ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์

ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ เปนธิดาคนโตของนายสุดจินดา (พลอย ชูโต) กับคุณนิ่ม สวัสดิชูโต นับเนื่องเปนราชินิกุล บางช้าง เกิดเมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๙๐ มีน้องชายและน้องสาวอีก ๗ คน

ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ได้สมรสกับเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) เสนาบดีกระทรวงธรรมการ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเปนบุตรคนเล็กของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) กับ หม่อมอิน เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ โดยสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เปนธุระจัดการให้ ท่านทั้งสองมีบุตรธิดา ด้วยกัน ๕ ท่าน คือ

- จมื่นศรีสรรักษ์ (เพ่ง)

- เจ้าจอมพิศว์ ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

- นายราชาณัตยานุหาร (พาสน์)

- หม่อมพัฒน์ ในพระราชวรวงศ์เธอพระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ (น.ม.ส.) ต้นราชสกุล รัชนี

- คุณหญิงพวง ดำรงราชพลขันธ์ ภริยาของพระยาดำรงราชพลขันธ์ (คอน บุนนาค)

ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ เปนสตรีที่นำสมัย ล้ำยุค มีแนวความคิดสร้างสรรหลายประการ รอบรู้เรื่องราวเกี่ยวกับต่างประเทศเปนอย่างดี เปนบุคคลแรกที่หัดใช้วิธีการชั่ง ตวง วัด เปนครั้งแรกในการประกอบอาหาร โดยอาศัยการเทียบเคียงกับตำราของยุโรป จึงได้รสชาตคงที่ โดยปกติการปรุงอาหารของไทยสมัยก่อนได้แต่อาศัยความชำนาญ หัดเรียนรู้ด้วยตนเองสืบทอดกันมาตามต้นตระกูล ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ซึ่งมีความชำนาญในการประกอบอาหารคาว หวาน เปนผู้ที่ริเริ่มทำลูกชุบให้ดูเหมือนของจริงถึงขนาดประดิษฐ์เปนกระถางต้นไม้ ซึ่งรับประทานได้ทั้งหมด มีความสามารถในการเย็บปักถักร้อย ประดิษฐ์ตกแต่ง พับผ้าเช็ดหน้าเปนรูปสัตว์ต่าง ๆ งานปักรูปเสือดาวลายพาดกลอน ได้รับพระราชทานรางวัลจากรัชกาลที่ ๔ และส่งไปประกวดในระดับโลกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับรางวัลที่ ๑ โดยได้รับรางวัลเปนเงินหลายพันดอลล่าร์

ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ เปนผู้เขียนหนังสือ “แม่ครัวหัวป่าก์” โดยเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) สามีได้เปนผู้ช่วยตรวจ และธิดาคนเล็กช่วยรวบรวมเรียบเรียงตำราให้ ซึ่งนับถือกันว่าเปนตำรากับข้าวเล่มแรกของคนไทยที่ได้รับการตีพิมพ์เปนกิจลักษณะ เผยแพร่เปนครั้งแรกและเก่าที่สุด โดยพิมพ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๕๑ เพื่อแจกเปนของชำร่วยในงานทำบุญฉลองอายุครบ ๖๑ ปี และฉลองวาระสมรส ๔๐ ปี เปนที่เลื่องลือและเสาะแสวงหากันทั่วไป ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ จึงได้ดำริจัดพิมพ์ขึ้นใหม่อีกคราวหนึ่ง โดยมอบให้นายเปียร์ เดอ ลา ก้อล เพชร์ เปนบรรณาธิการ

ในคราวเหตุการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ มีการสู้รบกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสด้วยเรื่องเขตแดนที่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ซึ่งทำให้มีทหารบาดเจ็บล้มตายเปนจำนวนมาก ด้วยความสงสารและห่วงใยในความทุกข์ทรมานของทหารเหล่านี้ ได้มีสตรีไทยกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ เปนหัวหน้า ได้ขอพระราชทานพระเมตตาธิคุณสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี (ต่อมาดำรงพระราชอิสริยยศเปนสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า) จัดตั้งองค์กรเพื่อช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ทหารเหล่านั้นขึ้น เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีองค์กรใดๆ มาทำหน้าที่รักษาพยาบาลช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ผู้เจ็บป่วยเลย และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งสภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยามขึ้น โดยอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวีทรงเปนสภาชนนี และพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระราชเทวี (ต่อมาดำรงพระราชอิสริยยศเปนสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถพระพันปีหลวง) ทรงเปนสภานายิกา เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๖

นับได้ว่า ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ เปนผู้ริเริ่มก่อตั้งสภาอุณาโลมแดง ซึ่งปัจจุบันกลายเปนสภากาชาดไทย ซึ่งเปนองค์กรการกุศลที่สำคัญยิ่งองค์กรหนึ่งของไทย

ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์ ได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๕๔ โดยป่วยเปนแผลบาดพิษ รวมอายุได้ ๖๕ ปี

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ