อารัมภะบท

กอปด้วยหัวข้อย่อดังนี้ :-

- วาทะพระยาพหลฯ กับคำตอบของหมอเหล็ง

- พระยาพหล ฯ คุยกับ จรูญ ณ บางช้าง

- พระยาทรงฯ สนทนา กับ บ๋วย บุณย์รัตพันธุ์

- ปรีดีกล่าววาทะเมื่อพบพวก ๑๓๐

- ทัศนะสำคัญที่ต่างกันระหว่างนักปฏิวัติคณะ ๑๓๐ กับคณะ ๒๔๗๕

- ทำไมจึงต้องบรรจุอารัมภะถึงถ้อยวาทะของคณะ ๒๔๗๕

- เมื่อหมอเหล็งเข้าเฝ้าพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์

- ผู้เขียนแจ้งแก่คณะที่ยังรอดชีวิตอยู่เพื่อให้แสดงความในใจ

- นักประวัติศาสตร์ และนักหนังสือพิมพ์ ขอร้องให้เราบันทึกประวัติปฏิวัติ ๑๓๐ ไว้เพื่ออนุชน

 

“ถ้าไม่มีคณะคุณ ก็เห็นจะไม่มีคณะผม!” นี้คือวาทะอันหนักแน่น ซึ่งหลุดออกจากขั้วหัวใจของท่านเชษฐบุรุษพระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) หัวหน้าคณะปฏิวัติ พ.ศ. ๒๔๗๕ เมื่อเพิ่งปฏิวัติปฏิรูประบอบประเพณีการปกครองแผ่นดินสยาม ในสมัยรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว สัมฤทธิ์ลง ท่านได้กล่าวต่อหน้าคณะปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐ ซึ่งถูกเชิญเข้าไปพบ ณะ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ ประมาณเวลา ๑๓ นาฬิกาเศษ พร้อมกับยื่นมืออันบริสุทธิ์ให้คณะสัมผัสทุกคน ต่อจากนั้นท่านได้ถามความรู้สึกของคณะ ๑๓๐ ที่มีต่อกิจกรรมแห่งคณะของท่านในขณะนั้นว่า คณะ ๑๓๐ มีความเห็นเป็นประการใดบ้าง?

หมอเหล็ง ศรีจันทร์ หัวหน้าคณะปฏิวัติรุ่นแรกของไทย ได้สนอบตอบทันทีว่า “เป็นการสมใจตามทางของคณะ ร.ศ. ๑๓๐ ด้วยความตื่นเต้น แต่ขอได้โปรดยึดอุดมคติและอำนาจตอนต้นนี้ไว้จนกว่าจะปลอดภัย โดยโปรดดูตัวอย่าง หมอซุนยัดเซ็น ที่เสียทีแก่ ยวนไซไซ ไว้ด้วย”

ท่านเชษฐบุรุษยิ้มตอบด้วยดวงใจอันมั่นต่อสัจจะว่า “เราจะยึดอำนาจไว้เพียงเวลาพอสมควรเท่านั้น แล้วก็จะปล่อยให้ประชาชนเขาปกครองกันเองต่อไป” คณะ ๑๓๐ รู้สึกสาธุในวาทะอันเป็นนักประชาธิปไตยของท่านยิ่งนัก แล้วท่านก็หันไปคุยกับ ร.ท. จรูญ ณ บางช้าง เนติบัณฑิต รองหัวหน้าคณะปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐ ผู้เป็นเพื่อนนักเรียนนายร้อยชุดเดียวกัน และออกเป็นนายทหารในปีเดียวกันกับท่านเชษฐบุรุษ ดั่งมีประโยคที่น่าสนใจ คือ “ถ้าผมไม่ได้ไปเรียนที่เยอรมนี ก็เห็นจะเข้าอยู่ในคณะของคุณอีกคนหนึ่งเป็นแน่” จรูญ เนติบัณฑิตผู้เข้มแข็งก็ได้ตอบสนองอย่างคมคายว่า “เพราะเจ้าคุณไปนอกมานั่นเอง จึงได้นำความสำเร็จครั้งนี้มาได้สมใจ เท่ากับพวกผมพลอยสำเร็จไปด้วย”

ยังมีอีกท่านหนึ่งซึ่งควรปรากฎในอารัมภภาคนี้ด้วย คือ พ.อ. พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) รองหัวหน้าคณะปฏิวัติ พ.ศ. ๒๔๗๕ และทำหน้าที่เสนาธิการปฏิวัติอยู่ขณะนั้น ได้กล่าวทักทาย ร.ต. บ๋วย บุณยรัตพันธุ์ ผู้เป็นนักเรียนนายร้อยและนายทหารรุ่นเดียวกันว่า “พอใจไหม บ๋วย ที่กันทำครั้งนี้” ร.ต. บ๋วย ตอบสวนควันว่า “พอใจมากครับ เพราะทำอย่างเดียวกันกับพวกผม” เจ้าคุณทรง ฯ ถามเชิงสัพยอกต่อไปว่า “ถ้าจะโกรธพระยากำแพงรามมากซินะ ที่เล่นไม่ซื่อต่อคณะ ๑๓๐” บ๋วยก็ตอบอย่างใจจริงว่า “ทีแรกโกรธมาก แต่ต่อมาพวกเราได้อโหสิกรรมกันแล้วครับ” ทั้งนี้ หมายถึง พ.อ. พระยากำแพงราม (ยุทธ หรือแต้ม คงอยู่) ซึ่งสมัย ร.ศ. ๑๓๐ นั้น ยังเป็น ร.ต. หลวงสินาดโยธารักษ์ ผู้เสียคำสัตย์สาบาล และทำการหักหลังต่อคณะ ร.ศ. ๑๓๐ อันยังมีพฤติกรรมที่น่ารู้ในภาคหลัง ๆ อีกเป็นอันมาก (ส่วน พล.ท. หลวงสินาดโยธารักษ์ (ชิด มั่นศิลป์) คนปัจจุบันนี้ เป็นคนละคนกับผู้หักหลังคณะ ร.ศ. ๑๓๐)

เมื่อสิ้นสุดการสนทนาระหว่างหัวหน้าคณะปฏิวัติ ๒๔๗๕ ฝ่ายทหาร กับชาวคณะ ร.ศ. ๑๓๐ แล้ว ท่านเชษฐบุรุษก็ได้บอกแก่คณะของเราว่า คุณหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ต้องการพบคณะเราอยู่เหมือนกัน พวกเราทุกคนจึงพากันตรงเข้าไปยังโต๊ะทำงานซึ่งเต็มไปด้วยความคร่ำเคร่งของคุณหลวงประดิษฐ์ฯ ผู้ทำหน้าที่ในทางสมองของคณะปฏิวัติ ๒๔๗๕

ท่านปรีดี พนมยงค์ (นามปัจจุบันของท่าน) ได้กล่าววาทะอย่างนุ่มนวลออกมาครั้งแรกเมื่อพบพวกเราว่า “พวกผมถือว่า การปฏิวัติครั้งนี้เป็นการกระทำต่อเนื่องกันมาจากการกระทำเมื่อ ร.ศ. ๑๓๐ จึงขอเรียกคณะ ร.ศ. ๑๓๐ ว่า “พวกพี่ ๆ” ต่อไป โดยท่านได้ให้อรรถาธิบายว่า เมื่อชาวคณะ ร.ศ. ๑๓๐ ถูกจับกุมครั้งกระนั้น ท่านยังมีอายุได้เพียง ๑๑ ขวบ ได้ยินชาวกรุงเก่าพูดเล่าลือกันว่า “พวกทหารเก๊กเหม็งในบางกอกได้จับพวกเจ้าฆ่าเสียหมดแล้ว เราจะได้เจ้าที่ไหนมาปกครองพวกเราอีกเล่า” (คำว่าเก๊กเหม็งนี้ คือคณะปฏิวัติจีน มีท่านหมอซุนยัดเซ็นเป็นหัวหน้า ได้ลุกขึ้นทำการเปลี่ยนระบอบประเพณีการปกครองประเทศจีน จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นสาธารณะรัฐอยู่ในขณะใกล้ ๆ กันนั้น) และคำเล่าลือกันตรงกันข้ามกับความจริงนั้นเอง ได้เข้าไปต้องอยู่ในโสตรประสาทของท่านปรีดีอย่างมิรู้ลืมเลย ต่อเมื่อท่านได้เข้ามาศึกษาในกรุงเทพฯ และมีอายุพอสมควรแล้ว จึงได้ทราบความจริงว่าอะไรเป็นอะไร ตั้งแต่นั้นสมองของท่านก็เลยครุ่นคิดถึงแต่เรื่องการเปลี่ยนแปลงประเพณีการปกครองแผ่นดิน ครั้นโอกาสอำนวยให้ท่านได้ออกไปศึกษาวิชากฎหมายและเศรษฐศาสตร์ ณ ประเทศฝรั่งเศส ท่านก็เริ่มต้นลงมือคิดที่จะทำการปฏิวัติประเทศไทยต่อจากคณะ ร.ศ. ๑๓๐ ดั่งที่ได้อุบัติผลทางการเมืองขึ้นแล้ว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นระยะเวลาห่างกันกับ ร.ศ. ๑๓๐ เพียง ๒๐ ปี เท่านั้นเอง

ครั้นเมื่อคณะปฏิวัติ ๒๔๗๕ ได้ย้ายกองบัญชาการจากพระที่นั่งอนันตสมาคมเข้าไปอยู่ในวังปารุสกวันไม่นานนัก ท่านปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าคณะฝ่ายพลเรือน ๒๔๗๕ กับชาวคณะบางคนของท่าน ได้มีความประสงค์จะสนทนาแลกเปลี่ยนทัศนะกิจกรรมแห่งการปฏิวัติซึ่งกันและกัน กับคณะ ร.ศ. ๑๓๐ ณ ที่ตั้งว่าการในวังปารุสก์ ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ ซึ่งเป็นผู้แทนคณะ ร.ศ. ๑๓๐ ไปสนทนาชี้แจงแลกความคิดเห็นแห่งกิจกรรมปฏิวัติในครั้งนั้นสู่กันฟัง เมื่อสรุปทัศนะของทั้งสองฝ่ายแล้ว ได้ความต้องกันในข้อใหญ่ ๆ เป็นส่วนมาก มีทัศนะสำคัญที่ต่างกันอย่างเห็นชัด ก็คือ ครั้ง ร.ศ. ๑๓๐ ซึ่งเป็นสมัยที่รัฐบาลสยามไม่คิดว่า คนไทยจักรู้คิดอ่านเปลี่ยนระบอบประเพณีการปกครองบ้านเมืองเยี่ยงอารยะชาติ นับว่าเป็นการลืมตัวหรือประมาทตามพุทธวจนะอย่างสนิท คณะปฏิวัติรุ่นแรกจึงทำงานอย่างใจเย็นแต่มั่นคง โดยประสงค์จะทำการรวบรวมสมัครพรรคพวกจากทหารผู้น้อยขึ้นไป เป็นกำลังให้มากที่สุดเท่าที่สามารถจะรวบรวมสะสมได้ เพียงให้ทันเวลาลงมือปฏิบัติตามที่ได้กำหนดลงไว้ในแผนการ อีกราว ๑๐๐ วันเศษเท่านั้น เพื่อมิให้ต้องเสียเลือดเนื้อในการรบราฆ่าฟันกัน ซึ่งจะได้บรรยายรายละเอียดต่อไปในภาคปฏิวัติ แต่ในทัศนะข้อรวบรวมกำลังของคณะปฏิวัติ ๒๔๗๕ นั้นเป็นตรงกันข้าม โดยเนื่องจากได้รับประสพการณ์การเปิดทางของคณะ ร.ศ. ๑๓๐ ไว้เป็นครูมาแล้ว ว่าถ้าขืนกระทำแบบนั้นอีก ซึ่งได้เคยดำริไว้แล้วเหมือนกัน ก็อาจจะพบกัน “สมาชิกแกะดำ” ได้ง่ายก่อนที่จะลงมือกระทำการ ฉะนั้น คณะ ๒๔๗๕ จึงได้เปลี่ยนความดำริเดิมนั้นเลย กลับมาใช้วิธีเฟ้นเอาแต่ทหารชั้นผู้ใหญ่เพื่อใช้กำลังทางสมองเพียงน้อยคนกับฝ่ายพลเรือน เพราะถือเสียว่าทหารชั้นผู้น้อยเป็นเสมือนตัวจักรกล จะจับหมุนไปทางไหนอย่างไรก็ได้ตามความปรารถนา และยากที่จะมี “สมาชิกแกะดำ” เข้ามาพัวพันเป็นไส้ศึกหรือทรยศได้ง่าย ค่าที่ความคิดและจิตใจของผู้หลักผู้ใหญ่ย่อมจะมั่นคงแน่วแน่กว่าพวกผู้น้อยเป็นธรรมดา ดังที่ได้ประสบปรากฎการณ์มาแล้ว เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ นั้น เป็นองค์พยาน และก็จำต้องกล่าวไว้ด้วยว่าได้มีปรากฎการณ์ต่อ ๆ มาอีก คือเมื่อทหารผู้น้อยที่มิใช่สมัครพรรคพวกมาแต่เดิมนั้นเอง ได้กล่าวมาทำงานหักหลัง ในเมื่อเขาได้เป็นผู้ใหญ่มีอำนาจราชศักดิ์ขึ้นแล้ว ลักษณะนี้ย่อมเป็นเรื่องของประวัติการณ์แห่งการปฏิวัติหรือรัฐประหารอันน่าเบื่อ แต่สำคัญยิ่งส่วนหนึ่ง ซึ่งจะลืมเสียหาได้ไม่ในเรื่องการปฏิวัติชาติ ที่เรียกกันว่า “งูกินหาง” หรือ “ปฏิวัติซ้อน”

ทำไมเราผู้จารึกประวัติอันสำคัญของชาติไทยสมัย ร.ศ. ๑๓๐ นี้ จึงบรรจุอารัมภะ ถึงถ้อยวาทะและกิจกรรมปฏิวัติของคณะ ๒๔๗๕ ไว้ด้วย เราจำต้องขอเรียนด้วยความเคารพว่า ดวงจิตหรือเจตนารมณ์อันแท้จริงของ นักปฏิวัติ เพื่อเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประเทศชาติ กับของ นักรัฐประหาร นั้นหาตรงกันเป็นแนวเดียวไม่ นักปฏิวัติย่อมปฏิวัติ ปฏิรูประบอบประเพณีการปกครองประเทศชาติ เสียใหม่ให้ก้าวหน้า ซึ่งจัดเข้าไว้ในอุดมคติข้อหนึ่งในมวลอุตมะคติ แล้วก็เข้าขั้นดำเนินการปกครองตามอุดมการและโครงการที่ได้กำหนดขึ้นไว้เป็นระยะเป็นตอนในเมื่อปฏิวัติสำเร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนนักรัฐประหารนั้นมักหนักไปในทางปฏิรูป (Reform) แต่เฉพาะคณะรัฐบาลที่พวกตนเองเท่านั้นเล็งเห็นว่าดำเนินการปกครองประเทศชาติไปได้ไม่สมเจตน์จำนงตามทัศนะแห่งคณะของตน แล้วก็รุกขึ้นทำการโค่นล้มรัฐบาล ซึ่งเราขออภัยที่จักกล่าวว่า บางครั้งและก็มากครั้งมาแล้วในทัศนะของชาวไทย ได้เกิดความรู้สึกสงสารชาติไทยเป็นอย่างยิ่ง ที่มัวแต่ต้องเดินซอยเท้าเรื่อย ๆ เป็นเพลานานนี้ เนื่องจากปราศจากโครงงานอันแน่นอน เฝ้าแต่รื้อของเก่าแล้วทำใหม่อยู่ร่ำไป ดังนั้นย่อมเห็นแล้วว่า นักปฏิวัติ มีความสำคัญเพียงไร (ขอให้ดูได้จากพงษาวดารประเทศอังกฤษในรัชสมัยพระเจ้าเยมส์ที่ ๒ ค.ศ. ๑๖๘๘ ประเทศฝรั่งเศสครั้งปฏิวัติเลิกล้มสิทธิสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ลงอย่างครืนใหญ่ใน ค.ศ. ๑๗๘๙ และสงครามอิสระภาพอเมริกา ค.ศ. ๑๗๗๕) และก็นักปฏิวัติแท้ เท่านั้น ที่จะเข้าใจในกันและกันเป็นอย่างดีด้วยความบริสุทธิ์ใจ ท่านผู้ใหญ่ชั้นหัวหน้าคณะ ๒๔๗๕ ที่เราอ้างนามมาแล้วนั้น ล้วนแต่เป็นผู้ที่มีความเป็นตัวของตัวเอง และมีสัจจธรรมต่อกิจกรรมปฏิวัติประเทศชาติของตนเป็นอย่างยิ่ง ตามที่ชาติเคยรับทราบมาแล้ว ฉะนั้นเราจึงจำต้องกล่าวอ้างถึงนักปฏิบัติที่ใส่ใจและมั่นใจเดียวกันกับคณะ ร.ศ. ๑๓๐ ไว้ให้ทราบบ้างทางทัศนะนิยม เผื่อจะได้เป็นทางนำการอ่านเรื่องนี้ไปสู่ความซาบซึ้งตรึงใจโดยตลอด

นอกจากนั้น คณะ ร.ศ. ๑๓๐ ยังเคยถูกขอร้องจากท่านเหล่านั้น กับชาวคณะบางคนของท่านให้คณะเราเขียน ประวัติปฏิวัติครั้งแรกของไทย ร.ศ. ๑๓๐ ขึ้นไว้ เพื่ออนุชนรุ่นหลังจะได้ทราบและศึกษาโดยถูกต้อง ดีกว่าเรื่องราวที่บางคนเคยเขียนไว้บ้างแล้ว ซึ่งมิใช่สมาชิกใน คณะ ร.ศ. ๑๓๐ โดยตรง ย่อมอาจจะผิดพลาดขาดเกินหรือคล้ายเป็นนวนิยายไปก็ได้ ด้วยคำขอร้องที่หวังดีนี้ คณะเราเคยรับปากไว้เหมือนกัน แต่ด้วยความจำเป็นบางประการ ประกอบด้วยกาละสมัยยังเป็นอุปสรรคอยู่บ้าง เราจึงได้รอมา

ครั้งหนึ่ง ภายหลังการปฏิวัติ ๒๔๗๕ แล้วไม่สู้นาน เมื่อพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ พระโอรสเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประธานารถได้เสด็จนิวัติจากประเทศยุโรป กลับเมืองไทยประทับอยู่ที่วังท่าเตียน หมอเหล็ง ศรีจันทร์ หัวหน้าคณะ ๑๓๐ ผู้เคยเป็นแพทย์ประจำพระองค์สมัยยังทรงพระเยาว์ ได้ไปเฝ้าเยี่ยมฐานคารวะที่มิได้เฝ้ามาช้านานก็ได้รับเฝ้าเป็นอย่างดียิ่ง ระหว่างที่สังสรรสนทนาเป็นอย่างกันเองนั้น ท่านจุลฯ นักประวัติศาสตร์ที่ทรงพระนามผู้หนึ่ง ได้ขอร้องให้หมอเหล็ง ศรีจันทร์ กับชาวคณะ ๑๓๐ เขียนประวัติปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐ ขึ้นไว้ให้จนได้ เพื่อประโยชน์ของอนุชนรุ่นหลัง ๆ จะได้ศึกษาเล่าเรียนประวัติของชาติไทยไม่บกพร่อง หมอเหล็งก็รับพระคำ และตอนที่หมอเหล็งทูลลากลับ พระองค์ยังได้ทรงกำชับในขณะที่เสด็จตามส่ง หมอเหล็งก็ทูลรับว่าจะหาโอกาสเขียนให้จนได้ แล้วหมอเหล็งก็นำความมาเล่าสู่ให้คณะเราบางคนฟัง และตั้งใจจะเขียนอยู่เหมือนกัน หากแต่เวลายังไม่อำนวย จนกระทั่งสิ้นบุญไป

ครั้นมาเมื่อเราผู้เขียน มีวัยย่างเข้าใกล้อายุขัยแห่งสากลกำหนด ซึ่งได้วางเกณฑ์ไว้แต่เดิมเพียง ๗๐ ปีเท่านั้น เราก็เริ่มปรึกษากันว่า ควรจะได้สนองความตั้งใจของหัวหน้าคณะ ออกแถลงการณ์ประวัติปฏิวัติของเราเสียที พร้อมทั้งพฤติการณ์ของชาวคณะปฏิวัติในบางกรณีที่จำเป็น ตลอดจนเหตุการณ์ของบ้านเมืองในทัศนะของพวกเราด้วย เราก็ทำหนังสือแจ้งไปยังชาวคณะของเราที่ยังรอดชีวิตอยู่ เพื่อขอทราบความในดวงใจอันแท้จริง ตั้งแต่ก่อนเข้าร่วม และได้เข้าร่วมกับคณะ ร.ศ. ๑๓๐ ว่ามีความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมอะไรบ้าง ที่ควรแก่การนำแถลงในประวัติปฏิวัติเฉพาะที่เราผู้เขียนยังมีเคยทราบขณะที่อยู่ร่วมกันมา โดยที่ขณะนี้ยังมีสมาชิกเพื่อนร่วมตายเหลืออีกเพียง 2 คนเท่านั้นรวมทั้งผู้เขียนด้วย ที่เคยตกทุกข์ได้ยากตรากตรำด้วยกันมาอย่างแสนสาหัส คือ พ.ต. หมออัทย์ หสิตะเวช อายุ ๘๕ ปี ร.อ. ทองดำ คล้ายโอภาส อายุ ๗๐ ปี ร.อ. สอน วงษ์โต อายุ ๗๑ ปี ร.อ. โกย วรรณกุล อายุ ๗๐ ปี ร.ต. จรูญ ษตะเมษ อายุ ๗๔ ปี ร.ต. บุญ แตงวิเชียร อายุ ๗๓ ปี รต. เปลี่ยน ไชยมังคละ อายุ ๗๑ ปี (เปลี่ยน ผู้นี้ครั้งแรกรอการลงอาญา ย้ายไปประจำการจังหวัดตาก กับ ร.ต. หรี่ บุญสำราญ แล้วก่อการกำเริบอีก เพราะสมองยังปฏิวัติอยู่ จึงต้องเวรจำที่จังหวัดนครสวรรค์คนละ ๒๐ ปีเท่ากำหนดเดิม ครั้นเมื่อพระราชทานอภัยโทษนักโทษการเมือง เปลี่ยน กับ หรี่ ก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษพร้อมกัน ในวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๗ โปรดอ่านในภาคปกิณกะต่อไป) ร.ต.เนตร พูนวิวัฒน์ อายุ ๖๙ ปี และ ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์ อายุ ๖๘ ปี ล้วนแต่ชรา ๆ ด้วยกันทั้งนั้น เว้นแต่ร่างกายและดวงมโนดูยังคิดจะสนองคุณชาติอันเป็นที่รักสุดชีวิตอยู่เสมอทุกคน

และก็พอดีกับได้มีนักประวัติศาสตร์ รวมทั้งนักหนังสือพิมพ์ อีกหลายท่าน ผู้หวังดีเพื่อก่อต่อประเทศชาติด้วยจิตใจเที่ยงธรรมมั่นคง อาทิเช่น คุณสด กูรมะโรหิต ได้มาขอร้องสนับสนุนเข้าอีก เราก็รับปากคำด้วยความยินดี กับได้ขอร้องให้เขาช่วยกรุณาตรวจแก้ ตลอดจนเขียนภาคนำให้เสียด้วย ตามที่ปรากฏแล้วในคำนำ และต่อไปนี้ก็จะได้บรรยายกิจกรรมปฏิวัติ โดยแบ่งออกเป็นภาค ๆ ดังนี้คือ: -

๑) ภาคนำ

๒) ภาคอารัมภะ

๓) ภาค ๑ นายทหารหนุ่มเริ่มคิดปฏิวัติ

๔) ภาค ๒ ได้หัวหน้าและชุมนุมพรรค

๕). ภาค ๓ วางแผนขยายกำลังทั่วประเทศ และได้สมาชิก “ผู้หักหลัง”

๖) ภาค ๔ การจับกุมคณะ ร.ศ. ๑๓๐

๗) ภาค ๕ อำนาจกรรมการศาลทหาร

๘) ภาค ๖ ภายในเรือนจำมหันตโทษ

๙) ภาคสรุปและน้ำพระทัยพระมหาธีราชเจ้า

๑๐) ภาคปกิณกะ

ทั้งนี้ ก็เพื่อให้อนุชนได้สนใจอ่าน และง่ายต่อการศึกษาจิตจำยิ่งขึ้น

อนึ่ง หากมีข้อความใดจะบังเอิญไปกระทบกระทั่งจิตใจของท่านผู้ใดเข้าบ้าง ก็ขอได้โปรดกรุณาถือเสียว่า “นั่นเป็นเรื่องของประวัติศาสตร์แห่งชาติไทยแขนงหนึ่ง” ซึ่งเป็นความจำทำของผู้เขียนด้วยความเคารพอย่างสูง

ส่วนรายชื่อสมาชิกคณะ ร.ศ. ๑๓๐ ทั้งหมดนั้น อาจบกพร่องอยู่ไม่ใช่น้อยเนื่องจากเวลาเป็นเหตุ เพราะล่วงมาได้เกือบกึ่งศตวรรษแล้ว ยากแก่การที่จะสืบสวนค้นหาให้ครบถ้วนได้ ยิ่งนามสกุลด้วยแล้ว ยิ่งจำเป็นจะทราบได้ไม่ทั่วถึง เนื่องด้วยในสมัยนั้นยังหาได้ใช้นามสกุลกันไม่ เพิ่งเริ่มใช้พระราชบัญญัติขนานนามสกุลในตอนต้นสมัยรัชกาลที่ ๖ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๖ นั้นเอง อีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งดูก็ไม่ค่อยสนใจกันนักในสมัยนี้ คือ ยศถาบรรดาศักดิ์ของบุคคลที่อ้างถึง น่าจะร่วงหล่นไปมาก เพราะหลังจากระงับการแต่งตั้งฐานันดรศักดิ์กันมาแล้วเมื่อการปฏิวัติ พ.ศ. ๒๔๗๕ สำเร็จเรียบร้อยลง ก็เลยดึงเอาความใส่ใจจากประชาชนไปสิ้น แต่จะอย่างไรก็ตาม เราจะงดการขอรับอภัยอย่างสูงจากท่านผู้อ่านที่นับถือไว้ ณะ ที่นี้ด้วยหาได้ไม่ มิว่าจะเป็นในกรณีใด ๆ ก็ตาม กับขอได้กรุณาเข้าใจด้วยว่า สมัยนั้นศกใหม่เริ่มด้วยเดือนเมษายน มิใช่มกราคม อย่างสมัยนี้หามิได้

ก่อนจะได้ถึงอวสานแห่งภาคนี้ ผู้เขียนจำต้องเรียนด้วยคารวะอย่างสูงอีก คือ เรื่องที่เล่าลือกันอย่างผิด ๆ และที่เข้าใจกันอย่างพุ่งพลาดมาช้านาน ต่อพฤติกรรมของคณะ ร.ศ. ๑๓๐ บางประการ เช่น ในกรณีที่จะปลงพระชนมชีพองค์พระประมุขของชาตินั้น เป็นเรื่องของปากตลาดชนิด “ปลาตกน้ำตัวโต” และบังเอิญในน้ำนั้นมีทั้งความใสและความขุ่น จึงแยกความจริงกันไม่ออก บัดนี้ น้ำใสสะอาดแล้ว และสัจจะจักได้เผยตัวของมันออกสู่โลกอย่างแจ่มใสที่สุด

เหรียญ กับ เนตร

๔ ก.ค. ๒๕๐๒

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ