสัมพันธวงษ์ พานเงินเครื่องในถมปริกกอง ๑ คนโท กระโถน } ถม เปนเครื่องยศเจ้าราชภาคินัย ถาดหมากเงิน ๑ คนโทเงิน ๑ เปนเครื่องยศแก่พระบุรีรัตน แล้วโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตรข้าราชการ ๘ นาย

ให้นายจ่ารง เปนหลวงสิทธินายเวรมหาดเล็กเวรสิทธิ์ ถือศักดินา ๘๐๐

ให้หม่อมราชวงษ์โต๊ะ บุตรหม่อมเจ้าโสภณเปนหม่อมราโชไทยราชินีกูล พนักงานโขลงกระบือ ถือศักดินา ๘๐๐

ให้นายราชภัณฑ์ภักดี เปนหลวงศักดิ์นายเวรมหาดเล็กเวรศักดิ์ ถือศักดินา ๘๐๐

ให้นายสนิทหุ้มแพร เปนนายจ่ารงมหาดเล็กเวรเดช ถือศักดินา ๖๐๐

ให้นายรองพิจิตรสรรพการ เปนนายสนิทหุ้มแพร นายยามเวรศักดิ์ ถือศักดินา ๔๐๐

ให้นายเชยมหาดเล็กเวรศักดิ์ บุตรพระยาวิเศษสัจธาดา เปนนายพินิตราชการมหาดเล็กหุ้มแพร นายยามเวรสิทธิ์ ถือศักดินา ๔๐๐

ให้นายเนตรมหาดเล็กเวรศักดิ์ บุตรนายพลายมหาดเล็ก เปนนายราชภัณฑ์ภักดีพนักงานเครื่องว่างเวรศักดิ์ ถือศักดินา ๔๐๐

ให้หลวงนรินทร์ภักดีมหาดไทยเมืองกำเนิดนพคุณ เปนหลวงจรูญศักดิ์ประเสริฐกำเนิดนพคุณ วิบุลย์ปรีชาปลัด

แล้วโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ มัณฑนาภรณ์แลเหรียญจักรมาลา แก่พระพรหมประสาตรศิลป์ (เจียม) ผู้ว่าราชการเมืองพรหมบุรี

เวลาทุ่มเศษพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้น เจ้าพนักงานประโคมมหรธึกแตรสังข์ตามธรรมเนียม แล้วเสด็จออกพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาทที่มุขเด็จ โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพนักงานนำพระยาพิริยพิไชย, เจ้าเมืองแพร่ เข้ามาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท โปรดเกล้า ฯ พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์มันฑนาภรณ์ แด่พระยาพิริยพิไชยอุดรพิไสยวิบผารเดช บรมนฤเบศรสยามิศร สุจริตภักดี (นายน้อยเทพวงษ์) เจ้าเมืองแพร่ แล้วเสด็จประทับตรัสกับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ, พระเจ้าน้องยาเธอหลายพระองค์แลขุนนางข้าราชการเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทหลายนาย พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงเทวะวงษ์วโรประการ ทูลเกล้า ฯ ถวายหนังสือฉบับ ๑ แล้วมีพระราชดำรัสด้วยเรื่องพระยาเดชานุชิตจางวางเมืองกลันตันถึงแก่กรรม แลเรื่องเจ้าเมืองไทรบุรีที่จะทำทางรถไฟ แลดำรัสด้วยราชการอื่น ๆ จนเวลา ๒ ทุ่มเศษ เสด็จไปประทับ ณ ท้องพระโรงกลาง ทอดพระเนตรเครื่องโต๊ะลายครามต่าง ๆ จนเวลา ๔ ทุ่มเศษเสด็จขึ้น

อนึ่ง วันนี้เวลาบ่าย ๕ โมงเศษ โปรดให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสด็จพระดำเนินกระบวนรถพระที่นั่ง ไปวัดบวรนิเวศน์สรงน้ำพระพุทธชินศรีแลพระพุทธรูปต่างๆ แลสรงน้ำพระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ เสร็จแล้ว เสด็จมาวัดราชประดิษฐ์ สรงน้ำสมเด็จพระพุทธโฆษาจาริย์ เวลาทุ่มเศษ เสด็จกลับพระบรมมหาราชวัง

เวลาย่ำค่ำแล้ว พระสงฆ์วัดราชบพิธ ๕ รูป มีพระวรวงษเธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากรมาสวดพระพุทธมนต์เสกน้ำที่พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ น้ำพระพุทธมนต์นี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะได้สรงวันที่ ๑๖

วันที่รัชกาล ๗๘๒๗ วัน ๔ ๑๒ ๕ ค่ำ ปีขานโทศก ๑๒๕๒

วันที่ ๑๖ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลาเช้าเจ้าพนักงานจัดสำรับเลี้ยงพระสงฆ์วัดราชบพิธ ๕ รูป ที่พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ มีพระวรวงษ์เธอพระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากรเปนประธาน ครั้นพระสงฆ์รับพระราชทานฉันแล้ว มาคอยถวายไชยมงคลที่พระที่นั่งจักรกรีงมหาปราสาท เวลาเช้า ๔ โมงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสรงน้ำพระพุทธมนต์ที่ข้างในแล้ว เสด็จออกพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท ทรงประเคนสบงธูปเทียนหมากพลูแก่พระสงฆ์ ๕ รูป แล้วเสด็จพระราชดำเนินมาทรงพระราชยานที่เกยน่าอัฒจันท์ พร้อมด้วยกระบวนตำรวจทหาร มหาดเล็ก นำตามเสด็จพระราชดำเนิน ขณะนั้นพระสงฆ์ ๕ รูปสวดถวายไชยมงคลขึ้นพร้อมกัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินออกประตูศรีสุนทร ไปประทับพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัยแล้วมีพระราชดำรัสแก่พระบรมวงษานุวงษ์แลข้าราชการที่คอยส่งเสด็จอยู่ณที่นั้น

พระยาศรีสิงหเทพนำพระยาพิไชยรณรงค์สงครามผู้ว่าราชการเมืองสระบุรี ๑ พระพรหมประสาทศิลป์ผู้ว่าราชการเมืองพรหมบุรี ๑ อัคฮาดเมืองอากาศอำนวย ๑ พระประทุมวิเศษเจ้าเมืองกันธวิไชย ๑ กราบถวายบังคมลาไปรักษาราชการบ้านเมือง โปรดเกล้า ฯ พระราชทาน ถาดหมาก คนโท } ทองคำ กระบี่บั้งทอง ลูกประคำทองคำเปนเครื่องยศแก่พระยาพิไชยรณรงค์สงคราม พระราชทาน ถาดหมาก คนโท } ก้าไหล่ทอง กระบี่บั้งเงินเปนเครื่องยศแก่พระพรหมประสาทศิล์ป พระราชทาน ถาดหมาก คนโท } เงินเปนเครื่องยศแก่พระประทุมวิเศษแลอัคฮาดตามธรรมเนียม

แล้วพระยานรินทร์ราชเสนี นำพระพิพิธสาลีข้าหลวงใหญ่ ๑ พระมหาสงครามข้าหลวงกำกับสำหรับชำระตัดสินความนา ๑ พระยาประสิทธิศุภการ หลวงนังคัลกิจบรรหาร ขุนรุดอักษรเสมียนตราข้าหลวงเดินนา ๓ รวม ๕ นาย กราบถวายบังคมลาไปชำระตัดสินความประเมินนา ณ เมืองนครศรีธรรมราช เมืองกาญจนดิฐ ความวันที่ ๑๖ เวลาเช้า ๔ โมงเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินลงประทับเรือพระที่นั่งสุริยมณฑล ออกเรือพระที่นั่งจากท่าราชวรดิฐเดินขึ้นไปเหนือน้ำ ถึงน่าวัดราชาธิวาศ กลับเรือล่องลงมาตามแม่น้ำ เวลาเช้า ๕ โมงเศศ เสดจออกมีพระราชดำรัสกับเจ้านายขุนนางที่ตามเสดจมาในเรือพระที่นั่งประมาณครึ่งชั่วโมงเสด็จขึ้น ครั้นเวลาบ่าย ๒ โมงกับ ๕ มินิตถึงเมืองสมุทปราการหยุดเรือ ทหารป้อมผีเสื้อสมุทยิงสลุดตามเคย พระยาสมุทลงมาเฝ้าในเรือพระที่นั่ง แลมีเรือราษฎรมาถวายของด้วย ได้พระราชทานเครื่องนมัสการให้พระยาสมุทไปบูชาพระสมุทเจดีย์ บ่าย ๒ โมงกับ ๔๐ มินิตออกเรือพระที่นั่งจากเมืองสมุทปราการเดินต่อมา บ่ายสามโมง ๑๕ มินิตออกปากน้ำ บ่าย ๔ โมง ๓๕ มินิตถึงสันดอนทอดเรือรอน้ำอยู่ในไลต์เฮาส์ เวลาเจ็ดทุ่มครึ่งจึ่งออกเรือข้ามสันดอนตัดไปแหลมเจ้าลาย เรือเดินตลอดคืนยังรุ่ง คลื่นลมเรียบราบเป็นปรกติ อนึ่งจำนวนเรือซึ่งตามเสด็จมาครั้งนี้ เรือสุริยมณฑลเป็นเรือพระที่นั่งไปแต่กรุงเทพฯ ถึงเมืองสมุทชุมพร ๑ เรืออุบลบุรทิศล่วงน่าไปคอยที่เมืองกระจะได้เป็นเรือพระที่นั่งต่อไป ๑ เรือไรซิงซันเป็นเรือพระที่นั่งรองไปแต่กรุงเทพ ฯ ถึงเมืองชุมพร ๑ เรือบางกอกล่วงน่าไปคอยที่เมืองกระจะได้เป็นเรือพระที่นั่งรองต่อไป

วันที่รัชกาล ๗๘๒๘ วัน ๕ ๑๓ ๕ ค่ำ ปีขานโท๒๓ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๑๗ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เรือพระที่นั่งเดินพอแลเห็นฝั่งตลอดมาไม่ได้หยุดพัก เมื่อเวลาเช้า ๕ โมง เสด็จออกรับสั่งกับเจ้านายขุนนางด้วยข้อราชการต่างๆ อยู่จนบ่ายโมงกับ ๓๕ มินิตเสด็จขึ้น ในวันนี้เรือเดินอยู่ตลอดวันยังค่ำคืนยังรุ่ง คลื่นลมสงบ

วันที่รัชกาล ๗๘๒๙ วัน ๖ ๑๔ ๕ ค่ำ ปีขานโทศก ๑๒๕๒

วันที่ ๑๘ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลาย่ำรุ่งแล้วถึงน่าเมืองชุมพร เรือเข้าทอดในอ่าวเป็นปรกติ เวลาเช้าโมง ๑ กับ ๔๕ มินิต กรมหมื่นดำรงซึ่งล่วงน่ามาตรวจทางบกตลอดเมืองกระ กับพระยาวิชิตภักดีลงมาเฝ้าในเรือพระที่นั่ง แลคุมเรือราษฎรที่โปรดเกล้า ฯ ให้จ้างมารับขนของเจ้านายแลข้าราชการมาด้วย เสด็จออกมีพระราชดำรัสด้วยเรื่องระยะทางสถลมารถที่จะเสด็จพระราชดำเนินตั้งแต่เมืองขุมพรไปถึงเมืองกระนั้นแล้วเสดจขึ้น

ในเวลาเช้าวันนี้เจ้านายแลข้าราชการได้ขนของลงบันทุกเรือล่วงน่าไปค่ายหลวงเมืองชุมพร ครั้นเวลาบ่าย ๒ โมงเสดจลงประทับเรือพระที่นั่ง ๑๒ กันเชียงพร้อมด้วยกระบวนข้างใน เรือสติมลันช์จูงไปเข้าปากน้ำ ในเวลานี้เป็นเวลาน้ำพึ่งจะลงเรือสติมลันช์จูงเรือพระที่นั่งขึ้นไปได้ตลอดถึงท่าตะเภา ในลำน้ำนี้เป็นที่น้ำลึกบ้างตื้นบ้างเป็นแห่ง ๆ เรือพระที่นั่งไปติดหัวหาดแห่งหนึ่ง เป็นที่หลัก ๒๕๐ เส้น นอกนั้นก็ไปสดวกจนถึงท้ายบ้านท่าตะเภาจึ่งต้องปล่อยเรือไฟ ตีกันเชียงขึ้นไปสัก ๑๕ มินิตก็ถึงพลับพลา ลำน้ำนี้ตะลิ่งต่ำน้ำไม่สู้เชี่ยว สองฝั่งตั้งแต่พ้นคลองบางยางขึ้นไปเป็นท้องทุ่งโดยมากมีเรือนราษฎรรายขึ้นไปห่าง ๆ มีสวนหมากมพร้าวแลไร่เป็นแห่ง ๆ ที่ท่าตะเภาซึ่งเป็นเมืองนั้นอยู่ข้างฝั่งเหนือ มีเรือนโรงอยู่ที่ริมน้ำประมาณสัก ๑๐๐ หลัง เวลาบ่าย ๕ โมงเศศถึงพลับพลาค่ายหลวงเสด็จขึ้นทอดพระเนตรพลับพลาข้างในทั่วแล้วเสด็จออก มีพระราชดำรัสกับเจ้านายข้าราชการครู่หนึ่งแล้วเสดจขึ้น ค่ายหลวงนี้ตั้งอยู่ฝั่งใต้ริมชายทุ่งเป็นที่แจ้งมีพลับพลาสามหลัง เป็นท้องพระโรงสามห้องมีเฉลียงสามด้านหลังหนึ่ง ถัดเข้าไปเป็นส่วนข้างในอีกหลังหนึ่ง ๕ ห้องเฉลียงรอบ ถัดเข้าไปเปนหลังขวางอีกหลังหนึ่งห้าห้องเฉลียงรอบ พื้นชาลาปลูกหญ้าตัดทางวนเวียนไปเป็นสวนปลูกต้นไม้เล็ก ๆ มีกรงสัตว์แลแคร่ที่ประทับพอสมควรริมรั้วค่าย มีเรือนแถวเป็นที่พัก ข้างน่ามีเรือนที่พักเจ้านายข้าราชการหลังละ ๕ ห้อง ๒ หลัง มีเพิงพลสามด้านมีประตู ๔ ทิศ ประตูด้านซ้ายมีเกยสำหรับทรงช้างอยู่ริมทาง พลับพลาแลที่พักเหล่านี้ล้วนฝากระแชงอ่อนมุงจากทั้งสิ้น พื้นที่พลับพลาใช้พื้นกระดานนอกนั้นเปนพื้นฟาก รั้วค่ายใช้ไม้ไผ่ทั้งลำเป็นลูกตั้ง ที่นี่กลางคืนหนาว กลางวันไม่สู้ร้อนจัดนัก

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ