ภาคปกิณกะ

กอปรด้วยหัวข้อย่อดังนี้ :-

- ร.ต. เปลี่ยน กับ ร.ต. หรี่ ย้ายไปก่อปฏิวัติในมณฑลนครสวรรค์อีก

- รางวัลในการพ้นทุกข์ทรมานทางการเมือง ๑๒ ปี ๖ เดือน ๖ วัน

- นักปฏิวัติยึดอาชีพหนังสือพิมพ์กันส่วนมาก

- อโหสิกรรมระหว่าง “ผู้หักหลัง” กับ “ผู้ถูกหักหลัง ” เมื่อเผชิญหน้ากัน

- เป็นหน่วยเสียงหรือ ออร์แกนให้คณะปฏิวัติ พ.ศ. ๒๔๗๕

- สวมหัวโขนครั้งที่ ๒ สมัยประชาธิปไตย

- ฉลองวันอิสระภาพปีที่ ๓๕ พอดี

 

ภาคนี้ เป็นภาครวบรวมสิ่งละอันพันละน้อยของการปฏิวัติ หรือเนื่องมาแต่การปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐ หากจะทอดทิ้งเสียไม่กล่าวถึง ก็เกรงว่าเรื่องราวจะขาดสมบูรณะภาพไปบ้าง

อย่างเรื่อง ร.ต. เปลี่ยน ไชยมังคละ และ ร.ต. หรี่ บุญสำราญ ที่หลุดจากเรือนจำกรุงเทพฯ ไปเข้าเรือนจำนครสวรรค์ด้วยเหตุผลกลใดนั้น ก็คิดว่าเราควรจะได้เล่าสู่กันฟังไว้ ณ ที่นี้ด้วย

จำเดิมแต่โปรดเกล้า ฯ ให้รอการลงอาญาพวกเราที่อยู่ในคำพิพากษาของกรรมการศาลทหาร ในกำหนดโทษชั้นที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ กับทรงมิให้ถอดออกจากยศตำแหน่งรวม ๖๘ คนด้วยกันนั้นแล้ว กระทรวงกลาโหมก็ได้ออกคำสั่งให้ย้ายพวกนายทหารปฏิวัติเหล่านั้นไปอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ ทั้งในตอนสุดภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอิสาน ร.ต. เปลี่ยน กับ ร.ต. หรี่ ได้ถูกย้ายไปอยู่กรมทหารพรานที่ ๖ จังหวัดตาก ซึ่งขึ้นอยู่ในกองพลที่ ๖ มณฑลนครสวรรค์ (ที่ ร.ต. จันทร์ ไปเกลี้ยกล่อม) ในระหว่างนั้นมีข่าวจากเพื่อนร่วมตายมาเข้าหูพวกเราว่า นายทหารปฏิวัติที่รอการลงอาญาเกือบทุกคนทุกจังหวัด ได้ถูกทดลองน้ำใจว่า ยังจะมีสมองปฏิวัติ คิดก่อการกำเริบในเรื่องเปลี่ยนแปลงประเพณีการปกครองบ้านเมืองอยู่อีกหรือหาไม่ แต่ทั้งนี้จะเป็นเพราะทางรัฐบาลได้สั่งไปให้ลองใจ หรือว่าจะเป็นทางราชการทหารสั่งไปให้ทดลอง หามีผู้ใดทราบแน่ไม่ รู้แต่ว่านายทหารที่ถูกรอการลงอาญาหลายจังหวัดได้ถูกเข้าแก่ตนเอง โดยมีนายทหารที่เป็นเพื่อนกันบ้าง มิใช่เพื่อนกันบ้าง เข้าไปเกลี้ยกล่อมชักชวนให้คิดก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองกันอีก โดยแสร้งอ้างว่าที่กระทำไปแล้วนั้นถูกอกถูกใจพวกเขามาก หากแต่ “ผู้หักหลัง” เล่นไม่ซื่อจึงได้ทำการไม่สำเร็จอย่างน่าเสียดายนัก เราเคยกล่าวแล้วว่า นายทหารปฏิวัติย่อมมีสมองต่าง ๆ กัน บ้างก็เกิดแต่สมองปฏิวัติแท้ บ้างก็เกิดแต่สมองปฏิวัติเทียม และประกอบกับนิสัยใจคออีกด้วย บ้างก็หนักแน่น บ้างก็บึกบึน บ้างก็โลเล บ้างก็กล้าหาญชาญชัย และบ้างก็ขี้ขลาดตาขาว เพราะฉะนั้นการลองใจกันจึงยากที่จะสัมฤทธิผลได้ทุกราย ทั้งโดยมากพวกเรามักเข็ดขยาดจากพฤติกรรมที่ได้ผ่านไปแล้ว และมักเกิดไม่ค่อยเชื่อน้ำมนต์ของผู้ใดง่ายนัก เนื่องจาก “ผู้หักหลัง” มันได้หักหลังคณะไปเมื่อหยก ๆ นี้เอง

แต่ ร.ต. เปลี่ยน กับ ร.ต. หรี่ ได้ถูกเพื่อนรักใคร่สนิทเคยไว้วางใจกันเข้าไปเกลี้ยกล่อม (ขอปิดชื่อ) ผสมกับทั้งเปลี่ยนและหรี่ มีสมองปฏิวัติอยู่แล้ว เปลี่ยน มีความสุขุมคัมภีระภาพมาก ฝ่ายหรี่ มีน้ำใสใจจิตห้าวหาญจริงจัง แต่เมื่อคนหนึ่งเอาอีก อีกคนหนึ่งจะปฏิเสธ ก็ดูว่าจะไม่ใช่เพื่อนตายที่ย้ายไปอยู่ในกรมกองเดียวกัน ลงท้ายเพื่อนเราทั้ง ๒ คนนั้นก็รับปากแก่ผู้เกลี้ยกล่อมด้วยเกียรติยศ เพราะเคยรู้แผนการของคณะ ร.ศ. ๑๓๐ อยู่แล้ว และยังคิดจะชักชวนเพื่อนร่วมตายเก่าๆ ที่เคยร่วมมือกันมาแล้วนั้นอีก เท่านั้นเอง เปลี่ยน กับ หรี่ ก็ถูกจับเข้าปิ้ง ส่งไปกักขังที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นที่ตั้งมณฑล และถูกทำการสอบสวนฟ้องศาลอย่างง่ายดาย เพราะพวกเกลี้ยกล่อมที่เคยเป็นเพื่อนกันมาได้เข้าเป็นสักขีพยานยืนยันอย่างไม่มีทางกระดิก นี่แหละเรากล่าวได้อย่างสนิทว่า “เพื่อนกินหาง่าย เพื่อนตายหายาก” ตามที่โบราณท่านว่าไว้ นั้นช่างใช้ได้อยู่เสมอ ทั้งสองจึงโดนเข้าคนละ ๒๐ ปี เท่ากำหนดโทษเดิมที่ถูกรอการลงอาญาไว้ และถูกจำอยู่ในเรือนจำนครสวรรค์นั้นเอง

แต่น่าขัน ทางฝ่ายบ้านเมืองมีพระยารณชัยชาญยุทธ (ทองสุก โชติกเสถียร) ผู้เป็นเทศาภิบาลมณฑลนครสวรรค์ ช่างมีความรู้สึกเมตตากรุณา เปลี่ยน กับ หรี่ อย่างลูกอย่างหลานเสียจริง ๆ เข้าใจว่าท่านคงจะเป็นคนที่เคารพหลักมนุษยธรรมอยู่มากเหลือเกิน เมื่อรู้ความจริงว่านายทหารทั้งสองนั้นถูกต้มจากความล่อลวงเพื่อประโยชน์อันไม่เป็นธรรมเช่นนั้น ท่านก็ดำเนินการสั่งให้เพื่อนเราทั้งสองเข้ารับหน้าที่การงานในเรือนจำอย่างสุขสบาย และจะเข้าออกนอกในเรือนจำได้เสมอทุกเมื่อ ด้วยความไว้วางใจ เช่นเรียกไปใช้นอกเรือนจำ ให้เขียนหนังสือโต้ตอบกับทางราชการคล้ายตำแหน่งเลขานุการ เพราะโดยเฉพาะเปลี่ยนมีความรู้ทางหนังสือดีมาก เคยเป็นนายทหารคนสนิทของผู้บังคับกองพันทหารราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์มาแล้วหลายปี เขาทั้งสองได้รับความสุขกายสบายใจมาตลอด ๑๒ ปีเศษ แล้วก็ได้รับพระมหากรุณาโปรดปล่อยพร้อมกับพวกเราในกองมหันตโทษดังกล่าวแล้วในภาคสรุป

วันแรก เมื่อพวกเราเป็นอิสระชน กลับถึงเคหสถานแล้ว ก็ถูกรับขวัญจากบิดามารดาและญาติมิตร บุตรภรรยา ด้วยหยาดน้ำตาอันบริสุทธิ์ทั้งสองฝ่ายกันโดยมาก แล้วก็มีการประพรมน้ำพระพุทธมนต์ที่ทางบ้านได้ตระเตรียมล่วงหน้าไว้ ซึ่งเรียกกันว่า “น้ำมนต์เจ็ดวัด” เพื่อเป็นการรับสิ่งขวัญและสะเดาะเคราะห์สะเดาะโศก ให้นิรโรคนิรภัยอยู่เย็นเป็นสุขกันสืบต่อไป

ถัดจากนั้น ก็ต่างคนต่างหาโอกาสออกเยี่ยมผู้มีพระคุณทั้งหลายที่เคยกรุณาไปเยี่ยมเยียนเมื่อคราวมีทุกข์ หรือส่งเสียข้าวปลาอาหารและสิ่งของต่าง ๆ แก่พวกเรา เพื่อแสดงกตเวทิตาธรรมแด่ท่าน เช่นที่เรากล่าวมาแล้วในภาค ๖ ตอนที่เข้าเฝ้าเสด็จในกรมหมื่นพงษาฯ เป็นอาทิ

พอข่าวอิสระภาพของเรากระจายไป ก็มีมิตรสหายชาวเกลอ ซึ่งส่วนมากมักเป็นเพื่อนนักปฏิวัติที่รอการลงอาญา และที่คดีไม่พาดพิงถึง รวมทั้งฝ่ายทหารพลเรือนและพ่อค้าได้มาเยี่ยมเยียนแสดงความปิติยินดีกับพวกเราจนถึงบ้าน กระทำให้มิตรภาพเดิมก่อตัวขึ้นอย่างพอใจ ในที่สุด เขาก็ถือโอกาสเชื้อเชิญพวกเราไปเลี้ยงอาหารตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งไทยและเทศ เป็นเหตุให้พวกเรามีหูตาสว่างขึ้นในเรื่องราวของโลกภายนอก หลังจากนั้นพวกเราบางคนก็ได้อุปสมบทในพระบวรพุทธศาสนา เพื่อสนองพระเดชพระคุณท่านบุพการี ตามประเพณีและเพื่อจะล้างมลทินทางจิตใจให้สะอาดสะอ้านกันเสียที เท่าที่จำได้ก็มีหมอเหล็ง ศรีจันทร์ หัวหน้าคณะ เหรียญ ศรีจันทร์ ผู้ต้นคิดปฏิวัติ และ ปลั่ง ปูรณโชติ นักต่อสู้ที่กล้าแข็งเที่ยงธรรม ได้เข้าครองกาสาวพัตรพร้อม ๆ กัน ณ สำนักสมเด็จพระสังฆราช ติสฺสเทโว (แพ อริยวงศาคตญาน หรือที่ชนสามัญออกพระนามว่า สมเด็จพระวันรัต แพ) วัดสุทัศน์เทพวราราม เมื่อได้ร่ำเรียนทางธรรมพอเป็นนิสัยแล้ว จึงได้ลาอุปสมบทออกมาประกอบอาชีพ

พฤติการณ์ข้างบนนั้น เราถือเสมือนหนึ่งเป็นรางวัลแก่พวกเรา ในโอกาสที่ได้พ้นจากการทนทุกข์ทรมานเพื่อชาติ และกระทำให้เกิดมานะอดทนต่อกิจการครองชีพในอนาคตอีกด้วย

เมื่อพวกเราได้พักผ่อนหย่อนใจจนเป็นที่สำราญกันพอควรแล้ว ต่างคนก็ต่างติดจับงานอาชีพตามวิชาการที่ตนถนัดมาแต่เดิมบ้าง ที่ศึกษามาระหว่างที่อยู่ใน “วัง” บ้าง หรือบางคนก็กระทำตามที่บุพชนและครอบครัวประกอบไว้ให้แล้วบ้าง ก่อนอื่น พวกเราได้ขนสรรพหนังสือตำรับตำราออกมาจากเรือนจำ โดยทางเจ้าพนักงานบางคนที่พวกเราพึ่งพาได้ และแจกจ่ายกันไปตามความประสงค์เพื่อความเหมาะสมแก่การอาชีพของตน ๆ ซึ่งส่วนมากมักถนัดทางอาชีพหนังสือพิมพ์ นอกจากพวกเราจะได้เป็นนักเขียนบทความและประพันธ์นวนิยายลงพิมพ์แล้ว ยังถนัดทางเขียนตำรับตำราออกจำหน่ายอีกด้วย หมอเหล็งได้เขียนตำรา อนุบาลทารก และครรภ์รักษา ฯลฯ อุทัย เขียนตำราลับสมอง จรูญ ณ บางช้าง ทำพจนานุกรมอังกฤษเป็นไทย แต่มิได้พิมพ์จำหน่ายเอง ได้ขายกรรมสิทธิ์ให้แก่นายทุนไป

ในที่นี้ ควรจะออกชื่อผู้ที่ทำงานหนังสือพิมพ์ไว้ด้วย เพราะเป็นตัวละครอยู่ในฉากเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ซึ่งท่านเชษฐบุรุษเจ้าคุณพหล ฯ เป็นประมุขดังกล่าวแล้วในภาคอารัมภะ ในขณะนั้นพวกเราได้ทำงานหนังสือพิมพ์หลายคณะด้วยกัน อุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา ถึงกับมีหุ้นส่วนอยู่ด้วยกับบริษัทหนังสือพิมพ์บางกอกการเมือง และช่วยเขียนบทความด้วยในบางครั้งบางคราว นอกนั้นก็มี ทองดำ คล้ายโอภาส อยู่ประจำ มี จือ ควกุลอยู่หลังฉาก เพราะจือได้ทำงานประจำอยู่กับห้างขายยาศรีจันทร์ของหมอเหล็ง ส่วน บ๋วย บุญย์รัตพันธุ์, ถัด รัตนพันธุ์, สอน วงษ์โต, โกย วรรณกุล และเนตร พูนวิวัฒน์ ได้ทำงานในคณะศรีกรุงและสยามราษฎร์ ซึ่งอยู่ร่วมกันในโรงพิมพ์ศรีกรุง นอกจากพวกที่มีหน้าที่ประจำอยู่กับคณะหนังสือพิมพ์แล้ว พวกเราบางคนแม้จะมีงานอาชีพอย่างอื่นอยู่ ก็ยังได้ช่วยเขียนให้ก็มี และที่เขียนเป็นอาชีพก็มี แต่ในระหว่างนั้นพวกเราเองยังไม่สามารถจะเป็นตัวบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ได้ เพราะรัฐบาลไม่อนุญาตให้สำหรับผู้ที่มีชนักติดหลัง คงต้องทำงานส่วนตัวของตัวเอง กับรับจ้างทำงานที่ไมใช่หน่วยราชการ เช่นหนังสือพิมพ์เป็นอาทิ แต่ก็นับว่าเป็นส่วนดีแก่ชาติไทยอยู่เหมือนกัน ที่ต่อมาได้เปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยจากการมีส่วนของพวกเราในคณะหนังสือพิมพ์ร่วมอยู่ด้วย ซึ่งจะได้บรรยายต่อไป

ผู้ที่เคยก่อการเป็นนักหนังสือพิมพ์แท้ มักตระหนักชัดแจ้งว่า ตนได้เป็นส่วนสำคัญของชาติหน่วยหนึ่ง ดังที่เรียกกันในสมัยนี้ว่าฐานันดรศักดิ์ที่ ๔ แห่งชาติ งานหนังสือพิมพ์เป็นงานที่กว้างขวางในทุกแขนงของวิชาการและประเภทบุคคล เป็นงานที่สนุกสนานคล้ายกีฬา และทำให้เป็นตัวของตัวเองมากที่สุด ฉะนั้น พอเลิกงานแล้วมักจะออกเที่ยวคบค้าสมาคมตามสโมสรและแหล่งชุมชนต่าง ๆ เพื่อสังสรรกลั่นกรองความคิดความเห็น และข่าวสารการเมืองเป็นการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ยิ่งสมัยนี้เป็นสมัยแห่งภาพเป็นข่าวด้วยแล้วก็ยิ่งเพิ่มความขมักเขม้นขึ้นอีก การไปพบเห็นหรือได้ยินได้ฟังอะไรต่ออะไรของนักหนังสือพิมพ์นั้น ย่อมต้องนับว่าเป็นสิ่งที่เข้าอยู่ในสรรพประโยชน์ของหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์เสมอไม่มากก็น้อย ระหว่างที่พวกเราคณะหนังสือพิมพ์วนเวียนอยู่ในสโมสรหลายแห่งนั้น ครั้งหนึ่งมีเพื่อนหนังสือพิมพ์เล่าให้ฟังว่า พ.อ. พระยากำแพงราม (ยุทธ คงอยู่) คือ หลวงสินาดโยธารักษ์เดิม ได้เคยรำพึงแก่คนบางคนว่า เขาไม่อยากพบปะพวก ร.ศ. ๑๓๐ เลย เพราะเกรงอันตรายจากการที่เขาได้กระทำไว้เมื่อครั้ง ๑๓ ปีมาแล้ว (เวลานั้นต้น พ.ศ. ๒๔๖๘) ถ้าเขาพบปะโดยบังเอิญก็จะต้องพยายามหลีกเลี่ยงจนสุดกำลังทีเดียว พวกเราก็ตอบว่าอยากพบอยู่เหมือนกัน เพื่อจะได้แสดงอโหสิกรรมต่อกันเสีย ค่าที่เคยทราบว่าทั้ง ๆ พระยากำแพงรามจะได้หักหลังพวกเรา อันนับว่าเป็นความชอบส่วนหนึ่งนั้น องค์พระประมุขของชาติก็ไม่สู้จะไว้วางพระราชหฤทัยนัก พระองค์นักปราชญ์เอก ทรงเห็นว่าผู้ที่ฆ่าเพื่อนร่วมสาบาลด้วยกันได้ลงคอแล้ว เขาจะซื่อสัตย์สุจริตต่อตัวของเขาเองหรือต่อผู้อื่นได้ยากมาก พระยานนทเสนสุเรนทรภักดี (แม็ก เศียรเสวี) เมื่อยังดำรงยศศักดิ์อยู่ในพระราชสำนักเป็นที่โปรดปราน ได้เคยเล่าให้พวกเราฟังขณะที่อยู่พร้อมหน้ากันกับพระนรเศรษฐเสวี (หลุย จุลกะ) และข้าราชสำนักผู้ใหญ่อีกหลายท่านว่า มีผู้ทูลขอพระราชทานยศนายพลให้พระยากำแพงราม แต่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทางฝ่ายทหารพร้อมด้วยพระยานนทเสน ฯ ได้กราบทูลคัดค้านว่ายศนายพลนั้นเป็นเกียรติยศชั้นสูงของฝ่ายทหาร การที่จะทรงพระราชทานแก่พระยากำแพงรามนั้น ไม่เป็นการสมควร จะทำให้ฝ่ายทหารเห็นว่ายศนายพลเป็นเกียรติยศที่ไม่มีความหมายแต่อย่างใด องค์พระประมุขทรงเห็นด้วยตามข้อคัดค้าน จึงทรงระงับเสีย พวกเราก็เลยปลงใจตกว่า คนเยี่ยงนั้นควรแก่การถูกกำบังด้วยฉากแห่งการอโหสิกรรมเสีย เพื่อจะได้ห่างเหินจากใจอาฆาตใด ๆ สิ้น

แต่ไม่ช้าก็พบกันเข้าโดยพันเอิญจริงๆ คือวันหนึ่ง บ๋วย กับ ถัด หลังจากเลิกงานหนังสือพิมพ์แล้วราวเวลา ๑๗ น.เศษ ขณะที่กำลังนั่งหย่อนอารมณ์อันคร่ำเคร่งอยู่ในร้านบิลเลียดชื่อ ‘กีตง’ หัวมุมสี่กั๊กเสาชิงช้าตอนหน้าร้าน มิได้เข้าไปในห้องบิลเลียดซึ่งอยู่ตอนหลังร้าน ครั้นเวลาจวนย่ำค่ำซึ่งในร้านได้เปิดไฟฟ้าแล้ว ได้มีคน ๆ หนึ่งในเครื่องแบบทหาร เปิดบานตาประตูห้องบิลเลียดโผล่ออกมาทางหน้าร้าน พอมองเห็น บ๋วย กับ ถัด ก็ทำท่าจะหลบ แต่ทันใดนั้น บ๋วย ก็แลไปเห็นพอดี จึงลุกขึ้นทักและเชิญให้มาร่วมโต๊ะสุราอาหารด้วย พระยากำแพงรามแสดงอาการสั่นเทิ้ม สีหน้าซีดเซียวอย่างหมดศักดิ์ศรีของนักรบลงทันที ถัด คนตรงและจริง พอได้ยินชื่อก็ลุกขึ้นจะตรงเข้าไป แต่มิทันจะได้แสดงวิสาสะอะไร พระยากำแพงรามก็รีบเข้าไปหาที่โต๊ะเสียก่อน บ๋วย จึงกล่าวว่า “พวกผมทราบมานานแล้วว่า เจ้าคุณไม่อยากพบปะพวกผม เพราะเกรงว่าพวกผมจะยังอาฆาตอยู่ แต่พวกผมเป็นลูกผู้ชายพอ อะไรที่มันแล้วไปก็ให้แล้วกันไปตามหลักพุทธศาสนา ทั้งพวกเราก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณมาเป็นลำดับ ควรหรือจะทำอะไรแก่เจ้าคุณผู้ที่ได้รับยศถาบรรดาศักดิ์และการชุบเลี้ยงของพระองค์” แล้วบ๋วย กับ ถัด ก็ตรงเข้าจับมือเขย่าเยี่ยงผู้ให้อภัยต่อกันด้วยดวงจิตอันบริสุทธิ์ ถัด เลยพูดอะไรไม่ออก หรือจะทำอะไรก็ไม่ได้ แม้หากจะได้มีอะไรอยู่ในความเป็นคนจริงและคนตรงก็ตาม ซึ่งถัดไม่ยอมแสดงความในใจขณะนั้นแก่ใครอีกเลย

ต่อแต่นั้นมา บ๋วย และ ถัด ก็พยายามพบพวกเราเพื่อสาธยายเรื่องราวให้พวกเราฟัง จะได้รับรู้เรื่องอโหสิกรรมกันไว้โดยทั่วหน้า ครั้นแล้วการพบปะระหว่างเรากับพระยากำแพงรามก็ไม่สู้จะมีบ่อยนัก เห็นจะเป็นด้วยฝ่ายเขายังไม่แน่ใจเต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ก็อาจจะเป็นได้ แต่ฝ่ายเรานั้นเต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ที่จะไม่แยแสต่อ “ผู้ที่ได้เคยหักหลังเรา” อีกต่อไป นอกจากเรื่องราวของเขาซึ่งยังน่าจะรู้ไว้เพื่อเป็นอุทาหรณ์แห่งชีวิตแก่อนุชนอีกบ้าง ดีกว่านิทานภาษิตเป็นไหน ๆ

ก่อนอื่นต้องขอกล่าวถึงงานปฏิวัติ ๒๔๗๕ เสียก่อน เรื่องอุทาหรณ์ของ “ผู้หักหลัง” จึงจะตามมา เราเข้าใจว่าวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้นคงจะยังมีผู้้ระลึกกันได้ว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง คือ วันเปิดสะพานพระพุทธยอดฟ้า อันเนื่องแต่พระบรมราชวงศ์จักรี ปกครองประเทศมาได้ครบ ๑๕๐ ปีพอดี ก่อนงานวันนั้นมีข่าวลือกันว่า จะมีการปฏิวัติเปลี่ยนการปกครองในโอกาสเดียวกันกับวันพระราชพิธีเปิดสะพานปฐมบรมราชานุสรณ์นั้นด้วย ซึ่งขณะนั้นข่าวปฏิวัติออกจะเซ็งแซ่ไปทั่วราชอาณาจักร เพราะมีหนังสือพิมพ์ของรัฐบาลบางฉบับ เช่น หนังสือพิมพ์ไทยเป็นต้น ได้ก่อกรรมทำชนวนให้ลุกลามไปในทางแยกพรรคแยกพวกเป็นฝักเป็นฝ่ายขึ้น เมื่อพิมพ์ไทยถูกโจมตีทีไรก็เท่ากับรัฐบาลของพระเจ้าอยู่หัวถูกโจมตีด้วย และบางครั้งก็ร้อนอาสน์ถึงองค์พระประมุข ซึ่งเวลานั้นพระมงกุฎเกล้า ฯ รัชกาลที่ ๖ ได้เสด็จสวรรคตแล้ว สมเด็จพระปกเกล้าฯ เสด็จขึ้นครองราชแทนเป็นรัชกาลที่ ๗ พวกเราในโรงพิมพ์ศรีกรุงซึ่งมีสมองปฏิวัติอยู่แล้วแต่เดิม เมื่อเห็นเขาเต้นเขารำก็อดไม่ได้ มิหนำซ้ำบางคนได้ตกปากตกคำกับสายสื่อของคณะ พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นทางลับไว้ด้วยว่า จะขออนุญาตเจ้าของโรงพิมพ์ใช้หนังสือพิมพ์ศรีกรุงเป็นปากเสียง (organ) ของคณะ ๒๔๗๕ ก็เผอิญนาย มานิต วสุวัต ท่านเจ้าของโรงพิมพ์ศรีกรุง ซึ่งมีนิสัยใจคอใคร่เห็นความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติให้ทันยุคทันสมัยอยู่แล้ว ได้อนุญาตอย่างลูกผู้ชาย นับแต่นั้นมา ศรีกรุงก็เริ่มโจมตีรัฐบาลและราชบัลลังก์ แต่ในมิช้าก็ได้ถูกปิดโรงพิมพ์ฐานจะยุยงส่งเสริมให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องโดยไม่มีกำหนด ครั้นปิดได้ ๒ วัน เมื่อเจ้าของโรงพิมพ์และพวกเราช่วยกันวิ่งเต้นจึงเปิดได้ดังเดิม พอใกล้จะเปิดสะพานพระพุทธยอดฟ้าฯ พวกเราก็ถูกสะกดรอยจากพวกตำรวจสันติบาลอย่างเข้มงวด แต่เวลากาลแห่งระบอบประชาธิปไตยของโลกมันถึงคราวรุนแรง และแก่งอมเต็มที่ พอถึงวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาเช้าตรู่ก่อนสว่าง คณะปฏิวัติ ๒๔๗๕ ก็อุบัติขึ้น และได้ประกอบกิจกรรมเพื่อชาติก้าวหน้าสมสมัย ณ พระลานบรมรูปทรงม้า ราชานุสาวรีย์แห่งพระปิยมหาราช เป็นที่เรียบร้อยอย่างเกินคาด แล้วยึดพระที่นั่งอนันตสมาคมเป็นกองบัญชาการคณะปฏิวัติ ครั้นเวลา ๑๓ น.เศษ ก็ได้เชิญพวกเราคณะปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐ เข้าไปพบเพื่อสังสรรกัน ดั่งที่เราได้กล่าวไว้แล้วในภาคอารัมภะ

ในเช้าตรู่วันที่ ๒๔ มิ.ย. ๒๔๗๕ นั้น ด้วยความเคารพอย่างสูงต่อท่านเชษฐบุรุษพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะ ๒๔๗๕ ท่านได้เล่าอย่างฐานกันเองว่า ความรู้สึกนึกคิดอย่างหนึ่งในส่วนตัวท่านได้พลันบังเกิดขึ้น ซึ่งเกือบจะกระทำให้คณะของท่านพลอยเสียความนิยมไปด้วย ความรู้สึกอันนั้นคือ ขณะที่ท่านได้นำกองทหารทุกเหล่ามาจากสะพานแดง มีพันเอก พระยากำแพงราม (ยุทธ หรือ แต้ม คงอยู่) “ผู้หักหลัง” คณะ ร.ศ. ๑๓๐ ได้ถูกนำตัวร่วมมาด้วย ครั้นขบวนทหารถึงสี่แยกเกียกกายพอดี ซึ่งมีฐานวงกลมตรงสี่แยกเพื่อเป็นสัญญาณเลี้ยวรถ ด้วยหัวใจอันเร้าแรงในขณะชั่วแล่นของเหล่านักรบ ที่กำลังจะมุ่งไปทำงานเพื่อเสี่ยงต่อความเป็นความตาย ท่านหัวหน้าคณะปฏิวัติได้ออกคำสั่งให้กองทหารทุกเหล่าหยุดลง ณ ที่นั้น ตั้งใจจะทำพิธียิงเป้าพันเอก พระยากำแพงราม ผู้หักหลังเพื่อนร่วมตายคณะ ร.ศ. ๑๓๐ เพื่อเซ่นธงชัยเฉลิมพลเป็นการเตือนใจเพื่อนร่วมตายทุกคนในคณะของท่าน แต่โชคดี พ.อ. พระยาทรงสุรเดช รองหัวหน้าคณะได้ขอร้องให้ยับยั้งไว้ โดยยกเหตุผลว่า จักกระทำให้บุคคลส่วนใหญ่คิดเห็นไปว่า กิจกรรมของคณะ ๒๔๗๕ กลายเป็นทำเพื่อแก้แค้นแทนคณะ ร.ศ. ๑๓๐ ไป หาได้เป็นกิจกรรมปฏิวัติเพื่อประเทศชาติไม่ เพียงเท่านั้น ท่านเจ้าคุณพหล ฯ ก็กลับใจทันทีโดยเห็นพ้องด้วย เลยงดอารมณ์อันรุนแรงนั้นเสีย มุ่งหน้านำคณะและกองทหารปฏิวัติไปดำเนินการยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน จนเป็นผลสัมฤทธิ์ดั่งมโนรถด้วยดีในวันนั้นเอง

ในวาระต่อมา พระยากำแพงรามได้หลบหน้าหายไปจากราชการ ซึ่งคงจะมีความในใจผุดขึ้นในสันดานเยี่ยงเคย แล้วได้ทราบในภายหลังว่า ได้แอบไปซุ่มอยู่ทางภาคอิสาน พอ พ.ศ. ๒๔๗๖ ในเดือนตุลาคม พระองค์เจ้าบวรเดช คุมกำลังทหารยกลงมาจากภาคอิสาน ในความสนับสนุนของบุคคลสำคัญ ๆ เพื่อล้มการปกครองระบอบประชาธิปไตย ถึงกับรบราฆ่าฟันกันล้มตายเสียหายเป็นอันมาก ตามที่ท่านทั้งหลายได้เคยทราบกันอยู่แล้ว และก็ในขบวนที่จะล้มรัฐบาลของประชาชนโดยประชาชนเพื่อประชาชนนั่นเอง ได้มีพระยากำแพงรามร่วมมือร่วมใจอยู่ด้วยผู้หนึ่ง ครั้นเมื่อพระองค์เจ้าบวรเดชพ่ายแพ้ราบแล้ว พระยากำแพงรามก็ถูกจับและถูกส่งตัวไปฝากขังไว้ในเรือนจำบางขวาง จังหวัดนนทบุรี พร้อมด้วยสมัครพรรคพวก เพื่อรอการสอบสวนไต่สวนต่อไป

ครั้นถึงวันอาทิตย์ที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๖ นั้นเอง รัฐบาลก็ได้จัดการฌาปนกิจศพทหารผู้ประสบภัยวายชีพ ในการสู้รบได้ชำชนะต่อพระองค์เจ้าบวรเดช ผู้คิดจะล้มรัฐบาลของประชาชน เพื่อพิทักษ์ไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญของชาติ ณ เมรุท้องสนามหลวง ทางกระทรวงกลาโหมได้เชิญคณะ ร.ศ. ๑๓๐ ทุกคนไปร่วมเป็นเจ้าภาพกับรัฐบาล เพื่อเป็นการแสดงความรักความอาลัยแด่เพื่อนทหาร ซึ่งพวกเราก็ได้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมในงานศพนั้นด้วย นับแต่วันแรกที่รัฐบาลได้เตรียมการปราบ โดยขอให้พวกเราเป็นหน่วยกำลังคุมเหตุการณ์ซึ่งอาจจะเกิดวุ่นวายขึ้นภายในพระนคร ในเมื่อพวกเราได้เข้าไปขออาสาทำงานร่วมด้วย ณ กองบัญชาการในวังปารุสกวัน

ณ เช้าวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ศกนั้น เมื่อพวกเราในเครื่องแบบทหาร ได้ไปพร้อมกันที่ปรำสงฆ์ในท้องสนามหลวงแล้ว ท่านเชษฐบุรุษ พระยาพหล ฯ นายกรัฐมนตรี ได้เชิญพวกเราไปพบและแจ้งว่า “เมื่อเวลาย่ำรุ่งเศษวันนี้ เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ได้รายงานมาว่า พ.อ. พระยากำแพงราม (ยุทธ หรือ แต้ม คงอยู่) ได้ผูกคอตายเสียแล้วที่ในห้องส้วม เรือนจำบางขวาง ขอให้พวกเรา (หมายถึงคณะปฏิวัติทั้งสอง) เข้ามาร่วมกันถวายของไทยทานแด่สงฆ์ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่พระยากำแพงรามพร้อม ๆ กันด้วย พวกเราคณะ ๑๓๐ ก็ได้เข้าไปถวายของพระตามบัญชาของหัวหน้ารัฐบาลด้วยน้ำใจอันเต็มไปด้วยอโหสิกรรมบริสุทธิ์

เป็นอันว่าชีวิตของ “ผู้หักหลัง” ได้สิ้นสุดลงด้วยพฤติการณ์ที่น่าเอน็ดอนาถใจเสียเหลือเกิน และพวกเราพร้อมด้วยหัวหน้าคณะ ๒๔๗๕ ซึ่งขณะที่ได้ดำรงตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลรัฐธรรมนูญอยู่นั้น ก็ได้ทำบุญสุนทร์ทานแผ่ส่วนกุศลไปให้ “ผู้หักหลัง” เพื่อขอแสดงอโหสิกรรมต่อกันเป็นวาระสุดท้ายโดยสมบูรณ์แล้วแต่วันนั้น

แต่ในกรณี ความตาย นี้ เราถือว่าเป็น นิจจัง ได้ ตั้งแต่โลกนี้อุบัติมานับด้วยเวลาพัน-พันล้านปี เพราะยังไม่เคยปรากฏว่าความไม่ตายได้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของมนุษย์และเดรัจฉานที่เกิดมาในโลกนี้เลย เว้นแต่ว่าจะตายเมื่อไร ด้วยสาเหตุอันใดเท่านั้นเองที่ยังเป็น อนิจจัง อยู่ ฉะนั้น “ผู้หักหลัง” กับ “ผู้ถูกหักหลัง” ก็จะต้องได้เป็นเจ้าของแห่งความตายไปด้วยกันเป็นอย่างแน่นอน หามีผู้ใดจักอยู่ค้ำฟ้าได้เลยแม้แต่สักคนเดียวไม่ นี่แหละคือคุณธรรมแห่งอโหสิกรรมต่อกันในมวลมนุษย์ชาติละ!

เนื่องจากความสำเร็จแห่งการปฏิวัติ พ.ศ. ๒๔๗๕ และคณะ ร.ศ. ๑๓๐ ก็ได้ถูกเชิญเข้าไปพบปะสังสรรกันในพระที่นั่งอนันตสมาคม ดังปรากฏมาแล้วในภาคอารัมภะนั้น พวกเราบางคนมีจรูญ ณ บางช้าง ได้ถูกขอร้องให้ช่วยงานของคณะปฏิวัติอยู่ในพระที่นั่งอนันตสมาคม จนกระทั่งได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๔๗๕ ซึ่งจรูญก็ได้ร่วมคณะรัฐธรรมนูญฉบับนั้น ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายด้วย และก็ในวันที่ ๒๘ นั่นเอง สภาผู้แทนราษฎรได้เปิดประชุมรัฐสภาประกอบด้วยสมาชิกสมัยที่ ๑ มีจำนวน ๗๐ คน ซึ่งนายมานิต วสุวัต เจ้าของหนังสือพิมพ์ศรีกรุงหน่วยเสียงหรือออร์แกนของคณะปฏิวัติ นายเนตร พูนวิวัฒน์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ศรีกรุง และนายจรูญ ณ บางช้าง ผู้มีส่วนร่วมงานมาแต่ต้นและตอนหลัง ทั้ง ๓ คนก็ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ ๑ นั้นด้วย และหลังจากนั้น พวกเราก็มีสิทธิเท่าประชาชนคนไทย ชนักหลุดจากหลังไปเอง ต่างได้รับสิทธิจากทางราชการทุกอย่าง ขออนุญาตเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ได้สะดวก เนตร ได้เป็นบรรณาธิการศรีกรุง บ๋วย, สอน, ถัด ก็ได้เป็นบรรณาธิการสยามราษฎร์ และศรีกรุงถัด ๆ กันต่อมาตามลำดับ ครั้นเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับถาวรประกาศออกใช้แล้วเมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ พระราชบัญญัติล้างมลทินโทษคณะ ร.ศ. ๑๓๐ ก็อุบัติตามมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ พร้อมด้วยการคืนยศบรรดาศักดิ์ให้ตามเดิม และในนามของคณะปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐ ร.ต.เนตรได้กล่าวอภิปรายต้อนรับการที่ได้ล้างมลทินโทษ และการได้ยศบรรดาศักดิ์คืน พร้อมด้วยความขอบคุณคณะ ๒๔๗๕ ไว้ในที่ประชุมสภาในวันที่ลงมติให้ใช้กฎหมายฉบับนั้น ด้วยความชื่นชมโสมนัสอย่างล้นพ้น ดังมีปรากฏอยู่ในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยนั้นโดยครบถ้วนแล้ว

ต่อมา เมื่อถึงสมัยการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรประเภทที่ ๑ พวกเราก็ได้สมัครเข้ารับเลือกตั้งหลายคน แต่ได้รับเลือกเพียง ๓ คนเท่านั้นคือ ร.ท. ทองดำ คล้ายโอภาส ผู้แทนราษฎรจังหวัดปราจีนบุรี ร.ต. ถัด รัตนพันธุ์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดพัทลุง และ ร.ต. สอน วงษ์โต ผู้แทนราษฎรจังหวัดชัยนาท ครั้นถึงคราวเลือกสมาชิกสภา ฯ ไปดูกิจการงานเพื่อเปิดหูเปิดตาในประเทศต่าง ๆ ทางตะวันออก ร.ท. ทองดำ ร.ต. ถัด และ ร.ต. เนตร ก็ได้รับเลือกด้วย เมื่อกลับมาแล้ว ร.ต. เนตร ได้รับตำแหน่งข้าราชการการเมืองเป็นเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยใน พ.ศ. ๒๔๗๘ ซึ่งเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานเรือนจำกองมหันตโทษ ที่ ร.ต. เนตรเคยอยู่มาแล้ว ๑๒ ปีเศษนั้น ได้รับความพึ่งพาอาศัยจาก ร.ต. เนตร ในการโยกย้ายหน้าที่หรือมีความเดือดร้อนเกิดขึ้น จึงทำให้ประจักษ์ชัดว่า หัวโขน คือของกลางแท้ ๆ อาจสวมศีร์ษะใครก็ได้ เมื่อถูกอุปโหลกให้เป็นตัวโขนนั้น ๆ แล้วก็เต้นโลดกันไปจนกว่าจะสิ้นสุดวาระลง ยังมีพวกเราอีกหลายคนที่ได้รับตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือ หัวโขน เช่น ร.ท. ทองดำ ได้เข้ารับราชการทหารจนได้เลื่อนยศเป็นร้อยเอก ร.ต. สอน ได้รับราชการกรมตำรวจ จนได้รับยศเป็นร้อยตำรวจเอก ร.ต. โกย ได้รับราชการทหารจนได้เลื่อนยศเป็นร้อยเอก ร.ต. เจือ ร.ต. บุญ และ ร.ต. ศิริ ได้เข้ารับราชการเป็นพัศดีเรือนจำทั้ง ๓ คน ร.ต. ถัด ได้เป็นผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย อยู่กับ ร.ต.เนตร ในสมัยที่เป็นผู้แทนราษฎรคราวแรก พอหมดสมาชิกภาพก็เข้ารับราชการกรมตำรวจ ครั้นถึงคราวเลือกผู้แทนราษฎรอีก ร.ต. ถ้ดก็ได้รับเลือกอีก จึงมิได้เลื่อนยศจากราชการประจำเหมือนเพื่อน ๆ บางคน

เรากล่าวได้เต็มปากเต็มคำว่า ชาวคณะ ร.ศ. ๑๓๐ นี้ น่าจะเป็นตัวอย่างแห่ง โชคชตาคราวขึ้นลง ได้เป็นอย่างดี หรือเป็นตัวอย่าง เช่น “หัวโขน” ก็ได้ดุจกัน

ท่านที่เคารพ ถ้าท่านได้อ่านเรื่องนี้มาแต่ต้น ก็จะพบว่าพวกเราทุกคนเป็นข้าราชการอยู่ครั้งหนึ่ง แล้วถูกถอดออกจากยศตำแหน่งลงเป็นนักโทษ ในระหว่างต้องโทษก็ประสบความเจริญและความเสื่อมอยู่จนตลอดเวลา ในที่สุดก็ได้พ้นโทษออกมาเป็นอิสระชน คล้ายกับเริ่มต้นชีวิตกันใหม่ แล้วก็ได้สวมหัวโขนกันอีกดังกล่าวข้างบน แต่ยังมีตัวอย่างอีกคือ สมัยเมื่อ ร.ต. บ๋วย เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ ขณะนั้นจอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ใน พ.ศ. ๒๔๘๐ บ๋วยต้องคำพิพากษาฐานหมิ่นประมาทพระราชวงศ์ ให้ลงโทษจำคุก ๑ ปี โดยบ๋วยมิได้ขีดเขียนบทความหมิ่นประมาทฉบับนั้น แต่โดยหน้าที่รับผิดชอบตามกฎหมายที่ได้นำลงในหนังสือพิมพ์สยามราษฎร์โดยการอาสา (ขอปิดนามผู้เขียนและผู้ให้นำลง) บทความนั้นคือ “ครอบครัวประหลาด” นั่นเอง ขณะที่บ๋วยต้องเวรจำในลหุโทษ (กองมหันตโทษเก่า) เป็นครั้งที่ ๒ เจ้าพนักงานเรือนจำได้ให้ความกรุณาช่วยเหลือเป็นอย่างพอใจ เพราะ ร.ต.เนตรยังเป็นเลขานุการรัฐมนตรีมหาดไทยอยู่ ซึ่งต้องอาศัยภาษิตที่ว่า “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า” ต่อกัน ญาติมิตรจะขอเยี่ยมเยียนเมื่อใดก็ได้ แต่ในมิช้าทางกลาโหมก็ขอย้ายบ๋วยจากเรือนจำลหุโทษไปไว้ยังเรียนจำทหารในกลาโหม ยิ่งได้รับความสบายมากขึ้นกว่าเก่าจนกระทั่งพ้นโทษ ครั้น พ.ศ. ๒๔๙๐ เมื่อเกิดรัฐประหารแล้ว บ๋วยได้รับยศร้อยตรีตามเดิมอีกครั้งหนึ่งพร้อมกับนายทหารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารคราวนั้น นับว่า ร.ต. บ๋วย บุณย์รัตพันธุ์ หรือ “บ. กากะบาด” เป็นตัวอย่างแห่งอนิจจังได้อย่างน่าดู แต่ลงท้ายก็หนี “ความตาย” หาพ้นไม่ และไม่ได้อะไรติดอาตมาไปเลยสักชิ้นเดียว ยังคงอยู่ที่แต่ กรรม หรือการกระทำในอดีตเท่านั้น เหมือนกันหมดทุกรูปทุกนาม

มีภาวะแห่งความรู้สึกนึกคิดอย่างหนึ่ง ที่พวกเราจักสละละทิ้งเสียมิได้ เมื่อได้มีชีวิตออกมาเยี่ยมโลกโดยพระมหากรุณาธิคุณในพระมงกุฎเกล้า ฯ คือ วันอิสระภาพ พวกเราเคารพว่าเป็นวันเสมือนเกิดใหม่อีกวันหนึ่งในชีวิต ได้แก่ วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ซึ่งตรงกับวันสงบศึกแห่งสงครามโลกครั้งที่ ๑

นับแต่วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๘ ซึ่งถัดจากปีที่ได้รับอิสระภาพ (พ.ศ. ๒๔๖๗ ) มา ๑ ปี พวกเราก็ได้เริ่มเปิดฉากฉลองขึ้นเป็นปฐมฤกษ์ โดยมีการทำบุญตักบาตรตามสถานะของตน ๆ เรียกว่า ฉลองวันอิสระภาพของคณะร.ศ. ๑๓๐ แล้วก็นัดพบกันเพื่อเลี้ยงอาหารและแสดงความรื่นเริงบันเทิงใจ ด้วยวิธีต่างคนต่างหาอาหารหรือเครื่องเล่นเครื่องดนตรีและมหรสพไปแสดง เช่นภาพยนต์ เป็นต้น ส่วนสถานที่ก็สุดแต่จะตกลงกันเป็นปี ๆ ไป บางปีใช้ทางเรือจัดแบบปิ๊กนิค บางปีใช้พาหนะรถยนต์ หรือรถไฟ ไปหาสถานที่ในต่างจังหวัดใกล้ ๆ เป็นแหล่งชื่นชุมนุม มีปากน้ำ (สมุทรปราการ) บ้าง จังหวัดนนทบุรีบ้าง ตามลำคลองใหญ่ ๆ ในจังหวัดธนบุรีบ้าง บางครั้งก็ถึงมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร การชื่นชุมนุมในวันอิสระภาพนี้ มิได้จัดเฉพาะพวกเราล้วน ๆ หามิได้ ได้เชิญครอบครัวของพวกเราทุกคน รวมทั้งเพื่อนร่วมตายที่มิได้ต้องราชทัณฑ์ด้วย เท่าที่สามารถจะบอกกล่าวกันได้ แต่ในตอนเบื้องปลาย เมื่อพวกเราย่างเข้าปัจฉิมวัยกันแล้ว มิสามารถจะหอบร่างไปได้แคล่วคล่องว่องไวเหมือนเช่นเดิม ก็ได้อาศัยบริเวณบ้านหมอเหล็งที่บางซื่อเป็นสถานชื่นชุมนุม เพราะมีอาณาเขตกว้างขวางสะดวกสบาย ทั้งเป็นการได้อยู่ใกล้ชิดกับหัวหน้าคณะ ซึ่งในตอนหลังนี้ได้เป็นโรคอัมพาธ มิสามารถจะไปไหนมาไหนได้ จนกระทั่งหัวหน้าคณะของพวกเราได้เข้าสู่มวลสารเป็นสุคติตามกาลเวลาขององค์ธรรมชาติ ครั้นถึงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๐๒ ซึ่งเป็นปีที่ ๓๕ แห่งวันฉลองอิสระภาพของพวกเรา ก็ได้ย้ายมาประกอบชื่นชุมนุมกัน ณ บ้าน ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์ สี่กั๊กพระยาศรี ซึ่งเป็นน้องชายของหัวหน้าคณะและเป็นผู้ต้นคิดแห่งการปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐ กับเป็นผู้เขียนและรวบรวมบันทึก ประวัติ ปฏิวัติครั้งแรก/*263*/องไทย .. ๑๓๐ ด้วยผู้หนึ่ง ร่วมกับ ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ เลขานุการแห่งคณะปฏิวัติ และเรื่องก็ได้ถึงอวสานบริบูรณ์ ณ บัดนี้แล้ว.

ขอท่านผู้อ่านทุกท่านและชาติไทยที่รักจงสวัสดีตลอดกาล

เหรียญ กับ เนตร ผู้บันทึก

จบบริบูรณ์ ณ วันที่ ๑๑ พ.ย. ๒๕๐๒ พอดี

“รูปํ ชีรติ มจฺจานิ นามโคตฺตํ ชีรติ”

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ