ธนาคารของชาติ

(คัดจาก หนังสือพิมพ์ ‘ศรีกรุง’ ประจำวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๗)

ในหมู่นี้ข่าวลือกระฉ่อนว่ารัฐบาลกำลังจะคิดตั้งธนาคารของชาติ เราจึงถือเอาโอกาสนี้มาพูดถึงแผนกเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับการค้าทั้งปวง เพื่อแนะนำให้ท่านทั้งหลายเข้าใจถึงเรื่องการตั้งธนาคารให้แจ่มแจ้ง ดังต่อไปนี้

สรรพสิ่งทั้งปวงที่จะอำนวยชาติให้เจริญได้นั้น ต้องอาศัยความต้องการหรือความปรารถนา (Demand) อยากได้สรรพสิ่งทั้งปวงที่มีค่าจะซื้อขายแลกเปลี่ยนกันได้

เมื่อมหาชนมีความต้องการสิ่งที่มีค่าขึ้นแล้ว ความต้องการนั้นจึงจะส่อให้มีคนทำงานออกแรงไปหาของอันมีค่ามาส่ง (Supply) หรือขายให้แก่ผู้ที่จะต้องการ

หญิงชายทุกคนตั้งแต่เกิดมา ต้องได้รับผลของต้นทุนที่บรรพบุรุษหรือบิดามารดาได้ก่อสร้างขึ้นไว้ เช่น เย่าเรือนและที่อาศัย ตั้งแต่เกิดมาได้อาศัยทุนเดิมเช่นที่กล่าวมาแล้วนี้ เมื่อมีอายุเติบโตมีความคิดและแรงสามารถทำการงานได้ และมีนิสสัยดีประพฤติตัวเป็นพลเมืองดีแล้ว ความดีทั้งหลายนี้ก็เกิดเป็นทรัพย์ ขึ้นในตัวเอง ถึงจะไม่มีเงินทองสำรองเป็นทุนอยู่ เมื่อความคิดและความสามารถของคนนั้นมีค่าที่จะแลกเปลี่ยนเอาทรัพย์หรือแรงงานของผู้อื่นมาใช้ได้แล้ว ผลที่เกิดขึ้นก็จัดว่าเป็นทรัพย์ได้ทั้งสิ้น

ยกตัวอย่างว่า เด็กชายผู้หนึ่งเป็นบุตรของช่างไม้ บิดาได้ให้ความศึกษา ใช้การให้เป็นผู้ช่วยจนเติบโตที่จะเป็นอิสสระแก่ตัวไม่ต้องพึ่งบิดามารดา ความรู้ความชำนาญและฝีมือที่ได้ไว้นั้นก็เกิดเป็นทุนทรัพย์ขึ้นได้ในตัวเอง

ต่อไปมีผู้ต้องการฝีมือของผู้นี้ไปใช้ทำประโยชน์อย่างใด ผู้ต้องการก็จำเป็นจะต้องจ้างวานโดยที่จะนำของอันมีค่ามาแลกเอาแรงทำงานของช่างไม้คนนี้ไป จะให้เงินทองหรือให้ของอะไรก็ตาม ถ้ามีค่าแลกเปลี่ยนพอใจกันทั้งสองฝ่าย ก็เป็นอันว่าการแลกเปลี่ยนนั้นจะเกิดเป็นทรัพย์ขึ้น สิ่งที่ไม่มีค่าแลกเปลี่ยนจะเป็นทรัพย์ไม่ได้ เพราะไม่มีใครจะต้องการ โดยเหตุที่กล่าวมานี้จึงจัดได้ว่าความต้องการต้องมีก่อน ทรัพย์อันมีค่าแลกเปลี่ยนจึงจะเกิดขึ้นได้

นายธนาคารซึ่งมีเชาว์นะอันดี มีนิสสัยซื่อตรงจนคนเชื่อถือนำเงินมาฝาก นายธนาคารเขียนใบเสร็จซื้อเงินฝากนั้นไว้ว่า ผู้ฝากจะต้องการเงินคืนเมื่อใด นายธนาคารจะใช้เงินเท่าที่ฝากไว้ให้ทันที แต่เมื่อนายธนาคารได้เขียนสัญญาให้ผู้ฝากแล้ว ก็เป็นอันว่านายธนาคารมีสิทธิ์ที่จะเอาเงินฝากนี้ไปให้เจ้าจำนำอื่นกู้ยืมต่อไปก็ได้

ในชั้นต้น เพราะเหตุที่นายธนาคารนี้มีความคิดดี ประกอบทั้งความประพฤติและนิสสัยซื่อตรง คุณสมบัติของนายธนาคารจึงกลายเป็นทรัพย์อันมีค่าไปได้ ต่อไปนายธนาคารได้รับเงินฝากประจำและเงินฝากกระแสรายวันมากขึ้นครั้งใด ก็ทำตราสารสัญญาใช้เงินซึ่งเป็นความเชื่อหนี้ของธนาคารกระจายแผ่ไพศาลย์ออกเสมอไป จนที่สุดนายธนาคารจะพิมพ์ตราสารสัญญาใช้เงินให้แก่ผู้ถือเมื่อเวลาต้องการได้ทันที หรือจะพิมพ์เป็นรูปธนบัตรออกใช้ เป็นเงินหมุนเวียนอยู่ในบริเวณธนาคารนั้นก็ได้ ถ้าหากว่านายธนาคารมีเงินตราสำรองไว้พอที่จะแลกเอาธนบัตรกลับคืนตามสัญญาในธนบัตรนั้นได้ เมื่อถึงตอนนี้ก็เป็นอันลบล้างการเชื่อหนี้เสร็จสิ้นไปได้ นายธนาคารต้องเก็บธนบัตรนั้นไม่จำหน่ายออกไปจนกว่าจะมีผู้ต้องการให้ธนบัตรนั้นและมีวัตถุอันมีค่ามาแลกเปลี่ยนเอาไป

การซื้อเชื่อและขายเชื่อทุกวันนี้เป็นสิ่งสำคัญในการค้าขายทั่วไป

เหรียญกระสาปน์เงินและทองซึ่งรัฐบาลพิมพ์ขึ้นไว้เป็นเงินตรานั้น จะใช้ได้ดีก็ต้องอาศัยความเชื่อถือของพลเมืองเป็นใหญ่ นอกจากนี้ยังมีตราสารต่าง ๆ ดังจะกล่าวต่อไปก็ใช้แทนเงินทองได้เหมือนกัน ถ้าหากว่ามีผู้เชื่อถือเช่นธนบัตรของกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ (Treasury note) ธนบัตรของธนาคาร (Bank note) พันธบัตรของรัฐบาล (Government bond) ตราสารสัญญาใช้เงิน (Promissory note) ตั๋วแลกเงิน (Bills of Exchange) ใบสั่งจ่าย (Cheque) เอกสารรับประกัน (Security) ใบรับประกันเงินฝากของธนาคาร (Deposit receipt)

สรุปได้ความว่าสิ่งที่มีผู้เชื่อถือว่ามีค่าแลกเปลี่ยนได้จริงแล้ว ก็รวมความได้ว่าการค้าขายในเมืองต้องเป็นแต่เชื่อและหนี้เท่านั้น เอกสารและตราสารทั้งหลายที่กล่าวมา รวมกันเข้าจะเรียกได้ว่าเป็นคะแนนใช้แทนเงินตรา ที่ใช้หมุนเวียนกันอยู่ (Currency) ในบ้านเมืองทั่วไป ลักษณะของเงินตราและธนบัตรมีอยู่ว่าที่ตรงคะแนน ซึ่งผู้ทรงไว้เป็นเจ้าหนี้แก่คนทั้งหลายในค่าแรงที่ออกไปแล้ว แต่จะไม่ได้สิ่งที่มีค่าแลกเปลี่ยนตอบแทนจนกว่าผู้ถือจะได้จำหน่ายออกไป และต่อนั้นไป ผู้ใดได้รับคะแนน ผู้นั้นก็จะเป็นเจ้าหนี้แก่คนทั้งหลายเป็นลำดับเนื่องไปอีก เพราะฉะนั้นคะแนนทั้งหลายที่กล่าวมา จึงเป็นเงินใช้หมุนเวียนในบ้านเมือง (Currency)

แต่จำนวนเงินทองที่มีอยู่นั้นหาเพียงพอกับที่จะรับรองแลกเอกสารเชื่อหนี้ทั้งหลายที่ใช้เป็นเงินหมุนเวียนอยู่ในบ้านเมืองได้ไม่ หากว่าเอกสารสัญญาที่ใช้หมุนเวียนแทนเงินอยู่เมื่อชำระหนี้กันเสร็จสิ้นไปแล้ว เอกสารเหล่านั้นก็เป็นอันสิ้นอายุที่จะใช้ได้ต่อไป การค้าขายบวกลบหนี้กันเป็นธรรมเนียมเช่นที่กล่าวมานี้

----------------------------

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ