พิธีทอดเชือก ดามเชือก

๏ บัดนี้จะได้กล่าวถึงการพระราชพิธีทอดเชือกดามเชือก ซึ่งมีทําอยู่เสมอมิได้เว้นว่าง ถึงไม่ได้แห่สระสนานคเชนทรัศวสนานทั้งอย่างเก่าอย่างใหม่ พิธีทอดเชือกดามเชือกนี้ก็ยังทําเสมออยู่ เมื่อพิเคราะห์ดูคําว่าทอดเชือกอย่างหนึ่ง ดามเชือกอย่างหนึ่งนั้นจะแปลว่ากระไร วิธีที่เรียกว่าทอดเชือกนั้น คือเชือกบาศที่สำหรับคล้องช้างเป็นขดๆ อยู่ จับขึ้นทั้งขดแยกออกเป็นสองส่วนตั้งกางไว้ เรียกว่าทอดเชือก เชือกที่กางไว้นั้นกลับพับลงวางเป็นขดๆ ตามธรรมเนียม เรียกว่าดามเชือก บางทีคำว่าทอดเชือกนั้นจะตรงกันกับว่าคลี่เชือก ดามเชือกนั้นจะตรงกันกับว่าขดเชือก ดูเหมือนหนึ่งจะเป็นพิธีที่ถึงกำหนดตรวจเชือกบาศหกเดือนครั้งหนึ่งก่อนที่จะไปทำการ คลี่ออกดูเมื่อชำรุดเสียหายอันใด ก็จะได้ซ่อมแซมแก้ไข เมื่อดีอยู่ก็ขดเข้าไว้อย่างเดิม แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีผู้ใดที่จะคิดเห็นเช่นนั้น เพราะเหตุว่าผู้ที่จะคลี่เชือกออกดูนั้น เชื่อเสียแล้วว่าเชือกดีอยู่ก็เอาออกตั้งกางๆ ไว้พอเป็นสังเขป ไม่ได้บอกเสียก่อนว่า “ไม่ต้องตรวจดอกหนาเชือกดีอยู่ทําเท่านี้ก็พอ” ลูกศิษย์ลูกหาที่เห็นต่อๆ มา ก็เข้าใจซึมซาบว่าการที่ทำสังเขปย่อๆ นั้นเป็นเต็มตําราแล้ว เมื่อนึกแปลไม่ออกว่าทําเช่นนั้นประสงค์จะเอาประโยชน์อย่างไร ก็ต้องไหลไปตามทางที่เป็นประโยชน์อันไม่มีรูป คือว่าเป็นสวัสดิมงคลเท่านั้น สวัสดิมงคลจะมาด้วยอะไรก็นึกไม่ออก และไม่ต้องนึก เพราะผู้ใหญ่ท่านทํามา การที่มีวิธีบูชาโปรยข้าวตอกรําพัดชาอันใดต่อไปนั้น ก็เป็นอยู่ในเรื่องบูชาครูไหว้ครู การพระราชพิธีนี้ ได้ลงมือทําการทอดเชือกในวันเดือนห้า แรมสามค่ำเวลากลางคืน ดามเชือกในวันแรมสี่ค่ำเวลาเช้าครั้งหนึ่ง ในเดือน ๑๑ ขึ้น ๔ ค่ำ เวลาค่ำทอดเชือก ขึ้น ๕ ค่ำ เวลาเช้าดามเชือกอีกครั้งหนึ่ง การพระราชพิธีทั้งสองคราวนี้ ในกรุงรัตนโกสินทรทําที่หอเชือก ไม่ได้ไปทําที่เทวสถานเหมือนอย่างเช่นว่ามาในเรื่องนพมาศ ชะรอยที่กรุงเก่าก็คงจะทําที่หอเชือกเหมือนกันเช่นนี้ แต่หอเชือกที่กรุงเทพฯ ซึ่งตั้งอยู่ที่สนามหลวงตรงหน้าวังสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เป็นที่รกเรี้ยวเหมือนอย่างตั้งอยู่ในกลางกองฝุ่นฝอย จึงเป็นที่ไม่สมควรที่พระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จเข้าในพระราชพิธีนั้นด้วย ก็เคยยกมาทําที่อื่นได้ ได้เคยยกมาหลายครั้ง เหมือนอย่างในแผ่นดินปัจจุบันนี้ เมื่อข้าพเจ้าฝึกหัดขี่ช้างไหว้ครู ก็ได้ยกมาทําที่โรงละครวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่ถึงว่าเมื่อทำพิธีอยู่ที่โรงเชือกแต่ก่อนมา ก็ว่ามีเจ้านายเสด็จไปมิได้ขาด จนในร่างรับสั่งทุกวันนี้ก็ยังมีว่าให้จัดอาสนะ พระเจ้าพี่ยาเธอน้องยาเธอที่จะเสด็จไปเข้าพระราชพิธีไปทอดทั้งสองเวลาอย่าให้ขาดได้ การที่เจ้านายเสด็จนั้น พึ่งจะมาเลิกไม่ได้เสด็จในชั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอหลังๆ และพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ เพราะไม่ได้ฝึกหัดวิชาช้างม้าเหมือนอย่างแต่ก่อน ตามคําที่เล่าว่า เมื่อในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก และแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระเจ้าลูกเธอต้องฝึกหัดทรงช้างให้ชำนิชำนาญทุกองค์ จนถึงฝึกทรงบาศทิ้งที่หน้าพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ในเวลาเย็นๆ ทุกวันมิได้ขาด เจ้านายซึ่งทรงฝึกหัดวิชาช้างเหล่านี้ต้องเข้าพระราชพิธีทั้งสิ้น ข้าราชการซึ่งจะต้องขี่ช้างยืนสนานปีใดจะมีสระสนาน ก็ต้องเข้าพระราชพิธีในวันแรมสามค่ำเวลากลางคืน ไม่ว่าผู้ใดเคยไหว้ครูแล้วหรือยังไม่ได้ไหว้ครูคงต้องไปเข้าพระราชพิธีทั้งสิ้น ลัทธิหมอช้างอย่างไทยถือเสนียดจัญไรจัดนัก มีวิธีหลายอย่างซึ่งถือว่าเป็นการอัปมงคลที่ผู้ซึ่งเขาว่า ครอบหมอมอญไม่ถือ เช่นหลวงคชศักดิ์เดี๋ยวนี้เป็นต้น ในการพระราชพิธีนี้หวงแหนอย่างยิ่ง ห้ามมิให้ผู้หญิงเข้าไปในโรงพิธีเป็นอันขาด และไม่ให้คนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องในการพระราชพิธีเข้าไปในโรงพิธี ด้วยกลัวว่าจะไปเลียนวิธีท่าทางออกมาทําเล่น ถือกันว่าทําให้เสียจริตได้ ดูก็อยู่ข้างจะจริง เช่นรำพัดชาถ้านั่งอยู่ดีๆ ใครลุกขึ้นรำก็บ้าแน่ ถ้าจะตั้งพระราชพิธีแห่งใดก็มีม่านผ้ากั้นวงรอบจนปี่พาทย์ราดตะโพนก็ไม่ให้เข้าไปอยู่ในโรงพิธี ใช้ตะโกนบอกหน้าพาทย์ออกมาข้างนอก แต่เมื่อว่าตามจริงแล้ว พระราชพิธีนี้อยู่ข้างจะน่าดูสนุกดีอยู่ การในโรงพิธีขึ้นตั้งเตียงเทวรูปและตั้งกลดสังข์เป็นบันไดสามคั่น ตามแบบพิธีพราหมณ์ทั้งปวงเช่นกล่าวมาแล้ว เตียงเพดานชั้นต้นตั้งรูปพระอิศวร พระนารายณ์ มหาวิฆเนศวร เตียงลดลงมาตั้งกลดสังข์เบญจคัพย์ที่หน้าเทวรูป ตั้งเตียงวางเชือกบาศที่ปิดทองสามเตียง เชือกบาศปิดเงินเตียงหนึ่ง มีเครื่องกระยาบวชที่หน้าเตียงนั้นทั้งสี่ ตรงหน้าเตียงเชือกบาศทั้งสี่นี้ออกมา มีอีกเตียงหนึ่งวางเครื่องช้างชนักขอเชือกรำพัดชา ตรงหน้าเตียงนั้นออกมามีบายศรีแว่นเวียนเทียน เวลาค่ำโหรต้องหาฤกษ์เวลาที่จะลงมือทําพิธีทุกครั้ง เริ่มแต่กระสูทธิ์ อัตมสูทธิ์ บูชาเบญจคัพย์ บูชากลดบูชาสังข์ตามแบบแล้ว จนถึงสรงน้ำพระประโคมพิณพาทย์เชิญพระขึ้นภัทรบิฐ จุดแว่นเวียนเทียนสมโภชเจิมพระเทวรูปแล้ว จึงได้รดน้ำสังข์บรรดาผู้ซึ่งไปประชุมอยู่ในโรงพิธีขึ้น แล้วอ่านเวทพรมน้ำเชือกบาศ เวลานั้นประโคมพิณพาทย์สาธุการถึงเจ็ดลา แล้วตัวพระครูพฤฒิบาศและเจ้ากรมปลัดกรม กรมช้างเข้าประจําหน้าเตียงเชือกคุกเข่ายกเชือกบาศขึ้นกางไว้เป็นทอดเชือก ต่อนั้นไปให้นายท้ายช้างคนหนึ่งมาหมอบที่กลางโรง พระครูพฤฒบาศซึ่งเป็นหมอเฒ่าจึงเอาชนักมาวางคร่อมหลัง เอาด้ามขอสอดในพรมชนักปลายด้ามขอขึ้นข้างบน นายท้ายช้างที่หมอบนั้นมือกํายื่นขอไว้ จึงให้หราหมณ์พฤฒิบาศสองคนอ่านดุษฏีสังเวยอย่างเก่าที่ขึ้นว่า อัญขยมบังคมภูวสวะเป็นต้น จบลาหนึ่งเป่าสังข์ ในเวลาเมื่ออ่านดุษฏีจบเป่าสังข์นั้น บรรดาผู้ซึ่งประชุมในที่นั้นโปรยข้าวตอกดอกไม้อย่างเช่นไหว้ครูละคร ข้าวตอกดอกไม้นั้นมีพานทองสองพาน พานเงินสองพาน พานทองนั้นเป็นของสำหรับพระเจ้าแผ่นดินทรงโปรย พานเงินเป็นของข้าราชการ ว่าเป็นธรรมเนียมมีมาแต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะท่านเสด็จเสมอไม่ขาด ถึงว่าพระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์จะไม่เสด็จ ก็ยังมีพานข้าวตอกดอกไม้ทองคู่หนึ่ง เงินคู่หนึ่ง อยู่ดังนี้เสมอไม่ได้ขาดจนทุกวันนี้ ครั้นดุษฎีสังเวยจบสามลาแล้ว จึงสมมติเจ้ากรมปลัดกรมกรมช้างคนใดคนหนึ่ง ซึ่งเป็นคนรำพัดชาเป็นคล่องแคล่วชำนิชำนาญว่าเป็นพระนารายณ์เมื่อแปลงพระพักตร์เป็นช้าง ลงมาสอนวิชาคชกรรมให้แก่คนสี่คนเมื่อไปปราบช้างเอกทันต์แล้วมานั้น เมื่อแรกลงมือรํา พิณพาทย์ทําเพลงคุกพาทย์รัว กราบสามครั้ง กราบนั้นอยู่ข้างกระดุกกระดิกมาก ไม่ใช่กราบธรรมดา เข้าเพลงพิณพาทย์ แล้วจึงนั่งท่าเรียกว่าพุทธรา พิณพาทย์ตีเพลงตระบองกัน เมื่อเสร็จแล้วรัวกราบอีกสามครั้ง แล้วจึงลุกขึ้นยืนรําส่องแว่น พิณพาทย์ทําเพลงบาทสกุณี ส่องแว่นครบสามคราวแล้วทรุดลงนั่ง รัวกราบอีกเป็นคราวที่สาม แล้วจึงไปนั่งคุกเข่าข้างหนึ่งที่ข้างม้า ยกมือขึ้นจีบบนศีรษะเอนตัวเข้าไปที่เชือกบาศ เรียกว่าไหว้ครู พิณพาทย์ทําเพลงเหาะเสร็จแล้วรัวกราบอีกเป็นครั้งสี่ ต่อนั้นไปพิณพาทย์ทําเพลงชุบรําส่องแว่น แล้วแผลงกลับจับขอพายซ่นยินและฉะพายตามวิธีเพลง จะว่าให้เข้าใจนอกจากที่เห็นไม่ได้ เมื่อเสร็จแล้วคุกพาทย์รัวกราบอีกเป็นครั้งที่ห้า ต่อนี้ไปพิณพาทย์เปลี่ยนเป็นรุกร้นเดินส่องแว่นและออกแผลงอีก เปลี่ยนขอจับเชือกบาศใหม่ รำท่าซัดบาศเหวี่ยงเชือกให้พ้นตัวไปข้างหนึ่งสามรอบ แล้วคลายออกเหวี่ยงให้พันข้างหนึ่งอีกสามรอบแล้วให้คลายออก เป็นเสร็จการ ลงนั่งคุกพาทย์รัวกราบอีกครั้งหนึ่ง เป็นสิ้นวิธีรําพัดชา เมื่อเวลาที่รำเชือกบาศนั้น มีนายท้ายช้างอีกคนหนึ่งนั่งจับสายกระแชง คือท้ายเชือกบาศ สมมติว่าเป็นควาญช้างอยู่จนตลอดเวลารํา การที่รำพัดชานี้ ถือว่าถ้าผู้ใดได้เห็นเป็นสิ้นเสนียดจัญไร พระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนๆ ที่ทรงชำนิชํานาญในการช้าง เช่นพระนารายณ์มหาราช พระมหาบุรุษเพทราชาเป็นต้น เสด็จขึ้นพระพุทธบาทก็ทรงรําพัดชาเหนือกระพองช้างต้น ถวายพระพุทธบาททุกครั้ง เป็นเสร็จการพระราชพิธีในเวลาค่ำ

การพระราชพิธีดามเชือก ในวันขึ้นสี่ค่ำเวลาเช้าก็เหมือนกันกับเวลาค่ำ แปลกแต่พับเชือกบาศที่กางไว้นั้นเรียกว่าดามเชือก แต่ไม่ได้มีการเสด็จหรือมีผู้ใดไปประชุมดังเช่นเวลาค่ำ แต่เดิมมาในการพระราชพิธีนี้มีเงินที่พราหมณ์จะได้ตําลึงเดียว นอกนั้นได้แต่ผ้าขาวที่รองอาสนะเทวรูป และรองเชือกทั้งของบูชาต่างๆ ๚

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ