ภาคสรุป น้ำพระทัยพระมหาธีรราชเจ้า

กอปรด้วยหัวข้อย่อดังนี้ :-

- พวกเราได้รับอภัยโทษจากน้ำพระทัยแท้ ๆ

- เจ้าพระยาอภัย ฯ ขอทานบนจากพวกเรา

- น้ำพระทัยเมื่อพวกเราต้องโทษได้ปีที่ ๕

- ๑๑ พฤศจิกายน เป็นวันสำคัญของโลกและของคณะ ร.ศ. ๑๓๐ ด้วย

- สรุปน้ำพระทัยและปฏิวัติกรรม.

 

ภาคสรุปนี้ ถ้าหากเราไม่เรียนด้วยความเคารพต่อท่านผู้อ่านว่า คณะ ร.ศ. ๑๓๐ มีสมองปฏิวัติจำเพาะการปกครองของประเทศชาติโดยตรงเท่านั้น มิได้มีความมุ่งร้ายหมายขวัญต่อบุคคลผู้ใดในชาติ โดยแบ่ง งานส่วนตัว กับ งานส่วนชาติ ไว้คนละส่วนละสัดกัน ทั้งนี้แล้วไซร้ ท่านที่เคารพ ผู้ที่ได้ติดตามประวัติเรื่องนี้มาโดยตลอด ก็ต้องพึงทราบตระหนักได้อย่างแน่แท้ว่าเป็นความจริงทุกประการ หัวข้อเรื่องในภาคสรุปนี้เอง เป็นองค์สักขีพยานได้อย่างแจ่มแจ้งและสมบูรณ์ที่สุด

นักโทษทุกคนย่อมมีวิสัยอยากออกจากเรือนจำเท่ากับชีวิต และระหว่างต้องโทษนั้นหากมีโอกาสจะหลบหนีเรือนจำได้ โดยเขาไม่คิดหน้าคิดหลังให้รอบคอบแล้ว เขาก็ต้องกระโจนออกทันที โดยเสี่ยงความตายเอาดาบหน้า พวกเราทุกคนมีความรู้สึกตรงกันกับข้อความอันดับแรก แค่ข้อความอันดับหลังหาได้เข้ามาอยู่ในความรู้สึกนึกคิดด้วยไม่ ทั้ง ๆ โอกาสได้เป็นของพวกเราจนเหลือเฟือ

ก็การปล่อยนักโทษ เนื่องจากองค์พระประมุขเสด็จขึ้นเสวยราชย์ครบ ๑๕ ปี ในพระราชพิธีฉัตรมงคลเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๗ นั้นเล่า พวกเราจะมีแก่ใจเฉยเมยได้หรือฯ ต้องไม่ได้เป็นแน่ทีเดียว ยิ่งพวกเราติดมาถึง ๑๒ ปีเศษแล้ว มันก็ต้องเบื่อหน่ายคุกเหมือน “ยารุ” แต่พวกเราก็มีมโนธรรมพอที่จะคิดว่า ทุกมวลสารในโลกมันจะต้องเป็นไปตามกฎธรรมดาของมันเสมอ สุดแต่กาละเทศะและเหตุการณ์ตามคติของนักรบที่พวกเราเคยศึกษาอบรมมา ทั้งกำหนดโทษของพวกเราก็คงยังเหลืออีกคนละไม่กี่เดือนกี่ปีแล้ว รวมทั้งวันลดโทษในเรือนจำด้วย

พอเราทำข่ายปล่อยนักโทษเสร็จแล้ว พวกเราก็รู้เต็มอกว่า ใครบ้างที่จะพ้นโทษทิ้งพวกเราไปในเวลาวันสองวันอันใกล้นี้ ซึ่งมีจำนวนนับด้วยร้อยๆคนขึ้นไป เขาเหล่านั้นมีสีหน้าชื่นบานแจ่มใสผิดกว่าธรรมดายิ่งนัก เพราะทุกคนในพวกนั้นได้พยายามมาติดต่อกับเราเพื่อขอทราบความจริงแน่นอนวันแล้ววันเล่า ค่าที่ใจหนึ่งของพวกเขาได้ออกไปเดินเล่นอยู่ที่บ้าน แต่อีกใจหนึ่งซึ่งเป็นส่วนน้อยเท่านั้นที่ยังติดอยู่ในคุก ดูๆไปก็เหมือนเป็นพวกที่ไม่มีหัวใจ เขาจะพูดจะทำอะไรชักจิตลอย และบางครั้งถึงกับป้ำ ๆ เป๋อ ๆ ก็มี นี้แหละท่านที่เคารพ หัวใจของนักโทษมันอยากจะออกจากคุกอย่างเป็นบ้าเป็นหลังว่าได้

แต่ - ด้วยอานุภาพจิต (will power) ของมวลไทยที่รักชอบการปกครองระบอบประชาธิปไตย รวมกับของพวกเราที่มีความหวังดีและรักชาติทุกลมหายใจเข้าและออกนั้นกระมัง ? ได้เข้าดลบันดาลพระราชหฤทัยในพระมงกุฎเกล้า ฯ ให้หลั่งพระมหากรุณาธิคุณลงมาถึงพวกเราทุกคน ทั้งในเรือนจำกองมหันตโทษและเรือนจำจังหวัดนครสวรรค์ คือ ร.ต. เปลี่ยน ไชยมังคละ และ ร.ต. หรี่ บุญสำราญ ด้วย โดยวิธีอันแยบคาย กล่าวคือ ในต้นเดือน พฤศจิกายน ๒๔๖๗ นั้นเอง ฯพณฯ เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร (หม่อมราชวงศ์ลพ สุทัศน์ ณอยุธยา) เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมสมัยนั้น ได้กรุณาไปติดต่อสังสรรกับพวกเราทุกคน ณ สำนักงานทะเบียนหน้ากองมหันตโทษ โดยพวกเราหารู้เนื้อรู้ตัวไม่เลยจนนิดเดียว

ในวันแรกที่ท่านพบพวกเรา ท่านได้จดประวัติของพวกเราไปทุกคน ทั้งประวัติเดิมและในเรือนจำ พวกเราก็คิดแต่เพียงว่า เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมย่อมมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไปของนักโทษทั่วราชอาณาจักร แต่เมื่อท่านมาแขกเช่นนี้ ก็น่าจะเป็นเรื่องดี (โชค) แก่พวกเรามากกว่าเรื่องร้าย (เคราะห์)

จริงอย่างว่า ครั้นอยู่มาอีกไม่กี่วัน ท่านเจ้าพระยาอภัย ฯ ได้ขอพบพวกเรา ณ ที่เดิมอีก คราวนี้ท่านได้มีหนังสือทานบนติดมือมาด้วย ท่านกล่าวประหน้าอย่างยืดยาวเมื่อพบพวกเรามีใจความว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรำลึกถึงพวกนักโทษการเมืองอยู่เสมอ ในอันที่จะพระราชทานอภัยโทษ ฉะนั้นในคราวที่พระองค์จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลครั้งใหญ่ครบ ๑๕ ปีที่พระองค์ทรงราชย์มา จึงมีพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ จะให้ปล่อยพวกนักโทษการเมืองด้วย แม้จะไม่เข้าอยู่ในข่ายตามพระราชกฤษฎีกาก็ดี แต่โดยหน้าที่ของเสนาบดีกระทรวงยุติธรรม เห็นควรจะได้ทำทานบนขึ้นไว้คนละฉบับ เพื่อจะได้เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยด้วยพระสำราญจากความหวาดระแวงใด ๆ พวกเราทุกคนเมื่อได้ฟังเช่นนั้น แทบทุกชีวิตรู้สึกปลาบปลื้มในพระมหาการุญภาพและยินดีทำทานบนให้ เว้นแต่ ร.ท. จือ ควกุล ผู้เดียว ทำท่าจะคัดค้าน เพราะไม่พอใจในเรื่องการทำทานบน เนื่องจากจือเห็นว่า พวกเราเป็นผู้ใหญ่รู้ผิดรู้ชอบพอเพียงแล้ว ไม่ใช่เด็ก ๆ และจักรู้ถึงสถานะการณ์ของบ้านเมืองในอนาคตหาได้ไม่ ว่ามันจะมีมาในรูปใด แต่เมื่อพวกเราปลอบใจว่าเป็นทานบนระหว่างบุคคล มิใช่ทานบนของศาลยุติธรรม ย่อมจะไม่เป็นการผูกมัดการกระทำของพวกเราโดยนิตินัย, สุดแต่มโนธรรมของพวกเราต่างหาก จือจึงยอมทำทานบนให้ไว้ต่อเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมเยี่ยงพวกเรา เป็นรายตัวบุคคลจนครบถ้วนในวันนั้นเอง ท่านเจ้าพระยาอภัย ฯ ก็ได้แสดงความยินดีต่อพวกเรา ที่ยอมพร้อมใจกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวตามความคิดเห็นของท่าน พวกเราต่างรู้สึกโล่งใจที่จะได้รับความอิสระภาพ และจะได้พบโลกใหม่ในชีวิตอีกวาระหนึ่ง

เนื่องด้วยวาทะของท่านเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมข้างต้นนั้น เป็นปัจจัยให้พวกเราคิดถึงความเก่าครั้งหนึ่ง เมื่อพวกเราต้องจำมาได้ครบปีที่ ๕ ซึ่งเคยมีข่าวดีว่า องค์พระประมุขได้ทรงพระราชดำริจะพระราชทานอภัยโทษให้แก่พวกเราอยู่แล้วเหมือนกัน หากแต่ในที่ประชุมอภิรัฐมนตรี (ที่ประชุมเจ้านายชั้นสูงล้วน) มีเจ้านายผู้ใหญ่พระองค์หนึ่ง (เราขอปิดพระนามด้วยความเคารพต่อทายาทของท่าน) ทรงคัดค้านพระราชดำรินั้นไว้ โดยอ้างว่าพวกเรายังหนุ่มอยู่มาก เกรงว่าถ้าปล่อยออกไปก็จะเป็นการ “ปล่อยเสือเข้าป่า” ยังหาเป็นการสมควรแก่กาลเวลาไม่ เพียงเท่านั้น องค์พระประมุขก็ทรงงันไป แต่ไม่ปรากฏว่า คณะอภิรัฐมนตรีได้ทรงคัดค้านหรือต่อเติมประการใด ต่างทรงนิ่งเงียบทุกพระองค์ พวกเราก็เลยเข้าตาร้าย (เคราะห์) อีก แต่จะกระทำให้พวกเราขาดความรำลึกในพระมหาการุญภาพนั้นเสียก็หามิได้เลย ยังถวายความเคารพอย่างสูงใน น้ำพระทัย ขององค์พระประมุขอยู่ทุกขณะจิต ส่วนผู้คัดค้านนั้นเล่า พวกเราก็มิได้เคืองแค้นประการใด เป็นเรื่องแห่ง “ความสมเหมาะ” ในดวงชะตาชีวิตของมนุษย์ต่างหาก ดังที่เราเคยกล่าวมาแล้วหลายคราว

นับแต่วันที่พวกเราให้ทานบนไปแล้ว ซึ่งมีข้อความสำคัญมากก็แต่เพียงว่า เมื่อพวกเราได้รับพระมหากรุณาโปรดปล่อยออกไปเป็นอิสระชนแล้ว พวกเราจักไม่คิดร้ายใด ๆ ต่อองค์พระประมุขของชาติเป็นอันขาด นอกจากจะยกอยู่ในสัมมาอาชีพเยี่ยงพลเมืองดีทั้งหลาย ฯลฯ ความสำคัญข้อนี้ก็ตรงกับความเจตนาปฏิวัติเดิมของพวกเรานั้นเอง เพราะฉะนั้นทานบนจึงมิแสลงใจพวกเราเลย แม้พวกเราจะเป็นอิสระชนโดยครบกำหนดโทษตามคำพิพากษา พวกเราก็คงเป็นพวกเราที่ไม่เป็นศัตรูกับองค์พระประมุขแห่งชาติ หรือเป็น “เสือเข้าป่า” อย่างที่บางคนเข้าใจเป็นแน่ พวกเราได้ตั้งหน้าตั้งตาเก็บหนังสือและตำรับตำรามารวมแบ่งสรรปันส่วนกันตามความตั้งใจเดิม เพื่อรอวันอิสระภาพของนักโทษปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐ จะมาถึงด้วยความอิ่มเอมเปรมใจที่สุด --- สุดที่จะพรรณนาเป็นตัวอักษรให้ตรงกับความเป็นจริงได้

ครั้นวันอังคารที่ ๑๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๖๗ ตรงกับเดือน ๑๒ แรม ๑ ค่ำ ปีชวด จุลศักราช ๑๒๘๖ ร.ศ. ๑๔๓ เวลาก่อนเที่ยง นักโทษคณะก่อการกำเริบคิดจะปฏิวัติประเพณีการปกครองแผ่นดินไทย ร.ศ. ๑๓๐ ก็ได้เป็นอิสระภาพหมดทุกคน เฉพาะในกองมหันตโทษมี ๒๑ คน และเฉพาะในเรือนจำจังหวัดนครสวรรค์มี ๒ คน ผู้ที่ต้องเวรจำในนครสวรรค์ ก็ได้รับพระมหากรุณาโปรดปล่อยที่จังหวัดนครสวรรค์ในวันเวลาเดียวกันนั้นเอง น้ำพระทัย ในพระมหาธีรราชเจ้า ยังฝั่งแนบแน่นอยู่ในดวงจิตอันบริสุทธิ์ของพวกเราอย่างมิมีวันลืมเลือนได้เลย

ต่อไปนี้ สมควรจะได้เล่าเรื่องการปล่อยนักโทษที่เข้าข่ายและพวกเราเฉพาะในกองมหันตโทษไว้ให้ทราบเสียด้วย ในเช้าวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน (เป็นวันตรงกันกับวันสงบสงครามโลกครั้งที่ ๑) นั้น บรรดาญาติมิตรของผู้ที่โปรดปล่อย พร้อมด้วยคณะหนังสือพิมพ์ ได้มารอรับและถ่ายภาพด้วยความปีติอยู่ที่หน้าเรือนจำแต่เป็นการผิดหวัง เพราะการปล่อยมิได้กระทำกันที่หน้ากองมหันตโทษ เจ้าหน้าที่ได้จัดให้พวกเราและนักโทษทุกประเภท ขึ้นรถยนต์ไปยังสนามหญ้าภายในกระทรวงนครบาล (กระทรวงมหาดไทยในปัจจุบัน) ซึ่งได้จัดสถานที่เตรียมไว้พร้อมสรรพ มียกพื้นสำหรับผู้ให้โอวาทตั้งอยู่ด้านตะวันตก พอบรรดานักโทษลงรถแล้ว ก็ถูกคุมเป็นแถวเรียบร้อยไปยังกลางสนาม จัดให้นั่งพับเพียบเป็นประเภทๆ ตามข่าย ส่วนพวกเราอยู่แถวหน้าตรงกับหน้าผู้ให้โอวาทเป็นส่วนหนึ่งต่างหาก ไม่ปะปนกับนักโทษประเภทอื่น สักครู่หนึ่ง ฯพณฯ เจ้าพระยาอภัยราชามหายุติธรรมธร เสนาบดีกระทรวงยุติธรรมก็มาถึง ขึ้นยืนบนยกพื้น พวกเราทั้งสิ้น ณ ที่นั้นก็ก้มกราบแล้วนั่งท่าเดิมคอยฟังโอวาท เมื่อท่านได้กล่าวถึงเรื่องโปรดปล่อยตามพระราชกฤษฎีกาแล้ว ก็ให้โอวาทมีใจความว่า “ขอให้สูเจ้าทุกคนคิดถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ได้โปรดพระราชทานอภัยโทษแก่เจ้า หนทางดีที่จะคิดสนองพระเดชพระคุณก็คือ จงตั้งหน้าประกอบการอาชีพด้วยความสุจริตเที่ยงธรรมเยี่ยงพลเมืองทั้งหลาย อย่าได้คิดมิดีมิชอบอีกเลยในชีวิต ผลอันนั้นก็จะนำเจ้าไปสู่ความเจริญมั่งคั่งและสันติสุขตลอดกาล ฯลฯ ในที่สุดท่านก็ได้กล่าวคำให้ศีลให้พรแก่พวกเราเมื่อจบโอวาทแล้ว พวกเราทั้งหมดก็ก้มลงกราบรับโอวาทและพรของท่าน เป็นอันเสร็จพิธี แล้วต่างคนก็ต่างกล่าวคำอำลาเพื่อนฝูงและจากกัน ณ ที่นั้นเอง

น่าทราบไว้อีกสักหน่อยว่า พวกเรานักปฏิวัติทุกคนไม่ยอมแต่งตัวกลับบ้านด้วยเครื่องทรงใด ๆ ที่ญาติมิตรนำไปคอยมอบให้ แต่ต่างแต่งด้วยเครื่องทรงของนักโทษที่ติดตัวไปนั้นเอง จนกระทั่งถึงเคหสถานของตน ๆ ทั้งนี้จะมีความรู้สึกประการใดจากผู้ที่พบเห็นและญาติมิตรบ้าง พวกเราไม่ประสงค์จะพิจารณาและเอาใจใส่ พวกเราต้องการจะสวมเครื่องทรงสำรับนั้นไว้กับตัวในวันที่มีฤกษ์งามยามดีแก่ชีวิตใหม่ประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง ก็ต้องการเก็บมันไว้เป็นที่ระลึกจนกว่ามันจะขาดเปื่อยไปตามเวลากาลอันควรของมัน ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์ไม่น้อยสำหรับผู้ที่เคารพในความทรงจำแห่งอดีตของตน

ต่อไปนี้ เราใคร่จะสรุปน้ำพระทัยในพระมหาธีรราชเจ้า ที่มีต่อพวกเราโดยตรงและมีต่อประชาชนของพระองค์ หลังจากการปฏิวัติของคณะ ร.ศ. ๑๓๐ เป็นมูลเหตุไว้พอเป็นสังเขปดังนี้ :-

ที่มีต่อพวกเราซึ่งนับว่าเป็นครั้งสำคัญอย่างยิ่งนั้น ก็คือได้พระราชทานชีวิตพวกเราไว้จากคำพิพากษาของกรรมการศาลทหาร โดยเรามิแน่ใจนักว่า หากมิใช่พระประมุขพระองค์นั้นแล้ว พวกเราจะได้พ้นจากการประหารชีวิตหรือหาไม่ ขอให้ดูการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสมัยหลังจากนั้นมา ก็จะพบว่า น้ำพระทัย ของพระองค์สูงกว่าน้ำใจของหลายคนผู้ซึ่งเรียกตัวเองว่านักประชาธิปไตยเป็นไหนๆ

ครั้นเมื่อเสร็จสิ้นกระบวนความแห่งคดีปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐ แล้ว เราจำได้ไม่ผิดว่าองค์พระประมุขได้ทรงยอมให้รัฐบาลของพระองค์เรียกเก็บภาษีอากรได้จากทรัพย์สมบัติส่วนพระองค์ เยี่ยงพลเมืองทุกประการ ซึ่งแต่ก่อนนั้น ทรัพย์สินในพระคลังข้างที่ไม่ต้องเสียภาษีอากรเลย การฝึกเสือป่าก็ได้เพลาลง กระทำให้ข้าราชการทั้งทหารพลเรือนเชื่อมความสามัคคีขึ้นสบายขึ้น ตลอดจนเงินเดือนข้าราชการฝ่ายทหารก็ได้ปรับอัตราใหม่ให้สูงกว่าเดิม แล้วไม่ช้า ข้าราชการพลเรือนก็ได้เพิ่มตามมาอีกด้วย ตลอดจนยศถาบรรดาศักดิ์ ยิ่งกว่านั้น ยังได้ลดพระองค์ลงมาทาบกับระดับประชาธิปัตย์ โดยทรงเขียนความเห็นทางการเมือง ซึ่งใช้พระนามแฝงว่า “อัศวพาหุ” บ้าง “รามจิตติ” บ้าง ลงในหน้าหนังสือพิมพ์ ทำนองใคร่จะทรงสดับตรับฟังความคิดความเห็น (public opinion) ประชาชนที่รักของพระองค์ และถ้าความเห็นฉบับใดขัดแย้งกับพระองค์ พระองค์ก็ทรงโต้ด้วยน้ำพระทัยนักประชาธิปัตย์ มิได้เกรี้ยวกราดฟาดฟันด้วยพระอำนาจที่อาจจะกระทำได้นั้นเลย แม้แต่พวกเราเมื่อสมัยเป็นนักโทษ ก็ยังได้ขึ้นเวทีกับพระองค์มาแล้วดุจกัน การยึดเอาหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์เป็นเวทีประคารมกันนั้น บางคนมีฝีปากกล้าก็พูดเหน็บแนมพระองค์อย่างรุนแรง สาวกผู้ใกล้ชิดพระองค์ได้เล่าให้พวกเราฟังว่า บางครั้งทรงพระพิโรธถึงกับพระหัตถ์ที่ทรงรับหนังสือพิมพ์สั่นเทิ้ม และพระพักตร์แดง แต่ในไม่ช้าพระองค์ก็ทรงดับเสียได้ตามวิสัยปราชญ์ โดยทรงได้พระสติว่า “นายอัศวพาหุ” หรือ “นายรามจิตติ” นั้นก็คือ ประชาชน คนหนึ่ง มิใช่พระมหากษัตริย์

พวกเรายังรำลึกถึง น้ำพระทัย ในครั้งกระนั้นอยู่มิรู้วาย และในที่สุดควรนำมากล่าวรวมกันได้เสียเลย คือ พระองค์ได้ทรงตั้ง “ดุสิตธานี” เพื่อเป็นการฝึกข้าราชการในพระองค์ให้ได้ศึกษาการปกครองระบบประชาธิปไตยไปในตัว ซึ่งพวกเราก็ได้มีส่วนร่วมในการออกแบบ และในการสร้างบ้านเล็กเรือนน้อย ณ ดุสิตธานีนั้นด้วย

ท่านคิดหรือว่า ในกองมหันตโทษจะมี โรงเรียนแพทย์ พยาบาลแผนปัจจุบันตั้งขึ้นได้ หากพวกเรามิได้บังเอิญเข้าไปเป็นตัวละครโลดเต้นอยู่ด้วย ท่านอาจจะคิดไม่ถึงก็ได้ แต่ความจริงมันเป็นเช่นนั้น และก็ได้เป็นไปแล้วด้วย จนได้ผลิตแพทย์และบุรุษพยาบาลกับนางพยาบาลออกมาใช้การได้ดีหลายคน ความสำเร็จในเรื่องนี้ ไม่มีใครสามารถจะบันดาลได้ นอกจาก น้ำพระทัย พระมหาธีรราชเจ้า ที่ได้ย้อมด้วยน้ำใจของนักประชาธิปัตย์มาแล้วเป็นอย่างดี

อีกครั้งหนึ่งก็คือ เมื่อพวกเราได้รับพระมหากรุณาให้ลดโทษลง หลังจากที่ได้ทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาขออาสาไปในงานพระราชสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๐ นั้น ทำให้กำหนดโทษของพวกเราเหลือน้อยอย่างน่าปลาบปลื้ม และมองเห็นอนาคตอันสดใสอยู่ใกล้เต็มที ถึงกับเกิดพลังทางจิตใจที่จะได้สนองคุณบุพชนและประเทศชาติอีกวาระหนึ่งในชีวิต ก็พอดีได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานอภัยโทษดังกล่าว เท่ากับพระราชทานชีวิตให้เกิดใหม่ในเวลาอันรวดเร็วยิ่งขึ้น จึงกล่าวได้ “เป็น ยอดน้ำพระทัย ที่พวกเราทูนไว้เหนือหัวทุกทิวาราตรีกาล”

ในภาคสรุปนี้ เราใคร่จะกล่าวถึงเรื่องราวของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ พระมหากษัตริย์ฝรั่งเศสผู้เคราะห์ร้ายที่สุด ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์เนื่องจากสมัยการปฏิวัติฝรั่งเศสครั้งใหญ่ใน ค.ศ. ๑๗๘๙ ที่ชาวเราได้เคยทราบกันอยู่แล้วโดยมากนั้น ไว้สักเล็กน้อยเพียงหอมปากหอมคอเท่านั้น

พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ (จาก Doubledays’ Encyclopedia) มีพระชนมายุได้เพียง ๓๙ ปีเท่านั้น (ค.ศ. ๑๗๕๔ - ๙๓) นับว่ายังกำลังหนุ่มแน่นอยู่มาก ครองราชย์ได้เพียง ๑๘ ปี (ค.ศ. ๑๗๗๔ - ๙๒) นับว่าไม่น้อยเกินไป แต่พอถึงวันที่ ๒๑ มกราคม ค.ศ. ๑๗๙๓ ภายหลังการปฏิวัติใหญ่ได้ ๓ ปีเศษ พระองค์ก็สิ้นพระชนม์ในเครื่องประหารชีวิตกิโยติน พร้อมด้วยพระมเหษี มารี อังตัวเนตต์ ด้วยฝีมือของพวกปฏิวัติ มี โรเปสปีแอร์ (Robespierre) เป็นชั้นนำ ซึ่งลงท้ายเขาก็ได้ถูกสังหารด้วยกิโยตินจากพวกเดียวกัน แบบ “งูกินหาง” ดังที่เราเคยกล่าวมาแล้ว เนื่องจากความโหดร้ายของเขาทั้ง ๆ ที่เขาเป็นคนสุจริตต่อหน้าที่การงาน

เฉพาะองค์พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ นั้น นักประวัติศาสตร์เขียนไว้ตรงกันว่า ได้ประสบคราวร้ายที่สุดก็เพราะพวกแวดล้อม ที่พระองค์ทรงเพาะขึ้นไว้ คือพวกขุนนางและพวกราชสำนักในพระองค์ ซึ่งได้ประพฤติมิชอบต่าง ๆ นานาโดยอาศัยพระบารมีของเจ้าเหนือหัว จนทำให้ประชาชนรุมกันเกลียดชัง เขากล่าวกันว่า เมื่อพวกแวดล้อมเหล่านั้นเดินไปทางไหน ราษฎรที่พบปะ ก็ต้องคอยหลีกเลี่ยงประหนึ่งกับเจอพวกโจร ความข้อนี้จะทำให้พระเจ้าหลุยส์ทรงราชย์อยู่ต่อไปได้อย่างไรกัน จำเป็นต้องได้รับเคราะห์เข้าสักวันหนึ่งโดยไม่ต้องสงสัยเลย เนื่องจากพวกของพระองค์นั้นเอง

ที่จริง ในเรื่องจิตใจและความประพฤติของพระองค์นั้นยังมีส่วนดีอยู่มิใช่น้อย แม้จะทรงอ่อนต่อการเมือง อ่อนต่อวิทยาการและอ่อนต่อความยุติธรรมไปบ้างก็ตาม ดังเช่นที่พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ได้ ทรงวิจารณ์ไว้ในหนังสือ “ชุมนุมจุลจักรสาร” เมื่อปลาย พ.ศ. ๒๔๘๐ หน้า ๒๒๔ - ๒๒๕ นั้น ปรากฏชัดว่า “พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ พระมหากษัตริย์ผู้เคราะห์ร้าย แม้แต่จะมีพระทัยดีสุจริต มีแต่ความหวังดีต่อประชาชาติและตั้งมั่นอยู่ในศาสนาก็ดี แต่ก็ทรงเป็นบุรุษที่ไม่มีใจหนักแน่น ไม่สามารถจะต้านทานคำยุแยงของพวกราชสำนัก ที่ต่างพากันนึกถึงแต่อำนาจ และความสุขของตนเอง ดังนั้นพอจะทรงทำประโยชน์ให้แก่ประเทศจริง ๆ พวกราชสำนักก็ห้ามปรามไว้ได้เสมอ เพื่อประโยชน์ของตนเอง” นอกจากนี้ พระองค์จุลฯ ยังได้ประทานพระวิจารณ์ที่น่าจะเป็นประโยชน์แก่นักปฏิวัตินักปกครองอยู่มาก คือ “การปฏิวัตินั้น ถ้าผู้ก่อการไม่มีกำลังและใจแข็งพอ ที่จะปราบพวกที่เข้ามาผสมเพื่อประโยชน์ส่วนตัวแล้ว บ้านเมืองก็หันไปหาความวินาศและยุ่งยากที่สุด”

ความในภาคสรุปนี้ ย่อมบ่งให้เห็นเจตนารมณ์ของคณะ ร.ศ. ๑๓๐ ซึ่งมุ่งอยู่อย่างเดียวที่ตรง ประเทศชาติ โดยจะมีใครปกครองด้วยลัทธิใดระบอบใดก็ตาม ขอแต่ให้เริ่มต้นด้วยดี ดำเนินการด้วยดี และวางรากฐานลงไว้ด้วยดี ตามยุคตามสมัยแห่งความก้าวหน้าของโลก เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนคนไทยเจ้าของประเทศชาติเท่านั้น ก็เป็นอันสมนโนรถและนอนตาหลับที่สุด

ท่านอับราแฮม ลินคอล์น ประธานาธิบดีอเมริกาผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในการเลิกทาษนำโลกได้กล่าวไว้ว่า “รัฐบาลของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชนนั้น ย่อมต้องไม่สลายไปจากโลก” ซึ่งนับว่าเป็นหลักสำคัญที่สุดแห่งระบอบการปกครองประชาธิปไตยเสรี อยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ (That govermanent of the people by the people and for the people shall not perish from the earth.)

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ