ภาค ๑ นายทหารหนุ่มเริ่มคิดปฏิวัติ

กอปรด้วยหัวข้อย่อดังนี้ :-

- สาเหตุกระเทือนจิตใจข้าราชการ ทหาร พลเรือน และชาวไทยทั้งประเทศ

- การเฆี่ยนหลังนายทหารของชาติ

- การตั้งกองเสือป่าแห่งการทหาร

- ความล้าหลังของประเทศบ้านเมืองอย่างน่าสงสาร

- ผู้เริ่มคิดปฏิวัติแห่งคณะ ร.ศ. ๑๓๐

- ทัศนะเบื้องต้นของผู้เริ่มคิดปฏิวัติ

- ผู้เริ่มริปฏิวัติวางแผนการถึง ๑๐ ปี จึงจะปฏิวัติการปกครองของชาติ

- ได้เพื่อนร่วมตายในกองปืนกลเข้าร่วมคิด

- หารือเพื่อควานหาตัวผู้ใหญ่เข้าร่วมด้วย

 

ธรรมดาเพลิง จักติดลุกลามใหญ่โตขึ้นได้นั้น ก็ย่อมต้องมีเชื้อก่อขึ้นเป็นต้นเพลิงกลุ่มย่อม ๆ มาก่อนฉันใด สมองปฏิวัติประเทศชาติ ซึ่งอาจเป็นกรณีอุกฤษฎ์โทษถึงกับประหารชีวิตได้นั้น ก็ย่อมจะมีเชื้อฝังอยู่ในมันสมองของมนุษย์มาแต่กำเนิด แล้วค่อย ๆ ผุดออกมาเมื่อมีโอกาสและเหตุการณ์อำนวย หรือส่งเสริมให้รุนแรงขึ้นเป็นอันดับ จนถึงขีดแห่งการย้อมจิตใจเป็นเพชร ซึ่งบางครั้งก็ถึงกับกระทำให้เจ้าของจิตใจชนิดนั้น รู้สึกซาบซ่านด้วยความอิ่มเอิบไม่กลัวความตายนี้เป็นความรู้สึกนึกคิดหรือวิญญาณแขนงหนึ่งของชาวคณะ ร.ศ. ๑๓๐ นักปฏิวัติในครั้งแรก ฉันนั้น

ในประวัติปฏิวัตินี้ เรามิสมควรจะนำพฤติการณ์จำเพาะตัว โดยมิจำเป็นมาบรรยายไว้ด้วย เพราะมิใช่เรื่องแห่งชีวประวัติของผู้หนึ่งผู้ใด เว้นเสียแต่จักเป็นพฤติการณ์ร่วมกันหรือจำเป็นเท่านั้น แต่เพื่อประโยชน์ทางจิตวิทยาแด่ผู้อ่าน เราจะได้นำพฤติการณ์ของบางคนที่น่ารู้มาแถลงได้ในภาคปกิณกะต่อท้ายประวัติบ้างตามสมควร

ณ พ.ศ. ๒๔๕๒ (ร.ศ. ๑๒๘) ในปลายสมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระพุทธเจ้าหลวงปิยมหาราช) ได้มีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นในราชอาณาจักร เป็นเหตุการณ์ที่ยังความสะเทือนจิตใจนักเรียนนายร้อยทหารทั่วไปทั้งฝ่ายบกและเรือ ผู้ซึ่งจะออกรับราชการเป็นนายทหารของชาติไทยสืบไป นับเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างกระทันหันและสำคัญ อันอุบัติขึ้นมาอย่างมิได้คาดฝันกันเลย คือการเฆี่ยนหลังนายทหารชั้นสัญญาบัตร ทหารของชาติด้วยสาเหตุอันมิบังควร มีร้อยเอก โสม ผู้เคยช่วยชาติ โดยปราบกบฏเงี้ยวมาแล้ว เป็นหัวหน้าที่ถูกเฆี่ยนหลัง พร้อมกับนายร้อย นายดาบ และนายสิบพลทหาร รวม ๕ คน ณ กลางสนามหญ้าภายในกระทรวงกลาโหม ท่ามกลางวงล้อมของนายทหารกองทัพบก ต่อพระพักตร์สมเด็จพระยุพราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ (คือ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖) และเหล่าข้าราชบริหารในพระราชสำนักบางจำพวก บนมุขด้านหลังกระทรวงกลาโหมชั้นที่ ๒

สาเหตุแห่งการเฆี่ยนหลัง ก็ด้วยทหารพวกนั้นวิวาทกับพวกมหาดเล็กบางคนของสมเด็จพระยุพราช ซึ่งสมัยนั้นมักเรียกกันติดปาก ว่า “มหาดเล็กสมเด็จพระบรม” (คำเต็มว่า สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช) สมเด็จพระบรมฯ ประทับอยู่ที่ยังปารุสกวัน ใกล้ ๆ กับกรมทหารราบที่ ๒ เชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ เรื่องเดิมที่จะเกิดขึ้นจนถึงกับเป็นเหตุวิวาทกันนั้น ก็เพราะผู้หญิงขายหมากสมัดคนหนึ่ง แถวบริเวณสะพานมัฆวาน ฯ นั่นเองเป็นเชื้อเพลิงเสน่ห์ ทำให้พวกมหาดเหล็กและพวกทหารไปคลอเคลียพูดเกี้ยว และเย้าหยอกกันในเวลาค่ำคืนเสมอๆ ในที่สุดพวกเจ้าชู้หนุ่ม ๆ เหล่านั้นก็เกิดขัดใจกันขึ้น ครั้นวันหนึ่งต่อมา พวกมหาดเล็กอาจจะเขม่นทหารด้วยความมืดหน้า ถึงกับใช้ไม้รุมตีศีร์ษะนายดาบ ราบ ๒ ผู้หนึ่ง ซึ่งแต่งกายพลเรือนออกมาแต่ลำพังตัวคนเดียว นายดาบผู้นั้นก็กุมศีร์ษะวิ่งเข้ากรมทหาร ไปรายงานตนต่อ ร.อ. โสม ผู้บังคับกองร้อยของตนทันที ขณะนั้นพวกมหาดเล็กยังท้าทายอยู่ที่หน้ากรม เมื่อ ร.อ. โสม ผู้เคยผ่านศึกสงครามมาแล้วได้ทราบเช่นนั้น ก็ลั่นวาจาด้วยความโกรธว่า “เมื่อมีผู้อุกอาจมาข่มเหงทหารถึงหน้ากรมเช่นนี้ มันก็หนักเกินไปละ! ควรจะออกไปสั่งสอนให้หลาบจำกันได้เสียบ้าง” ว่าแล้ว ร.อ. โสม ก็วิ่งนำหน้านายร้อยตรีผู้บังคับหมวดผู้หนึ่ง พร้อมกับนายดาบผู้ถูกรุมตี ตรงไปยังหน้ากรมด้วยมือเปล่า ๆ แต่ ณ ที่นั้น บังเอิญมีกิ่งก้ามปูที่ถูกรานทิ้งไว้ตามโคนต้น ต่างก็ตรงเข้าหักได้คนละท่อน พุ่งเข้าตีโต้โดยฉับพลันทันที ฝ่ายพวกมหาดเล็กทนกำลังความว่องไวไม่ได้ และเห็นว่าจะสู้ไม่ไหวจึงวิ่งหนีร่นไปทางวังปารุสก์ ทันใดนั้น นายสิบพลทหารอีก ๒ คนเพิ่งกลับจากเป็นกองตรวจ พอดีพบเหตุการณ์เข้า จึงสมทบกับนายของตนไล่ติดตามไปด้วย รวมเป็น ๕ คน ด้วยกัน ครั้นไล่ไปถึงวังปารุสก์ พวกมหาดเล็กก็หลบเข้าประตูวังไป พวกทหารก็พากันกลับกรม หาได้รุกติดตามเข้าไปไม่

เมื่อสมเด็จพระบรมฯ ทรงทราบเหตุจากมหาดเล็ก ก็รับสั่งให้ ผ.บ.ก. กรมทหารราบที่ ๒ สอบสวนทันที ร.อ. โสม ผู้ผ่านศึกก็ออกรับสารภาพตามความสัตย์จริงทุกประการอย่างลูกผู้ชาย เลยพากันถูกขังทั้ง ๕ คน เพื่อรอคำสั่งผู้บังคับบัญชาต่อไป

ครั้นรุ่งขึ้น เมื่อความปรากฏเป็นสัตย์ดังนั้นแล้ว สมเด็จพระยุพราช ก็นำความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระชนกนารถรัชกาลที่ ๕ ขอให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนหลังทหารเหล่านั้นตามประเพณีจารีตนครบาล ในฐานทำการอุกอาจถึงหน้าประตูวังของพระรัชทายาท

เท่าที่ทราบมาว่า ชั้นแรก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ หาทรงเห็นด้วยไม่ ประกอบด้วยเจ้านายบางพระองค์ได้ทรงคัดค้านไว้ อาทิเช่น เสด็จในกรมราชบุรี นักปราชญ์กฎหมาย ได้ทรงชี้แจงว่าควรจะได้จัดการไปตามกระบิลเมือง เพราะได้ใช้ประมวลกฎหมายอาญาเยี่ยงอารยะประเทศพร้อมมูลแล้ว ไม่ควรจะนำจารีตนครบาลซึ่งยกเลิกไปแล้วกลับมาใช้อีก

แต่เมื่อสมเด็จพระยุพราชทรงยืนกรานจะให้เฆี่ยนหลัง เพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่างให้จนได้ มิเช่นนั้นพระองค์จะทรงลาออกจากตำแหน่งพระรัชทายาททันที สมเด็จพระชนกนาถทรงเห็นการไกลว่า ถ้าไม่ตามพระทัย เรื่องอาจจะไปกันใหญ่โต เพราะจะเกิดการน้อยพระทัย จึงทรงอนุมัติไปตามคำขอ

การเฆี่ยนหลังตามจารีตนครบาล ซึ่งได้เลิกใช้ทั่วประเทศมาช้านานแล้วนั้น ผู้ที่ถูกเฆี่ยนทุกคนต้องนั่งเหยียดขาเข้าขื่อคา คือเข้าเครื่องจองจำด้วยไม้มีช่องสำหรับสอดเท้าเข้าไป แล้วตอกด้วยลิ่มไม่ให้กระดุกกระดิกได้ เรียกว่า ขื่อ ส่วนคานั้นเป็นไม้ ๒ อัน เหมือนตับคีบปลาหนีบคอไว้ มัดหัวท้ายไม่ให้ศีร์ษะโคลงไปมา ผูกบั้นเอวด้วยเชือกหนังตรึงไว้กับหลักด้านหลังจนกระทั่งหลังโก่ง เพื่อให้รับหวายได้เต็มหน้า ราชมัล ๒ คน ยืนเฆี่ยนทางขวาคนหนึ่ง ทางซ้ายคนหนึ่ง ลงหวายสลับกันคนละทีจนครบ ๓๐ ที ทุกครั้งที่หวายลงหลัง เลือดกระเซ็นและอาบไปทั้งสันหลัง กระทำให้นายทหารและเสมียนพนักงานที่ล้อมวงดู ถึงกับหน้ามืดเป็นลมกันไปหลายคน ผู้ที่ยังไม่ถึงกับเป็นลมก็หลบหน้าไปเช็ดน้ำตา ต่างคนก็ต่างมองหน้ากันทำตาปริบๆ พูดไม่ออก ร.อ. โสม ผู้อยู่ตรงหน้าที่ประทับของสมเด็จพระยุพราช ก็สลบคอพับแน่นิ่งอยู่กับคา เพราะราชมัลจำเป็นต้องลงหวายอย่างหนักจนสุดฝีมือ โดยที่ ร.อ. โสม ได้แต่กัดฟันกรอด ๆ มิได้ร้องสักคำเดียว (การเฆี่ยนหลังนั้น ถ้าราชมัลคนใดลงหวายไม่ได้เลือดแม้แต่ทีเดียว ก็ถือว่าผู้นั้นยังเป็นราชมัลไม่ได้) วันนั้นเป็นวันที่กระทรวงกลาโหมเงียบสงัดเหมือนป่าช้าร้างอยู่ทั้งวัน ส่วนภายนอกกลาโหมประชาชนที่คอยสดับตรับฟังเหตุการณ์ ก็พลอยรู้สึกรันทดใจไปแทบทุกคน เป็นต้นเหตุให้ข้าราชการฝ่ายทหารพลเรือนนักเรียนกฎหมาย และประชาชน บังเกิดความเศร้าสลดใจไปตามๆ กัน และต้นเหตุอันนั้นนั่นเอง ได้ลุกลามเข้าไปในโรงเรียนนายร้อยทหารบก (นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าฯ ปัจจุบัน) กระทำให้นักเรียนทุกชั้นพากันหยุดเรียน หยุดฝึกด้วยความเหี่ยวใจ มีหลายคนที่จะออกเป็นนายทหารอยู่แล้ว ถึงกับน้ำตาไหลด้วยความเวทนาสงสาร ทั้งนี้ เนื่องจากฤทธิ์แห่งสามัคคีธรรมของเหล่านักรบที่เคยอบรมสั่งสอนกันไว้ บางคนถึงกับปล่อยอารมณ์ออกมาอย่างรุนแรง และประพฤติสิ่งที่ไม่สุภาพอย่างไม่เกรงกลัวใคร จนกระทั่งวันหนึ่ง เมื่อสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยทหารบกขณะนั้น ได้ทรงเรียกประชุมเหตุสำคัญ ให้นักเรียนนายร้อยทั้งหมดมาพร้อมเพรียงกัน และทรงอธิบายปลอบโยนด้วยความเศร้าพระทัยอยู่เกือบชั่วโมงเต็ม ดังมีข้อความตอนหนึ่งที่รับสั่งว่า “ทหารหรือเจ๊กลากรถ ย่อมมีฐานะในความเป็นพลเมืองเท่า ๆ กัน แต่พระเจ้าแผ่นดินทรงอำนาจที่จะลงโทษพลเมือง ฐานบิดากับบุตรได้เสมอ การเฆี่ยนพลเมืองก็ทรงถือว่าเป็นการสั่งสอนบุตร มิได้ทรงถือโกรธและเอาโทษตามกฎหมายแผ่นดิน ยิ่งเป็นทหารด้วยแล้วก็ทรงถือว่าเป็นครอบครัวเดียวกัน จึงได้ลงพระอาญาเฆี่ยนเพื่อการสั่งสอนเท่านั้น แล้วอาจจะทรงชุบเลี้ยงต่อไปอีกก็ได้” ด้วยข้อความอันซาบซึ้งตรึงใจนี้เอง นักเรียนนายร้อยนับจำนวนพันคน จึงคลายความตึงเครียดจนใจอ่อนลง ยอมเข้าห้องเรียนรับการสอนการฝึกเช่นเดิม แต่อารมณ์ส่วนลึก หรือจิตใต้สำนึกยังคงคุกรุ่นเหมือนไฟสุมขอนอยู่เสมอ

ส่วนน้ำพระทัยทูลกระหม่อมจักรพงษ์ต่อกรณีเฆี่ยนหลังนี้เป็นประการใด ได้มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่เคยทูลถามเหมือนกัน พระองค์ตอบว่า พระองค์ทรงทราบเรื่องเมื่อเสร็จกันไปแล้ว และในตอนท้ายได้รับสั่งอย่างขวานผ่าซากตามพระอุปนิสัยว่า “ทหารเป็นทหารของชาติ แต่มหาดเล็กมันเป็นคนใช้ส่วนตัว ถ้าเป็นฉัน ฉันจะเรียกเด็กของฉันพร้อมด้วยทหารมาสั่งสอนให้มีความสามัคคีต่อกัน อย่าได้ถือพวกถือเหล่า เพราะเป็นคนไทยด้วยกัน พูดกันเพียงเท่านี้ก็พอแล้ว”

และก็ด้วยเหตุการณ์ใน ร.ศ. ๑๒๘ นั้นเอง เลยกลายเป็นกรณีไฟลามทุ่งแห่งความรู้สึกของพวกมันสมองปฏิวัติขึ้นบ้าง ทั้งในเหล่านักเรียนทหารและพลเรือน เช่น ฝ่ายกฎหมายเป็นต้น ตลอดจนข้าราชการทหารพลเรือน และพลเมืองไทยทั่ว ๆ ไป แต่ก็ด้วยพระราชคุณธรรมแห่งรัชกาลที่ ๕ และด้วยหลักแห่งพุทธศาสนาของไทยเราย่อมบูชาการให้อภัยต่อกันนั้นยังทรงอยู่ ความรู้สึกนึกคิดอันรุนแรงจึงชักจะเลือนลางจางลงทุกทีๆ

ครั้นต่อมา เมื่อกลาง พ.ศ. ๒๔๕๓ (ร.ศ. ๑๒๙) ในตอนต้นสมัยรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระมหาธีรราชเจ้า) นายทหารรุ่นที่ออกจากโรงเรียนนายร้อยปลาย ร.ศ. ๑๒๘ เรียกว่านายทหารรุ่น ‘ร.ศ. ๑๒๙’ นั้น ได้เข้ารับราชการประจำกรมกองต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักรแล้ว มีหลายคนเกิดความรู้สึกสะเทือนใจอย่างแรงกล้าจากการตั้ง “กองเสือป่า” ขึ้น ทำนองเดียวกับความรู้สึกของนายทหารและข้าราชการโดยมากแม้แต่พลเมืองทั่ว ๆ ไป โดยต่างพากันมีความรู้สึกว่า “กองเสือป่าผู้ใหญ่” มิใช่กองลูกเสือ เป็นกิจกรรมอีกประเภทหนึ่งของประเทศ ที่ตั้งซ้ำกับการทหาร และก็ทำงานแข่งดีกันกับการทหารแห่งชาติเสียด้วย ย่อมทำให้ความมั่นคงของชาติเสื่อมสลายลงเป็นอย่างมาก ทั้งเป็นการแน่นอนที่จะต้องกระทบกระเทือนต่องบประมาณแผ่นดินอย่างมิต้องสงสัย เป็นชนวนให้เศรษฐกิจการคลังของประเทศตกอยู่ในภาวะอันน่าวิตก กับยังเป็นปัจจัยทรมานข้าราชการผู้เฒ่าผู้ชราอย่างน่าสงสาร ทั้งทำให้ราชการงานเมืองฝ่ายทหารและพลเรือนต้องอลวนสับสน ไม่เป็นอันประกอบกิจการงานกันก็มีในบางคราว และบ่อยครั้ง เป็นการเสียเวลา เสียทรัพย์ เสียงานของชาติ และส่วนตัว ทั้งนี้ก็เนื่องด้วยบุคคลบางจำพวกที่อยู่ในพระราชสำนักขณะนั้น ไม่ทราบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณแห่งเจ้านายของตนเพียงพอ ปฏิบัติประพฤติตนไปในทำนองผึ่งพองผยองตนต่อข้าราชการและพลเมืองของชาติ ที่ยังจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ของเขาอย่างแนบแน่นดวงกมลอยู่ เลยเป็นเหตุแห่งการนำมาซึ่งความเสื่อมโทรมพระเกียรติยศเกียรติคุณ จนฝังอยู่ในความรู้สึกเกลียดชังของปวงประชาชน ตลอดจนข้าราชการทหารและพลเรือน แม้หนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นเสียงแห่งความเป็นกลางก็ยังตำหนิเพื่อก่อโดยมิเกรงขาม กระทำให้ผู้มีหัวใจเป็นธรรมต้องเข้าเป็นฝักเป็นฝ่ายด้วย ยิ่งกว่านั้น ยังมีการแสดงออกจากบุคคลสำคัญแห่งชาติ ปรากฎแก่ตาของข้าราชการและนายทหารหนุ่มเป็นอันมาก อาทิ เช่น เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ พระอนุชาในรัชกาลที่ ๖ นั้นเอง ได้ทรงสำแดงพระอาการไม่เป็นที่พอพระทัยมาก จนออกนอกหน้า ถึงกับดึงดวงจิตบรรดานายทหารหนุ่มผู้เคยเป็นสานุศิษย์ของพระองค์มามากรุ่นด้วยกัน ซึ่งเขาเหล่านั้นย่อมฝากชีวิตไว้ในพระองค์ได้ พากันไม่ยอมสมัครเข้าเป็นเสือป่าก็มี แม้แต่การถูกขอร้องเชิงบังคับให้ไปฝึกและสั่งสอนพวกเสือป่า ก็พยายามหาโอกาสและเหตุผลหลีกเลี่ยงเสียจนได้ก็มาก ทั้งนี้เพราะต่างหยิ่งในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นทหารของชาติว่า ทหารไทยมีน้ำใจพร้อมที่จะเข้าป้องกันประเทศชาติ และพระบรมราชจักรีวงศ์ ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรมเป็นประมุขอยู่นั้น ให้พ้นจากราชศัตรูทั้งภายในและภายนอกได้ จนสุดกำลังความสามารถด้วยชีวิตและเลือดเนื้อ ที่ตั้งใจถวายไว้เป็นชาติพลีอยู่เสมอ ฉะนั้น ในเมื่อปุถุชนคนสามัญยังสลัดความน้อยเนื้อใจต่ำ และความรักชาติภูมิไม่ได้ฉันใด บรรดาข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือน ตลอดจนพลเมืองผู้มีมันสมองปฏิวัติ ก็ย่อมจะสลัดความรู้สึกนึกคิดเช่นนี้ไม่ได้ ฉันนั้น

อันบรรดามูลเหตุที่กล่าวมาแล้วนั้น เป็นแต่เพียงดินชนวนก้อนหนึ่งเท่านั้นเอง สาเหตุส่วนสำคัญยิ่งของความคิดปฏิวัติอยู่ที่ความรักชาติยิ่งกว่าชีวิต และมีความปรารถนาอย่างมุ่งมั่นที่จะให้ชาติของตนเข้าถึงสมัยแห่งความเจริญก้าวหน้าของโลกทุกด้าน จึงจำต้องเป็นหน้าที่ของคนไทยเท่านั้นที่จะคิดชำระสะสางความเสื่อมสลายของสังคมชาติ ผดุงความมั่งคั่งสมบูรณ์พูนสุขของปวงชนคนไทย และแก้ไขการปกครองให้เกิดแต่ตราชูสมองของผู้ที่เป็นเจ้าของชาติร่วมกัน โดยเฉพาะสิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือเรื่อง เศรษฐกิจของชาติ ซึ่งสมัยนั้นเรียกแยกกันว่า การกสิกรรม การอุตสาหกรรม และการพาณิชย์ ยังหาได้ดำเนินไปเยี่ยงอารยประเทศทั้งหลายไม่ อย่างน้อยก็เยี่ยงประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง เช่นประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งเคยเดินคู่กันมาแท้ๆกับประเทศไทย สมัยที่เปิดเมืองท่า แต่ครั้นญี่ปุ่นเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบบรมิตตาญาสิทธิราชย์หรือระบอบราชาธิปไตยใต้กฎหมายแล้ว มิช้ามินานเท่าใดนัก ความเจริญก้าวหน้าก็วิ่งเข้ามาหาประชาชาติของเขาอย่างรวดเร็ว จนเกินหน้าประเทศไทยอย่างไกลลิบ ทั้งนี้ก็เนื่องจากเขาปลูกพลเมืองของเขาให้รักชาติ ฉลาดหลักแหลม และมั่นในวัฒนธรรมอันดีงาม ด้วยโครงการศึกษาอันแน่นอนตามเงื่อนเวลาทั้งภายในและภายนอกประเทศ มาเป็นกำลังการปกครองและแก้เศรษฐกิจแห่งชาติ โดยวางโครงการขึ้นเป็นขั้นเป็นตอน พร้อมกันนั้นก็จัดระบบสหกรณ์อย่างทะมัดทะแมงจากกำลังแรงกำลังทรัพย์ของพลเมือง ส่วนกำลังเงินงบประมาณของชาติที่เคยฟุ่มเฟือย ก็รวบรวมสะสมด้วยความสุจริตเที่ยงธรรมและด้วยความประหยัดจากการเปลี่ยนระบอบประเพณีการปกครองนั้น ชั่วไม่กี่ปี ญี่ปุ่นก็มีการค้าไปทั่วโลกจากผลิตผลแห่งโรงงานอุตสาหกรรมของตนเอง มีการคมนาคมทั้งทางน้ำทางบกภายในประเทศและนอกประเทศอย่างกว้างขวาง และแผ่อิทธิพลทางการเมือง การทหาร การสังคมและวัฒนธรรมไปทั่วสากลพิภพอีกด้วย จนพวกฝรั่งที่เจริญมาก่อน ต้องจ้องมองชาติญี่ปุ่นด้วยดวงตาอันลุกโพลง !

แต่ส่วนไทยเราสิ ยังล้าหลังอย่างน่าเวทนาสงสาร ยากที่จะหยิบยกภาวะใดอันเป็นความเจริญก้าวหน้าแห่งสังคมชาติ มาเทียบเคียงให้ชื่นอกชื่นใจได้ มิหนำซ้ำยังมีเหตุการณ์ภายในบ้านเมืองค่อนข้างยุ่งเหยิง ไม่เป็นล่ำเป็นสัน ถึงกับขาดความพึงพอใจจากพลเมืองผู้เป็นเจ้าของประเทศเสียอีกด้วย เพราะอำนาจการปกครองประเทศชาติได้ตกไปอยู่ในอุ้งมือของคนๆ เดียว ผิดสุภาษิตที่ว่า “สองหัวย่อมดีกว่าหัวเดียว (Two heads are better than one)

ข้อคิดควรคำนึงถึงความล้าหลังของชาติดังกล่าวนั้นเอง ได้ปลุก นายทหารหนุ่มผู้มีมันสมองปฏิบัติให้ลุกขึ้นคิดปฏิวัติชาติไทย ตามอุดมคติของเขาที่ได้เกิดขึ้นเพราะได้พบเห็นชีวิตจริงของรัฐบาลของพลเมืองและของทหาร อันยังอยู่ในภาวะล้าหลังด้วยประการทั้งปวง

แต่วิสัยของกิจกรรมไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ จำเป็นจะต้องมีผู้เริ่มต้นหรือผู้ต้นคิด (Founder) เป็นผู้นำขึ้นก่อน จึงจะมีผู้ตาม หรือมิฉะนั้นก็มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นในหมู่ชนที่รวมกันอยู่ จนทำให้หมู่ชนนั้นจะนิ่งดูดายมิได้ ต้องลุกฮือขึ้นกระทำหรือแก้ไขสถานะการณ์พร้อม ๆ กัน

การคิดปฏิวัติครั้งแรกของไทย ร.ศ. ๑๓๐ ก็มีผู้ริเริ่มหรือต้นคิดเช่นเดียวกัน เขาผู้นั้นคือ ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์ กับ ร.ต. จรูญ ษตะเมษ จึงสมควรจะได้รำลึกถึงพฤติกรรมและความรู้สึกนึกคิดของนายทหารหนุ่มทั้งสองนั้นไว้ ณ ที่นี้ด้วย เพื่อเรื่องนี้จะได้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์ กับ ร.ต. จรูญ ษตะเมษ เป็นนายทหารสำเร็จจากโรงเรียนนายร้อยพร้อมกันในปลายปี ร.ศ. ๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๑) และเข้าประจำกรมทหารราบที่ ๑๒ มณฑลนครไชยศรี ในต้นปี ร.ศ. ๑๒๗ นายทหารรุ่นนี้ เรียกกันว่า “รุ่น ๑๒๘” ร.ต. เหรียญเวลานั้นมีอายุเพิ่งย่างเขา ๑๘ ปี เป็นคนพูดน้อย กิริยาวาจาอ่อนโยน มักเกรงใจคน ไม่ชอบขัดคอใครนัก จึงคล้ายกับเป็นคนไม่เข้มแข็ง แต่ ร.ต. จรูญ มีอายุย่างขึ้น ๒๔ ปี เป็นคนพูดจาชนิดที่เรียกว่า “ขวานผ่าซาก” ไม่เกรงใจใคร ๆ ไม่ชอบพูดมากกับใคร ถ้าใครพูดไม่ถูกหูโดยมิชอบด้วยเหตุผลแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือผู้น้อย จรูญเป็นต้องโต้แย้งอย่างไม่ไว้หน้า เพื่อนฝูงที่ไปมาหารือกิจการสำคัญใด ๆ กับเขา ถ้าเขาเห็นด้วยก็บอกว่าเห็นด้วย แล้วก็ถือเป็นสัจจะอย่างบริสุทธิ์ใจ ถ้าไม่เห็นด้วย ก็บอกว่าไม่เห็นด้วย และก็ยากที่ใครสามารถจะปลอบโยนหรืออ้อนวอนให้กลับใจได้ง่าย ๆ เรื่องใดที่เขาว่าจะเก็บไว้เป็นความลับแล้ว ก็เชื่อได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ฉะนั้น ร.ต. จรูญ กับ ร.ต. เหรียญ จึงเป็นเพื่อนที่ฝากดวงใจไว้ต่อกันได้เป็นคู่แรกของคณะ ร.ศ. ๑๓๐

ร.ต. เหรียญ กับ ร.ต. จรูญ เพิ่งจะสนิทสนมกัน ถึงกับกอดคอกันเที่ยวเตร่เป็นประจำ ในเมื่อไปประจำการอยู่กรมทหารราบที่ ๑๒ นั้นเอง โดยไปรู้จักนิสัยกันว่าต่างฝ่ายต่างมีนิสัยไม่ชอบไปเที่ยวดูผู้หญิง หรือเที่ยวเสาะแสวงหาผู้หญิงที่ต้องตาต้องใจด้วยกันทั้งคู่ นายทหารคู่นี้มีนิสัยชอบไปเที่ยวยิงนกหรือล่าสัตว์ โดยถือเอาวันหยุดราชการชวนทหารที่อยู่ในบังคับบัญชาให้นำไปยังภูมิประเทศที่เขาคุ้นเคยหรือเป็นถิ่นของเขา ทหารในกรมนี้มีทั้งทหารจังหวัดนครไชยศรีและจังหวัดสุพรรณบุรีรวมกัน เพราะจังหวัดสุพรรณบุรีก็ขึ้นอยู่ในมณฑลนครไชยศรี เมื่อยิงนกหรือยิงสัตว์ได้แล้ว ก็นำไปให้ที่บ้านญาติหรือมิตรของทหารที่อยู่ถิ่นนั้น ช่วยกันประกอบขึ้นเป็นอาหาร แล้วก็ชวนกันเข้านั่งล้อมวงรับประทานกันทั้งบ้านอย่างเป็นครอบครัวเดียวกัน โอกาสนี้ได้เปิดการสนทนาได้ถามถึงทุกข์สุขซึ่งกันและกันอย่างเปิดเผย และเป็นกันเองตลอดจนกำนันผู้ใหญ่บ้าน กับเพื่อนบ้านใกล้เคียงที่มาร่วมวงด้วย การคบหาสมาคมกับชาวบ้านตามชนบทของทหารคู่นี้ ทำให้ชาวบ้านที่ได้สมาคมสังสรรด้วยนั้น เกิดความนับถือรักใคร่โดยไม่รู้สึกเบื่อหน่าย ที่เป็นเช่นนี้ก็โดยที่ทั้งสองคนมิได้มีท่าทีเอารัดเอาเปรียบ หรือเที่ยวข้องแวะกับผู้หญิงผู้เป็นลูกหลานของชาวบ้าน ซึ่งตนได้อาศัยเป็นที่พึ่งพาพักพิงเลย แต่ก็อาจมีพวกผู้หญิงต้องตาต้องใจอยู่บ้างเป็นธรรมดา เพราะเป็นนายทหารหนุ่มที่ยังไม่มีครอบครัวด้วยกันทั้งคู่

การที่นายทหารทั้งสองเที่ยวคบหาสมาคมกับชาวบ้านตามท้องถิ่นชนบทนั้นเอง ทำให้เราได้พบเห็นสภาพของชนบทตามท้องถิ่นต่าง ๆ และบางแห่งที่ถึงกับติดต้องใจก็ทำแผนที่สังเขปมาเก็บรักษาไว้ ประโยชน์ส่วนใหญ่ที่ได้รับนั้น คือ ได้ทราบซึ้งถึงความเป็นไปในชีวิต และนิสัยใจคอของประชาชนเหล่านั้นดีขึ้น อันพอจะสรุปความคิดเห็นในทัศนะของเขาได้ดังนี้ :-

๑) ประชาชนที่อยู่ห่างไกลตัวเมือง หรือที่ว่าการจังหวัดออกไป ได้มีชีวิตอยู่ด้วยความหวาดกลัว และต้องเสี่ยงต่อภัยนานาประการ เช่น โจรภัย อมาตยภัย (ภัยจากข้าราชการหรือตำรวจที่เป็นจำพวก ‘ดาวไถ’) และแม้แต่ประชาชนที่ประกอบอาชีพอยู่ในถิ่นเดียวกัน หรือในท้องที่ใกล้เคียงกันก็มักจะเบียดเบียน ข่มเหง รบกวนกันเอง ปล้นกันเอง ขะโมยกันเอง พวกผู้ชายคะนองก็ฉุดคร่าทำอนาจารหญิงบ้านใกล้เรือนเคียงกันเอง จึงเลยเป็นการจำเป็นที่เขาเหล่านั้นจะต้องประพฤติตนเป็นอันธพาลกันแทบทุกบ้าน ถ้าบ้านใดขืนบำเพ็ญศีลธรรมอย่างเคร่งครัด ไม่ประพฤติเป็นอันธพาลตอบโต้เขาบ้าง ก็มีหวังเหลือแต่ตัวเท่านั้น มนุษย์ที่อยู่ในดินแดนภายในรัศมีของพระบวรพุทธศาสนาก็ยังเป็นได้ถึงเพียงนี้ ทหารที่ถูกเกณฑ์ไปเขาประจำการแทบทุกคน ก็ได้ทราบจากคำบอกเล่าของเขาเองว่า เสมอขั้นริซุกซนเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็เพียงเคยขะโมยควายด้วยกันแทบทั้งนั้น การที่ผู้ปกครองจะปราบอันธพาล หรือปราบโจรผู้ร้ายให้ราบคาบนั้น ในชั้นต้น จะต้องใช้หมัดเด็ดปราบอ้ายโจรอาตมะให้มันอยู่หมัดลงไปเสียก่อน แล้วโจรจำพวกสาวกของอาตมะและใครอื่นๆ รวมทั้งเหล่าพี่น้องอันธพาลทั้งหลายมันจะกำแหงอยู่ได้อย่างไร? ขอแต่อย่าได้ชงักงันในเรื่องลูบหน้าปะจมูกเท่านั้น เรื่องที่โจรจะปราบโจรด้วยกันนั้นไม่เกิดผล เท่ากับเป็นการเวียนผูกแล้วเวียนแก้กันให้เป็นการเปลืองทรัพย์ของชาติเล่นสนุก ๆ แล้วก็ของบประมาณการปราบเพิ่มขึ้น โสโครกชำระโสโครกไม่สะอาดได้ฉันใด โจรก็ปราบโจรไม่ได้จริงฉันนั้น

๒) เจ้าหน้าที่ผู้ปกครอง นับแต่ต้นตอลงมาจนถึงปลายแถว จะเอาเป็นหลักแหล่งที่พึ่งพิงอย่างจริงจังหาได้ยาก นอกจากเป็นสมัครพรรคพวกที่ได้รับประโยชน์ร่วมกัน พลเมืองของชาติถูกฆ่าตายภายในบริเวณลานวัดในเวลากลางวันแสกๆ ต่อหน้าประชาชน และพระสงฆ์องคะเจ้านับร้อยก็มักจะหาพะยานไม่ได้สักคนเดียว มักเป็นการตายเปล่า ท่านเทศาภิบาล หรือเจ้าเมืองเล่า ท่านก็นอนตีพุงกินเมืองอยู่บนจวนของท่านเสียโดยมาก

๓) โรงศาลก็มีตราชู ซึ่งเป็นสัญญลักษณ์ของศาลสถิตยุติธรรมก็เที่ยงตรงอยู่เสมอ แต่อธรรมมันหลีกเลี่ยง ไม่ไปขึ้นตราชู ให้พิสูจน์ ตราชูก็เลยให้ความเที่ยงธรรมมิได้ ด้วยเหตุนี้ประชาชนจึงต้องตัดสินกันเอาเอง อันเป็นเวรแก้ด้วยเวร หมุนเวียนกันไปไม่มีที่สิ้นสุด ประชาชนจะบรรลุถึงความร่มเย็นเป็นสุขกันได้อย่างไร ? สามัคคีธรรมจะเกิดได้อย่างไร ?

๔) ประชาชนพลเมืองของเรา ถึงแม้จะเป็นพุทธศาสนิกชนเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่ค่อยจะมีสัมมาสติไปในทางรู้เหตุผลตามพระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์ เรื่องนี้ต้องโทษการศึกษาและเมื่อประชาชนของเราขาดการศึกษา ขาดสามัคคีธรรมเป็นส่วนใหญ่ ฝักใฝ่แต่อบายมุข มีการพะนัน มีการเบียดเบียนข่มเหงรบกวนกันเองอยู่ เป็นนิสัยเช่นนี้ ถึงพลเมืองของเราจะมีมากสักเพียงใด ก็เป็นการมากแต่ปริมาณ มิได้มากด้วยคุณภาพ ก็จะเป็นเหมือนเมล็ดกรวดเมล็ดทรายที่ไม่มีเชื้ออย่างใดมาประสมประสานให้เหนียวแน่นเกาะกันเป็นปึกแผ่นได้ เราจะใช้เมล็ดกรวดเมล็ดทรายเหล่านั้น สร้างกำแพงบ้านของเราได้อย่างไร ? มีข้อคิดอย่างอื่น ๆ ที่เราพึงจะคิดได้ว่า ถ้าพลเมืองของเราส่วนมากไม่มีหลักอันใดยึดถือเป็นที่พึ่งพิง และไม่มีหวังว่าชาติจะเป็นที่พึ่งได้ ก็จะเป็นคนมีจิตใจอ่อนแอ ไม่อยู่กับร่องกับรอยเสมือนเจ้าพวงมาลัยลอยไปก็ลอยมา ทั้งพวกเพลงเขาว่า “ใครจะกรองบุบผาก็เชิญเถิดเอย” ฉะนี้แล้ว ชาติของเราก็คงเป็นชาติที่อ่อนแอ ทหารของชาติก็เป็นทหารที่อ่อนแอ ตำรวจของชาติก็เป็นตำรวจที่อ่อนแอ สมมุติเอาว่า ถ้าผู้ปกครองบ้านเมืองมีนโยบายที่จะหารายได้เข้ารัฐอย่างง่าย ๆ โดยไม่คำนึงถึงอนาคตของชาติ อนุญาตให้ตั้งโรงยาฝิ่นกันได้ทุกตำบลหนแห่ง ต่อเมื่อถึงคราวที่ชาติต้องระดมพลออกสู้ศึก ชาติก็คงจะได้ “กองทัพขี้ยาอันกล้าศึก สะพายกล้องเหิมฮึกสู่สนาม”

๕) เมื่อการปกครองอันเป็นหลักสำคัญของมนุษยชาติให้ร่วมกันอยู่เป็นหมู่เป็นเหล่ามันคลอนแคลน จะเอาเป็นที่ยึดเหนี่ยวไม่ได้เสียแล้ว กิจการใด ๆ ของชาติจะต้องพลอยเสื่อมโทรมไปตามกันทั้งนั้น เช่น การเศรษฐกิจ เป็นต้น ผู้ที่มีเจตนาอันแรงกล้าที่จะประกอบกิจการให้เป็นล่ำเป็นสันมักจะไม่มีโอกาสทำได้ เพราะท่านผู้ใหญ่ไม่สนับสนุนโดยเห็นว่าไม่ใช่พรรคพวกของท่านบ้าง ไม่กล้าไปลงทุนลงแรงในถิ่นที่มีโจรผู้ร้าย หรืออันธพาลชุกชุมโดยปราศจากการเหลียวแลของเจ้าหน้าที่ประจำท้องถิ่นบ้าง การเงินจึงได้หมุนเวียนกันอยู่แต่ภายในวงสังคมอันแคบ ๆ เท่านั้น

ด้วยเหตุผลดังกล่าวมาแล้ว ร.ต. เหรียญ กับ ร.ต. จรูญ จึงตั้งจิตมั่นปฏิญาณไว้ว่า เราจะทำเพื่อชาติ แม้จะยังไม่มีผู้ใดร่วมอุดมคติกับเรา เราจะเป็นผู้ทำก่อน แล้วจะชักชวนผู้ที่ร่วมอุดมคติกับเรา ช่วยกันทำ ทำจนถึงจุดหมายของเราคือ เปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย (Democracy) ใช้กฎหมายรัฐธรรมนูญ (Constitution) เป็นกฎหมายปกครองประเทศ ฉะนั้น เขาทั้งสองจึงวางแผนการไว้เป็น ๒ ขั้น ขั้นต้นกำหนดเวลา ๑๐ ปี ในขั้นปลายจะลงมือทำการปฏิวัติเมื่อครบ ๑๐ ปี และสมมโนรถจากวันที่ ๑ แล้วด้วย ขั้น ๑๐ ปีแรกนั้น จะไม่มีแผนการปฏิวัติเข้าพัวพันเลย เป็นแผนการเตรียมพร้อมไว้เท่านั้น กล่าวคือ จะต้องให้ต่างคนต่างปฏิบัติภายในรัศมีของกรมกองทหารทุกเหล่าทุกหน่วยที่ตนประจำอยู่ทั่วราชอาณาจักร โดยให้อบรมสั่งสอนทหารที่ถูกเกณฑ์เข้ารับราชการทุก ๆ รุ่น ภายในเวลา ๑๐ ปี ก็จะอบรมสั่งสอนทหารได้ถึง ๑๐ รุ่น และคนจำพวกนี้จะกระจายแยกย้ายกันออกไปประกอบอาชีพตามภูมิลำเนาทั่วประเทศ และเขาคงจะอบรมสั่งสอนบุตรหลานของเขาต่อไปในทำนองเดียวกัน การสั่งสอนทหารนั้นมีหัวข้อใหญ่ ๆ อยู่ คือ ให้มีมโนสำนึกมั่นอยู่ในมนุษยธรรม ประกอบกิจแบบพลเมืองดี เป็นคนเชื่อเหตุเชื่อผล ไม่เชื่องมงาย เคารพเกียรติของตนเอง นอกจากนี้ก็สอนความรู้รอบตัว ชักตัวอย่างความเจริญและกิจการของประเทศต่าง ๆ มาเล่าให้ฟัง สอนวิชาภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และตำนานต่าง ๆ ที่ควรรู้ การอบรมสั่งสอนทหารโดยวิธีนี้เราเชื่อว่า จะทำให้ทหารรู้สึกเพลิดเพลิน ไม่เป็นการทรมานให้ทหารนั่งหลับเหมือนกับเอาข้อบังคับทหารเล่มเท่าฝ่ามือมาให้ทหารนั่งท่องกันตลอดศกแต่อย่างเดียว ผู้ที่ถูกเกณฑ์มาเป็นทหารทุก ๆ ปีนั้น เป็นผู้ที่อยู่ในวัยฉกรรจ์ นับว่าเข้าขั้นบรรลุนิติภาวะแล้ว ย่อมมีสติสัมปชัญญะที่พอจะอบรมสั่งสอนได้ง่ายกว่าเด็กนักเรียน เมื่อนายทหารชั้นผู้น้อยเป็นผู้อยู่ใกล้ชิดทหาร และมีหน้าที่เป็นผู้สั่งสอนทหารเป็นประจำอยู่ด้วยแล้วก็ย่อมเป็นการสะดวกที่จะวางรากฐานขั้นแรกไว้รับแผนการในอนาคตได้ ซึ่งกำหนดไว้เป็นเวลา ๑๐ ปีนั้นเอง และในระยะนี้จะเป็นระยะกาลสำหรับพวกเรา ซึ่งจะเป็นผู้เจริญด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิ คือ อายุตำแหน่งหน้าที่การปฏิบัติงาน ความสามารถและความซื่อสัตย์สุจริตของเราเหล่านี้ จะเป็นหลักประกันความมั่นคงของชาติให้มหาชนเชื่อถือได้ ถ้าเราจะร่วมคือกันทำการในวันที่เรายังเป็นชั้นผู้น้อยอยู่ เราก็อาจจะมีลักษณะในสายตาของผู้อื่นมองเห็นประหนึ่ง เช่นทหารเลวในเรื่องงิ้วเป็นแต่ตัวโว วิ่งโห่ร้องเสียง โว! โว! ตามกันไปเท่านั้น ก็อาจจะเป็นได้

เป็นความสุจริตใจของนายทหารหนุ่มทั้งสอง ซึ่งเขามิเคยได้สั่งสอนทหารให้ร่วมใจร่วมกำลังกับเขาเพื่อคิดกบฎ มิได้สั่งสอนมนุษย์ให้มีนิสัยสันดานเป็นคนทรยศ เขาสั่งสอนให้มนุษย์มีอุดมคติ มีมโนสำนึก โน้มไปในทางสัมมาทิฏฐิ ตามกฎแห่งสัญชาติญาณของมนุษย์ผู้เจริญ ซึ่งแยกออกจากคำที่ว่า “เวไนยสัตว์” เป็น “เวไนยนิกร” นายทหารทั้งสองได้ยืนยันอย่างมั่นคงมาแต่ไหนแต่ไรแล้วว่า เขาจงรักภักดีและเทิดทูนพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งได้พระราชทานยศนายร้อยตรีและเงินเดือนให้แก่เขาอย่างสมเกียรติ สำหรับส่วนตัวเขานั้น นับว่าได้รับความร่มเย็นเป็นสุข ไม่มีเรื่องจะขุ่นเคืองพระองค์ท่านแต่อย่างใดเลย เงินเดือนก็พอใช้จ่ายอย่างสบาย ในฐานะนายทหารหนุ่ม ๆ ที่ยังไม่มีครอบครัว แต่เรื่องที่มีความปรารถนาอันแรงกล้า ที่จะให้ประเทศของเขาก้าวขึ้นเคียงบ่าเคียงไหล่กับอารยประเทศนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องแยกออกจากกันได้ในเรื่องส่วนบุคคล เปรียบเหมือนเราอยู่ในครอบครัวที่มีพ่อแม่พี่ป้าน้าอาและลูกหลาน รวมกันอยู่ในบ้านใหญ่หลังหนึ่ง เมื่อเราเห็นว่าบ้านของเรามันชำรุดทรุดโทรมอาจเป็นอันตรายขึ้นได้แล้ว เราจะมีแก่ใจคิดอ่านช่วยกันซ่อมแซมทนุบำรุงให้มั่นคงงดงามขึ้น หรือจะปล่อยให้มันชำรุดทรุดโทรมไปตามสังขารอัพชราภาพของบิดามารดาดี

ในปี ร.ศ. ๑๒๘ (พ.ศ. ๒๔๕๒) ในระหว่างที่ ร.ต. เหรียญ กับ ร.ต. จรูญ ยังประจำการอยู่ในกรมทหารราบที่ ๑๒ นั้น ก็ได้เริ่มสั่งสอนทหารในหน้าที่ของพลเมืองดีแทรกแซงไปกับข้อบังคับทหารเป็นบางวัน สำหรับพวกนายทหารที่เป็นเพื่อนฝูงกัน ก็ได้เริ่มสนทนาในเรื่องการเมืองแทรกแซงไปบ้าง โดยไม่มีใครทราบจุดประสงค์ของนายทหารทั้งสองนายเลย การสนทนาก็เพื่อจะหยั่งอุดมคติของนายทหารเหล่านั้นว่าผู้ใดจะมีน้ำใจตรงกันบ้าง และยังไม่เคยชักชวนผู้ใดเข้าร่วมแผนการด้วยเลย เพียงแต่ได้เก็งตัวไว้บ้างเท่านั้น

ลุถึงต้นปี ร.ศ. ๑๒๙ (พ.ศ. ๒๔๕๓) โหมให้ย้าย ร.ต. เหรียญ กับ ร.ต. จรูญ ไปประจำการกรมทหารราบที่ ๑ รักษาพระองค์ ซึ่งในเวลานั้นกรมทหารตั้งอยู่ในพระบรมมหาราชวัง (วังหลวง) ร.ต. เหรียญได้อยู่บน ‘ป้อมโสฬสศิลา’ ตรงกับท่าราชวรดิษฐ์ (ท่าตำหนักแพ) ร.ต. จรูญ ได้ที่อยู่บน ‘ป้อมภูผาสุทัศน์’ ตรงกับท่าโรงโม่ซึ่งอยู่ติดกับตลาดท่าเตียน ต่อมาป้อมโสฬสศิลา ซึ่งเป็นที่อยู่ของ ร.ต. เหรียญ ก็กลายเป็นที่ชุมนุมสำหรับพวกนายทหารชั้นประจำกองร้อย บรรดานายทหารที่แยกย้ายกันอยู่ตามป้อมต่าง ๆ โดยรอบพระบรมมหาราชวังก็มักจะมาร่วมรับประทานอาหาร ร่วมคุย ร่วมสนุกรื่นเริงกันที่นั่น ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ ซึ่งมีอายุย่างขึ้น ๑๙ ปี กับพวกนายทหารหนุ่มรุ่นราวคราวเดียวกันซึ่งออกรับราชการในต้น ร.ศ. ๑๒๙ ด้วยกัน และเข้าประจำการกองร้อยต่าง ๆ ในกรมทหารราบที่ ๑๑ ก็ได้มายึดเอาป้อมโสฬสศิลาเป็นที่ชุมนุมด้วย ส่วน ร.ต. จรูญ นั้นถึงกับย้ายเตียงนอน ที่นอน หมอนมุ้ง มาอยู่กับ ร.ต. เหรียญด้วยเลย ทำให้นายทหารคนอื่น ๆ ที่ใคร่จะมาร่วมอยู่แล้ว พลอยถือโอกาสย้ายมาอยู่รวมกัน จนป้อมโสฬสศิลาแน่นขนัดยัดเยียดไปด้วยเตียงนอน นายทหารแทบจะหาที่สอดเท้าก้าวขึ้นเตียงมิได้ แต่ยังมีเชิงเทินกำแพงวังกว้างประมาณ ๕-๖ เมตร พอเป็นที่ตั้งวงรับประทานอาหารและสนุกสนานกันได้ แต่ถ้าวันใดพระพิรุณเทลงมาขัดคอระหว่างเวลาอาหาร ก็ต้องช่วยตัวเองกันเป็นการยกใหญ่ ขนย้ายถ้วยชามหลบฝนเข้าไปในห้องนอน เป็นการแสดงสามัคคีร่วมกันเช่นนี้เนือง ๆ

โอกาสที่ ร.ต. เหรียญ กับ ร.ต. จรูญ ได้ย้ายไปประจำการในกรมทหารราบที่ ๑๑ นั้นเอง ทำให้เขาดีใจมาก เพราะเป็นศูนย์กลางที่เขาจะติดต่อกับนายทหารทั้งในพระนคร และต่างจังหวัดได้สะดวกยิ่งขึ้น ในระหว่างนี้ เขาได้ไปมาหาสู่เพื่อนฝูงที่รับราชการอยู่ภายในกระทรวงกลาโหม และตามกรมกองต่าง ๆ ภายในพระนคร โดยคุยกันถึงเรื่องสนุกบ้างการเมืองบ้าง เพื่อหยั่งดูทัศนะของเพื่อนฝูงว่า เขามีความคิดเห็นเป็นอย่างไร แต่ก็ยังไม่เคยชักชวนผู้ใดเข้าร่วมแผนการ หรือเปิดเผยแผนการแก่ผู้ใดเลยสักคนเดียว ก็พอที่ประจวบกับวาระที่พวกเราและประชาชนทั้งประเทศได้รับความเศร้าสลดใจอย่างสุดซึ้ง ซึ่งทางการได้ประกาศว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นพระปิยะมหาราชของชาวเรา ได้เสด็จสวรรคตเสียแล้ว ทหารราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์ กับทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ต้องเตรียมปฏิบัติการในงานพระราชพิธีพระบรมศพโดยกระทันหัน เช่น เตรียมประดับเครื่องแบบไว้ทุกข์ชั้นที่ ๑ (ไว้ทุกข์ใหญ่) ภายในเวลาไม่ถึงชั่วโมง และต่อจากนั้นก็มีงานหนักทั้งกลางวันกลางคืน จนกว่าจะเสร็จพระราชพิธีถวายพระเพลิง แผนการของเราก็พลอยโศกสลดไปด้วยในระหว่างนั้น

ครั้นประชาชนชาวไทยคลายความทุกข์โศกลงแล้ว ภายหลังการถวายพระเพลิง ธุระกิจในชีวิตของทุกคนก็ค่อยสดชื่นขึ้น แต่ราชการแผ่นดินได้ตกไปอยู่ในพระราชอำนาจของรัชกาลที่ ๖ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างสมบูรณ์ เหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เคยกระทบกระเทือนจิตใจชาวไทยดังกล่าวแล้วก็หาได้ลดลงไปไม่ เพราะบุคคลบางจำพวกที่ใกล้ชิดสนิทสนมพระยุคลบาท แต่หารู้ซึ้งถึงพระเดชพระคุณของเจ้านายที่ปกแผ่ไปทั่วอาณาประชาชนชาวไทยไม่นั้น กลับนำพระราชอำนาจไปใช้ในทางผิด ๆ ยิ่งขึ้น จนเป็นเหตุให้มีข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ในทางมิชอบ และแสดงความคิดเห็นเชิงตักเตือนบุคคลจำพวกนั้น ด้วยความจงรักภักดีในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทกันบ่อยครั้ง เป็นเหตุกระตุ้นเตือนน้ำใจของพวกมันสมองปฏิวัติ ให้ใคร่ได้เห็นความเป็นชาติของไทย จากการปกครองของเจ้าของชาติบ้าง เพื่อกำจัดความไม่ดีไม่งามอันเป็นเสี้ยนหนามแผ่นดินเสีย และเปลื้องทุกข์บำรุงสุขอาณาประชาราษฎรเยี่ยงอารยประเทศที่กำลังแข่งขันกันอยู่

ร.ต. เหรียญ กับ ร.ต. จรูญ ก็มิหยุดนิ่ง คงปฏิบัติราชการไปอย่างดีที่สุด และร่วมปรึกษาหารือกันสองต่อสองตามแผนการ ซึ่งภาพนั้นหาได้พ้นสายตาของนายทหารราบที่ ๑๑ ผู้มีมันสมองปฏิวัติไปได้ไม่ เช่น ร.ต. เปลี่ยน ไชยมังคละ อายุราว ๒๑ ปี นายทหารคนสนิทของผู้บังคับกองพันที่ ๑ ราบ ๑๑ ร.ต. สง่า เรขะรุจิ (ภายหลังได้เป็น ร.อ. หลวงราชานุรักษ์) อายุราว ๒๐ ปี ประจำกองร้อยที่ ๑ ราบ ๑๑ และ ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ ประจำกองร้อยที่ ๑ ราบ ๑๑ แต่ต่างคนต่างระวังท่าทีของกันและกันไว้ ไม่กล้าที่จะยอมเสียมารยาทล้วงถามความในใจของเพื่อน เมื่อเขายังมิยอมแพร่งพรายด้วยตนเอง

ต่อมา ประมาณต้น ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔) กระทรวงกลาโหมมีคำสั่งให้ ร.ต. จรูญ กับ ร.ต. เนตร ซึ่งขณะนั้นกรมทหารราบที่ ๑๑ ย้ายไปตั้งอยู่ที่ท่าพระจันทร์ ณ บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปัจจุบันนี้ ไปศึกษาอบรมและฝึกวิชาปืนกลที่ “ศาลาพัน” สนามเป้าสามเสน (ศาลาพัน คือ ศาลาสำหรับฝึกยิงเป้า ห่างจากมูลดินเป้า ๑,๐๐๐ เมตร) พร้อมด้วยทหารเหล่าต่าง ๆ อีกหลายคน นายทหารที่สอบไล่วิชาปืนกลได้ภายหลังการฝึก และศึกษาอบรมประมาณ ๖ เดือนแล้วนั้น มี 6 คน คือ ร.ต. หลุย อายุราว ๒๗ ปี ร.ต. ปลั่ง ปูรณโชติ อายุราว ๒๐ ปี มาจากกรมทหารม้าที่ ๑ รักษาพระองค์ ร.ต. สนิท อายุราว ๒๒ ปี ร.ต. สอน วงษ์โต อายุราว ๒๑ ปี มาจากกรมทหารราบที่ ๒ ร.ต. จรูญ และ ร.ต. เนตรด้วย ส่วนครูผู้ฝึกสอนอบรมมีหลายคน แต่จะขอออกนามเฉพาะ ร.ท. จรูญ ณ บางช้าง ซึ่งเคยเป็นนายทหารปืนกลที่ ๕ มณฑลนครราชสีมา และภายหลังสอบไล่วิชากฎหมายได้ประจำกรมพระธรรมนูญทหารบกในกระทรวงกลาโหม ได้รับหน้าที่เป็นครูสอนวิชาปืนกลด้วยผู้หนึ่ง

เมื่อมีนายทหารสอบไล่ได้วิชาปืนกลครบชุดที่จะตั้งกองร้อยปืนกลขึ้นได้ กระทรวงกลาโหมจึงมีคำสั่งตั้งกองร้อยปืนกลที่ ๑ รักษาพระองค์ขึ้นเป็นกองอิสระ เวลานั้นพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช (พระองค์เจ้าจิระประวัติวรเดช) เป็นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ทรงโปรดทหารปืนกลมาก เพราะเป็นเหล่าใหม่ที่เพิ่งมีขึ้นในพระนคร ทั้ง ร.ท. จรูญ และ ร.ท. หลุย ก็เป็นมหาดเล็กในพระองค์อยู่ด้วย กองปืนกลอิสระเลยตั้งอยู่ในกระทรวงกลาโหมชั้นบนนั้นเอง มีปืนกลที่ใช้ฝึกสอนหลายชนิดด้วยกัน ร.ท. หลุย เป็นผู้บังคับกองร้อย ร.ต. ปลั่ง เป็นผู้ช่วย นอกจากนั้นอีก ๔ คน ก็เป็นผู้บังคับหมวดประจำกองร้อยตามลำดับวิชาปืนกลที่สอบไล่ได้ กองปืนกลที่ ๑ รักษาพระองค์นี้ได้ทำชื่อเสียงในการฝึกและการสอนอยู่ในขั้นดี เป็นที่โปรดปรานของเสด็จในกรมกำแพงเพชรอัครโยธิน แม่ทัพที่ ๑ จึงเป็นที่ไว้วางพระทัยเป็นอันมาก

ขณะที่กองปืนกลตั้งอยู่ในกระทรวงกลาโหมนั้น เป็นโอกาสให้นายทหาร ๓ เหล่าได้วิสาสะสนิทสนมกันยิ่งขึ้น คือเหล่าปืนกล เหล่าทหารราบที่ ๓ และเหล่าโรงเรียนนายสิบ เพราะต่างตั้งกรมกองอยู่ชั้นบน (ชั้นที่ ๓) รอบกระทรวงกลาโหมด้วยกัน ร.ต. เหรียญ ซึ่งยังคงประจำกรมทหารราบที่ ๑๑ ก็ได้ไปมาหาสู่กันเสมอ ส่วนกับ ร.ต. จรูญ ก็คงยังชนหัวปรึกษาหารือกันเช่นเคย และพลอยได้เพื่อนฝูงจากทหารทั้ง ๓ เหล่า อย่างสนิทชิดชอบยิ่งขึ้นอีกด้วย

ใน ร.ศ. ๑๓๐ นั้นเอง กองปืนกลอิสระได้ย้ายที่ตั้งกองร้อยจากกระทรวงกลาโหม ไปอยู่ที่โรงทหารในถนนซังฮี้ใน (ถนนราชวิถีปัจจุบัน) หลังพระราชวังดุสิต ยิ่งได้รับความอิสระมากขึ้น เพราะตั้งอยู่โดดเดี่ยว การที่เราอ้างถึงกองปืนกลที่ ๑ รักษาพระองค์บ่อยครั้งก็ด้วยว่า กองปืนกลนี้เองได้รับหน้าที่สำคัญในการปฏิบัติ ร.ศ. ๑๓๐ ประหนึ่งเป็นที่ตั้งกองบัญชาการลับของคณะปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐ ก็ไม่ผิด ดังจะปรากฎความสำคัญๆ ต่อไป

เนื่องด้วยความอิสระโดดเดี่ยวของกองปืนกลนั้น ร.ต. เหรียญ กับ ร.ต. จรูญ ก็พบโอกาสอิสระมากขึ้นเหมือนกัน พอถึงวันหยุดราชการ หรือหลังจากการฝึกสอนทหารแล้ว เขาทั้งสองก็เป็นต้องมาเจอกันชนหัวหารือกัน บางครั้งก็นอนค้างด้วยกัน เพราะในห้องนอนของนายทหารปืนกลมีเตียงนอนสำหรับนายทหารเวร ๑ เตียง และสำหรับนายทหารที่ชอบอยู่ประจำกองร้อยอีก ๑ เตียง ซึ่งโดยปรกติก็ได้แก่นายทหารที่เป็นโสด มี ร.ต. จรูญ กับ ร.ต. เนตร ๒ คน และก็มักจะสมัครอยู่ประจำกองร้อยเป็นนิจสิน แต่ถ้าบังเอิญมิใช่เวรประจำการของนายทหารทั้งสองนั้น เขาก็ต้องนอนร่วมเตียงเดียวกัน

วาระสำคัญแห่งกิจกรรมปฏิวัติ ๓๑๐ ได้พลุ่งโพลงขึ้นเมื่อราวเวลาตี ๒ (๒ นาฬิกา) ปลายเดือนธันวาคม ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔) ณ ราตรีนั้น ร.ต. จรูญ ษตะเมษ เป็นเวรประจำการต้องคอยตรวจดูแลระวังรักษาการณ์ในกองปืนกลให้เรียบร้อยเช่นเคย จึงมิได้เข้านอนแต่หัวค่ำ และพอ ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์มาอยู่เป็นเพื่อนด้วย จึงเลยปรึกษาหารือกันที่โต๊ะกลมรับแขกส่วนตัวภายในห้องนอน ฝ่าย ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ ได้เข้านอนก่อน แต่พอราวเวลา ๒ นาฬิกาก็ตื่นขึ้นหลังจากนอนเต็มตาแล้ว และจะด้วยอำนาจแห่งความบันดาลจากสมองปฏิวัติกระมัง เมื่อ ร.ต.เนตร แต่งตัวแล้วก็เกิดใคร่อยากจะรู้เรื่องที่สหายหนุ่มทั้งสองสนทนากัน ผิดกว่าครั้งก่อน ๆ ดังกล่าวมาแล้ว

ด้วยอัธยาศัย ร.ต.เนตร ได้ออกปากขออภัยก่อนที่จะเข้าร่วมสังสรรด้วย ก็ได้รับการต้อนรับด้วยความเต็มอกเต็มใจ แต่แทนที่จะได้รับเรื่องชวนสนุกหรือชวนเที่ยวเตร่เหมือนเคย กลับเป็นเรื่องเอาจริงเอาจัง ที่เรียกว่า “เรื่องคอขาดบาดตาย”

คนหนึ่งในสองคน กล่าวต้อนรับด้วยความยินดี และบอกตรง ๆ ว่า เป็นเรื่องการเมือง หากร่วมด้วยก็ไม่ขัดข้องเลย ร.ต. เนตร ด้วยเลือดของคนหนุ่ม สำเร็จวิชานักรบเพียงปีเดียว เสียงของการเปลี่ยนระบอบการปกครองประเทศจีนยังสด ๆ ร้อน ๆ และประกอบด้วยมีสมองปฏิวัติโดยธรรมชาติ จึงตรงเข้าร่วมวงด้วยทันที พร้อมกับขอทราบต้นสายปลายเหตุและวัตถุประสงค์ หรือที่เรียกกันว่า อุดมคติ ของมิตรหนุ่มทั้งสอง เขาก็สาธยายย้อนหลังไปถึงเรื่องเดิมตั้งแต่เขาพบเห็นมาจากชนบทในมณฑลนครไชยศรี กระทั่งเข้ามาเป็นนายทหารราบที่ ๑๑ ใกล้ชิดพวกราชสำนักในพระนครใกล้กองเสือป่า ตลอดจนตั้งแถวเกียรติยศในที่ต่าง ๆ ได้พบเหตุการณ์ที่ทหารของชาติถูกเหยียดหยามนานาประการ การแบ่งชั้นวรรณะในระหว่างบุคคล ความเสื่อมทรามของสังคมชาติ การขาดความเคารพนับถือต่อบุคคลที่ทรงวัยวุฒิและคุณวุฒิ เป็นเหตุให้ข้าราชการแทบทุกสาขากำลังทำงานเอาแต่ตัวรอดไปวันหนึ่ง ๆ โดยมิคำนึงถึงประเทศชาติเป็นส่วนรวม การหมดเปลืองเงินแผ่นดินโดยปราศจากเหตุผล เป็นปัจจัยให้ราษฎรพลเมืองขาดความบำรุงในเรื่องการอาชีพและความผาสุก ชาวไร่ชาวนาซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของชาติ หากปีใดธรรมชาติไม่อำนวย ก็ถึงกับอดอยากยากแค้นไปตาม ๆ กัน ส่วนภาษีอากรก็มีแต่เพิ่มทวีขึ้น ไม่ยอมลดราวาศอก ซ้ำผู้รักษากฎหมายยังใช้อำนาจเป็นธรรม เกินกว่าอำนาจในกฎหมายเสียอีก กระทำให้ราษฎรเดือดร้อนทุกข์ยากพูดไม่ออก เพราะถูกกดการศึกษา ไม่สมกับเป็นเจ้าของประเทศโดยธรรมชาติ ผิดกับประเทศญี่ปุ่นเพื่อนบ้านเป็นไหน ๆ เรื่องการศึกษานับว่าเป็นหลักของชาติ แต่พลทหารที่เข้ามารับการฝึกสอน ในชั้นต้นโดยมากก็ไม่รู้หนังสือเลยแม้แต่ ก.ข. หันขวาหันซ้ายก็แทบไม่ถูก ถึงกับต้องผูกด้ายขาวด้ายแดงที่ข้อมือ เพื่อบอกมือขวามือซ้ายก็มี แต่พอมาได้รับการฝึกสอนไม่ทันถึง ๖ เดือน ก็อ่านหนังสือออก รู้ซ้าย รู้ขวา ขนบธรรมเนียมประเพณีและศีลธรรมวัฒนธรรมที่ดี เห็นโทษของอบายมุข เช่น การพนัน และการเสพสิ่งเสพติด กลายเป็นคนขยันงานและซื่อสัตย์สุจริต ถึงกับบางคนสอบได้เป็นนายสิบ และออมทรัพย์ไปช่วยครอบครัวทางบ้านของตนก็มีไม่น้อย

เรื่องความเจริญของชาตินี้ หากเราไม่ช่วยกันทำขึ้น ก็ใครเล่าเขาจะช่วยเรา ยิ่งจะต้องเปลี่ยนระบอบประเพณีการปกครองด้วยแล้ว คนมือเปล่าจะทำได้อย่างไร จำต้องเป็นผู้ถืออาวุธของชาติ คือ ทหาร ประกอบด้วยฝ่ายพลเรือนที่มีสมองปฏิวัติเข้ามาเป็นกำลังร่วมด้วย เพื่อจัดระบบการปกครองตามอารยสมัย แต่จะเหมาะแก่ระบบลัทธิใด ๆ ก็สุดแต่ภาวะของบ้านเมืองและเหตุการณ์ในขณะนั้น

เมื่อเราทั้ง ๓ ได้สังสรรกันจนแจ่มกระจ่างในเหตุในผล และวัตถุประสงค์ซึ่งกันและกันแล้ว ก็ตกลงปลงใจพร้อมเพรียงกันว่า จะต้องร่วมมือร่วมใจกับกระทำเพื่อชาติอย่างแน่นอน ต่อจากนั้นเราก็หารือกันถึงเรื่องกรรมวิธีอีกพักหนึ่ง หลังจากนั้นก็ลงเอยกันว่า ให้ต่างฝ่ายต่างเริ่มลงมือสั่งสอนอบรมทหารในบังคับบัญชาของตน ให้รอบรู้วิทยาการแขนงต่าง ๆ ที่พอแก่กำลังของทหาร และตามสถานะการณ์ของบ้านเมือง ส่วนเรื่องการปกครองระบอบต่าง ๆ ก็ให้แทรกเข้าไปในข้อบังคับคราวละเล็กละน้อย โดยใช้วิธีแทรกซึมตามแผนการ ๑๐ ปีเดิม ทั้งให้ต่างคนต่างทาบทามเกลี้ยกล่อมนายทหารในกรมกองที่ตนสังกัด และเพื่อนนายทหารชุดเดียวกัน โดยให้เลือกเฟ้นผู้ที่พอจะเห็นว่าอาจมีมันสมองปฏิบัติอย่างพวกเรา ด้วยวิธี “พบพูดกันตัวต่อตัว” ไม่เปิดเผยไปพลาง ๆ ให้ยึดเอากองปืนกลเป็นสถานกลางนัดพบกันตามวันเวลาอันสมควร หรือจะใช้โทรศัพท์ติดตามกันอย่างปรกติก็ได้ เช่น บอกเชิญรับประทานอาหารกันเป็นต้น ราตรีนั้นเราทั้ง ๓ ให้รู้สึกปลาบปลื้มปิติทุกคน เป็นลักษณะอย่างไรพูดไม่ถูก และรุ่งขึ้นเป็นวันหยุดราชการเสียด้วย เราทั้ง ๓ ก็เลยยกกองปืนกลเป็นที่พักผ่อนกันตลอดทั้งวัน

ต่อจากวันนั้น เราได้พบกันเป็นครั้งคราว แจ้งเรื่องราวและผลที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่นผลจากการสอนทหารเป็นที่พอใจ และผลจากการได้สมาชิกอีกบ้าง แต่จิตใจของพวกเราซึ่งเป็นคนหนุ่มเลือดร้อน ชักจะต้องการให้กรรมวิถีเดินรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น จึงหารือกันถึงเรื่องที่ว่า ควรจะมีผู้ใหญ่ที่มีหัวปฏิวัติมาร่วมเป็นกำลังความคิดอ่านดำเนินการสักผู้หนึ่ง หรือไม่ในชั้นนี้ ผู้ที่เราต้องการนั้นจะต้องไว้วางใจได้ เป็นผู้กว้างขวาง และเป็นที่เชื่อถือของนายทหารทุกชั้นด้วยยิ่งดี ร.ต.เหรียญ ก็ได้เสนอชื่อพี่ชายตัวของเขาขึ้น คือ ร้อยเอก ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) ว่า เป็นทั้งแพทย์และนักรบจากนักเรียนสำรอง ซึ่งเคยผ่านโรงเรียนนายร้อยมาเป็นอย่างดีทั้งกำลังเป็นหมอประจำโรงเรียนนายร้อยทหารบกมาแล้วหลายต่อหลายรุ่น อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญก็คือ กำลังเป็นหมอประจำพระองค์ทูลกระหม่อมจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานารถ และหม่อมคัทริน พระชายาของพระองค์ ตลอดจนครอบครัวในพระองค์อยู่ขณะนั้นด้วย ร.อ. เหล็ง เป็นผู้มีอุปนิสัยใจคอเยือกเย็น ละมุนละม่อม อ่อนโยน แต่หัวใจเข้มแข็งแน่นอน และซื่อสัตย์สุจริตไม่เหลาะแหละ ซึ่งเป็นทุนในการที่จะจูงใจนายทหารและนักเรียนนายร้อยให้เข้ามารวมกำลังได้ไม่ยากนัก ร.ต. จรูญ กับ ร.ต. เนตร ก็เห็นพ้องด้วยกับ ร.ต. เหรียญ

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ