พระราชพิธีเดือนห้า

๏ การพระราชพิธีในเดือน ๕ ได้กล่าวไว้แล้วว่าจําเป็นจะต้องเกี่ยวท้ายพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ในเดือน ๔ เพราะการในวันขึ้นค่ำหนึ่งเดือน ๕ ซึ่งได้แบ่งว่าไปแล้วบ้าง เช่นการพระราชกุศลกาลานุกาล แต่ส่วนการซึ่งออกชื่อว่าเป็นสำหรับปีใหม่ที่เกี่ยวอยู่ในการพระราชพิธี คือการสังเวยเทวดาและเลี้ยงโต๊ะ กับทั้งการซึ่งอยู่ในเดือน ๕ แท้ แต่เรียกติดท้ายพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ เช่นถือน้ำตรุษ ได้ยกมาไว้ในเดือน ๕

การพระราชพิธีในเดือน ๕ ที่มีมาในกฎมนเทียรบาลไปเริ่มกล่าวถึงการออกสนามใหญ่ คือสระสนานหรือคเชนทรัศวสนานทีเดียว หาได้กล่าวถึงการเถลิงศกสงกรานต์ที่เป็นส่วนพระราชกุศลอย่างใดไม่ ส่วนจดหมายถ้อยคําขุนหลวงหาวัดซึ่งเป็นคู่ยันกัน ก็หาได้กล่าวถึงการพระราชพิธีทอดเชือกตามเชือก สระสนานหรือคเชนทรัศวสนานในเดือน ๕ ไม่ ไปกล่าวถึงแต่การพระราชกุศลสงกรานต์อย่างเดียว พิเคราะห์ดูโดยอนุมานเห็นว่ากฎมนเทียรบาลเป็นธรรมเนียมเก่า ชั้นต้นการพระราชกุศลอยู่ข้างจะห่างเหินไม่ใคร่จะมีมากนัก การพิธีอันใดยังไต่ตามทางลัทธิพราหมณ์มากกว่าที่เจือปนพระพุทธศาสนา เป็นต้นว่าการบรมราชาภิเษก เมื่อสอบสวนดูโดยละเอียดตามพระราชพงศาวดาร ก็เห็นได้เป็นแน่ว่าตลอดลงมาจนแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรถมหาราช การบรมราชาภิเษกหาได้เกี่ยวด้วยพระราชพิธีสงฆ์ไม่ แต่จะวินิจฉัยให้ละเอียดในที่นี้ก็จะชักให้ยาวความไป เพราะเป็นเหตุที่เพียงแต่ยกมาเปรียบ เมื่อมีโอกาสอื่นซึ่งสมควรจะอธิบายข้อความนั้นให้แจ่มแจ้งจึ่งจะอธิบายภายหลัง คงต้องการในที่นี้เพียงว่าการพระราชพิธีซึ่งเจือปนเป็นการพระราชกุศล พึ่งจะมามีชุกชุมขึ้นเมื่อเปลี่ยนบรมราชวงศ์เชียงรายแล้วโดยมาก เพราะฉะนั้นในกฎมนเทียรบาลจึงหาได้กล่าวการพระราชกุศลในเดือนห้านี้ไม่ ส่วนจดหมายขุนหลวงหาวัดซึ่งมิได้กล่าวถึงการสระสนาน หรือคเชนทรัศวสนานนั้นเล่า ก็เป็นด้วยหนังสือนั้นกล่าวถึงปัจจุบันกาล ในเวลาอายุของท่านผู้แต่ง การพระราชพิธีสระสนานในชั้นหลังลงมาตลอดจนถึงกรุงรัตนโกสินทรนี้ เกือบจะมีแผ่นดินละครั้งคล้ายๆ กับสักกลับ[๑]เดินสวนเดินนา ที่จะได้ซ้ำสองไม่มี มีแต่เว้นว่างไปไม่แห่ การคเชนทรัศวสนานซึ่งแห่กันอยู่ปรกติทุกวันนี้ เป็นการเกิดขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๔ เพราะฉะนั้นก็น่าที่ขุนหลวงหาวัดจะไม่ได้เคยเห็นสระสนานหรือเห็นแต่จําไม่ได้เลย และถือว่าไม่เป็นพระราชพิธีประจำเดือน จึ่งได้ยกเสียมิได้กล่าว กล่าวถึงแต่การพระราชกุศลสงกรานต์ ซึ่งเป็นการใหม่ทำอยู่ในเวลานั้น

แต่การถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาคงมีกล่าวทั้งสองแห่ง แต่ในกฎมนเทียรบาลหาได้กล่าวไว้ในพิธีประจำเดือนไม่ เห็นจะเป็นเพราะปีหนึ่งสองคราวเหมือนกัน จึงยกไปไว้เป็นเอกเทศต่างหาก แต่ข้อความที่มีอยู่นั้นก็สั้น ว่าแต่เพียงกําหนดตําแหน่งถือน้ำฝ่ายในหรือในราชตระกูล คือว่า “พระภรรยาเจ้าทั้งสี่ พระราชกุมาร พระราชนัดดา ถวายบังคมถือน้ำในหอพระ กว่านั้นนั่งในมังคลาภิเษก” ดูเป็นว่าด้วยธุระของกรมวังเป็นการในพระราชมนเทียรอย่างเดียว แต่ส่วนจดหมายขุนหลวงหาวัดนั้นก็ยกความเรื่องถือน้ำไปว่านอกพระราชพิธี มีเค้ารูปความคล้ายคลึงกับที่ได้ยินเล่ากันมาบ้าง แต่พิสดารฟั่นเฝือเหลือเกินจนจับได้ชัดเสียแล้วว่ามีผู้แทรกแซมความแต่งขึ้นใหม่ ด้วยเหตุว่าพระเจ้าแผ่นดินแต่ก่อนหาได้เสด็จพระราชดําเนินออกให้ข้าราชการถวายบังคมถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาถึงวัดไม่ พึ่งจะมาเกิดธรรมเนียมนี้ขึ้นในรัชกาลที่ ๔ ก็เหตุใดในคําให้การขุนหลวงหาวัด จึงได้เล่าเหมือนหนึ่งเกิดในรัชกาลที่ ๔ ในกรุงรัตนโกสินทรจนแต่งตัวแต่งตน และมีเสด็จโดยกระบวนพระยุหยาตราวุ่นวายมากไป ซึ่งไม่ได้เคยมีมาแต่ก่อนเลยดังนี้ ก็เห็นว่าเป็นอันเชื่อไม่ได้ในตอนนั้น พึ่งมีปรากฏในฉบับที่ตีพิมพ์นี้ฉบับเดียว[๒] สำนวนที่เรียงก็ผิดกับอายุขุนหลวงหาวัด ถ้าของเดิมขุนหลวงหาวัดได้กล่าวไว้ถึงเรื่องนี้จริง เมื่อเราได้อ่านทราบความก็จะเป็นที่พึงใจเหมือนหนึ่งทองคําเนื้อบริสุทธิ์ ซึ่งเกิดจากตำบลบางตะพาน เพราะท่านเป็นเจ้าแผ่นดินเอง ท่านกล่าวเองก็ย่อมจะไม่มีคลาดเคลื่อนเลย แต่นี่เมื่อมีผู้ส่งทองให้ดูบอกว่าทองบางตะพาน แต่มีธาตุอื่นๆ เจือปนมากจนเป็นทองเนื้อต่ำ ถึงว่าจะมีทองบางตะพานเจืออยู่บ้างจริงจะรับได้หรือว่าทองทั้งก้อนนั้นเป็นทองบางตะพาน ผู้ซึ่งทําลายของแท้ให้ปะปนด้วยของไม่แท้เสียเช่นนี้ ก็เหมือนหนึ่งปล้นลักทรัพย์สมบัติของเราทั้งปวง ซึ่งควรจะได้รับแล้วเอาสิ่งที่บริสุทธิ์ลงเจือปนเสียจนขาดประโยชน์ไป เป็นที่น่าเสียดายยิ่งนักไม่ควรเลยที่ผู้ใดซึ่งรู้สึกตัวว่าเป็นผู้รักหนังสือจะประพฤติเช่นนี้ หนังสือนี้จะเคลื่อนคลาดมาจากแห่งใดก็หาทราบไม่ แต่คงเป็นของไม่บริสุทธิ์ซึ่งเห็นได้ถนัด

บัดนี้จะขอแยกข้อความออกว่าตามลำดับ ซึ่งได้เรียงมาตามอย่างแต่ก่อนนั้น แยกข้อความพิสดารของการเก่าใหม่ไว้เป็นหมวดๆ ตามรายวันของการพระราชพิธีและการพระราชกุศลนั้นๆ การในเดือน ๕ เริ่มต้น:-

[๑] สักกลับ คือวิธีสักไพร่หมายหมู่ ถ้าแผ่นดิน ๑ สักท้องแขน ถึงแผ่นดินใหม่สักหลังแขน กลับกันให้สังเกตง่าย

[๒] คําให้การขุนหลวงหาวัดฉบับนี้พิมพ์ที่โรงพิมพ์หมอสมิธ เมื่อปีมะแม จุลศักราช ๑๒๔๕ พ.ศ. ๒๔๒๖

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ