นโยบายในเรื่องธนาคาร

(คัดจากหนังสือพิมพ์ ‘ศรีกรุง’ ประจำวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๗๘)

เมื่อได้พูดถึงการตั้งธนาคารชาติหรือธนาคารกลางแล้ว ยังจะมีธนาคารกสิกรรม ธนาคารรับจำนองที่ดิน และธนาคารต่างๆนาๆ อีกมาก แต่ไม่มีธนาคารใดจะมั่นคงถาวรดีไปกว่าธนาคารรับฝากอย่างที่มีลัทธิเป็นธนาคารกลาง หรือธนาคารชาติ ดั่งที่ได้กล่าวไว้ว่า ควรจะเป็นธนาคารสำคัญใหญ่ของประเทศสยาม

ในขณะที่เศรษฐกิจของการเงินกำลังตกต่ำอยู่ และจะยิ่งตกต่ำอีกต่อไปเพียงไรก็ยังรู้แน่ไม่ได้นั้น ตามความสังเกตเห็นได้ชัดแล้วว่า ธนาคารชะนิดที่รับเงินฝากเปนชะนิดที่จะยืดตัวออกหรือหดเข้าได้สะดวกกว่าธนาคารอย่างอื่น หมายความว่าเมื่อการค้าขายเจริญรุ่งเรืองทั่วไป พ่อค้าและธนบดีต่างก็เข้าหาธนาคาร เพื่อจะยืมทุนไปขยายการค้าขายให้กว้างขวางออก ข้างฝ่ายธนาคารเห็นว่าการค้าขายกำลังเจริญต่อไป ธนาคารนั้นก็ขยายทุนเงินเชื่อหนี้ออกจำหน่ายให้ผู้ที่จะต้องการทุนโดยวิธีออกธนบัตรหรือเอกสารเชื่อหนี้เพิ่มเติมขึ้น แต่ถ้าการค้าขายนั้นตั้งต้นจะร่วงโรยลงเมื่อใด ธนาคารรู้ตัวก่อนก็ระงับการเชื่อหนี้ ไม่ปล่อยทุนออกหรือจำกัดการเชื่อหนี้ให้น้อยลง โดยวิธีตั้งพิกัดดอกเบี้ยเงินกู้ให้แพงขึ้น เช่นยกพิกัดดิสเคาน์ให้สูงขึ้นเป็นขั้นๆ ไปจนกว่าไม่มีผู้ใดจะสามารถกู้ทุนไปค้ากำไรได้ ธนบดีหรือธนาคารต่างประเทศก็ส่งทุนของเขาเข้ามาแข่งขันลดค่าดอกเบี้ยให้ผู้ที่จะต้องการทุนนั้นกู้ยืมไป จึงใช้คำว่าธนาคารสามารถจะยืดตัวหรือหดตัวได้ตามกาละเทศะ เพราะฉะนั้นจึงมีกำลังที่จะต้านทานต่อความกระทบกระเทือนซึ่งได้เกิดขึ้น เพราะความอับจนทางเศรษฐกิจของโภคภัยแห่งเศรษฐกิจ ธนาคารชะนิดอื่นที่ได้ลงทุนให้การอุตสาหกรรมทั้งหลายกู้หนีไปนั้น เปนธนาคารชะนิดที่จะได้รับความกระทบกระเทือนหวั่นไหวก่อนเพื่อน เมื่อการสร้างสินค้าตกต่ำน้อยลง

ข้างฝ่ายธนาคารกสิกรก็ประดุจเดียวกัน เมื่อเป็นเวลาเศรษฐกิจตกต่ำ พวกกสิกรขายผลเพาะปลูกออกไม่ได้ โดยกรณีที่สากลโลกสร้างผลเพาะปลูกขึ้นมากเกินไปกว่าความต้องการ เช่น ราคาข้าวในเมืองไทยทุกวันนี้ ชาวนาขายข้าวไม่ได้คุ้มค่าแรงและทุนที่ได้ลงไป ก็ไม่สามารถจะใช้หนี้ธนาคารที่ได้ทดรองทุนนั้นได้ ธนาคารชะนิดนี้ก็เป็นอันว่าจะต้องขาดทุนล่มจมไปเอง หรือข้างฝ่ายธนาคารที่ตั้งขึ้นสำหรับจำนองที่ดิน, เรือก, สวน, ไร่, นานั้น เมื่อที่ดินตกต่ำราคาลง เพราะเจ้าของที่ขาดทุนเละป่วยการแรงที่ได้ลงไป ต้องเลิกการเพาะปลูกนั้นเสีย ที่ดินที่ธนาคารได้รับจำนองเรือก, สวน, ไร่, นาไว้นั้นก็เปนอันหมดค่าอยู่เอง ยกอุทาหรณ์ว่า แต่ก่อนที่ไร่นาหรือที่เรือกสวนทั้งหลายมีราคาซื้อขายกันโดยปกติ สมมติว่าไร่ละ ๑๐๐ บาท ทุกวันนี้จะขายที่ดินนั้นเพียงราคาสักไร่ละ ๒๐ บาทก็แทบจะหาผู้ซื้อไม่ได้ โดยเหตุที่ผู้ใดเป็นเจ้าของที่ดินนั้นจะต้องเสียอากรค่านาและสมพักสรอยู่จนกว่าจะต้องเอาที่นั้นออกขายทอดตลาดเอาเงินให้ค่าอากรให้รัฐบาล

ในประเทศโปแลนด์เขาตั้งธนาคารสำหรับประณอมหนี้ชาวนาและพวกกสิกรทั้งหลายขึ้นชะนิดหนึ่ง เรียกว่า Assistance Bank ธนาคารนี้รัฐบาลตั้งขึ้นไว้สำหรับซื้อหนี้ของธนาคารอื่นๆ โดยหักค่าดอกเบี้ยเงินสดล่วงหน้าไว้ไม่เกินร้อยละ ๑๒ เป็นต้น รัฐบาลตั้งผู้พิพากษาสำหรับเป็นตุลาการกลางขึ้นตัดสินเด็ดขาดได้ ว่าเจ้าหนี้กับลูกหนี้ควรจะผ่อนผันปรองดองกันลงอย่างใดบ้าง ใช้วิธีบังคับให้เจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้ลูกหนี้หาเงินมาใช้หนี้ได้ตั้งแต่ในกำหนดเวลาอย่างสั้น ๗ ปี ใน ๗ ปีนั้นให้เสียดอกเบี้ยปีหนึ่งไม่เกินร้อยละ ๕ หรือถ้าเงินที่กู้หนี้กันเปนจำนวนมาก ก็บังคับให้เจ้าหนี้ผ่อนเวลาให้ยาวออกไปถึงกำหนด ๔๐ ปี โดยคิดดอกเบี้ยไม่เกินกว่าร้อยละ ๕ ต่อปี

ที่บังคับให้ใช้หนี้กันให้เสร็จสิ้นในเวลากำหนด ๗ ปีหรือเร็วกว่านั้น ก็โดยปรารถนาจะช่วยพวกกสิกรชะนิดที่ต้องการทุนไปซื้อเครื่องอุปกรณ์ทำนา, ซื้อโค, ฬา, ม้า, กระบือ, ซื้อพันธ์ข้าวปลูก หรือซื้อที่เขาทำนาเป็นต้น การชะนิดนี้มีลักษณะที่ลูกหนี้จะเก็บทุนและกำไรใช้เจ้าหนี้ได้โดยเวลาอันสั้น ข้างฝ่ายกสิกรที่มีเรือก, สวน, ไร่, นา กว้างขวางใหญ่โตในที่แห่งหนึ่งหรือหลายแห่ง ต้องใช้เงินลงทุนมาก เจ้าหนี้จึงควรจะยอมผ่อนผันให้ลูกหนี้มีเวลายาวออกไป ลูกหนี้จึงจะสามารถหากำไรมาใช้หนี้ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ถึงเจ้าหนี้จะได้เงินน้อยไปก็ยังดีกว่าที่จะไม่ได้เสียเลย ถ้าหากว่าลูกหนี้นั้นไปล้มละลายลง วิธีนี้ไม่กระทำให้ทุนของธนบดีศูนย์หายไปได้เป็นอันขาด หลักสำคัญของรัฐบาลจำเป็นจะต้องถนอมเงินทุนของธนบดีให้ปลอดภัยทุกอย่าง

ในที่นี้น่าจะเอาเยี่ยงอย่างที่รัฐบาลประเทศเปอร์เชียเขาทำกันบ้าง คือเมื่อวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๔๗๕ รัฐบาลออกกฎหมายสำหรับตั้งองค์การธนาคารเชื่อหนี้สำหรับกสิกรขึ้นชะนิดหนึ่ง ในชั้นต้น รัฐบาลต้องขายแผ่นดินซึ่งเป็นที่สาธารณะประโยชน์ที่ว่างเปล่าอยู่เป็นราคาสัก ๒๐ ล้านบาท เงินนี้เอามามอบให้แก่ธนาคารกสิกร เพื่อเอาไว้เป็นกองทุนทดรองให้แก่เจ้าของที่ดินที่ขัดสนยากจน วิธีการทำนาอย่างใดนั้น บังคับให้ทำตามความแนะนำของกระทรวงเกษตรที่จะให้ ทำการเพาะปลูกด้วยวิธีองค์การอย่างใหม่ซึ่งถูกต้องตามวิทยาศาสตร์ ห้ามไม่ให้ใช้เครื่องอุปกรณ์อย่างโบราณ หรือทำการตามแบบโบราณเป็นอันขาด โดยมีกฎหมายตั้งขึ้นไว้สำหรับลงโทษผู้ขัดขืนต่อคำสั่งของกระทรวงเกษตร

โดยความเอื้อเฟื้อของรัฐบาลเปอร์เชียต่อกสิกรนั้น ได้ออกกฎหมายไว้แต่ปีพ.ศ. ๒๔๖๘ อนุญาตให้พวกกสิกรซื้อเครื่องจักรเข้ามาใช้ในการเพาะปลูก โดยไม่ต้องเสียภาษีสินค้าเข้าเมืองในกำหนด ๑๐ ปี

ประเทศเปอร์เชียมีสำมะโนครัวประมาณ ๑๓ ล้าน แต่ราษฎรในพื้นเมืองส่วนมากอ่านเขียนหนังสือไม่ได้ จึงโง่เขลาล้าหลังกว่าประเทศสยามมาก มิใช่แต่เท่านั้น แผ่นดินก็แห้งแล้งขาดน้ำใช้อยู่เสมอ

เมื่อวันก่อน หนังสือพิมพ์ศรีกรุงได้บรรยายถึงลักษณะการเงินที่เป็นอยู่ในประเทศจีนเวลานี้อย่างใด ข้าพเจ้าเชื่อว่ารัฐบาลจีนเดินนโยบายผิด พอที่ว่าจะไม่เร่งให้ราคาธาตุเงินในท้องตลาดตกต่ำลง กลับไปซื้อธาตุเงินจากกรุงลอนดอนช่วยทำให้ราคาถูกลงอีก มีนโยบายที่จะกวาดเงินในท้องตลาดเข้ามาเก็บไว้ใช้ในประเทศ ไม่ต้องเผื่อแผ่ถึงชาติอื่น จีนเห็นว่าทำเช่นนั้นราคาสินค้าของจีนอาจจะสูงขึ้นกว่าเก่าได้มาก แต่ประเทศจีนจะลืมเสียมิได้ว่าจีนนั้นเป็นลูกหนี้ของคนต่างด้าวฝ่ายเดียว สาระพัดทุนที่ได้ลงไปในบ้านเมืองนั้นเป็นทุนของชาวต่างประเทศโดยมาก เมื่อถึงเวลาจะต้องใช้ดอกเบี้ยแก่ชาวต่างประเทศแล้ว ก็จำเป็นจะต้องขายสินค้าภายในขนเงินออกไปใช้เจ้าหนี้เสมอ ถ้าจะใช้สินค้าแทนตัวเงินเชื่อหนี้ ก็ต้องลดราคาสินค้านั้นให้ถูกลง ชาวต่างประเทศเห็นว่าถ้ารับสินค้าไปจำหน่ายจะมีกำไรคุ้มดอกเบี้ยได้ ก็รับสินค้านั้นไปแทนตัวเงิน สรูปความได้ว่า เงินกับสินค้านั้นมีลักษณะเหมือนกัน

ตามสถิติปรากฎว่าในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๔ ประธานาธิบดีสหปาลีรัฐอเมริการูสเวลต์ได้ตั้งต้นประกาศนโยบายที่จะขายธาตุเงินของเขาออกในตลาด เพื่อจะยกราคาเงินแท่งให้สูงขึ้นเป็นส่วน ๑ ใน ๔ ของราคาทองที่มีอยู่ในบ้านเมือง ในเดือนนั้นเอง รัฐบาลจีนขาดทุนราคาเงินแท่งไปถึง ๗๙ ล้านเหรียญ และต่อมาในเดือนกันยายนขาดไปอีก ๕๙ ล้านเหรียญ ตลอดถึงเดือนตุลาคมก็ขาดไปอีก ๕๗ ล้านเหรียญ จึงเห็นชัดว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ธาตุเงินในเมืองจีนมีเท่าใดจะต้องศูนย์หายไปทั้งสิ้น เพื่อจะป้องกันการลักลอบหนีภาษี รัฐบาลจีนจึงตั้งพิกัดเก็บภาษีธาตุเงินขาออกสูงขึ้น ตั้งแต่ ๒ เปอร์เซ็นต์ครึ่ง ถึง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ แต่โดยเหตุที่รัฐบาลจีนเป็นข้างฝ่ายลูกหนี้ชาวต่างประเทศนั้น ก็จำเป็นจะต้องจำหน่ายเงินเหรียญออกใช้หนี้เขา ชาวต่างประเทศได้รับเงินนี้แล้วก็ซื้อสินค้าจีนออกไปอีก ประเทศจีนจะปิดการลักลอบเสียภาษีไม่ได้แน่นอนนัก พวกจีนจึงขนเงินเล็ดลอดหนีภาษีออกไปได้เสมอ คิดดูก็น่าสมเพชเปนอันมาก จีนอุตส่าห์เอาใจ ประจบประแจงสันนิบาตชาติ ขอร้องเอาคนชำนาญของสันนิบาตชาติไปช่วยจัดการเงินถึง ๖ คน แต่คนพวกนี้โดยมากถนัดไปทางการต่างประเทศ หาเข้าใจในการค้าขายของเมืองจีนไม่ ต่างคนก็มีแต่จะช่วยกันหาประโยชน์ให้แก่ชาติของเขาเป็นส่วนใหญ่ อีกประการหนึ่ง ชาวต่างประเทศเห็นว่าประเทศจีนกำลังกระหายจะขนเงินเข้าไปเก็บไว้ในเมืองอย่างมากที่สุดที่จะขนได้คนต่างด้าวที่ฉลาดต่างก็ขนธาตุเงินเข้าไปให้จีนกู้ เพื่อจะเอาดอกเบี้ยและเพื่อจะรับเงินเหรียญจีนที่ใช้ค่าดอกเบี้ยนั้นอีกชั้นหนึ่ง ลงปลายคนพวกนี้ก็จะชื้อสินค้าจืนได้โดยราคาต่ำ เพื่อจะเอาไปจำหน่ายหากำไรนอกประเทศอีกชั้นหนึ่ง

เวลานี้ราคาเหรียญทองอเมริกาแลกกันกับปอนด์สเตอร์ลิงอังกฤษ เปนราคาประมาณ ๔ เหรียญ ๔๖ เซ็นต์ และราคาเงินแท่งเดี๋ยวนี้มีเพียง ๓๔ เปนนีต่อ ๑ เอาน์ตรอย ถ้าหากว่าโปลิซีการเงินของมิสเตอร์รูสเวลต์สำเร็จ ราคาเงินแท่งจะต้องสูงขึ้นถึง ๑ เหรียญ ๒๙ เซ็นต์ต่อ ๑ เอาน์ตรอย เป็นราคา เงิน ๖๐ ชิลลิงค์อังกฤษต่อ ๑ เอาน์ เพราะเหตุนี้รัฐบาลอินเดียจึงประกาศล่วงหน้าไว้ว่าราคาเงินแท่งสูงขึ้นถึง ๕๐ เปนนีเมื่อใด ก็จะขายเงินรูเปียในประเทศอินเดียให้สิ้นเชิง

ได้รับข่าวโดยรอบตัวเช่นนี้ ข้อปัญหาสำหรับเมืองไทยจึงมีว่า จะรอให้ราคาเงินแท่งขึ้นอีกเพียงแค่ไหนจึงควรจะขายเงินเหรียญกสาปน์ของเราให้แก่จีน เพื่อจะซื้อทองเข้ามายึดไว้แทน

----------------------------

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ