ธนาคารชาติ (๓)

(คัดจาก หนังสือพิมพ์ ‘ศรีกรุง’ ประจำวันพุธที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๗๙)

หนังสือพิมพ์ศรีกรุงลงวันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. นี้ เร่งเร้าให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรีบเสนอญัตติขอให้กระทรวงการคลังตั้งธนาคารชาติขึ้นในสมัยประชุมสามัญครั้งนี้ ได้บรรยายคุณประโยชน์ซึ่งปวงชนราษฎรชาวสยามจะได้รับเป็นเอนกประการ.

วันนี้จะขอกล่าวประโยชน์สำคัญที่จะได้แก่บรรดาพวกราษฎรอนาถาที่ถนัดทางการค้าขาย แต่ยังไร้ทรัพย์อยู่ จะกู้ยืมเงินที่ไหนไม่ได้ ก็เป็นอันพ้นวิสัยที่จะทำการค้าได้สมปรารถนา ในที่นี้จะขอแนะนำวิธีที่จะสงเคราะห์คนจำพวกนี้ต่อไป แต่ในชั้นต้นจะต้องรีบเร่งให้ฝ่ายบริหารการแผ่นดินได้ตั้งธนาคารกลางหรือธนาคารชาติขึ้นเสียก่อน เมื่อมีธนาคารเกิดขึ้นแล้ว รัฐบาลจึงจะเอาการเชื่อหนี้มาใช้สงเคราะห์พวกนี้ได้

ธรรมดาของธนาคารมีหน้าที่อันสำคัญที่เป็นนิติบุคคลขึ้นตามสัมปทานพิเศษนั้น ข้อใหญ่ใจความจะต้องรวบรวมเงินฝากทั้งหลายมาให้เจ้าจำนำของเขากู้ยืมไปทำทุน ยิ่งจำหน่ายทุนนี้ออกได้มาก ก็ยิ่งจะมีกำไรมากขึ้นตามตัว ธนาคารเช่นที่หนังสือพิมพ์ศรีกรุงได้แนะนำนั้น นอกจากจะเอาทุนส่วนตัวของธนาคารเองออกเพิ่มเติมแล้ว ยังจะได้พึ่งรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่สำคัญอีกส่วนหนึ่ง โดยกรณีที่รัฐบาลจะให้สัมปทานพิเศษแก่ธนาคารจำกัดสินใช้ (Joint Stock Banking Association) เป็นนิติบุคคลขึ้น และโดยกรณีที่รัฐบาลจะได้ถือหุ้นกึ่งหนึ่งของธนาคารนี้ ก็เป็นอันว่ารัฐบาลเป็นผู้รับประกันอยู่ ในตัวเอง ธนาคารจะเป็นปึกแผ่นมั่นคงที่จะไม่ต้องเลิกล้มละลายไปในเวลาที่ประเทศสยามยังตั้งเป็นอิสสรภาพอยู่ได้ ข่าวนี้แหละจะเอิกเกริกดังก้องไปประดุจเสียงปืนลูกใหญ่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Boom ซึ่งจะสบสมัยกับที่เศรษฐกิจของโลกกำลังจะเขยิบก้าวหน้าเจริญขึ้น จะยกอุทาหรณ์ของความเจริญที่กำลังจะเกิดขึ้นในทวีปอเมริกาเหนือและในทวีปยุโรป มีประเทศอังกฤษเป็นต้น โดยที่เห็นว่าจำนวนกรรมกรที่ว่างงานลดน้อยลงกว่าปีก่อนๆ เป็นนักหนา ประเทศอังกฤษเวลานี้จึงมีเงินรายได้เป็นกำไรในการค้าของเขามาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๗ ถึง พ.ศ.๒๔๗๙ นี้ เศรษฐกิจในประเทศยุโรปทั่วไปก็ค่อยเจริญขึ้นประดุจเดียวกัน เราเชื่อว่ามูลเหตุที่เศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและยุโรปตกต่ำลงถึงที่สุดแล้ว ความตกต่ำนั้นจึงค่อยแพร่หลายออกมาถึงประเทศตะวันออกไกล คือทวีปเอเซียทั้งทวีป บัดนี้ เศรษฐกิจในทวีปยุโรปและอเมริกากลับค่อยกะเตื้องดีขึ้น ความเจริญก้าวหน้านั้นก็คงจะค่อยแผ่ไพศาลลามมาถึงทวีปเอเซีย ดังที่ได้เห็นปรากฎแล้วว่า เมื่อเร็วๆนี้รัฐบาลเกาะซีลอนขอกู้เงินอังกฤษเพื่อการปลูกต้นใบชา เมื่อธนาคารอังกฤษประกาศเรียกผู้สมัครจะให้กู้แล้ว เปิดรับรายชื่อผู้สมัครเพียงชั่วเวลา ๒ ชั่วโมงเท่านั้น ก็รวมบัญชีได้เป็นจำนวนเกินกว่าสิบเท่าตัว

การที่ธนาคารจะเอาเงินเชื่อหนี้ออกจำหน่ายนั้นก็เป็นอันว่าทำ Inflation จำหน่ายเงินเกินความต้องการของการค้าขายอยู่แล้ว แต่เมื่อมาคิดถึงว่าเทศบาลในพระราชอาณาเขตต์จะต้องสร้างการประปา การไฟฟ้า การสูบน้ำ ทำโรงน้ำแข็ง การไปรษณีย์โทรเลข ซึ่งจะรวมได้ว่าเป็นรัฐพาณิชย์ทั่วไปแล้ว เทศบาลทุกจังหวัดจะต้องมาขอกู้เงินจากธนาคารไปใช้ เมื่อเทศบาลจังหวัดได้คิดคำนวณเห็นแน่ว่าจะได้กำไรมาเสียดอกเบี้ยให้ธนาคารแน่นอนแล้ว จึงจะได้ตกลงกันมาขอกู้ยืม ข้างฝ่ายธนาคารเห็นว่าจะมีที่ได้สนับสนุนอยู่มั่นคง ก็จะให้กู้ไปตามความปรารถนาของจังหวัดต่างๆ

เรื่องที่จะสงเคราะห์ให้คนอนาถาที่ถนัดทางการค้านั้น ธนาคารจะทดรองทุนให้คนหนึ่งๆ ได้ตั้งแต่ ๑๐๐ บาทขึ้นไป มีเขตต์คั่นที่สุดเพียงคนละ ๑,๐๐๐ บาท จะค่อยตั้งต้นให้กู้ยืมแต่ในมณฑลกรุงเทพ ๆ ไปก่อน ไม่ช้าราษฎรตามชนบทเข้าใจการดีแล้ว ก็จะมาขอกู้ยืมจากธนาคาร ซึ่งจะคิดเอาดอกเบี้ยเกินร้อยละ ๗ เปอร์เซ็นต์ครึ่งต่อปีไม่ได้ เพราะกฎหมายห้าม

ผู้ใดจะขอกู้เงินจากธนาคาร ธนาคารจะให้กู้ไปได้อย่างน้อยเพียง ๒ ชื่อหรือ ๓ สุดแล้วแต่ว่าผู้ที่ลงชื่อเป็นประกันนั้นจะมีหลักฐานสมควรที่จะเชื่อได้มั่นคง ทำเช่นนี้เชื่อว่าจะไม่เกิดคดีฟ้องร้องกันขึ้นในศาลเป็นอันขาด ธนาคารจำกัดจำนวนให้กู้ไปรายละเล็กละน้อยเท่านั้น ถ้าผู้กู้นำเงินมาส่งคืนไม่ได้ ผู้รับประกันก็ต้องใช้แทน ทำอย่างเดียวกันกับการสงเคราะห์ที่เขาทำกันอยู่เป็นแบบแผนในประเทศสก๊อตแลนด์ ซึ่งลูกหนี้บางคนค้าขายมั่งมีจนกลายเป็นธนบดีขึ้นได้ วิธีที่จะทำนั้น ผู้กู้จะต้องเสียดอกเบี้ยตามสัญญาในชั่วเวลาที่ยังมิได้เอาต้นและดอกมาส่งคืน เมื่อได้ส่งคืนแล้วจึงตั้งต้นกู้ยืมกันไปใหม่ จะยกอุทาหรณ์มากล่าวดังต่อไปนี้.

แม่ค้าเรือจ้าง ๒ แจวจะต้องการทุนซื้อเรือลำหนึ่ง เป็นราคา ๘๐ บาท ต้องการซื้อสินค้าบรรทุกเรือนั้นสัก ๔๐ บาท จึงจะเข้าพ่วงเรือข้างขึ้นไปถึงกรุงเก่า แล้วก็ปล่อยเรือออกแจวเร่ขายแลกข้าวเปลือกไปตามไร่นา เที่ยวหนึ่งเป็นเวลาประมาณ ๓๐ วัน เมื่อมาถึงกรุงเทพ ฯ ก็นำต้นเงินและดอกเบี้ยไปส่งนายธนาคาร แล้วก็ตั้งต้นทำสัญญากำหนดเวลากู้ไปอย่างที่ทำมาแล้ว นายธนาคารจะต้องเรียกประกันคนหนึ่งหรือสองคน ดังที่ได้ทำมาก่อนมาทำสัญญาใหม่

เมื่อความรู้เช่นที่กล่าวมานี้ได้แพร่หลายออกไปถึงชาวชนบทแล้ว ผู้ถนัดในการค้าต่างก็จะมาขอกู้เงิน จนถึงที่สุดธนาคารจะต้องขออนุมติเพิ่มเติมทุนขึ้นเป็นคั่น ๆต่อไป การสงเคราะห์แก่คนอนาถานี้แหละควรจะเป็นความปรารถนาของรัฐบาล

ในเรื่องการเงินมีทฤษฎีอย่างหนึ่ง ที่ว่าจะสร้างสิ่งที่ไม่มีอะไรให้บังเกิดผลขึ้นได้ คือต้องใช้ วิธีคำณวนบวกกับลบตามตำราพิชคณิต คือเครื่องหมายต่างกันคูณกันเปนลบ เครื่องหมายเหมือนกันคูณกันเป็นบวก

บวก(+) คูณ(×) ลบ(−) เป็น ลบ(−); ลบ(−) คูณ(×) ลบ(−) เป็น บวก(+);

ยกอุทาหรณ์ว่า.

นาย ก. ยืมเงินนาย ข.มา ๑๐๐ บาท จึงเป็นอันว่านาย ก. ไม่มีเงินแล้วยังซ้ำเป็นหนี้นาย ข. ถึง ๑๐๐ บาท ถ้านาย ข. ยกหนี้ให้ นาย ก. กลับมีทุนขึ้นอย่างเก่า ถ้านาย ข. ไม่ยกให้ นาย ก. ก็ยังจะเอาทุนนั้นไปใช้เป็นประโยชน์ได้ต่อไป เท่ากับว่านาย ก. สร้างภาวะขึ้นจากสิ่งที่ไม่มีภาวะได้.

ทฤษฎีที่กล่าวนี้ใช้ได้ในสรรพสิ่งการค้าขายทุกชะนิดไป แต่ในเรื่องการเชื่อหนี้คือ (Credit) นั้นเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง สมมติว่านายก. มีทุนอยู่ ๑๐๐ บาท แล้วยังซ้ำเป็นหนี้นาย ข. อีก ๑๐๐ บาทด้วย ถ้าตามทฤษฎีนี้ก็ต้องเขียนว่า ๐ – ๑๐๐ แต่ถ้านาย ข. ยกหนี้ให้ ทรัพย์สินของนาย ก. ก็ต้องเป็น - ๐ แปลว่านาย ก.ไม่ต้องเป็นหนี้ผู้ใดต่อไป แต่ถ้านาย ข.ไม่ยกให้ ทรัพย์สินของนาย ก. ก็เป็น -๐ คือนาย ก.ไม่มีทรัพย์สิน แล้วยังซ้ำเป็นหนี้นาย ข. อีก ๑๐๐ บาท และตามทฤษฎีของเศรษฐกิจนั้น ก็ตรงกับว่าเครื่องหมายต่างกัน คูณกันเป็นลบ เครื่องหมายเหมือนกัน คูณกันเป็นบวก เมื่อนับว่าทรัพย์สินของนาย ก. เป็นหนี้แล้ว นาย ก. ก็มีหน้าที่ที่จะต้องใช้เงินใช้หนี้ให้จงได้ หรือถ้าจะไม่มีเงินใช้หนี้นาย ข. ก็ต้องยอมตัดสิทธิของตัวในพฤตติการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง (Obligation)

ขอให้ดูประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ ๓ มาตรา ๑๒๒๙ ที่เกี่ยวกับทะเบียนใบหุ้นกู้.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ