เศรษฐกิจสำหรับชาติ

(คัดจาก หนังสือพิมพ์ ‘ศรีกรุง’ ประจำวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๙)

หนังสือพิมพ์ศรีกรุงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๔๗๙ ได้ยกเรื่องธนาคารกลาง หรือธนาคารชาติของสยามมากล่าวว่า มิสเตอร์ดอล ผู้ช่ำชองในการเงินได้เข้ามาเป็นผู้แนะนำกระทรวงการคลัง มิสเตอร์ดอลผู้นี้ หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้ชักชวนเข้ามา เพื่อจะให้ได้ตั้งต้นวางระบอบการธนาคารของสยามโดยฉะเพาะ สมมติว่า รัฐบาลฝ่ายบริหารการแผ่นดินจะได้ออกพระราชกฤษฎีกาตั้งธนาคารนี้ด้วยความยิมยอมของสภาราษฎรในสมัยประชุมหน้า เมื่อเป็นเช่นนี้ ปัญหาต่อไปก็จะมีอยู่ว่า เมื่อไรจึงจะเป็นเวลาเหมาะที่กรุงสยามจะต้องออกจากความผูกมัดด้วยลูกโซ่ติดกับปอนด์สเตอร์ลิงของอังกฤษ คือ ๑๓ บาทต่อ ๑ ปอนด์ การที่เราได้ออกจากฐานมาตราทองคำไปผูกพันกันกับปอนด์สเตอร์ลิงของอังกฤษนั้น เราต้องขาดทุนไปเป็นจำนวนมากมายถึง ๖๖ เปอร์เซ็นต์ ยังเหลืออยู่ ๓๔ เปอร์เซ็นต์ แปลว่าเมื่อเราจะต้องเข้าอยู่ในฐานมาตราทองแล้ว เราจำเป็นจะต้องลดราคาเงินตราของเราลงกึ่งราคาที่มีอยู่ก่อนคือ ทองทศนั้นจะต้องมีน้ำหนักเพียง ๐.๖๖ กรัม ประดุจเดียวกันกับราคาเงิน Belga ของประเทศเบลเยี่ยม.

นโยบายการเงินแผ่นดินนั้น มีวิธีที่จะพิมพ์ธนาบัตร์ขึ้นใช้เพื่อจะให้ลูกหนี้ทั้งหลายได้เปรียบเจ้าหนี้ โดยที่จะเอาเงินตราราคาน้อยไปแลกเปลี่ยนกับเงินตราราคามาก เจ้าหนี้ต้องขาดทุนฝ่ายเดียว ภาษาอังกฤษเรียกว่าอินเฟลชั่น Inflation ซึ่งรัฐบาลไม่ควรจะส่งเสริม เพราะเหตุที่เราจะต้องคิดไปถึงดอกเบี้ยและต้นเงินทั้งหลายที่รัฐบาลกู้มาจากต่างประเทศรวมเข้ากับราคาสินค้าทั้งมวลที่เราทำเองไม่ได้ ต้องสั่งเข้ามาใช้ เช่น เครื่องเหล็ก, รางรถไฟและล้อเลื่อน เป็นต้น ของเหล่านเราต้องใช้ด้วยราคาทองทุกสิ่งไป

มีความสงสัยอยู่ว่า รัฐบาลครั้งสมบูรณาญาสิทธิราชอาจพิมพ์ธนาบัตร์ขึ้นใช้ชดเชยงบประมาณที่ขาดลงเป็นครั้งคราว เพราะเหตุว่ารัฐบาลเป็นผู้ตั้งค่าแลกเงินระหว่างประเทศเอง และมีกฎหมายบังคับว่า ธนาบัตร์นั้นจะต้องใช้หนี้กันได้โดยไม่มีเขตต์คั่นจำนวน และผู้ถือธนาบัตร์จะเรียกร้องเอาทองไปใช้แทนไม่ได้ รัฐบาลเก่ามีอำนาจตามกฎหมายเช่นที่กล่าวนี้ สรรพราคาสิ่งของทั้งหลายในบ้านเมืองจึ่งได้พลอยตกต่ำราคาไปกว่าเก่าเป็นอันมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ พลเมืองต้องยากจนลง เพราะไม่ใช่ความผิดของเขาเลย ค่าแรงงานทุกอย่างต้องลดน้อยลง เพราะเหตุที่ต้องซื้อของราคาแพงนั้นเอง

ต่อไปนี้จะกล่าวถึง Deflation ซึ่งมีลักษณะตรงกันข้ามกับ Inflation ที่ตรงว่า อำนาจเงินตราที่ใช้หมุนเวียนอยู่ในบ้านเมืองจะมีอำนาจซื้อของได้มากกว่าเก่า เป็นการยกฐานะของประชาชนพลเมืองให้สูงขึ้น ด้วยอำนาจเงินที่เขาจะซื้อของได้มากกว่าเก่านั้นเอง Deflation จะทำให้ส่งสินค้าออกไปขายนอกประเทศได้มากขึ้น เพราะเหตุที่อำนาจซื้อสินค้าได้มากกว่านั้นเอง จะชวนใจให้ผู้มีทุนซื้อของส่งไปขายหากำไรจากนอกประเทศได้ ปัญหาจึ่งมีอยู่ว่า รัฐบาลจะทำประการใดจึงจะรู้ความจริงได้แน่แท้ว่า ธนาบัตร์ที่ได้ออกไปแล้วโดยไม่จำกัดจำนวนนั้นจะมากเกินส่วนที่ต้องการในการค้าขายที่แท้จริงหรือไม่ วิธีที่จะแก้ปัญหานี้ก็มีทางเดียว แต่ที่กระทรวงการคลังจะกักธนาบัตร์ไว้จนกว่าราคาสินค้าทั้งหลายจะกลับสูงขึ้นเท่าเก่าได้ วิธีที่จะเปรียบราคาเก่ากับใหม่ให้เห็นปรากฎนี้ก็โดยที่จะเอาราคาสินค้าทั้งหลายที่พลเมืองจำเป็นจะต้องบริโภคด้วยกันทุกคนมาตั้งเปรียบเทียบกัน ยกอุทาหรณ์ว่า แต่ก่อนปลาทูนึ่งขายกันราคาเข่งละ ๒ อัฐ เข่งหนึ่ง ๓ ชั้นๆ ละ ๕ ตัว เท่ากับ ๗ ตัวครึ่งต่อ ๑ อัฐ ทุกวันนี้ขายกันเข่งละ ๘ สตางค์ เข่งหนึ่งมี ๒ ตัว คือแพงกว่าเก่าเท่ากับตัวละ ๔ สตางค์ ข้าวสาร แต่ก่อนราคาถังละ ๕๐ สตางค์ ทุกวันนี้ราคาถังละ ๑.๓๐ บาท แต่จะเอาราคาเดี๋ยวนี้มาเปรียบเทียบกันไม่ได้ โดยเหตุที่ต่างประเทศต่างก็หักร้างถางพงทำนากันมากขึ้น ข้าวจึ่งตกราคาจนไม่คุ้มค่าแรงทำ เราจึงจำเป็นจะต้องหันไปปลูกฝ้ายหรือผลไม้ขึ้นแทน ฝ้ายก็ดี ผลไม้ก็ดี ถ้าได้ทำกันตั้ง ๕๐ ไร่ขึ้นไปแล้ว ผู้ทำจ้างกรรมกรคอยระวัง ดายหญ้า และพูนดินทำการแต่หน้าเดียวตลอดฤดูกาล จึงจะเห็นผลมั่งมีได้ทันใจ ต่อไปจะชักชวนกันตั้งสหกรณ์รวมแรงรวมทุนกันเข้าเป็นหมู่เดียวบริษัทเดียวก็สามารถจะทำได้ สุดแล้วแต่สติปัญญาและความสามารถจัดการของเจ้าของที่ดิน แต่ถึงอย่างไรก็ดี รัฐบาลจำเป็นจะต้องเข้าควบคุมระวังไม่ให้เจ้าของที่ดินได้เปรียบกรรมกรมากเกินส่วนที่ควรไป เช่นกับว่าผู้ใดได้กำไรเกินร้อยละ ๘ เมื่อหักค่าแรงและดอกเบี้ยเงินทุนออกแล้ว เจ้าของงานได้กำไรเกินร้อยละ ๘ จะต้องเสียภาษีเงินได้เสริมขึ้นอีกเป็นขั้นไป เพราะเราจะลืมเสียมิได้ว่า นโยบายของรัฐบาลประชาธิปไตยนั้นมีจุดประสงค์จะให้ฐานะของกรรมกรหรือกสิกรสูงขึ้นเท่าเทียมกันกับธนบดีเจ้าของทุนอย่างใกล้ที่สุดที่จะทำได้.

----------------------------

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ