การตั้งธนาคารชาติ

(คัดจาก หนังสือพิมพ์ “ศรีกรุง” ประจำวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๘)

ผลของการที่เศรษฐกิจยิ่งตกต่ำลงเสมอไป โดยที่โลกได้รับผลอันร้ายแรงของมหาสงครามอย่างแรงด้วย อันที่จริงหาใช่เป็นความผิดของปวงชนชาวสยามไม่ ที่เราได้พลอยรับความยากจนลงนั้น ก็ด้วยเหตุอย่างเดียวที่ในทวีปยุโรปต่างก็บำรุงการหัตถกรรม อุตสาหกรรม และการกสิกรรมของเขาอย่างเข้มงวดกวดขัน ปัญหาใหญ่เวลานี้จึงเป็นอันว่าเราจำเป็นจะต้องตั้งธนาคารของชาติขึ้นก่อนที่จะทำอะไรหมด เมื่อได้ตั้งธนาคารสำเร็จแล้ว การค้าสาระพัดอย่างจึงจะจำเริญยิ่งขึ้นได้ แต่ต้องคอยไปจนถึง ๒ ปีข้างหน้าฐานะของแผ่นดินจึงจะจำเริญขึ้นพร้อมกัน

ถ้ามีการขุดสันดอนก็จะมีผลทำให้เรือกำปั่นใหญ่ในมหาสมุทรเข้ามาจอดในแม่น้ำเจ้าพระยาได้โดยสะดวก การขนสินค้าส่งออกนอกประเทศจะเป็นการประหยัดทรัพย์ได้เป็นอันมาก ทุกวันนี้เราต้องเสียค่าลำเลียงขนส่งหลายทอดหลายชั้นนัก เมื่อคิดลำเลียงสินค้าแล้ว ส่งเพียงถึงเรือใหญ่ที่จอดอยู่นอกสันดอนจะมากยิ่งไปกว่าจะส่งสินค้าจากกรุงสยามไปเพียงเมืองเซี่ยงไฮ้หรือเมืองสิงคโปร์หลายเท่า ปากน้ำเจ้าพระยาอันกว้างใหญ่ ที่น้ำเค็มไหลเข้าออกได้โดยสะดวกนั้น เมื่อขุดสันดอนแล้วเราจะได้ดินถมทำทำนบได้ในที่ควรจะทำหลายแห่ง กันน้ำเค็มออกไปทางปากน้ำเจ้าพระยาได้อย่างดี ที่จะต้องเสียเวลาถึงสองปี ตามที่คนของสันนิบาติชาติได้ตรวจแล้วนั้น เขารับประกันได้แน่นอนว่ากรุงสยามจะได้รับผลดีฝ่ายเดียว แต่เมื่อพูดถึงวิชาเทฆนิคแล้วก็ยากที่คนสามัญจะเข้าใจได้ชัดแจ้ง จึงจำเป็นจะต้องคอยให้ผู้ช่ำชองของสันนิบาตชาติตรวจตราให้ละเอียดเสียก่อน เขากะประมาณว่าเราจะต้องลงทุนเพียง ๓๐ ล้านบาท ในกำหนด ๒ ปีต่อไป คลองนั้นจะเป็นอันสำเร็จได้แน่นอน งบประมาณที่เขาจะทำขึ้นเสนอนั้น คาดการได้แน่แล้วว่าจะมีทางเสียเป็นค่าใช้สรอยไม่ถึงถึงจำนวนเงินที่เขาได้กะลง เขากะไว้เผื่อขาดเผื่อเหลือมากมายแล้ว รู้ความแต่เพียงเท่านี้ก็ต้องยุติในเรื่องการขุดสันดอนไว้พลางก่อน

ต่อไปรัฐบาลจะต้องวางนโยบายทางเศรษฐกิจ ขอให้สภาผู้แทนราษฎรรับหลักการเสียก่อน เพราะเมื่อเราจะตั้งธนาคารชาติขึ้นนั้น ข้อสำคัญใหญ่เราจะต้องผละจากการข้อผูกมัดกับปอนด์สเตอร์ลิงอังกฤษพร้อมกันกับที่เราจะเปลี่ยนเป็นฐานมาตราทองอย่างเดิม ทองอย่างเดียวที่เราจะเกาะเอาเป็นที่พึ่งได้แน่นอน ถึงอย่างใดธาตุทองจะต้องเป็นที่นับถือของประชาชนทั่วโลก ถ้าเราตั้งธนาคารขึ้นสำเร็จตามโครงการณ์ที่พระยาสุริยานุวัตรได้ร่างขึ้นไว้ในหนังสือเศรษฐกิจและการเมืองแล้ว รัฐบาลจะใช้ความเชื่อหนี้แทนเงินทองได้ตั้ง ๗๐ ล้านบาท บรรยายคือ ทุนของธนาคารชาติ ๒๐ ล้านบาท จะได้สัมปทานจากรัฐบาลให้ออกธนบัตรการเชื่อหนี้ได้ ๕๐ ล้านบาท มีทุนสำรองเช่นนี้ สาระพัดการอุตสาหกรรม การกสิกรรมในบ้านเมืองจะอาศัยได้ทั่วไป ทางรัฐพาณิชย์ทุกอย่าง เช่น ทำการชลประทาน การสร้างถนนรวมทั้งการรถไฟไปรษณีย์โทรเลขด้วยนั้น ถ้าเป็นสิ่งที่จะได้กำไรกลับคืนด้วยแล้ว ธนาคารนี้จะอุปการะได้ทุกอย่างไป แต่เมื่อพูดถึงเรื่องที่จะกู้เงินของธนาคารชาติแล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องเสียดอกเบี้ยให้ธนาคารทุกครั้งไป ธนาคารซึ่งมีหน้าที่เป็นผู้รับฝากเงินของปวงชนราษฎรด้วยนั้นจำเป็นจะต้องใช้การเชื่อหนี้ของเขาให้หมุนเวียนได้โดยรอบตัวเสมอ มิฉะนั้นก็จะหากำไรมาแบ่งปันให้ผู้ถือหุ้นส่วนไม่ได้.

ในชั้นต้นรัฐบาลควรจะกู้เงินของปวงชนราษฎรมาทำทุนเสียก่อน และการที่จะกู้นั้น จะต้องให้ผลประโยชนแก่เจ้าของทรัพย์ให้เพียงพอ ที่จะเรียกประมูลให้ เขามาทำสัญญ Under write รับรองที่จะหาทุนมาส่งรัฐบาลได้ ทุนนี้แม้จะเป็นทุนของชางต่างประเทศก็ควรที่จะเปิดโอกาสให้เขา เช่นกับจะออกใบหุ้นกู้มีดอกเบี้ยตามสมควร ผู้ถือหุ้นชะนิดนี้จะถืออยู่ได้ตลอดเวลาที่รัฐบาลกำหนดไว้ในสัมปทาน มีกำหนดเพียง ๔๐ ปีเป็นต้น.

เงินกู้ทั้งสิ้นนั้น ในชั้นต้นรัฐบาลสัญญาจะใช้ดอกเบี้ยเพียงปีหนึ่งร้อยละ ๓ แต่มีกำหนดกู้ยืดยาวช้านานถึง ๔๕ ปี รัฐบาลจะต้องสัญญาใช้ดอกเบี้ยให้เป็นอย่างสูงที่สุดเพียงร้อยละ ๕ เป็นต้น รวมเข้ากับดอกเบี้ยร้อยละ ๓ ต่อปี ผู้กู้จะได้ดอกเบี้ยถึงปีหนึ่งร้อยละ ๘ ตลอดเวลา ๔๐ ปี รัฐบาลต้องขอชักให้ธนาคารในกรุงเทพฯ ช่วยรับซื้อราคาเงินกู้นี้ตามราคาที่ซื้อขายกันในตลาดเงิน สมมติว่าธนาคารจะรับซื้อโดยจะชักค่าดิสเคาน์เป็นดอกเบี้ยล่วงหน้าร้อยละ ๕ หรือ ๖ หรือ ๗ ก็ตาม เมื่อลูกค้าขายให้ธนาคารแล้วจะต้องการต้นทุนเดิมกลับคืนเมื่อใดก็จะเอาออกขายตามราคาตลาดในเวลานั้นได้ ถ้าจัดการได้เรียบร้อย ปีหนึ่งรัฐบาลอาจจะหากำไรได้เป็นส่วนถึง ๗.๔๓ ของต้นเงิน ๑๐๐ บาท

ตามงบประมาณปีหน้า รัฐบาลจะต้องใช้เงินสดให้แก่ผู้รับเบี้ยบำนาญ สมมติว่าปีละ ๕ ล้านบาท หรือกว่านั้น ผู้ใดจะต้องการเงินสดก็จะได้ทันที แต่ถ้าผู้รับเบี้ยบำนาญปรารถนาจะใช้เงินนั้น เป็นการลงทุนให้รัฐบาลกู้ยืมสำหรับเป็นทุนออมสินต่อไป ถ้าเป็นเช่นนี้เจ้าทรัพย์จะต้องบอกล่วงสัก ๓ เดือนก่อนจึงจะถอนทุนออกได้.

การลงทุนออมสินควบกันกับลอตเตอรี่ของเทศบาลที่จะออกปีละกี่ครั้งก็ตาม ผู้ที่ซื้อลอตเตอรี่เป็นการเสี่ยงโชคเสมอ ถ้าเคราะห์ดีก็อาจจะเป็นคนมั่งมีขึ้นได้ โดยการเสี่ยงโชคนั้นแน่นอน

การออมสินที่ทำกันอยู่เดี๋ยวนี้ รัฐบาลต้องเสียดอกเบี้ยเปล่าๆ ปีหนึ่งตั้งแสนบาท เพราะไม่กล้าจะเอาทุนออมสินนั้นไปจำหน่ายหากำไรได้อีก ที่แท้จริงถ้าได้เอาทุนนี้ฝากธนาคารชาติก็อาจจะได้ดอกเบี้ยพอใช้ ไหนทุนนี้ยังจะไปช่วยในการค้าของธนาคาร เป็นประโยชน์แก่เจ้าจำนำได้อีกต่อไป

ขอยุตติแต่เพียงนี้พลางก่อน ต่อไปจะได้ชี้แจงถึงการเศรษฐกิจที่เป็นเรื่องยุ่งยากนักหนา และทางได้ทางเสียของการเงินจะมีอะไรบ้าง?

----------------------------

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ