พระราชพิธีเดือน ๙

๏ ได้กล่าวมาแต่เมื่อเดือน ๗ ว่าเป็นพิธีไขว้กันอยู่ในกฎมนเทียรบาล และจดหมายขุนหลวงหาวัด ได้ตัดสินไว้แต่ก่อนว่าจะยกพิธีตุลาภารมาว่าในเดือน ๙ ตามกฎมนเทียรบาล เพราะฉะนั้น บัดนี้จึงจะได้กล่าวถึงพิธีตุลาภาร

การพระราชพิธีนี้เป็นสะเดาะพระเคราะห์หรือบำเพ็ญทานอย่างหนึ่ง แต่ในจดหมายนางนพมาศไม่ได้พูดถึง ทั้งเดือน ๗ เดือน ๙ ชะรอยจะไม่มีพิธีตุลาภารในครั้งกรุงสุโขทัย เพราะเป็นต่างอาจารย์กัน ในจดหมายขุนหลวงหาวัดก็มีความย่อ เพียงว่า “เดือน ๗ นั้นชื่อพิธีตุลาภาร คือเอาเงินนั้นชั่งให้เท่าพระองค์ แล้วจึงสะเดาะพระเคราะห์แล้วให้แก่พราหมณ์” มีข้อความเพียงเท่านี้ จะสันนิษฐานว่าพระราชพิธีนี้เป็นการเคยทำอยู่เป็นนิตย์ จนไม่เห็นเป็นการแปลกประหลาดจึงไม่กล่าวพิสดาร หรือจะเข้าใจว่าเป็นพิธีไม่ได้ทำ กล่าวเพียงแต่ให้ครบเดือนตามตำราที่มีอยู่ก็พอใช้ได้ แต่เมื่อดูตามทางที่ว่า ดูเหมือนเป็นอย่างกลางๆ นอกจากสองอย่างนี้ คือจะเป็นแต่ทำการสะเดาะพระเคราะห์ แล้วพระราชทานเงินแก่พราหมณ์ ไม่ได้แห่ออกไป “ถีบดุล” ตามอย่างที่ว่ามาในกฎมนเทียรบาล และพระมเหสีไม่ได้เกี่ยวข้องในการพระราชพิธีนี้ด้วย ถ้าเทียบอย่างกลางเช่นนี้ก็น่าจะเป็นจริงได้ ด้วยในเวลาซึ่งขุนหลวงหาวัดได้เห็นนั้น เป็นกรุงเก่าชั้นหลัง จะลดทอนการแห่แหนใหญ่โตลงมาเสียแล้ว แต่ที่มาในกฎมนเทียรบาลนั้นเป็นการใหญ่ พระราชพิธีตั้งที่พระที่นั่งมังคลาภิเษก มีตราชูใหญ่ตั้งอยู่กลางพระโรงกั้นม่านวงรอบ เสด็จโดยกระบวนใหญ่ ทรงพระราเชนทรยาน พระครูพราหมณ์ลูกขุนและจตุสดมภ์เป็นคู่เคียง พระอัครมเหสีก็ทรงเทวียาน เมียพระโหราพระราชครูและเมียจตุสดมภ์นำและเป็นคู่เคียง เดินกระบวนทักษิณพระมหาปราสาทเก้ารอบ แล้วจึงเสด็จขึ้นพระมหาปราสาทประทับในม่านกั้น มีเจ้าพนักงานประจำหน้าที่คือชาววังนั่งนอกม่าน พระครูทั้งสี่และสมุหประธาน คือจตุสดมภ์ทั้งสี่นั่งในม่าน พระศรีอัครราชคือพระคลังถือพระขรรค์ พลเทพถือพิณ วังถือดอกหมาก พระยมราชถือแพนชัย ขุนศรีสังขกรเป่าสังข์ พระอินทโรตีอินทเภรี พระนนทเกศตีฆ้องชัย ขุนดนตรีตีมโหระทึก เสด็จขึ้นถีบดุล คือประทับในตาชั่งข้างขวา ข้างซ้าย ‘ใส่สรรพทรัพย์’ พระเจ้าแผ่นดินทรง ‘ถีบ’ (คือชั่ง) แล้วพระอัครมเหสีเจ้า ‘ถีบ’ พระราชทานทรัพย์นั้นแก่พราหมณ์ แห่กลับแล้วมีการสมโภชการเลี้ยง ในนั้นว่า ‘ซ้ายเงินขวาทอง’ แต่จะเป็นสิ่งใดก็ไม่ทราบ เห็นจะเป็นบายศรี เป็นเสร็จการพระราชพิธีมีเนื้อความที่เก็บได้เพียงเท่านี้

พิเคราะห์ดูการที่จัดวางตำแหน่งในการพระราชพิธีนี้ชอบกลอยู่ ดูเหมือนหนึ่งจะมีเรื่องอะไรเป็นตัวอย่าง เช่นกับพิธีตรียัมพวาย ว่าพระเป็นเจ้าลงมาเยี่ยมโลก มีเทวดาหรือท้าวโลกบาลมาถีบชิงช้ารำเสนงถวาย สมุหประธานซึ่งถือเครื่องต่างๆ คงจะมีที่หมายเป็นตัวแทนเทวดาองค์ใดองค์หนึ่งทั้งสี่ การที่ไม่มีสมุหนายก สมุหพระกลาโหมในที่นี้ ควรจะเข้าใจได้ว่าตำแหน่งทั้งสองนั้นยังไม่ได้ตั้งขึ้น จนถึงแผ่นดินพระบรมไตรโลกนาถ ซึ่งย้ายวังลงมาตั้งริมน้ำ กฎมนเทียรบาลนี้เป็นแบบครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสุนทรที่ ๑ ก่อนเวลาที่ตั้งตำแหน่งทั้งสอง จึงได้ยกจตุสดมภ์ทั้งสี่เป็นสมุหประธาน ตามแบบเสนาทั้งสี่ แต่จะสืบหาต้นเหตุเรื่องเทียบของพระราชพิธีนี้ จากพราหมณ์ในทุกวันนี้ก็ไม่ได้ความ แต่ถ้ามีผู้ที่อุตสาหะสืบเสาะค้นในเรื่องศาสนาพราหมณ์ต่างๆ ที่เขาแปลเป็นภาษาอังกฤษออกใหม่ๆ คงจะหาเหตุผลประกอบให้รู้ต้นเหตุของพระราชพิธีนี้ได้

อนึ่ง การที่มีแห่พระอัครมเหสี ถ้าชั้นคนเราทุกวันนี้ฟัง และจะให้คิดกระบวนแห่ก็ดูจะเป็นการยาก เพราะผู้หญิงของเราเลิกเครื่องแต่งตัวที่เป็นเครื่องยศเสียช้านานแล้ว แต่เครื่องแต่งตัวผู้หญิงมีปรากฏอยู่ในกฎมนเทียรบาล ลดกันเป็นชั้น คือว่าพระอัครมเหสี พระราชเทวี ทรงราโชปโภค มีมงกุฎ เกือกทอง อภิรมสามชั้น พระราชยานมีจำลอง พระราชเทวี พระอัครชายาทรงราโชปโภค ลดมงกุฎ ทรงพระมาลามวยหางหงส์ เกือกกำมะหยี่สักหลาด มีอภิรมสองชั้น เทวียานมีมกรชู ลูกเธอเอกโท ทรงพระมาลามวยกลม เสื้อโภคลายทอง หลานเธอเอกโท ใส่ศิรเพฐน์มวยกลม เสื้อโภคแพรดารากรเลว แม่เจ้าสนองพระโอษฐ์​ (คือท้าวนาง) ใส่สนองเกล้า เสื้อแพร่พรรณ ชะแม่ (คือเจ้าจอม) หนูนยิกใส่เกี้ยวดอกไม้ไหวแซม นางกำนัล (คือพนักงาน) นางระบำนายเรือน หนูนยิกเกี้ยวแซม โขลนเกล้ารักแครง เมียนาหมื่นหัวเมืองทั้งสี่ เมื่องานใส่ศิรเพฐน์นุ่งแพรเคารพ จตุสดมภ์เกล้าหนูนยิกเกี้ยวแซมนุ่งแพรจมรวด เมียนาห้าพันนาสามพัน หนูนยิกเกี้ยวแซม ห่มตีนทองบ่า ขุนหมื่นพระกำนัลก็ดี ราชยานก็ดี อภิรมก็ดี โพกหูกระต่ายเสื้อขาว นุ่งผ้าเชิงวัลย์ ชื่อเครื่องประดับผมและผ้านุ่งห่มเหล่านี้ดูแปลกหูไปทั้งสิ้น จะคะเนรูปและสีสันลวดลายไม่ใคร่ถูก เพราะกาลล่วงมาถึงห้าร้อยปีเศษแล้ว ไทยเราไม่สนัดในการที่จะเขียนรูป และถือกันว่าเป็นการต่ำสูงบ้าง เป็นที่รังเกียจว่าจะเอาไปทำให้เป็นอันตรายต่างๆ บ้าง จึงไม่มีผู้ใดกล้าที่จะเขียนรูปผู้มีบรรดาศักดิ์ แต่เพียงราษฎรด้วยกันเอง ถ้าจะเขียนรูปกันให้เหมือน ก็เป็นที่สงสัยหรือเป็นการดูถูกกันเสียแล้ว การที่จะเขียนรูปให้เหมือนนี้ จึงไม่เป็นวิชาของคนไทยที่ได้เล่าเรียนมาหลายร้อยปี จนถึงถ่ายรูปกันในชั้นหลัง คนแก่ๆ ก็ยังมีความรังเกียจมาก เพราะฉะนั้นเราจึงไม่ได้เห็นรูปเจ้าแผ่นดินหรือผู้มีบรรดาศักดิ์เก่าๆ ซึ่งถึงว่าจะเขียนรูปไม่เหมือน แต่เครื่องแต่งตัวคงยังปรากฏอยู่เช่นรูปเขียนเก่าๆ ของฝรั่ง แต่เป็นเคราะห์ดีอย่างหนึ่ง ที่ยังพอได้เห็นแววๆ ได้บ้าง เมื่อปีขาลอัฐศก จุลศักราช ๑๒๒๘ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินกรุงเก่า เป็นเวลากำลังสร้างวัดราชประดิษฐ์ที่กรุงเทพฯ จึงเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรวัดราชประดิษฐานที่กรุงเก่า ได้ทอดพระเนตรเห็นลายเขียนที่ผนังโบสถ์ มีรูปผู้หญิงสวมเครื่องประดับศีรษะต่างๆ ไม่เหมือนรัดเกล้าละคร ดำรัสว่าเป็นแต่งตัวอย่างที่มีมาในกฎมนเทียรบาล ด้วยวัดราชประดิษฐานนั้นคงจะต้องสร้างก่อนแผ่นดินพระไชยราชา จึงเป็นที่พระมหาจักรพรรดิเมื่อยังเป็นพระเทียรราชาออกไปทรงผนวชอยู่ในวัดนั้น เป็นวัดของพระเจ้าแผ่นดินในบรมราชวงศ์เชียงราย ซึ่งสืบเนื่องมาแต่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ทรงสร้าง ในขณะนั้นลายเขียนยังอยู่เกือบจะเต็มผนังทั้งแถบ ได้โปรดให้กรมขุนราชสีห์ลอกถ่ายลงมา ครั้นภายหลังข้าพเจ้าไปอีกครั้งหนึ่ง หลังคาชำรุดลงมามาก ลายเขียนก็ยังอยู่เกือบครึ่งผนัง แต่ครั้นไปเมื่อปีก่อนนี้ หลังคาชำรุดพังหมด ยังเหลือลายเขียนอยู่บ้าง พอเห็นเค้าได้ถนัด แต่รูปทั้งปวงนั้น เป็นเวลาที่ผู้หญิงยังไว้ผมมวยทั้งสิ้น เกล้าอย่างที่เรียกว่าโซงโขดงหรือโองโขดง คือรวบขึ้นไปเกล้าบนขม่อมเป็นห่วงยาวๆ มีเกี้ยวหรือพวงมาลัยสวมโดยมาก การที่ผู้หญิงเลิกเครื่องแต่งตัวเหล่านี้เสีย ก็จะเป็นด้วยพระเจ้าแผ่นดินในชั้นหลังๆ ไม่มีพระอัครมเหสี หรือมีแต่เนือยๆ ไป เช่นพระนารายณ์มหาราช ก็จืดจางไปนั้นอย่างหนึ่ง เพราะตัดผมสั้นเป็นผมปีกแกมประบ่า เล่นกระบวนตกแต่งผมด้วยสีผึ้งน้ำมัน ไม่มีที่สอดสวมเครื่องประดับ เครื่องแต่งตัวผู้หญิงจึงได้ค่อยสูญไปๆ ใครจะตกแต่งเข้าก็เป็นเร่อร่า โดยการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมดาซึ่งเป็นอยู่ทั่วทุกประเทศ เหมือนตัดผมปีกและไว้ผมยาวในปัจจุบันนี้ เครื่องประดับศีรษะผู้หญิง ก็เป็นอันสาบสูญจนไม่มีเค้าเงื่อน การที่มีแห่เสด็จในพระราชพิธีตุลาภาร ก็คงจะเป็นอันเลิกไปในหมู่ที่เลิกเครื่องประดับศีรษะนั้นเอง แต่พระราชพิธีนอกจากมีแห่เสด็จจะได้เลิกเสียเมื่อใดก็ไม่ได้ความชัด แต่ในกรุงรัตนโกสินทรนี้ไม่ได้เคยมีพระราชพิธีนี้เลย เป็นพิธีสูญแล้ว ๚

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ