คำนำ

ข้าพเจ้ารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ที่ ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์ กับ ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ นักปฏิวัติคนแรกของเมืองไทยเมื่อครึ่งศตวรรษก่อน ได้มอบให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ตรวจแก้และเขียนคำนำหนังสือเรื่องนี้ อันท่านได้บันทึกขึ้นจากความทรงจำด้วยมือของท่านเอง เกียรติอันยิ่งใหญ่นี้ข้าพเจ้ามิควรได้รับเลย เพราะข้าพเจ้าเป็นผู้อ่อนอาวุโสกว่ามากประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่ง หนังสือเรื่องการปฏิวัติสมัยแรกของไทย ร.ศ. ๑๓๐ นี้ เป็นหนังสือสำคัญที่สุดเล่มหนึ่งของชาติไทย เป็นบันทึกประวัติการเคลื่อนไหวอันเป็นวีระกรรมของประชาชนเพื่อระบอบประชาธิปไตยยุคแรก ซึ่งมิได้มีนักปฏิวัติคนใดบันทึกไว้เลย

จากความรู้สึกอันจริงใจของข้าพเจ้า หนังสือเรื่องการปฏิวัติสมัยแรกของไทย ร.ศ. ๑๓๐ เป็นหนังสือที่ควรรักษาไว้ในหอพระสมุดแห่งชาติ ในฐานะที่เป็นสมบัติอันล้ำค่าของอนุชนคนไทย ผู้มีหน้าที่และความรับผิดชอบที่ตนจะต้องสร้างสรรค์ความสมบูรณ์ให้แก่ระบอบประชาธิปไตยสืบต่อไป ข้าพเจ้าได้อ่านบันทึกของท่านนักปฏิวัติผู้มีอาวุโสทั้งสองอย่างละเอียด และเกิดความแน่ใจว่า คำพังเพยที่ว่า “กรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี” นั้น เป็นคำที่มิได้เพียงแต่จะคอยให้กำลังใจแก่เราเท่านั้น หาก มีความจริงอยู่ด้วยเป็นอันมาก

เมื่อกรุงศรีอยุธยาได้เสียแก่พม่าครั้งสุดท้าย เราได้มีคนดีมากู้ชาติ คือพระเจ้าตากสิน ต่อจากนั้นคนดีอีกกลุ่มหนึ่งในราชวงศ์จักรี ก็พยายามสร้างสรรค์จรรโลงชาติไทยเรื่อยมาด้วยทศพิธราชธรรม ซึ่งทำให้ชาติไทยได้ดำรงอยู่ด้วยความเป็นปึกแผ่นแน่นหนาตราบเท่าทุกวันนี้ และเมื่อเปรียบกับประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบแล้ว เราคนไทยที่รู้สึกว่า เรามีบางสิ่งบางอย่างจะต้องภาคภูมิใจในตัวของเรา และบางสิ่งบางอย่างนั้น ก็คือลักษณะนิสัยอันหนึ่ง ที่กล้าเสียสละแม้ชีวิต เพื่อชาติบ้านเมือง เมื่อนาทีนั้นได้มาถึง

พฤติการณ์ของคณะปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐ เป็นการเสียสละอันหนึ่งที่สูงด้วยคุณค่า ที่ว่าสูงด้วยคุณค่าก็เพราะคณะปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐ ได้มีอุดมการของระบอบประชาธิปไตย ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะกล่าวว่าทางด้านประชาชน คณะปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐ ได้บุกเบิกทางให้แก่การปกครองระบอบประชาธิปไตย ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก

แต่ว่า เช่นเดียวกับที่ท่านนักปฏิวัติผู้มีอาวุโสทั้งสองได้กล่าวไว้ในหนังสือเล่มนี้ ข้าพเจ้าก็กล้ายืนยันว่า ทางด้านราชวงศ์จักรีผู้ทรงมีพระคุณต่อชาติไทย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ ผู้ทรงเป็นคู่กรณีกับคณะปฏิวัติ รศ. ๑๓๐ ก็ได้ทรงเป็นกษัตริย์ไทยองค์สำคัญยิ่งที่ได้บุกเบิกทางให้แก่การปกครองระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยเช่นเดียวกัน

เพราะฉะนั้น จึงเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์มาก ในการที่องค์พระมหากษัตริย์และประชาชนกลุ่มหนึ่ง ได้เกิดความสำนึกถึงอุดมคติประชาธิปไตยขึ้นในกาละอันเดียวกัน ซึ่งต้องถือว่า เป็นศุภนิมิตอันดีของชาติไทย

ในบันทึกของท่านนักปฏิวัติผู้มีอาวุโสทั้งสอง ข้าพเจ้าได้พบข้อความที่กินใจข้าพเจ้าอยู่ตอนหนึ่ง คือตอนที่พระมหาธีรราชเจ้ารัชกาลที่ ๖ ทรง “เล่นดุสิตธานี” เพื่อวางรากฐานแห่งความรู้สึกในระบอบการปกครองประชาธิปไตยให้แก่คนไทย ในตอนนั้นท่านนักปฏิบัติทั้งสองได้เขียนไว้ว่า คณะของท่านซึ่งกำลังอยู่ในคุก ก็ได้มีโอกาสร่วมการวางรากฐานประชาธิปไตยให้แก่คนไทยด้วยเหมือนกัน กล่าวคือได้เป็นผู้สร้างบ้านเล็ก ๆ มากมายหลายหลังในดุสิตธานี ดุสิตธานีนี้เป็นธานีแห่งระบอบการปกครองตามลัทธิประชาธิปไตย มีการโฆษณาหาเสียงและเลือกตั้งผู้แทนราษฎร ซึ่งได้กระทำกันจริงๆ ล้วนเป็นศุภนิมิตที่แสดงว่า ต่อไปเมืองไทยจะได้เป็นเมืองประชาธิปไตย สมดังเจตน์จำนงอันแรงกล้า ของกลุ่มประชาชนที่บุกเบิกทางออกไปด้วยการยอมเอาชีวิตเป็นเดิมพันกลุ่มนั้น คือคณะปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐

แต่ว่าชีวิตก็คือนิยายอันหนึ่ง ซึ่งจะปราศจากตัวผู้ร้ายเสียมิได้ การเคลื่อนไหวไหวอันเป็นวีระกรรมของประชาชน เพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนคนไทยในยุคนั้น ก็เป็นการเคลื่อนไหวของชีวิตส่วนหนึ่ง ซึ่งหนีความจริงข้อนี้ไปไม่ได้ คณะปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐ ต้องถูกจับกุมเข้าคุกและต้องเสียชีวิตไปหลายท่านระหว่างจองจำ เพราะได้เกิดมีผู้ร้ายขึ้น ซึ่งได้กระทำการทรยศหักหลังนำความลับของคณะไปเปิดเผยเพื่อหาความดีความชอบก่อนจะลงมือปฏิวัติเพียงไม่กี่วัน การกระทำของผู้ร้ายคนนี้ ได้ทำลายการเคลื่อนไหวของนักประชาธิปไตยยุคแรกลงอย่างสิ้นเชิง นับว่าเป็นการทรยศต่ออุดมคติของประชาชนเป็นครั้งแรก ซึ่งถ้าจะถือว่าเป็นลางร้ายของระบอบประชาธิปไตยก็น่าจะถือได้ เพราะหลังจากการปฏิวัติครั้งที่สอง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ก็ได้มีผู้ร้ายนักการเมืองเกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตยอีกเป็นอันมาก ซึ่งได้สร้างความหม่นหมองเสื่อมโทรมให้แก่การปกครองระบอบนี้เรื่อยมาด้วยการโกงชาติโกงประชาชน ใช้อำนาจหน้าที่กอบโกยเงินทองในทางที่ไม่สุจริต และแก่งแย่งประชาชนทำมาหากินอย่างไม่มีความละอาย อันล้วนเป็นการละเมิดจรรยาบรรณและความเป็นผู้ดีของระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น

ข้าพเจ้าสนใจกับตัวผู้ร้ายในคณะปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐ ก็เพราะผู้ร้ายคนนี้นอกจากจะช่วยเทิดวีระกรรมของนักปฏิบัติ ร.ศ. ๑๓๐ ให้เด่นขึ้นอย่างถนัดเหมือนกับสีดำช่วยขับสีขาวแล้ว ยังช่วยให้ข้าพเจ้าได้สำนึกด้วยความแน่ใจยิ่งขึ้นอีกว่า กฎแห่งกรรม นั้นมีแน่นอน ข้าพเจ้าไม่ประหลาดใจที่เหตุใดตลอดยี่สิบปีที่แล้วมา กระเบื้องจึงเฟื่องฟูลอย แต่น้ำเต้าอันน้อยกลับถอยจม เช่นเดียวกับที่ข้าพเจ้าไม่ประหลาดใจ เมื่อได้อ่านเรื่องการปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐ และพบว่าวีระชนของประชาชนกลุ่มนั้นต้องไปตกนรกอยู่ในตะราง แต่ในเวลาเดียวกัน ตัวผู้ร้ายผู้ทำการทรยศหักหลัง เขากลับมีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตถึงขนาดได้เป็นถึงพระยา แต่จะอย่างไรก็ตามข้าพเจ้าก็ได้พบบทพิสูจน์แล้วจากบันทึกของท่านนักปฏิบัติทั้งสองนั้น คือบทที่พิสูจน์ว่า มนุษย์ทุกคนที่ได้เกิดมาแล้วต้องอยู่ใต้กฎแห่งกรรม จะหนีกฎแห่งกรรมไปไม่ได้เลย ผู้ร้ายของคณะปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐ คนนี้ แม้จะได้พบความรุ่งเรืองด้วยตำแหน่งหน้าที่และยศถาบรรดาศักดิ์ และแม้จะได้รอดพ้นจากการถูกยิงเป้าเพื่อเซ่นธงชัยตามความคิดของท่านเชษฐบุรุษ พระยาพหลพลพยุเสนาไปได้อย่างหวุดหวิตในตอนเช้ามืดของวันปฏิวัติครั้งที่สอง คือวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ แต่เขาก็หนีกรรมชั่วของเขาไม่พ้น เขาถูกจับฐานกบฏใน พ.ศ. ๒๔๗๖ และอีกไม่นานเขาก็ผูกคอตัวเองตายอยู่ภายในห้องส้วมที่คุกใหญ่บางขวาง นั่นคือความสิ้นสุดของผู้ร้ายการเมืองผู้เป็นศัตรูของประชาชนแห่งระบอบประชาธิปไตย ซึ่งไม่ควรจะต่างกับความสิ้นสุดของผู้ร้ายนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอีกมากมายหลายคนในสมัยต่อ ๆ มา

ในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่ง ข้าพเจ้าเข้าใจว่า ประวัติการปฏิวัติของไทยสมัยแรก ร.ศ. ๑๓๐ ซึ่งเป็น “คำให้การ” ของผู้ที่ได้ทำการปฏิวัติเอง คงจะช่วยเตือนความทรงจำของคนไทยเจ้าของชาติไทยให้รำลึกว่า การปฏิวัติเพื่อระบอบประชาธิปไตยได้เริ่มต้นมาครึ่งศตวรรษแล้ว มิได้เพิ่งจะตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ งานของคณะปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐ ได้เป็นชนวนที่ลุกอยู่เงียบ ๆ ซึ่งช่วยจุดชนวนของการปฏิวัติในสมัยต่อมา ไม่มีปัญหาเลย การปฏิวัติเมื่อ ร.ศ. ๑๓๐ ย่อมจะได้เป็นอิทธิพลทางใจอันหนึ่ง ที่ช่วยโน้มน้าวพระราชหฤทัยของพระมหาธีรราชเจ้า รัชกาลที่ ๖ ซึ่งมีพระเมตตาคุณเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว ให้หันเหมาในทิศทางของประชาธิปไตยมากขึ้นเสมอ ดังจะเห็นได้จากการเล่น “ดุสิตธานี” และพระราชนิพนธ์ธรรมนูญการปกครองของดุสิตธานี ตลอดจนพระราชนิพนธ์ในหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์ ซึ่งทรงโต้ตอบกับข้อคิดและข้อเขียนของพสกนิกรในเรื่องการปกครองเสมือนทรงเป็นสามัญชนคนหนึ่ง เสรีภาพของหนังสือพิมพ์ที่พระองค์พระราชทานให้แก่หนังสือพิมพ์ในยุคนั้น ได้เป็นสัญญลักษณ์อันสำคัญยิ่งที่แสดงว่า ประชาธิปไตยได้เริ่มต้นแล้วในชีวิตจิตใจของคนไทย การปฏิวัติเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นเพียงเทฆนิคอันหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเท่านั้น

ด้วยชีวิตจิตใจของคนไทยที่เทิดทูนเสรีภาพเหนือสิ่งอื่นใด ข้าพเจ้าขอแสดงความสำนึกในบุญคุณของคณะปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐ ผู้เบิกทางให้แก่ประชาธิปไตยของคนไทยด้วยการเสียสละอย่างสูงไว้ ณ ที่นี้ ข้าพเจ้าเชื่อว่าวีระกรรมของคณะปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐ จะต้องเป็นเครื่องเตือนใจให้อนุชนคนไทย ทั้งในวันนี้และวันหน้าได้รำลึกว่า สิทธิของการเป็นพลเมืองเจ้าของชาติ ซึ่งเราได้ไว้ ณะบัดนี้ เป็นสิทธิที่เราจะต้องหวงแหนและรักษาไว้ด้วยชีวิต.

สด กูรมะโรหิต

ไร่แผ่นดินไทย

๒๑ มกราคม ๒๕๐๓

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ