การวิศาขบูชา

๏ พระอรรถกถาจารย์เจ้ากําหนดไว้ว่า พระพุทธเจ้าได้ประสูติและตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ และเสด็จปรินิพพานในวันเพ็ญพระจันทร์เสวยฤกษ์วิศาขะ วันกําหนดนี้จึงเป็นนักขัตฤกษ์ ซึ่งชนทั้งปวงผู้นับถือพระพุทธศาสนาได้ทําการบูชาพระรัตนตรัย เป็นการระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า คล้ายกับทําเฉลิมพระชนมพรรษาหรือแซยิดปีละครั้งแต่โบราณมา การกําหนดที่พระจันทร์ในวันเพ็ญเสวยวิศาขนักขัตฤกษ์นี้แต่โบราณมาถือว่าตรงในเพ็ญเดือน ๖ เสมออยู่ไม่ยักเยื้อง ตลอดมาจนถึงในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงวางวิธีแบบปักขคณนาคิดวันพระจันทร์เพ็ญให้ใกล้กับที่จริงเข้ากว่าแต่ก่อน วันวิศาขนักขัตฤกษ์จึงได้เคลื่อนไปเป็นเพ็ญเดือนเจ็ดบ้างในบางปี แต่ยืนอยู่ในเดือนหกโดยมาก ก็การที่ถือว่าพระจันทร์เพ็ญเสวยฤกษ์วิศาขะเป็นนักขัตฤกษ์ที่ควรประกอบการบูชาใหญ่ในพระรัตนตรัยซึ่งถือกันอยู่ในเมืองที่นับถือพระพุทธศาสนามาแต่โบราณนั้น จะให้ได้ความชัดว่าตั้งแต่พระพุทธศาสนาได้มาประดิษฐานในแผ่นดินสยามแล้ว คนทั้งปวงได้ทําการบูชานั้นมาแต่เดิมหรือไม่ได้ทํา ก็ไม่มีปรากฏชัดในที่แห่งใด จนถึงกรุงสุโขทัยจึงได้ความตามหนังสือที่นางนพมาศแต่งนั้นว่า “ครั้นถึงวันวิศาขบูชา สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินและราชบริรักษ์ฝ่ายหน้าฝ่ายใน ทั้งอาณาประชาราษฎรทั่วทุกนิคมคาชนบท ก็ประดับพระนครและพระราชวังข้างหน้าข้างในจวนตำแหน่งท้าวพระยา พระหลวงเศรษฐี ชีพราหมณ์ บ้านเรือน โรงร้าน พ่วงแพ ชนประชาชายหญิง ล้วนแต่แขวนโคมประทีปชวาลาสว่างไสวห้อยย้อยพวงบุปผชาติประพรมเครื่องสุคนธรส อุทิศบูชาพระรัตนตรัยสิ้นสามทิวาราตรี มหาชนชวนกันรักษาพระอุโบสถศีล สดับฟังพระสัทธรรมเทศนาบูชาธรรม บ้างก็ถวายสลากภัตตาหารสังฆทานข้าวบิณฑ์ บ้างก็ยกขึ้นซึ่งธงผ้าบูชาพระสถูปเจดีย์ บ้างก็บริจาคทรัพย์จําแนกแจกทานแก่ยาจกทลิททก คนกําพร้าอนาถาชราพิการ บ้างก็ซื้อไถ่ชีวิตสัตว์จตุบททวิบาทชาติมัจฉาต่างๆ ปลดปล่อยให้ได้ความสุขสบาย อันว่าสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินและราชตระกูล ก็ทรงศีลบําเพ็ญการพระราชกุศลต่างๆ ในวันวิศาขบูชาพุทธศาสนาเป็นอันมาก เวลาตะวันฉายแสงก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยราชสุริยวงศ์และนางใน ออกวัดหน้าพระธาตุราชอารามหลวงวันหนึ่ง ออกวัดราษฎร์บุรณพระวิหารหลวงวันหนึ่ง ออกวัดโลกสุทธราชาวาสวันหนึ่ง ต่างนมัสการพระรัตนัตตยาธิคุณ โปรยปรายผกาเกสรสุคนธรสสักการบูชา ถวายประทีปธูปเทียนเวียนแว่นรอบรัตนบัลลังก์ ประโคมดุริยางคดนตรีดีดสีตีเป่า สมโภชพระชินศรี พระชินราช พระโลกนาถ พระสัฏฐารสโดยมีกมลโสมนัสศรัทธาทุกตัวคน” แล้วมีคําสรรเสริญว่า “อันพระนครสุโขทัยราชธานี ถึงวันวิศาขนักขัตฤกษ์ครั้งใด ก็สว่างไปด้วยแสงประทีปเทียนดอกไม้เพลิง แลสล้างสลอนด้วยธงชายธงประดากไสวไปด้วยพู่พวงดวงดอกไม้กรองร้อยห้อยแขวน หอมตลบไปด้วยกลิ่นสุคนธรสรวยรื่น เสนาะสำเนียงพิณพาทย์ฆ้องกลองทั้งทิวาราตรี มหาชนชายหญิงพากันกระทำกองการกุศล เสมือนจะเผยซึ่งทวารพิมานฟ้าทุกช่อชั้น” กล่าวไว้เป็นการสนุกสนานยิ่งใหญ่ เหมือนอย่างในหนังสือโบราณก่อนๆ ขึ้นไป ที่ได้กล่าวถึงวันวิศาขบูชาดังนี้

แต่ส่วนที่ในกรุงเก่า มิได้ปรากฏมีในจดหมายแห่งหนึ่งแห่งใด ดูเป็นการลืมเสียทีเดียว ตลอดลงมาถึงกรุงรัตนโกสินทรซึ่งเป็นลูกศิษย์กรุงเก่า ก็ไม่ได้มีการพระราชกุศลวิศาขบูชา ตลอดมาจนปีฉลูนพศก จุลศักราช ๑๑๗๙ (พ.ศ.๒๓๖๐) รัตนโกสินทรศก เป็นปีที่ ๓๖ ในรัชกาลที่ ๒ สมเด็จพระสังฆราชมี ซึ่งมาแต่วัดราษฎร์บุรณถวายพระพรให้ทรงทำวิศาขบูชาเป็นครั้งแรก การที่ทำนั้นถึงว่าในหมายอ้างว่าเป็นมหายัญญบูชาใหญ่ก็จริง แต่การที่จัดนั้นดูเหมือนหนึ่งจะต้องถามกันว่าจะให้ทําอย่างไรจะควร ท่านพระสังฆราชนั้นจะต้องถวายพระพร อธิบายว่าที่ทํากันมาแต่ก่อนนั้น คือจุดโคมตามประทีปบูชาทั้งในพระอารามและตามบ้านเรือนทั้งปวง จึงโปรดให้ทําโคมปิดกระดาษเสาไม้ไผ่ยอดผูกฉัตรกระดาษ เหมือนกับโคมบริวารการพระราชพิธีจองเปรียง แปลกแต่เสาทาปูนขาวเสีย เหมือนโคมชัย โคมประเทียบ ให้ไปปักตามพระอารามหลวง พระอารามละสี่เสาเป็นส่วนตามประทีปในวัด ส่วนที่ตามประทีปตามบ้านเรือนนั้น ก็ให้อำเภอกํานันป่าวร้องให้ราษฎรจุดโคม เป็นการคร่าวๆ แรกๆ ก็เห็นจะมีบ้างแห่งละใบสองใบมีโคมข้าวแขกเป็นต้น เป็นส่วนที่จุดประทีปตามบ้านเรือนต้องด้วยอย่างเก่า อีกประการหนึ่งนั้นมีพวงดอกไม้แขวนบูชาตลอดทั้งสามวัน ก็ให้เกณฑ์ข้าราชการร้อยดอกไม้มาแขวนในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วันละร้อยพวงเศษ อีกประการหนึ่งนั้น มีดอกไม้เพลิงเป็นเครื่องสักการบูชา ก็ให้มีพุ่มดอกไม้เพลิงมาปักจุดที่หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม อีกประการหนึ่งมีพระธรรมเทศนาและรักษาอุโบสถศีล ก็ให้มีเทศนาของหลวงตามวัดฝั่งตะวันออกสิบพระอาราม ฝั่งตะวันตกสิบพระอาราม และให้อำเภอกํานันป่าวร้องให้ราษฎรรักษาศีล อย่าให้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และให้ชักชวนกันไปฟังพระธรรมเทศนา อีกประการหนึ่ง ว่ายกธงขึ้นบูชา ก็ให้ทําธงจระเข้ไปปักตามวัดหลวงวัดละคัน อีกประการหนึ่ง ว่าเคยเลี้ยงพระสงฆ์และถวายสลากภัต ก็โปรดให้เลี้ยงพระสงฆ์ในท้องพระโรง และสดับปกรณ์พระบรมอัฐิด้วยข้าวสลากภัต และประกาศให้ราษฎรชักชวนกันทำสลากภัตถวายพระสงฆ์ การที่จัดไปทั้งปวงนี้เห็นชัดว่าเป็นจัดตามแบบโบราณที่เคยทำมา เมื่อจะดูเทียบกันกับจดหมายนางนพมาศ ก็เกือบจะมีการบูชาทุกอย่างเต็มตามที่จดหมายไว้ เป็นแต่อาการที่ทํานั้นคนละอย่าง ในจดหมายนางนพมาศดูเป็นการครึกครื้นพร้อมเพรียงกัน ทั้งพระเจ้าแผ่นดินและราษฎร เป็นนักขัตฤกษ์ที่รู้ทั่วกัน เป็นที่รื่นเริงทั่วกัน ในการที่จัดขึ้นชั้นหลังตามแบบเก่า ดูเป็นแต่การสังเขปย่อๆ พออย่าให้เสียโบราณ หรือคิดจะจัดให้เป็นการครึกครื้นจริง แต่หากคนทั้งปวงไม่ได้ประพฤติมาแต่ก่อนพากันเนือยๆ เฉยๆ ไปเสีย ก็เลยจืดจางไป แต่เมื่อพิเคราะห์ดูจริงๆ แล้ว เห็นว่าถึงส่วนในราชการก็อยู่ข้างจะเลือนๆ เป็นแต่การเสียไม่ได้อยู่ เพราะไม่ได้เคยทำเคยนึกถึงมาเสียช้านานแล้ว จนชั้นหลังในปัจจุบันนี้ การวิศาขบูชามีผู้ทํามากขึ้น ก็ยังเป็นการของชาววัดแท้ พวกชาวบ้านที่เกี่ยวข้องบ้างก็แต่พวกที่จําศีลภาวนา แต่คนทั้งปวงที่เฉยอยู่ไม่รู้สึกนั้นโดยมาก ไม่เหมือนนักขัตฤกษ์ตรุษสงกรานต์ ชั้นต่ำก็สารทยังดีกว่ามาก เมื่อจะคิดไปดูก็ไม่น่าจะเป็นเช่นนี้ ถ้าพระเจ้าแผ่นดินองค์อื่น ซึ่งได้ดํารงราชสมบัติมาในชั้นต้น จะว่าไม่ทรงทราบชัดเจนในพระพุทธศาสนา จึงไม่ได้ทรงทําก็ตามเถิด แต่พระเจ้าทรงธรรมซึ่งเป็นพระพิมลธรรมอยู่ก่อน ว่าแตกฉานในพระไตรปิฎก และทรงพระธุระในการพระพุทธศาสนามาก จนถึงเสด็จออกไปนั่งเป็นอาจารย์บอกหนังสือพระสงฆ์วันละร้อยรูป และทรงพระวิตกเป็นห่วงบ่วงใยกลัวชาดกต่างๆ จะสูญตามคําทํานายของพระอรรถกถาจารย์เจ้ากล่าวไว้ในปัญจอันตรธาน จึงทรงพระอุตสาหแต่งมหาชาติคำหลวงขึ้นไว้ให้สืบอายุพระพุทธศาสนา และทรงเสาะแสวงหาเจดียฐานอันเป็นที่ชอบใจคนทั้งปวง ให้ก่อเกิดความศรัทธาเลื่อมใสได้ใหญ่โตยืดยาวอย่างเช่นพระพุทธบาท การซึ่งทรงเป็นพระธุระในพระพุทธศาสนาทั้งสามอย่างนี้ ก็เพื่อจะสำแดงให้เห็นความรู้ซึ่งได้ทรงคึกษาในพระพุทธศาสนาทั่วถึงโดยมาก แต่การวิศาขบูชานี้ก็น่าที่จะทรงสำแดงความรู้อีกสักอย่างหนึ่ง แต่เหตุใดจึงทรงลืมเสียก็ไม่ทราบเลย หรือจะเป็นด้วยพระธุระในการบอกหนังสือ และในการแต่งพระมหาชาติมากเสียจนไม่มีเวลาจะทรงค้นคว้าได้ เพราะย่อมจะทรงเห็นว่าการซึ่งแต่งพระมหาชาตินั้นเป็นการบำรุงพระศาสนาสำคัญกว่าการวิศาขบูชาที่เป็นแต่การบูชาภายนอก จึงไม่เป็นพระราชธุระ

จะขอพูดนอกเรื่องสักหน่อยหนึ่ง ในเรื่องปัญจอันตรธานนี้มีคำทำนายที่พระอรรถกถาจารย์ได้กะไว้ว่าจะเสื่อมลงมาตามลำดับ คือธรรมที่ดีๆ ตั้งแต่พระปรมัตถ์ลงมาจนถึงชาดก ในกระบวนชาดกด้วยกันมหาเวสสันดรชาดกจะเสื่อมก่อน เพราะเป็นชาดกดีกว่าชาดกทั้งปวง ความคิดซึ่งคิดเห็นเช่นนี้ โดยเชื่อมั่นว่าต่อไปภายหน้าคนจะเรียวลงไปทุกชั้น สติปัญญาความรู้ก็จะน้อยลงทุกชั้น ถ้อยคําสั่งสอนอันใดที่เป็นคําลึกก็จะไม่มีผู้ใดอยากฟังและฟังก็จะไม่เข้าใจ เมื่อชั้นปลายๆ ลงก็จะเหลือแต่นิทานสุวรรณเศียรหรือเจ้าเงาะกับรจนา เป็นธรรมอันอุดมที่ชนภายหลังจะได้สดับ เพราะความคิดเห็นเช่นนี้มั่นอยู่ในสันดาน เมื่อจะแต่งหนังสืออันใดก็แต่งตามชอบใจ เพิ่มเติมข้อความลงไว้ให้มากๆ ล่อให้สนุกและพิศวงงงงวย สำหรับแก่ปัญญาผู้ที่เลวทรามในชั้นหลังจะได้เชื่อถือ เมื่อเชื่อถือเพลิดเพลินค้นไปค้นไปจะได้ล่อให้ไปถึงธรรมที่ลึก ความเห็นของผู้ที่แต่งหนังสือมากๆ เกินเหตุ คิดเห็นว่าไม่เป็นมุสาด้วยเป็นประโยชน์เช่นนี้ จึงได้ไม่ว่านิทานอะไรๆ ก็เก็บเอามาเรียบเรียง ที่สุดจนฝอยของนิทานอาหรับราตรีก็มีถูกกับชาดกหลายเรื่อง ความคิดที่เกิดขึ้นเช่นนี้ ก็เพราะได้สังเกตดูเด็กที่มันเกิดมาเมื่อเวลาตนมีอายุมากแล้วนั้นดูโง่กว่าตัวมาก กว่าเด็กนั้นจะมีอายุมากเท่าตัวผู้สังเกต ผู้สังเกตก็ตายไปเสียก่อนแล้ว ไม่ได้ชั่งได้เทียบกันว่ามันจะดีเท่าตัวได้หรือไม่ แต่ที่แท้นั้นโลกตั้งมานานเท่าใด มนุษยก็ขุดคุ้ยวิชาความรู้เปิดเผยขึ้นทุกวันทุกคืนตามลำดับ ชนซึ่งเกิดภายหลังย่อมจะรู้การอะไรได้ดีได้เร็วกว่าเราซึ่งเป็นผู้กำลังขุดคุ้ยอยู่ เปรียบเหมือนหนึ่งมีผู้รู้ว่าดูเหมือนจะมีแร่เงินแร่ทองอยู่ในแผ่นดินตรงนั้นๆ ผู้ที่รู้นั้นยังต้องเคลือบแคลงว่าจะเป็นการจริงหรือเท็จไม่แน่อยู่ ครั้นเมื่อขุดลงไปในเวลาที่ขุดนั้นก็ยังไม่ทราบแน่ ต่อเมื่อขุดลงไปได้แร่ขึ้นมาสูบถลุงหล่อหลอมออกเป็นเนื้อเงินเนื้อทอง จึงจะรู้ว่าเป็นแร่เงินแร่ทองมีอยู่ในที่นั้น เมื่อมีผู้เดินมาภายหลังได้เห็นเนื้อทองเนื้อเงิน หรือเห็นบ่อที่ขุดแร่นั้นก็ดี มีผู้บอกว่าเงินทองนี้ขุดขึ้นมาได้จากบ่อแห่งนั้น หรือบ่อแห่งนั้นมีแร่เงินแร่ทอง ผู้นั้นก็จะรู้ได้ทันทีว่า ที่บ่อนั้นมีแร่เงินแร่ทองจริง เร็วกว่าระยะที่ผู้รู้ข่าวว่ามีแร่เงินแร่ทองแล้วและไปเสาะแสวงหาสายแร่ จนขุดขึ้นมาสูบถลุงหล่อหลอมได้เนื้อเงินเนื้อทอง จึงจะรู้ว่ามีจริงนั้นมาก อุปมาที่กล่าวนี้ฉันใดก็เปรียบเหมือนกับคนที่เกิดภายหลัง ได้อาศัยกําลังคนแต่ก่อนขุดคุ้ยวิชาความรู้ขึ้นไว้แล้ว เมื่อมีครูอาจารย์บอกเล่าก็เรียนรู้ได้โดยเร็ว เพราะฉะนั้นผู้ซึ่งเกิดภายหลังถ้าได้ร่ำเรียนแล้ว ก็รู้วิชาทันผู้ที่เกิดก่อนได้โดยเร็วกว่าผู้ที่เกิดก่อนจะเสาะหาวิชาเอง เพราะฉะนั้นความคิดที่คิดเห็นว่าต่อไปภายหน้ามีแต่จะเลวทรามลงนั้นจึงเป็นการผิด ด้วยคําอันใดที่เขียนไว้เกินจริง ด้วยประสงค์จะอนุเคราะห์ก็ดี จะให้พิศวงงงงวยก็ดี จึงไม่เป็นการมีคุณได้สมประสงค์ กลับเป็นเรื่องรุงรังรกเรี้ยวปิดบังของที่ดีที่วิเศษแท้จริงนั้นเสีย เพราะถ้อยคำที่แต่งไว้นั้นไม่ควรแก่ปัญญาชนภายหลังจะคิดเห็นตามได้ ก็ชักให้เคลือบแคลงสงสัยจนเห็นว่าไม่มีแก่นสารอันใดที่จะสืบเสาะหาของดีในกองฝุ่นฝอยนั้นได้ ก็ถ้าเป็นผู้ซึ่งมีความเพียรประสงค์จะเสาะสางหาของที่ดีจริงๆ ก็ต้องกวาดคุ้ยขยะฝุ่นฝอยนั้นทิ้งเสีย เลือกถือเอาแต่ของที่ดี การอันตรธานที่จะเป็นไปได้จริงๆ ก็คงต้องอันตรธานไปในของที่ไม่เป็นแก่นสารก่อน ถ้าจะให้ข้าพเจ้าทํานายแล้วข้าพเจ้าทํานายว่าชาดกอันตรธานก่อน เพราะเป็นของรกเรี้ยวต่างๆ มีมาก ธรรมะที่ดีถึงว่าจะไม่มีผู้ใดถือโดยตรงๆ ก็คงยังต้องประพฤติตามธรรมะที่ดีอยู่นั้นเอง ถึงว่าผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งไม่ได้เป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนา แต่หากเป็นคนดีอยู่ก็คงต้องประพฤติต้องตามพระพุทโธวาทโดยมาก จะตรวจค้นดูในปัจจุบันนี้มีถมไป เว้นไว้แต่จะเชื่อถือเสียว่าต่อไปภายหน้าจะไม่เป็นอย่างเช่นปัจจุบันนี้ได้โดยไม่มีพยานอันใดที่จะเชื่อถือ นอกจากว่ากันมาว่าอย่างนั้นแล้ว ก็ยังคิดเห็นไปได้อยู่เอง

ข้าพเจ้าอยากจะพาโลความเห็น และความเชื่อถือที่ว่าไปภายหน้าจะเรียวลงไปนี้ เป็นความคิดอันให้โทษยิ่งใหญ่แก่ผู้ที่ถือเพราะทําให้อ่อนใจวางมือวางตีนไปเสียหมดไม่มีอุตสาหที่จะสั่งสอนกัน เพราะถือว่ามันจะเรียวลงไป ถึงสอนก็เปล่าๆ ไม่มีความอุตสาหที่จะคิดจะทําอันใดขึ้น เพราะถือว่าคิดไปทําไปก็เปล่าๆ เพราะเรามันเรียวลงมาเสียแล้ว จะให้เหมือนท่านแต่ก่อนไม่ได้ เป็นความคิดที่ชวนให้ท้อถอย ตั้งหน้าลงสู่ความเสื่อมอย่างเดียว เพราะฉะนั้นชาติใดที่เชื่อถือการเรียวอย่างนี้จึงมีความขวนขวายปรารถนาน้อย บ้านเมืองจึงไม่เจริญได้เร็วเหมือนอย่างพวกที่เขาไม่ถือการเรียว เพราะฉะนั้นเราท่านทั้งหลายจะชวนกันลืมๆ เรื่องเรียวนี้เสียสักหน่อย ตั้งหน้าขวนขวายหาความรู้และประกอบการทั้งในศาสนาและในการบ้านเมือง คงจะยังได้รับความดีมีผลเหมือนท่านแต่ก่อน หรือยิ่งขึ้นไปกว่าได้เป็นแท้

การที่กล่าวมานี้นอกเรื่องจริงๆ ขอโทษเถิด เป็นเพราะอดไม่ได้แท้ทีเดียว เมื่อจะวนลงอะลุ้มอล่วยไม่เข้าเรื่องกันสักหน่อยหนึ่ง ก็จะต้องกล่าวว่าพระเจ้าทรงธรรมที่ท่านทรงเชื่อถือการเรียวยิ่งใหญ่นั้น ท่านเรียวลงมากว่าสุโขทัยมาก จึงไม่ได้ทําวิศาขบูชา แต่ครั้นเมื่อถึงกรุงรัตนโกสินทรนี้ กลับป่องขึ้นอีกหน่อยหนึ่ง เพราะได้ทำวิศาขบูชา ควรจะเห็นเป็นตัวอย่างได้ ว่าไม่ใช่จะเรียวลีบลงไปทีเดียวดอก ถ้าอุตส่าห์อยู่แล้วคงยังจะโตได้เป็นแน่ แต่ขอให้เข้าใจเสียว่าที่ได้กล่าวถึงพระเจ้าทรงธรรมแต่งมหาชาติคําหลวงนี้ ว่าถึงแต่ข้อพระราชปรารภแรกที่จะทรง แต่ตัวหนังสือมหาชาติคำหลวงที่ท่านทรงขึ้นไว้นั้น ข้าพเจ้าไม่ติเตียนเลย เพราะเป็นหนังสือดีฉบับหนึ่งในเมืองไทย

บัดนี้จะว่าด้วยการวิศาขบูชาต่อไป การวิศาขบูชาที่ทำมาแต่ในรัชกาลที่ ๒ เป็นต้น ตลอดจนรัชกาลที่ ๓ ก็เป็นการคงยืนที่อยู่ คือมีการพระราชกุศลเช่นได้พรรณนามาแล้วข้างต้น แต่ในท้ายรัชกาลที่ ๓ เมื่อทรงสร้างวัดสุทัศนเทพวราราม โปรดให้ทำเกยขึ้นสำหรับตั้งพระสัตตมหาสถานรอบพระอุโบสถ และวิศาขบูชาก็ให้เชิญพระพุทธรูปออกตั้งแล้วมีเทศนาปฐมสมโพธิ ในสัปปุรุษทายกไปฟังและเที่ยวนมัสการพระพุทธรูป ที่วัดพระเชตุพนก็ให้มีตะเกียงรายรอบกําแพงแก้วเพิ่มเติมขึ้น แต่การอื่นๆ ก็คงอยู่ตามเดิม ไม่ได้มีการเสด็จพระราชดําเนินออกวัดพระศรีรัตนศาสดารามเหมือนอย่างในปัจจุบันนี้

ต่อมาถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทำการวิศาขบูชา เป็นแบบมาแต่ยังทรงผนวชอยู่ จึงได้โปรดให้จัดการเพิ่มเติมขึ้นตามแบบ เช่นพระสงฆ์คณะธรรมยุติกาทําอยู่ เป็นการเพิ่มเติมขึ้นอีกส่วนหนึ่ง ธรรมเนียมเดิมก็คงเป็นไปตามธรรมเนียมเดิม เว้นไว้แต่การเลี้ยงพระสงฆ์ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำนั้นต้องกับงานฉัตรมงคลจึงได้ยกเลิกเสีย คงมีอยู่แต่วันแรมค่ำหนึ่ง วันนั้นเป็นวันเลี้ยงพระที่พระที่นั่งอนันตสมาคม จึงได้ยกกาลานุกาลขึ้นไปทําบนพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ เชิญพระบรมอัฐิตั้งบนบุษบก เมื่อทรงเลี้ยงพระในพระที่นั่งอนันตสมาคมแล้วจึงได้เสด็จขึ้นไปสดับปกรณ์บนพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ เป็นสองงานประดังกันอยู่ ต่อมาถึงแผ่นดินปัจจุบันนี้เปลี่ยนฉัตรมงคลไปเดือนสิบสองแล้ว จึงได้มีการเลี้ยงพระในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำขึ้นเหมือนอย่างแต่ก่อน และการวิศาขบูชาในรัชกาลที่ ๔ นั้น ในตอนกลางๆ โปรดให้เกณฑ์เจ้านายข้าราชการตั้งโต๊ะเครื่องบูชาตามรอบเฉลียงพระอุโบสถ เป็นการครึกครื้นสนุกสนานมาก จนเกิดเล่นเครื่องโต๊ะลายครามกันขึ้น ในเวลานั้นเที่ยวเก็บหาสิ่งของที่มีอยู่แล้วในกรุงนี้ มาประสมกันให้ได้ชุดได้ลายตั้งขึ้นเป็นโต๊ะใหญ่บ้างโต๊ะเล็กบ้าง บรรดาใครเป็นเจ้าของก็มาคอยเฝ้าประชุมพร้อมๆ กัน ถ้าของผู้ใดไม่ดีก็รับสั่งให้ยกสิ่งของนั้นไปตั้งที่ตรงหน้า ถ้าผู้ใดถูกตั้งของที่หน้าเช่นนั้นก็เป็นที่อับอายกัน ต้องเที่ยวขวนขวายหาของที่ดีๆ มาตั้ง จนการที่จัดหาเครื่องโต๊ะนั้นเป็นการจําเป็นที่ต้องหาทั่วๆ หน้ากัน สิ่งของก็มีราคาแพงขึ้น ต่างคนต่างเที่ยวหากันวุ่น เหมือนอย่างเล่นถ้วยป้านอยู่ในปัจจุบันนี้ ก็เป็นที่สนุกครึกครื้น ถ้าถึงวันวิศาขบูชาในวัดพระศรีรัตนศาสดารามก็เต็มไปทั้งพระทั้งคฤหัสถ์ผู้หญิงผู้ชายหาที่ว่างไม่ได้ ครั้นภายหลังพระยาโชฎึกราชเศรษฐีพุก เห็นว่าเครื่องโต๊ะมีราคาหาไม่ใคร่ได้ จึงได้สั่งเครื่องโต๊ะที่ครบชุดลายต่างๆ เข้ามา ๖๐ สำรับ ออกจําหน่ายขายผู้ที่ถูกเกณฑ์ตั้งโต๊ะราคาสำรับละ ๑๐ ชั่ง แต่นั้นมาการเล่นเครื่องโต๊ะก็จืดจางลง ด้วยของเก่าที่จะหาให้ครบสิ่งบริบูรณ์ได้เหมือนของใหม่ก็ไม่ใคร่มี เมื่อไม่มีของครบสิ่งก็ไม่อาจจะมาตั้งเพราะกลัวจะสู้ของใหม่ไม่ได้ ส่วนของใหม่ถึงเครื่องครบบริบูรณ์ก็จริง แต่นักเลงที่จะเล่นไม่ใคร่มีใครนับถือ เพราะเป็นของหาง่าย ไม่ต้องพยายามมากเหมือนหาของเก่า ลวดลายและสีครามก็สู้ของเก่าไม่ได้ ครั้นเมื่อการเล่นเครื่องโต๊ะจืดจางลงก็เป็นแต่ตั้งเป็นราชการ คนก็ไม่ใคร่มีใครๆ มาดู การที่ทรงตรวจตราเลือกเฟ้นนั้นซ้ำหลายปีเข้าก็เงียบๆ ไป ภายหลังจึงได้โปรดให้เปลี่ยนใหม่ เกณฑ์ให้ข้าราชการทําโคมตราตําแหน่งมาตั้งมาแขวน ส่วนของหลวงก็ใช้ตราหลวงแขวนที่ประตูพระอุโบสถทั้งหกประตู ในปีแรกที่เกิดโคมตราขึ้นนั้นก็เป็นการกึกก้องกาหลยิ่งใหญ่ คนที่มาดูกลับมากขึ้นไปกว่าเมื่อตั้งเครื่องโต๊ะ ด้วยโคมนั้นตั้งแขวนตามศาลารายและพระระเบียงโดยรอบเป็นทําเลกว้าง คนจะเดินไปมาดูแลได้สะดวก ตั้งแต่เวลาพลบไปจนดึกแปดทุ่มสามยามยังไม่ขาดคน เป็นการสนุกครึกครื้นมาได้หลายปี จึงค่อยๆ กร่อยลงตามธรรมดา

มาในแผ่นดินปัจจุบันนี้ เมื่อโคมกร่อยนักแล้ว กรมขุนภูวไนยนฤเบนทราธิบาล กรมขุนเจริญผลพูลสวัสดิ พระองค์เจ้าประดิษฐวรการ พร้อมกันทําต้นไม้ทํานองต้นไม้หลังธรรมาสน์มหาชาติในท้องพระโรงแต่ก่อน มีรูปภาพเรื่องต่างๆ ประดับที่กระถางตั้งหน้ามุขพระอุโบสถสามต้น เลียนอย่างต้นไม้คริสต์มาสของฝรั่งด้วยกลายๆ ก็เป็นที่ครึกครื้นมีผู้คนมาดูบ้าง แต่ไม่แน่นหนามากเหมือนอย่างเมื่อครั้งตั้งโต๊ะหรือแรกมีโคมตรา ครั้นเมื่อภายหลังจืดๆ เข้าก็เลิกไป การพระราชกุศลอันใดในการวิศาขบูชาซึ่งเคยมีมาแต่ก่อนก็คงยืนที่อยู่จนถึงในรัชกาลปัจจุบันนี้ มีเพิ่มเติมขึ้นแต่ที่พระพุทธรัตนสถานเมื่อเชิญพระพุทธบุษยรัตน์ไปประดิษฐานในที่นั้นแล้ว จึงโปรดให้มีการบูชาขึ้นอีกแห่งหนึ่ง โปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการฝ่ายในที่เป็นอุบาสิกาเดินเทียนและสวดมนต์ คล้ายกันกับที่ทําที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และมีดอกไม้เพลิงสำรับเล็กบูชาด้วย เป็นการเพิ่มเติมขึ้นในรัชกาลปัจจุบันนี้

การซึ่งจะว่าต่อไปนี้ จะรวบรวมการพระราชกุศลในวิศาขบูชาบรรดาซึ่งมีอยู่บัดนี้มาว่าในที่แห่งเดียวกันเป็นการปัจจุบันต่อไป

คือในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ พระสงฆ์ฉันในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยวันละ ๒๐ รูป ไม่มีสวดมนต์ แต่วันแรมค่ำหนึ่งนั้นเป็นวันสดับปกรณ์กาลานุกาล จึงได้มีพระสงฆ์เพิ่มขึ้นเท่าจํานวนพระบรมอัฐิ พระอัฐิตามที่เคยสดับปกรณ์ และต้องสวดมนต์ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำด้วย การที่สวดมนต์นี้เป็นสวดมนต์แทนพระสงฆ์ฉันเวร ที่ต้องผลัดเปลี่ยนกันสวดประจําทุกวันพระตามธรรมเนียม จึงได้ขึ้นไปสวดบนพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ การสวดมนต์บนพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์ไม่ได้จัดเป็นที่สำหรับทรงฟังพระสงฆ์สวดมนต์จนจบ ธรรมเนียมที่เสด็จทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จอยู่แต่ก่อนทุกวันพระนั้นดังนี้ คือตั้งที่รองพระฉันเวรอย่างเก่า มีพระห้ามสมุทรฉันเวรองค์หนึ่งตั้งข้างใต้ หันพระพักตร์พระพุทธรูปไปเหนือ พระสงฆ์ที่สวดมนต์นั่งข้างเหนือหันหน้ามาใต้ตรงพระพุทธรูป ปูอาสนพระสงฆ์นั่งเต็มทั้งพระที่นั่งไม่ได้จัดเป็นแถว ที่หน้าพระพุทธรูปมีเครื่องนมัสการตระบะถมฉันเวร ราชอาสน์ทอดในระหว่างพระสงฆ์กับพระพุทธรูป เป็นที่ทรงกราบ ที่ประทับทอดค่อนมาข้างตะวันออก ไม่ได้ตั้งเครื่องไม่ได้ทอดพระแสง เมื่อเสด็จขึ้นไปทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการแล้ว ไม่ได้ทรงศีล ทรงถวายหมากพลูใบชาธูปเทียนแล้ว รับสั่งถวายวัตถุปัจจัยมูลองค์ละสลึงหรือเฟื้อง ซึ่งชาวคลังมาคอยถวายอยู่ที่อัฒจันทร์ ทรงรับเงินนั้นพระราชทานให้สังฆการี สังฆการีว่าวิปัตติปฏิพาหายะก็เสด็จขึ้น ที่เป็นธรรมเนียมวันพระตามธรรมเมียม พระสงฆ์สวดมนต์จบแล้ว มีบอกวัตรเหมือนอย่างสวดมนต์ที่วัด แต่การสวดมนต์วิศาขนี้เสด็จขึ้นไปจุดเทียนอย่างเดียวกัน แต่ไม่มีของถวายพระ พระสงฆ์ไม่ได้สวดมนต์เข้าลำดับสวดมนต์เวร สวดเจ็ดตํานานเป็นการจร เมื่อจบไม่มีบอกวัตร การที่เกิดสวดมนต์บนพระที่นั่งดุสิดาภิรมย์นี้ พึ่งเปลี่ยนไปในรัชกาลที่ ๔ สวดมนต์เวรแต่ก่อนก็สวดในท้องพระโรง และการวิศาขบูชานี้ แต่ก่อนเมื่อไม่ได้เสด็จออกวัด ก็เห็นจะสวดมนต์ในท้องพระโรงทั้งสามวัน ครั้นเมื่อเลิกสวดมนต์เลี้ยงพระส่วนวิศาขะในรัชกาลที่ ๔ ขาดตอนมาคราวหนึ่ง มากลับมีขึ้นในรัชกาลปัจจุบันนี้ เมื่อมีการพระราชกุศลที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามเวลาค่ำอยู่แล้ว จึงได้เลิกสวดมนต์เสีย เพราะจะซับซ้อนกันหลายอย่าง ยังคงแต่สวดมนต์วันสิบห้าค่ำไว้ เพราะเป็นการแทนสวดมนต์เวรซึ่งเคยสวดอยู่ทุกวันพระ คงเป็นเลิกอยู่แต่วันขึ้นสิบสี่ค่ำกับวันแรมค่ำหนึ่ง การสวดมนต์เลี้ยงพระวิศาขะนี้เกือบจะเหมือนกับตามธรรมเนียมไม่เป็นงานการอันใด จํานวนพระสงฆ์ก็เท่ากับฉันเวรวันพระ แปลกแต่เป็นพระราชาคณะทั้ง ๒๐ รูป การสดับปกรณ์กาลานุกาลก็เหมือนกับกาลานุกาลอื่นๆ แปลกแต่พระสงฆ์รายร้อยสี่ร้อยรูปเป็นสดับปกรณ์ข้าวกระทง เรียกว่าสลากภัต ส่วนเครื่องที่พระราชทานตามพระอาราม คือเทียนประจํากัณฑ์และธงจระเข้ ในวันแรกมีเจ้าพนักงานนำเข้ามาทูลถวาย จบพระหัตถ์หน้าพระสงฆ์ตามแบบแล้วจึงได้จ่ายไปตามวัด คือโคมวัดละสี่ใบ ธงจระเข้วัดละคัน

จํานวนวัดที่ได้จ่ายของเครื่องบูชา คือวัดราษฎร์บุรณะ วัดพระเชตุพน วัดสระเกศ วัดมหาธาตุ วัดจักรวรรดิราชาวาส วัดสังเวชวิศยาราม วัดชนะสงคราม วัดสามพระยา วัดราชคฤห์ วัดคูหาสวรรค์ วัดปากน้ำ วัดหนัง วัดนางนอง วัดราชกุฏิยาราม วัดยานนาวาราม วัดราชาธิวาส วัดระฆังโฆสิตาราม วัดอมรินทราราม วัดดาวดึงส์ วัดจุฬามณี วัดพระยาทํา วัดนาคกลาง วัดราชสิทธาราม วัดเศวตฉัตร วัดโมฬีโลก วัดหงสาราม วัดอรุณราชวราราม วัดสังข์กระจาย วัดภคินีนาฏ วัดบวรมงคล วัดคหบดี วัดรังษีสุทธาวาส วัดบวรนิเวศ วัดเครือวัลย์ วัดปทุมคงคา วัดเกาะแก้ว (คือวัดสัมพันธวงศ์) วัดบวรสถานสุทธาวาส วัดบพิตรภิมุข วัดโสมนัสวิหาร วัดทองนพคุณ วัดราชโอรส วัดประยูรวงศ์อาวาส วัดอัปสรสวรรค์ วัดนวลนรดิศ วัดโชตนาราม วัดรัชฎาธิษฐาน วัดกาญจนสิงหาสน์ วัดบุปผาราม วัดเขมาภิรตาราม วัดชัยพฤกษมาลา วัดมหรรณพาราม วัดบรมนิวาส วัดเทพธิดา วัดราชนัดดา วัดดุสิดาราม วัดสุทัศนเทพวราราม วัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดอินทาราม วัดจันทาราม วัดทองธรรมชาติ วัดกัลยาณมิตร วัดอนงคาราม วัดเฉลิมพระเกียรติ วัดสุวรรณาราม วัดปทุมวนาราม วัดชิโนรสาราม แต่วัดที่ออกชื่อมาแล้ว ๖๖ นี้เป็นวัดเก่าบ้างใหม่บ้าง จะเข้าใจว่ามากวัดเท่านี้มาแต่รัชกาลที่ ๒ ไม่ได้อยู่เอง คงจะมีเพิ่มเติมขึ้นตามที่ทรงสร้างขึ้นใหม่อย่างเทียนพรรษา แต่วัดจุฬามณีวัดหนึ่งซึ่งมีชื่อมาข้างบนไม่รู้จักว่าวัดใด ได้สืบถามทั้งพระทั้งคฤหัสถ์หลายแห่งก็ไม่ได้ความ ไล่ไปมาก็ไปเวียนวนลงวัดจุฬามณีที่กรุงเก่าเสียบ้าง ได้เค้าแล้วไปเกลื่อนหายไปเสียบ้าง ภายหลังเมื่อทําหนังสือนี้แล้ว กรมหมื่นประจักษ์ให้ปลัดวังขวาไปสืบตามเค้าที่สังเกตดูในบัญชีว่า เหมือนหนึ่งจะเป็นฝั่งตะวันตก ไปได้ความมาจากนายเกดตำรวจวังหน้าอายุ ๗๘ ปี อำแดงปาน ภรรยาอายุ ๗๗ ปี ซึ่งอยู่ในคลองบางมดแจ้งความว่า คือวัดที่ราษฎรเรียกชื่ออยู่ว่าวัดยายร่มในคลองบางมดนั้นเอง เป็นวัดจุฬามณี ว่าเดิมยายร่มเป็นผู้สร้าง มีโบสถ์ฝากระดานหลังหนึ่ง การเปรียญหลังหนึ่ง กุฎีหลังหนึ่ง มีพระสงฆ์อยู่รูปเดียวมาประมาณ ๒๐ ปีเศษ พระศิริสมบัติปู่ท้าววรจันทร์เดี๋ยวนี้ไปปฏิสังขรณ์สร้างพระอุโบสถขึ้น เป็นฝาตึกสามห้อง มีกุฎีฝากระดานหลังหนึ่ง ฝาจากสี่หลัง ศาลาการเปรียญฝากระดานหลังหนึ่ง หอระฆังหลังหนึ่ง แล้วถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าแต่ยังทรงผนวช ได้เสด็จไปผูกพัทธสีมา จึงพระราชทานชื่อว่าวัดจุฬามณี แล้วได้เสด็จไปอยู่กรรมในที่นั้น ๗ วัน เวลาที่อยู่กรรมเสด็จไปประทับอยู่ที่ห้างสวนหลังวัด ถ้าเสด็จกลับเข้ามาในวัดก็ประทับที่การเปรียญ การที่อ้างว่า พระศิริสมบัติถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าแต่ยังทรงผนวช และเสด็จไปอยู่กรรมในที่วัดนั้น เห็นจะเป็นการแน่นอนได้ แต่ที่ว่าพระราชทานชื่อนั้นดูน่าสงสัยอยู่บ้าง ด้วยดูอย่างเก่านัก ถ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าพระราชทานชื่อ มักจะประกอบด้วยเหตุผลอย่างหนึ่งอย่างใด หรือจะเป็นชื่อเขาตั้งกันเอง เป็นแต่ได้เสด็จไปผูกโบสถ์และไปอยู่กรรมดอกกระมัง อีกประการหนึ่ง บรรดาวัดที่ได้ของสักการะในวันวิศาขบูชานี้ ล้วนแต่เป็นวัดหลวงทั้งสิ้น มามีวัดราษฎรอยู่แต่วัดจุฬามณีวัดเดียว ถ้าจะว่าเกิดขึ้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เพราะเป็นวัดที่ถวายและเสด็จไปประทับอยู่กรรม เหตุใดจึงไม่ทรงยกขึ้นเป็นวัดหลวง และวัดเช่นได้เสด็จไปอยู่กรรมเช่นวัดชัยสิมพลี จนได้เสด็จไปพระราชทานพระกฐินก็ครั้งหนึ่ง เป็นกฐินข้างในอยู่ก็หลายปี ทั้งอยู่ในจำนวนที่ทรงกะจะพระราชทานพระนิรันตรายด้วย เหตุใดจึงไม่พระราชทานเครื่องสักการะเหมือนกันเล่า การที่ถวายวัดเป็นหลวงมีมากชุกชุมมาก็แต่ในรัชกาลก่อนๆ ในรัชกาลที่ ๓ เป็นอย่างมาก ในรัชกาลที่ ๔ ทรงรับเป็นวัดหลวงน้อยและทรงตัดเสียก็มี หรือวัดจุฬามณีนี้จะได้ถวายไว้แต่ในรัชกาลก่อนๆ เป็นวัดหลวง ทรงตัดเสียในรัชกาลที่ ๔ ก็ไม่ทราบ แต่ร่างหมายจะเอาเป็นประมาณแน่นักไม่ได้ การอะไรที่เลิกแล้วไม่ใคร่ลบถอน มีการใหม่มาก็เติมลงไป การเก่าที่ไม่ได้ลบถอนเสียก็โคมๆ อยู่อย่างนั้น ไม่ต้องมีใครทําตาม วัดจุฬามณีนี้คงจะไม่ได้เครื่องสักการะนี้มาช้านานแล้ว ถึงวัดอื่นก็น่าสงสัยอยู่ ข้าพเจ้าไม่ได้เคยเป็นธุระเรื่องนี้เลย เพราะฉะนั้นวัดซึ่งสร้างใหม่ๆ ในรัชกาลปัจจุบันนี้ จึงไม่มีชื่อในหมายรับสั่งนี้ด้วย แต่ส่วนที่มีเทศนาตามวัดนั้นไม่ใช่เป็นแต่วัดหลวงแล้วมีทั่วไป เป็นพระราชประสงค์ที่จะให้มีธรรมทานให้สะดวกแก่คนทั้งปวงที่จะไปฟัง จึงได้แบ่งออกเป็นฟากละ ๑๐ พระอาราม เป็นเทศนาวันละยี่สิบกัณฑ์ มีเทียนดูหนังสือเล่มหนึ่ง เทียนธูปบูชากัณฑ์อย่างละสิบเล่ม ผ้าผืนหนึ่ง กระจาดเครื่องบริโภคกระจาดหนึ่ง วัดที่มีเทศนาฝั่งตะวันออกสิบวัด คือ วัดราษฎร์บุรณ วัดสระเกศ วัดสุทัศนเทพวราราม วัดพระเชตุพน วัดมหาธาตุ วัดปทุมคงคา วัดราชาธิวาส วัดบวรนิเวศ วัดชนะสงคราม วัดจักรวรรดิราชาวาส ฝั่งตะวันตกสิบวัด คือ วัดอรุณราชวราราม วัดโมฬีโลก วัดหงสาราม วัดประยูรวงศ์อาวาส วัดระฆังโฆสิตาราม วัดสุวรรณาราม วัดราชสิทธาราม วัดราชโอรส วัดหนัง ของเครื่องกัณฑ์นั้นเกณฑ์ให้เจ้ากรมปลัดกรมจางวางเจ้านายมารับไปถวายทุกวัดทั้งสามวัน รวมเป็นเทศนา ๖๐ กัณฑ์

กาลเวลาค่ำซึ่งเป็นของเกิดขึ้นใหม่นั้น เมื่อในรัชกาลที่ ๔ พระพุทธบุษยรัตน์ ยังอยู่ที่หอพระเจ้าในหมู่พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน มีเทียนรุ่งของหลวงคืนละสองเล่ม แต่ได้จุดต่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ แรมค่ำหนึ่ง มีพานแก้วเจียระไนจัดของคาวหวานผลไม้ต่างๆ ทํานองเป็นอย่างถวายข้าวพระ ตั้งแต่เวลาเช้าแล้วเลยอยู่จนค่ำหลายพาน ราวสักเก้าพานสิบพานได้ ตั้งม้ามีขวดน้ำเพ็ญวันพุธ ซึ่งทรงตักขึ้นไว้แต่ในเดือนสิบสอง มีไข่นกออสตริชซึ่งเรียกว่าโอทเรศบ้างตั้งหลายใบ วงสายสิญจน์ เสด็จขึ้นทรงนมัสการถวายข้าวพระแต่เวลาเช้าก่อนทรงบาตรเวลาหนึ่ง เวลาค่ำตั้งแต่พลบไปจนยามหนึ่ง สี่ทุ่มบ้างอีกเวลาหนึ่ง ซึ่งประทับอยู่ในหอพระนานนั้น ทรงสวดมนต์และเสกน้ำมนต์ลงยันต์ต่างๆ หลายสิบอย่างทุกๆ วัน แล้วจึงได้จุดดอกไม้ ดอกไม้นั้นมีแต่พุ่มดอกไม้เทียนสิบพุ่ม เหมือนอย่างลอยพระประทีป เมื่อภายหลังลงมาว่าเสด็จไปนมัสการที่พระพุทธสิหิงค์บนพระพุทธมนเทียร ไม่ได้เสด็จมาที่หอพระ และบางทีแต่ก่อนย้ายไปนมัสการที่หอพระบนหลังคาตัดพระที่นั่งภาณุมาศจํารูญก็มี ถ้าเช่นนั้นข้าพเจ้าเคยถูกเกณฑ์ขึ้นไปจัดเครื่องนมัสการบนนั้น และยกของที่ตั้งข้าวพระลงมาเปลี่ยน เพราะห้ามไม่ให้ผู้หญิงขึ้นไป เวลาค่ำที่เสด็จขึ้นไปนมัสการบนนั้นก็ต้องขึ้นไปรับใช้ แต่จะจําให้ชัดเจนว่าทําอะไรบ้างก็ไม่ถนัด เพราะเวลานั้นปอดเสียเป็นกําลัง ด้วยเรื่องกลัวผีเป็นอย่างยิ่ง ถ้าขึ้นบันไดทีหนึ่ง ลงบันไดทีหนึ่งหน้าแข้งแตกทุกครั้ง จนเป็นจําได้ดี ว่าถึงเวลาวิศาขะแเล้วหน้าแข้งคงเป็นแผล ด้วยทางที่ขึ้นลงนั้นเป็นซอกแซก เมื่อก้าวขึ้นไปเสียงฝีเท้าตัวเองดังตึงๆ ก็นึกว่าผีวิ่งตาม ถ้าพอลุกออกไปถึงบันไดไม้ ที่พาดบนหลังคาพระที่นั่งนงคราญเป็นกลางแจ้ง แลดูเข้ามาข้างในมืด ยิ่งกลัวก็รีบก้าวหนักขึ้นไป บันไดนั้นคมเพราะเป็นไม้บางจึงได้กัดหน้าแข้ง แต่ขึ้นไปทําอยู่บนนั้นจะสักกี่ปีก็จําไม่ได้ ดูหลายปีอยู่ จะเลิกเสียเพราะเหตุใด หรือเพราะเกิดไฟไหม้ขึ้นในการเฉลิมพระชนมพรรษาก็จําไม่ได้อีก เพราะอายุข้าพเจ้าในระหว่างนั้นอยู่ในเก้าขวบสิบขวบ การพิธีอย่างนี้ไม่ได้สนใจจะจํา ถามใครก็เห็นจะไม่ใคร่ได้ความ เพราะไม่มีใครได้ขึ้นไป ต้องขอตกลงเป็นว่ารวมๆ ไว้เพียงเท่านี้ทีหนึ่ง แต่สังเกตได้ว่าไม่มีเทียนรุ่งบนนั้น เทียนรุ่งคงมีแต่ที่พระพุทธบุษยรัตน์ ภายหลังมาเกิดขึ้นที่พระพุทธสิหิงค์อีกคู่หนึ่ง ครั้นเมื่อในแผ่นดินปัจจุบันนี้ย้ายพระพุทธบุษยรัตน์ไปที่พุทธรัตนสถานแล้ว วันสิบสี่ค่ำไม่ได้จุดเทียนรุ่งและไม่ได้เดินเทียน ต่อวันสิบห้าค่ำแรมค่ำหนึ่ง จึงได้จุดเทียนรุ่งและเดินเทียน เสด็จลงทรงจุดเทียนรุ่งที่พระพุทธสิหิงค์ เทียนเจ้าเซ็นที่พระเจดีย์ แล้วจึงจุดเทียนรุ่ง และเครื่องนมัสการที่พระพุทธรัตนสถาน ทรงนมัสการแล้วจ่ายเทียนพวกอุบาสิกาสวดนมัสการ แล้วออกเดินเทียน พระเจ้าลูกเธอที่ยังทรงพระเยาว์ กับอุบาสิกาและละครเด็กๆ โขลน ข้าเจ้านาย ออกเดินเทียนไปรอบอ่างแก้วข้างใต้ เลี้ยวขึ้นชาลาหลังพระพุทธรัตนสถานไปลงอ่างแก้วข้างเหนือ เลี้ยวมาบรรจบรอบหน้าพระพุทธรัตนสถาน[๑] ในขณะนั้นเจ้านายฝ่ายในทรงจุดเทียนรายตามพนักทั้งสองชั้น และจุดเทียนซึ่งปักฉัตรเช่นเรือพระที่นั่งลอยพระประทีป ที่ตั้งรายอยู่ตามชาลาชั้นล่าง ประโคมมโหระทึกพิณพาทย์ทั้งข้างหน้าข้างใน การที่ตกแต่งนั้นมีโคมตราเจ้านายฝ่ายในแขวนรายรอบเฉลียงพระพุทธรัตนสถาน และตั้งโต๊ะหมู่ที่มุขเด็จเป็นส่วนของเจ้าต๋ง[๒]โต๊ะหนึ่ง ตั้งที่มุมกําแพงแก้วข้างละโต๊ะ ตั้งที่ศาลาใกล้ประตูอมเรศสัญจรสองโต๊ะ เป็นส่วนของเจ้านายฝ่ายใน ตามกําแพงและพนักทั้งปวงนั้นรายโคมสว่างทั่วไป พระเจ้าลูกเธอและเจ้าจอมข้างในมีเทียนรุ่งมาจุดคืนละหลายๆ สิบเล่ม เมื่อเดินเทียนแล้วอุบาสิกาทําวัตรสวดมนต์ พระราชทานเงินแจกคนละสลึงทุกวัน แล้วจึงเสด็จไปทรงจุดดอกไม้ที่หน้าหอเทวราชรูป มีเครื่องดอกไม้เพลิงเล็กๆ คือ พุ่มสิบพุ่ม กระถางสิบกระถาง ระทาสิบระทา เพนียงไข่ห้าสิบ เวลาทรงจุดดอกไม้มีประโคมพิณพาทย์ แล้วเสด็จออกทางประตูแถลงราชกิจ

ทรงจุดดอกไม้ที่หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พุ่มสิบพุ่ม มีซุ้มระย้าโคม ๔ ซุ้ม ซุ้มดอกไม้รุ่ง ๔ ซุ้ม ปักบูชาที่หน้าวัด ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามรายโคมตามพนักกําแพงแก้ว พระพุทธปรางคปราสาท พระมณฑป พระศรีรัตนเจดีย์ และรอบพระอุโบสถ โคมตราข้าราชการแขวนบ้างตั้งบ้าง ตามชาลาและศาลารายพระระเบียงทั่วไป เสด็จขึ้นในพระอุโบสถทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการและเทียนรุ่งแล้วทรงนมัสการต่อไป แต่เทียนรุ่งเจ้านายและข้าราชการนั้น พระราชทานเพลิงไฟฟ้าออกมาให้จุดแต่หัวค่ำก่อนเสด็จพระราชดําเนินออก เทียนรุ่งเจ้านายข้าราชการตั้งที่ริมธรรมาสน์บ้าง ที่ข้างฐานพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัยทั้งสองข้างเป็นอันมาก ภายหลังนี้มีเชิงเทียนเถาเจ็ดเชิง ตั้งที่ตรงพระพุทธยอดฟ้าเถาหนึ่ง พระพุทธเลิศหล้าเถาหนึ่ง เมื่อทรงนมัสการแล้ว ทรงสุหร่ายบูชา ประพรมเทียน และโปรยปรายดอกไม้ที่หลังธรรมาสน์และบนธรรมาสน์ สนมจึงรับเทียนนั้นไปแจกข้าราชการผู้จะเดินเทียน และติดรายตามราวรอบพระอุโบสถ ทรงจุดเทียนชนวนลงไป พระราชทานให้ข้าราชการจุดต่อจากพระหัตถ์ อาลักษณ์และราชบัณฑิตเป็นเจ้าของหน้าที่นุ่งขาวห่มขาว นอกนั้นข้าราชการที่เป็นขุนนางกรมต่างๆ บ้าง ตำรวจบ้าง เป็นผู้เดินเทียน เมื่อจุดเทียนแล้วนั่งลงกราบพระว่าคำนมัสการ แล้วจึงลุกขึ้นยืน ผู้ที่ชักนำว่าคํานมัสการว่ารับพร้อมๆ กัน แล้วจึงเดินประทักษิณรอบพระอุโบสถภายในกําแพงแก้ว เจ้านายซึ่งยังทรงพระเยาว์เสด็จก่อน แล้วจึงถึงพวกที่นุ่งขาว ข้าราชการอื่นๆ เดินไปต่อภายหลัง กระบวนข้างในท้าวนางเป็นหัวหน้า แล้วจึงถึงโขลนและข้าเจ้าบ่าวข้าราชการ คอยบรรจบเข้ารอบที่หลังพระอุโบสถ ในขณะเมื่อเดินเทียนนั้น ทรงจุดเทียนรายตามราวเทียนรอบพระอุโบสถ และพระราชทานเทียนชนวนให้พระบรมวงศานุวงศ์ ทรงจุดเทียนรายตามพนักกําแพงแก้วและราวเทียน เมื่อครบสามรอบแล้ว จึงได้เสด็จพระราชดําเนินขึ้นบนพระอุโบสถ ทรงจุดเทียนต่อไป ที่เขาต่อไม้และที่ราวเทียนรอบฐานชุกชี แล้วทรงธรรมเทศนาในการวิศาขบูชานี้ ทั้งภาษามคธและภาษาไทย วันแรกตั้งแต่ประสูติจนถึงพรรณนาด้วยมหาปุริสลักขณ วันที่สองตั้งแต่เสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ จนตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ วันที่สามตั้งแต่เทศนาธรรมจักร จนถึงปรินิพพาน เครื่องกัณฑ์มีจีวรเนื้อดีผืนหนึ่ง หมากพลูธูปเทียน เงินสามตำลึง และขนมต่างๆ จัดลงโต๊ะเงินย่อมๆ อย่างละโต๊ะ เมื่อเทศนาจบแล้วก็เป็นเสร็จการในส่วนวันนั้น เทียนที่ใช้ในการวิศาขะ เทียนรายเล่มละหกสลึง ที่พุทธรัตนสถาน ๖๐๐ เล่ม ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ๓,๐๐๐ เล่ม พระราชทานวัดบวรนิเวศ วัดราชประดิษฐ์ วัดราชบพิธ เทียนรุ่งวัดละสองคู่ เทียนรายวัดละห้าร้อยเล่ม[๓]

ครั้นเมื่อวันแรมแปดค่ำ ซึ่งนับว่าเป็นวันถวายพระเพลิงก็มีการบูชาและเดินเทียนอีกวันหนึ่งเหมือนกัน ยกเสียแต่โคมตราข้าราชการไม่ได้มีมาตั้งมาแขวน ถวายเทศนาเริ่มต้นตั้งแต่การบูชาพระพุทธสรีระ จนถึงเจดีย์สิบ แต่เทียนรุ่งและเทียนรายที่พระราชทานไปวัดนั้น เปลี่ยนไปเป็นวัดบรมนิวาส ใช้เทียนรายหนักเล่มละบาท

อนึ่ง ตั้งแต่ทรงสร้างวัดนิเวศน์ธรรมประวัติขึ้นที่เกาะบางปะอินก็พระราชทานเทียนรุ่ง ๓ คู่ เทียนรายเล่มละหกสลึง ๑,๓๐๐ เล่ม เล่มละบาท ๑,๐๐๐ เล่ม ถ้าประทับอยู่ที่บางปะอิน ก็เสด็จพระราชดําเนินทรงทําวิศาขบูชาที่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ เหมือนเช่นวัดพระศรีรัตนศาสดารามมิได้ขาด พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่ตามเสด็จพระราชดําเนิน และอุบาสกอุบาสิกาในวัดนั้นเดินเทียน แล้วทรงธรรมเป็นการวิเศษขึ้นอีกกัณฑ์หนึ่ง ด้วยที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามนั้นก็คงอยู่ตามเดิมมิได้ลดหย่อนการวิศาขบูชา วันแรมแปดค่ำในชั้นหลังมักจะเสด็จพระราชดําเนินวัดนิเวศน์ธรรมประวัติมากกว่าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

คําตักเตือนในการวิศาขบูชานี้ เรื่องโคมตราที่ต้องเกณฑ์นั้นมักจะมีผู้ที่เกียจคร้านไม่อยากจะทําบิดเบือนเสียก็มี ที่ขึ้นชื่อว่าต้องเกณฑ์อะไรแล้ว แก้ไขหลีกเลี่ยงได้ด้วยโวหารไม่ให้ต้องเป็นผิด ถือว่าเป็นการฉลาดดีกว่าคนทั้งปวงที่เซอะซะยอมให้เขาเกณฑ์ก็มี ที่เฉยๆ เสียไม่ได้คิดจะบิดพริ้วอย่างไร แต่เฉยๆ อยู่ไม่ได้เป็นธุระ เพราะหลงลืมก็มี การที่ต้องลงทุนทําโคมนั้นก็ไม่มากมายอันใดนัก ทําครั้งเดียวก็ใช้ไปได้ตลอดอายุ เป็นแต่ต้องซ่อมแซมเยียวยาบ้าง ตะเกียงที่มาจุดนั้นก็เพียงดวงเดียว ไม่สิ้นไร้ไม้ตอกอันใดนักเลย ไม่ควรที่จะบิดเบือนเชือนแชเสีย ถึงโดยจะบิดได้ก็ดูไม่ฉลาด และไม่เป็นเกียรติยศอันใดนัก มหาดเล็กต้องเตรียมพานเทียน และคอยรับเทียนทรงธรรมตามเคย ดูก็คล่องแคล่วอยู่แล้ว ไม่สู้ต้องโวยวายนัก เดี๋ยวนี้จะมากาหลอยู่เรื่องเดียวก็แต่โคมไฟฟ้า ซึ่งเป็นคู่กันกับพระเต้าษิโณทก มหาดเล็กก็ไม่พอใจเรียก ที่แท้ข้างในก็ไม่พอใจส่งด้วย ขึ้นชื่อว่าวิศาขะในสามวันแล้วคงจะต้องเกิดเรียกไฟไม่ได้วันหนึ่ง ทุกปีไม่ใคร่ขาด ยังแป้งเจิมภูษามาลาอีกอย่างหนึ่งก็มีกาหลบ้าง แต่ห่างๆ การนอกนั้นก็ดูไม่ใคร่จะมีอะไรขาดเหลือนัก เพราะการเสมอๆ และไม่สู้ออกหน้าออกตามาก ๚

[๑] สถานที่ที่ทรงพรรณนาตรงนี้รื้อหมดแล้ว ยังคงแต่พระพุทธรัตนสถาน

[๒] คือหม่อมเจ้าประวิชในกรมขุนราชสีหวิกรม เรียกกันเป็นสามัญว่า หม่อมเจ้าต๋ง

[๓] พิธีวิสาขบูาที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ต่อมาแก้ไขเมื่อในรัชกาลที่ ๕ นั้น ทําแต่วัน ๔ ค่ำ เสด็จออกทรงเดินเทียนพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการทั้งปวงทั้งหมด แล้วจึงทรงสดับพระธรรมเทศนา พิธีวันแรม ๘ ค่ำ นั้นก็เลิก

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ