คำนำ

ก่อนถึงคำนำนี้ ข้าพเจ้าได้นำแม่พิมพ์ซึ่งถ่ายทำจาก ‘ตราประจำตัว’ และ ‘ลายมือ’ ของเจ้าคุณสุริยานุวัตร มาพิมพ์ไว้ โดยได้ถอดมาจากหนังสือ ‘เตือนใจเพื่อน’ ของคณะรัฐมนตรี ซึ่งพิมพ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘. การที่ข้าพเจ้าเรียกว่า ‘มติของพระยาสุริยานุวัตร’ ตามที่พิมพ์ไว้ ก็เพราะมีความเข้าใจ ดังนี้:

ในดวงตราตอนเบื้องบนเป็นปีนักษัตร์ที่เกิด พระอาทิตย์เป็นเครื่องหมายถึงราชินิกูล ‘สุริยวงศ์’ ถัดลงมาเป็นอักษรย่อนามตัวของท่าน ที่เบื้องล่างมีประโยคบาลีว่า “ธรรมโมหเวรักขติธรรมจาริง” ข้าพเจ้าได้เคยเห็นท่านใช้แบบจดหมายของท่านมีดวงตราอย่างนี้ และได้เห็นท่านสรวมแหวนตราลักษณะเดียวกันประจำนิ้วอยู่เสมอ กับทั้งข้าพเจ้าได้ทราบว่า พึ่งจะได้ถอดแหวนตราวงนี้ออกจากนิ้วของท่านก่อนหน้าถึงแก่กรรมเพียงวันเดียวเท่านั้น

ธัมโมหเว! รักขติธัมมจารึ !

แปลว่า ธรรมเว้ย! ย่อมอารักขาผู้ประพฤติเปนธรรม

“ธรรมเว้ย !... ... ...” คำนี้ ถ้าพิจารณาสักนิดหนึ่งจะเห็นได้ว่ามีนัยะหมายถึงความองอาจกล้าหาญเพื่อความเป็นธรรม มิใช่เป็นคำอ่อนหวานละมุนละม่อม แต่เป็นคำอันแข็งแรงเพื่อต้องการความเป็นธรรมโดยผู้กล่าวได้ตั้งอยู่ในธรรมแล้ว

เจ้าคุณสุริยานุวัตร ได้ตั้งมติข้อนี้ขึ้นไว้ประจำตัวท่านตั้งแต่ก่อนข้าพเจ้าเกิดหรือเมื่อใดก็ตาม แต่ข้าพเจ้าก็ได้เห็นโดยถ่องแท้ว่าท่านได้รักษามติของท่านข้อนี้ไว้ตราบเท่าอายุขัย

ในหนังสือ ‘พระบรมราโชวาท และพระราชหัตถ์เลขาสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชทานแด่มหาอำมาตย์เอก พระยาสุริยานุวัตร (เกิด บุนนาค)’ ซึ่งคุณหญิงสุริยานุวัตรพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพของท่านเจ้าคุณคราวนี้ มีพระราชดำรัสส่วนพระองค์พระมหากษัตริย์อันน่ารู้น่าฟังในพฤติการณ์ของเจ้าคุณสุริยานุวัตรอยู่เป็นอันมาก กับยังมีคำนำของคุณหลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกล่าวไว้ว่า

“ท่านได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ”

“ท่านได้ตั้งหน้าทำราชการได้ผลมบูรณ์ในราชการทางทูต”

“ท่านได้กระทำการ(เรื่องฝิ่น) ซึ่งแทบกล่าวได้ว่าเป็นการปฏิวัติ”

“ท่านซื่อสัตย์ต่อความคิดความเห็นของท่าน”

“‘พระยาสุริยานุวัตร’ ยังได้ดำริที่จะปฏิวัติในทางการคลังต่อไปโดยเปลี่ยนมาตรฐานเงินตรามาเป็นมาตราทองคำ และใช้สตางค์แทนอัฐ”

“แม้จะอยู่ในวัยชรา แต่กำลังดวงจิตต์ของท่านยังเข้มแข็งอยู่เสมอ”

ท่านผู้อ่านคงจะเห็นพ้องด้วยข้าพเจ้าแล้วในข้อที่ว่า เจ้าคุณสุริยาได้ตั้งมติประจำตัวของท่านขึ้นแล้ว ท่านก็ได้ประพฤติตามแนวนั้นพร้อมด้วยกำลังใจอันองอาจกล้าหาญจนตลอดอายุของท่าน สมด้วยอรรถาธิบายที่ท่านได้เขียนไว้ใต้มตินั้นว่า “ความมานะอันกล้าหาญที่จะประพฤติตนเป็นธรรมให้จงได้ โดยไม่ย่อท้อต่ออุปสัคใด ... ... ...”

ข้าพเจ้าอยู่ที่ตำบลสพานขาว ถนนกรุงเกษมติดกับบ้านของท่านมาช้านาน พึ่งย้ายไปอยู่บ้านภาพยนต์เสียงศรีกรุง ตำบลบางกปิ ต่อเมื่อท่านได้ถึงแก่กรรมแล้ว ท่านได้มีพระคุณต่อข้าพเจ้ามากมายทั้งในส่วนตัวและกิจการ ดั่งว่าท่านได้กรุณาและไว้เนื้อเชื่อใจต่อข้าพเจ้าเยี่ยงลูกหลาน

กิจวัตร์ประจำตัวของท่านคือการเขียนหนังสือ และท่านตั้งใจเขียนเพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติทั้งสิ้น ไม่มีทางบันเทิงเลย ความเห็นของท่านมีต่าง ๆ และมากหลาย หนังสือพิมพ์ศรีกรุงไม่ใช่แหล่งเดียวสำหรับลงความเห็นของท่าน ท่านเคยเขียนลงในหนังสือพิมพ์อื่นๆก็มาก สุดแล้วแต่สภาพและเหตุการณ์

ความเห็นของท่านจะเป็นเรื่องอะไรๆก็ต้องด้วยลักษณะ “ธรรมเว้ย!...” คือองอาจและแข็งแรงเพื่อธรรมะ ท่านมีใจกล้าหาญมิใช่น้อยจึงได้กล้าเขียน “ทรัพยศาสตร์” อันเป็นต้นรากของหลักประชาธิปตัยขึ้นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช ถึง ๒ เล่ม ต่อมาเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ท่านเขียนขึ้นอีกเล่มหนึ่ง ชื่อ ‘เศรษฐกิจและการเมือง’ หรือ ‘ทรัพยศาสตร์’ เล่ม ๓ ตอนนี้ ข้าพเจ้าขอนำเอาคำของท่านมากล่าวไว้ในที่นี้ด้วย

ท่านได้กล่าวแก่ข้าพเจ้าว่า “ฉันเล่าเรียนมาในทางนี้ ได้เห็นแจ้งว่าอะไรคือประโยชน์ของประเทศชาติ ฉันกล้าพูดเพื่อประโยชน์ข้อนั้น และได้พูดตามความจริงฉันจะต้องกลัวอะไร เมื่อพูดถึงผลย่อมจำเป็นต้องกล่าวถึงเหตุ ที่จริงฉันเขียนเพราะความจำเป็นแต่พอควรเท่านั้น”

ในระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๘-๒๔๗๙ นี้ท่านป่วยบ่อย ๆ ถึงกระนั้นท่านก็ยังอุตส่าห์เขียน เขียนจนใคร ๆ ต้องช่วยกันทัดทานเพราะเห็นว่าท่านเจ็บเพราะการเขียนหนังสือ แต่ท่านไม่ยอม ถ้าไม่ถึงกับล้มหมอนท่านเป็นต้องเขียนจนได้ เรื่องที่เขียนไม่มีอะไรอื่น ล้วนแล้วแต่เรื่องชี้ทางและแนะนำให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติทั้งสิ้น เรื่องนี้ท่านก็ได้เคยพูดกับข้าพเจ้าอีกว่า “อายุฉันป่านนี้แล้ว ยังจะให้มันยืนไปถึงไหนอีก ถ้าฉันเก็บเอาความหวังดีต่อประเทศชาติไว้แต่ในใจให้มันตายตามไปด้วยจะมีประโยชน์อะไร”

ความมุ่งหมายสำคัญของท่านคือเรื่องตั้ง ‘ธนาคารแห่งชาติ’ หรือธนาคารกลางของประเทศสยาม ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึ่งได้คัดเอาฉะเพาะแต่ความเห็นของท่านในเรื่องนี้ที่ได้ลงในหนังสือพิมพ์ศรีกรุง มารวบรวมขึ้นเป็นเล่มสมุด ข้อความในความเห็นของท่านเหล่านั้นจะอธิบายในตัวเองว่าธนาคารแห่งชาติจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศและประชาชนชาวสยามเพียงไร ทั้งจะอธิบายถึงคุณสมบัติและความตั้งใจจริงของท่านผู้เขียน ว่ามีความรักประเทศชาติเพียงไรด้วย

ขอให้ธนาคารแห่งชาติจงสำเร็จตามความมุ่งหมายของเจ้าคุณสุริยานุวัตรโดยเร็ว ประดุจเดียวกับการใช้สตางค์แทนอัฐซึ่งเปนความคิดของท่าน แต่ยังมิทันประกาศใช้ ท่านก็ลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงพระคลังเสียก่อนนั้นด้วยเทอญ ฯ

แม้ร่างกายเจ้าคุณสุริยานุวัตรได้ล่วงลับไปแล้วก็ดี แต่กิจการที่ได้กระทำเพราะความรักประเทศชาติอันแน่วแน่ของท่าน จะปรากฎเกียรติยศอยู่มิรู้เสื่อมถอย ขอท่านผู้รักประเทศชาติทั้งหลายที่ได้อ่านหนังสือนี้ โปรดอธิษฐานขอให้วิญญาณของเจ้าคุณสุริยานุวัตร ผู้ได้กระทำคุณประโยชน์อันดีงามไว้แก่ประชาชนชาวสยามเป็นเอนกประการแล้วนั้น ดำรงอยู่ในสุขคติยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วยเทอญ.

มานิต วสุวัต

วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๙

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ