การพระราชกุศล หล่อเทียนพรรษา

๏ ส่วนการที่ยังคงประจำอยู่ไม่ขาดนั้น คือการหล่อเทียนพรรษา เทียนพรรษา แต่ก่อนใช้หล่อด้วยสีผึ้งทั้งสิ้น บรรดาวัดที่เป็นวัดหลวงมีนิตยภัตสองสลึงแล้ว มีเทียนพรรษาวัดละเล่มบ้าง กว่านั้นบ้างทุกๆ วัด เทียนนั้นมากน้อยตามกำหนดวัดซึ่งเกิดขึ้นทุกๆ รัชกาล จนถึงปลายรัชกาลที่ ๓ เทียนเกือบถึงร้อยเล่ม กำหนดเทียนเล่มหนึ่งหนักสีผึ้ง ๑๖ ชั่ง สิ้นสีผึ้งเป็นอันมาก เวลาที่จะหล่อนั้นก็บอกบุญพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน เจ้าภาษีนายอากร เอาสีผึ้งมาช่วยหล่อ แล้วก็เป็นการประชุมใหญ่ในวันเดือน ๗ ขึ้นแปดค่ำทุกปีมิได้ขาด ถ้าปีใดมีอธิกมาสรอการหล่อเทียนไว้ต่อวันแปดค่ำเดือนแปดบุพพาสาฒ ครั้นมาถึงรัชกาลที่ ๔ ทรงทราบลัทธิของพวกข้าพระที่ได้ผลประโยชน์อยู่ในเทียนพรรษาทั่วทุกพระอาราม คือว่าจำเดิมตั้งแต่จุดเทียนพรรษาแล้วก็ตัดทอนเทียนนั้นเสีย เหลือไว้ยาวสักคืบหนึ่ง เวลาเสด็จพระราชดำเนินกฐิน ยังซ้ำรวงลงไปพอให้ขังน้ำมันได้ จุดตะเกียงพอรับเสด็จชั่วเวลากฐินสักชั่วโมงทั้งเผื่อทั้งคอย แล้วก็ดับเอาก้นที่ตัดไว้คืบหนึ่งนั้นไปอีก ตกลงเป็นเทียนพรรษาเล่มหนึ่งได้จุดบูชาพระสีผึ้งหนักไม่ถึงบาท นอกนั้นเป็นประโยชน์ของข้าพระทั้งสิ้น เป็นอยู่เช่นนี้โดยมาก จึงได้โปรดให้เลิกเทียนหล่อเสีย ให้ทำด้วยไม้ ปั้นลายรักปิดทอง คงไว้แต่กาบข้างปลายเป็นลายสีผึ้ง แล้วให้ทำกระบอกตะกั่วเป็นรูปถ้วย ถวายทรงหยอดสีผึ้งพอเต็มถ้วย ตั้งลงในช่องปลายเทียนไม้ จุดในวันแรก ต่อนั้นไปจ่ายน้ำมันให้เติม จุดเป็นตะเกียง แต่น้ำมันที่จ่ายนั้น ก็เป็นการเตกเกเบอร์เหมือนกัน จะเป็นหมดท่าแก้หรือแกล้งทรงนิ่งๆ เสียไม่ทราบเลย น้ำมันนั้นก็ยังคงจ่ายอยู่ ส่วนเทียนสีผึ้งอย่างเก่านั้น ให้คงไว้แต่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเล่มหนึ่ง พุทไธศวรรย์เล่มหนึ่ง หอพระเจ้าสองเล่ม เป็นเทียนหลวงเล่มหนึ่ง เทียนเรี่ยไรเล่มหนึ่ง พระพุทธบาทเล่มหนึ่ง วัดพระเชตุพนเล่มหนึ่ง วัดอรุณเล่มหนึ่ง วัดราชโอรสเล่มหนึ่ง วัดบวรนิเวศเล่มหนึ่ง วัดบรมนิวาสเล่มหนึ่ง พระศรีสากยมุนี วัดสุทัศน์เล่มหนึ่ง ภายหลังเกิดพระปฐมเจดีย์ขึ้นอีกเล่มหนึ่ง พระพุทธชินราชเมืองพิษณุโลกอีกเล่มหนึ่ง ครั้นเมื่อทรงสร้างวัดราชประดิษฐ์ โปรดให้หล่อเทียนเล่มย่อมๆ เป็นสองเล่ม ภายหลังเกิดขึ้นที่พระพุทธสิหิงค์อีกสองเล่ม หอเสถียรธรรมปริตเล่มหนึ่ง หอพระคันธารราษฎร์ที่ท้องสนามเล่มหนึ่ง ครั้นในแผ่นดินปัจจุบันนี้มีขึ้นที่วัดราชบพิธอีกสองเล่ม พระพุทธรัตนสถานสองเล่ม เล่มใหญ่มีขึ้นที่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติเล่มหนึ่ง พระศรีรัตนเจดีย์เล่มหนึ่ง ในอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเพิ่มขึ้น เมื่อไม่มีวังหน้าแล้วแทนเทียนวังหน้าอีกเล่มหนึ่งให้เป็นคู่กัน ภายหลังนี้เกิดเทียนอย่างเล็กลงไปกว่าเช่นที่วัดราชประดิษฐ์ขึ้นอีกสองเล่ม สำหรับพระพุทธบุษยรัตน์น้อย รวมเป็นเทียนอย่างใหญ่ ๑๖ เล่ม อย่างกลาง ๑๐ เล่ม อย่างเล็ก ๒ เล่ม เทียนวัดพระเชตุพน วัดอรุณ วัดราชโอรส ให้มีเป็นวัดสำหรับรัชกาลละวัด ในเวลานั้นทำนองจะยกวัดบรมนิวาสเป็นวัดสำหรับรัชกาลที่ ๔ แต่ครั้นเมื่อเปลี่ยนมาเป็นวัดราชประดิษฐ์แล้ว เทียนวัดบรมนิวาสก็มีเลยไป เทียนวัดนิเวศน์ธรรมประวัติก็เกิดขึ้นตามเลยของวัดบรมนิวาส แต่ส่วนเทียนวัดบวรนิเวศเป็นเทียนสำหรับองค์พระเหมือนอย่างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือพุทไธศวรรย์ พระบาทและพระปฐมเจดีย์ การหล่อเทียนแบ่งเป็นข้างหน้าข้างใน เทียนหอพระและเทียนพุทธมนเทียรแบ่งเข้ามาหล่อข้างใน เจ้านายข้างในทรงหล่อ นอกนั้นหล่อข้างหน้าทั้งสิ้น

รูปสัณฐานของเทียนพรรษานั้น วังหลวงใช้อย่างหนึ่ง วังหน้าใช้อย่างหนึ่ง วังหลวงใช้อย่างบัวปลายเสาวังหลวง วังหน้าใช้อย่างบัวปลายเสาวังหน้า ซึ่งแบ่งเป็นอย่างกันมาแต่ครั้งกรุงเก่า ต้นเหตุนั้นเห็นจะเกิดประชันกันขึ้น ครั้งขุนหลวงท้ายสระสร้างวัดมเหยงค์ ขุนหลวงบรมโกศสร้างวัดกุฎีดาว ก็เลยถือติดต่อลงมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทรนี้ด้วย ถ้าการก่อสร้างอันใดในพระบรมมหาราชวังแล้วไม่ใช้บัวกลมเลย ถ้าการก่อสร้างอันใดในพระราชวังบวรแล้วไม่ใช้บัวเหลี่ยมเลย เป็นธรรมเนียมติดต่อกันมา จนกระทั่งถึงเทียนพรรษาก็พลอยเป็นเช่นนั้นด้วย ๚

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ