ภาค ๓ วางแผนขยายกำลังทั่วประเทศ และ ได้สมาชิก “ผู้หักหลัง”

กอปรด้วยหัวข้อย่อดังนี้ :-

- ในวันถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา คณะปฏิวัติจะทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือ

- จัดส่งสมาชิกออกไปเกลี้ยกล่อมทหารหัวเมืองเพื่อขยายกำลัง

- มติส่วนใหญ่เชื่อว่า จะไม่ถึงต้องเปลี่ยนองค์พระประมุขของชาติ

- “ผู้หักหลัง” เข้าร่วมคณะ

- ร.ต. เนตร ค้านไม่ให้รับ “ผู้หักหลัง”

- “ผู้หักหลัง ร่วมประชุม ณ สำนักทนายความ ร.ท. จรูญ

- บังเกิดลางร้าย จาก “ผู้หักหลัง”

- “ผู้หักหลัง” กลับจากประชุมก็ หักหลัง

- ทูลกระหม่อม ฯ เฝ้าพระมงกุฎเกล้า ฯ กระทันหัน

 

ยังเหลือเวลาอีกประมาณ ๕๐ กว่าวันเท่านั้น ก็จะถึงวาระอุดมฤกษ์แห่งคณะปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔) ที่จะเบิกโรงดำเนินการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย หนังสืออันเป็นประวัติศาสตร์ของชาติไท แด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระประมุขแห่งชาติ ด้วยคารวะอย่างสูง และละมุนละม่อม โดยหัวหน้าคณะปฏิวัติ ณ ภายในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ท่ามกลางบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ และมวลอำมาตย์ราชบริพารชั้นผู้ใหญ่ ในพระราชพิธีศรีสัจจปานกาลถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ในวันต้นเดือนเมษายน ร.ศ. ๑๓๑ (พ.ศ. ๒๔๕๕) อันเป็นวันขึ้นปีใหม่ของสมัยนั้น โดยมีกำลังทหารทุกเหล่าในพระนคร พร้อมด้วยอาวุธ ซึ่งโดยปรกติทุกปีมา เคยตั้งแถวเป็นเกียรติยศรับเสด็จพระราชดำเนิน ณ สนามหญ้าหลังวัดพระแก้วโดยพร้อมสรรพ และเฉพาะปีนั้นก็พร้อมที่จะคอยฟังคำสั่งของคณะปฏิวัติอยู่รอบด้านอีกด้วย เพราะทหารทุกคน ณ ที่นั้น เป็นทหารของคณะปฏิวัติแล้วเกือบสิ้นเชิง แม้แต่ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ และทหารราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์ ที่ถือปืนสวมดาบปลายปืนยืนยามรักษาพระองค์อยู่หน้าประตูโบสถ์ ซึ่งใกล้ชิดพระประมุขก็คือทหารคณะปฏิวัตินั่นเอง

ตามแผนการของคณะ จักไม่มีการต่อสู้กันเลย จากทหารผู้ถืออาวุธภายในพระนคร เพราะหน่วยกำลังที่จะช่วงใช้อาวุธเพื่อรบราฆ่าฟันกันเอง จะมีขึ้นไม่ได้เป็นอันขาด แม้นายทัพนายกองชั้นสูงคนใดจะออกคำสั่ง ก็หาเป็นผลประการใดไม่ ค่าที่หน่วยกำลังอันแท้จริงที่เรียกว่า กลจักรของกองทัพนั้น ได้ตกอยู่ในกำมือของพรรคปฏิวัติดังกล่าว นับแต่ชั้นพลทหารและนายสิบขึ้นไปจนถึงนายทหารผู้บังคับบัญชาโดยตรง คือชั้นประจำกอง มีแต่จะกลับตาละปัตร โดยคณะปฏิวัติจำต้องจัดหน่วยกล้าตายออกคุมจุดสำคัญ ๆ ในพระนครพร้อมกัน เมื่อได้ยินเสียงกระหึ่มของปืนใหญ่อาณัติสัญญาณลั่นขึ้นในพระนครสองสามแห่งและพร้อมกันนั้นก็ว่าต้องใช้กำลังเข้าขอร้องเชิงบังคับ ให้นายทหารชั้นผู้ใหญ่บางคนที่คณะเห็นสมควรและชี้ตัวไว้แล้ว มาดำเนินการร่วมด้วยกับคณะในบางตำแหน่ง โดยขอให้เขาพิจารณาตัดสินใจทันทีเพื่อความเจริญของชาติไทยในสมัยอารยนิยม คณะปฏิวัติมีความหวังอย่างเต็มเปี่ยมและภาคภูมิว่า ความสัมฤทธิผลจักต้องเป็นของคณะปฏิวัติด้วยดีทุกประการ

ณ ที่นี้ เราผู้เขียนสมควรจะกล่าวไว้เสียเลยทีเดียวว่า หากบังเอิญองค์พระประมุขของชาติได้ทรงพิจารณาอย่างรอบคอบ และมีพระบรมราชวินิจฉัยให้เป็นไปตามหนังสือของคณะปฏิวัติที่ทูลเกล้าฯ ถวายด้วยดีที่สุด เพื่อขอพระมหากรุณาให้ทรงลดพระราชอำนาจลงมาอยู่ภายใต้กฎหมายอันสูงสุดของชาติ คือ รัฐธรรมนูญ อันจะเป็นองค์มิ่งขวัญนำประชาชาติให้ขึ้นสู่อารยยุค ให้เทียมบ่าเทียมไหล่นานาประเทศ เป็นที่ลือชาปรากฏพระบรมนามาภิไธยจาริึกไว้ในพระราชพงษาวดารและประวัติศาสตร์แห่งโลกสืบไป เยี่ยงประเทศญี่ปุ่นนั้นแล้วไซร้ งานปฏิวัติก็จักดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยงดงามหาที่เปรียบมิได้ โดยขึ้นชื่อว่ามีพระประมุขพระองค์เดิมนั้นเองทรงร่วมงาน พระราชทานความสันติสุขไปทั่วแผ่นดินไทย สมดั่งที่พระองค์ได้ทรงศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ อักษรศาสตร์ วิชาทหาร และนิติศาสตร์ มาอย่างเชี่ยวชาญทุกแขนง ซึ่งความคาดหวังของคณะปฏิวัติในครั้งนั้นคิดว่าไม่ผิดพลาดแน่แท้ แต่ฉวยว่าถ้าเผอิญเกิดความผิดหวังขึ้น ก็เป็นความจำเป็นที่สุดที่คณะจะต้องเดินหน้าต่อไป สุดแล้วแต่เหตุการณ์และสถานะการณ์ในขณะนั้นจะดลบันดาลให้เป็นไป

ฉะนั้น จึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดความรอบคอบขึ้นแก่คณะ ร.ศ. ๑๓๐ ตามมติข้อ ๓ ที่ได้ปรากฏมาแล้วในคราวประชุมใหญ่ครั้งที่ ๒ ว่าให้ส่งคนออกไปเกลี้ยกล่อม ยึดกำลังทหารในต่างจังหวัดที่จำเป็นเข้าไว้ เพื่อตัดหน่วยกำลังของรัฐบาล อันหากจะมีการต่อสู้กันขึ้นโดยพันเอิญในชั้นหลัง ๆ เพราะถ้าเมื่อทหารในจังหวัดสำคัญ ๆ และใกล้เคียงพระนคร ได้เข้ามาเป็นสมัครพรรคพวกคณะปฏิวัติเสียก่อนแล้ว ด้วยกำลังน้ำใจของทหาร (Spirit) โดยมากก็ย่อมมุ่งมั่นในอารมณ์ปรารถนาไปในวิถีทางเดียวกันนั้นจนถึงที่สุด

ดั่งนั้น คณะจึงได้ตกลงพร้อมเพรียงกันว่า มณฑลอยุธยาซึ่งมีหน่วยทหารกองพลที่ ๓ ประจำอยู่เป็นมณฑลใกล้เคียงพระนครมากอาจยกพลลงมาได้ภายใน ๑ ชั่วโมงเศษ ๆ ทั้งทางบกทางน้ำ จำเป็นจะต้องส่งคนขึ้นไปเกลี้ยกล่อมเอาเป็นกำลังเข้าไว้เสียโดยเร็ว ผู้ที่จะเป็นตัวแทนคณะขึ้นไปนั้น ในชั้นต้นเปิดโอกาสให้เป็นความสมัครใจของสมาชิกดูก่อน เพราะการเกลี้ยกล่อมจะสำเร็จได้เร็วด้วยดี ย่อมขึ้นอยู่ที่ความคุ้นเคยสนิทสนมของนายทหารมาแต่สมัยเป็นนักเรียนนายร้อยหรือนักเรียนสามัญด้วยกัน หรือมิฉะนั้นก็เป็นวงศาคณาญาติ หรือเคยรับราชการร่วมกรมกองเดียวกันมา ย่อมเห็นอกเห็นใจเป็นกันเองทุกอย่าง ดังเช่น ร.ต. เหรียญ กับ ร.ต. จรูญ เคยร่วมงานกันมาแต่ครั้งประจำการอยู่ในมณฑลนครไชยศรี ตามที่บรรยายมาแล้วเป็นอาทิ เฉพาะมณฑลอยุธยานี้ ก็ได้มีผู้สมัครใจรับอาสาขึ้นเอง คือ ร.ต. หม่อมราชวงศ์ แช่ รัชนิกร สมาชิกรุ่นริเริ่ม คณะจึงรีบจัดส่ง ม.ร.ว. แช่ ออกไปตามความสมัครใจ พร้อมด้วยอุปกรณ์การเดินทางและวิธีการเกลี้ยกล่อมโดยครบถ้วน และในวันที่ ม.ร.ว. แช่ ออกเดินทางโดยรถไฟจากสถานีหัวลำโพง ก็มีคณะพรรคไปส่งเป็นกำลังใจ เพื่ออวยพรให้ทำงานสำเร็จสมประสงค์ด้วยดี ปราศจากอุปสรรคทั้งมวล การไปของ ม.ร.ว. แช่ ได้จัดการยื่นใบลาต่อผู้บังคับบัญชาตามระเบียบ เพื่อไปกิจธุระส่วนตัวตามคติของคณะ โดยมิให้เสื่อมเสียและมิให้เป็นที่เคลือบแคลงสงสัยแต่อย่างใดเลย

ส่วนหน่วยทหารในมณฑลอื่น ๆ เช่น ทหารกองพลที่ ๒ มณฑลนครไชยศรี ก็ตกเป็นหน้าที่ ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์ กับ ร.ต. จรูญ ษตะเมษ ผู้เป็นต้นคิด ได้ขอรับอาสาออกไปเกลี้ยกล่อม เพราะได้เคยคุ้นกับทหารทุกชั้นเป็นอย่างดียิ่ง ตลอดจนข้าราชการฝ่ายบ้านเมืองและราษฎรทั่ว ๆ ไป ดั่งได้บรรยายมาแล้วในภาค ๑ คณะได้ให้ความหวังในความสำเร็จล่วงหน้าไว้เป็นอย่างดีมาก

ถัดจากมณฑลนครไชยศรีออกไป ก็มีหน่วยทหารกองพลที่ ๔ มณฑลราชบุรี และจังหวัดเพชรบุรี ทหารกองพลนี้มีชื่อเสียงว่าเป็นทหารที่เข้มแข็งอยู่มาก และมักเป็นทหารที่เฉลียวฉลาดมิใช่น้อย จนเป็นที่รู้จักกันในหมู่ทหารและประชาชน ก็มีผู้รับอาษาออกไปทำการเกลี้ยกล่อมอีกเช่นกัน โดยคณะมิต้องบ่งตัวหรือคัดเลือกลงมติ เขาผู้นั้นคือ ร.ต. บุญ แตงวิเชียร ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ (ต่อมาเมื่อประมาณ ๑๐ กว่าปีนี้เอง เขาเคยเป็นพัศดีเรือนจำที่มีชื่อเสียงในการปกครองและการงานผู้หนึ่งในจังหวัดเพชรบุรี) กับคณะได้ขอร้องให้ ร.ต. โกย ซึ่งเป็นผู้ที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดเพชรบุรีมาแต่บุพชน ได้รับความเคารพนับถือจากชาวเพชรบุรีแทบทั้งจังหวัด ไปร่วมมือกับ ร.ต. บุญ ในการเกลี้ยกล่อมทหารในจังหวัดนั้น และให้กินอาณาเขตขึ้นมาจนถึงจังหวัดราชบุรีด้วย รวมเป็น ๒ จังหวัดด้วยกัน

ฝ่ายมณฑลภาคเหนือที่อยู่เลยมณฑลอยุธยาขึ้นไป ซึ่งยังมีความจำเป็นอยู่มากก็ตรงมณฑลนครสวรรค์ มีหน่วยทหารกองพลที่ ๖ ตั้งอยู่ แม้จะมีกำลังทหารกองพลที่ ๓ ในอยุธยาตั้งกั้นกางขวางหน้าอยู่แล้วก็ดี ก็ยังไม่ควรประมาทเสียเลยทีเดียว ทั้งถ้ายิ่งได้กำลังในเขตภาคกลางมากขึ้นอีกเท่าใดก็ยิ่งดี เผอิญมีผู้อาสาสมัครไปเกลี้ยกล่อมให้อีก เขาผู้นั้นคือ ร.ต. จันทร์ ปานสีดำ ผู้ซึ่งเกิดที่นั่นและออกรับราชการเป็นนายทหารประจำหน่วยกองพลที่ ๖ แห่งมณฑลนั้นมาแล้วด้วย ช่างเป็นการสมมโนรถของคณะเสียเหลือเกิน คณะจึงดำเนินการไปตามความสมัครใจของ ร.ต. จันทร์

มณฑลพิษณุโลก ซึ่งเป็นที่ตั้งหน่วยทหารกองพลที่ ๗ และก็เป็นทหารที่ค่อนข้างจะเข้มแข็งอยู่เหมือนกัน คณะดำริจะหาตัวบุคคลที่เหมาะสมส่งออกไปอยู่เช่นเดียวกัน แต่ถ้าหากยังไม่มีผู้ใดเหมาะสมก็อาจจะระงับเสียได้ เพราะกำลังสำคัญทางอยุธยาและนครสวรรค์ ก็เพียงพอสามารถจะสะกัดกั้นและส่งกำลังช่วยกันได้รวดเร็วอยู่แล้ว ทั้งเสบียงอาหารของสองมณฑลนั้น ก็อุดมสมบูรณ์พอที่จะยืนหยัดได้นานอย่างน่าไว้วางใจ แต่ก็เพราะเลือกคนผิดสำหรับมณฑลพิษณุโลกนี้เอง จึงเจอะเอา “ผู้หักหลัง” เข้า กระทำให้แผนการเพื่อชาติต้องพังทลายลงอย่างน่าสลดใจยิ่งนัก ซึ่งจำต้องแถลงไว้ในประวัติศาสตร์นี้ เพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่อนุชน ผู้ซึ่งจะเป็นผู้ใหญ่ของชาติไทยในอนาคตสืบไป

ยังมีอีกมณฑลหนึ่งเป็นมณฑลสำคัญ คือ มณฑลนครราชสีมา (โคราช) ในภาคอิสาณมีหน่วยทหารกองพลที่ ๕ ตั้งอยู่ ทหารกองพลนี้เคยมีประวัติในทางน้ำอดน้ำทนจนเป็นที่รู้จักกันทั่ว แต่ทางคณะเล็งเห็นว่า การคมนาคมขณะนั้นมิสู้จะสะดวกนัก ทั้งทางรถไฟสายนั้น ก็จะต้องผ่านมาบรรจบกับทางรถไฟสายเหนือที่สถานีบ้านพาชี ไหนเลยจะรอดพ้นไปจากกำลังส่วนใหญ่ของกองพลที่ ๓ อยุธยา และกองพลที่ ๖ นครสวรรค์ไปได้ตลอด ประกอบด้วยว่าสำหรับภาคอิสาณนั้น คณะมีนโยบายไม่ประสงค์จะทำให้เกิดความกระเทือนใจแก่พลเมือง อย่างเดียวกับมณฑลพายัพ มีจังหวัดเชียงใหม่เป็นต้น เพราะมีกรณีจำเป็นบางประการที่เกี่ยวกับส่วนลึกของการเมือง คณะจึงใช้วิธีขอร้องให้ผู้ที่เกิดหรือเคยอยู่ หรือมีญาติมิตรสนิทชิดเชื้อกันในมณฑลนั้น ๆ หาทางที่ดีที่สุด ส่งไมตรีสัมพันธ์เพื่อประสานทางจิตสำนึก ให้เกิดความคิดไปในทางที่เห็นแก่ส่วนรวม ในเมื่อการปฏิวัติอุบัติขึ้นทางพระนคร ซึ่งจะต้องมีคำประกาศต่าง ๆ แพร่สะพัดไปโดยฉับพลันทันด่วนเป็นธรรมดา

นอกจากนั้น ก็มีมณฑลปราจีนบุรี เป็นที่ตั้งหน่วยทหารกองพลที่ ๙ ได้ผ่านเข้ามาในความดำหริเหมือนกัน แต่ไม่สู้จะมีความสำคัญนัก ทหารในพระนครอาจยับยั้งหรือยันอยู่ ทั้งมีสมาชิกบางคนรับเป็นสื่อส่งไมตรีสัมพันธ์อย่างทำนองบางจังหวัดให้ด้วย

เรื่องจัดการสื่อไมตรีสัมพันธ์นี้ นับเป็นกรรมวิธีที่น่าเลื่อมใสอย่างหนึ่ง อาจจะใช้ทางไปรษณีย์ หรือสั่งเสียผู้ที่ไปมาอย่างแนบเนียน คณะจึงขอร้องให้สมาชิกทุกคนช่วยดำเนินการเท่าที่สามารถ โดยให้เลือกติดต่อกับผู้ที่สนิทสนม และมีสมองปฏิวัติอยู่แล้ว จะได้แน่ใจว่าไม่เป็นภัยต่อคณะ แต่เป็นการปลุกให้ตื่นเสียแต่เบื้องต้น จะได้ไม่ตระหนกตกใจ หรือยิ่งให้ความสนับสนุนเป็นปากเสียงหรือหูตา อันเป็นประโยชน์โปรดผลแก่การปฏิวัติของคณะด้วยก็ยิ่งประเสริฐนัก

การส่งคนออกไปเกลี้ยกล่อมในต่างจังหวัด แม้จะมีเวลาไม่สู้มากนัก แต่ก็นับว่าได้ผลไม่เลวเลย เท่าที่ปรากฏจากรายงานของผู้เกลี้ยกล่อมไว้แล้ว ยืนยันว่านายทหารหนุ่ม ๆ รู้สึกใจร้อนที่ใคร่จะได้เห็นชาติภูมิของตน ๆ เจริญก้าวหน้าเทียมทันอารยประเทศด้วยกันทั้งนั้น ยิ่งได้ใช้ความเห็นใบหน้าหนังสือพิมพ์เป็นเครื่องมือสนทนาด้วยแล้ว ยิ่งเข้าถึงง่ายและรวดเร็ว เพราะหนังสือพิมพ์เป็นเสียงประชาชน ย่อมดังอยู่ในหมู่ประชาชน ทหารก็คือประชาชนเรานั่นเอง เมื่อนักเกลี้ยกล่อมหาวิธีเข้าถึงขั้วหัวใจด้วยเหตุด้วยผลและด้วยความเป็นจริง ซึ่งได้เกิดขึ้นแล้วในประเทศแต่หนหลัง และที่กำลังกระทบกระเทือนใจประชาชนอยู่ ตามที่ปรากฏในภาคต้น ๆ ก็หาผู้ปฏิเสธหรือโต้แย้งยากในอันที่จะถูกกรอกด้วยเสียงเกลี้ยกล่อม แต่มักจะมีผู้ชอบซักไซร้ไต่ถามถึงตัวหัวหน้าคณะปฏิวัติกันโดยมาก เพื่อความแน่ใจของเขาว่าจะควรตามหรือไม่ ซึ่งในแบบคำเกลี้ยกล่อมได้ระบุไว้ชัดว่า คำอำพรางหรือการทำข่าวเพื่อก่อผลดีให้แก่ชาติ ย่อมได้รับอภัย และให้พินิจพิเคราะห์ถึงน้ำใจของผู้ถาม ตลอดจนพฤติกรรมของเขา ว่าเขาพอใจผู้ใดที่เป็นคนสำคัญของชาติ หากผู้นั้นอยู่ในข่ายของคณะที่ต้องประสงค์จะเชิญมาเข้าร่วมพรรคอยู่แล้ว ก็ให้หาคำพูดที่พอจะเชื่อมให้เห็นคล้อยไปทางผู้นั้นให้จงได้ ขณะนั้นหมอเหล็งเป็นคนโปรดของเจ้าฟ้าจักรพงษ์ ผู้ซึ่งทหารส่วนมากถวายความเคารพนับถือ และข้าราชการพลเรือนก็ยำเกรงอยู่ จึงมิค่อยมีผู้ใดรังเกียจหัวหน้าคณะ ๑๓๐ นัก เพราะมีปัจจัยให้เขามองเห็นไปเองว่าการปฏิวัติประเพณีการปกครอง อันเป็นอุกกฤษฏ์โทษอย่างหนักนั้น น่าจะมีบุคคลสำคัญ ๆ ของชาติหนุนหลังอยู่ด้วยเป็นแน่

อนึ่ง สมาชิกในคณะ ร.ศ. ๑๓๐ นี้ บางคนเป็นมหาดเล็กทูลกระหม่อมจักรพงษ์ บางคนเป็นมหาดเล็กกรมหลวงนครไชยศรี ฯ บางคนเป็นมหาดเล็กเสด็จในกรมหลวงราชบุรี บางคนเป็นมหาดเล็กทูลกระหม่อมบริพัตร บางคนเป็นมหาดเล็กข้าหลวงเติมในพระมงกุฎเกล้า ฯ และบางคนก็เป็นเชื้อพระญาติพระวงศ์อยู่แล้ว จึงทำให้การเกลี้ยกล่อมสะดวกสบายง่ายขึ้นอักโข และต่างมั่นใจในการที่จะยอมเข้าเป็นคณะปฏิวัติด้วยความเต็มอกเต็มใจ

อนึ่งควรทราบไว้ในที่นี้ด้วยว่า หากคณะจักมีความจำเป็นที่สุดที่จะ เดินหน้า จนถึงกับจะต้องเปลี่ยนองค์ประมุขแห่งชาติแล้วไซร้ ก็จะมิให้เป็นที่ขัดอกขัดใจแก่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นอันขาด และก็จะต้องให้เกิดความเต็มอกเต็มใจของประมุขใหม่ด้วย เช่นเคยมีการปรึกษาหารือกันภายในของแต่ละกลุ่มสมาชิกไว้ดังนี้ ฝ่ายทหารบกจะทูลเชิญ ทูลกระหม่อมจักรพงษ์ ฝ่ายทหารเรือจะทูลเชิญทูลกระหม่อมบริพัตร และฝ่ายกฎหมายกับฝ่ายพลเรือนจะทูลเชิญเสด็จในกรมหลวงราชบุรี ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นคนแรกแห่งสาธารณรัฐไทย ซึ่ง ๓ พระองค์นี้ เท่าที่มองเห็นกันในสมัยนั้นก็หาเป็นที่ขาดความนิยมของประชาชนนักไม่ แต่การจะเป็นไปในสถานใดอีกตามกฎแห่งความไม่เที่ยง ก็สุดแล้วแต่เหตุการณ์จะนำเดินต่อไป ทั้งนี้เป็นแต่การเตรียมพร้อม ซึ่งย่อมมีได้ในทัศนะของปุถุชนผู้ที่ไม่ประมาทต่อกิจกรรมของเขาไว้เสียแต่ก่อนเริ่มงาน

ทว่า ตามน้ำใสใจจริงของคณะส่วนใหญ่แล้ว ไม่เชื่อว่าจะต้องเปลี่ยนองค์ประมุขของชาติ เพราะคณะมีเหตุผลอย่างสมบูรณ์ ที่ทำให้ถวายความเชื่อในพระเกียรติยศแห่งองค์พระประมุขว่า พระองค์ทรงสืบสายโลหิตมาแต่ตระกูลขัติยะ และทรงศึกษามาจากสำนักที่ทรงเกียรติอันสูงส่ง ณ ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นมารดรแห่งการปกครองระบอบประชาธิปไตยในโลก จนมีผู้ถวายคำยกย่องพระองค์ว่าเป็น นักปราชญ์ ฉะนั้นพระองค์น่าจะต้องทรงพระบรมราชวินิจฉัยอย่างรอบคอบที่สุด ที่จะพระราชทานความเห็นอกเห็นใจแก่เหล่านักรบของชาติ และประชาชนชาวไทยที่รักของพระองค์

และถ้าพระองค์ลงได้ทรงหลั่งพระมหากรุณาธิคุณเพื่อทรงรับเจตนาดีของมวลไทยด้วยสัตยะสัญญา เพื่อเป็นพลีชาติแล้วไซร้ก็ย่อมจะเป็นสัจจะที่ประชาชนเชื่อได้ทั้งประเทศ ตลอดชั่วรัชสมัยของพระองค์ ว่าจะไม่มีกรณีเบื้องหลังหรือหักหลังด้วยประการใด ๆ อีกอย่างแน่นอน ตามที่บางคนเคยคัดค้านชาวคณะ ๑๓๐ ในขณะนั้น

แต่ในที่สุด จุดจบแห่งแผนการและความหวังใด ๆ ทั้งสิ้นของคณะก็มาถึง เพราะทั้งรู้ๆว่า “ผู้หักหลัง” มีรูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างไร ถึงคราวมันจะได้เข้ามาเป็นพรรคพวก มันก็ต้องพบกันจนได้ตามกฎแห่งกรรม (Law of nature)

ได้กล่าวมาแล้วว่า กองปืนกลที่ ๑ ณ หลังพระราชวังดุสิตเป็นกองบัญชาการลับของคณะปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐ ฉะนั้นจึงมีสมาชิกของพรรคปฏิวัติลอบไปประชุมลับกันเสมอ ๆ เพื่อปรึกษาหารือปัญหาเก่าบ้างใหม่บ้าง เพราะนายทหารชั้นประจำกองปืนกลได้เข้าเป็นสมาชิกของพรรคปฏิวัติแล้วทั้งหมด เว้นแต่ ร.ท. หลุย ผู้บังคับกองร้อยแต่ผู้เดียวเท่านั้นที่ยังมิได้เป็นสมาชิก แต่ก็ใช่ว่า ร.ท. หลุย จะเขลาถึงกับไม่ทราบเรื่องราวเสียเลยทีเดียวก็หามิได้ หากแต่เขาเป็นผู้ที่ฉลาดคมคายมาก เขายังรอโอกาสที่จะเผยออกมาให้แจ่มแจ้งจริงเท่านั้น ร.ท. หลุยเองไม่กล้าที่จะสำแดงตนให้รู้ว่า เขาแอบรู้เรื่องราวของคณะ ร.ศ. ๑๓๐ บ้างแล้วเหมือนกัน เพราะเขารู้ตัวของเขาดีว่า เขาเป็นมหาดเล็กของเสด็จในกรมหลวงนครไชยศรี ฯ เสนาบดีกระทรวงกลาโหม ไหนเลยพวกลูกน้องของเขาจะหาญชักชวนหรือเกลี้ยกล่อมเขา เป็นแต่คลุมถุงกันอยู่อย่างนั้น และอาศัยที่ ร.ท. หลุย มีสมองปฏิวัติ มีจิตใจรักชาติเป็นทุน ทั้งเป็น “คนจริง” ไม่ว้อกแว้ก ไม่ชอบหาความดีใส่ตัวจากความผิดของคนอื่น จึงไม่ยอมแพร่งพรายเรื่องราวแก่ผู้ใด แม้แต่ลูกน้องในกองร้อยของเขาเอง ก็ไม่ทำให้สะเทือนน้ำใจ เขาและพวกลูกน้องทุกคน มีความสมัครสมานสามัคคีกันเป็นอย่างดี นับแต่เริ่มอยู่ร่วมกันมาในกองปืนกล ชื่อเสียงของกองปืนกลที่ดีเด่น ก็เพราะความร่วมใจปฏิบติหน้าที่กันอย่างกลมเกลียวเข้มแข็งและเอาใจใส่ต่อกิจราชการเสมอมา

สมาชิกที่ไปพบปะกันเป็นการภายในบ่อยครั้งก็คือ หมอเหล็ง หัวหน้าคณะ เพราะต้องมีงานติดต่อกับเลขานุการและนายทะเบียน ซึ่งประจำอยู่ที่นั่นเป็นนิจสิน เพื่อสั่งงานและขอทราบกิจกรรมที่ได้ดำเนินไปทุกๆระยะ เช่นรายชื่อสมาชิก บันทึกการประชุม รายงานการเกลี้ยกล่อมจากต่างจังหวัด และการเงิน เลขานุการเสนอให้ทราบเท่าที่กิจกรรมได้เปลี่ยนแปลงหรือก้าวหน้าไป คัดรายชื่อสมาชิกที่เข้าใหม่มอบให้ ถ้ามีเงินที่เก็บได้ ก็ส่งมอบให้ทั้งสิ้นทุกคราว ควบไปกับรายชื่อของผู้ที่บริจาค ความเป็นไปเหล่านี้ บางคราวก็หาพ้นสายตาของผู้บังคับกองร้อยปืนกลไปได้ไม่

ราวๆเวลาบ่าย ๑ โมง วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔) ได้มีสมาชิกผู้หนึ่ง (นึกชื่อไม่ออก) ไปพบหารือและแจ้งข่าวกับสมาชิกที่กองปืนกลบางคน แต่จะเป็นผู้ใดบ้างจำไม่ได้ เรื่องที่นำไปคือ ปัญหาที่จะส่งคนขึ้นไปเกลี้ยกล่อมหน่วยทหารมณฑลพิษณุโลก เขาผู้นั้นแจ้งว่า ร.ต. ทวน เธียรพิทักษ์ ได้เสนอต่อที่ประชุมย่อยครั้งที่ ๑๐ หรือ ๑๑ (จำไม่ได้) ว่าได้ชักชวนสมาชิกใหม่คนหนึ่งไว้นานแล้ว ซึ่งบัดนี้จะเดินทางขึ้นไปรับตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๗ พิษณุโลกในไม่ช้า เป็นตำแหน่งที่ควรแก่การไว้วางใจได้ และคณะก็กำลังต้องการหาตัวกันอยู่แล้ว เขาผู้นั้น คือ .. หลวงสินาดโยธารักษ์ (ยุทธ คงอยู่) ร.ต. ทวน ยืนยันต่อที่ประชุมว่า เขาทั้งสองมีความชอบพอกันมาอย่างสนิทสนมตั้งแต่ก่อนเข้าเป็นนักเรียนนายร้อย เพราะหลวงสินาดฯ เกิดที่บางปะอิน จังหวัดนครศรีอยุธยา ร.ต. ทวน เกิดที่จังหวัดปทุมธานี เคยไปมาหาสู่ติดต่อกันตั้งแต่ยังเยาวัย ครั้นมาอยู่โรงเรียนนายร้อยด้วยกัน ก็ยิ่งเพิ่มความสนิทสนมกันยิ่งขึ้น ร.ต. ทวน จึงอดนึกถึงหลวงสินาดฯ เสียมิได้ ในการที่ใคร่จะได้มาเป็นสมาชิกคณะปฏิวัติ จึงได้ชวนเข้าเป็นสมาชิกตั้งแต่ยังเป็นนายร้อยโทยุทธ บัดนี้ได้เลื่อนทั้งยศทั้งบรรดาศักดิ์ และตำแหน่งสำคัญขึ้น สมควรจะได้นำเข้าประชุม เพื่อทราบวัตถุประสงค์และรับนโยบายของคณะไปปฏิบัติต่อไป

เมื่อได้รับแจ้งเช่นนั้น สมาชิกบางคนดีใจ ในการที่จะได้กำลังทหารอีกมณฑลหนึ่งมาเป็นของคณะ และยิ่งหลวงสินาดฯ เป็นถึงนายทหารชั้นผู้บังคับการ ก็ย่อมมีอิทธิพลที่จะเกลี้ยกล่อมทหารได้ง่ายและรวดเร็ว ไม่ว่าทหารเหล่าใดในมณฑลนั้น ทำให้กำหนดวันในแผนการที่ยังเหลืออยู่ประมาณ ๓๐ วันเศษนั้น กระฉับกระเฉงมั่นคงขึ้นอีกมาก

แต่พวกเราจำได้ว่า มีสมาชิกผู้หนึ่งได้กล่าวคัดค้านไม่เห็นพ้องด้วย คือ ร.ต. เนตร เลขานุการ คำคัดค้านของเขามีใจความว่า ไม่ควรรับหลวงสินาดฯเข้าเป็นสมาชิกเป็นอันขาด เพราะเขารู้จักดีตั้งแต่อยู่ร่วมกันเมื่อครั้งเป็นศิษย์วัดเบญจมบพิตร สมัยพระคุณเจ้าพระธรรมวโรดม (จ๋าย) เป็นเจ้าคณะ เวลานั้นหลวงสินาดฯ ชื่อ “แต้ม” ไม่มีนามสกุล นายแต้มขณะนั้น มีลักษณะไม่น่าไว้วางใจ พูดจาอะไรเชื่อถือยาก กิริยาท่าทางแม้จะเข้าผู้เข้าคนได้สนิทก็จริง แต่น้ำใสใจจิตตรงกันข้ามกับการแสดงออกซึ่งกิริยาวาจา เป็นบุคคลที่ไม่ค่อยมีใครชอบหน้านัก แม้แต่พวกศิษย์วัดหรือนักเรียนเบญจมบพิตรด้วยกัน แต่เป็นคนค่อนข้างขยันหมั่นเพียร ไม่ยอมด้อยกว่าเพื่อนๆ ในเรื่องวิชาความรู้ แต้มไม่ค่อยยอมรับผิดในเมื่อเขาทำอะไรพลาดพลั้งลง อันเป็นวิสัยตรงกันข้ามกับวิสัยของนักรบ นอกจากจะเป็นความดีเท่านั้นที่เขารีบปรารถนา โดยมนุษย์ผู้ใดจักได้รับความเดือดร้อนเพียงไรเขาก็ไม่พึงคำนึงถึง แม้กระทั่งเพื่อนรักของเขาเอง เนื่องด้วยคำคัดค้านของ ร.ต. เนตร ทำให้สมาชิกนิ่งงันกันไป เป็นเชิงสงสัยในตัวหลวงสินาดฯ ขึ้นมาทันที แต่มีสมาชิกบางคน ดูเหมือนจะเป็น ร.ต. ปลั่ง ปูรณโชติ กับ ร.ต. สอน วงษ์โต ซึ่งเคยรู้นิสัยใจคอหลวงสินาดฯ อยู่บ้าง ตั้งแต่ครั้งเป็นนักเรียนนายร้อยร่วมกัน ได้กล่าวสนับสนุนว่า เมื่อเป็นเช่นนั้น ก็ต้องรีบระงับเสียโดยด่วน ดังนั้นชาวคณะจึงขอร้องให้ผู้ที่มาแจ้งเรื่อง ได้รีบกลับไปพบ ร.ต. ทวน เพื่อระงับการนำหลวงสินาดฯ เข้าร่วมประชุมอย่างเด็ดขาด

อนิจจา! แผนการปฏิวัติของคณะ ร.ศ. ๑๓๐ ถึงฆาตเสียแล้ว! เพราะในเป็นวันนั้นเอง เมื่อการประชุมย่อยครั้งที่ ๑๑ หรือ ๑๒ (ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายของคณะ ) ณ สำนักงานทนายความ ร.ท. จรูญ เลิกประชุมแล้ว ร.ต. สนิท ประจำกองปืนกลซึ่งไปเข้าประชุมในคราวนั้นด้วย ก็ได้นำรายชื่อสมาชิกที่เข้าใหม่ กับบันทึกการประชุมไปมอบให้ ร.ต. เนตร นายทะเบียน เพื่อเก็บเข้าเรื่องตามเคยที่กองปืนกล แล้วก็ได้บรรยายพฤติการณ์ของที่ประชุมให้ฟังโดยละเอียดดังมีใจความสำคัญๆ ต่อไปนี้

ในการประชุมครั้งสุดท้ายที่เรียกได้ว่า เป็นครั้งทลายแผนการปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐ ให้ถึงฆาตนั้น ได้เริ่มต้นประชุมแต่เวลาบ่าย ๒ โมง (๑๔ น.) ในวันเดียวกันกับที่สมาชิกกองปืนกลได้รับแจ้งเรื่อง ร.อ. หลวงสินาดโยธารักษ์ (ยุทธ หรือ แต้ม คงอยู่) จะเข้าเป็นสมาชิกโดยสมบูรณ์นั่นเอง จนผู้ที่จะไประงับ ร.ต. ทวน ดังกล่าวแล้วไปไม่ทัน เพราะการประชุมได้เริ่มลงมือเสียก่อนแล้ว ในที่ประชุมครั้งนั้น มีหมอเหล็ง หัวหน้า เป็นประธาน ร.ท. จรูญ ณ บางช้าง รองหัวหน้าทำหน้าที่รองประธาน ร.ท. จือ ควกุล เสนาธิการ ร.ต. ทวน เธียรพิทักษ์ ร.ต. สนิท กองปืนกล ร.ต. เจือ ศิลาอาศน์ ร.ต. เปลี่ยน ไชยมังคละ ร.ต. จาบ ราบ ๑๑ และสมาชิกเข้าใหม่อีกหลายคน ซึ่งเป็นนายทหารช่าง นายทหารปืนใหญ่กับฝ่ายพลเรือน แต่ยังมิทันจะเปิดการประชุม ร.อ. หลวงสินาดโยธารักษ์ (ยุทธ หรือ แต้ม คงอยู่) ได้โผล่เข้าไปเป็นคนสุดท้าย ร.ต. ทวน ผู้นำเข้าก็ผลุนผลันออกไปต้อนรับอย่างกุลีกุจอฐานเพื่อนสนิท สมาชิกทั้งหลายก็พลอยแสดงความยินดีด้วย เพราะล้วนแต่เคยรู้จักชอบพอกันมาแล้วแทบทั้งนั้น

วิธีประชุมกันที่นั่น ใช้วิธีนั่งล้อมวงบนพื้นที่ทำความสะอาดแล้ว เพราะได้เนื้อที่จุกว่านั่งบนเก้าอี้ ส่วนเหล้ายาปลาปิ้งไม่ปรากฏว่ามี ดังข่าวที่เล่าลือใส่ร้ายชาวคณะอยู่เนือง ๆ นอกจากจะได้มีการเลี้ยงอาหารกันเป็นครั้งคราว และ ณ ที่ประชุมในวันนั้นเอง ก็หามีสุราเป็นเครื่องจูงใจกันไม่ ใช้น้ำยาอุทัยใส่แก้วแจกประจำที่ทุกคน ทั้งนี้ก็เพื่อให้การอภิปรายโต้เถียงกันได้เป็นไปด้วยน้ำใจอันเยือกเย็นบริสุทธิ์จริงๆ

ณ วาระนั้นเอง ขณะที่หลวงสินาดฯ ย่างเท้าเข้าไปในวงประชุม แก้วน้ำยาอุทัยแล้วหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นตามปกติ พอเท้าของหลวงสินาดฯ เฉียดเข้าไป มิทันจะกระทบเลยสักนิดเดียว แก้วใบนั้นก็แตกโพละ! ขาดกลางออกเป็นสองท่อน! คล้ายถูกตัด น้ำสีชมพูไหลเลอะพื้นกระดาน ทุกคนตะลึงงัน สมาชิกใหม่บางคนชักขวัญหาย เช่น ร.ต. เปลี่ยน ไชยมังคละ เป็นต้น เคยเล่าด้วยตนเองว่า รู้สึกเป็นลางร้ายอย่างไรชอบกล และในทันทีทันใดนั้น ร.ท.จือ ผู้วางแผนการก็รีบลุกขึ้นเดินเข้าไปหยิบแก้วที่แตกท่อนบนซึ่งขาดคาอยู่ ยกชูขึ้นท่ามกลางที่ประชุม พร้อมกับพูดเป็นภาษาอังกฤษด้วยเสียงอันดังว่า “Here’s the Absolute monarchy!” สองสามครั้ง ทำให้ที่ประชุมปรบมือด้วยความสรวลเสเฮฮากันขึ้น และต่างมีขวัญดีตามเดิม นับว่าเสนาธิการได้แก้ลางร้ายให้เข้ากับแผนการได้อย่างคมคาย ทั้งนี้ใช่อื่นไกลไม่ ทางพุทธศาสนาถือว่า เป็นความบังเอิญที่มาเหมาะเจาะพอดีกันเองเข้าเท่านั้น

แต่ก่อนที่จะลงมือดำเนินการประชุมกันต่อไป หมอเหล็งประธานการประชุม คงจะนึกได้ถึงพิธีกรรมของ พ.ต. หลวงวิฆเนศร์ ฯ จึงกล่าวขึ้นมีความว่า การประชุมครั้งนั้นนับได้ว่าเป็นการประชุมครั้งสำคัญ เพราะมีสมาชิกเข้าใหม่มากหน้าหลายตาทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน โดยเฉพาะก็คือ ร.อ. หลวงสินาดโยธารักษ์ เป็นถึงชั้นผู้บังคับการ นับว่าเป็นกำลังของคณะปฏิวัติมาก และจะได้รับหน้าที่เป็นผู้แทนคณะไปเกลี้ยกล่อมทหารมณฑลพิษณุโลกให้ด้วย ตามที่ ร.ต. ทวน ผู้นำเข้าได้แจ้งไว้ต่อที่ประชุมครั้งที่แล้ว สมควรที่สมาชิกจะได้ทำพิธีดื่มน้ำสัตยะสาบานอย่างพิธีหลวงกันอีกสักครั้ง เพื่อความสะอาดบริสุทธิ์ทางจิตใจ หวังว่าสมาชิกทุกคนคงจะเห็นพ้องด้วย ทันใดนั้น เสียงปรบมือก็ดังขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แสดงว่า “เห็นชอบด้วย”

แล้วประธานก็ถอดกระสุนปืนออกจากซองกระสุน แช่ลงไปในเหยือกน้ำ พร้อมกับกล่าวคำแช่งอย่างหนักแน่นว่า “ทุกคนจักต้องสุจริตต่อกัน ผู้ใดคิดคดทรยศต่อคณะนี้ จงพินาศ!” แล้ว ร.ท. จรูญก็รินน้ำสาบานส่งให้ดื่มทุกคน (ผลแห่งสัตยะสาบาน แม้จะมิใช่ทัศนะแห่งพุทธศาสนา แต่ทางวิชชุจิตซึ่งเป็นกระแสไฟฟ้าจิตที่ไม่มีสาย ก็ย่อมจะดลบันดาลได้ ดั่งจะได้ปรากฏในภาคปกิณกะต่อไป)

หลังจากนั้น ประธานก็ชี้แจงถึงวัตถุประสงค์และแผนการให้สมาชิกใหม่ทราบแต่เฉพาะกรณีสำคัญๆ เพื่อขอความเห็นที่ประชุม เช่น แผนการทูลเกล้าฯ ถวายหนังสือในโบสถ์วัดพระแก้ว สมาชิกใหม่ก็เห็นพ้องด้วยเมื่อได้อภิปรายกันแล้ว ว่าเป็นวิธีที่แนบเนียนกว่าแผนอื่นทั้งสิ้น

ส่วนแผนการส่งกำลังออกคุมจุดต่าง ๆ ในพระนคร และยึดกำลังในต่างจังหวัดนั้น เสนาธิการเป็นผู้ชี้แจง สมาชิกใหม่ก็แสดงความพอใจ

แผนการที่เกี่ยวกับกฎหมาย การเงิน และการต่างประเทศ ร.ท. จรูญ เนติบัณฑิต เป็นผู้ชี้แจงโดยละเอียด มีผู้ข้องใจเรื่องการเงินของชาติอยู่มาก ร.ท. จรูญ ก็ชี้แจงอย่างกว้างขวาง ตลอดจนโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติที่จะมีขึ้น และจะนำกรรมวิธีที่ดีและเหมาะสมแก่ประเทศไทยมาใช้จากอารยะประเทศให้มากเท่าที่ควรแก่ฐานะ จนเป็นที่พอใจทั่วกัน

ปัญหาสุดท้าย หลวงสินาดฯ ข้องใจเรื่องราชวงศ์จักรี เกรงว่าจะต้องกระทบกระเทือนและกระทำให้ราษฎรไทยไม่พอใจ หัวหน้าคณะกับเสนาธิการก็ชี้แจงแสดงเหตุผลว่าแผนการของคณะเป็นแผนที่ต้องการจะเอาเจ้านายไว้ และดำเนินการอย่างละมุลละไมที่สุด ทั้งเชื่อเหลือเกินว่า พระประมุขของชาติจะทรงเห็นด้วย เนื่องจากความเป็นปราชญ์ของพระองค์ในทางรัฐประศาสตร์สมัยปัจจุบัน หลวงสินาดฯ ก็คลายความข้องใจลง

ในที่สุด ก่อนจะปิดการประชุม หลวงสินาดฯ ได้ยืนขึ้นกล่าวเป็นพิเศษมีข้อความว่า เขาจะขอลาไปรับตำแหน่งที่พิษณุโลก ตามคำสั่งกลาโหมในวันสองวันนี้ และขอรับคำมั่นสัญญาของคณะที่มอบให้ไปเกลี้ยกล่อมทหารในมณฑลนั้นให้เป็นผลสำเร็จจนได้ เฉพาะกรมทหารปืนใหญ่ของเขาจะตั้งมั่นอยู่ในความซื่อสัตย์ต่อคณะทุกขณะจิต ฉวยว่ามีการต่อสู้กันขึ้น ทหารปืนใหญ่จะยืนหยัดต้านทานอย่างกล้าแข็ง แล้วเขาก็ยื่นบัตรชื่อของเขาแจกให้แก่สมาชิกทุกคน ที่ประชุมปรบมือต้อนรับด้วยความปลาบปลื้มอีกครั้งหนึ่ง ประธานตรงเข้าจับมือหลวงสินาดฯ กล่าวคำอวยพรในการเดินทาง และขอให้นำความสำเร็จมาสู่คณะเพื่อชาติทุกประการ สมาชิกทุกคนก็กระทำตามหัวหน้า เสร็จแล้ว ประธานก็สั่งเลิกประชุมประมาณเวลา ๑๖ น.เศษ สมาชิกก็ร่ำลากันกลับเช่นเคย

โดยธรรมดา เพชร คือ วัตถุธรรมชาติ หรือ สสารอันมีค่าที่เรามองเห็นด้วยตาเปล่าได้ดี น้ำเพชร คือ ความแวววาวในเนื้อเพชร ก็ยังส่องแสงออกมาให้ตาเราเห็นได้ แต่น้ำใจอันเกิดจากจิตใจของมนุษย์นั้นย่อมยากที่จะหยั่งรู้กันได้ ไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ

ตัวภวตัณหาอันเป็นกิเลสฉกรรจ์ ย่อมกลับใจมนุษย์ได้ในชั่วพริบตาเดียว ในระหว่างเวลาที่ ร.อ. หลวงสินาดโยธารักษ์ (ยุทธ หรือ แต้ม คงอยู่) เดินทางกลับ มันก็เข้ายึดจิตใจให้กลายเป็นคนอสัตย์ได้ฉันนั้น โดยไม่คำนึงถึงชีวิตของบรรดาเพื่อนรัก และไม่คำนึงถึงสัตยะสาบานที่ได้ให้ไว้กับคณะเมื่อหยกๆนั้นเลย ทั้งนี้ก็เพราะยศบรรดาศักดิ์ และตำแหน่งที่ได้เลื่อนรวดเร็วพร้อมกันนั่นเอง

เพราะปรากฏจากข่าวที่สืบได้ในภายหลังว่า แทนที่หลวงสินาดฯ จะกลับบ้าน เขาได้มุ่งไปปรึกษา ร.ท. ทองอยู่ (ภายหลังเป็น พ.ท. พระตะบะฯ) ที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก เพราะรู้ว่า ร.ท. ทองอยู่ เป็นมหาดเล็กคนโปรดของทูลกระหม่อมจักรพงษ์ พอ ร.ท. ทองอยู่ ทราบเรื่องราวตลอด ก็พากันไปเฝ้าหม่อมเจ้าพันธุประวัติ ผู้บังคับการกรมทหารช่างที่ ๑ รักษาพระองค์ ที่บางซื่อ เพื่อทำให้เกิดความเชื่อถือในการที่จะนำความขึ้นฟ้องร้องนั้นมีค่ามั่นคงยิ่งขึ้น ครั้นหม่อมเจ้าพันธุประวัติทรงทราบโดยมีสักขีพยานเช่นนั้น ก็นำความขึ้นกราบทูลทูลกระหม่อมจักรพงษ์ในเย็นวันนั้นเอง พร้อมด้วยพยานบุคคล

ทูลกระหม่อมจักรพงษ์ตกพระทัยเมื่อทรงทราบ เพราะรายชื่อสมาชิกที่หลวงสินาดฯ กราบทูล ล้วนเป็นลูกศิษย์และมหาดเล็กใกล้ชิดพระองค์แทบทั้งสิ้น เฉพาะหมอเหล็งแพทย์ประจำพระองค์และครอบครัวของพระองค์ก็โปรดปราณที่สุด พระองค์จึงทรงรู้สึกถึงพระองค์เองต่างๆ นานา เพราะพระประมุขของชาติ คือ พระเชษฐาร่วมพระอุทรเดียวกันแท้ๆ ซึ่งย่อมสำคัญกว่าผู้ใดอื่น ฉะนั้น พระองค์จึงรับสั่งให้จัดรถไฟพิเศษโดยด่วน นำพระองค์ไปเฝ้ากราบบังคมทูลพระกรุณาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ สนามจันทน์ จังหวัดนครปฐม ขณะที่กำลังซ้อมรบเสือป่าอย่างทรงสำราญพระราชหฤทัย

พวกเสือป่าเล่าให้ฟังว่า ทูลกระหม่อมจักรพงษ์ได้เสด็จไปอย่างร้อนพระทัยยิ่งนัก เมื่อถึงก็รีบเข้าเฝ้าทูลเชิญเสด็จพระเจ้าอยู่หัวไปพบกันเพียงสองต่อสองเป็นเวลานาน คงจะกราบทูลพฤติการณ์ของคณะ ร.ศ. ๑๓๐ ที่จะคิดก่อการปฏิวัติประเพณีการปกครองแผ่นดิน ตลอดจนวิธีการที่จะปราบปรามคณะปฏิวัติลงให้ราบคาบโดยฉับพลัน ครั้นแล้วทูลกระหม่อมก็รีบทูลลากลับพระนครโดยด่วน ส่วนทางกองเสือป่าก็ถูกสั่งให้เลิกซ้อมรบในวันนั้นทันที

ท่านที่รัก ถ้าประชาชนบนรถไฟได้แลเห็นภาพ ร.ต. หม่อมราชวงศ์แช่ รัชนิกร พระญาติพระวงศ์ผู้หนึ่งซึ่งยังอยู่ในเครื่องแบบทหาร เดินทางกลับมาจากอยุธยาด้วยกุญแจสวมข้อมือทั้งสองข้าง และอยู่ภายในวงล้อมของดาบปลายปืนอย่างเข้มงวดกวดขัน เขาเหล่านั้นจะมีความรู้สึกนึกคิดประการใดบ้าง ?

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ