- ประวัติย่อ ของ ร.อ. ขุนทวยหาญพิทักษ์
- คำอุทิศ แด่ หัวหน้าคณะปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐
- คำนำ
- อารัมภะบท
- ภาค ๑ นายทหารหนุ่มเริ่มคิดปฏิวัติ
- ภาค ๒ ได้หัวหน้าและเริ่มประชุมพรรค
- ภาค ๓ วางแผนขยายกำลังทั่วประเทศ และ ได้สมาชิก “ผู้หักหลัง”
- ภาค ๔ การจับกุมคณะ ร.ศ. ๑๓๐
- ภาค ๕ อำนาจกรรมการศาลทหาร
- ภาค ๖ ภายในเรือนจำมหันตโทษ
- ภาคสรุป น้ำพระทัยพระมหาธีรราชเจ้า
- ภาคปกิณกะ
ภาค ๖ ภายในเรือนจำมหันตโทษ
กอปรด้วยหัวข้อย่อดังนี้:-
- ลักษณะของแผนผังภายในเรือนจำ “คุกใหม่”
- ถูกจำคุก ๔ เดือนเศษ จึงได้เยี่ยมญาติ ๕ นาที
- นายคุกเริ่มใช้งานหนัก
- เคราะห์กรรมซ้ำเติมในขุมทุกข์
- เลื่อนจากเข้าคุก ไปเข้าลูกคุก
- บังคับพวกเราให้กินอาหารร่วมกับคนบ้าและคนโรคเรื้อน
- ตั้งใจอดอาหาร แต่ไม่อด เพราะน้ำใจปรานีของเพื่อนนักโทษ
- เคราะห์กรรมอย่างรุนแรง กระหน่ำมาอีกดังพายุ
- ชีวิตมนุษย์หนึ่ง เสมือนชีวิตฝูงแกะ ที่กำลังจะเข้าพิธีบูชายัญ
- มารดานักโทษการเมือง ช่วยเปลืองทุกข์อย่างมหันต์
- นักโทษการเมืองอโหสิกรรมนายคุกตามวิสัยการเมือง
- โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงเรียนแพทย์พยาบาลในคุก และสมัยวิทยาลัยของนักโทษปฏิวัติมาถึง
- สมัยเป็นนักหนังสือพิมพ์ และนักประพันธ์มีชื่อ
- องค์พระประมุขโปรดการประพันธ์ของนักโทษการเมือง
- เพื่อนร่วมตาย ตาย ๒ คนด้วยวาทะเพื่อชาติ
- ขออาสาสงครามร่วมกับรัฐบาล
- “กองแขนแดง” ตั้งขึ้นเพราะอารมณ์ฮ้วนของนักโทษ
- นักโทษการเมือง หัวหน้า “กองแขนแดง” ถูกฟันต้นคอ
- สุขในกองทุกข์ เป็นสุข ๑๐๐ เท่า
- ทูลกระหม่อมสงขลาฯ ขอบพระทัยนักโทษการเมือง
- พวกเรามีส่วนร่วมใน “ดุสิตธานี” ของพระมงกุฎเกล้าฯ
- กรมหมื่นพงษาฯ โปรดปรานประทานเลี้ยงนักโทษการเมืองอย่างไร ?
- ผลานิสงส์ จากการเป็นแม่งานทำข่ายปล่อยนักโทษมีอย่างไร ?
ผู้มีสมองปฏิวัติงานของประเทศชาติอันเป็นที่รัก เมื่อเข้าไปพบกับบุคคลบางจำพวกที่มีสมองเป็นผู้ร้ายหรือสันดานผู้ร้ายตามภาษาของทัณฑวิทยาแล้วนั้นจะเป็นประการใดบ้าง ? และต้องอยู่ร่วมกันถึง ๑๒ ปี ๖ เดือน ๖ วัน ภายในขอบเขตอันทนทุกข์ทรมานซึ่งนับเป็นเวลานานเกินหนึ่งรอบนักษัตรเศษเช่นนี้ไซร้ เขาทั้งหลายจะได้ประกอบกิจกรรมทำคุณประโยชน์โปรดผลบ้างหรือไม่ประการใด ? ทั้งในทางเรือนจำ ทางนักโทษส่วนรวมและส่วนตัวของผู้มีสมองปฏิบัติเองนั้น ขอได้โปรดติดตามต่อไป
ก่อนอื่น ย่อมเป็นที่ทราบกันว่า ในหมู่คนทุกหมู่ จะต้องมีทั้งคนดีและคนเลวปะปนกันเสมอ แม้ในกองเรือนจำก็เช่นเดียวกัน จริงอยู่ เขาได้ชื่อว่าเป็น นักโทษ แต่โทษที่เขาต้องรับนั้น ย่อมเกิดจากความผิดประเภทต่าง ๆ กัน ลางความผิดได้เกิดแต่ความจำทำ ที่จะต้องกระทำเพื่ออิสระภาพของตนหรือญาติมิตร ลางความผิดที่เพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สมบัติของตนและผู้อื่น และลางความผิดก็กระทำไปโดยมิได้มีเจตนาร้ายเลยแต่ส่วนมาก สรุปได้ว่า มักจะเป็นความผิดประเภทที่อยู่ในข่ายแห่งกองกิเลส คือ ความโกรธ ความโลภและความหลงงมงายเสียโดยมาก เมื่อเป็นเช่นนี้ จิตใจอันแท้จริงของแต่ละบุคคลก็ย่อมจะผิดแผกแตกต่างกันได้ บางคนที่เราพบ ทั้ง ๆ ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักโทษโหด คือติดคุกหลายครั้ง มีกำไลเหล็กสวมข้อมือหลายห่วง แต่น้ำใจของเขายังสูงกว่าบุคคลบางคนที่มีอิสระภาพเสียอีก ปรัชญา (Philosophy) คือหลักความรู้และความจริงข้อนี้ เคยออกจากปากของพระบำบัดสรรพโรค หมอยาและหมอสอนศาสนา เมื่อสั่งสอนนักโทษในกองมหันตโทษอยู่เสมอ ๆ ว่า “พวกเจ้าที่เขาขนานนามว่า นักโทษนี้ก็เพราะเขาจับเจ้าได้ เขาจึงตัดสินลงโทษเจ้า แต่บุคคลบางคนที่อยู่นอกคุก เดินลอยชายเป็นอิสระอยู่นั้น ที่ทำความผิดมากกว่าพวกเจ้าก็มีถมเถไป แต่เมื่อเขายังจับไม่ได้ไล่ไม่ทัน บุคคลผู้นั้นก็ยังได้ชื่อว่าเป็นพลเมืองดี เจ้าไม่ต้องเสียใจท้อใจเลย”
อุทาหรณ์ในคุกเมืองไทย ที่เราเคยพบเคยอ่านผ่านตาอยู่เนือง ๆ ก็มีท่านสุนทรภู่ต้องติดคุกเพราะกวีกรรมของท่านหลายครั้งหลายครา โดยสู้อำนาจของผู้เป็นเจ้าเป็นใหญ่ไม่ได้ แต่ก็ด้วยทักษะในทางกวีมาแต่แรกของท่าน แม้ติดคุกก็เขียนเพลงยาวรับจ้างถึงบทละ ๓ ตำลึง (๑๒ บาท) นับว่ามากมายก่ายกองในสมัยนั้นเสียเหลือเกิน จิตใจของท่านสุนทรภู่ไม่เคยติดคุกหรือได้ชื่อว่าเป็นนักโทษด้วยเลย ยังคงดำรงความอิสระเต็มเปี่ยมอยู่เสมอ ในภาค ๔ ของเรื่องนี้ตอนที่ ร.ต. เหรียญ ถูกส่งคุกในวันแรก ก็มีนักโทษผู้ประเสริฐในคุณธรรมทางจิต ได้โยนยาสูบและผ้าขาวม้าให้แก่เขาดังกล่าวมาแล้ว เขาผู้นั้นก็ย่อมได้ชื่อว่าเป็นนักโทษแต่ตัวส่วนหัวใจยังสะอาดอยู่ ที่เขาได้ช่วยเหลือด้วยความกรุณาแท้ ๆ
พวกเรารุ่นแรก ๗ คน เมื่อรถนิรภัยนำไปส่งถึงหน้าประตูกองมหันตโทษแล้ว ก็ลงจากรถ และมีผู้คุมเดินนำเข้าประตูใหญ่ตามลำดับชั้น แล้วก็ถูกปฏิบัติเล่าทุกประการ เหมือน ร.ต. เหรียญ จนถึงบริเวณที่ตีเครื่องพันธนาการ เมื่อพวกเรามาครบ ๑๓ คนแล้ว และเปลี่ยนร่างเป็นนักโทษตามกฎของเรือนจำแล้วอย่างสมบูรณ์ก็ถูกนำไปยังคุกนักโทษต่างประเทศพร้อม ๆ กัน เท้าที่เคยอิสระก็ต้องเดินย่างคล้ายเด็ก ๆ ด้วยความตื่น ๆ เพราะลักษณะของคุกมันเป็นภาพแรกในชีวิตที่เคยพบเห็น
ในตอนนี้ น่าจะได้อธิบายลักษณะแผนผังภายในคุกเสียสักเล็กน้อย เพื่อประโยชน์แก่การติดตามเรื่องให้เหมือนตาเห็นต่อไป ภายในคุกใหม่ หรือคุกไทย ตามที่เขาเรียกขานกัน เริ่มแต่ที่ตรงเหนือประตูหน้าคุกชั้นที่ ๓ จะมองเห็นเชิงเทินทำเป็นป้อมอย่างแข็งแรงคร่อมอยู่ สำหรับตำรวจยามรักษาการทั้งกลางคืนกลางวัน ยามทุกคนถือปืน ร.ศ. ท่าทางองอาจ ที่บานประตูคุกทุกบาน มีรูเท่าอันสตางค์แดงประมาณ ๑๐ รูเจาะไว้เป็นกลุ่ม เพื่อยามประตูทุกชั้นจะได้มองเห็นกัน โซ่ร้อยห่วงกุญแจประตูแต่ ละเส้นใหญ่ขนาดเท่าแขน แม่กุญแจใหญ่ขนาดฝ่ามือ ลูกกุญแจโตยาวขนาดเป็นอาวุธได้ มองดูอะไร ๆ มันช่างใหญ่โตล่ำสันไปเสียทั้งนั้น พอย่างพ้นประตูชั้นที่ ๓ แล้วจะพบถนนดาดซีเมนต์ยาวตรงไปถึงประตูโรงงานช่างไม้ สองข้างถนนมีสนามหญ้าผืนใหญ่ข้างละสนาม รอบสนามหญ้ามีถนนดาดซีเมนต์ทุกด้าน ที่ขอบสนามหญ้าด้านในมีตึกคุกมืดไว้ขังผู้กระทำผิดร้ายแรงขึ้นภายในคุก สนามละหลัง ขังได้คุกละราว ๑๐ คน คุกมืดนี้ นักโทษเรียกกันว่า “ลูกคุก” ถัดจากคุกมืดไปทั้ง ๒ หลัง มีตึกใหญ่ ๓ ชั้น ขั้นด้วยถนนซีเมนต์ ตึกแต่ละหลังขังนักโทษได้ประมาณเกือบ ๑,๐๐๐ คน ตึกทางด้านเหนือมีชื่อว่า ‘คุกเหนือ’ ตึกทางด้านใต้ มีชื่อว่า ‘คุกใต้’ ท้ายตึกคุกทั้งสองนั้นเป็นบริเวณโรงงานต่าง ๆ จนจดกำแพงคุกด้านหลังที่ใกล้กับถนนอุณากรรณ ด้านหน้าตึกคุกใหญ่ทั้งสอง มีตึก ๒ ชั้นสร้างขวางหน้าเรียกว่า คลังเหนือและคลังใต้ สำหรับเป็นที่ทำงานและขังนักโทษ ทั้งเก็บพัสดุบางอย่างด้วย พวกเรา ๑๐ คนที่ถูกส่งคุกเมื่อวันถูกจับกุมนั้น พอหลังจากตีเครื่องพันธนาการแล้วก็ส่งเข้าพักไว้ในคลังให้ก่อน แล้วจึงนำส่งคุกนักโทษต่างประเทศ อย่างเดียวกับที่กล่าวมาแล้วในตอน ร.ต. เหรียญ โรงพยาบาลตั้งอยู่ระหว่างกำแพงคุกใหญ่ด้านใต้กับตึกคุกใต้ บรรจุนักโทษป่วยได้ประมาณ ๒๐๐ คน มีถนนลาดซีเมนต์เดินได้รอบ ส่วนคุกต่างประเทศอยู่ใกล้กำแพงคุกใหญ่ทางด้านเหนือสุด ตรงกันข้ามกับโรงพยาบาล มีถนนซีเมนต์เดินได้รอบดุจกัน มีโรงครัว โรงเลี้ยงอาหาร ส้วม และสนามหญ้าครบถ้วน ระหว่างคุกต่างประเทศกับตึกคุกเหนือ เป็นโรงงานกับคุกผู้หญิง โดยมีกำแพงกั้นเป็นส่วนหนึ่งต่างหาก ระหว่างกำแพงคุกผู้หญิงกับตึกคุกเหนือ เป็นโรงเลี้ยงอาหารของนักโทษทั้งหมด ยกพื้นซีเมนต์สูงกว่าทางเดินประมาณ ๕๐ ซ.ม. มีหลังคาสังกะสีมุงคร่อม ไม่มีฝา ตอนสุดของโรงอาหารทางด้านตะวันออกมีผู้ใหญ่ประดิษฐานพระพุทธรูป ขนาดหน้าตักประมาณ ๒๐ นิ้ว สำหรับนักโทษบูชา และนิมนต์พระเข้าไปเทศน์ให้นักโทษฟังที่หน้าพระพุทธรูปนั้นเป็นครั้งคราว พื้นโรงอาหารรักษาอย่างสะอาดสะอ้านตลอดวัน ตอนสุดโรงอาหารด้านตะวันตกก็เป็นโรงครัว ใหญ่โตพอประกอบอาหารเลี้ยงนักโทษได้ประมาณ ๓,๐๐๐ คน ด้านหลังและด้านข้างของโรงครัว เป็นโรงงานต่าง ๆ และห้องส้วมกลาง แบบคุกไทยที่สร้างนี้ เขาว่าสร้างตามแบบเรือนจำในสิงคโปร์ แต่ส่วนคุกต่างประเทศได้สร้างตามแบบเรือนจำในอเมริกา ซึ่งสมัยใหม่กว่ากันมากและไม่ร้อนอบอ้าวแก่นักโทษเหมือนคุกไทยเลย
ขณะที่นักโทษการเมือง ๑๓ คนเดินตามผู้คุมหน้าถมึงทึงไปยังคุกต่างประเทศนั้น ต้องผ่านหน้าคุกเหนือซึ่งเป็นเวลาที่นักโทษคุกไทยถูกเก็บขึ้นคุกสิ้นแล้ว ความน่าทุเรศที่เกิดแก่พวกเราก็คือการเดินตรวน แม้จะแสดงน้ำใจองอาจกล้าหาญเพียงไรก็ตาม แต่เนื้อหนังกับเหล็กสนิมจับเขรอะเมื่อกระทบกันเข้าแล้ว มันก็ต้องเจ็บ ถึงเจ็บก็ต้องทน บางคนเดินเตะตรวนเหมือนกับเตะเชือกลากไปกับถนนซีเมนต์ดังสนั่น บางคนต้องเดินก้มหลัง ใช้มือยกสายโซ่ขึ้นถือ พอผ่านหน้าคุกเหนือ ก็เห็นนักโทษบางจำพวกนั่งหน้าสลอนอยู่ที่ประตูหน้าต่างลูกกรงเหล็ก บางคนลั่นวาจาแสดงความสงสารพวกเรา บางคนก็ว่า เขาเป็นผู้ ‘รักชาติ’ ไม่ช้าก็ออกได้ เขาขนานนามพวกเราว่า “นักโทษทหาร” ก็มี “พวกเก๊กเหม็ง” ก็มี
พอผ่านหน้าตึกคุกเหนือไปถึงโรงเลี้ยงอาหาร เห็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ซึ่งน้ำใจพวกเราให้รีบกราบไหว้ทันที แล้วก็เข้าประตูกำแพงที่กั้นระหว่างคุกหญิงกับคุกชาย แต่ผู้คุมนำเดินเข้าประตูโรงงาน ซึ่งเขาเรียกว่า ‘โรงรถ’ มีโรงงานช่างทองอยู่ในนั้นด้วย ครั้นผ่านโรงรถแล้วก็เข้าเขตคุกนักโทษต่างประเทศ มองดูโล่งโถง ใจคอสบายทันที ภาพแรกที่สายตาพวกเรามุ่งเขม้นก็คือ เพื่อนร่วมตาย ก็ได้พบจริง ๆ กำลังยืนเกาะลูกกรงเหล็กห้องขังชั้นบน ห้องละคน บางร้องทักทายปราศัยโหวกเหวก พร้อมด้วยยกมือโบกเป็นการต้อนรับ คล้ายอยู่บนเรือลำใหญ่กำลังจะแล่นออกทะเล เพราะมีทั้ง เจ๊ก แขก ฝรั่ง ชะเง้อลูกกรงจ้องดูพวกเรากันเป็นแถว พวกเราก็ยกมือตอบด้วยความตื่นเต้น แล้วผู้คุมก็นำเราขึ้นบนตึกคุกชั้นบน บรรจุเข้าเคบิ้นห้องละคน ภายในห้องมีอะไรบ้าง ได้เคยทราบกันอยู่แล้ว แต่ควรจะทราบภาษาคุกไว้สักหน่อยว่า ถังอุจาระเขาเรียกว่า “หม้อเม”
คุกต่างประเทศนั้นเพิ่งสร้างขึ้นใหม่ไม่กี่ปี ถูกสุขลักษณะเรือนจำที่ดี จุนักโทษได้ราว ๑๐๐ กว่าคน มีสนามหญ้าหน้าตึกด้านใต้สำหรับนักโทษหย่อนใจ กำแพงคุกเป็นกำแพงเดียวกันกับกำแพงคุกไทย มีประตูและห้องเยี่ยมญาติทางด้านถนนมหาชัย บ้านพักนายคุกซึ่งเรียกว่า เจ้ากรม อยู่ติดกับประตูคุก หันหน้าออกถนนมหาชัยเหมือนกัน ระหว่างกำแพงกับตึกคุกทางด้านเหนือมีสนามหญ้ากว้างประมาณ ๔ เมตร ยาวไปตามกำแพงติดกับถนนรอบตึก ด้านหน้าคุกมีบ่อน้ำสี่เหลี่ยมขนาด ๔ x ๔ เมตร อยู่ใกล้กับประตูคุก ด้านหลังมีห้องน้ำ ห้องส้วม โรงครัว และโรงเลี้ยงอาหาร เรียงกันไป ไม่มีโรงงาน หากมีงานจะให้ทำก็ใช้โรงเลี้ยงอาหารเป็นโรงงานชั่วคราว มีห้องช่างวาดเขียนอันเป็นบริเวณเล็ก ๆ อยู่ในโรงอาหาร ๑ ห้อง ตัวช่างเป็นนักโทษจีนชื่อเต๊กโชในบังคับต่างประเทศ พวกเราพอส่งเข้าห้องแล้วก็อดที่จะตะโกนพูดจากันไม่ได้ เพราะเป็นเวลาหลายเดือนมาแล้วเพิ่งจะได้พบปะกัน และก็เป็นการพบปะกันในยามทุกข์ยากเสียด้วย จึงต้องระบายความในอกในใจต่อกันบ้าง เว้นแต่บางคนที่เงียบสงบไม่ยอมพูดจาอยู่หลาย ๆ วันก็มีเหมือนกัน
ตกเย็นถึงเวลาอาหาร ผู้คุมคุกก็เสือกกะละมังข้าวแดงและชามกะลาใส่แกงเนื้อวัวกับมะเขือซ้อนกันเข้าไปในห้องดังครืด! พวกเราบางคนที่กำลังหิวก็จัดการกับมัน พอตกค่ำก็ได้รับเสื่อกระจูดกับผ้าแบลงเก๊ตห่มนอนอย่างละหนึ่งผืน พวกเราโดยมากพยายามที่สุดที่จะปฏิบัติให้ชินต่อสิ่งต่าง ๆ กับภาวะเหล่านั้น เพราะจะต้องมีชีวิตอยู่ภายในบริเวณจำกัดด้วยความทนทุกข์ทรมานตลอดชีพหรือ ๒๐ ปี
ในคุกต่างประเทศหรือเรือเดินสมุทร์นี้ มีสิ่งเพลิดเพลินหลายอย่าง โดยมีพวกต่างด้าวหลายชาติหลายภาษาอยู่รวมกัน แต่ละคนล้วนกลั่นมาแล้วแทบทั้งนั้น เสมือนได้ดูลิเกตอนออกสิบสองภาษา และตอนที่นักโทษการเมืองถูกตัดสินเด็ดขาดแล้ว พวกผู้คุมทั้งใหญ่และน้อยในคุกต่างประเทศ ได้เปลี่ยนเป็นคนไทยทั้งหมด ทำให้นักโทษต่างประเทศเกรงกลัวน้อยไป ถือว่าเขามีนายฝรั่งที่เป็นมหาประเทศคุ้มครองเขาอยู่ เลยเห็นพวกผู้คุมทุกชั้นเสมือนลูกกะโล่ มักจะสำแดงอำนาจต่าง ๆ พอเอะอะอะไรขึ้นก็ฟ้องกงสุล นักโทษพวกนี้ได้รับเบี้ยเลี้ยงสูงกว่านักโทษไทยมาก ถ้าเป็นคนต่างด้าวชาวเอเชียได้วันละ ๕๐ สตางค์ ถ้าเป็นลูกครึ่งฝรั่งได้วันละ ๑ บาท ถ้าเป็นชาวยุโรปหรือฝรั่งแท้ๆ ได้วันละ ๒ บาท ส่วนคนไทยได้วันละ ๑๒ สตางค์ ฉะนั้นมันจึงมีการเหยียดหยามอยู่ในตัวเสมอ เว้นแต่พวกเรา นักโทษการเมืองมักได้รับความเกรงใจและสงสารจากนักโทษพวกนั้น จึงมักจัดหาอาหารมาเจือจานให้รับประทานอยู่เนืองๆ
เมื่อเข้าไปอยู่ใหม่ ๆ พวกเราถูกขังแจอยู่แต่ในห้อง ได้อาบน้ำวันละครั้งอยู่เกือบ ๒ เดือน แต่มีวันสำคัญอยู่วันหนึ่ง ที่เราได้จดลงไว้ในสมุดพกประจำวัน คือวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๓๑ (พ.ศ. ๒๔๕๕) ซึ่งพวกเราต้องเวรจำมาได้ ๒๐ วัน ขณะที่เรากำลังอาบน้ำอยู่รอบขอบบ่อหน้าตึกขัง เวลาประมาณ ๑๐ น. ได้เกิดแผ่นดินไหวขึ้นในประเทศไทย กระทำให้น้ำในบ่อกระฉอกอยู่หลายนาที จนพวกเราในที่นั้นรู้สึกตัวโงนเงนไปมา แล้วก็เกิดคำสันนิษฐานขึ้นในพวกเราบางคนต่าง ๆ นานา
บรรดานายแพทย์ประจำอยู่ในกองมหันตโทษ เปรียบได้ด้วยพ่อพระของนักโทษ เพราะนอกจากจะให้การรักษาพยาบาลเวลาเจ็บไข้ได้ป่วยแล้ว ยังมีอำนาจสั่งให้เจ้าหน้าที่เรือนจำถอดเครื่องพันธนาการแก่ผู้ใดก็ได้ โดยมีกำหนดเวลา ในเมื่อมีอาการป่วยเพิ่มขึ้น หรือจะสั่งให้งดทำงานก็ได้ตามกำหนดเวลาที่เห็นควรแก่อาการป่วยเจ็บนั้น ๆ มีนักโทษการเมืองหลายคนที่มีโรคภัยประจำตัว เช่นเป็นแผลที่เท้าเพราะตรวนกัด และเป็นโรคโลหิตไม่ปกติ พระบำบัดฯ เมื่อได้ตรวจแล้วก็สั่งให้ถอดโซ่ตรวนทันที เช่น ร.ต. เนตร, ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์ ต้องเวรจำได้ราว ๒๓ วัน ก็ได้รับคำสั่งให้ถอดตรวน คงเหลือแต่พวงคออย่างเดียว
พวกเราเมื่อต้องเวรจำใหม่ ๆ มีความต้องการอยู่ ๒ อย่าง คือ ใคร่ได้พบหน้าญาติ และได้อาหารดีๆ รับประทาน เพื่อให้ความหวังยังมีพลังต่อไป แต่พนักงานเรือนจำก็ยังไม่ยอมให้เยี่ยมญาติและส่งอาหาร ความกระหายก็ดูยิ่งเพิ่มทวีขึ้น เพราะรู้อยู่ว่า เมื่อนักโทษผู้ใดตัดสินเด็ดขาดแล้ว ตามข้อบังคับเรือนจำเขาให้ญาติเยี่ยมได้ตามระเบียบทุกคน เว้นแต่นักโทษฐานอุกฤษฏ์เท่านั้น ซึ่งต้องขังอยู่ในห้องรอการประหารชีวิต จนล่วงเวลาได้ ๒ เดือนเศษ เขาจึงผ่อนผันให้พวกเราเยี่ยมญาติได้เดือนละ ๒ ครั้ง และส่งอาหารให้ได้เพียง ๑ ใน ๑๐ ของอาหารที่นำไปทั้งหมด
ต่อเมื่อล่วงไปได้ ๔ เดือนแล้ว จึงอนุญาตให้เยี่ยมได้สัปดาห์ละครั้ง ๆ ละ ๕ นาที และอาหารก็ยอมให้ได้ทั้งหมด ดูพวกเราค่อยมีสีหน้าร่างกายและจิตใจสดชื่นขึ้นกว่าเดิม เมื่อพูดถึงเรื่องญาติเยี่ยมก็น่าจะได้พรรณนาถึงสิ่งที่มาที่ในที่นี้เสียเลยทีเดียว กล่าวคือ เนื่องด้วยพวกเราเป็นเพื่อนร่วมตายกัน ย่อมต้องมีความสามัคคีกลมเกลียวกันเป็นพิเศษโดยเอกเทศกว่ามิตรประเภทใด ๆ เพราะแม้แต่ชีวิตก็ยังสละให้ซึ่งกันและกันได้แล้ว คำว่า “มิตรแท้” จึงยังเป็นรองคำว่า “เพื่อนตาย” เมื่อเป็นเช่นนี้ และยิ่งอยู่ร่วมกันในสถานบรมทุกข์ด้วยแล้ว ก็ยิ่งเพิ่มความรักสมัครสมานกันขึ้นเป็นพันทวี พวกเราได้รวมกำลังกันเป็นปึกแผ่นแน่นหนาจนเป็นที่เกรงขามของทุกคนในกองเรือนจำอยู่มิได้ขาด จนกระทั่งวันพ้นพระราชอาญา ก็เมื่อพวกเราทุกคนมีลักษณาการดังนั้น มันก็เลยเป็นสาเหตุให้ญาติของพวกเราทุกคน ซึ่งมิเคยรู้จักกันมาแต่ก่อนโดยมาก กลับรู้จักมักคุ้นและพลอยรักใคร่กลมเกลียวเสมือนญาติในครัวเรือนเดียวกัน และก็ผลแห่งความสามัคคีของญาติดังกล่าว ทำให้เกิดเป็นพลังถึงพวกเราอย่างประหลาดๆมาก ซึ่งจะได้ปรากฏต่อไป ในชั้นต้น ๆ นี้ ควรทราบแต่เพียงว่า สรรพอาหารคาวหวาน, บุหรี่, สะบู่ และเครื่องใช้ที่ควรใช้ร่วมกันได้ เมื่อญาติทุกคนส่งเข้าไปให้พวกเราแล้ว จะเป็นจำนวนมากหรือน้อยเพียงใดก็ตาม พวกเราก็ได้จัดเจ้าหน้าที่ไว้รับทั้งหมดแล้วนำเข้าคลัง คือห้องว่าง ๆ ห้องหนึ่ง ผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่นั้น ถ้าเราจำไม่ผิดก็ดูเหมือนจะเป็น ร.ท.ทองดำ กับ ร.ต.จันทร์ ครั้นเมื่อหมดเวลาเยี่ยม คือในวันอาทิตย์ตอน ๑๖ น. ล่วงแล้ว เจ้าหน้าที่ทั้งสองนั้น ก็พิจารณาว่า อะไรควรรับประทานก่อน อะไรควรรับประทานภายหลัง อะไรควรอุ่นเก็บไว้ หรืออะไรที่ควรแจกกันในวันเยี่ยมนั้น ก็ดำเนินการไปเท่าที่เห็นควร และพวกเราถือว่าการวินิจฉัยของเจ้าหน้าที่ทั้ง ๒ นั้นเป็นเด็ดขาดใครจะคัดค้านมิได้ นอกจากนั้น ยังมีเงื่อนไขให้จัดแจกสนองความตอบแทนแก่ผู้ที่เคยเจือจานเราด้วย จะเป็นผู้คุมหรือนักโทษก็ตามที ข้อสำคัญ ให้พยายามสงวนไว้ให้พอกินพอใช้ได้หนึ่งสัปดาห์เป็นใช้ได้ เพราะต่อวันอาทิตย์ญาติจึงจะส่งได้ครั้งหนึ่งตามระเบียบ
ทีนี้ เราจะได้กล่าวถึงเรื่องการงานของพวกเราในยามนั้นบ้าง คือเบื้องแรกเมื่อประมาณเดือนที่ ๒ ในเรือนจำ นายคุกเขาได้เริ่มใช้งานกรรมกรแก่พวกเราหลายอย่าง โดยแบ่งหน้าที่กันทำ เช่นพวกหนึ่งทุบกาบมะพร้าว พวกหนึ่งทุบหิน พวกหนึ่งกวาดท่อล้างท่อในบริเวณคุก และอีกพวกหนึ่งรดน้ำต้นไม้ในสนามหญ้า และรอบกำแพงคุก ส่วนพวกเราที่มีลายมือดีก็ได้รับหน้าที่เสมียนประจำที่ทำการคุกต่างประเทศ พวกที่มีวิชาทางแพทย์ เช่น หมออัทย์ กับ หมอเหล็ง ก็ให้อยู่ประจำห้องพยาบาลภายใต้ความควบคุมของนายแพทย์ใหญ่ คือ พระบำบัดฯ พวกที่ป่วยเจ็บซึ่งแพทย์ได้สั่งให้ถอดตรวนไว้แล้ว ก็ไม่ต้องทำงาน แต่ต้องถูกขังแกร่วอยู่ในห้องตลอดวันมี ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์ กับ ร.ต.เนตร การทำงานของพวกเราได้รับความชมเชยจากผู้คุมและเพื่อนนักโทษต่างประเทศเป็นอันมาก ค่าที่พวกเราทำงานกันจริง ๆ อย่างกลมเกลียวไม่บิดพริ้ว จนมีฉายาว่า “นักโทษทหาร” คือ นักโทษผู้ทำงานเข้มแข็งและพร้อมเพรียงกันอย่างทหาร ถึงเวลางานเป็นทำ ถึงเวลาเลิกเป็นหยุด เป็นระเบียบเช่นนี้สม่ำเสมอ และทุกครั้งเมื่อถึงเวลางาน ร.ต.ต. เชื้อ ชีรานนท์ (ต่อมาได้เป็นร้อยตำรวจโท และรองอำมาตย์โท หลวงเรืองเวชวิชาคุณ หัวหน้าแพทย์กองมหันตโทษ ในตำแหน่งผู้ช่วยแพทย์กรมสาธารณสุข) ผู้คุมใหญ่คุกต่างประเทศ ที่นับว่าสามารถในการปกครองนักโทษเป็นอันมาก พอถึงเวลาทำงานของพวกเรา เขาก็เรียกพวกเราด้วยเสียงดังคล้ายบอกทหารว่า “ทหาร-ทำงาน” ทุกครั้ง พวกเราก็ลงไปทำงานกันด้วยความพร้อมเพรียง โรงงานของพวกเราทางเรือนจำได้สร้างขึ้นใหม่ ติดกับกำแพงคุกผู้หญิง มุงหลังคาด้วยสังกะสี ฝาทำด้วยลูกกรงเหล็กรอบ อากาศโปร่งดี เมื่อพวกเราเข้าประจำโรงงานกันแล้ว ก็ทำงานเป็นที่ไว้วางใจของผู้คุมใหญ่ ส่วนผู้ที่ทำงานกลางแจ้งก็ไม่ครั่นคร้ามต่อความร้อนของแดดแผดเผา รีบทำกันจนเสร็จตามที่กะไว้ แล้วก็เข้าพักในโรงงาน ซึ่งเลยเป็นบริเวณหย่อนใจอย่างสนุกสนาน งานทุกประเภทดังว่านี้กระทำให้พวกเรามีสีเนื้อดำคล้ำขึ้น แต่ได้ความแข็งแรงว่องไวสมชื่อว่า “นักโทษทหาร” เพราะการออกกำลังทำให้เจริญอาหารและมีกล้ามเนื้อทะมัดทะแมง เมื่อพวกเราเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของผู้คุมใหญ่ และมีความสนิทชิดเชื้อกันขึ้นแล้ว ความผ่อนปรนที่พึงพอใจพวกเราก็เกิดขึ้น คือมีหนังสือพิมพ์และตำรับตำราไว้อ่าน จากความเมตตาปรานีของผู้คุมใหญ่บ้าง สิ่งที่เป็นอาหารจิตใจของพวกเรายามนั้นก็คือ หนังสือ ทั้ง ๆ จะเป็นการละเมิดกฎของเรือนจำนี้ เราก็พยายามจนสุดความสามารถ ชั้นชั่วให้ญาติใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ห่อสิ่งของเข้าไปก็ยังใช้ได้ พวกเราได้เก็บซ่อนไว้แอบอ่านกันแทบทุกตัวอักษร แม้แต่แจ้งความก็อ่านหมดเกือบทุกเรื่อง นอกจากทางผู้คุมใหญ่และทางญาติแล้ว ก็ได้อาศัยหมออีกทางหนึ่ง ค่าที่ทางห้องพยาบาลจะต้องอาศัยตำรับตำราเป็นเครื่องมือช่วยเหลือ หนังสือประเภทต่าง ๆ ก็พลอยโดยสารตำรายาเข้าไปด้วยเป็นคราว ๆ
โชค กับ เคราะห์ คือ คราวดี กับ คราวร้าย ทั้งสองภาวะนี้ หากจะนับว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของแม่บทธรรมชาติก็เห็นจะไม่ผิด เพราะมันมักประสบเข้ากับทั้งผู้ที่ถือมันหรือไม่ถือมันอยู่เสมอ แม้เขาผู้นั้นจะทำดี หรือทำไม่ดีก็ตาม ซึ่งบางครั้งทำดี กลับประสบคราวร้าย และบางครั้งทำไม่ดี กลับประสบคราวดี ก็มีอยู่เสมอ ๆ ทางพุทธศาสนาของเราไม่ถือโชคหรือเคราะห์ก็จริงแหล่ แต่ก็ยังถือว่าเมื่อใดดี-ถือว่าโชคดี เมื่อใดร้าย-ถือว่าเคราะห์ร้าย สุดแต่การกระทำของบุคคลเป็นใหญ่ แต่ก็ทุกคนเคยผ่านคราวดีในเมื่อกระทำผิด และเคยผ่านคราวร้ายในเมื่อกระทำถูกมาแล้วด้วยกันทั้งนั้น แม้แต่องค์พระบรมศาสดาเองก็หาหนีภาวะนี้ไปได้ไม่ (Law of Moderatism) ดั่งเคยมีในพระพุทธประวัติอยู่หลายตอนเหมือนกัน นี่แหละคือกฎแห่งความพอดีดังเคยกล่าวมาแล้ว แต่ดวงจิตเท่านั้นย่อมรู้ความจริงแห่งผลของการกระทำนั้น ๆ เสมอ
การคิดจะปฏิวัติประเพณีการปกครองเมืองไทยใน ร.ศ. ๑๓๐ ของพวกเราครั้งกระนั้น ในทัศนะของพวกเราและของประชาชนไทยมิใช่น้อย ตลอดจนชาวต่างประเทศผู้เจริญแล้ว ยังถือว่าพวกเรามีเหตุผลตามกาละสมัย และสถานะการณ์ของบ้านเมืองอยู่อักโข แต่เมื่อฝ่ายเราเป็นผู้แพ้ฝ่ายรัฐบาล พวกเราก็ต้องประสบคราวร้ายหรือเคราะห์ จนถึงต้องให้รับพระราชอาญาถูกจำโซ่ตรวน และถูกตัดอิสระภาพทุกอย่าง พวกเราก็หาท้อถอยอย่างไรไม่ กัดฟันทนทุกข์ทรมานและกระทำงานสนองกรรมด้วยกันทุกคน แต่สิ่งที่เรายังต้องปรารถนาอยู่มากเสมอ ก็คือ “ความยุติธรรม” ทั้งนี้ย่อมเป็นด้วยกันทุกรูปทุกนาม ไม่ว่าจะตกอยู่ในฐานะอย่างใด ๆ
ตามธรรมดาโรคภัยมักจะพลอยซ้ำเติมผู้มีอาการป่วยไข้อยู่แล้วโดยมีเหตุผล แต่เหตุไฉนเคราะห์กรรมจึงพลอยซ้ำเติมผู้ที่ประสบเคราะห์กรรมอยู่แล้วเช่นกัน (Malheure n’arrive Jamis Seul)
ครั้นถึงเดือน กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๓๑ นับเป็นเวลาล่วงมาได้ประมาณ ๑๐ เดือนเศษที่ในเรือนจำ และล่วงมาได้ราว ๗ เดือน ตั้งแต่พวกเราลงมือทำงานเยี่ยงนักโทษ ทั้งในกลางแดดแผดเผาและในร่มใต้หลังคาสังกะสี พร้อมด้วยตรวนติดขา และสวมพวงคอเหล็กนั้น พวกเรามิเคยได้ปริปากเลย เว้นแต่ญาติมิตรของเราเท่านั้น เมื่อเห็นพวกเราเวลาเยี่ยมมักจะเกิดปริเทวนาการไปตาม ๆ กัน และก็ในปลายเดือนกุมภาพันธ์นั้นเอง คราวร้าย หรือ เคราะห์ ก็ได้วิ่งเข้ามาเสียบใจพวกเราอีกทั้ง ๆ กำลังตกอยู่ในขุมทุกข์อย่างแสนสาหัสแล้วเช่นนั้น แต่เราจะไม่พิจารณาการกระทำของพวกเรา จะขอให้เป็นหน้าที่ของท่านที่เคารพทุกท่านวิพากย์วิจารณ์เอาเอง
กล่าวคือ ขณะที่พวกเรากำลังเพลินงานเยี่ยงกรรมกรอยู่นั้น ทางเรือนจำต่างประเทศเกิดเปลี่ยนผู้คุมใหญ่ใหม่ ชื่อ ร.ต.ต. พะยอม ซึ่งกำลังหนุ่มแน่น เขาผู้นั้นจะได้รับคำสั่งมาจากนายของเรา หรือจะเป็นด้วยสมองของเขาเองหามีผู้ใดทราบไม่ นอกจากเขาได้พยายามเข้มงวดกวดขันพวกเรามากกว่าผู้คุมใหญ่คนเก่า ซึ่งเป็นคนสูงอายุและสุขุมรอบคอบกับตำแหน่งนั้นแล้ว เขายังชอบใช้กิริยาวาจาต่อพวกเราอย่างมะนาวไม่มีน้ำ จนนักโทษต่างด้าวแทบทุกคนฟังไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้คำว่า “เสียชีพดีกว่าเสียชาติ” อันเป็นสัญญลักษณ์ของคณะ ๑๓๐ ก็คอยสะกิดเรา ทำให้เขากับพวกเราเกิดไม่ค่อยจะกินกันขึ้นบ้างในบางคราว ในที่สุดเขาก็เปลี่ยนการทำงานของพวกเรามาเป็นการทำถนนทุกสายในคุกต่างประเทศเสียใหม่ แม้ถนนทุกสายจะเรียบร้อยด้วยพื้นซีเมนต์อยู่แล้ว เขาก็สั่งให้พวกเราขุดพื้นถนนซีเมนต์นั้นขึ้นมาทุบให้ราบลงด้วยสามเกลอ พวกเราก็กระทำตามทุกประการ เมื่อพื้นที่ราบแล้วเขาก็สั่งให้พวกเราถืออิฐถือปูนบนพื้นถนนอีก โดยออกคำสั่งอย่างเด็ดขาดว่า ให้พวกเราไปขนอิฐมาจากคุกไทย โดยการหาบด้วยปุ้งกี๋ พวกเราที่ทำงานทุกคนชักงง ในที่สุดก็ส่งผู้แทนเข้าไปขอความกรุณาอย่างอ่อนน้อมว่า “พวกผมที่ทำงาน ขอความกรุณาเป็นที่พึ่ง ได้โปรดใช้นักโทษในคุกไทยให้ช่วยขนอิฐมาเหมือนเช่นเคยเถิด เพราะนักโทษที่ถอดโซ่ตรวนก็มี หรือหากมีโซ่ตรวนเขาก็เดินเหินได้คล่องแคล่วด้วยความเคยชิน พวกผมยังเดินตรวนไม่สู้ถนัดนัก ระยะทางที่ไปมาก็ไกล ๑๐ กว่าเส้น ทั้งต้องก้าวข้ามธรณีประตูขนาดสูงหลายแห่ง เกรงว่าจะทำให้งานเร็วเป็นงานช้าไป และอาจจะหกล้มลงได้รับความป่วยเจ็บขึ้นอีกด้วย ส่วนการก่ออิฐถือปูนปูพื้นถนนนั้น จะขอรับทำให้ดีที่สุด”
ผู้คุมใหญ่หน้าใหม่หายอมฟังเสียงพวกเราไม่ ตอบอย่างเสียงกร้าว ๆ ว่า “ไม่ได้ - ไม่ได้!” ครั้นเมื่อพวกเราอ้อนวอนขอให้กรุณาไปเรียนท่านเจ้ากรมคุกดูสักครั้ง เผื่อท่านจะกรุณาตามคำขอร้องของพวกเราบ้าง เขาก็ตอบคล้ายกับรู้ใจกันมาแล้วว่า “ท่านเจ้ากรมก็ไม่ยอมลดหย่อนให้เหมือนกัน” ในที่สุดเมื่อพวกเราจะอ้อนวอนสักกี่ยกกี่ครั้ง เขาก็คงยืนกรานอยู่ตามเดิม และไม่ยอมที่จะไปเสนอคำขอร้องของพวกเราต่อเจ้ากรมคุกจนแล้วจนรอด
เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเราจึงขอเวลาปรึกษากันดูก่อน แล้วก็กลับขึ้นตึกขังเพื่อหารือกันดู และเล่าเรื่องให้ผู้ที่ป่วยฟังโดยตลอดด้วย ลงท้ายทุกคนที่ทำงานพร้อมด้วยผู้ป่วยและผู้พักงาน มี ร.ต. เหรียญ ศรี จันทร์ ร.ท. จรูญ ณ บางช้าง ร.ต. ถัด ร.ต.เขียน และ ร.ต. เนตร ก็ลงความเห็นพร้อมกันว่า “ไม่ยอมทำงาน” โดยส่งผู้แทนไปแจ้งต่อผู้คุมใหญ่หนุ่มตะกอนั้นทันที
ทันใดนั้น เขาก็สั่งพวกผู้คุมให้เก็บพวกเราเข้าห้องขังไว้ทุกคน เพื่อรอคำสั่งผู้ใหญ่ที่เขาไปรายงานพฤติการณ์ของพวกเรา อีกสักครู่ใหญ่ ๆ ต่อมา มีผู้คุมจำนวนตั้งโหลมาไขประตูห้องขัง สั่งให้พวกเราเดินตามเขาไปยังคุกไทย รวมทั้งผู้ที่ป่วยไม่ต้องทำงานด้วย ๕ คน (เว้นแต่พวกเราที่เป็นแพทย์ และเสมียนรวม ๔ คนด้วยกัน คือ หมออัทย์ หมอเหล็ง ทองดำ และบ๋วยเท่านั้นคงอยู่ในสภาพเดิม ขณะที่พวกเราเดินตามพวกผู้คุมไปเป็นหางนั้น นักโทษต่างประเทศต่างเพ่งมองดูการกระทำของพวกผู้คุมที่กระทำแก่พวกเราด้วยอาการต่าง ๆ กัน พวกฝรั่งส่งภาษาสะแลง (Slang) ใส่พวกผู้คุมหลายอย่าง และการนั้นทั้งหมดเป็นเหตุให้พวกเราต่างคิดเห็นกันไปนานัปการ แต่ก็พยายามอดใจเพื่อรอดูการกระทำของนายคุกต่อไป
พอผู้คุมนำพวกเราเข้าไปในคุกไทย ก็เดินตามถนนหน้าตึกคุกเหนือ ทางเดียวกับที่พวกเราเคยเดินผ่านเมื่อวันแรกเข้าคุกสองข้างทางนั้น มีแถวผู้คุมยืนรายทางเป็นระยะ ๆ คล้ายตั้งแถวรับเสด็จ พวกเราเดินอย่างองอาจตามท่าทางของทหาร และตามอำนาจจิตที่ยังทรงไว้ซึ่งอิสระภาพ ขณะเดินไปได้มองเห็นเจ้ากรมคุกนั้นตั้งอยู่ที่โต๊ะตัวหนึ่งกลางสนามหญ้าด้านเหนือ ซึ่งจัดขึ้นเป็นพิเศษ เมื่อพวกเราเข้าไปถึงหน้าโต๊ะก็ยืนระวังตรงในท่าเคารพของทหาร อันนับว่าเป็นคารวะอย่างสูงของผู้มีวินัย แต่สังเกตได้ว่า นายคุกหรือเจ้ากรมแสดงสีหน้าไม่พอใจมาก แล้วก็เรียกชื่อพวกเราเข้าไปซักถามทีละคน ๆ พวกเราก็ให้การตรงกันตามความเป็นจริงทุกประการ ในที่สุด เขาก็วินิจฉัยว่า พวกเราก่อการสะไตร๊ค์ไม่ยอมทำงาน สั่งให้เจ้าหน้าที่ตีตรวนและพวงคอขนาดใหญ่ ๖ หุนเท่า ๆ นิ้วหัวแม่มือ เฉพาะผู้ทำงานกรรมกร ๑๔ คน และสั่งให้ต้อนเข้าคุกมืดกลางสนามหรือ “ลูกคุก” หลังละคนมีกำหนด ๑๕ วันพวกหนึ่ง อีกพวกหนึ่ง ที่มิได้ทำงานกรรมกรโดยป่วยเจ็บ ตามคำสั่งแพทย์มีจำนวน ๕ คนนั้น ก็สั่งให้ไปสูบน้ำบาดาลที่โรงสูบน้ำมีกำหนด ๑๕ วันเหมือนกัน โรงสูบน้ำตั้งอยู่ในบริเวณโรงเลื่อยด้านหลังตึกคุกใต้ แต่มีกำแพงใหญ่กั้นไว้เป็นบริเวณโรงงานส่วนหนึ่ง โรงงานในคุกทุกโรงกั้นด้วยกำแพงก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ได้เป็นส่วน ๆ เดินไปมาถึงกันไม่ได้เลย ถ้านักโทษคนใดมีธุระการงานต้องติดต่อกับโรงงานอื่น ก็ต้องได้รับอนุญาตจากหัวหน้างานและผู้คุมประจำโรงงานของตนเสียก่อน เพื่อแสดงใบอนุญาตเข้าออกโรงงานต่อผู้เป็นยามประตูโรงงานนั้น ๆ ทุกครั้ง ยามประตูโรงงานนี้ บางโรงงานก็ใช้ผู้คุมคุก บางโรงงานที่ใช้นักโทษที่เลื่อนชั้นเป็นนักโทษชั้น ๑ หรือชั้นยามใน นับว่าเป็นการเข้มงวดกวดขันมิใช่น้อย
ลักษณะของคุกมืดหรือ “ลูกคุก” มีดังนี้คือ ขนาดห้องส่วนยาวหรือลึกประมาณ ๓ เมตร กว้างเมตรครึ่ง ก่อด้วยอิฐถือปูน หลังคาเป็นสังกะสี ประตูทำด้วยบานเหล็กทึบ ตั้งอยู่กลางแตด ตรงบานประตูตอนที่สูงขนาดลูกตามองเห็นนั้น เจาะรูขนาดเท่าสตางค์แดงไว้เป็นกลุ่มประมาณ ๑๐ รู ด้านหลังมีตารางเหล็กช่องลมเล็ก ๑ ช่องกว้างยาวประมาณ ๑๕x๑๕ ซ.ม. พื้นห้องเป็นคอนกรีต ไม่มีเสื่อหรืออะไรให้ปูนอนเลย มีกระป๋องน้ำรับประทาน ๑ กระป๋อง มีถังส้วม (หม้อเม) ๑ ถัง อนุญาตให้ออก มาอาบน้ำที่พื้นซีเม็นต์หน้าห้องขังได้วันละครั้ง ข้าวปลาอาหารส่งให้รับประทานวันละ ๒ เวลา เช้า - เย็น มีนักโทษคนงานเปลี่ยนหม้อเมและกระป๋องน้ำให้วันละครั้งในเวลาเช้าก่อนอาหาร นับว่าเป็นห้องขังที่ลงโทษอย่างทรมานทรกรรมที่สุด ร้อนที่สุด บางคนที่ถูกขังแล้วยังต้องกินข้าวกับเกลือก็มี ที่ได้อาบน้ำต่อ ๓ วันครั้งก็มี และที่ถูกขังลืมโดยไม่มีกำหนด ที่ถูกขังจนตายในห้องนั้นเองก็มีในระหว่างที่พวกเราต้องเวรจำอยู่ ซึ่งจะได้นำไปกล่าวในเมื่อถึงเหตุการณ์นั้น ๆ ต่อไป พอครบกำหนด ๑๕ วัน พวกถูกขังคุกมืด เดินออกมาเหมือนซากศพ เสื้อกางเกงเปลี่ยนสีเหมือนลูกวัว หน้าตาซีดเซียว ร่างกายผอมบาง ผมยาวรุงรัง แขนดูเรียวเล็ก แต่จิตใจของทุกคนยังเข้มแข็ง ส่งยิ้มแต้ออกมาด้วยเลือดรักชาติ และกล่าวกับเพื่อนของเขาว่า “ไม่เป็นไรหร็อกเพื่อน ชีวิตยังมีอยู่”
ระหว่างโทษหนักด้วยความทรมานทรกรรม ๑๕ วันนั้น พวกเรามีเรื่องขบขันคล้ายนิทานอยู่เรื่องหนึ่ง จะขอเล่าสู่กันฟังเพื่อพักสมองเสียสักเล็กน้อย กล่าวคือ พวกเรา ๕ คนที่ถูกลงโทษสูบน้ำอย่างหนักนั้น เมื่อสูบน้ำหมด “กะ” แล้ว นายคุกก็ได้ส่งตัวไปกักไว้ในแดนขังคนบ้าและโรคเรื้อน ซึ่งสร้างเป็นบริเวณพิเศษไว้ต่างหากแห่งหนึ่งใกล้ ๆ กับโรงครัว พอบรรจุนักโทษบ้าและโรคเรื้อนได้ประมาณ ๒๐๐ คน มีที่รับประทานอาหาร ที่อาบน้ำ และห้องส้วมอยู่ภายในบริเวณนั้นด้วยเสร็จ พวกเรา ๕ คนต้องถูกกักอยู่ในบริเวณนั้นตลอดทั้งวัน คนใดถูกกะสูบน้ำ ก็ถูกผู้คุมตัวไป ครั้นสูบน้ำหมดกะแล้วก็นำมากักไว้ตามเดิม พวกเราทั้ง ๕ คนต้องใช้ส้วมและอาบน้ำร่วมกันกับคนบ้าและโรคเรื้อน แม้พวกเราจะแสนรังเกียจเพียงไรก็ต้องจำใจจำใช้ไปกว่าจะหมดเวร เรื่องที่สำคัญก็คือ การรับประทานอาหาร นายคุกเขาบังคับให้พวกเรารับประทานในบริเวณอันน่าสะอิดสะเอียนนั้นด้วย พวกเราได้พยายามขอความกรุณาให้พวกเราได้ไปรับประทานยังโรงเลี้ยงอาหาร หรือที่หนึ่งที่ใดซึ่งไม่ใช่ในบริเวณนั้น สักเท่าไร ๆ เขาก็ไม่ยอมผ่อนผันจนแล้วจนรอด พวกเราก็เลยลงความเห็นกันว่า นายคุกมิได้คิดแต่เพียงจะทรมานทรกรรมพวกเราเท่านั้น ยังมีเจตนาร้ายจะให้พวกเราเป็นบ้า หรือรับเชื้อโรคเรื้อนเข้าไว้ด้วย ในที่สุด เมื่อพวกเราได้อ้อนวอนขอความเมตตากรุณานายคุกจนทุกวิถีทางไม่สำเร็จแล้ว พวกเราทั้ง ๕ คนก็ตกลงใจอย่างเด็ดขาดว่า ไม่ยอมรับประทานอาหารตลอด ๑๕ วัน เพื่อให้โลกรู้ว่า พวกเราได้รับความทารุณร้ายกาจจากนายคุกของรัฐบาลไทยสมัยนั้นอย่างที่สุด
พอถึงเวลาเลิกงาน พวกเราก็ถูกพาตัวไปขังไว้ยังห้องขังคลังใต้ที่ ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์ เคยถูกขังครั้งแรกเมื่อถูกจับ คลังใต้นี้เป็นตึกสองชั้นตั้งอยู่ด้านหน้าตึกคุกใต้ แต่ตรงกันกับ “ลูกคุก” ด้านใต้ที่พวกเราถูกขัง พวกเราที่ถูกขัง “ลูกคุก” นั้น ได้ถูกขังทั้ง “ลูกคุก” ด้านเหนือและด้านใต้ เพราะมีจำนวนถึง ๑๔ คน “ลูกคุก” หลังหนึ่งบรรจุคนได้เพียงราว ๑๐ คนเท่านั้น ห้องขังคลังใต้นี้มีลักษณะอย่างไร ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์ ได้เคยอธิบายไว้แล้ว บัดนี้ เหรียญ ศรีจันทร์ ก็ต้องถูกขังอีกวาระหนึ่งในพวก ๕ คน
ท่านที่เคารพ มนุษย์เรานี้มีคราวดีและคราวร้ายแน่ ๆ ดังที่เราเคยกล่าวยืนยันไว้แล้ว!
การที่พวกเราทั้ง ๕ ไม่ยอมรับประทานอาหารในคุกคนบ้าและคนโรคเรื้อนนั้น นายคุกเขาทราบจากรายงานของพวกผู้คุมเป็นอย่างดี และเมื่อเราหวังจะฆ่าพวกเราโดยทางอ้อมแล้ว เราก็มุ่งจะเล่นงานพวกเราต่อไปโดยไม่ยอมแพ้พวกเราเป็นอันขาด ก่อนที่พวกเราจะถูกเข้าห้องขังคลังใต้เมื่อหลังจากเลิกงานสูบน้ำตลอดทั้ง ๑๕ วันนั้น เขาได้สั่งให้ผู้คุมตรวจค้นในตัวพวกเราและในห้องขังอย่างละเอียดละออมิยอมให้มีอาหารแม้แต่น้อยหลงอยู่ หรือติดอยู่หรือใส่ไว้โดยผู้ใดผู้หนึ่งอย่างเฉียบขาด นอกจากน้ำรับประทานกับหม้อเมเท่านั้น และเมื่อพวกเราเข้าห้องขังแล้ว ผู้คุมก็พยายามมาด้อมมองดูเราทางรูประตูเสมอ ๆ ตลอดจนเวลากลางคืน ขณะที่พวกเรากำลังนอนหลับอยู่ เขาก็ยังไขกุญแจเข้ามาตรวจค้นในห้องทุกคนมิได้ขาด แต่จะด้วยองค์ความดีของพวกเราหรือโชคดีคราวดี หรือดินฟ้าอากาศอย่างไรมิทราบ ผู้คุมไม่เคยตรวจพบอาหารวิเศษของพวกเราเลย จะเรียกว่า อาหารทิพย์ ก็ได้กระมัง?
อาหารวิเศษนั้นได้มาจากให้น? ความจริงหากพวกเราจะอดอาหารจริงๆ ตลอด ๑๕ วัน ก็คงจะยังไม่ตาย เพราะยังมีน้ำรับประทาน หล่อเลี้ยงชีวิตอยู่ตามที่กล่าวกันว่า “หิวนักวักวารินลูบท้อง” มันก็ต้องอยู่ได้อย่างน้อยราว ๔๕ วัน
แต่ยังหาถึงภาวะเช่นนั้นไม่ พวกเราทั้ง ๕ ยังมีอาหาร-อาหารจริงๆ-อาหารที่บำรุงเลือดเนื้อของพวกเราให้สดชื่น อาหารนั้นได้บันดาลมาจากนักโทษผู้หนึ่งชื่อพัน อายุประมาณ ๑๘-๑๙ ปี ซึ่งไม่เคยรู้จักมักคุ้นกับพวกเรามาก่อนเลย แต่เขามีดวงจิตสงสารพวกเราเป็นอย่างยิ่ง จนยอมตนเข้ามาช่วยเหลือพวกเราเอง แม้จะถูกจับลงโทษสถานใด ๆ เขาก็ยอมทั้งสิ้น พันผู้น่ารักน่านับถือ ได้พยายามช่วยพวกเราทุกคน โดยเฉพาะพวกเรา ๕ คนนั้น เขาได้ห่ออาหารมีข้าวและกับขนาด ๕ คนรับประทานอิ่ม สอดซ้อนเข้าไว้ในช่องบรรจุตะเกียง ที่ผู้คุมได้ปิดตายด้วยตะปูไว้แล้วนั้น แต่พันได้แงะตะปูออก และเปิดบานประตูช่องตะเกียงพอสอดห่อข้าวเข้าไปได้สะดวก แล้วก็ปิดและตรึงตะปูไว้ตามเดิม จนไม่มีผู้คุมคนใดสงสัยและสังเกตรู้เลย ช่องตะเกียงนี้ เขาเจาะกำแพงห้องขังสูงแค่ตาไว้ทุกห้องขัง แต่ห้องที่ซึ่งพวกเรา ๕ คนนั้นเป็นห้องคู่ติดกัน เขาเราะช่องตะเกียงตรงระหว่างกลาง เพื่อให้ความสว่างส่องเข้าไปได้ทั้ง ๒ ห้อง และเมื่อถึงสมัยใช้ไฟฟ้าแทนตะเกียง เขาก็ใช้หลอดไฟฟ้าบรรจุเข้าไว้แทน เลิกใช้ตะเกียง ส่วนช่องตะเกียงเดิมที่ใช้ประจำห้องละช่อง ก็คงเหลือว่างอีกหนึ่งช่อง นายคุกจึงสั่งให้ตรึงตะปูบานประตูช่องนั้นเสีย แต่เพียงตะปูตัวเล็ก ๆ เท่านั้นหรือจะพ้นความสามารถของพันไปได้ พันจึงอาศัยช่องตะเกียงที่ว่างอยู่นั้นเองเป็นตู้อาหารให้ทานแก่พวกเราตลอด ๑๕ วัน โดยมิมีผู้ใดแพร่งพรายเลย นอกจากพวกเรากับพันเท่านั้น
ส่วนผู้ที่ถูกขังใน “ลูกคุก” ๑๔ คนนั้น พันก็ได้ช่วยเหลือเหมือนกัน โดยหาบุหรี่ซิกาแร็ตกับก้านและข้างไม้ขีด ผูกมัดกันแน่น พอได้โอกาสที่ผู้คุมคุกเผลอตัว พันก็เอามัดบุหรี่วิ่งหยอดเข้าไปตามประตูทุกห้อง ภาพนี้พวกเราทั้ง ๕ ได้มองเห็นกับตาเองจากรูประตูห้องขังคลังใต้ในตอนเช้า ๆ และต่อ ๆ มาพันกับพวกเราทั้ง ๕ ก็รู้จักกัน เพราะเขาได้เที่ยวมาพบกับเราตามโอกาสที่อำนวยให้ นอกจากพันแล้ว ยังมีเพื่อนนักโทษเป็นอันมากที่ได้แผ่ความเมตตาอารีพวกเรา โดยหาโอกาสโยนบุหรี่กับไม้ขีดไฟให้พวกเรา ระหว่างทางเดินอยู่เนือง ๆ ถ้าผู้คุมไม่เห็นพวกเราก็ได้สูบ ถ้าเขาพบเข้า เขาก็แย่งเก็บเอาไปเสีย พวกเรารู้สึกขอบใจนักโทษผู้สูงด้วยจิตใจเหล่านั้นอยู่จนกระทั่งปัจจุบันนี้
เราเคยกล่าวแล้วว่า พวกเราติดคุกแต่เพียงร่างกายเท่านั้น หาได้ยอมให้จิตใจอันบริสุทธิ์ต้องเป็นนักโทษด้วยไม่ ฉะนั้นเมื่อนายคุกทำแก่เราได้ เราก็จำเป็นต้องตอบสนองบ้างเมื่อมีโอกาส เพราะไหน ๆ ก็ได้ชื่อว่าเป็นพวกขึ้นต้นไม้สุดยอดแล้ว จะกระโดดก็ตาย จะไต่ลงก็อันตราย ดังนั้นเราจึงหาช่องทางพบกับพันจนได้แม้จะเป็นเวลาเพียงสั้น ๆ เพียงขอให้เขาช่วยหากระดาษบางๆ ชนิดมวนยาเส้นกับดินสอดำหนึ่งแท่ง พันที่รักของพวกเราก็ช่างดีและฉลาดอย่างน่าใจหาย เขารู้ความประสงค์ของพวกเราเป็นอย่างดี เขาได้หากระดาษบางสำหรับมวนยาเส้นพันกับดินสอดำ ซึ่งตัดสั้น ๆ ยัดรูประตูเข้าไปให้เรา พร้อมด้วยเทียนไขไม้ขีดไฟ เพื่อใช้จุดในเวลาเขียน พวกเราทั้งก็ดีใจอย่างสุดซึ้ง โดยจะหาอะไรเปรียบปานมิได้เลย
ณ คืนวันนั้นเอง พอพวกเราเข้าห้องขังคลังใต้ ก็รีบรับประทานอาหารวิเศษที่พันยอดปิยมิตร ได้จัดไว้ให้นั้นโดยเร็ว แล้วก็ล้มตัวนอน เพื่อรอโอกาสเหมาะที่จะเขียนข่าวส่งไปลงหนังสือพิมพ์ ผู้คุมคุกเมื่อตรวจเห็นพวกเรานอนแต่หัวค่ำ เขาก็ต้องนึกว่า ความเหนื่อยอ่อนอย่างกะปลกกระเปลี้ยทำให้สลบไสลไป เป็นเหตุให้เขาไม่ประสงค์จะตรวจตราหรือด้อมมองดูพวกเราบ่อยครั้งอีก โอกาสนั้นก็มาถึง พวกเราลุกขึ้นจุดเทียนไข โดยให้พวกเรานั่งล้อมวงกำบังแสงสว่างมิให้ส่องออกไปนอกห้อง แล้วต่างคนต่างบอกให้ ร.ต. เนตรเป็นผู้เขียนข้อความลงในกระดาษมวนบุหรี่ เขียนได้ราว ๑๐ กว่าแผ่นจบตามความต้องการ ตัวหนังสือเล็กเท่าขนาดปลายดินสอ แต่จุข้อความมากมาย เรื่องที่เขียนเกี่ยวกับความทรมานทรกรรมที่นายคุกทำการทารุณต่อพวกเรานั้นเอง พอตกเช้าเมื่อนักโทษลงจากคุกแล้ว พัน ปิยมิตร ก็รีบมาที่หน้าห้องพวกเรารับข่าวจากเราไปจัดการให้ ตามคำพังเพยที่ว่า “กำแพงมีรู ประตูมีช่อง”
หนังสือพิมพ์รายวันที่เราส่งข่าวไปนั้น คือ “จีนโนสยามวารศัพท์” ของนายเซียวฮุดเส็ง ศรีบุญเรือง ซึ่งพวกเราเรียกท่านว่า “อาจารย์” ท่านเคยชอบพอคุ้นเคยกับ อุทัย เทพหัสดิน มาตั้งแต่อยู่ภายนอกเรือนจำ ครั้นพวกเราต้องเวรจำอยู่ในคุกต่างประเทศ ท่านก็บังเอิญต้องพระราชอาญาฐานเขียนข่าวหมิ่นประมาท ข้าราชการในรัฐบาลไทยลงในจีนโนฯ มีกำหนด ๖ เดือน แต่ท่านเป็นบุคคลในบังคับต่างประเทศ ดังนั้นจึงต้องเวรจำอยู่รวมกับพวกเราในคุกต่างประเทศด้วยกัน ได้เพิ่มความรู้จักรักใคร่กับพวกเราทุกคน เพราะมีหัวประชาธิปไตยแท้เช่นเดียวกัน ท่านเป็นผู้มีอาวุโสกว่าพวกเรามาก อารมณ์เป็นใจคอหนักแน่น กิริยาวาจาสุภาพ เมื่อท่านพ้นโทษแล้ว ท่านได้สงเคราะห์พวกเราเนือง ๆ เช่นส่งอาหารคาวหวานให้แก่พวกเราเสมอ ทั้งรับปากจะช่วยลงข่าวหรือบทความของพวกเราในหนังสือพิมพ์รายวันและรายคาบให้ด้วย เพื่อช่วยให้พวกเราได้มีประโยชน์ตามควร ซึ่งเราจะได้เล่าไว้ในภายหลัง
ต่อมาอีกหลายวัน จนพวกเราพ้นคุกมืดและพ้นการสูบน้ำแล้ว แต่ยังต้องถูกทรมานทรกรรมอยู่กับการทุบอิฐที่หลังคลังใต้ต่อไปอีก โดยนายคุกเขาจัดไว้เป็นบริเวณทำงานหนักเฉพาะพวกเราเป็นพิเศษนั้น พวกเราก็ได้รับข่าวว่า จีนโนสยามวาระศัพท์ได้นำข่าวที่ส่งไป ลงให้อย่างละเอียดละออ ทำให้ญาติของพวกเราซึ่งกำลังถูกห้ามเยี่ยมอยู่แล้ว เกิดประหวั่นพรั่นใจไปตาม ๆ กัน เกรงว่าพวกเราจะเอาชีวิตไม่รอด และอาจจะรับเชื้อโรคเรื้อนหรือเป็นบ้าเป็นหลังไป ใช่แต่ทางญาติจะเป็นทุกข์เป็นร้อนเท่านั้นก็หาไม่ ทางกระทรวงนครบาล (ต่อมาเป็นกระทรวงมหาดไทย) ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชากองเรือนจำมหันตโทษโดยตรง ก็พลอยวิตกวิจารณ์ไปด้วยเมื่ออ่านข่าวนั้น ถึงกับส่งพระยาพิชัยบุรินทรา (น่วม ไตลังคะ) เลขานุการกระทรวง (ซึ่งเป็นพี่เขยของ ร.ต. เนตร) นำหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นเข้าไปสอบสวนในเรือนจำด้วยตนเอง แต่จะปรากฏในรายงานการสอบสวนประการใด พวกเรามิทราบ ทราบแต่เพียงว่า เจ้ากรมคุกเกิดไม่ลงอิหรอบกับเลขานุการกระทรวงนครบาลในวาระต่อมา
คงจะด้วยเหตุที่หนังสือพิมพ์เล่นงาน การกระทำอันทารุณของนายคุกและกระทรวงได้ทำการสอบสวนกันขึ้นนั่นเอง นายคุกซึ่งเขาถือว่าเป็นลูกศิษย์ของเจ้ากระทรวงโดยตรง คือ เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ที่ได้เกิดความทิษฐิมานะจากความอาฆาตมาดร้ายขึ้น ถึงกับแกล้งใช้งานพวกเราอย่างชั่วช้า คือ ส่งพวกเราบางคนที่ปากแข็งและเถรตรงไปทำงานสูบเหล็กบ้าง สีข้าวบ้าง ส่วนพวกที่ทุบอิฐก็ยังมี แต่ในระหว่างทำงานหนักนั้น บังเอิญ อุทัย เทพหัสดิน ป่วยลงด้วยไข้ มีอาการหนัก แม้แพทย์จะได้ตรวจอนุญาตให้พักงาน นายคุกก็ไม่ยอม อุทัยต้องถูกเพื่อนหามไปทำงานตามเวลาทุกวัน ช่างน่าทุเรศเป็นที่สุด ยิ่งกว่านั้น นายคุกยังเล่นสกปรก สั่งให้ผู้คุมโกงพวกเรา กล่าวคือ เมื่อพวกเราสีข้าวจวนจะหมดกระสอบตามที่กะไว้ พอพวกเราหยุดพักรับประทานอาหารกลางวัน ก็แอบเอาข้าวเปลือกเติมลงไปในกระสอบอีก พวกเราสีจนหมดเวลา ข้าวในกระสอบก็ไม่หมด เพราะมันมากกว่าอัตราที่มนุษย์จะสีให้หมดได้ แล้วเขาก็พาลหาว่าพวกเราไม่ทำงานให้หมดตามที่กำหนดไว้ และคว่ำเฆี่ยนพวกเราด้วยหวายที่กลางสนามหญ้าคนละครึ่งโหล พวกเราที่ถูกเฆี่ยน คือ ร.ต. ปลั่ง ปูรณโชติ ร.ต. ถัด รัตนพันธุ์ ร.ต. เขียน อุทัยกุล ส่วนพวกที่สูบเหล็กในเวลาต่อมามี ๔ คน คือ ร.ต. ถัด (ถูกทำงานหนัก ๒ ต่อ) ร.ต. วาส ร.ต. โกย และอุทัย เขาทั้ง ๔ ได้ถูกนายคุกแสร้งใช้งานอย่างชัด ๆ เพราะเขาใช้ให้สูบเตาที่มีฉายาว่า “จีนแสโสกากับพระยาสั่งเมือง” เตาสูบทั้ง ๒ นี้ มีขนาดใหญ่และหนักที่สุด หากผู้ใดไม่มีกำลังข้อมือแข็งแรงจริง ๆ แล้ว ก็ชักสูบไม่ไหวแน่ ๆ มันเลยกลายเป็นเตาสูบสำหรับรีดเงินจากนักโทษที่รุ่มรวย เช่นพวกเจ๊สัว พวกเถ้าแก่ หรือพวกขุนนางที่มั่งคั่ง หรือที่ชอบใช้อำนาจทุจริตต่อพลเมือง เป็นต้น แปลว่า เจ๊กต้องร้องให้ ขุนนางต้องสั่งลูกสั่งเมีย เพื่อเอาเงินไปไถ่งานที่แสนจะทนทานได้นั่นเอง พวกเราทั้ง ๔ คนซึ่งมิเคยทำงานหนักเช่นนั้นมาแต่ก่อนเลย จะทนสูบเจ้าเตารีดเงินพรรณนั้นได้อย่างไร แต่ก็ไม่เคยร้องขอความกรุณาต่อผู้ใด พยายามกัดฟันทำอย่างทะมัดทะแมง จนกระทั่งเกิดเรื่องอย่างรุนแรงที่สุดขึ้น กับนายตรวจผู้ทารุณโหดร้ายคนหนึ่ง ชื่อ แก้ว ศีร์ษะล้าน หน้าบอกบุญไม่รับ เรื่องที่เกิดขึ้นนั้นเนื่องด้วย ร.ต. โกย กระหายน้ำเพราะเหน็ดเหนื่อยมากแล้ว แต่ตรวจแก้วไม่ยอมให้ดื่ม ทั้งได้กล่าวถ้อยคำผรุสวาทหยาบช้าต่อ ร.ต. โกย จนนักโทษทั้งหลายในที่นั้นทนฟังมิได้ ร.ต. โกย ก็ตอบโต้ด้วยความบันดาลโทษะอย่างแรงกล้า ตรวจแก้ว ก็ตรงรี่เข้าตี ร.ต. โกย ด้วยกระบองใหญ่ถนัด โกยยกแขนรับถูกเข้าเต็มแรง แต่พอตรวจแก้วจะตีซ้ำอีก นักโทษในโรงเหล็กทั้งหมดซึ่งมีความเกลียดชังตรวจแก้วอยู่เดิมแล้ว ก็ลุกฮือขึ้นจะเข้าช่วย ร.ต. โกย พร้อม ๆ กัน ทำให้เกิดเสียงเกรียวกราวโกลาหลขึ้นทั้งโรงงาน ตำรวจยามบนป้อมกำแพงคุกก็เป่านกหวีดบอกเหตุสำคัญ ขุนพัสดีขวา ผู้ช่วยนายผู้คุมใหญ่ก็รีบรุดเข้าไประงับเหตุร้ายเสียทัน และสั่งขังคุกมืด ร.ต. โกย อีกวาระหนึ่ง มีกำหนด ๗ วัน
หลังจากที่นายคุกกระทำแก่พวกเราสมเจตนาร้ายแล้วทุกประการ เขาก็ส่งพวกเราไปทำถนนต่อที่ในคุกต่างประเทศอีก จนสำเร็จเป็นถนนฝีมือนักโทษทหารอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ บางคนเรียกถนนนั้นจนติดปากว่า “ถนนทหาร”
ระหว่างนั้น พวกเราชักจะทอดอาลัยในชีวิต โดยคิดว่าชีวิตคงจะทนทานต่อการทรมานไปไม่ได้สักกี่วัน แต่เราก็พยายามระงับสติอารมณ์มิให้ลุแก่โทษาคติที่จะกระทำอย่างใด ๆ ในลักษณะบ้าบิ่น อันเป็นการไร้เกียรติขึ้นได้ และมานะอดทนต่อความทารุณอันร้ายกาจ จนถึงวาระสุดท้ายแห่งลมหายใจของเรา แต่กุศลหรือองค์ความดียังส่งผลให้พวกเราเหมือนกับ “ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้” โดยเรายังมีโอกาสได้ลอบจดส่งหมายไปเล่าให้ญาติพวกเราฟังด้วยความเห็นใจ คุณแม่ พัน พูนวิวัฒน์ มารดา ร.ต. เนตร จึงไปชักชวนคุณหญิงภูวนัยสนิท (ปริก เทพหัสดิน ณ อยุธยา) มารดาของอุทัย พากันไปเฝ้าทูลกระหม่อมจักรพงษ์ ทูลเรื่องราวของพวกลูก ๆ ให้ทรงทราบทุกประการ
ทูลกระหม่อมจักรพงษ์ยังทรงพระเมตตาพวกเราอยู่ ถึงกับได้ทรงรับสั่งแก่มารดาทั้งสองมีใจความว่า “รัฐบาลไม่ต้องการให้พวกนี้ตาย ยังถือว่าเป็นนักโทษของทหารอยู่ เท่ากับฝากขังไว้เท่านั้น ถ้าใครตายลงด้วยการทารุณในคุกก็ต้องมีผู้รับผิดชอบ” ครั้นแล้ว ต่อมาเราได้ทราบข่าวว่า นายคุกก็ได้รับรับสั่งให้เข้าเฝ้า และตรัสแก่เขาทำนองเดียวกันกับที่รับสั่งแก่สองมารดานั้นเช่นกัน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โดยวิสัยของคนที่มีหัวใจในอันที่จะอนุโลมไปตามพระประสงค์ของเจ้านายผู้เข้มแข็งในสมัยนั้น เหล่านักโทษการเมืองทุกคนก็ได้รับการพิจารณาเป็นรายบุคคลของนายคุก ว่าผู้ใดมีสมรรถภาพในกิจกรรมอย่างไรบ้าง ประกอบด้วยวิชาการและนิสัยใจคอ แล้วนายคุกก็สั่งเข้าบรรจุงานตามคุณวุฒินั้น ๆ
ท่านที่เคารพ นิทานของพวกเราเฉพาะฉากนี้ท่านรู้สึกอย่างไรบ้าง และก็เมื่อพวกเรายังมีชีวิตจิตใจเยี่ยงคน จะมิให้พวกเราดิ้นรนคิดกระทำประการใด ๆ เลยกระนั้นหรือ ? จะนิ่งให้เขาทารุณต่อเราเล่นข้างเดียวกระนั้นหรือ ? ย่อมเป็นไปไม่ได้แน่ ๆ แต่พวกเราโดยพระเดชพระคุณของมารดาที่ได้กระทำไปเพียงช่วยให้พวกเราเอาตัวรอดเท่านั้น พร้อมกับสั่งสอนให้ผู้หวังร้ายรู้สำนึกตนเสียบ้าง แม้แต่นักโทษพันผู้มีเมตตาจิตต่อพวกเรา เราก็ยังได้สนองบุญคุณเขาอย่างถึงขนาดเสมอมา จนกระทั่งเมื่อวันเขาพ้นโทษและออกจากเรือนจำมาแล้ว พวกเราก็ยังได้ตอบแทนบุญคุณของเขาอย่างถึงใจ ด้วยเสื้อผ้าเข้าของและเงินทองตามกตเวทิตาธรรม
การบรรจุงานพวกเราตามคุณวุฒินั้น เขาได้กระทำไปด้วยเหตุและผลพอสมควร ซึ่งถ้ากรมราชทัณฑ์ได้นายคุกที่มีภูมิราชทัณฑ์เสียแต่เบื้องแรก ความก้าวหน้าของกองมหันตโทษก็จะพึงพอใจรัฐบาลแต่เบื้องต้น พวกเราได้รับการบรรจุในตำแหน่งหน้าที่ต่าง ๆ กัน เท่าที่ยังจำได้ดั่งนี้ คือ หมออัทย์ กับ หมอเหล็ง ถนัดทางวิทยาการแพทย์ ก็ได้รับหน้าที่ผู้ช่วยนายแพทย์ประจำโรงพยาบาล มี จือ เป็นผู้ช่วย จรูญ ณ บางช้าง ถนัดทางกฎหมายและวิชาหนังสือ มีท่าทางเอาจริงเอาจัง ได้เป็นที่ปรึกษากฎหมายของกองเรือนจำ และเป็นหัวหน้ากองคลังพัสดุสุก คือ สินค้าสำเร็จรูป มี วาส เป็นผู้ช่วย อุทัย และ ทองดำ ถนัดทางภาษาอังกฤษและวิชาหนังสือ ทั้งเข้าชาวต่างด้าวได้ดี ได้เป็นเสมียนต่างประเทศและล่าม ถัด ถนัดทางหนังสือและซื่อตรงเด็ดขาด ได้เป็นหัวหน้ากองคลังพัสดุดิบ ครั้นต่อมาได้เป็นหัวหน้ากองเสมียนทั้งหมด ศิริ ถนัดทางหนังสือและทางคำนวณ ได้เป็นหัวหน้ากองทะเบียนนักโทษ และต่อมาได้เป็นหัวหน้ากองแขนแดงด้วย เหรียญ ศรีจันทร์ มีวิชาหนังสือ และนิสัยอ่อนโยน พูดน้อย ได้เป็นหัวหน้าโรงงานค่าแรง ติดต่อกับพ่อค้าที่ส่งพัสดุดิบเข้าไปจ้างทำสิ่งของเพื่อจำหน่าย บ๋วย ถนัดทางหนังสือ แต่ร่างกายไม่ค่อยแข็งแรง เดิมเป็นเสมียนคุกต่างประเทศ ต่อมาได้เป็นหัวหน้ากองรับซักฟอกเสื้อผ้า โกย ถนัดทางหนังสือ และละเอียดละออ ได้เป็นหัวหน้ากองสั่งซื้อของให้นักโทษ หม่อมราชวงศ์ แช่ ถนัดวิชาช่าง ได้เป็นหัวหน้ากองช่างไม้ ซึ่งเป็นโรงงานใหญ่ และมีรายได้มากในเรือนจำ จึงต้องมีผู้ช่วย ๒ คนคือ บุญ กับ เจือ ทวน ถนัดทางช่างเขียนภาพและแบบ ได้เป็นหัวหน้าช่างเขียนภาพและแบบประจำโรงช่างไม้ ปลั่ง ถนัดทางหนังสือ แต่ร่างกายสมบูรณ์เหมือนเถ้าแก่ เลยได้เป็นหัวหน้าโรงครัวใหญ่ จรูญ ษตะเมษ มีวิชาทางหนังสือ และเป็นคนคล่องแคล่วแน่วแน่ ได้เป็นเลขานุการของนายผู้คุมใหญ่ (พระศรีมหิทธิศักดิ์) เหรียญ ทิพยรัตน์ ถนัดทางหนังสือ รูปร่างสูงใหญ่ และละมุนละม่อม ได้เป็นเลขานุการเจ้ากรมกองมหันตโทษ (พระยาพัสดีกลาง) มี เขียน เป็นผู้ช่วย เนตร ถนัดทางหนังสือ นิสัยอ่อนโยน และประสานงานกับผู้อื่นได้ดี เดิมได้เป็นหัวหน้ากองจ่ายเสื้อผ้านักโทษ แล้วย้ายไปเป็นเลขานุการของเจ้ากรมในด้านทำหนังสือโต้ตอบกับทางราชการ และได้เป็นหัวหน้ากองทำหมวดตำรวจอยู่พักหนึ่งด้วย จันทร์ เป็นคนซื่อบึกบึนแต่ใจเย็น ได้เป็นหัวหน้ากองทอผ้า สอน มีวิชาหนังสือ และท่าทางทะมัดทะแมง ได้เป็นหัวหน้ากองโรงพิมพ์
นับแต่วาระแรก ๆ ที่พวกเราเข้าไปต้องเวรจำ พวกเราเคยพูดกับพวกผู้คุมอยู่เนือง ๆ จนเข้าหูนายคุกว่า การราชทัณฑ์ที่ดีจะต้องใช้การงานนักโทษให้เหมาะสมแก่วิทยฐานะนิสัยสันดาน และการอาชีพที่สนัดสนี่ของเขา จึงจะทำให้กิจการงานของเรือนจำก้าวหน้าเป็นล่ำเป็นสันขึ้น และนำความสงบมาสู่สังคมนักโทษด้วยดี แต่บางที เบื้องแรก ๆ นายคุกอาจจะเข้าใจพวกนักโทษการเมืองผิดไป ประกอบด้วยสำนึกว่าเป็นนักโทษจำพวกที่รัฐบาลจงเกลียดจงชัง หากแกล้งให้ทรมานกรรม หรือถึงแก่ความตายไปเสียได้ ก็จักเป็นความดีความชอบแก่ตน ครั้นพระดำรัสของทูลกระหม่อมจักรพงษ์สำแดงชัดว่า รัฐบาลยังมีมโนธรรมแผ่ถึงนักโทษการเมืองอยู่เสมอ ดังกล่าวแล้ว นายคุกจึงได้สติว่า ตนได้สำนึกผิด และกลับใจได้อย่างน่าสรรเสริญ
ฉะนั้น พวกเราจึงอโหสิกรรมให้แก่นายคุก ตลอดจนผู้คุมใจเหี้ยมทุกคน และตั้งหน้าทำงานเพื่อให้เขาได้เห็นสมรรถภาพของพวกเราทุกหน้าที่ หน้าที่ที่สำคัญก็คือปัจจัยสี่ มี อาหาร - ผ้า - ยา - ที่อยู่ การอาหารเกี่ยวกับหน้าที่หัวหน้าโรงครัว ตั้งแต่พวกเราเข้าไปรับหน้าที่แล้ว พวกนักโทษไม่เคยได้รับความเดือดร้อนในเรื่องการรับประทานเลยก็ว่าได้ เพราะอาหารที่พ่อค้าสั่งทุกมื้อครบเม็ดครบหน่วยไม่บกพร่อง และเมื่อประกอบเป็นอาหารสำเร็จรูปแล้วก็น่ารับประทานและพอเพียง ทั้งยังเจียดให้มีอาหารพิเศษ เช่น ขนมและผลไม้แจกให้รับประทานเป็นประจำทุกเดือนอีกด้วย
ฝ่ายกองสั่งซื้อของให้นักโทษ ก็ซื้อให้ตามราคาของตลาด จะเป็นเครื่องอุปโภคบริโภคอย่างใด นักโทษเจ้าของเงินจะต้องได้รับตามราคาครบถ้วน ไม่กินนอกกินในเลย
เครื่องนุ่งห่มที่มีกำหนดแจก หรือแลกเปลี่ยนของชำรุดได้ตามข้อบังคับ ก็แจกให้ตามกำหนดกฎเกณฑ์ทุกคนทุกคราว มิได้เลือกที่รักมักที่ชัง หรือสับเปลี่ยนของเก่าเป็นใหม่ของใหม่เป็นเก่าเลยแม้แต่ชิ้นเดียว
เวลานักโทษเจ็บป่วยลง จักได้รับความเอาใจใส่รักษาพยาบาลเป็นอย่างดี ทำให้สถิตินักโทษหายป่วยดีขึ้นเป็นอันมาก และมีการผ่าตัดในกรณีโรคแปลก ๆ ใหม่ ๆ เสมอ ๆ ตลอดจนนักโทษที่ป่วยเจ็บในเวลาค่ำคืนที่บนตึกขัง ก็ได้รับการเยียวยาโดยทันท่วงที เพราะมีนักโทษแพทย์แผนปัจจุบันมือชั้นดีเพิ่มขึ้น และประจำการทั้งกลางคืนกลางวัน มิได้ห่างเหิน
ตึกขังก็ดี โรงงานที่ดี โรงครัวก็ดี โรงพยาบาลก็ดี ตลอดจนบริเวณทั่ว ๆ ไปในกองเรือนจำ ได้ถูกแก้ไขดัดแปลงให้สะอาดสะอ้าน และถูกต้องด้วยสุขอนามัยทุกแห่ง เพราะนายคุกได้มอบความไว้วางใจให้แก่หมอ และนักปฏิวัติหัวหน้างานทุกคนดำเนินการได้อย่างเต็มภาคภูมิ
เมื่อนักโทษทั่วไปมีการกินดีอยู่ดีเช่นนั้น การงานที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของเรือนจำเช่น การช่างไม้ การโรงพิมพ์ การรับซักฟอก การเลื่อยไม้ การช่างเหล็ก ฯลฯ ซึ่งประกอบด้วยคลังพัสดุดิบ พัสดุสุก มีการจ่ายพัสดุอย่างถูกต้องแน่นอนตามบัญชีอยู่เป็นนิจ ก็ทำให้ผลประโยชน์รายได้เจริญดีตามไปด้วย แถมจัดให้นักโทษมีเงินำไพ่ คือ รายได้พิเศษจากกิจกรรมของเขาด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้งานเจริญก้าวหน้า เพราะนักโทษผู้ทำงานได้มีแก่จิตแก่ใจคล้ายประกอบกิจกรรมของตนเอง ฉะนั้น ข้อสำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งที่นายคุกเกิดศรัทธาการงานของนักโทษปฏิวัติก็คือ การตรวจบัญชีของเจ้าพนักงานกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ไม่เคยปรากฏข้อบกพร่อง หรือมีการขาดเกินในเรื่องพัสดุดิบ-พัสดุสุกเลย บัญชีและคลังพัสดุล้วนแต่สุจริตเรียบร้อยทั้งนั้น ตั้งแต่นั้นมา นายคุกก็เห็นคุณความดีของพวกเราอย่างน่าพิศวง เทความไว้ใจให้เป็นอย่างพิเศษ และยกย่องพวกเราสูงกว่านายตรวจหลายคน พวกผู้คุมและนายตรวจทุกชั้นรักใคร่นับถือพวกเรา และเกรงอกเกรงใจ พวกเราก็พ้นเครื่องพันธนาการ และได้รับยศนักโทษชั้นต่าง ๆ ทั่วหน้ากัน
เนื่องด้วยการงาน และระเบียบก้าวหน้าดีเรียบร้อยขึ้น การจัดแบ่งนักโทษประเภทเด็กที่มีอายุตั้งแต่ ๒๐ ปีลงมา ก็ถูกกันไว้ส่วนหนึ่งต่างหาก มิให้ปนเปกับนักโทษผู้ใหญ่ เพื่อป้องกันคดี “กลัดมัน” ที่เรียกว่า (Prisoner disease) และบังคับให้มีการศึกษาอบรมแบบทหาร โดย นายคุก ได้มอบให้อยู่ในความช่วยเหลือดูแลของพวกเรา ตลอดจนถึงการงานด้วย กีฬาในสนามก็เกิดตามมา เช่น คริกเก็ต (Cricket) ในเวลาเย็นเมื่อเลิกงานการแล้วเป็นต้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้พวกเราขนานนามวคำว่า “คุก” ให้เป็นมงคลนามขึ้น คือใช้คำว่า “วัง” แทน และจนทุกวันนี้ในหมู่พวกเราก็ยังเรียกว่า “วัง” เมื่อเอ่ยถึงมัน
รัฐภาของชาติ บางครั้งก็รู้สึกว่าเป็นพระราชวังที่น่าอยู่ น่าประชุม บางคราวก็เป็นเสมือนโรงงิ้ว ที่เอะอะโวยวายน่ากลุ้มอกกลุ้มใจพิลึก และบางเวลาก็กลายเป็นซ่องนักเลงหัวไม้ มีการขว้างปาชกต่อย ตีรันฟันแทงกันก็มี ฉันใด ไฉนคุกจะกลายเป็นมหาวิทยาลัยให้การอบรมสั่งสอนแก่ผู้ที่อยู่ภายในนั้นบ้างมิได้เล่า
ใน ๓-๔ ปีแรกที่พวกเราต้องเวรจำ และได้รับหน้าที่การงานตามคุณวุฒิและนิสัยใจคอทั่วกันแล้ว วิทยาลัยเรือนจำที่เกิดขึ้นจริง ๆ คือ โรงเรียนแพทย์พยาบาล โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ตั้งขึ้นตามที่คณะแพทย์ในกองมหันตโทษ มีพระบำบัดสรรพโรคเป็นหัวหน้า ได้ทำหนังสือขอตั้งขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย มีนักโทษสมัครเรียนเป็นอันมาก นายตรวจและผู้คุมคุกหลายคนก็พลอยได้โอกาสศึกษาด้วย จนถึงกับได้เปลี่ยนอาชีพจากนายผู้คุมเป็นนายแพทย์ชั้นดีก็มี เช่น หลวงเรืองเวชวิชาคุณ (เชื้อ ชีรานนท์) เป็นต้น พร้อมกันนั้น ก็ได้มีการเรียนวิชาหนังสือไทยประกอบกัน เพื่อให้เป็นอุปกรณ์การเรียนแพทย์ไปด้วยดี พวกเราทุกคนได้เป็นนักเรียนแพทย์พยาบาล แต่บางคนก็เป็นครู เช่น หมออัทย์ และ หมอเหล็ง ส่วนหนังสือไทยก็มีอุทัย และ เนตร ได้เป็นครูสอนไปพร้อมกันกับการเรียนแพทย์ ครูผู้สอนวิทยาการแพทย์ในเรือนจำครั้งกระนั้น มิใช่แต่เฉพาะนายแพทย์และนักโทษแพทย์ในเรือนจำเท่านั้นหามิได้ ยังมีผู้เชี่ยวชาญการแพทย์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศนอกเรือนจำได้เข้าไปช่วยร่วมมือสอนอีกด้วย เท่าที่ยังจำได้ก็มี นายแพทย์แสง สุทธิพงศ์ นายแพทย์ ชู ศีตะจิตต์ ดร. กาเยตี้ และ ดร. ดับบลิว.บี. ทอย เป็นอาทิ ประมาณเกือบ ๓ ปี ก็มีการสอบไล่วิชาแพทย์ พระบำบัดฯ เป็นประธานกรรมการสอบไล่ ผู้ที่สอบไล่ได้ที่ ๑ คือ ร.ต. โกย ที่ ๒ ร.ท. จือ และที่ ๓ ร.ต. เนตร นอกนั้นก็ได้ที่ต่าง ๆ กันตามลำดับลงไป ร.ท. จือ สมัครทำงานที่โรงพยาบาลแต่คนเดียวในพวกเรา ส่วนเจ้าพนักงานและนักโทษอื่นๆ ได้สมัครเข้าไปทำงานในโรงพยาบาลหลายคน ต่อมาเรือนจำในต่างจังหวัดหลายแห่งได้ขอนักโทษพยาบาลเหล่านั้นไปใช้ เท่าที่ยังจำได้ก็มีนักโทษหลุยคนหนึ่ง เพราะเขาผู้นี้มีความสนิทสนมกับพวกเรามาก เมื่อหลุยพ้นพระราชอาญาแล้ว ยังเคยไปทำงานที่ร้านพูนวิวัฒน์โอสถอยู่หลายเดือนในหน้าที่บุรุษพยาบาลชั้นที่ ๒ เขาทำได้ดี และเป็นที่ไว้วางใจเยี่ยงบุรุษพยาบาลทั้งหลาย
โรงเรียนแพทย์กองมหันตโทษมีอายุได้เกือบ ๓ ปี ก็ต้องล้มเลิก โดยเจ้านายพระองค์หนึ่งซึ่งสำเร็จการแพทย์กลับมาจากต่างประเทศ (ขอปิดพระนาม) ทรงเห็นว่าจะเป็นภัยมากกว่าเป็นคุณ พวกเราก็มองเห็นว่ามันเป็นดาบ ๒ คมอยู่เหมือนกัน หากดำเนินการไม่ดี กล่าวคือ ถ้าไม่เลือกคัดประเภทนักโทษที่มีจิตใจสูงเข้าเป็นนักเรียน และให้การอบรมในเรื่องจริยะแพทย์หรือศีลธรรมไม่เพียงพอก็อาจจะเป็นโทษได้ แต่การจะเป็นสถานไร เราผู้เขียนขอมอบไว้ให้ผู้อ่านที่เคารพได้โปรดพิจารณากันตามอัธยาศัยด้วยเถิด
เมื่อพวกเรามีประโยชน์โปรดคุณให้แก่เรือนจำด้วยจิตใจอันเบิกบานขึ้นเช่นนั้น บรรดาญาติมิตรของพวกเราก็หมดห่วง และได้รับการติดต่อกับเจ้าพนักงานเรือนจำอย่างฐานกันเองขึ้น หากพวกเราจะต้องการอะไรที่เกี่ยวกับความผาสุกบ้างตามสมควร เช่น เสื้อ, ผ้า, เงิน และหนังสือ ญาติก็ส่งเสียเข้าไปให้ได้อย่างสะดวก โดยความเมตตาพิเศษของเจ้าพนักงานบางคน ดังนั้นพวกเราจึงได้นึกถึงการศึกษาเล่าเรียนเป็นการใหญ่ พยายามสะสมหนังสือวิทยาการทั้งภาษาไทยและต่างประเทศ โดยจัดอย่างแบบหอสมุด มีเจ้าหน้าที่ดำเนินการอย่างเรียบร้อยมั่นคง คำนวณแล้วพวกเรามีหนังสือประมาณ ๓-๔ พันเล่ม พอเพียงแค่การศึกษาเล่าเรียน ซึ่งแบ่งออกเป็นหลายสาขา มีวิชาแพทย์, วิชาภาษาอังกฤษ, วิชากฎหมาย, วิชาประวัติศาสตร์, วิชาการหนังสือพิมพ์ และวิชาจิตศาสตร์ พวกเรามีความชำนาญวิชาใดก็เป็นครูแนะนำสั่งสอนสาขานั้น เช่น ร.ท. จรูญ ณ บางช้าง สอนวิชากฎหมาย อุทัยและทองคำสอนภาษาอังกฤษและแปลวิชาอื่น ๆ ให้พวกเราได้ฝึกฝนตนเองด้วย ทั้งนี้ย่อมเป็นที่พอใจของนายคุกมิใช่น้อย ที่ได้มีพวกเราได้ใช้ในแขนงวิชาการต่าง ๆ ถึงกับสนับสนุนให้เจ้าพนักงานเรือนจำเข้าเป็นนักเรียนในเวลาว่างราชการกับพวกเราด้วยหลายคน จนบางคนอ่านและเขียนภาษาอังกฤษได้ดีก็มี
เนื่องด้วยพวกเรากระทำแต่ความดีสมนามนักปฏิวัติ แม้จะปฏิบัติราชการงานเมืองไม่ได้สมมโนรถก็ตาม แต่ก็ยังได้บากบั่นไม่เกรงอันตรายใด ๆ เข้าช่วยปฏิบัติกิจการของกองมหันตโทษตลอดกาลที่ถูกเวรจำ อันมีพลนักโทษปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า ๑,๐๐๐ คน ตลอดเวลา ๑๒ ปี ๖ เดือน ๖ วัน ก็มีจำนวนนักโทษถ่ายเทเข้าออกถึงประมาณเรือนหมื่น ๆ ทั้งนี้เป็นปัจจัยให้เจ้ากรมคุกไว้เนื้อเชื่อใจเป็นอย่างดี ถึงกับครั้งหนึ่งออกปากว่า “ฉันไม่นึกเลยว่าทหารจะมีความสุภาพอ่อนโยนเหมือนเช่นพวกเธอ เพราะเคยเห็นแต่มีความแข็งกระด้างตึงตังเสียโดยมาก” เป็นคำกล่าวต่อหน้าคณะเลขานุการของเขาขณะที่กำลังเสนอหนังสืออยู่ที่คลังเหนือ ซึ่งได้จัดแต่งขึ้นเป็นสำนักงานของเจ้ากรมกองมหันตโทษ ร.ต. เหรียญ ทิพยรัตน์ เลขานุการก็ได้ตอบว่า “ขึ้นชื่อว่าทหาร หาเหมือนกันไม่ ที่เขาสุภาพอ่อนโยนกว่าพวกกระผมก็ยังมีเหมือนกัน” ตั้งแต่นั้นมา การกวดขันพวกเรา ก็ได้ลดหย่อนผ่อนคลายลงมากขึ้นอีก ตลอดจนการอนุญาตให้ญาติมิตรของพวกเราเข้าเยี่ยมเยียนได้ทุกเมื่อหากมีธุระจำเป็น บางครั้งก็เรียกให้ไปเยี่ยมได้ถึงบ้าน เจ้ากรมที่หน้าคุกต่างประเทศก็เคย โดยนายคุกออกอุบายเรียกพวกเราไปไช้ที่บ้านของเขา ซึ่งเคยเรียกใช้อยู่เนือง ๆ เหมือนกัน แต่ที่จริงก็เพื่อให้ได้พบปะกับญาติเป็นส่วนใหญ่ในบางคราว ท่านเจ้ากรมคุกผู้นี้น่าชมอยู่อย่างหนึ่งที่ว่า สมควรเป็นผู้ควบคุมนักโทษ เพราะท่านเป็นคนเจ้าอุบายในทางปกครองและการใช้คน แต่ก็มีทางเสียอยู่ที่ว่า มักตกใจกลัวง่าย ๆ น่าจะมีโรคประสาทอยู่บ้างมิมากก็น้อย
นายพันตำรวจตรีพระศรีมหิทธิศักดิ์ (ตาด สังขทรัพย์) นายผู้คุมใหญ่คุกไทย หรือตำแหน่งสารวัตรใหญ่ ตามที่เราเคยออกนามมาแล้วครั้งหนึ่งนั้น ท่านเป็นนายตำรวจที่มีสมองประชาธิปไตยอยู่มาก ชะตาของท่านกับพวกเราช่างตรงกันเสียจริงๆ ท่านจะคิด จะพูด จะทำอะไรมักจะประกอบด้วยเหตุผลรอบคอบเสมอ เป็นผู้ที่มีความเป็นตัวของตัวเอง เชื่อในความคิดของตนเอง แต่ก็ไม่เคยดูหมิ่นในความคิดของพวกเราเลย ให้เกียรติพวกเราเสมือนเพื่อนข้าราชการกับท่านทีเดียว สำนักงานนายผู้คุมใหญ่อยู่ที่คลังใต้ คนละคลังกับเจ้ากรมคุก ตามความสังเกตของเรา มักจะเป็นผู้ที่ยำเกรงของเจ้ากรมคุกมิใช่น้อย เนื่องจากท่านพูดน้อยแต่ทำจริงทุกอย่าง เลขานุการของท่านคือ ร.ต.จรูญ ษตะเมษ ที่เป็นคนทำจริงพูดจริงเยี่ยงเดียวกัน จึงอยู่ด้วยกันได้อย่างยืดเยื้อจนกระทั่งจากกันออกมา
ขณะนั้นพวกเราทั้ง ๒๓ คน นอนรวมกันในห้องใหญ่ที่คลังใต้ ห้องเดียวกันกับที่พวกเราเคยเสวยอาหารทิพย์ของพันเพื่อนยาก ครั้นต่อมาเมื่อพระศรีมหิทธิศักดิ์เกิดอยากจะมีห้องนอนเพื่อพักผ่อนในคุกบ้าง ก็ได้ยึดเอาห้องขังห้องหนึ่งที่คลังใต้ตบแต่งเป็นห้องพักของสารวัตรใหญ่ขึ้น จึงต้องขยับขยายห้องนอนนักโทษกันใหม่ ร่นเอาพวกเราไปนอนที่คลังเหนือเสียหลายคน พวกเราจึงต้องแยกย้ายกันนอน ทำให้การเล่าเรียนร่วมกันในเวลากลางคืน เช่น การสนทนาโต้ตอบภาษาอังกฤษ และสอบทานวิทยาการอื่น ๆ ต้องระงับลง แต่ก็ได้เปลี่ยนเป็นเวลากลางวัน โดยเอาเวลาหยุดพักงานตอนเที่ยงไปศึกษากันที่คลังใต้ชั้นบน ซึ่งเป็นห้องทำงานของพวกเรา พร้อมด้วยเจ้าพนักงานบางคน
เมื่อพวกเราได้ศึกษาวิชาการหลายสาขาขึ้น มีตำรับตำราและหนังสือพิมพ์รายวันรายคาบมากมายขึ้น ทั้งมีการสัมพันธ์กับญาติมิตรนอกเรือนจำ และติดต่อใกล้ชิดกับนายตรวจและผู้คุมทุกอย่างเป็นกันเองหนักขึ้น ประกอบกับมีผู้ตั้งหนังสือพิมพ์มากขึ้นในพระนคร ทั้งชาวไทยและชาวต่างด้าว และองค์พระมหากษัตริย์ที่ทรงปกครองอย่างประชาธิปไตยขึ้นแล้ว โดยทรงพระมหากรุณาหยั่งเสียงของประชาชนจากหนังสือพิมพ์รายวัน เช่น หนังสือพิมพ์ไทยเป็นต้น ซึ่งมีพระสันทัดอักษรสาร (ฮ้อก อักษรานุเคราะห์) เป็นบรรณาธิการ และมีขุนเศรษฐบุตรสิริสาร (แช เศรษฐบุตร) เป็นผู้ช่วย พวกเราซึ่งมีหัวทางการเมืองอยู่เต็มอัตราแล้ว เมื่อเห็นพิมพ์ไทยมี “อัศวพาหุ” กับ เดลิเมล์ มี “นาคราช” อีกฝ่ายหนึ่ง โต้ตอบกันด้วยเรื่องการบ้านการเมือง บน “เวทีกระดาษ” ด้วยอาวุธปากกาอย่างครื้นเครงดังนั้น หงุดหงิดใจขึ้นมาด้วยความยิ้มแย้ม และสิ่งที่บ้านเมืองยังขาดอยู่ในขณะนั้นก็มีอีกมากมายเหลือคณานับ เป็นต้นว่าการศึกษา เรื่องเศรษฐกิจการคลัง เรื่องการเกษตรอันเป็นหัวใจของประเทศ เรื่องการคมนาคม เรื่องการสาธารณสุข เรื่องสัญญาเสียเปรียบต่างประเทศ เช่น ภาษีร้อยชักสาม เรื่องเงินของชาติรั่วไหลอย่างไร้เหตุผล และเรื่องความแตกสามัคคีปรองดองในระหว่างข้าราชการกับข้าราชการ ข้าราชการกับพลเมือง และพลเมืองกับพลเมือง จนเป็นสาเหตุแห่งการผู้ร้ายและอบายมุขอย่างเหลือหลายที่จะระงับปราบปรามลงได้
ดังนั้น พวกเราก็เปิดโรงเรียนหนังสือพิมพ์กันขึ้น โดยส่งออกทางผู้คุมคุกและนายตรวจบ้าง อาศัยทางญาติมิตรนอกเรือนจำบ้าง ก็ได้รับความเห็นใจและเข้าช่วยเหลือกันด้วยความยินดี ตลอดจนคณะหนังสือพิมพ์แทบทุกคณะก็ปลื้มใจ ที่ได้รับเรื่องและความเห็นของพวกเรา และต่างคนต่างรักษาไว้เป็นความลับลี้ที่สุด แม้คณะหนังสือพิมพ์ที่เป็นของฝ่ายเจ้าหรือฝ่ายรัฐบาลก็หารังเกียจในประพันธกรรมของพวกเราไม่ ทำให้พวกเราหยั่งน้ำใจของเพื่อนไทยที่รักได้ว่า ทุกคนเป็นผู้รักชาติ และหวังดีต่อชาติไทยของเขาด้วยกันทั้งนั้น แม้จะมีบางคนเฉยเมย ต่อนักโทษการเมือง ก็หารังเกียจเดียดฉันท์จากใจจริงไม่ ซึ่งบางคนสำแดงเด่นว่า มีความพอใจและพร้อมใจที่จะร่วมมือด้วยหากโอกาส อำนวย
คณะหนังสือพิมพ์ที่พวกเราส่งเรื่องไปติดต่อเป็นประจำเสมอก็คือ จีนโนสยามวารศัพท์รายวัน และผดุงวิทยารายเดือนของท่านเซียวฮุดเส็ง ซึ่งมี น.ส. ละม่อม ศรีบุญเรืองธิดาของท่านเป็นผู้ดำเนินการ บางครั้งที่คุณนายเหรียญ ศรีบุญเรือง ภริยาของท่านทำแทน เฉพาะจากคณะจีนโน ฯ นี้ พวกเราได้รับเงินผลประโยชน์เป็นรายเดือนตอบแทนเดือนละ ๘๐ บาท นับเป็นรายได้ของคณะ ๑๓๐ ร่วมกันทั้ง ๒๓ คน เงิน ๘๐ บาท สมัยนั้นหาใช่ย่อยมิได้ พอใช้พอสอยในคณะของเราทุกเดือนทีเดียว และยังจะได้รับอาหารหรือเครื่องอุปโภคเป็นพิเศษในบางคราวจากคุณนายเหรียญ หรือคุณละม่อมอยู่เสมอ ๆ อีกด้วยมิได้ขาด พวกเราจึงนับถือครอบครัวนี้เสมอด้วยครอบครัวญาติของคณะ ๑๓๐ ครอบครัวหนึ่ง จนกระทั่งปัจจุบันนี้
นอกจากคณะจีนโนฯ ก็มีอีกหลายคณะด้วยกัน แต่ผลประโยชนที่ได้รับนั้นเขาคิดให้ตามความมากน้อยของเรื่อง หรือบทความที่นำลงพิมพ์แล้วก็มอบเงินให้มากับผู้ที่เป็นตัวแทนของคณะเป็นคราว ๆ และทุกคราว ผู้ที่เดินเหินแทนคณะก็ต้องได้รับค่าตอบแทนอย่างงดงาม เว้นแต่บางคนที่เป็นลูกศิษย์ลูกหาของพวกเราก็รับสนองคุณพวกเราด้วยความเต็มใจ
คณะหนังสือพิมพ์ที่เรามีความสัมพันธ์ในขณะนั้น เท่าที่ยังจำได้ก็คือ หนังสือพิมพ์ไทย ซึ่งเป็นปากเสียงของราชสำนักและรัฐบาล หนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ ของตระกูลวสุวัต ซึ่งมี คุณกิจ สาราภรณ์ เป็นบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ยามาโต ของชาวญี่ปุ่น มีนายสมบัติ เล็กชูวงศ์ ดำเนินการ หนังสือพิมพ์วายาโม มีแขกเป็นบรรณาธิการ แต่จะเป็นของใครจำไม่ได้ และหนังสือ “ตู้ทอง” กับ “นักเรียน” ของนายแช เศรษฐบุตร (ต่อมาเป็นขุนเศรษฐบุตรสิริสาร) เป็นหนังสือพิมพ์สำหรับเยาวชนที่ชวนอ่านและอยู่ในความนิยมมาก
เนื่องด้วยบรรณะโลกอุ้มชูพวกเรา กระทำให้พวกเราเพลิดเพลินเจริญใจที่สุด ถึงกับลืมโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี โลกของการเรียนหนังสือเป็นโลกแห่งความเจริญสุขสนุกสบายด้วยศานติอย่างแท้จริง โดยไม่มีอะไรเทียม พวกเราเกือบทุกคนชอบเล่นหนังสือ แต่ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น “นักเลงหนังสือ” ทีเดียวกันก็มีหลายคนถึงกับมีชื่อเสียงโด่งดังอยู่จนทุกวันนี้ เช่น “ไทยใต้” เจ้าของเรื่อง “เด็กกำพร้า” คือ ร.ต. ถัด รัตนพันธุ์ “ศรียาตรา” เจ้าของเรื่อง “มารินี” “คุณสมบัติของสตรี” และ “พระนางโยเซฟีน” คือ ร.ต. โกย วรรณกุล “บ. กากะมาด” คือ ร.ต. บ๋วย บุณย์รัตพันธุ์ เขาผู้นี้เมื่ออยู่ใน “วัง” ก็ประพันธ์เรื่องสั้น ๆ ลงในหนังสือพิมพ์รายคาบ (ครั้นเมื่อพ้นพระราชอาญามาอยู่คณะศรีกรุง จึงมีชื่อเสียงอุโฆษมากในทางประพันธ์นวนิยายขนาดยาว เช่น เรื่อง “เถนทอง” เป็นต้น) อุทัย เทพหัสดิน ชอบเขียนเรื่องเกี่ยวกับวิทยาการ เพราะขณะที่อยู่ใน “วัง” นั้น ได้สำเร็จวิชาจิตศาสตร์ทางไปรษณีย์จากประเทศอังกฤษ จนได้รับประกาศนียบัตร เคยเขียนเรื่อง “ตำราลับสมอง” ในนามแฝงว่า “นายเทพ” นอกจากนี้พวกเราทุกคนได้ใช้นามแฝงต่าง ๆ กัน ทั้งในการเขียนบทความเห็นและนวนิยาย และคนหนึ่ง ๆ บางทีก็ใช้นามแฝงหลาย ๆ นามก็มี แต่เมื่อไม่มีชื่อเสียงโด่งดังก็ไม่จำเป็นต้องนำมาแจงให้ละเอียดอีก
มีเรื่องน่าเล่าเกี่ยวกับประพันธกรรมของพวกเราอยู่ตอนหนึ่ง คือเรื่อง “พระนางโยเซฟีน” ของ “ศรียาตรา” ซึ่งได้นำลงเป็นรายวันในหนังสือพิมพ์ไทย” ต่อกันยืดยาว จำเพาะเรื่องนั้นได้ผ่านพระเนตรพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยตลอด และทรงพอพระทัยเป็นอันมากเสียด้วย จึงมีพระราชดำรัสถามไปยังหนังสือพิมพ์ฉบับของพระองค์เองนั้น เพื่อใคร่ทรงทราบนามจริงของผู้เขียน จะโดยมีพระราชประสงค์จำนงหมายอย่างไรต่อไป หามีใครทราบไม่ พระสันทัดอักษรสาร บรรณาธิการรู้สึกตกอกตกใจยิ่งนัก เพราะทราบแต่ว่านวนิยายเรื่องนั้นออกไปจากกองมหันตโทษ เป็นผีปากของนักโทษการเมือง ถ้าได้ทรงทราบความจริงเข้าอาจจะเกิดเป็นเรื่องราวใหญ่โตขึ้นก็ได้ โทษทัณฑ์อาจจะมีถึงนายคุก ตัวผู้เขียนและบรรณาธิการด้วย เพราะเป็นการผิดข้อบังคับของเรือนจำ และอาจไม่ต้องด้วยพระราชอัธยาศัยก็น่าจะเป็นได้ พระสันทัด ฯ จึงรีบรุดไปหา ร.ต. เนตร โดยขอเยี่ยมเป็นพิเศษ ค่าที่การสัมพันธ์กันระหว่างพิมพ์ไทยกับคณะ ๑๓๐ นั้น มาจาก ขุนเศรษฐบุตร ฯ กับ ร.ต. เนตรติดต่อกัน เนื่องจากหนังสือพิมพ์ ‘ตู้ทอง’ และ ‘นักเรียน’ เป็นปฐมสัมพันธ์ คณะพิมพ์ไทยจึงทราบแต่นามแฝง หาได้ทราบนามจริงด้วยไม่
เมื่อพระสันทัด ฯ พบกับ ร.ต. เนตรแล้ว รู้สึกมีสีหน้าแสดงความปริวิตกอยู่มาก ผ้าพังพวกเราซึ่งเป็นนักโทษอยู่แล้ว หากจะต้องรับโทษฐานเขียนบทประพันธ์เป็นที่พอพระราชหฤทัยเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินอีก ก็ไม่น่าจะวิตกวิจารอะไรนัก ยิ่งเมื่อคิดถึงเรื่องท่านสุนทรภู่ติดคุก เพราะพระเจ้าแผ่นดินมีพระราชประสงค์ใคร่จะได้อ่านกวีกรรมของท่านที่เกิดขึ้นในคุกด้วยแล้ว ก็ทำให้พวกเราคลายวิตกไปเลย แต่มันไม่ใช่เฉพาะพวกเราเท่านั้นที่อาจรับทุกขะโทษหรือปาปเคราะห์ มันยังลามไปถึงผู้ที่เขายังมีหวังจะได้ดิบได้ดี หรือเป็นใหญ่เป็นโตอีกด้วย ฉะนั้น ร.ต. เนตร จึงยับยั้งพระสันทัด ฯ ไว้ ไม่ให้ทราบชื่อผู้เขียนเรื่องเลยเป็นอันขาด และขอให้พระสันทัด ฯ ในนามของบรรณาธิการผู้ทรงคุณ นำความขึ้นกราบบังคมทูลได้ว่า “นามแฝง” หรือที่ฝรั่งเรียกว่า (Nickname) นั้น ย่อมถือเป็นความลับที่สุดของบรรณาธิการ ไม่ยอมบอกใครเป็นอันขาด เสมอด้วยความลับของชีวิตหรือของชาติก็ปานกัน และทั้ง ๆ เฉพาะนามนี้ เจ้าของนามก็ไม่ยอมบอกให้โรงพิมพ์ทราบมาแต่ต้นแล้ว แม้แต่บรรณาธิการเองก็ไม่ทราบเหมือนกัน พระสันทัดฯ ก็มีสีหน้าแช่มชื่นสดใสขึ้นมาทันที เมื่อได้ยินหลักสำคัญของกิจกรรมบรรณาธิการและเหตุผลประกอบเช่นนั้น แล้วก็แสดงความขอบอกขอบใจพร้อมกับร่ำลาไป ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่ปรากฏว่า “พระนางโยเซฟีน” ได้ลงโทษลงทัณฑ์ผู้ใดเลย ยังคงสถิตอยู่บนหน้าของพิมพ์ไทยจนอวสาน และยังได้ประทับบนเล่มสมุดให้มหาชนอ่านชมอีกหลายคราว เช่นเดียวกับเรื่อง “เด็กกำพร้า” เหมือนกัน
อาชีพทางประพันธกรรมของพวกเราที่ในเรือนจำ นับว่าเป็นล่ำเป็นสันแน่นอนอยู่จนตลอดทัณฑะกาล จึงเห็นได้ว่า วิทยาลัยการศึกษาใช่แต่จะมีได้เฉพาะในหมู่ชนอิสระเท่านั้นก็หาไม่ แม้ในเรือนจำก็มีวิทยาลัยได้เช่นกัน และทั้งนี้มิใช่แต่วิทยาลัยทางหนังสือพิมพ์ ทางประพันธกรรม หรือกวีกรรม เท่านั้น วิทยาลัยทางการช่าง การแพทย์ และการปกครอง ก็อำนวยประโยชน์ให้มิใช่น้อยแก่ผู้ที่ใส่ใจและหวังดีเพื่อตน ในเมื่อพ้นโทษออกมา เช่น ร.ต. ทวน ได้เป็นช่างเขียนภาพฝีมือดีขึ้นมาก ร.ต. ศิริ ได้วิชาการก่อสร้างจากความสนใจพิเศษ จนทำงานก่อสร้างได้ดีพอใช้ ร.ท. จือ ได้วิชาแพทย์เป็นอาชีพจนตลอดชีวิต ยังมีอีกหลายคนได้เป็นพัศดีเรือนจำ เช่น ร.ต. เจือ ร.ต. บุญ และ ร.ต. ศิริ ในครั้งสุดท้ายของชีวิต
นักโทษในกองมหันตโทษฐานวนไม่น้อยทั้งไทยและจีน ที่ได้รับพระมหากรุณาโปรดปล่อยก่อนเวลากำหนดโทษ โดยพวกเราที่ได้ช่วยทำฎีกาพิเศษขอพระราชทานอภัยโทษให้ และมีหลายคนที่ศาลปล่อยโดยพวกเราที่เป็นหมอกฎหมาย หรือมีวิชากฎหมายได้ช่วยเขียนคำให้การต่อสู้คดี เขาเหล่านั้นบางคนเมื่อพ้นพระราชอาญาแล้ว ก็ยังมีแก่จิตใจตามเยี่ยมเยียนพวกเรา ส่งอาหารและเข้าของให้เป็นเครื่องตอบแทนเสมอ ๆ ทำนองเดียวกับท่านสุนทรภู่ รัตนกวี ที่ได้ค่าตอบแทนจากการเขียนเพลงยาวฉบับละ ๓ ตำลึง ดั่งกล่าวแล้ว
ละครชีวิตฉากโศกนาฏกรรมได้เกิดขึ้นแก่พวกเราฉากหนึ่ง ในระหว่างที่พวกเรากำลังสนุกสนานอยู่ด้วยการเรียนและการเขียนหนังสือ ฉากนั้นคือ พวกเราถูกนายคุกสั่งเก็บสรรพหนังสือไปประมาณเกือบ ๒,๐๐๐ เล่ม รวมใส่เข่งขนาดใหญ่ประมาณ ๔-๕ เข่ง ขนออกจากคุกต่อหน้าต่อตาพวกเรา โดยพวกเรามิทราบเหตุผลต้นปลายอย่างแจ่มกระจ่าง วันที่พวกผู้คุมคุกถูกระดมให้ตรวจค้นและเก็บหนังสือนั้น เจ้ากรมคุกมิได้โผล่หน้าเข้าไปในคุกเลย ซึ่งพวกเราเข้าใจเอาเองว่าเขาคงจะไม่อยากเข้าไป พบปะประจันหน้ากับพวกเรา เกรงว่าจะต้องประสบปัญหาต่าง ๆ จากพวกเราโดยตีหน้าตีตาไม่อยู่ หรืออาจจะอดกรุณาต่อคำขอร้องของพวกเราไม่ได้ เพราะทั้งเขาและเรากำลังอยู่ในภาวะ “ป่าพึ่งเสือ เรือพึ่งพาย” กันมาเป็นอย่างดี แต่แทนที่พวกเราจะขุ่นเคืองเขาเหมือนเมื่อครั้งทำทารุณกรรมต่อเรานั้นก็หาไม่ ค่าที่หนังสือเหล่านั้นมันเข้าคุกโดยปราศจากคำพิพากษา คือ ไม่มีข้อบังคับอนุญาตไว้ เมื่อมันทำผิดมันก็ต้องถูกจับกุมไปเป็นธรรมดา แล้วในไม่ช้า พวกเราก็ซื้อหาเอาเข้าไปใหม่อีก ยิ่งมากกว่าเดิมหลายเท่า แต่คราวนี้พวกเราได้จัดห้องสมุดแบบใหม่ เพราะแบบเก่าเป็นครูสอนไว้แล้ว ห้องสมุดแบบใหม่นี้ ได้แก่การกระจายกำลัง (หนังสือ) ไปอยู่ทุกโรงงานที่พวกเรามีอิทธิพล แล้วตั้งหัวหน้าโรงงานให้ต่างคนต่างเป็นนายทะเบียนรักษาหนังสือตามลำดับอักขรานุกรม โรงงานหนึ่งก็ใช้เครื่องหมายอย่างหนึ่ง และมีหมายเลขเรียงลำดับเล่มเฉพาะโรงงาน ๆ ไป มีสมุดรวมยอดของทุกโรงงานซ่อนไว้ใกล้ที่สำนักงานนายคุกเสียเลยทีเดียว คือใช้วิธี “เสือสู้เสือ” เมื่อพวกเราคนใดต้องการจะค้นหนังสือเล่มใด ก็แจ้งต่อนายทะเบียนใหญ่ผู้รักษาสมุดรวมยอดที่อยู่ใกล้ชิดนายคุกนั้น ก็จะค้นได้ทันทีว่าหนังสือเล่มที่ต้องการนั้นมีเครื่องหมายอะไร มีเลขลำดับเท่าใด อยู่ในโรงงานไหน ก็แจ้งให้หัวหน้าโรงงานนั้นทราบ พอเลิกงานตอนเป็นหัวหน้างานก็ถือออกมาจากโรงงานโดยฟรีจากการตรวจค้น ผู้ต้องการใช้ก็จะได้รับสมปรารถนา ดังตัวอย่างเช่น ต้องการพจนานุกรมภาษาอังกฤษเป็นไทย โดยหลวงรัตนาญัปติ (สงบ) ซึ่งเป็นพจนานุกรมเก่าที่หลวงรัตนาญัปติได้ทำขึ้นจำหน่ายเมื่อ ร.ศ. ๑๒๐ (พ.ศ. ๒๔๔๔) นายทะเบียนใหญ่ก็ต้นบัญชีอักษร ‘พ’ ประจำด้วยเครื่องหมาย A ก็รู้ว่าอยู่ในโรงงานค่าแรงของ ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์ และเมื่อพจนานุกรมเล่มนั้นตรงกับเลขลำดับ ๑๑๑๑ ในเครื่องหมาย A ก็หยิบเอาหนังสือเล่มที่ต้องการนั้นได้ทันที การที่กระจายกำลังกันเช่นนี้ก็ฉวยว่าถ้ามีเหตุต้องถูกค้นถูกเก็บอีก จะได้ไม่ถูกยกรังไปทีละมาก ๆ เหมือนแบบเก่าที่เก็บรวมไว้ในที่น้อยแห่ง ๆ ละเกือบ ๆ พันเล่ม เช่นเดิมได้เก็บไว้บนคลังเหนือและคลังใต้แต่เพียง ๒ แห่งเท่านั้นเป็นต้น การที่พวกเราเก็บไว้อย่างล่อแหลมเช่นนั้น ก็เพราะคิดไม่ถึงว่าเขาจะทำได้อย่างลงคอแก่พวกเรา ที่ทำผลประโยชน์ให้แก่เรือนจำอย่างมากมากด้วยความสงบเรียบร้อยตลอดมา แต่เมื่อคิดถึงอกเขาอกเราในการรักษาระเบียบวินัยและกฎข้อบังคับขึ้นมาแล้ว ก็ต้องให้อภัยเขาโดยดุษณี
ในปีที่ ๔ แห่งการต้องเวรจำของพวกเราตรงกับ พ.ศ. ๒๔๕๘ ความระทมใจโดยธรรมชาติได้เกิดแก่เราขึ้นอีก คือ ร.ต. วาส วาสนา เพื่อนร่วมตาย ผู้มีวาจาและน้ำใจเที่ยงตรงกล้าแข็งเสมอต้นเสมอปลาย ซึ่งได้ล้มป่วยลงด้วยโรควรรณโรคในปอดมาประมาณ ๒ ปี ครั้งแรกเมื่อเริ่มป่วย พวกเราได้พยายามรักษาอย่างสุดกำลังจนถึงกับตัวเชื้อโรคสลบไป เมื่อวาสมีร่างกายอ้วนท้วนและน้ำใจเข้มแข็งตามเดิม ก็ใคร่จะบริหารร่างกายให้โรคหายสนิท ด้วยวิธีดัดตนและเดินเหินทุกเช้าเย็นบ้าง ด้วยการบริโภคอาหารให้ต้องตามสุขลักษณะเสมอบ้าง แต่ครั้นเมื่อวาสคิดว่าตนหายดีแล้วก็เผลอตัว แอบไปออกกำลังประลองยกถังที่บรรจุน้ำเต็มครั้งแล้วครั้งเล่า โดยหมอและพวกเราไม่ทราบเลย หลังจากนั้นก็เริ่มป่วยอีกถึงกับฟุบ หมอพวกเราได้ตรวจอย่างถี่ถ้วนและฉายเอ็กซเรย์ด้วย ปรากฏว่าแผลในปอดที่เริ่มจะหายได้กลับกำเริบขึ้นอีก ตัวเชื้อโรคที่เป็นเพียงสลบไปที่ฟื้นและแพร่ขึ้นโดยรวดเร็ว ในที่สุดก็จับไข้และหอบอย่างแรงถึงกับนอนไม่ลง ต้องนั่งกอดหมอน ร่างกายก็ผอมลง ๆ กำลังถอยลงทุกวัน จนเหลือมือนายแพทย์หลวงและพวกเราที่อยู่ใกล้ชิด ในปีนั้นเอง อวสานกาลของวาสก็มาถึง ก่อนหมดลมหายใจ วาสได้แข็งใจกล่าวแก่เพื่อนร่วมตายมีใจความว่า “เพื่อนเอยกันต้องลาเพื่อนไปเดี๋ยวนี้ ขอฝากลูกของกันไว้ด้วย กันขอฝากคำไชโย ถ้าพวกเรายังมีชีวิตได้เห็น” กล่าวได้สักครู่ใหญ่ วาสก็ลาพวกเราไปอย่างอาการสงบ
ศพวาส นักโทษการเมือง ได้นำลงบรรจุหีบไม้สักที่เรือนจำกรุณาทำให้เป็นอย่างดี ประกอบด้วยช่อดอกไม้จันทน์หอมรูปต่างๆ ประดับรอบหีบอย่างสวยหรู แล้วพวกเราก็ขอร้องให้หลวงเรืองเวช ฯ (เชื้อ ธีรานนท์) ไปติดต่อให้คุณแม่พัน พูนวิวัฒน์ กับคุณพี่แหวน พูนวิวัฒน์ บ้านถนนตีทองเป็นเจ้าภาพพร้อมด้วยญาติมิตรของวาส และพวกเรา นำศพออกจากกองมหันตโทษไปทำพิธีตามประเพณีอย่างเงียบ ๆ ที่สุสานวัดสระเกศ และก็เลยทำการฌาปนกิจศพแทนพวกเราจนเสร็จงาน ส่วนบุตรชายของวาส ก็เคยมาติดต่อกับพวกเราและได้รับความช่วยเหลือในบางคราวเหมือนกัน
ระหว่างเวลาที่วาสกำลังป่วยนั้น เป็นสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๑ การเขียนหนังสือพิมพ์โต้ตอบกันอย่างรุนแรงได้สงบลง เพราะชาติกำลังรวมหัวเพื่อสามัคคีกลมเกลียวต่อสู้ภาวะสงครามกันทั่วไป นับว่าจิตใจของชาติไทยสมควรแก่การเป็นชาตินักรบอย่างแท้จริงมาแต่โบราณกาล พวกเราก็สงบการเขียนบทความเห็นตามคติของชาติที่รักเช่นกัน คงเขียนแต่เรื่องนวนิยายบ้าง อบรมสั่งสอนอนุชนบ้าง และโคลงฉันท์กาพย์กลอนเพื่อความเพลิดเพลินและปลุกใจชาติบ้างเท่านั้น
ครั้น พ.ศ. ๒๔๖๐ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของมหาสงคราม ตรงกับวันที่ ๒๒ กรกฎาคม รัฐบาลสยาม (ไทย) มีองค์พระมหากษัตริย์ทรงนำ หลังจากได้ปลุกชาวไทยให้ตื่นขึ้นรักชาติและมีสมานฉันท์อย่างแรงกล้าแล้ว ก็ได้ประกาศเรียกทหารอาสาสมัครส่งไปในงานพระราชสงครามร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตร ณ ประเทศยุโรปด้วย โอกาสนี้เอง พวกเรานักโทษปฏิวัติ จะนิ่งดูดายอย่างไรได้ จำต้องลุกขึ้นเพื่ออุทิศชีวิตให้แก่ชาติและชาวไทยที่รักด้วยโลหิตทุกหยด จึงพร้อมกันทำฎีกาพิเศษขึ้นทูนเกล้าทูนกระหม่อมถวาย ขออาสาไปในงานพระราชสงครามนั้นด้วย เจ้าหน้าที่ก็รับนำเสนอตามลำดับชั้นจนถึงนำขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ไม่ทันถึงเดือน ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมตอบฎีกาพวกเราลงมา มีใจความดังนี้ “การส่งทหารไปในงานพระราชสงครามครั้งนี้ เป็นแต่กองเล็กน้อย ยังไม่ได้ส่งเป็นกองใหญ่โตอย่างใด จึงยังไม่ถึงเวลาที่พวกนี้จะต้องไป แต่การที่พวกนี้อาสาขึ้นมา นับเป็นความดีความชอบพิเศษส่วนหนึ่ง จึงลดโทษให้คือพวกตลอดชีวิต ให้ลดเหลือกำหนดโทษ ๒๐ ปี และพวก ๒๐ ปี ให้ลดลง ๑ ใน ๔ ของกำหนดโทษ” เมื่อเจ้าหน้าที่แห่งกรมราชทัณฑ์ได้เชิญกระแสพระบรมราชโองการไปอ่านให้พวกเราฟังจนจบแล้ว ทุกคนในพวกเราก็ก้มกราบพระมหากรุณาธิคุณพร้อมกันด้วยดวงจิตอันผ่องแผ้ว เพราะความรู้สึกได้วิ่งเข้าสู่ดวงมโนทันทีว่า “พวกเราเห็นจะไม่ต้องติดคุกตายดังที่เคยคาดคิดไว้เป็นแน่” เนื่องจากพวกเรานอนนึกนั่งนึกยืนนึกเดินนึกอยู่ร่ำไปว่า ได้ติดมาถึงปีที่ ๖ แล้ว ประกอบกับส่วนลดโทษที่ได้เลื่อนขั้น (ยศนักโทษ) มาแล้วและต่อไปอีกคนละปีสองปี ก็ยังเหลืออีกไม่กี่ปีนัก (การลดโทษในเรือนจำ เท่าที่จำได้สำหรับยามในตรวจซึ่งเป็นยศชั้นสูงสุดของกองมหันตโทษนั้นลดให้ปีละ ๒ เดือน ใน ๑๕ ปี ก็ได้ลดถึง ๓๐ เดือนเท่ากับ ๒ ปี ๖ เดือน คงเหลือโทษอีกราว ๗-๘ ปีเศษเท่านั้นเอง)
ใน พ.ศ. ๒๔๖๐ นั้นเอง ประเทศไทยต้องประสบคราวร้าย (เคราะห์) หลายสิ่ง ทั้งๆ ประเทศไทยมิได้ก่อขึ้นหรือต้องการด้วยเลย กล่าวคือ นอกจากต้องส่งคนไทยออกไปร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตร คือวิ่งเข้าไปหาความตาย พร้อมด้วยหมดเปลืองทรัพย์สินของชาติใช่ก้อนเล็กน้อย นอกจากจะนำเกียรติยศ ชื่อเสียง และความไมตรีระหว่างประเทศ มาสู่ชาติเท่านั้นแล้ว พอราวกลางปีก็เกิดอุทกภัยใหญ่ทั่วประเทศขึ้นอีก จนถึงกับเล่นเรือกันได้ในพระนครบางแห่ง กระทำความเสียหายแก่ประชาชนและชาติมากมาย ทั้งสองกรณีที่เรานำมาเขียนนี้ เพื่อสำแดงให้ทุกคนทราบว่า ถึงยามมันจะเกิด “คราวร้าย” หรือ “เคราะห์” ตามที่เคยกล่าวมาแล้ว มันก็เกิดขึ้นได้โดยผู้กระทบกระเทือนมิต้อง “กระทำ” (ก่อกรรม) มันเลย มันอาจจะผ่าเหตุผ่าผลได้เหมือนกัน โดยอุบัติเหตุและโดยเหตุประจวบ ใช่แต่เท่านั้น องค์ธรรมชาติยังติดตามพวกเราเข้าไปในคุก คร่าเอาชีวิตเพื่อนตายของเราไปอีกคนหนึ่ง เขาผู้นั้นคือ หม่อมราชวงศ์ แช่ รัชนิกร ผู้เข้มแข็ง, กล้าหาญ และขยันบากบั่นต่อกิจกรรมในหน้าที่อย่างเอกอุ นับเป็นคนที่สองรองจาก ร.ต. วาส วาสนา เป็นเหตุให้พวกเราเศร้าสลดใจโดยธรรมชาติอีกวาระหนึ่ง ซึ่งห่างกันเพียงระยะราว ๒ ปีเท่านั้น
แต่ แช่ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งในลำใส้ ซึ่งเริ่มเป็นมาประมาณ ๒ ปีแล้ว มีอาการปวดรวดเร้าอย่างสาหัส ครั้งแรกพระบำบัด ฯ ลงความเห็นว่าเป็นวรรณโรคลำใส้ (T.B.) นอกจากใช้ยารักษาตามแผนปัจจุบันสมัยนั้นแล้ว ก็อนุญาตให้ฉีดมอร์ฟีนได้เมื่อมีอาการปวด คำนวณมอร์ฟีนที่ใช้ฉีดทั้งสิ้นประมาณ ๑,๐๐๐ เข็ม โดยพวกเราช่วยกันหามาบ้าง ใช้ของโรงพยาบาลบ้าง ครั้นโรคมันถึงอาการหนักเกินสมรรถภาพของแพทย์ แช่ ก็กลับสลายเข้าสู่สสารแห่งธรรมชาติ แช่ ได้ทิ้งวาทะสุดท้ายได้ให้แก่พวกเรา มีใจความว่า “ที่ตายของกันอยู่ตรงนี้ พระเจ้า (องค์ธรรมชาติ) ได้กะที่ไว้ให้แล้ว กันพึ่งรู้เดี๋ยวนี้เอง”
เฉพาะศพหม่อมแช่ พระบำบัด ฯ นายแพทย์ใหญ่ขอให้สงวนไว้ผ่าตัดดู เพื่อวิเคราะห์โรคให้แน่นอน พวกเราที่ผ่านการแพทย์มาแล้วหลายคน พร้อมด้วยหมอพวกเราและหลวงเรืองเวช ฯ ได้ช่วยกันทำการผ่าตัดต่อหน้านายแพทย์ใหญ่ พอควักเอาลำใส้ขึ้นมาตรวจ ไม่ปรากฏโรค ที.บี. เลย พบแต่มะเร็งเนื้อร้าย (Cancer) กินยาวตั้งคืบเศษ หมอใหญ่ตกตลึงถึงกับลั่นวาจาว่า “โอ ! หมอเข้าใจผิด คิดว่า ที.บี. ลำใส้ ไพล่มาเป็นแคนเซ่อร์ไปได้ แต่ยังไง ๆ หม่อมแช่ก็ต้องตาย ทนปวดเจ็บไม่ไหว ถึงหมอจะตัดเอาลำใส้ออก หมอก็ไม่มีลำใส้จะต่อให้มันได้” (ผิดกันกับสมัยปัจจุบันนี้มาก-ผู้เขียน)
ขณะที่กำลังพวกเราผ่าตัดอยู่นั้น เจ้ากรมคุกเวลานั้นเป็นพระพัสดีกลาง ได้ส่งจดหมายมาจากบ้านถึงพวกเราฉบับหนึ่ง พวกเราก็อ่านสู่กันฟังต่อหน้าศพและพวกแพทย์กับเจ้าหน้าที่ มีใจความว่า “การที่กองมหันตโทษได้ขาดหม่อมราชวงศ์แช่ ไปครั้งนี้ เท่ากับได้ขาดแขนขวาไปแล้วข้างหนึ่ง เพราะเขาได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงทำประโยชน์ให้แก่ทางราชการเป็นอันมาก จึงขอส่งหนังสือนี้มาแสดงความอาลัยในนามของเจ้าหน้าที่ทั้งหลายในกองมหันตโทษ และขอมีส่วนร่วมความเศร้าสลดใจกับบรรดาเพื่อน ๆ ของ ม.ร.ว. แช่ ไว้ด้วย” ต่อไปพวกเราก็ได้จัดศพหม่อมแช่ เยี่ยงเกี่ยวกับศพ ร.ต. วาส ยังสุสานวัดสระเกศทุกประการ แต่มีแง่คิดที่เราใคร่จะเล่าไว้สักนิดหนึ่ง คือศพเพื่อนร่วมตายของเราทั้งสองคนนั้น เมื่อได้ฉีดยาป้องกันเชื้อโรคเสร็จแล้ว หลวงเรืองเวชฯ กับพวกเราบางคน มี ร.ต. บุญ ร.ต. เนตร และหมออัทย์ ได้ช่วยกันมัดศพแบบมัมมี่ทั้งคู่ ดูก็เป็นการเรียบร้อยดีมาก บังคับไม่ให้ศพเกิดเน่าทุเรศเหมือนแบบตราสังอย่างที่กระทำกัน
โชค และ เคราะห์มันอาจบังเกิดขึ้นพร้อม ๆ กัน หรือใกล้ ๆ เวลากันก็มีได้เหมือนกัน เช่น ในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๐ นั้น มหาสงครามโลกครั้งที่ ๑ ได้สงบเป็นยุติลง อุทกภัยใหญ่ก็ลดถอยไป กระทำให้พสกนิกรไทยมีความรู้สึกโล่งอกโล่งใจ ประกอบการทำมาหากินอย่างสะดวกสบาย และมีความผาสุกสนุกสำราญกันทั่วหน้า ตลอดจนอนุชนก็ได้เล่าเรียนศึกษาเป็นปกติ พวกเราในเรือนจำก็พลอยอิ่มหนำสำราญขึ้น เพราะอาหารการกินไม่ฝืดเคือง นับได้ว่าเป็นโชคของคนทั้งชาติ แต่ - แต่ - แน่ละหรือว่าโชคมันไม่มีคู่ มันก็มีได้เหมือนกัน หนีไม่พ้น ทำนองเดียวกัน “แม้ดวงจันทร์นั้นยังมีอาทิตย์ครอง” กล่าวคือ “พอหลังจากสงครามไม่นานนัก โรคไข้หวัดใหญ่ก็ระบาดทั่วไปแม้ในกองมหันตโทษ เป็นเหตุให้นักโทษเสียชีวิตไปหลายคน ในพวกเราเองก็ล้มป่วยไปตาม ๆ กัน แต่หามีผู้ใดถึงแก่อันตรายไม่ ข้อสำคัญมันอยู่ที่ผู้อุปการะของพวกเรา มีญาติมิตรทางบ้านไม่สามารถจะไปเยี่ยมเยียนพวกเราได้เช่นเคย เนื่องจากโรคไข้หวัดใหญ่เข้าเกาะกุม บางท่านได้ถึงแก่กรรมไปก็มี ซึ่งกระทำให้พวกเราเป็นทุกข์เสียยิ่งกว่าตัวเองเป็นอันมาก นี่แหละเรื่องของ สุข กับ ทุกข์ หรือ โชคกับเคราะห์ (คราวดี กับ คราวร้าย ) มันเดินเทียมบ่าเทียมไหล่คู่เคียงกันอยู่ทุกเมื่อ โดยมนุษย์ไม่ต้องกระทำขึ้น มันก็ดลบันดาลเอา จะหาคราวปรกติ คือไม่สุขไม่ทุกข์เลยนั้นยากนักยากหนา
ระหว่างเวลาที่พวกเราย้ายจากคุกต่างประเทศไปอยู่คุกไทยได้ไม่เท่าไรนัก เหตุการณ์หลายอย่างได้อุบัติขึ้นแก่พวกเราตามที่เล่ามา แต่ก็สมควรจะได้เล่าไว้ด้วยว่า บังเอิญนักโทษบรรดาศักดิ์ตั้งแต่ชั้นพระยาพานทอง (พวกที่ได้รับพระราชทานตราจุลจอมเกล้า ฯ วิเศษชั้นที่ ๒) ลงมาถึงชั้นพระหลวง ขุนและข้าราชบริพารในพระราชสำนัก ได้วิ่งเข้าไปหาพวกเรากันพรู ๆ ด้วยโทษทัณฑ์ต่าง ๆ กัน เช่น ฉ้อราษฎร์บังหลวง และใช้อำนาจไม่เป็นธรรมกดขี่ข่มเหงพลเมืองเป็นอาทิ นับว่าเขาเหล่านั้นได้เป็นผู้ประหนึ่งสวมมงกุฎให้แก่พวกเรานักโทษปฏิวัติ ให้ชาติเห็นเด่นในการกระทำของพวกเราขึ้นอย่างชัดแจ้ง ว่าพวกเราคิดไม่ผิด ทำไม่พลาด แต่ท่านที่เคารพ ในที่สุดพวกเขาก็ต้องขอเข้ามาอาศัยอยู่ในอ้อมอารักขาของพวกเราแทบทุกคน เพื่อให้พ้นภยันตรายนานาประการที่ได้กระทำไว้แก่เพื่อนมนุษย์แต่อดีต จนกระทั่งพ้นพระราชอาญาไป
ความจริง ภยันตรายในคุกซึ่งเป็นที่อบอ้าวไปด้วยความทุกข์และไร้อิสระภาพนี้ หากผู้ต้องเวรจำคนใดทำจิตใจไม่เป็น หรือไม่ยึดธรรมะ (คือองค์ธรรมชาติ องค์เหตุผล และองค์ความดี) ไว้ประดับดวงมโนธรรมอยู่เสมอแล้ว ผู้นั้นมักจะมีความหงุดหงิด คิดเพ้อเจ้อเลอะเทอะ ถึงกับมีอาการเพ้อคลั่งได้ ยิ่งผู้ใดติดการพนัน หรือยาเสพติด หรือแย่งตำแหน่งหน้าที่ของเพื่อน หรือแย่ง “ลูกสวาท” กันด้วยแล้ว จักกลายเป็นคนเวรคนกรรมไป คือ จักกระทำแต่เรื่องที่เป็นทุกข์เป็นร้อนไม่รู้จักจบจักสิ้น ถึงตีรันฟันแทงกันจนถึงแก่ความตายได้ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อย ๆ อยู่พักหนึ่ง เป็นพักที่น่าหวาดเสียวเหลือเกิน และในพักที่น่าหวาดเสียวนั้น เราสืบสาเหตุได้ว่าเกิดเพราะการพนัน มีหนี้สินติดพันกัน กับเรื่องชิง “ลูกสวาท” กันอย่างน่าเกลียดที่สุด เท่าที่เรายังจำได้ มีนักโทษคนหนึ่ง ชื่อ เพลิน มีกำหนดโทษตลอดชีวิต ชอบแสดงความเป็นนักเลงแก่เพื่อนนักโทษด้วยกันเสมอ และเป็นคนติดทั้งการพนัน ยาเสพติด และ “ลูกสวาท” เคยต้องโทษติด “ลูกคุก” มาเนือง ๆ วันหนึ่ง เพลินแสดงความโหดเหี้ยม ถือมีดดาบเล่มยาวไล่ฟันนักโทษหลายคนด้วยกัน แต่บังเอิญคนหนึ่งเป็นเสมียนอยู่บนคลังใต้ (ขอสงวนนาม) ในบังคับบัญชาของพวกเรา และเป็นสำนักงานของพระศรีมหิทธิศักดิ์ นายผู้คุมใหญ่ด้วย เพลินก็อุกอาจขึ้นไปไล่ฟันนักโทษเสมียนคนนั้นจนได้ ถูกที่แก้มเป็นแผลเหวอะหวะ แต่ก็หนีการจับกุมของเพื่อนนักโทษและพวกผู้คุมไปไม่รอด นายคุกได้สั่งให้ตีตรวนใหญ่ และขังไว้ในคุกมืดทันที เพื่อรอการสอบสวนฟ้องร้องต่อไป ต่อมา สักกี่เดือนจำไม่ได้ ปรากฏว่าเพลินได้ถึงแก่กรรมที่ใน “ลูกคุก” นั้นเอง เพราะทนทรมานทรกรรมไม่ได้ และเนื่องจากความเจ็บไข้ทับด้วย ทำให้เกิดความรู้สึกอย่างไร ๆ แก่พวกเราอยู่บ้าง
อีกครั้งหนึ่งเป็นเรื่องสะเทือนใจอยู่มาก คือ นายแพทย์เรือนจำคนหนึ่ง ชื่อ นายแพทย์จินดา ได้ถูกนักโทษดักฟันจนแขนพิการถึงกับต้องตัดข้อมือ แต่นักโทษผู้ฟันก็ไม่ได้รับโทษหนักตามควร กระทำให้เกิดข่าวว่า นายแพทย์ผู้นั้นไม่ลงโบสถ์กับเจ้าพนักงานคุกด้วยสาเหตุที่ไม่ยอมอ่อนน้อม และในที่สุดนายแพทย์ผู้นั้นก็ต้องลาออกจากกองมหันตโทษไป นับแต่นั้นพวกเราก็ตระเตรียมสมัครพรรคพวกและอาวุธไว้ป้องกันตัวบ้าง ค่าที่ไม่แน่ใจว่าจะโดนแบบลอบกัดจากใครคนหนึ่งคนใดบ้าง
เหตุจากเรื่องยุ่ง ๆ พักนั้น นายคุกได้จัดตั้ง “กองนักโทษแขนแดง” ขึ้น แต่งตัวอย่างนักโทษชั้น ๑ โซ่ตรวนปลดให้หมด ใช้เสื้อและกางเกงผ้าดิบแขนสั้นขาสั้น มีปลอกผ้าสีแดงสวมแขนซ้าย ถือหวายต่างอาวุธสำหรับชั้นพล ส่วนชั้นนายใช้เสื้อกางเกงแขนยาวขายาวแทน คล้ายสารวัตรแขนแดงของทหาร โดยตั้งให้ ร.ต. ศิริ ชุณห์ประไพ นักโทษการเมืองเป็นหัวหน้า อิทธิพลของ “กองแขนแดง” มีมากเกือบเท่าผู้คุมคุก มีหน้าที่คุมประตูโรงงานและที่ทำการทุกแห่ง มีอำนาจค้นตัวนักโทษเวลาเข้าออกสถานที่นั้น ๆ ได้ ตลอดจนที่ตั้งของกองแขนแดงก็จัดขึ้นเป็นพิเศษ หัวหน้าแขนแดงเรียกอบรมสั่งสอนทุกวันตามเวลาที่กำหนดไว้ ถึงคราวเปลี่ยนยามกันก็คุมไปเป็นแถวเป็นแนวแบบทหาร และทำการรับส่งหน้าที่กันเป็นระเบียบเรียบร้อย นักโทษแขนแดงทั้งหมดล้วนแต่ได้คัดเลือกแล้วว่าเป็นผู้ที่มีนิสัยใจคอดีด้วยความซื่อตรง และทำงานจริง นายคุกเองก็ให้สิทธิพิเศษบางอย่าง เช่น อาหาร และเสื้อผ้า ตลอดจนวันลดโทษ ด้วยเหตุนี้เอง ศิริ จึงถูกนักโทษสันดานเลวบางคนตั้งริษยา อยากจะแย่งตำแหน่งนั้น เพื่อใช้อิทธิพลในทางมิชอบ เช่นข่มขู่เพื่อนนักโทษด้วยกัน ตามนิสัยชั่วช้าของเขา ในที่สุดเขาผู้ริษยาน่ามืดตาลายผู้นั้น ถึงกับจ้างนักโทษจริตเสื่อมผู้หนึ่งชื่อเขียว ให้ฟัน ร.ต. ศิริ บังเอิญเขียวหาได้มีดชนิดคมทื่อเต็มทน กระโดดฟันคอศิริขณะที่เดินตัวคนเดียวในบริเวณโรงงานระหว่างพักงาน ศิริ หาเป็นอันตรายไม่ แต่นักโทษเขียวถูกจับตัวไปลงโทษตามอาญาคุกโดยวิธีจำตรวนใหญ่ และขัง “ลูกคุก” พวกเราพอรู้เรื่องก็ติดตามไปเยี่ยมศิริ และพบกับผู้ฟัน จึงปรากฏว่าเป็นผู้เสียสติ ทำให้เกิดความปริเทวนาการยิ่งนัก ศิริเองก็ให้อภัยแก่ผู้ฟัน ซึ่งแสดงอาการประหวั่นพรั่นใจเหมือนลูกนกเมื่อพบกับพวกเรา
ไม่ว่าสถานที่ใดที่มีคนจำนวนมาก ๆ อยู่รวมกัน เช่นโรงเรียน โรงทหารและเรือนจำ หากมีเหตุเภทภัยเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ข้อบังคับและความกวดขันมันก็ต้องตามมาบ่อยครั้งเหมือนกัน เหตุที่เกิดอย่างอุกอาจถึงกับฟันหัวหน้าแขนแดงนั้น นายคุกถือเสมอผู้คุมคุกถูกฟันเช่นเดียวกัน จึงออกคำสั่งให้พวกนายตรวจและพวกผู้คุมคุกออกสำรวจตรวจตราอาวุธที่นักโทษซุกซ่อนตามสถานที่ทั่วไป แม้แต่ในห้องขังนักโทษรอการประหาร กับสั่งให้กั้นห้องภายในโรงงานใหญ่ ๆ ที่มีแผนกงานหลาย ๆ แผนก แบ่งออกเป็นบริเวณเล็ก ๆ พอดีกับงานนั้น ๆ เพื่อให้ง่ายแก่การปกครองดูแลบังคับบัญชา และเวลาพักงานก็ให้คุมกันออกเป็นหมู่ ๆ อย่าให้หลบซ่อนอยู่ได้อย่างนักโทษเขียวที่ซุ่มซ่อนอยู่เพื่อฟันศิริ เป็นตัวอย่าง คำสั่งใน ๒ กรณีย์นี้ เป็นมูลเหตุให้นักโทษบางจำพวกที่เลวร้ายไม่พอใจ ถึงกับต้องส่งให้เลขานุการของเจ้ากรมออกไปช่วยเจ้าพนักงาน และหัวหน้างานดำเนินการ จึงเป็นที่เรียบร้อยลง โดยใช้วิธีพูดปลอบโยนด้วยเหตุผลที่เป็นความผาสุกสงบตามหลักธรรม และแสดงน้ำใจดีเข้าต่อ กอบด้วยตามธรรมดานักโทษส่วนมากมักจะนับถือรักใคร่นักโทษการเมืองเป็นทุนอยู่แล้ว เพราะเท่าที่กล่าวมามิใช่ยกตัว พวกเราชอบความเป็นธรรม และปฏิบัติหน้าที่ล้วนเป็นความสุขสนุกสบายของนักโทษส่วนรวมเสมอมา เว้นแต่ผู้ที่มีสันดานผู้ร้ายจริงๆ หรือมีความริษยาตาร้อนเป็นอุปนิสัยอยู่แล้วก็ยากที่จะช่วยได้ ทำนองเดียวกันกับพวกอันธพาลที่รัฐบาลได้กำลังพยายามปราบปรามอยู่ขณะนี้
ในกองมหันตโทษสมัยนั้น ใช่ว่าจะอบอ้าวอยู่ในกองทุกข์กองโทษอย่างมหันต์ตามชื่อของมันแต่ถ่ายเดียวก็หามิได้ ยังได้รับความผ่อนผันอยู่เสมอหากไม่มีเหตุการณ์ร้ายแรงให้เป็นที่ขุ่นใจของนายคุก เช่น ปล่อยให้เล่นกีฬาที่ไม่เป็นอันตรายอยู่ตลอดมา ได้แต่ตะกร้อ หมากรุก สะกา และคริกเก้ต ตามสถานที่และเวลาอันเหมาะสม นอกจากนั้นยังอนุญาตให้เล่นดนตรีและละครลิเก เพื่อแก้เหนื่อย แก้กลุ้ม หย่อนใจและเบิกบานอารมณ์ได้ทั้งในวันธรรมดาและวันนักขัตฤกษ์ แม้แต่เวลาค่ำคืนดื่นดึก ทั้งในบริเวณคุกไทยฝ่ายชาย ฝ่ายหญิง และคุกต่างประเทศ บางครั้งถึงกับมีการแสดงดนตรีหรือลิเกประชันกัน ระหว่างโรงงานหรือคุกเหนือกับคุกใต้ โดยมีรางวัลจากเจ้าพนักงานเรือนจำบ้าง จากพวกเราบ้าง ทำความสุขสำราญให้แก่มวลนักโทษจนถึงกับลืมบ้านเป็นบางคราว ครั้นถึงวันนักขัตฤกษ์ เช่น ตรุษสงกรานต์ วันขึ้นศกใหม่ และวันเฉลิมพระชนมพรรษา โดยปรกติทางเรือนจำมักจะหยุดงานและปล่อยลงสนาม แสดงกีฬามวยบ้าง กระบี่กระบองบ้าง และการละเล่นอื่น ๆ ตามถนัด ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก และโดยมากมักจะไม่ค่อยปรากฏว่ามีเรื่องชกต่อยตีรันฟันแทงกัน เพราะต่างมีจิตใจรื่นเริงบันเทิงสุข และเจ้าหน้าที่เรือนจำก็ให้ความระแวดระวังเป็นอย่างดีตลอดด้วย
เมื่อพูดถึงดนตรี พวกเราก็ได้ตั้งขึ้นวงหนึ่งเหมือนกัน เขาขนานนามให้ว่า “ดนตรีทหาร” บ๋วยเป็นครูสอนทั้งดนตรีและการขับร้อง วันดีคืนดีพวกเราถูกหาไปแสดงดนตรีในเรือนจำผู้หญิงก็มีหลายคราว โดยความกรุณาและไว้เนื้อเชื่อใจของพระศรีมหิทธิศักดิ์ เพราะขณะนั้น พวกเราได้เป็นที่ไว้วางใจของนายคุกเป็นอันมาก ซึ่งอยู่ด้วยกันมาเป็นเวลา ๑๐ ปีเศษ จนถึง พ.ศ. ๒๔๖๕ และเขามองพวกเราด้วยแง่ดี เพราะความดีของพวกเรามั่นคงแน่นอนนั้นเอง กว่าพวกเราจะกลับจากเรือนจำหญิงก็ราวตี ๑ ตี ๒ เมื่อหลังจากอาหารว่างพิเศษที่คุณพระศรีฯ ได้จัดหามาจากราชวงศ์เสร็จแล้ว และถ้าคืนใดไม่มีใครหาวงดนตรีของพวกเราไปแสดง เราก็แสดงเองในห้องนอนหรือนอกห้องนอน โดยเจ้าพนักงานผ่อนผันให้เปิดห้องนอนอยู่ได้จนถึง ๒ ยามหรือตี ๑ บางครั้งในฤดูร้อน พวกเราก็ยึดสนามหน้าเป็นที่ตากอากาศแทนท้องสนามหลวงก็มี
ความรื่นเริงของพวกเราที่ไม่น่าจะเล่า แต่ก็ควรจะเล่าเพื่อให้สมบูรณ์คือ ในคืนวันเฉลิมพระชนมพรรษาทุกปี ในตอนที่พวกเราเป็นหน่วยความดีของเรือนจำแล้วนั้น พวกเราได้จัดอาหารเลี้ยงดูกันอย่างสนุกสำราญพร้อมด้วยสุราชนิดดี ๆ แล้วก็มีการละเล่นเต้นรำตามประสาคนยาก เช่นมีดนตรี มีการต่อสักวาร้องส่ง และมีการแสดงละครพูด ให้พวกเราและเจ้าพนักงานชมเล่นเป็นขวัญตา รู้สึกว่าอายุได้เพิ่มขึ้นอีกหลายปี แต่กำหนดโทษได้ลดลงแยะ และมีความรู้สึกคล้ายกับได้อยู่บ้านกระนั้นเทียว!
อยากจะพูดว่า ในที่ใดมีประชาธิปไตยแท้ ในที่นั้นก็เจริญสุข สนุกสบาย ด้วยศานติแท้ แม้ในเรือนจำก็ดุจกัน ณ คืนวันหนึ่ง ขณะที่พวกเรากำลังคุยกันอย่างเพลิดเพลินในห้องนอนที่คลังเหนือ เจ้ากรมคุกตอนนั้นเป็นพระยาพัสดีกลางแล้ว ได้โผล่เข้าไปที่หน้าประตูห้องพร้อมด้วยผู้คุม และสั่งพวกเรามีใจความว่า “รีบแต่งตัวอย่างไปทำงานเร็ว ๆ เข้า ประเดี๋ยวทูลกระหม่อมมหิดล ฯ (สมเด็จเจ้าฟ้ากรมหลวงสงขลานครินทร์ พระราชบิดา) จะเสด็จเข้ามาในคุกพร้อมกับนายแพทย์อเมริกัน เพื่อเจาะโลหิตเชื้อโรคเท้าช้างจากนักโทษ เอาพวกเธอนี่แหละไปเฝ้า ค่อยเข้าเจ้าเข้านายได้สนิทหน่อย” แล้วก็บอกให้ผู้คุมไขกุญแจห้อง และท่านได้นำพวกเราไปรอเฝ้าอยู่ที่โต๊ะทำงานของนายตรวจเวรประจำการ ตอนชานชลาระหว่างสนามหญ้าทั้งสอง สักครู่ใหญ่ ๆ ทูลกระหม่อม ฯ ก็เสด็จนำหมอคนหนึ่งซึ่งเพิ่งมาจากอเมริกาเข้ามาที่โต๊ะเวร ประทับยืนอยู่ตรงหัวโต๊ะ เมื่อเจ้ากรมคุกรายงานทูลกิจการเสร็จแล้วก็รับสั่งให้หมอทราบว่าพวกเราเป็นนักโทษประเภทไหน ต้องโทษมาแล้วเท่าใด หมอทูลว่าใช้ได้ แล้วรับสั่งเรียกพวกเราเข้าไปให้หมอเจาะโลหิตทีละคน ๆ จนครบ และก็รับสั่งถามหมอว่าจะต้องการอีกหรือไม่ หมอทูลว่าพอแล้ว ทูลกระหม่อมฯ ก็หันพระพักตร์ไปรับสั่งขอบใจเจ้ากรมคุกและพวกเรา แล้วก็นำหมอเสด็จกลับ ขณะที่พวกเราได้เฝ้าใกล้ชิดพระองค์และได้ยินพระดำรัสทุกถ้อยวาทะนั้น รู้สึกประหนึ่งว่าได้ยืนอยู่ในประเทศประชาธิปไตยอันแท้จริง
ช่างพอดีเสียนี่กระไร พอพวกเราฝันถึงรสโอชะของประชาธิปไตย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ก็ทรงสถาปนา “ดุสิตธานี” ขึ้นภายในบริเวณพระราชวังดุสิต สมมติเป็นธานีแห่งตัวอย่างระบบประชาธิปไตยในสยามประเทศ แม้หากจะเป็นเพียงธานีตุ๊กตาเพื่อสนุกก็ตาม แต่ย่อมสำแดงเข้าถึงพระราชหฤทัยจำนงอยู่บ้างเหมือนกัน อย่างที่ฝรั่งกล่าวว่า “Actions speak louder than words” และบ้านเล็กเรือนน้อยใน “ดุสิตธานี” นั้น มีจำนวนมากที่ได้จ้างทำจากโรงงานช่างไม้ในกองมหันตโทษ นับว่าฝีมือนักโทษซึ่งมีพวกเรานักประชาธิปไตยอยู่หลายคน เช่น ร.ต. บุญ ร.ต. เจือ และ ร.ต. ทวน เจือปนเป็นที่รำลึกอยู่ด้วยส่วนหนึ่งในธานีประชาธิปไตยนั้น
พวกเรายิ่งต้องเวรจำนานปีเข้าก็ยิ่งได้รับความกรุณาจากเจ้าพนักงานคุกและบุคคลภายนอกมากขึ้น เจ้าพนักงานคุก โดยในท่าที ได้อนุญาตให้พวกเราเลี้ยงนกพิลาบ เลี้ยงสุนัขและสัตว์อย่างอื่น ๆ ไว้ดูเล่น และเพื่อวิจัยในทางสัตวศาสตร์ ผู้ที่โปรดในทางนี้ก็คือ นักประพันธ์โกย หรือ “ศรียาตรา” นั่นเองเป็นตัวตั้งตัวตี ทำให้คณะของเราพลอยได้รับความเพลิดเพลินและได้ศึกษาชีววิทยาไปด้วย นอกจากเลี้ยงสัตว์ไว้เป็นเพื่อนแก้ทุกข์แล้ว ยังมีการสร้าง “ปาร์ค” (Park) น้อย ๆ ขึ้นแข่งรัศกันในระหว่างพวกเราอีก คือ ร.ต. ศิริ กับ ร.ต. เนตร ร.ต. ศิริ สร้างขึ้นในสนามหญ้าผืนเล็กระหว่างตึกคุกใต้กับลูกคุกใต้ ตรงกับหน้าคลังใต้อันเป็นสำนักงาน พระศรีมหิทธิศักดิ์ นายผู้คุมใหญ่ ส่วน ร.ต. เนตร ยึดเอาสนามหญ้าผืนเล็กระหว่างคุกเหนือกับ “ลูกคุก” เหนือเป็นที่ก่อสร้าง อยู่ตรงกับหน้าคลังเหนือซึ่งเป็นสำนักงานพระยาพัศดีกลางเจ้ากรมคุก ฝ่ายศิริ ออกจะได้เปรียบเพราะมีลูกน้อง “กองแขนแดง” ช่วยส่งเสริม ข้าง ร.ต. เนตร ได้อาศัยแต่ “กองเด็ก” ช่วยส่งเสริม แต่ได้เปรียบที่ว่า เจ้ากรมคุกเล่นด้วย มักจะออกไปเดินชมเมื่อว่างงานแล้วเนือง ๆ และในทำนองเดียวกันนายผู้คุมใหญ่ก็ออกชม “ป๊าร์ค” ของ ศิริ เช่นกัน พรรณไม้และวัตถุที่ตกแต่ง “ป๊าร์ค” หรือ “วนุทยานน้อย” นั้น ล้วนแต่หาเอาจากโรงงานต่าง ๆ ในเรือนจำ เว้นแต่พรรณไม้บางอย่างก็สั่งให้ญาติมิตรติดมือไปให้เมื่อวันเยี่ยม นอกจากนั้นในบริเวณโรงงานแทบทุกแห่งมักจะมีสวนไม้ดอกไม้ในประดับประดาเหมือนกันเช่น ในบริเวณโรงงานเสมียน ซึ่งมี ร.ต. ถัด เป็นหัวหน้า ก็ตกแต่งเสียน่าดูน่าชมใช่เล่น ทำให้ผู้ที่อยู่ในนั้น หรือผู้ที่มีธุระเข้าออก รู้สึกเย็นอกเย็นใจตามประสาทุคโต โรงงานเสมียนนี้ ได้จัดตั้งขึ้นใหม่ รวบรวมบรรดา พวกเสมียนต่าง ๆ เช่น กองพัสดุสุก พัสดุดิบ กองเสื้อผ้า กองสั่งซื้อของและกองทะเบียน ฯลฯ เข้าไว้ในบริเวณเดียวกันทั้งหมด เพื่อสะดวกต่องานในเรือนจำ
ส่วนบุคคลภายนอกที่หลั่งความกรุณาปรานีต่อพวกเรานั้น นอกจากญาติมิตรและนักปฏิบัติ เพื่อนร่วมตายที่รอการลงอาญาแล้วไซร้ ก็มีอีกหลายท่านด้วยกัน เท่าที่ยังจำได้ก็เช่น เสด็จในกรมหมื่นพงษาอิสรมหิป (พระองค์เจ้าไชยานุชิต) ซึ่งประทับอยู่ที่วังข้างกองมหันตโทษนั้นเอง เคยรับสั่งให้มหาดเล็กของพระองค์นำมะม่วงที่ปลูกไว้ในวัง ไปขออนุญาตนายคุกส่งให้แก่พวกเราทุกคนรับประทานคราวละ ๒-๓ กะบุงทุกๆ ฤดู นอกจากนี้ยังมีข้าวโพดดอกใหญ่ ๆ ขนาดเท่าแขนซึ่งได้พันธุ์มาจากต่างประเทศ บางวันก็ทรงโปรดให้แม่ครัวต้มแกงหม้อใหญ่ ๆ ส่งเข้าไปประทานแก่พวกเรา เมื่อพวกเราเห็นว่ามากเกินที่จะรับประทานกันหมด ก็แจกจ่ายให้แก่ผู้ที่อยู่ใกล้เคียงเราต่อไป ได้ทราบว่า มีผู้ทลถามพระองค์เป็นเชิงสงสัยว่า พระองค์จะทรงมีพันธะอย่างใดอยู่กับพวกเราบ้าง จึงได้ทรงพระกรุณาพวกเราอย่างเปิดเผย พระองค์ท่านก็ทรงตอบอย่างตลกว่า “มันจะฆ่าเจ้า ข้าเจ้าจึงให้มันกิน”
สาเหตุของเรื่องที่เจ้านายชั้นผู้ใหญ่จะทรงพระกรุณาแก่นักโทษการเมืองอย่างพวกเรานี้ มิใช่พวกเราได้ติดต่อทูลขอไปก่อน หามิได้ พระองค์ท่านทรงติดต่อถามพวกเรามาทางมหาดเล็กของพระองค์ก่อน ครั้น ร.ท. ทองดำทูลตอบไปว่า เพียงกล้วยน้ำหว้าก็เป็นพระเดชพระคุณอย่างยิ่งแล้ว (นักโทษในคุกขนานชื่อกล้วยน้ำหว้าว่า “หมูตัวเมีย” เป็นของหวานที่วิเศษสำหรับพวกเขามาก) พระองค์จึงประทานมะม่วงและของอื่น ๆ ซึ่งมีศักดิ์สูงกว่ากล้วยให้แก่พวกเราเป็นประจำ
เมื่อพวกเราได้รับพระมหากรุณาพระราชทานอภัยโทษแล้ว หมออัทย์ได้นำพวกเราไปเฝ้าพระองค์ท่าน เพื่อสำแดงความกตัญญูกตเวทีที่ได้ทรงพระเมตตากรุณาแก่พวกเรา และขอศีลขอพรจากพระองค์ด้วย พระองค์ได้ทรงสนทนากับพวกเราถึงเรื่องการเมืองในต่างประเทศโดยมิได้ทรงหวาดเกรงแต่อย่างใด รู้สึกว่าถึงพระองค์จะมีพระชนมายุเข้าปูนปัจฉิมวัยแล้ว แต่สมองของพระองค์มิได้ล้าสมัยเลย ทรงใช้ถ้อยคำเป็นภาษาอังกฤษและให้คำอธิบายได้เป็นอย่างดี พระองค์ทรงรับสั่งอยู่ตอนหนึ่งซึ่งเรายังจำได้ว่า ตามที่มีบางคนเขาว่าพวกเรา ชิงสุกก่อนห่ามนั้น ท่านเคยคัดค้านอยู่เสมอว่า สัญชาตญาณของมนุษย์มันไม่เหมือนผลไม้ มันจะสุกเมื่อใดมันก็สุกได้ มิได้มีกฎเกณฑ์อันใดว่ามันจะต้องห่ามเสียก่อน เมื่อเราทูลลาท่าน ๆ ก็ไปหยิบเต้าน้ำมนต์ของสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มาประทานประพรมให้พวกเรา และประทานศีลประทานพรด้วย พระอัธยาศัยอันน่าเคารพยิ่ง
นอกจากนั้น ก็มีคุณหญิงพัศดีกลาง (เนียน บุนนาก) ภริยาท่านเจ้ากรมคุก และนางศรีมหิทธิศักดิ์ (ริ้ว สังขทรัพย์) ภริยานายผู้คุมใหญ่ กับผู้คุมหญิงอีกหลายท่าน ได้เคยแผ่เมตตาให้ทานอาหารแก่พวกเราอยู่เป็นเนืองนิตย์ ส่วนชาวคณะหนังสือพิมพ์ที่เราติดต่ออยู่เป็นประจำ ก็มักไม่ค่อยลืมพวกเรา เคยฝากของกินของใช้ไปทางผู้ที่แทนตัวพวกเราเสมอ เช่น ขุนเศรษฐบุตร ฯ (แช เศรษฐบุตร) ได้เคยส่งเสื้อผ้าเครื่องแต่งตัวเข้าไปให้ เป็นต้น
ครั้นย่างในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ อันเป็นปีที่ ๑๓ ในเรือนจำของคณะเรา ข่าวดี “กู๊ดพ้อยต์” ได้ประดังกันดุจดอกมะลิโปรยกลิ่นหอมสดชื่นเข้าไปสู่พวกเราพรั่งพรู ซึ่งตรงกับที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ได้เสวยราชย์มาบรรจบครบ ๑๕ ปีบริบูรณ์ และในราวต้นศกนั้นเอง กองมหันตโทษได้รับคำสั่งจากกรมราชทัณฑ์ให้เตรียมการจัดทำข่ายนักโทษ เช่นเดียวกับเมื่อประเทศไทยชนะสงครามโลก ครั้งที่ ๑ ไว้ให้พร้อมสรรพ เพื่อรอรับพระราชกฤษฎีกาโปรดปล่อยนักโทษอีกวาระหนึ่ง ซึ่งจะตกในราวเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๗ ในพระราชพิธีเฉลิมฉัตรมงคล การทำข่ายปล่อยนักโทษนี้เป็นกิจกรรมใหญ่ ถึงแม้จะไม่ยากนัก แต่ก็ยุ่งเอาการสำหรับเรือนจำมหันตโทษ เพราะในขณะนั้น เป็นเรือนจำที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีนักโทษประจำไม่ต่ำกว่าปีละเกือบ ๓,๐๐๐ คน มีคนโทษทุกชนิด กำหนดโทษทุกอย่าง และคนโรคทุกปรเภท หากผู้ทำข่ายเล่นไม่ซื่อด้วยแล้ว รัฐบาลก็อาจจะปล่อยนักโทษออกไปผิดๆ พลาดๆ บาปหรือข้อเลวร้ายที่สำคัญอย่างยิ่ง ก็คือ นักโทษผู้ที่ควรจะได้โปรดปล่อยโดยกฎหมายซึ่งนานปีมีหน กลับมิได้โปรดปล่อย หากไม่ “จิ้มก้อง” ด้วยเข้าของเงินทองที่ “ผู้ไถ” เขาประสงค์ ซึ่งสมัยใหม่นี้มีชื่ออันไพเราะว่า “เก๋าเจี๊ยะ” (หมาแดก) อนึ่ง สำหรับเจ้าพนักงานชุดใหม่ที่ไปจากกรมตำรวจโดยมากนั้น ก็ไม่ค่อยสันทัดกับการทำข่ายนัก เจ้าพนักงานเท่า ๆ ก็ยังเหลือน้อยตัว ฉะนั้น เมื่อทำข่ายคราวแรก หลังมหาสงครามโลกครั้งที่ ๑ นายคุกจึงขอให้พวกเราเป็นตัวตั้งตัวตี อนุญาตให้พวกเราติดต่อกับสำนักงานทะเบียน ซึ่งตั้งอยู่หน้าเรือนจำได้ทุกเวลาทั้งกลางคืนกลางวัน ติดต่อกับคณะแพทย์ได้ทุกเมื่อ ถ้าเกี่ยวกับการตรวจโรคตามพระราชกฤษฎีกา เช่น โรคเรื้อน โรคบ้า วรรณโรค หรือโรคที่ร้ายแรงมิอาจจะรักษาให้หายได้ ตลอดจนการติดต่อกับนักโทษที่สงสัยว่าจะเข้าข่ายแน่นอนแล้ว แต่บังเอิญบัญชีตกไป เหล่านี้เป็นต้น และก็ด้วยการกระทำของพวกเราในครั้งกระนั้นได้เป็นการสุจริตเรียบร้อยอย่างดีที่สุด หามีผู้ใดมาร้องเรียนเลยไม่ นับเป็นหน่วยหนึ่งแห่งองค์ความดีเด่นของพวกเรา ที่ทั้งเจ้าพนักงานและมวลนักโทษได้ให้ความรู้สึกในทางดีทางงามอย่างน่าสรรเสริญแก่พวกเรา แต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ครั้นมาครั้ง พ.ศ. ๒๔๖๗ นี้ ก็อีกน่าแหละ นายคุกได้มอบภาระการทำข่ายนักโทษเพื่อโปรดปล่อย ให้พวกเราเป็นแม่งานโดยตลอด ทั้ง ๆ ที่พวกเรามิมีโอกาสได้เข้าข่ายกับเขาด้วยเลยสักประเภทเดียว แต่เพียงได้รับความไว้วางใจให้กระทำหน้าที่อันสำคัญของชาติเช่นนี้ พวกเราก็มีความภาคภูมิใจอย่างหาสิ่งใดมาเปรียบปานมิได้เลย และได้เต็มใจสนองความไว้เนื้อเชื่อใจของนายคุกอย่างเต็มสติกำลัง จนบางครั้งพวกเราบางคนต้องหลับคาโต๊ะทำงานไปก็มี ครั้นพระราชกฤษฎีกาโปรดปล่อยนักโทษทั่วราชอาณาจักรได้ตราออกมาแล้ว ข่ายที่กรมราชทัณฑ์สั่งให้ทำล่วงหน้าก็มิต้องแก้ไขประการใดมากนัก โดยมากตรงๆ กัน ประหนึ่งกับทางราชการเบื้องบนได้กระซิบกันมาแล้ว
หัวใจของนักโทษที่รู้ตัวแล้วว่าจะต้องได้พ้นโทษแน่ ๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น จะเป็นสถานใดบ้าง ? หามีอิสระชนคนใดอาจเดาได้ไม่ จะต้องเป็นผู้ที่ตกอยู่ในภาวะเดียวกันเท่านั้น จึงจะอธิบายให้ถูกถ้วนได้
----------------------------