คำนำ

เจ้าดารารัศมี พระราชชายา ปรารภจะพิมพ์หนังสือเปนของแจกในงานปลงศพ เจ้าทิพเนตร ต. จ. ภรรยาหลวงของเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ เจ้านครเชียงใหม่ ตรัสให้ข้าพเจ้าช่วยเลือกเรื่องหนังสือในหอพระสมุดฯ พิมพ์ถวายสักเรื่อง ๑ แลให้เรียบเรียงเรื่องประวัติของเจ้าทิพเนตรพิมพ์ไว้ในหนังสือนั้นพอให้เปนที่รฦกแก่ญาติมิตรทั้งปวงด้วย ข้าพเจ้ารับเปนธุระด้วยความยินดี ที่จะได้มีส่วนช่วยงานศพเจ้าทิพเนตร ซึ่งข้าพเจ้าได้คุ้นเคยชอบพอมาช้านาน จะเรียบเรียงเรื่องประวัติของเจ้าทิพเนตรก่อน

ประวัติเจ้าทิพเนตร อินทวโรรสสุริยวงศ์

เจ้าทิพเนตรนี้ ชาวเชียงใหม่เรียกกันตามประเพณีเมืองว่า “แม่เจ้าทิพเนตร” เกิดที่เมืองนครเชียงใหม่ในรัชกาลที่ ๔ เมื่อณวันพุฒที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ พระพุทธศักราช ๒๔๐๒ ปีมแมเอกศก

เจ้าทิพเนตรเกิดในสกุลณเชียงใหม่ แต่ถ้านับโดยลำดับที่สืบสายโลหิตลงมาจากพระยาสุรวฦๅไชย (ทิพช้าง) ผู้เปนต้นวงศ์สกุลณเชียงใหม่ ณลำปาง แลณลำพูน ทั้ง ๓ สกุลนี้ เจ้าทิพเนตรเปนชั้นที่ ๕ ทั้งทางฝ่ายบิดาแลมารดา บิดาของเจ้าทิพเนตรชื่อเจ้ามหาเทพณเชียงใหม่ เปนบุตรของพระเจ้ามโหตรประเทศราชาธิบดินทร นพีศรีนครมหานครธิสฐานภูบาลบพิตร สถิตย์ในอุตมชิยางคราชวงศาธิบดี พระเจ้านครเชียงใหม่ กับแม่เจ้าคำแผ่น พระเจ้ามโหตรประเทศ ฯ เปนบุตรพระเจ้าเชียงใหม่ น้อยธรรม ซึ่งเรียกกันว่าพระเจ้าเชียงใหม่ช้างเผือก เพราะเหตุที่ได้ช้างเผือก (พระยาเสวตรไอยรา) ถวายเมื่อในรัชกาลที่ ๒ พระเจ้าเชียงใหม่ช้างเผือกนั้นนับใน “เจ้า ๗ ตน” อันเปนบุตรเจ้าฟ้าชายแก้ว คือ

ที่ ๑ เจ้ากาวิละ ได้เปนพระเจ้าเชียงใหม่ในรัชกาลที่ ๑

ที่ ๒ เจ้าคำโสม ได้เปนพระยานครลำปางในรัชกาลที่ ๑

ที่ ๓ เจ้าน้อยธรรม ได้เปนพระเจ้าเชียงใหม่ (ช้างเผือก) ในรัชกาลที่ ๒

ที่ ๔ เจ้าดวงทิพ ได้เปนพระเจ้านครลำปางในรัชกาลที่ ๒

ที่ ๕ เจ้าหมูล่า ได้เปนพระยาอุปราชเมืองเชียงใหม่ในรัชกาลที่ ๒

ที่ ๖ เจ้าคำฟั่น ได้เปนพระยาเชียงใหม่ในรัชกาลที่ ๒

ที่ ๗ เจ้าบุญมา ได้เปนพระเจ้าลำพูนในรัชกาลที่ ๓

เจ้าฟ้าชายแก้บิดาของเจ้า ๗ ตน เปนบุตรของพระยาสุรฦๅไชย (ทิพช้าง) ผู้เปนต้นสกุลวงศ์

ทางฝ่ายมารดาของเจ้าทิพเนตรนั้น แม่เจ้าทิพโสมมารดาของเจ้าทิพเนตร เปนธิดาของเจ้าราชบุตรทนันไชยกับแม่เจ้าคำมูล เจ้าราชบุตรทนันไชยเปนบุตรของพระยาเชียงใหม่ พุทธวงศ์ ซึ่งพวกชาวเมืองเรียกกันว่า “เจ้าหลวงแผ่นดินเย็น” พระยาเชียงใหม่พุทธวงศ์ เปนบุตรเจ้าพ่อเรือน เจ้าพ่อเรือนเปนบุตรพระยาสุรวฦๅไชย (ทิพช้าง) เจ้าทิพเนตรจึงเปนชั้นที่ ๕ ทั้งฝ่ายบิดาแลมารดาโดยลำดับดังแสดงมา

เจ้าทิพเนตรได้ทำการวิวาหมงคลกับเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์แต่ยังมีนามปรากฏว่าเจ้าสุรยะ บุตรพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ เมื่อยังดำรงยศเปนเจ้านครเชียงใหม่อยู่ในรัชกาลที่ ๕ ต่อมาเจ้าสุริยะรับราชการได้พระราชทานสัญญาบัตรเปนตำแหน่งเจ้าราชบุตรเมืองนครเชียงใหม่ แล้วได้เลื่อนขึ้นเปนที่เจ้าราชวงศ์ แลเปนเจ้าอุปราชโดยลำดับมา ครั้นเมื่อพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ถึงพิราลัย จึงทรงพระกุรณาโปรดตั้งเปนเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ ฯ เจ้านครเชียงใหม่นับเปนที่ ๘ ซึ่งได้สนองพระเดชพระคุณมาในพระบรมราชจักรีวงศ์นี้ คือ

ที่ ๑ พระเจ้าเชียงใหม่กาวิละ ในรัชกาลที่ ๑

ที่ ๒ พระเจ้าเชียงใหม่ช้างเผือก (น้อยธรรม) ในรัชกาลที่ ๒

ที่ ๓ พระยาเชียงใหม่คำฟั่น ในรัชกาลที่ ๒

ที่ ๔ พระยาเชียงใหม่พุทธวงศ์ ในรัชกาลที่ ๓

ที่ ๕ พระเจ้ามโหตรประเทศ (มหาวงศ์) เปนพระยาเชียงใหม่ในรัชกาลที่ ๓ เลื่อนเปนพระเจ้าเชียงใหม่ในรัชกาลที่ ๔

ที่ ๖ พระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงศ์ (สุริยะ) ในรัชกาลที่ ๔

ที่ ๗ พระเจ้าอินทรวิชยานนท์ (อินทนนท์) ในรัชกาลที่ ๕

ที่ ๘ เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ (สุริยะ) ในรัชกาลที่ ๕

ที่ ๙ เจ้าแก้วเนาวรัฐ (แก้ว) ในรัชกาลปัจจุบันนี้

เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์กับเจ้าทิพเนตรมีลูกคนเดียวแต่เจ้าราชบุตร (เลาแก้ว) ซึ่งรับราชการในตำแหน่งเสนาคลังเมืองนครเชียงใหม่อยู่บัดนี้ แต่มีบุตรหลานเจ้าราชบุตรซึ่งจะสืบสกุลเจ้าอินทวโรรสแลเจ้าทิพเนตรต่อไปหลายคน

เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๕ เจ้าทิพเนตรได้ลงมากรุงเทพฯ กับเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์หลายครั้ง ได้เคยเข้าเฝ้าแหนเนืองๆ พระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ ตติยจุลจอมเกล้าฝ่ายใน ให้เปนสมาชิกพิเศษแลพระราชทานบำเหน็จอย่างอื่นๆ โดยฉันผู้ที่พระองค์ทรงพระเมตตาก็อิกหลายอย่าง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลปัจจุบันนี้ก็ได้ทรงคุ้นเคย แต่เมื่อยังดำรงพระยศเปนสมเด็จพระยุพราช เสด็จไปประพาศถึงเมืองเชียงใหม่ เจ้าทิพเนตรได้ช่วยเจ้าเชียงใหม่สามีจัดการรับเสด็จสนองพระเดชพระคุณในครั้งนั้น ถึงเจ้านายพระองค์อื่นๆ ที่ได้เสด็จไปถึงเมืองเชียงใหม่ก็ดี ฤๅที่มิได้มีโอกาศเสด็จไปก็ดี ที่ได้ทรงคุ้นเคยกับเจ้าทิพเนตรก็มาก ส่วนที่เมืองเชียงใหม่นั้น ตั้งแต่เจ้าสามียังเปนเจ้าอุปราช คนทั้งหลายก็นับถือเจ้าทิพเนตรว่าเปนเจ้าหญิงผู้ใหญ่ในสกุลผู้หนึ่ง ตลอดมาจนสามีได้ครองเมืองนครเชียงใหม่ แต่มาในตอนหลังเจ้าทิพเนตรป่วยเปนวรรณโรคภายใน อาการซุดเพียบมาก ถึงคาดกันว่าจะสิ้นชีพหลายครั้ง แต่กลับฟื้นขึ้น จึงเปนคนไข้เรื้อรังซึ่งต้องรักษาพยาบาลอยู่แต่กับเรือนมาช้านาน จนเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ถึงอสัญกรรมไปก่อน เจ้าทิพเนตรได้ปลงศพสนองคุณสามีแล้วอยู่มาจนวันที่ ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ จึงสิ้นชีพ คำณวนอายุได้ ๕๙ ปี สิ้นเนื้อความตามประวัติของเจ้าทิพเนตรอินทวโรรสสุริยวงศ์เพียงนี้

ว่าด้วยการเลือกหนังสือ

การเลือกเรื่องหนังสือสำหรับที่จะพิมพ์แจกในงานศพเจ้าทิพเนตรอินทวโรรสสุริยวงศ์ เหมือนหนึ่งมีเขตรจำกัด เพราะจะแจกหนังสือนั้นทั้งที่เมืองเชียงใหม่แลที่ในกรุงเทพ ฯ ประกอบกับที่เปนหนังสือของพระราชชายา แลเปนหนังสือแจกในงานศพเจ้าภรรยาของเจ้านครเชียงใหม่ จำต้องเลือกหนังสือซึ่งเปนเรื่องสำคัญเนื่องด้วยเมืองนครเชียงใหม่ อันควรจะพอใจอ่านกันทั้งที่ในกรุงเทพฯ แลในมณฑลภาคพายัพ จึงจะเหมาะแก่การ หนังสือเช่นนั้นก็มีแต่ในจำพวกพงศาวดาร จึงเหมือนมีเขตรจำกัดอยู่ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้

หนังสือพงศาวดารมณฑลภาคพายัพมี ๒ อย่าง คือเปนหนังสือแต่งในภาษาบาฬีอย่าง ๑ เปนหนังสือแต่งในภาษาไทยอย่าง ๑ พิมพ์แล้วบ้าง ยังไม่ได้พิมพ์บ้างทั้ง ๒ อย่าง ในจำพวกพงศาวดารแต่งในภาษาบาฬีซึ่งนับถือกันว่าเปนเรื่องสำคัญมาแต่โบราณมี ๔ เรื่อง คือเรื่อง รัตนพิมพ์วงศ์เรื่อง ๑ เรื่องสิหิงคนิทานเรื่อง ๑ เรื่องจามเทวีวงศ์เรื่อง ๑ เรื่องชินกาลมาลินีเรื่อง ๑

หนังสือ ๔ เรื่องที่กล่าวมานี้ เรื่องชินกาลมาลินี พระบาทสมเด็จฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้โปรดให้ราชบัณฑิตแปลเปนภาษาไทยสำเร็จแต่ในรัชกาลที่ ๑ เรื่องรัตนพิมพ์วงศ์ แลเรื่องสิหิงคนิทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ปัจจุบันนี้ แต่ยังดำรงพระยศเปนสมเด็จพระยุพราช ทรงเปนสภานายกกรรมการหอพระสมุดฯ สำหรับพระนคร ได้โปรดให้พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) เปรียญ แต่เมื่อยังเปนหลวงประเสริฐอักษรนิติแปลเปนภาษาไทยสำเร็จในรัชกาลที่ ๕ อิก ๒ เรื่อง เรื่องจามเทวีวงศ์ กรรมการหอพระสมุดฯ ได้ให้พระยาปริยัติธรรมธาดา (แพ ตาละลักษมณ์) เปรียญ ช่วยกันแปลเปนภาษาไทยสำเร็จในรัชกาลปัจจุบันนี้อิกเรื่อง ๑

ส่วนการพิมพ์ เรื่องชินกาลมาลีนีกับเรื่องรัตนพิมพ์วงศ์ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนลพบุรีราเมศวร์ ได้ทรงพระศรัทธารับพิมพ์ทั้งอัดถแลแปลเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๔๕๑ เรื่อง ๑ เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๕๕ เรื่อง ๑ เรื่องสิหิงคนิทาน พระยาพิทักษ์เทพมณเฑียร (กระจ่าง) ได้มีศรัทธารับพิมพ์ทั้งอัดถแลแปลเมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๔๕๖ อิกเรื่อง ๑ แต่เรื่องจามเทวีวงศ์ยังหาได้พิมพ์ไม่ เพราะพึ่งแปลสำเร็จไม่ช้านัก

จะเห็นได้โดยความที่กล่าวมา ว่าหนังสือซึ่งจะพิมพ์ในงานศพเจ้าทิพเนตร อินทวโรรสสุริยวงศ์คราวนี้ จะพิมพ์เรื่องใดให้เหมาะกว่าเรื่องจามเทวีวงศ์เห็นจะไม่มี ด้วยเปนหนังสือพงศาวดารซึ่งนับถือกันมาแต่โบราณเรื่อง ๑ แลยังเหลืออยู่เรื่องนี้เรื่องเดียวที่ยังมิได้พิมพ์ ถ้าพิมพ์ขึ้นก็จะเปนอันได้พิมพ์หนังสือพงศาวดารมณฑลภาคพายัพซึ่งโบราณบัณฑิตได้แต่งไว้ในภาษาบาฬีครบทั้ง ๔ เรื่อง เพราะฉนั้นข้าพเจ้าจึงได้ทูลขอให้พระราชชายาพิมพ์หนังสือจามเทวีวงศ์ฉบับนี้

อธิบายเรื่องจามเทวีวงศ์

เหตุใดหนังสือพงศาวดารที่แต่งในมณฑลภาคพายัพแต่โบราณ จึงแต่งในภาษาไทยบ้างแลแต่งในภาษาบาฬีบ้าง อันเหตุที่แต่งในภาษาไทยนั้นไม่ต้องอธิบายก็จะเข้าใจได้ง่าย เพราะภาษาไทยเปนภาษาของชาวเมือง ผู้ที่แต่งหนังสือก็เปนไทย การที่แต่งในภาษาไทยย่อมเปนธรรมดา แต่เหตุที่แต่งในภาษาบาฬีนั้นเนื่องด้วยเรื่องตำนานพระพุทธสาสนาในประเทศนี้ จำต้องเล่าเรื่องประวัติของสาสนวงศ์จึงจะทราบเหตุได้แจ่มแจ้ง

ตามเค้ามูลที่ปรากฏในกาลบัดนี้ พระพุทธสาสนาแรกมาประดิษฐานในประเทศของเรานี้ เมื่อพระพุทธศักราชล่วงได้ประมาณ ๒๓๕ ปี ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชเปนพุทธสาสนูปถัมภก ให้พระสงฆ์ทำตติยสังคายนาที่เมืองปาตลีบุตรแล้ว ทรงพระอาราธนาพระเถรานุเถระให้มาเที่ยวสั่งสอนพระพุทธสาสนาในนานาประเทศ มีลังกาทวีปแลสุวรรณภูมิประเทศ คือประเทศของเรานี้เปนต้น ลัทธิพระพุทธสาสนาในชั้นนั้นบูชาพระสถูป แลรูปพระธรรมจักรเปนที่หมายแทนองค์สมเด็จพระสาสดา ยังหาได้ทำพระพุทธรูปไม่ พระไตรปิฎกซึ่งสู่สังคายนาก็เปนภาษาบาฬี มีโบราณวัตถุที่ขุดได้ในบริเวณพระปฐมเจดีย์ปรากฏอยู่เปนหลักฐานว่า พระพุทธสาสนาได้มาประดิษฐานในประเทศนี้แต่ชั้นนั้น ครั้นต่อมาพวกพุทธสาสนิกชนชาวอินเดียคิดสร้างพระพุทธรูปขึ้น แบบอย่างก็แพร่หลายมาถึงประเทศนี้ แลประเทศอื่นที่ถือพระพุทธสาสนาด้วยกัน คือลังกาทวีปเปนต้น

จำเนียรกาลต่อมาเมื่อพระพุทธศักราชได้ประมาณ ๖๗๐ ปี เกิดลัทธิมหายานขึ้นในพระพุทธสาสนาซึ่งถือกันในอินเดีย พระเจ้ากนิษกะซึ่งครองคันธารราฐเปนพุทธสาสนูปถัมภกฝ่ายลัทธิมหายาน ให้พระสงฆ์ทำสังคายนาพระไตรปิฎกแปลงไปเปนภาษาสังสกฤต แลพวกมหายานเอาลัทธิไสยสาตรเข้ามาเจือปน สมมตพระพุทธเจ้าแลพระโพธิสัตวเพิ่มเติมขึ้นอิกมากมายหลายพระองค์ ที่ในอินเดียจึงเกิดถือพระพุทธสาสนาเปน ๒ ลัทธิ ลัทธิเดิมเรียกว่าสาวกยาน (ฤๅหินยาน) ลัทธิใหม่เรียกว่ามหายาน ลัทธิมหายานก็ได้มาถึงประเทศนี้ เหมือนลัทธิสาวกยานซึ่งมาก่อน ยังมีพระพุทธรูปแลรูปพระโพธิสัตวต่างๆ ทั้งที่เปนรูปหล่อด้วยโลหะแลเปนรูปพิมพ์ด้วยดินเผาบ้างดินดิบบ้างปรากฏอยู่ พระไตรปิฎกที่แปลงเปนภาษาสังสกฤตก็ยังปรากฏทั้งในอักษรจารึกแลในคำสวด ยกเปนตัวอย่าง เช่นคำรับสรณคมน์ในการบรรพชาแต่ก่อนที่ให้รับเปนภาษาบาฬีเที่ยว ๑ แล้วให้รับเปนภาษาสังสกฤตอิกเที่ยว ๑ นั้นเปนต้น แม้พระปริตต่างๆ ที่พระสงฆ์สวดเช่น “สมฺพุทฺเธ” ก็น่าจะเปนปริตรในลัทธิมหายานมีปะปนอยู่ไม่น้อย คงจะถือทั้ง ๒ ลัทธิปะปนกันอยู่ตลอดสมัยกาลอันหนึ่ง ทั้งในประเทศนี้แลในลังกาทวีป

ต่อมาเมื่อพระพุทธศักราชได้เก้าร้อยปีเศษ พระพุทธโฆษาจารย์เปนผู้ทรงพระไตรปิฎกข้างฝ่ายสาวกยานอยู่ในอินเดีย ไปถึงลังกาทวีป ไปเห็นพระไตรปิฎกวิปลาศ ทำนองจะปะปนกันทั้งภาษาบาฬีแลสังสกฤต แลที่แต่งเปนอรรถกถาไว้ในภาษาสิงหฬก็มาก พระพุทธโฆษาจารย์จึงพยายามแปลพระไตรปิฎกในสิงหฬทวีปกลับเปนภาษาบาฬี เมื่อพระพุทธศักราช ๙๕๖ ปี ซึ่งเรานับเข้าในมหาสังคายนาเปนครั้งที่ ๖ เพราะพระไตรปิฎกชุดนี้ ได้เปนต้นแบบฉบับในประเทศของเราสืบมาจนทุกวันนี้

ตั้งแต่พระพุทธโฆษาจารย์ทำสังคายนาแล้ว ทางอินเดียพระพุทธสาสนาก็เสื่อมทรามลงโดยลำดับมา เพราะถูกพวกถือสาสนาพราหมณ์แลพวกถือสาสนาอิสลามเบียดเบียฬติดต่อกันมาช้านาน การที่นานาประเทศเกี่ยวข้องกับอินเดียด้วยถือพระพุทธสาสนาร่วมกันจึงเปนอันขาดสูญไป ต่างประเทศต่างก็ถือกันมาตามลัทธิของตน

เมื่อพระพุทธศักราชได้ประมาณ ๑๖๐๐ ปี พระเจ้าอนุรุธ (ฤๅที่เรียกกันอิกอย่างหนึ่งว่า พระเจ้าอะโนระทามังช่อ) ครองประเทศพม่า ตั้งเมืองพุกามเปนราชธานี เปนพระเจ้าราชาธิราช มีอานุภาพปกแผ่มาจนตลอดเมืองน้อยใหญ่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยานี้ พระเจ้าอนุรุธมหาราชทรงศรัทธาเลื่อมใสเปนพุทธสาสนูปถัมภกคล้ายพระเจ้าอโศกมหาราช แลครั้งนั้นประจวบที่ในลังกาทวีปสาสนวงศ์เปนจลาจล เหตุด้วยพวกทมิฬมิจฉาทิฐิได้ครอบครองบ้านเมืองกำจัดพระภิกษุสงฆ์เสียหมด ครั้นพระเจ้าวิไชยพาหุศิริสังฆโพธิเชื้อกระษัตริย์สิงหฬได้พระนครคืน ให้มาขอคณะสงฆ์ที่เมืองพุกาม ไปให้อุปสมบทตั้งสาสนวงศ์ให้คืนมีในลังกาทวีป พระเจ้าอนุรุธจึงขอคัดพระไตรปิฎกที่พระพุทธโฆษาจารย์ได้ทำสังคายนามายังเมืองพุกาม เปนมูลเหตุที่สงฆมณฑลทางประเทศนี้จะได้เกี่ยวเนื่องกับสงฆมณฑลในลังกาทวีปแต่นั้นมา เพราะชาวลังการับอุปสมบทแต่สงฆ์ทางประเทศนี้ ฝ่ายทางประเทศนี้ก็ได้พระไตรปิฎกของชาวลังกามาเปนแบบฉบับ พระไตรปิฎกทางประเทศนี้ จึงกลับเปนภาษาบาฬีแต่นั้นมา

ล่วงสมัยพระเจ้าอนุรุธมาก็ถึงเวลาที่พวกไทยลงมาตั้งบ้านเมืองเป็นอิศระอยู่ที่เมืองเชียงแสนแลที่เมืองศุโขไทย แลมีไทยอิกพวกหนึ่งซึ่งเราเรียกว่าไทยใหญ่ฤๅเงี้ยว ไปตั้งบ้านเมืองเปนอิศระอยู่ในแดนพม่า จึงเกิดเปนประเทศมอญ พม่า ไทยใหญ่ ไทยน้อย แลลานนาไทย ลานช้าง ล้วนถือพระพุทธสาสนาตามลัทธิที่พระเจ้าอนุรุธได้ทรงจัดไว้ด้วยกันทั้งนั้น แต่พวกขอมข้างฝ่ายใต้ยังถือสาสนาพราหมณ์อยู่ตามเดิม

ส่วนลังกาทวีปนั้น เมื่อพระพุทธศักราชใกล้จะถึง ๑๗๐๐ ปี มีมหาราชขึ้นอิกพระองค์หนึ่ง ทรงพระนามว่าพระเจ้าปรักกรมพาหุ มีอานุภาพปราบปรามเสี้ยนสัตรูได้บ้านเมืองทั้งปวงในลังกาทวีปไว้ในพระราชอาณาเขตรหมดแล้ว ทรงปรารภถึงสาสนวงศ์ซึ่งซุดโทรมเพราะเหตุที่มีพวกมิจฉาทิฐิเข้าแทรกแซงจนแตกต่างกันเปนหลายลัทธิ จึงทรงกำจัดพวกมิจฉาทิฐิเสียแล้ว ให้ประชุมสงฆ์ทำสังคายนาพระธรรมวินัยอิกครั้ง ๑ ซึ่งในตำนานสังคายนาของเรานับเปนมหาสังคายนาครั้งที่ ๗ (แลว่าทำเมื่อพระพุทธศักราชล่วงได้ ๑๕๘๗) สงฆมณฑลในลังกาทวีปก็กลับรุ่งเรืองขึ้น เมื่อกิติศัพท์อันนั้นปรากฏมาถึงประเทศนี้ ก็มีพระสงฆ์พม่ามอญไทยพากันเลื่อมใสไปศึกษาในลังกาทวีป แล้วรับลัทธิลังกาวงศ์ ซึ่งสังคายนาครั้งพระเจ้าปรักกรมพาหุ มาสั่งสอนในประเทศนี้เมื่อพระพุทธศักราช ๑๗๑๓ ปี แต่นั้นความเลื่อมใสในลัทธิลังกาวงศ์ก็เจริญแพร่หลายในประเทศไทยมอญพม่าทั่วไป จนถึงพระเจ้าแผ่นดินให้นิมนต์พระเถระชาวลังกามาเปนครูบาอาจารย์ แลทรงยกย่องพระภิกษุซึ่งได้ไปเล่าเรียนแลบวชแปลงเปนลังกาวงศ์มาแต่ลังกาทวีปให้เปนสังฆนายกโดยมาก เพราะฉนั้นจึงมีพระภิกษุไทยมอญพม่าพากันไปศึกษายังลังกาทวีปไม่ขาดมาช้านาน

ก็แลการที่พระภิกษุไทยมอญพม่าไปศึกษาพระธรรมวินัยในลังกาทวีปนั้น ผู้ที่ไปไม่รู้ภาษาสิงหฬ ฝ่ายพระเถระในลังกาทวีปผู้เปนครูบาอาจารย์ก็ไม่รู้ภาษาไทยมอญพม่า จำต้องพูดแลสอนกันโดยภาษาบาฬี เพราะฉนั้นการเล่าเรียนภาษาบาฬี จึงเปนการสำคัญแลจำเปนของพระภิกษุไทยมอญพม่าที่ไปศึกษา ทั้งที่จะอ่านหนังสือพระไตรปิฎก แลในการที่จะพูดจากับครูบาอาจารย์ ด้วยเหตุนี้พระภิกษุที่ได้ไปศึกษาในลังกาทวีปจึงรู้ภาษาบาฬีแตกฉานโดยมาก บางองค์ถึงสามารถจะแต่งหนังสือในภาษาบาฬีได้ (เช่นเดียวกับนักเรียนไทยที่ไปเล่าเรียนในประเทศยุโรปในชั้นหลังนี้ บางคนก็อาจจะแต่งหนังสือในภาษาฝรั่งโดยทำนองเดียวกัน) ครั้นพระภิกษุเหล่านั้นกลับมาบ้านเมืองก็เอาวิธีที่ได้เล่าเรียนในลังกาทวีปมาสั่งสอนในประเทศของตน พระเจ้าแผ่นดินก็ทรงพระราชศรัทธาทำนุบำรุงด้วยกันทุกๆ ประเทศ ยกตัวอย่างดังพระเจ้าติโลกราชเมืองเชียงใหม่ ถึงทำสังคายนาพระไตรปิฎก ซึ่งตำนานของเรานับเปนมหาสังคายนาครั้งที่ ๘ เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๐๒๐ เพราะเหตุฉนั้นความรู้ภาษาบาฬี จึงมาเจริญขึ้นในประเทศเหล่านี้ จนถึงได้แต่งหนังสือในภาษาบาฬีขึ้นหลายคัมภีร์ ว่าแต่เฉภาะหนังสือภาษาบาฬีที่แต่งในประเทศลานนาไทย คือมณฑลภาคพายัพทุกวันนี้ ที่มีฉบับอยู่ในหอพระสมุดสำหรับพระนครถึง ๑๖ คัมภีร์ คือ

๑ โยชนาวินัย ๒ คันถีปาติโมกข์ ๓ สีมาสังกรวินิจฉัย ๔ มังคลัตถทีปนี ๕ ทีปนีเวสสันตรชาดก ๖ จักกวาฬทีปนี ๗ ฎีกาสังขยาปกาสกะ ๘ สัทธัมมสังคหะ ๙ สารัถถสังคหะ ๑๐ จามเทวีวงศ์ ๑๑ ชินกาลมาลินี ๑๒ โยชนาบาฬีอภิธัมมสังคหะ ๑๓ โยชนาฏีกาอภิธัมมสังคหะ ๑๔ โยชนาสัตตปกรุณาภิธรรม ๑๕ โยชนามูลกัจจายน์ ๑๖ ปทักกมโยชนาสัททัตถเภทจินดา หนังสือคัมภีร์อื่นซึ่งแต่งทางประเทศนี้น่าจะมีอิก ดังเช่นปัญญาสชาดกเปนต้น ก็กล่าวกันว่าแต่งในประเทศนี้ แต่ไม่ได้บอกไว้ในคัมภีร์เหมือน ๑๖ คัมภีร์ที่กล่าวมา จึงมิได้เอามาลงในบาญชี

บันดาหนังสือซึ่งแต่งด้วยภาษาบาฬีในประเทศเหล่านี้ มักอยู่ใน ๒ ประเภทคืออธิบายพระธรรมวินัยตามอย่างอัดถกถาฏีกาแลโยชนาของลังกาประเภท ๑ แต่งเรื่องตำนานสาสนวงศ์ ตามอย่างหนังสือทีปวงศ์แลมหาวงศ์ของลังกาประเภท ๑ หนังสือตำนานแต่งด้วยภาษาบาฬีในมณฑลภาคพายัพ ที่นับถือกันว่าดีมี ๔ เรื่อง คือ

๑ เรื่องรัตนพิมพวงศ์ ว่าด้วยเรื่องตำนานพระมหามณีรัตนปฏิมากรแก้วมรกฎ พระพรหมราชปัญญาว่าแต่งเมื่อปีระกา (สันนิฐานว่า พ.ศ. ๑๙๗๒) เรื่อง ๑

๒. เรื่องสิหิงคนิทาน ว่าด้วยตำนานพระพุทธรูปอันทรงพระนามว่า พระพุทธสิหิงค์ (อันประดิษฐานอยู่ในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ณพิพิธภัณฑสถานบัดนี้) พระโพธิรังษีแต่ง เมื่อปีใดไม่ปรากฏ เรื่อง ๑

๓. เรื่องจามเทวีวงศ์ ว่าด้วยเรื่องพงศาวดารเมืองหริภุญไชย พระโพธิรังษีแต่งอิกเรื่อง ๑

๕. เรื่องชินกาลมาลินี ว่าด้วยเรื่องตำนานพระพุทธสาสนามาประดิษฐานในประเทศลานนาไทย ตอนต้นพระรัตนปัญญาแต่งเมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๐๕๙ ตอนปลาย (เข้าใจว่าผู้อื่นแต่ง) ว่าด้วยเรื่องพงศาวดารเมืองเชียงใหม่มาจนปีกุน พ.ศ. ๒๐๗๐ เรื่อง ๑

ว่าเฉภาะเรื่องจามเทวีวงศ์ที่พิมพ์ในสมุดเล่มนี้ ต้นฉบับเดิมแต่งเปนหนังสือ ๑๕ บริเฉท แบ่งเรื่องเปนตอนๆ ดังบอกไว้ในสารบานแล้ว หนังสือเรื่องจามเทวีวงศ์นี้บันดาฉบับที่มีอยู่ ทั้งที่ในหอหลวงแลซึ่งหามาได้จากที่อื่น ขาดผูกสองทุกฉบับ เห็นจะหายสูญมาช้านาน แต่เรื่องตรงที่หนังสือขาดไปนั้นมีอยู่ในหนังสือชินกาลมาลินี พระยาปริยัติธรรมธาดาผู้แปล จึงคัดเอาความในหนังสือชินกาลมาลินีมาใส่ลงตรงที่ขาดให้เรื่องบริบูรณ์ ส่วนการที่พิมพ์นั้นแต่ก่อนได้เคยพิมพ์คำแปลไว้ตอนต้น พิมพ์อรรถไว้ข้างตอนท้ายเล่มสมุด เห็นว่ายังลำบากแก่นักเรียนที่ประสงค์จะสอบอัดถกับคำแปล จึงได้แก้ไขการพิมพ์เรื่องจามเทวีวงศ์ฉบับนี้ ให้พิมพ์อัดถกับแปลเคียงกันไปทุกประโยคให้สอบได้สะดวก ฤๅถ้าจะอ่านแต่คำแปลแลอ่านแต่อรรถก็อาจจะอ่านได้สะดวกเหมือนกัน เห็นว่าดีกว่าอย่างก่อน เปนแต่ต้องเพิ่มน่ากระดาดขึ้นบ้างเล็กน้อย

การที่พระราชชายาทรงพิมพ์หนังสือจามเทวีวงศ์ขึ้นให้ได้อ่านกันแพร่หลายเปนครั้งนี้ เชื่อแน่ว่าท่านทั้งหลายบันดาที่ได้หนังสือนี้ไปอ่าน คงจะอนุโมทนาในพระกุศลบุญราษีซึ่งได้ทรงบำเพ็ญทั่วกัน

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สภานายก

หอพระสมุดวชิรญาณ

วันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๓

  1. ๑. ศักราชที่กล่าวนี้ว่าตามหนังสือมหาวงศ์

  2. ๒. ในหนังสือมหาวงศ์เรียกว่าอารมณณะประเทศ

  3. ๓. กล่าวตามจารึกกัลยาณี ของพระเจ้าหงษาวดีธรรมเจดียปิฎกธร

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ