นโยบายการบำรุงเศรษฐกิจของบ้านเมืองที่ตกต่ำให้กลับฟื้นขึ้นได้

(คัดจาก หนังสือพิมพ์ ‘ศรีกรุง’ ประจำวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๗)

เมื่อไรธนาคารชาติของกรุงสยามจะตั้งขึ้นได้ เป็นเรื่องที่คนทั้งหลายกระหายอยากทราบความจริงอยู่มาก เพราะได้ทราบว่าตามโครงการณ์ของธนาคารชาติที่พระยาสุริยานุวัตร เสนาบดีคลังเก่าได้ร่างขึ้นเสนอนั้น วางกำหนดไว้ว่า จะต้องลงทุนถึง ๒๐ ล้านบาท เพื่อจะขอสัมปทานให้มีอำนาจออกธนบัตรเงินเชื่อหนี้ได้ถึง ๕๐ ล้านบาท ซึ่งจะได้เอามาใช้หมุนเวียนต่างเงินตรา รวมทั้งทุนด้วยจะเป็นจำนวนถึง ๗๐ ล้านบาท แต่จำนวนเงินนี้มีข้อบังคับไว้ว่าจะเอาไปใช้แต่ฉะเพาะในสิ่งที่มีค่ารับรองเป็นประกันอย่างมั่นคง มิฉะนั้น ธนาคารก็จะทดรองเงินให้ไม่ได้ นอกจากการค้าซื้อหนี้ขายหนี้และหากำไรในค่าปริวรรตแลกเงินกับต่างประเทศ อย่างที่ธนาคารสามัญทำกันอยู่ทั่วไป โดยที่จะไม่ให้เงินทดรองนั้นไปติดค้างอยู่ไม่เกินกำหนด ๗ วัน ๑ เดือน ๓ เดือน ๖ เดือนเป็นอย่างช้าที่สุด โดยวัตถุประสงค์ที่จะเรียกเอาต้นเงินนั้นมาใช้หมุนเวียนต่อไป นอกจากนี้ ห้ามไม่ให้ธนาคารรับจำนองหรือค้าที่ดิน เรือกสวนไร่นา เหมืองแร่ ป่าไม้หรือค้าเรือกำปั่น ซึ่งเป็นสิ่งอันไม่แน่นอนว่าราคาของเหล่านั้นจะยั่งยืนอยู่ได้เป็นอันขาด วัตถุประสงค์ของธนาคารมีแต่จะช่วยเหลือเกื้อกูลให้ผู้ขัดสนยากจน แต่มีนิสสัยซื่อตรงดีและมีประกันรับรองไม่ต่ำกว่า ๒ ชื่อ ในที่สุดแม้จะขอกู้เงินไปทำทุนเพียง ๕๐ บาท เมื่อธนาคารเห็นว่าผู้กู้และผู้รับประกันมีฐานะมั่นคงพ้นอันตรายแล้ว ธนาคารจึงจะยอมให้กู้ไปได้ กล่าวแต่เพียงผู้กู้ที่ขัดสนยากจนเท่านี้ ธนาคารจะทดรองทุนให้ตั้งแต่ ๑๐ ถึง ๓๐ ล้านบาท ก็แทบจะไม่พอกับผู้ที่จะต้องการ

เมื่อคิดไปถึงการลงทุนค้ากำไรในสิ่งที่มีของอันมีค่าเปนประกันรับรองอยู่นั้น ธนาคารอาจจะให้กู้ยืมไปทำทุนได้กว่า ๒๐ ล้านบาท กล่าวคือจะต้องทดรองในการก่อสร้างตลาด ซึ่งเทศบาลทั้งหลายทั่วพระราชอาณาเขตต์จะต้องการกู้ยืมไปทำทุนหากำไรเก็บค่าเช่า หรือตัดถนน ปลูกสร้างห้องแถวและตึกร้านในทำเลท้องที่เทศบาล เพื่อจะเก็บค่าเช่ามาใช้ต้นเงินกู้ได้อย่างแน่นอน ไหนยังจะมีการตั้งโรงฆ่าสัตว์ การทำไฟฟ้า สูบน้ำประปา การทดน้ำ จนที่สุดถึงการลงทุนสร้างรถและเรือบรรทุกสินค้าประกอบการคมนาคมเหล่านี้ เงิน ๒๐ ล้านบาทจะไม่เพียงพอความต้องการของเทศบาล จังหวัด อำเภอ และหมู่บ้านเสียอีก

จ่ายเงินจำนวนมากถึง ๗๐ ล้านบาทไปทั่วพระราชอาณาเขตต์ได้เช่นนี้ ก็เป็นอันเห็นแน่ได้ว่า เศรษฐกิจของบ้านเมืองจะกลับฟื้นตัวดีขึ้นได้โดยเร็ว เงินทองหรือธนบัตรเป็นแต่คะแนนตั้งราคาซื้อขายกัน คะแนนนี้ตกไปถึงมือผู้ใดผู้นั้นก็จะเอาไปใช้จ้างกรรมกรทำประโยชน์ หรือซื้อของมาใช้ในการค้าขายได้รอบไป กี่ครั้งกี่หนก็ดี คะแนนนี้คงจะเป็นเครื่องมือใช้หมุนเวียนในการค้าได้ตลอดไป คะแนนชิ้นเดียวเช่นเงินบาทสามารถจะใช้ได้หลายสิบหลายร้อยครั้ง เพราะไม่เหมือนกับผลไม้ที่บริโภคแล้ว ก็เป็นอันศูนย์หายไปไม่มีอะไรเหลือติดอยู่ นอกจากที่จะเป็นอาหารเลี้ยงของผู้บริโภคไปชั่วมื้อหนึ่งเท่านั้น

ข้อสำคัญใหญ่สำหรับธนาคารนั้น จะทดรองทุนให้ผู้ใดกู้ยืมไป ก็ต้องให้รู้ได้แน่นอนเสียก่อนว่า จะได้ดอกเบี้ยและต้นทุนกลับคืนมาได้ทุกรายไป เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ธนาคารของชาติก็มีแต่จะรุ่งเรืองอยู่เสมอ ไม่มีหายนะจะเกิดขึ้นได้ เว้นเสียแต่จะเป็นการเหลือวิสัยที่มนุษย์ธรรมดาจะป้องกันได้ เช่นภัยทางการสงคราม อัคคีภัย และอุทกภัยเป็นต้น

นอกจากการตั้งธนาคารกลางของชาตินี้ เรายังได้ทราบนโยบายของรัฐบาลเจ้าคุณพหล ฯ ต่อไปอีกว่า ท่านจะให้รัฐมนตรีกระทรวงคลัง เรียกเอาทุนสำรองที่ฝากไว้ในเมืองต่างประเทศเข้ามาไว้เสียในมือให้สิ้นเชิง จำนวนเงินนี้ จะมีตั้ง ๗๐ ล้านบาท ซึ่งเมื่อเอาเข้ามาไว้ในมือแล้ว รัฐบาลก็จะมีกำลังประกอบการงานต่างๆนาๆ ที่กระทรวงทะบวงการทั้งหลายได้ตั้งโครงการณ์ขึ้นไว้ หากไม่มีเงินใช้พอ โครงการณ์นั้นก็ดำเนินไปไม่ได้ตามความคิด เมื่อรวมเงินทุนสำรอง ๗๐ ล้านบาทที่กล่าวนี้เข้ากับทุนเงินเชื่อ หนี้ของธนาคาร จะเปนจำนวนเงินถึง ๑๔๐ ล้านบาท ถ้าได้เอาออกมาใช้ทำธุระต่อไปได้ ก็ไม่มีที่สงสัยเลยว่า ฐานะทางเศรษฐกิจของเราจะไม่เฟื่องฟูขึ้นได้ทันตาเห็น ลักษณะการลงทุนทำผลประโยชน์ ตามสมัยปัจจุบันนี้ มีอยู่ว่าจะทำอะไรก็ต้องทำกันโดยขนานใหญ่ ให้ได้สำเร็จไปในน้อยเวลาที่สุดที่จะทำได้ กล่าวคือ ถ้าจะทำการเพาะปลูกพืชพันธุ์ไม้ หรือธัญญชาติอย่างใด ก็ต้องทำกันโดยขนานใหญ่ ที่ต้องอาศัยเครื่องจักรเป็นกำลังจึงจะทำลุล่วงไปได้โดยรวดเร็ว จะขุดคลองหรือทำถนนหนทางรถยนต์เดินสายใด ก็ให้ระดมแรงคนงานตั้งร้อยตั้งพัน ทำเสียพร้อมกันในขณะเดียว พอที่ว่าตามธรรมดาการทำถนนและคลองนั้น กว่าจะสำเร็จลุล่วงได้ จะต้องคอยไปตั้งหลายปี เพราะไม่มีทุนพอจะใช้ ในชั้นหลังนี้ มีทุนพอแล้ว ก็ต้องรีบขุดคลองหรือทำหนทางนั้น สายหนึ่งๆ ให้ลุล่วงไปได้ในน้อยเดือน เมื่อคลองและถนนสายใดสำเร็จแล้ว ผลประโยชน์ทางตรงและทางอ้อมที่จะเกิดขึ้น จะตั้งต้นได้ในทันที การคมนาคมสายใดถ้าเดินได้สะดวกแล้ว การทำมาค้าขายที่ต้องอาศัยทางนั้นจะสะดวกยิ่งขึ้น และค้าขายได้รวดเร็วขึ้นตามกัน หรือจะว่าทางการเพาะปลูกผ้าย, ปอ, และป่านที่เปนไม้ล้มลุก ถ้าได้ใช้เครื่องจักรแทรกเตอร์ช่วยแล้ว ก็สามารถจะทำในสิ่งเดียวได้แลแผ่ไพศาลกว้างใหญ่ไปตั้งหลายพันหลายหมื่นไร่ในเวลาอันน้อย ถ้าเป็นไม้ใหญ่ที่ต้องคอยช้าตั้ง ๑๐ ปี จึงจะผลิดอกออกผล แม้จะลงทุนทำให้สำเร็จไปก็สามารถจะทำได้ เพราะดอกและผลที่จะเกิดขึ้นนั้น อาจจะขายได้ทุนกลับคืนมาอีกหลายเท่าในกำหนด ๓๐ ปี เพียง ๓๐ ปีนี้ ถ้าใช้ดอกเบี้ยเงินกู้เพียงร้อยละ ๕ ต่อปี ในกำหนด ๑๔ ปี จะเป็นจำนวนเงินต้นชนดอกมากขึ้นอีกเท่าตัว หรือต้นเงิน ๑๐๐ บาท คิดดอกเบี้ยทบทุนเรื่อยไป ทุนนั้นจะต้องทวีคูณเป็น ๒๐๐ บาท คิดแต่เพียงเท่านี้ การปลูกพันธ์ไม้ใหญ่ก็จะได้ต้นทุนกลับคืนพอเสียแล้ว

การที่รัฐบาลจะลงทุนมากมายตามที่กล่าวนั้น จำเป็นจะต้องแบ่งออกเป็น ๒ แผนก แผนกหนึ่งจะต้องอาศัยเงินของกระทรวงการคลัง ที่เป็นรายได้จากภาษีอากรตามงบประมาณรายปี ไม่ใช่ว่าจะให้ชักเอาต้นทุนค้าออกใช้อย่างเดียว แต่ต้นทุนสำหรับการค้านั้น จะใช้เท่าไรก็เป็นอันว่าจะต้องได้ต้นทุนกลับมาได้โดยแน่นอน จึงจะลงทุนไปได้

----------------------------

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ