ธนาคารชาติ (๒)
(คัดจาก หนังสือพิมพ์ ‘ศรีกรุง’ ประจำวันเสาร์ที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๙)
ในสมัยประชุมสภาวิสามัญครั้งนี้ กระทรวงการคลังควรจะร่างพระราชกฤษฎีกาขึ้นขออนุมัติต่อสภา ฯ เพื่อจะได้รีบลงมือตั้งธนาคารชาติหรือธนาคารกลางเสียให้สำเร็จไป.
เอาเป็นการเชื่อแน่ล่วงหน้าได้ ว่าท่านผู้มีเกียรติ์จะพร้อมใจออกเสียงให้อนุมัติเป็นเสียงเดียวกัน เมื่อท่านได้พินิจพิเคราะห์เห็นคุณประโยชน์โดยทางตรงและทางอ้อมเป็นเอนกประการดังจะได้ปริยายต่อไป.
๑. ข้อสำคัญยิ่งใหญ่นั้น จะต้องรวบรวมเงินมาลงทุนในการบำรุงโภคทรัพย์ของบ้านเมืองให้เจริญดีเสมอไป เพราะเมื่อไม่มีทุนพอใช้ในการบำรุงนั้น ก็เป็นอันพ้นวิสัยที่จะทำการงานให้สำเร็จไปได้ตามความปรารถนา
ธรรมดาของการค้าขายทุกชะนิดไป ยิ่งมีเงินทุนมากก็ยิ่งจะประกอบการแพร่หลายได้แผ่ไพศาลมากในเวลาอันสั้น ข้างฝ่ายผู้มีทุนน้อยก็ต้องค่อยทำค่อยประหยัดกำไรสะสมขึ้นไว้เป็นทุนตามความสามารถของเขา จนกว่าจะได้ชื่อเป็นธนบดีคนหนึ่ง
โดยกรณีที่ได้กล่าวมานี้ จึงเป็นการจำเป็นในการที่รัฐประศาสโนบายของรัฐบาลควรจะช่วยส่งเสริมธนบดิให้รุ่งเรืองอยู่ได้ เพราะท่านเหล่านี้แหละจะเป็นที่พึ่งของปวงชนราษฎรในทางเศรษฐกิจได้จริง ดังที่จะเห็นเป็นพะยานปรากฎได้ว่า อารยะประเทศฝ่ายทิศตะวันตกและทิศตะวันออกไกล เช่นประเทศจีนและญี่ปุ่น เขาจำเริญขึ้นได้ก็ด้วยอำนาจเงินทุนที่ใช้หมุนเวียนอยู่ในแผ่นดินของเขา ยิ่งเป็นประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบันนี้ ก็ยิ่งจำเริญเดินก้าวหน้าได้รวดเร็ว โดยที่พระเจ้าแผ่นดินเป็นเจ้าของที่ไร่นาเป็นส่วนมาก นอกจากนี้ยังมีเจ้านายในวงศ์ตระกูลเก่าและบริษัททำการค้าขายที่สำคัญ ๆ เช่นพวกตระกูลมิตซุยและห้างมิตซุยบิชิเปนต้น พวกเหล่านี้อยู่ในบังคับของพระเจ้าแผ่นดินมิคาโด ซึ่งมีเงินทุนมากมายยิ่งกว่า พระเจ้าแผ่นดินทั้งหลายในโลก เมื่อพวกกสิกรต้องเป็นหนี้สินยากจนค่นแค้นลง พระเจ้าแผ่นดินซึ่งเป็นเจ้าของที่ไร่นาทั่วไปนั้น ก็จำเป็นต้องอุดหนุนพวกกสิกร อย่างดีที่สุดที่จะทำได้ แต่รัฐประศาสโนบายของประเทศญี่ปุ่นนั้น ใช้วิธีจำหน่ายธนบัตรมากเกินส่วนต้องการของการค้าขาย เพราะฉะนั้น พวกกรรมกรจึงต้องซื้ออาหารการกินด้วยราคาแพง ทั้งต้องจำเป็นประหยัดทรัพย์อย่างกวดขันมาก จึงจะเลี้ยงชีพไปได้เช่นพวกกสิกรทุกวันนี้.
อีกฝ่ายหนึ่ง พวกกสิกรที่มีอาชีพรับจ้างในโรงอุตสาหะกรรม ที่ตั้งโรงงานรวบรวมกันตามจังหวัดทั้งหลาย ที่มีโรงอุตสาหะกรรมทำสินค้าส่งไปขายนอกประเทศ คนพวกนี้ได้ค่าเลี้ยงชีพน้อย จึงจำเป็นต้องเข้ารับจ้างพอได้เงินซื้ออาหารพอกลั้วท้องไปชั่ววันหนึ่ง ๆ นี่ก็เป็นไปตามนโยบายของเจ้าของโรงงานทั้งหลายรวบรวมทุนไว้เป็นกองเดียวกันด้วย เมื่อได้ตัดค่าใช้สรอยน้อยลงเท่าใด ก็ยิ่งมีกำไรในสินค้าที่ทำนั้นมากขึ้นได้โดยราคาถูก เพื่อส่งออกนอกประเทศไปแข่งแย่งขายราคาต่ำ ขับไล่สินค้าที่มีอยู่ก่อนในประเทศเหล่านั้นให้พ่ายแพ้ไป เช่นการทอผ้าในประเทศอินเดียและในประเทศอังกฤษเป็นต้น ข้าพเจ้ายกเอาความส่งเสริมธนบดีของประเทศญี่ปุ่นมาเป็นอุทาหรณ์ ก็เพื่อจะให้เห็นว่า เขานิยมไปในทางที่จะรวมเงินทุนของพวกธนบดีมากมายเพียงใด และกดค่าจ้างกรรมกรลง กระทำให้ต้องซื้อของอุปโภคบริโภคด้วยราคาแพง
ข้างฝ่ายนโยบายโซเชียลลิสติค (Socialistic) ของกรุงสยามนั้น ผิดกันตรงข้าม เรานิยมรัฐบาลเดโมคราซี และเพื่อจะให้สมานกันได้กับคนอนาถานั้น นโยบายของเราจึงควรจะค่อยกดผู้มีทุนมากให้มีอำนาจน้อยลงฝ่ายหนึ่ง แล้วส่งเสริมให้ปวงชนราษฎรที่อนาถาให้มีทุนมากขึ้นกว่าเก่า เข้าทำนองเดียวกันกับนโยบาย ฟาซิสต์ (Facist) ที่มุสโสลินีผู้เผด็จการเมืองประเทศอิตาลีทำอยู่ แต่ตามนโยบายชะนิดนี้ รัฐบาลจำเป็นจะต้องตั้งเจ้าพนักงานสอดมือเข้าไปแซกแซงคอยควบคุมการอุตสาหะกรรม กสิกรรม และหัตถกรรมอย่างกวดขันอยู่เสมอ มิฉะนั้นนโยบายที่จะกดฐานะของผู้มีทุนให้ต่ำลงคงไม่สำเร็จ แต่ถึงเช่นนั้นก็ดี มุสโสลินีก็ต้องเพ่งเล็งโอนเอียงไปช่วยพวกธนบดีอยู่เสมอ
ประเทศสยามถ้าจะเปรียบกันกับอารยะประเทศทั้งหลายแล้ว ก็ต้องนับว่าเป็นประเทศที่ขัดสนด้วยเงินทุน จำเป็นจะต้องพึงทุนของชาวต่างประเทศเข้ามาบำรุงช่วยส่งเสริมสาระพัดการค้าขายของเราทุกแนวทางไป แต่ปัญหาที่เราจะต้องช่วยกันขบให้แตกนั้นก็มีอยู่ที่ตรงว่า เราจะทำประการใดจึงจะบังคับให้ผลประโยชน์ที่งอกงามขึ้นในบ้านเมืองนั้น ให้เป็นเงินใช้หมุนเวียนอยู่ในแผ่นดินไทย เพราะถ้าหากว่าพวกเจ้าของทุนต่างประเทศที่เราชักชวนเข้ามาลงทุนนั้น แน่แล้ว, เขาจะต้องขนกำไรของเขาส่งออกไปยังที่เกิดเมืองบิดรของเขาเป็นธรรมดาอยู่เอง เงินรายนี้จะไม่ได้กลับเข้ามาเป็นเงินหมุนเวียนอยู่ในประเทศเราต่อไป เราต้องถือว่าพวกพ่อค้าต่างประเทศทั้งหลายนั้น เมื่อเขาเห็นว่าจะเอาทุนของเขาเข้ามาลงในเมืองไทยได้ผลดีแล้ว เขาจึงจะลงทุนทำไปจนกว่ากำไรซึ่งจะงอกจากทุนนั้นจะไม่ต่ำกว่ากำไรที่เขาจะได้ในประเทศอื่น เข้าตำราที่เราพูดกันว่า “ต้นไทรเมื่อลูกไทรดก ฝูงนกก็อาศัย ครั้นหาลูกไทรไม่ ฝูงนกก็บินหนี” มีนโยบายที่จะเรียกทุนได้ก็โดยทางที่จะออกใบหุ้นกู้ (Debenture) สัญญาใช้ดอกเบี้ยแก่ผู้ถือหุ้น สมมติว่าธนาคารจะเอาทุนออกแลกกับใบบอนด์ของรัฐบาล เมื่อได้ใบบอนด์นี้ไปแล้ว ก็จะขายเอาต้นทุนคืนได้ตามราคาตลาด
การตั้งธนาคารกลางของชาติ ยังมีแง่ที่สภาผู้แทนราษฎรจะเห็นไปได้หลายแง่นัก ธนาคารและห้างร้านของชาวต่างประเทศในกรุงสยามและประเทศจีนต้องอาศัยพวกกอมปะดอร์ทำการติดต่อกับชาวเมืองทำการแทนผู้จัดการแทบทุกรายไป พวกกอมปะดอร์ต้องวางเงินมัดจำประกันความฉ้อโกงของเขาจนพอเพียงที่ผู้จัดการจะเชื่อถือได้ ข้างฝ่ายผู้จัดการต้องคอยระวังอยู่เป็นเนืองนิตย์ ว่ากอมปะดอร์นั้นจะไม่านำเอาทุนของธนาคารออกให้คนกู้ยืมไปไม่เกินกว่าจำนวนเงินที่กอมปะดอร์ได้วางมัดจำไว้.
ต่อไปนี้ ควรจะดำริการตั้งกิ่งก้านสาขาไปตามทำเลซึ่งเป็นที่รวมสินค้าทั้งหลายโดยรอบข้าง เช่นกับจะตั้งสาขาที่เมืองนครราชสิมาแห่งหนึ่ง เมืองนครลำปางซึ่งเป็นที่ค้าขายติดต่อกันขึ้นไปถึงที่สุดเขตต์จังหวัดเชียงรายทางทิศเหนือ และจังหวัดอื่นๆ ในมณฑลพายัพตลอดเป็นแนวทางตรงแน่วลงมาทางทิศใต้ ทางทิศนี้จะตั้งสาขาที่เมืองนครศรีธรรมราชหรือสงขลาก็ตาม ส่วนสาขาที่ตั้งขึ้นไว้ในจังหวัดเชียงใหม่นั้นไม่เป็นการจำเป็นนัก แต่ถ้ากระทรวงการคลังจะใช้เจ้าพนักงานที่เป็นข้าหลวงคลังอยู่ทุกแห่งไปเป็นสาขา ก็จะได้ใช้ความชำนาญของคนพวกนี้เป็นประโยชน์มาก ในชั้นต้นได้เงินเดือนอย่างต่ำประจำตัวไปก่อน ต่อเมื่อพนักงานจังหวัดใดได้รับความผิดชอบมากขึ้น จึงจำเป็นจะต้องเพิ่มเติมเงินเดือนให้สมควรแก่วิทยะฐานะของเขา ตามสาขาของข้าหลวงคลังเหล่านี้ ผู้รับผิดชอบจะเอาเงินรายได้ของรัฐบาลออกช่วยส่งเสริมการค้าขายในบริเวณที่นั้นให้หมุนเวียนอยู่ได้เต็มที่ ไม่จำเป็นต้องส่งเงินรายได้ลงมากรุงเทพ ฯ เป็นครั้งคราวไปตามที่เคยมาแล้ว ถ้าสาขาใดไม่มีเงินรายได้พอ กระทรวงการคลังจะส่งธนบัตร์บรรจุหีบขึ้นไปไว้สำรองใช้เมื่อเวลาพ่อค้าจะต้องการ ก็จะทำได้โดยดี จำหน่ายธนบัตร์ออกไปเท่าใด ก็ต้องโอนบัญชีส่งมายังกระทรวงทุกครั้งไป ในมณฑลอิสาณมีพลเมืองมาก แต่การค้าขายมีน้อย เมื่อเก็บเงินภาษีอากรได้ก็ต้องส่งตัวเงินลงมากรุงเทพ ฯ ครั้งละแสนสองแสนเช่นที่ทำอยู่ในเวลานี้ การที่ต้องส่งตัวเงินมานั้น ต้องใช้ตำรวจสันติบาลคุมเงินลงมาเสมอ โดยที่ต้องเพิ่มจำนวนสันติบาลให้มีคนมากกว่าการคุมรถตู้ไปรษณีย์ซึ่งขึ้นล่องอยู่ทุกวัน
กำไรที่ธนาคารจะได้นั้น เมื่อเราจำเป็นต้องใช้คนต่างประเทศที่จะแข็งข้อมาเกี่ยงเอาเงินเดือนอย่างมากที่สุดที่จะเกี่ยงเอาได้นั้น บางทีในสองสามปีแรก ธนาคารจะกลับขาดทุนไปเสียอีก ถ้าคนต่างประเทศพวกนี้เอาใจแผ่เผื่อไปข้างจะช่วยคนชาติของเขาให้ได้เปรียบยิ่งขึ้น กำไรก็ยิ่งได้น้อยลงไปอีก เพราะเหตุนี้ควรจะฝึกหัดผู้ช่ำชองในบ้านเมืองขึ้นแทนตัวชาวต่างประเทศให้ได้เร็วที่สุดที่จะทำได้ ทั้งจะได้ความสมรรถภาพดีกว่าด้วย
สมมติว่ารัฐบาลจะตั้งบริษัททุนจำกัดขึ้นเป็นเจ้าของธนาคารกลาง ถ้ารัฐบาลถือหุ้นสักครึ่งหนึ่ง ธนาคารนี้จะต้องมีคนเชื่อถือมากขึ้นเป็นธรรมดาอยู่เอง พวกธนาคารต่างประเทศทั้งหลายที่มีอยู่ ๕-๖ ธนาคารนั้น อาจจะให้ความแนะนำของเขาที่เป็นคุณประโยชน์ได้บ้าง ถ้าเขาจะตั้งเป็นบริษัทซินดิเกต อันเดอร์ไร้ท์ (Syndicate Underwrites) รับเหมาออกทุนให้รัฐบาลสัก ๑๐ ล้านบาท ก็สามารถจะทำการได้สำเร็จ เขาจะมีกำไรขายหุ้นในเมื่อชื่อเสียงของรัฐบาลกำลังจะเฟื่องฟู เพราะความมั่นคงของธนาคารที่รัฐบาลเป็นประกันอยู่ครึ่งหนึ่งนั่นเอง
การที่จะเอาทุนของธนาคารออกจำหน่ายนั้น ในปีแรกสองปีจะจำหน่ายหาหมดไม่ ผู้ถือหุ้นควรจะสัญญาผ่อนส่งเป็น ๔ งวดเป็นต้น แต่ความละเอียดเหล่านี้จะต้องสุดแล้วแต่ผู้จัดการจะวางองค์การลง จะพูดมากไปอาจจะเป็นการเดาผิดไปก็ได้ จึงขอยุตติเสียแต่เพียงนี้ก่อน ขอยืนยันแต่ว่าให้ท่านสมาชิกสภาฯ ผู้มีเกียรติ์ส่งเสริมหลักการของธนาคารชาติให้เต็มที่
----------------------------