ภาคผนวก

บรรเจิด อินทุจันทร์ยง รวบรวมและเรียบเรียง

พระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่จะทรงหล่อพระยาช้างเผือกที่ได้ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ นับแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มาจนถึงแผ่นดินรัชสมัยของพระองค์ ซึ่งได้ทรงกำหนดไว้ ๑๙ ช้าง เพื่อถวายบูชาพระแก้วมรกตนั้น ต่อมาได้โปรดให้ให้ช่างหล่อด้วยโลหะสำริด ปัจจุบันประดิษฐานอยู่บริเวณชานด้านหลังปราสาทพระเทพบิดร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระยาช้างเผือกทั้ง ๑๙ ช้างนั้นมีประวัติสังเขปดังนี้

๑. พระเทพกุญชร เป็นนางพระยาช้างที่ได้ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ลักษณะเป็นช้างพังลูกเถื่อนสีเผือกเอก คล้องได้ที่เมืองภูเขียว พระยานครราชสีมานำขึ้นน้อมเกล้า ฯ ถวาย โปรดเกล้า ฯ ให้จัดสมโภชขึ้นระวาง เมื่อวันอาทิตย์ เดือนยี่ แรม ๖ ค่ำ ปีระกา จุลศักราช ๑๑๖๓ ตรงกับวันที่ ๒๔ มกราคม พุทธศักราช ๒๓๔๔ พระราชทานนามว่า พระเทพกุญชร บวรศรีเสวต เอกชาติฉัททันต์ อนันตคุณ สมบูรณ์เลิศฟ้า ต่อมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อวันศุกร์ เดือน ๔ แรม ๓ ค่ำ ปีวอก จุลศักราช ๑๑๗๔ ตรงกับวันที่ ๑๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๓๕๕ โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามใหม่ว่า พระเทพกุญชร บวรศรีเศวต อมรเมศนฤมิตร เผือกผ่องพิศโสภณ มิ่งมงคลนาเคนทร์ คชคเชนทร์เฉลิมขวัญ ชาติฉัททันต์สูงศักดิ์ วิไลยลักษณ์เลิศฟ้า

๒. พระอินทรไอยรา เป็นนางพระยาช้างที่ได้ในแผ่นดินพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ลักษณะเป็นช้างพังลูกเถื่อนเผือกตรี คล้องได้ที่เมืองภูเขียว พระยานครราชสีมานำขึ้นน้อมเกล้า ฯ ถวาย โปรดเกล้า ฯ ให้สมโภชขึ้นระวางเมื่อวันอาทิตย์เดือน ๕ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีขาล จุลศักราช ๑๑๕๖ ตรงกับวันที่ ๒๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๓๓๗ โปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามว่า พระอินทรไอรา รัตนนาเคนทร์ คเชนทรบดินทร์ อินทรังสรรค์ อนันตคุณ สมบูรณ์เลิศฟ้า ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อวันศุกร์เดือน ๔ แรม ๓ ค่ำ ปีวอก จุลศักราช ๑๑๗๔ ตรงกับวันที่ ๑๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๓๕๕ โปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามใหม่ว่า พระอินทรไอยรา คชาชาติฉัททันต์ พิศผิวพรรณเผือกตรี สียอดตองตากแห้ง วิศณุแกล้งรังรักษ์ มงคลลักษณเลิศฟ้า

๓. พระยาเศวตกุญชร ได้ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ลักษณะเป็นช้างพลาย ลูกเถื่อนเผือกเอก คล้องได้ที่ทุ่งยั้ง เขากระพ้อปลายน้ำ เมืองโพธิสัตว์ พระยาอภัยภูเบศร์ เจ้าเมืองพระตะบองนำขึ้นน้อมเกล้า ฯ ถวาย โปรดเกล้า ฯ ให้สมโภชขึ้นระวาง เมื่อวันจันทร์ เดือน ๔ แรม ๖ ค่ำ ปีวอก จุลศักราช ๑๑๗๔ ตรงกับวันที่ ๒๒ มีนาคม ๒๓๕๕ พระราชทานนามว่า พระยาเศวตกุญชร อดิศรประเสริฐศักดิ์ เผือกเอกอรรคไอยรา มงคลพาหนารถ บรมราชจักรพรรดิ วิเชียรรัตนนาเคนทร์ ชาติคเชนทรฉัททันต์ หิรัญรัศมีศรีพระนคร สุนทรลักษณะเลิศฟ้า

พระยาเศวตกุญชรนี้ มีชีพต่อมาจนล้มเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๕ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีชวด จุลศักราช ๑๒๐๒ ตรงกับวันที่ ๒๕ มีนาคม พุทธศักราช ๒๓๘๓

๔. พระยาเศวตไอยรา เป็นพระยาช้างที่ได้ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ลักษณะช้างลูกเถื่อนเผือกเอก คล้องได้ที่ป่าแขวงเมืองเชียงใหม่ พระยาเชียงใหม่ (น้อยธรรม) นำขึ้นน้อมเกล้า ฯ ถวาย โปรดเกล้า ฯ ให้สมโภชขึ้นระวางเมื่อวันจันทร์ เดือน ๑๑ ขึ้น ๙ ค่ำ ปีชวด จุลศักราช ๑๑๗๘ ตรงกับวันที่ ๓๐ กันยายน พุทธศักราช ๒๓๕๙ พระราชทานนามว่าพระยาเศวตไอยรา บวรพาหนนารถ อิศราราชบรมจักร สีสังขศักดิ์อุโบสถ คชคเชนทร์ชาติอากาศจารี เผือกผ่องศรีบริสุทธ เฉลิมยุทธยายิ่ง วิมลมิ่งมงคล จบสกลเลิศฟ้า

พระยาเศวตไอยรา มีชีพต่อมาจนล้มเมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๗ แรม ๙ ค่ำ ปีวอก จุลศักราช ๑๑๘๖ ตรงกับวันที่ ๒๐ มีนาคม พุทธศักราช ๒๓๖๗

๕. พระยาเศวตคชลักษณ์ เป็นพระยาช้างที่ได้ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพุทธเลิศหล้านภาลัย ลักษณะเป็นช้างพลายลูกเถื่อนเผือกเอก คล้องได้ที่ป่าแขวงเมืองน่าน พระยาน่านนำขึ้นน้อมเกล้า ฯ ถวาย โปรดเกล้า ฯ ให้สมโภชขึ้นระวาง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๕ แรม ๑๒ ค่ำ ปีฉลู จุลศักราช ๑๑๗๙ ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๖๐ พระราชทานนามว่า พระยาเศวตคชลักษณ ประเสริฐศักดิสมบูรณ์ เกิดตระกูลสารสิบหมู่ เผือกผู้พาหนนารถ อิศราราชธำรง บัณฑรพงศ์จตุรภักตร์ สุรารักษ์รังสรรค์ ผ่องผิวพรรณผุดผาด ศรีไกรลาศเลิศลบ เฉลิมพิภพอยุธยา ขัณฑเสมามณฑล มิ่งมงคลเลิศฟ้า

พระยาเศวตคชลักษณ์ มีชีพอยู่ต่อมาจนล้มเมื่อวันศุกร เดือน ๗ แรม ๗ ค่ำ ปีวอก จุลศักราช ๑๑๘๖ ตรงกับวันที่ ๑๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๓๖๗

๖. พระวิมลรัตนกิริณี ได้ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลักษณะเป็นช้างพังลูกเถื่อนเผือกโท คล้องได้ที่เขากะยอดงชมาดชบา แขวงระแด พระสุนทรราชวงศ์ เจ้าเมืองยโสธร นำขึ้นน้อมเกล้า ฯ ถวาย โปรดเกล้าฯ ให้สมโภชขึ้นระวาง เมื่อวันพุธ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๙ ปีฉลู จุลศักราช ๑๒๑๕ ตรงกับวันที่ ๑๐ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๓๙๖ พระราชทานนามว่า พระวิมลรัตนกิริณี สุทธศรีสรรพางค์พิเศษ ทุติยเศวตวรรโณภาษ พงศ์กมลาศน์รังสฤษดิ ราชบุญฤทธิ์สมาหาร โสภาจารจุฬาหล้า มหาอุดมมงคล พรรษผลพิบูลย์ประสิทธิ์ ศุภสนิทพาหนนารถ ลักษณะวิลาศเลิศฟ้า

๗. พระวิสูตรรัตนกิริณี ได้ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลักษณะเป็นช้างพังลูกเถื่อนเผือกโท คล้องได้ที่เขาถ้ำพระ แขวงระแด พระสุนทรราชวงศา เจ้าเมืองยโสธร นำขึ้นน้อมเกล้า ฯ ถวาย โปรดเกล้า ฯ ให้สมโภชขึ้นระวาง เมื่อวันเสาร์ เดือน ๔ แรม ๘ ค่ำ ปีขาล จุลศักราช ๑๒๑๖ ตรงกับวันที่ ๑๐ มีนาคม พุทธศักราช ๒๓๙๗ พระราชทานนามว่า พระวิสูตรรัตนกิริณี โมกษรหัศดีตระกูล สกลบริบูรณ์บริสุทธเศวต คชพิเศษวรลักษณ์ เฉลิมราชศักดิสยามโลกยาธิเบนทร์ บรเมนทรมหาราชาธิราชบุญ วรดุลยฤทธิสมาหาร สรรพการศุภโสภณ มงคลคุณประเสริฐเลิศฟ้า

๘. นางพระยาเขาแก้ว ได้ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คล้องได้ที่บริเวณเขาแก้ว แขวงเสาไห้ สระบุรี ได้มีการฉลองเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๔ แรม ๔ ค่ำ ปีวอก จุลศักราช ๑๒๒๒ ตรงกับวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๐๓ จากนั้นช้างได้เดินทางเข้ากรุง แต่พอถึงตำบลเริงรางแขวงเสาไห้ สระบุรี ก็ล้มเมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๔ แรม ๗ ค่ำ ปีวอก จุลศักราช ๑๒๒๒

๙. พระมหาศรีเศวต หรือพระมหาศรีเศวตวิมลวรรณ ได้ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลักษณะเป็นช้างพลายลูกเถื่อนเผือกเอก คล้องได้ที่เขาจองแมว ดงชมาดชบา แขวงระแด พระรัตนวงศาเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ นำขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวาย โปรดเกล้า ฯ ให้สมโภชขึ้นระวางเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๗ แรม ๑๑ ค่ำ ปีวอก จุลศักราช ๑๒๒๒ ตรงกับวันที่ ๑๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๐๓ โปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามว่า พระมหาศรีเศวตวิมลวรรณ ฉัททันตคเชนทรชาติ วรราชรัตนกรีลักษณ์ จตุรภักตรพิสุทธพงศ์ มิ่งมงคลสกลสรรพางค์ไพบูล บรเมนทรนเรนสูรบารมิตาสมาหาร สุนทราจารจริตงาม สมยามโลกยดิลก คชนายกนาคินทร์ หัสดินรัตนรุ่งฟ้า พระมหาศรีเศวตวิมลวรรณ ล้มเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๗ แรม ๒ ค่ำ ปีระกา จุลศักราช ๑๒๓๕ ตรงกับวันที่ ๑๒ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๑๖

๑๐. พระเศวตสุวรรณ หรือ พระเซวตสุวรรณาภาพรรณ ได้ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลักษณะเป็นช้างพังลูกเถื่อนเผือกเอก คล้องได้ที่ตำบลกระแจะ ดงชมาดชบา แขวงระแด พระยารัตนวงศา เจ้าเมืองสุวรรณภูมิ นำขึ้นน้อมเกล้า ฯ ถวาย โปรดเกล้าให้สมโภชขึ้นระวางเมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๕ แรม ๒ ค่ำ ปีกุน จุลศักราช ๑๒๒๕ ตรงกับวันที่ ๕ พุทธศักราช ๒๔๐๖ พระราชทานนามว่า พระเศวตสุวรรณาภาพรรณสรรพางค์พิบูลลักษณ์ เผือกเอกอรรคอุดม บรมรัตนราชกิริณี ยิ่งอย่างดีศรีพระนครสุนทรศุภโสภณ มิ่งมงคลคชคุณ อดุลกิริยามารยาด ชาติช้างอุโบสถ ลักษณปรากฏพร้อมมูล บริบูรณ์บัณฑรนัขเนตร โลมเกษกายฉวี ล้วนสีทองผ่องแผ้ว เป็นกุญชรีแก้วเกนิดพรหมพงศ์ ดำรงราชบารมี สมเด็จพระสยามาธิบดีปรเมนทรมหาราช วรวิลาศเลิศฟ้า

๑๑. นางพระยาสุวโรฐ เป็นช้างเผือกพัง พระเพธราชา (เอี่ยม) คล้องได้ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังไม่ทันขึ้นระวางล้มเสียก่อน

๑๒. พระเศวตวรวรรณ ได้ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลักษณะเป็นช้างพลายด่างดำพงศ์ถนิม ลูกบ้านตกที่เมืองพร้าวซึ่งขึ้นกับเมืองเชียงใหม่ พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ เจ้านครเชียงใหม่นำขึ้นน้อมเกล้าฯถวาย โปรดเกล้า ฯ ให้สมโภชขึ้นระวางเมื่อวันพุธ เดือน ๑๐ แรม ๕ ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช ๑๒๓๒ ศรงกับวันที่ ๑๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๑๓ พระราชทานนามว่า พระเศวตวรวรรณ สรรพวิศิษฐคชลักษณ์ ดำพงศ์ถนิมศักดิธำรง มิ่งมงคลรัตนาศน์ จักรพรรดิราชกุญชร พรรณกพรพหลเดช วรรัตเนตรนิลสนิท พิศผิวกายผ่องประภัศร สารสุนทรบัณฑรโลมพิเศษ สุทธเศวตสอดประสาน นิลวรรณผ่านเล่ห์นฤมิตร อรรคนิศรแสร้งเศกสรร ต้องแบบรรพ์ตำหรับคช จรดกาลก่อนห่อนเคยมี มาเฉลิมศรีพระนคร เอกอดิศรสยามาธิบดินทร์ ปรมินทรจุฬาหล้า อุดมมหาดิเรกยศ เกียรติปรากฏวิบูลสวัสดิ์ หัสดินรัตนประเสริฐเลิศฟ้า

๑๓. พระเศวคสุวภาพรรณ ได้ในแผ่นผินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลักษณะเป็นช้างพลาย ลูกเถื่อนเผือกโท คล้องได้ที่ดงชมาดชบา ตำบลกระแจะ แขวงระแด พระยาไชยสุนทร เจ้าเมืองกาฬสินธุ์ และพระยารัตนวงศาเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ นำขึ้นน้อมเกล้า ฯ ถวาย โปรดเกล้าฯ ให้สมโภชขึ้นระวาง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๔ แรม ๓ ค่ำ ปีจอ จุลศักราช ๑๒๓๔ ตรงกับวันที่ ๑๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๑๕ พระราชทานนามว่า พระเศวตสุวภาพรรณ สรรพสินิทคชคุณ สมบุรณ์ลักษณวรเดช ทุติยเศวตวรรณวิจิตร สยามวิชิตรัตนนาคินทร์ ปรมินทรจุธาธิราชธำรง กมุทพงศ์จตุรภักตร์ ประสิทธิศักดิสกนธวิเศษ สุทธเนตรนัขโลมฉวี ศรีสมานกายฉายเฉิด ดิลกเลิศเฉลิมกรุง อมรผดุงรัตนโกสินทร์สยามินทร โรดมบรมนารถ อรรควรราชพาหนเทพ เสพสวัสดิพิพัฒนผลมิ่งมงคลวิลาศเลิศฟ้า

๑๔. พระเทพรัตนกิริณี หรือพระเทพคชรัตนกิริณี ได้ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลักษณะเป็นช้างพังลูกเถื่อนเผือกโท คล้องได้ที่ดงชมาดชบา แขวงระแด พระยารัตนวงศาเจ้าเมืองสุวรรณภูมิ นำขึ้นน้อมเกล้า ฯถวาย โปรดเกล้า ฯ ให้สมโภชขึ้นระวางเมื่อวันจันทร์ เดือน ๖ แรม ๑๑ ค่ำ ปีจอ จุลศักราช ๑๒๓๒ ตรงกับวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๑๗ พระราชทานนามว่า พระเทพคชรัตนกิริณี ศุภศรีสกนธิ์ เศวตวรรฐดไนยวิไลลักษณ์ เฉลิมราชศักดิสยามวิชิต พงศ์อัคนิศรเดช สุทธเนตรนัขโลมวิมล มงคลคุณสุนทรกรินทร ปรมินทรมหาราชกฤษดานุพาหนนารถนฤบดินทร์ คชนาคินทรวิลาศเลิศฟ้า

๑๕. พระศรีสวัสดิเศวตวรรณ ได้ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลักษณะเป็นช้างพังลูกเถื่อนเผือกโท คล้องได้ที่ดงชมาดชบา แขวงระแด ราชบุตรเมืองขอนแก่น นำขึ้นน้อมเกล้า ฯ ถวาย โปรดเกล้า ฯให้สมโภชขึ้นระวาง เมื่อวันจันทร์เดือน ๖ แรม ๑๑ ค่ำ ปีจอ จุลศักราช ๑๒๓๖ ตรงกับวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๑๗ พระราชทานนามว่า พระศรีสวัสดิเศวตวรรณ สุทธาดิสัยพรรณสกนธพิเศษ ทุติยเศวตกนิฐวงสังกาศ อัคนิศรเทวราชรังสฤษดิ์ราชบุญฤทธิ์ บารมิตาสมาหาร รัตนคชาธารวรพาหนนารถ บรมราชาธิราชธำรง วราภิพงศ์คชลักษณ์ สุทธศักดิอิศริยพัฒน์ กิริณีรัตนเลิศฟ้า

(รายละเอียด พระราชพิธีสมโภช พระเทพคชรัตนกิริณี และพระศรีสวัสดิเศวตวรรณ ดูราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑ หน้า ๙ ถึง ๑๑ ปีจอ ฉศก ๑๒๓๖ แผ่นที่ ๒)

๑๖. พระเศวตวรลักษณ์ ได้ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลักษณะเป็นช้างพลายลูกเถื่อนเผือกโท คล้องได้ที่ป่าดงกะมง แขวงเมืองสมบุกสมบุญ เจ้ายุติธรรมธร เจ้านครจำปาศักดิ์นำขึ้นน้อมเกล้า ฯ ถวาย ทรงกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้สมโภชขึ้นระวาง ณ วันพุธ เดือน ๗ แรม ๕ ค่ำ ปีกุน จุลศักราช ๑๒๓๗ ตรงกับวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๘ พระราชทานนามว่า พระเศวตวรลักษณ์ คเชนทรศักดิสุนทรสกนธ์ พรรณโกมลพิศผ่องผุด สรรพางควิสุทธิจำรูญ กมุทตระกูลพงศจตุรภักตร บรมอรรคบารมิตาสมาหาร สู่สมภารบงกชบาท พาหนนารถนฤบดินทร์ ปรมินทร์จุฬาอดุลยเดช อุดมพิเศษมหาพรรษคติผล มิ่งมงคลกุญชรรัตน ศุภสวัสดิประเสริฐเลิศฟ้า

(รายการสมโภช ดูราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๒ นำเบอร์ ๘๑ ปีกุนสัปตศก ๑๒๓๗ แผ่นที่ ๑๑ หน้า ๙๕ ถึง ๙๘)

๑๗. พระเศวตวรสรรพางค์ ได้ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลักษณะเป็นช้างพลายเผือกโท คล้องได้ที่เพนียด จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โปรดเกล้า ฯ ให้สมโภชขึ้นระวาง เมื่อวันพุธ เดือน ๘ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีชวด จุลศักราช ๑๒๓๘ ตรงกับวันที่ ๒๘ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๑๙ พระราชทานนามว่า พระเศวตวรสรรพางค์ บวรางกคชรัตน ลักษณสมบัติวิบูลพิเศษ พิสุทธเนตรนัขโลมฉวี ศรีรัตนประทุมบวร สารสุนทรทุติยเศวต พิษณุเทเวศรังสรรค์ ลักษณกรรณสบสาตร คเชนทรชาติลบชมอุดมเดโชพล อมรเทพยดลบันดาลสู่ คู่สมภารพาหนนารถ จอมจุฑาธิราชธำรง อาศน์อิศรองค์พงศ์จักรพรรดิ พิศาลสวัสดิประเสริฐเลิศฟ้า ล้มเมื่อวันเสาร์เดือน ๙ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีฉลู นพศก จุลศักราช ๑๒๓๙ ตรงกับวันที่ ๑๑ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๒๐

๑๘. พระเศวตวิสุทธิเทพา ได้ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คล้องได้ที่ดงชมาดชบา แขวงระแด ราชบุตรพระศรีวรราชเมืองยโสธรนำขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวาย โปรดให้สมโภชขึ้นระวาง เมื่อวันพุธ เดือน ๘ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีชวด จุลศักราช ๑๒๓๘ ตรงกับวันที่ ๒๘ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๑๙ พระราชทานนามว่า พระเศวตวิสุทธิเทพา มหาพิฆเนศวร์ พิเศษสุนทรศักดิ์ ทักษิณเอกทันต์ อนันตวิบุลยคุณประสิทธิ สรรพางค์สนิทพิสิฐพรรณ อัคนิศรรังสรรคมหันตวรเดช ทุติยเศวตวิสุทธิวิมล พิพัฒนศุภผลดลประจักษ์ เจริญราชวรศักดิ์ชนมายุกาล เฉลิมสมภารพาหนะนรินทร์ ปรมินทรจอมจุฬาหล้า อรรคมหามหิทธิคุณ อดุลยลักษณะเลิศฟ้า ล้มเมื่อวันพุธ เดือน ๑๐ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีฉลู นพศก จุลศักราช ๑๒๓๙ ตรงกับวันที่ ๑๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๒๐

๑๙. พระเศวตสุนทรสวัสดิ์ ได้ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลักษณะเป็นช้างพลายลูกเถื่อนเผือกโท คล้องได้ที่ป่าร่อนสวาดจงสระ แขวงเมืองกาญจนดิฐ พระกาญจนดิฐเจ้าเมืองนำขึ้นน้อมเกล้าฯ ถวาย โปรดเกล้า ฯให้สมโภชขึ้นระวางเมื่อวันเสาร์ เดือน ๑๐ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ปีชวด จุลศักราช ๑๒๓๘ ตรงกับวันที่ ๒ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๑๙ พระราชทานนามว่า พระเศวตสุนทรสวัสดิ์ คชินทรรัตนสมบูรณ์ ศักดิตระกูลประทุมหัสดี เนตรนัขฉวีโลมวิมล สารโสภนสกนธพิเศษ ทุติยเศวตวรรโณภาษ อัคนิเทวราชรังสรรค์ ชาติประจันตกาญจนดิฐ อเนกบุญฤทธิ์สมาคม เฉลิมบรมราชบารมี จอมธเรศตรีเบญจมรัช พิศาลสวัสดิประเสริฐเลิศฟ้า

(รายการสมโภช ดูราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๓ จุลศักราช ๑๒๓๘ แผ่นที่ ๒๕ หน้า ๑๙๔)

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ