พระราชพิธีพืชมงคล และจรดพระนังคัล

๏ การพระราชพิธีกล่าวเป็นสองชื่อ แต่เนื่องกันเป็นพิธีเดียวนี้ คือปันในวันสวดมนต์เป็นวันพระราชพิธีพืชมงคล ทําขวัญพืชพรรณต่างๆ มีข้าวเปลือกเป็นต้น จรดพระนังคัลเป็นพิธีเวลาเช้าคือลงมือไถ ถ้าจะแบ่งเป็นคนละพิธีก็ได้ ด้วยพิธีพืชมงคลไม่ได้ทําแต่ในเวลาค่ำวันสวดมนต์ รุ่งขึ้นเช้าก็ยังมีการเลี้ยงพระต่อไปอีก การจรดพระนังคัลนั้นเล่า ก็ไม่ได้ทำแต่วันซึ่งลงมือแรกนา เริ่มพระราชพิธีเสียแต่เวลาค่ำวันสวดมนต์พิธีพืชมงคลนั้นแล้ว พระราชพิธีพืชมงคลเป็นพิธีสงฆ์ทำที่ท้องสนามหลวงในพระนคร พระราชพิธีจรดพระนังคัลเป็นพิธีพราหมณ์ ทําที่ทุ่งส้มป่อยนอกพระนคร พิธีทั้งสองนั้นก็นับว่าทําพร้อมกันในคืนเดียววันเดียวกัน จึงได้เรียกชื่อติดกันว่า พระราชพิธีพืชมงคลและจรดพระนังคัล

ฤกษ์การพระราชพิธีนี้ ต้องหาฤกษ์วิเศษกว่าฤกษ์อื่นๆ คือกำหนดสี่อย่าง ฤกษ์นั้นอย่าให้ต้องวันผีเพลียอย่างหนึ่ง ให้ได้ศุภดิถีอย่างหนึ่ง ให้ได้บุรณฤกษ์อย่างหนึ่ง ให้ได้วันสมภเคราะห์อย่างหนึ่ง ตำราหาฤกษ์นี้เป็นตําราเกร็ด เขาสำหรับใช้เริ่มที่จะลงมือแรกนา หว่านข้าว ดำข้าว เกี่ยวข้าว ขนข้าวขึ้นยุ้ง แต่ที่เขาใช้กันนั้นไม่ต้องหาฤกษ์อย่างอื่น ให้แต่ได้สี่อย่างนี้แล้ว ถึงจะถูกวันอุบาทว์โลกาวินาศก็ใช้ได้ แต่ฤกษ์จรดพระนังคัลอาศัยประกอบฤกษ์ดีตามธรรมเนียมด้วยอีกชั้นหนึ่ง ตามแต่จะได้ลงวันใดในเดือนหก ดิถีซึ่งนับว่าผีเพลียนั้น ข้างขึ้นคือ ๑, ๕, ๗, ๘, ๙, ๑๐, ๑๑, ๑๕ ข้างแรม ๑, ๕, ๖, ๗, ๘, ๑๐, ๑๓, ๑๔ เป็นใช้ไม่ได้ ศุภดิถีนั้นก็คือดิถีตาว่างซึ่งไม่เป็นผีเพลียนั้นเอง บุรณฤกษ์นั้น คือ ๒, ๔, ๕, ๖, ๘, ๑๑, ๑๔, ๑๗, ๒๒, ๒๔, ๒๖, ๒๗ วันสมภเคราะห์นั้น คือ วันจันทร์ วันพุธ วันพฤหัสบดี วันศุกร์ กับกําหนดธาตุอีกอย่างหนึ่ง ตามวันที่โหรแบ่งเป็น ปถวี อาโป เตโช วาโย ให้ได้ส่วนสัดกันแล้วเป็นใช้ได้ จะพรรณนาที่จะหาฤกษ์นี้ก็จะยืดยาวไป เพราะไม่มีผู้ใดที่จะต้องใช้อันใด

การแรกนาที่ต้องเป็นธุระของผู้ซึ่งเป็นใหญ่ในแผ่นดินเป็นธรรมเนียมมีมาแต่โบราณ เช่นในเมืองจีน สี่พันปีล่วงมาแล้ว พระเจ้าแผ่นดินก็ลงทรงไถนาเองเป็นคราวแรก พระมเหสีเลี้ยงตัวไหม ส่วนจดหมายเรื่องราวอันใดในประเทศสยามนี้ ที่มีปรากฏอยู่ในการแรกนานี้ก็มีอยู่เสมอเป็นนิตย์ไม่มีเวลาเว้นว่าง ด้วยการซึ่งผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินลงมือทําเองเช่นนี้ ก็เพื่อจะให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎร ชักนำให้มีใจหมั่นในการที่จะทํานา เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่จะได้อาศัยเลี้ยงชีวิตทั่วหน้า เป็นต้นเหตุของความตั้งมั่นและความเจริญไพบูลย์แห่งพระนครทั้งปวง แต่การซึ่งมีพิธีเจือปนต่างๆ ไม่เป็นแต่ลงมือไถนาเป็นตัวอย่าง เหมือนอย่างชาวนาทั้งปวงลงมือไถนาของตัวตามปรกติ ก็ด้วยความหวาดหวั่นต่ออันตราย คือน้ำฝนน้ำท่ามากไปน้อยไป ด้วงเพลี้ยและสัตว์ต่างๆ จะบังเกิดเป็นเหตุอันตราย ไม่ให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิ และมีความปรารถนาที่จะให้ได้ประโยชน์เต็มภาคภูมิเป็นกําลัง จึงได้ต้องแส่หาทางที่จะแก้ไข และทางที่จะอุดหนุน และที่จะเสี่ยงทายให้รู้ล่วงหน้าจะได้เป็นที่มั่นอกมั่นใจ ก็การที่จะแก้ไขเยียวยาน้ำฝนน้ำท่าซึ่งเป็นของเป็นไปโดยฤดูปรกติเป็นเอง โดยอุบายลงแรงลงทุนอย่างไรไม่ได้ จึงต้องอาศัยคำอธิษฐานเอาความสัตย์เป็นที่ตั้งบ้าง ทำการซึ่งไม่มีโทษนับว่าเป็นการสวัสดิมงคล ตามซึ่งมาในพระพุทธศาสนาบ้าง บูชาเซ่นสรวงตามที่มาทางไสยศาสตร์บ้าง ให้เป็นการช่วยแรงและเป็นที่มั่นใจตามความปรารถนาของมนุษย์ซึ่งคิดไม่มีที่สุด

ก็ธรรมเนียมการแรกนาซึ่งมีมาในสยามแต่โบราณตามที่ค้นได้ในหนังสือต่างๆ คือในหนังสือนพมาศเมื่อครั้งกรุงสุโขทัยนั้น มีข้อความว่า “ในเดือนหก พระราชพิธีไพศาข จรดพระนังคัล พราหมณ์ประชุมกันผูกพรตเชิญเทวรูปเข้าโรงพิธี ณ ท้องทุ่งละหานหลวงหน้าพระตำหนักห้างเขา กําหนดฤกษ์แรกนาว่าใช้วันอาทิตย์ พระเจ้าแผ่นดินทรงเครื่องต้นอย่างเทศ ทรงม้าพระที่นั่งพยุหยาตราเป็นกระบวนเพชรพวง พระอัครชายาและพระราชวงศานุวงศ์ พระสนมกํานัลเลือกแต่ที่ต้องพระราชหฤทัย  ขึ้นรถประเทียบตามเสด็จไปในกระบวนหลัง ประทับที่พระตำหนักห้าง จึงโปรดให้ออกญาพลเทพธิบดีแต่งตัวอย่างลูกหลวง มีกระบวนแห่ประดับด้วยกรรชิงบังสูรย์ พราหมณ์เป่าสังข์โปรยข้าวตอกนำหน้า ครั้นเมื่อถึงมณฑลท้องละหาน ก็นำพระโคอุสุภราชมาเทียมไถทอง พระครูพิธีมอบยามไถและประตักทอง ให้ออกญาพลเทพเป็นผู้ไถที่หนึ่ง พระศรีมโหสถซึ่งเป็นบิดานางนพมาศเองแต่งตัวเครื่องขาวอย่างพราหมณ์ ถือไถเงินเทียมด้วยพระโคเศวตพระพรเดินไถเป็นที่สอง พระวัฒนเศรษฐีแต่งกายอย่างคหบดี ถือไถหุ้มด้วยผ้ารัตกัมพลแดง เทียมด้วยโคกระวินทั้งไม้ประตัก พระโหราลั่นฆ้องชัยประโคมดุริยางคดนตรี ออกเดินไถเวียนซ้ายไปขวา ชีพ่อพราหมณ์ปรายข้าวตอกดอกไม้ บันลือเสียงสังข์ไม้บัณเฑาะว์นำหน้าไถ ขุนบริบูรณ์ธัญญานายนักงานนาหลวงแต่งตัวนุ่งเพลาะคาดรัดประคดสวมหมวกสาน  ถือกระเช้าโปรยปรายหว่านพืชธัญญาหารตามทางไถจรดพระนังคัลถ้วนสามรอบ ในขณะนั้นมีการมหรสพ ระเบงระบําโมงครุ่มหกคะเมนไต่ลวด ลอดบ่วงรําแพนแทงวิสัยไก่ป่าช้าหงส์รายรอบปริมณฑลที่แรกนาขวัญ แล้วจึงปล่อยพระโคทั้งสามอย่างออกกินเลี้ยงเสี่ยงทายของห้าสิ่ง แล้วโหรพราหมณ์ก็ทํานายตามตํารับไตรเพท ในขณะนั้นพระอัครชายาก็ดำรัสสั่งพระสนมให้เชิญเครื่องพระสุพรรณภาชน์มธุปายาสขึ้นถวายพระเจ้าอยู่หัวเสวย ราชมัลก็ยกมธุปายาสเลี้ยงลูกขุนทั้งปวง” เป็นเสร็จการพระราชพิธีซึ่งมีมาในเรื่องนพมาศ

ที่มีมาในกฎมนเทียรบาลว่า “เดือนไพศาขจรดพระนังคัล เจ้าพระยาจันทกุมารถวายบังคม ณ หอพระ ทรงพระกรุณายื่นพระขรรค์ พระพลเทพถวายบังคมสั่งอาญาสิทธิ์ ทรงพระกรุณาลดพระบรมเดชมิได้ไขน่าลออง มิได้ตรัสคดีถ้อยความ มิได้เบิกลูกขุน มิได้เสด็จออก ส่วนเจ้าพระยาจันทกุมารมีเกยช้างหน้าพุทธาวาสขัดแห่ขึ้นช้าง แต่นั้นให้สมโภชสามวัน ลูกขุนหัวหมื่นพันนา นาร้อยนาหมื่นกรมการในกรมนาเฝ้า และขุนหมื่นชาวศาลทั้งปวงเฝ้าตามกระบวน” ได้ความในกฎมนเทียรบาลแต่เท่านี้ เป็นข้อความรวมๆ ลงไปกว่าหนังสือนพมาศหลายเท่า การที่ไปแรกนาไปทำอย่างไรก็ไม่ได้กล่าวถึง วิธีที่จัดการพระราชพิธีนี้เห็นจะไม่เหมือนกันกับที่สุโขทัยเลย ดูเป็นต่างครูกันทีเดียว ข้างสุโขทัยดูการพระราชพิธีนี้เป็นการคล้ายออกสนามใหญ่ เจ้าแผ่นดินยังถืออำนาจเต็ม ออกญาพลเทพเป็นแต่ผู้แทนที่จะลงมือไถนา ส่วนข้างกรุงเก่ายกเอาเจ้าพระยาจันทกุมารเป็นผู้แทนพระองค์ มอบพระแสงอาญาสิทธิ์ให้ ส่วนพระพลเทพคงเป็นตําแหน่งเสนาบดีผู้ออกหมายตามกระทรวง เจ้าแผ่นดินนั้นเป็นเหมือนหนึ่งออกจากอํานาจจําศีลเงียบเสียสามวัน การที่ทําเช่นนี้ก็เห็นจะประสงค์ว่าเป็นผู้ได้รับสมมติสามวัน เหมือนอย่างเป็นพระเจ้าแผ่นดินไปแรกนาเองดูขลังมากขึ้น ไม่เป็นแต่การแทนกันเล่นๆ ต่างว่า แต่วิธีอันนี้เห็นจะได้ใช้มาจนตลอดปลายๆ กรุงเก่า ด้วยได้เห็นในจดหมายเหตุขุนหลวงหาวัด ความนั้นก็ลงรอยเดียวกันกับกฎมนเทียรบาล เป็นแต่ตัดความไปว่าถึงเวลาไปทำพิธีชัดเจนขึ้น คือว่าพระอินทกุมารฉลองพระองค์ ส่วนพระมเหสีนั้นนางเทพีฉลองพระองค์ ขี่เรือคฤหสองตอนไปถึงทุ่งแก้วขึ้นจากเรือ พระอินทกุมารสวมมงกุฎอย่างเลิศขี่เสลี่ยงเงิน นางเทพีสวมมงกุฎอย่างเลิศไม่มียอดขี่เสลี่ยงเงินแห่มีสัปทนบังสูรย์เครื่องยศตาม บรรดาคนตามนั้นเรียกว่ามหาดเล็ก มีขุนนางเคียงถือหวายห้ามสูงต่ำ ครั้นเมื่อถึงโรงพิธีแล้ว พระอินทกุมารจับคันไถเทียมโคอุสุภราชโคกระวิน พระยาพลเทพถือเชือกจูงโค นางเทพีหาบกระเช้าข้าวหว่าน ครั้นไถได้สามรอบแล้วจึงปลดโคออกกินข้าวสามอย่าง ถั่วสามอย่าง หญ้าสามอย่าง ถ้ากินสิ่งใดก็มีคําทํานายต่างๆ ซึ่งชื่อผู้แรกนาแปลกกันไปกับในกฎมนเทียรบาล ข้างหนึ่งเป็นจันทกุมาร ข้างหนึ่งเป็นอินทกุมาร ข้างหนึ่งเรียกเจ้าพระยา ข้างหนึ่งเรียกพระ การที่ชื่อแปลกกันนั้นได้พบในจดหมายขุนหลวงหาวัดนี้เอง เมื่อว่าถึงพระราชพิธีเผาข้าวว่าพระจันทกุมารเป็นผู้ได้รับสมมติไปทำพิธี เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจว่า มีทั้งพระอินทกุมารพระจันทกุมาร ๒ คน ที่ในการพระราชพิธีจรดพระนังคัล ข้างหนึ่งว่าพระอินทกุมาร ข้างหนึ่งว่าพระจันทกุมาร ก็เห็นจะเป็นไขว้ชื่อกันไปเท่านั้น หรือบางทีก็จะผลัดเปลี่ยนเป็นคนนั้นแรกนาบ้าง คนนี้แรกนาบ้าง แต่ยศที่เรียกว่าเจ้าพระยาหรือพระอย่างใดจะเป็นแน่นั้น ตามที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวท่านทรงพระราชดําริเห็นว่าจะเป็นเจ้าราชินิกุล คำที่เรียกว่าพระๆ นี้ดูใช้ทั่วไปในชื่อเจ้านาย อย่างเช่นนั้นแรกๆ พระเทียรราชา พระราเมศวร พระมหินทราธิราช อีกชั้นหนึ่งในเวลาเดียวกันนั้นเช่นพระศรีเสาวราช พระเหล่านี้เป็นลูกหลวงเอกทั้งนั้น ในชั้นหลังๆ มีเจ้าเติมหน้า ก็ดูเป็นเหมือนกับจะเรียกนำติดปากไป พอให้รู้ว่าเป็นพระราชตระกูล มิใช่พระขุนนาง เช่น เจ้าพระพิชัยสุรินทร การซึ่งเห็นว่าพระอินทกุมารหรือจันทกุมารจะเป็นราชินีกุลนั้น ด้วยได้รับยศใหญ่กว่าเจ้าพระยาพลเทพ แต่เมื่อค้นดูในตําแหน่งนาพลเรือน ที่มีชื่อเจ้าราชินีกุลหลายคน ก็ไม่มีชื่อสองชื่อนี้ มีแต่ชื่อพระอินทรมนตรี มีสร้อยว่าศรีจันทกุมารอยู่คนหนึ่ง ถ้าจะคิดว่าตําแหน่งพระอินทกุมารพระจันทกุมารนี้ จะเป็นตําแหน่งพระอินทรมนตรี ศรีจันทกุมารคน ๑ พระมงคลรัตนราชมนตรี ถ้าจะเติมศรีอินทรกุมารเข้าอีกคน ๑ ก็จะเข้าคู่กันได้ชอบกลอยู่ เพราะกรมสรรพากรนี้ได้บังคับบัญชาการตลาดทั้งปวง ดูแต่ก่อนเป็นตําแหน่งใหญ่ การแรกนานี้เกี่ยวข้องอยู่กับกรมสรรพากรบ้าง เช่นหมายรับสั่งทุกวันนี้ก็ยังใช้ว่า อนึ่งให้คลังมหาสมบัติสรรพากรใน หมายบอกกำนันตลาดบกตลาดเรือกรุงเทพฯ เป็นต้น ที่อ้างถึงนี้ใช่จะว่าความตามรูปหมายที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ เพราะรูปหมายทุกวันนี้เป็นแต่ให้เป็นผู้ประกาศให้ลูกค้ารู้ ที่จะว่าเดี๋ยวนี้ประสงค์จะให้รู้ว่าการเกี่ยวข้องกับกรมสรรพากรบ้าง และกรมสรรพากรแต่ก่อนเป็นกรมใหญ่ บางทีตำแหน่งจันทกุมารอินทกุมารนี้ถึงเป็นราชินิกุล จะได้บังคับบัญชากรมสรรพากรบ้างดอกกระมัง หลวงอินทรมนตรีจึงมีสร้อยศรีจันทกุมารติดท้ายอยู่ แต่ตําแหน่งมงคลรัตน์นั้นไม่มีอินทกุมารหายไป ธรรมเนียมสร้อยชื่อของเก่ากรมใดมักจะใช้สร้อยชื่อเรื่องเดียวกันไปทั้งชุด เช่น กรมช้างใช้สร้อยชื่อสุริยชาติ เป็นต้น ตลอดทั้งจางวางและเจ้ากรม ถ้าสร้อยชื่อจันทกุมารอินทกุมารเป็นของกรมสรรพากร ก็คงจะเป็นกรมสรรพากรแรกนา แต่เมื่อคิดอีกอย่างหนึ่งหรือจะเป็นผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งควรจะแรกนาแล้ว โปรดให้ไปแรกนาเหมือนอย่างชั้นหลังๆ ไม่ว่าตําแหน่งใด ถ้าผู้ใดไปแรกนา ก็เรียกผู้นั้นเป็นพระอินทกุมารหรือพระจันทกุมารจะได้ดอกกระมัง แตในชั้นหลังครั้งขุนหลวงหาวัดนี้ เรื่องให้อํานาจจนถึงยื่นพระขรรค์เห็นจะเลิกเสียแล้วจึงไม่ได้กล่าวถึง ดูก็จะได้รับยศคล้ายๆ ขุนนางแรกนาอยู่ทุกวันนี้

ยังมีอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นคําพูดกับมาชุมๆ คู่กันกับพระยาพลเทพยืนชิงช้าตีนตกต้องริบ ตะเภาเข้ามาวันนั้นต้องเป็นของพระยาพลเทพ ในการแรกนานี้ตะเภาเข้ามาก็เป็นของผู้แรกนาเหมือนกัน แต่มีวิเศษออกไปที่เรื่องว่าได้กำตากด้วย เรื่องกำตากนี้มีคำพูดกันจนถึงเป็นคำพูดเล่น ถ้าผู้ใดจะแย่งเอาสิ่งของผู้ใดเป็นการหยอกๆ กัน ก็เรียกว่ากําตากละ เรื่องกําตากนี้ได้ค้นพบในจดหมายขุนหลวงหาวัด ว่าระหว่างพิธีสามวันนั้น ถ้าเป็นพ่อค้าเรือและเกวียนและพ่อค้าสำเภาจักมาแต่ทิศใดๆ ทั้ง ๘ ทิศ ถ้าถึงในระหว่างพิธีนั้น พระอินทกุมารได้เป็นสิทธิ อนึ่ง ทนายบ่าวไพร่ของพระอินทกุมาร ในสามวันนั้นจะไปเก็บขนอนตลาดและเรือจ้างในทิศใดๆ ก็ได้เป็นสิทธิ เรียกว่าทนายกําตาก มีข้อความของเก่าจดไว้ดังนี้ พิเคราะห์ดูเห็นว่า ข้อที่ว่าเกวียนและเรือสำเภามาถึงในวันนั้นเป็นสิทธิ ดูเหมือนหนึ่งบรรดาสินค้าซึ่งมาในเกวียนและสำเภานั้นจะต้องริบเป็นของพระอินทกุมารทั้งสิ้น แต่ที่จริงนั้นมุ่งหมายจะว่าด้วยค่าปากเรือและค่าเกวียนซึ่งเป็นภาษีขาเข้าอย่างเก่า การที่อนุญาตให้นั้นอนุญาตค่าปากเรือและค่าเกวียนในส่วนที่มาถึงวันนั้นให้เป็นรางวัล แต่ก็คงจะไม่เป็นประโยชน์ที่ได้เสมอทุกปี เพราะการค้าขายแต่ก่อนมีน้อย ที่จะหาสำเภาลําใดและเกวียนหมู่ใดให้มาถึงเฉพาะในวันพระราชพิธีนั้นได้เสมอทุกปีคงหาไม่ได้ คงจะมีผู้ได้จริงๆ สักครั้งหนึ่งหรือสองครั้ง เพียงห้าชั่งหกชั่งก็จะนับว่าเป็นเศรษฐีปลื้มกันเต็มที จึงได้นิยมโจษกันไม่สิ้นสุดจนถึงทุกวันนี้ ส่วนประโยชน์ที่ได้จริงๆ เป็นของเสมออยู่นั้น คงจะเป็นค่าตลาดค่าเรือจ้างส่วนวันนั้น เป็นยกพระราชทานให้ผู้แรกนาเก็บ ค่าตลาดที่กล่าวนี้คือที่เก็บอยู่อย่างเก่า พึ่งมาเลิกเสียในรัชกาลที่ ๔ นายอากรตลาดนั้น มักจะเป็นผู้หญิงที่เป็นคนค้าขายทํามาหากิน รับผูกจากพระคลังไปเก็บ เช่นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีท้าวเทพากรคนหนึ่งเป็นผู้ไปเก็บ ท้าวเทพากรนั้นก็นับว่าเป็นเศรษฐี เป็นที่นับถือชื่อเสียงเลื่องลือเหมือนอย่างเจ้าสัวคนหนึ่ง ถ้าใครอยากจะสำแดงตัวว่าเป็นผู้มีเชื้อแถวและทรัพย์สมบัติบริบูรณ์ เมื่อไต่ถามว่าเป็นลูกใครหลานใคร ถ้าเกี่ยวข้องเป็นญาติลูกหลานของท้าวเทพากร ถึงห่างเท่าใดก็ต้องอ้างว่าเป็นลูกหลานของท้าวเทพากร ข้าพเจ้าเคยได้ยินมาดังนี้ แล้วผู้ที่ฟังฉันก็เข้าใจซึมซาบว่า เป็นคนมั่งคั่งบริบูรณ์ พิกัดเก็บอากรตลาดนั้น เก็บตามแผงลอยร้านหนึ่งเก็บวันละเฟื้อง แต่ผู้ซึ่งเก็บอากรนั้นไม่ใคร่จะเก็บตามพิกัด ด้วยเวลานั้นใช้ซื้อขายกันด้วยเบี้ย มักจะตักตวงเอาเหลือเกินกว่าพิกัด ครั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดําเนินไปตลาดท้ายสนม ดำรัสถามพวกชาวร้านด้วยเรื่องเสียอากรตลาด ทรงเห็นว่าราษฎรที่มีของสดเล็กน้อยมาขายต้องเสียอากร นายตลาดเก็บแรงเหลือเกิน จึงได้โปรดให้เลิกอากรตลาดเสีย เปลี่ยนเป็นภาษีเรือโรงร้านตึกแพ อากรตลาดซึ่งเก็บอย่างแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น เป็นอากรในแบบซึ่งมีมาแต่ครั้งกรุงเก่า การซึ่งว่าทนายของผู้แรกนาไปเที่ยวเก็บอากรขนอนตลาดได้เป็นสิทธิทุกแห่งนั้น ก็คือยกอากรที่เก็บร้านละเฟื้องในส่วนวันนั้นพระราชทานให้แก่ผู้แรกนาไปเก็บเอาเอง จึงได้มีหมายให้คลังมหาสมบัติสรรพากรหมายบอกกํานันตลาดบกตลาดเรือ ให้ประกาศป่าวร้องให้ลูกค้ารู้จงทั่วกัน คือให้รู้ว่ากําหนดวันนั้นให้เสียอากรแก่ผู้แรกนา ถ้าเรือสำเภาเข้ามาก็ให้เสียค่าปากเรือค่าจังกอบแก่ผู้แรกนา เมื่อได้พระราชทานอนุญาตเช่นนี้ ผู้แรกนาก็แต่งทนายออกไปเที่ยวเก็บอากร ผู้แรกนาเองก็เป็นเวลานานๆ จะได้ครั้งหนึ่ง มุ่งหมายอยากจะได้ให้มาก ทนายซึ่งไปนั้นเล่าก็อยากจะหาผลประโยชน์ของตัวเป็นลําไพ่บ้าง เก็บอากรจึงได้รุนแรงล้นเหลือเกินพิกัดไปมาก นุ่งยิ่งกว่าที่นายตลาดนุ่งอยู่แต่ก่อน จนลูกค้าชาวตลาดทั้งปวงพากันกลัวเกรง เมื่อจะเอาให้มากผู้ที่จะให้ก็ไม่ใคร่จะยอมให้ ข้างผู้ที่จะเอาก็ถืออํานาจที่ได้อนุญาตไป โฉบฉวยเอาตามแต่ที่จะได้ จนกลับเป็นวิ่งราวกลายๆ คำที่ว่ากำตากจึงได้เป็นที่กลัวกัน จนถึงเอามาพูดเป็นยูดี ในเวลาที่จะแย่งของอันใดจากกันว่า กําตาก แต่ส่วนคำกำตากเองนั้นดูก็เป็นภาษาไทยแท้ แต่แปลไม่ออกว่าอะไร มีท่านผู้หนึ่งได้แปลโดยการเดา ลองคิดดูเห็นว่าคำ กำ นั้น แปลว่า ถือ ตาก แปลว่าของที่ตั้งเปิดเผยไว้ ดังคําที่เรียกว่าเอาของผึ่งตากเป็นต้น คือจะถือเอาใจความว่า ร้านตลาดที่เวลาออกอยู่เปิดอยู่เอาพัสดุสินค้าออกตั้งวางเพื่อจะซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน โบราณาจารย์จะเรียกว่าตากดอกกระมัง คำว่ากำนั้น ก็คือทนายของพระยาไปเที่ยวฉกฉวยสิ่งของตามร้านตลาด ก็ต้องเอามือกํามาจึงได้ของ ก็คําสองคํานี้เข้าเป็นสมาส จึงเป็นกำตาก ความเห็นได้กล่าวดังนี้ ข้าพเจ้ายังไม่เห็นด้วย ได้คิดเดาแปลลองดูเองบ้าง สงสัยว่าคําตากนั้นจะเรียกลากยาวไป บางทีจะเป็นตักดอกกระมัง ด้วยแต่ก่อนมาการซื้อขายกันในตลาดใช้เบี้ยหอย ตลาดแผงลอยเช่นนี้ มักจะมีกระจาดหรือกระบุงไว้คอยรับเบี้ยจากผู้ที่มาซื้อ และทอนเงินทอนเบี้ยกัน ในที่ๆ ไว้เบี้ยเช่นนั้น มักมีถ้วยน้ำพริกปากไปล่ หรือจอกทองเหลืองคว่ำครอบอยู่ที่กลางกองเบี้ย สำหรับใช้ตักตวง เมื่อเวลาพระยาผู้แรกนาได้รับอนุญาตให้เก็บเงินค่าอากรตลาดในวันแรกนา ก็ไปเก็บอากรนั้นด้วยเบี้ยจากกระบุงหรือกระจาดที่ไว้เบี้ยนั้น แต่การที่พระราชทานอนุญาตเช่นนั้น เมื่อแรกอนุญาตก็คงจะยกเงินอากรให้แก่นายตลาด ชาวตลาดต้องเสียแก่พระยาผู้แรกนาฝ่ายเดียว แต่ครั้นภายหลังมานายอากรตลาดก็คงจะผลัดเปลี่ยนกันไป เจ้าพนักงานก็คงจะผลัดเปลี่ยนกันไป เมื่อการจืดๆ ลงมาภายหลัง เงินอากรก็จะไม่ได้ยกให้นายตลาดหรือนายตลาดจะยอมเสียว่าเล็กน้อย ไม่ต้องลดเงินหลวงลงเพราะมีกำไรอยู่มากแล้ว เจ้าพนักงานก็ไม่ต้องเป็นธุระอันใดต่อไป ในเรื่องที่จะยกเงินอากรให้ในวันนั้น จนเลยลืมไม่มีใครรู้ว่าเคยลด ข้างส่วนนายอากรที่จะมาเก็บอากรตลาดใหม่ต่อไป ก็ไม่รู้สึกว่าวันนั้นเป็นวันจะต้องยกเว้นอันใด หรือรู้สึกแต่ถือว่าเงินหลวงต้องเสียเต็มไม่ได้ยกเว้นให้ ก็คงเก็บตลาดอยู่ในเวลาที่แรกนานั้นมิได้ยกเว้น แต่ส่วนทนายของพระยาผู้ซึ่งแรกนา ที่เคยได้ประโยชน์หรือรู้ว่าเป็นธรรมเนียมได้ประโยชน์มาก็ออกเที่ยวเก็บตลาด ฝ่ายชาวตลาดจะเถียงว่าได้เสียอากรแล้วไม่ยอมให้ พวกทนายนั้นก็คงไม่ฟัง ล้วงมือลงไปกำหรือเอาถ้วยเอาจอกตักเบี้ยในกระบุงเอาไปพอแก่ที่จะฉกล้วงเอาได้ ข้างฝ่ายชาวตลาดจะไปร้องฟ้องว่ากล่าวอันใดก็ป่วยการ ได้ไม่เท่าเสียเพราะเบี้ยที่ทนายพระยามาเอาไปนั้นก็เพียงกำหนึ่งตักหนึ่ง จะเสียค่าธรรมเนียมยิ่งกว่านั้นหลายเท่า จึงตกลงใจว่าเบี้ยกําหนึ่งตักหนึ่งช่างเถิด ครั้นต่อมาภายหลังผู้ที่ไม่ทราบต้นเหตุ เห็นถึงวันแรกนาแล้ว พวกทนายของพระยามาเที่ยวกําเที่ยวตักเบี้ยตามร้าน ก็เรียกว่าพวกกําพวกตักมา ต้องเสียเบี้ยกําเบี้ยตัก ลงเป็นธรรมเนียมว่า วันนั้นแล้วเป็นต้องเสียอากรอีกชั้นหนึ่ง ร้านละกําละตักหนึ่ง ครั้นคำที่เรียกว่าพวกทนายกําทนายตัก เรียกชินๆ ปากเข้าก็ขี้เกียจซ้ำทนายอีกครั้งหนึ่ง คงเรียกแต่ทนายกําตัก ก็เมื่อนานมาคําพูดอยู่ชินๆ ปากของผู้ที่เข้าใจแล้ว หมายว่าไม่เป็นอัศจรรย์อันใด ไม่ได้แปลให้กันฟังต่อๆ ไปไม่มีผู้รู้มีนนิง[๑] คือความหมายเดิมว่ากระไร ผู้ที่พูดตามๆ มาก็พูดไปอย่างนั้นไม่เข้าใจคำแปลว่ากระไรเลย เข้าใจว่าทนายกําตักนั้นเป็นภาษาสำหรับพูดแปลว่าแย่งเบี้ยในร้าน ก็อย่างเดียวกันกับคำที่พูดกันอยู่ทุกวันนี้ว่าโคมลอยก็ดี ว่านุ่งก็ดี ก็มีมีนนิงอาจที่จะชี้แจงชักเรื่องได้ยืดยาว ถ้าไม่ได้จดหมายชี้แจงไว้นานไปภายหน้าพูดกันอยู่ยังไม่จืด ก็คงจะต้องเข้าใจว่าโคมลอยนั้นแปลว่าเหลว นุ่งแปลว่าโกงหรือฉ้อ คําพูดเช่นนี้เป็นคําล้อหน่อยๆ หนึ่ง ไม่ได้แปลที่มาแห่งคำเรียกนั้นไว้ก็เลยไม่มีผู้ใดทราบได้ อนึ่งคําสั้นกับคํายาวมักจะเรียกกลายๆ กันไปได้ เช่นคําว่าไก่ ท้าวสุภัติการ (นาก) ที่ตายในเร็วๆ นี้ เรียกว่าก่ายเสมอ คําอื่นๆ ที่ผู้อื่นๆ เรียกเช่นนี้มีมากหลายคำหลายคน ก็คำที่เรียกว่ากำตักนี้ จะเรียกยาวออกไปว่ากำตากได้บ้างดอกกระมัง เมื่อผู้ที่พูดคำลากยาวเช่นนี้ ได้เขียนหนังสืออันใดลงไว้ ว่ากำตากกำตาก ถึงแม้ว่าผู้ที่ยังเรียกกำตักอยู่ตามเดิมบ้าง เรียกกำตากตามหนังสือบ้าง จะเกิดถุ้งเถียงกันขึ้น ก็คงจะต้องอ้างเอาหนังสือเป็นหลักฐานว่าเป็นถูก เมื่อไม่มีผู้ใดรู้ความมุ่งหมายของคํานั้น จะชี้แจงตัดสินว่าอย่างไรถูกอย่างไรผิด ก็คงต้องตกลงตามหนังสือจึงได้ปรากฏมาว่าทนายกําตาก หรือเก็บกําตาก เสียค่ากําตาก ได้กําตาก ความที่ว่ามาทั้งนี้ เป็นเรื่องเดาทั้งสิ้น ผิดถูกอย่างไรขอโทษที แต่เรื่องกําตากนี้ จะได้มียกอากรหลวงพระราชทานมาเพียงใดก็ไม่ปรากฏ เป็นแต่ความนิยมของคนที่พูดกันอยู่ จนถึงทุกวันนี้ แต่ที่กรุงเทพฯ นี้ ถึงแต่ก่อนมาก็ไม่ปรากฏว่าได้ยกอากรพระราชทาน ค่าปากเรือค่าจังกอบก็ไม่ได้ยินว่าพระราชทาน ได้ยินแต่เล่ากันว่า พวกทนายของพระยาเที่ยวเก็บเที่ยวชิงเบี้ยตามตลาด เมื่อไม่ได้เบี้ย สิ่งของอันใดก็ใช้ได้ เรียกว่าไปเก็บกำตาก เรือสำเภาลำใดมาถึงก็ลงไปเที่ยวเก็บฉกๆ ฉวยๆ เช่นนี้ เป็นเก็บกำตากเหมือนกัน อาการที่ทนายของพระยาไปทํานั้น ตามที่เข้าใจกันว่าในวันนั้น พระยาได้เป็นเจ้าแผ่นดินแทนวันหนึ่ง ถึงบ่าวไพร่จะไปเที่ยววิ่งราวแย่งชิงกลางตลาดยี่สานก็ไม่มีความผิด เป็นโอกาสที่จะนุ่งได้วันหนึ่งก็นุ่งให้เต็มมือ ฝ่ายผู้ที่ถูกแย่งชิงนั้นก็เข้าใจเสียว่าฟ้องร้องไม่ได้ ด้วยเป็นเหมือนวันปล่อยผู้ร้ายวันหนึ่ง ไม่มีใครมาฟ้องร้องว่ากล่าว เป็นแต่บ่นกับพึมๆ พำๆ ไปต่างๆ จนเป็นเรื่องที่สำหรับเอามาพูดเล่น ใครจะแย่งของจากผู้ใดก็เรียกว่ากําตากละ แต่ที่แท้ธรรมเนียมกําตากนี้ ก็ได้เลิกเสียช้านานหลายสิบปีมาแล้ว แต่การที่คนมากๆ ด้วยกันไม่ชอบความประพฤติเช่นนั้นก็ยังเล่ากันต่อมา จนถึงชั้นเราได้รู้เรื่องดังนี้ ส่วนผู้ที่แรกนาในทุกวันนี้ แต่เดิมมาได้พระราชทานเบี้ยเลี้ยง ๑๐ ตำลึง ครั้นเมื่อเกิดภาษีโรงร้านตึกแพขึ้น โปรดให้หักเงินภาษีเป็นค่าเลี้ยงเกาเหลาในการแรกนาอีกชั่งหนึ่ง ครั้นถึงพระยาอภัยรณฤทธิ[๒]แรกนาออดแอดไปว่ากำลังวังชาไม่มีต่างๆ จึงได้ตกลงเป็นให้เงินเสียคราวละ ๕ ชั่งสืบมา

การแรกนาที่ในกรุงเทพฯ นี้ มีเสมอมาแต่ปฐมรัชกาลไม่ได้ยกเว้น แต่ถือว่าเป็นตําแหน่งเจ้าพระยาพลเทพคู่กันกับยืนชิงช้า เจ้าพระยาพลเทพแรกนายืนชิงช้าผู้เดียวไม่ได้ผลัดเปลี่ยน ครั้นตกมาภายหลังเมื่อเจ้าพระยาพลเทพป่วย ก็โปรดให้พระยาประชาชีพแทนบ้าง และเมื่อเจ้าพระยานิกรบดินทร์ยืนชิงช้าก็โปรดให้แรกนาด้วย ในครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เกือบจะตกลงเป็นธรรมเนียมว่าผู้ใดยืนชิงช้าผู้นั้นเป็นผู้แรกนาด้วย ครั้นมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าพระยาพลเทพ (หลง) แรกนา เผอิญถูกคราวฝนแล้งราษฏรไม่เป็นที่ชอบใจติเตียนหยาบคายต่างๆ ไป[๓] จึงโปรดให้เจ้าพระยาภูธราภัยแรกนา ถูกคราวดีก็เป็นการติดตัวเจ้าพระยาภูธราภัย ไดัแรกนามาจนตลอดสิ้นชีวิต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยกย่องว่าเป็นผู้แรกนาดี และรับสั่งว่าต่อไปภายหน้า ถึงเจ้าพระยาภูธราภัยจะป่วยไข้แรกนาไม่ได้ ก็จะโปรดให้วงศ์ญาติพวกนั้นเป็นผู้แรกนา เมื่อเจ้าพระยาภูธราภัยถึงอสัญกรรมแล้ว จึงได้ให้พระยาอภัยรณฤทธิเป็นผู้แรกนา ตามพระกระแสเดิมมาจนถึงปีนี้ พระยาอภัยรณฤทธิป่วยแรกนาไม่ได้ จึงได้ให้พระยาภาสกรวงศ์ที่เกษตราธิบดี ผู้เจ้าของตำแหน่งเป็นผู้แรกนา

การแรกนาที่กรุงเทพฯ นี้ ไม่ได้เป็นการหน้าพระที่นั่ง เว้นไว้แต่มีพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรเมื่อใด จึงได้ทอดพระเนตร เล่ากันว่าเมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า ขณะเมื่อทรงปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ ในปีมะแมเบญจศกศักราช ๑๑๘๕ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการทุกวัน ครั้นเมื่อถึงพระราชพิธีจรดพระนังคัลจะใคร่ทอดพระเนตร จึงโปรดให้ยกการพระราชพิธีมาตั้งที่ปรกหลังวัดอรุณฯ ซึ่งในขณะนั้นยังเป็นทุ่งนา ไมได้เผาศพฝังศพในที่นั้น ครั้นมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรแรกนาที่ทุ่งส้มป่อยครั้งหนึ่ง ภายหลังโปรดให้มีการแรกนาที่กรุงเก่าและที่เพชรบุรี ได้เสด็จพระราชดําเนินทอดพระเนตรพระยาเพชรบุรี (บัว) แรกนาที่เขาเทพนมขวดครั้งหนึ่งหรือสองครั้ง ในแผ่นดินปัจจุบันนี้ ก็ได้เสด็จพระราชดําเนินทอดพระเนตรแรกนาที่ทุ่งส้มป่อยครั้งหนึ่ง การพระราชพิธีจรดพระนังคัลแต่ก่อนมีแต่พิธีพราหมณ์ ไม่มีพิธีสงฆ์ ครั้นมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงเพิ่มพิธีสงฆ์ในพระราชพิธีต่างๆ จึงได้เพิ่มในการจรดพระนังคัลนี้ด้วย แต่ยกเป็นพิธีหนึ่งต่างหากเรียกว่าพืชมงคล โปรดให้ปลูกพลับพลาขึ้นที่หน้าท้องสนามหลวง และสร้างหอพระเป็นที่ไว้พระคันธารราษฎร์สำหรับการพระราชพิธีพืชมงคลอย่างหนึ่ง พรุณศาสตร์อย่างหนึ่ง แต่ก่อนมาพระยาผู้จะแรกนาก็มิได้ฟังสวด เป็นแต่กราบถวายบังคมลาแล้วก็ไปเข้าพิธีเหมือนตรียัมพวาย กระเช้าข้าวโปรยก็ใช้เจ้าพนักงานกรมนาหาบ ไม่ได้มีนางเทพีเหมือนทุกวันนี้ เมื่อโปรดให้มีพระราชพิธีพืชมงคลขึ้น จึงได้ให้มีนางเทพีสี่คน จัดเจ้าจอมเถ้าแก่ที่มีทุนรอนพาหนะ พอจะแต่งตัวและมีเครื่องใช้สอยติดตามให้ไปหาบกระเช้าข้าวโปรย เมื่อวันสวดมนต์พระราชพิธีพืชมงคล ก็ให้ฟังสวดพร้อมด้วยพระยาผู้จะแรกนา และให้มีกรมราชบัณฑิตเชิญพระเต้าเทวบิฐ ซึ่งเป็นพระเต้าเกิดขึ้นใหม่ในรัชกาลนั้นประพรมที่แผ่นดินนำหน้าพระยาที่แรกนา ให้เป็นสวัสดิมงคลขึ้นอีกชั้นหนึ่ง

การพระราชพิธีนี้ ในเวลาบ่ายวันที่จะสวดมนต์ที่กระบวนแห่พระพุทธรูปออกไปจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม กระบวนแห่นี้เกิดขึ้นก็ด้วยเรื่องแห่เทวรูปออกไปที่โรงพระราชพิธีทุ่งส้มป่อย เป็นธรรมเนียมมีมาเสียแต่เดิมแล้ว พระพุทธรูปจะไม่มีกระบวนแห่ ก็ดูจะเลวไปกว่าเทวรูป จึงได้มีกระบวนแห่กําหนดธงมังกร ๑๐๐ ธงตะขาบ ๑๐๐ กลองชนะ ๒๐ จ่าปี่ จ่ากลอง แตรงอน ๑๐ แตรฝรั่ง ๘ สังข์ ๒ เครื่องสูงสำรับหนึ่ง คู่แห่ ๑๐๐ พิณพาทย์ ๒ สำหรับกลองแขก ๒ สำหรับ ราชยานกง ๑ เสลี่ยงโถง ๑ คนหามพร้อม มีราชบัณฑิตประคองและภูษามาลาเชิญพระกลด พระพุทธรูปซึ่งตั้งในการพิธีแห่ออกไปจากพระราชวัง คือพระคันธารราษฎร์นั่งก้าไหล่ทององค์ใหญ่ ซึ่งอยู่ที่หอในวัดพระศรีรัตนศาสดารามองค์ ๑ พระคันธารราษฎร์ยืนก้าไหล่ทององค์ ๑ พระคันธารราษฎร์อย่างพระชนมพรรษาเงินองค์ ๑ เกิดขึ้นในแผ่นดินปัจจุบันนี้ พระทรมานเข้าอยู่ในครอบแก้วสร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๓ องค์ ๑ พระชัยประจําแผ่นดินปัจจุบันองค์ ๑ พระชัยเนาวโลหะน้อยองค์ ๑ พระพุทธรูปทั้งนี้เชิญไปจากหอพระเจ้าในพระบรมมหาราชวัง เทวรูป ๖ องค์นั่งแท่นเดียวกัน ๑ รูปพระโค ๑ แล้วเชิญพระพุทธรูปพระคันธารราษฎร์จีนก้าไหล่ทอง ซึ่งไว้ที่หอพระท้องสนามหลวงลงมาอีกองค์ ๑ พระพุทธรูปทั้งนี้เชิญขึ้นตั้งบนโต๊ะทองใหญ่ ในพระแท่นมณฑลองค์น้อย มีเชิงเทียนราย ๔ เชิง พานทองคําดอกไม้ ๒ พาน กระถางธูปหยกกระถาง ๑ ตามรอบม้าทองที่ตั้งพระ บนพระแท่นมณฑลและใต้ม้าทอง ไว้พรรณเครื่องเพาะปลูกต่างๆ คือข้าวเหนียวข้าวเจ้าต่างๆ ตามแต่จะหาได้ เมล็ดน้ำเต้า แมงลัก แตงต่างๆ ถั่วต่างๆ ข้าวโพด ข้าวฟ่าง ลูกเดือย งา ของทั้งนี้กําหนดสิ่งละ ๒ ทะนาน เผือก มันต่างๆ สิ่งละ ๑๐ เง่า ที่ควรกรอกลงขวดอัดก็กรอกลงขวดตั้งเรียงรายไว้รอบ มีเครื่องนมัสการทองทิศสำรับ ๑ ที่พลับพลาโถงมุมกําแพงแก้ว ซึ่งเป็นที่ทอดพระเนตรนา[๔] ตั้งโต๊ะจีนมีเทวรูป ๖ องค์ และรูปพระโคเหมือนที่ตั้งในพระแท่นมณฑล แต่เป็นขนาดใหญ่ขึ้น รอบโรงพระราชพิธีปักราชวัติฉัตรกระดาษวงสายสิญจน์

เวลาค่ำเสด็จออกทรงถวายผ้าสบงจีวรกราบพระ พระสงฆ์ที่สวดมนต์ ๑๑ รูป พระที่สวดมนต์นั้นใช้เจ้าพระราชาคณะ คือพระราชประสงค์เดิมนั้น จะใช้หม่อมเจ้าพระสังวรวรประสาธน์[๕] ซึ่งถือตาลิปัตรงาเป็นราชาคณะฝ่ายสมถะ ต่อมาจึงได้ติดเป็นตําแหน่งเจ้าพระ พระที่สวดมนต์อีก ๑๐ รูป ใช้พระเปรียญ ๓ ประโยคเป็นพื้น พระสงฆ์รับผ้าไปครองเสร็จแล้วกลับขึ้นมานั่งที่ จึงได้ทรงจุดเทียนเครื่องนมัสการ ทรงตั้งสัตยาธิษฐานในการพระราชพิธีแล้วทรงศีล พระยาผู้ที่แรกนานั่งที่ท้ายพระสงฆ์ มีพานธูปเทียนดอกไม้ขึ้นไปจุดบูชาพระรับศีลและฟังสวด เวลาที่สวดมนต์นั้นหางสายสิญจน์พาดที่ตัวพระยาผู้แรกนาด้วย นางเทพี ๔ คน ก็นั่งฟังสวดในม่านหลังพระแท่นมณฑล เมื่อทรงศีลแล้วทรงจุดเทียนพานเครื่องนมัสการที่พระแท่นมณฑล และที่หอพระที่พลับพลา ทรงสุหร่ายประพรมน้ำหอม และเจิมพระพุทธรูปเทวรูปทุกองค์ ในขณะนั้นอาลักษณ์นุ่งขาวห่มขาวรับหางสายสิญจน์พาดบ่า อ่านคําประกาศสำหรับพระราชพิธี คําประกาศสำหรับพระราชพิธีนี้เก็บรวบรวมความบรรดาที่เกี่ยวข้องในเรื่องการนา ที่มีมาในพระพุทธศาสนามาว่าโดยย่อๆ เป็นคำอธิษฐานในการพระราชพิธี เพื่อให้เกิดสวัสดิมงคล

คำประกาศนั้นมีข้อใจความดังต่อไปนี้ เริ่มต้นว่าคาถาเป็นทํานองสรภัญญะ สำหรับสวดอธิษฐานในการพระราชพิธี ตั้งแต่ นโมตัส์ส ภควโต สุนิพพุตัส์ส ตาทิโน จนถึง สัม์ปัชชัน์เตวสัพ์พโสติ เป็นที่สุด พระคาถานี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงขึ้นใหม่ เก็บข้อความย่อเป็นคำอธิษฐาน ดังจะได้กล่าวคำแปลสืบไปภายหน้า และพระคาถานี้มีพระนามพระเจ้าแผ่นดินอยู่ที่ต้องใช้ผลัดเปลี่ยนตามพระนาม คือ อัม์หากัญ์จ มหาราชา เมื่อรัชกาลที่ ๔ ใช้ ปรเมน์โท มหิป์ปติ ในรัชกาลปัจจุบันนี้ ใช้ ปรมิน์โท มหิป์ปติ นอกนั้นก็คงอยู่ตามเดิม เมื่ออ่านพระคาถาเป็นคําสรภัญญะจบลงแล้ว จึงได้เดินเนื้อความเป็นสยามพากย์คำร้อยแก้ว เริ่มตั้งแต่ขยมบาทบวร อาทรถวายอภิวาทเป็นต้น ข้อความที่ยกมาอธิษฐานเป็นเนื้อความ ๔ ข้อๆ หนึ่งสรรเสริญพระพุทธคุณที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ธรรม อันเป็นเครื่องระงับความเศร้าโศก เพราะสละกิเลสทั้งปวงได้สิ้น ชนทั้งปวงซึ่งเร่าร้อนอยู่ด้วยตัณหา ไม่ควรเป็นที่งอกแห่งผล ได้สดับธรรมที่พระพุทธเจ้าสอนก็ให้อุบัติงอกงามขึ้นได้ในสันดาน พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น กับทั้งพระธรรมพระสงฆ์เป็นเนื้อนาอันวิเศษ เหตุหว่านพืชเจริญผล อนึ่งพืชคือกุศลอาจจะให้ผลในปัจจุบันและภายหน้า ขอจงให้ผลตามความปรารถนา คือในเดือนนี้กําหนดจรดพระนังคัลจะหว่านพืชในภูมินา ขอให้งอกงามด้วยดี อย่ามีพิบัติอันตราย เป็นคำอธิษฐานข้อที่ ๑ ต่อไปยกพระคาถาภาษิตซึ่งมีมาในภารทวาชสูตร มายกขึ้นเป็นคำอธิษฐาน ความในพระสูตรนั้นว่าพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อกสิภารัทวาชะ ไปทํานาอยู่ในที่นาของตน พระพุทธเจ้าทรงเห็นอุปนิสัยว่าจะได้มรรคผล เวลาบิณฑบาตพระองค์เสด็จไปยังที่พราหมณ์ไถนาอยู่ แล้วตรัสปราศรัย พราหมณ์จึงติเตียนว่าสมณะนี้ขี้เกียจ เที่ยวแต่ขอทานเขากิน ไม่รู้จักทำไร่ไถนาหาเลี้ยงชีวิตเหมือนเช่นเรา พระองค์จึงตอบว่า การทํานาเราก็เข้าใจ เราได้ทํานาเสร็จแล้ว แก่การนาของเราไม่เหมือนอย่างของท่าน เครื่องที่เป็นอุปการะในการนาของเรามีครบทุกสิ่ง คือศรัทธาความเชื่อเป็นพืชข้าวปลูก ตบะธรรมซึ่งเผากิเลสให้เร่าร้อน และอินทรียสังวร ความระวังรักษาอินทรีย์ กับทั้งโภชนะมัตตัญญ รู้ประมาณในโภชนาหารเป็นน้ำฝน ปัญญาเป็นคู่แอกและไถ หิริเป็นงอนไถ ใจเป็นเชือกชัก สติเป็นประตักสำหรับเตือน ความสัตย์ เป็นท่อสำหรับไขน้ำ ความเพียรที่กล้าหาญสำหรับชักแอกไถ ความสำรวมใจเป็นของสำหรับปลดแอกไถ นำไปบรรลุที่อันเกษมจากกิเลสเครื่องประกอบสัตว์ ย่อมไปยังสถานที่ไม่รู้กลับ เป็นสถานที่ไม่เศร้าไม่โศก มีแต่ความสุขสำราญ การไถของเราเช่นนี้ มีผลเป็นอมตะไม่รู้ตาย บุคคลมาประกอบการไถเช่นว่านี้แล้ว ย่อมพ้นจากทุกข์นั้นทุกประการ ใจความในพระสูตรนั้นดังนี้ ที่ยกมาอธิษฐานในคําประกาศพระราชพิธีว่าเฉพาะแต่พระคาถา ยกว่าเป็นความจริงตามที่พระพุทธเจ้าตรัส ขออํานาจความสัตย์นั้น ให้ข้าวที่หว่านงอกงามทั่วชนบท และให้ฝนอุดมดี คําอธิษฐานนี้นับเป็นข้อที่ ๒ ต่อนั้นไปยกคาถาซึ่งมีมาในเตมียชาดก มีเรื่องราวว่า พระเจ้าพาราณสีมีพระราชโอรสพระองค์หนึ่งชื่อเตมียกุมาร เมื่อยังทรงพระเยาว์อยู่พระบิดาอุ้มประทับในพระเพลาในเวลาเสด็จออกว่าราชการ สั่งให้ลงราชทัณฑ์แก่ผู้มีความผิดต่างๆ พระเตมียกุมารได้ฟังก็มีพระราชหฤทัยท้อถอยไม่อยากจะรับราชสมบัติต่อไป จึงแกล้งทําเป็นใบ้เป็นง่อยเปลี้ยพิกลจริตจนทรงพระเจริญใหญ่ขึ้น พระบิดาสั่งให้นายสุนันทสารถีเอาไปฝังเสียในป่า พระเตมียกุมารจึงกล่าวคาถาแสดงผลที่บุคคลไม่ประทุษร้ายต่อมิตรสิบคาถา แต่ที่ยกมาใช้เป็นคำอธิษฐานในการพระราชพิธีนี้แต่สองคาถา เริ่มตั้งแต่ ภาสิตา จยิมา คาถา มีเนื้อความว่า ศาสดาผู้เป็นใบ้และเป็นง่อยได้ภาษิตไว้ว่า ผู้ใดไม่ประทุษร้ายต่อมิตร โคที่จะเป็นกําลังไถหว่านของผู้นั้น จะมีแต่เจริญไม่รู้เป็นอันตราย พืชพรรณใดๆ ที่ผู้นั้นได้หว่านลงในไร่นาแล้ว ย่อมงอกงามดีมีผลให้สำเร็จประโยชน์ ผู้นั้นย่อมได้บริโภคผลของพืชพรรณนั้นสมประสงค์ ไม่มีพิบัติอันตราย อีกพระคาถาหนึ่งนั้นว่า ข้อหนึ่งผู้ใดไม่ประทุษร้ายต่อมิตร ผู้นั้นจะไม่รู้เป็นอันตรายด้วยข้าศึกศัตรูหมู่ปัจจามิตร จะคิดทำร้ายก็ไม่อาจจะครอบงําย่ำยีได้ เปรียบประหนึ่งต้นนิโครธใหญ่ มีสาขากิ่งก้านรากย่านหยั่งลงกับพื้นแผ่นดินมั่นคงแน่นหนา แม้ถึงลมพายุใหญ่จะพัดต้องประการใด ก็ไม่อาจเพิกถอนต้นนิโครธให้กระจัดกระจายไปได้ฉะนั้น ข้อความในเรื่องเตมียชาดกมีดังนี้ ยกคาถานี้มาอธิษฐาน ด้วยอำนาจไมตรีจิต ขอให้ข้าวที่หว่านลงในภูมินาทั่วพระราชอาณาเขตงอกงามบริบูรณ์ เป็นคำอธิษฐานข้อที่ ๓ ต่อนั้นไปอ้างพระราชหฤทัยพระเจ้าแผ่นดิน ซึ่งทรงพระเมตตากรุณาแก่ประชาราษฏร ตั้งพระราชหฤทัยจะบำรุงให้อยู่เย็นเป็นสุขทั่วหน้าเป็นความสัตย์จริง ด้วยอํานาจความสัตย์นั้น ขอให้ข้าวงอกงามบริบูรณ์ทั่วพระราชอาณาเขต เป็นคำอธิษฐานข้อที่ ๔ คำอธิษฐานทั้ง ๔ ข้อนี้ ที่เป็นสยามพากย์แปลเนื้อความลงกันกับพระคาถาที่กล่าวแล้วข้างต้น เป็นจบตอนหนึ่ง ต่อนั้นไปดําเนินคําประกาศเทพยดาแสดงพระราชดําริซึ่งทรงพระปรารภเรื่องพระพุทธรูปซึ่งเรียกว่าคันธารราษฎร์ ยกนิทานในวาริชชาดกมากล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จอยู่ ณ พระเชตวันในเมืองสาวัตถี ฝนแล้ง ข้าวกล้าในนาแห้งทั่วทั้งเมือง น้ำในลำธารห้วยคลองหนองบึงทุกแห่งก็แห้ง จนถึงสระโบกขรณีที่เคยเป็นพุทธบริโภคน้ำก็แห้งจนเห็นตม ปลาทั้งหลายก็ได้ความลำบากด้วยฝูงกามาจิกกินเป็นอาหาร ต้องมุดซ่อนอยู่ในตม ในขณะนั้นพระพุทธเจ้าเสด็จไปทรงบิณฑบาตเห็นเหตุดังนั้น ก็มีพระหฤทัยกรุณา เมื่อเสด็จกลับมาทําภัตกิจแล้วจึงตรัสเรียกพระอานนท์ให้นำผ้าอุทกสาฎกมาถวาย พระอานนท์ก็ทูลว่าน้ำในสระแห้งเสียหลายวันแล้ว พระองค์ก็ตรัสเรียกผ้าอุทกสาฎกยืนคําอยู่ พระอานนท์จึงได้นำมาถวาย พระองค์ทรงรับผ้ามา ชายส่วนหนึ่งนั้นทรง ส่วนหนึ่งนั้นตระหวัดขึ้นบนพระอังสประเทศ เสด็จยืนที่ฝั่งสระแสดงพระอาการ พระหัตถ์ขวากวักเรียกฝน พระหัตถ์ซ้ายหงายรองน้ำฝน ขณะนั้นฝนก็ตกลงมาเป็นอันมาก ท่วมในที่ซึ่งควรจะขังน้ำทุกแห่ง มนุษย์และสัตว์ทั้งปวงก็มีความชื่นชมยินดีกล่าวคําสรรเสริญต่างๆ เมื่อพระองค์ทรงทราบจึงตรัสว่า แต่กาลปางก่อน นฬะปะมัจฉะชาติ คือปลาช่อน ก็อาจตั้งสัตยาธิษฐานให้ฝนตกลงได้ แต่ในคำประกาศนี้หาได้ยกคาถา นฬะปะมัจฉะชาติ มากล่าวไว้ไม่ ด้วยท้องเรื่องของคาถานั้นเป็นเรื่องขอฝน ในคําประกาศนี้ประสงค์แต่จะกล่าวถึงเรื่องพระพุทธรูปคันธารราษฎร์ ซึ่งยกเรื่องนิทานมากล่าวก็เพราะเรื่องเนื่องติดกันเท่านั้น เพราะฉะนี้จึงจะของดเสียไม่นำคาถาพระยาปลาช่อนอธิษฐาน มากล่าวอธิบายในที่นี้ เหมือนอย่างเรื่องเตมียชาดก ด้วยคาถานั้นบางทีจะต้องกล่าวในพิธีพรุณศาสตร์ จึงจะขอว่าความตามคําประกาศนั้นต่อไป ว่าเมื่อพระพุทธเจ้า เสด็จปรินิพพานแล้วได้สองร้อยปีเศษ มีพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่งได้ครอบครองเป็นใหญ่ในคันธารราษฎร์ มีความเลื่อมใสในพระมัชฌันติกะเถระ จึงได้รับพระพุทธศาสนาไปถือสืบต่อกันมาหลายชั่วแผ่นดิน ภายหลังพระเจ้าแผ่นดินในคันธารราษฎร์องค์หนึ่งได้ทรงฟังเรื่องพระพุทธเจ้าทรงบันดาลให้ฝนตกนั้น ก็ทรงเลื่อมใส ให้สร้างพระพุทธปฏิมากรมีอาการอย่างจะสรงน้ำทําปริศนาเรียกฝนเช่นนั้น ครั้นเมื่อปีใดฝนแล้งก็ให้เชิญพระพุทธปฏิมากรนั้นออกตั้งบูชาขอฝน ฝนก็ตกลงได้ดังประสงค์ ภายหลังมามีผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาสร้างพระพุทธรูปมีอาการเช่นนั้น ต่อๆ มาก็เรียกสมญาว่าพระพุทธคันธารราษฎร์ เพราะเหตุที่ได้สร้างขึ้นในเมืองคันธารราษฎร์เป็นตัวอย่างต้นเดิมมา ครั้นเมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธรูปมีอาการเช่นนั้น จึงได้โปรดให้หล่อขึ้นใหม่ ก้าไหล่ทองคําไว้สำหรับตั้งในการพระราชพิธี เป็นจบเรื่องพระคันธารราษฎร์ ต่อนั้นไปว่าด้วยการพระราชกุศลที่ทรงบําเพ็ญในการพระราชพิธีนี้ ทรงพระราชอุทิศแก่เทพยดา เป็นต้น แล้วเป็นความอธิษฐานตามพระราชพิธีลงปลายตามธรรมเนียม

ครั้นเมื่ออ่านประกาศจบแล้ว พระสงฆ์จึงได้สวดมนต์มหาราชปริตรสิบสองตำนาน เมื่อถึงท้ายสวดมนต์สวดคาถา นโม ตัส์ส ภควโต สุนิพ์พุตัส์ส ตาทิโน เหมือนอย่างเช่นอาลักษณ์อ่านเป็นทํานองสรภัญญะซึ่งกล่าวมาแล้ว เมื่อสวดมนต์จบแล้วพระราชทานน้ำสังข์ใบมะตูม ทรงเจิมหน้าเจิมมือพระยาผู้แรกนาและนางเทพีทั้งสี่ แต่พระยาผู้แรกนานั้นได้พระราชทานพระธํามรงค์มณฑปนพเก้าให้ไปสวมในเวลาแรกนาด้วยสองวง แล้วพระครูพราหมณ์พฤฒิบาศมารดน้ำสังข์ให้ใบมะตูมต่อไป ขณะเมื่อพระราชทานน้ำสังข์นั้น พระสงฆ์สวดชยันโต ประโคมพิณพาทย์ เป็นเสร็จการในเวลาค่ำ รุ่งขึ้นเลี้ยงพระสงฆ์แล้วแห่พระพุทธรูปกลับ เป็นหมดพระราชพิธีพืชมงคล

พระราชพิธีจรดพระนังคัล เริ่มแต่เวลาบ่ายวันสวดมนต์พระราชพิธีพืชมงคล มีกระบวนแห่ๆ พระ เทวรูปพระอิศวร ๑ พระอุมาภควดี ๑ พระนารายณ์ ๑ พระมหาวิฆเนศวร ๑ พระพลเทพแบกไถ ๑ กระบวนแห่มีธงมีคู่แห่เครื่องสูงกลองชนะ คล้ายกันกับที่แห่พระพุทธรูป เป็นแต่ลดหย่อนลงไปบ้าง ออกจากในพระบรมมหาราชวังไปโดยทางบก เข้าโรงพิธีที่ทุ่งส้มป่อยนาหลวง เวลาค่ำพระมหาราชครูพิธีทําการพระราชพิธีเหมือนอย่างพิธีทั้งปวง ไม่มีการแปลกประหลาดอันใด

รุ่งขึ้นเวลาเช้าตั้งแต่กระบวนแห่ๆ พระยาผู้แรกนา กําหนดเกณฑ์คนเข้ากระบวนแห่ ๕๐๐ กระบวนนั้นไม่เป็นกระบวนใหญ่เหมือนอย่างแห่ยืนชิงช้า คือธงตราตําแหน่งของผู้แรกนาทํา แล้วบโทนนุ่งตาโถงสวมเสื้อแดง สะพายดาบฝักแดงฝักเขียวสองแถว กระบวนสวมเสื้อเสนากุฎกางเกงริ้วสองแถวๆ ละ ๑๕ ถัดมาบโทนขุนหมื่นสวมเสื้อเข้มขาบอัตลัดสะพายดาบฝักเงินแถวละ ๑๕ กลองชนะ ๑๐ คู่ จ่าปี่ ๑ กรรชิงหน้าคู่ ๑ เสลี่ยงพระยาผู้แรกนา สัปทนบังสูรย์ มีหลวงในมหาดไทยคู่ ๑ กลาโหมคู่ ๑ กรมท่าคู่ ๑ กรมนาคู่ ๑ กรมวังคู่ ๑ กรมเมืองคู่ ๑ เป็นคู่เคียง ๑๒ คน นุ่งผ้าไหมสวมเสื้อเยียรบับ กรรชิงหลังคู่ ๑ บ่าวถือเครื่องยศและถืออาวุธตามหลังเสลี่ยง คู่แห่หลังถือดาบเชลยแถวละ ๑๕ ถือหอกคู่แถวละ ๑๕ ถือกระบองแถวละ ๑๕ พระยาผู้แรกนาแต่งตัวเหมือนยืนชิงช้า เมื่อถึงโรงพระราชพิธีเข้าไปจุดธูปเทียนบูชาเทวรูป แล้วตั้งสัตยาธิษฐานจับผ้าสามผืน ผ้านั้นใช้ผ้าลายหกคืบผืน ๑ ห้าคืบผืน ๑ สี่คืบผืน ๑ ถ้าจับได้ผ้าที่กว้างเป็นคําทํานายว่าน้ำจะน้อย ถ้าไดัผ้าที่แคบว่าน้ำจะมาก เมื่อจับได้ผ้าผืนใดก็นุ่งผ้าผืนนั้น ทับผ้านุ่งเดิมอีกชั้นหนึ่ง นุ่งอย่างบ่าวขุนออกไปแรกนา มีราชบัณฑิตคนหนึ่ง เชิญพระเต้าเทวบิฐประน้ำพระพุทธมนต์ไปหน้า พราหมณ์เชิญพระพลเทพคนหนึ่ง เป่าสังข์ ๒ คน พระยาจับยามไถ พระมหาราชครูพิธียืนประตักด้ามหุ้มแดง[๖] ไถดะไปโดยรีสามรอบ แล้วไถแปรโดยกว้างสามรอบ นางเทพีทั้ง ๔ จึงได้หาบกระเช้าข้าวปลูก กระเช้าทอง ๒ คน กระเช้าเงิน ๒ คน ออกไปให้พระยาโปรยหว่านข้าว แล้วไถกลบอีกสามรอบ จึงกลับเข้ามายังที่พัก ปลดพระโคออกกินเลี้ยงของเสี่ยงทาย ๗ สิ่ง คือ ข้าวเปลือก ข้าวโพด ถั่ว งา เหล้า น้ำ หญ้า ถ้าพระโคกินสิ่งไรก็มีคําทํานาย แต่คําทํานายนั้นมักจะว่ากันว่า ถ้าพระโคกินสิ่งใดสิ่งนั้นจะบริบูรณ์ แต่ก็ดูว่ากันไปหลวมๆ เช่นนั้น ไปนึกไม่ออกเสียที่กินเหล้าอะไรจะบริบูรณ์ เพราะจะสังเกตคำทำนายที่ถวายทุกๆ ปีก็สังเกตไม่ได้ เพราะข้าพเจ้าได้เห็นคำทำนายมา ๒๑ ครั้งแล้วก็มีแต่ว่า ข้าพระพุทธเจ้าโหรพราหมณ์รับพระราชทานพยากรณ์ว่าในปีอะไรๆ ศกนี้ ธัญญาหารผลาหารจะบริบูรณ์ เหมือนกันเป็นตีพิมพ์ทั้ง ๒๑ ครั้ง การเท่านี้เป็นเสร็จพระราชพิธีจรดพระนังคัลแห่พระยากลับ แล้วแห่เทวรูปกลับ ในการจรดพระนังคัลเป็นเวลาคนมาประชุมมาก ถึงจะอยู่บ้านไกลๆ ก็มักจะมาด้วยมีประโยชน์ความต้องการเมื่อเวลาโปรยข้าวปลูกลงในนา พอพระยากลับแล้วก็พากันเข้าแย่งเก็บข้าว จนไม่มีเหลืออยู่ในท้องนาเลย เมื่อรัชกาลที่ ๔ ได้โปรดให้ไปชันสูตรหลายครั้งว่ามีข้าวงอกบ้างหรือไม่ ก็ไม่พบเหลืออยู่จนงอกเลย เมื่อทอดพระเนตรแรกนาที่เพชรบุรี พอคนที่เข้ามาแย่งเก็บพรรณข้าวปลูกออกไปหมดแล้ว รับสั่งให้ตํารวจหลายคนออกไปค้นหาเมล็ดข้าวว่าจะเหลืออยู่บ้างหรือไม่ ก็ไม่ได้มาเลยจนสักเมล็ดหนึ่ง พันธุ์ข้าวปลูกซึ่งเก็บไปนั้น ไปใช้เจือในพรรณข้าวปลูกของตัว ให้เป็นสวัสดิมงคลแก่นาบ้าง ไปปนลงไว้ในถุงเงินให้เกิดประโยชน์งอกงามบ้าง การแรกนาจึงเป็นที่นิยมของคนทั้งปวงไม่จืด ยังนับว่าเป็นพระราชพิธีซึ่งเป็นที่ต้องใจคนเป็นอันมาก

หัวเมืองซึ่งมีการแรกนา มีของหลวงพระราชทานเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๔ คือกรุงเก่าเมือง ๑ เพชรบุรีเมือง ๑ แต่เมืองซึ่งเขาทําแรกนามาแต่เดิม ไม่มีของหลวงพระราชทาน คือเมืองนครศรีธรรมราช เมืองไชยา ๒ เมืองนี้เป็นเมืองมีพราหมณ์ๆ เป็นธุระในการพิธี แต่ผู้ว่าราชการเมืองไม่ได้ลงแรกนาเอง มอบให้หลวงนาขุนนาเป็นผู้แรกนาแทนตัว เมืองสุพรรณบุรีอีกเมืองหนึ่งก็ว่ามีแรกนา ไม่ได้เกี่ยวข้องในการหลวงเหมือนกัน แต่ในปีนี้ได้จัดให้มีการแรกนาขึ้นเป็นการหลวงอีกเมืองหนึ่ง[๗] อนึ่ง พลับพลาที่ท้องสนาม รื้อย้ายไปที่ริมศาลหลักเมือง การแรกนาจึงได้ย้ายไปทําที่พลับพลาใหม่ ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป

คำตักเตือนในการพระราชพิธีพืชมงคล มหาดเล็กต้องรับพานเทียนคอยถวายเมื่อเวลาทรงศีลแล้ว และคอยเชิญเสด็จพระเจ้าลูกเธอขึ้นไปบนหอพระและที่พลับพลาโถง ภูษามาลาต้องเตรียมพระสุหร่ายและแป้งเจิม รับพระธํามรงค์นพเก้าจากข้างใน และสังข์และแป้งเจิมที่สำหรับจะรดน้ำพระยาและนางเทพี คอยถวายเมื่อพระสงฆ์สวดมนต์จบ นอกนั้นไม่มีขาดเหลืออันใด

[๑] มีนนิง (Meaning) คือความหมาย

[๒] พระยาอภัยรณฤทธิ (แย้ม บุณยรัตพันธุ์) ภายหลังเป็นพระยาสีหราชฤทธิไกร ได้แรกนาต่อเจ้าพระยาภูธราภัยผู้บิดา ด้วยเป็นตระกูลพราหมณ์มาแต่กรุงเก่าฯ

[๓] ในระหว่างปีกุน พ.ศ. ๒๔๐๖ จนปีฉลู พ.ศ. ๒๔๐๘ ฝนแล้งติดต่อกัน ๓ ปี

[๔] พลับพลาและหอพระในท้องสนามหลวงรื้อเมื่อทำท้องสนาม ภายหลังทรงพระราชนิพนธ์หนังสือเรื่องนี้ แต่เดิมมาถึงเรียกว่าสนามหลวง ก็เป็นอย่างท้องนา หน้าแล้งแผ่นดินแห้งจึงใช้ปลูกพระเมรุ หน้าฝนปิดน้ำขังไว้ทํานาในท้องสนามหลวง จึงมีพลับพลาสำหรับเสด็จประทับทอดพระเนตรนา การที่ทำนาในท้องสนามหลวง เล่ากันมาว่าด้วยประสงค์จะให้แขกเมือง คือทูตญวนเป็นต้น แลเห็นว่าเมืองไทยข้าวปลาอาหารบริบูรณ์ แม้จนชานพระราชวังก็เป็นที่ไร่นาเพาะปลูก

[๕] หม่อมเจ้าพระสังวรวรประสาธน์องค์นั้น ชื่อหม่อมเจ้าพระเล็กในกรมหมื่นนราเทเวศร์ อยู่วัดอมรินทร สิ้นชีพตักษัยในรัชกาลที่ ๕ ต่อมาหม่อมเจ้าพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัด) วัดพระเชตุพน ในกรมหลวงเสนีบริรักษ์ แต่ยังเป็นหม่อมเจ้าพระพุทธุปบาทปิลันทน์อยู่วัดระฆัง แล้วถึงหม่อมราชวงศ์พระสังวรวรประสาธน์ พยอม อยู่วัดอมรินทร หม่อมเจ้าพระสังวรวรประสาธน์ ชัชวาลย์ วัดบวรนิเวศในกรมหลวงบดินทรไพศาลโสภณ เเล้วถึงหม่อมราชวงศ์พระพิมลธรรม (เจริญ อิศรางกูร ณ อยุธยา) อยู่วัดระฆัง

[๖] ในรัชกาลปัจจุบันนี้ ค้นได้พระเเสงประตักด้ามหวายเทศองค์ ๑ เดี๋ยวนี้พระราชทานพระเเสงนั้น พร้อมกับพระธำมรงค์ในวันสวดมนต์

[๗] เเรกนาหัวเมืองทีหลังเลิกหมด ด้วยฤดูทํานาหัวเมืองทําก่อนกรุงเทพฯ โดยมากราษฎรไม่ลงมือไถนาก่อนฤกษ์เเรกนา บางปีฝนมีก่อนฤกษ์ การที่รอเสียประโยชน์การทํานา จึงโปรดให้เลิกแรกนาหัวเมืองเสีย

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ