การพระราชกุศลก่อพระทรายและตีข้าวบิณฑ์

๏ เรื่องสงกรานต์นี้ ในหนังสือนพมาศได้กล่าวไว้แต่ว่าเมื่อถึงกําหนดพระสุริยเทพบุตรเสด็จโคจรจากราศีมีน ประเวศขึ้นสู่ราศีเมษ สมมติว่าเป็นวันสงกรานต์ พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการถวายบังคมถือน้ำพระพิพัฒน์สัจจา แล้วก็พระราชทานเบี้ยหวัดผ้าปี ข้าทูลละอองธุลีพระบาทฝ่ายหน้าฝ่ายในทั้งปวง ไม่เห็นพูดถึงการพระราชกุศลอันใด ชะรอยจะเป็นเวลาที่แรกเกิดสงกรานต์ขึ้นใหม่ๆ ยังเป็นการกร่อยอยู่ ด้วยราษฎรผู้ซึ่งจะรู้กําหนดสงกรานต์นั้นจะน้อย จึงยังไม่เป็นนักขัตฤกษ์ใหญ่โตอะไรได้ จึงยกเอาการถือน้ำแจกเบี้ยหวัด เป็นส่วนของราชการมาใช้ในกําหนดวันเปลี่ยนปีใหม่นั้น ส่วนในกฎมนเทียรบาลก็ไม่ได้พูดถึง คงจะไม่เป็นการทําใหญ่โตอันใด ตลอดมาจนถึงแรกตั้งกรุงทวาราวดี มามีปรากฏต่อชั้นหลังในจดหมายขุนหลวงหาวัดว่า สรงสนานแล้วสรงน้ำพระชัยและพระไสยศาสตร์ จึงนิมนต์พระสงฆ์ราชาคณะสรงน้ำพุ ฉันถวายไทยธรรมสามวัน ก่อพระวาลุกาเจดีย์ วัดพระศรีสรรเพชญองค์หนึ่ง พระทรายเตียงยกองค์หนึ่ง วัดกุฎีดาวองค์หนึ่ง พระทรายน้ำไหลเพนียดองค์หนึ่ง พระสงฆ์ฉันถวายไทยธรรม ตั้งศาลาฉทาน ๖ ตําบลๆ ละสามวัน ตลาดยอดแห่งหนึ่ง วัดสุมงคลบพิตรแห่งหนึ่ง ตะแลงแกงแห่งหนึ่ง สะพานช้างแห่งหนึ่ง ศาลาดินแห่งหนึ่ง สะพานสกูลแห่งหนึ่ง เลี้ยงพระสงฆ์คฤหัสถ์ มีข้าวและกับข้าวของกินหมากพลู มีทั้งน้ำอาบน้ำกิน แป้งน้ำมันหวีกระจก มีช่างตัดผม หมอนวด หมอยา ทั้ง ๖ ตําบล ว่ากลมๆ ไปอย่างนี้ แปลกกับที่กรุงเทพฯ ก็ที่พระเจดีย์ทรายก่อแต่เฉพาะสี่องค์ ในสี่องค์นั้นพระทรายวัดพระศรีสรรเพชญ พระทรายเตียงยก พระทรายน้ำไหล คงเป็นของเก่า แต่พระทรายวัดกุฎีดาวเป็นของเกิดขึ้นใหม่ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

การก่อพระทรายกรุงเก่ากับที่กรุงเทพฯ นี้ ความประสงค์ เห็นจะไม่ต้องกัน เรื่องต้นเหตุที่เกิดก่อพระทรายในเวลาสงกรานต์นี้ ได้สืบสวนไต่ถามกันหนัก ก็ยังไม่ได้ความว่าเกิดขึ้นแต่เมื่อไร เกิดขึ้นเพราะอะไร ได้ยินแว่วๆ คำเล่าว่าเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จลงเรือขนาน ชนทั้งปวงพากันก่อพระทรายที่ข้างลำน้ำ และก่อในแพลอยเป็นเครื่องบูชา เมื่อให้ไปค้นเอาจริงเข้าก็ไม่มีข้อความเรื่องพระทราย กลายเป็นนิทานซึมซาบไปเสีย ได้ให้เผดียงถามพระราชาคณะเปรียญทั้งปวงดู เมื่อได้ความประการใดจึงจะลงในรายเล่ม รวมพระราชพิธีซึ่งคิดจะออกต่อไป แต่พระทรายสี่อย่าง ซึ่งมีปรากฏมาในจดหมายขุนหลวงหาวัด พระทราย ๒ อย่าง คือพระทรายวัดพระศรีสรรเพชญอย่าง ๑ พระทรายวัดกุฎีดาวอย่าง ๑ จะเป็นอยู่ในเรื่องพระทรายบรรดาศักดิ์ พระทรายบรรดาศักดิ์นั้นตามที่เข้าใจในกรุงเทพฯ นี้ ว่าเป็นการประสงค์ที่จะให้ได้ทรายไปประสมปูนในการก่อสร้าง ไม่ให้ต้องซื้อนั้นอย่างหนึ่ง ประสงค์จะให้มีทรายถมพื้นลานวัด กับพื้นที่เป็นโคลนตม และมิให้หญ้างอกนั้นอย่างหนึ่ง ความประสงค์อันนี้เห็นจะเป็นของเก่าที่ได้เคยใช้มาแต่ครั้งกรุงเก่า แต่จะใช้เป็นครั้งเป็นคราวในเวลาเมื่อทําวัด เมื่อสิ้นคราวทําวัดแล้วก็เป็นอันเลิกไป คงเป็นแต่ก่อพระทรายสังเขปของหลวง ที่วัดพระศรีสรรเพชญแห่งหนึ่ง เป็นวัดในพระราชวัง เมื่อมีการก่อสร้างอันใดก็คงจะโปรดให้ก่อพระทรายทุกคราว มีตัวอย่างซึ่งเห็นได้ในครั้งหลังนี้ คือเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเริ่มสร้างพระพุทธปรางคปราสาทในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ก็โปรดให้เจ้านายและเจ้าจอมข้างในออกไปก่อพระทรายในเวลาสงกรานต์ แต่พระทรายบรรดาศักดิ์ก็คงก่ออยู่ตามเดิมไม่ได้ยกมาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในแผ่นดินพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศนั้นทรงปฏิสังขรณ์วัดกุฎีดาว ชะรอยจะยกพระทรายบรรดาศักดิ์ไปวัดกุฎีดาว วัดพระศรีสรรเพชญที่เคยก่ออยู่แต่ก่อน จึงให้คงมีอยู่แต่พระทรายหลวง ครั้นเมื่อการวัดกุฎีดาวแล้วเสร็จ ก็จะเลิกพระทรายบรรดาศักดิ์เสียทีเดียว คงก่ออยู่แต่ของหลวงพอเป็นสังเขป ในจดหมายขุนหลวงหาวัดจึงไม่ได้กล่าวถึงพระทรายบรรดาศักดิ์ แต่ครั้นเมื่อถึงกรุงเทพฯ ทรงสถาปนาพระอารามขึ้นใหม่ๆ จึงโปรดให้มีพระทรายบรรดาศักดิ์ขึ้นติดต่อกันไปไม่มีระหว่างยกเว้น ด้วยเห็นว่าเป็นประโยชน์ดีกว่าก่อพระทรายโคมๆ อย่างอื่น ด้วยที่แผ่นดินกรุงเทพฯ เป็นโคลนเลนลุ่มมาก แต่ถ้าถมเสียให้สูงถึงที่น้ำไม่ท่วม ก็เป็นแผ่นดินที่ดอนเรียบร้อยตลอดไปได้ในครั้งเดียว ไม่เหมือนอย่างที่กรุงเก่า ที่กรุงเก่านั้นถึงว่าที่แผ่นดินไม่สู้เป็นเลนตมเหมือนอย่างที่กรุงเทพฯ แต่ที่จะถมให้พ้นน้ำท่วมนั้นเป็นอันยาก เพราะฉะนั้นการก่อพระทรายจึงไม่เป็นที่ต้องการและเป็นประโยชน์มากเหมือนที่กรุงเทพฯ จึงได้มีเวลาเลิก หันลงเล่นพระทรายสังเขปเสีย ส่วนพระทรายเตียงยกอีกองค์หนึ่งนั้น เมื่อดูตามลัทธิที่คนใช้อยู่เดี๋ยวนี้ เห็นเขามักทำเสาปักขึ้นที่ริมรั้วบ้าน แล้วมีกระดานข้างบน ก่อพระทรายขึ้นไว้บนนั้นทิ้งอยู่ตาปีตาชาติ ดูเป็นของคู่กันกับศาลพระภูมิ จะแปลว่ากระไรก็ไม่ทราบ จะเป็นพระทรายพวกนั้น แต่ของหลวงนี้เป็นก่อขึ้นสำหรับยกไปวัดหรือประการใดก็ไม่ทราบ ได้ตรวจดูในหมายรับสั่งของเก่าที่กรุงเทพฯ ซึ่งว่าด้วยเรื่องพระทรายเตียงยกนี้ แปลกกันกับที่ขุนหลวงหาวัดว่าที่กรุงเก่ามีองค์เดียว แต่ที่นี้ใช้ถึงสิบองค์ คือ เป็นพนักงานตำรวจในซ้ายขวา ก่อ ๒ องค์ ทหารในซ้ายขวาก่อ ๒ องค์ ฝีพายก่อ ๖ องค์ ที่รองพระทรายนั้นเป็นม้าสี่เหลี่ยมสี่ขา กว้างประมาณศอกหนึ่ง ก่อพระทรายในกลางม้า มีราชวัติฉัตรธงกระดาษล้อมรอบ สังเกตดูในหมายรับสั่งของเก่า เหมือนหนึ่งจะก่อหน้าที่นั่ง คือมีกำหนดให้มาคอยก่ออยู่ที่ข้างพระที่นั่งอัมรินทร ทีแต่เดิมจะไปทรงแตะๆ เขี่ยๆ อะไรบ้าง แต่ครั้นเมื่อมีพระราชธุระมากและจืดๆ ลงก็คอยเปล่าไปไม่ใคร่จะเสด็จออก ตกลงเป็นเจ้าพนักงานก่อกันเสียเอง เมื่อไม่ได้รับสั่งให้เลิกหมาย จึงยังคงขึงอยู่ตามเดิม แต่เห็นว่าพระทรายเตียงยกนี้ จะเกิดขึ้นด้วยขี้เกียจไปก่อที่วัดและไปทำบุญฉลองถึงวัด จึงเอาม้าลาอะไรมาตั้งก่อขึ้นฉล่ำฉลองกันเสียให้เสร็จแล้ว จึงให้เขายกไปถมวัดเป็นการย่อๆ ลงอีกชั้นหนึ่ง พระทรายที่ก่ออยู่ตามรั้วบ้าน ถ้าไม่มีเรื่องราวแบบอย่างอื่นใด ที่ว่าก่อไว้เป็นเครื่องบูชาสำหรับบ้าน ให้เป็นสวัสดิมงคลหรือคุ้มกันอันตรายอย่างใดเช่นศาลพระภูมิแล้ว ก็กลัวจะเป็นขี้เกียจเอาไปวัด จึงตั้งไว้ที่รั้วบ้านย่อลงไปอีกชั้นหนึ่ง ถ้ามิฉะนั้นก็จะเกิดขึ้นด้วยเสียดายเครื่องตุ๊กตุ่นตุ๊กตา คือราชวัติฉัตรธงพัดโบกจามรที่ทำเป็นเครื่องประดับ เพราะระลึกได้ว่าเมื่อเล็กๆ เขาเกณฑ์ให้ก่อพระทรายน้ำไหล ในเวลาที่ก่อนั้นสนุกหาที่เปรียบมิได้ ขลุกขลุ่ยไปวันยังค่ำ เมื่อเวลาที่ก่อเสร็จจะยกยอดก็ต้องร้องอูแอประโคมกันกึกก้องแล้ว ประเดี๋ยวรูปร่างไม่ดีไป ต้องรื้อก่อกันใหม่ ยกยอดร้องอูแออีกหลายๆ เที่ยว เมื่อเสร็จแล้วจะบรรจุใบโพนั้นต้องถึงจับสายสิญจน์โยงสวดมนต์เย็นฉันเช้า เวลาบรรจุก็ต้องประโคมและชยันโตแล้วแต่งเครื่องประดับต่างๆ สวดมนต์ฉันเช้าฉลองต่อไป เขาจะเอาไปลอยก็ไม่ใคร่จะยอมให้ไป เอาทิ้งไว้นานๆ จนเขาว่าหยวกจะเน่า เขาลักไปลอยเสียจึงได้เลิกเล่น เครื่องประดับพระทรายรั้วบ้านเช่นนี้ บางทีก็ทําวิจิตรพิสดารต่างๆ บางทีจะเสียดายอย่างนั้นได้บ้างดอกกระมัง จึงได้ตั้งทิ้งไว้ ที่ว่าพระทรายน้ำไหลที่เพนียดอีกองค์หนึ่งนั้น ก็เห็นจะเป็นเรื่องเดียวกันกับเรื่องพระทรายน้ำไหลที่เขาก่อกันอยู่ทุกวันนี้ ตามลัทธิซึมซาบเล่ากันว่า เป็นการล้างบาปลอยบาปอยู่ด้วย คือต่อแพหยวกแล้วเอาทรายมาก่อขึ้นบนแพหยวก ทรายนั้นต่างว่าบาปที่ได้ทําไว้ตลอดปี เอาไปปั้นเป็นพระให้เป็นการบุญเสีย แล้วปักราชวัติฉัตรธงบูชาด้วยข้าวบิณฑ์ แล้วจึงเอาพระทรายนั้นไปลอยน้ำ กําหนดให้ลอยในเวลาน้ำขึ้นอายุยืน ถ้าลอยในเวลาน้ำลงอายุสั้น พระทรายนั้นจะเป็นกองบาปหรือเป็นตัวของตัว หรือเป็นพระอะไรเลือนๆ ตามปรกติของคนที่ไม่ได้นึกทีเดียวตลอดเรื่อง อะไรมันหลุดขึ้นมาก็ปล่อยอะลุ้มอล่วยไป พระทรายน้ำไหลที่เพนียด จะไปก่อบนบกที่น้ำท่วม หรือก่อบนแพลอยเหมือนอย่างพระทรายน้ำไหลทุกวันนี้ก็ไม่ปรากฏ แต่ถ้าก่อบนบกให้สายน้ำปัดทลายแล้ว เรียกว่าพระทรายน้ำเซาะเห็นจะถูกดีกว่าพระทรายน้ำไหล ถ้าใช้ก่อบนแพเหมือนพระทรายน้ำไหลตามธรรมดา ทําไมจึงต้องไปก่อถึงเพนียดก็ไม่ได้ความ เป็นการรวมๆ อยู่เช่นนี้ แต่การก่อพระทรายนี้ยังเป็นที่นิยมยินดีว่าเป็นการบุญใหญ่ทั่วไปของคนทั้งปวง ค่อนจะอยู่ข้างถ่ายบาปได้นิดๆ หนึ่ง เช่นกับสร้างพระทรายแปดหมื่นสี่พัน แต่ลัทธิก่อพระทรายนี้ต้องนับว่าเป็นการมีประโยชน์ดีกว่าเรื่องตีข้าวบิณฑ์มาก

ข้าวบิณฑ์นั้นออกจากการที่อยากตักบาตรพระพุทธเจ้าเป็นต้น จึงมีวิธีถวายข้าวพระต่างๆ ซึ่งประพฤติอยู่ด้วยกันโดยมาก ถ้าอย่าฝันไปว่าเซ่นและนึกว่าพระพุทธเจ้าจะได้รับประโยชน์นั้นจริงๆ เหมือนเซ่นเจ้าผีหรือเซ่นศพแล้ว ก็นับว่าเป็นเครื่องบูชาอย่างหนึ่ง แต่ที่ย่อลงจนถึงเตี้ยๆ เท่าข้าวบิณฑ์เช่นนี้ ก็เป็นไปด้วยเหตุที่รู้ว่าสิ่งของที่ไปตั้งนั้นไม่เป็นของบริโภคจริงอย่างหนึ่ง เพื่อจะให้งดงามและยกรื้อได้ง่ายๆ นั้นอย่างหนึ่ง เหมือนอย่างกับบายศรีสมโภช การสมโภชกันนี้ก็แปลว่าเลี้ยงกันตรงๆ คำที่มีมาในกฎมนเทียรบาลว่า “สมโภชเลี้ยงลูกขุน” นี้ใช้เต็มทั้งอรรถทั้งแปล เมื่อพิเคราะห์ดูเครื่องที่มาตั้งในการสมโภชทั้งปวง ก็ล้วนแต่เป็นของบริโภคทั้งสิ้น บายศรีแก้ว บายศรีทอง บายศรีเงิน ก็เป็นภาชนะเครื่องรองอาหารเหมือนโต๊ะหรือพาน บายศรีตองก็เป็นกระทงที่สำหรับบรรจุอาหาร แต่เป็นการออกหน้าประชุมคนพร้อมๆ กัน ก็คิดตกแต่งให้งดงามมากมาย ชะรอยบายศรีแต่เดิมจะใช้โต๊ะกับข้าวโต๊ะหนึ่ง จานเรียงซ้อนๆ กันขึ้นไปสูงๆ เหมือนแขกเขาเลี้ยงที่เมืองกลันตัน ภายหลังเห็นว่าไม่เป็นของแน่นหนา และยังไม่สู้ใหญ่โตสมปรารถนาจึงเอาพานซ้อนกันขึ้นไปสามชั้นห้าชั้น แล้วเอาของตั้งรายตามปากพาน ที่เป็นคนวาสนาน้อยไม่มีโต๊ะมีพาน ก็เย็บเป็นกระทงตั้งซ้อนกันขึ้นไปสามชั้นห้าชั้นเจ็ดชั้น แต่ถ้าจะใช้กระทงเกลี้ยงๆ ดูไม่งาม ก็เจิมปากให้เป็นกระทงเจิมให้เป็นการงดงาม ผู้ใดซึ่งเป็นผู้จะรับมงคล คือถูกทำขวัญนั้นก็มานั่งบริโภคอาหารนั้นในที่ประชุม เป็นการกลับกันกับที่ประพฤติอยู่ทุกวันนี้ ผู้ที่มาช่วยเหลือต้องมาช่วยกันปรนนิบัติเลี้ยงดูผู้เจ้าของงาน ทุกวันนี้ผู้เจ้าของงานต้องเลี้ยงผู้อื่น ภายหลังเห็นว่าการที่ไปนั่งบริโภคอาหารในที่ประชุมเช่นนั้นเป็นความลำบากหลายอย่าง คือกับข้าวที่จะตกแต่งบายศรีนั้นก็ต้องหาอย่างดี เพราะเป็นการออกหน้าเปลืองเงินมาก ผู้ที่จะไปบริโภคคือเด็กที่โกนจุกเป็นต้น ก็ถูกแต่งตัวออกเพียบ มือและหน้าก็ผัดทาฝุ่นแป้งเข้าไว้ออกขาวนวล และเมื่อเวลาต้องไปบริโภคในที่ประชุมเช่นนั้น กิริยาของเด็กที่จะเปิบอาหารก็ไม่ใคร่เรียบร้อย มักจะมูมๆ มามๆ จนหน้าตามือไม้เลอะเทอะสิ้นสวยสิ้นงาม ถ้าถูกเด็กที่ตะกรามก็จะนั่งกินไม่รู้แล้ว จนคนที่มาทำขวัญนั้นเบื่อ ถ้าเด็กนั้นเป็นคนขี้กระดากกระเดื่องไม่กินก็เสียดายของตกแต่งไว้เป็นหนักเป็นหนา จึงตกลงเป็นเลิก เล่นย่อๆ กันเถอะ แต่งข้าวของไปแต่เล็กน้อย กินแต่เพียงน้ำมะพรัาวอ่อนเป็นสังเขปก็ได้ เพราะฉะนั้นพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้ปรนนิบัติใหญ่ จึงได้เอาช้อนไปเที่ยวตักโคมๆ ตามบายศรีเอามาเทลงในมะพร้าว ต่างว่าของเหล่านั้นรวมอยู่ในมะพร้าวหมดแล้ว จึงเอาน้ำมะพร้าวนั้นมาป้อนให้กิน สมมติว่าเป็นได้กินของในภาชนะนั้นทั่วทุกสิ่ง ธรรมเนียมซึ่งกินของทําขวัญมีไข่ขวัญเป็นต้นเช่นนี้ ก็ยังมีปรากฏเป็นพยานอยู่ในเวลาทำขวัญไปรเวตในครอบครัว ซึ่งตกแต่งลงในขันทองขันเงิน มีผู้ใหญ่มาว่าให้พรยกขึ้นโห่ฮิ้ว เมื่อจุณเจิมผูกด้ายเสร็จแล้วก็ให้เด็กบริโภคของที่ทําขวัญนั้น เพราะเป็นเวลาไม่ได้แต่งตัวและไม่มีผู้อื่น ถึงจะกินมูมมามหรือช้าเร็วประการใด ก็ไม่เป็นที่อับอายขายหน้าอันใด แต่วิสัยคนเราไม่เข้าใจต้นเหตุความประสงค์เดิมว่าเขาคิดอย่างไรแล้วก็ไม่พอใจถาม หรือถามแล้วก็ไม่พอใจบอกกัน ก็เป็นแต่ทำตามกันมามืดๆ เช่นนั้น การถือลัทธิมงคลอัปมงคลไม่มีรูปก็เข้าครอบงำ จนกลายเป็นมีสิ่งหนึ่งเรียกว่า “ขวัญ” ขวัญนั้นหลบหนีได้และเที่ยวตกอยู่ตามหนทางก็ได้ เรียกก็มา เข้าใจภาษา แต่เป็นวิสัยของขวัญแล้วชอบสุนทรกถาเป็นพื้น ไม่ชอบขู่ตวาด สุนทรกถานั้นจะเท็จหรือจะจริงก็ไม่เป็นไร เชื่อได้ทั้งนั้น เป็นต้นว่าอาหารนั้นจะขยี้ขยําเน่าบูดอย่างไร บอกว่าประกอบด้วยนมเนยมีโอชารสวิเศษเหมือนของทิพย์ เหย้าเรือนเคหาถึงจะเป็นรังกา บอกว่าสนุกสบายวิเศษเหมือนกับวิมานพระอินทร์ ขวัญนั้นก็เชื่อกลับมาให้ด้วย กินก็อร่อยด้วย ตัวขวัญนั้นดูเหมือนมีแต่โสตินทรีย์ โสตะสัมผัสอย่างเดียว อินทรีย์และสัมผัสอื่นๆ อ่อนหมดทุกอย่างหรือไม่มีเลย เมื่อเข้าใจกันว่ามีตัวขวัญอยู่เช่นนี้ การทําขวัญก็กลายเป็นจะล่อลวงและจะยอตัวขวัญให้มาอยู่กับตัวเด็กอย่างเดียว การที่พราหมณ์ไปตักโคมๆ ก็กลายเป็นไปตักตัวขวัญมาแช่น้ำมะพร้าวไว้ให้เด็กกิน ของที่จัดมาในบายศรีนั้นน้อยลงๆ จนลืมไปไม่หมายว่าเป็นของกิน นึกตึงตังขึ้นมาว่าขวัญจะไม่มีอะไรกิน ต้องมีเครื่องกระยาบวชมาตั้งอีกสำรับหนึ่ง หัวหมูมาตั้งอีกหัวหนึ่งก็มี

วิธีที่ทําอะไรแล้วลืมๆ ไหลๆ ต่อๆ กันมาเป็นตัวอย่างเช่นนี้ฉันใด ข้าวบิณฑ์นี้ก็เรื่องเดียวกันกับบายศรีนั้นเอง เห็นว่าเป็นเวลาตรุษสุดปีและสงกรานต์ขึ้นปีใหม่ อยากจะถวายอาหารบิณฑบาตแก่พระพุทธเจ้าให้เป็นของประณีตวิเศษก็จัดไปตั้งบูชา ก็แต่พระพุทธรูปท่านไม่ฉันบกพร่องอันใดลงไป จัดไปมากก็เปลืองเปล่า และยกรื้อเร่อร่าไม่งดงาม ก็ค่อยผ่อนลงๆ จนถึงรูปข้าวบิณฑ์ที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ แต่เรื่องข้าวบิณฑ์นี้ดูประหนึ่งจะสูญ เพราะค่อนจะอยู่ข้างโคมมาก ฟังตามที่ท่านผู้ใหญ่เล่ามาแต่ก่อน ตรุษคราวหนึ่งสงกรานต์คราวหนึ่งคนทั้งปวงแต่งตัวทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่ให้งดงามดี แล้วมีข้าวบิณฑ์ไปเที่ยวบูชาในพระอุโบสถวัดต่างๆ จะว่าแต่เฉพาะในพระราชวังที่เจือเป็นราชการ บรรดาเจ้านายซึ่งเป็นลูกเธอ เมื่อถึงเวลาสงกรานต์สามวันก็แต่งพระองค์ทรงเกี้ยวทรงนวม เสด็จไปตีข้าวบิณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดพระเชตุพนบ้าง วัดบวรสถานบ้าง ที่มีกำลังข้าไทมากก็เสด็จไปหลายๆ วัด ไม่ต้องทูลล่ำทูลลา เมื่อเสด็จไปเช่นนั้นแล้วก็มีข้าวบิณฑ์รองพานแก้วสองชั้นบ้าง พานทองสองชั้นบ้าง ไปเที่ยวบูชาในพระอุโบสถ มีธูปเล่มหนึ่งเทียนเล่มหนึ่งไปว่า อิมํ ปิณฺฑปาตํ พุทฺธสฺส เทม แล้วตั้งไว้ครู่หนึ่ง ก็ยกกลับมาเช่นนี้ทุกปีมิได้ขาด ครั้นมาเมื่อในรัชกาลที่ ๔ รับสั่งถามถึงเรื่องตีข้าวบิณฑ์ไม่มีผู้ใดได้ทำ ก็รับสั่งให้พระเจ้าลูกเธอแต่งพระองค์ไปตีข้าวบิณฑ์อย่างเก่าที่วัดพระเชตุพนคราวหนึ่ง แต่ข้าพเจ้าโตเสียแล้วหาได้ถูกเกณฑ์ไม่ จะได้มีอยู่กี่ปีก็ไม่ทราบ เดี๋ยวนี้การตีข้าวบิณฑ์ก็เป็นอันเลิกสูญไป ยังคงอยู่แต่ข้าวบิณฑ์ของหลวงๆ นั้นเป็นสองอย่างอยู่ ถ้าอย่างพานสองชั้น พานชั้นบนใช้พุ่มดอกไม้ แต่ใช้ฉัตรปรุปิดทองสามชั้นแทนยอดพุ่ม พานชั้นล่างตั้งจานเล็กๆ เช่นรายปากบายศรีสำรับเล็กมีขนมพิมพ์รูปต่างๆ เป็นหงส์บ้างกินนรบ้างสีต่างๆ กัน อย่างอันอีเตเบอล วางจานละแผ่นรายรอบ แล้วมีเชิงเทียนเชิงหนึ่ง เชิงธูปเชิงหนึ่ง ใช้เครื่องทองคําทั้งสิ้น ข้าวบิณฑ์เช่นนี้สำหรับตั้งเครื่องนมัสการในวันตรุษสามวัน สงกรานต์สามวัน อีกอย่างหนึ่งนั้นใช้พานทองเหลืองชั้นเดียว มีกรวยใบตองบรรจุข้าวสุกในนั้น ยอดปักฉัตรปรุปิดทองสามชั้น มีจานขนมพิมพ์รายรอบกรวย บางทีก็เห็นมีซองพลูหมากสงลูกหนึ่งเหน็บอยู่ที่ปากซองวางไปด้วย เทียนติดปากพานเล่มหนึ่งไม่มีธูป บางทีก็มีธงเศษผ้าเล็กๆ เสียบตามกรวยรอบด้วย ข้าวบิณฑ์เช่นนี้สำหรับใช้บูชาพระทรายในเวลาสงกรานต์อย่างหนึ่ง สำหรับบูชาเทวดาที่รักษาพระชนมพรรษาและแทรกพระชนมพรรษาประจำทุกวันตลอดปีอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเป็นข้าวบิณฑ์สำหรับบูชาเทวดาเช่นนี้ ใช้สีและจํานวนธงตามกําลังวันของเทวดานั้น การเรื่องข้าวบิณฑ์นี้ก็เห็นจะเป็นเรื่องสมโภชพระพุทธรูปและพระทรายเหมือนอย่างบายศรีนั้นเอง เป็นแต่ผู้ที่ทําไม่รู้ว่าที่มาเป็นอันเดียวกัน และวิธีที่ย่อลงยักเยื้องกันไป เพราะเป็นความคิดของคนที่คิดคนละคราวคนละพวก ก็ทำให้เข้าใจว่าเป็นคนละอย่างไปทีเดียว

การพระราชกุศลที่ยังคงอยู่ในเวลาสงกรานต์ปัจจุบันนี้ มีเป็นสองอย่าง ซึ่งข้าพเจ้าลืมเสียหาได้กล่าวข้างต้นไม่ คือสงกรานต์สามวันอย่างหนึ่ง สงกรานต์สี่วันอย่างหนึ่ง ในเรื่องสงกรานต์สามวันสงกรานต์สี่วันนี้

คือว่าถ้าปีใดพระอาทิตย์ยกจากราศีมีนขึ้นสู่ราศีเมษเวลา ๒ ยามเที่ยงคืนแล้วไป โหรเขานับว่าเป็นวันใหม่ แต่ส่วนคนปรกติไปนับวันใหม่ต่อเวลารุ่ง จึงยังต้องเข้าใจว่าพระอาทิตย์ยกก่อนวันใหม่ ๖ ชั่วโมงจนถึงชั่วโมงหนึ่งเป็นที่สุด การที่ถือเถียงกันอยู่ดังนี้ จึงอะลุ้มอะล่วยลงเป็นกลางให้ได้ทั้งสองฝ่าย เติมนักขัตฤกษ์สงกรานต์ขึ้นเสียอีกวันหนึ่งเหมือนอย่างในปีฉลูเอกศกนี้ พระอาทิตย์ยกเฉพาะเวลา ๒ ยามตรงจึงต้องขยายสงกรานต์ออกเป็นสี่วัน การซึ่งแบ่งชื่อวันสงกรานต์ออกเป็นสามอย่าง คือ วันมหาสงกรานต์ วันเนา วันเถลิงศก อันที่จริงก็จะเป็นสามอย่างไทยๆ พอใจกำหนดการทั้งปวง เช่นตรุษสามวัน สารทสามวันเป็นต้น แต่นี่มีแยบคายขึ้นอีกนิดหนึ่ง ที่รอเถลิงศกขึ้นศักราชใหม่ไปไว้วันที่สาม ด้วยวันที่หนึ่ง วันที่สอง คือวันสงกรานต์และวันเนา ว่าพระอาทิตย์พึ่งจะเยี่ยมขึ้นสู่ราศียังไม่ถึงที่ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ได้เปรียบไว้ในหนังสือแสดงกิจจานุกิจว่า “เหมือนบุคคลจะขึ้นเรือนวันสงกรานต์นั้นเหมือนขึ้นไปเพียงบันได วันเนาเหมือนขึ้นไปถึงนอกชาน วันเถลิงศกคือพระยาวันเหมือนเข้าถึงในเรือน” คําอุปมาของท่านนี้ก็เพื่อจะให้เข้าใจซึมซาบง่ายๆ ก็ดูเหมือนจะพออยู่แล้ว แต่อุปมานี้ว่าด้วยสงกรานต์สามวัน คือพระอาทิตย์ยกก่อนเวลาเที่ยงคืน นับว่าวันต้นเป็นวันมหาสงกรานต์ วันที่สองเป็นวันเนา วันที่สามเป็นวันเถลิงศก ถ้าจะอุปมาสงกรานต์สี่วัน เห็นจะต้องว่า วันแรกมาถึงเชิงบันไดหรือก้าวขึ้นไปได้คั่นหนึ่งสองคั่น วันเนาที่ ๑ ถึงยอดบันได วันเนาที่ ๒ ถึงนอกชาน วันเถลิงศกคือพระยาวันถึงในเรือน

การพระราชกุศลนั้น เริ่มแต่วันจ่าย คือวันก่อนหน้าสงกรานต์วันหนึ่งตั้งสวดมนต์พระปริตในการที่จะสรงมุรธาภิเษกวันเถลิงศกบนพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ มีเครื่องตั้งคือตั้งโต๊ะหมู่สูงชนกันสองตัวตั้งพระพุทธรูปห้ามสมุทรฉันเวรและพระชัยเนาวโลห โต๊ะหมู่อย่างต่ำสองตัวตั้งพระครอบมุรธาภิเษกรองพานแว่นฟ้า มีเครื่องนมัสการตระบะถมฉันเวรสำรับหนึ่ง พระสงฆ์ที่สวดมนต์นั้นพระครูปริตไทย ๔ รามัญ ๔ ไม่มีพระราชาคณะนำ เพราะไม่เป็นการเสด็จออกเลย สวดสามวัน คือวันจ่ายวันหนึ่ง วันสงกรานต์วันหนึ่ง วันเนาวันหนึ่ง ถ้าปีใดสงกรานต์ ๔ วันก็เลื่อนไปตั้งสวดต่อวันมหาสงกรานต์ รุ่งขึ้นวันเถลิงศกเป็นวันสรง พระสงฆ์ที่สวดมนต์ทั้ง ๘ รูปนั้นเข้ามาสมทบฉันในท้องพระโรง ถวายชยันโตในเวลาสรงมุรธาภิเษกด้วย มีของไทยธรรมจีวร ร่ม รองเท้า พัดขนนกเล่มหนึ่ง

และในวันจ่ายสงกรานต์นั้น เป็นวันสวดมนต์ฉลองพระทรายบรรดาศักดิ์ด้วย พระทรายบรรดาศักดิ์นี้มีมาแต่ปฐมรัชกาลในกรุงรัตนโกสินทรนี้ เริ่มต้นแต่สร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่อมาวัดใดที่แรกทรงสถาปนาหรือทรงปฏิสังขรณ์การยังไม่แล้วเสร็จ ก็เกณฑ์ยกพระทรายบรรดาศักดิ์ไปก่อที่วัดนั้น ไม่เป็นกำหนดวัดแน่นอน เช่นในแผ่นดินปัจจุบันนี้ เดิมก่อที่วัดราชบพิธ แล้วย้ายไปที่วัดเทพศิรินทร์จนถึงในปีนี้ ที่เรียกว่าพระทรายบรรดาศักดิ์นั้นเพราะมีพระทรายหลวงเรียกว่าพระมหาธาตุองค์หนึ่ง หน้าที่แปดตำรวจก่อสูง ๘ ศอก พระทรายบริวารสูง ๒ ศอก หน้าที่ตํารวจสนมก่อ ๕๒ องค์ พระบรมวงศานุวงศ์ข้าราชการบรรดาที่ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดมีกําหนดขนาดให้ก่อ คือเจ้าต่างกรม เจ้าพระยาสูง ๕ ศอก พระองค์เจ้าและพระยาสูง ๔ ศอก พระสูง ๓ ศอก หลวงสูง ๒ ศอกคืบ ขุน ๒ ศอก ขุนหมื่นเลวสูงศอก ๑ เพราะเกณฑ์ก่อตามบรรดาศักดิ์เช่นนี้ จึงเรียกพระทรายบรรดาศักดิ์ แต่พระทรายบรรดาศักดิ์นี้ เป็นเรื่องที่ยับเยินนกันมาต่างๆ แต่ไหนแต่ไร บางทีเจ้านายและข้าราชการที่มีบรรดาศักดิ์ ใหญ่ๆ ไม่ได้คิดจะบิดพริ้วอย่างไร แต่ไม่ใส่ใจหลงลืมละเลยเสียไม่ไปก่อก็มี ที่มอบให้แก่เจ้ากรมบ่าวไพร่ ไปก่อนุ่งกันยับเยินไปอีกชั้นหนึ่งก็มี ที่ตระหนี่เหนียวแน่นเป็นแต่สักว่าไปก่อลดหย่อนไมได้ขนาดก็มี ที่เกียจคร้านไม่ก่อเป็นแต่ขนทรายไปกองไว้ก็มี ที่เจ้าพนักงานรับจ้างก่อเอาเงินเสียไม่ก่อก็มี ที่รับแต่เงินเปล่าๆ ไม่ต้องทําอะไรเลยก็มี แต่เงินนั้นก็ไม่ได้เป็นของพระ การเช่นนี้มีอยู่เสมอมิได้ขาด จึงต้องมีผู้ตรวจ คือมหาดไทย กลาโหมเป็นผู้เกณฑ์ก็อยู่ในหน้าที่ตรวจด้วย ราชบัณฑิตก็เป็นผู้รู้บุญรู้บาปจึงให้ไปตรวจอีกนายหนึ่ง มหาดเล็กก็เป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดสำหรับดูรายงานต่างๆ ก็ให้ไปตรวจอีกนายหนึ่ง แต่ถึงทั้งมีผู้ตรวจก็ดี ได้แต่แรกๆ นานไปก็รวมๆ ลงไปจนต้องมีเวลาเกาะกุมกันเสียครั้งหนึ่ง ก็ค่อยดีไปได้แล้วก็กลับเป็นไปใหม่ อาการเป็นอย่างเดียวกันกับสำรับอย่างสูง ถ้าเสด็จพระราชดําเนินที่พระทรายนั้น ราชบัณฑิตผู้ตรวจก็ต้องเข้ามาตะโกนอย่างปลาปล่อยที่หน้าพระก่อนยะถา ถ้าไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินก็รอไว้ตะโกนต่อวันเนา จํานวนที่ตรวจนั้นจริงเท็จอยู่กับผู้กล่าว เขาว่าตรวจได้ในปีนี้พระมหาธาตุองค์ ๑ บริวาร ๕๒ องค์ ของเจ้านายข้าราชการที่มาก่อ ในพระบรมมหาราชวัง ๔๕๗๕ องค์ ฝ่ายพระราชวังบวรฯ ๑๓๘๒ องค์ รวม ๕๙๕๗ องค์ ประมูลทราย คือกองทรายที่ผู้ถูกเกณฑ์ไม่ได้ก่อ ขนทรายกองไว้ในพระบรมมหาราชวัง ๒๘ เกวียน พระราชวังบวรฯ ๖ เกวียน รวม ๓๔ เกวียน คิดเฉลี่ยเป็นองค์ ๓๒๖๘ องค์ รวมทั้งที่ก่อไว้เป็น ๙๒๒๕ องค์

การฉลองพระทรายที่สวดมนต์ในวันจ่ายนี้มีพระสงฆ์สวดมนต์ ๓๐ รูป ใช้พระราชาคณะวัดที่ใกล้เคียงบ้าง ในวัดนั้นเองบ้าง นอกนั้นพระครูเจ้าวัดพระครูมีนิตยภัตทั้งสิ้น พระพุทธรูปที่ใช้ตั้งในการทําบุญนั้นใช้พระในวัดนั้นเอง มีแต่เครื่องนมัสการทองทิศไปตั้งที่พระมหาธาตุของหลวงมีเครื่องนมัสการตระบะมุก เวลาเย็นสวดมนต์ไม่เคยเสด็จพระราชดําเนินเลย ต่อเวลาเช้าเลี้ยงพระในวันสงกรานต์จึงได้เสด็จพระราชดำเนิน เริ่มมีข้าวบิณฑ์ของหลวงตั้งแต่วันนั้นไป ในการพระทรายบรรดาศักดิ์ส่วนพระมหาธาตุเวลาเช้ามีข้าวบิณฑ์อย่างพานสองชั้นตั้งสำรับหนึ่งสำหรับพระทราย บริวารข้าวบิณฑ์อย่างพานทองเหลืองชั้นเดียวอีก ๕๒ พาน เมื่อเสด็จทรงจุดเครื่องนมัสกพระเจ้าลูกเธอไปจุดตระบะมุกและข้าวบิณฑ์เหล่านี้ก่อน ต่อเมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จารแล้ว เคยพระราชทานเทียนชนวนให้ จึงเสด็จพระราชดําเนินทรงประน้ำหอมในที่พระเจดีย์ทรายทั้งปวงทั่วไป ไม่เฉพาะแต่พระทรายหลวง ดูเป็นการเสด็จไปทรงอนุโมทนาในการกุศลของพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการอยู่ด้วยกลายๆ ของไทยธรรมพระสงฆ์มีผ้าชุบอาบผืนหนึ่ง กับธูปมัดเทียนมัดและหมากพลู การที่เสด็จพระราชดําเนินในวันเลี้ยงพระฉลองพระทรายบรรดาศักดิ์นี้ ถ้าเป็นวัดที่ใกล้ๆ เช่น วัดราชประดิษฐ์ วัดราชบพิธ เคยเสด็จพระราชดําเนินทุกปีมิได้ขาด แต่ถ้าเป็นวัดไกลในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เช่นวัดพระนามบัญญัติ[๑] วัดมหาพฤฒารามไม่ได้เสด็จพระราชดําเนิน ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ วัดเทพศิรินทราวาสพระราชดําเนินบ้างไม่ได้เสด็จบ้าง ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระทรายวัดอรุณเสด็จพระราชดําเนินไม่ขาด

ในวันมหาสงกรานต์เวลาค่ำสวดมนต์สรงน้ำพระ ในพระบรมมหาราชวัง แต่ก่อนๆ มาในรัชกาลที่ ๑ ที่ ๒ จำนวนพระสงฆ์ไม่เป็นแน่แล้วแต่ที่ทรงนับถือ ถึงว่าไม่ได้เป็นราชาคณะ แต่เป็นอาจารย์วิปัสสนาก็ได้เข้ามาสรงน้ำ ครั้นตกมาในรัชกาลที่ ๓ เมื่อทรงหล่อพระพุทธรูปเท่าพระชนมพรรษาแล้ว ใช้จํานวนพระสงฆ์เท่าพระพุทธรูปเรียกว่าฉลองพระพุทธรูปพระชนมพรรษา พระราชทานไตรแพรทั้งสิ้น พระที่สรงน้ำนั้นก็เป็นอันเท่าจํานวนพระชนมพรรษาเพิ่มขึ้นปีละองค์ ในรัชกาลที่ ๔ ใช้ตามแบบรัชกาลที่ ๓ มิได้ยักเยื้อง พระสงฆ์ที่จะสรงน้ำนั้นเลือกที่มีอายุมาก ถ้าได้แก่กว่าพระชนมพรรษาเท่าใดก็ใช้ได้ทั้งสิ้น ถ้ายังไม่ครบจํานวนพระชนมพรรษา ก็เลือกพระราชาคณะที่มีอายุมากกว่าทั้งปวงเติมเข้า ยกเสียแต่พระองค์เจ้าหม่อมเจ้าพระราชาคณะ ถึงพระชนมพรรษาน้อยก็ได้สรงน้ำ ครั้นตกมาในรัชกาลปัจจุบันนี้ แรกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติพระชนมพรรษาเพียงสิบหก ถ้าจะสรงน้ำพระแต่สิบหกรูป พระสงฆ์ซึ่งเคยได้รับพระราชทานสรงน้ำสงกรานต์แต่ก่อนก็จะขาดประโยชน์ดูไม่สู้ควร จึงโปรดให้พระสงฆ์ซึ่งเคยได้สรงน้ำมาแต่ก่อนนั้นคงได้สรงน้ำอยู่ทั้งสิ้น ครั้นเมื่อถึงมรณภาพล่วงไปก็โปรดให้ตั้งอัตราลงไว้ว่า ๖๐ รูป เมื่อขาด ๖๐ รูปไปก็เลือกพระราชาคณะที่มีอายุมากเติมขึ้นอีกให้ครบ ๖๐ การสรงน้ำพระจึงได้คงเป็นจำนวนหกสิบมาจนถึงปีนี้ ถ้าสงกรานต์เป็นสี่วัน ก็แบ่งสวดมนต์แบ่งฉันในวันเนาทั้งสองวันๆ ละ ๓๐ รูป ดูจะไม่โหรงน้อยเกินไป ถ้าจะแบ่งวันละ ๘ รูป หรือ ๑๐ รูป ตามจํานวนพระชนมพรรษาอย่างเช่นแต่ก่อนก็ดูจะน้อยโหรงนัก ในการสรงน้ำสงกรานต์นี้ เพราะเป็นการฉลองพระพุทธรูปพระชนมพรรษาด้วย พระพุทธรูปซึ่งตั้งในการสวดมนต์เลี้ยงพระ จึงได้เชิญพระพุทธรูปเท่าพระชนมพรรษาออกตั้ง เริ่มแต่รัชกาลที่ ๓ สืบมาจนบัดนี้

เมื่อพระพุทธรูปพระชนมพรรษาออกตั้งเช่นนี้ ก็มีเครื่องนมัสการวิเศษเพิ่มขึ้น คือมีเทียนธูปเล่มเล็กๆ เท่าพระชนมพรรษาองค์ละคู่ ดอกไม้องค์ละดอก เมื่อทรงจุดเทียนธูปเครื่องนมัสการนี้แล้ว พระราชทานดอกไม้ให้ภูษามาลานำขึ้นไปวางรายตรงหน้าพระพุทธรูปองค์ละดอก พระแท่นเครื่องนมัสการก็ใช้โต๊ะถมพานทองสองชั้น ไม่ใช้เครื่องทองใหญ่ตามธรรมเนียม รุ่งขึ้นในวันซึ่งเป็นวันเนา พระสงฆ์ฉันเช้าสำหรับตามธรรมเนียมเวลาหนึ่ง แล้วทรงถวายไตรแพรพัด แต่ก่อนใช้พัดด้ามจิ้ว แต่ครั้นภายหลังมาเกิดความกริ้วเปรียญองค์หนึ่งซึ่งยังอยู่จนทุกวันนี้ เรื่องไว้เล็บยาวและถือพัดด้ามจิ้วกรีดกรายทํากิริยาที่พัดนั้นไม่งามเป็นที่ทรงรังเกียจ จึงได้โปรดให้เลิกพัดด้ามจิ้วเสีย ใช้พัดขนนกแทน แต่ก่อนมาพระสงฆ์ที่จะไปแห่งใด ตลอดจนเข้าในพระราชวัง มักจะมีพัดด้ามจิ้วมาในย่ามด้วยทุกองค์ พระธรรมยุติกามักจะใช้พัดอย่างเลวๆ ที่เป็นสีเปลือกโปลงหรือสีม่วงไม่มีลวดลาย ในเวลานั้นมีชุมมาก เป็นแฟชันเนเบอลสำหรับถวายพระธรรมยุติกา ซึ่งเป็นต้นตำราถือพัดด้ามจิ้ว แต่พระมหานิกายที่เป็นผู้ใหญ่ๆ ก็ดูไม่ใคร่มีใครใช้ นอกจากได้วันสรงน้ำ พวกหนุ่มๆ เอาอย่างธรรมยุติกาไปถือหนามาก แต่มักจะใช้พัดที่งามๆ มีลวดลาย ตั้งแต่เปรียญองค์นั้นถูกกริ้วแล้ว การถือพัดด้ามจิ้วก็ซาไปจนไม่ใคร่จะเห็นมีผู้ใดถือเข้าวัง แต่ข้างนอกอย่างไรไม่ทราบเลย ข้าพเจ้าเป็นคนหูอยู่นาตาอยู่ไร่ ไม่รู้ไม่เห็นอะไร ว่าไม่ถูก แต่ที่จริงตามใจข้าพเจ้าเองไม่ได้นึกรังเกียจอันใดที่พระสงฆ์จะถือพัดด้ามจิ้ว ถึงการที่กริ้วครั้งนั้นก็ดูเป็นการเลยไปจากเล็บยาวดอก โดยจะถือกันขึ้นอีกก็จะไม่ว่าอันใด ด้วยการที่ห่มผ้าสองชั้นซ้อนเช่นธรรมยุติกาในฤดูร้อนเป็นความลําบากร้อนรนมาก แต่ถ้าใช้พัดเกลี้ยงๆ สีดําหรือสีม่วงอย่างเช่นเคยถือมาแต่ก่อนนั้นจะดีกว่าที่จะใช้เป็นสีแปลบปลาบหรือมีลวดลายทองหยอง เว้นไว้แต่ถ้าผู้ใดไปเอาพัดแพรที่ผู้หญิงฝรั่งถือมาใช้แล้ว เห็นจะต้องตั้งวิวาทบ้าง แต่ในการสรงน้ำสงกรานต์นี้ เป็นเฉพาะองค์พระสงฆ์ที่ทรงนับถืออยู่ ถึงว่าจะชราอาพาธมาไม่ได้ก็ไม่ได้ยกเว้น ต้องให้ฐานานุกรมมาแทน ถ้าเป็นฐานานุกรมมาแทนเช่นนั้นเพิ่มขวดน้ำหอมขึ้นอีกขวดหนึ่ง เพื่อจะได้ไปถวายแก่ผู้ที่ได้รดน้ำนั้น เมื่อได้รับไตรแล้วจึงออกไปสรงน้ำ เว้นไว้แต่ผู้ที่มาแทนไม่ได้สรงน้ำด้วย ที่สรงน้ำแต่ก่อนว่าใช้อ่างหรือขันเชิง มีกาลักน้ำบัวตะกั่วอย่างไทยๆ แต่ข้าพเจ้าไม่ได้เห็นหรือจําไม่ได้ มาจําได้เห็นแต่ที่สรงหน้าพระที่นั่งประพาสพิพิธภัณฑ์คือที่พระที่นั่งศิวาลัยมหาปราสาทเดี๋ยวนี้ และที่หน้าโรงกระษาปณ์เก่า ภายหลังที่สนามหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทบ้าง เขาไกรลาสในสวนขวาบ้าง ที่สรงนั้นดาดปะรำผ้าขาวแขวนพวงดอกไม้สด ถ้าเป็นที่มีแดดส่องเข้าไปถึงที่สรงก็ใช้บังตะวันอันหนึ่งบ้างสองอันบ้าง มีคนมาถือบ้าง ใช้บัวอย่างฝรั่งที่เปลี่ยนสายน้ำต่างๆ เพราะใช้น้ำท่อซึ่งสูบมาแต่แม่น้ำ ในเวลาที่สรงนั้นประโคมแตรสังข์พิณพาทย์ มีสุหร่ายอย่างหนึ่งซึ่งเป็นเครื่องราชบรรณาการมาในครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ที่เดี๋ยวนี้จะหาซื้อไม่ได้ ด้วยเขาเลิกแบบนั้นเสียแล้ว แต่ข้าพเจ้าอยู่ข้างหยอดมาแต่เล็กจนเดี๋ยวนี้ดูน่าเล่นนัก สุหร่ายนั้นไม่ได้กรอกน้ำตามธรรมเนียม ใช้ขันควงติดกับกระบอกฉีด กระบอกฉีดนั้นวางลงในขันแล้วสูบเข้าไปข้างก้นสุหร่าย อัดเข้าไปทั้งน้ำทั้งลมพร้อมกัน เมื่อเต็มที่แล้วหันสุหร่ายออกจากกระบอกฉีดมาตั้งไว้เท่าใดเท่าใดก็ได้ เวลาที่สรงน้ำพระจึงเปิดก๊อก น้ำก็ฉีดออกจากสุหร่ายเอง ไม่ต้องฟาดต้องเขย่าหรือบีบอย่างหนึ่งอย่างใดเลย น้ำเป็นสายเล็กพุ่งไปได้ถึงสิบศอกสามวา รดถึงองค์พระได้ทุกองค์ เว้นแต่ท่านขุนศรีสยุมพรแกมักขลุกขลักเกิดความบ่อยๆ คือน้ำอบที่แกสูบเข้าไปนั้นมีผงเสียมากๆ บางทีสายน้ำก็เบี้ยวเฉโก๋ไป บางทีก็ไหลปรีดๆ อยู่เสมอปากช่องสุหร่าย บางทีก็ถึงต้องแหย่ต้องเป่ากันประดักประเดิด และอะไรมันจะหลวมๆ เพราะเก่าอยู่หน่อยหนึ่ง ถ้าสูบเต็มๆ มาตั้งไว้มักเป็นน๊ำซึมซาบอาบเอิบอยู่ทั่วๆ สุหร่าย แต่ถ้าแก้ไขให้ดีคงดีได้ สุหร่ายเช่นนี้มีสองอันพอสูบผลัดเปลี่ยนกันทันไม่ขาดพระหัตถ์ ดูความคิดเก่าในเรื่องนี้เขาดีกว่าเครื่องบีบน้ำอบฝรั่งที่มีมาใหม่ๆ แต่ชมเพ้อเจ้อจะห้องเส็งหรืออย่างไรไม่ทราบเลย สุหร่ายสองอันนี้ดูเป็นใช้น้ำอบอย่างเทือกแป้งสด แต่น้ำอบดีๆ อย่างพระสุคนธ์ใช้สุหร่ายลงยาอันหนึ่ง สุหร่ายเงินอันหนึ่ง สุหร่ายลงยานั้นทรงประเวลาที่พระจะขึ้นจากสรงน้ำ สุหร่ายเงินพระราชทานพระเจ้าลูกเธอไปประเวลาเมื่อพระเดินไปจากที่สรงน้ำ แต่สุหร่ายสองอันนี้ต้องใช้ฟาดอย่างเมื่อยแขน และมักเปียกเสื้อทั้งสองสุหร่าย แล้วยังมีน้ำอบกรอกขวดอัดอย่างเก่าไปเทซ่าๆ ลงในมือพระอีกแห่งหนึ่งด้วย พระสงฆ์ที่ลงสรงน้ำทีละสองบ้างสามบ้างสี่บ้าง ตามบรรดาศักดิ์และตามที่มากที่น้อย ใช้นุ่งสบงห่มอังสะของเดิม สรงน้ำแล้วจึงไปห่มไตรแพรซึ่งได้พระราชทานใหม่ แล้วกลับไปฉันข้าวแช่ในท้องพระโรง ไม่มีของไทยธรรมอันใดนอกนี้อีก วันนี้พระสงฆ์อนุโมทนามีสัพพพุทธาด้วย

ในเวลาบ่ายของวันเนานั้นเป็นเรื่องฉลองพระทรายเตียงยกคือพระทรายที่ก่อบนม้า ๑๐ องค์ ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ตั้งไว้ที่เฉลียงพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยด้านตะวันออก เวลาค่ำพระราชาคณะสวดมนต์ ๓๐ รูป

รุ่งขึ้นวันเถลิงศกเวลาเช้าพระพุทธรูปก็เปลี่ยน เชิญพระพุทธรูปพระชนมพรรษาที่ตั้งบนพระที่นั่งเศวตฉัตรกลับ พระที่นั่งเศวตฉัตรไว้เป็นที่ตั้งพระบรมอัฐิ พระพุทธรูปที่ใช้ในเช้าวันนี้ตั้งที่โต๊ะหมู่หรือบนธรรมาสน์ เชิญพระชนมพรรษาวันของพระบรมอัฐิ และพระอัฐิซึ่งได้กล่าวมาแล้วในการทําบุญกาลานุกาลแต่ก่อนออกตั้งและเติมพระสงฆ์ฉันขึ้นตามจำนวนพระอัฐิที่สดับปกรณ์ในท้องพระโรง พระสงฆ์สำรับนี้ก็ฉันเช้าเพลเหมือนกัน แต่ไม่มีสรงน้ำ คือตั้งแต่เวลาเช้าเสด็จทรงบาตร เป็นการทรงบาตรนักขัตฤกษ์เหมือนอย่างเข้าพรรษาและตรุษ แล้วเสด็จขึ้นหอพระ เจ้าพนักงานเชิญพระบรมธาตุในระย้ากินนรออกมาตั้งไว้บนพานแก้ว แบ่งเป็นห้าส่วนตามโกศพระบรมธาตุ และมีเครื่องพระสุคนธ์ตั้งอยู่ข้างนั้น ทรงฉลองพระหัตถ์ลงยาสรงพระบรมธาตุแล้ว ทรงสุหร่ายประพรมพระพุทธรูปในหอพระนั้นทั่วทุกแห่งแล้วจึงเสด็จหอพระบรมอัฐิ เจ้าพนักงานเชิญพระบรมอัฐิลงมาตั้งไว้ที่ม้ายาวเรียงตามลําดับ เปิดพระโกศไว้ทุกองค์ ทรงน้ำหอมสรงพระบรมอัฐิและพระอัฐิซึ่งอยู่ในหอพระแล้ว จึงสรงพระอัฐิซึ่งไม่ได้อยู่ในหอพระที่เจ้าพนักงานเชิญมาตั้งไว้ที่พระแท่นสีหบัญชร แล้วจึงได้เสด็จออกทรงประเคน พระสงฆ์รับพระราชทานฉันเช้า ถ้าพระฤกษ์สรงมุรธาภิเษกเช้า ก็สรงมุรธาภิเษกก่อนแล้วจึงได้สดับปกรณ์และเลี้ยงพระเพล ถ้าพระฤกษ์สายบางทีก็สดับปกรณ์ก่อนฉันเพล แล้วจึงสรงมุรธาภิเษก ไม่เป็นกําหนดแน่ ผ่อนไปผ่อนมาตามฤกษ์ การตกแต่งตั้งพระบรมอัฐิก็เหมือนกันกับกาลานุกาลอื่นๆ แปลกแต่พระบรมอัฐิเชิญออกช้ากว่าการอื่นๆ ด้วยในเวลาเสด็จขึ้นหอพระนั้น พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายในนำผ้าคู่ขึ้นมาถวายสดับปกรณ์พระบรมอัฐิ มีน้ำอบขึ้นมาสรงพระบรมอัฐิพระอัฐิด้วย เมื่อเสด็จออกข้างหน้าแล้วจึงได้สรง ต่อสรงแล้วเจ้าพนักงานจึงได้เชิญพระบรมอัฐิออก

บัดนี้จะว่าด้วยเรื่องสรงมุรธาภิเษก ซึ่งเป็นธรรมเนียมมีมาแต่โบราณ พระเจ้าแผ่นดินสรงในวันเถลิงศกสืบมามิได้ขาด ไม่มีคราวยกเว้น มีบ้างไม่มีบ้าง มากบ้างน้อยบ้าง เหมือนอย่างการเฉลิมพระชนมพรรษารับเปลี่ยนทักษา จันทรุปราคา สุริยุปราคา หรือสนานพระราชพิธีต่างๆ เช่นมีมาในกฎมนเทียรบาล การสรงมุรธาภิเษกสงกรานต์นี้ ดูเป็นตําแหน่งของพระเจ้าแผ่นดิน ที่จะต้องสรงสำหรับบ้านเมือง มิใช่สรงอย่างพระหรืออย่างคนแก่ได้รดน้ำ ก็เป็นการแปลกอยู่อย่างหนึ่ง ที่ธรรมเนียมสงกรานต์แล้วลูกหลานพี่น้องต้องไปรดน้ำผู้ใหญ่ในตระกูลที่เป็นที่นับถือ แต่พระเจ้าแผ่นดินถึงจะทรงพระชราเท่าใด พระบรมวงศานุวงศ์ไม่มีผู้ใดได้ถวายน้ำเหมือนอย่างพระบรมวงศานุวงศ์ที่ทรงพระชราอื่นๆ เลย มีแต่สรงมุรธาภิเษกนี้อย่างเดียว

พระแท่นสรงมุรธาภิเษกแต่ก่อนก็ใช้แต่พระแท่นแว่นฟ้า มีบัวกลุ่มทาขาวปิดทองตามขอบ ตั้งบนฐานเฉลียงมีพนัก ปักฉัตร เครื่องมุรธาภิเษก ไม่ได้ใช้ทุ้งสหัสธารา ทรงตักในขันสรงเหมือนอย่างทรงเครื่องใหญ่ตามธรรมเนียม ด้วยเพดานพระแท่นนั้นมีแต่ระบายรอบ ไม่ได้ปักเศวตฉัตรสหัสธารา คงใช้แต่เวลาบรมราชาภิเษก ด้วยมณฑปพระกระยาสนานเป็นซุ้มยอดเป็นที่ซ่อนถังน้ำได้ เพราะเหตุที่ไม่ใคร่จะได้เคยใช้สหัสธาราเช่นนั้น เมื่อบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพนักงานจัดการไม่ชํานาญ เมื่อเวลากระตุกเชือกแป้นขัดเสีย กระตุกแรงเชือกขาดน้ำไม่เดินต้องถึงปีนขึ้นไปเปิด แต่นั้นมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงพระราชดําริพระแท่นสรงขึ้นใหม่ ให้ใช้สหัสธาราได้ทุกครั้ง คือให้มีเศวตฉัตรตั้งอยู่บนหลังเพดานพระแท่น เป็นที่บังถังน้ำ พระแท่นเช่นนี้เมื่อจะว่าไป ดูงามยิ่งกว่ามณฑปพระกระยาสนานเสียอีก เมื่อจะตั้งจะประกอบควบคุมก็ง่าย ด้วยเป็นของเบาๆ ทั้งสิ้น เป็นพระราชดําริอันดียิ่งนัก และสหัสธารานี้ยกไว้เป็นพระเกียรติยศใหญ่ ใช้ได้แต่เฉพาะพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียวแต่โบราณมา ถึงว่าสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช หรือพระมหาอุปราช สมเด็จพระเจ้าลูกเธอซึ่งพระราชทานพระเกียรติยศให้สรงพระเต้าเบญจคัพย์ ทรงพระที่นั่งพุดตาล ได้บวรเศวตฉัตรเจ็ดชั้น ก็ไม่ได้เคยพระราชทานให้สรงสหัสธาราแต่สักครั้งหนึ่งเลย สหัสธารา เป็นของคู่กันกับนพปฎลมหาเศวตฉัตร เมื่อพระแท่นมียอดเป็นนพปฎลมหาเศวตฉัตรแล้วมีสหัสธาราภายใต้นั้น ดูก็ยิ่งสมควรถูกเรื่องมาก น้ำซึ่งใช้ในสหัสธารานั้นใช้น้ำสี่สระ น้ำสระแก้ว สระเกศ สระคา สระยมนา รวมกัน น้ำสี่สระนี้[๒]เป็นน้ำสำหรับบรมราชาภิเษกมาแต่ครั้งพระร่วงกรุงสุโขทัย มีลัทธิถือกันว่าน้ำสี่สระนี้ ถ้าผู้ใดเอาไปกินอาบเป็นเสนียดจัญไร มักให้เปื่อยพังและมีอันตรายต่างๆ ที่ว่านี้ตามคำกล่าวไว้แต่โบราณ ผู้ที่มีความเคารพยําเกรงต่อพระเจ้าแผ่นดินอยู่ ก็ไม่มีผู้ใดที่จะคิดอ่านทดลอง ได้ทราบคำเล่าบอกว่ามีผู้ที่ฟุ้งๆ วุ่นวายได้ทดลองก็บังเกิดอันตรายต่างๆ เพราะผู้นั้นมีจิตใจไม่สู้สุจริตอยู่แล้ว ครั้นจะพรรณนายืดยาวไปก็ดูเป็นจะเชื่อถือกระไรมิรู้อยู่ ขอสงบไว้ทีหนึ่ง ตัวสหัสธารานั้นทำด้วยเงินมีช่องปรุเป็นฝักบัว แล้วมีดอกจำปาทองคำห้อยรายรอบ เมื่อเสด็จขึ้นสู่ที่สรงทรงเครื่องพระกระยาสนานเสร็จแล้ว จางวางและเจ้ากรมภูษามาลาจึงได้กระตุกสายเชือกให้แป้นที่ขัดเคลื่อนเปิดน้ำลงตามทุ้งสหัสธารา แต่พระแท่นนั้นเพราะเป็นการสรงประจําปีอยู่เสมอ จึงได้โปรดให้ก่ออิฐหุ้มศิลาขึ้นไว้ที่ปากอ่างปลาเงินปลาทองข้างพระที่นั่งอัมรินทรวินิจฉัย เมื่อเวลาจะสรงมุรธาภิเษกก็มีแต่เสาโครงเพดานและอ่างสรงมาตั้ง ถ้าไม่ใช่เวลาสรงก็เป็นพระแท่นโถงสำหรับประทับประพาสชมปลาเงินปลาทอง ต่อเวลาสรงมุรธาภิเษกในที่อื่น จึงได้ตั้งพระแท่นไม้อย่างแต่ก่อน ถาดซึ่งเป็นเครื่องรองที่สรงนั้น ในการบรมราชาภิเษกมีตําราให้ใช้ถาดทองแดง ถาดนั้นเป็นรูปกลม แต่การสรงมุรธาภิเษกตามธรรมเนียมเช่นนี้ใช้อ่างไม้รูปรี เป็นไม้หน้าใหญ่ทั้งแท่ง ที่ขอบอ่างนั้นปิดทองคำเปลว พื้นอ่างคงไว้เป็นไม้ ม้าที่สำหรับประทับสรงเรียกว่าตั่ง ทำด้วยไม้มะเดื่อรูปกลมมีขาสี่หุ้มผ้าขาว ตั่งไม้มะเดื่อนี้เป็นเครื่องสำหรับอภิเษก ใช้เฉพาะแต่พระเจ้าแผ่นดิน พระอัครมเหสี พระราชเทวี และพระสังฆราช กับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า เคยโปรดให้มีในเวลาลงสรง และโสกันต์ รับพระสุพรรณบัฏ ไม่เป็นของใช้ทั่วไป เป็นของเฉพาะแต่ผู้ที่ได้รับอภิเษก เมื่อวันที่สรงมุรธาภิเษกนั้นเป็นวันใด ก็จัดที่สรงผันพระพักตร์ต่อทิศศรีของวันนั้น ผันพระขนองตรงทิศกาลกิณี ในพื้นอ่างซึ่งเป็นที่ห้อยพระบาทริมตั่งนั้น ทอดใบไม้นามกาลกิณี เป็นที่ทรงเหยียบในเวลาสรง ที่ตรงพระพักตร์ตั้งถาดสรงพระพักตร์ มีครอบเครื่องพระมุรธาภิเษก เมื่อเพลาทรงเครื่องมุรธาภิเษกไขน้ำสหัสธาราแล้ว ภูษามาลาจึงได้ถวายพระเต้าต่างๆ อย่างเช่นที่กล่าวมาแล้วในเรื่องจัดพระแท่นมณฑลในการพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ ยกเสียแต่พระเต้าปทุมนิมิต ๔ องค์ เป็นแต่สรงตามธรรมเนียมเช่นนี้ไม่ได้ใช้ เมื่อสิ้นพระเต้าภูษามาลาแล้ว ชาวที่ใหญ่จึงได้ถวายพระเต้าห้ากษัตริย์และพระเต้าทองขาว โหรถวายพระเต้านพเคราะห์ พระมหาราชครูพิธีถวายพระเต้าเบญจคัพย์ พระเต้าเบญจคัพย์นี้ ซึ่งไปเป็นหน้าที่ของพราหมณ์ถวายนั้น เพราะไม่ได้เป็นน้ำพระพุทธมนต์ เป็นน้ำพราหมณ์ เรื่องเดียวกันกับการพระราชพิธีต่างๆ ที่จะทําแล้วต้องสรงน้ำเทวรูปด้วยน้ำเบญจคัพย์ เช่นได้กล่าวมาในพระราชพิธีตรียัมพวายเป็นต้น พระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้ได้รับยศและการปฎิบัติบูชาของพราหมณ์ เหมือนอย่างพระเป็นเจ้า คือพระอิศวรนารายณ์องค์หนึ่ง จําเดิมแต่บรมราชาภิเษกมา พราหมณ์ก็ถวายพระเต้าเบญจคัพย์ให้สรงและเชิญเสด็จขึ้นภัทรบิฐซึ่งวางคาโรยแป้งอย่างเช่นเชิญพระเป็นเจ้าขึ้น และอ่านเวทสรรเสริญไกรลาส เบญจคัพย์นั้นมีคนหูป่าตาเถื่อนแต่ช่างเดาเขาเดาเล่าต่างๆ แต่ที่แท้พระเต้าเบญจคัพย์สำหรับพระเจ้าแผ่นดินนี้ผู้ใดเดาไม่ถูก ผู้เล่าเรื่องที่ไม่รู้จักได้ออกชื่อเมื่อตะกี้นี้นั้น แต่จะแปลชื่อเบญจคัพย์ก็ไม่ออก แต่ถึงว่าจะไปหาผู้รู้แปลชื่อออก จะเป็นพระราชาคณะผู้หลักผู้ใหญ่ผู้ใดก็แปลออกแต่ชื่อ ที่จะบอกลักษณะอาการของพระเต้านั้นไม่ถูกเลย เว้นไว้แต่ได้เห็น ด้วยพระเต้านั้นไม่ต้องกันกับชื่อ ถ้าคิดตามชื่อ คงจะต้องเข้าใจว่าห้าห้องหรือห้าลอน ที่แท้พระเต้านั้นเป็นเต้าตามธรรมเนียม มีแผ่นทองคําลงยันต์กลมๆ ห้าแผ่นแช่อยู่ในน้ำก้นพระเต้า การที่ชื่อพระเต้าไม่ถูกกันกับพระเต้านี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชดําริหลายอย่าง ทรงเห็นว่าของเดิมเขาจะเป็นห้าห้องดอกกระมัง ก็ได้โปรดให้ลองทำขึ้นองค์หนึ่ง มีดอกนพเก้าอยู่กลาง ภายใต้ดอกนพเก้ามีขายื่นลงไปห้าขา ใช้โลหะขาละอย่าง เป็นห้ากษัตริย์ ลงยันต์เบญจคัพย์ตามขาทั้งห้าขา เป็นแต่ทรงทําลองขึ้น ไม่อาจที่จะเปลี่ยนพระเต้าเบญจคัพย์เก่า คงใช้เป็นแต่สำหรับภูษามาลาถวายเหมือนพระเต้าอื่นๆ พระเต้าเบญจคัพย์องค์เก่ามีมาแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ดูก็เป็นอัศจรรย์อยู่ ที่บ้านเมืองเวลานั้นไม่ปรกติเรียบร้อย เหตุใดสิ่งของซึ่งมีราคามากงดงามถึงเพียงนั้นจึงได้เข้ามาขายถึงกรุงเทพฯ พระเต้านั้นทำด้วยโมราสีเหลืองทั้งแท่งมีหูในตัว ทรวดทรงสัณฐานนั้นก็เป็นอย่างแขกหรืออย่างฝรั่ง ที่ขอบฝาและตัวพระเต้ามีเฟื่องประดับด้วยเพชรเป็นเรือน ทับทิมเป็นดอก พระเต้านี้มีมาแต่ประเทศอินเดีย พ่อค้าแขกผู้หนึ่งได้รับพระบรมราชานุญาตไปจัดซื้อมาพร้อมกับเครื่องราชูปโภคอื่นๆ หลายอย่าง พิเคราะห์ดูฝีมือที่ทำไม่ใช่เป็นฝีมือแขก เห็นจะมาแต่ประเทศยุโรป จะเป็นมหารายาในประเทศอินเดียองค์ใดองค์หนึ่งสั่งให้ทํา แต่ภายหลังจะมีเหตุขัดสนอย่างไรจึงได้ซื้อขายเป็นการเลหลังมา ราคาจึงไม่สู้แพง เมื่อว่าตามฝีมือที่ทํา ทั้งเพชรและพลอยทับทิมซึ่งเป็นพลอยมีราคามากในเวลานี้ ถ้าจะสั่งให้ทําใหม่ราคาคงจะไม่ต่ำกว่าร้อยห้าสิบชั่ง พระเต้าองค์นี้ได้ใช้เป็นพระเต้าสำหรับบรมราชาภิเษกมาแต่ปฐมรัชกาล และในเวลาเมื่อเสด็จขึ้นพระที่นั่งอัฐทิศ ราชบัณฑิตถวายภูมิสถานพระราชอาณาเขตด้วยน้ำ ก็ทรงรับด้วยพระเต้าเบญจคัพย์องค์นี้ทั้งแปดทิศ แต่พระเต้าองค์นี้ไม่ได้ใช้สรงแต่เฉพาะพระเจ้าแผ่นดินองค์เดียว มีตําราว่าบรรดาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า ซึ่งพระมารดาเป็นลูกหลวงหลานหลวงในพระบรมราชวงศ์ มิใช่เช่นเจ้าฟ้ากุณฑล ถ้าพระเจ้าแผ่นดินโปรดพระราชทานให้สรงก็สรงได้ ไม่มีเสนียดจัญไร แต่ต้องพระราชทานเองด้วยพระหัตถ์ ไม่ได้ใช้พราหมณ์ถวาย ได้เคยพระราชทานมาแต่เดิมหลายพระองค์ แต่ถ้าเจ้านายซึ่งพระมารดาไม่ได้เป็นลูกหลวงหลานหลวง ถึงจะได้รับบรรดาศักดิ์ใหญ่ เช่นกรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพ ได้รับอุปราชาภิเษกนั่งตั่งไม้มะเดื่อมีเศวตฉัตรเจ็ดชั้น และกรมสมเด็จพระปรมานุชิตได้ทรงรับสมณุตมาภิเษกนั่งตั่งไม้มะเดื่อ ก็ไม่ได้พระราชทานพระเต้าเบญจคัพย์ ด้วยถือว่ากลับเป็นเสนียดจัญไร การที่ถือเช่นนี้มาตามทางลัทธิพราหมณ์ ซึ่งถือชาติอย่างเช่นเป็นอยู่ในประเทศอินเดีย ต่อเป็นขัตติยสองฝ่ายจึงนับเป็นขัตติยแท้ พราหมณ์สองฝ่ายจึงนับเป็นพราหมณ์แท้เป็นต้น ธรรมเนียมพระราชทานพระเต้าเบญจคัพย์นี้ยังคงยั่งยืนมาจนปัจจุบันนี้ แต่พระเต้าเบญจคัพย์ใหญ่ ใช้ต่อเมื่อเวลาสรงมุรธาภิเษกเป็นการใหญ่ การประจําปีใช้แต่วันเถลิงศกและเฉลิมพระชนมพรรษา ถ้าสรงมุรธาภิเษก สุริยุปราคา จันทรุปราคา ใช้พระเต้าเบญจคัพย์น้อย ศิลาหยกเขียวจุกเป็นดอกนพรัตน์ไม่มีเครื่องประดับอื่นๆ แต่มียันต์ห้ารองเหมือนพระเต้าเบญจคัพย์ใหญ่ เมื่อพระมหาราชครูถวายพระเต้าเบญจคัพย์แล้ว จึงถวายน้ำพระมหาสังข์ที่พระหัตถ์แล้ว ถวายข้างพระขนอง เจ้ากรมปลัดกรมพราหมณ์ทั้งปวงนอกนั้นถวายพระมหาสังข์ห้าซึ่งยังเหลืออยู่สี่องค์ คือพระมหาสังข์ทอง พระมหาสังข์เงิน พระมหาสังข์นาค พระมหาสังข์งาจำเริญและสังข์สำริดเครื่องมุรธาภิเษก หน้าที่พราหมณ์พฤฒิบาศถวาย เมื่อพราหมณ์ถวายน้ำสังข์เสร็จแล้ว จึงเสด็จขึ้นเปลื้องพระภูษาถอด คือพระภูษาขาวและทรงสะพักขาว พระราชทานแก่พระมหาราชครูพราหมณ์ ในขณะเมื่อสรงนั้นประโคมสังข์ทักษิณาวรรต สังข์อุตราวัฏ บัณเฑาะว์ฆ้องชัยแตรสังข์พิณพาทย์ มีมโหรีกรมภูษามาลา ซึ่งเป็นของมีมาแต่เดิม สูญไปเสียในรัชกาลที่ ๔ มาจัดขึ้นใหม่ปัจจุบันนี้อีกสำรับหนึ่ง ถ้าวันใดเป็นวันที่สรงมุรธาภิเษกก็ทรงพระภูษาตามสีวัน แต่ลัทธิสีวันของกรมภูษามาลาไม่เหมือนกันกับที่ใช้สีตามกําลังวันอยู่สองสี คือวันพฤหัสบดี ตามที่โหรว่าเป็นสีเหลือง ภูษามาลาว่าสีน้ำเงิน วันศุกร์ซึ่งว่าเป็นสีเลื่อมประภัสสรหรือใช้สีน้ำเงินกันอยู่นั้น ภูษามาลาว่าสีเหลือง เรื่องสีที่เถียงกันนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงซักไซ้ไล่เลียงพระยาอุทัยธรรม (เพชร) ปู่พระราชโกษาเดี๋ยวนี้[๓] หลายครั้งหลายคราว แกไม่ยอมเลยเป็นอันขาด ว่าตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ก็ได้เกิดถุ้งเถียงกันแล้วตกลงตามอย่างภูษามาลาเช่นนี้ ว่าเคยใช้มาแต่ครั้งกรุงเก่า เพราะตระกูลนี้เขาเป็นภูษามาลามาแต่แผ่นดินพระมหาบุรุษเพทราชา สืบเนื่องตระกูลกันมาไม่ได้ขาด บิดาพระยาอุทัยธรรม (เพชร) เป็นผู้อยู่งานเครื่องสูงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า เมื่อเสด็จกลับจากเมืองนครเสียมราฐ เมื่อจะปราบดาภิเษก เสด็จประทับพลับพลาหน้าวัดพระเชตุพน เวลานั้นเป็นแต่มหาดเล็กเลว รับสั่งเรียกให้มาอยู่งานเครื่องสูง ยกย่องว่าเป็นตระกูลเก่า พระยาอุทัยธรรม (เพชร) ก็ได้รับราชการทรงเครื่องใหญ่ มาแต่รัชกาลที่ ๑ จึงเป็นที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงนับถือว่าเป็นผู้รู้มาก การที่ยืนยันเรื่องสีวันนี้ก็ทรงยอม ถ้าสรงมุรธาภิเษกแล้วก็ทรงพระภูษาสีวันแบบภูษามาลา เว้นไว้แต่ถ้ารับเปลี่ยนทักษาต้องตกลงยอมตามสีโหร การเรื่องเถียงกันในภูษามาลาเช่นนี้ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง คือพระชฎากลีบ และพระชฎาเดินหน ก็เป็นเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งอยู่เสมอ แต่ทรงถือเสียว่าเป็นลัทธิภูษามาลา ลัทธิอื่นไม่เห็นทรงตัดสินเด็ดขาด ถ้าจะเป็นการผิดในภูษามาลา ก็คงจะเลือนเหมือนเรื่องเครื่องแต่งตัวนางมหาสงกรานต์ที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น เมื่อทรงเครื่องเสร็จแล้ว ใบไม้อันใดต้องกับสีวันพระชนมพรรษาเดิม ก็ทรงทัดดอกไม้นั้น ใบไม้อันใดต้องกับเดชวันพระชนมพรรษาเดิม ก็ทรงถือใบไม้นั้น แล้วจึงเสด็จออกทรงสดับปกรณ์ หรือถ้าสดับปกรณ์แล้วก็ออกพระสงฆ์ยถาสัพพี วันนี้มีอทาสิเม พระทรายเตียงยกนั้น เมื่อเวลาพระสงฆ์ไปแล้ว ทรงสุหร่ายประพรมน้ำหอม และในเวลาเมื่อพระสงฆ์ฉันมีข้าวบิณฑ์ตั้งที่พระทรายทุกองค์ด้วย เวลาเสด็จขึ้นแล้วตั้งบายศรีเวียนเทียนพระทรายเสร็จแล้ว จึงได้มีกระบวนแห่พระทรายออกไปส่งวัดมหาธาตุ จํานวนกระบวนแห่ธงมังกรหน้า ๓๐ หลัง ๒๐ คู่ แห่หน้า ๓๐ หลัง ๒๐ กลองชนะ ๒๐ จ่าปี่ ๑ จ่ากลอง ๑ แตรงอน ๖ แตรฝรั่ง ๔ สังข์ ๑ พระทรายนั้นไปเทไว้ตามลานวัดเฉยๆ ไม่มีพิธีรีตองอันใด

เครื่องไทยทานซึ่งสำหรับใช้สดับปกรณ์ในการสงกรานต์นี้ ใช้ผ้าคู่คือผ้าขาวเนื้อหนาขนาดผ้านุ่งผืนหนึ่ง ผ้าขาวเนื้อบางขนาดผ้าห่มผืน ๑ อย่างพระภูษาถอดที่สรงมุรธาภิเษกนั้นเอง เป็นผ้าสำหรับคฤหัสถ์นุ่งห่มไม่เป็นของสำหรับพระสงฆ์เลย แต่ซึ่งเกิดใช้ผ้าคู่เช่นนี้ทำบุญขึ้นนั้น เห็นว่าจะมาจากผ้านุ่งห่มรดน้ำสงกรานต์ซึ่งใช้กันอยู่ทั่วๆ ไป ถึงพระเจ้าแผ่นดินก็พระราชทานรดน้ำพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ใหญ่ที่สูงอายุ สืบมาจนถึงปัจจุบันนี้ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จะพระราชทานรดน้ำผู้ใดบ้างสืบไม่ได้ความ ได้ความแต่เพียงที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งเล่าว่าได้ทรงเป็นผู้รับผ้าหลวงน้ำหลวงไปสรงเจ้าครอกวัดโพ คือกรมหลวงนรินทรเทวี ซึ่งได้เป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอในเวลานั้น เมื่อเวลาเสด็จไปถึงแล้ว ท่านเคยรับสั่งเรียกกรมหมื่นนรินทร ซึ่งเป็นพระสามีให้มาเฝ้า สอนให้กราบเสีย ว่าเจ้าไม่ได้เป็นเจ้าเป็นนาย กรมหมื่นนรินทรก็มาหมอบอยู่ที่เฉลียงต่ำๆ รับสั่งเล่าเป็นการสนุกในเรื่องหนึ่งต่างหาก แต่พอได้เค้าว่ากรมหลวงนรินทรเทวีเป็นผู้ได้รดน้ำองค์หนึ่ง แต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นได้ความว่า พระราชทานรดน้ำแต่พระบรมวงศ์ผู้ใหญ่น้อยพระองค์ นอกนั้นมีเจ้าจอมมารดาในรัชกาลที่ ๒ ซึ่งมีอายุไล่เลี่ยกับกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัยห้าหกคน ท่านพวกนั้นได้พระราชทานเงินคนละ ๒ ชั่งด้วย ส่วนที่สรงน้ำกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัยนั้น มีผ้าลายผ้าแพรขาวสองสำรับ ผ้าลายกุลีหนึ่งต่างหาก แพรขาว ๒ ม้วน ตาดอีกม้วนหนึ่ง เงินตรา ๒๐ ชั่ง ในรัชกาลที่ ๔ บรรดาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ และพระเจ้าพี่นางเธอ เสนาบดี ซึ่งมีอายุแก่กว่าพระชนมพรรษา ถ้าอายุครบ ๖๐ ปีถ้วน ก็ได้พระราชทานรดน้ำทุกพระองค์ทุกท่าน ในรัชกาลปัจจุบันนี้ก็เหมือนอย่างแบบรัชกาลที่ ๔ เว้นแต่กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร ใช้ตามแบบกรมสมเด็จพระศรีสุลาลัย นอกนั้นฝ่ายหน้าได้พระราชทานผ้าลายสำรับหนึ่ง ผ้าพื้นสำรับหนึ่ง ฝ่ายในผ้าลายทั้งสองสำรับ ยังมีท่านเรืองซึ่งเป็นขรัวยายทวดรับเบี้ยหวัดมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ เป็นขรัวยายสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ ได้พระราชทานรดน้ำผ้าลายแพรขาว ๒ สำรับ และเงิน ๓ ชั่งเสมอมา ที่กล่าวยืดยาวด้วยเรื่องรดน้ำนี้ เพื่อจะแสดงราชประเพณี ซึ่งพระราชทานรดน้ำในเวลาสงกรานต์นี้ด้วย และเพื่อจะยกเป็นเหตุพิจารณาในเรื่องผ้าคู่สดับปกรณ์ด้วย จึงได้กล่าวไว้ในที่นี้ เพราะการพระราชกุศลในสงกรานต์นี้อยู่ข้างสับสนหลายเรื่องหลายอย่างนัก บัดนี้จะได้กล่าวด้วยเรื่องผ้าคู่ต่อไป ผ้าคู่ที่ใช้ทำบุญอยู่เป็นอย่างคฤหัสถ์นั้น คงจะออกจากผู้ที่ได้เคยรับพระราชทานผ้ารดน้ำแต่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ถ้าจะใช้ผ้าลาย ผ้าแพรอย่างเดิม ก็จะยิ่งไม่เป็นประโยชน์อันใดแก่พระสงฆ์หนักขึ้น จึงได้เปลี่ยนใช้เสียเป็นผ้าขาว คำที่เรียกว่าผ้าคู่นั้นดูเสียงอยู่ข้างจะเพราะ เข้าเค้าบาล่ำบาลีดี มีผู้ให้คู่ผ้าแก่ใครๆ เป็นรางวัล มีผู้ถวายคู่ผ้าแด่พระพุทธเจ้าเช่นโกมารภัจเป็นต้น คําว่าคู่ผ้าที่ใช้มาในบาลีเช่นนี้ คงจะเป็นผ้าสองผืน แต่ผืนโตๆ สำหรับใช้นุ่งผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่ง เพราะปรกติคนในประเทศอินเดีย เวลานั้นจนตลอดเวลานี้ก็ดี ยังใช้ผ้านุ่งผืนโตๆ ผ้าห่มผืนโตๆ สองผืน คนที่เป็นคฤหัสถ์กับพระสงฆ์แต่งตัวจะไม่ใคร่ผิดกันนัก จะแปลกแต่สีเป็นย้อมฝาดพวกหนึ่ง ใช้ผ้าขาวล้วนหรือสีต่างๆ พวกหนึ่ง คู่ผ้าของคฤหัสถ์เมื่อถวายพระสงฆ์ๆ ก็ใช้นุ่งห่มได้พอ แต่ผ้าคู่ของเรานี้ไม่ได้การ อยู่ข้างจะไม่เป็นประโยชน์แก่พระเลย เกือบๆ จะเหมือนได้พัดหางปลาเป็นของไม่มีราคาอันใด เพราะจะบริโภคใช้สอยไม่ได้ สำหรับแต่จะให้ปันแลกเปลี่ยนเท่านั้น แต่ชี่อยังเพราะดีอยู่ และไม่เปลืองอันใดด้วยจึงยังได้ใช้สืบมา ผ้าคู่ของหลวงที่สำหรับสดับปกรณ์นั้นแต่เดิมมาก็มีแต่เฉพาะพระบรมอัฐิ พระอัฐิที่สดับปกรณ์ในท้องพระโรง (คือหมายเอาพระอัฐิกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์อยู่วังหลวงด้วย) นอกนั้นก็ไม่มีผ้าคู่ของหลวง ใช้ผ้าคู่ที่พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าฝ่ายในนํามาถวายสำหรับสดับปกรณ์ เฉลี่ยไปพระราชวังบวรฯ บ้าง หอพระนาคบ้าง ไม่ได้เฉพาะพระองค์พระอัฐิเจ้านายๆ ที่อยู่ในหอพระนาคก็มี ที่ไม่ได้อยู่ในหอพระนาคก็มี ถ้าพระอัฐิใดที่ไม่ได้อยู่ในหอพระนาคก็เป็นแล้วกันไป ด้วยการพระราชกุศลแต่ก่อนอยู่ข้างเขม็ดแขม่ไม่มีการใหญ่โตอันใด การพระราชพิธีสำหรับแผ่นดินแล้วก็ผ้าอาบผืนเดียวทั้งสิ้นตลอดจนบรมราชาภิเษก การพระราชกุศลวิเศษเป็นการจรมีไทยทานมากๆ พึ่งเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๓ ที่ ๔ แต่การสดับปกรณ์สงกรานต์นี้ยังเป็นธรรมเนียมเก่าตลอดมาจนรัชกาลที่ ๓ เมื่อถึงรัชกาลที่ ๔ จึงโปรดให้มีผ้าคู่ของหลวงสำหรับพระราชวังบวรฯ และหอพระนาคขึ้น แต่ผ้าคู่สำหรับหอพระนาคนั้นก็ไม่ทั่วพระองค์เจ้านาย ทรงเลือกแต่ที่ทรงรู้จักคุ้นเคย บางองค์ทรงรู้จักแต่ไม่ต้องพระอัธยาศัยก็ไม่พระราชทาน แล้วให้มีฉลากพระนามเขียนในผ้าเช็ดหน้าด้วยทุกพระองค์ ถึงที่ไม่ได้พระราชทานผ้าหลวงใช้ผ้าเจ้านายก็มีฉลากด้วย แปลกกันแต่ที่ผ้าหลวงพระราชทานจัดพระสงฆ์ตามวัดซึ่งพระอัฐินั้นได้ปฏิสังขรณ์บ้าง เป็นนายด้านทําการบ้าง ถ้าไม่มีเช่นนั้นก็ใช้วัดที่เป็นวัดหลวงในแผ่นดินนั้น หรือวัดของพี่น้องที่สนิท หรือพระนั้นเป็นญาติกับพระอัฐิ เช่นพระราชพงศ์ปฎิพัทธกับพระองค์ใยเป็นต้น ส่วนผ้าคู่ซึ่งมิใช่ของหลวงนั้นแล้วแต่จะได้พระองค์ใด อยู่ในพวกที่ได้ผ้าคู่ของหลวงสดับปกรณ์ซ้ำอีกเที่ยวหนึ่งสองเที่ยวเป็นพื้น แต่ธรรมเนียมผ้าคู่ของหลวงนี้ตั้งลงแล้วก็ดูเป็นการไม่สู้แน่ เมื่อเจ้านายสิ้นพระชนม์ลงภายหลัง ถึงไม่เป็นที่ต้องพระอัธยาศัยแต่ทรงเกรงใจก็พระราชทานเรื่อยๆ เลอะๆ ไป เช่นกรมหมื่นอุดมก็ได้ผ้าคู่ของหลวง เกือบจะตกลงเป็นใครตายลงใหม่ได้ผ้าคู่ของหลวง ที่จัดแบ่งปันนั้นเป็นแต่ครั้งแรกครั้งเดียว ครั้นตกมาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้ เจ้านายที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรู้จักคุ้นเคยได้ผ้าคู่ของหลวงอยู่แล้ว ไม่ทรงรู้จักเสียเป็นอันมาก ถ้าจะจัดการตามแบบที่วางลงแต่แรกก็ควรจะต้องเลิกเสีย คงไว้แต่ที่ทรงรู้จัก แต่ครั้นจะเลิกเสียก็ดูกระไรๆ มิรู้อยู่ ก็ต้องคงให้มีไปตามเติม ส่วนเจ้านายที่สิ้นพระชนม์ลงใหม่ก็ไม่มียกเว้น เลยเป็นผ้าคู่ของหลวงทั้งสิ้น ธรรมเนียมที่จัดผ้าคู่ของหลวงและไม่ใช่ของหลวงนี้ ก็เป็นแต่การที่จัดพอให้เรียกพระยุ่งๆ ขึ้นเท่านั้น ยังเรื่องแถมเล็กแถมน้อยก็มีอีกอย่างหนึ่งเป็นชั้นๆ คือที่หนึ่งนั้นมีผ้าคู่ ธูปเทียน ผ้าเช็ดปาก พัดด้ามจิ้ว ขวดน้ำอบ ชั้นที่สองยกขวดน้ำอบเสีย ชั้นที่สามยกธูปเทียนขวดน้ำอบเสีย ยังอีกนัยหนึ่ง พระราชเทวีและพระเจ้าลูกเธอที่เป็นผู้น้อยไม่พระราชทานผ้าคู่ เปลี่ยนเป็นจีวรสบง เพราะเป็นผู้ซึ่งไม่ควรจะได้พระราชทานรดน้ำสงกรานต์ แต่ส่วนพระเจ้าราชวรวงศ์เธอที่นับว่าเป็นพระราชภาคิไนยและอ่อนพระชนมพรรษากว่า ก็ได้ผ้าคู่เหมือนเจ้านายทั้งปวง ที่แท้นั้นก็เป็นการทรงพระราชดำริคนละคราว ผ้าสบงผืนหนึ่งก็ยังมีราคาดีกว่าผ้าคู่ เพราะทรงพระกรุณาจะพระราชทานก็พระราชทาน ที่เนือยๆ อยู่ก็ปล่อยเรื่อยไปตามเดิม การเรื่องนี้อยู่ข้างจะจุกจิกรุงรัง แต่เห็นไม่เป็นสลักสำคัญอันใดก็ปล่อยเรื่อยไปตามเดิม ไม่ได้เปลี่ยนแปลงแก้ไข

อนึ่ง อัฐิเจ้าคุณอัยยิกาทั้งปวง ซึ่งอยู่บ้านสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่บ้างองค์น้อยบ้าง จะได้พระราชทานบังสุกุลมาแต่ครั้งไรก็ไม่ทราบเลย แต่ท่านพวกนี้เมื่อมีชีวิตอยู่ได้พระราชทานรดน้ำมาแต่เดิม เพราะได้ยินคําพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งเล่าว่า เมื่อถึงหน้าสงกรานต์แล้ว ท่านพวกคุณย่าเหล่านี้มาประชุมกันที่ตำหนักกรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ ขึ้นนั่งบนเตียงอันหนึ่งด้วยกันทั้งหมด เจ้านายที่เป็นหลานๆ พากันไปตักน้ำรด ท่านได้เสด็จไปรดน้ำ แลเห็นหลังคุณย่าทั้งปวงลายเหมือนๆ กันเป็นการประหลาด จึงได้รับสั่งถามว่าทําไมหลังคุณย่าทั้งปวงจึงลายเหมือนกันหมดเช่นนี้ คุณย่าทั้งนั้นทูลว่าขุนหลวงตากเฆี่ยน[๔] แล้วก็เล่าเรื่องแผ่นดินตากถวาย รับสั่งเล่าถึงเรื่องแผ่นดินตากต่อไปเป็นอันมาก เพราะเหตุที่ได้อยู่พระราชทานรดน้ำมาแต่ยังมีชีวิตอยู่เช่นนี้ จึงได้พระราชทานบังสุกุลแต่ในเฉพาะเวลาสงกรานต์คราวเดียวสืบมา ครั้นพระราชทานชั้นเจ้าคุณอัยยิกาลงไว้แล้ว เมื่อตกลงมาถึงชั้นเจ้าคุณวังหลวง ซึ่งโปรดให้เรียกว่าเจ้าคุณพระสัมพันธวงศ์ ด้วยความที่ทรงนับถือสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่องค์น้อยเป็นต้น ก็โปรดพระราชทานต่อลงมาอีกชั้นหนึ่ง และในตระกูลนี้ได้รับราชการเป็นผู้หลักผู้ใหญ่อยู่มาก เมื่อลงมาอีกชั้นหนึ่งก็เลยได้พระราชทานลงไปอีกชั้นหนึ่ง แต่ไม่ทั่วกัน[๕] เมื่อจะว่าโดยทางเชื้อสายราชินิกุล ตั้งแต่ชั้นพระสัมพันธวงศ์ลงมาที่เป็นชั้นเดียวกันไม่ได้พระราชทานรดน้ำมีโดยมาก ถ้าจะเทียบกับเจ้านายวังหน้า คือพระเจ้าบวรวงศ์เธอชั้นที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ พระเจ้าบวรวงศ์เธอทั้งสิ้นนั้นยังสนิทกว่าพวกราชินิกุลเหล่านี้มาก แต่ก็ไม่มีพระองค์ใดได้รับพระราชทานสดับปกรณ์ในเวลาสงกรานต์แต่สักพระองค์เดียว เพราะฉะนั้นการที่พระราชทานบังสุกุลในบ้านสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่องค์น้อยนั้น ต้องนับว่าพระราชทานโดยการที่ทรงนับถือพิเศษ หรือเป็นรางวัลความชอบ ไม่ใช่ได้โดยเนื่องในพระวงศ์แท้ จํานวนพระสงฆ์รายวัดสำหรับพระบรมอัฐิพระอัฐิ และรายไทยทานที่สดับปกรณ์พระบรมอัฐิพระอัฐิชั้นใดอย่างใด จะว่ามาในหนังสือนี้ก็จะยืดยาวเหลือเกินนักจึงของดไว้ ถ้ามีโอกาสและเป็นการสมควรที่จะลงในหนังสือพระราชพิธีที่จะรวมเล่มจึงจะลงต่อไป ของสดับปกรณ์รายร้อยในนักขัตฤกษ์สงกรานต์นี้ มีในท้องพระโรง ๕๐๐ พระราชวังบวรฯ ๓๐๐ หอพระนาค ๒๐๐ บ้านสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่องค์น้อย ๒๐๐ แต่ที่ในท้องพระโรงนั้นมีของสดับปกรณ์มากขึ้นอีกหน่อยหนึ่ง คือผ้าคู่ที่พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าฝ่ายในถวาย เมื่อแบ่งไปหอพระนาค ๑๐๐ แล้วเหลืออยู่มากน้อยเท่าใด เอามารวมเป็นกองๆ เท่าจำนวนพระสงฆ์ที่มาฉัน เมื่อพระสงฆ์ถวายพระพรลาแล้วไปนั่งสดับปกรณ์ผ้าคู่ของเจ้านายต่อไป แต่ก่อนๆ มาได้องค์ละกี่คู่ต้องสดับปกรณ์เท่านั้นเที่ยว แต่ทุกวันนี้ใช้เที่ยวเดียวรวบทั้งกอง แล้วจึงได้สดับปกรณ์ราย ๕๐๐ ของหลวงต่อไป

อนึ่ง ตั้งแต่รัชกาลที่ ๔ มา เมื่อสิ้นสงกรานต์แล้วโปรดให้เชิญพระบรมทนต์สามพระองค์ และพระทนต์กรมสมเด็จพระอมรินทรามาตย์ กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ออกตั้งที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ให้ข้าราชการที่เป็นข้าหลวงเดิมเป็นต้น ได้สดับปกรณ์ในเวลาสงกรานต์ ก็มีพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน และข้าราชการบางคนที่ไม่ได้เป็นข้าหลวงเดิมพลอยไปสดับปกรณ์บ้าง ท้าววรคณานันต์ (มาลัย) เป็นผู้เที่ยวบอกกล่าวชักชวน ไม่เป็นการกะเกณฑ์อันใด ก็มีการสดับปกรณ์ทุกปี พระสงฆ์อยู่ในห้าหกวัด วัดละเที่ยวหนึ่งบ้าง สองเที่ยวบ้าง สามเที่ยวบ้าง แล้วทำบัญชีผู้ที่ออกเรี่ยไรขึ้นถวายพระราชกุศล คิดดูไทยทานที่ไปทำบุญกันปีหนึ่งก็อยู่ในไม่เกินห้าชั่งขึ้นไป ครั้นมาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้จึงเพิ่มพระบรมทนต์ขึ้นอีกองค์หนึ่ง และข้าหลวงเดิมในกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ ขอให้เชิญพระทนต์กรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ออกอีกองค์หนึ่ง ผู้สดับปกรณ์ก็มากขึ้น รวมไทยทานก็มากขึ้นถึงเจ็ดชั่งแปดชั่ง ครั้นเมื่อท้าววรคณานันต์ (มาลัย) บอกชราไปแล้ว ท้าวศรีสัจจาเป็นธุระอยู่ตลอดมาจนกระทั่งถึงท้าววรจันทร์[๖] คนนี้ไม่รู้ว่าไปเกณฑ์กันหรือไปเที่ยวเรี่ยไรกว้างขวางออกไป หรือจะเป็นด้วยผู้ซึ่งทำบุญมือเติบขึ้นตามส่วนอย่างไร เงินวางขึ้นไปถึงเกือบยี่สิบชั่ง ข้าพเจ้าเห็นว่าเงินสดับปกรณ์มากเหลือเกินนัก เวลาที่จะทำก็ไม่ใคร่พอ พระสงฆ์ได้ไปองค์ละเฟื้ององค์ละสลึง ก็ไม่สู้เป็นประโยชน์อันใดนัก เห็นว่าวัดพระศรีรัตนศาสดารามก็เป็นสถานที่ทรงสร้างทรงปฏิสังขรณ์มาด้วยกันทุกพระองค์ พระทัยของพระบรมอัฐิพระอัฐินั้นก็ย่อมทรงเลื่อมใสพระมหามณีรัตนปฏิมากรเป็นอันมาก จึงได้ขอแบ่งเงินสดับปกรณ์ที่ได้ขึ้นใหม่นี้ ไว้เป็นเงินสำหรับรักษาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม คงให้สดับปกรณ์แต่พอไล่เลี่ยกันกับที่เคยสดับปกรณ์มาแต่ก่อน เหลือนั้นได้มอบให้กอมมิตตี[๗] ซึ่งจัดการรักษาวัดพระศรีรัตนศาสดารามใช้ในการวัด ในปีนี้ได้เงินถึงสิบสี่ชั่งเศษ

ในการสงกรานต์นี้ แต่ก่อนมาพระเจ้าแผ่นดินต้องสรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์แต่เฉพาะที่กล่าวมาแล้ว ครั้นมาถึงในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีเสด็จออกสรงน้ำพระมหามณีรัตนปฏิมากรที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเพิ่มขึ้น เมื่อสมโภชเวียนเทียนแล้วเสร็จ จึงเสด็จพระราชดําเนินทรงสดับปกรณ์พระอัฐิเจ้านายที่หอพระนาคเป็นการพิเศษขึ้นกว่าแต่ก่อน ที่เสด็จพระราชดำเนินเอง สดับปกรณ์นั้นมีมาแต่เดิมแล้ว ถึงการเวียนเทียนนั้นก็มีทั้งตรุษสามวันสงกรานต์สามวันแต่เดิมมาแล้ว ดอกไม้เพลิงซึ่งจุดบูชาในเวลานักขัตฤกษ์เช่นนี้ เกิดขึ้นแต่รัชกาลที่ ๔ มา ในเวลาสงกรานต์นี้ก็มีด้วยทุกคืนทั้งสามวันหรือสี่วันตามเวลาที่กำหนดสงกรานต์ เป็นสามวันหรือสี่วัน

อนึ่ง วัดพระเชตุพนนั้น ก็เป็นธรรมเนียมเก่ามีมาแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ในสงกรานต์สามวันเปิดให้ข้างในออกสรงน้ำพระ ตีข้าวบิณฑ์โปรยทานและเที่ยวเล่นแต่เช้าจนเย็น กั้นฉนวนเหมือนอย่างพระเมรุท้องสนามหลวง เป็นที่ชาววังไปเที่ยวรื่นเริงสนุกสนานมากตลอดมา ครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดําเนินออกวัดพระเชตุพนเสด็จออกทางฉนวนข้างใน โปรดให้เจ้าจอมเถ้าแก่และท่านเถ้าแก่แต่งตัวเป็นตํารวจ นุ่งสองปักลาย สวมเสื้อเข้มขาบเยียรบับซับใน สวมเสื้อครุยชั้นนอก ผ้าโพกศีรษะสะพายกระบี่แห่เสด็จ เหมือนอย่างตํารวจแห่เสด็จพยุหยาตราอยู่ในเวลานั้น เมื่อถึงพระอุโบสถก็มีพนักงานชำระพระบาท สนมพลเรือนถวายเทียนชนวน ล้วนแต่เถ้าแก่พนักงานแต่งตัวเป็นผู้ชายทั้งสิ้น ข้าพเจ้าจําได้แต่ว่าเป็นการสนุกสนานกันมาก แต่จะเล่าให้ละเอียดทีเดียวก็ฟั่นเฟือนไปด้วยเวลานั้นยังเด็กอยู่ เข้าใจว่าเสด็จพระราชดําเนินครั้งเดียวเท่านั้น แต่จะมีเวลาอื่นที่จําไม่ได้อีกอย่างไรไม่ทราบเลย ครั้นมาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้ พระพุทธบุษยรัตนซึ่งแต่เดิมอยู่ที่หอพระเจ้าเชิญย้ายไปอยู่ที่พุทธรัตนสถาน และมีพระสถูปก้าไหลทองขึ้นบนพุทธมนเทียร ก็ต้องเสด็จพระราชดำเนินไปสรงน้ำเพิ่มขึ้นอีก จึงรวมเป็นการที่ต้องเสด็จพระราชดำเนินในวันเถลิงศกนั้นหลายแห่ง คือเบื้องต้นตั้งแต่สรงน้ำพระบนหอพระจนตลอดสดับปกรณ์พระบรมอัฐิแล้วเสร็จ เสด็จขึ้นแล้วเลี้ยงโต๊ะข้าวแช่พระบรมวงศานุวงศ์ในเวลากลางวัน แล้วทรงโปรยทานอัฐทองแดงใหม่ๆ ไปจนเวลาเย็นพลบ สรงน้ำพระพุทธบุษยรัตนน้อยและพระสัมพุทธพรรโณภาษซึ่งประดิษฐานอยู่บนพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทชั้นสูง แล้วเสด็จพระราชดําเนินพระพุทธมนเทียรสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์[๘]ซึ่งอยู่มุขใต้ และพระสถูปซึ่งอยู่กลางพระที่นั่ง แล้วจึงเสด็จพระราชดําเนินพระพุทธรัตนสถานสรงน้ำพระพุทธบุษยรัตน และเมื่อเวลาพระที่นั่งยังไม่สู้ชำรุดมากนักเสด็จพระราชดําเนินขึ้นพระที่นั่งบรมพิมาน สรงน้ำพระพุทธรูปเท่าพระชนมพรรษารัชกาลที่ ๔ แล้วเสด็จพระราชดำเนินออกวัดพระศรีรัตนศาสดารามทางพระที่นั่งอนันตสมาคมหรือทางประตูแถลงราชกิจ สรงน้ำพระมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัยและพระคันธารราษฎร์[๙] นมัสการเสร็จแล้วพราหมณ์จึงจุดแว่นเวียนเทียน บายศรีซึ่งสมโภชพระพุทธรูปเช่นนี้ไม่ใช้ของบริโภคต่างๆ อย่างเช่นกล่าวมาแต่ก่อน จานซึ่งจัดปากบายศรีใช้ดอกไม้สดสีต่างๆ ประดับทั้งนั้น ครั้นเมื่อเวียนเทียนเสร็จแล้วเสด็จพระราชดําเนินทางหลังพระอุโบสถสู่หอราชกรมานุสร สรงน้ำและนมัสการพระพุทธรูป ซึ่งทรงพระราชอุทิศถวายพระเจ้าแผ่นดินกรุงทวาราวดีศรีอยุธยาโบราณ แล้วเสด็จหอราชพงศานุสร สรงน้ำและนมัสการพระพุทธรูปซึ่งทรงพระราชอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสี่พระองค์แห่งกรุงรัตนโกสินทร แต่ก่อนมาเมื่อทรงนมัสการทั้งสองหอนี้แล้ว เสด็จพระราชดําเนินทางพระระเบียงด้านตะวันตกไปหอพระนาคทีเดียว ครั้นเมื่อรัตนโกสินทรศกปีที่ ๑๐๑ คือบรรจบครบ ๑๐๐ ปีตั้งแต่สร้างกรุง ฉลองวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้วทรงพระราชดําริว่า ที่พระมณฑปและพระศรีรัตนเจดีย์ถ้าไม่เสด็จพระราชดําเนินอยู่เสมอ ก็จะชํารุดทรุดโทรมไป จึงได้เสด็จพระราชดําเนินขึ้นนมัสการพระไตรปิฎกบนพระมณฑปก่อน แล้วจึงเสด็จนมัสการพระสถูปในพระศรีรัตนเจดีย์ แล้วเสด็จลงทางซุ้มประตูด้านเหนือสู่หอพระนาค นมัสการต้นนิโครธและพระวิหารยอด ซึ่งอยู่ใกล้เคียงที่นั้นด้วย แล้วจึงได้สดับปกรณ์ ที่หอพระนาคนั้น แต่เดิมเป็นที่ไว้พระพุทธรูปต่างๆ หลายสิบองค์ หุ้มทองบ้างหุ้มเงินบ้างหุ้มนาคบ้าง ทั้งรูปพระเชษฐบิดร คือรูปสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑[๑๐] ซึ่งสร้างกรุงทวาราวดีศรีอยุธยาโบราณ ที่แปลงเป็นพระพุทธรูปเสียแล้วนั้น ก็ประดิษฐานอยู่ด้วยพระอัฐิเจ้านายซึ่งไปอยู่ในหอพระนาคนั้น เก็บอยู่ในตู้ผนังข้างหลังพระวิหาร เป็นแต่เวลาสงกรานต์ก็เชิญมาตั้งบนม้าสดับปกรณ์ดูสับสนรุงรังมาก ในครั้งเมื่อทรงปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามครั้งนี้ โปรดให้เชิญพระพุทธรูปทั้งปวงนั้น ขึ้นไปไว้เสียบนพระวิหารยอด จัดหอพระนาคไว้เป็นที่เก็บพระอัฐิเจ้านายอย่างเดียว พระอัฐิที่ไม่มีพระโกศเป็นแต่ห่อผ้ากองๆ ไว้แต่ก่อนนั้น ก็ให้มีพระโกศปิดทองบรรจุไว้ทั้งสิ้นเป็นการเรียบร้อยดีขึ้นกว่าแต่ก่อน การสดับปกรณ์นั้นก็เหมือนกันกับที่กล่าวมาแล้วด้วยเรื่องของสดับปกรณ์แต่ก่อนนั้น เมื่อสดับปกรณ์เสร็จแล้วเสด็จพระราชดําเนินกลับทางพระระเบียงด้านตะวันตก

การเสด็จพระราชดําเนินวัดพระเชตุพนนั้น บางปีก็มีบ้าง ถ้าเสด็จพระราชดำเนินแล้ว ก็มักจะเป็นวันมหาสงกรานต์หรือวันเนา ซึ่งไม่มีพระราชธุระมาก เสด็จทางใน แต่ไม่มีกระบวนแห่เหมือนอย่างในรัชกาลที่ ๔ ถ้าเปิดวัดพระเชตุพนแล้วก็โปรดให้มีพนักงานคอยเก็บเงิน ถ้าเป็นไพร่ๆ ก็เสียเล็กน้อยตามแต่จะมีใจศรัทธา ถ้าเป็นผู้ดีก็ตั้งแต่เฟื้องหนึ่งจนถึงกึ่งตําลึง สงกรานต์สามวันปีหนึ่งได้อยู่ในสามชั่งเศษสี่ชั่ง ถวายพระพิมลธรรม[๑๑]สำหรับปฏิสังขรณ์ปัดกวาดถางหญ้าถอนต้นไม้ในวัด ตั้งแต่พระวิหารทรุดโทรมลงมาก คนที่ออกวัดพระเชตุพนก็น้อยไปกว่าแต่ก่อน ในปีหนึ่งสองปีนี้ไม่ได้เปิด

อนึ่ง พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ซึ่งเป็นพระบรมราชูปัธยาจารย์ เสด็จสถิตอยู่วัดบวรนิเวศวิหาร สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ซึ่งเป็นพระกรรมวาจาจารย์ สถิตอยู่วัดราชประดิษฐ์[๑๒] เมื่อพ้นจากวันสงกรานต์ไปวันหนึ่งบ้างสองวันบ้าง เสด็จพระราชดําเนินไปถวายไตรจีวรผ้าเนื้อดีสรงน้ำเป็นการพิเศษอีกส่วนหนึ่ง เมื่อเสด็จพระราชดําเนินถึงพระอารามเช่นนั้น ก็ทรงนมัสการสรงน้ำพระพุทธชินศรี พระมหาเจดีย์ พระศรีศาสดา พระพุทธไสยาสน์ พระศรีมหาโพธิ์ และพระพุทธวชิรญาณ พระพุทธปัญญาอัคคะ ซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระวิหารเก๋งก่อน แล้วจึงเสด็จพระราชดําเนินที่พระตําหนัก ส่วนที่วัดราชประดิษฐ์ก็ทรงนมัสการและสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์[๑๓] และพระพุทธชินราช พระพุทธชินศรี พระศรีศาสดา จําลองทั้งสามองค์ ทั้งพระมหาปาสาณเจดีย์ พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย

อนึ่ง ในการสงกรานต์สามวันหรือสี่วันนี้ เจ้าพนักงานก็จัดหม้อน้ำเงิน ขวดแป้งสด ผ้าทรงพระ ถวายจบพระหัตถ์แล้วไปเที่ยวสรงพระพุทธรูป คือที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามสรงพระศรีมหาโพธิ์แห่ง ๑ วัดพระเชตุพนสรงพระพุทธเทวปฏิมากรแห่ง ๑ วัดมหาธาตุสรงพระมหาธาตุแห่ง ๑ วัดอรุณราชวรารามสรงพระประธานแห่ง ๑ วัดสุทัศนเทพวรารามสรงพระศรีศากยมุนีและพระศรีมหาโพธิ์รวม ๒ แห่ง วัดบรมนิวาสสรงพระประธานแห่งหนึ่ง วัดบวรนิเวศสรงพระพุทธชินศรี พระพุทธไสยาสน์ รวม ๒ แห่ง วัดสระเกศสรงพระอัฏฐารสศรีสุคตทศพลญาณบพิตร พระศรีมหาโพธิ์ รวม ๒ แห่ง วัดปทุมวันสรงพระศรีมหาโพธิ์แห่ง ๑  วัดราชาธิวาสสรงพระศรีมหาโพธิ์แห่ง ๑ และมีผ้าห่มพระพุทธรูปและพระศรีมหาโพธิ์สิบสามผืนกํากับขวดน้ำไปด้วยทุกแห่ง และตั้งศาลาฉทานเหมือนอย่างเทศกาลตรุษที่ได้กล่าวมาแล้วแต่ก่อนนั้น

อนึ่ง การตรุษก็ดี สงกรานต์ก็ดี เป็นเวลาที่คนทั้งปวงถือกันว่าเป็นฤดูหรือเป็นเวลาที่สมควรจะเล่นเบี้ย เป็นธรรมเนียมเข้าใจซึมซาบ และเคยประพฤติมาช้านาน ไม่มีผู้ใดจะอับอายหรือสะดุ้งสะเทือนในการเล่นเบี้ยที่กําลังเล่นอยู่หรือเล่นแล้ว ไปที่แห่งใดก็เล่าโจษกันถึงการเล่นเบี้ยได้ไม่เป็นการปิดบัง บางทีก็ขยับจะอวดตัวเป็นนักเลง มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดว่องไว อาจจะเอาชัยชนะพวกพ้องได้ ราวกับว่าไปทัพมีชัยชนะอย่างเตี้ยๆ อะไรมา การที่ถือว่าเล่นเบี้ยไม่เป็นการเสียหายอันใด ในเวลานักขัตฤกษ์เช่นนี้ ก็เพราะเป็นการที่ได้อนุญาตเป็นพยานว่าเจ้าแผ่นดินไม่ขัดขวางห้ามปรามหรือพลอยเห็นสนุกด้วย จึงได้ยกหัวเบี้ยพระราชทานให้นักขัตฤกษ์ละ ๓ วัน

การที่พระเจ้าแผ่นดินอนุญาตหรือทรงเห็นดีด้วยในเรื่องเล่นเบี้ยนี้ก็คงจะเป็นความจริง แต่คงจะเป็นพระเจ้าแผ่นดินบางองค์เช่นขุนหลวงตากเจ้ากรุงธนบุรี ไปตีเมืองนครศรีธรรมราช ได้พระราชทานเงินให้ฝีพายเล่นกําถั่วหน้าพระที่นั่ง ถึงเอาขันตักเงินแจก ความประสงค์ที่ขุนหลวงตากทําเช่นนั้น เพราะตัวท่านเองอยู่ข้างจะเล่นเบี้ยจัดอยู่แล้วนั้นประการหนึ่ง ท่านก็เห็นใจกันกับพวกทหารทั้งปวงว่าการสนุกอะไรไม่เสมอเล่นเบี้ย ประสงค์จะให้ทหารเป็นที่รื่นเริงลืมความลําบากที่ต้องทนยากจึงได้ปล่อยให้เล่นเบี้ยเป็นการเอาใจ แต่เพราะการเล่นเบี้ยเป็นการไม่ดีได้สนุกสนานเสียแล้วก็ชวนให้ติด เมื่อเข้ามาถึงในกรุงแล้วก็ยังเล่นต่อไปบ่อยๆ การที่เล่นเบี้ยนั้นย่อมมุ่งหมายจะต่อสู้เอาทรัพย์กันและกัน ผู้ซึ่งมีอํานาจวาสนาเสมอๆ กันเล่นด้วยกัน เมื่อความปรารถนาอยากได้นั้นกล้าขึ้นก็ชักให้ฉ้อฉลบิดพริ้วคดโกงกันไปต่างๆ ส่วนผู้ซึ่งมีวาสนามากเล่นกับผู้มีวาสนาน้อย เช่นเจ้านายเด็กๆ หรือเจ้านายผู้ใหญ่บางองค์ซึ่งเขาเล่ากันมา เล่นไพ่กับข้าหลวงและมหาดเล็กก็ต้องถวายแปดถวายเก้า ไม่ถวายก็ขัดเคืองไป ก็อย่างเช่นขุนหลวงตากซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินมีอำนาจมากเห็นปานนั้น เมื่อมีความปรารถนาขึ้นมา และอาศัยความมัวเมาในเรื่องอื่นซึ่งทําให้สติเลื่อนลอยด้วย จนลืมถึงการบ้านเมือง คิดแต่จะหาทรัพย์สมบัติโดยทางเล่นเบี้ย ก็รีดเร่งทรัพย์สมบัติคนทั้งปวง เป็นหนี้หลวงไปทั้งบ้านทั้งเมือง จนภายหลังลงไม่ต้องเล่นเบี้ยก็เร่งเอาได้เปล่าๆ น้ำใจชั่วของขุนหลวงตากนี้ เกิดขึ้นด้วยการเล่นเบี้ยเป็นต้น ถึงโดยว่าแรกคิดจะเป็นอุบายที่ดีตามเวลาต้องการ ผลที่ออกภายหลังก็ไม่เป็นผลอันดีแก่ตนและผู้อื่น พากันได้ทุกข์ยากลำบากไปทั่วหน้าตลอดจนถึงตัวเอง เพราะเหตุฉะนั้นถึงแม้ว่าพระเจ้าแผ่นดินภายหลังจะมิได้เลิกธรรมเนียมยกหัวเบี้ยพระราชทานในเวลาตรุษเวลาสงกรานต์เสียก็ดี แต่ก็ไม่ได้โปรดให้เล่นเบี้ยในพระราชวังหรือทรงสรรเสริญการเล่นเบี้ยว่าเป็นการสนุกสนานอย่างหนึ่งอย่างใดเลย

เพราะเหตุที่พระบรมราชวงศ์ปัจจุบันนี้ พระเจ้าแผ่นดินดำรงอยู่ในคุณความประพฤติดี ๓ ประการ คือไม่ทรงประพฤติและทรงสรรเสริญในการที่เป็นนักเลงเล่นเบี้ยการพนันอย่าง ๑ ไม่ทรงประพฤติในการดื่มสุราเมรัยและกีดกันมิให้ผู้อื่นประพฤติอย่าง ๑ ไม่ทรงประพฤติล่วงในสตรีที่เป็นอัคคมนิยฐานนี้อย่าง ๑ เป็นความประพฤติซึ่งพระเจ้าแผ่นดินในพระบรมราชวงศ์นี้ได้ทรงงดเว้นเป็นขาดสืบๆ กันมา พระบรมราชวงศ์นี้จึงได้ตั้งปกครองแผ่นดินอยู่ยืนยาวกว่าบรมราชวงศ์อื่นๆ ซึ่งได้ปกครองแผ่นดินมาแต่กาลก่อนแล้ว บ้านเมืองก็เจริญสมบูรณ์ปราศจากเหตุการณ์ภายในซึ่งจะให้เป็นที่สะดุ้งสะเทือนหวาดหวั่นแก่ชนทั้งปวง ไม่มีตัวอย่างในพระราชพงศาวดารระยะใดตอนใดจะเทียบเทียมถึง เพราะฉะนั้นเมื่อกล่าวถึงการที่ยกหัวเบี้ยพระราชทานในเวลาสงกรานต์ ซึ่งจะไม่กล่าวถึงก็จะเป็นอันไม่ได้กล่าวข้อความเต็มบริบูรณ์ ในพระราชกุศลสำหรับเดือนห้าจึงต้องกล่าว แต่ขอเตือนพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการบรรดาที่จะได้อ่านหนังสือให้มีสติระลึกไว้ ถึงแม้ว่าได้ยกหัวเบี้ยพระราชทานดังนี้ ก็มิได้ยกพระราชทานโดยพระราชประสงค์จะให้เล่นเบี้ยกันให้สบาย เป็นแต่พระราชทานไปตามประเพณีซึ่งมีมาแต่ก่อน โดยทรงพระมหากรุณาแก่ชนทั้งปวงว่าได้เคยรับประโยชน์อันใดแล้วก็ไม่มีพระราชหฤทัยที่จะให้ยกถอนเสีย แต่การเล่นเบี้ยนั้น เป็นที่ไม่ต้องพระอัธยาศัยมาทุกๆ พระเจ้าแผ่นดิน เพราะฉะนั้นควรที่พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการผู้ซึ่งมีความนับถือเคารพต่อพระบารมีและพระเดชพระคุณพระเจ้าแผ่นดินสืบๆ กันมา ควรจะตริตรองให้เห็นโทษเห็นคุณตามที่จริง และงดเว้นการสนุก และการหาประโยชนในเรื่องเล่นเบี้ยนี้เสีย จะได้ช่วยกันรับราชการฉลองพระเดชพระคุณทะนุบำรุงแผ่นดิน เพิกถอนความชั่วในเรื่องเล่นเบี้ยซึ่งอบรมอยู่ในสันดานชนทั้งปวงอันอยู่ในพระราชอาณาเขต เป็นเหตุจะเหนี่ยวรั้งความเจริญของบ้านเมืองให้เสื่อมสูญไป ด้วยกําลังที่ช่วยกันมากๆ และเป็นแบบอย่างความประพฤติให้คนทั้งปวงเอาอย่าง ตามคํานักปราชญ์ย่อมกล่าวไว้ ว่าการที่ทําให้เห็นเป็นแบบอย่างง่ายกว่าที่จะสั่งสอนด้วยปาก ถ้าเจ้านายขุนนางประพฤติการเล่นเบี้ยอยู่ตราบใด คนทั้งปวงก็ยังเห็นว่าไม่สู้เป็นการเสียหายมาก ผู้มีบรรดาศักดิ์จึงยังประพฤติอยู่ ถ้าผู้มีบรรดาศักดิ์ละเว้นเสีย ให้เห็นว่าความประพฤติเช่นนั้นเป็นของคนที่ต่ำช้าประพฤติแล้ว ถึงแม้ว่าจะเลิกขาดสูญไปไม่ได้ก็คงจะเบาบางลงได้เป็นแทั

การพระราชกุศลในนักขัตฤกษ์สงกรานต์ หมดเพียงเท่านี้ ๚

[๑] คือวัดมกุฎกษัตริย์ พระราชทานนามนั้นในรัชกาลที่ ๔ แต่แรกคนไม่เรียก ด้วยเกรงว่าพ้องกับพระบรมราชนามาภิไธย จึงโปรดให้เรียกว่าวัดพระนามบัญญัติพลาง ให้เปลี่ยนเป็นอย่างเดิมเมื่อรัชกาลที่ ๕

[๒] สี่สระอยู่ในเขตสุพรรณบุรี

[๓] คือพระยาอุทัยธรรม (หรุ่น) เวลานั้นยังเป็นพระราชโกษา เป็น บุตรพระยาราชโกษา (จันทร์)

[๔] เมื่อในคราวขุนหลวงตากเสียพระสติ เมื่อจะสิ้นแผ่นดิน

[๕] ได้พระราชทานผ้าคู่ แต่ที่เป็นบุตรธิดาภรรยาหลวงของสมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่องค์น้อย นอกนั้นมีแต่อัฐิเจ้าพระยาทิพากรวงศ์

[๖] ท้าวศรีสัจจา (กลิ่น ณ นคร) ท้าววรจันทร์เจ้าจอมมารดาวาด ในรัชกาลที่ ๔

[๗] กอมมิตตี (Committee) คือกรรมการ

[๘] พระพุทธบุษยรัตนน้อย ได้มาในรัชกาลที่ ๕ พระสัมพุทธพรรโณภาษทรงหล่อในรัชกาลที่ ๕ พระพุทธสิหิงค์น้อยทรงหล่อในรัชกาลที่ ๔

[๙] พระคันธารราษฎร์ ทรงหล่อสําหรับพิธีขอฝนในรัชกาลที่ ๑

[๑๐] รูปพระเชษฐบิดรนี้ ว่าเดิมอยู่ที่ซุ้มพระปรางค์วัดพุทไธศวรรย์กรุงเก่า ราษฎรเชื่อถือกันว่าดุร้ายนัก จึงโปรดให้กรมหลวงเทพพลภักดีเชิญลงมาแล้วแปลงเป็นพระพุทธรูป ที่ซุ้มพระปรางค์ก็ปั้นพระพุทธรูปไว้แทน ยังปรากฏอยู่

[๑๑] พระพิมลธรรม อ้น

[๑๒] ต่อมาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

[๑๓] คือพระประธานในพระวิหารหลวง ทรงหล่อจำลองพระพุทธสิหิงค์

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ