พิธีสงกรานต์

๏ การซึ่งกำหนดปีใหม่ของไทยเราเป็นสองขยัก คือเดือนห้าขึ้นค่ำหนึ่งนับว่าเป็นปีใหม่ เพราะเปลี่ยนชื่อปีตามสิบสองนักษัตรคือชวดฉลูขาลเถาะเป็นต้นเสียชั้นหนึ่ง แต่ยังไม่เปลี่ยนศก คือท้ายศักราช เพราะศักราชนั้นยังไม่ได้ขึ้นปี ด้วยตามวิธีโหรของเรานับตามโคจรของพระอาทิตย์ ต่อพระอาทิตย์ยกขึ้นราศีเมษเมื่อใด จึงขึ้นศักราชในวันเถลิงศก ในระหว่างซึ่งยังไม่ได้ขึ้นศักราชจึงต้องใช้ปีใหม่ แต่ต้องจดหมายว่ายังเป็นศกเก่าอยู่ การที่ใช้ศกบอก เอก โท ตรี ไปจนกระทั่งถึงสัมฤทธิศกควบท้ายปีลงด้วยนั้น เพราะประสงค์จะจดหมายวันคืนเดือนปีให้สั้น ด้วยเหตุว่าถ้าจะเรียกแต่ปีมีชื่อสิบสองชื่อ เมื่อครบสิบสองปีเข้าแล้ว ต่อไปก็จะวนลงเก่า ถ้าจะจําอะไรมากๆ ยาวๆ ก็มักจะชวนให้เลอะเทอะ วิธีนับปีมีชื่อสิบสองปีนี้ เป็นของคนโบราณนับมีด้วยกันหลายประเทศตลอดจนเมืองจีนเมืองญี่ปุ่น ที่นับตลอดจนถึงเดือนถึงเวลาทุ่มโมง เป็นสิบสองนักษัตรก็มี คนโบราณไม่ใคร่จะสังเกตสังกาจําอันใดมากนัก นับแต่พอรู้อยู่ในเวลาที่ต้องการแล้วก็แล้วกัน แต่เป็นวิธีนับง่าย คนรู้จําได้ซึมซาบใจทั่วถึงกัน เพราะใช้มาช้านานเช่นเมืองจีน เห็นจะได้นับมากว่าสี่พันปีแล้ว จนเหมือนหนึ่งในปัจจุบันนี้ ถ้าจะไปถามคนเก่าๆ ว่าอายุเท่าใด คงจะบอกชื่อตามนักษัตรของปีนั้นทุกคน ที่จะบอกศักราชได้นั้นเกือบจะไม่มีเลยสักคนเดียว เว้นไว้แต่ผู้ที่เป็นโหร ถ้าจะสอบสวนให้รู้ว่าอายุเท่าใด ก็ได้แต่จะต้องคะเนหน้าเอาว่าทรวดทรงสัณฐานจะอยู่สักกี่รอบสิบสองปีมาแล้ว หรือบางคนจะบอกได้เองว่าอยู่มากี่รอบ เพราะนับสั้นสังเกตอันใดไม่ได้เช่นนี้ ครั้นจะนับศักราชก็ดูเป็นการยากที่จะจํากันอย่างยิ่ง และจะต้องเขียนหนังสือยาวไป จึงมีผู้คิดบอกศกลงไว้ข้างท้ายเมื่อปลายศักราช เป็นเศษ ๑ ก็ให้ใช้เอกศก เป็นเศษ ๒ ก็ให้ใช้โทศก ไปตามลำดับจนถึงสัมฤทธิศกเป็นสิบปีรอบหนึ่ง ทำให้การที่นับวนๆ กันอยู่ยาวออกไปอีกได้เป็น ๖๐ ปี จึงจะลงเค้าซ้ำเดิม คือชวดสัมฤทธิศกก็คงเป็นชวดสัมฤทธิศก ฉลูเอกศกก็คงเป็นฉลูเอกศก เมื่อจะใช้เขียนหนังสือก็เขียนได้สั้นๆ ไม่ต้องลงศักราช เหมือนอย่างปีฉลูเอกศกนี้ เลขข้างหน้าพันสองร้อยห้าสิบนั้น เป็นอันจําไว้ในใจไม่ต้องเอามานับ ลงแต่เศษ ๑ เป็นพอแล้ว ถ้าจะเขียนตามความคาดคะเนว่า เมื่อยังไม่เกิดบอกศกท้ายปีขึ้น ก็คงจะต้องเขียนว่าปีฉลูจุลศักราช ๑๒๕๑ (การที่ใช้ว่าปีฉลู ๑๒๕๑ เปล่าๆ เช่นนี้ เป็นของเกิดขึ้นใหม่เมื่อเลียนฝรั่งในเร็วๆ นี้ แต่ก่อนไม่มีใครนึกใช้กัน) การที่ลงเศษศกข้างท้าย จึงทําให้สั้นกว่าที่จะออกชื่อศักราชและเขียนตัวเลข แต่ที่ใช้ๆ กันอยู่ลงทั้งเศษศกทั้งศักราชด้วย เช่นกับปีฉลูเอกศกจุลศักราช ๑๒๕๑ ดูอยู่ข้างจะเฝือต้องทําธุระมากอยู่หน่อยหนึ่ง เพราะเหตุที่ชื่อปีเปลี่ยนเอาต้นเดือนห้าเป็นประมาณ เพื่อจะให้จําง่าย หรือเป็นของนับกันมาเก่าแก่ก่อนที่จะใช้ศักราช ซึ่งตัดเอาพระอาทิตยํขึ้นราศีเมษเป็นเปลี่ยนปี อันเลื่อนไปเลื่อนมาไม่ใคร่คงที่ เพราะสงกรานต์คือเปลี่ยนศักราชนับตามสุริยคติ ปีเดือนนับตามจันทรคติคลาดเคลื่อนกัน จึงได้ต้องเป็นปีใหม่สองหนต่อมา

ในเรื่องที่เปลี่ยนปีนี้ ตามพระบรมราชาธิบายของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งได้ทรงไว้ในคําประกาศแห่งหนึ่งได้นำมาลงไว้ในหนังสือวชิรญาณเล่ม ๒ ฉบับที่ ๑๓ จํานวนเดือน ๑๑ ปี ๑๒๔๗ มีข้อใจความซึ่งว่าด้วยแรกที่จะกําหนดปีนี้ โบราณคิดเห็นว่าฤดูหนาวเป็นเวลาพ้นจากมืดฝนสว่างขึ้นเปรียบเหมือนเวลาเช้า คนโบราณจึงได้คิดนับเอาฤดูหนาวเป็นต้นปี ฤดูร้อนเป็นเวลาสว่างร้อนเหมือนกลางวัน จึงได้คิดว่าเป็นกลางปี ฤดูฝนเป็นเวลามืดคลุ้มโดยมาก และฝนพรำเที่ยวไปไหนไม่ใคร่ได้ จึงได้คิดเห็นว่าเป็นเหมือนกลางคืน คนทั้งปวงเป็นอันมากถือว่าเวลาเช้าเป็นต้นวัน กลางคืนเป็นปลายวันฉันใด คนโบราณก็คิดเห็นว่าฤดูเหมันต์ คือฤดูหนาวเป็นต้นปี ฤดูคิมห คือฤดูร้อนเป็นกลางปี ฤดูวัสสานะ คือฤดูฝนเป็นปลายปี เพราะเหตุนั้นจึงได้นับชื่อเดือนเป็น ๑ มาแต่เดือนอ้าย ข้อความอื่นๆ ถ้าผู้ใดอยากจะทราบ จงอ่านหนังสือวชิรญาณที่อ้างถึงมาข้างต้นนั้นเถิด ที่ยกมาว่าเดี๋ยวนี้เพื่อจะมาพิจารณาให้เห็น ว่าเหตุใดจึงไม่ตั้งปีใหม่ที่เดือนอ้าย ซึ่งแปลว่าเดือน ๑ มาตั้งปีใหม่ต่อเดือน ๕, เดือน ๖ คิดเห็นว่าความที่ตั้งเดือนอ้ายเป็นเดือน ๑ คงเป็นการถูกต้องตามกระแสพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงไว้นี้ แต่วิธีนับเดือนเช่นนี้เห็นจะมีมาก่อนที่นับศักราชเป็นเรื่องเดียวกันกับนับปี เป็นชวด ฉลู ขาล เถาะ ครั้นเมื่อมีผู้ตั้งศักราชขึ้นใช้ อาศัยเหตุที่จะเริ่มต้นตั้งศักราช เช่นพระพุทธศักราช นับตั้งแต่วันปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ก็ต้องไปตั้งสงกรานต์เอาในวันวิศาขบุรณมี ซึ่งเป็นหัวรอบเหมือนอย่างกับนับเป็นเดือน ๑ ขึ้นใหม่นั้นอย่างหนึ่ง ด้วยมีเหตุที่จะสังเกตตัดวิธีกระบวนคิดอ่านได้ง่ายเช่นกับสงกรานต์ของจุลศักราช กำหนดเอาพระอาทิตย์ขึ้นสู่ราศีเมษซึ่งเป็นราศีดาวที่ฤกษ์ขาดตอนไม่ขนาบคาบเกี่ยวกับราศีอื่นๆ เป็นต้นนี้อย่างหนึ่ง เพราะเหตุเหล่านี้จึงได้ทิ้งชื่อเดือนที่ ๑ เดิมเสีย ให้ไปตกอยู่กลางปีหรือปลายปีตามแต่จะเป็นไป แต่ชื่อเดือนเช่นนั้นเคยใช้เข้าใจกับซึมซาบมาแล้ว ก็ทิ้งให้เคลื่อนอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง หรือเปลี่ยนแปลงก็ไม่มีผู้เรียกตาม

ศักราชต่างๆ ซึ่งใช้กันอยู่ในประเทศทั้งปวง ย่อมตั้งเอาตามเหตุตามเค้าที่มีเหตุซึ่งเป็นต้นจะนับศักราชนั้นอย่างหนึ่ง ตามที่จะคำนวณง่ายนั้นอย่างหนึ่ง ดังเช่นกล่าวมาแล้ว แต่ที่ตั้งต้นปีอยู่ในฤดูหนาวมีมากกว่าที่ไปตั้งต้นปีในฤดูอื่น อย่างเช่นต้นปีฝรั่ง ถึงว่าศักราชเขาใช้ศักราชพระเยซูเกิดก็จริง แต่การนับวันคืนเดือนปีเขาไม่ได้อาศัยเหตุประจบรอบศักราช เหมือนอย่างพระพุทธศักราช เขาใช้กำหนดเอาพระอาทิตย์ปัดไปใต้ที่สุดเป็นอายันต์สงกรานต์ ถึงข้างเมืองจีนก็ใช้เช่นนั้น เป็นแต่เขาจะมีวิธีคํานวณตัดเวลาอย่างไรแปลกไป จึงไม่ตรงกันเข้ากับฝรั่ง ถอยคลาดมาจากเวลาที่พระอาทิตย์เป็นอายันต์สงกรานต์ ตกอยู่ในระหว่างที่พระอาทิตย์ยังไม่เป็นสามัญสงกรานต์ เห็นว่าเมื่อเรายังไม่ได้ใช้จุลศักราชคงจะใช้กำหนดเปลี่ยนปีอาศัยอายันต์สงกรานต์ใต้เหมือนกัน เพราะเป็นเวลาประสบช่องกับฤดูหนาว ซึ่งนับว่าเป็นเวลาเช้าที่กล่าวมาแล้ว เดือนอ้ายจึงเป็นเดือน ๑ แขวนอยู่เป็นพยาน

ศักราชเคยใช้มาในกรุงสยามนี้เป็นสามศักราช คือพระพุทธศักราชซึ่งนับแต่พุทธปรินิพพานมานั้นอย่างหนึ่ง มหาศักราชซึ่งไม่ปรากฏของผู้ใดตั้งนั้นอย่างหนึ่ง จุลศักราชซึ่งว่าเป็นของพระร่วงซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยาม ณ กรุงสุโขทัยตั้งนั้นอย่างหนึ่ง ในศักราชสามอย่างนี้ พระพุทธศักราชใช้ในการซึ่งจะกล่าวถึงพุทธภาษิต หรือการที่เกี่ยวด้วยพระพุทธศาสนา แต่ในส่วนราชการที่คงใช้อยู่บัดนี้ เป็นประกาศใหญ่ๆ เช่นตั้งกรมก็ยังใช้อยู่ แต่ก่อนมาที่ใช้ในราชการอย่างอื่นอีกก็มีบ้าง เช่นกับพระราชสาส์นสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีไปถึงพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ พระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศส ที่ได้สำเนามาแต่ประเทศยุโรปก็ใช้พระพุทธศักราช แต่พระพุทธศักราชก็ไม่ลบล้างเดือนซึ่งนับเป็น ๑, ๒, ๓, ๔ ของเก่า มีประหลาดอยู่แห่งหนึ่งในหนังสือลาโลแบร์ ที่เป็นราชทูตฝรั่งเศสเข้ามาครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่งว่าด้วยเรื่องเมืองไทย ได้จดวันอย่างหนึ่งว่า วันแรมแปดค่ำเดือนที่ ๑ (คือเดือนอ้าย) ปี ๒๒๓ ๒ ซึ่งตรงกับวันที่ ๑๑ เดือนดิเซมเบอร์ คริสต์ศักราช ๑๖๘๗ ตามหนังสือนั้นเขาได้กล่าวว่า “ข้อนี้ดูเหมือนอาการที่ลงวันอย่างนี้หมายความว่าปีนั้นเมื่ออยู่ในเดือนนี้ จะเรียกว่าปี ๒๒๓๑ หรือ ๒๒๓๒ ก็ได้” เมื่อจะคิดดูตามข้อความที่เขาว่าเช่นนี้ จะถือว่าแต่ก่อนเขาจะเปลี่ยนปีในเดือนอ้ายตามอย่างเก่า แต่ศักราชไปขึ้นต่อเมื่อถึงกำหนดสงกรานต์ของศักราชนั้นจะได้บ้างดอกกระมัง แต่ในหนังสือนี้ไม่ได้ว่าถึงจุลศักราช กล่าวแต่ถึงพุทธศักราช สงกรานต์ของพุทธศักราชอยู่ต่อวันวิศาขบุรณมี แต่ปีเปลี่ยนที่เดือนอ้าย ครั้นจะเปลี่ยนศักราชไปเป็น ๒๒๓๒ ทีเดียวก็ยังไม่ถึงสงกรานต์ของพุทธศักราช จึงเขียนเป็นสองแปลงไว้ แต่ที่ไปมีเลข ๒ อยู่ข้างปลายอีกตัวหนึ่งนั้นดูกระไรอยู่ หรือจะเป็นเขียนควงอย่างไทยๆ เขียนเช่นนี้ ๒๒๓ แต่วิธีเครื่องหมายควงเช่นนี้แปลกกันไปกับฝรั่ง เมื่อเวลาแปลจะเข้าใจผิดไปด้วยเครื่องหมายควงของไทย ถ้าขมวดหัวโตๆ จะอ่านเป็นเลขสองไปได้บ้างกระมัง เพราะเลข ๒ โบราณเขียนขี้มักใช้หางลาๆ คล้ายกับที่เราใช้คำซ้ำอยู่เดี๋ยวนี้ เช่น “ต่างๆ” ถ้าเป็นเช่นนั้นเลข ๒ ข้างปลายนั้น ก็จะเป็นทางที่เข้าใจผิดของผู้แปลได้ ถ้าลงศักราชเป็นสองแปลงเช่นนี้ ก็เป็นอันตรงกันกับที่ใช้เขียนการ์ดกันอยู่ในเร็วๆ นี้อย่างหนึ่ง เช่น ๑๒๔๘ -- ๙ แต่วิธีเขียนเช่นนี้เป็นเอาอย่างฝรั่งโดยความเข้าใจโก๋นิดๆ ของคนชั้นใหม่ๆ คือ จะหมายความว่าตั้งแต่เตือน ๕ ขึ้นค่ำหนึ่งมา ศักราชยังเป็น ๔๘ อยู่ไม่ยกเป็น ๔๙ แต่คงจะเป็น ๔๙ เมื่อถึงวันเถลิงศกแล้ว ถ้าจะเขียน ๑๒๔ ก็จะเข้าใจได้เหมือนกันหรือง่ายกว่า เพราะดูไทยแท้ขึ้น ถ้าคำที่ลาโลแบร์ได้กล่าวไว้นี้เป็นคำแน่นอน และเราอ่านเข้าใจถูกต้องตามเนื้อความที่เขาหมาย ก็คงจะเป็นนับเปลี่ยนปีเช่นเดือนอ้าย ใช้ศักราชสองแปลงไปจนวิศาขบุรณมีจึงเปลี่ยนขึ้นศักราช ถ้าเช่นนั้นก็จะต้องเข้าใจว่า การซึ่งนับเวลาเปลี่ยนชื่อปีในเดือน ๕ นั้น จะเป็นภายหลังพระนารายณ์มหาราช

แต่มหาศักราชนั้น ไม่มีข้อความปรากฏว่าผู้ใดตั้ง และสงกรานต์ของมหาศักราชนั้นจะเป็นเมื่อใด เมื่อไปสอบค้นดูในหนังสือ ซึ่งใช้มหาศักราชเช่นคําจารึกเสาศิลาเมืองสุโขทัย ซึ่งอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ทรงแปลทั้งสองต้น ซึ่งได้ลงพิมพ์ในหนังสือวชิรญาณเดือน ฉบับที่ ๓ จํานวนเดือน ๒ ปี ๑๒๔๖ หน้า ๒๓๙ นั้นแล้ว มหาศักราชในนั้นก็แก่มาก สอบดูกับจุลศักราชก็ถึงเวลาที่พระเจ้าอู่ทองได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินเสียแล้ว ไม่เป็นที่สันนิษฐานแน่นอนอย่างไรได้ มหาศักราชไม่มีผู้ใดที่จะรู้วิธีใช้ชัดเจนอย่างไร นอกจากที่จะรู้เกณฑ์บวก สอบที่ไหนก็เลอะทุกแห่ง แต่ตามการประมาณดูเห็นว่าจะเป็นศักราชที่ใช้กันอยู่ในตอนแผ่นดินสยามข้างใต้ ซึ่งในเวลานั้นเขมรมีอํานาจปกแผ่เข้ามามาก จะเป็นชั้นเดียวกันกับพระนครวัดนครธม ซึ่งเป็นคราวเล่นปราสาทศิลาตลอดเข้ามาจนเมืองพิมาย เมืองเพชรบุรี เมืองราชบุรี เมืองสิงห์ ข้างแควแม่น้ำน้อยเมืองกาญจนบุรี เมืองนครชัยศรี หรือเมืองนครศรีธรรมราชด้วย ครั้นภายหลังพวกชาวสยามข้างเหนือซึ่งต้องอ่อนน้อมต่อชาวสยามข้างใต้ ได้พระร่วงเป็นผู้มีสติปัญญาเกิดขึ้นเห็นปรากฏชัด เช่นกับสานชะลอม (คือสานครุหรือกะละออมยาชัน) ตักน้ำไปส่งส่วย ไม่ต้องใช้ตุ่มใช้ไห ซึ่งเป็นภาชนะอันหนักอย่างแต่ก่อน เป็นต้น ก็มีความนิยมยินดีควบคุมพวกพ้องได้มีกําลังมากขึ้นคิดขับไล่พวกเขมร ซึ่งมีอํานาจปกแผ่เข้ามาในแผ่นดินสยามข้างใต้ให้อยู่ในอำนาจได้ ตั้งเมืองหลวงขึ้นฝ่ายเหนือแล้วจึงมาคิดเห็นว่าคงจะใช้มหาศักราชอยู่ตามเดิม ก็จะเหมือนหนึ่งเป็นพยานให้เห็นอยู่ว่าเคยอยู่ในอํานาจพวกข้างใต้ ด้วยมหาศักราชนั้นจะตั้งขึ้นตามกําหนดปีราชาภิเษกของพระเจ้าแผ่นดินข้างใต้องค์ใดองค์หนึ่ง หรือจะเป็นปีที่ปราบปรามพวกฝ่ายเหนืออยู่ในอำนาจเองก็ไม่ทราบ จึงเป็นที่รังเกียจด้วยศักราชนั้นยกเลิกเสีย ตั้งจุลศักราชขึ้นใช้แทน แต่มหาศักราชจะเปลี่ยนปีเมื่อใดไม่ได้ความชัดนั้น สงสัยว่าบางทีก็จะเปลี่ยนปีอาศัยพระอาทิตย์ที่สุดข้างใต้ เป็นอายันต์สงกรานต์คล้ายกับเมืองจีน หรือเปลี่ยนต้นเดือนอ้าย จึงไม่เป็นการประหลาดอันใดที่จะต้องมีผู้กล่าวไว้ เพราะเดือนอ้ายบอกหนึ่งชัดเจนอยู่แล้ว มหาศักราชนั้นถ้าจะนับมาจนถึงปีนี้เป็น ๑๔๑๑ แต่ยังติดใจสงสัยเกณฑ์บวกที่พวกโหรจำไว้กลัวว่าจะเลอะเทอะเสียหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ เพราะสอบอันใดไม่เห็นถูกต้องเลย บางอาจารย์ก็ว่า ๖๕๐ บางอาจารย์ก็ว่า ๕๖๐ แต่ในแสดงกิจจานุกิจตั้งเกณฑ์ไว้ถึง ๗๖๐ เลอะเทอะป้วนเปี้ยนกันอยู่แล้ว บางทีจะตกพันเสียอีกตัวก็จะได้[๑]

ส่วนจุลศักราชนั้นในพงศาวดารเหนือของเรากล่าวว่าพระร่วงซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินสยาม ณ กรุงสุโขทัยเป็นผู้ตั้ง ฝ่ายพม่าเขาก็ว่ามีพระเจ้าแผ่นดินของเขาองค์หนึ่งชื่อสังฆราชาเป็นผู้ตั้งขึ้น แต่ศักราชนี้ได้ใช้ทั่วไปทั้งเมืองไทย เมืองพม่า เมืองมอญ เมืองเงี้ยว เมืองอาสัม ที่เรียกว่าไทยใหญ่ เมืองลาว ทั้งเฉียง ทั้งกาว หรือพุงขาว พุงดํา เมืองเขมร ถ้าจะคิดดูว่าข้อซึ่งต่างคนต่างเถียงกันเช่นนี้ ถ้าต่างคนต่างนับเหตุจึงจะตรงกันได้ หรือจะกล่าวว่าเมืองใดตกอยู่ในอํานาจเมืองใดที่บังคับให้ใช้ตามกันได้ ก็จะต้องตกอยู่ในบังคับกันช้านาน จนเกือบจะรวมเป็นชาติเดียวกัน ถ้าไม่ฉะนั้นก็คงจะกลับใช้ศักราชอื่นเสีย เมื่อเวลาตั้งตัวแข็งเมืองขึ้นได้ คือเช่นพระร่วงไม่ยอมใช้มหาศักราช หรือพม่าไม่ยอมใช้ศักราชซึ่งพระเจ้าปราสาททองลบ ถ้าจะคิดเดาเกลี่ยไกล่ดูอีกอย่างหนึ่ง จะเป็นอย่างนี้ได้บ้างดอกกระมัง คือจะมีโหรหรือพราหมณ์ผู้รู้วิชาโหรผู้ใดผู้หนึ่ง ซึ่งเป็นที่คนทั้งปวงนับถือมาก เที่ยวไปเที่ยวมาอยู่ในประเทศทั้งปวง ไม่ได้อยู่ในอํานาจผู้ใด ประพฤติตัวเป็นพระกลายๆ เมื่อคิดเห็นวิธีนับปีเดือนวันคืนอย่างใหม่ขึ้นได้ จะเที่ยวชี้แจงแก่เจ้าแผ่นดินทั้งปวงให้ลงเห็นชอบเป็นอันหนึ่งอันเดียว ยอมเปลี่ยนใช้จุลศักราชพร้อมกันทุกเมืองก็ดูเหมือนจะเป็นได้ ด้วยการที่จะคิดเห็นว่าจะมีการประชุม คองเกรส อย่างเช่นในประเทศฝรั่งเศสประชุมกันในระหว่างประเทศทั้งปวง ตั้งกฎหมายแบบอย่างอันใดลงแล้วถือใช้ทั่วกันไปนั้น ในประเทศตะวันออกข้างฝ่ายเรานี้มีไม่ได้ และไม่เคยมีตัวอย่างที่เล่าบอกกันมาเลย การซึ่งพม่า ลาว ไทย เขมร นับวัน คืน เดือน ปี เคลื่อนคลาดกันอยู่บ้างนั้น ก็เป็นแต่ผลของวิธีที่หนุนอธิกมาสอธิกวารผิดกันไป อย่าว่าแต่ประเทศซึ่งตั้งอยู่ห่างกันจะเป็นเลย แต่ในกรุงเทพฯ นี้เองก็ได้เคยเกิดวันคืนหลีกเลี่ยงกันด้วยตำราลงอธิกวารไม่ต้องกันเมื่อไม่สู้ช้านักนี้ครั้งหนึ่ง ประดิทินที่เถียงกันอยู่ก็ยังพอจะหาพบได้ ส่วนการที่จะลงต่อไปข้างหน้าก็ยังมีข้อเถียงกันอยู่ ดังเช่นได้กล่าวไว้ในประกาศใช้วันคืนซึ่งได้ออกใหม่ครั้งนี้ แต่ถึงว่าวันคืนจะหลีกเลี่ยงกันตั้งแต่วันหนึ่งถึงเดือนหนึ่งสองเดือน ศักราชก็ยังมีเวลาใช้ตรงเท่ากัน จึงเห็นว่าน่าที่จะมีครูผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้แนะนําให้ตั้งขึ้น พม่าและไทยเป็นมหานครใหญ่ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ต่างคนต่างไม่ยอมที่จะรับว่าทําตามกัน เพราะความจริงก็เป็นต่างคนต่างตั้ง เป็นแต่ร่วมอาจารย์เดียวกัน คําที่ว่านี้เป็นแต่อนุมาน แต่เห็นว่าพอจะยุติด้วยเหตุผลได้ ครั้นเมื่อเรียงหนังสือนี้แล้ว ได้พบอ่านความเห็นของผู้ซึ่งแปลพงศาวดารพม่าเป็นภาษาอังกฤษ เมื่อว่าถึงสังฆราชาตั้งศักราช เขาเห็นว่าท่วงทีกิริยาที่คิดใช้ทั้งปวงในเรื่องศักราชนี้คล้ายกับฮินดูมาก เห็นจะมีโหรฮินดูผู้ใดผู้หนึ่งเข้ามาช่วยคิดอ่านแนะนำในการตั้งศักราช ความเห็นของเขาเช่นนี้ก็เป็นอันลงกันกับความคิดเดาเช่นได้กล่าวมาแล้ว ถ้าพม่าได้โหรฮินดูผู้ใดเป็นครู ก็ดูเหมือนผู้นั้นเองจะเป็นครูของไทยด้วย เพราะเหตุว่าจุลศักราชนี้ไม่ปรากฏว่าต้องกันกับศักราชเก่าๆ ซึ่งใช้อยู่ในประเทศอินเดียที่มีเป็นหลายศักราชนั้น ถึงแม้ว่าแบบแผนที่คิดจะเป็นอย่างฮินดู ก็คงจะมาคิดตัดคิดลบตั้งขึ้นใช้ใหม่สำหรับประเทศที่ใกล้เคียงอินเดีย ถึงว่าพระร่วงและสังฆราชาจะไม่เป็นผู้ตั้งศักราชขึ้นได้เองโดยลำพังพระองค์ ก็คงจะเป็นผู้มีวิชาความรู้และสติปัญญาพอที่ผู้ที่มาแนะนํานั้นจะชี้แจงให้เข้าพระทัยเห็นดีได้ง่ายกว่าเจ้าแผ่นดินประเทศอื่นๆ จนอาจจะเล่าบอกชี้แจงวิธีคํานวณทั้งปวงได้ถ้วนถี่ จึงปรากฏว่าเป็นผู้ตั้งศักราชอยู่แต่สองประเทศ ไม่มีเจ้าแผ่นดินในเมืองอาสัม เมืองมอญ เมืองเงี้ยว เมืองลาว เมืองเขมร องค์อื่นที่ได้อ้างว่าเป็นผู้ตั้งศักราชอีก เป็นแต่ใช้ขึ้นเงียบๆ ตามที่เห็นชอบในคําแนะนำนั้น ผู้ที่คิดตั้งจุลศักราชขึ้นนั้น เป็นผู้มีความรู้มากคิดประกอบเหตุผลโดยรอบคอบ ถึงแม้ว่าแบบคํานวณวิธีนับจะยังไม่ละเอียดถึงที่ ก็เป็นอย่างดีมาก กว่าจะรู้ว่าเคลื่อนคลาดได้ก็ช้านาน แต่เพราะเหตุที่เห็นช่องดาวฤกษ์ว่าอยู่ที่ราศีเมษดังเช่นกล่าวมาแล้ว จึงได้ย้ายปีใหม่มาเสียไม่เอาตามอายันต์สงกรานต์ใต้ เปลี่ยนมาเอาสามัญสงกรานต์ขาเข้า คือเวลาพระอาทิตย์กลับมาตรงศีรษะเป็นเวลาสงกรานต์ เพราะฉะนั้นสงกรานต์จึงได้เลื่อนเข้ามาอยู่ในเดือนห้าหรือเดือนหก ไม่เร็วกว่าเดือน ๕ ขึ้น ๔ ค่ำ ไม่เกินเดือน ๖ ขึ้น ๔ ค่ำออกไป สงกรานต์คงอยู่ในระหว่างเดือนหนึ่งนั้น เพราะเหตุดังนี้ปีใหม่จึงได้เป็นสองครั้ง คือเปลี่ยนชื่อปีครั้งหนึ่ง เปลี่ยนศักราชครั้งหนึ่ง

แต่การที่ตัดสงกรานต์ปีตามตำรานี้ ถึงว่าเป็นการละเอียดมากอยู่แล้วก็ยังไม่ถูกแท้ได้ เพราะปีหนึ่งคิดคติโคจรของพระอาทิตย์ ตามตําราที่โหรอย่างไทยคิดเป็น ๓๖๕ วัน ๖ โมง ๑๒ นาที ๓๖ วินาที เพิ่มอธิกมาส อธิกวารแล้วก็ยังไม่พอ ยังมีเศษน้อยๆ สะสมกัน เมื่อนานมาวันซึ่งคิดตามสุริยยาตร ว่าพระอาทิตย์ยกนั้นก็เคลื่อนคลาดจากที่พระอาทิตย์ยกจริงๆ ไป เหมือนอย่างในปัจจุบันนี้ วันสงกรานต์ก็เคลื่อนกับอาทิตย์ยกที่จริงแท้ถึง ๒๑ วันล่วงมาแล้ว แต่เพราะเคลื่อนทีละน้อยไม่ถึงเปลี่ยนฤดูกลับร้อนเป็นหนาวจึงไม่ใคร่มีผู้ใดรู้สึก แต่ถ้านานไปอีกหลายพันปีก็คงจะกลับร้อนเป็นหนาวได้ เพราะฉะนั้นจึงได้มีวิธีนับวันขึ้นใหม่ ซึ่งได้ออกประกาศไปให้ใช้ ซึ่งเห็นว่าเป็นอย่างใกล้กับความจริงที่สุดที่จะเป็นได้ ถ้าวันเช่นนั้นใช้ทั่วไปได้ทุกประเทศ ก็คงจะไม่เกิดเหตุที่เคลื่อนคลาดเดือนวันกัน เช่นเมืองไทย เมืองพม่า เมืองลาว เมืองเขมร เคลื่อนกันอยู่ในบัดนี้ ด้วยวิธีที่จะลงอธิกสุรทินเป็นการง่ายอย่างยิ่ง ไม่เหมือนวิธีลงอธิกมาสอธิกวารอย่างแต่ก่อน ซึ่งเกือบจะว่าไม่มีตำราใดจะตัดสินเป็นเด็ดขาดลงได้ และจะนับปีถอยหลังขึ้นไปให้พ้นปูมได้โดยยาก ซึ่งพรรณนามาด้วยสงกรานต์นี้ เพราะเห็นว่าวิธีนับอย่างใหม่เป็นการง่าย และเป็นการใกล้จริงคงจะอยู่ยืนยงแพร่หลาย วิธีนับอย่างเก่าจะมีแต่ยากไปทุกวัน บางทีจะลืมต้นสายปลายเหตุเลยไม่มีผู้ใดจดจำไว้ เพราะด้วยเวลานี้ต่างคนต่างเข้าใจอยู่ด้วยกันหมด จะจดจําไว้ก็เป็นการจืดๆ ครั้นนานไปเมื่อสิ้นชั้นผู้ที่เข้าใจชำนิชำนาญก็จะเลยสูญเสีย ไม่มีผู้ใดรู้เรื่องเหมือนอย่างมหาศักราช

แต่การซึ่งขึ้นชื่อว่าสงกรานต์นี้ มีเรื่องราวเป็นนิทานประกอบเกิดขึ้นด้วยความอดไม่ได้ของคนที่มักจะคิดเล่าสู่กันมา นำมาลงไว้พอฟังเล่นสนุกๆ บรรดาเด็กๆ ทั้งปวงคงจะได้ยินเล่าให้ฟังแทบจะทั่วทุกคน เรื่องราวนั้นก็ลงเค้าเดียวกัน ว่าพระมหาสงกรานต์นั้นไปพนันกับใครมักจะบอกว่าก็ไม่รู้ ถามปัญหาว่าเวลาไรราศีอยู่ที่ใด ผู้ที่เรียกว่าใครก็ไม่รู้นั้นทายถูก พระมหาสงกรานต์จึงเด็ดศีรษะให้ ศีรษะนั้นตกลงแผ่นดินก็เกิดเป็นไฟลุกขึ้น นางลูกสาวเจ็ดคนจึงผลัดกันมารับพานซึ่งรองศีรษะชูไว้ ปีหนึ่งออกเวรทีหนึ่ง คือเข้าเวรปีหนึ่ง ออกเวร ๖ ปี และมีคำทำนายที่พูดกันอยู่โดยมากว่าถ้าปีใดกินถั่วกินงาแล้วก็ร้องกันว่า “เออปีนี้ข้าวปลาจะบริบูรณ์” ถ้าปีใดกินเลือดแล้วสั่นหัวดิกๆ ไป ครางออดๆ แอดๆ ว่า “ปีนี้จะตีกันหัวล้างข้างแตกมาก” ถ้าปีใดถือปืนก็ว่าปีนั้นฟ้าจะคะนอง นัยหนึ่งว่าถ้าหลับตาแล้วคนมักจะเป็นตาแดงมาก นัยหนึ่งว่าถ้าลืมตาแล้วคนมักจะเป็นตาแดงมาก ถ้าจะถามไล่เลียงเอาแน่นอนให้เล่าให้ตลอดเรื่อง ก็มักจะบอกจําไม่ได้ไปแทบทุกคน เว้นแต่อย่างไรไม่ทราบ ช่างเชื่อถือกันแน่นหนามั่นคงทั่วทุกคน สุดแต่ถ้าถึงสงกรานต์แล้วเป็นโจษกันไปได้จนตลอดทั้งสามวัน บ่นตุบๆ ตับๆ เออๆ ออๆ ไป แล้วต้องอธิบายต่อ ว่าเรื่องสงกรานต์นี้มีมาแต่เมืองจีน เมืองจีนเขาเห็นก่อน ถ้าวันใดจะสงกรานต์แล้วเขาตระเตรียมช่างเขียนไปคอยอยู่ที่ริมทะเลหลายๆ คนด้วยกัน พอเวลาเช้ามืดพระสงกรานต์ขึ้นจากทะเลพอแลเห็นเขาก็วาดรูป คนหนึ่งวาดรูปตัวนาง คนหนึ่งวาดรูปตัวพาหนะ อีกคนหนึ่งวาดรูปบริวาร พูดเหมือนอย่างพระยะโฮวาสร้างโลก เพราะการที่พระยะโฮวาสร้างโลกนั้นมนุษย์คนเดียวต้องสร้างเสียวันยังค่ำ แต่สัตว์ทั้งหลายนับด้วยโกฏิด้วยล้านสร้างวันเดียว เท่ากันกับสร้างคนๆ หนึ่งฉันใด เจ๊กที่วาดรูปพระมหาสงกรานต์นี้ก็เหมือนกัน ตัวนางมหาสงกรานต์คนเดียวช่างเขียนคนหนึ่ง พาหนะตัวเดียวช่างเขียนคนหนึ่ง บริวารแสนโกฏิเขียนคนเดียวเหมือนกัน แต่ว่าช่างเถอะอย่าทักเลย ที่ต้องเขียนหลายคนออกไปเช่นนี้ เพราะเวลาที่เห็นนั้นน้อยนัก ถ้าผู้ที่จะคอยเขียนพริบตาลงเมื่อไรก็ไม่เห็นพระสงกรานต์แล้ว ถ้าคนกระพริบตาถี่ๆ เห็นจะให้เป็นช่างไปคอยเขียนไม่ได้ แต่ถ้าเวลานี้พวกจีนจะลงทุนซื้อเครื่องถ่ายรูปม้าห้อสักเครื่องหนึ่งไปตั้งไว้ พอสงกรานต์ขึ้นมาบีบปราดเดียวก็จะได้รูปเทวดาอันวิเศษมาขายมีกำไรมากกว่าที่ลงทุนซื้อเครื่องถ่ายรูปหลายร้อยเท่า เรื่องสงกรานต์มาแต่เมืองจีนนี้ยังไม่ได้เค้ามูลว่าเกิดขึ้นด้วยเหตุใดเลย จะไต่ถามผู้ที่เล่าหาต้นเหตุก็จดไม่ติด เพราะเรื่องนี้แล้วไม่รู้ว่าเป็นอย่างไร ผู้ใดเล่าขึ้น ถ้าไปซักถามแล้วโกรธทุกคน ดูเป็นขนดหางของคนแก่โดยมากทั่วๆ ไป แต่พิเคราะห์ดูเห็นว่าท่านผู้ที่เล่าและที่โกรธนั้น ก็เห็นจะไม่รู้เหมือนกัน และคงจะเคยถามมาแต่เมื่อเด็กๆ และถูกโกรธมาแล้วเหมือนกัน จึงได้เอาอย่างมาโกรธบ้าง ว่าเป็นประเพณีที่เป็นผู้ใหญ่แล้วต้องโกรธ เพราะฉะนั้นเรื่องสงกรานต์เห็นที่เมืองจีนนี้ เห็นจะเป็นขนดหางของคนแก่แต่โบราณสืบมา จนไม่มีผู้ใดรู้ว่าต้นเหตุมาจากอันใด

ที่ว่ามาข้างต้นนี้ตามคำเล่าบอก ส่วนที่จารึกแผ่นศิลาประจำรูปเขียนไว้ที่วัดพระเชตุพน อ้างว่าเรื่องมหาสงกรานต์นี้มีพระบาลีฝ่ายรามัญ ว่าเมื่อต้นภัทรกัลปอันนี้ เศรษฐีคนหนึ่งไม่มีบุตร บ้านอยู่ใกล้กับนักเลงสุรา นักเลงสุรามีบุตรสองคน มีผิวเนื้อเหมือนทอง วันหนึ่งนักเลงสุรานั้นเข้าไปกล่าวคําหยาบช้าต่อเศรษฐี เศรษฐีจึงถามว่าเหตุใดจึงมาหมิ่นประมาทต่อเราผู้มีสมบัติมาก นักเลงสุราจึงตอบว่า ถึงท่านมีสมบัติก็ไม่มีบุตร ตายแล้วสมบัติจะสูญเปล่า เรามีบุตรเห็นว่าประเสริฐกว่าท่าน เศรษฐีมีความละอายจึงบวงสรวงพระอาทิตยพระจันทร์ตั้งอธิษฐานขอบุตรถึงสามปีก็มิได้มีบุตร อยู่มาถึงวันนักขัตฤกษ์สงกรานต์ พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ เศรษฐีจึงพาบริวารไปยังต้นไทรอันเป็นที่อยู่แห่งฝูงนกทั้งปวงริมฝั่งน้ำ จึงเอาข้าวสารล้างน้ำเจ็ดครั้ง แล้วหุงขึ้นบูชาพระไทร ประโคมพิณพาทย์ตั้งอธิษฐานขอบุตร พระไทรมีความกรุณาจึงเหาะไปเฝ้าพระอินทร์ขอบุตรให้เศรษฐี พระอินทร์จึงให้ธรรมบาลเทวบุตรลงมาปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี เมื่อคลอดแล้วจึงให้ชื่อธรรมบาลกุมาร ปลูกปราสาทเจ็ดชั้นให้อยู่ที่ใต้ต้นไทรริมฝั่งน้ำนั้น กุมารเจริญขึ้นก็รู้ภาษานก แล้วเรียนไตรเพทจบเมื่ออายุได้เจ็ดขวบ ได้เป็นอาจารย์บอกมงคลการต่างๆ แก่มนุษย์ทั้งปวง ในขณะนั้นโลกทั้งหลายนับถือท้าวมหาพรหมและกบิลพรหมองค์หนึ่ง ว่าเป็นผู้แสดงมงคลแก่มนุษย์ทั้งปวง เมื่อกบิลพรหมทราบจึงลงมาถามปัญหาธรรมบาลกุมารสามข้อ สัญญาไว้ว่าถ้าแก้ปัญหาได้จะตัดศีรษะบูชา ถ้าแก้ไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ธรรมบาลกุมารผัดเจ็ดวัน ครั้นล่วงไปได้หกวันก็ยังคิดไม่เห็น จึงนึกว่าพรุ่งนี้จะตายด้วยอาญาท้าวกบิลพรหมไม่ต้องการ จําจะหนีไปซุกซ่อนตายเสียดีกว่า จึงลงจากปราสาทไปนอนอยู่ในใต้ต้นตาลสองต้น มีนกอินทรีสองตัวผัวเมียทํารังอาศัยอยู่บนต้นตาลนั้น ครั้นเวลาค่ำนางนกอินทรีถามสามีว่าพรุ่งนี้จะได้อาหารแห่งใด สามีบอกว่าจะได้กินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งท้าวกบิลมหาพรหมจะฆ่าเสีย เพราะทายปัญหาไม่ออก นางนกถามว่าปัญหานั้นอย่างไร สามีจึงบอกว่าเช้าศรีอยู่หน้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างหน้า ข้อหนึ่งเวลาเที่ยงอยู่อก มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ข้อหนึ่งเวลาอัสดงศรีอยู่ที่เท้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างเท้า ธรรมบาลกุมารได้ยินดังนั้นก็กลับไปปราสาท ครั้นรุ่งขึ้นท้าวกบิลมหาพรหมมาถามปัญหา ธรรมบาลกุมารก็แก้ตามที่ได้ยินมา ท้าวกบิลมหาพรหมจึงตรัสเรียกเทวธิดาทั้งเจ็ด อันเป็นบริจาริกพระอินทร์มาพร้อมกัน แล้วบอกว่าเราจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร ถ้าจะตั้งไว้ยังแผ่นดิน ไฟก็จะไหม้ทั่วโลกธาตุ ถ้าจะทิ้งขึ้นบนอากาศฝนก็จะแล้ง ถ้าจะทิ้งในพระมหาสมุทรน้ำก็จะแห้ง จึงให้บุตรทั้งเจ็ดนั้นเอาพานมารับศีรษะ แล้วก็ตัดศีรษะให้นางทุงษผู้บุตรใหญ่ นางทุงษจึงเอาพานรับพระเศียรบิดา แล้วแห่ทักษิณรอบเขาพระเมรุ ๖๐ นาที แล้วก็เชิญประดิษฐานไว้ในมณฑปถ้ำคันธธุลีเขาไกรลาส บูชาด้วยเครื่องทิพย์ต่างๆ พระเวสสุกรรมก็นฤมิตโรงแล้วด้วยแก้วเจ็ดประการ ชื่อภควดี ให้เป็นที่ประชุมเทวดา เทวดาทั้งปวงก็นำเอาเถาฉมูนาดมาล้างในสระอโนดาตเจ็ดครั้ง แล้วแจกกันสังเวยทุกๆ พระองค์ ครั้นถึงครบกําหนด ๓๖๕ วัน โลกสมมติว่าปีหนึ่งเป็นสงกรานต์ นางเทพธิดาเจ็ดองค์จึงผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรท้าวกบิลมหาพรหมออกแห่ประทักษิณเขาพระเมรุทุกปี แล้วกลับไปเทวโลก ที่จารึกในวัดพระเชตุพนมีใจความดังนี้

ข้อซึ่งอ้างว่าเรื่องนี้มีในพระบาลีดูไม่มีเค้ามูลอันใดที่จะเกี่ยวข้องเข้าไปได้ในพระพุทธศาสนาแต่สักนิดหนึ่งเลย แต่การที่อ้างไว้ว่าพระบาลีฝ่ายรามัญนั้นประสงค์จะให้รู้ว่าเป็นการชั่งเถอะ ด้วยมีเรื่องราวตัวอย่างที่ได้ฟังเล่าบอกมา ว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเก็บหนังสือประเทศต่างๆ แต่งเป็นภาษามคธ สุดแต่อ้างว่าเป็นบาลีหรืออรรถกถาฏีกาโยชนาอย่างใดไม่ว่า มีอยู่แล้วให้มาถวายเทศนาเวรในคราวรอบใหญ่ตลอดทุกอย่าง แต่พระที่มาถวายนั้น ถ้าเป็นเรื่องสัพเพเหระเช่นนี้ก็มักจะใช้เปรียญมอญ เปรียญลาว เปรียญเขมร ครั้งหนึ่งเปรียญรามัญถวายเทศน์เรื่องสุวรรณเศียร เรียกชื่อว่าสุวรรณเซียน ท่านก็ทรงล้อเรื่องหนังสือรามัญเป็นเซียนไปทั้งนั้น ว่าที่สุดจนเรื่องเงาะกับนางรจนาก็มีในบาลีฝ่ายรามัญเช่นนี้ ก็ได้ถวายเทศน์ในท้องพระโรงเหมือนกัน แต่ไม่ทรงเชื่อถืออันใด เป็นเหมือนหามาเล่านิทาน แล้วดำรัสล้อๆ เล่น คำที่ว่ารามัญท้ายคำบาลีนั้น ถ้าจะแปลตามสำนวนทุกวันนี้ ก็ตรงกับคําชั่งเถอะ ซึ่งโปรดให้ไปเขียนไว้ที่ตามศาลาข้างหลังวัด ก็เพราะทรงเห็นว่าเป็นเรื่องที่คนรู้ซึมซาบทั่วถึงกัน พอจะได้ไปอ่านเออออกันให้เป็นที่สนุกรื่นเริงของผู้ที่ไปมาเที่ยวเตร่ในวัดเท่านั้น

เมื่อพิเคราะห์เรื่องราวตามที่ว่า ก็เห็นว่านิทานนี้จะเกิดขึ้นเมื่อภายหลังตั้งจุลศักราช เป็นไปตามนิสัยของคนโบราณไม่ว่าชาติใดภาษาใด ตลอดจนฝรั่ง มักจะคิดจะเขียนเรื่องที่นึกเดาๆ ขึ้นในใจให้เป็นที่พิศวงงงงวย ไม่ได้นึกว่าผู้ใดจะขัดคอเมื่อภายหลัง เพราะในเวลานั้นถ้าผู้ใดขัดคอก็ตวาดเอาเสียก็แล้วกัน แต่ที่คําเช่นนี้ยืนยาวมาได้ก็ด้วยอาศัยความรู้ของชนแต่ก่อนยังมีน้อยอยู่ ได้ลงเชื่อถือมั่นคงเสียแล้วก็รับเป็นผู้โกรธผู้ตวาดแทนกันต่อๆ มาจนถึงทุกวันนี้ เรื่องที่เล่าว่านักเลงสุรามีลูกสองคนผิวพรรณเหมือนทอง เด็กสองคนนั้นมีบุญสมภารประการใด ก็ดูหายเงียบไปไม่กล่าวถึง แต่นัยหนึ่งเล่ากันตามซึมซาบว่า นักเลงสุรานั้นเองเป็นผู้ทายปัญหาออก เมื่อพระมหาสงกรานต์คือกบิลมหาพรหมมาถามปัญหา ลูกเศรษฐีแก้ไม่ออก ฝ่ายเจ้าขี้เมาเมาเหล้าเดินโซเซไปนอนใต้ต้นไม้ จึงได้ยินนกอินทรีพูด แล้วมาบอกให้ลูกเศรษฐีอีกต่อหนึ่ง ลูกเศรษฐีจึงเอาไปทาย ที่ว่าเช่นนี้เพราะไม่รู้เรื่องที่ลูกเศรษฐีรู้ภาษานกเป็นการวิเศษกว่าคนทั้งปวง หมายว่าสัตว์พูดภาษาคนได้ ตามแบบที่เล่านิทานกันเป็นอันมาก ก็เมื่อว่าจะตามทางที่แก้ปัญหากัน ธรรมบาลกุมารจะได้ยินนกพูดก็ดี หรือคนขี้เมามาบอกก็ดี ก็ไม่ใช่ความคิดของตัวคิดเอง เอาไปหลอกพระพรหมว่า เป็นความคิดของตัวนั้นเป็นการนุ่งแท้ ส่วนพระพรหมนั้นเล่าก็มีหูทิพย์ตาทิพย์ จะเล็งจะเอียงฟังดูว่ามันจริงจังอย่างไรบ้าง ก็ไม่เล็งไม่เอียง ใจเบายอมให้ง่ายๆ ดูงุ่มง่ามเต็มที ในการที่จะตัดหัวว่าตกถึงแผ่นดิน ไฟก็จะไหม้เป็นต้นนั้น ในเรื่องราวที่ว่านี้ เป็นเอาพานรองแล้วตั้งไว้ในมณฑปที่ถ้ำคันธธุลี แต่ตามซึมซาบเล่ากันว่านางธิดานั้นต้องมาถือชูอยู่เสมอ เพราะจะตั้งลงไปที่แผ่นดินกลัวไฟจะลุกฮือขึ้น เมื่อว่าไปตามที่จริง เรื่องเดิมจะชามากกว่าที่พวกซึมซาบเล่า เพราะตั้งที่พานแล้ว เอาพานตั้งบนมณฑป มณฑปตั้งที่แผ่นดิน ดูก็ไม่ห่างไกลอะไรกันนัก ใครจะเรียกว่าตั้งกับแผ่นดินหรือตั้งอยู่กับอะไร ถ้าไม่เรียกว่าตั้งอยู่กับแผ่นดินแล้ว คนเราเมื่อขึ้นอยู่บนเรือน ก็นับว่าไม่ได้อยู่บนแผ่นดินเหมือนกัน หรือว่าหัวนั้นเหมือนไฟ แผ่นดินเหมือนดินดำ ต่อเปลวถึงกันจึงจะลุก ถ้าเช่นนั้นเอาไม้เสียบไว้อย่างเช่นที่เขาตัดหัวคนโทษก็เห็นจะได้ หรือถ้าแผ่นดินไม่สู้ไวไฟเหมือนดินดำนัก เอาใบไม้หรือกระดาษรองเสียสักนิดหนึ่งวางที่ไหนก็วางได้ พออย่าให้แจะลงกับพื้นดินเป็นแล้วกัน ท่านพวกซึมซาบจะออกเห็นกระไรกระไรอยู่ จึงได้เข้าใจช่วยไปเสียตามอย่างหัวอินทรชิตคือให้นางลูกสาวมาถือพานชูไว้ ที่จะเหาะลอยอยู่เสมอด้วย ดูค่อยแยบคายขึ้น แต่ไม่เล่าว่าเจ็ดนางลูกสาวนั้นเป็นเมียพระอินทร์ ส่วนท่านตําราเดิมนั้นจะกลัวพระอินทร์หึงเมียหรืออย่างไรจึงต้องให้กลับขึ้นไปเสีย เอาแต่พานตั้งทิ้งไว้ แต่ที่แท้ถึงโดยจะให้อยู่ตามเรื่องซึมซาบว่า ก็ดูจะไม่สู้กระไรนัก ด้วยพระอินทร์ท่านไม่สู้จะหึงหวง จึงปล่อยให้อยู่ชั้นจาตุมหาราชิกา ไม่พาขึ้นไปดาวดึงส์ เรื่องเถาฉมูนาดที่สำหรับเอาไปเซ่นศพนั้น ดูเป็นกิ่งไม้แห้งๆ ไม่น่ากิน จึงได้ค้นหาดูได้ความจากในฎีกาสงกรานต์อย่างเก่าซึ่งโหรถวาย มีอธิบายยืดยาวออกไป เมื่อเอาไปล้างน้ำสระอโนดาตเจ็ดครั้งแล้ว เถาฉมูนาดนั้นละลายออกเป็นเหมือนน้ำมันเนย ทํานองก็จะเป็นเฉาก๊วยหรือเยลลี แต่เฉาก๊วยต้องเข้าไฟ เยลลี่ต้องแช่น้ำแข็งยังธุระมากไปกว่าหน่อยหนึ่ง เปลือกส้มโอหรือเปลือกมังคุดซึ่งเด็กๆ คั้นเล่นแล้วแข็งเป็นวุ้นเข้าเองเห็นจะใกล้กว่า ถ้าหวานๆ หน่อยหนึ่งก็เห็นจะพอเหวยได้ ดูก็น่ากินอยู่ เทวดาทําบุญสุนทันเลี้ยงดูกันด้วยเถาฉมูนาดคั้นนี้ จึงได้คุ้มกันอันตรายอันจะเกิดแต่สงกรานต์ได้ หน้าตาถ้ำคันธธุลีนั้นคล้ายถ้ำที่วัดบ้านถ้ำเมืองกาญจนบุรี แต่เดี๋ยวนี้ศาลาทลายเสีย ถ้าทําศาลาเสียให้ดีแล้วจะเป็นถ้ำอย่างมิเนียเอเชอของถ้ำคันธธุลีได้ทีเดียว พอเล่นขึ้นถ้ำคันธธุลีกันอย่างขึ้นพระบาทวัดบางว้าได้

ชื่อนางเทพธิดามหาสงกรานต์ และคําทํานายต่างๆ ตามตํารานั้นแต่ก่อนโหรถวายฎีกาสงกรานต์ มีว่าด้วยตําราเหล่านี้ตลอด คือตั้งต้นว่าพระอาทิตย์จะยกจากราศีมีนขึ้นราศีเมษในวันนั้นเวลานั้น ทางโคณวิถีใกล้พระเมรุมาศ ขณะนั้นมีนางเทพธิดาองค์หนึ่งทรงนามอย่างนั้นมาแต่จาตุมหาราชิกา ทรงพาหุรัดทัดดอกอันนั้น อาภรณ์แล้วด้วยอย่างนั้นๆ ภักษาหารอย่างนั้น พระหัตถ์ขวาทรงสิ่งนั้น พระหัตถ์ซ้ายทรงสิ่งนั้น ทําอาการอย่างนั้น มาด้วยพาหนะอย่างนั้น เป็นมรรคนายกนำอมรคณาเทพยดาแสนโภฏิมารับเศียรท้าวกบิลมหาพรหม อันใส่พานทองประดิษฐานไว้ในถ้ำคันธธุลีที่เขาไกรลาสแดนหิมวันตประเทศ ขณะนั้นเทพยดากระทําคารวบูชายาควิธีตามวิสัยจารีตโบราณ แล้วแห่ทักษิณาวรรตเขาพระเมรุราชคํารบหกสิบนาที แล้วก็เชิญเข้าประดิษฐานในถ้ำคันธธุลีดังเก่า ต่อนั้นไปก็ว่าด้วยเรื่องเถาฉมูนาดและทําบุญสุนทันอะไรของเทวดาแล้ว จึงบอกวันนั้นเป็นมหาสงกรานต์ วันนั้นเป็นวันเนา วันนั้นเป็นวันเถลิงศกคือพระยาวันศักราชขึ้นในเวลานั้นๆ ต่อนั้นไปจึงว่าด้วยผลทํานายยกศัพท์มาว่า พสุ อาจินต์ สามัญสงกรานต์เป็นสามประการดังนี้ แล้วก็อธิบายไม่ออกว่าแปลว่ากระไร ไถลไปว่าอธิบายเป็นสามัญทั่วประเทศในสกลชมพูทวีป เป็นแต่ยกขึ้นมาอวดเล่นครึๆ เท่านั้นเอง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้กริ้วในเรื่องข้อนี้ว่าไม่รู้แล้วยังยกขึ้นมาว่า ได้ทรงอธิบายไว้ในประกาศที่ได้อ้างถึงมาแต่ก่อนชัดเจนแล้ว จะยกมาว่าในที่นี้ก็จะยืดยาวไป จะขอเดินความในหมายสงกรานต์ที่พูดถึงบัดนี้ต่อไป เมื่อว่าด้วยสงกรานต์สามอย่างแล้วจึงบอกเกณฑ์พรุณศาสตร์ คือฝนจะตกมากน้อยเท่าใดตามปีอย่างหนึ่ง เกณฑ์ธาราธิคุณ บอกน้ำท่าจะมากน้อยเท่าใดตามปีอย่างหนึ่ง เกณฑ์ธัญญาหาร บอกข้าวในภูมินา จะได้กี่ส่วนเสียกี่ส่วนตามปีอย่างหนึ่ง บอกเข้าพรรษาออกพรรษาอย่างหนึ่ง ลงท้ายก็บอกเวลาสรงมุรธาภิเษกในวันเถลิงศก ฎีกาเช่นนี้ว่าแต่ก่อนโหรยื่นมหาดเล็ก มหาดเล็กมาอ่านถวาย แต่ในชั้นหลังตั้งแต่แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โหรถวายพร้อมด้วยประดิทินทองในวันแรมสิบห้าค่ำ แต่ฎีกานั้นทรงแก้เสียหมด ให้คงบอกแต่ว่าวันนั้นเป็นวันสงกรานต์พระอาทิตย์ยก วันนั้นเป็นวันเนา วันนั้นเป็นวันเถลิงศก เสด็จสรงมุรธาภิเษกเวลานั้น แต่ฉากรูปสงกรานต์เคยเขียนแขวนที่ท้องพระโรงแผ่น ๑ แขวนที่ทิมดาบข้างหน้าแผ่น ๑ ที่ศาลาในพระบรมมหาราชวังแผ่น ๑ ทรงเห็นว่าคนยังชอบใจอยากรู้กันอยู่มาก จึงโปรดให้คงแขวนไว้ตามเดิม ถึงในประกาศสงกรานต์ไม่ทรงด้วยเรื่องนี้ ตัดเสียว่าให้ไปดูรูปฉากที่แขวนนั้นเถิด

นางสงกรานต์ตามตํารานั้น ถ้าวันอาทิตย์ชื่อทุงษ ทัดดอกทับทิม เครื่องประดับปัทมราค ภักษาหารผลมะเดื่อ อาวุธขวาจักร ซ้ายสังข์ พาหนะครุฑ

วันจันทร์ชื่อโคราค ทัดดอกปีบ เครื่องประดับมุกดา ภักษาหารน้ำมัน อาวุธขวาพระขรรค์ ซ้ายไม้เท้า พาหนะเสือ

วันอังคารชื่อรากษส ทัดดอกบัวหลวง เครื่องประดับโมรา ภักษาหารโลหิต อาวุธขวาตรีศูล ซ้ายธนู พาหนะสุกร

วันพุธชื่อมัณฑา ทัดดอกจําปา เครื่องประดับไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย อาวุธขวาเข็ม ซ้ายไม้เท้า พาหนะลา

วันพฤหัสบดีชื่อกิริณี ทัดดอกมณฑา เครื่องประดับมรกต ภักษาหารถั่วงา อาวุธขวาขอ ซ้ายปืน พาหนะช้าง

วันศุกร์ชื่อกิมิทา ทัดดอกจงกลนี เครื่องประดับบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ อาวุธขวาพระขรรค์ ซ้ายพิณ พาหนะกระบือ

วันเสาร์ชื่อมโหทร ทัดดอกสามหาว เครื่องประดับนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทราย อาวุธขวาจักร ซ้ายตรีศูล พาหนะนกยูง

พิเคราะห์ดูชื่อเสียงนางทั้งเจ็ดคนนี้ อยู่ข้างจะเป็นยักษ์ๆ ความประสงค์เห็นจะอยากให้ดุให้กลัวกัน ก็สมกับที่เกณฑ์ให้อยู่ชั้นจาตุมหาราชิกา ด้วยเข้าใจว่าชั้นนั้นเป็นยักษ์มาก และยังมีคําเล่าบอกกันอย่างซึมซาบว่าที่ข้างจีนเขาเห็นรูปพรรณสัณฐานและศัสตราวุธนั้นน่ากลัวยิ่งกว่าที่เขียนนี้ แต่เขากลัวคนจะตกใจ จึงได้เขียนลดหย่อนลงเสีย ไม่สู้ให้น่ากลัวเหมือนอย่างที่มาจริงๆ เห็นจะเป็นเหตุออกจากเรื่องชื่อนี้เองเป็นต้น แต่เครื่องประดับและดอกไม้ทัดนั้นทํานองจะแต่งตามวัน วันอาทิตย์ วันจันทร์ วันอังคาร ก็ดูถูกต้องเรียบร้อยมา แต่วันพุธ วันพฤหัสบดีนั้นไขว้กันไป ไพฑูรย์ควรจะอยู่วันพฤหัสบดี มรกตควรอยู่วันพุธ เห็นจะเป็นด้วยหลงฟั่นเฟือน ถึงดอกไม้ ดอกจำปาก็ดูเหมือนจะเป็นของวันพฤหัสบดี ดอกมณฑาจะเป็นของวันพุธ แต่ลืมดอกกระดังงาดอกขจรเสียหรือจะไม่รู้จัก จึงเห็นสามกลีบที่หุ้มดอกมณฑาเขียวๆ อยู่พอใช้ได้ แต่วันศุกร์นั้นประสงค์คําบุษอย่างเดียว ษราคัมนั้นจะมากเกินไป ถ้ายกเสียก็จะลงร่องรอยกันดีตลอดจนวันเสาร์ แต่พาหนะและอาหารกับทั้งอาวุธนั้นไม่มีเค้ามูลว่าจะได้ร่องรอยมาจากอันใด อยู่ข้างจะเป็นอันไรเดเบอล อันอีเตเบอล อันดริงเกเบอล ทั้งสิ้น

ในท่านทั้งเจ็ดที่มานี้ อยู่ข้างจะทรงพาหนะนั้นแข็งๆ ด้วยกันทุกองค์ สู้คนขี่ม้าเซอคัสได้ เสด็จมาแล้วไม่ขี่ตามปรกติเลย ทรงแผลงท่าต่างๆ ไป คือพระอาทิตย์ยกตั้งแต่เช้าจนเที่ยง ไม่ว่าองค์ใดมายืนทั้งสิ้น แต่ไม่ต้องทรงถือบังเหียนเหมือนเซอคัส ตั้งแต่เที่ยงไปจนค่ำนั่งทั้งสิ้น ตั้งแต่ค่ำไปจนเที่ยงคืน นอนลืมตาทั้งสิ้น ตั้งแต่เที่ยงคืนไปจนรุ่งนอนหลับตาทั้งสิ้น เพราะเหตุที่นางมหาสงกรานต์เล่นเซอคัสท่าต่างๆ คนละสี่ท่าสี่ท่าเช่นนี้ จึงเป็นยี่สิบแปดท่าเปลี่ยนกันไป จนคนที่ดูฉากเขียนนั้นเห็นมีแปลกๆ เสมอ น่าเชื่อว่าจีนเขาเขียนมาแต่เมืองจีนก่อนจริง เพราะว่าถ้าเขียนไว้เป็นตําราสำหรับแขวนวนๆ กันไปแล้วก็คงจะเหมือนกันบ่อยๆ หรือเป็นระเบียบเรียบร้อย นี่แปลกกันถึงยี่สิบแปด และลักๆ ลั่นๆ เช่นนี้ เห็นปีละครั้งก็พอเหลือที่จะจำได้ และวันใดเป็นวันมหาสงกรานต์ วันใดเป็นวันเนา วันใดเป็นวันเถลิงศกคือพระยาวัน และสงกรานต์ยืนนั่งนอนตื่นนอนหลับมีคําทํานายต่างๆ ในคําทํานายนั้น ถ้าวันใดถูกวันมหาสงกรานต์หรือวันเนาแล้วเป็นการไม่ดีทั้งสิ้น เป็นแต่เปลี่ยนกันทักไปตามวัน คือวันอาทิตย์ทักบ้านทักเมือง วันจันทร์ทักนางพระยาและเสนาบดี วันอังคารทักอะไรต่ออะไรต่อไปให้เป็นห่วงแม่ม่ายไร้ทานจะทุกข์จะร้อนต่างๆ ตามวิสัยคำทํานายของโหร ธรรมดาคําทํานายของโหรแล้ว มักจะห่วงอะไรขันๆ อยู่สองสามสิ่งพอใจพูดถึงร่ำไป คือทารกอย่างหนึ่ง แม่ม่ายอย่างหนึ่ง หมอยาอย่างหนึ่ง เรือสำเภาอย่างหนึ่ง ผีมาแขกอย่างหนึ่ง ปวดท้องอย่างหนึ่ง โรคในศีรษะอย่างหนึ่ง ถึงว่าจะไม่มีใครวานให้ช่วยดูช่วยแลให้ เขาให้ดูแต่เฉพาะตัวเขาก็พอใจบ่นถึงพวกเหล่านี้ จะเป็นทุกข์บ้าง จะได้ลาภบ้าง เป็นห่วงบ่วงใยกันอย่างยิ่ง เรื่องคําทํานายวันสงกรานต์วันเนานี้ จนพวกซึมซาบไม่มีใครจําได้ ว่าวันใดเป็นวันสงกรานต์ วันใดเป็นวันเนา จะมีเหตุมีผลอย่างใดที่เป็นการทั่วๆ ไป เพราะกลัวสะท้านเกินไปเสียจนกลายเป็นตำราว่า ถ้าวันเกิดของผู้ใดต้องวันเนา ให้เอาดินปั้นเท่าหัวไปถมโคนโพ ให้ตัดไม้ไผ่ทะลุปล้องเสียเอาเบี้ยกรอกในนั้นไปค้ำต้นโพ ได้ถามว่าเบี้ยนั้นสำหรับทําอะไร ผู้ใหญ่บอกว่าสำหรับให้เป็นทาน เมื่อถามเข้าไปอีก ว่าไม้ค้ำโพนั้นเพื่อจะค้ำไว้มิให้กิ่งโพหัก เป็นการปฏิสังขรณ์ต่ออายุก็ชอบอยู่แล้ว แต่ที่เอาเบี้ยไปกรอกไว้ให้เป็นทานในปล้องไม้นั้นด้วย ได้เจาะช่องไว้สำหรับให้คนล้วงหรือไม่ ถ้าไม่เจาะช่องไว้จะมิต้องไปแย่งเอาไม้ที่ค้ำโพไว้นั้น มาล้วงเอาเบี้ยหรือ ก็ได้คำตอบว่าเขาก็ปลดไม้นั้นมาเทเอาเบี้ย ได้ถามต่อไปว่าผู้ที่เทเอาเบี้ยนั้นมีอะไรบังคับ ที่เป็นการจำเป็นต้องให้เอาไม้นั้นขึ้นค้ำโพอีกหรือไม่ ก็ว่ามันเทเอาเบี้ยแล้วมันก็ทิ้งไม้ไว้ ได้ค้านว่าถ้าเช่นนั้นจะมิไม่เป็นประโยชน์อันใดแก่ต้นโพเลยหรือ ถ้าจะให้ทานต่างหากค้ำโพต่างหากจะดีกว่าดอกกระมัง พอเอ่ยขึ้นเท่านี้ก็เป็นประหารขนด โกรธฉิวขึ้นมาทีเดียว บ่นตุบตับไปว่าไม่ทําให้ผิดอย่างบุรมบุราณเขาไปได้ เลยไม่ต้องเล่าอะไรกันอีกต่อไป การที่คนกลัววันสงกรานต์วันเนายังทำเช่นนี้มีโดยมาก แต่ถ้าวันใดถูกวันเถลิงศก คือพระยาวันแล้วอยู่ข้างเรี่ยมตลอดทั้งนั้น วันอาทิตย์เป็นเจ้าแผ่นดิน วันจันทร์เป็นนางพระยาและพระสนม วันอังคารเป็นอำมาตย์ วันพุธเป็นข้าพเจ้าเองของท่านโหร วันพฤหัสบดีเป็นพระ วันศุกร์เป็นพ่อค้า วันเสาร์เป็นทหาร จะดีทั้งหลายแหล่ ในส่วนที่เล่นเซอคัสนั้นเล่าถ้ายืนๆ นั่งๆ แล้วเอาเป็นไม่ดี ถ้าเหยียดยาวไปแล้วเป็นใช้ได้ แต่ที่จะพรรณนาพิสดารไปนั้น ดูก็วุ่นวายเร่อร่านัก ไม่น่าจะมาว่าในหนังสือนี้ แต่ส่วนเกณฑ์พรุณศาสตร์ เกณฑ์ธาราธิคุณ เกณฑ์ธัญญาหาร ซึ่งมีในท้ายฎีกาของโหร ดูเป็นการคนละเรื่องอยู่ ไม่สู้เกี่ยวกันกับเรื่องสงกรานต์นัก จึงหาได้เก็บเอามาว่าในที่นี้ไม่ ๚

[๑] เกณฑ์มหาศักราชสอบได้แน่นอนเมื่อทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเรื่องนี้แล้ว

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ