พระราชพิธีเดือน ๑๐

๏ ในกฎมนเทียรบาล รายบัญชีย่อ บอกแต่ว่าภัทรบทพิธีสารท แต่ในรายละเอียด มีความชัดออกไปว่าเดือน ๑๐ การพิธีภัทรบท ทอดเชือกดามเชือก ถวายบังคมเลี้ยงลูกขุน ถือน้ำพระพิพัฒน์ เมื่อดูในคำให้การขุนหลวงหาวัด บอกชื่อชัดออกไปอีกนิดหนึ่งว่า “เดือน ๑๐ ชื่อพิธีภัทรบท” แล้วก็เลยต่อความว่า “ฉลองนาคหลวง” แล้วจึงรำขอและรำทอดเชือกดามเชือก สนานช้างต้นม้าต้น เมื่อได้ทราบความเท่าที่จดหมายไว้ในหนังสือสองแห่งนี้ ต้องเข้าใจว่า พิธีชื่อภัทรบทสำหรับทำในเดือน ๑๐ ก็คือพิธีสารทนั้นเอง เมื่อถามพราหมณ์ทุกวันนี้ก็ได้ความตามจดหมายย่อ ว่าเดือน ๑๐ พระราชพิธีมัทเยนักษัตเตรสาตตรำ แปลไว้ว่าสารทกลางปี สงฆ์พราหมณ์ร่วมกัน เมื่อไล่เลียงดูว่า การพิธีที่ทำนั้น คือพิธีสารทหรือมีอย่างอื่นอีก ก็ได้ความว่าพิธีสารทนั้นเอง จึงเกือบจะตกลงใจแน่ว่า พิธีภัทรบท เป็นพิธีสารท พิธีการหลวง เช่นทำอยู่ทุกวันนี้เอง

แต่ที่แท้ไม่ใช่เช่นนั้นเลย เป็นคนละพิธีทีเดียว พราหมณ์เดี๋ยวนี้ตื้นแน่ ข้าพเจ้าได้พบในหนังสือนพมาศ ได้ความชัดว่า พิธีภัทรบทเป็นพิธีของพราหมณ์ทำอย่างไสยศาสตร์แท้ ไม่ได้เกี่ยวกับพุทธศาสน์ แต่เป็นเครื่องนำหน้าพิธีสารท พิธีเดือน ๑๐ คงเป็นอันที่พราหมณ์ทำส่วนของพราหมณ์เอง ในกลางเดือนพิธีหนึ่ง เพื่อจะเป็นการชำระบาปของตัว ให้บริสุทธิ์ไว้ทำการพระราชพิธีสารทซึ่งจะมีต่อปลายเดือนภายหลังพิธีแรก คือพิธีกลางเดือนนั้นเรียกว่าพิธีภัทรบท พิธีหลังคือพิธีปลายเดือนนั้น เรียกว่าพิธีสารท

การพิธีกลางเดือน พิเคราะห์ดูคล้ายกันกับพิธีศิวาราตรี ที่เป็นพิธีของพราหมณ์ทำเอง ทำนองเดียวกันกับมหาปวารณา ไม่มีเงินทักขิณบูชา และเครื่องสักการะต่างๆ ของหลวงจ่ายเหมือนอย่างการพระราชพิธีซึ่งทำเป็นของหลวงทั้งปวง เมื่อพราหมณ์ประพฤติศาสนาของตัวเสื่อมคลายลง จนไปตรงกับคำนุ่งคำกู การพิธีซึ่งไม่มีประโยชน์ และไม่มีใครบังคับให้ทำจึงได้ละเลยเสีย ไม่ทำทั้งพิธีศิวาราตรีและพิธีภัทรบท พิธีศิวาราตรีก็พึ่งมากลับมีขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๔ เป็นตัวอย่าง

จะป่วยกล่าวไปไยในพิธีพราหมณ์ ซึ่งหลวมโพรกมาแต่เดิมแล้ว แต่การทำอุโบสถเดือนละสองครั้ง มหาปวารณาปีละครั้งของพระสงฆ์ แต่ก่อนก็ไม่ได้ทำมากกว่าทำ พึ่งจะมาเข้มงวดกันขึ้นในรัชกาลที่ ๔ เมื่อทรงเป็นพระราชธุระตรวจตรา จนมีชื่อวัดว่าเป็นวัดปวารณาเดิม ปวารณาตาม เป็นพยานอยู่จนเดี๋ยวนี้ ก็เพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าการที่ทำอุโบสถและปวารณาไม่มีผลประโยชน์อันใด และไม่มีผู้ใดตรวจตราบังคับบัญชาให้ทำการสวดปาติโมกข์ทำอุโบสถ จึงต้องมีเครื่องล่อคือกระจาดและผ้าไตร ก็มีสวดปาติโมกข์มากขึ้น แต่ปวารณายังไม่มีอะไร ก็เงียบอยู่จนถึงเลิกกระจาดปาติโมกข์วันมหาปวารณามาเฉลี่ยแจก และตรวจตรากันเข้มงวดขึ้น จึงได้มีพระปวารณา

ชักตัวอย่างมาว่านี้ เพื่อจะให้เห็นว่า การพิธีที่เป็นส่วนของผู้ถือศาสนาทำเอง เมื่อความศรัทธาเสื่อมคลายลง ก็ทำให้ย่อๆ ลงไปจนเลยหายไปได้ เช่นพิธีศิวาราตรี พิธีภัทรบท แต่พิธีศิวาราตรี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าทรงเกณฑ์ให้ทำขึ้นใหม่ได้ พิธีภัทรบทอย่างไรจึงไม่ทรงให้ทำก็ไม่ทราบ หรือจะเป็นด้วยทรงพระราชดำริเห็นว่าเดือนที่ทำพิธีศิวาราตรีเป็นเดือนว่างพิธีอื่น แต่ในเดือน ๑๐ นี้มีพิธีสารทอยู่แล้ว ปล่อยให้รวมกันเสียทีหนึ่งอย่างไรไม่ทราบ แต่ถ้าจะเถียงว่า ถ้าพิธีภัทรบทมีจริงดังว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้ามิโปรดให้ทำเสียเหมือนพิธีศิวาราตรีแล้วหรือ การที่ว่ามีพิธีต่างหาก จะเป็นข้าพเจ้าเดามากเกินแล้ว ข้าพเจ้าจะขออ้างพยาน ยกหนังสือซึ่งนางนพมาศได้แต่งไว้ มากล่าวให้พิจารณาดูในที่นี้ ในหนังสือนางนพมาศนั้นว่า “ครั้นเดือน ๑๐ ถึงการพระราชพิธีภัทรบท เป็นนักขัตฤกษ์มหาชนทำมธุปายาสทานและจะเด็ดดวงข้าวสาลี เป็นปฐมเก็บเกี่ยว ชีพ่อพราหมณ์ทั้งปวงก็เริ่มการพลีกรรม สรวงสังเวยบูชาพระไพสพ ตั้งปัญจสาครเต็มด้วยน้ำในพระเทวสถาน อบรมน้ำด้วยเครื่องสุคันธชาติและบุปผชาติให้มีกลิ่นหอมเป็นอันดีแล้ว จึงเชิญพระเทวรูป ๑๖ ปาง ลงโสรจสรง อ่านพระเวทเผยศิวาลัย เพื่อจะให้บำบัดอุปัทวจัญไรภัยพยาธิทุกข์โทษต่างๆ อันว่าหมู่พราหมณ์บรรดาซึ่งได้เล่าเรียนไตรเพท ย่อมถือลัทธิว่าเดือน ๑๐ เป็นปฐมคัพภสาลี มหาชนเก็บเกี่ยวมาทำมธุปายาสยาคูเลี้ยงพราหมณ์ เพื่อจะให้เป็นมงคลแก่ข้าวในนา อันเมล็ดรวงข้าวนี้เป็นปางพระไพสพ แม้นชาติพราหมณ์ผู้ใดยังมิได้ลอยบาปจะพึงบริโภคมธุปายาสและยาคู อันบุคคลกระทำด้วยปฐมคัพภชาติสาลี ก็บังเกิดทุกข์โทษอุปัทวจัญไรแก่ตน ทั้งปราศจากความสวัสดิมงคลแก่นรชาติทั้งหลาย เหตุดังนั้นพราหมณาจารย์ผู้รู้เพทางคศาสตร์ จึงกระทำพิธีภัทรบททลอยบาป” ความว่าด้วยพิธีภัทรบทยกมูลเหตุชัดเจน ว่าเป็นพิธีลอยบาป เพื่อจะรับมธุปายาสและยาคูคัพภสาลีชัดเจนดังนี้ แต่ถึงว่านางนพมาศไม่กล่าวถึงพิธีภัทรบทชัดกว่าตำราอื่นๆ เพราะไปว่าถึงพิธีสารทปนเข้าเสียในระหว่างกลางๆ คือไปกล่าวถึงการกุศลซึ่งคนทั้งปวงทำมธุปายาสและยาคูถวายพระสงฆ์ ด้วยอ้างว่าเป็นการพุทธศาสน์และไสยศาสตร์เจือกัน ข้อซึ่งนางนพมาศมิได้แยกออกเป็นสองพิธีให้ชัดเจน ก็ควรจะเห็นได้ว่าหนังสือที่นางนพมาศแต่งนั้น ไม่ได้ตั้งใจจะแยกออกเป็นพิธีๆ ว่าเดือนหนึ่งมีกี่พิธี ดังเช่นข้าพเจ้าแต่งนี้ประสงค์เอาแต่รายเดือนเป็นที่ตั้ง เกือบจะเลือกว่าเดือนหนึ่งจะว่าถึงพิธีหนึ่ง จนครบสิบสองเดือน คงเป็นอย่างเช่นตั้งใจจะทำเช่นเรียกว่าทวาทศมาสแท้ ความซึ่งข้าพเจ้าจะคัดมาชี้ให้เห็นเดี๋ยวนี้ ประสงค์แต่จะให้เข้าใจชัด ว่าพิธีภัทรบทกับพิธีสารทต่างกันเป็นสองพิธี จึงจะขอข้ามความที่นางนพมาศกล่าว ต่อที่ได้ยกมาว่าแล้ว ไปเก็บความแต่ที่จะต้องการขึ้นว่าให้เห็นชัดเจนได้ ดังความที่จะว่าต่อไปนี้ “ครั้นถึงวันขึ้น ๑๔ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรมค่ำ ๑ หมู่พราหมณาจารย์ผู้ซึ่งจะลอยบาป คือพระศรีมโหสถบิดาข้าน้อยนี้เป็นต้น ต่างถือสังข์บ้างกลดสำริดบ้าง มายังพระเทวสถาน บูชาพระเป็นเจ้าแล้ว จึงเชิญปัญจมหานทีในขันสาคร ซึ่งสมมติว่าเป็นน้ำล้างบาปใส่สังข์ใส่กลดแล้ว ก็นำลงไปยังท่าน้ำพร้อมด้วยบริวารยศ แหงนหน้าดูดวงพระอาทิตย์อันส่องแสง แม้นเห็นบริสุทธิ์ปราศจากเมฆหมอก จึงเอาเป็นฤกษ์ต้องที่จะล้างลอยบาป บางคนก็กระทำในเวลาราตรี เอาบริสุทธิ์แห่งดวงพระจันทร์เป็นฤกษ์ พราหมณ์ทั้งหลายนั่งห้อยเท้าเหยียบสายน้ำไหล อ่านอิศวรอาคมสิ้นวาระสามคาบ จึงรินวารีในสังข์ในกลดลงในลำคงคา แล้วจุ่มกายสยายมวยผม อาบน้ำดำเกล้าชำระขัดสีกรัชกายให้ปราศจากเหงื่อไคลบริสุทธิ์สบายกายสบายจิตเป็นอันดีแล้ว จึงขึ้นนั่งยังฝั่งน้ำผลัดอุทกสาฎกทั้งนุ่งทั้งห่มออกจากกาย วางเหนือแพหยวกบ้าง วางเหนือเฟือยสวะบ้าง ขอนไม้บ้าง ให้ลอยตามกระแสน้ำไหล ซ้ำร่ายพระเวทลอยบาปบอกบริสุทธิ์ต่อพระคงคา แล้วกลับคืนยังเคหะฐานแห่งตนและตน” ต่อนี้ไป เริ่มความว่าพิธีลอยบาปนี้ลอยได้แต่สามวัน วันต้นพราหมณ์ที่เป็นมหาศาลตระกูลลอยไปหมดฉบับอยู่เสียเพียงเท่านี้ ไม่ทราบว่าจะมีความอย่างไรต่อไป แต่ในความที่ค้างอยู่นี้ คงจะกล่าวว่าวันที่ ๒ พราหมณ์ชั้นนั้นลอย ที่ ๓ พราหมณ์ชั้นนั้นลอย แต่ถึงความขาดเช่นนี้ แต่พอได้ความสันนิษฐานในเรื่องที่ประสงค์จะกล่าวว่าพิธีภัทรบทต่างกันกับพิธีสารทอยู่แล้ว

แต่ข้อซึ่งข้าพเจ้าได้ยกพิธีศิวาราตรี และพิธีภัทรบทขึ้นเป็นคู่กัน กล่าวโทษพราหมณ์ว่าละเลยการในศาสนาของตัว เพราะไม่มีผลประโยชน์นั้นตัดสินเอาเป็นเด็ดขาดทีเดียวเช่นว่า ก็อยู่ข้างจะแรงเกินไปหน่อย ด้วยทำนองการพิธีของพราหมณ์ครั้งกรุงสุโขทัย และพราหมณ์ครั้งกรุงเก่าอยู่ข้างจะต่างแตกกันหลายอย่าง หรือบางทีพวกสุโขทัยเขาจะทำในเดือน ๑๐ พวกกรุงเก่าจะทำเดือน ๓ เพราะเป็นคนอาจารย์ อย่างไรไม่ทราบเลย แต่สังเกตดูลักษณะที่ทำเป็นคนละอย่าง ข้างพิธีศิวาราตรี ใช้น้ำสรงพระศิวลึงค์ชำระบาป ข้างพิธีภัทรบทใช้น้ำสรงเทวรูป ๑๖ ปางเป็นน้ำล้างบาป บางทีก็จะทั้งสองอย่างได้ เช่นได้กล่าวโทษจริงบ้างดอกกระมัง แต่มีข้อเถียงอยู่อีกอย่างหนึ่ง ว่าถ้าพราหมณ์จำจะต้องลอยบาปสองครั้งเช่นนั้น พราหมณ์สุโขทัยไม่ได้ทำพิธีศิวาราตรี จะมิเป็นอันละการลอยบาปเสียครั้งหนึ่งหรือ ถ้าจะแก้แทนพราหมณ์สุโขทัย จะต้องกล่าวว่าให้พิเคราะห์ดูหนังสือนางนพมาศแต่ง ไม่ได้ตั้งใจจะนับรายชื่อพิธี เช่นได้กล่าวมาเมื่อตะกี้นี้ ในเดือนสามนั้นมีพิธีธานยเทาะห์ ที่ได้กล่าวไว้สนุกสนานแล้ว พิธีศิวาราตรีเป็นแต่พิธีของพราหมณ์เล็กน้อย อีกประการหนึ่ง นางนพมาศเป็นผู้หญิงมีมรรยาทอันเรียบร้อยระวังถ้อยคำที่จะกล่าว ข้อความอันใดที่ไม่เป็นการสมควรที่ผู้หญิงจะกล่าวถึง ก็ไม่กล่าวถึง ละทิ้งเสียเหมือนอย่างพิธีพรุณศาสตร์ ก็คงมีปั้นเมฆเหมือนกัน แต่หลีกเสียไม่กล่าวถึงปั้นเมฆเลย ถึงว่าพระศิวลึงค์จะเป็นของนับถือของพราหมณ์ในประเทศอินเดีย ไม่เป็นที่รังเกียจว่าหยาบคายอันใด แต่นางนพมาศเป็นพราหมณ์เมืองไทย ซึ่งพื้นบ้านพื้นเมืองถือกันว่าเป็นการหยาบ จึงละเสียไม่กล่าวถึงพิธีศิวาราตรี ทางแก้มีอยู่เช่นนี้ การถุ้งเถียงกันนี้ต้องยกไว้ จะกล่าวแต่ความมุ่งหมายของหนังสือที่จะแต่งไปบัดนี้ว่า ในเดือน ๑๐ นี้ มีพิธีอย่างหนึ่งแต่เห็นจะเป็นพิธีเปล่า มิใช่พระราชพิธี ที่เรียกว่าภัทรบททำในกลางเดือน ซึ่งมีชื่ออยู่ในตำราจดหมายเรื่องพิธีต่างๆ ชื่อต้องกันเป็นอย่างเดียวทุกฉบับได้ทำในกลางเดือน แต่เป็นพิธีสูญซึ่งมิได้ทำอยู่ในบัดนี้อย่างหนึ่ง

การที่จะต้องกล่าวในเดือน ๑๐ มีการพระราชกุศลซึ่งเกิดขึ้นใหม่ คือตักบาตรน้ำผึ้งและการเฉลิมพระชนมพรรษา การตักบาตรน้ำผึ้งเป็นของเกิดขึ้นใหม่และกร่อยๆ อยู่ การเฉลิมพระชนมพรรษาก็เลื่อนไปเลื่อนมา ถ้าจะกล่าวตามลำดับการพระราชกุศลสองอย่างนี้ ก็คงจะถึงกำหนดก่อนพระราชพิธีสารทโดยมากแต่เป็นส่วนที่เป็นพระราชกุศล มิใช่เป็นการพระราชพิธีประจำพระนคร เรื่องที่กล่าวถึงเดี๋ยวนี้จะว่าด้วยการพระราชพิธี เพราะฉะนั้นดูเหมือนจำเป็นที่จะต้องกล่าวการพระราชพิธี ซึ่งเป็นการประจำพระนครมีมาแต่โบราณก่อน บัดนี้จึงจะได้กล่าวด้วยการพระราชพิธีสารท ซึ่งอยู่ข้างจะนับว่าเป็นการเนื่องกับพิธีภัทรบท ซึ่งได้กล่าวแล้วนั้นต่อไปเป็นลำดับ

สารทซึ่งเป็นนักขัตฤกษ์เป็นที่นิยมของคนทั้งปวงทั่วไป ว่าเป็นสมัยที่จะได้ทำบุญ เมื่อ ปี เดือน วัน คืน ล่วงมาถึงกึ่งกลางรอบ ด้วยเหตุว่าเราถือเอากำหนดพระอาทิตย์ลงไปที่สุดทางใต้ กลับขึ้นมาเหนือถึงกึ่งกลางเป็นต้นปี ครั้นเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นไปเหนือจนสุดทางจะกลับลงใต้มาถึงกึ่งกลางก็เป็นอันพอบรรจบกึ่งปี ซึ่งไม่ทำการพระราชกุศลในกลางเดือนเหมือนการอื่นๆ เช่นลอยประทีปเป็นต้น ก็เพราะกำหนดที่จะถึงหกเดือนไปอยู่ในปลายเดือน ๑๐ ต้นเดือน ๑๑ เหมือนกับปีใหม่ก็อยู่ในปลายเดือน ๔ ต้นเดือน ๕ ฉะนั้น

อนึ่ง เมื่อถึงกึ่งกลางปีแล้ว ก็เป็นกำหนดที่จะถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาอีกครั้ง ๑ ควรจะถือในวันเดือน ๑๐ สิ้นเดือน หรือเดือน ๑๑ ขึ้นค่ำ ๑ แต่เพราะเหตุที่เปลี่ยนแปลงกำหนดไปดังได้กล่าวแล้วในการถือน้ำเดือน ๕ การถือน้ำเดือน ๑๐ คือถือน้ำสารทจึงได้เลื่อนเข้ามาอยู่ในวันเดือน ๑๐ แรม ๑๓ ค่ำ ก่อนพระราชพิธีสารท เพราะฉะนี้คเชนทรัศวสนานกลางปีนี้ จึงต้องแยกห่างกันไปกับพระราชพิธีศรีสัจจปานกาล ไม่ติดต่อกันเหมือนเดือน ๕ ทั้งที่ขึ้นชื่อนับว่าเป็นพิธีเนื่องกันอยู่ฉะนั้น การพระราชพิธีคเชนทรัศวสนานทอดเชือกดามเชือกได้เริ่มในวันเดือน ๑๑ ขึ้น ๔ ค่ำ สวดพระพุทธมนต์ทอดเชือก วันเดือน ๑๑ ขึ้น ๕ ค่ำ ดามเชือกและเดินสนาน การพระราชพิธีถือน้ำเดือน ๑๐ และคเชนทรัศวสนาน ทอดเชือกดามเชือก เดือน ๑๑ นี้ ได้กล่าวรวมไว้แล้วในถือน้ำ และคเชนทรัศวสนานเดือน ๕ จึงจะไม่กล่าวซ้ำอีกในเดือน ๑๐ นี้ การที่แปลกกันในพิธีต่อพิธีถือน้ำแปลกแต่ไม่ได้ตั้งพระพุทธรูปประจำพระชนมพรรษา และไม่มีพยุหยาตราเลย ตั้งสวดในวันแรม ๑๒ ค่ำ คเชนทรัศวสนานช้างพระที่นั่งผูกเครื่องแถบกลมสำหรับฝน แต่โบราณมาในการเดินสนานเดือน ๑๐ นี้ ถ้าเดือน ๕ มีสนานใหญ่ เดือน ๑๐ ก็เป็นอันเลิกไม่มี จะมีก็แต่ครั้งกรุงสุโขทัย และคเชนทรัศวสนานอย่างน้อยตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๔ มาเท่านั้น

บัดนี้จะกล่าวด้วยพระราชพิธีสารท การพิธีสารทนี้เป็นของพราหมณ์ พุทธศาสนาทำตามอย่างพราหมณ์ การที่กวนข้าวปายาสหรือข้าวทิพย์ก็ดี ทำยาคูด้วยข้าวใหม่ซึ่งออกรวงเป็นน้ำนมก็ดี ก็เป็นลัทธิของพราหมณ์หรือของประเทศซึ่งนับถือพราหมณ์ทำเลี้ยงพราหมณ์ ซึ่งเป็นที่นับถือของคนในประเทศนั้นมาก่อนมีพระพุทธศาสนาช้านาน คำถือคนจำพวกที่เรียกว่าพราหมณ์ ซึ่งในหนังสือต่างๆ เรียกควงคู่กันอยู่กับสมณะเช่นกล่าวว่า “เป็นที่ร้อนอกสมณะพราหมณาจารย์” เป็นต้นเช่นนี้ ต้องเข้าใจว่าพราหมณ์กันพระนั้นเสมอกัน แต่เมื่อมาพิเคราะห์ดูพราหมณ์ทุกวันนี้ และสังเกตความนับถือของไทยเราทุกวันนี้ พราหมณ์เลวกว่าพระมากหลายเท่า ไม่น่าจะควงติดเป็นคู่กันเลย จนมีผู้แก้คำที่ใช้ว่าสมณะพราหมณาจารย์ เป็นสมณาจารย์เสียเปล่าๆ เช่นนี้ก็มี การซึ่งเป็นเช่นนี้เพราะเหตุใด เพราะเราเห็นว่าพราหมณ์นั้นไม่ผิดกับคนๆ ธรรมดาเลย เวลาจะไปไหนหรืออยู่บ้านเรือน ไม่ได้เข้าวังหรือไปในการมงคล ก็นุ่งผ้าสีต่างๆ อย่างคนเราธรรมดา แปลกแต่ไว้ผมยาวเกล้ามวยที่ท้ายทอย การที่เป็นเช่นนี้เพราะความเรียวของพราหมณ์ ซึ่งมาอยู่ในประเทศอื่นไม่มีตระกูลพราหมณ์มาก ก็เสื่อมทรามลงไป ตระกูลก็เจือปนกับคนในพื้นเมือง ความประพฤติก็หันเหียนไปตามคนในพื้นเมือง ก็อย่างเดียวกันกับพวกแขกเจ้าเซ็น หรือพวกฝรั่งโปรตุเกสที่เรียกกันว่าฝรั่งเข้ารีต ที่แท้เดิมก็เป็นแขกเป็นฝรั่งจริงๆ แต่ครั้นเมื่อมามีเกี่ยวดองพัวพันกันเข้ากับคนในพื้นเมือง นานมาก็คลายลงเป็นไทย ยังคงถืออยู่แต่ศาสนาเดิมเท่านั้นเอง

พราหมณ์ซึ่งเขานับถือกันเป็นคู่กับสมณะนั้น คือมีคนตระกูลหนึ่งซึ่งต้นเดิมจะเกิดขึ้นเพราะเหตุใดไม่มีผู้ใดจะรู้ได้ เพราะกาลล่วงมาหลายพันปี ต้องรู้ได้แต่ตามที่พราหมณ์เขาเล่าเอง ว่าเป็นผู้เกิดจากพรหม ความนับถือของคนพวกนี้ เป็นที่นิยมทั่วไปในพวกชนชาติฮินดูทั้งปวง ที่มีหลายตระกูลแตกกันออกไปอีก พราหมณ์นั้นมีประเพณีที่จะพึงประพฤติมากมายหลายอย่างนัก เป็นต้นว่าเกิดมาในตระกูลพราหมณ์จะไปแต่งงานมีสามีภรรยากับตระกูลอื่นก็ไม่ได้ จะกินข้าวกินน้ำร่วมกับตระกูลอื่นก็ไม่ได้ อย่าว่ากินร่วมเลย ถ้าพราหมณ์ผู้ใดผู้หนึ่งเจ็บจวนจะตายกระหายน้ำอย่างยิ่งเพียงเท่าใด เมื่อไม่มีพราหมณ์อยู่ในที่นั้น ไม่สามารถจะไปตักน้ำกินเองได้ ผู้ใดจะตักน้ำมายื่นให้ก็รับไม่ได้กินไม่ได้ ห้ามนั้นห้ามแต่ของบริโภค แต่ถ้าเป็นเงินทองข้าวของผู้ใดจะให้รับได้ พราหมณ์พวกนี้ถ้าเป็นผู้หญิงต้องมีการวิวาหะอาวาหะแต่ภายในอายุ ๑๒ ปีลงมา ถ้าอายุเกิน ๑๒ ปีขึ้นไป จะทำการวิวาหะอาวาหะกับผู้ใดไม่ได้ ต้องนับว่าเป็นคนที่เสียคนแล้ว ต้องเป็นนางพราหมณีสำหรับบูชาเทวรูปในเทวสถานไปจนตลอดสิ้นชีวิต เพราะฉะนั้นจึงมักต้องทำการวิวาหะอาวาหะเสียแต่ยังเด็กๆ หรือแต่แรกเกิดมาทีเดียว ถ้าเด็กหญิงผู้ใดเคราะห์ร้าย เด็กชายซึ่งได้ทำการอาวาหะวิวาหะไว้แต่ยังเล็กอยู่ ตายไปเสียต้องนับว่าเป็นม่ายทั้งไม่ได้อยู่กินด้วยกันเช่นนั้น บางทีเด็กอายุขวบหนึ่งสองขวบเป็นแม่ม่าย เด็กม่ายเช่นนั้น เมื่อโตขึ้นอายุครบ ๑๒ ปี ต้องโกนศีรษะแต่งตัวด้วยผ้าหยาบ จะสวมเครื่องประดับอันใดก็ไม่ได้ เกณฑ์ให้ชักประคำสวดมนต์ภาวนาไปจนตลอดสิ้นชีวิต ทรัพย์มรดกของบิดามารดา จะรับจะรักษาก็ไม่ได้ ต้องตกไปแก่ญาติผู้อื่นที่เป็นผู้ชาย ถ้าญาติผู้นั้นมีใจเมตตากรุณาอยู่ก็เลี้ยงดู ถ้าไม่มีใจเมตตากรุณาละเลยเสีย จะไปฟ้องร้องแห่งใดก็ไม่ได้ ต้องขอทานเขากิน แต่มีข้อบังคับสกัดข้างฝ่ายชายไว้เหมือนกันว่า ถ้าผู้ใดไม่มีบุตรที่จะสืบตระกูล บิดาและปู่ของผู้นั้น จะต้องตกนรกขุมหนึ่งซึ่งเรียกชื่อว่าปุต ถ้าลูกของตัวมีภริยามีบุตรชาย ก็เป็นอันพ้นทุกข์ ถ้ามีหลานเหลนสืบลงไปอีก ทวดปู่และบิดาก็ได้รับผลอันพิเศษเลื่อนขึ้นไปตามลำดับ

มีนิทานตัวอย่างปรากฏมาในคัมภีร์มหาภารตะ ว่ามีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อชรัตกะรุ ประพฤติพรตตั้งความเพียร ได้ฌานสมาบัติเที่ยวไปนมัสการสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ครั้นเวลาค่ำก็เข้าฌาณสมาบัติ อาศัยแต่ลมเป็นอาหาร ไม่นอนเลย เมื่อเที่ยวไปวันหนึ่งพบบรรพบุรุษของตัวห้อยศีรษะลงตรงปากหลุมอันใหญ่ เท้าชี้ขึ้นสู่ฟ้า ชรัตกะรุจึงได้ถามว่าท่านทั้งหลายนี้เป็นผู้ใด จึงมาต้องผูกห้อยศีรษะอยู่ด้วยเชือกของเถาวีรนะ ตรงปากหลุมใหญ่มีหนูทั้งหลายกัดแทะเนื้ออยู่โดยรอบในที่นี้ บรรพบุรุษนั้นจึงได้ตอบว่า เราทั้งหลายเป็นฤๅษีซึ่งเรียกตามคณะว่า ยะยะวะระ ซึ่งต้องมาได้ความลำบากเช่นนี้ เพราะไม่ได้มีพืชพรรณ เราทั้งหลายมีลูกอยู่ชื่อว่าชรัตกะรุ แต่เป็นความทุกข์ของเรา เพราะลูกเราผู้นั้นประพฤติตัวละเว้นเสียมิให้มีพืชพรรณ ด้วยไม่มีภริยา เราจึงมาต้องทนทุกข์ลำบากเห็นปานนี้ เมื่อชรัตกะรุได้ทราบเช่นนั้น จึงแสดงตัวว่าตัวเป็นชรัตกะรุ และรับปฏิญาณว่าจะมาหาภริยาให้ได้มีบุตรสืบตระกูล แต่เพราะความไม่ชอบใจในการที่จะมีภริยาของชรัตกะรุ จึงได้ตั้งปฏิญาณว่า ต่อเมื่อพบหญิงผู้ใดมีชื่อว่าชรัตกะรุเหมือนตัวและมีผู้มายกให้เป็นทาน จึงจะรับเป็นภริยาเพื่อจะสงเคราะห์แก่บรรพบุรุษนั้นอย่างเดียว ครั้นเมื่อชรัตกะรุเที่ยวไป จึงมีพระยานาคชื่อวาสุกี ที่มีความร้อนรนด้วยต้องคำแช่งแห่งมารดา นำน้องสาวผู้ชื่อว่าชรัตกะรุมายกให้เป็นภริยา ได้อยู่กินด้วยกันจนมีบุตร ชื่ออัษฎิกะ ภายหลังบวชเป็นฤๅษีมีคุณานุภาพมาก เมื่อชรัตกะรุมีบุตรเช่นนั้น บรรพบุรุษของชรัตกะรุก็ได้พ้นจากทุกข์ที่กล่าวมาแล้วนั้น เพราะฉะนั้นคำซึ่งเรียกว่าบุตระ เขาจึงยกมูลเหตุว่ามาจากคำปุต คือขุมนรกที่บรรพบุรุษต้องไปทนทุกข์ เพราะไม่มีลูกหลานที่จะสืบตระกูล ครั้นเมื่อมีลูกออกมาลูกนั้นเรียกว่า บุตระ เพราะเป็นผู้ทำให้บรรพบุรุษของตนพ้นจากขุมนรกที่เรียกชื่อว่าปุตนั้น

นี่แหละถึงว่าฝ่ายผู้ชายไม่มีข้อบังคับที่พราหมณ์ผู้ใหญ่จะลงโทษแก่ตนในปัจจุบัน เพราะข้อที่ไม่มีภริยา เหมือนอย่างผู้หญิงที่ไม่มีสามีนั้นก็ดี แต่ยังมีข้อซึ่งปรากฏมาในคัมภีร์ที่พราหมณ์เชื่อถือว่าเป็นการลงโทษแก่บรรพบุรุษได้เช่นนี้ จึงเป็นเครื่องบังคับให้พราหมณ์ผู้ชายต้องแสวงหาภริยา ไม่ละเลยเสียจนผู้หญิงต้องตกไปเป็นม่ายได้มากเกินไป และพราหมณ์ทั้งปวงมักเป็นคนหาเลี้ยงชีวิตด้วยขอทานเกือบจะทั่วไป ถึงพราหมณ์ที่มีทรัพย์สมบัติบริบูรณ์อยู่ ก็ไม่ละเว้นการขอทานหรือบิณฑบาต ซึ่งคนทั้งปวงเต็มใจจะให้ ด้วยถือว่าเป็นเนื้อนาบุญอันวิเศษ เพราะพราหมณ์พวกนี้คนทั้งปวงนับถือว่าเป็นตัวพรหมนั้นเอง แต่หากมีกรรมการที่ได้ทำผิดไว้ จึงต้องมาใช้กรรมในโลกมนุษย์ เป็นผู้มีสุคติเบื้องหน้าแน่นอนแล้วว่า ถ้าสิ้นกรรมเมื่อใดก็จะไปสู่พรหมโลก ผู้ใดทำอันตรายพราหมณ์เป็นบาปกรรมอันยิ่งใหญ่ พราหมณ์ย่อมเป็นที่เคารพของชาติอื่นๆ มีขัตติยชาติเป็นต้น

หน้าที่ของพราหมณ์ที่จะต้องทำนั้นก็คือ ต้องตื่นแต่พระอาทิตย์ยังไม่ทันอุทัย อายน้ำชำระกายแล้วนุ่งผ้าที่ชุ่มด้วยน้ำ ซึ่งถือว่าเป็นการบริสุทธิ์ เข้าไปทำสักการบูชาพระเป็นเจ้า แล้วจึงหาอาหารกินต่อไป การเล่าเรียนก็เรียนคัมภีร์เวทซึ่งเป็นตำราสะสมมาแต่โบราณ ที่พราหมณ์ทั้งปวงถือว่าพระฤๅษีผู้มีนามว่า กฤษณะ ไทวปายะนะ ผู้มีความรู้มากได้เรียบเรียงไว้ ตามที่วิยสะผู้เป็นเชื้อพรหม ได้แต่งขึ้นเป็นคำกลอนแล้วไปสาธยายถวายพระพรหม พระพรหมเห็นชอบสมควรด้วย จึงยกขึ้นเป็นข้อบังคับศาสนาสำหรับโลก ได้ประพฤติตามต่อกันมาแต่แรกสร้างโลก และพราหมณ์ทั้งปวงมักเป็นผู้รู้คัมภีร์โหราศาสตร์ ซึ่งเป็นวิชาอย่างหนึ่งนับในเวทางค์ ๖ อย่าง รู้คติทางดำเนินของพระอาทิตย์ และพระจันทร์ พระเคราะห์ต่างๆ เป็นผู้ทำประดิทินสำหรับที่จะให้คนทั้งปวงใช้ วัน คืน เดือน ปีถูกต้องกัน เป็นผู้ทายสุริยุปราคา จันทรุปราคา เป็นผู้สำหรับเซ่นไหว้เสกกล่อม ในเวลาที่ชนทั้งปวงไปบูชาพระเป็นเจ้า เป็นผู้บำบัดเสนียดจัญไรของคนทั้งปวงและการอื่นๆ ในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งคนทั้งปวงถือว่าพราหมณ์เป็นผู้มีคุณแก่โลก เพราะเป็นนายหน้าที่จะนำให้พูดถึงพระเป็นเจ้าเป็นต้น ธรรมดาคนซึ่งจะประพฤติตัวเป็นเช่นนี้ ก็คงดีบ้างชั่วบ้างเป็นธรรมดาด้วยมากด้วยกัน เพราะฉะนั้นพราหมณ์บางพวกจึงได้บัญญัติลัทธิต่างๆ แยกย้ายกันออกไปบ้าง ความนับถือก็มีแตกเป็นพวกเป็นเหล่ากันออกไป

จะชี้ตัวอย่างพราหมณ์นับถือพราหมณ์ ซึ่งข้าพเจ้าได้ไปพบเองในเวลาไปอินเดีย เมื่ออยู่ที่เมืองบอมเบย์ มีพราหมณ์คนหนึ่งเป็นมหาศาลตระกูลใหญ่ ได้มาหาข้าพเจ้า ว่าเป็นโอกาสดีที่ได้มาพบ ท่านพราหมณ์ผู้นี้มีบริวารบ่าวไพร่มาก เที่ยวจาริกไปตามหัวเมืองต่างๆ เพื่อจะโปรดสัตว์ การที่โปรดสัตว์นั้นอย่างไรหรือ คือผู้ใดมีบุตรสาวซึ่งยังมิได้มีสามี ก็เชิญท่านพราหมณ์ผู้นี้ไปอยู่ด้วยวันหนึ่ง แล้วท่านพราหมณ์ก็ละไปที่อื่น ลูกสาวซึ่งเสียตัวกับพราหมณ์นั้น ถือว่าเป็นได้รับสวัสดิมงคลอย่างยิ่ง แล้วทำการอาวะหะวิวาหะกับผู้อื่นต่อไป ผู้ซึ่งได้รับหญิงที่ท่านพราหมณ์ได้เยี่ยมเยียนแล้วนั้น เป็นผู้มีหน้ามีตาได้เมียดี กลับเป็นเช่นนี้ไปได้ พราหมณ์ย่อมทำมาหากินมีเรือกสวนไร่นา เป็นทหารฝึกซ้อมศัสตราวุธได้ทุกอย่าง ไม่มีข้อห้ามปราม และมีการบูชายัญเผาตัวทั้งเป็น เพื่อจะได้ขึ้นสวรรค์บ่อยๆ และถ้าเป็นแม่ม่ายสมัครจะเผาตัว ก็ทำรูปสามีที่ตายด้วยไม้ วางเคียงตัวเผาไปด้วยในกองเพลิง ก็เป็นอันได้ไปอยู่ด้วยกันในโลกหน้า การที่ภรรยาตายตามสามีเช่นนี้ตามเรื่องราวโบราณของพราหมณ์ ดูเหมือนจะเป็นประเพณีที่จำจะต้องตายตามกันเกือบทุกคู่ จนมีคำกล่าวปรากฏมาในคัมภีร์มหาภารตะ ในเรื่องนางศกุนตลาตัดพ้อพระสามีกล่าวว่า “ที่สุดจนเมื่อสามีจะไปจากโลกนี้ สู่ยมโลก ภริยาผู้ซื่อตรงก็ย่อมติดตามไปด้วยในที่นั้น ถ้าภริยาต้องไปในที่นั้น (คือยมโลก) ก่อนก็ต้องไปคอยสามี แต่หากว่าสามีไปก่อน ภริยาซึ่งผูกพันรักใคร่ย่อมตามติดไปในเบื้องหลัง” เพราะฉะนี้ จึงได้ความสันนิษฐานว่าภริยาตายตามสามีเช่นนี้ เห็นจะมีโดยมาก และการทำลายชีวิตบูชาพระเป็นเจ้าต่างๆ ก็มีอีกมากเป็นอเนกประการ ยังเป็นไปเสมออยู่ จนอังกฤษได้เป็นใหญ่ในประเทศอินเดียแล้วช้านานจึงได้ห้ามเสีย แต่การอื่นๆ ซึ่งไม่สำคัญถึงชีวิต เช่นพราหมณ์เที่ยวจาริกไปโปรดลูกสาวคนทั้งปวง อังกฤษไม่ได้ห้ามปราม ยังคงมีอยู่จนปีที่ข้าพเจ้าไปอินเดีย

คนพวกที่ถือศาสนาพราหมณ์หรือตัวพราหมณ์เองมักจะเป็นผู้ที่มีใจดุร้าย การที่จะบังคับกดขี่กระทบกระเทือนเรื่องศาสนาแล้ว ชวนจะเป็นขบถลุกขึ้นง่ายๆ ดูความเจ็บแค้นด้วยกันนั้นแรงกล้า มิใช่เจ็บร้อนในพวกพราหมณ์ด้วยกัน ตลอดไปถึงชาติฮินดูทั้งปวง การที่ประเทศอินเดียต้องถูกแขกถือศาสนามะหะหมัดเข้าแทรกแซงเป็นเจ้าเป็นนายมาเสียช้านาน ก็เพราะเหตุที่ต่างคนต่างถือชาติ ไม่สมัครสมานปรองดองกัน แต่กระนั้นแขกก็ต้องยับเยิน เพราะไปเกี่ยวข้องด้วยศาสนาบ่อยๆ ครั้นเมื่อฝรั่งได้แผ่นดินจากแขกบ้างจากฮินดูบ้าง รู้ลัทธิหลีกเลี่ยงเสียไม่ใคร่เกี่ยวด้วยการศาสนาก็ค่อยเรียบร้อย แต่กระนั้นอังกฤษก็ยังเกิดเหตุใหญ่ได้ยับเยินมากเหมือนกัน ภายหลังนี้ต้องระวังเรื่องศาสนาเป็นอย่างยิ่ง จึงได้รักษามาได้ พราหมณ์ทั้งปวงก็ยังมีแพร่หลายอยู่ในประเทศอินเดีย ยังนับถือยั่งยืนกันอยู่ไม่ลดถอย การที่พุทธศาสนาตั้งไม่ติดได้ในประเทศอินเดีย ก็เพราะทนพราหมณ์พวกนี้ไม่ไหว ด้วยพระพุทธเจ้าบัญญัติลัทธิตรงกันข้ามเสียกับพราหมณ์มากหลายอย่างนัก เป็นต้นว่าพราหมณ์มีเมียได้ และถือว่าถ้าไม่มีลูกสืบตระกูลต้องไปตกนรก พระพุทธเจ้าทรงเห็นว่าเพราะเหตุที่มีเมียมีลูก เป็นเหตุให้เกิดความคิดฟุ้งซ่านเป็นเครื่องก่อเกิดโลภะโทสะโมหะมาก ตัดเสียไม่ให้พระสงฆ์มีเมีย พราหมณ์ถือลัทธิลอยบาปด้วยผ้านุ่งผ้าห่ม เป็นพิธีภัทรบท พระพุทธเจ้าให้พระสงฆ์เอาผ้านุ่งผ้าห่มนั้นและกลับมานุ่งห่ม พราหมณ์ถือว่าถ้าต้องโกนผมเป็นผู้ซึ่งไม่มีใครควรคบหาได้ เป็นขาดชาติ เช่นลงโทษแม่ม่าย พระพุทธเจ้ากลับให้พระสงฆ์โกนหัว พราหมณ์ถือว่าจะรับของที่ผู้อื่นทำมากินไม่ได้เป็นขาดชาติ ต้องหุงกินเอง พระพุทธเจ้ากลับห้ามไม่ให้หุงกินเอง กลับขอเขากิน จะพรรณนาถึงการที่ตรงกันข้ามเช่นนี้ไปเท่าใดก็ไม่รู้หมด ซึ่งพระพุทธเจ้าบัญญัติให้กลับตรงกันข้ามกับพราหมณ์เกือบทุกเรื่องไปเช่นนี้ เพราะเหตุใด เพราะเหตุที่พระองค์เห็นว่า เป็นถือลัทธิไปทางข้างทิฐิมานะ ไม่มีประโยชน์อันใด เป็นแต่ชักพาให้คนหลงถือไปตามทางที่ผิดๆ ก็นั่นแหละคิดดูเถิด เมื่อพระพุทธเจ้าเวลายังไม่ได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ก็นับว่าเป็นผู้ถือศาสนาเหมือนคนทั้งปวงเช่นนั้นแล้วและละทิ้งเสียไปตั้งลัทธิขึ้นใหม่ ถึงว่ามีผู้ได้ถือตามมาก (แต่เห็นจะไม่มากเหมือนอย่างเช่นที่พระอรรถกถาจารย์ได้พรรณนาในหนังสือต่างๆ ถ้ามากเช่นนั้น คนเห็นจะถือพุทธศาสนาแล้วทั้งโลก) ศาสนาเดิมคนถือมาทั่วทั้งแผ่นดินมานานหลายพันปี พระพุทธเจ้าดำรงพระชนม์อยู่ก็ไม่สักกี่สิบปี ถึงว่ามีคนนับถือพระพุทธศาสนามาก ก็ทนพวกเก่าที่มากกว่าไม่ไหว นี่หากว่าธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นธรรมที่ปราศจากเวร ปราศจากเบียดเบียนผู้อื่น จึงไม่เกิดเหตุการณ์ใหญ่โตขึ้น เช่นพระเยซูสั่งสอนลัทธิใหม่ จนถึงตัวต้องตรึงไม้กางเขน เพราะทนพวกที่ถือศาสนาเก่าไม่ไหว มาเป็นเหตุต่อเมื่อพระศาสดาดับขันธปรินิพพานแล้วช้านาน ก็เป็นแต่เพียงพระพุทธศาสนาต้องกระจัดกระจายแผ่ออกไปในประเทศที่มิได้ถือศาสนาพราหมณ์เคร่งครัดมาแต่เดิม มีทวีปลังกาเป็นต้น พุทธศาสนาที่ยังเหลืออยู่ในประเทศอินเดีย ก็ต้องอะลุ้มอล่วยเข้าหาศาสนาพราหมณ์เดิม ข้าพเจ้าได้ไปเห็นเองหลายวัด แต่วัดหนึ่งที่เมืองเบนาริส คือเมืองพาราณสีนั้น ได้เข้าไปจนถึงในโบสถ์ มีพระพุทธรูปศิลาขาวอย่างพระศิลาพม่า เป็นพระพุทธรูปเราดีๆ ไม่แปลกประหลาดอันใดเลย การบูชาก็ต่างลัทธิกันกับฮินดู แต่เรียกชื่อศาสนาเฉไปเสียว่า เยนะ คือ ชินะ ได้พบผู้ซึ่งถือศาสนานั้นเป็นขุนนางอยู่ในบังคับอังกฤษผู้หนึ่ง ชื่อศิวประสาท เป็นผู้รู้มาก เป็นอาจารย์สอนหนังสือสันสกฤต มีศิษย์เรียนอยู่ประมาณสัก ๓๐ คน ได้เล่าว่าศาสนาเยนะนี้ คือศาสนาพระโคดมแท้ แต่หากผู้ที่ถือนั้นมีความกลัวพวกฮินดูที่ได้เคยไม่มีความกรุณาต่อผู้ที่นับถือพุทธศาสนาจะเบียดเบียน จึงได้อ้างว่าถือศาสนาพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ ขึ้นไป ไม่นับถือพระโคดม แต่ครั้นเมื่อถามลัทธิที่ถือว่ายักเยื้องกันไปอย่างใดบ้างหรือ ก็บอกว่าเป็นแต่ชั่วเลิกพระสงฆ์ มีไม่ได้ มีแต่อาจารย์สำหรับสั่งสอน ถามถึงนับถืออย่างไร ก็สวด อิติปิโส ภควา อรหํ สัมมาสัมพุทโธ เช่นเราสวดนี้เอง เป็นแต่การบูชาอยู่ข้างจะเจือไปข้างฮินดู มีเรื่องสรงน้ำพระ เรื่องอาบน้ำอะไรเปรอะเปื้อนอยู่ตามลานวัด การที่ใจถืออย่างหนึ่งประพฤติภายนอกอย่างหนึ่งเช่นนี้ ก็มีเป็นลำดับต่อๆ มา จนถึงตัวศิวประสาทที่ข้าพเจ้าพบเอง เมื่อเวลาที่ได้พบในที่ประชุมการรับรอง แต่งตัวเป็นแขก แต่ครั้นเมื่อไปพบที่วัดและที่โรงเรียน ก็แต่งตัวนุ่งผ้าขาวปล่อยชายโจงชายอย่างเช่นฮินดู ตัวเขาได้เล่าเอง ว่าที่ต้องแต่งเป็นแขกเช่นนี้ก็เพราะเจ้าแผ่นดินแขกแต่ก่อนๆ ไม่ชอบแต่งตัวอย่างฮินดู จึงต้องแต่งหันเหียนตามพอเอาตัวรอด ลงมาจนฝรั่งไปเป็นใหญ่ในบ้านเมือง ไม่ได้บังคับกดขี่ในการแต่งตัว แต่ธรรมเนียมคนที่ทำราชการแต่งเป็นแขกติดมาแต่เมื่อเจ้าเป็นแขกก็ยังคงอยู่ การซึ่งถือศาสนาและประพฤติลัทธิหลบหลีกไปเช่นนี้ เป็นธรรมเนียมเคยมีมาในอินเดียตามลำดับ

เมื่อพราหมณ์มีสืบเนื่องกันมาช้านานหลายพันปีเช่นนี้ จึงเป็นที่นับถือของคนทั้งปวง ในหนังสือต่างๆ ซึ่งชนที่นับถือพระพุทธศาสนาแต่ง ที่สุดจนธรรมจักกัปปวัตนสูตรเป็นต้น ซึ่งอ้างว่าเป็นพุทธภาษิตแท้ ก็ยังเรียกสมณะกับพราหมณ์เป็นคู่กัน พราหมณ์เป็นที่นับถือไม่มีผู้ใดอาจหมิ่นประมาท ถ้าพราหมณ์เหมือนอย่างเช่นบ้านเราอย่างนี้แล้ว ก็เห็นจะไม่ยกขึ้นเป็นคู่กับสมณะ พราหมณ์เป็นที่นับถืออย่างเอกอย่างนับถือพระสงฆ์เช่นนี้ จึงได้เป็นที่สำหรับผู้ซึ่งปรารถนาความเจริญคืออยากจะให้ข้าวในนาบริบูรณ์ จึงเอาข้าวที่กำลังท้องมาทำยาคูเลี้ยงพราหมณ์ และกวนข้าวปายาสเลี้ยงพราหมณ์ เมื่อว่าเช่นนี้ก็จะมีที่สงสัยอยู่อย่างหนึ่ง ถ้าสิกล่าวไว้ว่า พราหมณ์จะรับของบริโภคจากผู้อื่นไม่ได้ เหตุใดคนทั้งปวงจึงจะทำยาคูข้าวปายาสไปให้พราหมณ์บริโภคได้เล่า อธิบายว่า ถ้ากุ๊กคือคนทำครัวเป็นพราหมณ์แล้วพราหมณ์ทั้งปวงบริโภคได้ การที่ต้องหานางพรหมจารีกวนข้าวทิพย์นี้ แต่เดิมจะเป็นนางพราหมณีซ้ำไปดอกกระมัง

เพราะการที่เป็นประเพณีในประเทศอินเดียซึ่งยังไม่มีพระในพุทธศาสนา หรือมีแล้วกระจัดกระจายไปอยู่เสียที่อื่น ทำบุญสารทคือฤดูข้าวรวงเป็นน้ำนมนี้แก่พราหมณ์ เมื่อการพระราชพิธีของพราหมณ์ตกเข้ามาในแผ่นดินสยาม ก็พลอยประพฤติตามลัทธิพราหมณ์ด้วย สมคำซึ่งนางนพมาศได้กล่าวไว้ ว่าเป็นฤดูที่ชนทั้งปวงกวนข้าวปายาส และทำยาคูเลี้ยงพราหมณ์ เมื่อสมณะและพราหมณ์เป็นคู่กันอยู่เช่นนั้น ผู้ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาในชั้นแรกที่เข้ารีตใหม่ เคยถือศาสนาพราหมณ์เดิมได้ทำบุญตามฤดูกาลแก่พราหมณ์มาอย่างไร ครั้นเมื่อมาเข้ารีตถือพุทธศาสนาแล้ว เมื่อถึงกำหนดที่ตัวเคยทำบุญ ผู้ใดเลยจะนิ่งเสียไม่ทำ เมื่อเชื่ออยู่ว่าพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญอันวิเศษยิ่งขึ้นไปกว่าพราหมณ์ ก็ต้องมาทำถวายพระสงฆ์ เหมือนเช่นเคยทำอยู่แก่พราหมณ์ ถ้าผู้ใดจะละทิ้งศาสนาพราหมณ์เดิมของตัวให้ขาดไม่ได้ เพราะความเกรงใจก็ลงเป็นทำทั้งสองฝ่าย ถวายทานแก่สมณะด้วยพราหมณ์ด้วย พิธีพราหมณ์จึงได้มาระคนปนเจือในพุทธศาสนา จนนางนพมาศซึ่งเป็นผู้ถือสองฝ่ายได้กล่าวว่า “ฝ่ายข้างพระพุทธศาสนาพระราชพิธีภัทรบทนี้ เป็นสมัยหมู่มหาชนทำมธุปายาสยาคูอังคาสพระภิกษุสงฆ์ และเลี้ยงสมณะพราหมณ์ ทั้งบูชาพระรัตนตรัยด้วยพรรณผ้ากระทำเป็นธงแล้วอุทิศส่วนกุศลผลบุญให้แก่ญาติอันไปสู่ปรโลก อันเป็นปรทัตตูปชีวีเปรตและนักขัตฤกษ์พระราชพิธีภัทรบทนี้ พุทธศาสน์ไสยศาสตร์เจือกันโดยโบราณราช” ตอนปลายที่กล่าวถึงทำธงและอุทิศต่อปรทัตตูปชีวีเปรตนี้ ความมุ่งหมายนางนพมาศจะกล่าวด้วยเรื่องข้าวกรู แต่ข้าพเจ้าไม่ประสงค์จะกล่าวถึงเรื่องนั้นในที่นี้ ประสงค์แต่เฉพาะความซึ่งนางนพมาศได้อ้างว่าเป็นพิธีพราหมณ์และสงฆ์เจือกัน แต่ข้าพเจ้าปฏิเสธว่าไม่เป็นพิธีสงฆ์ เป็นพิธีพราหมณ์มีผู้มาทำให้แก่สงศ์ จึงเลยติดมาเป็นพิธีสงฆ์ด้วย แต่การซึ่งทำทานเช่นนี้ เป็นการไม่มีโทษ จึงได้เป็นความประพฤติของผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาสืบต่อมา

เมื่อตรวจดูในคำประกาศ สำหรับการพระราชพิธีสารท ซึ่งเกิดกวนข้าวมธุปายาสหรือข้าวทิพย์ขึ้น จะมีมูลเหตุมาแต่อันใดก็ไม่ปรากฏชัดเหมือนอย่างยาคู ท่านก็คงค้นกันหนักแล้ว ที่จะหามูลเหตุให้เข้ารอยทางพระพุทธศาสนา ไปมีเงาอยู่ที่เรื่องนางสุชาดาถวายข้าวปายาสก่อนอภิสัมโพธิกาล แต่เขาก็ถวายในเดือนหก และเป็นการจร มิใช่การประจำปี จะไปยกเอามาเป็นมูลเหตุก็ขัดอยู่ จึงได้ไม่มีมูลเหตุในคำประกาศ เป็นแต่ว่าเคยทำมาแต่โบราณ ซึ่งที่แท้เป็นพระราชพิธีพราหมณ์นี้เอง แต่เรื่องยาคูนั้นค้นหลุดออกมาได้ พอยกเป็นมูลเหตุขึ้นประกาศเรื่องที่ค้นเอามาได้นั้น คือมาในคัมภีร์ธรรมบทแห่งหนึ่ง มาในคัมภีร์มโนรถบุรณีอีกแห่งหนึ่ง เป็นเรื่องเดียวกัน ว่าพระพุทธเจ้าทรงแสดงบุรพชาติของพระอัญญาโกณฑัญญที่ได้บำเพ็ญกุศล และปรารถนาที่จะตรัสรู้พระอรหัตผลวิมุติก่อนชนทั้งปวง ให้พระภิกษุทั้งหลายฟัง ว่าเมื่อพระพุทธวิปัสสีได้อุบัติในโลก กุฎุมพิกะสองพี่น้อง คนหนึ่งชื่อมหากาฬ คนหนึ่งชื่อจุลกาฬ หว่านข้าวสาลีลงในนาใหญ่แห่งเดียวกัน ภายหลังจุลกาฬน้องชายไปที่นาข้าวสาลีซึ่งกำลังท้อง ผ่าเมล็ดข้าวออกเคี้ยวกินเห็นว่ามีรสอร่อยหวาน จึงมีความปรารถนาที่จะทำทานข้าวสาลีที่กำลังท้องนั้นแก่พระสงฆ์ จึงไปบอกแก่พี่ชายตามความประสงค์ พี่ชายจึงว่าแต่ก่อนก็ไม่เห็นใครเคยทำมา ต่อไปภายหน้าก็คงจะไม่มีผู้ใดทำ อย่าทำเลยข้าวจะเสียเปล่า จุลกาฬก็ไม่ฟังอ้อนวอนอยู่บ่อยๆ พี่ชายจึงว่า ถ้าเช่นนั้นก็ให้ปันนาออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นของเรา ส่วนหนึ่งเป็นของเจ้า ส่วนของเจ้านั้นตามแต่จะทำเถิด จุลกาฬก็ยอมแบ่งที่นาเป็นสองส่วน แล้วจึงหาคนมาช่วยกันเก็บข้าวในนาส่วนของตัวผ่าเมล็ดข้าวซึ่งกำลังท้อง ให้ต้มด้วยน้ำนมสดล้วนไม่เจือน้ำท่า แล้วเจือเนยใส น้ำผึ้ง น้ำตาลกรวด เป็นต้น ถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ครั้นเสร็จการภัตกิจ จึงทูลความปรารถนาแด่พระพุทธเจ้าว่า คัพภสาลีทานนี้จงเป็นเหตุให้ข้าพเจ้าบรรลุธรรมวิเศษก่อนชนทั้งปวง ครั้นเมื่อจุลกาฬถวายทานแด่พระภิกษุสงฆ์แล้วไปคูนา ก็เห็นดาดาษไปด้วยรวงข้าวสาลี เหมือนคนผูกไว้เป็นช่อๆ ก็ให้เจริญความปีติยิ่งขึ้น ครั้นเมื่อเมล็ดข้าวควรจะเป็นข้าวเม่า ก็ให้ข้าวเม่าเป็นทานอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเกี่ยวข้าวอีกครั้งหนึ่ง เมื่อทำเขน็ด คือตะบิดฟางเป็นเชือกสำหรับมัดฟ่อนข้าวอีกครั้งหนึ่ง เมื่อทำฟ่อนอีกครั้งหนึ่ง เมื่อขนข้าวไว้ในลานอีกครั้งหนึ่ง เมื่อนวดข้าวอีกครั้งหนึ่ง เมื่อรวมเมล็ดข้าวอีกครั้งหนึ่ง เมื่อขนขึ้นฉางอีกครั้งหนึ่ง จึงเป็นอันได้ทำทานในฤดูข้าวกล้าอันหนึ่งถึงเก้าครั้ง ข้าวในนาจุลกาฬก็ได้บริบูรณ์ยิ่งขึ้นมิได้บกพร่องไป จุลกาฬซึ่งมาเป็นพระโกณฑัญญได้ทำทานเป็นการใหญ่อีกครั้งหนึ่งถึงเจ็ดวัน เมื่อพระประทุมุตรได้อุบัติในโลกนี้ ก็มีความปรารถนาอย่างเดียวกับที่ได้ปรารถนาไว้แต่ก่อน เพราะฉะนั้นพระอัญญาโกณฑัญญจึงได้ตรัสรู้เป็นองค์พระอรหันต์ก่อนพุทธสาวกทั้งปวง มีเรื่องราวที่ได้กล่าวถึงถวายข้าวอ่อนเป็นทานแก่พระสงฆ์ ให้ผลเป็นทิฏฐธรรมเวทนีย์มีมาในพระอรรถกถาดังนี้ จึงเป็นเหตุที่ยกมาประกอบเรื่องที่จะให้การพระราชพิธีหรือการพระราชกุศลอันนี้ เป็นอันทำตามที่มาในพระพุทธศาสนา ก็เป็นอันนับได้ว่าเป็นการกุศลซึ่งทำตามตัวอย่างชนที่นับถือพระพุทธศาสนาแต่ปางก่อนได้ทำมา จะถือว่าเป็นการจำเป็นที่ผู้ถือพระพุทธศาสนาจะต้องทำ เพราะมีข้อบังคับไว้ให้ทำ ซึ่งจะนับว่าเป็นพระราชพิธีในพระพุทธศาสนานั้นไม่ได้ แต่เมื่อว่าที่จริงแท้แล้ว ก็เป็นการเอาอย่างพราหมณ์ การพิธีเดิมนั้นเป็นของพราหมณ์ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่เรื่องตัวยาคูและข้าวปายาสที่กล่าวถึงในหนังสือต่างๆ ที่เป็นของทำในประเทศอินเดีย เราจะนึกหมายว่าข้าวปายาสเหมือนข้าวทิพย์ ยาคูเหมือนข้าวยาคูของเรานั้นเห็นจะไม่ได้

ข้าพเจ้าได้ให้ค้นตามหนังสือต่างๆ ที่กล่าวถึงอาหารสองอย่างนี้ จะให้ได้ความว่าทำอย่างไร เพราะเห็นว่าพระอรรถกถามักจะเล่าเรื่องอะไรต่างๆ ละเอียด ลางทีจะมีตำรากวนข้าวปายาส ตำราทำยาคู เหมือนอย่างตำราทำกับข้าวแขก ซึ่งมิสเตอร์เลนได้อธิบายในหนังสืออาหรับราตรีของเขาบ้าง ก็ได้ความรัวๆ ไปไม่ชัดเจน เห็นจะเป็นเพราะอาหารสองอย่างนี้เป็นของทำกันอยู่เสมอ กินกันอยู่บ่อยๆ จนไม่ต้องกล่าวถึง เหมือนกับจะหาตำราหุงข้าวปิ้งปลาในเมืองไทย ก็จะหาไม่ได้ นอกจากหนังสือประดิทินบัตรที่ว่าด้วยปากะวิชาซึ่งออกใหม่ในเร็วๆ นี้[๑] เพราะจืดรู้อยู่ทั่วกันแล้วไม่ต้องอธิบาย ได้ความแต่พอเป็นเค้าเหมือนอย่างเช่นข้าวยาคู ที่ได้กล่าวมาในเรื่องจุลกาฬ ก็ดูต้องผ่าต้องต้ม ไม่ได้ บีบคั้นเหมือนยาคูของเรา ผิดกันเสียตั้งแต่ตัวเมล็ดข้าวมาแล้ว เครื่องที่จะประกอบก็ใช้นมใช้เนยซึ่งเป็นอาหารทิพย์ของคนในประเทศนั้น เจือจานไปด้วยน้ำตาลเป็นยาคูหวาน ส่วนยาคูที่มีมาในพระวินัยที่พระสงฆ์ตื่นขึ้นเช้า ดื่มยาคูก่อน เป็นอาหารเช้าอย่างเหลวๆ เช่นฝรั่งจะเรียกว่าไลต์ฟูด จะว่าเป็นข้าวต้มก็ไม่ใช่ ดูเหลวกว่าเพราะดื่มได้ แต่ในหนังสือบุพสิกขาวัณนาที่พระอมราภิรักขิต (เกิด) แต่ง และหนังสือพระวินัยคำแปลตีพิมพ์ ที่สมเด็จพระวันรัต[๒]แต่ง ท่านแปลคำข้าวยาคูนี้ว่าข้าวต้มทุกแห่ง ที่แปลว่าข้าวต้มนั้นเห็นจะเป็นความประสงค์ที่จะให้คนไทยเข้าใจซึบซาบโดยง่าย เพราะถ้าจะแปลว่ายาคู ก็จะต้องเข้าใจว่าเป็นของหวานที่เจือใบข้าวสีเขียวๆ เช่นเลี้ยงพระพิธีสารท ที่ไม่มีเวลาที่พระสงฆ์จะฉันนอกจากการพระราชพิธีหรือการจรเป็นครั้งเป็นคราว ถ้าใช้ว่าข้าวต้มแล้วก็เป็นถูกกับที่พระสงฆ์จะพอใจฉันอยู่เนืองๆ ท่านกล่าวในหนังสือนั้นประสงค์ความประพฤติของพระสงฆ์ มิได้ประสงค์จะกล่าวถึงประเภทแห่งยาคูว่าเป็นอย่างไรๆ ยาคูหรือข้าวต้มที่มีมาในพระวินัยนี้ ยังมีแปลกออกไปอีกกว่าของเราทั้งสองอย่าง คือเจือขิงเจือใบกะเพราและเกลือ จะทำให้รสเค็มๆ ฉุนๆ ไปข้างเทือกสะกดลมสะกดแล้งอะไร เช่นคนแก่ๆ พอใจกินข้าวต้มกับเกลือและพริกไทยหรืออย่างไร ยาคูเช่นนี้พระสงฆ์ฉันในเวลาเช้าก่อนเวลาฉันอาหาร จึงเป็นอันฉันอาหารสวยอยู่แต่วันละหนเดียว ไม่ได้ฉันข้าวสวยเช้าเพลเหมือนพระสงฆ์ทุกวันนี้ บิณฑบาตจึงได้เป็นครั้งเดียวก็พอ คงได้ความว่ายาคูมีสองอย่าง คือยาคูเค็มที่เป็นข้าวต้มอย่างหนึ่ง ยาคูหวานที่เป็นข้าวอ่อนต้มเจือน้ำตาลอีกอย่างหนึ่ง ถ้าจะเทียบกับข้าวยาคูของเรา ก็จะใกล้ข้างยาคูหวาน แต่รสชาติสีสันและกิริยาที่ทำต่างกันแท้ไม่เหมือนเลย

ข้าวปายาสนั้นยิ่งมืดหนักไปในที่กล่าวถึง เมื่อนางสุชาดาหุงถวายพระพุทธเจ้า ก็ได้ความแต่ว่าหุงด้วยนมโคสด ในมงคลทีปนีว่าด้วยนิทานเศรษฐีขี้ตระหนี่ หุงข้าวปายาสกิน ก็ว่าใช้ข้าวสารน้ำตาลน้ำนมดูไม่เหมือนกับข้าวทิพย์ที่เรากวน ไกลมากไปยิ่งกว่ากระยาสารท กระยาสารทดูยังใกล้ข้าวปายาสนั้นมาก แต่ไปมีกรอบๆ กรุบๆ เสียด้วย จึงได้ชักให้ผิดเรื่องไป จนทำให้เห็นว่าข้าวเหนียวแก้วหรือข้าวเหนียวแดงจะใกล้กว่า แต่ขึ้นชื่อว่าอาหารของไทยจะไปเปรียบกับของพวกประเทศอินเดียแล้ว เป็นต้องไม่เหมือนกันอยู่ยังค่ำ ถึงโดยจะไปได้ตำรามาชัดเจนหุงขึ้นเป็นไม่มีใครกินได้เป็นแน่ เพราะขึ้นชื่อว่าเนยแล้ว เป็นของพึงเกลียดของคนไทยอย่างยิ่ง แต่เป็นอาหารที่มีรสอร่อยของชาวอินเดียอย่างยิ่ง เหมือนกับกะปิเป็นของพึงเกลียดของคนชาติอื่น แต่เป็นของอร่อยอย่างยิ่งของคนไทยโดยมาก บรรดากับข้าวอันใดถ้าเจือนมเนยก็เป็นกับข้าววิเศษ น้ำมันเนยนั้นใช้แทนกะทิด้วย ใช้แทนน้ำมันด้วย ถ้าจะเทียบข้าวปายาสที่ทำสองพันสี่ร้อยปีเศษล่วงมาให้ได้จริง เทียบกับอาหารของพวกฮินดู หรือพวกแขกจะใกล้กว่าเทียบอาหารไทยมาก เมื่อข้าพเจ้าไปที่เมืองพาราณสี พระเจ้าพาราณสีจัดของมาเลี้ยง ตั้งโต๊ะอย่างฝรั่งแต่มีซ่อมช้อนเฉพาะตัว คล้ายกันกับเลี้ยงโต๊ะอย่างไทยโบราณ บนโต๊ะนั้นตั้งอาหารเต็มไปทั้งโต๊ะ มีเป็ดไก่ปิ้งย่างอย่างไรแล้วปิดทองคำเปลวทั้งตัว มีขนมต่างๆ ที่ปิดทองคำเปลวหลายอย่างตั้งรอบใน แล้วมีชามข้าวตั้งอยู่ริมจานที่วางซ่อมช้อนมีมากหลายที่รายไปรอบโต๊ะ ข้าวเช่นนั้นแลเห็นเป็นเม็ดข้าวเหมือนข้าวเหนียวแก้ว แต่สีเหลืองๆ เป็นมันย่อง ที่มีเม็ดจิสมิดโรยก็มี มีอะไรเป็นชิ้นๆ คล้ายฟักฉาบเครื่องจันอับเจ๊กอยู่ในนั้นก็มี ชิมดูมีรสหวานจัด มีรสน้ำมันเนยและกลิ่นกล้าจนกินไม่ได้ ไม่มีข้าวอย่างขาวๆ เลี้ยงเลย ต้องหันไปกินเป็ดกินไก่ทั้งนั้น ข้าวปายาสคงจะเป็นข้าวคล้ายๆ เช่นนี้ เห็นจะไม่ละเอียดเหมือนข้าวทิพย์ และไม่กรอบเหมือนกระยาสารท ตกลงเป็นข้าวทิพย์และกระยาสารทของเรานี้ก็เป็นอย่างไทย ทำสำหรับคนไทยกินอร่อย เป็นแต่ยืมชื่อของเก่ามาใช้เท่านั้น

ข้าวทิพย์ที่เรากวนอยู่ ในการพระราชพิธีทุกวันนี้ เห็นจะเกิดขึ้นด้วยนึกเอาเอง ดูตั้งใจจะให้มีถั่วงานมเนยและผลไม้ต่างๆ ให้พร้อมทุกอย่าง เป็นอันรวบรวมรสต่างๆ มาลงเป็นอันหนึ่งอันเดียวจนเรียกกันในคำประกาศว่าอเนกรสปายาส สิ่งของที่ใช้ในเครื่องกวนนั้น เมื่อตรวจดูตามบัญชีจ่ายของ มีจำนวนคือ ถั่วดำ ถั่วขาว ถั่วแม่ตาย ถั่วราชมาษ อย่างละ ๓ ถัง ถั่วเหลือง ๓ ถัง ๑๐ ทะนาน ถั่วทอง ถั่วเขียวอย่างละ ๔ ถัง ถั่วลิสง ๖ ถัง เมล็ดงา ๕ ถัง ผลเดือย ๓ ถัง ๑๐ ทะนาน สาคูวิลาด ๒ ถัง สาคูลาน ๑ ถัง เมล็ดแตงอุลิด ๓ ถัง ข้าวโพด ๓๐๐๐ ดอก ข้าวฟ่าง ๒๐๐๐ รวง ข้าวเม่า ๕ ถัง เผือก มันเทศ อย่างละ ๓๐๐ ศีรษะ กระจับสด แห้วไทย อย่างละ ๓ ถัง ข้าวสารหอม ๒ ถัง ผลไม้แดง ๑๐ ทะนาน ผลบัว ผลมะกล่ำใหญ่อย่างละ ๓ ถัง น้ำนมโค ๑๐ ทะนาน เนย ๔ ทะนาน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยอย่างละ ๑๐ ทะนาน มะพร้าวแก่ ๕๕๐ ผล มะพร้าวอ่อน ๕๐๐ ผล ชะเอมเทศหนัก ๔ ชั่ง น้ำตามกรวดหนัก ๒๕ ชั่ง น้ำตาลทรายหนัก ๕๐ ชั่ง น้ำตาลหม้อ ๓๐๐ หม้อ ข้าวตอกขนมปังจืดไม่มีกำหนด ผลไม้สดที่หาได้ คือทับทิม น้อยหน่า เงาะ ลางสาด ละมุด พลับสด สาลี่ แห้วจีน กล้วยหอม กล้วยไข่ กล้วย ส้มต่างๆ คือ ส้มเขียวหวาน ส้มมะแป้น ส้มซ่า ส้มเกลี้ยง ส้มตรังกานู ผลไม้แห้ง คือ ลิ้นจี่ ลำไย พุทราริ้ว พลับแห้ง อินทผลัม ผลไม้แช่อิ่ม คือ ผลชิด ผลสะท้าน ผลไม้กวน คือ ทุเรียนกวน สับปะรดกวน และข้าวอ่อนที่เป็นน้ำนม ชะเอมสด อ้อยแดง ของเหล่านี้ไม่มีกำหนดว่าเท่าไร แต่ครั้นเมื่อสอบถามตามที่ได้กวนจริงๆ ประสมส่วนอย่างไร ไปได้ความว่า ได้ใช้ถั่วต่างๆ อย่างละ ๒ ถัง คงเหลืออย่างละถังหนึ่งบ้างสองถังบ้าง งาใช้สามถัง คงเหลือสองถัง ผลไม้แดงใช้ ๕ ทะนาน เหลือ ๕ ทะนาน มะกล่ำใหญ่ได้ใช้แต่ ๕ ทะนานเท่านั้น เหลือถึง ๕๕​ ทะนาน ผลเดือยกับผลบัวใช้อย่างละถัง เหลืออย่างละ ๒ ถัง ข้าวฟ่างข้าวโพดนี้ใช้อย่างละ ๒๐๐ ฝัก เหลือถึงพันเศษสองพันเศษ เมล็ดแตงอุลิตใช้ถังเดียว เหลือสองถัง นมนั้นไม่ได้ความว่าใช้อย่างไร แต่เนยแล้วโถน้ำวุ้นเดียวเป็นแน่ ซึ่งว่า ๔ ทะนานนั้นจะชั่งอย่างไรไม่ทราบ สาคูลานใช้หมด สาคูวิลาดเหลือถังหนึ่ง ชะเอมเทศจ่ายหนัก ๔ ชั่ง แต่ได้ใช้เล็กน้อย เผือก มันเทศจ่ายอย่างละ ๓๐๐ ใช้อย่างละยี่สิบสามสิบศีรษะเท่านั้น น้ำตาลกรวด น้ำตาลทราย น้ำตาลหม้อ มะพร้าวอ่อน มะพร้าวแก่เหล่านี้ ไม่ได้ความว่าใช้สิ้นสักเท่าใด แต่เห็นจำนวนจ่ายมากมายนัก ถ้าประมาณดูกับส่วนที่ลด ก็คงจะเหลือกว่าครึ่งตัว เพราะฉะนั้นการที่จะเอาส่วนแน่ของข้าวทิพย์นั้นไม่ได้ เจ้าพนักงานผู้กวนแก้ไขออดแอดไปว่าของเหลือก็ใช้ในการพระราชกุศลอื่นๆ ต่อไป แต่ที่จริงก็เห็นจะเป็นสีเหลืองไปเสียนั้นและโดยมาก วิธีที่จะระคนสิ่งของทั้งปวงนี้ให้เป็นผงสำหรับกวนนั้น คือของที่ควรจะหั่นฝานเป็นชิ้นเล็กๆ ก็หั่นฝาน ที่ควรจะโขลกตำก็โขลกตำ ที่ควรจะเปียกจะหุง เช่น สาคูวิลาด สาคูลาน ผลเดือย ข้าวสารหอม ก็เปียกก็หุงเคล้าด้วยของทั้งปวง น้ำตาลสำหรับกวนมีชื่อต่างๆ คือ น้ำผึ้ง น้ำอ้อยสด น้ำอ้อยแดง น้ำตาลกรวด น้ำตาลทรายนั้นก็ดูเป็นแต่สังเขป ที่ใช้จริงๆ เป็นพื้นนั้นก็น้ำตาลหม้ออย่างเดียว กะทิที่ใช้, ใช้คั้นด้วยน้ำมะพร้าวอ่อน เป็นอันได้เจืออยู่ทั้งมะพร้าวอ่อนมะพร้าวแก่ ชะเอมเทศ ชะเอมสด ข้าวอ่อนที่เป็นน้ำนมใช้ลงครกโขลกเจือน้ำคั้น น้ำที่ใช้นั้นใช้น้ำมนต์ ผลไม้ที่ควรจะคั้นน้ำเช่นทับทิมและส้มต่างๆ นั้นก็คั้นน้ำสำหรับใช้เจือเมื่อเวลากวน พร้อมกับเนยด้วย ฟืนที่ใช้ติดไฟเคี่ยวกะทิและกวนนั้นใช้ไม้ชัยพฤกษ์และไม้พุทราสองอย่าง เชื้อไฟก็ใช้ส่องด้วยแว่นซึ่งเรียกว่าไฟฟ้า เมื่อตรวจดูเครื่องที่ใช้ในข้าวทิพย์ของเรา ซึ่งเห็นว่าเป็นเนื้อหนังอยู่นั้นก็คือเรื่องข้าวๆ และกะทิกับน้ำตาลเป็นขนมอย่างไทยๆ ที่เอาผลไม้ต่างๆ มาเจือนั้น ไม่ได้นึกหวังจะให้รสผลไม้นั้นรู้สึกเลย เป็นแต่สักว่ามีอยู่ในนั้น เรื่องนมเนยมีพอให้สมกับที่เป็นพิธี ที่แท้ก็ได้เจือกระทะละช้อนซุบ ๑ หรือสองช้อนเท่านั้น ไม่ได้เกินกว่านั้นเลย แต่กระนั้นอุปาทานของคนไทยๆ เรา ที่รู้ว่าเจือเนยด้วย ไม่เข้าใจชัดว่า เจือสำหรับออกชื่อให้ดังครึ บางคนกินไม่ได้เลยร้องว่าเหม็นเนย ลางคนก็ทักว่าปีนี้เหม็นเนยไป มีบ่นกันแทบทุกปี แต่ที่แท้นั้นเหม็นชื่อเนยจริงๆ ไม่มีตัวเนยที่สำหรับพอจะให้เหม็นได้เลย นี่เป็นตัวอย่างที่ให้เห็นความเกลียดเนยของไทยได้ ถ้ากวนอย่างแบบอินเดียจริงๆ แล้ว เป็นต้องเหลือทั้งแปดกระทะ ถึงจะปั้นลูกกลอนกลืนตามแบบคนที่เกลียดเนยที่มีเป็นอันมาก ก็คงถึงกระท้อนกลับเป็นแน่

การกวนข้าวทิพย์ ถึงว่าไม่ได้ออกชื่อในหนังสือเก่าๆ ชัดเจน ก็คงจะได้กวนมาแต่ครั้งกรุงเก่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงโปรดให้มีการกวนข้าวทิพย์ในรัชกาลที่ ๑ นั้นตลอดมา ใช้พระเจ้าลูกเธอฝ่ายในทรงกวนทั้งสิ้น

ตามที่ถือกันว่า ผู้ซึ่งสำหรับกวนข้าวทิพย์นั้นต้องเป็นสาวพรหมจารี คือที่ยังไม่มีสามีนั้นประการหนึ่ง อีกนัยหนึ่งคือหญิงซึ่งยังไม่มีระดูกล่าวว่าเป็นพรหมจารีแท้ แต่การที่ถืออย่างหลังนี้ อยู่ข้างจะมาจากซึมซาบ ก็ถ้าจะคิดตามคำที่ว่าพรหมจารี ซึ่งตามสำนวนในพุทธศาสนา คือผู้ที่ประพฤติอย่างพรหม ไม่บริโภคกามคุณ ผู้ซึ่งยังไม่มีระดูปราศจากเดียงสา จะถือว่าประพฤติอย่างพรหมอย่างไรได้ เพราะไม่ได้คิดจะละเว้น เป็นแต่ยังไม่ถึงกำหนด ถ้าจะใช้พรหมจารีให้แท้แล้วดูเหมือนจะต้องใช้ผู้ที่บริโภคกามคุณได้ แต่หากมาละเว้นเสียเพื่อจะประพฤติให้เหมือนพรหม แต่คำว่าพรหมจารีที่มีมาในคัมภีร์พราหมณ์ ซึ่งเรียกว่ามหาภารตะนั้น ดูต่างกันกับพรหมจารีที่มีมาในพระพุทธศาสนา เขากล่าวปริยายไว้ในเรื่องจำแนกพวกผู้ประพฤติตน ๔ จำพวก จำพวกหนึ่งเรียกว่าคฤหัสถ์ จำพวกหนึ่งเรียกว่าภิกษุ จำพวกหนึ่งเรียกว่าพรหมจารี จำพวกหนึ่งเรียกว่าวันปรัษฏ์ ในจำพวกที่เรียกว่าพรหมจารีนั้น จำจะต้องประพฤติ คือเวลาที่อยู่ด้วยอาจารย์ต้องรับคำสั่งสอน และทำตามซึ่งอาจารย์จะบังคับให้ทำ และจำจะต้องรับการงานของอาจารย์ ไม่ต้องรอคำสั่งอาจารย์ก่อน จำจะต้องตื่นก่อนนอนภายหลังอาจารย์ จำจะต้องเป็นผู้อ่อนน้อมและต้องอดกลั้นความปรารถนาทั้งปวงให้อยู่ในบังคับตัว และต้องอดกลั้นคือตั้งอยู่ในขันตี เป็นผู้มีพยายามกล้า และมีความเพียรที่จะเล่าเรียน ต่อเป็นผู้ที่ประพฤติเช่นนี้ จึงเป็นผู้ควรที่จะคิดว่าจะสำเร็จได้สมหมาย ความประพฤติของพรหมจารีที่กล่าวมานั้น ดังนี้ แต่ความมุ่งหมายของพรหมจารีที่มุ่งจะได้นั้นคือได้ความรู้ที่ได้เล่าเรียนเวท ซึ่งเป็นตัวคัมภีร์เดิมที่พระพรหมหยิบออกจากกองเพลิงเป็นต้น และเวทางค์ซึ่งเป็นวิชาประกอบกันกับเวท ๖ ประการ มีวิชาโหรเป็นต้น และศาสตระคือกฎหมายแบบอย่างความประพฤติสำหรับตัดสินผิดและชอบ มีมนูสารศาสตร์เป็นต้น และมนตร์ คือถ้อยคำที่สวดเสกอ้อนวอนต่อพระเป็นเจ้าหรือคำอธิษฐาน วิชาทั้งปวงนี้เป็นพื้นที่สำหรับพวกพรหมจารีจะเล่าเรียน ถ้าอาจารย์นั้นมีวิชาวิเศษยิ่งขึ้นไป คือวิชาสัญชีวะชุบชีวิตที่ตายให้กลับเป็นขึ้นได้เป็นต้น เมื่ออยู่ไปกับอาจารย์ อาจารย์ชอบใจในการปฏิบัติที่ตัวได้ทำเมื่อใด ก็ประสิทธิ์วิชานั้นให้ นับว่าเป็นจบพรหมจารีที่ตนได้ตั้งความเพียร ในเวลาเมื่อตั้งอยู่ในพรหมจารีนั้น ก็ย่อมตั้งความเพียรในการที่จะทรมานกายเพ่งต่อฌานสมาบัติไปด้วย ผู้ที่ประพฤติพรหมจารีเช่นนั้น ย่อมมีเวลาจะละความเพียรมามีภรรยา หรือมีภรรยาไปด้วย ในเวลาตั้งความเพียรไปเช่นนี้ ดูคำที่เรียกว่าพรหมจารีนั้น ไม่ประสงค์จะแปลความว่าละการบริโภคกามเหมือนอย่างพรหมจารีในพระพุทธศาสนา ประสงค์เอาความเพียรที่จะให้ได้วิชา และจะให้บรรลุฌานสมาบัติซึ่งจะทำให้เป็นพรหมเป็นที่ตั้งพรหมจารีมีเป็นสองอย่างอยู่เช่นนี้ พรหมจารีที่ใช้กวนข้าวทิพย์นี้ จะหมายเอาพรหมจารีพวกใดก็ไม่ทราบ แต่ตามความเห็นของข้าพเจ้า จะคิดลึกเกินไปหรือประการใดสงสัยอยู่ เห็นว่าคำที่เรียกผู้กวนข้าวทิพย์ว่าสาวพรหมจารีนี้ เดิมจะเป็นพราหมณีดอกกระมัง ข้อที่ถือตามซึมซาบกันอยู่ต่อไปอีกว่านางพรหมจารีนั้นต้องเป็นคนที่ยังไม่มีระดู จึงจะเป็นพรหมจารีแท้นั้นเล่า ถ้าจะคิดไปตามทางที่ว่าพรหมจารีเป็นพรหมณีแล้ว ก็จะเคยใช้นางพราหมณีที่ยังไม่มีสามี ธรรมดาพราหมณีที่มีระดูแล้ว ก็มีสามีทั้งสิ้น หรือถ้าไม่มีสามีก็คงเป็นคนเสียคนแล้ว จะมาใช้ในการมงคลไม่ควร จึงต้องเป็นการเลือกฟั้นเอานางพราหมณีซึ่งยังไม่มีระดูที่เป็นคนบริสุทธิ์มากวน การที่เราพลอยถือไปว่า ต่อเด็กที่ยังไม่มีระดูจึงจะเป็นพรหมจารีแท้นั้น จะเป็นด้วยฟังแว่วๆ ในเรื่องเขาเลือกนางพราหมณี แต่ไม่รู้มูลเหตุและลัทธิศาสนาพราหมณ์จึงได้เข้าใจกันเป็นการซึบซาบรวมๆ สืบมา ก็ถ้าหากเมื่อว่าการกวนข้าวทิพย์ เป็นการจำเป็นจะต้องใช้นางพราหมณีซึ่งยังไม่มีสามีเช่นว่ามาแล้วนี้ พราหมณ์ในเมืองไทยเรานี้มีน้อย จะหาธิดาพราหมณ์ซึ่งยังไม่มีกำหนดอาวาหะวิวาหะมงคลได้ยาก จะมีเวลาขัดข้องในการที่จะทำพระราชพิธีขึ้น พระเจ้าแผ่นดินองค์ใดองค์หนึ่งจึงได้ทรงตัดสินว่า เมื่อไม่มีธิดาพราหมณ์จะกวนข้าวทิพย์แล้ว เอาลูกเจ้านายที่นับว่าเป็นขัตติยชาติสูงกว่าตระกูลพราหมณ์มากวนจะไม่ได้หรือ ท่านพราหมณ์ผู้จะทำพิธีนั้น ก็ค่อนจะอยู่ข้างเรียวลงด้วย จะหาธิดาพราหมณ์ก็ไม่ได้ด้วย จึงได้ตกลงเป็นว่ายอมใช้ได้ตามกระแสพระราชดำริ การกวนข้าวทิพย์จึงได้ยกเป็นหน้าที่ของลูกเจ้านายกวน แต่เลือกเอาลูกเจ้านายเป็นพรหมจารี คือที่ไม่มีสามีเป็นพรหมจารีตามอย่างพระพุทธศาสนา ที่ทรงพระเยาว์ให้ได้ขนาดกับนางพราหมณีซึ่งยังไม่มีสามีที่เคยกวนมาแต่ก่อนนั้นด้วย จึงได้เรียกว่าสาวพรหมจารี และวิธีที่เลือกเด็กอายุอ่อนที่กลายเป็นซึมซาบไป จึงได้ยังเหลือซึมซาบอยู่จนบัดนี้

ครั้นต่อมาในรัชกาลที่ ๒ ที่ ๓ การกวนข้าวทิพย์ละเว้นไป คงมีแต่ยาคูเสมอมา ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ กวนข้าวทิพย์พึ่งมาเกิดขึ้นใหม่อีกในรัชกาลที่ ๔ การที่เปลี่ยนแปลงในวิธีที่ทำก็คงจะมีหลายอย่าง ที่จับได้ชัดเช่นขนมปังดังนี้ แต่ก่อนคงไม่มี แต่ในครั้งนั้นใช้หม่อมเจ้า ลูกเจ้านายต่างกรมยังไม่ได้ตั้งกรม ไม่เฉพาะแต่ที่ยังทรงพระเยาว์ กวนเรื่อยไปจนเป็นสาวใหญ่ๆ เช่น หม่อมเจ้าทับทรวงในพระองค์เจ้าเกยูรเป็นต้นก็มี ทรงพระปรารภจะให้พระเจ้าลูกเธอกวนอยู่ไม่ขาด แต่ยังทรงพระเจริญไม่พอ ก็พอเสด็จสวรรคตเสีย ครั้นในแผ่นดินปัจจุบันนี้ ใช้ตามแบบรัชกาลที่ ๔ แต่ได้มีพระเจ้าน้องนางเธอและพระเจ้าลูกเธอกวนสองคราว การที่ตกแต่งกันอยู่ข้างใหญ่โต และที่ที่กวนก็ไม่เป็นปฏิรูปเทศจึงไม่ได้เป็นการติดต่อกันไปทุกปี กลับลงเป็นอย่างเก่า ครั้นนานมาหม่อมเจ้าที่ทรงพระเยาว์มีน้อย หม่อมเจ้าที่ขึ้นบัญชีใหม่ชั้นหลังยังไม่ทรงพระเจริญ ด้วยต้องหาในระหว่างเกศากันต์แล้วแต่ยังไม่ทันเป็นสาวใหญ่ ก็หายากขึ้นทุกปี ลงต้องมีหม่อมราชวงศ์เจือปน นานเข้าก็เรื่อยลงไปจนหม่อมหลวง เมื่อชั้นหลังๆ ลงมานี้ ถึงคนสามัญเข้าปลอมใช้บ้างก็มี แต่ต่อไปภายหน้า ถ้าเจ้านายชั้นหลังทรงพระเจริญแล้ว ก็คงจะไม่ต้องมีคนอื่นเจือปน การแต่งตัวฟังสวดของพวกสาวพรหมจารีนี้ แต่ก่อนมาก็เห็นจะนุ่งขาวทั้งสามวัน แต่ครั้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้แต่งเครื่องสีสองวัน ในวันที่แต่งเครื่องสีนั้นนุ่งจีบ แต่วันกวนข้าวทิพย์นุ่งขาว เดิมก็ใช้นุ่งจีบ แต่เจ้านายที่ต้องกวนข้าวทิพย์มักเป็นเด็กๆ ไม่รักษากิริยาให้เรียบร้อย ผ้านั้นบางและแข็งเดินปลิวกระจุยกระจายไป จึงโปรดให้นุ่งโจงกระเบนเสีย ว่าที่จริงดูก็ควรจะนุ่งขาวทั้งสามวัน ตามธรรมเนียมที่ฟังสวดทั้งปวงใช้นุ่งขาวเป็นพื้น ยกเสียแต่งานบ่าวสาว เพราะเห็นว่าแต่งตัวนุ่งขาวไม่มีสีสัน ทำให้ผู้ที่แต่งนั้นเสียสวยไป การที่ฟังสวดพิธีสารทนุ่งห่มสีนี้ ก็เห็นจะเป็นเรื่องจะให้สวยนั้นเอง ใช้สวมสังวาลสายสร้อยผูกของข้อพระหัตถ์พระบาท เว้นแต่ที่สาวโตแล้วก็ใช้แต่สังวาลและสายสร้อย แต่พระองค์เจ้ากวนในชั้นหลังนี้ ทรงผ้าเยียรบับ ทรงสะพักตาดปัก ที่ยังทรงพระเยาว์ก็ใช้เครื่องประดับเต็มที่ แต่ที่ทรงพระเจริญแล้วไม่ได้ใช้พระสังวาล แต่งอย่างไปกฐิน ปีที่พระองค์เจ้ากวนนั้นคราวใด ก็เป็นการครึกครื้นใหญ่คนดูหลายร้อยคน แต่บางปีที่มีแต่การพระราชพิธีไม่มีกวนข้าวทิพย์ก็มีบ้าง เหมือนอย่างเวลาพระบรมศพอยู่บนพระมหาปราสาทเป็นต้น

ส่วนในการพระราชพิธีที่พราหมณ์ตั้งนั้น ตั้งตามแบบ เหมือนพิธีอื่นๆ ที่ในพระบรมมหาราชวัง ไม่มีแปลกประหลาดอันใดเลย การพิธีสงฆ์พระแท่นมณฑลจัดคล้ายพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ แต่ยกพระบรมธาตุและพระพุทธรูปต่างๆ เสียทั้งสิ้น คงอยู่แต่พระชัยวัฒน์ประจำรัชกาลที่ ๕ ไม่มีเทียนชัย เพราะไม่ได้สวดภาณวาร ที่พระแท่นสำหรับพระสงฆ์สวดเป็นที่ตั้งสิ่งของต่างๆ ซึ่งจะใช้ในการกวนข้าวทิพย์ พระสงฆ์ที่สวดมนต์เปลี่ยนกันทั้งสามวัน คือใช้พระราชาคณะ พระครูเจ้าวัด พระครูนิตยภัตร พระมหาดเล็กบางองค์ ซึ่งได้รับพุ่มในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่ได้บิณฑบาตในพระบรมมหาราชวัง ปันกันเป็นสามพวก วันแรกคณะใต้ วันกลางคณะเหนือ วันหลังคณะกลาง และคณะธรรมยุติกา พระสงฆ์มากบ้างน้อยบ้างขึ้นๆ ลงๆ ตามที่มีตัว ไม่กำหนดแน่ได้ แต่คงไม่ต่ำวันละ ๓๐ ไม่เกินวัน ๔๐ รูป ตั้งสวดเริ่มพระราชพิธีในเวลาบ่ายวันแรมสิบสามค่ำ สาวพรหมจารีที่มานั่งฟังสวดนั่งในฉาก มีสายสิญจน์โยงมงคลเหมือนอย่างเจ้านายโสกันต์ ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการแล้ว อาลักษณ์อ่านคำประกาศ คำประกาศเดิมเป็นคำร้อยแก้วคล้องจองกันไม่มีกำหนด แต่ภายหลังพระยาศรีสุนทรโวหาร[๓] แต่งขึ้นเป็นคำร่าย ได้ใช้อยู่ทุกวันนี้ เริ่มคำประกาศนั้น รับพระบรมราชโองการประกาศแก่พระสงฆ์ซึ่งจะสวดพระพุทธมนต์ และเทพยดาซึ่งรักษาพระนครและในสถานที่ต่างๆ ในประกาศนี้ออกพระนามย่ออย่างกลาง ทรงพระราชดำริว่า การกวนข้าวทิพย์เป็นพระราชพิธีเคยทำมาแต่โบราณ ทั้งเป็นเวลาที่ได้ถวายทานยาคูในเวลาที่ข้าวเป็นน้ำนม ซึ่งเกิดมีขึ้นแต่ปฐมรัชกาล การกวนข้าวปายาสนั้น เป็นพิธีเพื่อจะให้เกิดสวัสดิมงคลแก่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการบรรดาที่อยู่ในกรุงเทพฯ รับพระราชทานระงับโรคภัยอันตรายต่างๆ ส่วนยาคูนั้น นับว่าเป็นเหตุที่จะป้องกันข้าวในนามิให้มีอันตราย ด้วยมีนิทานกล่าวมาว่าพระโกณฑัญญะเมื่อเป็นกุฎุมพีจุลกาฬ ได้ถวายยาคูแก่พระสงฆ์สาวกพระพุทธวิปัสสี ข้าวในนาก็งามบริบูรณ์ขึ้นเป็นทิฏฐธรรมเวทนีย์ ทรงพระราชดำริเห็นว่าควรจะทำ จึงให้นำข้าวรวงซึ่งเป็นน้ำนมมาจ่ายแจกไปให้พระบรมวงศานุวงศ์ทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน และข้าราชการ ทำยาคูและโถฟักเหลืองเป็นภาชนะที่รอง ประดับด้วยดอกไม้ต่างๆ เป็นประณีตทานถวายพระสงฆ์ เสด็จพระราชดำเนินออกเลี้ยงพระสงฆ์สามวัน จึงมีพระบรมราชโองการ ให้ประกาศแก่พระสงฆ์ซึ่งจะสวดพระพุทธมนต์ขอให้มีจิตมั่นด้วยเมตตา และยึดเอาคุณพระรัตนตรัยทั้งสามเป็นที่พึ่ง และด้วยอำนาจพระรัตนตรัยอันเป็นนิรัติศัยบุญเขต ขอให้เกิดสวัสดิมงคลและระงับโรคภัยแก่ผู้ที่ได้รับพระราชทานข้าวปายาสนี้ และขอให้เทพยดาจงนำสุรามฤตย์มาเจือโปรยปรายในอเนกรสปายาส ให้คุ้มกันสรรพอันตรายทุกประการ ต่อไปจึงเป็นคำอธิษฐานว่าด้วยอำนาจพระมหากรุณาของพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งมีแก่ประชาชนทั้งปวง และอำนาจพระราชกุศลที่ได้ทรงบำเพ็ญในเวลานี้ จงให้มีพระชนม์ยืนนานปราศจากพระโรค ให้ศัตรูเป็นที่เกรงขาม และขอให้ฝนตกเติมเพียงพองามในเวลาที่ข้าวเป็นรวง และผลไม้ต่างๆ เมื่อถึงฤดูก็ให้ออกบริบูรณ์ทั่วทุกสิ่งทุกอย่าง ด้วยอำนาจบุญฤทธิ์พระเจ้าแผ่นดิน ผู้บำรุงข้าราชการและประชาราษฎร คำสัตย์ซึ่งได้กล่าวนี้ ขอให้สำเร็จเป็นสวัสดีเทอญ

เมื่ออ่านประกาศแล้วพระสงฆ์จึงได้สวดมนต์ วันแรกสวดจุลราชปริต วันกลางสวดมหาราชปริต วันหลังสวดธรรมจักกัปปวัตนสูตรและมหาสมัยสูตร รุ่งขึ้นเลี้ยงพระ วันแรกเป็นโถยาคูข้าราชการ วันที่ ๒ เป็นของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้า วันที่ ๓ เป็นของพระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายใน

วิธีที่ทำโถยาคูกัน แต่ก่อนๆ มาทราบว่าใช้ฟักเหลืองกลึงเป็นรูปต่างๆ ประดับด้วยดอกไม้ฟักทองมะละกอย้อมสีเครื่องสด มีกระบะหรือถาดรองใบหนึ่ง ที่ใช้เป็นโต๊ะไม้รองบ้างก็มีแต่อย่างย่อมๆ ชมกันในขบวนฝีมือช่างแกะฟักทองมะละกอเลียนดอกไม้สด แต่ที่ทำนั้นไม่ต้องเหมือนดอกไม้จริง จะให้งามขึ้นไปกว่ากี่ร้อยเท่าก็ได้ ถ้ายิ่งงามขึ้นไปเท่าใดยิ่งดี แบบเดียวกันกับช่างเขียนไม่ต้องเขียนให้เหมือนจริง การที่ทำนั้นต้องทำในเวลากลางคืน อยู่ข้างจะเป็นการเอะอะประกวดประขันกันมาก แต่เจ้านายฝ่ายในท่านไม่โปรดดอกไม้ฟักทองมะละกอ ด้วยเห็นไม่เหมือนจริง และไม่มีกลิ่นหอม ทั้งไม่ได้มีฝีพระหัตถ์จัดทำอะไรด้วยในโถยาคูนั้นเลย จึงเป็นธรรมเนียม ถ้าพระองค์ใดถูกโถต้องยกเข้ามาถวายแต่เช้า ถอนดอกไม้ฟักทองมะละกอออกเสียหมด เอาดอกไม้สดเสียบไม้กลัดปักประดับ แบบที่สำหรับประดับนั้นดูไม่ใคร่จะแปลกกันนัก ข้าพเจ้าเคยเล่นดอกไม้ฟักทองมะละกอที่ถอนออก และได้เคยช่วยประดับดอกไม้สดเสมอทุกปี อยู่ข้างจะชำนาญมาก ยอดโถนั้นดูเป็นจำเป็นจะต้องใช้ดอกมณฑามัดเป็นช่อสี่ดอก เป็นยอดดอกหนึ่ง รองลงมาสามดอก โดยมากกว่าดอกอื่นๆ ถ้าผิดจากดอกมณฑาก็เป็นดอกขจรซ้อนบ้าง ดอกกุหลาบบ้าง มัดเป็นช่อใหญ่เหมือนกัน รองลงมาก็เป็นดอกจำปาดอกจำปีงอกลีบปักเรียงเป็นวงรอบ แล้วจึงถึงดอกกุหลาบ เป็นท้องไม้อีกรอบหนึ่ง แล้วดอกจำปาดอกจำปีเป็นขอบนอกอีกสองรอบ เป็นหมดส่วนฝา ในส่วนตัวโถนั้นก็ประดับเป็นรอบๆ เช่นนี้เหมือนกัน ตามแต่พระองค์ใดจะโปรดสลับสีดอกไม้อย่างไร แปลกกันไปต่างๆ แต่คงอยู่ในใช้กุหลาบ จำปี จำปา มณฑา สี่อย่างนี้เป็นพื้นทั่วๆ ไป ถ้าวันโถข้างในแล้วก็เป็นดอกไม้สดครึดไปทั้งสิ้น ถ้าวันโถข้างหน้าแล้วหาดอกไม้สดสักดอกหนึ่งก็ไม่มี เป็นดอกไม้ฟักทองมะละกอทั้งสิ้น ข้างฝ่ายผู้ชายก็ค่อนว่าโถเจ้านายผู้หญิงว่าไม่รู้จักงาม เอาแต่ดอกไม้เข้าพอก ข้างผู้หญิงก็ค่อนว่าผู้ชายว่าไม่เห็นเป็นดอกไม้ดอกไหล้อันใด เป็นแต่ฟักทองมะละกอ เหม็นเขียวเหม็นบูดไปทั้งโถ เถียงกันเช่นนี้ดูมีอยู่เสมอไม่ขาด ที่จริงประดับดอกไม้ของเจ้านายข้างในก็งามไปอย่างหนึ่ง เสียแต่เป็นแบบเดียวไม่ใคร่จะยักย้ายและเป็นวงๆ แน่นทึบกันไป ไม่มีฝีมือช่างในนั้นเลย ถ้าจะประดับเหมือนอย่างเช่นเจ้านายเดี๋ยวนี้ จัดจานดอกไม้อย่างใหม่ๆ สอดสีสอดสันให้มากก็จะงามพอใช้ ส่วนของผู้ชายนั้นเล่า ที่จริงก็เป็นฝีมือช่างที่ต้องใช้มีดเล็กมีดน้อยแกะซอกแซกต่างๆ ดอกไม้แต่ละดอกก็ต้องแกะกันช้านาน เป็นที่เทียบฝีมือดีฝีมือชั่วกันได้ เสียแต่ไม่ตั้งใจจะทำให้เหมือนดอกไม้จริงๆ เลย มักจะไปเข้าเรื่องดอกไม้จีนเสียโดยมาก ถ้าผู้ที่ดูไม่ใช่คนที่เรียกว่า “เป็น” คือที่เคยทำได้หรือที่เคยเห็นมากๆ แลดูก็ไม่น่าพิศวงงงงวยอันใด ให้เนือยๆ ไป ต่อฟังที่ท่านเป็นๆ ติชมกันจึงได้เห็นและเข้าใจว่าดีอย่างไรชั่วอย่างไร การแต่งโถมาแผลงขึ้นใหม่ในโถของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ใช้ดอกไม้ฝรั่ง ที่เป็นคราวกำลังท่านเล่นอยู่หมู่หนึ่ง คือดอกรักเร่ ดอกเหนียงนกกระทุง และดอกเบญจมาศ กุหลาบฝรั่งต่างๆ ทั้งอย่างดอกเล็กๆ ประดับทั้งดอกทั้งใบ สลับกันไปไม่ไว้จังหวะ เป็นดอกไม้ใบไม้ทึบทั้งโถแปลกมาใหม่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดชมเชยมาก ได้พระราชทานรางวัลด้วย แต่ไม่มีผู้ใดอาจทำตามอย่างนั้น คงมีอยู่แต่โถเดียว โถนอกนั้นเล่นเพิ่มเติมทางเครื่องตั้ง เป็นชั้วเป็นชั้น มีของหวานจัดลงจานตั้งบ้าง เครื่องไทยทานต่างๆ ประดับประดาบ้าง บางทีก็มีงามๆ แต่ยังไม่โตถึงโถทุกวันนี้ พอยกเข้าประเคนข้างสำรับได้ เป็นบางโถทีเดียวจึงจะต้องยกเข้าไปแต่เฉพาะโถ แต่ในปัจจุบันนี้ มีความคิดยักย้ายเปลี่ยนแปลงออกไปทั้งตัวโถและเครื่องตกแต่ง สนุกสนานงดงามยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนหลายเท่า จนถึงใช้เครื่องกลเครื่องไกบ้างก็มี เปลี่ยนรูปทุกปีไม่ได้ซ้ำ เป็นกระจาดใหญ่อย่างเล็กๆ ดูสนุกสนานน่าดูมาก แต่โตๆ ขึ้นไป จนการที่จะยกเข้าไปประเคนพร้อมกับสำรับนั้นเป็นไม่ต้องคิดถึง ได้แต่ตั้งเรียงเป็นแถวอยู่ตรงหน้าพระเท่านั้น ของเจ้านายข้างในก็ไม่ใช้ดอกไม้เหมือนอย่างแต่ก่อน ไปเล่นท่วงทีประดับประดาแข่งกันกับข้างหน้าดูก็คล้ายๆ กันทั้งสามวัน ถ้าผู้ใดถือแบบเก่าใช้แต่โถรองถาดหรือรองกระบะ ด้วยถือว่าเป็นแบบอย่าง มีทิฐิมานะไม่ยอมเปลี่ยนใหม่ และเสียดายเงิน ถึงจะประดับประดาตกแต่งงดงามเท่าใด ก็คงลงไปเข้าพวกพระยาพระกะร่องกะแร่งที่เกณฑ์เหลือเผื่อขาด ไม่ใคร่จะได้ประเคนพระที่มาฉัน

การที่จะจำหน่ายโถยาคูนั้น เจ้าพนักงานจัดโถของผู้มีบรรดาศักดิ์ใหญ่ๆ ที่ไม่ดีขึ้นเป็นข้าวพระ ตั้งไว้ที่หนึ่ง ดูเหมือนหนึ่งจะเป็นเกียรติยศใหญ่ ที่ได้เป็นส่วนของพระพุทธเจ้า แต่ที่แท้แปลว่าเลวแต่เกรงใจ จึงเอาไปตั้งข้าวพระแล้วจะได้ยกเอาไปให้พระที่เลวๆ หรือที่มานั้นแล้วและที่จะมาฉันต่อไปเป็นได้ซ้ำอีกโถหนึ่ง ส่วนโถที่เหลืออยู่นั้น สังฆการีมีธงฉลากชื่อพระไว้คอยถวาย เมื่อเสด็จออกทรงศีลแล้ว จึงเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตร โถทรงปักฉลากชื่อพระสงฆ์ ตามแต่จะโปรดพระราชทานองค์ใด โถยาคูที่เกณฑ์มานั้นคงจะเหลือพระสงฆ์อยู่ในวันละ ๓ โถ ๔ โถ โดยมาก จึงทรงเลือกพระราชทานพระองค์เจ้าพระ พระองค์เจ้าเณรที่ไม่ได้มาฉัน บางทีก็ซ้ำในพระราชาคณะผู้ใหญ่ ซึ่งไม่ใช่วันที่มาฉันบ้าง ตามแต่จะมีโถเหลือมากเหลือน้อย สิ่งซึ่งต้องห้ามในโถยาคูนี้ คือห้ามมิให้ใช้โถแก้วแทนโถฟักเหลือง ซึ่งเคยไม่โปรดมาทุกคราว ที่มีเครื่องตกแต่งตามแต่จะตกแต่งอย่างไร สุดแต่ให้มีโถฟักเหลืองเป็นเครื่องบรรจุยาคูอยู่แล้วเป็นใช้ได้ บางทีใช้ฟักทั้งผลซึ่งมิได้ปอกเปลือกและมิได้ตกแต่งอันใดด้วยฝีมือช่าง ที่ความประสงค์ของผู้ที่ทำนั้น ก็ประสงค์จะอวดที่หาฟักโถนั้นได้ใหญ่ดี มีตัวอย่างเล่ามาว่า เมื่อครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ปีหนึ่งมีฟักเหลืองเข้ามาแต่เมืองจีน ผลใหญ่หลายๆ กำ ข้าราชการที่เป็นคนค้าสำเภาซื้อมาทำโถยาคูหลายคนด้วยกัน ไม่ได้ตกแต่งอันใดมากนัก และไม่ได้ปอกเปลือก พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็โปรดปรานเชยชม ครั้นมาถึงในรัชกาลที่ ๔ มีผู้หาฟักเหลืองผลใหญ่ได้ ทำเข้ามาเช่นนั้นบ้างก็ไม่โปรด รับสั่งว่าเป็นการมักง่าย การเรื่องที่จะเลี้ยงยาคูพระสงฆ์ทำไมจึงต้องบรรจุโถฟักเหลืองนี้คงจะไม่มีมูลเหตุอย่างอื่นนอกจากที่จะให้เป็นของประณีตของงาม

สวดมนต์วันที่สาม ไม่ได้ประโคมพระขึ้น รอเวลากวนข้าวทิพย์ มีอ่านคำประกาศและพระสงฆ์สวดมนต์เหมือนอย่างสองคืนมาแล้ว สวดมนต์จบแล้วพระสงฆ์ก็อติเรกถวายพระพรลากลับไป ไม่ได้มีประโคมเหมือนกัน แล้วพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ใบมะตูม และทรงเจิมสาวพรหมจารีทั้งปวง แต่ที่ไม่ได้เป็นหม่อมเจ้าพระราชทานน้ำด้วยพระเต้า แล้วท้าวนางก็นำออกไปที่โรงพิธี โรงซึ่งทำขึ้นสำหรับกวนข้าวทิพย์แท้นั้นคือ หอนิเพทพิทยาทุกวันนี้ พระราชทานชื่อว่าหอราชพิธีกรรม แต่ภายหลังเป็นที่ประทับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ และพระเจ้าน้องยาเธอ และเป็นที่ใกล้หอธรรมสังเวช ซึ่งเป็นที่ไว้พระศพ จึงได้ปลูกโรงขึ้นใหม่ตรงหน้าพระมหาปราสาทลงไป ครั้นเมื่อที่นั้นทำเป็นโรงราชยาน ก็ใช้โรงราชยานนั้นเป็นโรงพิธี เมื่อย้ายพระราชพิธีไปทำที่พระที่นั่งอนันตสมาคมคราวหนึ่งนั้น เลิกกวนข้าวทิพย์ แต่ในครั้งนี้ทำพระราชพิธีที่พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ปลูกโรงกวนข้าวทิพย์ตรงท้องพระโรงหลังขวางออกไป การที่ตกแต่งโรงในพระราชพิธีนั้น คือก่อเตากระทะสิบเตา เรียงตามยาวเป็นแถวกัน ๘ เตา เป็นที่กวนข้าวทิพย์ อยู่ด้านสกัดสองเตาเป็นที่กวนกระยาสารทเครื่องต้น หน้าเตาทั้งแปดนั้นตั้งม้าวางโต๊ะตะลุ่มถุงเครื่องที่จะกวน ข้างหลังเตาเข้าไปยกพื้นพอต่ำกว่าปากกระทะหน่อยหนึ่ง เป็นที่สำหรับสาวพรหมจารีนั่งกวนกระทะละคู่ ตามเสาแขวนหิ้งตั้งเทวรูป มีธูปเทียนดอกไม้บูชาตามทิศ เป็นหน้าที่ของมหาดเล็กต้องออกไปจุดเทียนบูชาเทวดานี้ ที่ต้นแถวตั้งเครื่องบูชาพานถมถ้วยแก้วอย่างเครื่องทองน้อย เป็นของวิเศษ บูชาใครไม่ทราบ เห็นจะเป็นครูปัธยาย มีขวดน้ำส้มนมเนยตั้งอยู่ที่นั้นด้วย เป็นหน้าที่ท้าวอินทร์สุริยาและท้าววิเศษปลัดเทียบระดมมาช่วยกันทุกโรง ผู้ซึ่งทำการกวนข้าวทิพย์ทั้งปวงสวมมงคลทั่วกัน ครั้นเมื่อสาวพรหมจารีขึ้นนั่งประจำที่แล้ว เสด็จพระราชดำเนินขึ้นไปทรงรินน้ำในพระมหาสังข์ลงในกระทะ แล้วทรงเจิมพายที่พาดอยู่ปากกระทะ กระทะละสองพายด้วยยันต์มหาอุณาโลมและเครื่องหมายสามทุกเล่มพาย แล้วทรงรินน้ำในพระเต้าศิลาจารึกอักษรและพระเต้าเทวบิฐต่อไปทั่วทุกกระทะ โปรดให้พระเจ้าลูกเธอทรงรินน้ำส้ม และเติมเนยตามไปจนตลอดทั้งแปดกระทะเสร็จแล้ว พวกท้าวปลัดเทียบวิเศษซึ่งประจำกระทะจึงได้เทถุงเครื่องที่จะกวนลงในกระทะ ซึ่งมีกะทิและน้ำตาลเคี่ยวได้ที่แล้ว สาวพรหมจารีจับพายลงมือกวน ประโคมแตรสังข์ฆ้องชัยพิณพาทย์มโหรี พระมหาราชครูพิธีรดน้ำสังข์ทุกกระทะแล้วก็เสด็จขึ้น พอเสด็จขึ้น สาวพรหมจารีก็เป็นอันเลิกกวนกลับเข้าในพระบรมมหาราชวัง ต่อนั้นให้ฝีพายมากวน ประโคมพิณพาทย์จนสุกเสร็จ กระยาสารทอีกสองกระทะก็กวนพร้อมกัน

บรรดาผู้ซึ่งจะได้รับพระราชทานข้าวทิพย์ก่อนนั้น คือฝีพายผู้กวนมีอำนาจที่จะควักไปได้คนหนึ่งเต็มใบพายที่จะคอนไปได้ และเวลาสุกแล้วจัดมาตั้งเครื่องในเวลาค่ำก่อน และบรรจุเตียบสำริดขนาดใหญ่ไปตั้งบนเตียงพระมณฑล ๔ เตียบ สำหรับเป็นเครื่องต้นและจัดลงอ่างหยกสำหรับตั้งหน้าพระสยามเทวาธิราชอ่างหนึ่ง เวลาเช้าเสด็จพระราชดำเนินออกเลี้ยงพระ โปรดยกเตียบบนพระแท่นมณฑลลงมาจัดข้าวทิพย์ประเคนพระสงฆ์ฉัน แล้วจึงได้แจกข้าวทิพย์นั้น พระราชทานพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายในและพระสงฆ์ มากน้อยตามบรรดาศักดิ์ ข้าวทิพย์ที่แจกนั้นมีห่อเป็นสามขนาด ขนาดใหญ่สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ ขนาดรองลงมาสำหรับข้าราชการ ขนาดเล็กสำหรับข้าราชการชั้นต่ำๆ ลงไป ที่ออฟฟิศต่างๆ จ่ายรวมไปมากๆ ก็มี พระสงฆ์ที่เคยได้รับพระราชทานข้าวทิพย์อยู่แต่ก่อนนั้น คือเจ้าพระ ราชาคณะ ฐานานุกรม เปรียญ ตลอดจนพระพิธีกรรม พระปริตร พระอนุจร ได้มาเดิมแต่วัดพระเชตุพนทั่วทั้งวัด ครั้นภายหลังในรัชกาลที่ ๔ พระราชทานวัดบวรนิเวศและวัดราชประดิษฐ์อีกสองวัด ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ เกิดวัดราชบพิธ วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ วัดเทพศิรินทราวาส วัดปรมัยยิกาวาสขึ้นอีก และมีห่อทรงบาตรทรงประเคนบ้าง

อนึ่งในวันเดือน ๑๑ ขึ้นค่ำหนึ่ง เป็นวันสดับปกรณ์กาลานุกาล แต่พระสงฆ์ซึ่งฉันในพระราชพิธีสารทมาก จึงได้แบ่งพระสงฆ์ซึ่งจะมาสดับปกรณ์กาลานุกาลนั้น ให้ได้รับข้าวกระทงจัดตั้งบนโต๊ะลาว มีผ้าเช็ดปากแดง ผ้าเช็ดหน้าขาว ทำเป็นธงปักยอดฝาชี ให้เข้าเรื่องข้าวกรูซึ่งจะได้กล่าวต่อไปข้างหน้า ของที่สดับปกรณ์นั้นก็ใช้ผ้าสบงผืนหนึ่งตามเคย มีกาน้ำซึ่งกรอกน้ำด้วยเสร็จใบหนึ่ง ร่ม รองเท้า ในการที่เริ่มทำขึ้นนั้นคือพระสงฆ์ฉันโถยาคูนั้นเป็นเวลาฉันเช้า เมื่อพระสงฆ์ที่ฉันในการพระราชพิธีกลับแล้ว จึงได้สดับปกรณ์ทรงประเคนข้าวกระทงกล่องข้าวปัดและกาน้ำ ร่ม รองเท้า เพื่อจะให้รับไปฉันเพลที่วัดหรือในพระบรมมหาราชวังแห่งใดแห่งหนึ่งตามอัธยาศัย แต่ครั้นเวลาล่าลงมาเป็นเลี้ยงพระสาย ก็กลายเป็นต้องส่งข้าวกระทงนั้นไปถวายพระฉันเสียก่อน แต่กาน้ำซึ่งกรอกน้ำแล้วนั้นไม่ได้ถวายด้วย พระต้องไปหาน้ำฉันเอาเอง กาน้ำยกมาไว้ประเคนพร้อมกับร่ม รองเท้า อยู่ข้างจะโคม ถ้าถูกพระสงฆ์ที่ไม่เคยมาและชาๆ อยู่ด้วย รับกาน้ำไปแล้วถือเอียงคว่ำหกเปื้อนผ้าผ่อนบ่อยๆ แต่พระสงฆ์ที่ฉันในการพระราชพิธีทั้งสามวันนั้น ได้ผ้าชุบอาบองค์ละผืนอย่างพระราชพิธีใหญ่ทั้งปวง

ในการพระราชพิธีสารทนี้ เป็นกำหนดทรงบาตรในการนักขัตฤกษ์อีกครั้งหนึ่งทั้งสามวัน ของทรงบาตรมีวิเศษขึ้น คือข้าวทิพย์และกระยาสารท แต่ข้าวทิพย์นั้นได้ทรงวันเดียวแต่วันหลังกระยาสารทเป็นขนมตามฤดู ทำนองก็จะมาจากข้าวปายาส แต่จะให้อร่อยถูกปากไทยเท่านั้น

เมื่อทรงบาตรแล้ว เสด็จพระราชดำเนินขึ้นหอพระ ในหอพระนั้นมีกระทงข้าวกรูตั้งบนโต๊ะเงินกระทงหนึ่ง กระทงข้าวเปรตตั้งบนโต๊ะเงินอีกโต๊ะหนึ่ง ข้าวกรูและข้าวเปรตนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดอย่างยิ่ง ถ้าทรงทอดพระเนตรเห็นเมื่อใดก็รับสั่งเป็นการล้อเล่นต่างๆ แต่ยังทรงจุดเทียนและรินน้ำหอม เป็นการเล่นเสมอทุกปี และทรงแปลคาถาที่สำหรับบูชา ซึ่งรับสั่งว่าพูดไม่เป็นภาษาคน เที่ยวล้อเถ้าแก่ท้าวนางต่างๆ เกือบจะทุกปี กระทงข้าวกรูนั้นใช้กระบุงมีกระบอกสักหวายติดอยู่กลางกระบุง แล้วหุ้มใบตอง จัดของกินคาวหวานลงในกระบุงหรือกระทงนั้น แล้วมีต้นไม้ปักที่กระบอกกลางกระบุง บนต้นไม้นั้นมีธงจระเข้ตัดด้วยเศษผ้านุ่งผ้าห่มเล็กน้อยแขวนรุงรังไป มีดอกไม้จีนประดับช่วยให้งามด้วย ที่ลำต้นของต้นไม้นั้นผูกดอกตะแบกช่อหนึ่งหรือสองช่อ มีเทียนธูปเสียบไม้กลัดอย่างดอกเหน็บที่ปากกระบุงสำหรับทรงจุด เมื่อทรงบูชาพระพุทธรูปแล้ว กระทงข้าวกรูนี้ยกไปถวายพระสงฆ์ฉัน ข้าวเปรตอีกโต๊ะหนึ่ง มีกระทงเล็กๆ มีข้าววางอยู่นั้นหน่อยหนึ่ง (เห็นจะไม่ถึงซ้องหัตถ์ตามอารามิกโวหาร) มีของกินคาวหวานกองปนๆ กันโรยอยู่หน้า มีธงเล็กๆ ปักอันหนึ่ง ดอกตะแบกดอกหนึ่งหรือสองดอกโรยปนอยู่กับอาหาร มีหมากคำหนึ่งพลูจีบหนึ่ง มีธูปเล็กๆ ดอกหนึ่ง เทียนเล็กๆ ดอกหนึ่ง เสียบลงไปกับข้าวดื้อๆ เช่นนั้น กระทงเช่นนี้มี ๘ กระทง มีกระทงน้ำอีกกระทงหนึ่ง ขวดคอปล้องกรอกน้ำดอกไม้สดขวดหนึ่ง สำหรับรินลงในกระทงเวลาเมื่อบูชาหรืออุทิศ ข้าพเจ้าไม่สู้เข้าใจวิธีถวายกันอย่างไรชัดเจน เป็นแต่จุดเทียนเล่นอยู่เสมอ

แต่การถวายข้าวกรูนี้พอสืบหามูลเหตุได้ชัดเจน ดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือว่ามีมาในเปตะวัตถุสังเขปความว่า มีพรานเนื้อคนหนึ่ง เมื่อไปไล่เนื้อกลับมาถึงบ้าน ก็แจกเนื้อให้แก่เด็กๆ ทั้งปวง วันหนึ่งพรานไปไม่ได้เนื้อ จึงเก็บดอกตะแบกหรือดอกราชพฤกษ์ก็ว่า ประดับกายและหาบมาเป็นอันมาก ครั้นเมื่อมาถึงประตูบ้าน เด็กๆ ทั้งปวงก็มาขอเนื้อตามเคย พรานจึงแจกดอกตะแบกให้คนละช่อ ครั้นพรานนั้นตายไปเกิดในเปตะนิกาย มีดอกตะแบกเป็นเทริดประดับศีรษะเดินไปในน้ำ หวังจะไปหาอาหารที่บ้าน ในเวลานั้นโกฬิยะอำมาตย์ของพระเจ้าพิมพิสารออกไปชำระความผู้ร้ายตามหัวเมือง ล่องเรือมาเห็นเปรตนั้น ไต่ถามได้ความแล้วก็มีความกรุณา จึงว่าข้าวสัตตูของเรามีทำไฉนท่านจึงจะได้ เปรตนั้นตอบว่า ถ้าในเรือนี้มีอุบาสกตั้งอยู่ในสรณะ ท่านจงให้ข้าวสัตตูนั้นแก่อุบาสก แล้วอุทิศส่วนกุศลนั้นให้แก่เรา อำมาตย์นั้นก็ทำตาม เปรตได้อนุโมทนาตั้งอยู่ในความสุขแล้ว จึงสั่งว่าให้ท่านทั้งหลายกรุณาแก่เปตะนิกาย เมื่อทำกุศลสิ่งใดๆ แล้วให้อุทิศส่วนบุญให้ ครั้นเมื่ออำมาตย์กลับมาถึงบ้าน นิมนต์พระพุทธเจ้ากับพระสงฆ์บริสัชมาถวายทาน แล้วกราบทูลเรื่องเปรตนั้นให้ทรงทราบ พระองค์จึงทรงอธิษฐานให้มหาชนประชุมพร้อมกัน แล้วแสดงเปตะนิกายให้ปรากฏ มีเรื่องราวกล่าวมาดังนี้

เรื่องเปรตนี้ เป็นสัตว์จำพวกหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเรียกในศาสนาพราหมณ์โบราณ ตามสำนวนสันสกฤตว่าปิตรี หมายเอาว่าเป็นผีจำพวกหนึ่งซึ่งเป็นปู่ย่าตายายญาติพี่น้องของชนทั้งปวงตายไปเป็นปิตรี มีออกชื่อและเล่าเรื่องราวที่มาทำวุ่นวายต่างๆ ถี่ๆ เปรตคือออกจากปิตรีนี้เอง ที่มามีกล่าวถึงในพระพุทธศาสนาด้วย ก็จะเป็นอนุโลมมาจากศาสนาเดิม ซึ่งคนในประเทศอินเดียถือกันอยู่ว่ามีมาแต่โบราณแล้วนั้น จะตัดสินคัดค้านเสียว่าไม่มีกล่าวถึงในพระพุทธศาสนาแต่เดิมเลยก็ยากอยู่ แต่การที่ทำการกุศลเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว โดยจะอุทิศให้แก่สัตว์หมู่ใดพวกใด ก็ไม่เป็นการทำให้กุศลสิ่งที่ดีนั้นเสื่อมทรามไป จึงต้องถือว่าเป็นอันไม่มีข้อที่จะคัดค้านอันใด แต่การที่เปรตเหล่านั้นจะได้รับประโยชน์ก็ต่อเมื่อทำทานอุทิศให้ เหมือนนิทานตัวอย่างซึ่งโกฬิยะอำมาตย์ได้ทำ แต่เรื่องข้าวเปรตที่ไม่ได้ทำบุญสุนทันอันใด เป็นแต่เอาไปกองไปทิ้งให้อย่างเซ่นผี เป็นที่น่าสงสัยนัก ก็ถ้าหากว่าการที่จัดอาหารลงกระทงเล็กๆ ไปทิ้งเช่นนั้น เปรตจะได้รับจริงแล้ว พรานที่ตายไปเป็นเปรตควรจะบอกแก่โกฬิยะอำมาตย์ ว่าให้เอาข้าวสัตตูสักซ้องหัตถ์หนึ่งใส่ในกระทงลอยน้ำมาเถิด ข้าพเจ้าจะได้กินเป็นอาหารทิพย์ หรือขอเศษผ้าอะไรทิ้งลงมาให้อีกสักหน่อยหนึ่งจะได้เอามาเป็นผ้าทิพย์ นี่เปรตก็ไม่ว่าเช่นนั้น บอกแต่ขอให้ทำทานอุทิศให้

การที่เกิดเซ่นเปรตขึ้นนี้เห็นจะมาจากทางอื่นคือลัทธิฮินดูเป็นต้นเค้า ด้วยเขาถือการเซ่นผีปู่ย่าตายาย คล้ายกันกับจีนที่เซ่นศพเซ่นป้าย ถ้าผู้ใดไม่มีบุตรชายสืบตระกูล ไม่ได้ขนมเซ่นศพ แล้วก็เป็นผู้มีความทุกข์ในภายหน้า ถ้าจะเอาผู้อื่นมาเซ่นแทนก็ว่าไม่ได้ เฉพาะต้องบุตรขนมนั้นจึงจะได้แก่ผู้ที่ตายไปแล้ว เพราะฉะนั้นจึงต้องมีลัทธิที่จะหาบุตร นับแจกออกไปได้ ๑๒ จำพวก คือบุตรที่เกิดด้วยภรรยาตนที่แต่งงาน ๑ บุตรที่เกิดแต่ภรรยาของตนกับผู้ที่รู้จบไตรเพท อันมุ่งต่อความกรุณา ๑ บุตรที่เกิดจากภรรยาของตนโดยผู้อื่นซึ่งเห็นแก่ทรัพย์สินจ้างเป็นเครื่องสักการะ ๑ บุตรที่เกิดแต่ภรรยาภายหลังสามีตายแล้ว ๑ บุตรที่เกิดแต่นางสาว[๔] หรือหลานที่เกิดแต่บุตรีที่บิดารับเป็นลูก (คืออธิบายว่าบิดามีแต่บุตรหญิง ให้บุตรหญิงนั้นไปมีสามี ครั้นบุตรหญิงนั้นมีบุตรออกมาเป็นชาย บิดาทำพิธีตามแบบรับมาเป็นลูก) ๑ บุตรซึ่งเกิดแต่ภรรยาที่ไม่บริสุทธิ์ (หมายความว่ามากชู้หลายผัว) ๑ บุตรที่เขาให้ ๑ บุตรที่ซื้อมาโดยความเสน่หา ๑ บุตรที่ใจตัวเด็กสมัครเอง ๑ บุตรที่ได้มาด้วยแต่งงานกับเจ้าสาวซึ่งมีครรภ์มาแล้ว ๑ บุตรของพี่ชายน้องชาย ๑ บุตรซึ่งเกิดด้วยภรรยาที่มีชาติต่ำกว่าตน ๑ บุตรเหล่านี้เซ่นศพได้ ๖ จำพวก เซ่นศพไม่ได้ ๖ จำพวก ในบุตร ๖​ จำพวกข้างต้นนั้นนับว่าเป็นผู้รับมรดกสืบตระกูลได้ ด้วยเป็นเชื้อวงศ์ของตนด้วย เป็นบุตรที่เซ่นศพได้ บุตร ๖ จำพวกหลังเป็นผู้รับมรดกและสืบตระกูลไม่ได้ เป็นแต่นับว่าเป็นเชื้อวงศ์ เป็นบุตรที่เซ่นศพไม่ได้ บุตรที่เกิดด้วยฤๅษีหรือพราหมณ์มาเพาะกับภรรยานั้น นับในพวกที่เซ่นศพได้ ลัทธิที่ถือการจำเป็นจะต้องมีบุตรเป็นสำคัญเช่นนี้ ยังถือกันแข็งแรงอยู่ในประเทศอินเดียทุกวันนี้ การเซ่นศพก็ยังมีอยู่เสมอ ถึงอังกฤษมาเป็นผู้ปกครองทะนุบำรุงเจ้านายพวกฮินดูก็ต้องยอมรับว่า บุตรที่บิดาเขารับตามศาสนาเช่นนี้ เป็นบุตรสืบตระกูลได้ด้วยเหมือนกัน ไปห้ามเสียแต่ที่เมื่อเวลาผัวตายแล้ว รานีผู้เป็นภรรยาจะรับลูกเลี้ยงในเวลาผัวตายไม่ได้ ด้วยได้เคยเกิดเหตุมาหลายครั้ง ด้วยรานีนั้นประสงค์จะมีอำนาจ เป็นผู้รั้งราชการแทนผัวต่อไป จึงได้คิดหาเด็กมารับเป็นลูกเลี้ยงตัวว่าการแทน เมื่อเด็กลูกเลี้ยงที่เป็นรายาคนใหม่โตขึ้น ยอมมอบสมบัติและอำนาจให้โดยปรกติก็มี ที่ไม่ยอมให้เกิดวิวาทกันขึ้นก็มี เพราะเป็นการนุ่งในส่วนรานีเช่นนี้ อังกฤษจึงได้ไม่ยอมรับลูกเลี้ยงซึ่งเลือกเมื่อเวลาผัวตาย ก็ยังมีเหตุเคลือบแคลงด้วยอ้างเอาว่า รายาผู้ตายได้รับเป็นบุตรเลี้ยงเมื่อจวนจะตาย เช่นนานาสหิบซึ่งอังกฤษไม่ยอมรับ ภายหลังเป็นขบถ ด้วยถือโอกาสเอาในเวลาที่พวกทหารแขกของอังกฤษเป็นขบถ ก่อเหตุใหญ่โตในประเทศอินเดียได้

การที่เราทำข้าวกรูคงจะมาตามในหนังสือที่มีเจือมาในพุทธศาสนา แต่ข้าวเปรตนี้ เห็นจะติดมาแต่ผู้ที่เคยเซ่นผีปู่ย่าตายายอย่างฮินดู ถ้ามิฉะนั้นดีร้ายก็จะมาจากลาวอยู่ในเรื่องเซ่นผี ธรรมดาการที่เซ่นๆ ทั้งปวงไม่ต้องใช้ของมาก ครั้นเข้าใจว่าของน้อยจะเป็นของมาก เหมือนอย่างบัตรบูชาเทวดาใส่ขนมเล็กขนมน้อย แต่เต่าจะกินก็ไม่พออิ่ม แต่คำที่โหรว่านั้นสารพัดจะดีวิเศษเกินกว่าจริงได้ร้อยเท่าพันเท่าแล้วก็ไม่เป็นปด เพราะของเหล่านั้นจะกลับไปเป็นมาก ไม่เลี้ยงแต่เฉพาะเทวดาที่เป็นนายองค์เดียว เลี้ยงทั้งเทวดาบริวารตลอดไปด้วย บริวารนั้นนับด้วยโกฏิทั้งนั้น การที่ใช้ของน้อยๆ เซ่นไหว้เช่นนี้ ผู้ต้นคิดเห็นจะคิดเพื่อจะให้เป็นแต่แสดงความเคารพ ด้วยเห็นอยู่แก่ตาว่าถึงจะหาของไปให้มากมายเท่าใด ก็ไม่บกพร่องลงไป ไม่เหมือนเลี้ยงพระที่ฉันได้ต้องเติมของซึ่งเป็นที่ชื่นชมยินดีของทายก ตลอดไปจนถึงข้าวพระซึ่งรู้อยู่แล้วว่าการที่ถวายข้าวพระนั้น ใช่จะไปได้แก่พระพุทธเจ้าอย่างหนึ่งอย่างใด คือจะได้รับสิ่งของนั้นโดยทางเซ่นหรือทางอุทิศส่วนบุญก็ไม่มี คงเป็นแต่อามิสบูชาอย่างเดียวกันกับธูปเทียนดอกไม้ ไม่ต้องใช้มาก สิ่งละหยิบเล็กหยิบน้อยก็พอ แต่ซึ่งเชื่อถือกันว่าของน้อยจะไปกลายเป็นมากในโลกหน้านั้น เห็นจะเกิดขึ้นจากเรื่องทำบุญเฟื้องหนึ่งได้ร้อยเฟื้องพันเฟื้อง เป็นไปตามอัธยาศัยคนเช่นที่เรียกว่าเก็บเบี้ยใต้ร้าน เห็นเป็นท่าที่จะได้อย่างไรก็เอาทุกอย่าง การที่ทำข้าวกรูกระทงใหญ่สำหรับถวายพระเมื่อภายหลังนั้น เห็นจะมาตามทางนิทานเรื่องเปรตซึ่งเป็นพรานที่กล่าวมา แต่เรื่องข้าวเปรตเห็นจะมาจากเครื่องเซ่น

ในหนังสือนพมาศกล่าวว่า ข้าวกรูที่ทำกันในครั้งนั้น ประสงค์อุทิศต่อปรทัตตูปชีวีเปรต ก็ดูต้องกันกับคำที่เล่าๆ อยู่ในชั้นหลังนี้ การที่จำแนกชื่อเปรตต่างๆ ดูเป็นตามคัมภีร์ซึมซาบมากกว่าที่มาในพระบาลีหรืออรรถกถาชั้นสูงๆ เช่นในคัมภีร์โลกสัณฐานและมิลินทปัญหา ที่มาในคัมภีร์ชั้นสูง คือมาในจตุตถปาราชิกคัมภีร์อาทิกรรม แต่จำแนกประเภทเปรตก็ต่างกัน กล่าวไว้ในโลกสัณฐานและคัมภีร์อาทิกรรมคัมภีร์ละสิบสองพวก ในสิบสองพวกทั้งสองคัมภีร์นั้นก็ไม่ตรงกัน ว่าไปคนละอย่าง ฟังดูก็เป็นการง่ายที่จะคิดพรรณนา เป็นแต่ว่าให้แปลกๆ กันไป จะเอาสักสองร้อยพวกก็เห็นจะได้ แต่ในมิลินทปัญหานั้น มีย่นกล่าวโดยสังเขปอีกชั้นหนึ่ง คือว่าถ้าจะย่นเข้าก็คงเป็นสี่จำพวก ที่เขาจะปันอาการตามที่คล้ายๆ กันเป็นพวกหนึ่งๆ คือ อุตูปชีวี เลี้ยงชีวิตด้วยมลทินแห่งครรภและหนองเลือดทั้งปวงพวกหนึ่ง ขุปปิปาสิกะ อยากข้าวอยากน้ำอยู่เป็นนิตย์พวกหนึ่ง นิชฌามะตัณหิกะ เพลิงเผาอยู่ภายในเป็นนิตย์พวกหนึ่ง ปรทัตตูปชีวี เลี้ยงชีวิตด้วยผลแห่งทานที่ผู้อื่นให้ จิตระวังแต่ที่จะรับส่วนกุศลอย่างเดียวพวกหนึ่ง เปรตพวกหลังนี้ คือเปรตที่ทำข้าวกรูอุทิศให้ คำที่เรียกว่าข้าวกรูนั้นชะรอยจะมาจากภาษามคธว่ากุระ แปลว่าข้าวอย่างหนึ่ง ตามดิกชันนารีชิลเดอร์แปลว่าข้าวต้มให้สุกแล้ว แต่เรียกซึบซาบกันไปก็กลายเป็นกรู ครั้นเมื่อกรูแปลไม่ออกแล้วจึงมีผู้เดาเป็นตรูต่อไปอีก เพื่อจะให้ได้ความ แต่เหตุใดจึงมาทำข้าวกรูกันในฤดูสารทไม่ได้ความ หรือจะทำให้เป็นคู่กันกับข้าวผอกกระบอกน้ำ ซึ่งได้ทำในเวลาตรุษสุดปีบ้างดอกกระมัง

อนึ่งในการพระราชพิธีสารทนี้ ก็มีข้าวบิณฑ์เช่นได้พรรณนาแล้วเมื่อสงกรานต์นั้นเหมือนกัน เพราะเป็นพิธีกึ่งกลางปี ๚

[๑] หนังสือประดิทินบัตรนี้ ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ พิมพ์ขาย

[๒] สมเด็จพระวันรัต (ทับ) วัดโสมนัสวิหาร

[๓] พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ในรัชกาลที่ ๕

[๔] ศัพท์ “นางสาว” ตรงนี้เป็นพระราชนิพนธ์เดิม เฉพาะตรงกับที่บัญญัติใช้ทีหลัง

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ