พระราชพิธีเดือน ๗

๏ พระราชพิธีเดือน ๗ นี้ ตามตำราของพราหมณ์ก็ว่าเคณฑะคือทิ้งข่าง ต้องกันกับจดหมายนางนพมาศซึ่งกล่าวไว้ด้วยเรื่องทิ้งข่างเป็นเนื้อความพิสดาร แต่ในกฎมนเทียรบาลเรียกว่าทูลน้ำล้างพระบาท วิธีที่ทำก็ดูต่างกันไกลนักไม่ลงรอยกันเลย เห็นจะเป็นต่างครูกันแท้ทีเดียว พิธีเคณฑะดีร้ายจะไม่ได้ทำที่กรุงเก่าเลย แต่เรื่องทูลน้ำล้างพระบาทมีพยานที่อ้างอีกแห่งหนึ่งในคำให้การขุนหลวงหาวัด แต่ก็เป็นคำพยานที่ให้การผิดประเด็น ต้องฟังกลับความเอาจึงจะพอได้เค้า ในคำให้การขุนหลวงหาวัด พิธีเดือน ๗ ว่าตุลาภาร พิธีเดือน ๙ ว่านารายณ์บรรทมสินธุ์ แต่ในกฎมนเทียรบาลพิธีตุลาภารไปอยู่ในเดือน ๙ เดือน ๗ เป็นทูลน้ำล้างพระบาท พิธีทูลน้ำล้างพระบาทกับนารายณ์บรรทมสินธุ์ข้อความคล้ายคลึงกัน คืออยู่ในเจ้าแผ่นดินเสด็จสู่ที่สรง ลางทีขุนหลวงหาวัดให้การนั้นเป็นแต่จำไว้ด้วยใจเปล่าๆ ไม่มีตำรับตำราค้นนับไขว้เดือนกันไปก็จะเป็นได้ หรืออีกอย่างหนึ่ง กฎมนเทียรบาลเป็นแบบเก่าแรกสร้างกรุง ตกลงมาชั้นหลังจะเปลี่ยนแปลงไปเสีย ด้วยความประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด เช่นพิธีตรียัมพวายก็จะเป็นได้ ถ้าจะลองค้นหาเหตุดูว่า เหตุที่จะเปลี่ยนนั้นอย่างใดได้บ้าง ก็เห็นมีอยู่อย่างเดียว แต่ถ้าทำพิธีตุลาภารในเดือน ๙ เป็นเวลาฝนชุก การพิธีตุลาภารมีแห่แหนอยู่ จะย้ายไปไว้เสียเดือน ๗ ซึ่งฝนยังไม่สู้ชุกนัก เปลี่ยนพิธีทูลน้ำล้างพระบาท หรือนารายณ์บรรทมสินธุ์มาไว้ในเดือน ๙ จะได้บ้างดอกกระมัง แต่ที่จะเรียบเรียงต่อไปนี้ จะต้องเอากฎมนเทียรบาลเป็นหลัก ยืนทูลน้ำล้างพระบาทไว้เดือน ๗ ยกนารายณ์บรรทมสินธุ์มาไว้ในเดือน ๗ ด้วย เพราะเห็นว่าเป็นพิธีเดียวกัน จะขอกล่าวด้วยพิธีเคณฑะทิ้งข่าง ซึ่งมีมาในหนังสือนางนพมาศ นับว่าเป็นการเก่าขึ้นไปกว่ากรุงเก่านั้นก่อน

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ