ประวัติย่อ ของ ร.อ. ขุนทวยหาญพิทักษ์ (นายแพทย์เหล็ง ศรีจันทร์)

ร.ต. ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) เกิดวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๒๕ ณ ตำบลบ้านสมเด็จเจ้าพระยา เป็นบุตรนายลีและนางหน่าย ได้เรียนหนังสือไทยที่คณะมหาแบน วัดประยูรวงศาวาส เมื่ออายุ ๗ ขวบ ครั้นอายุ ๑๑ ขวบ ได้เข้าเรียนภาษาอังกฤษที่โรงเรียน ‘นริศสกูล’ ณ วัดมหรรณพาราม พออายุย่างเข้า ๑๕ ขวบ ก็เข้าเรียนวิชาแพทย์ที่โรงเรียนราชแพทยาลัยในศิริราชพยาบาล สำเร็จวิชาแพทย์เมื่ออายุครบ ๑๘ ขวบ ออกไปเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลศรีราชา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๔ ครั้น พ.ศ. ๒๔๔๖ ได้เข้าเป็นแพทย์ประจำโรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

ปี พ.ศ. ๒๔๔๗ เป็นนายแพทย์ตรีประจำโรงเรียนนายร้อยทหารบก ในระหว่างนี้ได้สมัครเข้าเรียนวิชาทหารเป็นนักเรียนสำรองนายร้อย สอบไล่ได้เป็นนายร้อยตรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘ ได้ติดอินทรธนูเป็นฝ่ายพลรบ สังกัดทหารราบ แต่ทำการในหน้าที่แพทย์ พ.ศ. ๒๔๕๑ ได้เลื่อนยศเป็นร้อยโท พ.ศ. ๒๔๕๒ เป็นร้อยเอก พ.ศ. ๒๔๕๓ ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นขุนทวยหาญพิทักษ์ มีตำแหน่งเป็นผู้บังคับกองพยาบาลโรงเรียนนายร้อยทหารบกทั้ง ๒ โรงเรียน

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๘ ได้ทำการสมรสกับนางอบ ศรีจันทร์ ต่อมาได้มีบุตรด้วยกันในตอนแรก ๓ คน เป็นชาย ๒ คน ชื่อลึก และ เลิศ เป็นหญิง ๑ ชื่อวิลัย แต่ได้เสียชีวิตเสีย ๒ คน คือ ลึก และวิลัย ในระหว่างที่บิดาต้องโทษ

ในวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๕๔ ได้ถูกจับเรื่องก่อการปฏิวัติร่วมด้วยคณะ ร.ศ. ๑๓๐ ในตำแหน่งหัวหน้าคณะปฏิวัติ ต้องรับพระราชอาญาจำคุกตลอดชีวิต และถูกถอดจากยศบรรดาศักดิ์สิ้น แต่ได้รับพระราชทานอภัยโทษ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๖๗ รวมเวลาที่ต้องโทษ ๑๒ ปีเศษ และใน พ.ศ. นั้นเอง ตรงกับวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ได้อุปสมบทเป็นภิกษุ ที่วัดสุทัศน์เทพวราราม เพื่อชำระจิตใจให้บริสุทธิ์

ครั้นวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๗ หลังจากลาอุปสมบทแล้ว ได้ตั้งห้างขายยาชื่อ ‘โยคีสถาน’ ที่ตึกวิมานนวรัตน์ ต่อมาเมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๔ ได้ย้ายมาตั้งที่ประตูสามยอด ถนนเจริญกรุง ให้ชื่อว่า “ห้างขายยาศรีจันทร์” ดังปรากฏอยู่จนขณะนี้

เมื่อหลังจากพ้นพระราชอาญาแล้ว ได้มีบุตรกับนางอบ ศรีจันทร์ ภรรยาเดิมอีก ๒ คน เป็นหญิงทั้งคู่ ชื่อ เรณู และ ยุพา เวลานี้บุตรธิดาที่เกิดกับภรรยาเดิม ยังคงมีชีวิตอยู่ ๓ คน คือ นายแพทย์เลิศ ศรีจันทร์ เรณู และ ยุพา

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ สมัยที่ประเทศไทยได้เปลี่ยนการปกครองเป็นประชาธิปไตยแล้ว ก็ได้รับยศและบรรดาศักดิ์คืนอีก โดยพระราชบัญญัติล้างมลทินโทษ พ.ศ. ๒๔๗๖

ต่อมาได้มีบุตรกับนางระเบียบ ศรีจันทร์ ๘ คน โดยลำดับ ดังนี้ คือ มาลินี (หญิง) วิทยา, ชาตรี, วิเศษ (ชาย) เยาวลักษณ์ (หญิง) สิทธิศักดิ์ (ชาย), อัคเรศ (หญิง) และ ปริญญา (ชาย)

มีบุตรธิดากับนางอ่อน ศรีจันทร์ ๘ คน โดยลำดับดังนี้ คือ ศรีสรรค์, นงลักษณ์, ลิลลี่ (หญิง) สุทธิพงศ์ (ชาย) อรชร, สายสมร (หญิง) ขจร (ชาย) และอาภรณ์ (หญิง)

มีบุตรกับธิดานางวิศรี ศรีจันทร์ ๒ คน คือ กระสินธุ์ (ชาย) และ เทวี (หญิง)

ร.ต. ขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์) ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๑๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ คำนวณอายุได้ ๗๗ ปี ๒ เดือน กับ ๒๔ วัน.

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ