ภาค ๒ ได้หัวหน้าและเริ่มประชุมพรรค

กอปรด้วยหัวข้อย่อดังนี้ :-

- ได้หัวหน้าพรรค

- เริ่มประชุมพรรคเป็นปฐมฤกษ์ ๑๓ ม.ค. ๑๓๐ ณ บ้านหมอเหล็ง

- ประชุมครั้งที่ ๒, ๒๐ ม.ค. ๑๓๐ ณ บ้านหมอเหล็ง

- ประชุมครั้งที่ ๓, ๒๗ ม.ค ๑๓๐ ณ บ้านหมอเหล็ง

- ประชุมครั้งที่ ๔, ๓ ก.พ. ๑๓๐ ณ วัดช่องลม ตำบลช่องนนทรี

- ประชุมครั้งที่ ๕ ราวกลางเดือน ก.พ. ณ บริเวณสวนนายอุทัย ตำบลศาลาแดง

- ประชุมย่อยอีกราว ๖-๗ ครั้ง ณ สำนักงานทนายความ ร.ท. จรูญ ตึกแถวข้างวังบูรพาภิรมย์ ถนนมหาชัย

 

แต่ถึงกระนั้น ในระหว่างเราทั้ง ๓ ก็ยังเห็นขัดแย้งกันในข้อสำคัญอยู่อีกก็คือ หมอเหล็งมิใช่ชายโสด มีบุตรภรรยาเป็นครอบครัวที่มีหลักฐานมั่นคงอยู่ ทั้งกำลังจะก้าวหน้าในทางยศถาบรรดาศักดิ์และตำแหน่งหน้าที่ซึ่งเปรียบเหมือนกับมองเห็นคานหามรออยู่ข้างหน้าแล้ว จะมาร่วมเดินทางวิบากผจญภัยกับเราได้อย่างไร ข้อข้องใจเหล่านี้หมดสิ้นไป โดยได้รับคำชี้แจงจาก ร.ต. เหรียญว่า หมอเหล็งเป็นพี่ชายที่มีอายุแก่กว่าเขาถึง ๑๐ ปี ฉะนั้นจึงเป็นผู้ที่มีอุปการะคุณในการอบรมให้เขามีอุดมคติในเรื่องชาติสำนึกอย่างแรงกล้ามาแต่เล็ก ๆ นับได้ว่าหมอเหล็งเป็นผู้อบรมนิสัยของเขาเป็นขั้นที่ ๒ รองจากบิดามารดา และเขาก็ย่อมรู้นิสัยใจคอของหมอดี เกือบจะเหมือนหัวใจของเขาเอง หมอเป็นผู้มีสายตายาวชอบมองโลกในรัศมีอันกว้างขวาง ไม่เป็นคนหันหน้าเข้าหามุมแคบ ๆ ไม่งมงายต่อยศถาบรรดาศักดิ์ ซึ่งรู้ดีว่าเปรียบเหมือนหัวโขน ไม่เป็นคนลืมตัวหรือพองตัว อันจะทำให้จิตใจเขวไปในทางหยิ่งยะโสแม้แต่น้อย หมอเป็นคนชอบอ่านหนังสือ สนใจต่อการศึกษาโดยไม่มีกำหนดเขตอายุ ชอบอ่านหนังสือเกี่ยวแก่การเมืองและความเจริญของอารยประเทศทั่วโลก จึงสั่งหนังสือแม็กกาซีนและหนังสือที่มีสาระประโยชน์อันเป็นภาษาอังกฤษมาอ่านเป็นประจำ เมื่ออ่านแล้วก็ได้ถ่ายทอดไปให้น้องชายอ่านทุก ๆ ฉบับ นอกจากหนังสือที่เกี่ยวกับวิชาแพทย์เท่านั้น ร.ต. เหรียญ ได้รู้เหตุการณ์เมื่อครั้งสงครามรัสเซียกับญี่ปุ่นก็เพราะหมอเหล็งส่งหนังสือซึ่งเรียบเรียงโดยท่าน น.ม.ส. (พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์) ไปให้อ่านจนตลอดการสงครามซึ่งในขณะนั้น ร.ต. เหรียญยังเป็นเด็กนักเรียนโรงเรียนสามัญ จึงทำให้ติดใจชอบอ่านหนังสือของท่าน น.ม.ส. ต่อ ๆ มาทุกเรื่อง สุดท้าย ร.ต. เหรียญ ได้ย้ำว่า ในเรื่องชาติสำนึกนี้ นับว่าเขาได้รับการอบรมจากหมอจนฝังลึกแน่นเข้าถึงจิตใจยิ่งกว่าครูบาอาจารย์คนใดๆ ที่สั่งสอนเขามาทั้งหมด ฉะนั้น จึงจำจะต้องกลับไปขอความเห็นจากต้นตอดูบ้าง และขอรับรองด้วยความมั่นใจว่า จะไม่เป็นภัยหรือเป็นอุปสรรคใด ๆ แก่พวกเราทั้งสิ้น

วันต่อจากนั้น ร.ต. เหรียญ จึงไปหาหมอเหล็งที่บ้าน และเล่าถึงความประสงค์ของเขากับพวกเพื่อนๆ ให้หมอฟังโดยละเอียด เมื่อได้ทราบความประสงค์และความตั้งใจอันแน่วแน่ของพวกเราแล้ว ก็มีความปลื้มปิติถึงกับกล่าวว่า “วีระกรรมของพวกน้อง ๆ ที่จะเริ่มทำกันนี้ พี่ขอสรรเสริญขอให้ประเทศชาติจงเจริญด้วยหัวใจอันบริสุทธิ์ของพวกเรา” แต่ออกตัวว่าการที่พวกเราจะขอร้องให้เป็นหัวหน้านั้น หมอพิจารณาดูตัวเองแล้ว เห็นว่ายังไม่เหมาะสม เพราะหมอได้เล่าเรียนมาแต่เพียงวิชาแพทย์และวิชาทหารชั่วเวลาอันสั้น ผู้ที่จะเป็นหัวหน้าในการปฏิวัติกิจการของประเทศชาตินั้นจะต้องเป็นผู้ทรงความรู้กว้างขวาง มีชวนะปฏิภาณอันได้ทำคุณประโยชน์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนมาแล้ว สำหรับตัวหมอนั้น ขอรับรองเป็นความสัตย์ว่า จะขอแต่เพียงเป็นผู้รับใช้คณะปฏิวัติอย่างเต็มความสามารถที่จะทำได้ แม้จะต้องสละชีวิตและเลือดเนื้อ กับได้ให้คำแนะนำว่าการที่พวกเราจะขอร้องให้ผู้หนึ่งผู้ใดยินดีรับเป็นหัวหน้าคณะของเรานั้น จำจะต้องพิจารณากันให้ลึกซึ้งและต้องพิจารณากันเป็นเวลานานๆ ข้อสำคัญที่เราควรระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งนั้นก็คือ อย่าให้เป็นเสมือนกับเราแย่งดาบจากมือคนหนึ่ง ไปส่งให้กับอีกคนหนึ่ง และขออย่าได้เชื่อถือว่าเมื่อดาบอยู่ในมือของใครแล้ว ผู้นั้นจะเป็นคน ๆ เดียวกับที่เราเคยเห็น ดังเช่นประวัติของคนโดยมากที่เราได้เคยทราบมาแล้ว เพราะเขาผู้นั้นยังไม่พ้นวิสัยปุถุชนไปได้ ก็เมื่อมนุษยธรรมดายังไม่พ้นภาวะอันเป็นปุถุชนไปได้เช่นนี้ อารยะประเทศหรือประเทศที่ประชาชนเจริญด้วยสติปัญญาแล้ว เขาจะกระทำกิจกรรมใดๆ จึงต้องมีเครื่องผูกมัดยึดเหนี่ยวซึ่งกันและกัน มิให้ผู้หนึ่งผู้ใดลืมตัวหรือเหลิงอำนาจขึ้นเหยียบย่ำพวกเดียวกันได้

เมื่อเราทั้งสองได้ทราบเรื่องจาก ร.ต. เหรียญแล้ว จึงตกลงปลงใจกันว่าจะขอร้องหมอเหล็ง ให้รับเป็นหัวหน้าในฐานะที่เป็นผู้มีอาวุโสกว่าพวกเราทั้งหมดในขณะนั้น แล้วต่อไปจึงจะรวมความคิดความเห็นให้เป็นเอกฉันท์เพื่อเลือกเฟ้นกันใหม่ในโอกาสหลัง ๆ ต่อมาเราทั้งสามก็ได้ขอให้หมอเหล็งนัดวันที่จะให้เราได้พบปะกันตามความสะดวก

ในระหว่างที่เรารอเวลานัดพบของหมอเหล็งอยู่นั้น เรามิได้เว้นที่จะหยุดการพบปะกับนายทหารเหล่าต่าง ๆ ที่เคยสนิทชิดชอบกันมา เช่น ในขณะที่นำทหารออกฝึกในที่ต่าง ๆ มีบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า บริเวณสนามเสือป่า (สนามหน้ากระทรวงวัฒนธรรมปัจจุบัน) และท้องสนามหลวง เป็นต้น แล้วก็ป้อนคำเกลี้ยกล่อม เพื่อฟังคารมซึ่งโดยมากมักสมคะเนไม่ค่อยพลาดหวัง ทั้งนี้ก็เพราะ “สมัยของประชาธิปไตย” กำลังตื่นตัวไปทั่วโลกนั่นเอง

บ้านหมอเหล็งเวลานั้นอยู่ในถนนสาทร หมอเหล็งมีบุตรภรรยาเป็นหลักฐานครอบครัวหนึ่ง พอถึงวันกำหนดนัดตอนเย็นต้นเดือนมกราคม ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔) เราทั้งสามก็ไปพบภรรยาของหมอเหล็งชื่ออบ เราเรียกว่าคุณพี่อบ ได้ทำการต้อนรับพวกเราด้วยอัธยาศัยไมตรีอย่างดียิ่ง และเต็มอกเต็มใจที่สุด

เมื่อ ร.ต. เหรียญได้แนะนำให้หมอเหล็งและภรรยารู้จักเราทั้งสองเรียบร้อยแล้ว เราก็เริ่มลงมือสนทนากันถึงเรื่องการเมืองทีเดียว ซึ่งหมอเหล็งได้ทราบล่วงหน้าดีอยู่แล้ว พร้อมกันนั้นหมอเหล็งได้ลุกไปหยิบหนังสือประวัติศาสตร์ทางการเมืองของต่างประเทศมาชี้แจงสนับสนุนให้เราฟัง เป็นเรื่องราวที่พวกปฏิวัติได้ทำการเปลี่ยนแปลงระบอบประเพณีการปกครองอย่างเฉลียวฉลาดกันมาแล้วอย่างไร เพื่อประกอบเป็นตัวอย่างที่เราควรจะยึดเป็นหลักดำเนินการต่อไป เรารู้สึกเลื่อมใสในความตั้งใจจริงของหมอเหล็งยิ่งนัก

ครั้นหมอเหล็งได้ฟังอารมและทัศนะของเรา พร้อมด้วยมีความเชื่อแน่ในความเป็นลูกผู้ชายแห่งนักปฏิวัติของเราด้วยแล้ว หมอเหล็งก็ยินดีรับปากพวกเรา ในการที่จะร่วมเป็นร่วมตายด้วย และไม่ขัดข้องที่จะรับดำเนินการในหน้าที่หัวหน้าพรรคในชั้นต้นนั้นก่อน พอดีเวลาจวนค่ำลงหมอจึงขอให้ภรรยาจัดอาหารเลี้ยงร่วมกัน คุณพี่อบได้ร่วมรับประทานพร้อมกันกับเรารวมเป็น ๕ คน คุณพี่อบเป็นกุลสตรีที่มีใจคอกล้าแข็งและสุภาพอ่อนโยนเช่นเดียวกับสามี ได้กล่าวส่งเสริมกำลังน้ำใจของพวกเราตลอดเวลาระหว่างเพลาอาหารนั้น เราได้หารือเรื่องการเมืองทั้งในทางได้และทางเสีย ในอันที่จะนำมาสู่ประเทศชาติอย่างใดบ้างเมื่อเรากระทำลงไป ส่วนร่างกายและจิตใจของเราทุกคนได้ยอมอุทิศเป็นชาติพลี ด้วยความบริสุทธิ์ทุกวาระ

ในที่สุด หมอเหล็งซึ่งมีอายุเพียง ๒๘ ปี จัดว่ายังหนุ่มเลือดร้อนอยู่เหมือนกัน พอเสร็จจากอาหารก็เร่งพวกเราให้นัดผู้ที่เราได้เกลี้ยกล่อมไว้แล้ว ไปประชุมฟังคารมและความคิดเห็นดูสักครั้งหนึ่ง ในวันอาทิตย์ที่ ๑๓ เดือนเดียวกันนั้น (มกราคม) เพื่อจะทำความเข้าใจบางประการและหยั่งเสียง พวกเราก็รับปากตกลง เพราะเวลานั้นเรามีสมาชิกสมองปฏิวัติแน่ ๆ ไว้แล้วราว ๑๐ คนจากกองปืนกล กรมทหารราบที่ ๑๑ กองโรงเรียนนายสิบและกรมทหารราบที่ ๓ แล้วพวกเราก็อำลาเจ้าบ้านกลับด้วยความหวังอันเต็มเปี่ยม

ณ วันอาทิตย์ที่ ๑๓ มกราคม ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔) เวลาประมาณ ๑๔ นาฬิกา ณ ศาลาพักร้อน ภายในบริเวณบ้าน หมอเหล็ง ศรีจันทร์ ถนนสาทร อำเภอสาทร จังหวัดพระนคร ได้เปิดประชุมพรรคต่อการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประเทศสยาม (ไทย) ขึ้นเป็นปฐมฤกษ์ นับว่าพรรคการเมืองได้อุบัติขึ้นแล้วในประเทศไทยพรรคหนึ่ง ซึ่งมีฉายาว่า คณะพรรค ร.. ๑๓๐ ตามที่เรียกขานกันมาอย่างย่อจนถึงบัดนี้ว่า “คณะ ร.ศ. ๑๓๐” ในการเปิดประชุมพรรคครั้งที่ ๑ นี้ ถือเสมือนผู้เริ่มริ มีองค์ประชุมเพียง ๗ คน คือ หมอเหล็ง ศรีจันทร์ ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์ ราบ ๑๑ รอ. ร.ต. จรูญ ษตะเมษ ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ และ ร.ต. ปลั่ง ปูรณโชติ ๓ คนนี้อยู่กองปืนกล รอ. ร.ต. หม่อมราชวงศ์ แช่ รัชนิกร อายุ ๒๐ ปี และ ร.ต. เขียน อุทัยกุล อายุ ๒๑ ปี ๒ คนนี้อยู่กอง ร.ร. นายสิบ อีกสามคนยังมิได้มาเข้าร่วมการประชุมในคราวนี้ด้วย หัวหน้าพรรคได้เป็นประธานดำเนินการประชุม ร.ต. เนตร เป็นผู้จดบันทึก ทำหน้าที่เสมือนเลขานุการ และได้รับหน้าที่เป็นนายทะเบียนอีกตำแหน่งหนึ่งด้วย เราทั้ง ๗ คน เสมือนเป็นกรรมการริเริ่ม เพื่อปรึกษาหารือกิจการเบื้องต้นของพรรคเป็นประเดิม

ประธานได้กล่าวเปิดประชุม โดยแสดงความยินดีอย่างยิ่งที่ได้พบปะกับนายทหารผู้รักชาติอันแท้จริง ซึ่งประธานไม่เคยคิดเลยว่าจะมามีขึ้นเป็นคณะ และเป็นพรรคเป็นพวกเช่นนี้ แล้วก็เล่าให้ที่ประชุมฟัง ถึงความดำริเดิมที่ ร.ต. เหรียญ ร.ต. จรูญ และ ร.ต. เนตร ได้ไปปรึกษาหารือและขอร้อง ในที่สุดประธานได้แสดงความหวังในความสำเร็จเผล็ดผลอันใหญ่ยิ่งต่อประเทศชาติที่รักของชาวไทยเป็นแน่นอน แล้วก็ขอให้ที่ประชุมดำเนินการอภิปรายแลกความคิดเห็นกันต่อไป

สมาชิกในที่ประชุม ได้แสดงออกซึ่งความคิดเห็นเป็นทำนองคล้ายคลึงกัน อันเกี่ยวกับความเสื่อมทรามของชาติต่างๆนานา แล้วแสดงถึงวิถีทางที่จะแก้ไขให้เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าได้อย่างไรบ้าง (โดยมากได้ปรากฏอยู่ในภาค ๑ แล้ว) ลงท้าย ก็สรุปผลหรือมติของที่ประชุมได้ว่า จะต้องแก้ด้วยวิธีเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (กษัตริย์เหนือกฎหมาย) เป็นประชาธิปไตยในรูปใดรูปหนึ่ง ผู้ที่มีความเห็นรุนแรงถึงกับขอให้เปลี่ยนเป็นระบอบสาธารณะรัฐ (Republic) เสียเลยทีเดียวก็มี ผู้ที่มีความเห็นไม่รุนแรงก็เห็นควรให้เป็นเพียงระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญไปก่อน แต่ปัญหานี้ยังตกลงอะไรกันแน่นอนไม่ได้ในที่ประชุมระยะริเริ่มเช่นนี้ จะต้องสงวนไว้ให้ที่ประชุมใหญ่ในวันข้างหน้าเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดกันโดยรอบคอบที่สุดต่อไป

นอกจากนั้น ยังมีมติให้สมาชิกทุกคน ต่างเกลี้ยกล่อมนายทหารที่มีหัวในทางเดียวกัน เข้ามาเป็นสมาชิกโดยวิธีตัวต่อตัว ให้ได้มากที่สุดที่สามารถจะกระทำได้ แล้วส่งรายชื่อไว้ที่นายทะเบียน ณ กองปืนกล กับให้แทรกซึมการสอนทหารให้รู้จักลัทธิการปกครองไว้ด้วยทุกคน เพื่อปลุกให้ฉลาดและตื่นตัวเสียแต่เบื้องต้น ส่วนแบบคำเกลี้ยกล่อมสมาชิกนั้น ที่ประชุมได้ขอให้ ร.ต. เนตร เป็นผู้เขียนและจัดส่งสมาชิกทั่วกัน เพื่อจะได้ดำเนินการไปในทางเดียวกันโดยถูกต้องรัดกุม และขอให้ที่ประชุมรักษากิจกรรมทุกอย่างไว้เป็นความลับเท่ากับชีวิตของตน จนกว่าเวลากาลตามแผนการจักมาถึง

ลงท้าย ประธานได้กล่าวปิดการประชุม และจัดการเลี้ยงอาหารเย็นพร้อมด้วยเครื่องดื่มพอสมควร นับว่ากิจการเบื้องต้นของพรรคได้เป็นไปด้วยความสามัคคีเรียบร้อยเป็นอย่างดี ส่วนการประชุมคราวต่อไปหากจะมีขึ้นอีกก็ได้มอบให้เป็นหน้าที่ของหัวหน้า ซึ่งจะได้ติดต่อกับเลขานุการให้เป็นผู้นัดหมาย แล้วสมาชิกก็อำลาจากกันด้วยความภาคภูมิใจทุกคน

อีก ๕ วันต่อมา เมื่อ ร.ต. เนตร ได้ติดต่อกับหมอเหล็งถึงเรื่องจำนวนสมาชิกและความเป็นไปก้าวหน้าระหว่างนั้นแล้ว หัวหน้าก็ขอให้ ร.ต. เนตร นัดประชุมครั้งที่ ๒ อีกวาระหนึ่ง ณ สถานที่เดิม

การประชุมครั้งที่ ๒ ได้เริ่ม ณ วันอาทิตย์ที่ ๒๐ มกราคม ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔) เวลาราว ๑๔ น. มีสมาชิกเข้าประชุม ๒๐ คน เป็นสมาชิกเก่า ๗ คน สมาชิกใหม่ ๑๓ คน ซึ่งเท่าที่ยังจำได้คือ พันตรี นายแพทย์ หลวงวิฆเนศร์ประสิทธิ์วิทย์ (อัทย์ หสิตะเวช) อายุราว ๓๕ ปี ร.ท. จรูญ ณ บางช้าง ร.ท. จือ ควกุล อายุ ๒๔ ปี นายทหารเสนาธิการกองทัพที่ ๑ ร.ท. ทองดำ คล้ายโอภาส อายุราว ๒๑ ปี (ขณะนี้เป็นร้อยเอก) นายทหารประจำกรมเสนาธิการทหารบก ร ต. บ๋วย บุณย์รัตพันธุ์ อายุราว ๒๓ ปี ร.ต. ทวน เธียรพิทักษ์ อายุราว ๒๔ ปี ๒ คนนี้ประจำกอง ร.ร. นายสิบ ร.ต. สอน วงษ์โต (ขณะนี้เป็นร้อยตำรวจเอก) กับ ร.ต. สนิท ๒ คนนี้ประจำกองปืนกล นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา อายุราว ๒๒ ปี กองล่ามกระทรวงยุติธรรม ร.ต. โกย วรรณกุล (เวลานี้เป็นร้อยเอกเนื่องจากเข้าสนามรบในสงครามโลกครั้งที่ ๒) ร.ต. ปาน สุนทรจันทร์ (ต่อมาเป็น พ.ท. พระวิเศษโยธาบาล) ร.ต. ช้อย (ต่อมาเป็น พ.ต. หลวงชัยพิทักษ์) และ ร.ต. ดี (ต่อมาเป็น พ.ต. หลวงลบบาดาล) นายทหารช่างที่ ๑ รอ. ทั้ง ๔ คน หมอเหล็ง หัวหน้าคณะได้เป็นประธานที่ประชุม เมื่อประธานกล่าวเปิดการประชุม โดยแสดงความยินดีและปลุกความกล้าหาญในการรักชาติของสมาชิกแล้ว ก็แจ้งผลการประชุมครั้งที่ ๑ ให้ทราบ และขอให้ที่ประชุมอภิปรายแลกความคิดเห็นที่เนื่องมาจากผลของการประชุมครั้งแรกนั้นโดยไม่มีญัตติ

หมออัทย์ ขอเสนอญัตติพิเศษ โดยขอให้ที่ประชุมทำพิธีสาบาลปฏิญาณตนพร้อม ๆ กันทุกคนเสียก่อน เพราะเป็นการประชุมชนิดคอขาดบาดตายเพื่อชาติ จำต้องแสดงตนเป็นชีวิตจิตใจเดียวกันด้วยความซื่อสัตย์สุจริตจริง ๆ ที่ประชุมเห็นชอบด้วย แล้วหมออัทย์ก็เอาลูกปืนแช่ลงในแก้วสุรา พร้อมกับกล่าวขึ้นมีใจความว่า “เราทุกคนจะต้องซื่อสัตย์ต่อกันทุกเมื่อ โดยยอมพลีชีวิตเพื่อความเจริญก้าวหน้าของชาติไทย มิหวังผลอันมิชอบเพื่อส่วนตัวด้วยประการทั้งปวง” เสร็จแล้วก็รินสุราสัตยะสาบานแจกกันดื่มทั่วหน้า ต่อจากนั้น หมออัทย์ได้ทำพิธีปลุกใจอีก โดยเอาต้นตะไคร้ที่ถอนมาจากข้างศาลา ๑ กำมือ ชูขึ้นพร้อมกับพูดว่า “สมาชิกทุกคนจะต้องรวมกำลังกันให้เหมือนกำตะไคร้ ซึ่งจะไม่มีผู้ใดสามารถหักได้ แต่ถ้าแยกกันเหมือนตะไคร้ต้นเดียวก็จะหักได้โดยง่าย” แล้วหมออัทย์ก็หักตะไคร้ให้ดูทีละต้นๆ ที่ประชุมปรบมือแสดงความพอใจเป็นอันมาก

ต่อจากนั้น ที่ประชุมก็ลงมือปรึกษาหารือและอภิปรายกันตามหัวข้อมติครั้งที่ ๑ สรุปผลของการประชุมได้ดังนี้ คือ:-

๑. จะต้องรีบลงมือกระทำการปฏิวัติให้เร็วที่สุดที่จะกระทำได้ เพราะไม่มีวิธีใดที่จะปิดการกระทำของเราให้เป็นความลับต่อไปได้ในระยะเวลาตั้ง ๑๐ ปี (ร.ท. จือ เป็นผู้อภิปรายอย่างเสียงแข็งในข้อนี้)

๒. เรื่องระบอบการปกครอง จะใช้ระบอบใด ให้รอฟังผลจากที่ประชุมครั้งต่อ ๆ ไปอีก (ร.ท. จือ ให้ความเห็นอย่างยืนกรานว่า จะต้องใช้ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ จึงจะเหมาะสมกับภาวะของประเทศในขณะนั้น)

๓. ให้สมาชิกทุกคนมีหน้าที่เกลี้ยกล่อมและหาสมาชิกใหม่ตามแนวเดิมอย่างเร่งรีบให้ได้มากที่สุดทั้งในพระนครและต่างจังหวัดด้วย

๔. ให้แบ่งมอบหน้าที่กันไปตามวุฒิสามารถและการงาน เช่น หมอเหล็ง ผู้เป็นหัวหน้า ให้พยายามทำการประสานกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ไว้ให้มาก หมออัทย์ ให้รับหน้าที่ฝ่ายต่างประเทศ ร.ท. จรูญ กับ นายอุทัย ให้รับงานทางด้านกฎหมาย ร.ท. จือ และ ร.ท. ทองดำ ให้รับงานด้านเสนาธิการ และเตรียมวางแผนการไว้ ร.ต. หม่อมราชวงศ์ แช่ เคยเป็นทหารช่าง ให้รับหน้าที่ออกแบบเครื่องหมายต่าง ๆ ของคณะและอาณัติสัญญาณ นายทหารนอกนั้น ให้เป็นฝ่ายคุมกำลังเมื่อลงมือกระทำการปฏิวัติ

๕. ให้ทุกคนช่วยกำลังเงินคนละ ๕ เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนที่ตนได้รับอยู่ เพื่อรวบรวมไว้ใช้จ่ายในการต้อนรับเลี้ยงดู และค่าพาหนะที่จำเป็น เช่น ส่งคนไปเกลี้ยกล่อมสมาชิกในต่างจังหวัดเป็นต้น เงินจำนวนนี้ให้ส่งไว้ที่นายทะเบียน เพื่อรวบรวมส่งมอบให้หัวหน้าต่อไปเป็นคราวๆ

เมื่อถึงเวลาจวนค่ำก็เลิกประชุม และหัวหน้าได้เชิญเลี้ยงอาหารเช่นเคย แล้วหมออัทย์ได้เชิญสมาชิกทุกคนไปเยี่ยมบ้าน ซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จใหม่ ๆ อยู่ใกล้กับบ้านหมอเหล็ง โอกาสนั้นเองหมออัทย์ได้นำสมุดภาพ และแฟ้มบรรจุเรื่องที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศจีนมาให้สมาชิกชม กับได้อธิบายชี้แจงเรื่องสำคัญต่างๆ ในการปฏิวัติที่นานาประเทศเคยกระทำกันมาแล้ว เพื่อกระตุ้นเตือนจิตใจสมาชิกให้หนักแน่นเข้มแข็งยิ่งขึ้น ครั้นพอควรแก่เวลาแล้ว บรรดาสมาชิกก็ร่ำลาแยกย้ายกันกลับด้วยน้ำใจอันเบิกบาน

ตามมติข้อ ๕ ในเรื่องการเงินนั้น ต่อมานายทะเบียนได้รับไว้บ้าง แล้วได้มอบให้หัวหน้าคณะไปทั้งสิ้น พร้อมกับรายชื่อเจ้าของเงินที่เสียสละ ซึ่งเป็นจำนวนแต่เพียงเล็กน้อยเพราะเวลาจำกัด แต่นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา ได้มีศรัทธาแก่กล้ามาก ได้มอบเงินให้แก่หัวหน้าโดยตรง ๑,๐๐๐ บาท เพื่อช่วยค่าต้อนรับเลี้ยงดูและสิ่งที่จำเป็น ในขณะนั้นเป็นครั้งแรก ทั้งยังยินดีที่จะสละเงินช่วยในคราวต่อๆ ไปอีกเมื่อขาดแคลน

ต่อมา การประชุมครั้งที่ ๓ ได้เปิดขึ้น ณ สถานที่เดิมอีกตามที่หัวหน้าสั่ง คือ ในวันอาทิตย์ที่ ๒๗ มกราคม เพื่อเร่งรัดงานให้เร็วขึ้นตามมติที่ประชุมครั้งที่ ๒ ครั้งนี้มีสมาชิกไปประชุม ๓๑ คน เป็นนายทหารหน้าใหม่ ๑๑ คน คือ ร.ต. วาส วาสนา ร.ต. ถัด รัตนพันธุ์ ร.ต. เหรียญ ทิพยรัตน์ ทั้ง ๓ ประจำกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ร.ต. สง่า เรขะรุจิ ร.ต. จาบ ร.ต. ปรีดา ว่าที่ ร.ต. ศิริ ชุณห์ประไพ ทั้ง ๔ นี้ประจำกรมทหารราบ ๑๑ รักษาพระองค์ ร.ต. อ๊อด จุลานนท์ (ต่อมาเป็น พ.อ. พระอร่ามรณชิต ขณะนั้นประจำกรมทหารช่างที่ ๑ รักษาพระองค์) ร.ต. หรี่ บุญสำราญ ประจำกรมทหารราบที่ ๒ ร.ต. ดาวเรือง และ ร.ต. สุดใจ ประจำกรมทหารราบที่ ๓ นายทหารทั้ง ๑๑ คนที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ระหว่าง ๒๑ ถึง ๒๓ ปี หัวหน้าคณะได้เป็นประธานการประชุม เมื่อประธานกล่าวเปิดประชุม และแสดงความยินดีต่อสมาชิกใหม่เสร็จแล้ว ก็กล่าวคำปลุกใจเช่นเคย แล้วผู้ที่ทำหน้าที่เลขานุการก็อ่านรายงานการประชุมครั้งที่ ๑ และที่ ๒ ให้ที่ประชุมรับทราบ ครั้นจบแล้ว ประธานขอให้สมาชิกเก่าที่รับหน้าที่ดำเนินงานตามมติของที่ประชุมครั้งก่อน นำผลงานมาแสดงแจ้งต่อที่ประชุมว่า ได้กระทำไปแล้วอย่างไรบ้าง หรือยังมีอุปสรรคติดขัดประการใด เพื่อที่ประชุมจะได้ช่วยคิดแก้ไขให้บรรลุผลอย่างดีที่สุด สมาชิกผู้ที่รับงานไปกระทำ ก็ได้นำหลักฐานที่กระทำไปแล้วมาชี้แจงให้ที่ประชุมรับทราบ เช่น ได้รับสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนเท่าใด เครื่องหมายธง เครื่องหมายประจำตัวสมาชิก อักษรสัญญาณลับมีรูปร่างลักษณะอย่างไร เท่าที่ยังจำได้ก็คือ ลักษณะของธงมีตัวอักษร “เสียชีพดีกว่าเสียชาติ” อยู่ในวงล้อมของอาวุธปืน ร.ศ. ไขว้กัน เครื่องหมายประจำตัวสมาชิกให้ใช้ผ้าเช็ดหน้าสีขาว ปักมุมด้วยอักษรสี สีเดียวกัน เมื่อชักออกจากกระเป๋าก็ให้เห็นและจำได้ว่าเป็นพรรคเดียวกันโดยทันที และอักษรลับก็มีตัว “ร” ตรงกับความหมายว่า “จงระวังตัว” อักษร “ต” “จงเตรียมตัวไว้เพื่อเคลื่อนที่ได้” เป็นต้น ข้างฝ่ายวางแผนการก็กะว่าจะลงมือกระทำการปฏิวัติในวันถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ในต้นเดือนเมษายน ตรงกับขึ้นศกใหม่ ร.ศ. ๑๓๑ (พ.ศ. ๒๔๕๕) ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งสมัยนั้นบรรดาข้าราชการทุกกระทรวงทบวงกรม ต้องมีหน้าที่ทำการถวายสัตยะสาบานปฏิญาณตนต่อพระแก้วมรกต เฉพาะพระพักตร์มหากษัตริย์พระประมุขแห่งชาติของตน ในท่ามกลางพระบรมราชจักรีวงศ์ มุขอำมาตย์ราชบริพารชั้นผู้ใหญ่ และสมณะชีพราหมณาจารย์ ด้วยวิธีดื่มน้ำที่แช่ด้วยคมหอกคมดาบ เพื่อเป็นการแสดงว่า จักจงรักภักดีต่อองค์พระประมุข ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตทั้งกาย วาจา ใจ โดยทั่วหน้ากันทุกคน ขณะนั้นเองอาณัติสัญญาณปืนใหญ่ของคณะปฏิวัติก็จะได้ยิงขึ้น ทั้งที่ทุ่งพระเมรุ (สนามหลวง) โดยกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๑ รักษาพระองค์ และที่บางซื่อ โดยกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๒ เพื่อหน่วยกำลังกล้าตายของคณะจะได้รีบรุดออกกระทำการทันที ส่วนที่ชุมพลให้ถือเอาสนามหลวงเป็นแหล่งใหญ่ หากเป็นแผนการฉุกละหุก ก็จะได้นัดหมายให้ทราบภายหลัง หรือมิเช่นนั้นก็ให้ยึดเอาแหล่งที่ตั้งยิงปืนใหญ่สัญญาณนั้นเป็นที่ชุมพลทันที ฝ่ายกฎหมายก็เสนอว่ากำลังค้นคว้าหาหลักเกณฑ์การร่างรัฐธรรมนูญอยู่เพื่อให้เหมาะสมแก่สถานการณ์ของประเทศไทย ซึ่งจำเป็นจะต้องได้นักกฎหมายฝ่ายพลเรือนจากกระทรวงยุติธรรมมาเป็นกำลังช่วยเหลืออย่างรอบคอบอีก เพราะจะต้องพิจารณาระเบียบการปกครองประเทศอีกหลายแขนง เพื่อนำความสันติสุขมาสู่ประชาชนอย่างแท้จริง ในที่สุดที่ประชุมเห็นพ้องด้วย แม้สมาชิกใหม่ก็ยอมรับแผนการนั้น และรับว่าจะเกลี้ยกล่อมหาสมาชิกมาเป็นกำลังให้มากที่สุดโดยรวดเร็ว แล้วประธานกล่าวปิดประชุม และเชิญรับประทานอาหารร่วมกันเช่นเคย ในระหว่างเวลาอาหารวันนั้นเอง ต่างได้ตกลงพร้อมเพรียงกันให้นัดประชุมในสัปดาห์หน้าอีกครั้งหนึ่ง ให้ใช้วิธีปิ๊คนิคไปยังตำบลช่องนนทรี เพื่อพลางเจ้าหน้าที่ทางบ้านเมืองมิให้แคลงใจสงสัยได้

ครั้นวันอาทิตย์ที่ ๓ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๓๐ (พ.ศ. ๒๔๕๔) เวลา ราว ๑๑ น. มาถึง สมาชิกประมาณ ๓๐ คน ก็มาพร้อมกันที่บ้านหมอเหล็ง พร้อมด้วยปืนยิงนกหลายกระบอก แล้วก็พากันออกเดินทางไปตามทุ่งนา ยิงนกกันไปพลาง คุยสนุกโปกฮากันไปพลาง จนกระทั่งถึงโบสถ์ร้างวัดช่องลม ตำบลช่องนนทรี เห็นเป็นทำเลเงียบสงัดและเหมาะเจาะดี จึงพากันหยุดพักเพื่อรับประทานอาหารกลางวัน และประชุมปรึกษาหารือกัน

ในโบสถ์หลังนั้นไม่มีพระพุทธรูป ปราศจากผู้คนเข้าออกหรืออาศัยอยู่เลย พื้นโบสถ์ขรุขระมาก แต่หลังคากับฝาผนังยังดีและมิดชิดอยู่ อาศัยเป็นที่ตั้งวงรับประทานอาหารได้อย่างสะดวกสบาย ไม่มีผู้ใดมองเห็นหรือจุนจ้านจากคนภายนอก หลังจากอาหารแล้ว การประชุมนักปฏิวัติครั้งที่ ๔ ก็เริ่มขึ้น แต่เพื่อไม่ประมาท ได้จัดให้สมาชิกเก่า ๆ ที่ซาบซึ้งในอุดมคติดีอยู่แล้ว มี ร.ต. เหรียญ กับ ร.ต. จรูญ ๒ คน ออกไปเป็นยามคอยเหตุภายนอกโบสถ์ ทำทีเป็นนักยิงนกและเดินเที่ยวเตร่อยู่รอบบริเวณโบสถนั้น เพื่ออำพรางผู้ที่สัญจรไปมามิให้เกิดความระแวงสงสัยได้

การประชุมครั้งนี้ หัวหน้าเป็นประธานตามเคย และเลขานุการก็อ่านผลของการประชุมทั้ง ๓ ครั้ง ให้ที่ประชุมรับทราบ ผลของการประชุมที่สำคัญ เมื่อได้อภิปรายกันแล้วมีดังนี้คือ ให้กำหนดตัวบุคคลไปเกลี้ยกล่อมทหารในต่างจังหวัด และเร่งรัดสมาชิกที่รับงานไปจัดทำ ให้รีบดำเนินการให้พร้อมสรรพ เพราะใกล้เวลาที่ได้กำหนดไว้ในแผนการแล้ว ข้อสุดท้ายที่อภิปรายโต้เถียงกันมากในครั้งนี้ก็คือ เรื่องระบอบการปกครอง ทุกคนเห็นด้วยว่าจะต้องปกครองแบบประชาธิปไตย แต่ตกลงกันไม่ได้ว่าจะใช้ระบอบใด คือ ระบอบลิมิเต็ดมอนากี้หรือรีปับลิค เหตุที่ตกลงกันมิได้ ก็เพราะต่างคนยังเคารพต่อมติของสมาชิกที่จะเข้ามาใหม่นั้นอยู่อีก ครั้นจะเรียกประชุมใหญ่ให้พร้อมกันทั้งหมด ก็มิอาจจะทำได้ เนื่องด้วยสถานที่จำกัด และเกรงว่าความลับจะแตกออก จึงต้องรอรวบรวมผลของมติกันต่อไป พอได้เวลาก็เลิกประชุม พากันเดินทางมายังบ้านหมอเหล็งอีก แล้วก็ร่ำลากันกลับจาก ณ ที่นั้น การประชุมครั้งที่ ๔ นี้ มีสมาชิกเก่า ๆ โดยมาก สมาชิกใหม่เท่าที่ยังนึกออกก็มี ร.ต. ลี้ ร.ต. ละม้าย ประจำกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๑ รักษาพระองค์ทั้งคู่ ร.ต. สะอาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา ร.ต. บรรจบ ว่าที่ ร.ต. ชอุ่ม ทั้ง ๓ นี้ ประจำกรมทหารม้าที่ ๑ รักษาพระองค์ นายเซี้ยง สุวงศ์ (ล่ามกระทรวงยุติธรรม ภายหลังได้เป็นเนติบัณฑิต พระยารามบัณฑิตสิทธิเศรณี) ร.ต. แช่ม กรมทหารราบที่ ๓ และ ร.ต. จันทร์ ปานสีดำ ประจำกระทรวงกลาโหม สมาชิกใหม่นี้ล้วนเป็นคนหนุ่มอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ระหว่าง ๑๘ ถึง ๒๑ ปี

ราวกลางเดือนกุมภาพันธ์ ศกเดียวกันนั้นเอง การประชุมครั้งที่ ๕ ก็ได้เปิดขึ้นที่ในบริเวณสวนของนายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา ที่ตำบลศาลาแดง พระนคร โดยการขอร้องของนายอุทัย ต่อหัวหน้าคณะปฏิวัติ หัวหน้าคณะก็ได้ไปในการประชุมครั้งนั้นและเป็นประธานที่ประชุมด้วย ส่วนหน้าที่เลขานุการ ได้ตกเป็นหน้าที่นายอุทัย ทำการแทน การประชุมครั้งนั้น มีสมาชิกเข้าประชุมประมาณ ๒๐ คนเศษ เป็นสมาชิกเก่าราวครึ่งเดียว นอกนั้นเป็นสมาชิกใหม่และโดยมากเป็นนายทหารเรือกับข้าราชการฝ่ายกฎหมายกระทรวงยุติธรรม ร.ต. เนตร เลขานุการ มิได้ไปร่วมประชุม เพราะติดธุระที่จะต้องจัดส่งสมาชิกออกไปเกลี้ยกล่อมนายทหารต่างจังหวัดตามมติ ครั้งที่ ๒ และครั้งที่ ๔ เป็นแต่ได้รับรายชื่อและมติของที่ประชุมที่นายอุทัยบันทึกส่งไป นายทหารเรืออีกราว ๓-๔ คน ที่ยังพอนึกออก คือ เรือโท ฟื้น (ต่อมาเป็น น.ท. พระรามสิทธิ์) เรือโทห้อง (ต่อมาเป็น น.อ. พระยากำแหง ฯ) เรือตรีหม่อมหลวงพักตร์ ส่วนข้าราชการกระทรวงยุติธรรม มีพระพินิจพจนาตถ์ (น่วม ทองอินทร์) หลวงนัยวิจารณ์ (เปล่ง ดิษยบุตร) และหลวงเนติวิจารณ์ นอกจากนั้นมีบุคคลภายนอกที่เป็นพ่อค้าคหบดี และผู้ที่ทำงานสถานทูตฝรั่งเศส คือนายบุญเอก ตันสถิตย์ เป็นนักเรียนประเทศฝรั่งเศส เชี่ยวชาญภาษาฝรั่งเศสเป็นอย่างดีในสมัยนั้น และมีจิตใจเป็นนักปฏิวัติแท้ๆผู้หนึ่ง (น่าเสียดายที่นายอุทัยแจ้งว่า นายปลอด ณ สงขลา พระยามานวราชเสวี ปัจจุบันนี้ ได้รับปากคำด้วยน้ำใจนักปฏิวัติแล้วเหมือนกัน แต่บังเอิญได้เดินทางไปเรียนในต่างประเทศเสียก่อน ที่จะมีการเปิดการประชุม จึงมิได้ไปร่วมด้วย) ผลแห่งการประชุมครั้งนั้นมีข้อสำคัญในเรื่องการเงิน เพราะถือว่าเป็นกำลังสำคัญอันหนึ่งของเรื่องการปฏิวัติ เฉพาะส่วนตัวนายอุทัยยินดีเสียสละทุกเมื่อหากคณะต้องการ ยิ่งกว่านั้น นายอุทัยยังได้ไปทำการทาบทามธนาคารแห่งหนึ่งไว้แล้ว คือธนาคารยู่เส็งเฮง ซึ่งมีนายฉลองนัยน์นารถ (ยู่เส็ง ศิวะโกเศศ) เป็นผู้จัดการ นายฉลองผู้นี้ เป็นข้าราชการในพระราชสำนัก ผู้จงรักภักดีและซื่อสัตย์ในพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างชีวิตจิตใจ แต่เป็นผู้ทรงปัญญาคุณและเหตุผลมาก รู้จักแบ่งงานส่วนตัวและของชาติ แยกจากกันได้เป็นอย่างดียิ่ง การที่ติดต่อกับนายธนาคารทั้งนี้ก็เผื่อเป็นคลังของคณะปฏิวัติเมื่อต้องการใช้ในยามจำเป็นจริงๆเท่านั้น

นอกจากเรื่องการเงินแล้ว ก็มีปัญหาเรื่องระบอบการปกครองอีกตามเคยทุกครั้ง ได้โต้เถียงกันนักหนา แต่เมื่อสรุปผลจากการประชุมใหญ่ทั้ง ๕ ครั้งแล้ว ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญกำลังนำหน้าฝ่ายระบอบสาธารณะรัฐด้วยคะแนนไม่สู้สูงกว่ากันมากนัก

เนื่องจากกำหนดเวลาในแผนการได้เดินใกล้เข้ามามากเต็มทีแล้ว มวลสมาชิกจึงขอให้ระงับการโต้แย้งปัญหาเรื่องระบอบการปกครองไว้ก่อน และให้ถือว่าการประชุมทั้ง ๕ ครั้งนี้ เป็นการประชุมใหญ่ หากจะประชุมสมาชิกเข้าใหม่เป็นคราว ๆ ก็ให้สมาชิกเก่าเชิญประชุมได้ในที่อันสมควร และระมัดระวังให้เป็นความลับที่สุด แต่ต้องแจ้งผลให้หัวหน้าคณะได้ทราบทุกครั้งไป กับให้แจ้งรายชื่อสมาชิกที่เข้าใหม่กับมติการประชุมไว้ที่นายทะเบียน ณ กองปืนกลด้วย เพื่อเป็นหลักฐานการปฏิวัติเมื่อสำเร็จแล้วสิ้นไป

การประชุมย่อยได้เปิดขึ้นอีกราว ๕-๖ ครั้ง ณ สำนักงานทนายความ ร.ท. จรูญ ณ บางช้าง เนติบัณฑิต ที่ตึกแถวข้างวังบูรพาภิรมย์ ในถนนมหาชัย ด้านใกล้ตึกห้างศรีจันทร์ของหมอเหล็ง ปัจจุบันนี้ และแทบทุกครั้ง หมอเหล็งหัวหน้าคณะ กับ ร.ท. จือ เสนาธิการผู้วางแผนปฏิวัติ และสมาชิกชุดริเริ่มบางคนมักจะไปเข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อปลุกน้ำใจและชี้แจงให้สมาชิกที่เข้าใหม่เกิดความศรัทธากล้าแข็งในอุดมคติของคณะ ส่วน ร.ต. เนตร เลขานุการ มิเคยไปเข้าร่วมประชุมด้วยเลย เพราะงานแผนกกลางกำลังหนักหน้านัก กล่าวคือจะต้องติดต่อประสานงานกับสมาชิกทุกกรมกอง เพื่อกระชับความสามัคคีกลมเกลียวให้แน่นสนิทยิ่งขึ้น และไหนยังจะคอยติดต่อกับหัวหน้าคณะในงานทุกแขนง คอยรับผลของการประชุมย่อย ๆ ทุกคราวมาเข้าเรื่อง รับรายชื่อสมาชิกที่เข้าใหม่มาลงทะเบียน และยังทำหนังสือโต้ตอบกับมวลสมาชิกในบางคราวอีกด้วย นับว่ามีเวลาจำกัดเต็มที ส่วนราชการประจำ มีการฝึกและสอนทหารหรืออยู่เวรยาม ก็ระวังมิให้เสื่อมเสียชงักงันได้เป็นอันขาด ตาม คติของคณะปฏิวัติ

รายชื่อสมาชิกใหม่ที่ได้รับจากการประชุมย่อย เมื่อยกเว้นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ตั้งแต่ผู้บังคับกองพันผู้บังคับการกรม และผู้บัญชาการกองพล กองทัพในพระนครแล้ว ก็มีชั้นผู้บังคับหมวดแทบทั้งหมด กับชั้นผู้บังคับกองร้อยบางคน เท่าที่พอนึกออกคือ พ.ต. หลวงอรินทร์ชาติสังหาร (บรรจงประณีตโยธิน) ประจำโรงเรียนนายร้อยทหารบก, ร.อ. แม้น สังขวิจิตร นายทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ร.ต. เปลี่ยน ไชยมังคละ นายทหารคนสนิท ผู้บังคับกองพันที่ ๑ ราบ ๑๑ รักษาพระองค์ ร.ต. บุญ แตงวิเชียร นายทหารมหาดเล็ก รักษาพระองค์ นายดาบปุ๋ย ราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์ นอกนั้นเป็นนายทหารเรือที่ผ่านมาทางพระรามสิทธิ และนักกฎหมายกระทรวงยุติธรรมที่ผ่านมาทาง นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา และนายเซี้ยง สุวงศ์

เป็นอันว่า นายทหารหน่วยกำลังในพระนครได้เข้าเป็นพรรคปฏิวัติเกือบทั้งหมด นับตั้งแต่กรมกองทหารในบางซื่อ ลงมาถึงพระราชวังดุสิต ท่าพระจันทร์ สวนเจ้าเชษฐ์ (ที่กรมทหารมหาดเล็กตั้งอยู่ทุกวันนี้) และทหารที่ประจำอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ตลอดจนนายสิบ พลทหาร ก็ได้รับความรู้ความฉลาดในเรื่องการปกครองบ้านเมือง พออกพอใจในวิธีปกครองของประเทศที่รุ่งเรืองศรีวิลัย และมีความสามัคคีรักใคร่กันไม่เฉพาะแต่ในหน่วยของเขาเท่านั้น เขายังรู้สึกค่าของส่วนรวมอีกด้วย (Esprit de corpe) ว่าย่อมนำความสำเร็จหรือชัยชนะมาสู่ประเทศได้เป็นอย่างดียิ่ง คำขวัญ (Motto) ของคณะปฏิวัติ ร.ศ. ๑๒๐ มีไว้ว่า “ทำแล้วอย่ากลัว จะชั่วหรือดี” เป็นคำขวัญที่เกิดจากคิดดีแล้วจึ่งทำนั่นเองตามพุทธภาษิตที่ว่า “นิสฺมม กรณํ เสยฺโย”

----------------------------

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ