พระราชพิธีเคณฑะ คือทิ้งข่าง

ในเรื่องพระราชพิธีทิ้งข่างนี้ ของเก่าเขาเรียบเรียงไว้สว่างไสวดีมาก ถ้าจะว่าใหม่ก็ดูเหมือนจะไม่แจ่มแจ้งเหมือนของเก่าเขาจึงจะขอคัดของเก่ามาว่า เป็นแต่แทรกข้อความเป็นตอนๆ ตามสมควร ในจดหมายเก่านั้นว่า

“ครั้นถึงเดือน ๗ นักขัตฤกษ์พระราชพิธีเคณฑะ ชาวพนักงานก็ตกแต่งสถานพระสยมภูวนาถ อันเป็นเทวสถานหลวงให้สะอาดสะอ้าน ชาวพระนครก็มาสันนิบาตประชุมกัน คอยดูพราหมณาจารย์จะทิ้งข่างเสี่ยงทาย จึงพระครูเพทางคศาสตร์ราชไตรเพทกับหมู่พราหมณ์ ก็ผูกพรตบูชาสมิทธิพระเป็นเจ้า เป่าสังข์ถวายเสียงแล้วสังเวยบวงสรวงข่าง อันกระทําด้วยเนาวโลหใหญ่ประมาณเท่าผลแตงอุลิด สมมติว่าพระสยม สามกําลังบุรุษจึงจะชักสายทิ้งข่างให้หมุนได้ อันข่างนั้นเป็นที่เสี่ยงทายตามตํารับไตรเพท ถ้าข่างดังเสียงเสนาะหมุนนอนวันได้บาทนาฬิกา มีแต่ยิ่งมิได้หย่อนก็กล่าวว่าเป็นมงคลประเสริฐนัก พระมหากษัตราธิราชเจ้าจะทรงสุรภาพพระเกียรติยศปรากฏไปในนานาประเทศทั้งปวง สมณะชีพราหมณ์คฤหบดีเศรษฐี และไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน สิ้นทั้งพระนครขอบขัณฑสีมาอาณาเขตอันกว้างใหญ่ไพศาล จะอยู่เป็นสุขปราศจากภยันตรายต่างๆ หนึ่งโสดแม้นว่าข่างหมุนมิได้นอนวัน ทั้งสำเนียงก็ไม่เสนาะสนั่นอันตรายด้วยเหตุต่างๆ พราหมณาจารย์ก็ทำนายว่าบ้านเมืองจะมิสบายในขวบปีนั้น”

ในตอนนี้เป็นกล่าวด้วยตำราเสี่ยงทายก็อยู่ในเรื่องพิธีกะติเกยาซึ่งข้าพเจ้าได้กล่าวแล้ว ว่าเป็นพิธีให้อุ่นใจเหมือนอย่างแทงพระบทลองดู หรือเป็นพิธีทำอุบายที่จะห้ามการประทุษร้ายไม่ให้เกิดขึ้นในเมืองโดยเสี่ยงทาย เห็นว่าพระบารมีพระเจ้าแผ่นดินยังมากอยู่ ถึงผู้ใดจะคิดปองร้ายก็ให้เห็นว่าดินฟ้าอากาศยังไม่เล่นด้วย จะได้เป็นที่ย่อหย่อนความมุ่งร้ายไม่ให้เกิดขึ้นได้ ต่อนั้นไปจึงได้กล่าวถึงการที่ทําในครั้งที่นางนพมาศได้ดูนั้นว่า “ครั้นได้เวลา พระครูเพทางคศาสตร์ราชไตรเพท ก็ให้นาลิวันนายพนักงานเชิญข่างขึ้นภัทรบิฐ (แล้ว) หมู่พราหมณ์ทั้งปวงก็ดำเนินแห่ห้อมออกจากเทวสถานไปยังหน้าพระลานชัย อันแวดวงด้วยรั้วราชวัติเป็นที่ทิ้งข่าง จึงเอาสายไหมเบญจพรรณยาวสิบศอก พันคันข่างร้อยช่องผัง ตั้งเท้าลงกับนางกระดาน อันวางเหนือหลังภูมิภาคปถพี พระครูพรหมพรตพิธีศรีบรมหงส์ ก็อ่านอิศรมนต์กําเนิดข่างสิ้นวาระสามคาบ นาลิวันสามนายชำนาญข่างก็ประจําข่างคอยทิ้ง ครั้นได้ฤกษ์โหราลั่นฆ้องชัย นาลิวันก็ทิ้งข่างวางสาย เสียงข่างดังกังวานเสนาะสนั่นดุจเสียงสังข์ หมุนนอนวันคันไม่สะบัดได้บาทนาฬิกาเศษ ข่างสำแดงความเจริญให้เห็นประจักษ์ถ้วนคำรบสามครั้ง ฯลฯ ต่อนั้นไปจึงแสดงผลปัจจุบันของการที่ทิ้งข่างในวันนั้นว่า “ชีพ่อพราหมณ์และท้าวพระยาบรรดาราษฎรซึ่งประชุมกันทอดทัศนาข่างเห็นดังนั้นแล้ว ก็ยินดีปรีดาโห่ร้องเต้นรำบอกเล่ากันต่อๆ ไปว่า ในปีนี้บ้านเมืองจะอยู่เย็นเป็นสุข พราหมณ์ก็เชิญข่างคืนเข้าสู่เทวสถาน”

ความต่อไปนี้ ว่าด้วยการที่นางนพมาศได้ไปดูพระราชพิธีนี้ การพระราชพิธีนี้ไม่ได้ทําหน้าที่นั่ง ข้างในก็ไม่ได้เคยไปดูมาแต่ก่อนเลย แต่เพราะนางนพมาศเป็นคนเข้าใจอยู่ในการพิธี และเป็นผู้รักจดจำการต่างๆ อยู่ จึงได้โปรดให้ไปดู พร้อมด้วยพระสนมผู้อื่น ซึ่งเป็นเชื้อพราหมณ์อีกหลายคน ที่ซึ่งไปนั่งดูนั้น ว่านั่งที่โรงมานพ ซึ่งข้าพเจ้าได้เดาไว้ในพระราชพิธีตรียัมพวายว่ามาฬก แต่ในที่นี้เขาว่าเป็นที่พราหมณ์แสดงมนต์ ดูเหมือนหนึ่งจะเป็นโรงที่ทำอย่างแน่นหนา คล้ายศาลาอยู่หน้าเทวสถาน มิได้ปลูกขึ้นใหม่

แต่การพระราชพิธีนี้ ที่ไม่ได้กล่าวถึงเลยในกรุงเก่านั้น จะเป็นด้วยเป็นพิธีของพราหมณ์ทำ ไม่เกี่ยวข้องในการเสด็จพระราชดำเนิน จึงไม่ว่าไว้ หรือเป็นการจืดไม่อัศจรรย์เลิกเสียอย่างหนึ่ง ถ้าจะว่าเป็นเหตุอย่างเช่นกล่าวก่อน พระราชพิธีกะติเกยา ไม่เกี่ยวข้องอันใดกับพระเจ้าแผ่นดินก็มีกล่าวไว้ จะว่าตําราสูญ พราหมณ์เดี๋ยวนี้เขาก็ยังรู้อยู่ เห็นว่าจะเป็นด้วยจืดมากกว่าอย่างอื่น

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ