พระราชพิธีเดือน ๘

๏ ในเดือนแปดนี้ การพระราชพิธีที่มีมาในกฎมนเทียรบาลในรายย่อจดหมายไว้ว่า “เดือนแปดเข้าพระวัสสา” แต่ในรายพิสดารจำหน่ายว่าขาด ไม่ได้ถ้อยความอันใดเลย ในจดหมายขุนหลวงหาวัดก็กล่าวแต่การพระราชกุศล ไม่ได้พูดถึงการพิธีอันใด ค้นดูตำราพราหมณ์ที่กรุงเทพฯ นี้มีแต่บานแพนกชื่อพีธีว่า เดือนแปดพระราชพิธีวสันตปฐมวสา เข้าพระวสาตั้งเบญจธาตุฝ่ายเดียว และให้อาจารย์ประกอบสตุติสามร้อยนั้น แล้วจดลงไว้ข้างท้ายว่ายก มีข้อความรวมอย่างยิ่ง ที่พระมหาราชครูพิธีเองก็ไม่เข้าใจว่าแปลว่ากระไร แต่ในหนังสือนางนพมาศถึงได้กล่าวไว้ว่า เป็นการในพระพุทธศาสนา ก็เว้นกล่าวถึงพราหมณ์ซึ่งเป็นตระกูลของตัวไม่ได้ แต่การที่พราหมณ์ทำนั้นดูเป็นอนุโลมตามพระพุทธศาสนา หาเป็นพิธียั่งยืนแปลกเปลี่ยนอย่างไรกันไปไม่ เพราะฉะนั้นการพระราชพิธีเดือนแปดนี้ จึงน่าที่จะเรียกการพระราชกุศลมากกว่าจะเรียกการพระราชพิธี ข้าพเจ้าได้กล่าวไว้แต่ก่อนแล้วว่าการพระราชพิธีพราหมณ์ในเดือนแปดนี้ ชะรอยแต่เดิมมาจะเป็นพิธีที่เป็นการไม่สุจริตในไตรทวารอย่างหนึ่งอย่างใด เมื่อถือพระพุทธศาสนาแล้วจึงได้ยกเลิกเสียช้านานมา จนไม่มีผู้ใดจะจำได้ว่าเคยทำอย่างไร พิธีพราหมณ์ซึ่งนางนพมาศได้กล่าวไว้ก็จะเป็นพิธีตั้งขึ้นใหม่พออย่าให้อยู่เปล่า แทนของเก่าที่เลิกเสียนั้น เพราะฉะนั้นจึงจะขอกล่าวด้วยเหตุผลซึ่งพระสงฆ์ต้องจำพรรษา ตามนิยมซึ่งมีมาในพระวินัยคัมภีร์มหาวรรคให้ทราบเค้ามูลก่อน

ประเพณีในมัชฌิมประเทศคืออินเดีย ชนที่เที่ยวไปมาอยู่เสมอจากเมืองโน้นไปเมืองนี้ คือคนที่เที่ยวค้าขายก็ดี ที่ไว้ตัวเป็นสมณะไม่มีห่วงบ่วงใย เที่ยวไปเที่ยวมาอยู่เช่นพวกซึ่งเรียกว่าเดียรถีย์และปริพาชกถือลัทธิต่างๆ ก็ดี เมื่อถึงฤดูฝนก็หยุดแรมอยู่ในเมืองใดเมืองหนึ่ง สิ้นสามเดือนแล้วจึงได้ออกเดินต่อไป ถึงแม้ว่าพระพุทธเจ้าซึ่งเสด็จเที่ยวไปมาอยู่ในเมืองทั้งปวงตลอดมัชฌิมประเทศ มิได้เสด็จอยู่ในเมืองใดเมืองหนึ่งประจำทุกปี เมื่อถึงฤดูฝนพระองค์ก็ย่อมเสด็จหยุดฤดูฝนในเมืองใดเมืองหนึ่ง เหมือนเช่นคนทั้งปวงประพฤติอยู่ พระสงฆ์ทั้งปวงเมื่อยังมีน้อยอยู่ และดำรงในโลกุตรคุณ ก็หยุดอยู่จำพรรษาในที่สงัดแห่งใดแห่งหนึ่ง เหมือนเช่นพระพุทธเจ้าทรงประพฤติอยู่ เมื่อเป็นเช่นนั้นก็ไม่มีเหตุอันใดซึ่งพระพุทธเจ้าจะทรงบัญญัติให้พระสงฆ์อยู่จำพรรษา การก็สงบมาจนครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ที่เวฬุวันกลันทกะนิวาปะสถาน ณ เมืองราชคฤห์ มีพระสงฆ์พวกหนึ่งเรียกว่า ฉัพพัคคีย์ เที่ยวไปมาตลอดฤดูหนาว ฤดูร้อน ฤดูฝน ไม่ได้หยุดแรมฤดูเลย เมื่อคราวฝนตกแผ่นดินชุ่มด้วยน้ำฝนเที่ยวเหยียบข้าวกล้าอ่อนๆ และหญ้าระบัดเขียว และสัตว์เล็กๆ ตายด้วยกำลังเหยียบย่ำ ชนทั้งปวงก็พากันติเตียน ว่าแต่พวกเดียรถีย์ปริพาชกเขาก็ยังหยุด ที่สุดจนนกยังรู้ทำรังยอดไม้หลบหลีกฝน แต่พระสมณะศากยบุตรทำไมจึงมาเที่ยวอยู่ทั้งสามฤดู เหยียบหญ้าและต้นไม้ที่มีอินทรีย์เป็นของเป็นอยู่ ทำสัตว์ทั้งหลายให้ตายเป็นอันมากฉะนี้ เมื่อภิกษุทั้งหลายได้ยินคำติเตียนนั้น จึงนำขึ้นกราบทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงอนุญาตให้พระสงฆ์จำพรรษา แต่ยังมิได้นิยมเวลาชัดเจน พระสงฆ์มีความสงสัยว่า ฝนย่อมตกทั้งฤดูฝนและใกล้ฤดูฝน จะไม่มีอะไรเป็นเครื่องกำหนด พระองค์จึงตรัสอนุญาตให้อยู่แห่งเดียวในวัสสานะ คือกาลที่นิยมว่าเป็นฤดูฝน ภิกษุยังมีความสงสัยอีก จึงได้ทูลถามกำหนดว่าจะอนุญาตให้เป็นคราวเดียวหรือหลายคราวเช่นอุโบสถ พระองค์จึงตรัสว่าเป็นสองคราว เข้าพรรษาครั้งแรกตั้งแต่บุรณมีอาสาฬหะ คือเพ็ญเดือนแปดไปแล้ววันหนึ่ง พึงเข้าวัสสูปนายิกาต้น บุรณมีอาสาฬหะไปได้เดือนหนึ่ง คือตั้งแต่เพ็ญเดือนแปดแล้วเดือนหนึ่ง พึงเข้าวัสสูปนายิกาหลัง ภายหลังมาท่านพวกฉัพพัคคีย์สำรับเก่านั้นเอง เข้าพรรษาแล้วเที่ยวไปในกลางพรรษา เขาติเตียนอีกเหมือนครั้งก่อน จึงได้ทรงห้ามว่า เมื่อเข้าพรรษาแล้วห้ามไม่ให้เที่ยวไป ถ้าภิกษุใดเที่ยวไปในกลางพรรษาต้องอาบัติทุกฏ เพราะฉะนั้น พระสงฆ์จะแกล้งออกจากอาวาสไปเสียไม่จำพรรษา หรืออธิษฐานจำพรรษาแล้วอยู่ไม่ครบสามเดือนไม่ได้ เว้นไว้แต่มีอันตรายใหญ่เกิดขึ้นที่จะอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีอันตรายไม่จำพรรษาอยู่ครบสามเดือนต้องอาบัติทุกฏ เพราะเหตุฉะนี้พระสงฆ์จึงต้องอยู่จำพรรษา คืออยู่ในวัดแห่งเดียว ไปข้างไหนไม่ได้สามเดือน จึงเป็นธรรมเนียมนิยมว่าเมื่อถึงกำหนดพรรษา ภิกษุจะจำพรรษา ไม่มีเสนาสนะก็ไม่ควร เมื่อจะเข้าพรรษาให้เปล่งวาจาในที่พร้อมกันว่า “อิมสฺมึ อาวาเส อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ” สามหน แปลเนื้อความว่า ข้าพเจ้าเข้าถึงกาลฝนคือจำพรรษาในอาวาสนี้ตลอดสามเดือนอันนี้ คำอธิษฐานพร้อมกันเช่นนี้เป็นอธิษฐานกำหนดเขตวัด เมื่อกลับไปถึงที่อยู่ปัดกวาดเสนาสนะ ตั้งน้ำใช้น้ำฉันไว้แล้ว ให้อธิษฐานที่อยู่อีกชั้นหนึ่งว่า “อิมสฺมึ วิหาเร อิมํ เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ” วิธีซึ่งอธิษฐานนี้ เป็นความคิดของพระอรรถกถาจารย์ ที่จะทำให้เป็นการมั่นไม่เป็นแต่ตั้งใจเปล่า ให้ออกวาจาเสียด้วย เหมือนอย่างอธิษฐานอะไรๆ ทั้งปวง เช่นผ้าผ่อน เป็นต้น การที่อธิษฐานนั้นก็แปลว่าตั้งใจผูกใจจะทำสิ่งนั้น ถ้าจะไม่ออกปากอธิษฐาน เป็นแต่ผูกอาลัยไว้ในใจก็ใช้ได้

เหตุซึ่งถือว่าเป็นการใหญ่ในเรื่องพระสงฆ์จำพรรษา เป็นช่องที่จะได้บำเพ็ญการกุศลซึ่งเป็นที่นิยมของผู้นับถือพุทธศาสนามาแต่โบราณนั้น ด้วยเหตุว่าภิกษุในมัชฌิมประเทศประพฤติอาการผิดกันกับภิกษุในกรุงสยาม ตั้งแต่พระพุทธเจ้ายังดำรงพระชนม์อยู่ตลอดมา ท่านไม่อยู่ในวัดใดวัดหนึ่งแห่งเดียวเป็นกำหนด และไม่ใคร่จะอยู่ในวัดที่อยู่ในบ้านในเมือง นอกจากเวลาฤดูฝนสามเดือน ย่อมเที่ยวไปอยู่ในป่าในเขา อาศัยแต่หมู่บ้านเป็นระยะพอเที่ยวภิกขาจารเวลาหนึ่งเวลาหนึ่ง ความประพฤติเช่นนี้ก็เป็นที่พระพุทธเจ้าสรรเสริญ ข้อบัญญัติอันซึ่งได้บัญญัติสำหรับให้ภิกษุประพฤติ ก็ลงรอยความประพฤติเช่นนี้โดยมาก คือให้มีบริขารแต่แปดสิ่ง ไม่ให้สะสมสิ่งของไว้มาก เพื่อที่จะได้เที่ยวไปข้างไหนได้โดยง่าย ไม่มีห่วงใยเป็นต้น เมื่อพระสงฆ์ประพฤติตัวมีห่วงใยน้อยและเที่ยวไปเที่ยวมาอยู่เช่นนี้ ก็ไม่มีกุฎีในวัดซึ่งเป็นที่หวงแหน ว่าเป็นกุฎีขององค์นั้นองค์นี้ เมื่อไปจากที่นั้นแล้วกุฎีก็ไม่มีข้าวของอันใดเก็บไว้ ไม่ต้องลั่นประแจ ต่อจวนถึงฤดูฝนจึงได้คิดตั้งใจมุ่งหมายว่าจะอยู่จำพรรษาในวัดใด แล้วแสวงหาที่อยู่ในวัดนั้น จนต้องมีพระเรียกว่าเสนาสนะคาหาปกะ คือเป็นผู้ชี้ที่แบ่งปันให้อยู่จะได้ไม่เกิดวิวาทกัน เมื่อเป็นเช่นนั้นคฤหัสถ์ทายกที่มีใจเลื่อมใส ก็มีช่องที่จะได้ช่วยซ่อมแซมตกแต่งเสนาสนะที่พอจะอยู่ได้สามเดือน ข้อซึ่งพระอรรถกถาจารย์ว่าไว้ให้ปัดกวาดกุฎีเสนาสนะ ตักน้ำใช้น้ำฉันให้พร้อมบริบูรณ์ แล้วจึงให้อธิษฐานที่อยู่นั้น ก็เพราะเสนาสนะนั้นรกร้างและไม่มีของที่จะใช้สอยอยู่บริบูรณ์ จึงต้องปัดกวาดตกแต่งจัดหาไว้ให้พร้อมบริบูรณ์ พอที่จะอยู่เป็นสุขได้ตลอดสามเดือน ก็และในระหว่างที่พระสงฆ์มาอยู่ในที่แห่งเดียวสามเดือนนั้น จะไปเที่ยวภิกขาจารในที่ไกลๆ เปลี่ยนตำบลไปไม่ได้ จำจะต้องภิกขาจารอยู่ในเขตจังหวัดใกล้อาวาสนั้นๆ เพราะฉะนั้นทายกผู้มีใจเลื่อมใส จึงได้มีความอุตสาหะที่จะถวายทานแก่สงฆ์ มีถวายบิณฑบาตเป็นต้น ยิ่งขึ้นกว่าฤดูอื่นๆ และในเวลาเมื่อพระสงฆ์อยู่ในที่แห่งเดียวทั้งสามเดือนเช่นนั้น ก็เป็นโอกาสของสัปปุรุษทายกทั้งปวง ที่จะได้เข้าไปสู่หาฟังธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีล การจำศีลภาวนา ฟังธรรมเทศนาจึงได้มากในฤดูฝนสามเดือน ด้วยเหตุว่าในฤดูอื่นๆ พระสงฆ์ท่านไม่ใคร่อยู่ประจำที่ ตลอดลงมาจนถึงเครื่องสักการบูชาต่างๆ เป็นต้นว่าเทียนพรรษา พุ่ม ต้นไม้ เทียนร้อย ไม้ขูดลิ้น ไม้ชำระ ไม้สีฟัน ที่จัดถวายพระสงฆ์ในเวลาเข้าพรรษานั้นก็ให้เป็นของพอที่จะทนอยู่ได้ และจะต้องใช้ในกำหนดสามเดือนเวลาที่พระสงฆ์อยู่ในอาวาสนั้น เมื่อล่วงสามเดือนแล้วท่านก็ต่างองค์ต่างไป ความประพฤติของพระสงฆ์ในประเทศอินเดียเป็นดังนี้ การที่ทำสิ่งใดในเรื่องเข้าพรรษาทั้งหลาย จึงได้เป็นสามเดือนสามเดือนอยู่หมดทุกอย่าง

แต่ครั้นเมื่อพระพุทธศาสนาตั้งในกรุงสยาม ความประพฤติของภิกษุทั้งปวงไม่เหมือนอย่างเช่นภิกษุในประเทศอินเดีย มาประพฤติอยู่ในที่แห่งเดียวไม่ได้เที่ยวไปเที่ยวมา ตามชาติชาวสยามเคยประพฤติ กุฎีเสนาสนะก็เป็นกุฎีมีเจ้าของ ขึ้นชื่อว่าขององค์นั้นองค์นั้น ถึงว่าจะมีเสนาสนะคาหาปกะ ก็สมมติกันไปโคมๆ เหมือนอย่างกับเล่นตั้งพิธี ที่แท้พระสงฆ์ก็อยู่ในที่เดิมนั่นแล้วทั้งสิ้น การที่จะซ่อมแซมปัดกวาดเสนาสนะอันใดก็ไม่ต้องทำ เคยอยู่มาอย่างไรก็อยู่ไปอย่างนั้น การที่จะต้องเสาะแสวงหาเครื่องใช้สอยอันใดตลอดมาจนตักน้ำใช้น้ำฉันก็ไม่ต้องแสวงหา ด้วยมีพร้อมบริบูรณ์เป็นปรกติอยู่แล้ว การที่ทายกจะต้องปฏิบัติถวายอาหารบิณฑบาตเป็นต้น ก็ถวายเสมออยู่แล้ว การที่จะหาโอกาสรักษาอุโบสถศีลและฟังธรรมเทศนาในเวลามิใช่ฤดูฝนเมื่อใดก็ได้เสมออยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการเข้าพรรษาในกรุงสยามนี้ก็เหมือนอย่างกับทำพิธีไปตามแบบโบราณเท่านั้น เมื่อถึงกำหนดอธิษฐานเข้าพรรษาพระสงฆ์ก็อธิษฐานไป แต่ในใจก็รู้สึกอยู่ว่าถึงออกพรรษาแล้วเราก็จะอยู่ในที่นี้ต่อไป ไม่เป็นการแปลกประหลาดอันใดขึ้นในใจพระสงฆ์เลย การที่ทำบุญถวายทานแก่พระสงฆ์มากขึ้นในฤดูฝน ก็เป็นแต่ประโยชน์วิเศษของพระสงฆ์ที่จะได้มากขึ้นเท่านั้น การที่รักษาอุโบสถและฟังธรรมเทศนา เช่นมีเทศน์เข้าวัสสาสามเดือนนั้น ก็เป็นแต่โอกาสที่พระสงฆ์เข้าพรรษานั้นมาตักเตือนใจให้คนรักษาศีลฟังธรรมมากขึ้น แต่ที่แท้ถึงจะมีเทศน์เช่นนั้นไปตลอดทั้งปี ก็ไม่ขัดธรรมกถึกที่จะแสดงธรรมเหมือนอย่างแต่ก่อน เพราะฉะนั้นเมื่อรวบความลงข้างปลายแล้วพอที่จะกล่าวได้ว่า การที่พระสงฆ์เข้าพรรษานี้เป็นพระราชพิธีสงฆ์แท้ เหมือนอย่างกับพราหมณ์ทำพิธีเหมือนกัน การพิธีอันใดที่ทำๆ อยู่ก็คงมีต้นเหตุเช่นนี้ทุกอย่าง เว้นแต่เลือนๆ ลงมาจนไม่รู้รากเหง้าของเดิมว่าเกิดขึ้นด้วยอันใด เพราะฉะนั้นในเดือนแปดนี้ จะว่าขาดพระราชพิธีไม่ได้ ต้องเรียกว่าพระราชพิธีเข้าพรรษาเป็นพิธีสงฆ์

บัดนี้จะว่าด้วยการพระราชพิธีเข้าพรรษา อันประพฤติมาในกรุงสุโขทัย ซึ่งนางนพมาศได้กล่าวไว้ทั้งการหลวงการราษฎร์ จะได้เก็บแต่ข้อความที่ว่าด้วยการหลวงมากล่าว เพื่อผู้ที่แต่งการราษฎร์จะได้มีข้อความว่าบ้าง ข้อความในหนังสือนางนพมาศนั้นว่า “ครั้นถึงเดือน ๘ นักขัตฤกษ์บูชาใหญ่ การพระราชพิธีอาษาฒมาส พระวรบุตรพุทธชิโนรสในพระศาสนาจะจำพรรษาเป็นมหาสันนิบาตทุกพระอาราม ฝ่ายพราหมณาจารย์ก็จะเข้าพรตสมาทานศีล บริโภคกระยาบวชบูชาคุณ (หรือกุณฑ์) พิธีกึ่งเดือน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงดำรัสสั่งนายนักการ ให้จัดแจงตกแต่งเสนาสนะทุกพระอารามหลวง แล้วก็ทรงถวายบริขารสมณะ เป็นต้นว่าเตียงตั่งที่นั่งนอนเสื่อสาดลาดปูเป็นสังฆทาน และผ้าวัสสาวาสิกพัตร สลากภัต คิลานภัต ทั้งประทีปเทียนจำนำพรรษา บูชาพระบรมธาตุ พระพุทธปฏิมากร พระปริยัติธรรม สิ้นไตรมาส ถวายธูปเทียนชวาลาน้ำมันตามไส้ประทีปแด่พระภิกษุสงฆ์ บรรดาจำพรรษาในพระอารามหลวง ทั้งในกรุงนอกกรุงทั่วถึงกันตามลำดับ ประการหนึ่งทรงพระราชอุทิศเครื่องกระยาสังเวยพลีกรรมพระเทวรูปในเทวสถานหลวงทุกสถาน ทั้งสักการะหมู่พราหมณาจารย์ซึ่งจำพรต อ่านอิศวรเวทเพทางคศาสตร์ บูชาพระเป็นเจ้าด้วยเศวตรพัสตราภรณ์และเครื่องกระยาบวช ทั้งประทีปธูปเทียนวิเลปนให้บูชาคุณ (หรือกุณฑ์) โดยทรงพระราชศรัทธาในพุทธศาสนาไสยศาสตร์เจือกัน”

ต่อนั้นไปจึงว่าด้วยราษฎรเป็นข้อความยืดยาว เมื่อพิเคราะห์ดูตามที่ว่ามานี้ ก็จะเห็นได้ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ว่าพิธีอาษาฒของพราหมณ์นี้เห็นเป็นทำเอาอย่างไปจากพระพุทธศาสนา การที่จำพรตนั้นดูก็ไม่แปลกอันใดกันกับที่นางนพมาศได้กล่าวถึงราษฎรพากันจำศีล มีกำหนดต่างๆ อย่างยิ่งจนถึงตลอดสามเดือนสี่เดือนก็มี แปลกอยู่แต่ที่พราหมณ์กินเครื่องกระยาบวช ก็เหมือนกับสัปปุรุษข้างญวนข้างจีนเขาถือศีลแล้วกินเจด้วย การพิธีนั้นดูก็ไม่มีแปลกประหลาดอันใด นอกจากบูชาบูชาอยู่อย่างนั้น แต่การหล่อเทียนพรรษาดูอยู่ข้างจะกาหลใหญ่โตไปกว่าชั้นหลังนี้มาก ถึงกับมีกระบวนแห่ๆ เทียนไปวัด แต่ดูก็น่าที่จะกล่าวซ้ำถึงเรื่องแห่สระสนานอีก ว่าการซึ่งแห่เทียนพรรษาในครั้งนั้นเห็นจะไม่เป็นการลำบากอันใดมากกว่าที่ถ้าจะทำขึ้นในชั้นหลังๆ เมื่อเลิกทหารประจำการสำหรับพระนครเสียแล้ว ด้วยในจดหมายนั้นกล่าวว่าเป็นหน้าที่ของกรมทหารที่จะแห่เทียนไปวัด เมื่อไพร่พลทหารมีพรักพร้อมอยู่ก็เห็นจะไม่สู้เป็นการลำบากนัก ในข้อความที่กล่าวไว้นั้นว่า “ครั้นถึงวันจาตุทสีศุกลปักษ์เป็นธรรมเนียมฤกษ์ นายนักการทหารบกทหารเรือก็ตั้งกระบวนแห่เชิญเทียนประทีปจำนำพรรษาขึ้นตั้งบนคานหาม และลงเรือเอกชัยใส่บุษบกบัลลังก์ทอง ประโคมกลองอินทเภรี แตรสังข์ธงทิวไสว แห่ไปตามท้องสถลมารคและชลมารค ประชาราษฎร์ก็ซ้องสาธุการอนุโมทนาพระราชกุศล ครั้นประทับถึงพระราชอารามหลวงตำบลใด ชาวพนักงานก็เชิญเทียนประทีปเข้าในพระวิหาร หอสธรรมมนเทียร โรงอุโบสถจุดตามไว้ในที่นั้นๆ ทุกพระอาราม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระราชอุทิศสักการบูชาพระรัตนตรัยสิ้นไตรมาสสามเดือน” ต่อนั้นไปว่าด้วยการแห่เทียนของราษฎร แล้วจึงไปกล่าวถึงการที่เสด็จพระราชดำเนินพระอารามหลวงว่า “ครั้นวันกาฬปักษ์เอกดิถีเวลาตะวันชายแสง พระพุทธชิโนรสสันนิบาตประชุมกัน เข้าพระวสา ณ พระอุโบสถทั่วทุกพระอาราม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จพระราชดำเนินออกวัดหน้าพระธาตุ พร้อมด้วยพระอัครชายาและพระบรมวงศาพระสนมกำนัล” ต่อนี้ไปว่าความรวบกับราษฎรทั้งปวง ไม่เฉพาะแต่พระเจ้าแผ่นดินและราชตระกูล แสดงการซึ่งจะให้ทราบว่าเสด็จไปวัดนั้นไปทรงการอันใด แต่ข้อซึ่งไม่กล่าวชัดเฉพาะพระองค์เจ้าแผ่นดินในที่นี้ ชะรอยท่านจะไม่ใคร่จะได้ทรงอันใดนัก จะเป็นแต่ไปนมัสการตามธรรมเนียม จึงได้เกลื่อนความรวมเข้าเสียว่า “บรรดาชนทั้งปวงในตระกูลต่างๆ มีขัตติยตระกูลและพราหมณ์ และตระกูลคหบดีเป็นต้น ต่างชักประเทียบบริวาร ทั้งบุตรหลานญาติและมิตร ออกไปสโมสรสันนิบาตพร้อมเพรียงกัน ณ พระอารามใหญ่น้อยทั่วทุกแห่งทุกตำบลอุทิศอุทกสาฎก และปัจจัยการถวายแก่ภิกษุสงฆ์สามเณรทั่วถึงกัน แล้วมหาชนชายหญิงต่างตั้งเบญจางคประดิษฐ์ สมาทานอุโบสถศีลอันมีองค์แปด ในสำนักพระมหาเถรเจ้าทั้งหลาย บ้างก็ออกวจีเภทว่าข้าพเจ้าจะรักษาอุโบสถเป็นปาฏิหาริยปักษ์อุโบสถสิ้นวัสสันตฤดูสี่เดือน บ้างก็สมาทานเป็นเตมาสิกนิพัทธอุโบสถ คือรักษาศีลในพรรษาสิ้นไตรมาสสามเดือน บ้างก็สมาทานเป็นเอกมาสิกนิพัทธอุโบสถ คือรักษาศีลตั้งแต่เพ็ญเดือนสิบเอ็ดไปจนถึงเพ็ญเดือนสิบสองเสมอทุกวัน บ้างก็สมาทานเป็นอัฒมาสิกนิพัทธอุโบสถ คือรักษาศีลเสมอทุกวันในศุกลปักษ์กาฬปักษ์กึ่งเดือน บ้างก็รักษาแต่ปรกติอุโบสถเดือนละแปดครั้ง บ้างก็สมาทานเป็นปฏิชาครอุโบสถ มีวันรับวันส่งเดือนหนึ่ง รักษาศีลสิบเก้าวัน และสดับฟังพระธรรมกถึกสำแดงพระธรรมเทศนา และพระภิกษุสงฆ์สาธยายพระปริตรในที่นั้นๆ เสมอเป็นนิตย์ทุกวันมิได้ขาด ตราบเท่าสิ้นไตรมาสสามเดือนโดยนิยมดังนี้ ต่อนี้ไปแสดงต้นเหตุซึ่งเกิดเครื่องบูชาของแห้งในการเข้าพรรษา มีพุ่มเป็นต้น ซึ่งนางนพมาศเคลมว่าตัวเป็นต้นคิด เหมือนอย่างพานพระขันหมากดอกบัวลอยประทีปเป็นต้น ว่า “อันว่าพิธีอาษาฒมาสบูชาใหญ่ ข้าน้อยได้คิดกระทำพนมดอกไม้ทอง และกอโกสุมปทุมทองอันวิจิตรด้วยวาดเขียนนำขึ้นถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ทรงบูชาพระรัตนตรัยบ้าง พระเทวรูปบ้าง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็พึงพอพระอัชฌาสัย จึงดำรัสชมว่าข้าน้อยเป็นคนฉลาดคิด โปรดพระราชทานสักการรางวัลเป็นอันมาก แต่นั้นมามหาชนชายหญิงทั่วทั้งพระนคร ก็ถือเอาเป็นอย่างต่างพนมดอกไม้และกอปทุมชาติ มีพรรณต่างๆ บูชาพระรัตนตรัยในพระราชพิธีอาษาฒมาสมากขึ้นทุกปี ฝ่ายนางในทั้งหลายก็ถืออย่างกระทำพนมดอกไม้ถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานรางวัลตามฝีมือและปัญญาด้วยกันเป็นอันมาก จึงพระบาทสมเด็จพระร่วงเจ้าแผ่นดินมีพระราชบริหารสาปสรรว่าเบื้องหน้าแต่นี้ไป ชนชายหญิงในพระราชอาณาเขตประเทศสยามภาษา บรรดาเป็นสัมมาทิฐิให้กระทำพนมดอกไม้กอบัวบูชาพระรัตนตรัยในพระราชพิธีอาษาฒมาส ให้เรียกนามพนมดอกไม้ พนมพรรษา จงอย่ารู้สาบสูญตราบเท่ากัลปาวสาน ข้าน้อยนพมาศก็ถึงซึ่งชื่อเสียงว่าเป็นคนฉลาดปรากฏนามอยู่ในแผ่นดิน ได้อีกอย่างหนึ่ง” เรื่องกอบัวเข้าพรรษานี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอยู่ข้างจะทรงเป็นพระราชธุระมาก รับสั่งว่าต้องตำราของเก่า ถ้าปีใดไม่มีผู้ถวายกอบัวก็รับสั่งบ่นไปจนผู้ที่เคยถวายต้องทำมาถวาย จะเป็นพวกเจ้านายในพระราชวังหลัง หรือกรมขุนอิศรานุรักษ์พวกใดพวกหนึ่งเคยถวายอยู่ แต่เดี๋ยวนี้หายไปไม่เห็นมี เพราะวิธีที่ใช้กันเดี๋ยวนี้มักจะให้มีของเครื่องรองเป็นสิ่งที่ใช้ได้ อย่างต่ำที่สุดจนถึงกลักไม้ขีดไฟ กระถางบัวหมากพนมซึ่งเป็นของโปรดในรัชกาลที่ ๔ นั้น เห็นเป็นอันยูสิเบอลกันเสียไม่มีใครทำ รูปร่างกระถางบัวนั้นใครๆ ก็คงเคยเห็นอยู่ด้วยกันโดยมาก แต่บางทีจะนึกไม่ออก คือมีกระถางดินปิดกระดาษทอง มีลายดอกไม้เขียนด้วยน้ำยา ในกระถางมีไม้ดูกอันหนึ่งเสียบดอกบัวกระดาษแดงซ้อนกันสามชั้น ยอดและเกสรเป็นทองอังกฤษ ขอบปากกระถางมีดอกและใบเล็กๆ รายรอบ กระถางบัวอย่างนี้รับสั่งว่า เป็นอย่างโบราณแท้ ที่เป็นของเก่ารองลงมาอีกนั้นหมากพนม คือเป็นพานแว่นฟ้าปั้นด้วยดินสองชั้น ทาสีเขียนน้ำกาว ที่ปากพานมีกระดาษเจิมเหมือนใบตอง แล้วมีกรวยกระดาษทาสีขาวๆ ตั้งที่ตรงกลาง รอบล่างมีดินปั้นก้อนกลมๆ รูปร่างเหมือนประทัดลมต่างว่าหมาก ทาสีเขียวหรือสีขาวก็ได้ แล้วมีน้ำยาสีอื่นขีดเป็นสาแหรกห้าสาแหรก เห็นจะต่างว่ารอยผ่าเป็นคำคำ มีทองอังกฤษติดที่ใจสาแหรก ต่อนั้นขึ้นไปมีรูปภาพสีผึ้ง เป็นหงส์ เป็นเทพนม หรือเป็นใบไม้ติดไม้เสียบกับกรวยเป็นชั้นๆ เรียวขึ้นไปจนถึงยอดพุ่มเป็นทองอังกฤษ ตัวสีผึ้งที่ติดนั้นห่างๆ โปร่งแลเห็นกรวยที่เป็นแกนข้างใน ถ้ายกขี้หกล้มอย่างเอก เพราะเชิงพานชั้นบนเล็ก นี่ก็เป็นของโปรดอีกอย่างหนึ่ง ที่ขาดไม่ได้เหมือนกัน เพราะเป็นของมีมาช้านาน

เป็นที่น่าสงสัยอยู่อย่างหนึ่ง ว่าเมื่อครั้งเมืองสุโขทัย เจ้านายและผู้มีบรรดาศักดิ์ทั้งปวง จะต้องบวชเมื่ออายุครบปีบวชหรือไม่ ดูไม่มีปรากฏกล่าวถึงในหนังสือนางนพมาศเลย ถ้าหากว่าจะมีบวชรับพรรษาเช่นธรรมเนียมทุกวันนี้ ก็น่าที่นางนพมาศจะได้กล่าวไว้ในหนังสือนี้บ้าง เพราะดูก็เป็นการพระราชกุศลสำคัญอยู่ บางทีเขาจะไม่บวชกันเฉพาะรับพรรษาเหมือนกับชั้นหลังๆ การที่จะบวชเรียนจะเป็นการจรไปเสียจึงไม่ได้กล่าว

ส่วนในหนังสือขุนหลวงหาวัด กล่าวถึงพิธีอาษาฒ ว่าบวชนาคหลวงเท่าพระชนมายุ แต่ก็ไม่ได้กล่าวถึงทรงผนวชเจ้านาย การที่บวชนาคเท่าพระชนมายุนี้เห็นจะเป็นในแผ่นดินพระบรมโกศ ทรงพระราชศรัทธาตั้งธรรมเนียมขึ้นใหม่ เทือกช่วยคนบวช แต่การบวชนาคเท่าพระชนมายุนี้ เห็นจะไม่ใช่คนช่วยไถ่ค่าตัว ถ้าช่วยไถ่ค่าตัวถึงหกสิบเจ็ดสิบคนก็จะหลายสิบชั่ง ทั้งค่าผ้าไตรบาตรบริขาร ทุกปีทุกปีคงลมจับไม่อาจทำ ชะรอยจะใช้นาคมหาดเล็กและตำรวจข้าราชการไม่ว่าหมู่ใดกรมใด พระราชทานแต่ผ้าไตรบริขารอย่างบวชนาคมหาดเล็กที่เป็นนาคหลวงในชั้นหลังๆ หรือจะนับทั้งพระองค์เจ้าหม่อมเจ้าด้วยประการใดก็ไม่ทราบ ดูว่าก็จะเป็นอันได้บริจาคพระราชทรัพย์มากพอควรอยู่แล้ว ต่อนั้นไปว่า “ครั้นวันเพ็ญเดือนแปด จึงทรงเทียนพวสาวัดหลวงทั้งในกรุงและนอกกรุง (ที่เรียกว่าในกรุงเห็นจะหมายในกำแพงที่น้ำล้อมรอบ นอกกรุงเป็นนอกกำแพง จึงว่าต่อไปว่า) และหัวเมืองเอกเมืองโทเป็นเทียนเป็นอันมาก” มีความในจดหมายขุนหลวงหาวัดเพียงเท่านี้ การแห่แหนอันใด เห็นจะไม่มีมาแล้วทั้งสิ้น

ส่วนที่กรุงรัตนโกสินทรนี้ การพระราชพิธีพราหมณ์ในเดือนแปดไม่มีอันใด ไม่ได้พระราชทานเครื่องสักการบูชาเทวรูปอย่างใด เป็นไม่รู้ไม่เห็นกันเลย เริ่มการก็มีแต่ทรงผนวชเจ้านาย การทรงผนวชเจ้านายในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งเป็นพระองค์แรกทีเดียวนั้น คือ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เพราะฉะนั้นบรรดาเจ้านายภายหลัง ที่เป็นเจ้าฟ้า พระองค์เจ้า หม่อมเจ้า ทั้งในวังหลวงวังหน้าไม่มีพระองค์ใดที่ได้ทรงผนวชที่อื่น นอกจากวัดพระศรีรัตน-ศาสดารามเลย เว้นแต่พิการเป็นที่รังเกียจอย่างหนึ่งอย่างใด เพราะฉะนั้นจึงได้ถือกันว่าถ้าเจ้านายองค์ใดไม่ได้ทรงผนวชในวัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว ย่อมเป็นคนที่เสียคนแล้ว หรือจะเสียคนต่อไปเป็นแน่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถือจนชั้นบวชเณร ด้วยมีเหตุขึ้นคือหม่อมเจ้าสถิตเสถียรครบปีที่จะบวชเณร ในปีที่พระราชทานเพลิงพระศพกรมหมื่นวิศณุนารถนิภาธร จึงโปรดให้ออกไปทรงผนวชเณรที่พระเมรุอย่างบวชหน้าศพ ครั้นเมื่อหม่อมเจ้าสถิตเสถียรเสียจริตไป ก็รับสั่งพาโลว่าเพราะไม่ได้บวชที่วัดพระแก้ว

การทรงผนวชรับหน้าพรรษานี้ ไม่ว่าเป็นการใหญ่การปรกติอย่างใด คงจะอยู่ในระหว่างขึ้นห้าค่ำไปหาขึ้นสิบเอ็ดค่ำสิบสองค่ำเป็นเขต แต่การทรงผนวชนั้นมีแบบอย่างต่างกัน จะพรรณนาไปให้ครบอย่างก็จะยืดยาว ขอว่าแต่การปรกติประจำปีก่อน วันที่จะสมโภช พระองค์เจ้าและหม่อมเจ้าซึ่งจะเป็นนาคนั้น นำดอกไม้ธูปเทียนเข้ามากราบถวายบังคมลาในท้องพระโรง เมื่อวันสมโภชทรงเครื่องที่ทิมคดพระมหาปราสาท ภูษามาลาจำเริญพระเกศาและพระมัสสุ แล้วสรงน้ำที่พระแท่น มีขันสาครตั้ง แต่งพระองค์ทรงผ้าเยียรบับ ผ้ายก ฉลองพระองค์ครุยสวมพระกรซ้ายพระกรขวาบงเฉียง คาดรัดพระองค์ทับผ้าทรง ทรงพระธำมรงค์แปดนิ้วพระหัตถ์ แล้วทรงเสลี่ยงกั้นพระกลดกำมะลอ มาจากพระมหาปราสาทเข้าท้องพระโรง ในท้องพระโรงตั้งบายศรีแก้วทองเงินอยู่ตรงกลาง สองข้างตั้งเทียนและกรวยดอกไม้ทั้งเครื่องบริขารต่างๆ ซึ่งจะเป็นของพระราชทานภายหลังทรงผนวช แต่ผ้าไตรที่จะทรงผนวชรองพานทองคำสองชั้น บาตรรองพานถม ตั้งที่ตรงหน้าบายศรีตรงพระพักตร์ เจ้าที่จะทรงผนวช เมื่อยังไม่ได้เปลี่ยนธรรมเนียมยืน ราชอาสน์เลื่อนลงทอดหน้าพระแท่น มีพระยี่ภู่พับเป็นที่ประทับ ไม่ได้เสด็จขึ้นพระแท่น ครั้นเมื่อเปลี่ยนเป็นธรรมเนียมยืน เจ้าที่ทรงผนวชนั่งเก้าอี้ ก็ใช้พระที่นั่งโธรน แต่เลื่อนลงตั้งที่พื้นท้องพระโรงเหมือนกัน ในเวลาเมื่อเข้ามานั่งคอยยังไม่เสด็จออก ผันพระพักตร์เข้ามาสู่ที่เฝ้า ต่อเมื่อเสด็จออกแล้ว รับสั่งให้ผันพระพักตร์ไปข้างบายศรี จึงได้กลับผันพระพักตร์ไปข้างบายศรีของผ้าไตร พราหมณ์จุดแว่นเวียนเทียน แต่ก่อนๆ มาเมื่อเวียนเทียนแล้วก็เป็นแล้วกัน แต่ครั้นเมื่อถึงในรัชกาลที่ ๔ มีพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ใบมะตูมและทรงเจิม ธรรมเนียมนั้นก็ติดมาจนปัจจุบันนี้ เมื่อสมโภชแล้วธรรมเนียมแต่ก่อนบังคับให้บรรทมอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่ภายหลังมานี้ไม่มีผู้ใดกวดขันบังคับบัญชา ต่างองค์ต่างกลับไปวังกันทั้งสิ้น

แต่ก่อนมาพระสงฆ์ซึ่งนั่งหัตถบาสในการทรงผนวชนี้ ก็ใช้พระราชาคณะสำรับเดียวสามสิบรูป สมเด็จพระสังฆราชเป็นอุปัชฌาย์ ถ้าเจ้านายที่จะทรงผนวชมากก็แบ่งเป็นสองวัน ถ้าน้อยก็วันเดียว ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ ถ้าหม่อมเจ้าที่จะทรงผนวชในคณะธรรมยุติกาและมหานิกายก้ำกึ่งกัน ก็มักจะแบ่งออกเป็นสองวัน เป็นธรรมยุติกาล้วนเสียวันหนึ่ง เป็นมหานิกายปนวันหนึ่ง ในชั้นหลังๆ ลงมานี้เกือบจะไม่มีเจ้านายทรงผนวชในคณะมหานิกาย ก็มีแต่คณะธรรมยุติกา แต่ถ้าปีใดทรงผนวชมหานิกายสักองค์หนึ่งสององค์ มหานิกายก็ได้เข้าในหัตถบาสวันหนึ่ง พระสงฆ์ซึ่งมานั่งหัตถบาสนั้นฉันเพลในพระอุโบสถ ถ้าเสด็จพระราชดำเนินออกวัดก่อนเพลนานๆ ก็แบ่งทรงผนวชเจ้าไปพลาง เมื่อเวลาเพลก็หยุดฉันเพล เจ้าที่ทรงผนวชแล้วเสวยบนพระอุโบสถนั่งตรงผนังระหว่างพระทวารข้างเหนือและพระทวารกลาง ที่ยังไม่ได้ทรงผนวชเสวยที่มุขหน้าพระอุโบสถ ถ้าเสด็จออกสายไปก็เลี้ยงพระเสียก่อน

เจ้าที่จะทรงผนวช แต่งพระองค์ที่ทิมคดพระมหาปราสาทเหมือนอย่างเมื่อสมโภช แล้วทรงเสลี่ยงกั้นพระกลดกำมะลอ มีมหาดเล็กตามเป็นกระบวนๆ ตามลำดับยศ ออกไปที่เกยปลูกขึ้นใหม่ตรงพลับพลาเปลื้องเครื่อง รายมาตามหน้าหอมิวเซียมครบองค์เจ้าที่ทรงผนวช เมื่อถึงพร้อมกันแล้วก็เสด็จขึ้นเกย ภูษามาลาขึ้นไปกั้นพระกลดถวายอยู่ที่บันไดเกยด้วยคนหนึ่ง กำกับอีกคนหนึ่ง เสด็จประทับทอดพระเนตรอยู่ที่พลับพลาเปลื้องเครื่อง เจ้าพนักงานคลังนำเงินขึ้นถวายจบพระหัตถ์ แล้วจึงไปจ่ายให้ขุนหมื่นนำขึ้นไปถวายเจ้าทรงโปรยทุกเกย ถ้าหม่อมเจ้าองค์ละห้าตำลึง พระองค์เจ้าองค์ละสิบตำลึง ท่านพวกพนักงานที่ขึ้นไปอยู่บนเกยทั้งสามคนนั้นย่อมถือเอาโอกาสที่ตัวได้ไปกำกับอยู่ พัดเจ้านายให้แจกตัวก่อน ที่จะรอจนทิ้งทานแล้วไม่ได้เลยเป็นอันขาด จึงดำรัสสั่งให้ทิ้งทานแล้ว ก็มักจะต้องรอหงุบๆ หงับๆ กันอยู่ ไม่ได้ทิ้งทานได้ทันทีเนืองๆ เห็นจะเป็นเรื่องต่อตามกันอย่างไร ข้าพเจ้าเองก็ไม่เคยถูกพัด และมีการอีกอย่างหนึ่งที่ต้องช้าเพราะต้องถอดแหวน ท่านภูษามาลาผู้กำกับนั้นเป็นผู้รับแหวน การที่ทิ้งทานนั้นก็มีน่าที่จะเกิดอันตรายอยู่บ้าง แต่อันตรายนั้นหากจะเกิดขึ้นก็ด้วยเจ้านั้นพระทัยอยู่ข้างจะโลเลเอง เจ้าพวกข้าไทที่ตามไปมักจะเข้าไปล้อมอยู่รอบๆ เกย เพื่อจะให้เจ้าโปรยลงมาให้ตรงๆ ได้ง่ายๆ ข้างเจ้านั้นก็อยากจะโปรยลงไปให้มหาดเล็กของตัว อ้ายคนอื่นมันเห็นเงินปลิวลงไปขาวๆ มันก็อดไม่ได้ ดันเบียดเสียดกันเข้าไป เกยก็ปลูกไม่สู้แน่นนัก รวนกันกระทบเสาโงนเงนน่ากลัวจะล้ม ถ้าเจ้านายที่ดีๆ เขาก็ไม่โปรยลงไปใกล้เกย แต่อย่างนั้นก็ไม่ใคร่ฟัง ยังโดนเสาเกยเยือกไปเยือกมาครั้งหนึ่งสองครั้งแทบทุกคราว แต่ยังไม่ปรากฏว่าเกยล้มเลยสักครั้งหนึ่ง ถ้าล้มลงไปแล้วจะงามถึงไม่ได้บวชแน่

เมื่อโปรยทานเสร็จแล้วเสด็จเข้าไปในพระอุโบสถ รอพิณพาทย์ไว้ไม่ประโคม จนเจ้าที่จะทรงผนวชไปถึงกำแพงแก้วจึงได้ประโคมแล้วขึ้นพระอุโบสถทางพระทวารกลาง ตรงเข้าไปจุดเทียนทองเล่มหนึ่ง ที่ปักอยู่ที่ราวเหล็กรอบฐานชุกชี แล้วจึงกลับออกมานั่งรายริมผนังด้านหุ้มกลองในระหว่างพระทวารกลางและพระทวารข้างเหนือ มีผ้าไตรและบาตรตั้งอยู่ตรงหน้า ภูษามาลาจึงได้หยิบผ้าไตรส่งถวายเจ้า เข้าไปขอบรรพชาตามลำดับ การที่ทรงผนวชในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ใช้ขานนาคอย่างเก่า คือลุกขึ้นยืนว่า อุกาส วันทามิ ภันเต สืบๆ กันมา ทั้งที่ทรงผนวชฝ่ายคณะธรรมยุติกาและมหานิกาย จนตลอดถึงเมื่อข้าพเจ้าบวชเณร รับสั่งว่าเป็นการออกหน้าออกตาประชุมใหญ่ คนเก่าๆ เขาจะขวางหูก็ให้ว่าขานนาคตามธรรมเนียมเก่า แต่ครั้นเมื่อพระเจ้าลูกเธอทรงผนวชภายหลังมา ใช้ว่า เอสาหํ ภันเต อย่างธรรมยุติกา แต่หม่อมเจ้ายังคงใช้ยืนว่า อุกาส วันทามิ ภันเต อยู่ตามเดิม ต่อมาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้ หม่อมเจ้าซึ่งทรงผนวชอย่างธรรมยุติกา จึงได้พลอยว่า เอสาหํ ภันเต บ้าง การซึ่งบอกอนุศาสน์นั้น ก็คงใช้ยืนบอกนอกหัตถบาสสงฆ์เสมอมา นั่งบอกอนุศาสน์เป็นครั้งแรกขึ้นเมื่อข้าพเจ้าบวชเณร เพราะครั้งนั้นโปรดให้ขอนิสัยด้วย เป็นครั้งแรกที่สามเณรได้ขอนิสัย แต่รับสั่งว่าเป็นอย่างใหม่ ไม่ให้ต้องว่า อุกาส วันทามิ ภันเต เหมือนอย่างเช่นที่ทรงผนวชพระกันมาแต่ก่อน ด้วยเป็นการเกิดขึ้นใหม่อย่างธรรมยุติกา และรับสั่งให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ตั้งตาลิปัตรบอกอนุศาสน์ในท่ามกลางพระสงฆ์อย่างเช่นบอกกันอยู่ในธรรมยุติกา การซึ่งให้ขอนิสัยและบอกอนุศาสน์ครั้งนั้น เป็นการทรงพระราชดำริขึ้นใหม่ในทันใดนั้น กว่าจะตกลงกันต้องรออยู่ช้าหน่อยหนึ่ง เพราะไม่เคยทำ แต่ทรงอธิบายชี้แจงการตลอด ก็เป็นการตกลงกันไปได้ ธรรมเนียมขอนิสัยและบอกอนุศาสน์สามเณรจึงได้มีแต่นั้นมาเป็นคราวแรก การทรงผนวชเจ้าที่หลายๆ องค์พร้อมกัน ที่เป็นภิกษุ เมื่อทรงผนวชแล้วนั่งที่ปลายอาสน์สงฆ์ ในเวลาทรงผนวชองค์อื่นต่อไปจนแล้วเสร็จ จึงได้ถวายผ้าพระสงฆ์ที่มานั่งหัตถบาส ธรรมเนียมแต่เดิมมาไม่ว่าเจ้าฟ้าและพระองค์เจ้า หม่อมเจ้า พระสงฆ์ที่มานั่งหัตถบาสได้ผ้าอาบผืนเดียว แต่ครั้นเมื่อรัชกาลที่ ๔ เจ้าฟ้าใช้ผ้าไตรสลับแพร พระองค์เจ้าใช้ผ้าไตร แต่ที่ทรงผนวชตามธรรมเนียมจึงเป็นผ้าอาบผืนหนึ่ง คงได้กระจาดเครื่องบริโภคองค์ละกระจาดเหมือนการพระราชพิธีโสกันต์ เมื่อเจ้าที่ทรงผนวชถวายผ้าแล้วจึงได้มารับของพระราชทาน รับของหลวงแล้วถึงว่าจะมีวังหน้าเสด็จมาอยู่ในที่นั้น ก็ต้องเข้าไปรับของข้างในที่ปากฉากก่อนแล้วจึงออกมารับของวังหน้าและเจ้านายผู้ชายต่อไป ว่าเป็นธรรมเนียมดังนี้แต่เดิมมา เมื่อรับผ้าเสร็จแล้วที่เป็นเจ้าพระก็ไปนั่งที่ปลายอาสน์สงฆ์​ ที่เป็นเจ้าเณรนั่งอยู่ที่เดิม คือริมผนังด้านหุ้มกลอง ทรงพระเต้าษิโณทก พระสงฆ์ยถา เจ้าที่ทรงผนวชก็กรวดน้ำด้วยทุกองค์ เป็นเสร็จการทรงผนวช ถ้าอย่างมากแบ่งสามวันก็มี แต่สองวันและวันเดียวเป็นพื้น ๚

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ