บริจเฉท ๑

สูป เพียญ ชะนะ สะระณะพลี

มีสำรับพระ เครื่องกระยาบวช เครื่องสังเวย

เครื่องเส้น สำรับครู แล เครื่องเจ้านาย

----------------------------

“เป็ดนึ่งจังรอนสุกรหัน ทั้งแกงขมต้มขิงทุกสิ่งอัน กุ้งทอดมันม้าอ้วนแกงบวนเนื้อ”

สุนทรภู่

ในบริจเฉทที่ ๑ นี้ ดีฉันจะได้กล่าวถึงสำรับเลี้ยงพระ ซึ่งได้จัดทำกันมาแต่โบราณที่เปนสำรับเอกเพื่อเปนรัตนบูชา วิธีที่ปรุงทำกับเข้าและของกินตามชื่อนั้น แจ้งอยู่ในวิธีทำในตำราต่อไปนี้แล้ว จะทำสิ่งใดก็จงดูเลขสังขยาที่หมายบอกชื่อแลวิธีปรุงทำไว้นั้นเทอญ

๑—สำรับเลี้ยงพระ—๑

ในการที่จะทำสำรับเลี้ยงพระนั้น คือ เลี้ยง ๕ องค์ ๗ องค์ ๙ องค์ ๑๐ องค์ ๒๕ องค์ ๕๑ องค์ ๖๑ องค์ ๗๑ องค์ ก็ดี ต้องมีสำรับพระพุทธต่างหาก แลจัดหาสิ่งของที่จะทำให้พอกับจำนวน มี

ที่ ๑ เข้าบาตร์

หุงสุกแล้วคดลงขันเข้าบาตร์ และมีขันเชิงเล็กสำหรับเข้าพระพุทธ์ บางแห่งก็มีบาตร์พระพุทธ์ต่างหาก

ที่ ๒ ของฝาบาตร์

มีไข่เค็มต้มแล้วจัดไว้ในโต๊ะประมาณฝาบาตร์ละ ๕ ฟอง ฤๅไส้กรอกขดในกระทงฝาบาตร์ละกระทง ขนมฝรั่งอันใหญ่ฤๅเข้าเหนียวแก้ว แผ่บนใบตองเจียนกลมเปนอันใหญ่ กล้วยไม่ว่ากล้วยอะไร ตามแต่จะเลือกอย่างใดอย่าง ๑ ทั้งหวี ตัดจุกดำที่หัวออกเสียให้หมดฤๅถ้าเปนฤดูน่าซ่มก็ใช้ซ่ม ของเหล่านี้จัดลงโต๊ะฤๅถาดไปวางไว้ เมื่อตักเข้าลงบาตร์แล้ว ของฝาบาตร์ก็เอาจัดลงฝาบาตร์เท่าๆกัน มีถาดฤๅฝาบาตร์สำหรับพระพุทธ์ด้วยเหมือนกัน ของฝาบาตร์นี้เปนเสบียงกรังสำหรับพระไปฉันที่วัดเวลาอื่นต่อไป

ที่ ๓ สำหรับคาว

มีของจาน ๑ ไส้กรอก ๒ หมูแนม ๓ ยำยวน ๔ หรุ่ม ๕ พริกแดงผัด ๖ ม้าอ้วน ๗ ปลาแห้งผัด ๘ สัปรส ฤๅแตงโมสิ่งหนึ่ง ๙ หมูย่างจิ้มน้ำพริกเผา ๑๐ หมูหวาน ๑๑ เมี่ยงหมู ๑๒ หมูผัดโตนด ๑๓ หมูเปี๊ยะ

จัดประดับจานเชิงให้สุ่ม เทียบบนโต๊ะแลปากโต๊ะ ถ้วยน้ำพริกเผาอยู่กลาง

ที่ ๔ สำรับเคียง

มี ๑ แกงเผ็ดไก่ฤๅเนื้อก็ได้ ๒ แกงหองฤๅแกงบวน ๓ ต้มส้มสัปรสกับหมู ฤๅกับมังคุดก็ได้ตักลงชามฝาปิด ตั้งบนโต๊ะเคียง มีจานเชิงรองช้อนถ้วย ๓ คันอยู่ในโต๊ะนั้น ถ้าเปนชาวสวนมักใช้ขนมจีนน้ำยาเติมด้วย เตรียมไว้ให้เสร็จ ตั้งเปนแถวเคียงไว้กับสำรับคาว

ที่ ๕ สำรับหวาน

มี ๑ ทองหยิบ ๒ ฝอยทอง ๓ ขนมหม้อแกง ๔ ขนมชั้น ๕ มะพร้าวแก้ว ๖ ขนมถ้วยชักน่าสีอันชัญ ๗ ขนมเทียนใบตองสด ๕ ขนมถ้วยฟู ๙ ขนมหันตรา ๑๐ ลูกชุบชมภู่ ๑๑ มันสีม่วงกวน ๑๒ เข้าเหนียวแก้วปั้นก้อนเมล็ดแตงติดหน้า ๑๓ วุ้นหวานทำเปนผลมะปราง ๑๔ ขนมทองดำ ๑๕ ขนมลืมกลืน ๑๖ ลอยแก้วส้มซ้า (ถ้าใช้มันสีม่วงกวนก็ไม่ต้องใช้ขนมทองดำ)

จัดขนมลงจานเชิงเล็กให้สุ่มงาม เรียงให้สลับสีกัน กลางโถยอดมีจานเชิงรอง ช้อนถ้วยประดับในโต๊ะและปากโต๊ะ กลางส้มซ่าลอยแก้วในโถยอด ยกมาวางเรียงไว้กับสำรับคาว เมื่อถึงเวลาเลี้ยงพระแล้วยกบาตร์เข้า ของฝาบาตร์มอบลูกศิษย์แล้วยกสำรับคาวและสำรับเคียงไปตั้งหน้าพระ แต่สำรับพระพุทธ์ตั้งสำรับหวานแลของฝาบาตร์เสร็จทีเดียวแล้วบูชา เมื่อพระฉันจวนจะอิ่มแล้ว ยกสำรับหวานมาเตรียมไว้ พอพระอิ่มก็ยกบาตร์เข้า และสำรับคาวสำรับเคียงไปให้ศิษย์ถ่าย ฉันหวานแล้วยกไปให้ศิษย์ถ่ายและประเคนน้ำชา ฉันเสร็จแล้วมีของไทยธรรมก็ถวาย พระยะถาสัพพีจบแล้วลากลับวัด สำรับพระพุทธ์เลี้ยงผู้อาราธนาศีลที่ปรนนิบัติพระเปนเสร็จการบูชาพระ

หมายเหตุ—กับเข้าพระพุทธ์ที่จะถวายนั้นต้องมีคาถาว่าดังนี้ “อิมํสูปะเพียญชะนะสำปัญนํ สาลีนํ โภชนํอุทกํวรํ อหํพุทธัสสะปูเชมิ”

คาถาลาเมื่อพระฉันแล้ว ดังนี้ “เสสํมํคะลายาจามิ”

สำรับคาวหวานและเคียงเลี้ยงพระนั้น ถ้าเปนสำรับโทตรี ลดของหวานและของจานเสียบ้าง เพียงโต๊ะละ ๘ สิ่ง ๙ สิ่งก็พอ

๒—เครื่องกระยาบวชพระภูมิ์—๒

เมื่อได้กล่าวสำหรับบูชาพระแล้ว ก็ควรจะกล่าวถึงเครื่องกระยาบวชพระภูมิ์เจ้าที่ ดังท่านแต่ก่อนได้ทำมา พอเปนที่ทราบเค้าไว้สืบไป ในการบลบานเจ็บไข้ ฤๅมีการมงคลเปนต้น ดังต่อไปนี้

ที่ ๑ สำรับคาวกระยาบวช

มีปลาหางสด (ช่อน) ต้มยำทั้งตัว มีถ้วยน้ำพริกเผา ๑ ถ้วย กล้วยน้ำ ๑ หวี ตัดจุกเสีย เข้าสุก ๑ ชามเล็ก น้ำ ๑ ถ้วยแก้ว มะพร้าวอ่อน ๑ ผล ปอกตัดฝาบรรจุในโต๊ะ ต้มยำและถ้วยน้ำพริกเผาด้วยกัน มีธูปเทียนบูชา บางทีก็มีผ้าสีชมภูฤๅแพรสีทับทิมมีเชือกร้อยหูผูกที่ศาลด้วยรวมในโต๊ะนั้น

ที่ ๒ สำรับหวานกระยาบวช

มี ๑ ขนมต้มขาว ๒ ขนมต้มแดง ๓ ขนมหูช้าง ๔ ขนมเล็บมือนาง ๕ ขนมดอกจอกฤๅโคมอน ๖ ขนมถั่วแปบไส้ถั่ว ๗ ขนมบัวลอย จัดลงจานเชิงลำดับในโต๊ะ ขนมบัวลอยตักลงในโถน้ำวุ้นวางกลาง แล้วยกไปตั้งที่น่าศาล มีม้ารองผ้าขาวปูจุดธูปเทียนบูชา กั้นร่มขี้ผึ้งฤๅร่มปีกค้างคาวปักไว้กับหลัก ถ้ามีผ้าสีชมภูก็ผูกเข้ากับศาลถวายในระหว่างเพน ตั้งไว้จนเพนแล้วจึงยกกลับมา

๓—เครื่องสังเวยเทวดา—๓

เครื่องสังเวยเทวดานั้นมี ที่ ๑ ศีร์ษะสุกรพร้อมด้วยเท้าและหางวางบนโต๊ะเล็กตองรอง ๑ คู่ มีน้ำพริกเผาด้วย ที่ ๒ ไก่ต้มพร้อมทั้งตัวศีร์ษะและปีกขดลงชามฤๅจานลึก ๑ คู่ ที่ ๓ กับเข้าของกินคาวหวานสุดแล้วแต่จะจัดให้เต็มอย่าง สำรับพระฤๅของกินจีน กับเข้าแลจันอับบ้างก็ได้สุดแล้วแต่จะจัดให้เต็มโต๊ะ ๒ โต๊ะ หัวหมูตั้งข้างโต๊ะละหัว ที่ ๔ มีกระถางธูปและธูปเล็ก ๆ เทียนทองเงิน ๑ คู่ เมื่อสังเวยเอาธูปดอกเล็กจุดปักลงที่กับเข้าของกินทุกสิ่ง โหรว่าสังเวยถวายแล้วก็ยกไปเลี้ยงกัน แลโหรก็มักจะเอาศีร์ษะสุกรไป ทั้งผ้าขาวที่นุ่งด้วย

ที่ในราชการตั้งโต๊ะจีนและมีโต๊ะเล็กเคียงสองข้าง มีในพระราชพิธีเฉลิมพระชนม์พรรษาฉัตร์มงคลเปนต้น แต่ส่วนตามบ้านนั้น ก็เปนการพิเศษเฉภาะเหตุ จึงมีเครื่องสังเวยเทวดา

๔—ของเส้นผีเย่าท้าวเรือน—๔

มีในการเบ่าสาวเปนต้น มี ๑ ห่อ หมกปลาใบยอห่อให้ใหญ่ ๒ ห่อ ฤๅ ๓ ห่อ ๑ จาน ไก่ต้ม ๑ คู่ ขนมจีน ๑ จาน เหล้า ๑ ขวด ผ้าขาวพับใหญ่ ๑ พับ หมากทั้งลูกพลูทั้งใบแลเมี่ยง ๑ จาน จัดลงตลุ่มฤๅเตียบมีธูปเทียนด้วย ใช้มัสหรู่ฤๅแพรกระบวนจีนห่อเข้าถุง ส่งมาที่บ้านเจ้าสาวในเวลาเช้า มีเถ้าแก่รับที่บ้านนำไปเส้นในเรือน จุดธูปเทียน ลางบ้านเถ้าแก่รับนำตัวเจ้าเบ่าเข้าไปจุดธูปเทียนเส้นเอง ลางบ้านเจ้าเบ่าไม่ต้องมา เถ้าแก่รับแล้วก็ไปทำพิธีเส้น ด้วยแก้ห่อจุดธูปเทียนบูชาขึ้นแล้ว ก็กล่าวคำพล่ำพรรณาบอกเล่าว่า จะมีลูกฤๅหลานเข้ามาเปนเขยสู่อยู่ในบ้าน ขอให้พิทักษ์รักษาให้อยู่เย็นเปนศุข ทำมาค้าขึ้นอยู่ด้วยกันให้ยืดยาวเปนต้น ผ้าขาวพับ ๘๐ ศอกนั้น เมื่อเส้นบูชาแล้ว เอาไปเย็บสบงจีวรอุทิศให้เอาไปถวายพระ

๕—สำรับครู—๕

มีที่ ๑ ศีร์ษะสุกร ทั้งตีนแลหาง วางบนจานใหญ่ขึ้นโต๊ะมีถ้วยน้ำพริกเผาด้วย จะใช้ไก่คู่เป็ดคู่เติมด้วยก็ได้ ฤๅถ้าคนจนก็ใช้หมูนอนตองแทนที่ศีร์ษะสุกร ถ้าไหว้ครูมโหรีย์ไม่ใช้ศีร์ษะสุกรเพราะครูเปนแขก

ถ้าครูลครตัวยักษ์มีหัวหมูดิบเติม เหล้า ๑ ขวด มีหมี่คลุกห้ามไม่ให้ชิม ๑ จาน บู้หรี่ ๒ ตัว กันชา ๒ กิ่งเติมด้วย

ถ้าครูลิงมีผลไม้เติมด้วย

ที่ ๒ มีพานเงินฤๅตลุ่ม ฤๅพานเล็ก มีธูปดอกเทียนดอก กระทงเข้าตอกดอกไม้ ดอกมะเขือหญ้าแพรกพาน ๑ ถ้วย เมื่อบูชาครูแล้วก็จุดธูปเทียนนั้น ครูผู้สอนก็ว่าคำบูชาครู ๆ แลศิษย์ก็โรยดอกไม้แลเข้าตอก

ที่ ๓ สำหรับหวานมี ๑ ขนมต้มขาว ๒ ขนมต้มแดง ๓ ขนมด้วงฤๅหูช้าง ๔ ขนมเล็บมือนาง ๕ ขนมดอกจอกฤๅโคมอน ๖ ขนมถั่วแปบไส้ถั่ว จะใช้ขนมถ้วยฟูแทนก็ได้ มีบายสีปากชามตั้งกลาง จัดบรรจุจานเชิงลงในโต๊ะขนมวางเรียงรอบ มีมะพร้าวอ่อนปอกตัดฝา ๑ ผล กล้วยน้ำ ๑ หวีตัดจุกเสียบรรจุรวมกัน ๑ โต๊ะ ถ้าไหว้ครูครั้งแรกมีขันล้างหน้าใบ ๑ ผ้าขาว ๑ ผืน เงิน ๖ บาท แต่ไหว้ประจำปีไม่ต้องมี,

๖—เครื่องเจ้านาย—๖

มีที่ ๑ เข้าเสวย คำสูงขึ้นไปอิกก็เรียกว่าพระกระยาใช้เข้านาสวนร่อนเอาแต่ต้นให้เปนตัว หุงเฉพาะหม้อแลคดลงชามขนาดงามเข้าลายทองมีฝา อย่าให้เต็มสุ่มปากชามนัก แล้วมูลให้พูนฝาปิดรองพานเงินฤๅถมเข้าถุงปิดตราด้วยแป้งฤๅขี้ผึ้ง

ที่ ๒ เครื่องคาว จัดลงจานเชิงลายทองขนาดคาว ประดับให้สุ่มงาม แล้วตั้งบนโต๊ะเงิน เข้าถุงตีตราเหมือนกัน มีจำนวนกับเข้าแลกาพย์ห่อโคลงพระนิพนธ์เห่เรือกำกับไว้ด้วย ที่ขาดก็ประกอบเพิ่มเติมขึ้นโดย พ.ภ. มีดังนี้

(๑) หรุ่ม

“เห็นหรุ่มรุมทรวงเศร้า รุมรุ่มเร้าคือไฟฟอน
เจ็บไกลใจอาวร ร้อนรุมรุ่มกลุ้มกลางทรวง”

(๒) พล่าเนื้อสด

“ช้า ๆ พล่าเนื้อสด ฟุ้งปรากฎรสหื่นหอม
คิดความยามถนอม สนิทเนื้อเสาวคนธ์”

(๓) ล่าเตียง

“ล่าเตียงคิดเตียงน้อง นอนเตียงทองทำเมืองบน
ลดหลั่นชั้นชอบกล ยนอยากนิทร์คิดแนบนอน”

(๔) ยำใหญ่

“ยำใหญ่ใส่สาระพัด วางจานจัดหลายเหลือตรา
รสดีด้วยน้ำปลา ยี่ปุ่นล้ำย้ำยวนใจ”

(๕) หมูแนม

“หมูแนมแหลมเลิศรส พร้อมพริกสดใบทองหลาง
พิศห่อเห็นรางชาง ห่างห่อหวนป่วนใจโหย”

(๖) ไข่คว่ำ

ไข่คว่ำทำเช่นนี้ เปรียบคะดีว่าช้ำใจ
ตัวพี่นิราไกล ใจเจ้าเศร้าเปล่าเปลี่ยวทรวง พ.ภ.

(๗) เป็ดยัดไส้นึ่ง

เป็ดยัดไส้เปรียบแถลง ให้พี่แจ้งซึ่งความใน
เจ้าคิดจิตรอาไลย ให้พี่ชายทราบคะดี พ.ภ.

(๘) ไก่ผัดขิง

ผัดขิงดูพริ้งเพรา ฝีมือเจ้าผัดเปรี้ยวหวาน
แสนคนึงถึงเยาวมาล สายสวาสดิ์พี่ที่คู่คิด พ.ภ.

(๙) ไส้กรอก

ไส้กรอกดุจหยอกเย้า จำจากเจ้าร่วมชีวี
หวนคนึงถึงมารศรี ป่านฉนี้น้องจะหมองใจ พ.ภ.

(๑๐) ไก่แพนง

ไก่แพนงแสดงกิจ ว่าเจ้าคิดจิตรอาไลย
หวนเห็นเช่นสายใจ เจ้าโศรกล้ำน้ำตาพรู พ.ภ.

ที่ ๓ เครื่องเคียงแกง

ตักลงในชามแกงลายทอง ฝาปิดมีจานรองช้อนด้วย หอเข้าถุงตีตราเหมือนกัน มี

(๑) แกงแฃ่งจี๊แลตับเหล็ก

“ตับเหล็กลวกร้อนต้ม เจือน้ำซ่มแลพริกไทย
โอชาจะหาไหน ไม่มีเทียบเปรียบมือนาง”

(๒) น้ำยาแกงขม

“ความรักยักเปลี่ยนท่า ทำน้ำยาอย่างแกงขม
กล่อมรสกล่อมเกลี้ยงกลม ชมไม่วายคลับคล้ายเห็น”

(๓) แกงขั้วส้มสุกรป่า

“เหลือรู้หมูป่าต้ม แกงขั้วส้มใส่ระกำ
ชรอยแจ้งแห่งความขำ ช้ำทรวงเศร้าเจ้าตรากตรอม”

(๔) แกงปลาเทโพ

“เทโพพื้นเนื้อท้อง เปนมันย่องล่องลอยมัน
น่าซดรสครามครัน ของสวรรค์เสวยรมย์”

ที่ ๔ เครื่องเที่ยงแขก

จัดลงจานรีแลชามฝา ขึ้นโต๊ะเข้าถุงตีตราเหมือนกัน มี

(๑) แกงมัสสั่ลหมั่น

“มัสหมั่นแกงแก้วตา หอมยี่หร่ารสร้อนแรง
ชายใดได้กลืนแกง แรงอยากให้ใฝ่ฝันหา”

(๒) เข้าบุหรี่

“เข้าหุงปรุงอย่างเทศ รสพิเศษใส่ลูกเอ็น
ใครหุงปรุงไม่เปน เช่นเชิงมิตร์ประดิษฐ์ทำ”

(๓) อาจาด

อาจาดช่างฉลาดล้ำ แทรกใส่น้ำกระเทียมเจือ
หวนคิดจิตร์ฟั่นเฝือ เชื่อว่ามิตร์คงคิดถึง

(๔) ลุดตี่

“ลุดตี่นี้น่าชม แผ่แผ่นกลมเพียงแผ่นแผง
โอชาน่าไก่แกง แคลงของแขกแปลกกลิ่นอาย”

(๕) ไก่ทอดทาเครื่องเทศ

ไก่ทอดทาเครื่องเทศ รสพิเศษหอมเหลือหลาย
ชายใดได้กลิ่นอาย ไม่วายคิดจิตร์กระศัล พ.ภ.

(๖) น่าแกง

น่าแกงคิดแคลงจิตร์ ของแขกมิตร์ประดิษฐ์ทำ
แสนคนึงถึงงามขำ อร่อยล้ำรสโอชา พ.ภ.

ที่ ๕ เคียงเครื่องจิ้ม

จัดผักต่างๆ ที่เปนผลก็แกะสลักจักให้งาม จัดให้สลับกินสีกัน บรรจุในจานใหญ่ และจานปลาย่าง มีปลาดุกย่างทอดหั่นชิ้นสี่เหลี่ยมเปนคำๆ ปลากรอบหน้าสั้นแกะเอาแต่เนื้อเปนชิ้น ๆ แล้วทอดน้ำมันบ้าง กุ้งนางเผาทั้งตัวปอกเปลือกชักไส้ออก ประดับลงในจานขนาดกลาง เปนอย่างๆ กัน ๑ จาน ก้อย ๑ จาน เครื่องจิ้มไตปลา ๑ ถ้วย แสร้งว่า ๑ ถ้วย น้ำพริกก้อย ๑ ถ้วย ปลาร้าหลน ๑ ถ้วย เอาขึ้นโต๊ะ ตีตราเหมือนกัน มี

(๑) ไตปลา (๒) แสร้งว่า

“ไตปลาเสแสร้งว่า ดุจวาจากระบิดกระดวน
ใบโศรกบอกโศรกครวญ ให้พี่เศร้าเจ้าดวงใจ”

(๓) ผักดิบ

“ผักกระโฉมชื่อเพราะพร้อง เปนโฉมน้องฤๅโฉมไหน
ผักหวานซ่านทรวงใน ใคร่ครวญรักผักหวานนาง”

(๔) ก้อยกุ้ง

“ก้อยกุ้งปรุงประทีน วางถึงลิ้นดิ้นแดโดย
รสทิพย์หยิบมาโปรย ฤๅจะเปรียบเทียบทันขวัญ”

(๕) ปลาร้าหลน

ปลาร้าราให้คิด กลิ่นชื่นจิตร์รสโอชา
หวลคนึงถึงสุดา มาด้วยพี่จะดีเหลือ พ.ภ.

ที่ ๖ เคียงเกาเหลา

(๑) แกงจืดรังนก

“รังนกนึ่งน่าซด โอชารสกว่าทั้งปวง
นกพรากจากรังรวง เหมือนเรียมร้างห่างห้องหวน

(๒) ต้มแก้วสมองปลา

แก้วสมองปลาน่าชม รสกล่อมกลมหอมโอชา
เสพย์พลางทางตฤกตรา ถึงสุดาแม่ผู้ทำ พ.ภ.

(๓) แกงเอ็นกวางกับฮื่ออี๊

เกาเหลาเกลากลมกล่อม ปรุงกลิ่นหอมหวลนักนาง
ฮื่ออี๊กับเอ็นกวาง เปรียบดุจเครื่องเมืองสวรรค์ พ.ภ.

(๕) แกงบาทเป็ดกับปูทะเล

บาทเป็ดวิเศษสด โอชารสปูกำจาย
แกงจืดอย่างจีนกลาย เจ้าช่างแกล้งตบแต่งท่า พ.ภ.

(๕) ผัดลิ้นแลเนื้อไก่เปรี้ยวหวาน

ผัดลิ้นไก่เปรี้ยวหวาน เยาวมาลช่างสุดหา
แกมกับเนื้อไก่พา รสให้เลีศประเสริฐหลาย พ.ภ.

(๖) ผัดหูปลาฉลาม

อิกผัดหูปลาฉลาม แม่โฉมงามช่างตามใจ
คิดปลื้มลืมไม่ไหว ในโฉมศรีที่มีคุณ พ.ภ.

(๗) สุกรย่าง

สกรหันเหมาะหมด แสนอร่อยรสนี่กระไร
คิดคนึงถึงสายใจ ไกลน้องนิดเฝ้าคิดถึง พ.ภ.

(๘) แฮ่กึง (ทอดมันเจ๊ก)

แฮ่กึงทอดมันเจ๊ก รสเหลือเอกสุดบรรยาย
ฉลาดทำล้ำเหลือหลาย สุดคำพร่ำร่ำพรรณา พ.ภ.

จัดลงในหม้อเกาเหลาเงิน ซึ่งมีที่สำหรับถ่านให้ร้อน แลของที่ผัดนั้นลงในชามฝา ขึ้นโต๊ะตีตราเหมือนกัน

ที่ ๗ เครื่องหวาน

จัดประดับจานเชิงลายทอง ขนาดหวานให้สุ่มจานแล้วเอาขึ้นเรียงประดับกลางโต๊ะแลปากโต๊ะ ให้สลับสีกัน มีจานรองซ่อมอยู่กลาง เข้าถุงตีตราเหมือนกัน มี

(๑) เข้าเหนียวสังขยา

“สังขยาน่าตั้งไข่ เข้าเหนียวใส่สีโศรกแสดง
เปนไนยให้เคลือบแคลง แจ้งว่าเจ้าเศร้าโศรกเหลือ”

(๒) ขนมลำเจียก

“ลำเจียกชื่อขนม นึกโฉมฉมหอมชวยโชย
ไกลกลิ่นดิ้นแดโดย โหยไห้หาบุหงางาม”

(๓) ขนมมัสกอด

“มัสกอดกอดอย่างไร น่าสงไสยใคร่ขอถาม
กอดเคล้นจะเห็นความ ขนมนามนี้ยังแคลง”

(๔) ขนมจีบ

“ขนมจีบเจ้าจีบห่อ งามสมสอประพิมพาย
นึกน้องนุ่งฉีกทวาย ชายพกจีบกลีบแนบเนียน”

(๕) ขนมเทียน

“รสรักยักลำนำ ประดิษฐ์ทำขนมเทียน
คำนึงนิ้วนางเจียน เทียนหล่อเหลาเกลากลึงกลม”

(๖) ทองหยิบ

“ทองหยิบทิบเทียบทัด สามหยิบชัดน่าเชยชม
หลงหยิบว่ายาดม ก้มหน้าเมินเขินขวยใจ”

(๗) ผลชิด

“ผลชิดแช่อิ่มอบ หอมตระหลบล้ำเหลือหวาน
รสไหนไม่เปรียบปาน หวานเหลือแล้วแก้วกลอยใจ”

(๘) ขนมผิง

“ขนมผิง ๆ เผ่าร้อน เพียงไฟฟอนฟอกทรวงใน
ร้อนนักรักแรมไกล เมื่อไรเห็นจะเย็นทรวง”

(๙) ทองหยอด (๑๐) ทองม้วน

“ทองหยอดทอดสนิท ทองม้วนมิดคิดความหลัง
สองปีสองปิดบัง แต่ลำพังสองต่อสอง”

(๑๑) ขนมช่อม่วง

“ช่อม่วงเหมาะมีรส หอมปรากฎกลโกสุม
คิดสีสะใบคลุม หุ้มห่มม่วงดวงพุดตาน”

(๑๒) ฝอยทอง

“ฝอยทองเปนยองใย เหมือนเส้นไหมไข่ของหวาน
คิดความยามเยาวมาลย์ เย็บชุนใช้ไหมทองจีน”

(๑๓) ขนมรังไร

“รังไรโรยด้วยแป้ง เหมือนนกแกล้งทำรังรวง
โอ้อกนกทั้งปวง ยังยินดีด้วยมีรัง”

(๑๔) ขนมจ่ามงกุฎ

“งามจริงจ่ามงกุฎ ใส่ชื่อดุจมงกุฎทอง
เรียมร่ำคำนึงปอง สอิ้งน้องนั้นเคยยล”

(๑๕) ผลพลับแห้งเชื่อม

“พลับจีนจักด้วยมีด ทำปราณีตน้ำตาลกวน
คิดโอษฐ์อ่อนยิ้มยวน ยลยิ่งพลับยับ ๆ พรรณ์”

ที่ ๘ เคียงหวาน

จัดลงชามฝาลายทองขนาดหวาน มีจานรองช้อน บรรจุถุงตีตราเหมือนกัน มี

(๑) ส้าหริ่ม

“ส้าหริ่มลิ้มหวานล้ำ แทรกใส่น้ำกระทิเจือ
วิตกอกแห้งเครือ ได้เสพย์หริ่มพิมเสนโรย”

(๒) ขนมบัวลอย

“บัวลอยเล่ห์บัวงาม คิดบัวกามแก้วกับตน
ปลั่งเปล่งเคร่งยุคล สกลนุชดุจประทุม”

(๓) ส้มฉุน

“ลิ้นจี่มีครุ่น ๆ เรียกส้มฉุนใช่นามกร
หวนถวิลลิ้นลมงอน ชอ้อนถ้อยร้อยกระบวน”

(๔) ผลจากลอยแก้ว

“ผลจากเจ้าลอยแก้ว บอกความแคล้วจากจำเปน
จากช้ำน้ำตากระเดน เปนทุกข์ท่าหน้านวลแตง”

ที่ ๙ เคียงผลไม้

ปอกแลคว้านเมล็ดออก ประดับโถยอดแก้วเจียรนัยมี

(๑) มะปราง

“มะปรางนางปอกแล้ว ใส่โถแก้วแพรวพรายแสง
ยามชื่นรื่นโรยแรง ปรางอิ่มอาบทราบนาสา”

(๒) มะม่วง

“หวนห่วงม่วงหมอนทอง อิกอกร่องรสโอชา
คิดความยามนิทรา อุราแนบแอบอกอร”

(๓) ผลเงาะ

“ผลเงาะไม่งามแงะ มล่อนเมล็ดและเหลือปัญญา
หวนเห็นเช่นรจนา จ๋าเจ้าเงาะเพราะเห็นงาม”

(๔) น้ายหน่า

“น้ายหน่านำเมล็ดออก ปล้อนเปลือกปอกเปนอัศจรรย์
มือไพร่ไหนจักทัน เทียบเทียมที่ฝีมือนาง”

ผลไม้นี้ตามฤดูกาลลางทีก็เปลี่ยนเปนผลอื่นดัง

(๕) ทับทิม

“ทับทิมพริ้มตาตรู ใส่จานดูดุจเมล็ดพลอย
สุกแสงแดงจักย้อย อย่างแหวนก้อยแก้วตาชาย”

(๖) ลูกตาล

“ตาลเฉาะเหมาะใจจริง รสเย็นยิ่ง ๆ เย็นใจ
คิดความยามพิสมัย หมายเหมือนจริงยิ่งอยากเห็น”

(๗) ลางสาด

“ลางสาดแสวงเนื้อหอม ผลงอม ๆ รสหวานสนิท
กลืนพลางทางเพ่งพิศว์ คิดยามสารทยาตตรามา”

(๘) ทุเรียน

“ทุเรียนเจียนตองปู เนื้อดีดูเหลืองเรืองพราย
เหมือนสีฉวีกาย สายสวาสดิ์พี่ที่คู่คิด”

(๙) สละ

“สละสำแลงผล คิดลำต้นแน่นหนาหนาม
ถ้าทิ่มปิ้มปืนกาม นามสละมละเม็ตตา”

(๑๐) ผลเกด

“ผลเกดพิเศษสด โอชารสล้ำเลิศปาง
คำนึงถึงเอวบาง สางเกษเส้นขนเม่นสอย”

เครื่องเจ้านายนี้ เมื่อจะตั้งควรปูเสื่ออ่อนฤๅพรมบนเตียงเท้าสิงห์แล้วปูสุจหนี่ทับ ตั้งขันน้ำเสวยทองคำฤๅถมตะทอง บ้วนพระโอษฐ์ปากแกร พานรองผ้าเช็ดพระหัดถ์ มีผิวมะกรูดตลับกระแจะแลขวดน้ำอบด้วย ถ้าเสวย ๒ องค์ ก็ตั้ง ๒ สำรับ ชามเข้าเสวยเพิ่มขึ้นอิกชาม ๑ ตั้งตรงกัน ยกเครื่องคาวตั้งกลาง เครื่องเคียงข้างละ ๒ สำรับ ชามเข้าเสวยชาม ๑ ฤๅ ๒ ชาม ต่อยตราแก้ถุงเครื่องเสียก่อนที่จะยกมาตั้ง เสวยเครื่องคาวแล้วเลื่อนออกตั้งเครื่องหวานกลาง เคียงหวานข้าง ๑ เคียงผลไม้ข้าง ๑ เสวยแล้วก็เลื่อนเครื่องหวานไป ลางทีเจ้านายเสวยล้างพระหัดถ์เช็ดพระหัดถ์แล้วก็เสด็จไปประทับเสวยสุธารสร้อน ฤๅหมากเสวย ทรงสูบโอสถที่ๆ ประทับแห่งหนึ่งต่างหาก ถ้าจะประทับอยู่ที่ ๆ เสวยนาน ต้องเชิญสุธารสหมากเสวยโอสถมาตั้งถวาย ดังนี้ เปนตั้งเครื่องวรัยพลีถวายเจ้านายแล.

“อันสำรับกับเข้าของฉัน มัสหมั่นเข้าบู้หรี่ดีหนักหนา
ไก่แพนงแกงต้มยำน้ำยา สังขยาฝอยทองของชอบใจ”
  “เหล่าคณะนักธรรม์ฉันได้
กำลังอยากหยิบของที่ต้องใจ หมูไก่แกงต้มยำคำโต ๆ
บ้างก็ฉันเป็ดเจ็ดตัวเหลือแต่ปีก ยังซ้ำวุ้นได้อีกสองโถ
บ้างฉันไก่แพนงแกงเทโพ น้ำยาโอต้นเถาเต็มทุกองค์”

พระราชนิพนธ์ในราชการที่ ๒

ความสังเกตเรื่องอาหารการกิน

“ถ้าจำวัดค้างคืนหนึ่งจะได้ยิงเนื้อสดให้ฉันพล่ากับมูลอ่อนนี่ขยันยิ่งพอใจ นี่จวนแล้วก็จะจัดแจงแต่ให้ไปเปนเครื่องเสบียงกรัง ทั้งกระบอกผึ้งพื้นแต่ใสสดเปนมธุรศหวานยิ่ง หนึ่งขาทรายย่างสิ่งแต่ละอย่างละอย่างกัน ฉันกับน้ำผึ้งที่คมสันวิเศษเปนของป่า”

—เจตะบุตรคำวัดสังฆกจาย

บัดนี้ดีฉันจะกล่าวถึงอาหารการกิน อันเปนสิ่งที่จริงซึ่งเราได้รู้ได้เห็นนั้น จะไม่มีสิ่งไรดียิ่งกว่าอาหารในบางอย่างบางชนิด อันเปนสิ่งของจำเปนที่สมควร ซึ่งจะบำรุงเลี้ยงชีวิตรของเรา แม้ถึงว่าเราต้องการที่จะให้รู้ชนิดอาหารต่างๆ มากเพียงไร ในสิ่งที่เปนสำคัญก็โดยทางที่จะประกอบการหุงต้มทำให้ดีที่สุดให้เกิดโอชารศอร่อย แลให้รู้จำนวลปริมาณในสิ่งซึ่งสมควรจะกินแลดื่มเปนสำคัญ ไม่มีเหตุแห่งการงานสิ่งไรจะใหญ่ยิ่งในระหว่างบันดาชาติ์มนุษย์ทั้งหลาย ที่มีอยูในพิภพนี้มากกว่าความปราถนาที่เปนสามัญทั่วไป และสิ่งที่จำเปนสมควรกว่าอาหารการกินไปได้เลย เพราะฉนั้นท่านผู้อ่านทุกควรคนจะเรียนให้มากตามแต่จะเปนไปได้แลที่เปนการพิเศษนั้น ควรจะเลือกให้รู้อาหารโดยประโยชน์ที่จะได้ดีที่สุดเพียงใดในการที่จะหุงต้ม ทำให้กับเข้าของกินมีโอชารศอันดีนั้น ด้วยว่าความศุขของตัวเองโดยมากแลความสำราญของผู้อื่นด้วย ที่ท่านทั้งหลายจะได้เกี่ยวข้องฤๅปะปนอยู่ ก็ด้วยอาไศรยสุดแล้วแต่อาหารที่ดีแลการหุงต้มให้มีโอชารศอร่อยนั้นแล

อาหารที่เปนการเกี่ยวข้องกับร่างกายของมนษย์นั้น นักปราชญ์ท่านกล่าวไว้ว่าก็ประดุจดังเช่นเดียวกันกับฟืน สิ่งไรเล่าที่เกี่ยวข้องแก่การอันเปนเชื้อเพลิงนั้นก็เช่นกัน ถ้าฟืนฤๅถ่านจะไม่ส่งเข้าไปในไฟแล้ว ไฟก็จะดับไปฉันใด ถ้าอาหารที่สมควรแลไม่เปนของแสลงซึ่งปราศจากโทษแล้ว มิได้ให้บำรุงเลี้ยงแก่ร่างกายตัว ชีวิตรในตัวก็จะออกไปฤๅที่เราเรียกว่าตายฉันนั้น

อาหารนั้น ควรจะจัดเปนสามชนิดตามทางที่มาคือ อาหารที่เกิดจากต้นไม้ผักแลหญ้า จะเรียกว่าพฤกษาหารอย่าง ๑ อาหารที่ออกจากแร่ธาตุโลหะจะเรียกว่าธาตุอาหารอย่าง ๑ แลอาหารที่สืบมาแต่สัตว์ปราณชาติ์จะเรียกว่าสัตวาหารอย่าง ๑ เหมือนดังเข้าสุกขนมปังมันเผือก ผลไม้ ใบไม้ แลผักต่างๆ นี้เปนพฤกษาหาร เกลือแลน้ำเปนธาตุอาหาร เนื้อ ปลา ฟองเนย นมเหล่านี้เปนสัตวาหาร ก็ที่จัดชั้นเช่นนี้ เปนแต่บอกทางที่มาแก่เราซึ่งอาหารที่เรารัปทานอยู่ได้สืบมาแต่ทางไรเท่านั้น หาได้แสดงแก่เราให้รู้กรรมการกระทำแลความประพฤติที่เปนไปต่างๆ แห่งชนิดอาหารหลายอย่างต่างพรรณในเราไม่ ท่านทั้งหลายคงจะได้ทราบว่า ความที่ผิดกันในระหว่างชีวิตรของสัตว์แลต้นไม้เปนอยู่อย่างไรโดยมากแล้ว ดีฉันจะขอกล่าวแต่เล็กน้อย ด้วยว่าน่าที่ของต้นไม้นั้น ประพฤติทำให้นิรินทรียะกะวัดถุ สิ่งที่ไม่มีอินทรีย์ดังน้ำกรดอังคารธาตุ ที่คำแก้วเรียกว่า การ์โปนิกเอซิดแลอาโมเนีย คือที่เรียกว่าเยี่ยวอูษฐ์เปนต้น กลับให้เปนความประชุมแต่งต้นไม้นั้นให้มีอินทรีย์ขึ้นแลสามารถที่จะบำรุงเลี้ยงชีวิตรชนิดอย่างสูงขึ้นไป สิ่งที่เปนสวนเขียวของต้นไม้โดยการของความสว่างแห่งดวงอาทิตย์นั้น ก็ทำการเปนที่พิศวงอัศจรรย์นัก ในการที่เปลี่ยนแปลงไปโดยมากมีอยู่เสมอในการที่พัศดุสิ่งทั้งปวง แลมีสิ่งหนึ่งซึ่งบรรดาการที่ศึกษาอยู่เดี๋ยวนี้ก็ยังเห็นเปนการอยู่ฦกลับ คืออาการของธรรมดาที่เปนอยู่เช่นนี้ ยังไม่มีความรู้แน่ลงได้ชัดว่าเปนอยู่ด้วยประการใด ถึงว่าความที่อาไศรยซึ่งกันแลกันในระหว่างชีวิตรของสัตว์แลต้นไม้ปรากฎอุดหนุนแก่กันก็ดี วัดถุสิ่งที่ทิ้งเสียใช้ไม่ได้แล้วของสัตว์ ก็กลับตั้งขึ้นเปนอาหารอันพิเศษของต้นไม้ ซึ่งเปนสิ่งสำคัญอันจะละเว้นเสียไม่ได้เลย ดังนี้แลนักปราชญ์ท่านจึงบัญญัติเปนนีติ แบบแผนของความประดิษฐสร้างโดยธรรมดาเปนตราชูอันเที่ยงดำรงค์คงอยู่เสมอ ท่านกล่าวไว้ว่าในขณะที่สัตว์มีชีวิตรอยู่ก็หายใจออกจากปอดเปนกรดอังคารธาตุ คือการ์โบนิกเอซิด เมื่อตายแล้วส่วนที่อ่อนในร่างกายของสัตว์นั้น ก็กลับเปนน้ำเปนเยี่ยวอูษฐ์แลเปนการ์โบนิกเอซิด กรดอังคารธาตุ สิ่งเหล่านี้ก็ได้ถือเอาเปนอาหารโดยต้นไม้ผักหญ้าที่เกิดงอกงามสดชื่นอยู่ได้

ร่างกายของเรานี่มีสิ่งที่สูญเสียอยู่เปนนิจ ความสูญเสียไปฤๅความเปลี่ยนแปลงในตัวเราเหล่านี้แลเปนสิ่งหนึ่งที่เปนการจำเปนจะบำรุงเลี้ยงชีวิตรอยู่ได้ในทุกอิริยาบถฤๅความเคลื่อนไหว แม้ว่าจะตั้งใจก็ดี เช่นเดินวิ่งทำการงานฤๅโดยไม่จงใจดังหัวใจเต้นฤๅหายใจซึ่งเปนเองก็ดี ก็มีสิ่งที่เปลืองไปเสียไป ในวัดถุที่ประชุมอยู่ในร่างกายของเราทุกอิริยาบถ เมื่อปรมาณูในร่างกายของเราได้ทำกรรมการอย่างหนึ่งแล้ว ก็ได้ทำลายไปในกรรมอันนั้นแลต้องออกไปจากที่ เพื่อจะเว้นช่องให้ปรมาณูอื่นทำการงานต่อไป

ความเปลืองไปอยู่เปนนิจมิได้หยุดหย่อนฉนี้ จึงเปนสิ่งจำเปนต้องซ่อมแซมให้คงที่อยู่แลที่เสียแล้วให้ออกไปอยู่เปนนิจมิได้หยุดหย่อนเหมือนกัน การฉนี้รวมทั้งหมดเปนเครื่องปรุงชีวิตรวัดถุ สิ่งที่ให้เกิดมีความเปนสืบมาแต่โลหิต ก็หยัดเลือดเมล็ดเล็กเปนที่สุดดังเส้นผมของโลหิตนั้น แลพาส่วนเหล่านี้ไป หยัดเลือดเหล่านี้มีตั้งล้านซึ่งจะนับประมาณมิได้ ได้ทำการอยู่เสมอมิได้หยุดหย่อน พาชนิดวัดถุที่ชอบไปให้ต้องตามความประชุมแต่งในร่างกาย การงานของหยัดเลือดนี้ก็อาไศรยอัมละกรธาตุ ที่คำแก้วเรียกว่า (อ๊อกษิเคน) ซึ่งส่งหยัดเลือดให้แล่นไปโดยเร็ว และอุดหนุนให้ไหม้ไปแลพาสิ่งที่เสียแล้ว ซึ่งเปนส่วนอังคารธาตุของความประชุมแต่งที่ชำรุดเสียไปแล้วให้ออกไปเสีย

อันว่าร่างกายของเรานี้ ไม่แต่ต้องการอย่างเดียว ที่จะให้มีการซ่อมแซมในสิ่งที่เสียไป แต่ต้องการความร้อนให้อบอุ่นอยู่ด้วยเหมือนกัน แลเปนการยากที่สุดจะกล่าวได้ว่าไหนจะเปนสิ่งสำคัญมากกว่ากัน เพราะว่าถ้าไม่มีสิ่งที่ซ่อมแชมของที่เสียไปอยู่แล้ว ร่างกายก็จะสิ้นดับไปโดยเร็ว แลถ้าแม้ว่าจะไม่มีความร้อนอบอุ่นอยู่แล้ว สิ่งที่เสียไปก็จะไม่มีสิ่งที่ซ่อมแซมให้คงอยู่ได้

มนุษย์ที่ได้ตายไปก็เพราะไม่ได้รับอาหาร แลในทางที่ไม่มีความร้อนอบอุ่นอยู่แล้ว ถึงว่าจะได้มีอาหารบริบูรณ์ตัวก็จะเย็นเฉียบ ก็ด้วยประการฉนี้แล อาหารจึงได้แบ่งเปนสองวรรค ฤๅประเภทจะเรียกว่ามังษะกรรตตา สิ่งที่ทำให้เกิดรูปเปนเนื้อ อีกวรรคหนึ่งจะเรียกว่าอุษมะปะธาตา สิ่งซึ่งให้เกิดความร้อน อาหารทั้ง ๒ วรรคนี้บำรุงความประชุมแต่งร่างกายของเราอยู่ที่ดีฉันกล่าวดังนี้ท่านผู้อ่านจงลำฦกไว้ จะเปนอย่างไรก็ดี ว่าอาหารทั้ง ๒ วรรคนี้ จะไม่เปนการยากลำบากสิ่งใดที่จะทราบไว้ ด้วยว่าอาหารที่ให้เกิดเนื้อนั้น ก็ช่วยให้เกิดความร้อนเหมือนกัน แลสิ่งที่เปนอาหารให้เกิดความร้อนนั้น ก็ช่วยให้เกิดเนื้อเหมือนกัน ท่านสาสดาไลบิคผู้แปรธาตุชาติ์เยรมันอันมีชื่อเสียงปรากฎ ได้ระบุเรียกชื่ออาหาร ๒ วรรคนี้ไว้ โดยลักษณะที่ให้เกิดเนื้อนั้น คือใยผักไม้มวกไข่ขาวเยื่อที่ออกจากนมโคที่เปนเนยแขงแลสิ่งอื่น ๆ กับทั้งเนื้อสัตว์แลโลหิตเหล่านี้ เปนสิ่งทำให้เกิดเนื้อ ก็สิ่งที่ให้เกิดความร้อนนั้น คือเมือกมีแป้งเปนต้น น้ำตาลยางแลมัน กับบางแห่งสุราบริสุทธิ์ที่เรียกว่าอัลโกฮอลก็เหมือนกัน สิ่งที่เปลืองแลเสียไปในลำหลอดนั้นเร็วพลันนัก แลความร้อนก็ต้องเปนส่วนอบอุ่นอยู่มาก แลเผาวัดถุที่เปนส่วนรูจกะกรธาตุในโตรเคนที่ไม่ดำรงค์ชีวิตรไว้นั้นอยู่เปนนิจ

เมื่อความไหวของกล้ามเนื้อแห่งสัตว์ที่มีความสำราญอยู่ขัดข้องไปแล้ว ความร้อนที่อบอุ่นก็ต้องทรงอยู่มากขึ้น แลถ้าให้อาหารที่ดีรัปทานล้นเหลือเฟือฟายอยู่แล้ว ก็อ้วนพีมากขึ้นโดยเร็ว จะชักอุทาหรณ์ให้เห็นดังเช่นขุนปรนปรือเลี้ยงสุกรฤๅไก่ตอนเปนต้น อิกข้างหนึ่ง เมื่อร่างกายของเราได้ออกแรงทำการงานมากไม่ได้รับประทานอาหารพอเพียงแล้ว ก็เกิดความซูบผอมไป ผลเหล่านี้สืบมาแต่ความไหวไวแห่งอินทรีย์ที่หายใจเข้าออกในสิ่งแรกของอาหารให้เกิดความร้อนนั้น ได้ให้มากไปกว่าที่จะให้เสื่อมเสียไกษยไปทันเหตุฉนั้น จึงได้ขังอยู่ให้เกิดเปนรูปมันอ้วนพีขึ้น ในส่วนที่สองความประชุมแต่งในร่างกายที่ผอมไป ก็โดยอาหารที่ได้รับประทานให้เกิดความร้อนนั้น เสื่อมไกษยไปโดยพลันก็ด้วยเมือกแป้งแลน้ำตาลแห่งอาหาร ซึ่งกลับให้เปนมัน โดยความเปนไปต่าง ๆ ในทางที่ชินธาตุที่ละลายอาหาร แลสิ่งใดเล่าที่เปนของจริง เปนอยู่ในสัตว์ชาติ์ การนั้นก็เนื่องตลอดถึงชายหญิงกุมารกุมารีเหมือนกัน

ดังนั้นอาหารจึงเปนสิ่งสมควร อันจำเปนแก่ชีวิตรของเรา เราหาอาหารได้มาแต่ต้นไม้ธาตุแลสัตว์ดังได้กล่าวมาแล้ว แต่อาหารที่ได้มาแต่สัตว์นั้น บำรุงเลี้ยงร่างกายให้ความเปนไปแก่เรา มากยิ่งกว่าอาหารที่ได้มาแต่ต้นไม้ เพราะว่าสัตว์นั้นได้เปลี่ยนวัดถุที่เปนต้นไม้ผักหญ้าเสียแล้ว ให้เปนรูปซึ่งทำให้เราผู้เปนมนุษย์ชาติ์ ได้รัปทานให้ชินธาตุละลายง่ายกว่า แลบำรุงเลี้ยงร่างกายเราดีกว่า

ก็อาหารสามชนิดดังได้กล่าวมาแล้วที่เปนมูลเดิม คืออาหารที่สืบมาแต่ต้นไม้ผักหญ้า ๑ แร่ธาตุโลหะ ๑ แลสัตว์ปราณชาติ์ ๑ เปน ๓ ชนิด แต่มีสองประเภท ถ้าเราจะถือตามน่าที่ๆกระทำให้แก่ร่างกายของเรา คือว่าทำให้เกิดเนื้อ ๑ แลให้ซึ่งความร้อนอบอุ่น ๑

การที่ใช้อาหารรัปทานนี้ ก็ชำนาญอยู่ด้วยกันทุกคนแล้ว แลการที่จะใช้ให้สมควรนั้น ก็ควรจะระวังด้วยกันทุกคน อย่าให้เปนที่ติเตียนได้ บันดาผู้ที่รัปทานอาหารที่มิได้หุงต้มให้สุกโดยดีฤๅที่เกินมากไปอิกอันเปนสิ่งสำคัญในบันดาการที่รับประทานอาหารโลภมากเกินไปก็เปนสิ่งที่ผิดถูกติเตียนยิ่งเหมือนกัน แลบันดาผู้โลภอาหารมากไป ก็ควรจะลองลำลึกดูว่าตัวผู้เหล่านั้นได้เสมอลักอาหาร บันดาผู้ที่ไม่ได้รัปทานอาหารเพียงพอไป ทั้งจะเปนอันตรายแก่ตัวด้วยเหมือนกัน

จำนวนปริมาณแห่งอาหาร ที่ต้องการอันเปนของจำเปนในคนชนิดเดียวก็ต่างกัน แล้วแต่เหตุแลผลที่แปลกกันดังนี้ เมื่อร่างกายว่องไวย์แลทำการงานอยู่มากก็ต้องการอาหารมากกว่าที่มีอาการอยุดพัก และผู้ที่อยู่ในประเทศที่หนาวก็ต้องการอาหารมากกว่าผู้ที่อยู่ในประเทศที่ร้อน ศาสดาหักษเลยาจาริย์ได้คำนวลประมาณไว้ว่า บุรุษที่เปนมัธยมประมาณขนาดกลางจะต้องการทุกวัน การบอนอังคารธาตุสี่พันเครนในโตรเจนรูจกกรธาตุ ๓๐๐ เครนในร่างกายนั้น ถ้าหากจะคิดว่าคนผู้หนึ่งจะรัปทานแต่เนื้ออย่างเดียว ผู้นั้นจะต้องกินเนื้อที่จะให้ละลายหนักเกือบ ๖ ปอนด์ คือประมาณ ๑๘๐ บาท เพื่อที่จะให้ได้จำนวลการ์บอนอังคารที่ต้องการ แต่โดยทางนี้ผู้นั้นควรจะต้องการให้ได้จำนวนปริมาณในโตรเคนรูจกกรธาตุที่ต้องใช้ในขณะนั้นถึงกว่าจำนวนที่ต้องการโดยปรกติ เมื่อเปนดังนี้ จัตุระคูณสี่เท่าก็จำต้องให้อินทรีย์ที่เผาผลาญอาหารให้เสียไป ต้องทำการเติมอิกที่จะให้วัดถุมีราคาคือเนื้อที่รัปทานไปนั้นพินาศไกษยสิ้นไปตามเวลานิยม ฤๅถ้าผู้นั้นจะรัปทานแต่เข้าขนมปังเปนอาหารอย่างเดียว เพื่อที่จะให้ได้จำนวนปริมาณแห่งในโตรเคนรูจกกระธาตุที่สมควร คือ ๓๐๐ เครนนั้น คนผู้นั้นก็ต้องทนแบกการบอนอังคารธาตุไว้ถึง ๙๐๐๐ เครนฉะนั้น ฤๅมากกว่าจำนวนปริมาณที่จำเปนต้องการ ๒ เท่าเศษ ด้วยประการฉนี้ อาหารที่รัปทานเข้าบ้างกับบ้างฤๅขนมปังบ้างเนื้อบ้างรวมอยู่แล้ว เปนการเขม็ดแขม่พอดี ดังนี้ก็จะต้องการเข้าฤๅเนื้อเพียง ๓ เสี้ยวของปอนด์คือประมาณ ๒๒ บาท ๒ สลึง แลประมาณเข้าฤๅขนมปังหนักเพียง ๒ ปอนด์คือ ๖๐ บาท ก็เพียงพอกับประมาณที่ต้องการ แลเปนสิ่งที่สูญไกษยไปเพียงเล็กน้อย

การที่ดีฉันกล่าวมาดังนี้ มิได้ประสงค์ที่จะวางแบบแผนลงเปนศาสน์ข้อบัญญัติอันแก้ไขสิ่งใดไม่ได้เลยเมื่อใด เพราะว่าเปนการเหลือที่จะบัญญัติให้เปนข้อบังคับกำหนดจำนวลวางลงเปนหลักฐานได้ ทุกเอกชนที่ควรจะต้องการอาหารทุกวันเปนจำนวลเท่านั้นเท่านี้ก็มิใช่ ว่าตามความประมาณของนักปราชญ์ที่ได้สอบทาน กำหนดไว้ดังได้กล่าวมาแล้ว เปนความเล่าบอกเท่านั้นเอง ความหิวในเวลาที่สำราญอยู่นั้น นั่นแลจะเปนวิธีทางชักนำเปนอย่างดีที่สุด แลจะเปนการผิดแท้เทียว ที่จะยัดเยียดอาหารลงไป เมื่อกระเพราะได้ชี้บอกว่าอาหารที่ได้รัปทานไปนั้นเพียงพอดีแล้ว ยังจะขืนยัดเยียดเข้าไปอีกเล่าก็เปนอันใช้ไม่ได้โดยแท้ ความเพียงพอดีนั้นเปนการสมควรที่ชอบยิ่ง เหมือนดังความดีที่ได้รับการสมโภชเลี้ยงดูกันให้อิ่มหนำบริบูรณ์ ก็นี่แลความเพียงพอดีมิได้เกินขนาดแห่งการผสมผสามอาหารที่สืบมาแต่สัตว์ฤๅต้นไม้ผักหญ้าแร่โลหะธาตุก็ดี จะเปนสิ่งที่ไม่จำเภาะโอชารศดีที่สุดอย่างเดียว แต่จะเปนสิ่งที่ชักนำให้เกิดกำลัง แลความสำราญมากที่สุดเหมือนกันแล

เครื่องชั่งวัดตวง

“คิดว่าองค์ไอยกาเหมือนตราชู มิรู้ก็มาเปนไปเช่นนี้”

—พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ ๒

“เหมือนช้างกล้าป่าเดียวมีสองตัว สองเมียร่วมผัวคงเกิดเข็ญ
ใครเงอะงั่งก็จะนั่งน้ำตากระเด็น พ่อจงเปนตราชูดูให้ดี”

—เสภา

ในการประกอบทำกับเข้าของกินและเครื่องปรุงอาหารอย่างเทศทุกตำราตามที่ได้พบเห็นก็ใช้ตราชูตาชั่งเครื่องตวงเปนปริมาณ ในการปรุงอาหารที่ผสมส่วนกันทั้งนั้น แต่การทำกับเข้าของกินอย่างไทยของเราแต่โบราณกาลมาจนบัดนี้ ไม่เคยใช้ชั่งตวงแลมีตราชูตาชั่งเครื่องตวงไว้สำหรับในครัวเลย เพราะอาไศรยคะเนของผู้ทำฤๅคนครัวนับจำนวนในสิ่งที่เปนธรรมดาของเครื่องปุรงอาหารนั้นเอง จึงไม่มีความนิยมในเครื่องชั่งตวงสำหรับทำกับเข้าของกินที่ปรุงทำสืบกันมาก็แล้วแต่ความชำนาญ แลรู้จักโอชะแลรศดีของผู้ทำด้วยอาไศรยความคิดแลปากชิม แลลดหย่อนผ่อนเพิ่มเติมเครื่องปรุงนั้นตามชอบใจก็เปนวิธีอันหนึ่งซึ่งได้ทำกันสืบมา ตัวฉันก็เคยเรียนทำด้วยความสังเกต คเนนับจำนวนสิ่งของเครื่องปรุงอาหารมาแต่เดิมเหมือนกัน ครั้นมาได้เห็นตำรากับเข้าของกินอย่างเทศที่ใช้ตราชูตาชั่งเครื่องตวงเปนหลักฐานมาทุกตำรา จึงได้ทดลองทำดูบ้างก็เห็นว่าดีอยู่ รศมักยืนที่ไม่ค่อยแปลกเหมือนความปริมาณด้วยการคะเน ฤๅกะส่วนดังทำกันมาทุกแห่งหน ฉันจึงได้เริ่มใช้ในวิธีทำกับเข้าของกิน อาไศรยใช้ชั่งตวงเปนหลักมาโดยมากสิ่ง การอันนี้ก็เช่นกับสิ่งอื่นๆซึ่งชักนำเข้ามาใช้เปนการเลอียดละออเข้าแต่ว่าเมื่อเปนการช้า ๆ ก็เปนที่ระอิดระอาหนาใจ แลเห็นเปนการลำบากเปลืองเวลาแก่ผู้ที่ชำนาญทำโดยความคะเนนับที่เคยคล่องแคล่วมาเสียแล้ว การอันนี้จึงยังไม่เปนที่นิยมกันก็ทำเนา แต่อย่างไรก็ดีเปนที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่ตาชั่งเครื่องตวงเปนหลักปริมาณนั้นถูกต้องดีจริง การอันนี้ก็เปนที่เห็นได้อยู่ในผู้ที่แรกจะหัดทำควรใช้ชั่งตวงเปนปริมาณอันดีก่อน ฉันก็เคยเปนแก่ตัวมาในแรก ๆ ครั้นชินหนักเข้าก็เคยไป แลในภายหลังนี้วิธีชั่งตวงปรุงทำกับเข้าของกินอย่างเทศ ก็หันลงใช้เครื่องชั่งตวงที่เทียบกันมีใช้ภาชน์ช้อนฤๅถ้วยแลเทียบขนาดอัตราตาชั่งเปนต้น ดังขนาดช้อนฤๅถ้วยฤๅขนาดฟองนั่นฟองนี่ ซึ่งมีอัตรากำหนดไว้ดังนี้

๑—อัตราเทียบชั่งตวงด้วยภาชนะ—๑๖๑

๑ ช้อนเกลือ หนักประมาณ ๑ เฟื้อง

๒ ช้อนเกลือ เปน หนึ่งช้อนกาแฟ หนักราว ๑ สลึง

๒ ช้อนกาแฟ เปน ๑ ช้อนน้ำชา หนักราว ๒ สลึง

๒ ช้อนน้ำชา เปน ๑ ช้อนหวาน หนักราว ๑ บาท

๒ ช้อนหวาน เปน ๑ ช้อนคาวฤๅช้อนโต๊ะ หนักราว ๒ บาท

๔ ช้อนโต๊ะ เปน ๑ ถ้วยแก้วน้ำองุ่น หนักราว ๘ บาท

๘ ช้อนโต๊ะ เปน สองถ้วยแก้วน้ำองุ่นเปนหนึ่งถ้วยหูขนาดใหญ่รัปทานอาหารเช้าหนักราว ๑๕ บาทเศษ

๑๖ ช้อนโต๊ะ ฤๅ ๔ ถ้วยแก้วน้ำองุ่น เท่ากับถ้วยแก้วสูงไหนต์ ๑ ฤๅ ๑ ปอนด์ หนักราว ๓๐ บาทเศษ

ก็แลที่ได้คิดเทียบภาชนตวงลงเปนส่วนน้ำหนักได้ขนาดกันดังนี้ ก็เปนที่สดวกในการที่ใช้เครื่องชั่งตวงขึ้นมากในการทำกับเข้าของกิน อย่างไรก็ดีคงเปนสิ่งที่เปนหลักฐานของการปริมาณดีกว่าคะเนนับเดาในผู้ที่ไม่ชำนาญแรกเรียนนั้น

มาตราเครื่องชั่งตวงแลวัดนี้ เมื่อผู้เรียนรู้อัตราดีแล้วก็จัดเปนความรู้อันหนึ่ง ซึ่งไม่เฉภาะแต่การทำกับเข้าของกินอย่างเดียว ย่อมเปนประโยชน์แก่การอื่นๆ ด้วย ฉันจึงได้ชักนำเครื่องชั่งตวงแลวัดอย่างไทย อังกฤษ ฝรั่งเศษ แลเทียบน้ำหนักชั่งแลตวงอย่าง อังกฤษ ฝรั่งเศษกับอเมริกันไว้ด้วย ท่านผู้อ่านผู้เรียนที่ทราบแล้วก็แล้วไป ที่ยังไม่ทราบก็พอเปนความรู้ขึ้นอิกอย่างหนึ่ง จึงได้ชักนำมาไว้ในบริจเฉทนี้ ถ้าจะยืดยาวไปก็ต้องโปรดให้อาภัยแก่ฉันด้วย

บัดนี้ฉันขอชักนำอัตราเทียบเครื่องตวงแลอัตราชั่งในตำราทำกับเข้าของกินปากศิลปอังกฤษและอเมริกัน มาให้ดูเปนตัวอย่างที่จะได้เลือกใช้เทียบเคียงน้ำหนักตาชั่งที่ไม่ต้องลำบากโดยชั่งสิ่งของเครื่องปรุงไปทุกสิ่งทั้งกับเข้าของกินไทยและเทศ ดังนี้

๒—อัตราเทียบเครื่องชั่งตวงกับภาชน—๑๖๒

อย่างในตำราทำกับเข้าของกินอังกฤษ

เครื่องตวง

๑ ถ้วยหูขนาดใหญ่สำหรับรับประทานอาหารเช้า ตวงน้ำฤๅนมเต็มถ้วยเท่ากับครึ่งไปนต์คิดหนักราว ๑๕ บาทเศษ

๑ ถ้วยหูน้ำชาเท่ากับเซี่ยวไปนด์ราว ๘ บาท

๔ ช้อนคาวฤๅ ๔ ช้อนโต๊ะ เท่ากับเซี่ยวไปนด์ราว ๔ บาท

๑ ถ้วยแก้วน้ำองุ่นเท่ากับ ๑/๘ ไปนต์ราว ๔ บาท

ตาชั่ง

๑ ถ้วยหูขนาดใหญ่รัปทานอาหารเช้าบรรจุน้ำตาลชื้นเต็มสุ่ม หนักครึ่งปอนด์ ราว ๑๕ บาทเศษ

๑ ถ้วยหูอย่างข้างบนนั้น บรรจุน้ำมันละหุ่งเต็มหนักเท่า ๗ เอานซ์ ราว ๑๓ บาทเศษ

๑ ถ้วยหูขนาดข้างบนนั้น บรรจุเข้าสารเต็มหนัก ๗ เอานซ์ ราว ๑๓ บาทเศษ

๑ ถ้วยหูข้างบนนั้น บรรจุเนยน้ำมันหมูฤๅน้ำมันที่เหลือจากปิ้งเนื้อเต็มหนักเท่า ๗ เอานซ์ ราว ๑๓ บาทเศษ

๑ ถ้วยหูขนาดใหญ่ บรรจุมันโคที่สับเลอียดเต็มหนัก ๔ เอานซ์ ราว ๘ บาท

๑ ถ้วยหูขนาดข้างบนนั้นบรรจุผงขนมปังกดให้เต็มถ้วย ฤๅสาคูฤๅมันสำโรงฤๅแป้งเข้าโภชน์ หนักเท่า ๔ เอานซ์ ราว ๘ บาท

๑ ช้อนโต๊ะมันโคสับเลอียดสุ่มหนัก ๑ เอานซ์ ราว ๒ บาท

๑ ช้อนโต๊ะแป้งเต็มหนักเท่า ๑ เอานซ์ ราว ๒ บาท

๑ ช้อนโต๊ะน้ำตาลชื้นเต็มหนัก ๑ เอานซ์ ราว ๒ บาท

ครึ่งช้อนโต๊ะน้ำตาลเชื่อมข้นหนักครึ่งเอานซ์ราว ๑ บาท

๑ ช้อนหวานแป้งสุ่มหนักครึ่งเอานซ์ ราว ๑ บาท

๑ ช้อนหวานน้ำตาลชื้นสุ่มหนักครึ่งเอานซ์ ราว ๑ บาท

๑ ช้อนหวานน้ำเชื่อมข้นเพียงเสมอปากหนัก ๑ เอานซ์ ราว ๒ บาท

๑ ช้อนโต๊ะบรรจุมาร์มะเลตผิวส้มกวนเสมอปากหนัก ๑ เอานซ์ ราว ๒ บาท

๑ ช้อนเกลือ เสมอครึ่งช้อนน้ำชา

๑ ช้อนน้ำชา เสมอครึ่งช้อนหวาน

๑ ช้อนหวาน เสมอครึ่งช้อนคาว ฤๅครึ่งช้อนโต๊ะ

น้ำตาลทรายก้อนขนาดธรรมดา ๖ ก้อนหนักเท่า ๑ เอานซ์ ราว ๒ บาท

ก้อนเนยฤๅมันสัตว์ประมาณขนาดไข่ไก่ชนิดย่อม หนักเท่า ๑ เอานซ์ ราว ๒ บาท

๓—มาตราเทียบภาชนตวงแลชั่ง—๑๖๓

(อย่างตำราทำกับเข้าของกินอเมริกัน)

มาตราเครื่องชั่ง

๑ เครน = เมล็ดธัญชาติ ๒๗ ๑๑/๓๒ เครนส์ หนัก ๑ ดราช์ม
๑ ดราช์ม = หนักราว ๑ เฟื้อง
๑ เอานซ์ = หนักราว ๒ บาท
๑ ปอนด์ = หนักราว ๓๐ บาทเศษ
๑ สโตน = หนักราว ๕ ชั่ง ๒๐ บาทเศษ
๑ คววร์เตอร์ = หนักราว ๑๐ ชั่ง ๔๐ บาทเศษ
๑ ฮันเดรดเหว็ต = หนักราว ๔๒ ชั่งเศษ
๑ ตอน = หนักราว ๑๖ หาบ

เครื่องตวงของเหลว

๑ ยีล = หนักราว ๘ บาท ๔ ยิลส์ เปน ๑ ไปนด์
๑ ไปนต์ = หนักราว ๓๐ บาทเศษ
๑ ควัวร์ต = หนักราว ๖๐ บาทเศษ
๑ แคลลอน = หนักราว ๒ ชั่ง ๑๕ ตำลึงเศษ

เครื่องตวงของแห้ง

๑ แคลลอน = หนักราว ๒ ชั่ง ๑๕ ตำลึงเศษ
๑ เป็ก = หนักราว ๕ ชั่ง ๑๐ ตำลึงเศษ
๑ บุเษน = หนักราว ๒๒ ชั่งเศษ
๑ แซ็ก = หนักราว ๖๖ ชั่งเศษ
๑ จัลดรอน = หนักราว ๑๕ หาบ ๔๐ ชั่ง
๑ ควัวร์เตอร์ = หนักราว ๓ หาบ ๒๖ ชั่งเศษ
๑ โลด = หนักราว ๑๗ หาบเศษ

๔—มาตราเทียมเทียบกัน—๑๖๔

๖๐ หยดแห่งของเหลวเท่ากับ ๑ ช้อนน้ำชาฤๅ ๑ ดราช์ม

๒ ช้อนน้ำชาเต็ม เท่ากับ ๑ ช้อนหวาน

๔ ช้อนน้ำชาของเหลว เท่ากับ ๑ ช้อนโต๊ะฤๅคาว

๔ ช้อนโต๊ะของเหลว เท่ากับ ๑ ยิล

๑ ช้อนโต๊ะของเหลว เท่ากับ ๑ ถ้วยแก้วน้ำองุ่น

๑ ช้อนโต๊ะของเหลว เท่ากับ ครึ่ง เอานซ์

๔ ช้อนน้ำชาของเหลว เท่ากับ ๑ ช้อนโต๊ะ

๑ ซ้อนชาขนาดกลาง เท่ากับ ๑ ดราช์ม

๑๖ ช้อนโต๊ะของเหลว เท่ากับ ๑ ถ้วย

๑ ไปนต์ของเหลว หนักเท่า ๑ ปอนด์

๒ ยิลของเหลวเท่ากับครึ่งไปนต์

๑ ถ้วยทำครัวหนักเท่าครึ่งไปนต์

๓ ช้อนน้ำชาเต็ม เท่ากับ ๑ ช้อนคาวชุดเดียวกัน

๑๒ ช้อนโต๊ะของแห้ง เท่ากับ ๑ ถ้วยเต็ม

๒ ถ้วยเต็มเท่ากับ ๑ ไปนต์

๔ ถ้วยเต็มเท่ากับ ๑ คว๊วร์ต

๔ ถ้วยแป้งเท่ากับ ๑ ปอนด์ ฤๅ ๑ คว๊วร์ต

๒ ถ้วยเนยข้นแข็ง หนักเท่ากับ ๑ ปอนด์

๒ ถ้วยน้ำตาลเม็ดเท่ากับ ๑ ปอนด์

๒ ถ้วยครึ่งน้ำตาลป่นเท่ากับ ๑ ปอนด์

๑ ไปนต์น้ำฤๅนมหนักเท่า ๑ ปอนด์

๑ โหลไข่ไก่หนักเท่าปอนด์ครึ่ง

๑ ค๊ววรต์ แป้งที่ร่อนแล้วหนักเท่า ๑ ปอนด์

๔ ถ้วยแป้งหนัก หนักเท่า ๑ ปอนด์

๑ ช้อนโต๊ะแป้ง หนักเท่าครึ่งเอานซ์

๓ ถ้วยเข้าโภช หนักเท่า ๑ ปอนด์

๑ ไปนต์ครึ่งเมล็ดเข้าโภช หนักเท่า ๑ ปอนด์

๑ ถ้วยเนย หนักเท่า ครึ่ง ปอนด์

๑ ช้อนโต๊ะเนย หนักเท่า ๑ เอานซ์

๑ ไปนต์เนย หนักเท่า ๑ ปอนด์

๑ ไปนต์มันโคสับละเอียด หนักเท่า ๑ ปอนด์

๑๐ ฟองไก่ หนักเท่า ๑ ปอนด์

๑ ไปนต์น้ำตาลเม็ด หนักเท่า ๑ ปอนด์

๑ ไปนต์น้ำตาลทรายแดง หนักเท่า ๑๓ เอานซ์

๒ ถ้วยครึ่งน้ำตาลผง หนักเท่า ๑ ปอนด์

๑๖ ดราช์ม เปน ๑ เอานซ์

๑๖ เอานซ์ เปน ๑ ปอนด์

เนยขนาดฟองไก่ หนัก ๒ เอานซ์

๑ ถ้วยครัวเสมอด้วย ครึ่ง ไปนต์

๑ ปอนต์น้ำตาลก้อนที่หัก เท่ากับ ๑ คววร์ต

๑๒ ฟองไก่ขนาดย่อมไม่มีเปลือกหนักเท่า ๑ ปอนด์

๑๐ ฟองไก่ขนาดกลางไม่มีเปลือกหนักเท่า ๑ ปอนด์

๙ ฟองไก่ขนาดใหญ่ไม่มีเปลือก หนักเท่า ๑ ปอนด์

๑ ฟองไก่ขนาดธรรมดา หนักตั้งแต่ ๑ เอานซ์กับเซี่ยวถึง ๒ เอานซ์

๑ ฟองเป็ด หนักตั้งแต่ ๒ เอานซ์ถึง ๓ เอานซ์

๑ ฟองไก่งวง หนักตั้งแต่ ๓ เอานซ์ถึง ๔ เอานซ์

๑ ไข่ห่าน หนักตั้งแต่ ๔ เอานซ์ถึง ๖ เอานซ์

๒ เอานซ์เนยที่ยังไม่ละลาย เท่าขนาดกับฟองไก่ธรรมดา ๑ ใบ

๒ ช้อนโต๊ะของเหลว หนักเท่า ๑ เอานซ์

๒ ช้อนโต๊ะสุ่มน้ำตาลเมล็ด หนักเท่า ๑ เอานซ์

๒ ช้อนโต๊ะสุ่มน้ำตาลป่น หนักเท่า ๑ เอานซ์

๒ ช้อนโต๊ะกลมแป้ง หนักเท่า ๑ เอานซ์

น้ำตาล แป้ง เนย น้ำมันหมู น้ำมันเหลือจากเนื้อปิ้ง ผลการ์รันต์ ผลองุ่นแห้ง เข้าสาร แป้งเข้าโภชน์ เหล่านี้ใช้ตวงด้วยช้อนโต๊ะกลม

เกลือ พริกไทย แลเครื่องเทศ ใช้ตวงด้วยช้อนเสมอปาก

นมส้มหนักกว่านมสดทั้งนั้น ครีมเบากว่านมส้มแลนมสด

น้ำนมบริสุทธิหนักกว่าน้ำร้อยละสาม เครื่องเทศ ๒ ช้อนเกลือเปนหนึ่งช้อนกาแฟ ๒ ช้อนกาแฟ เปนหนึ่งช้อนน้ำชา

หยิบพริกไทยโรยลงที่หนึ่งเสมอด้วยเซี่ยวช้อนเกลือ

เมื่อได้กล่าวอัตรา ๆ เทียบสิ่งของภาชน์กับชั่งตวงมาข้างบนนี้แล้วก็ควรจะทราบมาตรานิยมเครื่องชั่งตวงแลวัดตามอัตราไทยอังกฤษแลฝรั่งเศษไว้ด้วยเหมือนกัน

๕—มาตราเครื่องชั่งวัดตวงอย่างไทย—๑๖๕

เครื่องชั่งนั้น เปนของที่ให้รู้น้ำหนักขององค์ฤๅสิ่งทั้งหลาย ประมาณคุณของสิ่งที่จะให้รู้นี้ก็เปนส่วนแล้วแต่ความเปนใหญ่ฤๅประมาณแลส่วนหนึ่งแล้ว แต่ความที่เปนธนตาเข้ารวบรวมติดต่อให้เปนก้อนกินที่มากขึ้น

/*16เครื่องวัดนั้นเล่าก็เปนของที่ใช้ให้รู้กำหนดประมาณความใหญ่ขององค์ทั้งหลาย ฤๅซึ่งสิ่งเหล่าโน้นอยู่

ก็ประมาณความใหญ่ ฤๅหนักของสิ่งหนึ่งสิ่งใดจะทำให้รู้กำหนดไม่ได้เลยเว้นแต่โดยทางเทียบเคียงกับด้วยองค์ฤๅสิ่งอื่นซึ่งเลือกเอาเปนหลักฐาน เพราะฉนั้นจึงเปนสิ่งที่เราจะคิดด้วยความเห็นไม่ได้ในทางความเปนใหญ่ฤๅหนักที่เราได้รู้ได้เห็นอยู่ เว้นแต่ได้เทียบเคียงให้เกี่ยวสัมทับกับในที่ฤๅหนักบางสิ่งที่ได้กำหนดลงรู้เปนหลักแล้ว ดังเช่นจะกล่าวดังนี้ ว่าของสิ่งหนึ่งหนัก ๑ ชั่ง สิ่งอื่นหนัก ๒ ชั่ง สิ่งอื่นหนักอิก ๓ ชั่ง แลขึ้นไปดังนี้ ก็มีเนื้อความมิใช่แต่ว่า ของเหล่านี้หนักกว่ากันดังหนึ่งสองสาม ฯลฯ ขึ้นไปอย่างเดียวเมื่อไร แต่เปนการรู้เหมือนกันว่าความหนักฤๅภารมารในสิ่งที่หนึ่งนั้นเสมอ เหมือนกับน้ำหนักที่ได้กำหนดไว้แล้วซึ่งเรียกว่า ๑ ชั่ง แลในสิ่งที่ ๒ นั้นก็เสมอด้วย ๒ ชั่ง ดังกำหนดไว้เปนลำดับไป

ก็หลักฐานของเครื่องวัดบันทัดทางนั้น คงจะได้ตั้งกำหนดมาช้านานประมาณไม่ได้ว่าเมื่อไรครั้งไร ก็แต่เครื่องวัดนี้ ปรากฎชื่ออยู่ที่เรียกเอาชื่อในส่วนแห่งร่างกายอะวัยวะสิ่งในตัวของมนุษย์เปนอันมาก คงจะตั้งแบบมาจากส่วนในตัวคนเปนต้นว่านิ้วคืบศอกวา เหล่านี้ก็เปนชื่อของส่วนในร่างกายไม่ใช่ฤๅ ก็นิ้วนั้นเปนส่วนยาวของนิ้วแม่มือ กดลงเปนประมาณคืบนั้นเล่าก็เปนความยาวตั้งแต่นิ้วแม่มือขยายเหยียดยืดไป ได้แนวกับนิ้วกลางคิดเอาตั้งแต่ปลายนิ้วทั้ง ๒ เปนประมาณ วานั้นก็เปนจังหวะยาวเหยียด ศอกนั้นเปนส่วนยาวแห่งแขนตั้งแต่ข้อศอกจนถึงนิ้วกลางเปนประมาณ ปลายแขนทั้งสองออกไปคนละทิศ คิดเอาตั้งแต่ปลายแขนข้างหนึ่ง ถึงปลายแขนข้างหนึ่งเปนประมาณ การที่วัดที่ใหญ่ยาวออกไปก็ประมาณด้วยการคูณเครื่องวัดที่อย่างเล็กแลบางที่ประมาณเอาโดยเที่ยวหนทางกำหนดด้วยวัน ฤๅโดยที่ซึ่งคิดเปนประมาณ คนปรกติจะเดินได้ในวันหนึ่ง แต่เครื่องวัดบันทัดทางนี้ใช้กำหนดจะให้ประมาณความใหญ่ของสิ่งที่ต้นอย่างเดียว ความประมาณรู้ขององค์ฤๅสิ่งที่มีอาการเหลวนั้น ก็กำหนดด้วยสิ่งที่เราเรียกว่าเครื่องตวงนี้ ลางทีจะเปนตั้งแต่ปถมประชุมชน ตั้งขึ้นแล้วก็จะใช้สิ่งของซึ่งเกิดมีโดยธรรมดา เอาเปนหลักถานดังเช่นทนาฬที่เราใช้อยู่นี้ก็เปนผลมพร้าว ซึ่งเกิดมีเปนของธรรมดาเรียกว่ากะลา แต่มาใช้เปนเครื่องตวงแล้วเรียกเปนทนาฬไปเท่านั้นเอง ก็การที่มาใช้ของที่เกิดธรรมดามาเปนเครื่องตวงนั้น เปนการที่ไม่ถูกต้องชัดเจนผิดอยู่มาก เพราะฉนั้นจึงเปนสิ่งจำเปนที่ต้องคิดประดิษฐ์โดยศิลปการ จะให้ชัดเจนขึ้นโดยเอาประมาณกว้างยาวฦกของเครื่องวัดที่ได้ใช้มาแต่ก่อน แล้วประดิษฐ์ขึ้นเปนเครื่องตวง

เครื่องชั่งนั้นจะเปนอย่างไรก็ดีเราก็ยังสังเกตุชื่อได้อยู่ว่าสืบมาแต่เมล็ดธัญญชาติมีเข้าเปนต้น กำหนดเอาเปนเครื่องชั่งอย่างน้อยที่สุด คือสองเมล็ดเข้าเปนกล่อม ๔ เมล็ดเปนกล่ำ ๘ เมล็ดเข้าเปนไพ ๓๒ เมล็ดเข้าเปนเฟื้อง ๖๔ เมล็ดเข้าเปนสลึง ๒๕๖ เมล็ดเข้าเปนบาท ๑๐๒๔ เมล็ดเข้าเปนตำลึง ๒๐๔๘๐ เมล็ดเข้าเปนชั่ง แลทวีขึ้นไปจนหมดอัตรา

ในทุกประเทศ ซึ่งมีการค้าขายอย่างมากแล้ว เราก็เห็นได้ว่าเปนสิ่งสำคัญที่ต้องมีเครื่องชั่ง แลวัดตั้งเอาบางสิ่งกำหนดลงเปนหลัก ซึ่งเปนทางที่สังเกตุได้ทุกคน ก็แต่ขนาดร่างกายของมนุษย์ที่เปนส่วนนั้นต่างๆ กันในเอกชนคนหนึ่ง ก็ไปอย่างหนึ่งไม่เสมอกันได้หมด จึงเปนสิ่งที่จำเปนต้องเลือกเอาสิ่งที่ทนยืนนานกำหนดลงเปนหลักถาน เครื่องชั่งแลวัดมีโลหเปนต้น เหมือนหนึ่งไม้วาตาชั่งถังทนาฬ ที่เปนหลักถานใช้ในราชการ ซึ่งสำหรับสอบไม้วาตาชั่งถังทนาฬที่ใช้อยู่ทั่วไป ก็ทำด้วยเงินแท้ ซึ่งรักษาไว้ที่พระคลังมหาสมบัตินั้น

ก็อัตราเครื่องตวงที่ใช้อยู่เดี๋ยวนี้ มีกำหนดดังนี้

๖—อัตราเครื่องชั่ง—๑๖๖

๒ เมล็ดเข้า เปน ๑ กล่อม

๒ กล่อม เปน ๑ กล่ำ

๒ กล่ำ เปน ๑ ไพ

๔ ไพ เปน ๑ เฟื้อง

๒ เฟื้อง เปน ๑ สลึง

๔ สลึง เปน ๑ บาท

๔ บาท เปน ๑ ตำลึง

๒๐ ตำลึง เปน ๑ ชั่ง

๒๐ ชั่ง เปน ๑ ดุล

๒๐ ดุล เปน ๑ ภารา

๗—อัตราเครื่องวัด—๑๖๗

๘ ประมาณู เปน ๑ อณู

๘ อณู เปน ๑ ธุลี

๘ ธุลี เปน ๑ เส้นผม

๘ เส้นผม เปน ๑ ไข่เหา

๘ ไข่เหา เปน ๑ ตัวเหา

๘ ตัวเหา เปน ๑ เมล็ดเข้า

๒ เมล็ดเข้า เปน ๑ กระเบียด

๔ กระเบียด เปน ๑ นิ้ว

๑๒ นิ้ว เปน ๑ คืบ

๒ คืบ เปน ๑ ศอก

๔ ศอก เปน ๑ วา

๒๐ วา เปน ๑ เส้น

๔๐๐ เส้น เปน ๑ โยชน์

๘—อัตราเครื่องตวง—๑๖๘

๑๐ เมล็ดเข้า เปน ๑ ใจมือ

๔ ใจมือ เปน ๑ กำมือ

๔ กำมือ เปน ๑ จังออน

๒ จังออน เปน ๑ ทนาน

๒๐ ทนาน เปน ๑ สัด

๔๐ สัด เปน ๑ บั้น

๒ บั้น เปน ๑ เกวียน

๙—เครื่องตวงฉางหลวง—๑๖๙

๒๐ ทนาน เปน ๑ ถัง

๑๐๐ ถัง เปน ๑ เกวียน

๑๐—เครื่องวัดที่จตุรัสฤๅตรางเหลี่ยม—๑๗๐

๑๐๐ ตรางวา เปน ๑ งาน

๔ งาน เปน ๑ ไร่

๑๑—เครื่องวัดลูกบาศ ๖ น่า—๑๗๑

๑๗๒ ลูกบาศนิ้ว เปน ๑ ลูกบาศคืบ

๘ ลูกบาศคืบ เปน ๑ ลูกบาศศอก

๖๔ ลูกบาศศอก เปน ๑ ลูกบาศวา

๑๒—อัตราเงิน—๑๗๒

๕๐ เบี้ย เปน ๑ โสฬศ

๒ โสฬศ เปน ๑ อัฐ

๒ อัฐ เปน ๑ เสี้ยว

๒ เสี้ยว เปน ๑ ซีก

๒ ซีก เปน ๑ เฟื้อง

๒ เฟื้อง เปน ๑ สลึง

๔ สลึง เปน ๑ บาท

๔ บาท เปน ๑ ตำลึง

๒๐ ตำลึง เปน ๑ ชั่ง

๕๐ ชั่ง เปน ๑ หาบ

๑๓—อัตราเก็บบาญชีเงินในคลัง—๑๗๓

๖๔ อัฐ เปน ๑ บาท

๘๐ บาท เปน ๑ ชั่ง

๑๔—อัตราเก็บบาญชีเงินในสมัยนี้—๑๗๔

ซึ่งใช้เงินบาทเปนหน่วยโดยนิยมกันในปัตยุบันกาลตามทศนิยมนับส่วนสิบดังนี้

๑๐ สตางศ เปน ๑ ทสางศ

๑๐ ทสางค เปน ๑ บาท = ๑๐๐ สตางศ

๑๕—อัตราชั่งวัดตวงอย่างอังกฤษ—๑๗๕

เครื่องชั่งวัดตวงอย่างอังกฤษที่ชักนำเข้ามาใช้ในส่วนประสมฤๅตวงวัดชั่งอยู่ในท้องตลาดนั้น จึงได้นำมากล่าวไว้ด้วย ดังนี้:-

เครื่องวัดน้ำหนักใช้ในเมืองอังกฤษนั้นมี ๒ อย่าง เรียกว่า Troy Weight ตรอยเวตอย่างหนึ่งแล Avoirdupois Weight อาวอยร์ดุปอยส์เวตอย่างหนึ่ง ตรอยเวตนั้นพระราชาวิลเลี่ยมวิชิตไชยได้ชักนำมาใช้เมื่อได้เปนพระเจ้าแผ่นดินกรุงอังกฤษ ในปีมีขฤษฎศักราช ๑๐๖๖ เอาชื่อมาจากเมืองตรอเยส์ อยู่ในหัวเมืองชามเปนช์ในประเทศฝรั่งเศศ ซึ่งในเวลานั้นเมืองตรอเยส์เปนตลาดอันมีชื่อเสียงอยู่ จึงได้ให้ชื่อแก่ตาชั่งนั้น แต่ชนชาวอังกฤษไม่เปนที่ชอบใจในอัตราเครื่องชั่งนี้ เพราะว่าน้ำหนักปอนด์ไม่ได้หนักมากเหมือนดังปอนด์ที่ใช้อยู่ในเมืองอังกฤษณะเวลาโน้น ตั้งแต่นั้นมาจึงได้เกิดมีตาชั่งที่เรียกคำว่า Avoir du poids อาวอยร์ดุปอยด์ ซึ่งแปลว่า (จงมีตาชั่ง) ที่ใช้เปนกลางในระหว่างตาชั่งฝรั่งเศศแลอังกฤษโบราณในคราวโน้นนั้น

อาวอยร์ดุปอยส์เวตนี้ได้ตั้งกฎหมายให้ใช้เวลารัชกาลของพระราชาเฮนรีที่ ๗ เปนครั้งแรกสำหรับชั่งเสบียงอาหารแลสิ่งของที่หยาบแลหนัก ครั้นมาในรัชกาลของพระราชาย๊อชที่ ๔ ได้ออกพระราชกำหนดสำหรับตั้งหลักฐานเครื่องชั่งแลวัดตวง ก็ได้มีประกาศว่า บรรดาสิ่งของทั้งปวงที่ได้ขายได้ชั่งน้ำหนักแล้วให้ชั่งด้วยตาชั่งอาวอยร์ดุปอยด์ เว้นไว้แต่ทองคำเงิน ทองคำขาว เพชร์แลพลอยอื่นๆ ที่มีราคาแลเครื่องยา เมื่อขายปลีกจะขายด้วยตาชั่งตรอยเวตได้ สิ่งของนอกจากที่เปนการยกเว้นที่จะขายด้วยตาชั่งอื่นไม่ได้

แต่เพ็ชร์แลเทียนหอยฤๅมุกดาไข่มุขเปนของยกพิเศษอิกชั้นหนึ่ง ใช้ชั่งด้วยน้ำหนักที่เรียกว่า Carat กะรัต ซึ่งมีจำนวนประมาณ ๔ grains เครนส แต่เครนเพ็ชร์นั้นน้อยว่าเครนตรอยเวตดังนี้ ๕ เครนเพ็ชร์เสมอด้วย ๔ เครนตรอยเวตเท่านั้นเอง เอาน์ซตรอยเวต ๑ นั้นเปนจำนวน ๑๕๐ กะรัตเพ็ชร์

ปอนด์ตรอยเวตที่เปนหลักอย่างหลวงนั้น ได้ทำขึ้นเมื่อปีขฤษฎศักราช ๑๗๕๘ ซึ่งบรรดาตาชั่งอื่นๆ ออกจากน้ำหนักนี้ทั้งนั้น คิดเปนส่วนลง ๑ ในที่ ๑๒ ๑/๑๒ ของปอนด์เปน ๑ เอาน์สตรอย ๑ ในที่ ๒๐ ๑/๒๐ ของเอาน์ เปน ๑ เปนนิเวด แล ๑ ในที่ ๒๔ ของเปนนิเวด เปน ๑ เครน เพราะฉนั้น ๕๗๖๐ เครนเปน ๑ ปอนด์ตรอยเวต แล ๗๐๐๐ เครน เปน ๑ ปอนด์อาวอยร์ดุปอยส์เวต ก็เครน ๑ นั้น ทั้งตาชั่งตรอยฤๅอาวอยร์ดุปอยส์เวตนั้นก็เหมือนกัน

ปอนด์อาวอยร์ดุปอยส์อย่างหลวงนั้น อธิบายเปนกำหนดไว้ว่า ๑ ในที่ ๑๐ ส่วนของคัลลอนอย่างหลวงฤๅ ๒๗.๗๒๗๔ กูบิกอินชิศ คือลูกบาดนิ้วอังกฤษของน้ำกลั่น กำหนดเอาณะเวลาเมื่อบอรอมิเตอเครื่องวัดลมยืนอยู่ที่ ๓๐ ดิครีฤๅองศาแลเธอร์มอมิเตอร์ คือ เครื่องวัดความร้อนอย่างฟาห์เรนไฮต์สูงอยู่เพียง ๖๒ ดิครี แลหลักฐานที่กำหนดมานี้อย่าให้ผิดไปได้เหตุที่จะแผกเพี้ยงฤๅพบเข้าณะเวลาหนึ่งเวลาใด ก็ต้องอาศรัยด้วยความทดลองสอบดูได้

๑๖—อัตราชั่งตรอยเวต—๑๗๖

๒๓ เครนส์ (GRAINS) เปน ๑ เปนนีเวต PENNY WEIGHT

๒๐ เปนนีเวต เปน ๑ เอานซ (OUNCE)เค

๑๒ เอานซ เปน ๑ ปอนด์ (POUND)

๒๕ ปอนด์ เปน ๑ คววร์เตอร์ QUARTER

๑๐๐ ปอนด์ เปน ๑ ฮันเดรดเวต (HUNDRED WEIGHT)

๒๐ ฮันเดรดเหวต เปน ๑ ตอน (TON) แห่งทองแลเงิน บรรดาของเหลวทั้งปวงชั่งด้วยน้ำหนักนี้

๑๗—อัตราตาชั่งร้านผสมยา—๑๗๗

๒๐ เครน เปน ๑ สกุรเปลอ SCRUPLE = ๒๐ เครน

๓ สกุรเปลอ เปน ๑ ดราช์ม DRACHM = ๖๐ เครน

๘ ดราช์ม เปน ๑ เอาน์ซ OUNCE = ๔๘๐ เครน

๑๒ เอาน์ซ เปน ๑ ปอนด์ POUND = ๗๔๐๐ เครน

๑๘—อัตราชั่งอาวอร์ดุปอส์เวต—๑๗๘

๒๗ ๑/๓ เครน เปน ๑ ดารช์ม DRACHM

๑๖ ดารช์ม เปน ๑ เอาน์ซ OUNCE

๑๖ เอาน์ซ เปน ๑ ปอนด์ POUND

๑๔ ปอนด์ เปน ๑ สโตน STONE

๒๘ ปอนด์ เปน ๑ คววรเตอร์ QUARTER

๔ คัววร์เตอร์ เปน ๑ ฮันเดรด เวด HUNDRED WEIGHT

๒๐ ฮันเดรดเหวด เปน ๑ ตอน TON

อัตรานี้ใช้ในการค้าขายแทบจะทั้งนั้น แต่สโตนขายปลาเนื้อนั้นคิดเพียง ๘ ปอนด์เท่านั้น เอาน์ซหนึ่งหนักประมาณ ๗ สลึงเฟื้องเศษแลปอนด์ ๑ หนักประมาณ ๓๐ บาท ปอนด์อาวอยร์ดุปอยส์ ๑ นั้นหนักกว่าปอนด์ตรอยเวตเทียบกันเกือบจะถึง ๑๗ กับ ๑๔ คือว่าปอนด์อาวอยร์ดุปอยส์ ๑ นั้น เปน ๑๔ เอาน์ซ ๑๑ ฮันเดรดเวต ๑๕ เครนครึ่งของตรอยเวตเท่านั้น แต่เอาน์ซตรอยนั้นหนักกว่าเอาน์ซอาวอยร์ดุปอยส์ เกือบจะถึง ๗๙ กับ ๗๒ แล

๑๙—อัตราตวงของเหลว—๑๗๙

๔ ยิล Gills เปน ๑ ไปน์ต Pint ๓๔.๖๕๙ ลูกบาดอินชิส

๑ ไปน์ต เปน ๑ คัวรต Quart ๖๙.๓๑๘ ลูกบาดอินชิส

๔ คววร์ต เปน ๑ แคลลอน Gallon๒๗๗.๒๘๔ ลูกบาดอินชิส

ยิล ๑ นั้น หนัก ๕ เอาน์ซอาวอยร์ดุปอยส์แห่งน้ำบริสุทธิณะที่เครื่องวัดความร้อน ๖๒ ดิคริ ฟาห์เรนไฮต์ คิดหนักประมาณ ๙ บาทสลึงเฟื้อง ๒ ไปน์ตวงได้ประมาณสามในห้าส่วน ๓/๕ ของทนาน ฤๅ ๐.๕๙๘๙๑๑๕ ของทนานก็ได้ ๖.๑๓๕๕ แคลลอนเปนลูกบาทฟุต ๑

๒๐—อัตราชั่งของเหลวร้านผสมยา—๑๘๐

๖๐ มินิมส์ เปน ๑ ดราช์มเหลว

๘ ดราช์ม เปน ๑ เอาน์ซ

๑๐ เอาน์ซ เปน ๑ ไปน์ต

๘ ไปน์ต เปน ๑ แคลลอน

ดร๊อป Drop คือ หยด ๑ นั้นเสมอด้วย ๑ เครน ๖๐ หยดเสมอด้วย ๑ ดราช์มฤๅช้อนน้ำชา Teaspoonful ๑ เสมอด้วยน้ำดราช์ม ๑ ช้อนหวาน Desertspoonful๑ เสมอด้วยน้ำ ๒ ดราช์ม ฤๅเสี้ยวของเอาน์ซ ๑ ช้อนโต๊ะ Tablespoonful ๑ เสมอด้วยน้ำ ๔ ดราช์ม ฤๅซีกของเอาน์ซ ๑ ถ้วยแก้วน้ำองุ่น

Wine glassful ๑ เสมอด้วยน้ำหนัก ๒ เอาน์ซถ้วยน้ำชา Teacupful ๑ เสมอด้วยน้ำหนัก ๓ เอาน์ซ

ชั่งของเหลวร้านผสมยานี้ ก็อย่างเดียวกันกับตาชั่งตรอยเวตเปนแต่แบ่งส่วนให้น้อยลงไปเปนชั้นอิกเท่านั้นใช้ในการผสมยา แต่ขายยานั้นชั่งน้ำหนักตามอาวอยร์ดุปอยส์เวต

๒๑—อัตราชั่งของแห้ง—๑๘๑

๒ แคลลอน เปน ๑ เป๊กต์ PECT

๔ เป็กต์ เปน ๑ บุเษล BUSHEL

๓ บุเษล เปน ๑ แซก SACK

๑๒ แซก เปน ๑ จัลดรอน CHALDRON

๘ บุเษล เปน ๑ คววร์เตอร์ QUARTERS

๕ คววร์เตอร์ เปน ๑ โลด LOAD

๒๒—อัตราเครื่องวัดยาว—๑๘๒

๑๒ ไลนส์ เปน ๑ อินซ์

๑๒ อินเชส เปน ๑ ฟุ๊ต

๓ ฟิต เปน ๑ ยาร์ด

๒ ยาร์ด เปน ๑ ฟาธอม (วา)

๕ ๑/๒ ยาร์ด เปน ๑ โปล

๔๐ โปล เปน ๑ ฟูร์ลอง

๘ ฟูร์ลอง เปน ๑ ไมล = ๑๗๖๐ ยาร์ด

๒๓—อัตราวัดตรางเหลี่ยมจตุรัส—๑๘๓

๑๔๔ สแควร์อินเชส เปน ๑ ตรางฟุต

๙ ตรางฟิต เปน ๑ ตรางยาร์ด

๓๐ ๑/๔ ตรางยาร์ดส์ เปน ๑ ตรางโปล

๔๐ ตรางโปลส์ เปน ๑ รุด

๔ รุด เปน ๑ เอเกอร์

๒๔—อัตราวัดผ้า—๑๘๔

๒ ๑/๔ อินเชส เปน ๑ เนล

๔ เนล เปน ๑ คววร์เตอร์ออฟเอยาร์ด

๔ คววร์เตอร์ด์ เปน ๑ ยาร์ด

๒๕—อัตราวัดเหลี่ยมลูกบาท—๑๘๕

๑๘๒๘ กูบิกอินเชส เปน ๑ กุบิกฟุ๊ต

๒๗ กูบิกฟิต เปน ๑ กุบิกยาร์ด

๒๔ ๓/๔ กุบิกฟิต เปน ๑ โสลิดเปอร์ชการปูน

๒๘ ๓/๘ กุบิกฟิต เปน ๑ โสลิดเปอร์ชการอิฐ

๒๖—อัตราวัดของกอง—๑๘๖

๘ แคลลอนส์ เปน ๑ บุเษล = ๘๐ ปอนด์

๓ บุเษล เปน ๑ แซค = ๒๔๐ ปอนด์

๑๒ แซก เปน ๑ ซัลดรอน = ๒๘๘๐ ปอนด์

๒๗—เครื่องชั่งวัดตวงอย่างฝรั่งเสศ—๑๘๗

มาตรานิยมในประเทศฝรั่งเศษใช้เมเตอร์คือ มาตราเปนหน่วยของเครื่องวัดยาวซึ่งได้คิดเปนส่วนหนึ่งในโกฏิส่วนของเส้นบันทัด ตั้งแต่โปลแกนโลกมาถึงอิเคัวร์เตอร์สูนยไส้พิภพเมเตอร์หนึ่ง ยาวประมาณ ๒ ศอกที่ใช้กันเปนสามัญ อันได้คิดตั้งขึ้นเมื่อปีมี ข,ศ,ร, ๑๗๙๕ รัฐบาลฝรั่งเศสรับใช้เปนหน่วยหลักของการชั่งวัดตวงโดยใช้ส่วนสิบที่เปนอำนาจคูณแลหารมาตราทศนิยมนี้หลายประเทศได้รับใช้โดยนิยมตามยังแต่อังกฤษกับยูในเต๊สเตตประเทศอเมริกาไม่ได้รับใช้ด้วยราชฎรยังนิยมมาตราของเก่าอยู่ แม้จะเปลี่ยนมาตราอย่างใหม่เปนอันที่จะให้ลงกันยากจึงยังไม่ได้ประกาศใช้ในราชการ ถึงดังนั้นก็ยังใช้เทียบเคียงอยู่บ้าง

วิธีใช้นั้น—ใช้เลขสังขยาภาษาคริกนำน่า คือ เดคา แปลว่าสิบหน เฮกโตแปลว่าร้อยหน กิโลแปลว่าพันหน มิเลียแปลว่า หมื่นหน นำน่าบอกส่วนคูณข้างมาก แลใช้เลขสังขยาภาษาละติน คำว่าเดซีแปลว่าสิบ เซนติ แปลว่าร้อย มิลลิแปลว่าพัน นำน่าบอกหมายส่วนหารข้างน้อย โดยมาตรานิยมดังนี้

๒๘—เครื่องวัดยาว—๑๘๘

เดคาเมเตอร์ เท่ากับ ๑๐ เมเตอร์

เฮกโตเมเตอร์ เท่ากับ ๑๐๐ เมเตอร์

กิโลเมเตอร์ เท่ากับ ๑๐๐๐ เมเตอร์

มิเลีย เมเตอร์ เท่ากับ ๑๐๐๐๐ เมเตอร์

ฤๅจะนับ ๑๐ เมเตอร์ เปน หนึ่งเดคาเมเตอร์

๑๐ เดคาเมเตอร์ เปน ๑ เฮกโตเมเตอร์

๑๐ เฮกโตเมเตอร์ เปน ๑ กิโลเมเตอร์

๑๐ กิโลเมเตอร์ เปน ๑ มิเลียเมเตอร์

ข้างน้อย

๑ เดซีเมเตอร์ เปน ๑ ในส่วน ๑๐ ของเมเตอร์

๑ เซนติเมเตอร์ เปน ๑ ส่วน ๑๐๐ ของเมอเตอร์

๑ มิลลิเมเตอร์ เปน ๑ ส่วน ๑๐๐๐ ของเมเตอร์

๒๙—เครื่องวัดสี่เหลี่ยมจัตุรัส—๑๘๙

ใช้อาเรส์เปนหน่วยของเครื่องที่พื้นแผ่น คือเปน ๔ เหลี่ยมจัตุรัสซึ่งยาวข้างละ ๑๐ เมเตอร์

๑ อาเรส์ เปน ๑๐๐ เมเตอร์สี่เหลี่ยมจัตุรัส

๑ เคดาเรส์ เปน ๑๐ อาเรส์

๑ เฮกตาเรส์ เปน ๑๐๐ อาเรส์

ฤๅ ๑๐๐ สแควเมเตอร์ เปนหนึ่งอาเรส์

๑๐ เดคาเรส์ เปนหนึ่งเฮกตาเรส์

ข้างน้อย

๑ เดซีอาเร็ส์ เปน ๑ ในส่วน ๑๐ ของอาเรส์

๑ เซนตีอาเรส์ เปน ๑ ในส่วน ๑๐ ของอาเรส์ ฤๅเมเตอร์คาเรส์ คือตรางเมเตอร์

๓๐—มาตราเครื่องชั่ง—๑๙๐

ใช้แครมเม์ฤๅแกรมเปนหน่วยของตาชั่ง ซึ่งเปนน้ำหนักแห่งลูกบาดเซนติเมเตอร์ แห่งน้ำกลั่นณะที่ความร้อนเย็น สี่ดีกรีฤๅองศาของปรอดอย่างเซนติเกรต มีมาตรานิยมดังนี้

๑๐ แกรม เปนหนึ่งเดคาแกรม = ๑๐

๑๐ เดคาแกรม เปน ๑ เฮกโตแกรม = ๑๐๐

๑๐ เฮกโตแกรม เปน ๑ กิโลแกรม = ๑๐๐๐

๑๐ กิโลแกรม เปน ๑ มิลเลียแกรม = ๑๐๐๐๐

ข้างน้อย

๑ เดซีแกรม เท่ากับ ๑ ในส่วน ๑๐ ของแกรม

๑ เซนติแกรม เท่ากับ ๑ ในส่วน ๑๐๐ ของแกรม

๑ มิลลิแกรม เท่ากับ ๑ ในส่วน ๑๐๐๐ ของแกรม

ครึ่งกิโลแกรมเรียกว่า ลิ๊ฟเรส์ คือ ๑ ปอนด์ ฤๅราว ๓๐ บาทเศษ

๓๑—อัตราตวงจุของแห้งแลเหลว—๑๙๑

ใช้ลิตเตอร์เปนหน่วยของเครื่องตวงจุของแห้ง แลของเหลวจุได้ลูกบาดเดซีเมเตอร์ มีอัตรานิยมดังนี้

๑๐ ลิเตอร์ เปน หนึ่งเดคาลิเตอร์

๑๐ เดคาลิเตอร์ เปน หนึ่งเฮกโตลิเตอร์

ข้างน้อย

๑ เดซีลิเตอร์ เท่ากับ ๑ ในส่วน ๑๐ ของลิเตอร์

๑ เซนติลิเตอร์ เท่ากับ ๑ ในส่วน ๑๐๐ ของลิเตอร์

๑ มิลลีลิเตอร์ เท่ากับ ๑ ในส่วน ๑๐๐๐ ของลิเตอร์

๓๒—อัตราเงิน—๑๙๒

๕ ซังติ่ม เปน ๑ ซู้

๒ ซู้ เปน ๑ เดซีเม

๑๐ เดซีเม เปน ๑ แฟรงก์ = ๑๐๐ ซังติ่ม

แฟรงก์ ๑ มีน้ำหนัก เปน ๑.๕ แกรม เปนเนื้อเงิน ๔.๕ เปนชิน .๕

๓๓—อัตราเครื่องวัดทางบรรทัด—๑๙๓

๑๐ มิลลีเมตร์ เปน ๑ เซนติเมตร์

๑๐ เซนติเมตร์ เปน ๑ เดซิเมตร์

๑๐ เดซีเมตร์ เปน ๑ เมเตอร์

๑๐๐ เมเตอร์ เปน ๑ เฮกโตเมเตอร์

๑๐ เฮกโตเมเตอร์ เปน ๑ กิโลเมเตอร์

๓๔—อัตราเครื่องวัดสี่เหลี่ยมจัตุรัส—๑๙๔

๑๐๐ เซนติอาเร็ส เปน ๑ อาเรส์

๑๐๐๐ อาเร็ส เปน ๑ เฮกตาเรส์

๓๕—เทียบมาตราฝรั่งเศษกับอังกฤษเครื่องชั่ง—๑๙๕

เดซีแกรม ประมาณ ๑ เครนครึ่ง

๑ แกรม ประมาณ ๑๕.๔๓๒ เครนฤๅ ๑๘ ๑/๓ แกรม เปน ๑ เอานซ์อาวอยซ์ดูปอยส์อังกฤษหนักราว ๒ บาท

๑ เดคาแกรม ประมาณ ๑/๓ เอานซ์อาวอยร์ดูปอยส์

๑ เฮกโตแกรม ประมาณเกือบเสี้ยวของปอนด์ ราวสี่บาท

กิโลแกรมฤๅกิโลหนึ่งประมาณ ๒.๒๐๔๖ ปอนด์ ราว ๖๐ บาทเศษ

๓๖—เทียบตาชั่งอังกฤษกับฝรั่งเศษ—๑๙๖

๑ เครน เสมอด้วย .๐๐๖๔ แกรม

๑ เอานซ์อาวอยร์ดูปอยส์ เสมอด้วย ๒๘ ๑/๓ แกรม

๑ ปอนด์อาวอยร์ดูปอยส์ เสมอด้วย ๔๕๔ แกรม

๑ ปอนด์ตรอยเวต เสมอด้วย ๓๗๓ แกรม

๑ ฮันเดร็ตเวตอาวอยร์ดูปอยส์ เสมอด้วย ๕๐๘ กิโลส์

๑ ตัน เสมอ ๑๐๑๕ กิโลส์

๓๗—เทียบเครื่องตวงของเหลวแลของแห้ง—๑๙๗

ฝรั่งเศษกับอังกฤษ

ลิเตอร์ ๑ เท่ากับ ๑๐๗๒ อิมเปียเรียลไปต์ ฤๅประมาณ ๑ ๓/๔ ไปต์

๑ เฮกโตลิเตอร์ เท่ากับ ๒๒.๐๐๑ แกลลลอน ฤๅประมาณ ๒๒ แกลลอน

๓๘—เทียบเครื่องตวงของเหลวแลของแห้ง—๑๙๘

อังกฤษกับฝรั่งเศษ

๑ ยิล เท่ากับ ๐.๕๖๘ ลิเตอร์ ฤๅประมาณกว่าครึ่งลิตเตอร์เล็กน้อย

๑ ค๊ววร์ต เท่ากับ ๑.๑๓๖ ลิเตอร์ ฤๅประมาณ ๑/๑๘ ลิเตอร์

๑ แกลลอน เท่ากับ ๔ ๑/๒ ลิเตอร์ ฤๅ ๑๑ แกลลอน เปน ๕๐ ลิเตอร์

๑ เป๊กต์ ประมาณ ๙ ลิเตอร์

๑ บุแษล ประมาณ ๓๖ ๑/๘ ลิเตอร์

๓๙—เทียบมาตราเครื่องวัดยาวอังกฤษกับฝรั่งเศษ—๑๙๙

๑ อินซ์ = ๒๕.๓๙๙ มิลลีเมเตอร์

๑ ฟุต = ๓๐.๔๗๙ เซนติเมเตอร์

๑ ยาร์ด = ๐.๙๑๔ เมเตอร์

๑ เชน = ๒๐.๑๑๖ เมเตอร์

๑ ฟูร์ลอง = ๒๐๑.๑๖๔ เมเตอร์

๑ ไมล์ = ๑.๖๐๙ กิโลเมเตอร์ ฤๅ ๕ ไมล์เกือบเท่า ๘ กิโลเมเตอร์

๔๐—เทียบตรางเหลี่ยมจตุรัสอังกฤษฝรั่งเศษ—๒๐๐

๑ ตรางฟิต = ๖.๒๙ ตรางเดซีเมเตอร์

๑ เอเกอร์ = ๐.๔๐๕ เฮกตาเรส์ ฤๅประมาณ ๔๐ อาเรส์

๑ ตรางไมล์ = ๒.๕๙๙ ตรางกิโลเมเตอร์ ฤๅ ๑๐๐ ตรางไมล์ เท่ากับ ๒๖๐ ตรางกิโลเมเตอร์

๔๑—เทียบเครื่องวัดยาวฝรั่งเศษกับอังกฤษ—๒๐๑

มิลลีเมเตอร์ ๑ = ๐.๐๓๙๔ อินช

๑ เซนติเมเตอร์ = ๐.๓๙๓๗ อินช ฤๅครึ่งอินชหย่อนนิดหน่อย

๑ เดซีเมเตอร์ = ๓.๙๓๗ อินช ฤๅเกือบ ๔ นิ้ว

๑ เมเตอร์ = ๓๙.๓๗๐๘ อินเชส ฤๅประมาณ ๓ ฟิตกับ ๓ อินเชส

๑ เฮกโตเมเตอร์ = ๐.๐๖๒๑ ไมล์ ประมาณ ๑ ใน ๑๘ ส่วนของไมล์

๑ กิโลเมเตอร์ = ๐.๖๒๑๔ ไมล์ ฤๅ ๘ กิโลเมเตอร์ เปน ๕ ไมล์

๔๒—เทียบมาตราจัตุรัสฝรั่งเศษกับอังกฤษ—๒๐๒

๑ เซนติอาเรส์ เสมอด้วย ๑.๑๙๖ ตรางยาร์ด

๑ อาเรส์ เสมอด้วย ๓.๙๔๕ โปลส์ ฤๅ ๔๐ อาเรส์ครึ่งเปนหนึ่งเอเกอร์

๑ เฮกตาเรส์ เสมอด้วย ๒.๔๗๑ เอเกอร์ ฤๅเกือบ ๒ เอเกอร์ครึ่ง

๔๓—อัตราเงิน—๒๐๓

๑ ปอนด์ ประมาณ ๒๕ แฟรงก์

๑ ชิลลิงค์ ประมาณ ๑ แฟรงค์ ๒๖ ซังติม ฤๅ ๑ แฟรงก์กับเซี่ยวหนึ่ง

๑ เปนนี ประมาณ ๑๐ ซังติม

ครึ่งเปนนี ประมาณ ๑ ซู้ ฤๅ ๕ ซังติม

๑ แฟรงก์ ประมาณ ๙ เปนส์ครึ่ง

๑๐๐ แฟรงก์ ประมาณ เกือบ ๔ ปอนด์

๑๐๐ โกฏิแฟรงก์ ประมาณ เกือบเท่ากับ ๔ โกฏิปอนด์

แล

ความสอาด

เปนเคหะนีติกิจในปากศิลป์อย่างหนึ่ง

แถลงเรื่องลักษณะล้วน คฤหนิติ์ สอาดเฮย
เรียงเรียบระเบียบคิด จรดไว้
เปนสุนทรสุภาสิต สิ่งชอบ
เพื่อประโยชน์เยาวเรศได้ สดับแล้วเชิญจำ
เปนของควรคู่เค้า ความประ พฤติฮา
ผิวกอบอุสาหะ ไป่แคล้ว
สิ่งเจริญศิริลาภะ จักลุ แลแม่
อุปัทวภัยพีนาศแผ้ว ผ่องพ้นสกนธ์ไกล

บัดนี้จะกล่าวถึงความสอาด ในครอบครัวที่เภทาสัตรีภาพจะมี นางดรุณนารีจะควรทราบแลทรงอุปเทศอันนี้ไว้ประพฤติเปนกิจส่วนตนอยู่เสมอได้ทั่วไป ถึงแม้ว่ายังอยู่ในความปกครองของชนกชนนีพ่อแม่ก็ดี อยู่ในความควบคุมของเจ้าหมู่มูลนายก็ดี อยู่ในความครอบงำเจ้าทรัพย์ผู้จ้างให้เงินล่วงน่าแทนที่เจ้าเงิน เปนลูกจ้างรับเงินล่วงน่ามีเอกสารบริคณห์สัญญาลดเดือนละ ๔ บาทแทนที่ทาษาทาษีก็ดี ความสอาดดังจะได้พรรณาต่อไปนี้ไม่เปนที่ขัดขวาง ด้วยว่าความสอาดนั้น ท่านว่าต่อระเบียบกันกับที่เปนเทพไทย จึงเปนของควรสดับ แลประกอบได้โดยแท้ อาจซึ่งจะหยั่งความเจริญในส่วนตัวนางดรุณนารีให้เกิดทวีขึ้นหลายส่วนหลายเท่า ผู้ปกครองฤๅผู้ปกปักรักษานั้น ๆ ก็พึงชอบและยินดี โสมนัศรับความปฏิบัติของนางดรุณนารีอันนี้แน่ ไม่พึงหันหลังให้โดยที่รังเกียจเลยทีเดียว เพราะฉนั้น จึงจะขออธิบายความสอาดในส่วนครอบครัวเพียงสามประการ คือความสอาดในคฤหสถานที่อยู่ประการหนึ่ง ความสอาดในเครื่องภาชนใช้สรอยประการหนึ่ง ความสอาดในสิ่งซึ่งจะบริโภคและสำผัสประการหนึ่ง ซึ่งนับว่าเกี่ยวเนื่องในปากะศิลปในเคหนิติด้วยความดังนี้

๑—ความสอาดในคฤหสถาน—๒๗๑

ความสอาดในคฤหสถานนั้น คือตึกฤๅเรือน ควรต้องเอาใจใส่ทั้งภายในเรือนแลภายนอกเรือน ภายนอกนั้น แต่บันไดฤๅประตูเข้าไป ให้มีที่ขังน้ำตั้งไว้ที่ริมบันไดฤๅต้นทางที่จะเข้าประตู สำหรับจะได้ล้างเท้าผู้ที่ไปมาจะขึ้นตึกแลเรือน และให้มีผ้าฤๅเบาะวางไว้ในระยะที่จะก้าวขึ้นไปจะได้เช็ดเท้าให้สอาด จึงจะไม่เปรอะเปื้อนพื้นตึกแลเรือนได้ ที่หอนั่งฤๅมุขซึ่งเปนที่รับแขก ฤๅหอกลางซึ่งเปนที่พักนั่งเล่นในเวลาที่เปิดเผยแห่งความศุขสำราญนั้น ควรให้ชายคนใช้กวาดแลเช็ดถู ที่พื้นแลในที่ต่างๆ ด้วยน้ำในเวลาเช้าครั้งหนึ่ง เวลาเย็นควรต้องปัดกวาดให้สอาดอีกครั้งหนึ่ง พื้นที่นั่งที่เดินและเสาฤๅพนักลูกกรง พนักน่าต่างซึ่งเปนที่พิงเท้าจับจึงจะไม่มีรอยเปรอะเปื้อนเหงื่อไครได้ แลที่ใดแห่งใดที่เปนซอกตรอกเปนต้นว่ามุมตึกมุมเรือน ซอกเสาริมบันไดริมประตูนั้น ควรต้องมีกระโถนตั้งไว้สำหรับบ้วน จะได้กันเปื้อน แลช่องน่าต่างเปนที่ยืนนั่งพิงดูเล่นนั้น มักเปนโอกาศของคนหยาบ ซึ่งจะได้สำแดงความสบายในจำพวกเขา บ้วนน้ำหมากถ่มเขฬะเคาะยาบู้หรี่ซึ่งสูบแล้วเปนเกสรลงไป บางทีก็ค้างเปรอะเปื้อนบนน่าต่าง บางทีก็เลอะไหลเปรอะผนังตึกฤๅฝาเรือน ดูเปนที่โสโครกน่าเกลียด ต้องระวังห้ามปรามอย่างที่สุดในสิ่งนี้ ให้เปนแต่พลั้งเผลอบางครั้งบางคราว ให้คนใช้เช็ดถูฤๅขูดให้สอาดอย่าให้เปื้อนอยู่ได้ ถ้ามีแขกมาหาสู่ บางแขกที่มีอัทยาไศรยเจือในสันดานอันดี เห็นเคหะสถานแลที่รับรองลาดปู สอ้านสอาดอยู่ก็สำแดงอาการกิริยาที่ดี เพื่อจะให้เจ้าของบ้านพึงรู้ว่าความประพฤติของแขกมาหาก็คงมีอย่างนี้เหมือนกัน บางแขกมีอัทยาไศรยหยาบถือยศถือศักดิ์ ประกอบด้วยความเย่อหยิ่งมีทิฐิไปต่างๆ ครั้นจะทำอาการกิริยาที่ดีก็จะเปนตื่นเต้น ลางเจ้าของบ้านมียศบันดาศักดิ์พอประมาณ ก็เห็นว่าคนอย่างนี้ทำอย่างไรก็ได้ บางแขกก็หยาบไม่ทันพินิจพิเคราะห์ เคยประพฤติอย่างไรในสันดานบ้านเรือนตนก็มาประพฤติอย่างนั้น เมื่อแขกกลับไปแล้ว ก็เปนธุระของแม่เรือนจะต้องตรวจดูในที่รับแขก เปนต้นว่าผงบุหรี่แลไม้ขีดไฟ น้ำหมาก ชานหมาก เขฬะจะมีรกเปื้อนที่ใดบ้าง จะได้ให้คนใช้กวาดเช็ดให้สอาด เปนการจำเปนของแม่เรือน จะต้องหนักปากหนักใจอยู่อย่างนั้นเสมอ ข้างฝ่ายเบื้องบนทั่วไป เปนต้นว่าเพดานแลซุ้มประตูน่าต่าง ก็ต้องระวังให้คนใช้กวาดพันเยื่อใยแมลงมุมลงมาให้หมดจด จึ่งจะสอาดตาน่าดูของบ้านเรือน ถึงพยุพัดมาก็ไม่ใคร่จะรกเปื้อนถึงพื้นได้ อย่างนี้ความสอาดภายนอก

ภายในนั้น สิ่งซึ่งรักษาความสอาดเปนพื้นบ้านพื้นเรือน นี้กับภายนอกก็เช่นเดียวกัน แต่ยังมีข้อจะต้องประพฤติรักษาในส่วนที่แปลกกันอีก คือ ห้องสำหรับอาบน้ำที่ลับ ห้องไว้ของบริโภคคาว ห้องไว้ของบริโภคหวาน ห้องสำหรับประกอบอาหารที่จะบริโภคคือห้องครัว ในสถานเหล่านี้ซึ่งจะอธิบายโดยสังเขปต่อไป

๒—ห้องสำหรับอาบน้ำ—๒๗๒

ห้องน้ำนั้น พื้นจะลาดด้วยศิลาอ่อนกระเบื้องเคลือบกระเบื้องน่าวัวก็ดี ฤๅไม้กระดานก็ดี มักไม่พ้นความเปรอะเปื้อนเปนต้นว่า คราบแลไคลน้ำจับประการหนึ่ง ท่อที่ลับฤๅล่องก็เรียก ซึ่งมีสำหรับห้องก็ดี มักไม่พ้นกลิ่นซึ่งเปนสัตรูแก่นาสิก เพราะมณฑิลในส่วนของสริราวัยะวะจับอยู่เสมอ ควรให้หญิงคนใช้ขัดสีในที่ ๒ ประการนี้ จงเปนนิตย์ จึงจะเปนความสอาดของห้องน้ำได้

๓—ห้องไว้ของบริโภคคาว—๒๗๓

ห้องคาวนั้นของรศที่เค็มแลคาวเปนสิ่งสำคัญกว่าสิ่งอื่นที่จะก่อให้พื้นผุเปื่อยได้เร็ว แลก่อให้เกิดความเปรอะมีกลิ่นสาบคลุ้งโดยมาก ก็ต้องจำเปนแม่เรือนต้องระวังรักษาสิ่งที่ใส่ของเค็มแลคาวนั้น มีฝาปิดให้มิดชิดอย่าให้กลิ่นออกได้ แล้วให้มีม้าฤๅสิ่งไรตั้งรองไว้ให้พ้นจากพื้นห้อง เพื่อจะมิให้สิ่งที่เค็มขึ้นถึงพื้นได้ แลให้หญิงคนใช้เช็ดถูกวาดอยู่เสมอจึงจะกำจัดความอันตราย ความเปรอะความที่มีกลิ่นเปนมณฑิลเสียได้ แม้ถึงรักษาของที่เค็มแลวางไว้ในที่อันควรแล้วไม่กวาดไม่เช็ด ผงที่รักษานั้นเปนเหตุจะชักนำให้สัตว์ หนู ปลวก มดมาทำรัง แลเปนอันตรายแก่ห้องได้เหมือนกัน

๔—ห้องไว้ของบริโภคหวาน—๒๗๔

ห้องหวานนั้น เปนเดิมเหตุจะชักนำให้สัตว์ หนูแลมดมาทำอันตรายเปรอะเปื้อนได้ เปนต้นว่าผลไม้ฤๅขนม รักษาไม่ดีไม่ปิดกันไว้ให้สมควร ไม่ปิดให้ดีหนูก็ขนทำอันตรายได้ ไม่กันให้ดี มดก็ลงทำอันตรายได้ นี่เปนอันตรายในของที่รับประทาน แล้วหนูแลมดก็คาบพาผลไม้ฤๅขนมลงที่พื้นห้องจะไปสู่รัง นี่เปนอันตรายของพื้นที่จะเปรอะเปื้อน จึงควรต้องระวังรักษา ปิดงำสิ่งของนั้นให้ดีอย่าง ๑ เอาสิ่งของขึ้นวางไว้บนที่อันควรแล้วหล่อน้ำกันไว้ให้ดีอย่าง ๑ ความรักษา ๒ อย่างนี้กันอันตรายได้ ๒ ประการดังว่ามาเบื้องบนแล้ว แต่การที่ปิดงำแลหล่อน้ำกันสิ่งของมิให้หนูแลมดทำอันตรายได้นั้น แม่เรือนก็ย่อมรู้อยู่เลอียด จะบรรยายก็จะเพ้อเจ้อยืดยาวไป

๕—ห้องครัว—๒๗๕

ห้องครัวนั้น มักเปนเหตุที่จะให้เกิดกลิ่นที่เปนมณฑิล แลเปรอะเปื้อนที่พื้นครัวห้องครัวหลายประการ แต่จะนำมาลงไว้พอเปนเค้าตามควรต่อไปนี้ คือของที่สดคาวต่างๆ เปนเหตุที่จะชักนำซึ่งกลิ่น น้ำเข้าเมื่อปลงหม้อเข้าลงเช็ดแลน้ำที่ใช้สรอย แลถ่านเท่าในเตาไฟ เปนต้นเหตุของความเปื้อนเปรอะอย่างนี้เปนธรรมดา ก็ต้องเปนความเหนื่อยปากหนักใจของแม่เรือน จะต้องบ่นว่าปากเปียกปากแฉะบ่อยๆ จึงจะรักษาความสอาดของห้องครัวให้สอาดอยู่เปนนิตย์ได้

ในสถานที่ทั้งหลาย ที่ได้พรรณามานี้เปนส่วนรักษาความสอาดภายใน ก็ภายในแลภายนอก ๒ ประการนี้ ก็เนื่องอยู่ในความสอาดในที่อยู่ซึ่งเรียกว่า ความสอาดในคฤหสถานสิ้นเพียงนี้

๖—ความสอาดในเครื่องภาชนใช้สอย—๒๗๖

ความสอาดในเครื่องภาชนนั้น คือสิ่งอันใดที่เปนเครื่องสำหรับใช้สอยทั้งปวง ก็ย่อมอยู่ในความภิทักษ์รักษาของแม่เหย้าเค้าเรือน ไม่เปนธุระที่จะประกอบกิจนั้นๆ แล้วคนใช้ฤๅจักสามารถเข้ายังการนั้นให้เปนไปได้ แม้ว่าถึงเปนไปได้ น้ำจิตรเขาเปนคนใช้ น้ำจิตรเราเปนเจ้าของ ฤๅจะอาจลงร่วมคลองเดียวกันได้ ก็พึงเหนได้ง่ายว่า คนใช้ฤๅจักนำเอาภาระที่หนักขึ้นบ่าโดยที่นอกความหวัง ซึ่งไม่มีผู้จำกัดยกวางให้ได้ฉนั้น เพราะฉนี้จึงเปนต้นเหตุของแม่เหย้าเค้าเรือนที่จะต้องครอบงำ แลบังคับบัญชาการงานภายในภายนอก สรรพสิ่งของใช้สอยทั้งปวง ดังจะพรรณาพอเปนสังเขปต่อไป

คือภายในเรือนภายนอกเรือนซึ่งมีของตั้งวางอยู่ ถ้าเครื่องไม้ฤๅเครื่องศิลาเปนต้นว่าโต๊ะเก้าอี้สำหรับนั่งเล่นสั่งสนทนาแลรับแขก ตู้ใส่หนังสือแลไว้ของใช้ต่าง ๆ จะต้องเอาใจใส่ให้คนใช้เช็ดถูฤๅแปรงปัดกวาดอย่าให้ผงลอองจับได้ หนังสือที่ในตู้ต้องระวังรักษาอย่าให้บังเกิดสัตว์แมลงง่ามฤๅมดเข้าทำอันตรายได้ แลสิ่งทั้งปวงที่ในตู้นั้นจะเปนเครื่องแก้วศิลาก็ดี เครื่องทองนาคเงินก็ดี อย่าให้หมองกล้ำได้ ต้องเช็ดปัดขัดสีให้สอาด จึงจะเปนการเจริญตา ที่ของเก็บไว้ในตู้ ชั้นที่สุดแขกมาหาสู่ จะต้องเอาเครื่องนั้น ๆ ออกต้อนรับบ้าง ก็ไม่ต้องเอิกเกริกขลุกขลุ่ยในเวลานั้น โต๊ะที่ล้างหน้าแลม้าเครื่องแป้งหวีกระจก เปนเครื่องสำหรับบำรุงราษีของร่างกายให้สอาด เปนส่วนที่ ๑ ของแม่เรือนจะต้องดูแลให้เช็ดแปรงชำระให้หมดจดสอาดตา จึงจะไม่เปนที่รังเกียจของผู้ปกครอง ซึ่งมีวิไสยอันเลอียดสุขุมได้ แลเปนความเจริญดีงามขึ้นในส่วนแม่หนูดรุณีอีกชั้นหนึ่ง

อนึ่ง สรรพสิ่งของรูปพรรณ์เครื่องใช้ ทอง นาค เงิน ทองเหลือง ทองขาว นั้น โบราณท่านนับถือแต่สิ่งที่ไม่ให้เสียไปหมดไปเปนดี ท่านไม่ใคร่จะชำระขัดสีเลย แต่กาลครั้งนั้นถึงท่านที่เปนพ่อค้าแลเศรษฐีมั่งคั่งด้วยทรัพย์สมบัติบริบูรณ์ ความประพฤติก็เช่นอย่างสามัญชนทั่วไปไม่เปิดเผย คำเก่ามักใช้พูดฤๅในปัตยุบันนี้ ก็ใช้เจรจายกยออย่างเก่าๆ ก็มี ที่มีคำว่า ผ้าขี้ริ้วห่อทอง มีคำอธิบายว่า ท่านผู้นี้เปนเศรษฐีโบราณอย่างประเสริฐ ฤๅเปนผู้มั่งมีมาหลายชั่วหลายชั้นคนแล้วตกถึงบุตรแลหลานๆ จึงได้เปนเศรษฐี ผ้าขี้ริ้วห่อทองอยู่อย่างนี้ นี่แนะนำชี้อุทาหรณ์มาให้เหนในกาลล่วงแล้ว ครั้นถึงในสมัยนี้ท่านบูราณก็หมดไปสิ้นแล้ว บุตร์แลหลานเหลนลื้อที่ได้รับทรัพย์มรฎกสืบตระกูลต่อมาก็ได้เหนได้ยินได้ฟัง แต่อย่างธรรมเนียมใหม่ๆ ที่ประพฤติมาชินตาหนาหูก็ย่อมยักเยื้องเปลี่ยนแปลงไปตามความนิยมยินดีที่ได้นับถือกัน เปนการเจริญรุ่งเรืองแก่บ้านเมืองในปัตยุบันสมัยนี้ แต่ท่านบูราณที่ยังเหลืออยู่บ้างท่านก็ประพฤติอย่างเดิมเสมอมาจนเด็กๆ กลางถนนหนทางพบปะก็มีคำบริภาษล้อเล่นต่าง ๆ เปนต้นเรียกยายขาตาโว้ยยายโว้ยตาขา บ้างก็ชี้บอกกันว่านั่นแน่แฮะ ตาขอทานยายขอทาน เพราะการที่จะได้ยินได้ฟังได้พบได้เหนน้อยไปหมดไป จึงได้มั่นลงว่าคนอย่างนี้แล้วเปนอย่างนั้น ซึ่งได้เพ้อเจ้อบรรยายความประพฤติตนของท่านบูราณฉนี้ ก็เพื่อจะได้มาเทียบทานให้เหนว่า กาลครั้งโน้นแลสมัยนี้ ความเจริญรุ่งเรืองผิดไกลกันอยู่ เพราะฉนั้นการที่จะรักษาสิ่งของรูปพรรณ ทอง นาค เงิน ทองเหลือง ทองขาวนั้น จะประพฤติอย่างท่านบูราณไม่ได้ ก็จะลงกันว่า แม่เรือนเกียจคร้านไม่ดูแลพิทักษรักษาเข้าของ ก็ควรต้องเปนไปตามความนิยมยินดีที่จะสอาดตางดงามได้อย่างไร แม่เรือนก็ต้องให้คนใช้ประกอบกิจนั้นๆ จึงจะเปนการเจริญดีขึ้นได้ จึงเรียกว่ารักษาความสอาดในเครื่องภาชนใช้สอย

ความสอาดในสิ่งที่บริโภคแลสัมผัศ

ความสอาดในสิ่งซึ่งบริโภคแลสัมผัสนั้น คือ อาหารรับประทานที่ ๑ บำรุงร่างกายที่ ๒ รู้นอนที่ ๓ ผ้าแลเสื้อที่ ๔ ใน ๔ อย่างจะอธิบายโดยสังเขปต่อไป

๗—อาหารการรับประทาน—๒๗๗

โภชนาหารที่รักษาไว้ในที่อันควรนั้น อย่าไว้ทับถมเก่าปนใหม่ ใหม่ปนเก่า มักเกิดเปนรังแลมีกลิ่นสาบ เมื่อหุงถึงจะซาวน้ำให้สอาดกลิ่นนั้นก็ไม่ใคร่จะหาย ควรต้องมีสำหรับที่ไว้ส่วนเก่าที่ ๑ ส่วนใหม่ที่ ๑ ถึงกระนั้นก็ต้องระวังอยู่เปนนิตย์อันตรายที่จะบังเกิดดังกล่าวมาแล้วข้างบนจึงจะไม่เปนได้ นี่ก็ความสอาดอย่างหนึ่ง บรรดาสิ่งของที่เค็มแลมีคาวซึ่งเปนของแห้งมีไว้สำหรับบ้านเรือนนั้น เปนต้นว่าน้ำปลากะปิปลาที่เต็ม ต้องระวังรักษาตากแดดบ่อย ๆ จึงจะได้ไม่บังเกิดสัตว์แลมีกลิ่นคลุ้งได้

อนึ่ง เวลาที่แม่ครัวจะประกอบการหุงต้มนั้น ก็ต้องตรวจดูตลอดไป หม้อเข้าหม้อแกงที่หุงแลต้มของสุกแลปลงลง ควรต้องให้มีผ้าสำหรับไว้ผืนหนึ่ง ชุบน้ำเช็ดปากหม้อรอบในรอบนอกแลฝาละมีหม้อให้สอาดเมื่อเปิดฝาขึ้นจะคดจะตักของนั้นๆ ที สิ่งที่เปนมณฑิลจึงจะไม่ร่วงหล่นลงได้ แลดูก็น่ารับประทาน ถ้วยชามแลถาดซึ่งใส่กับเข้าต้องล้างชำระให้สอาด แล้วมีผ้าสำรับผืนหนึ่งต่างหาก จะได้เช็ดน้ำที่ถาดแลถ้วยชามให้หมดจดแล้วจึงใส่กับเข้าไว้ ส่วนของหวานนั้นความประพฤติสอาดก็เช่นเดียวกัน เมื่อสำหรับคาวหวานเสร็จแล้ว ต้องให้คนใช้เตรียมกระโถนขันน้ำขัดสีให้สอาดตั้งไว้พร้อมด้วยผ้าเช็ดมือก่อนจึงยกสำรับไปตั้ง แต่ผ้าเช็ดมือต้องจัดลงถาดฤๅพานโต๊ะเล็ก ๆ แล้วให้มีผลมะกรูด ฤๅเครื่องหอมปรุงบันจุขวดวางไว้ในนั้น กับผ้าเช็ดมือแลสะบู่ด้วย เพื่อที่บริโภคเสร็จแล้ว จะได้เอาสะบู่แลเครื่องหอมชำระล้างมือให้สิ้นกลิ่นที่เปนมณฑิล อิกที่ชากาน้ำร้อนต้องล้างชำระเช็ดถูเตรียมไว้ให้พร้อม เมื่อพอใจรับประทานจะได้รับประทาน แต่เปนธรรมดาจะต้องมีพร้อมอย่างนั้น นี่ก็เนื่องอยู่กับความสอาดในของบริโภค เรียกว่าอาหารการรับประทานฉนี้

๘—บำรุงร่างกาย—๒๗๘

สรรพสิ่งทั้งปวงไม่เสมอยิ่งความประกอบตกแต่งร่างกายของสัตรีแต่ให้รู้เวลาที่ควรแลไม่ควร ถ้าสัตรีที่เปนพรหมจารีอยู่ในความประคับประคองของบิดามารดาฉันใดก็ดี ความเต็มบริบูรณ์ของสัตรี ก็แม้นด้วยจันทร์เมื่อวันเพ็ญฤๅเกษรประทุมชาติเมื่ออยู่ในความปกครองของกลีบฉันนั้น พึงควรอบรมบำรุงร่างกายให้บริบูรณ์งดงามอยู่เสมอ คือเวลาเช้ากลางวันบ่ายฤๅเย็น ใน ๓ เวลานี้ต้องอาบน้ำชำระกายขัดสีผดุงผิว แลลูบไล้สุคนธรศของหอมประกอบนุ่งห่มให้งดงามสอาดตา แม้จะประกอบกิจของบิดามารดาก็แต่ในระหว่างเวลานั้นๆ เมื่อถึงกำหนดเวลาแล้ว กิจนั้นจะยังมิสำเร็จก็จำต้องงดไว้ ไปชำระตกแต่งกายแล้วจึงมาทำการต่อไป บิดามารดาฤๅจะอยากให้บุตรีเศร้าหมองด้วยความที่ไม่บำรุงรักษาร่างกาย เมื่อบิดามารดาได้เหนบุตรีอันเจริญตาก็มีความโสมนัศปราโมทย์ แลบุตรีนั้นก็จะได้ฉลาดในการตกแต่งกายนุ่งห่มซึ่งเปนของสำหรับตัวอยู่ และเปนการเจริญราษีขึ้นด้วย

อนึ่ง ในเวลาเสร็จธุระครอบครัวแล้ว จงชำระตกแต่งร่างกายให้สอาด มานั่งคอยปฏิบัติบิดาฤๅมารดาเมื่อเวลาที่รับประทานอาหาร แลอาจจักได้รับโอวาทของบิดามารดาที่ดีมีคุณประโยชน์ไพศาลด้วย แม้อยู่ในความปกครองของผู้อื่นก็จำต้องประพฤติเช่นเดียว แต่ร่างกายตกแต่งพอสมควรแก่ความสอาดตา แลพอเพียงแก่สิ่งที่ล่วงเสียแล้วซึ่งความปราดถนาฉนั้น จึงจะชอบ อย่างนี้เรียกว่าบำรุงร่างกาย

๙—รู้นอน—๒๗๙

ต้องเปนธุระเอาใจใส่ในที่เตียงสำหรับนอน แลที่ใดซึ่งเปนที่สำหรับผ่อนกายเอนหลังเล่นนั้น มีฟูกหมอนม่านมุ้งเปนต้น ควรปัดปูลาดไว้จงสอาด อย่าให้มีลอองที่คันแลเลือดไรได้แล้วให้มีขันน้ำ กระโถน โคมตั้ง ไม้ขีดไฟ ภิมเสน ยานัดถุ์ เปนต้น วางไว้ในสถานอันใกล้ที่นอน เพื่อจะได้ใช้ในเวลากลางคืน เมื่อเข้านอนแล้วฤๅรู้สึกตัวขึ้นในเวลาดึกฤๅไม่สบายนั้น แลจะเปนประโยชน์อย่างอื่น ๆ อิกด้วย เมื่อเวลาจะนอนนั้น ต้องตรวจตราเข้าของเสียให้ทั่ว จะควรอย่างไร จะได้เก็บเสียให้เรียบร้อย แล้วจึงชำระขัดสีล้างเท้าเช็ดให้สอาดจึงนอน ในเวลานั้นพึงเคารพย์แลปฏิบัติด้วยประการต่างๆ แลควรประกอบให้ต้องตามอัทยาไศรย ถึงแม้ว่าอยู่ในความปกครองของบิดามารดา บุตรีก็พึงต้องปฏิบัติมารดาประดุจเดียว ความสามัคคีแลความสนิทเสน่หาฤๅจะไกลจากความห่วงได้ จะมีความรักใคร่สมัคสมานกลมเกลียวกัน ดุจป่านที่ถลุนแล้วผสมเกลียวกันเข้าสนิทสนมฉนั้น เมื่อรุ่งปัจจุสสมัย ควรแม่เรือนต้องตื่นก่อนพ่อเหย้า มาอาบน้ำชำระกายให้สอาดแล้ว ให้คนใช้จัดเตรียมในที่ล้างหน้าให้พร้อม แลสรรพสิ่งใดที่จะบริโภคก็จัดตั้งไว้เสร็จแล้ว จึงไปดูการงานอื่นของแม่เรือนซึ่งควรจะประกอบต่อไป จึงได้ชื่อว่ารู้นอนฉนี้

๑๐—ผ้าแลเสื้อ—๒๘๐

บรรดาผ้าแลเสื้อนั้น แม่เรือนต้องเอาใจใส่ตรวจตราดูว่าเสื้อแลผ้าชนิดใดอย่างใด ซึ่งเจ้าของพอพึงใจบริโภคนุ่งห่ม ถ้าชนิดนั้นอย่างนั้นบกพร่องไป ก็ควรจัดแจงหาเพิ่มเติมไว้ก่อน อย่าให้ทันเจ้าของออกวาจาได้ ในเวลาที่พ่อเหย้าจะไปธุระต่างๆ แม่เรือนต้องจัดเสื้อผ้านุ่งแลเครื่องที่ใช้สอยเตรียมไว้ให้พร้อม โดยถานันดรศักดิ์ของพ่อเหย้า จะควรใช้อย่างไรต้องให้เปนการสมควร เมื่อไปแล้วแม่เรือนพึงดูผ้าเสื้อที่ใช้อยู่เสมอ จะควรทำอย่างไรก็ทำเสียให้เสร็จ เปนต้นว่าตาก ซัก ทุบ บด รีด แลจีบอบร่ำเครื่องหอมนั้น ฤๅผ้าเสื้อที่ไม่ใคร่ได้ใช้ก็เหมือนกัน จำต้องตรวจอยู่บ่อย ๆ จึงจะกำจัดความอันตรายสัตว์ต่าง ๆ มีแมลงง่าม เปนต้น ฤๅกลิ่นสาบฤๅความเปื้อนได้ แลในเวลาจวนที่พ่อเหย้าจะมา ต้องเตรียมผ้าที่เคยนุ่งอยู่บ้านจีบไว้พร้อมด้วยผ้าผลัดผ้าเช็ดตัว เมื่อกลับมาถึง แม่เรือนต้องคอยรับผ้าแลเสื้อตากผึ่งแล้วให้หญิงคนใช้นำผ้าที่เตรียมไว้ ไปคอยที่ท่าน้ำฤๅห้องน้ำ เพื่อที่ชำระกายเสร็จแล้ว จะได้ผลัดผ้าแลเช็ดตัวให้สอาด นี่ว่าในการเสื้อผ้า

จึงได้ประมวญเข้าทั้ง ๔ อย่างด้วยกัน เรียกว่าความสอาดในสิ่งซึ่งบริโภคแลสัมผัศฉนี้

ก็ความสอาด ในคฤหสถาน ในเครื่องภาชนะใช้สอย ในสิ่งซึ่งบริโภคแลสัมผัศ ๓ ประการ ดังได้พรรณามาแล้วแต่ต้นจนอวะสานจบลง ก็เนื่องอยู่ในคฤหนิติทั้งสิ้น เปนสิ่งซึ่งสมควรกันบ้านเรือนที่จะต้องประพฤติได้ โดยที่ไม่ขัดขวางแลจำใจประพฤติเลยทีเดียว เพราะฉนั้นจึงได้เรียบเรียงย่อ ๆ พอเปนทางดำริห์ไว้ หวังจะให้เปนคุณประโยชน์กับแม่หนูดรุณีโดยสาธาระณะทั่วไป สมควรที่แม่หนูดรุณีทั้งหลายจะได้พบได้อ่านคฤหนิตินี้แล้วก็คงไม่เปล่าประโยชน์เปนแน่

จนลักษณความสอาดชี้ สามสถาน
ประกอบคุณไพศาล ประเสริษฐ แล้
เสนอเปยะวัชชะขาน ควรดื่ม
สำหรับดรุณเรศร์แท้ ถ่องถ้อยทางแถลง

อ.พ.ศ.

จ่ายตลาด

(บั้นต้น)

“พิศพรรณปลาว่ายเคล้า คลึงกัน
ถวิลสุดาดวงจันทร์ แจ่มหน้า
มัศยาย่อมพัวพัน พิศสวาสดิ์
ควรพี่พรากน้องข้า ชวดเคล้าคลึงชม”
“พิศพรรณปลาว่ายเคล้า คิดถึงเจ้าเสร้าอารมณ์
มัศยารังรู้ชม สมสาใจไม่พามา
นวลจันทร์เปนนวลจริง เจ้างามพริ้งยิ่งนวลปลา
คางเบือนเบือนหน้ามา ไม่งามเท่าเจ้าเบือนชาย
เพียนทองงามดังทอง ไม่เหมือนน้องห่มตาดพราย
กระแหแหห่างชาย ดังสายสวาติ์คลาศจากสม
แก้มช้ำช้ำใครต้อง อันแก้มน้องช้ำเพราะชม
ปลาทุกทุกข์อกตรม เหมือนทุกข์พี่ที่จากนาง
น้ำเงินคือเงินยวง ขาวพรายช่วงสีสำอาง
ไม่เทียบเปรียบโฉมนาง งามเรื่องเรื้อเนื้อสองสี
ปลากรายว่ายเคียงคู่ เคล้ากันอยู่ดูงามดี
แต่นางห่างเหินพี่ เห็นปลาเคล้าเศร้าใจจร
หางไก่ว่ายแหวกว่าย หางไก่คล้ายไม่มีหงอน
คิดอนงค์องค์เอวอร ผมประบ่าอ่าเอี่ยมไร
ปลาสร้อยคอยล่องชล ว่ายเวียนวนปนกันไป
เหมือนสร้อยทรงทรามวัย ไม่เห็นเจ้าเสร้าบ่วาย
เนื้ออ่อนอ่อนแต่ชื่อ เนื้อน้องฤๅอ่อนทั้งกาย
ใครต้องข้องจิตรชาย ไม่วายนึกตรึกตรึงทรวง
ปลาเสือเหลือที่ตา เลื่อมแหลมกว่าปลาทั้งปวง
เหมือนตาสุดาดวง ดูแหลมล้ำขำเพราะคม
แมลงภู่คู่เคียงว่าย เห็นคล้ายคล้ายน่าเชยชม
คิดความยามเมื่อสม สนิดเคล้าเจ้าเอวบาง
หวีเกษเพทชื่อปลา คิดสุดาอ่าองค์นาง
หวีเกล้าเจ้าสะสาง เส้นเกษสลวยรวยกลิ่นหอม
ชะแวงแฝงฝั่งแนบ ชะวาดแอบแบบปนปลอม
เหมือนพี่แนบแอบถนอม จอมสวาดิ์นาฏบังอร
พิศดูหมู่มัจฉา ว่ายแหวกมาในสาคร
คนึงนุชสุดสายสมร มาด้วยพี่จะดีใจ

พระนิพนธ์เห่เรือ

“ชมมัจฉาปลาว่ายในสายชะเล กระโห้เหราหันตามกันจร
สากยี่สนนนทรีโคกกระโส อุบปลาโอหางกิ่วลิวกิวสลอน
เสลียบสละคละเคล้ากุเราจร เลียวเซียวซ้อนแซกพะยุนหนุนนุนนัน
หมู่ปักเป้าเคล้าปลาจวดอวดออดแอด ละแมะแหวกผมงามพรมพรามหัน
หาหูช้างข้างลายว่ายกีดกัน หมูสีตันด้นดำหาขานกยาง
ฝูงปลางัว กลัวปลาม้าพาปลาไผ่ สีเสียดไล่ตะครองโลดกระโดดผาง
ฉนากฉลามตามพิมทองร้องครึมคราง กระเบนกระบางกระเบียดกระบอกวิ่งออกกราว
ฝูงปลาทูหมู่ปลาลังทั้งปลาแป้น ปลาโขบแล่นโลดชะลาเสียงฉ่าฉาว
ทุกังกงขมงโกรยตะกรับกราว ดุกดาบลาวแบ้บู่กรูเกรียวไป
หาแมวหมอรอพิมพาตะเพียนเพื่อน ตะพงเบือนเข้าหุบหินถิ่นอาไศรย
ฝูงราหูหมู่โลมาพาเสือไป พบวานใหญ่ไพล่ตัวกลัวจะกิน
จาเลม็ดหมึกชะมดหมดทั้งนั้น ข้าคละกันกับมัจฉาพวกปลาหิน
ตุ๊กแกปนที่บนเกาะเราะริมดิน นกแก้วกินกับแขกเต้าเคล้าการัง
เหล่าลั่นถันพันขี้นกกระต่ายขูด เที่ยวว่ายวูดวนปลาเขียนเวียนอยู่หลัง
ตำแหน่งเกิดกันละปังหาปะการัง ฝูงปลาทั้งปวงปนสับสนกัน
เห็นกริวกราวเต่ากระมาปะพบ พากันหลบหลีกหนีไม่มีขวัญ
ดูหลายหลากมากด้วยปลาสารพรรณ แต่ต้นกันละปังหาในวาริน
ไม่มีใบไร้ดอกไม่ออกผล เปนแต่ต้นงามงอกแซกซอกหิน
ไม่ยื่นรากฝากฝั่งหยั่งลงดิน ดูเหมือนนินน้ำมะญีมีสีดำ
เรียกว่าโล้งสลัดใดสามสิบสน ตั้งแตกต้นในสินธูดูขันขำ
เรียกรากหินเห็นมีสีขาวดำ เก็บกอบทำไม้กวาดสอาดดี
เหล่าการังตั้งก้อนซ้อนเปนชั้น เกิดรายกันเกลื่อนกล่นชลวิถี
เปนดวงดอกงอกแง่แลดูดี ที่ไหนมีมากหนาปูปลาชุม
เรียกการังใบบัวเขางัวกวาง มีต่างๆ ซับซ้อนเปนก้อนสุม
ที่พื้นใต้หอยปูอยู่ชุมนุม เข้าเกาะกุมก้อนการังกำบังกาย
ปูแสมปูหินหณุมาน ทองหลางคลานหากินเข้าหินหาย
ปูลมเบี้ยวเที่ยวกลาดตามหาดทราย ปูม้าไต่ตามหมู่ปูทะเล
พวกปูไบ่ปูไก่อาไศรยหาด เห็นเกลื่อนกลาดกราวเกรียวเที่ยวระเห
ขุดเรือนรูอยู่สบายชายชะเล เข้าสุมเสวกาหมู่อยู่ด้วยกัน
เพ่งพิศดูหมู่หอยตามหาดหิน เรียกหอยนิ่มตางัวตัวขันๆ
หอยแครงครางนางเก็บกะพงพัน แมงภู่นั้นจับหลักที่ปักดิน
หอยกระปุกมุขสังข์จุ๊บแจงจอบ นางรุมชอบเกิดเปนหมู่อยู่กับหิน
ปากเปดพิมปะการังฝังปักดิน หอยกาบกินอยู่หมู่กาบพิราบคลาน
หอยเสียบทรายเม่นมือเสือหลอดนมสาว หอยโข่งขาวเข้าระคนปนหอยหวาน
นางนินำหอยปลอกเที่ยวออกคลาน นัดทีธารฝั่งหาดอนาดตา
นับไม่ถ้วนล้วนกระดองกระดูกสัตว์ สาระพัดหอยปูหมู่มัจฉา
ไม่เที่ยงจริงอนิจจังสังขารา เกิดกายมาเที่ยวท่องแล้วต้องตาย”

นิราศบ้านแหลม

ในการครัวทำกับเข้าของกินนี้ที่เปนสิ่งสำคัญก็การไปตลาดซื้อสิ่งของที่จะมาทำเครื่องคาวหวานนั้น ผู้ไปซื้อสิ่งของควรต้องเปนผู้ที่ชำนาญรู้เทศะรู้กาล รู้ฤดูรู้วัดถุฉนิดของดีแลเลวทราม ที่จะได้สิ่งที่เปนอาหาร มาประกอบสำรับให้เปนที่โอชารศ เมื่อชำนาญในการรู้ถิ่นที่อาหารแล้ว ก็จะได้ของดีราคาย่อมเยาเบาลงด้วย วัดถุที่เปนอาหารในเวลาปัตยุบันนี้ เปนที่บ่นอยู่ด้วยกันแทบทุกครอบครัวว่า อาหารแพงเต็มทียิ่งกว่าก่อนเก่าหลายเท่าหลายทะวี เพราะสินค้าที่เปนเครื่องปรุงอาหารการกินนี้ ในท้องตลาดจำหน่ายซื้อขายกันโดยความอิศรชอบใจของผู้ขายอย่างเดียว ในบางประเทศที่มีพลเมืองมาก อาหารการกินเปนสิ่งสำคัญ อำเภอกำนันคอยเปนธุระกำหนดพิกัดราคาเปลี่ยนแปลงสินค้าที่เปนอาหารตามฤดูกาล เพื่อป้องกันคนจน ที่จะซื้อจ่ายใช้สรอยเปนอันรู้ราคาได้ ราคาไม่ผิดเพี้ยนกันตามท้องตลาดต่างๆ เพราะมีกำหนดราคาจำนวนสิ่งของ ที่ทำครัวเปนอาหาร แต่ในท้องตลาดของเรา ของที่ขายชนิดเดียวกัน ก็มีราคาผิดเพี้ยนไปได้ตามท้องตลาดต่างๆ แล้วแต่ผู้ขายจะหากำไรได้เพียงไรก็โก่งราคาขึ้นไป เพราะว่าความต้องการมากขึ้น สิ่งที่มีจะจำหน่ายไม่เพิ่มพูลยิ่งขึ้นกว่าความวัฒนะของพลเมือง อาหารจึงได้แพงราคาจึงผิดต่าง ๆ กันในท้องตลาด เพราะฉนั้นผู้ที่ไปจ่ายตลาด ต้องเปนคนสำคัญของพ่อบ้านแม่เรือน ด้วยแม่เรือนจะสั่งให้ซื้อของตามที่ต้องการ ก็ปราถนาจะได้ของที่สดที่ดี ผู้จ่ายตลาดถ้าไม่รู้ถิ่นที่ชำนาญแล้ว บางทีก็จะไปซื้อของไม่ดีราคาก็ยิ่งแพงแลไม่ได้ตามที่แม่เรือนต้องการ เพราะฉนั้นจึงได้รวบรวมเสบียงอาหารตามความสังเกตุที่ได้ซื้อใช้อยู่ทั้งอาหารสดและเสบียงกรังดัง ปลา. เนื้อ. สัตว์เลี้ยง. ของเถื่อน. ผัก. ผลไม้ เครื่องปรุงอาหาร ธัญญชาติเปนต้นตามลำดับดังต่อไปนี้ เปนสิ่งอันมีอยู่ตามท้องตลาดในกรุงเทพฯ ที่สำคัญคือตลาดท้องน้ำกับตลาดสำเพ็ง มีเนื้อปลาของสดแห้งของคาวหวาน แลผักผลไม้หาได้ที่ดีแปลกปลาด เปนต่อวายฤๅปรกติตามฤดูกาล แลสรรพเครื่องอาหารข้างจีนด้วยสำเพ็งนี้แบ่งตลาดเปนส่วนๆ ไป เปนต้นว่าตอนบนเชิงสพานหันผลไม้ หมู ผัก ฯลฯ แลตลาดเจ๊สัวเนียม ฤๅตลาดพระยาไพบูลย์ก็เรียก /*153ตลาดกรมภูธเรศท้องสำเพ็ง วัดเกาะ ตลาดน้อย ตลาดเหล่านี้มีทั้งปลา เป็ด ไก่ สุกร ของสดเค็ม เปนต้น ตลาดท้องน้ำมีของแห้งเสบียงกรังโดยมากกว่าของสด ต่อไปตลาดบางรักมีผักฝรั่ง เนื้อโค เนื้อแกะเกม เปนต้น ส่วนตลาดในพระนครนั้น ตลาดท่าเตียนมีทั้งบกแลน้ำ ซึ่งแต่ก่อนมีตลาดท้ายสนม ครั้นร่วงโรยไปก็มารวมอยู่ด้วยกัน แต่เดี๋ยวนี้ได้ยินว่าเรียกตลาดวัง มีผักผลไม้ของสวนของสดแลขนมเปนอันมาก ออกซื้อขายแต่เวลาดึกพอสายก็เลิก แลตลาดยอด ตลาดเสาชิงช้า ตลาดบ้านหม้อ ตลาดสามเสน ตลาดนางเลิ้ง ตลาดหัวลำโพง ตลาดบ้านทวาย ตลาดสมเด็จ ตลาดพลู ตลาดบ้านขมิ้น ตลาดคลองมอญเปนตลาดเรือ ขายผักลูกไม้ของสวนในเวลาบ่าย ยังตลาดเล็กๆ ก็อิกมากแห่ง ตลาดเหล่านี้ ผู้ไปจ่ายของอาดที่จะเลือกซื้อหาสิ่งของตามที่ต้องการ ทั้งของสดแลของแห้ง อันมีอยู่ในท้องตลาดนั้นๆ จึงได้จัดระเบียบอาหารไว้ดังนี้

๑—มัจฉาหาร—๓๖๑

ในการที่จะซื้อปลานั้น ควรจะระฦกสังเกตุไว้ว่าเวลาดีที่สุดก็ปลาน้ำใหม่ แลที่มีโดยตามฤดูกาล ซึ่งเปนเวลาที่ราคาถูก ปลาน่าตกฟองมีไข่ในท้องนั้นมักจะฝ่ายผอม เนื้อก็จืดไม่ค่อยจะมีมัน เพราะฉนั้นจึงได้ประมวนปลาไว้เปน ๒ ประเภท มีลำดับดังต่อไปนี้

ปลาน้ำจืดที่มีในท้องตลาด คือ ปลาช่อน ปลาดุก ปลาหมอ ปลาสลิด แลปลาเสงเครง เปนพื้นอยู่ในท้องตลาด ปลาเหล่านี้ฤดูดีเวลาน้ำลดไปจนเดือนสี่เดือนห้า ต่อไปก็เปนปลาจะตั้งไข่เสียแล้ว ปลาเหล่านี้ซื้อกันโดยปรกติในท้องตลาดจีนขายแล้วใช้ตาชั่ง ถ้าปลาแขกไม่ได้ใช้ตาชั่งว่าเปนตัวเปนกอง ราคาแล้วแต่จะต่อตกลงกัน

(๑) ปลาช่อนตัวโตๆ งามๆ เปนปลา ๒ น้ำ ราคาถึง ๒ สลึง ๓ สลึง มีตลอดปี

(๒) ปลาชะโด ปลาแมงภู่ มีปะปนมาบ้างบางวัน ราคาย่อมเยากว่าปลาช่อน มักจะทำเปนปลาแห้งเสียมาก

(๓) ปลาดุกอุย ตัวงามราคาถึงสลึงหนึ่งก็มี สลึงสองไพก็มี แต่ปลาดุกด้านราคาถูกลง

(๔) ปลาสลิตตัวงามราคา ๒ ตัว ๓ ตัวเฟื้อง ตัวย่อมก็ ๕ ตัว ๖ ตัวเฟื้อง มีชุมในเวลาน้ำลดแลเวลาวิดน้ำบ่อ

(๕) ปลากระดี่มีเวลาน้ำลด แลวิดบ่อซื้อขายกันเปนกองๆ ละเฟื้อง ประมาณอยู่ใน ๑๐๐ ละเฟื้องถึง ๑๐ อัฐ นอกจากรับประทานสดก็ทำเปนปลาใบไม้แลปลาร้าใช้ข้ามฤดู

(๖) ปลาหมอมีตลอดปี อย่างดีที่เรียกว่าปลาน้ำใหม่ตัวงามราคาตัวละไพถึง ๒ ไพ ตัวย่อมก็อยู่ใน ๖ ตัว ๔ ตัวเฟื้อง และตัวเล็กเรียกว่าปลาหมอเกราะราคาถูก ซื้อเปนปลาปล่อยเสียมาก มีตลอดปี ยังมีปลาหมอช้างเหยียบอิกอย่างหนึ่ง มีมาเปนคราวๆ ตัวงามตัวย่อมราคาก็อย่างเดียวกับปลาหมอ

(๗) ปลาเทโพ เปนปลาเลี้ยงเสียมาก อาจหาได้ตามบ่อบ้านญวนสามเสน แลขังกะชังลงมาแต่บนก็มี ซื้อขายกันปลาน้ำหนึ่ง ๖ สลึงถึง ๘ สลึง ปลาสองน้ำ ๑๐ สลึง ๓ บาท แต่ปลาเถื่อนมีน้อย มักจะได้ด้วยตกตามฤดูน้ำลด ปลาเทโพนี้เปนปลาเอกอยู่ในลำน้ำเจ้าพระยา ใช้ในสำรับชั้นสูง จึงมีราคาอยู่เสมอ ในเวลาน่าน้ำมีลูกปลาเทโพบ้าง เรือแห เรือช้อนที่ทอดตักได้ขายกันราคาตัวละ ๒ อัฐ ๔ อัฐ

(๘) ปลาสวายกล้วย เปนที่ ๒ ปลาเทโพ มีเปนฤดูน้ำลดชุม เปนปลาเบ็ดปลาช้อนซื้อขายกันตัวใหญ่งาม ๖ สลึง ๘ สลึง เวลาแพงถึง ๑๐ สลึง ๓ บาท ปลาขนาดกลางอยู่ใน ๒ สลึงถึงบาท ขนาดย่อมตัวละสลึง สลึงเฟื้อง

(๙) ปลาสวายเหลืองเปนปลาเถื่อน มีบางคราว ตัวมักจะโต แต่ราคาซื้อขายถูกกว่าปลาสวายกล้วย ด้วยเนื้อเหลืองมีสาบ ถ้าเปนเวลาชุมก็ใช้ทำปลาเจ่า ปลาเค็ม

(๑๐) ปลาเค้า มีเปนฤดูน้ำลด ตัวใหญ่ราคา ๓ สลึง บาทหนึ่ง ตัวกลางสลึงเฟื้อง ๒ สลึง ตัวย่อมก็เฟื้องสลึง เวลาชุมมักทำปลาเจ่าปลาเค็มเหมือนกัน

(๑๑) ปลาน้ำเงิน, เนื้ออ่อน, เบี้ยว, แดง, หางไก่, เหล่านี้มีชุมในฤดูน้ำลด ซื้อขายกันราคาขนาดเล็กโต ๔ ตัว จน ๒ ตัวเฟื้อง ขณะชุมใช้ทำปลาย่างปลากรอบเสียมาก

(๑๒) ปลาคางเบือนมีเปนฤดู ถ้าน้ำลดชุม ราคาซื้อขายกันอย่างปลาเนื้ออ่อน แลมักใช้ทำปลาเจ่าปลาเค็ม

(๑๓) ปลาสังกระวาด มีชุมน่าน้ำลด นอกฤดูก็มีบ้างแต่ตัวไม่งาม ตัวงามสังกระวาดวัง ๒ ตัว ๓ ตัวเฟื้อง ตัวย่อมขายเปนปลากองไป ๔-๕ ตัวเฟื้อง

(๑๔) ปลากราย ชุมน้ำลดราคาซื้อขายตัวโต ๖ สลึง ๘ สลึง ตัวย่อมเรียกว่าหางแพน แล้วแต่ขนาด ราคาแต่ ๒ ไพถึงสลึงหนึ่ง เดี๋ยวนี้มักจะมีตลอดปี เพราะบางตลาดขังไว้ขาย ปลากรายนี้เวลาชุมเชิงทาเกลือตัดเปนชิ้น ขายได้ราคา แลสันขายต่างหาก มาใช้เปนลูกชิ้นแกง สันใหญ่อยู่ในสลึง ๒ สลึง สันย่อมเฟื้องสลึง เชิงชิ้นหนึ่งตั้งแต่เฟื้องถึงสลึงเปนปลางาม ถ้าย่อมขนาดปลาหางแพนราคาก็น้อยลงไป ชิ้นหนึ่งราคา ๒ อัฐถึงเฟื้อง

(๑๕) ปลาสลาด มีฤดูน้ำลดที่ในกรุงเทพฯ นี้ ตัวย่อมไม่ค่อยจะมีโต ราคาตัวใหญ่ ๒ ตัว ๓ ตัวเฟื้อง ย่อมก็ ๔ ตัว ๕ ตัวเฟื้อง ข้างเหนือมีตัวใหญ่มักใช้ย่างรมควันไฟ ขายเปนปลาย่าง ราคาตัวละอัฐถึง ๓ อัฐ

(๑๖) ปลาตะเพียน มี ๒ ชนิด ที่ขาวเรียกว่าเงิน ที่เหลืองเรียกว่าทอง มักชุมในฤดูน้ำลด ขายราคาคล้ายอย่างปลาหมอ แต่ปลาตะเพียนในฤดูมักใช้ผ่าหลังทาเกลือเปนปลาเค็มเสียมาก ครั้งแผ่นดินขุนหลวงท้ายสระ ฤๅขุนหลวงทรงปลาก็เรียก โปรดเสวยปลาตะเพียน ถึงมีพระราชกำหนดห้ามไม่ให้คนอื่นกิน ตั้งเบี้ยปรับตัวละ ๕ ตำลึง ซึ่งมีในพระราชกำหนดเก่าโน้น ซื้อขายกันก็ตัวละเฟื้อง ถึง ๑๐ อัฐ สลึง ตามตัวเล็กตัวใหญ่

(๑๗) ปลากด ตัวที่เหลืองเรียกโชงโลง ซื้อขายกันราคาตามตัวเล็กตัวใหญ่ เฟื้อง, สลึงมักใช้แกงส้ม

(๑๘) ปลาอ้ายแก้ว มีเปนครั้งเปนคราว ตัวเขื่อง ซื้อขายกันตัวหนึ่งสลึง สลึงเฟื้อง เปนปลาแปลกไม่ชุม สามัญมักใช้ทำห่อหมกแลแกงส้ม

(๑๙) ปลาดุกทะเล มีทั้งน้ำจืดน้ำเค็ม แต่น่าน้ำเค็มนั้นชุม ตัวใหญ่ถึง ๓ สลึงบาท ตัวย่อมก็ถูกลงมา มักใช้ทำห่อหมกแลแกงส้ม

(๒๐) ปลากระโห้ มีเปนฤดู ชุมในเดือนสาม ซื้อขายราคาตัวหนึ่งถึง ๓ บาท ๔ บาท แต่มักจะตัดขายเปนชิ้นเพราะตัวใหญ่ ส่วนเพดานควักออกทาเกลือตากแดดขายต่างหาก เพราะเปนส่วนพิเศษ เพดานหนึ่งก็ถึงสลึง ๒ สลึง ปรากฎมาในพงษาวดารเปนคู่กันกับตับปลาหมอแลปลาตะเพียนที่พระเจ้าแผ่นดินโปรดเสวย

(๒๑) ปลาไหล มีตลอดปี ตัวเขื่อง สลึง สลึงเฟื้อง ตัวกลางเฟื้อง ๒ ไพสลึง ตัวย่อมเฟื้องหนึ่ง มักจะชอบใช้ตัวกลางตัวย่อม ด้วยกระดูกอ่อนเนื้อแน่น ตัวใหญ่ เนื้อฟ่ามแลกระดูกแขงด้วย

(๒๒) ปลากระแห ปลาซิว ปลาอุบ ปลาเพี้ย ปลากา ปลาแขยง ปลาบู่ ปลาซิว ปลาสร้อย ปลากระทิง ปลาเขือ ปลาจวด ฯลฯ ปลาเหล่านี้ เปนปลาเสงเครง เรียกว่ากุ้งเล็กปลาน้อย เลือกซื้อตามชนิดปลาฤๅเปนปลากองคละกัน ซื้อขายโดยมากกองหนึ่งตั้งแต่ไพหนึ่งถึงสลึง

ส่วนปลาน้ำเค็มนั้นมีมากมายหลายชนิด จะว่าไว้แต่ที่มีในท้องตลาดอันเปนพื้นฤๅมีเปนคราว คือ

(๒๓) ปลาตะพง มี ๓ ชนิด ตะพงใหญ่ ๑ ตะพงแสม ๑ ตะพงแดง ๑ ปลาตะพงนี้เปนปลาที่เนอดีอยู่ในปลาทะเล มีบางวันแต่ตลอดปีตัวใหญ่ถึง ๙ บาท ๑๐ บาท เดี๋ยวนี้ใช้ตัดเปนชิ้นขายเสียโดยมาก ตัวกลางตัวย่อมราคาก็ถูกลงมาเพียง ๑๐ สลึงถึง ๔ บาท ปลาตะพงแสมตัวใหญ่สลึง เฟื้อง ๒ สลึง ตัวเล็กเฟื้องถึงเฟื้อง ๒ ไพ ตะพงแดงราคาก็คล้ายกับตะพงแสม ปลาตะพงนี้ใช้ได้ในกับเข้าหลายอย่าง จึงเปนที่ต้องการชอบกินกันมาก แลผ่าหลังทาเกลือทำเปนปลาเค็มทั้งตัว แลตัดขายเปนชิ้น ชิ้นละเฟื้องสลึงก็มี

(๒๔) ปลากุเราตัวใหญ่ ๓ สลึงถึงบาท ตัวกลางสลึงเฟื้อง ๒ สลึง ตัวย่อมก็เฟื้องฤๅเฟื้อง ๒ ไพ แลปลากุเรานี้มักจะทำเปนเค็มเสียมาก เพราะว่ารศดีขึ้นกว่าเมื่อสด ขายได้ราคาไม่ผิดกับปลาสดนัก ปลากุเราเค็มนั้นมีเปน ๒ อย่าง ปลาคลองกระดูกยื่นเนื้อเปนกล้ามอย่าง ๑ มีน้อย ปลารังอย่าง ๑ เนื้อซุยนั้นมีมาก เปนของใช้ในสำรับชั้นสูงด้วย

(๒๕) ปลาอินทรีย์สดมีมาบางวัน ตัวใหญ่ราคาถึงบาท ตัวย่อมก็เฟื้องสลึง แต่มักทำเปนปลาเค็มมาก ราคาไม่ผิดกับสดนักตามขนาด

(๒๖) ปลาสีเสียดมีมาเปนบางวัน ตัวใหญ่ราคา ๒ สลึง ๓ สลึง ตัวย่อมตั้งแต่ ๒ ไพถึงสลึง ปลาสีเสียดนี้ใช้ทำเปนปลาเค็มเสียมาก เพราะราคาไม่ผิดกับปลาสดนัก

(๒๗) ปลาทุกัง มีสดมาเปนคราวๆ ตัวหนึ่งสลึงถึง ๒ สลึงแต่เปนปลาเค็มเสียมาก ราคาก็ไม่ต่ำกว่าปลาสดนัก แลใช้กันมาก

(๒๘) ปลาฉลามขนาดย่อมพวกจีนรับประทาน ตัวที่เติบถึง ๓ บาท ๔ บาท แลตัดเปนชิ้นขายด้วย ปลาฉลามนี้ในสำรับไทยไม่ค่อยใช้ เพราะไปนิยมหูปลาเสียมากกว่าเนื้อกระมัง

(๒๙) ปลากระเบนนี้มีบางวัน แต่ตลอดปีที่ตัวโตราคาถึง ๔ บาท ๕ บาท แลตัดขายเปนชิ้น มักจะชอบใช้ย่างให้น้ำตก เพราะว่าคาวจัดมาก แต่ปลากระเบนนี้เฉภาะมีมันแต่ที่ตับๆ หนึ่งถึงเฟื้องสลึงใช้ต้มกับน้ำปลาดี ฤๅน้ำเคยตก ว่าเปนยารักษาโรคผอมเหลืองได้ เช่นน้ำมันตับปลาขอดฝรั่ง

(๓๐) ปลายี่สนนี้มี ๒ ฉะนิด ดำอย่างหนึ่ง ขาวอย่างหนึ่ง ตระกูลเดียวกันกับปลากระเบน แต่ใช้เปนเค็มทำแผ่นทาเกลือเสียมากกว่ารับประทานสด ปลายี่สนฉะนิดดำนั้นรศดีมีราคากว่าฉะนิดขาว ชิ้นหนึ่ง ๖ อัฐถึงเฟื้อง

(๓๑) ปลาดาบลาว มีเสมอตลอดปี ใช้ทำหู้แซแทนปลาอีปุด แลใช้รีดทำเปนลูกชิ้นเสียโดยมาก ที่ทำเปนปลาเค็มก็มีราคาตัวหนึ่งเฟื้องสลึง

(๓๒) ปลาจาละเม็ดนี้มี ๒ ฉะนิด จาละเม็ดดำอย่างหนึ่ง จาละเม็ดขาวอย่างหนึ่ง จาละเม็ดดำนั้นตัวมักจะโต จาละเม็ดขาวตัวมักจะย่อม แต่รับประทานดีกว่าจาละเม็ดดำ ตัวใหญ่เฟื้องฤๅ ๑๐ อัฐ ตัวย่อมไพหนึ่งถึง ๖ อัฐ ปลาจาละเม็ดนี้ใช้นึ่งเสียมากกว่ารับประทานสด เพราะราคาก็คล้ายคลึงกัน

(๓๓) ปลาหมอทะเล เปนปลาตัวใหญ่ บางวันมีเข้ามาตัดขายเปนชิ้นๆ ละเฟื้อง-สลึง และชำแหละหลังทาเกลือตากแห้งก็มี ราคาตัวหนึ่ง ๔-๕ บาท

(๓๔) ปลากระบอก มีบางวันแต่ตลอดปี ตัวเขื่อง ๒ ตัว ๓ ตัวเฟื้อง ตัวย่อมก็ ๔ ตัว ๕ ตัวเฟื้อง แลใช้เปนปลานึ่งปลาเค็มเสียมาก ราคาไม่ผิดกันกับสดนัก เดี๋ยวนี้มีปลาตวันตกตัวโตเข้ามาขายตามคราวเรือเมล์ด้วยตัวละเฟื้องถึง ๒ สลึงก็มี

(๓๕) ปลาหมึกนี้แปลกกว่าปลาธรรมดา แต่สมเคราะห์เข้าในปลาโดยนามมี ๓ ชนิด เรียกว่า หมึกใหญ่ หมึกหยวก หมึกสาย มีบางวันแต่ตลอดปี เปนขนาดชนิดใหญ่แลชนิดเล็ก ขนาดชนิดใหญ่ ๔ ตัว ๕ ตัวเฟื้อง ขนาดชนิดเล็ก ๙ ตัว ๑๐ ตัวเฟื้อง แลใช้เปนเค็มเสียมาก ตัวใหญ่ๆ ที่มีขายในท้องตลาด ราคาก็คล้ายคลึงกับสดแลกองขายก็มี แต่ปลาหมึกตัวโตที่ขายในท้องสำเพ็งนั้น เปนปลามาแต่เมืองจีน ตัวละสลึงก็มี ที่ย่อมก็ลดลงมา ปลาหมึกเค็มนี้ใช้มากในเครื่องเข้าต้ม, แกง, เกาเหลา, ที่สุดฉีกฝอยเปนเครื่องแกล้มน้ำชาอิกทีหนึ่งก็ใช้

(๓๒) ปลาม้าปลาหางกิ่ว พรรณเดียวกันมีเปนบางวันตลอดปี ตัวโตซื้อขายกันราคาแพงเปนที่ ๒ ปลาตะพง ถึง ๓ บาท ๔ บาท ตัวย่อม ๖ สลึง ๘ สลึง

(๓๗) ปลาโลมานี้เมื่อว่าตามสังขารประชุมแต่งไม่ใช่ชนิดปลาเปนชนิดสัตว์มากกว่าปลา ด้วยเปนสัตว์เลือดร้อนไม่มีเหงือก ต้องหายใจทางจมูกบนอากาศ เปนประเภทเดียวกับปลาวาฬ เนื้อก็เปนเนื้อสัตว์มากกว่าเนื้อปลา หนังก็หนา ไม่มีขายในท้องตลาด เพราะถือกันว่าเข้าโป๊ะแล้วมักจะเปนโชคร้ายไล่ปล่อยไปเสียมาก แต่พวกปะโมงชาวแม่กลองบางแห่งไม่ถือตามลัดธินี้ แม้พลัดเข้าโป๊ะก็จับเอามา แจกกันรับประทานอย่างเนื้อสัตว์ หนังนั้นย่างควันไฟให้แห้ง ใช้แกงขั้วส้มแทนเชิงสะพาบน้ำ เปนของกำนัลให้ปันกันยิ่งกว่าซื้อขาย

(๓๘) ปลาทูนี้เปนปลาที่นับว่าเปนทรัพย์อันหนึ่งของชาติในอ่าวสยาม มีเปนฤดูตั้งแต่เดือน ๗ ถึงเดือน ๑๒ เปนปลางาม ปลาทูนี้เปนปลาที่ว่ายทวนลม ว่ากันว่าเปนปลาที่กินลม แต่ที่จริงคงจะกินไคลน้ำแลเปือกตม เพราะที่อ่าวเปนโคลนแล้วตัวมักจะเขื่อง ฤๅจะเปนปลายฤดูก็ว่าได้ ฝูงหนึ่งนับได้หมื่นแสน จับกันเปนฤดูตั้งแต่หลังสวน, ชุมพร แลเรื่อยขึ้นมาถึงกุยปราน บ้านแหลม แม่กลองปากน้ำเจ้าพระยา บางปะกง อ่างศิลา บางปลาสร้อย ตลอดถึงมณฑลจันทบุรีย์ ก็เปลี่ยนมรสุมว่ายทวนลมข้ามอ่าวไปตวันตกอิก ปลาทูนี้เนื้อดีรศมีโอชะปลาด มันในฤดูเดือน ๑๑ เดือน ๑๒ เปนสิ่งที่ใช้ได้ตลอดตั้งแต่สามัญจนชั้นสูง ทำกับเข้าใช้ได้หลายวิธีทั้งต้มแกงของจานเต็มได้ทั้งสำรับ แลทำเค็มน้ำเจ่าย่างชำแบก็ได้ แต่ในท้องตลาดมีนึ่งแลเค็มเสียมาก ที่สดมีบางวัน ราคาซื้อขายกันเดี๋ยวนี้เข่งละเฟื้องถึงสลึง ที่เปนตัวงามตัวละไพ ที่ย่อมลงมาก็อัฐหนึ่ง ที่เล็กก็โสฬศหนึ่ง ฤๅเปนกองละเฟื้อง ไม่แต่เท่านี้ ปลาทูได้เปนสินค้าบันทุกไปขายต่างประเทศด้วย แต่ก่อนเคยบันทุกลำสำเภาแลกำปั่นใบเปนปลาทูเค็มปลาทูน้ำ ไปจำหน่ายตามประเทศที่ใกล้เคียง มีเกาะชาวาเปนต้น แต่ว่ากันว่าขายเกลือยิ่งกว่าปลาทู เพราะเกลือที่ในประเทศนั้นเปน “โมโนโปลี” จำเภาะขายได้แต่เจ้าภาษีแห่งเดียว

(๓๙) ปลาสีกุนขมงโกรย จวดโคก ฯลฯ ปลาเล่านี้ก็นึ่งขายมากกว่าสด แต่ปลาโคกตวันตกมีเมืองนครศรีธรรมราชเปนต้น ทำเปนเค็ม นับถือกันว่าดี เปนของกำนันของฝากเสียมากกว่าซื้อขายในท้องตลาด

(๔๐) ปลาน้ำเค็มยังมีอิกมากชื่อ สมเคราะห์เปนปลาเสงเครงมีปลาแป้น แปบ ปุด อกแกแลลังเปนต้น แลมีชื่ออยู่ในนิราศบ้านแหลมข้างบนนี้ก็มาก ปลาเหล่านี้ทำเปนปลาเค็มเสียแทบทั้งนั้น และก็ใช้ปลาเน่าเปนปุ๋ยรดพลูแลผักจีนด้วย

๒—กุ้ง—๓๖๒

กุ้งนี้ก็มีหลายชนิดทั้งน้ำจืดแลน้ำเค็ม นับอยู่ในมัจฉาหาร คือ

(๑) กุ้งหลวงเปนกุ้งน้ำจืดมีเปนฤดู น้ำลดก็ชุมตัวกลางเรียกว่านางกุ้งขนาดรับประทาน ตัวใหญ่เรียกก้ามกรามเนื้อเหนียวไป แลตัวเล็กเรียกว่าก้ามเกลี้ยง กุ้งหลวงเดี๋ยวนี้มีไม่ค่อยจะขาดตลาดทุกฤดู เว้นแต่เปนเวลาถูกแลเวลาแพง เดี๋ยวนี้เลี้ยงแลผสมได้เสียแล้ว ตามสวนที่มีท้องร่องฤๅบ่อหานางกุ้งไปทิ้งไว้ แลให้อาหารโดยของเน่าแลเครื่องในสัตว์เปนต้น ก็เกิดมากมูลพูนเพิ่มขึ้น จะต้องการฤดูใดก็งมจับเอามาใช้ได้ แต่กุ้งที่มีตามฤดูกาลเปนกุ้งโพงพาง กุ้งแหกุ้งช้อนเหล่านี้ เวลาที่แพงกุ้งก้ามกรามตัว ๑ ถึงเฟื้องถึง ๖ อัฐ นางกุ้ง ๔ ตัว ๓ ตัวเฟื้อง ในฤดูราคาถูกขายเปนกองๆ ละเฟื้องตั้งแต่ ๑๐ ตัวถึง ๒๐ ตัวต่อเฟื้อง แลมีกุ้งเมืองซึ่งเดี๋ยวนี้บันทุกรถไฟ แลเรือเมล์กลไฟลงมาจำหน่ายในกรุงเทพฯ ซื้อขายกันเปนเข่ง เข่งเล็กก็ ๑๐ สลึง ๓ บาท เข่งใหญ่ตั้งแต่ ๑๐ บาทถึง ๓๐ บาทก็มี กุ้งเมืองนี้เปลือกมักจะแดงเพราะนานชั่วโมง รับประทานสู้กุ้งแหกุ้งโพงพางไม่ได้

(๒) กุ้งฝอยเปนกุ้งน้ำจืดชนิดเล็ก ซื้อขายกันเปนกองเปนกระทง เฟื้องหนึ่ง สลึงหนึ่ง

(๓) กุ้งตะเข็บ เปนกุ้งน้ำเค็มมีมาเปนบางวันตามฤดูน้ำเกิดเวลาเช้าฤๅกลางวัน แลใช้เปนกุ้งเค็มกุ้งแห้งกุ้งฟัดเสียโดยมาก ซื้อขายกันเปน/*173กองๆ ละเฟื้องสลึง ส่วนกุ้งแห้งกุ้งฟัดก็ซื้อขายกันเปนตาชั่ง แลกุ้งตะเข็บเดี๋ยวนี้ที่แผลงเรียกว่ากุ้งมะลายูก็เรียก อาไศรยที่เมืองสิงคโปร์แกงกุ้งตะเข็บชนิดหนึ่ง ซึ่งเรียกว่าก้าหรี่ มะลายูฝรั่งชอบรับประทาน โกรานชนสมัยใหม่จึงมาแผลงเรียกกุ้งมะลายู โดยไนยที่แกงอย่างก้าหรี่มะลายูนั้นเอง

(๔) กุ้งตะเข็บอิกชนิดหนึ่ง กำเนิดในเมืองสงขลา จำเภาะดีแต่ทำกุ้งไม้ที่แห่งใดสู้ไม่ได้ กุ้งไม้สงขลานี้มีเข้ามาขายในท้องตลาดเปนคราวๆ ตามเรือเมล์ เข้ามาถึงขายเปนมัด มัดละ ๒ สลึง ๒ สลึงเฟื้อง

(๕) กั้งอิกอย่างหนึ่ง เปนกุ้งทะเลตัวเล็กก้ามใหญ่สั้น ในอ่าวสยามมีน้อย ในทะเลทวีปยุโรปมีชุมใช้ประดับจานสำรับกับเข้าดูงามดี แต่ศัพท์กั้งที่จินตะกระวีใช้คำนี้ ในบทกลอนก็สมเคราะห์หมายความเหมือนกันกับกุ้ง

(๖) กุ้งตะเข็บฝอย มักใช้ทำเปนกระปิแกง ราคาซื้อขายก็ตวงเปนถังทนาน แล้วจึงมาขายปลีกเปนกองเปนก้อนตามตลาดอิกทีหนึ่ง

(๗) กุ้งเคย มี ๒ ชนิด เคยขาวก็เพทเดียวกันกับกุ้งตะเข็บฝอยแต่ตัวเล็กลงไป ใช้ทำเยื่อเคยกระปิเหมือนกัน ยังเคยตาดำอิกอย่างหนึ่ง มีเปนฤดูใช้ไสด้วยอวนตาถี่ ตัวนั้นกระจ้อยร่อย ตาดำโต ใช้ทำเยื่อเคยที่เรียกว่ากระปิดี ซื้อขายกันเปนถังทะนาน แลขายปลีกเปนปั้นเปนก้อนด้วย

เยื่อเคยฤๅกระปินี้ ฝั่งทะเลตวันออกมีเมืองระยองเปนต้น ตลอดไปถึงเมืองกำปอด ชายฝั่งเขมรแลญวนเปนเยื่อเคยอย่างดีกว่าเยื่อเคยฝั่งตวันตก

(๘) กุ้งทะเลอิกชนิดหนึ่ง มีในน้ำฦกอ่าวสยามนี้ นานๆ จะได้พบ เปนกุ้งชนิดอย่างกุ้งฝรั่งที่เรียกว่า “ล๊อบสะเตอร์” กุ้งตัวโตก้ามใหญ่ซึ่งทำเปนกลักเข้ามาจำหน่ายที่ในกรุงเทพฯ กุ้งทะเลใหญ่นี้ไม่มีซื้อขายกันในท้องตลาด

๓—ปู—๓๖๓

ปูนี้สมเคราะห์เข้าในมัจฉาหารมีหลายชนิด ที่ใช้เปนอาหารซื้อขายกันในท้องตลาดเปนต้นว่า

(๑) ปูทะเลมีตลอดฤดูโตบ้างเล็กบ้าง นางปูนั้นตัวกลางมีไข่มัน ซื้อขายกันตัวโตเฟื้องถึงสิบอัฐ ตัวกลาง ๓ ตัว ๔ ตัวสลึง ตัวย่อม ๔ ตัวถึง ๘ ตัวเฟื้อง

(๒) ปูแสม ปูชนิดนี้เปนอาหารของราษฎรสามัญคู่กันกับปลาทู เพราะเปนของมีมากราคาถูก แต่เดี๋ยวนี้ก็มีราคาขึ้นไปกว่าแต่ก่อนมากแล้ว ปูแสมนี้ใช้รับประทานดิบ มักใช้แช่เกลือเปนปูเค็มบันทุกถังใหญ่ ที่แช่เพียงคืนหนึ่งสองคืน เรียกปูหวาน ถ้านานวันเข้าคลุ้งไป ปูเค็มที่ซื้อขายกันเปนจำนวน ๑๐๐๐ ละสิบสลึงถึงสามบาท แต่เดี๋ยวนี้ซื้อขายกันเปนตัวเสียมาก ตัวหนึ่งถึงโสฬศ เวลาที่แพงถึงตัวละอัฐ

(๓) ปูนา มีเปนฤดูเมื่อเข้างอกจะตั้งกอ ซื้อขายกันเปนกองๆ ละเฟื้อง

(๔) ปูม้าเปนปูอยู่ทะเลแท้ มีมาเปนบางวันที่สดแลมักจะทำเปนปูดองเสียมาก ซื้อขายกันราคาถูกกว่าปูทะเล ๓ ตัว ๔ ตัวเฟื้อง

(๕) ปูป่ามีมาขายเปนบางวัน นานๆ ทีหนึ่งจะพบตามท้องตลาด ซื้อขายกัน ๔ ตัว ๕ ตัวเฟื้อง ปูป่านี้มักจะเปนของฝากของกำนัล พวกบ้านเขาชาวป่าจับมาขาย ให้ปันกันเปนของฝากมากกว่าซื้อขายกันในท้องตลาด

(๖) แมงดาเปนปูชนิดหนึ่ง ตัวละ ๖ อัฐถึงสลึงแลปูที่มีชื่ออื่น ๆ อีกหลายอย่างแต่ไม่ใช้เปนอาหาร ดังมีชื่ออยู่ในนิราศบ้านแหลมข้างบนนั้น

๔—หอย—๓๖๔

หอยนี้สมเคราะห์เข้าในมัจฉาหารเหมือนกัน มีหลายประเภททั้งน้ำจืด แลน้ำเค็ม เปนต้นว่า

(๑) หอยจุ๊บแจงมีบางวัน ซื้อขายเปนกองๆ ละเฟื้อง หอยจุ๊บแจงนี้เนื้อข้างในว่ามีงวงมีงามีประสีแแดงจนเปนที่เด็กเอามาเล่นร้องเรียกให้ออกจากเปลือกที่เด็กจำคล่องปากว่า “จุ๊บแจงเอ๋ยแม่ยายร้องเรียก ควักเข้าเปียกให้แม่ยายกิน ทอดกระฐินปัดริ้นปัดยุง นกกระทุงตายห่า ทั้งงวงทั้งงาออกมาให้สิ้น เจ้ากระถินทองเอย” คำที่เด็กขับนี้ ก็มีเนื้อความหมายว่าหอยจุ๊บแจงมีทั้งงวงแลงาด้วยกระมัง นอกนั้นจะเอาเนื้อถ้อยให้ได้กระทงความก็ยาก

(๒) หอยขมมีเปนบางวัน ขายเปนกองๆ ละเฟื้องสลึงเหมือนกัน

(๓) หอยทรายมีเปนบางวันเหมือนกัน ขายเปนกองเช่นอย่างหอยขม แลบางทีหอยทั้ง ๒ ชนิดนี้ทุบเปลือกขายแต่เนื้อเช่นนี้แล้ว ตวงถ้วยขายราคาแพงถ้วยละไพ

(๕) หอยโข่ง มีเปนฤดูน่าฝนมีขายบางวัน ๙ ตัว ๑๐ ตัวเฟื้อง แลมีหอยโข่งแห้งมาจากเมืองจีน แต่เนื้อฝาใช้ทำเครื่องเกาเหลา ซื้อขายเปนตาชั่ง

(๕) หอยแครงมีเปนบางวัน ราคาซื้อขายกันกองละไพถึงเฟื้อง

(๖) หอยแมงภู่ มีเปนฤดูตลอดไปตามเวลาชุมแลไม่ชุม ซื้อขายกันเปนกองๆ ละไพถึงเฟื้อง แลมักจะทำเปนหอยต้มตากแห้งแลดองเข้ามาจำหน่าย ซื้อขายเปนตาชั่งแลตวงถ้วยตั้งแต่ไพขึ้นไป

(๗) หอยตะพง มีเปนฤดูว่ากันว่าหอยข้างขึ้นเนื้อมาก หอยข้างแรมแล้วผอมไป ซื้อขายด้วยตาชั่งแลคะเนบ้าง ตั้งแต่อัฐหนึ่งขึ้นไปก็ได้

(๘) หอยพิมพะการัง มีมาเปนคราว ขายเปนกองๆละ ๒ ไพถึงเฟื้อง

(๙) หอยปากเป็ด มีบางวัน ซื้อขายกันเปนกองเหมือนกัน ราคากองละไพ ๒ ไพ แลทำเปนเค็มเข้ามาจำหน่ายด้วยราคาถูกกว่าสด

(๑๐) หอยอีรม เดี๋ยวนี้มีประจำตลาด เพราะต่อยก้อนหินที่หอยจับเข้ามาเราะขายที่ตลาดสำเพ็งมีทุกวัน ตวงถ้วยขายถ้วยละเฟื้องถ้วยละสลึง แต่เปนหอยชนิดเล็กทั้งนั้น หอยอิรมใหญ่มีน่านอก คือเกาะสีชังน่านอกตัวโต แลที่มาจากตวันตกโดยเรือเมล์เปนต้นเปนหอยตัวโต มักจะเปนของถวายให้ปันกันเสียมากกว่าที่ซื้อขายในท้องตลาด แลหอยอีรมชะนิดเล็กนอกจากสดทำเปนหอยดองเข้ามาขาย บันจุเปนไหย์ๆ ละ ๑๐ สลึง ๓ บาท ขายปลีกตวงขายเปนถ้วยละไพ ๒ ไพถึงเฟื้องก็มี

(๑๑) ยังหอยอื่นๆ อิกหลายชะนิดเปนต้นว่าหอยหลอดหอยเสียบ ฯลฯ เหล่านี้มักจะทำเค็มตากแห้งฤๅดองมาจำหน่าย ไม่ค่อยจะมีสดเข้ามาจำหน่ายในท้องตลาด

๕—สัตว์สถลชลจร—๓๖๕

สัตว์ที่เรียกว่าสถลชลจรชาติ เปนสัตว์อยู่กึ่งน้ำกึ่งบกมีโลหิตเย็น ซึ่งใช้เปนอาหารมีจำหน่ายในท้องตลาดเปนต้นว่า

(๑) ตะพาบน้ำ มีในท้องตลาดบางวัน ใช้ในสำรับชั้นสูงด้วย ราคาซื้อขายกันตัวขนาดรับประทานถึง ๖ สลึง ๒ บาท ที่ตัวเขื่องถึง ๓ บาท ๔ บาท แลมักชำแหละหั่นเนื้อขายเปนกองๆ ละเฟื้อง กองละสลึงก็มี

(๒) ม่านลายชนิดตะพาบน้ำ แต่ตัวใหญ่ว่ากันว่าเนื้อจืดเหนียวสู้ตะพาบน้ำไม่ได้ มีในท้องตลาด บางวันมักจะชำแหละขาย หั่นชิ้นเปนกองๆ ละเฟื้อง อย่างเนื้อตะพาบน้ำที่ทั้งตัวราคาถึง ๓ บาท ๔ บาท

(๓) เต่านี้มีหลายชะนิด เปนต้นว่าเต่านา มีเปนฤดูน่าเผาป่า ซื้อขายกันตามขนาดตั้งแต่ ๖ อัฐถึงสลึง แลเต่าหับ เต่าเหลือง เต่าใหญ่ ฯลฯ เหล่านี้มีมาเปนบางครั้งบางคราว ราคาตามต่อตกลงกันเอง

(๔) ตนุ นัยหนึ่งเรียกว่าจาละเม็ด แต่ก่อนนั้นบางวันมีมาขายในท้องตลาด ชำแหละเนื้อขายเปนกอง ตั้งแต่มีอากรรักษาเกาะขึ้นแล้ว ห้ามฆ่าเต่าตนุจาละเม็ด เพราะต้องการไข่มีภาษีเนื้อเต่าตนุจึงไม่มีในท้องตลาด มีแต่ฟองจาละเม็ดตามฤดูกาล ซื้อขายกัน ๓ ฟอง ๔ ฟองเฟื้อง เต่าตนุนี้มีคำกล่าวว่าเปนสัตว์ที่ว่ายน้ำทนนาน แลไปได้ไกลตลอดอ่าวสยามถึงหมู่เกาะมะลายูแลชะวา เมื่อถึงเวลาจะตกฟองก็ว่ายเข้ามาในอ่าวสยาม ขึ้นอาไศรย์หาดตามเกาะแลฝั่งขุดหลุมตกฟองแล้วก็ทำหลุมพรางไว้ด้วย เพื่อป้องกันผู้ที่จะหาฟองนั้น ครั้นถึงกำหนดที่จะออกจากฟองที่เหลืออยู่จากผู้ที่หาฟองไปแล้ว ก็เกิดเปนตัวจนค่อยโตมีกำลังก็คุ้ยทรายขึ้นจากหลุมลงน้ำไป เต่าตนุนี้เปนสัตว์ที่อดทนได้นาน

(๕) กระนี้ก็เทือกเต่าจาละเม็ด ตัวย่อมแต่เกล็ดลายงามมีราคาเปนสินค้า ไข่แลวิธีที่จะตกฟองก็อย่างจาละเม็ด แต่ฟองย่อมว่ากันว่ามันมากมีรศกว่าฟองจาละเม็ด กระเปนนั้นมักจะจับมาเลี้ยงแต่ย่อม เปนของกำนันให้ปันกัน เนื้อกระนั้นก็คล้ายเนื้อจาละเม็ดแต่เลอียดกว่า ไม่มีที่ซื้อขายในท้องตลาด เปนของฝากแลให้ปันกันเสียทั้งนั้น

(๖) ตะกวด ไม่มีขายในท้องตลาด เปนแต่พวกลาวจับได้ก็รับประทาน แลไข่นั้นย่างมาขายในท้องตลาดบางวันย่อมกว่าไข่เหี้ยหน่อยหนึ่ง ซื้อขายกันเช่นไข่เหี้ยฟองละเฟื้อง ๓ ฟองสลึงบ้าง ถือว่าเปนของดีใช้ในสำรับสูง แลหาได้น้อย ฟองนั้นย่างแล้วก็เปนมันไข่แดงหมดทั้งฟอง

(๗) จรเข้ตัวย่อม ๆ พวกญวนพวกเขมรชอบรับประทานเฉภาะบั้นหาง แต่ในสำรับไทยไม่ใช้ไม่รับประทาน แลว่ากันว่าเนื้อนั้นตากแห้งตำป่นเปนกุ้งแห้งป่นซื้อขายกันบางแห่งก็มี

(๘) กบ มีแต่ฤดูฝน ซื้อขายตามขนาดเล็กใหญ่ตัวละ ๓ อัฐ ๔ อัฐถึง ๖ อัฐก็มี กบนี้เปนภิงคะชาติเนื้อเลอียดยิ่งกว่าเนื้อไก่ ใช้ในสำรับชั้นสูงด้วย

/*185(๙) อึ่งยางและเขียดอิกบางชะนิด พวกลาวชอบรับประทานมักจะจับมาซื้อขายตามฤดูกาล ตัวละอัฐตัวละไพบ้าง ที่ย่างเสียบไม้มาแต่บ้านนอกก็มีในท้องตลาดบางวัน ราคาซื้อขายกันไม้หนึ่งตั้งแต่ ๒ ไพถึงเฟื้อง

๖—มังษาหาร—๓๖๖

มังษะเนื้อที่มีอยู่ในท้องตลาดแต่เดิมก็เนื้อหมูบ้านอย่างเดียว ซึ่งเปนของเลี้ยงเฉภาะรับประทาน มีพวกจีนแลพวกเข้ารีดเลี้ยงเปนต้น แบ่งชื่อเปนส่วน ๆ ไป ตามฤดูกาลก็มีของป่าของเถื่อนมาบ้าง แลเนื้อแพะ เนื้อกระบือ พวกแขกล้มลงกินแลจำหน่ายบ้าง ครั้นมาในสมัยปัตยุบันนี้ได้เพิ่มเติมเนื้อโค ลูกโค. แกะ. แลลูกแกะขึ้นอิกดังมีจำนวนแลส่วนชื่อของชะนิดมังษะต่อลงไปเปนลำดับดังนี้

๗—เนื้อหมู—๓๖๗

เนื้อหมูสุกรนี้เปนเนื้อที่ดีใช้ในทางกับเข้าหลายอย่าง เพราะเปนสัตว์ที่จีนแลพวกเข้ารีดเลี้ยงเฉภาะ สำหรับเปนอาหารมาช้านานก่อนมีภาษี ราคาซื้อขายกันถูก เมื่อมีภาษีขึ้นแล้วก็ยังราคาเพียง ๔ ชั่ง ๕ ชั่งต่อบาท เดี๋ยวนี้ราคาขึ้นไปถึง ๒ ชั่ง ๓ ชั่งต่อบาท แลบัดนี้มีหมูโคราช (นครราชสิมา) บันทุกรถไฟมาจำหน่ายในกรุงเทพฯ ด้วย แลทั้งมีหมูอารามอิกอย่างหนึ่ง ซึ่งพวกเข้ารีดจับเอาไปขุนขังเล้าปรนปรือไว้ ๔ เดือน ๕ เดือน จนอ้วนภีดีแล้วก็ฆ่าจำหน่าย แต่ตามความที่สังเกตผิดกันกับหมูตอนที่เลี้ยงในเล้า ด้วยเนื้อมากมันน้อยแลกระดูกแขง ถึงหมูโคราชรศก็ผิดกันกับหมูที่เลี้ยงในกรุงเทพฯ ด้วยมันมักออกเหลือง หมูกรุงเทพฯ มันขาวเนื้อน้อยกว่ามัน มีชื่อส่วนแบ่งออกดังต่อไปนี้:-

(๑) หัวซื้อขายกัน ราคา ๓ บาท ตัดฅอ ๑ บาท มีหางแลตีนกำกับมาด้วย

(๒) ขาน่า ราคา ๓ บาท ถึง ๔ บาท

(๓) ขาหลัง ราคา ๕ บาท ถึง ๖ บาท

(๔) ท้องเนื้อ ๓ ชั้น ๒ ชั่งครึ่งถึง ๓ ชั่ง ๑ บาท

(๕) ซี่โครง ราคาชั่งละ ๑ สลึง

(๖) เนื้อสัน มักขายควบไปกับไข่ดัน

(๗) เครื่องใน ราคา ๖ สลึง ๒ บาท

(๘) ไข่ดัน (เซ่งจี๊) ราคาพวงละสลึงเฟื้อง ๒ สลึง

(๙) ท่อนเท้า ราคา ๔ ชั่งบาท

(๑๐) ไส้ตัน (แซฮวง) ราคา ๒ สลึงถึงบาท

(๑๑) ไส้ (อันต) ราคาเฟื้องหนึ่งถึงบาท

(๑๒) ไส้อ่อน (ตือฮุ้น) ราคาสลึงถึงบาท

(๑๓) เปลว ราคา ๓ ชั่ง ๓ ชั่งครึ่งต่อบาท

(๑๔) ร่างแห ราคา ๓ ชั่ง ๓ ชั่งครึ่งต่อบาท

(๑๕) มันแขง ราคา ๓ ชั่ง ๓ ชั่งครึ่งต่อบาท

(๑๖) เลือด ซื้อได้ตั้งแต่ไพหนึ่งขึ้นไป

(๑๗) หมูหัน ราคา ๖ บาท ถึง ๒๐ บาท

(๑๘) หมูอย่าง ราคา ๒ ชั่งครึ่งต่อบาท

(๑๙) เนื้อแดง ราคา ๒ ชั่งครึ่งต่อบาท

๘—เนื้องัว—๓๖๘

เนื้องัวฤๅโคนี้เปนของเกิดใช้เปนอาหารประจำตลาดขึ้นในเมื่อได้ทำสัญญากับนานาประเทศแล้ว แต่ก่อนนั้นไม่ค่อยจะมีผู้รับประทานโดยจะถือลัทธิกันว่าเปนสัตว์พาหนะที่มีคุณฤๅเปนที่นั่งทรงของพระผู้เปนเจ้าอิศวรศิววิลาศเจ้าพระสุเมรุละกระมังผู้หญิงมักรังเกียจ แต่เนื้อโคที่เปนอาหารมีในท้องตลาด ก็ไม่ได้เปนสัตว์ที่เลี้ยงปรนปรือสำหรับเปนอาหารดังบางประเทศเลี้ยงเฉพาะเปนอาหาร เปนโคที่พวกแขกเที่ยวซื้อมาจากมณฑลกรุงเก่า ราชบุรี นครไชยศรีเปนต้น จึงสู้เนื้อโคในบางประเทศที่เลี้ยงเฉภาะเปนมังษาหารไม่ได้ แต่ก่อนนี้ซื้อขายกันก็เพียงตาชั่งปอนละ ๖ อัฐถึงเฟื้องสลึง เนื้อสันก็เพียงปอนละสลึง ตั้งแต่มีแพทย์ตรวจป้องกันโรคขึ้นแล้วเนื้อโค ราคาขึ้นถึงปอนด์ละสลึงหนึ่งสลึง ๒ ไพ เนื้อสันถึงปอนด์ละ ๓ สลึง ฝรั่งว่ากันว่าเนื้อโคที่แพทย์ตรวจนี้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน เนื้อโคที่มาใช้เปนอาหารแบ่งชื่อส่วนดังนี้ (๑ ) บั้นเอว (๒) ตะโพกบน (๓) ตะโพกล่าง (๔) โคนขา (๕) กล้ามขาหลัง (๖) ขาน่า (๗) ขาหลัง (๘) ท้อง (๙) กล้ามขาน่า (๑๐) ซี่โครงแรก (๑๑) ซี่โครงกลาง (๑๒) คอ (๑๓) คอต่อ (๑๔) หัว (๑๕) เหนียง (๑๖) เนื้อสัน (๑๗) แก้ม (๑๘) หัวใจ (๑๙) ไข่ดัน (๒๐) หาง (๒๑) ลิ้น (๒๒) เครื่องใน ตามแต่ผู้ซื้อจะเลือกซื้อไปประกอบทำทั้งอย่างไทยแลอย่างฝรั่ง ด้วยราคาผิดกันตามส่วนอไวยวะ ราคาก็แล้วแต่จะตกลงตามสั่งฤๅซื้อปลีก

๙—โคอ่อน—๓๖๙

โคอ่อนฤๅลูกงัววัจฉาพาล เมื่อชำแหละปล่อยให้เลือดตกจนเนื้อซีดขาว มีเปนบางวัน แล้วแบ่งชื่อส่วนดังนี้:-

(๑) น่าอก (๒) เนื้อซี่โครง (๓) เนื้อสัน (๔) บั้นเอว (๕) บ่า (๖) เนื้อขา (๗) หัวใจ (๘) หัว (๙) สมอง (๑๐) เครื่องใน

ราคาซื้อขายก็ผิดกันตามส่วน บางส่วนก็แพงกว่าเนื้อโคสามัญแล้วแต่จะว่าราคาตกลงกัน

๑๐—เนื้อแกะ—๓๗๐

เนื้อแกะเมษาพาลนี้พึ่งจะมีตามเนื้อโค เดี๋ยวนี้ใช้แกะเมืองเสี้ยงไฮ้ทั้งนั้น แต่ก่อนนี้มีแกะกะลันตันมาทางเมืองสิงคโปร์บ้าง มีในท้องตลาดวันพุฒ วันเสาร์ ซื้อขายกันปอนด์ละ ๓ สลึง แบ่งชื่อส่วนดังนี้:-

(๑) ต้นบั้นเอว (๒) ขาหลัง (๓) ตะโพก (๔) อาน (๕) ฅอ (๖) บ่า (๗) อก (๘) หัว (๙) ปลายขา (๑๐) แข้ง (๑๑) ใจ (๑๒) ไข่ดัน (๑๓) เนื้อติดกระดูก (ช๊อป)

ส่วนเนื้อตามชื่อข้างบนนี้บางส่วนก็แพงกว่า บางส่วนก็ถูกกว่าเนื้อที่สามัญ

๑๑—แกะอ่อน—๓๗๑

เนื้อลูกแกะเมษาพาลนี้มีบางวันเปนของมีราคามักใช้รับประทานในฤดูร้อน ปอนด์หนึ่ง ก็ไม่ต่ำกว่าราคาแกะ แบ่งชื่อส่วนดังนี้:-

(๑) อก (๒) ส่วนขาน่า (๓) ส่วนขาหลัง (๔) แข้ง (๕) บั้นเอว (๖) ฅอ (๗) ฅอต่อ (๘) บ่า

ราคานั้นบางส่วนถูก บางส่วนแพง เช่นอย่างเนื้อแกะเหมือนกัน แลมักจะสั่งล่วงน่าว่ากันไว้เสียก่อนวันชำแหละ

๑๒—สัตว์เลี้ยงทวิชาติ—๓๗๒

สัตว์มีปีกทวิชาติที่เปนอาหารมาแต่ก่อนนั้นในท้องตลาดก็มีแต่ ไก่. เป็ด. ราคาซื้อขายกันแต่เพียงตัวละเฟื้อง สลึง ราคาแพงก็แต่เวลากรุศจีน แต่ในเวลาอุไทย์สมัยนี้สัตว์ ๒ เท้าเพิ่มเติมขึ้นอิกหลายอย่าง แลราคาก็แพงขึ้นอีกหลายเท่าดังมีจำนวนชื่อต่อไปข้างล่างนี้

(๑) ไก่มีตลอดปี ราคา ๒ สลึง ถึง บาท

(๒) ไก่อ่อนมีตลอดปี ราคาสลึงเฟื้อง ๒ สลึง

(๓) ไก่ตะเภามีตลอดปี ราคา ๖ สลึง ถึง ๘ สลึง

(๔) ไก่ตอนมีตลอดปี ราคา ๑๐ สลึง ๓ บาท

(๕) ไก่ต๊อกมีบางคราว ราคา ๘ สลึง ๑๐ สลึง

(๖) ไก่งวง มีตลอดปี ราคา ๕ บาท ถึง ๒๐ บาท

(๗) เป็ดแก่ (เล่าอ๊ะ) มีตลอดปี ราคา ๕ สลึง ๖ สลึง

(๘) เป็ดอ่อน มีตลอดปี ราคาสลึงเฟื้อง ๒ สลึง

(๙) เป็ดเทศ มีบางคราว ราคา ๑๐ สลึง ๓ บาท

(๑๐) ห่านปากดำ มีตลอดปี ราคา ๔ บาท ๕ บาท

(๑๑) ห่านปากเหลือง มีตลอดปี ราคา ๕ บาท ๖ บาท

(๑๒) นกพิราบ มีตลอดปี ราคาสลึงเฟื้องถึง ๓ สลึง

๑๓—สัตว์ป่าฤๅเกม—๓๗๓

แต่ก่อนนี้สัตว์ที่เปนอาหารแปลก คล้ายเกมที่เรียกกันในปัตยุบันนี้ก็มีแต่ไก่เถื่อน. นกบางชนิด. หมูป่า. กะต่ายป่า. เนื้อสมัน, มีตามฤดูกาลเปนของแปลกบางวัน แต่บัดนี้เกมได้เพิ่มเติมขึ้นอิกมีจำนวนชื่อต่อไปดังนี้:-

(๑) ไก่ฟ้า มีเปนคราว ราคา ๔ บาท ๕ บาท แช่น้ำแข็งมาแต่นอกก็มีบ้าง

(๒) ไก่นา ราคาสลึงเฟื้อง

(๓) เป็ดน้ำ ราคา ๒ สลึง ๓ สลึง

(๔) เบญจวรรณ คับแค ราคา ๒ สลึง ๓ สลึง

(๕) นกกระจาบมีเปนวัน ๆ ราคาพวงหนึ่ง ๑๐ ตัวสลึงเฟื้อง ๒ สลึง

(๖) นกเขาไฟฤๅเขาชะวา ราคาสลึงเฟื้อง

(๗) นกเขา ราคา ๒ สลึง ๓ สลึง

(๘) นกคุ่ม ราคาสลึงเฟื้อง ๒ สลึง

(๙) นกฝักบัว ราคา ๕ สลึง ๖ สลึง

(๑๐) นกซ่อม (สไนป์) มีเปนคราว ราคา ๑ บาท แลแช่น้ำแข็งมาแต่นอกก็มีบ้าง

(๑๑) หมูป่า ราคาปอนด์ละ ๓ สลึง แต่เดี๋ยวนี้ไม่สู้มีแล้ว

(๑๒) เนื้อสมัน ราคาปอนด์ละ ๓ สลึง แต่นาน ๆ จะมีมาขายในท้องตลาด

(๑๓) กระต่ายเทศ ตัวละ ๖ สลึง แช่น้ำแขงมาแต่นอก

(๑๔) กะต่ายป่าบางวันก็มีมาขายตามร้านสัตว์เปน ตัวหนึ่ง ๒ บาท ๑๐ สลึง และกระต่ายป่าที่แช่น้ำแข็งมาจากนอก ตัวละ ๓ บาท มีบ้างเปนคราวๆ

นกแลสัตว์เถื่อนสัตว์ป่าที่เปนเกมคือ ไก่เถื่อน นกกระทา นกยางเสวย นกกระทุง นกนางนวล นกเปล้า นกกระลุมภู นกเขาเขียว เนื้อฟาน กวาง นางเก้ง ละมั่ง กระจง เหล่านี้ไม่มีที่ขาย มีแต่ของให้ของฝากกัน ตามบันดาที่ท่านซึ่งไปเที่ยวบ้านนอกขอกนาป่าดอย หาได้โดยยิงฤๅดักทำเอาได้อย่างไร ก็นำมาให้ปันเปนกำนันของฝากแก่มิตร์สะหายมูลนายบ้างตามฤดูกาล

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ