เดือน ๑๒ จุลศักราช ๑๒๕๒

วันที่รัชกาล ๘๐๓๗ วัน ๔ ๑๒ ค่ำ ปีขานโท๒๓ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลาเช้า ๔ โมงเศศ โปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเสดจออกเลี้ยงพระสงฆ์ที่พระที่นั่งอนันตสมาคมเสร็จแล้ว เวลา ๒ โมงเศศ เสด็จออกทรงจุดเทียนเครื่องนมัศการแล้วถวายเครื่องไทยทานของหลวงแก่พระธรรมวโรดม แล้วพระสงฆ์ถวายอดิเรกถวายพระพรลากลับ เสด็จจุดเทียนโต๊ะเครื่องสังเวย เจ้าพนักงานจัดตั้งบายศรีแก้ว บายศรีทอง เงิน } พราหมณ์อ่านดุษดีสังเวยแล้ว ทรงเจิมเหมือนกันกับพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาททั้งสิ้น เวลาบ่าย ๔ โมงเศศเสด็จขึ้น แต่อาหารบิณฑบาตรแลเครื่องไทยทานวันนี้ เป็นส่วนของพระบรมวงษานุวงษฝ่ายน่า

วันที่รัชกาล ๘๐๓๘ วัน ๕ ๑๒ ค่ำ ปีขานโท๒๓ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๑๓ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลา ๔ ทุ่มเศศ เสดจออกประทับที่ออกขุนนางตามเคย พระศรีเสนานำบอกในกรมมหาดไทยขึ้นอ่านกราบบังคมทูล ๕ ฉบับ ฉบับ ๑ บอกพระยาสมุทบุรานุรักษ ข้าหลวงเมืองฉเชิงเทรา ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๑๐๙ ว่า มีอ้ายผู้ร้ายฆ่าหญิงมารดากับบุตรเจ้าของเรือเข้าถึงแก่กำม์ ศพลอยอยู่ที่บ้านสัมปะทวนแขวงเมืองฉเชิงเทรา

ฉบับ ๒ บอกพระยาวิเศศเมืองฉเชิงเทรา ลงวันที่ ๒๗ กันยายน ๑๐๙ ว่ามีศพจีนหนึ่งหญิงหนึ่งลอยอยู่ตามลำน้ำ ได้แต่งให้กรมการออกสืบจับยังหาได้ความไม่

ฉบับ ๓ บอกเมืองนครนายก ลงวันที่ ๕ ตุลาคม ๑๐๙ ว่า เวลาเช้า ๕ โมงเศศ มีอ้ายผู้ร้าย ๘ คน ปล้นเรือจีนเพง อำแดงเนียว ตำบลบ้านทรายมูลแขวงเมืองนครนายก เจ้าของเรือโดดน้ำหนีไป อ้ายผู้ร้ายเก็บเอาทรัพย์สิ่งของกับเงินตรา ๑๕ ชั่งไป

ฉบับ ๔ บอกเมืองสุพรรณบุรี ลงวันที่ ๓๐ สิงหาคม ๑๐๙ ว่าอ้ายผู้ร้าย ๒๕ คน ปล้นกระบือ ๖๓ กระบือ กระบือของนายฟักนายมิ่งไป อ้ายผู้ร้ายเอาปืนยิงถูกนายฟักนายมิ่งตาย สืบจับได้ตัวนายตุ้ม นายไย } มาถามให้การยังหารับไม่

ฉบับ ๕ ว่า วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๑๐๙ เวลาดึก ๒ ยามเศศ มีอ้ายผู้ร้ายเข้าไปคัดคอกกระบือของจีนนิ่มๆ เอาปืนยิงถูกอ้ายผู้ร้ายตายคนหนึ่ง

จึ่งดำรัสถามพระยาศรีว่า เจ้าพระยารัตนบดินทร์ขึ้นไปปิดน้ำกรุงเก่า ได้บอกลงมาบ้างฤๅเปล่า พระยาศรีกราบบังคมทูลว่า ยังหาได้มีบอกลงมาไม่ แล้วโปรดเกล้า ฯ พระราชทานสัญญาบัตรข้าราชการ ๔ นาย ให้ขุนชำนาญสมบัต เป็นหลวงวิทากประมุท สารวัดใหญ่กองไต่สวนโทษหลวง กองตระเวนในกรมพระนครบาล ถือศักดิ์นา ๖๐๐ ให้หลวงสุนทรภักดี เป็นพระรามฤทธิรงค์ปลัดเมืองชุมพร ถือศักดิ์นา ๑๐๐๐ ให้หลวงภักดีนุชิต เป็นหลวงพรหมภักดี ยกกระบัติเมืองชุมพร ถือศักดิ์นา ๘๐๐ ให้หลวงเสนามาตย์ มหาดไทยเมืองท่าแซะ เป็นพระเทพย์ไชยบุรินทร์ ผู้ว่าราชการเมืองท่าแซะขึ้นเมืองชุมพร ถือศักดิ์นา ๘๐๐ เวลา ๕ ทุ่มเสดจขึ้น

วันที่รัชกาล ๘๐๓๙ วัน ๖ ๑๒ ค่ำ ปีขานโท๒๓ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๑๔ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลา ๔ ทุ่มเศศ เสดจออกขุนนางตามเคย พระศรีเสนานำบอกในกรมมหาดไทยขึ้นอ่านกราบบังคมทูล ๒ ฉบับ

ฉบับ ๑ บอกเมืองพิจิตร ลงวันที่ ๒๖ กันยายน ๑๐๙ ส่งตัวอ้ายผู้ร้าย ๑๑ คน ปล้นนายส้วยบ้านหนองพัน ฉบับ ๒ ว่าได้เอาตัวอ้ายขำผู้ร้ายปล้นกระบือราษฎรมาถามให้การสารภาพรับเป็นสัตย์ซัดพวกเพื่อนได้ส่งตัวอ้ายขำ อ้ายอิน } ลงมาแล้ว พระวิจารณ์อาวุธนำบอกกรมพระกระลาโหมขึ้นอ่านกราบบังคมทูลฉบับ ๑

บอกเมืองไชยา ลงวันที่ ๓๐ กันยายน ๑๐๙ ว่าได้ส่งเงินค่านาจำนวนปีชวดสำฤทธิ์๒๑ศก ๓๐ ชั่ง ปี ๑๐๘ ยี่สิบชั่ง

จึงดำรัสสั่งพระยาศรีว่าอ้ายผู้ร้ายที่ส่งมาจากเมืองพิจิตนั้น ให้ส่งไปให้ลูกขุนปฤกษาโทษ แล้วดำรัสสั่งกับพระยาศรีว่าเมืองนครลำพูนซึ่งเข้ามาเฝ้าถวายต้นไม้ทองเงิน } นั้น ให้เข้ามาเฝ้าในวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๑๐๙ แล้วดำรัสด้วยพระยามนตรีว่าพวกตนกูเมืองกะลันตันที่มาพักอยู่ที่วังพระองค์เจ้าสายสนิทวงษนั้น นัดให้เข้ามาเฝ้าพร้อมกับพระองค์เจ้าสายสักเวลาหนึ่ง

แล้วโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตร ให้นายชิตเป็นขุนเสาวรักษบรรณาคมพนักงานรักษาของต่างๆ ในกรมพระคลังมหาสมบัติถือศักดินา ๕๐๐ เวลา ๕ ทุ่มเศศเสดจขึ้น

วันที่รัชกาล ๘๐๔๐ วัน ๗ ๑๒ ค่ำ ปีขานโท๒๓ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลา ๔ ทุ่มเศศเสดจออกขุนนางตามเคย พระเสนานำศุภอักษรเจ้านครเชียงใหม่ขึ้นอ่านกราบบังคมทูล ๗ ฉบับ ฉบับ ๑ ว่าไดรับหีบศิลาน่าเพลิงแลของเครื่องไทยทานเผาศพเจ้าราชภาคีไนยเสรจแล้ว ขอถวายพระราชกุศล ฉบับ ๒ ว่าได้จัดเรือ คน } เสบียงอาหารลงมาส่งพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิตย์เสรจแล้ว ฉบับ ๓ ว่าได้แต่งให้บุตรหลานลงมารับเจ้าพระยาพลเทพ ที่สมุทพระกลาโหมขึ้นไปถึงเมืองนครเชียงใหม่แล้ว ฉบับ ๔ ถวายพระราชกุศลในการเฉลิมพระชนพรรษา ฉบับ ๕ ว่าได้รับเงินค่าตอไม้แม่ห้องศร จำนวนปีรกาสัปตศก ปีจออัฐิศก ปีกุนนพศก } สามจำนวนเงิน ๕๒๕๘๘ รูเปีย ป่าแม่เม้ย จำนวนปี ๑๐๘ เงิน ๕๘๖๔ รูเปีย ฉบับ ๖ ว่าพระยามหิทธิวงษา ผู้ว่าราชการเมืองฝาง แต่งให้มูเซอขึ้นไปสืบราชการที่เมืองเชียงตุง ได้ความว่าฟ้าลอกจอก หนานเตชะปราบสงคราม ซึ่งหนีขึ้นไปอยู่เมืองเชียงตุงกับพระยาฟ้าห้าวพากันตั้งเกลี้ยกล่อมคนเมืองเชียงตุงได้ประมาณ ๒๐๐ ๓๐๐ } คนจะยกลงมาเมืองฝางในแล้งนี้ พระยามหิทธิวงษ์ได้แต่งในนายคำตันคุมไพร่ ๒๐๐ คนขึ้นไปตั้งอยู่ที่น่าเวียงแค้แล้ว ฉบับ ๗ ขอนายน้อยหน่อเมือง เป็นเจ้าราชภาติกวงษ นายจันทราชาเป็นเจ้าไชยสงครามเมืองนครเชียงใหม่ จึงดำรัสถามพระยาศรีว่าในกรมหาดไทยเรียกว่าเจ้าราชภาอะไร พระยาศรีกราบบังคมทูลว่าเจ้าราชภาคิกะวงษ์ จึ่งดำรัสว่าเรียกไม่ถูกเขาเรียกว่า เจ้าราชภาติกะวงษ แปลว่าเป็นวงษของพี่ชาย ถ้าสงไสให้ไปถามพระที่เป็นนักเทศน์ให้กรมหาดไทยเล่าเสียให้จำได้

แล้วพระวิจารณ์อาวุธนำพระรามฤทธิรงค์ปลัด หลวงพรหมภักดียกกระบัตรเมืองชุมพร พระเทพไชยบุรินทร ผู้ว่าราชการเมืองท่าแซะกราบถวายบังคมลาออกไปรักษาราชการบ้านเมือง โปรดเกล้า ฯ ให้พระราชทานผ้าพรรณนุ่งห่มแลเครื่องยศตามสมควร เวลา ๕ ทุ่มเศศเสดจขึ้น

วันที่รัชกาล ๘๐๔๑ วัน ๑ ๑๒ ค่ำ ปีขานโท๒๓ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๑๖ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

วันนี้เป็นวันถวายบังคมพระบรมรูปตามปี เวลาบ่าย ๕ โมงเศศ เสด็จออกพระที่นั่งอนันตสมาคม พระบรมวงษานุวงษข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อย } แต่งตัวเตมยศ เฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทโดยลำดับ โปรดเกล้า ฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตติยจุลจอมเกล้าแก่พระยาอมรินทรฤๅไชย ผู้ว่าราชการเมืองราชบุรี ดำรงวงษตระกูลพระยาภักดีนฤบดินทรจางวางแล้วเสด็จขึ้นพระที่นั่งศิวาไลยมหาปราสาทถวายบังคมพระบรมรูปตามเคย.

วันที่รัชกาล ๘๐๔๒ วัน ๒ ๑๒ ค่ำ ปีขานโท๒๓ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลาทุ่มเศศเสด็จออกพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย พระยาศรีสิงหเทพฯ นำหนานไชยเทพ ๑ หมื่นแก้วหนึ่ง ซึ่งคุมต้นไม้ทองเงินเครื่องราชบรรณาการเมืองนครลำพูนเข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท

แล้วนำศุภอักษรเจ้านครลำพูนขึ้นอ่านกราบบังคมทูล ๒ ฉบับๆ หนึ่งลงวันที่ ๑๕ กันยายน ๑๐๙ ว่าได้จัดต้นไม้ทองสูง ๓ ศอก ๕ ชั้น กาบห่อกิ่ง ๒๕ กาบ กิ่ง ๒๕ กิ่ง ดอก ๗๕ ดอก ใบ ๗๕ ใบ ยอดปิ่นมีดอกรอง ๕ ดอก ทองหนัก ๓ ตำลึง ๒ สลึง ต้นไม้เงินต้น ๑ สูงต่ำกาบกิ่งใบดอกเท่าต้นไม้ทองเงินหนัก ๘ ตำลึง กับงาช้าง ๒ กิ่งหนัก น้ำหนักต้องถามหลวงชนินฯ จำนวนปีมโรงโทศก แต่งให้นายหนานไชยเทพนายหนานหมื่นแก้วคุมลงมา ฉบับ ๒ ขอนายหนานหมื่นแก้วเป็นที่เจ้าราชสัมพันธวงษ หนานไชยเทพเป็นพระยาอุตรการเมืองนครลำพูนจึ่งมีพระราชปฏิสันฐานไต่ถามด้วยตามสมควร แล้วเสดจขึ้น

เวลายามหนึ่งเสดจลงพระที่นั่งมูลสฐานบรมอาศน์ โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพนักงานนำมิศเตอปริงดิงคอนซึ่งจะเล่นเลียนเสียงต่างๆ เข้าไปเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท ส่วนที่ ๑ เสียงเพลงต่าง ๆ ที่ ๑ เสียงร้องเพลงฝรั่งอย่างที่ฝรั่งเรียกว่า อรตอเรียว มีเสียงผู้หญิงผู้ชาย } ที่ ๒ เสียงแตรตรอนบ่นอย่างผู้จนเป่ากลางถนน มีเด็กๆ แลแมลงวันกวน ที่ ๓ ร้องเพลงอย่างคนฝรั่งเศศ ที่ ๔ ทำท่าเหมือนอย่างคนนั่งให้เขาชักรูปเขา ที่ ๕ เสียงคนเยอรมันร้องเพลงมีเสียงสีซอด้วย ที่ ๖ เสียงผู้หญิงร้องเพลงที่ลครเมืองอิตาลี ที่ ๗ เสียงเด็กดื่อๆ ทำท่าไม่เข้าใจ เมื่อผู้ใหญ่เล่านิทานเรื่องเด็กเอาขวานที่พ่อไปตัดต้นไม้ ให้ต้นไม้ของพ่อเสีย เป็นนิทานสำหรับสั่งสอนเด็ก เด็กดื่อ ๆ ที่เข้าใจนิทานแลคำสั่งสอนกลับไปหมด ที่ ๘ เสียงเปิดขวดน้ำสุราเทในถ้วยแก้ว แล้วเสียงคั้นน้ำมะนาวแลขวดน้ำโซดาปนกินเสียเป็นที่คนอเมริกันเรียกว่าทำกวกเขากิน แล้วอยุดประมาณ ๑๐ มินิต ส่วนที่ ๒ เลียนทำท่าคนต่างๆ ที่ ๙ ทำท่าผู้ชายแก่ ๆ หัวเราะร้องเพลง ที่ ๑๐ ทำท่าคนแขนด้วนข้างซ้าย มีแขนแก้ทำด้วยไม้ก๊อต คนนี้เล่านิทาน แลเวลาพูดต้องเอามือขวาจับแขนด้วนตั้งให้ที่สมควรจะอยู่ ที่ ๑๑ ทำท่าผู้หญิงแก่ ๆ มีฟันแต่ข้างน่า ฟันนี้ติดไม่แน่นมักจะม้วนทำให้เสียงพูดไม่ชัด เสียงเป็นคนผิวปาก ที่ ๑๒ ท่าคนเยอรมันยืนอธิบายข้อความต่างๆ อย่างฝรั่งเรียกว่าคำสปิด ที่ ๑๓ ทำท่าคนอเมริกันยืนอธิบายข้อความต่าง ๆ อย่างฝรั่งเรียกว่าคำสปิด ที่ ๑๔ ท่าคนเล่นหีบเพลงดังประจุบันนี้คือทำไม่ดีส่วนที่สามเสียงกลางคืนแลรุ่งเช้าในกรุงเทพฯ ที่ ๑๕ เสียงแมลงวันกลางคืน ที่ ๑๖ เสียงยุง ที่ ๑๗ เสียงสุนักข์เห่ากลางคืน ที่ ๑๘ เสียงเดกอ่อนร้องแลเสียงแม่กล่อมให้นอนแลเสียงพ่อดุ ที่ ๑๙ เสียงคนโทษลากเกวียนลูกจักรเล็กไม่มีน้ำมันที่ลูกล้อ ที่ ๒๐ เสียงผู้หญิงร้องเพลงที่หีบเพลงแลเสียงนกเขาที่เขาเลี้ยงร้องด้วย ทำหนวกหูจนผู้หญิงต้องเลิกเสีย ที่ ๒๑ เลียนเสียงแตรตอ ๆ เมดอย่างโจรหากินเมืองนอก เวลา ๒ ยามเศศเลิกเสดจขึ้น

วันที่รัชกาล ๘๐๔๓ วัน ๓ ๑๒ ค่ำ ปีขานโท๒๓ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๑๘ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

วันนี้ไม่เสดจออก.

วันที่รัชกาล ๘๐๔๔ วัน ๔ ๑๒ ค่ำ ปีขานโท๒๓ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๑๙ พฤศจิกายน รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลาเช้าโมงเศศเสดจทรงรถพระราชยานแต่เกยน่าพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท ไปประทับพระที่นั่งราชกิจวินิจฉัย รับสั่งด้วยพระบรมวงษานุวงษแลข้าราชการตามสมควรแล้วเสดจพระราชดำเนินลงเรือพระที่นั่งอุบลบรทิศ ไปประพาศพระราชวังบางปอิน.

วันที่รัชกาล ๘๐๖๓ วัน ๒ ๑๒ ๑๒ ค่ำ ปีขานโท๒๓ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๘ ธันวาคม รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เจ้าพนักงานได้จัดการที่พระตำหนักพระเจ้าบรมไหยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร ในการเฉลิมพระชนม์พรรษาชองพระองค์ท่าน นับตามสุริยคติกาลบันจบรอบ ๗๒ พระพรรษา

เวลาค่ำพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จลงประทับที่พระตำหนักพระบรมวงษานุวงษ์แลข้าราชการได้เข้าไปเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท แลมีการสวดพระพุทธมนต์ พระสงฆ์ ๗๓ รูป พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์เป็นประธาน สวดทวาทศปริต.

วันที่รัชกาล ๘๐๖๔ วัน ๓ ๑๓ ๑๒ ค่ำ ปีขานโท๒๓ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๙ ธันวาคม รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลาเช้าเจ้าพนักงานได้จัดการเลี้ยงพระสงฆ์ที่สวดมนต์เมื่อคืนนี้ ครั้นพระสงฆ์รับพระราชทานฉันแล้วได้พระฤกษ สมเด็จพระเจ้าบรมไหยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูรเสด็จสู่ที่สรงตามเคย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จลงประทับ ณ ที่พระตำหนักนี้ด้วย พระบรมวงษานุวงษ์แลข้าราชการเข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาทพร้อมกัน แล้วสมเด็จพระพุทธโฆษาจาริย์ ถวายเทศนามงคลวิเศษกัณฑ์ ๑ เวลาบ่ายเจ้าพนักงานได้จัดการเวียนเทียนสมโภชพระชนม์พรรษาตามธรรมเนียม เปนเสร็จการเท่านี้

เวลา ๔ ทุ่มเศษพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกขุนนาง พระศรีเสนานำบอกพระพิเรนทรเทพข้าหลวงประจำหัวเมืองลาวกลาง ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ๒ ฉบับ ฉบับ ๑ ลงวันที่ ๓๐ ตุลาคม ร,ศ, ๑๐๙ ว่า พระไกรสิงหนาทเจ้าเมืองภูเขียว แต่งให้หลวงมหาดไทย หลวงเทพผู้ช่วย } กับบ่าวไพร่นำหนังสือบอกเข้ามาเมืองนครราชสีห์มา ครั้นถึงโคกหลวงริมบ้านปราณ วันที่ ๖ ตุลาคม ร,ศ, ๑๐๙ เวลาบ่าย ๓ โมงเศษ มีอ้ายผู้ร้ายเข้าตีปล้นฟันแทงแลเอาปืนยิงถูกหลวงมหาดไทย หลวงเทพผู้ช่วย } กับไพร่คน ๑ ขาดใจตาย อ้ายผู้ร้ายเก็บเอาผ้าไตรย ๆ หนึ่ง กับปืนดาบศิลาบอก ๑ ไป พระพิเรนทรเทพข้าหลวงได้แต่งให้นายร้อยโท นายช่วงกับกรมการคุมทหาร โปลิศ } แลไพร่ออกไปสืบสวนบนบาลจับอ้ายผู้ร้าย วันที่ ๙ ตุลาคม ๑๐๙ แล้ว

ฉบับ ๒ ลงวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๑๐๙ ความว่า นายร้อยโทนายช่วงนายสอาดมหาดเล็กกับกรมการซึ่งออกไป สืบสวนจับอ้ายผู้ร้ายตีปล้นราษฎรในแขวงเมืองนครราชสีห์มา คุมเอาตัวอ้ายคง อ้ายป้อม } อ้ายล้วน อ้ายสน ผู้ร้าย ๔ คน กับคำให้การเข้ามาส่ง ณ เมืองนครราชสีห์มา กับนายร้อยโทนายช่วงยื่นบาญชีรายชื่อผู้ร้ายหลบหนียังไม่ได้ตัวต่อพระพิเรนทร์เทพ ฉบับ ๑ เปนจำนวนคน ๑๒๖ คน ปล้น ๑๐ ตำบล พระพิเรนทรเทพได้ตรวจดูคำให้การอ้ายคงให้การรับสารภาพเป็นสัตย์ว่าอ้ายจีนหมา อ้ายแก้วอ้ายมีอ้ายช้าง เปนหัวน่าพาอ้ายคงกับอ้ายมีชื่อ ๑๓ คนไปตีปล้นโค ๓๐ โค กระบือ ๒ กระบือ ของราษฎรบ้านมะค่ารายหนึ่ง

รายหนึ่งอ้ายเจ๊กจู๊ เปนหัวน่าพาอ้ายคงกับอ้ายมีชื่อ ๑๑ คนไปตีปล้นกระบือ ๓๕ กระบือ ของราษฎรบ้านหนองไข่น้ำ รายหนึ่งอ้ายจีนหมา อ้ายแก้ว อ้ายมี } พาอ้ายคงกับอ้ายมีชื่อ ๘ คน ไปตีปล้นแลฆ่าหลวงเทพบ้านช่องประดู่ตาย รายหนึ่งอ้ายแก้วอ้ายมี พาอ้ายคงกับพวกเพื่อนไปตีปล้นกระบือรองราษฎรบ้านหนองมนาว รวม ๑๑ กระบือ รายหนึ่งอ้ายจีนหมา อ้ายมี อ้ายปลื้ม } พาอ้ายมีชื่อ ๒๒ คน ไปตีปล้นพระชมภูบ้านนาแขวงเมืองจัตุรัศ ได้เงินตรา ๑ ชั่ง ๕ ตำลึง กับสิ่งของต่าง ๆ ไป รายหนึ่งอ้ายจีนหมา อ้ายมีอ้ายแก้ว กับอ้ายมีชื่อ ๓๘ คน ไปตีชิงหาบเพี้ยพระนคร คนมีชื่อเมืองชนบทได้เงินตรา ๘ ตำลึง กับสิ่งของต่างๆ หลายสิ่ง รายหนึ่งอ้ายแก้วอ้ายมีอ้ายคงกับอ้ายมีชื่อ ๖ คนไปตีปล้นกระบือของราษฎรบ้านดู่ ได้กระบือ ๗ กระบือ รายหนึ่งอ้ายแก้วอ้ายมีอ้ายคงกับอ้ายมีชื่อ ๒๓ คน ไปตีปล้นเกวียนลูกค้า อ้ายแดงเอาปืนยิงพระสงฆ์ตายองค์หนึ่ง แล้วพากันเก็บเอาทรัพย์สิ่งของกับโค ๔ โคไป รวมปล้น ๘ ราย อ้ายมีชื่อผู้ร้ายพวกเพื่อน ๑๒๐ คน พระพิเรนทรเทพได้แต่งให้กรมการออกสืบบนบาลจับตัวอ้ายผู้ร้ายซึ่งต้องคำซัดต่อไป มีพระราชดำรัสว่าให้ส่งคำให้การมาจะได้ให้ลูกขุนปฤกษาเสีย

แล้วพระวิจารณ์อาวุธนำหนังสือบอกพระยาศรีธรรมราช ผู้ว่าราชการเมืองนครศรีธรรมราชกราบบังคมทูลพระกรุณาฉบับหนึ่ง ความว่า พระยาเดชานุชิต พระยากลันตัน พระโยธีประดียุทธ พระรัษฎาธิบดีบุตร เมืองกลันตันมีหนังสือมายังพระยาศรีธรรมราช ๓ ฉบับ ฉบับ ๑ ว่า เกาวะนาเมืองสิงค์โปร์มาถึงเมืองกลันตัน พระยากลันตันจัดศรีตวันกรมการลงไปรับที่เรือ ขึ้นมาพบพระยากลันตัน เคาวนาแจ้งว่ามาเที่ยวชมบ้านเมือง } แลรู้จักกับพระยากลันตัน แล้วจะไปเมืองตานีเมืองสงขลา จึ่งชวนพระยากลันตันไปดูเรือ พระยากลันตันจึ่งให้ศรีตวันกรมการไปดู เกาวนาจึ่งฝากพรม ซับโสร่ง } มาให้พระยากลันตัน

ฉบับ ๒ ว่า มิตเตอร์โกเฮนอังกฤษถือหนังสือประทับตราพระคชสีห์น้อยสำหรับตัวกับลูกจ้างมาณเมืองกลันตัน ตรวจบ่อแร่ต่างๆ นอกจากที่มีเจ้าของ พระยากลันตันขอให้ช่วยทำนุบำรุงอย่าให้ปนกับคนอังกฤษ

ฉบับ ๓ ว่า มิตเตอร์โกเฮนขึ้นไปเหนือเมืองกลันตัน ทำแร่ได้ประมาณ ๒๐ หาบจะนำไปเมืองสิงคโปร์เป็นตัวอย่าง พระยากลันตันยอมให้ไปแต่หาบหนึ่ง พระยาศรีธรรมราชได้ส่งหนังสือพระยาเดชานุชิต พระยากลันตัน } พระโยธีประดียุทธ พระรัษฎาธิบดีบุตร } อักษรมลายู ๓ ฉบับ คำแปลอักษรสยาม ๓ ฉบับ เข้ามาแจ้งราชการแล้ว

บอกพระยาบริรักษภูธร ผู้ว่าราชการเมืองพังงา ๖ ฉบับ ฉบับ ๑ ว่า เงินภาษี ๕ อย่างเมืองพังงา จำนวนรัตนโกสินทร์๒๒ศก ๑๐๘ พระยาบริรักษภูธรฯ แต่งให้หลวงสุนทรสมบัติคุมเงินไปส่งหลวงทวีปสยามกิจกงซุลสยามฝากแบงค์เมืองปีนัง งวดที่ ๒ ๑๑๐ ชั่ง คิดเป็นเงินเหรียญ ๕๒๘๐ เหรียญ จึ่งให้หลวงอินทรภักดี หมื่นนรินทร์โยธากรมการ คุมลิสิตเข้ามาส่งเจ้าพนักงานกรุงเทพ ฯ ฉบับหนึ่ง

ฉบับ ๒ ว่าพระยาบริรักษ์ภูธร ให้กรมการเรียกเร่งเงินส่วยได้

หลวงโยธาบดีคุมเลข อยู่เมืองชุมพร } เก็บเรียกไว้เงินส่วยแทนกระวาน } } เงิน ๓ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ๓ บาท

ขุนศรีสมบัติคุมเลข อยู่เมืองหลังสาร } เก็บเรียกไว้เงินส่วยแทนกระดาน } } เงิน ๒ ชั่ง ๑๘ ตำลึง ๓ บาท

หลวงพิทักษ์โยธาคุมเลข อยู่เมืองไชยา } เก็บไว้เงินส่วยรับล่อง } เงิน ๑ ชั่ง ๑๐ ตำลึง ๑ บาท

} ๘ ชั่ง ๓ บาท มอบให้หลวงอินทรภักดี หมื่นนรินทร์โยธา คุมเข้ามาส่งแล้ว

ฉบับ ๓ ว่า พระบริรักษ์ภูธร จักได้เงินอากรดีบุกขึ้นในพระราชวังบวร จำนวนปีชวดฉ๑๗ศก ๒๐ ชั่ง ปีระกาสัปต๑๘ศก ๒๐ ชั่ง รวม ๔๐ ชั่ง มอบให้หลวงอินทร์ภักดี ขุนนรินทร์โยธา คุมเข้ามาส่ง

ฉบับ ๔ ว่า พระขาว รองเจ้าอธิการ วัดประพาศปราจิณเขตร ทำบาญชีจำนวนพระสงฆ์ ซึ่งจำพรรษาอยู่ในวัดแขวงเมืองพังงา จำนวน วัด ๒๑ วัดมีเจ้าอธิการ ๒๐ มีรองอธิการ ๑๔ พระอันดับ ๘๗ รวม ๑๒๑ รูป ได้มอบบาญชีรายวัด รายจำนวนพระสงฆ์ ให้หลวงอินทรภักดี หมื่นนรินทร์โยธาคุมเข้ามาส่งเจ้าพนักงานแล้ว

ฉบับ ๕ ว่า พระครูวิสุทธิพรหมจริย์อนันตปรีชาเจ้าคณะ พระอุปัชฌาย์พุด พระอุปัชฌาย์เผือก อาพาธิถึงแก่มรณภาพ หามีพระอุปัชฌาย์ไม่ พระยาบริรักษ์ภูธร ขอรับพระราชทานเจ้าอธิการเนตร วัดสำนักปรู อายุ ๖๐ ปี พรรษา ๓๒ พรรษา เป็นพระอุปัชฌาย์ต่อไป

ฉบับ ๖ ว่า พระยาบริรักษ์ภูธร แลกรมการได้จัดการเฉลิมพระชนม์พรรษา ตั้งโต๊ะ ๓ ชั้น ประดับเครื่องแก้วแลดอกไม้ต่าง ๆ ตั้งซุ้มตะเกียงฉัตรโคม ณ วันที่ ๒๐ ที่ ๒๑ ที่ ๒๒ กันยายน ร,ศ, ๑๐๙ ได้นิมนต์พระสงฆ์สวดมนต์ฉันเช้า ๙ รูป ถวายไตรแลมีเทศนามหาชาติแลมีดอกไม้เพลิงต่างๆ สามวันสามคืน พระยาบริรักษ์ภูธร แลกรมการขอพระราชทานถวายพระราชกุศล

แล้วพระยานรินทร์ราชเสนี กราบบังคมทูลนำพระยารัตนเศรษฐีผู้ว่าราชการเมืองระนอง พระศรีโลหภูมิพิทักษ์ผู้ช่วย เข้าเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท พระยารัตนเสรฐีได้จัดซื้อม้าติลสีที่โปรดเกล้า ฯ ให้จัดซื้อนั้นม้า ๑ กับพระศรีโลหภูมิพิทักษ์จัดได้ม้า ๆ หนึ่ง คุมเข้ามาถวายด้วย มีพระราชดำรัสปฏิสัณฐารพอสมควร แล้วมีพระราชดำรัสกับพระยามนตรีสุริยวงษ์ว่า ให้เบิกเงินให้ค่าม้าเสียตามราคา อย่าให้เปนของถวาย แล้วพระยาศรีสิงหเทพ กราบบังคมทูลนำพระยามหาเทพผู้แทนข้าหลวง ๕ หัวเมือง ณ เมืองนครเชียงใหม่ กับหลวงศิลปสารสราวุธ ๑ กลับมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท มีพระราชดำรัสติเตียนพระยามหาเทพด้วยเรื่องรักษาราชการไม่เรียบร้อยดี แลวิวาทบาดหมางกันจนมีเหตุผลขึ้น แล้วดำรัสกับพระยาศรีสิงหเทพว่า ให้ตรวจใบบอกในเรื่องที่วิวาทกันนี้เรียบเรียงแล้ว ให้ปรับไหมเลมิดผู้ผิดเสียบ้าง

เวลา ๕ ทุ่มเศษเสด็จขึ้น

วันที่รัชกาล ๘๐๖๕ วัน ๔ ๑๔ ๑๒ ค่ำ ปีขานโท๒๓ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๑๐ ธันวาคม รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

เวลาเกือบย่ำค่ำพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทางประตูพรหมโสภา กรมม้านำม้าผู้ ๑ ดำ ๑ รวม ๒ ม้าจากพระยารัตนเศรษฐี พระศรีโลหภูมิพิทักษ์ ที่โปรดให้จัดซื้อนั้นมาถวายทอดพระเนตร แล้วเสด็จทรงรถพระที่นั่ง ออกประตูพิมานไชยศรี วิเศษไชยศรี } เลี้ยวป้อมเผด็จดัษกรไปถนนบำรุงเมือง แล้วเลี้ยวถนนน่าวัดเทพศิรินธราวาศไปถนนเจริญกรุง กลับอ้อมลงถนนท้องสนามไชยมาประทับรถพระที่นั่งที่น่าพระที่นั่งไชยชุมพล แล้วเสด็จพระราชดำเนินมาเข้าประตูวิเศษไชยศรี ขึ้นพระที่นั่งจักรกรีมหาปราสาท

เวลา ๔ ทุ่มเศษ เสด็จออกขุนนาง พระศรีเสนานำหนังสือบอกจมื่นไชยภูษา ข้าหลวงเมืองพิจิตร ฉบับ ๑ บอกพระยาสุนทรสงคราม ผู้ว่าราชการกรมการเมืองสุพรรณบุรี ฉบับ ๑ กราบบังคมทูลพระกรุณา บอกจมื่นไชยภูษาข้าหลวง ลงวันที่ ๓ พฤศจิกายน ร,ศ, ๑๐๙ ความว่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขึ้นไปชำระผู้ร้ายปล้นที่เมืองพิจิตร ๖ รายนั้น เจ้าของทรัพย์เป็นลูกค้าเรือจรไม่ได้ฟ้อง เป็นแต่ทำคำตราสินแจ้งความกับอำเภอ ๔ ราย คงมีโจทได้พิจารณา ๒ ราย คือ นายสร้อย อำแดงอิ่ม } บ้านหนองพันจำ รายหนึ่ง นายบุญ อำแดงริด } บ้านแหลม ไว้ความให้นายเข็มบุตรฟ้องรายหนึ่ง พิจารณาได้ตัวผู้ร้ายรับเป็นสัตย์ ปล้นบ้านนายสร้อยอำแดงอิ่ม ได้ตัวอ้ายเอี่ยม อ้ายเสือเชย } อ้ายเฉย อ้ายโต้ } อ้ายนุ ๕ คน ปล้นบ้าน นายบุญ นายเข็มบุตร } ได้ตัวอ้ายดิด อ้ายผูก } อ้ายวัน อ้ายจอง } อ้ายทราย อ้ายแต้ม } ผู้ร้าย ๖ คน รวม ๑๑ คน ชำระได้ของกลาง คืนให้กับโจทย์ทั้ง ๒ ราย ได้มีใบบอกแต่งให้หลวงแพ่งกรมการคุมตัวอ้ายผู้ร้ายกับคำสำนวนที่ได้พิจารณาลงมาส่ง ณ กรุงเทพฯ แล้วโจรผู้ร้ายในแขวงเมืองพิจิตรบัดนี้ก็สงบเบาบางลง จะขอรับพระราชทานกลับลงมาเฝ้าทูลลอองธุลีพระบาท รับราชการฉลองพระเดชพระคุณ } ณ กรุงเทพฯ

บอกพระยาสุนทรสงคราม ผู้ว่าราชการกรมการเมืองสุพรรณบุรี ลงวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ร,ศ, ๑๐๙ ความว่า จีนโพ จีนทอง } กับราษฎรมีศรัทธาสร้างพระอุโบสถวัดโคกดอกไม้ ยังหาได้ลูกพัทธสิมาไม่ ขอรับพระราชทานที่ผูกพัทธสิมาโดยกว้าง ๙ วา ศอก ยาว ๑๑ วา ศอก } สำหรับพระสงฆ์จะได้ทำสังฆ์กรรมต่อไป

มีพระราชดำรัสกับพระยาศรีสิงหเทหว่า ผู้ร้ายที่ชำระแล้วนั้น จมื่นไชยภูษาได้ส่งมาแล้วกี่ราย พระยาศรีสิงหเทพ กราบบังคมทูลว่าได้ส่งลงมา ๒ ราย แลได้ให้ลูกขุนปฤกษาอยู่ แล้วมีพระราชดำรัสโปรดเกล้า ฯ ว่า ผู้ร้ายเบาบางแล้วก็ให้จมื่นไชยภูษากลับลงมา แล้วพระวิจารณ์อาวุธนำหนังสือบอกพระยาสุรินทร์ฦๅไชย ผู้ว่าราชการกรมการเมืองเพ็ชรบุรี กราบบังคมทูลพระกรุณา ๓ ฉบับ

ฉบับ ๑ ว่า พระยาสุรินทร์ฦๅไชย พร้อมด้วยกรมการได้นำผ้าไตรกะฐินกับเครื่องบริขานที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ออกไปนั้น ไปทอดกฐินสองพระอาราม วัดมหาสมณาราม ๑ วัดคงคาราม ๑ รวมพระสงฆ์ ๒ พระอาราม ๔๙ รูป ขอถวายพระราชทานถวายพระราชกุศล

ฉบับ ๒ ว่า น้ำฝนต้นเข้าในรัตนโกสินทร์๒๓ศก ๑๐๙ เดือนสิงหาคมนี้ ฝนตก ๑๓ ครั้ง รองได้น้ำ ๖ นิ้ว ๔ ทสางค์ มากกว่าน้ำฝนในเดือนสิงหาคม ๑๐๘ สี่นิ้ว ๙ ทสางค์ เดือนกันยายนฝนตก ๑๑ ครั้ง รองน้ำฝนได้ ๔ นิ้วห้าทสางค์ มากกว่าน้ำฝนในเดือนกันยายน ๑๐๘, ๑ นิ้ว ๒ ทสางค์ น้ำป่าหลากมาทรงอยู่ ๖ ศอก ๔ นิ้ว มากกว่าในรัตนโกสินทร์ศก ๑๐๘ สองนิ้ว แล้วน้ำลดทรงอยู่ ๔ ศอก ๘ นิ้ว ท่วมต้นเข้าเสียไปประมาณ ๑ ส่วน ปรกติอยู่ประมาณ ๓ ส่วน ราคาเข้าเปลือก เข้าสาร } ที่ราษฎรซื้อขายกันในแขวงเมืองเพ็ชรบุรี เข้าเปลือกเกวียนละ ๙ ตำลึง ๒ บาท เข้าสารถังละ ๓ สลึง ๑ เฟื้อง

ฉบับ ๓ ว่า แต่ก่อนพระยาสุรินทร์ฦๅไชย ได้มีหนังสือบอกแต่งให้กรมการคุมเงินค่านา จำนวนปีจออัฐศก เงิน ๒๕๘ ชั่ง ๖ ตำลึง ๓ บาท ๒ สลึง จำนวนปีกุญนพศก เงิน ๓๕๐ ชั่ง ๑๐ ตำลึง เข้ามาส่งครั้งหนึ่ง ครั้งนี้เสนาบดีกรมการชำระได้จำนวน ปีจออัฐศก เงิน ๑๒ ชั่ง ๑๐ ตำลึง จำนวนปีกุญนพศก เงิน ๔๖ ชั่ง รวม ๕๘ ชั่ง ๑๐ ตำลึง มอบให้หมื่นชำนาญกรมการคุมเข้ามาส่ง

แล้วโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัญญาบัตรข้าราชการ ๒ นาย ให้ขุนสารวัดพึ่งนายเรือดั้งขวา เปนขุนผลาญไพรีรณ ปลัดกรมไพร่หลวงกองกลางขวา ถือศักดินา ๖๐๐

ให้นายขำ บุตรพระยาราชโยธา เปนหลวงฤทธามาตย์ ปลัดบาญชีฝ่ายเหนือกรมมหาดไทยฝ่ายพระราชวังบวร ถือศักดินา ๔๐๐

แล้วเสด็จขึ้นเวลา ๕ ทุ่มเศษ

วันที่รัชกาล ๘๐๖๖ วัน ๕ ๑๕ ๑๒ ค่ำ ปีขานโท๒๓ศก ๑๒๕๒

วันที่ ๑๑ ธันวาคม รัตนโกสินทรศก ๑๐๙ (พ.ศ. ๒๔๓๓)

ไม่มีราชการอันใด แลไม่ได้เสด็จไปข้างไหน.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ