- ประวัติย่อ ของ ร.อ. ขุนทวยหาญพิทักษ์
- คำอุทิศ แด่ หัวหน้าคณะปฏิวัติ ร.ศ. ๑๓๐
- คำนำ
- อารัมภะบท
- ภาค ๑ นายทหารหนุ่มเริ่มคิดปฏิวัติ
- ภาค ๒ ได้หัวหน้าและเริ่มประชุมพรรค
- ภาค ๓ วางแผนขยายกำลังทั่วประเทศ และ ได้สมาชิก “ผู้หักหลัง”
- ภาค ๔ การจับกุมคณะ ร.ศ. ๑๓๐
- ภาค ๕ อำนาจกรรมการศาลทหาร
- ภาค ๖ ภายในเรือนจำมหันตโทษ
- ภาคสรุป น้ำพระทัยพระมหาธีรราชเจ้า
- ภาคปกิณกะ
ภาค ๕ อำนาจกรรมการศาลทหาร
กอปรด้วยหัวข้อย่อดังนี้ :-
- เริ่มงานสอบสวนด้วยวิธีพิมพ์ข้อถามให้ผู้ต้องหาเขียนตอบ
- ร.ต. ชอุ่ม ยิงตัวตายในห้องขัง หลังจากเขียนคำให้การแล้ว
- กรรมการกับการไต่สวนที่น่ารู้
- กรรมการอ่านคำพิพากษาและบรมราชโองการ
- รถคุก คือยานพาหนะครั้งสุดท้ายของคณะ
อันมโนธรรมของมนุษย์ชาตินั้น ถ้ามีในสังคมมนุษย์แห่งใด ประชาชนแห่งนั้นจักเจริญ สุข สนุก สบายด้วยศานติ แม้เขาเหล่านั้นจะมั่งมีหรือยากจน จะทำอะไรถูกต้องหรือผิดพลาด หรือจะเป็นบุคคลต่างชาติต่างภาษาที่อยู่ร่วมกันก็ตาม
การจับกุมคุมขังผู้ต้องหาในคดีปฏิวัติการปกครองประเทศ ดังกล่าวไว้ในภาค ๔ นั้น ถ้าได้คำนึงถึงเหตุผลทางกฎหมายประกอบด้วยแล้ว จะเห็นว่าเขาเหล่านั้นเป็นผู้ต้องหาในฐานตั้งสมาคมขึ้นเพื่อจะเปลี่ยนการปกครองบ้านเมือง เท่าที่ยุคสมัยเป็นเครื่องชี้ทางให้ทำเท่านั้น แต่ก็เป็นการแน่นอน หากมีพยานหลักฐานเพียงแค่นั้น ผู้ต้องหาก็มิได้พ้นกงเล็บแห่งกฎหมายของบ้านเมืองไม่ได้เลย
นับเป็นชตาดีของผู้ต้องหา ที่รัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์สมัยนั้นยังมีมโนธรรม และมนุษย์ธรรมสูงมาก ไม่เอาอคติใด ๆ เข้ามาเป็นเครื่องพิจารณาวินิจฉัย เพ่งเล็งแต่แง่ยุติธรรมเพื่อประชาราษฎรเป็นใหญ่จริงๆ ปราศจากความอาฆาตมาดร้ายและหูเบา ทั้งไม่กระทำความชั่วช้าลามกไว้เบื้องหลัง อันเป็นที่จงเกลียดจงชังของผู้อยู่ภายใต้การปกครองด้วยเลย จึงมีความเที่ยงธรรมในการวิพากษ์วิจารณ์ในอรรถคดีใด ๆ อย่างไม่สะทกสะท้าน เป็นที่น่าสรรเสริญของผู้ที่รู้เห็นทั่วไป ทำนองเดียวกับประชาธิปไตยในอังกฤษและอเมริกา
รัฐบาลนั้นมีอันใดที่เป็นมโนธรรม ?
รัฐบาลนั้นได้พิจารณาหลักฐานจากปากคำของสมาชิก “ผู้หักหลัง” คือ ร.อ. หลวงสินาดฯ และเอกสารรายชื่อผู้ที่สละเงินช่วยคณะเพียง ๒ ประการเท่านั้นเป็นสักขี เอกสารสำคัญนอกนั้นได้ถูกทำลายสิ้นที่กองปืนกล และที่กองทัพที่ ๑ รัฐบาลจึงมิได้คิดจะกระทำรุนแรงอย่างใดให้เป็นเรื่องอึกทึกครึกโครมไปเกินกว่าเหตุ เห็นไปว่าเป็นเรื่องของคนหนุ่มที่เกิดเพื่อยุคเพื่อสมัย จึงเลยขนานนามคณะปฏิวัตินั้นว่า “สมาคมก่อการกำเริบ” ไม่ใช้คำว่า “กบฏ” และจัดการสอบสวนด้วยวิธีการสอบสวนสมาชิกในครอบครัว กล่าวคือ เบื้องแรก หลังจากวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๓๐ เมื่อจับกุมคุมขังผู้ต้องหาไว้ตามประเภทที่แบ่งไว้เสร็จแล้ว ก็พิมพ์หัวข้อคำถามราว ๑๓ ข้อ เพื่อให้ผู้ต้องหาตอบชี้แจงในราวในเดือนมีนาคม โดยจัดส่งคำถามเหล่านั้นไปยังสถานคุมขังทุกแห่ง พวกผู้ต้องหาประเภทที่ ๑ ก็ให้ให้คนนำข้อถามไปส่งให้เขียนคำตอบยังคุกต่างประเทศ เพวกประเภทที่ ๒ ที่คุมขังในกระทรวงกลาโหม กับประเภทที่ ๓ ที่คุมขังหรือกักบริเวณตามกรมกองทหารต่าง ๆ ก็คุมตัวไปเขียนคำตอบที่กองบัญชาการกองพลที่ ๑ ในกลาโหม ส่วนผู้ต้องหาที่เป็นนายทหารเรือ และข้าราชการกระทรวงยุติธรรมฯ ซึ่งถูกคุมขังอยู่กระทรวงนั้น ๆ ก็จัดส่งข้อถามไปให้เขียนตอบเช่นเดียวกัน เมื่อฝ่ายปราบปรามรวบรวมคำตอบจากผู้ต้องหาทั้งหมดแล้ว ก็ตั้งเจ้าหน้าที่ตรวจคำตอบนั้นเป็นกอง ๆ เพื่อค้นหาหลักฐานแห่งการกระทำผิดของแต่ละบุคคล ว่าผู้ใดกระทำผิดสถานหนักหรือสถานเบากว่ากันเพียงไร
ถึงตอนนี้ เราผู้เขียนจำเป็นจะต้องกล่าวแก้ข่าวลืออันไร้สาระ ในกรณีที่หาว่า คณะ ร.ศ. ๑๓๐ ได้จัดส่งนายทหารม้าผู้หนึ่งไปปลงพระชนม์ชีพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตามทางรถไฟ เมื่อจะเสด็จนิวัติกลับพระนครจากนครปฐม และนายทหารผู้นั้นไปทำการไม่สำเร็จ จึงต้องยิงตัวตายนั้น ให้สิ้นราคีจากคณะ ๑๓๐ ที่ยังมีผู้เข้าใจผิด ๆ กันอยู่ โดยมีความจริงเต็ม ๑๐๐ เปอร์เซ็นดังนี้ กล่าวคือ ในวันต้นเดือนมีนาคม ร.ศ. ๑๓๐ เวลา ๙ น. เศษ ร.ต. ชอุ่ม นายทหารม้าที่ ๑ รอ. ได้ถูกคุมตัวไปที่กองบัญชาการกองพลที่ ๑ เพื่อเขียนคำตอบ พร้อมกับ ร.ต. สนิท และ ร.ต. เนตร นายทหารปืนกล รอ.
เราทั้ง ๓ ได้นั่งเขียนคำให้การร่วมโต๊ะตัวเดียวกันประมาณ ๑ ชั่วโมง เสร็จแล้วก็มอบให้เจ้าหน้าที่เก็บไป ใครจะให้การอย่างไร ไม่มีใครทราบ แล้ว ร.ต. ชอุ่ม ก็ถูกนำตัวกลับไปคุมขังยังกรมทหารม้า หน้าวัดพระเชตุพนฯ ส่วน ร.ต. สนิท กับ ร.ต. เนตร ก็ถูกนำกลับเข้าห้องขังด้าน ร.ร. นายสิบบนกระทรวงกลาโหมนั้นเอง
ครั้นเวลาประมาณก่อนเที่ยงในวันนั้น พวกเราที่ถูกขังด้าน ร.ร. นายสิบ ได้ยินเสียงผู้รับโทรศัพท์ข้างห้องยังพูดกันว่า รต. ชอุ่ม นายทหารม้าได้ยิงตัวตายเสียแล้ว เมื่อกลับจากเขียนคำให้การสักครึ่งชั่วโมงเศษๆ ภายในห้องขังของเขาด้วยปืน ร.ศ. สั้นของทหาร ที่ชอุ่มเก็บซ่อนไว้แต่แรกถูกขัง โดยวิธีเอาปากกระบอกปืนใส่ปาก แล้วใช้เท้าเหนี่ยวไก ตามทางสันนิษฐานของพวกเพื่อน ๆ ว่า ชอุ่มรังเกียจที่จะต้องตายด้วยดาบเพชฌฆาต หรือลูกปืนของผู้ชนะ เพราะเคยรำพึงเช่นนั้นบ่อย ๆ พวกเราทุกคนพากันใจหาย ยิ่งเฉพาะผู้ที่ไปเขียนคำให้การด้วยกันมาหยก ๆ ก็ยิ่งรู้สึกสลดใจเป็นอันมาก เพราะในระหว่างที่เขียนคำให้การด้วยกันอยู่นั้น ชอุ่มไม่ได้สำแดงทีท่าว่าจะอยากตายเลย น้ำใจลูกผู้ชายอันสิ้นหวังที่จะได้ทำเพื่อชาติของเขาคงจะอุบัติเมื่อพลุ่งออกมาโดยกะทันหันนั่นเอง ด้วยสาเหตุการตายของนายทหารม้าผู้นี้เลยกลายเป็นข่าวลือกระฉ่อนไปทั้งเมือง ว่าชอุ่มไปดักยิงพระเจ้าแผ่นดินไม่สำเร็จ จึงยิงตัวเอง ซึ่งไม่มีเหตุผลควรเชื่อเลยสักเท่าปีกริ้น เพราะชอุ่มนอนตายอยู่ในห้องขังที่ใส่ด้วยกุญแจและควบคุมด้วยทหารยามแท้ ๆ นี่คือสัจจะอันหนึ่งของคณะเราเฉพาะกรณีนี้
เนื่องด้วยคำให้การที่ต่างคนต่างเขียน ย่อมจะไม่เหมือนกันเป็นธรรมดา เพราะต่างคนต่างใจ สุดแต่สมองของแต่ละคนยึดมั่นอยู่ในอะไร สมองปฏิวัติแท้ ๆ ที่เกิดจากหัวใจ ที่ยึดมั่นในสัตยะสาบานที่จะยอมตายร่วมกันจริง ๆ ส่วมสมองปฏิวัติที่พวกมากลากเอาไป ก็ให้การซัดทอดเพื่อนร่วมน้ำสาบานเพื่อหวังเอาตัวรอด เราจะไม่กล่าวแจงสี่แจงห้าไว้ในที่นี้ เพราะผู้เขียนก็ทราบไม่ละเอียดพอ แต่ถ้าพูดถึงข้อตกลงของคณะตามคติที่ว่า “ทำแล้วอย่ากลัว จะชั่วหรือดี” ก็คือการไม่ซัดทอดเพื่อนเป็นขาด จะไม่ให้การเสียเลย หรือจะแบ่งรับแบ่งสู้ตามเหตุผลหรือดุลยพินิจอันสมควรแก่คำถาม โดยมิให้เป็นภัยแก่คณะปฏิวัติได้เป็นดีที่สุด
เมื่อจำเลยหลายคนให้การซัดทอดกันเอง ความยุติธรรมก็ลงโทษยาก ครั้นจะลงโทษทางวินัยก็จะเป็นเยี่ยงอย่างในภายหลัง ฉะนั้น จึงมีพระบรมราชโองการให้ตั้งคณะกรรมการศาลทหารขึ้น ประกอบด้วยกรรมการ ๗ คน มี จอมพล เจ้าพระยาบดินทร์เดชานุชิต (หม่อมราชวงศ์ อรุณ ฉัตรกุล) ปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหม เป็นประธานกรรมการ พลเอก พระยาศักดาวรเดช (แย้ม ณ นคร ต่อมาได้เป็น จอมพล เจ้าพระยาบดินทร์เดชาวุธ) จเรทัพบก พลตรี พระยาพิชัยสงคราม ( หม่อมนเรนทร์ราชา สุทัศน์ ต่อมาเป็นพระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร) น.อ. พระยาวิจิตรนาวี น.ท. พระสุนทรา (มหาวิม พลกุล ต่อมาเป็น พระยาวินัยสุนทร) กรมพระธรรมนูญทหารเรือ กับอีก ๒ ท่านจำไม่ได้ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นนายทหารกรมพระธรรมนูญทหารบก คณะกรรมการชุดนี้ใช้ห้องกลางมุขหลังกระทรวงกลาโหมชั้นที่ ๓ ด้านหลังของห้องสโมสรมุขหน้าเป็นศาลทหาร จัดโต๊ะสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งกลางห้อง ประธานนั่งประจำหัวโต๊ะด้านในเสมอในเวลาไต่สวน ส่วนพวกกรรมการอีก ๖ คน นั่งถัดกันออกมาทั้งสองข้าง ๆ ละ ๓ คน จำเลยที่ถูกเรียกไปไต่สวนนั่งหัวโต๊ะด้านตรงข้ามกับประธาน ถ้าจำเลยผู้ใดโดยวินัยและอัชฌาสัย จะยืนให้การเมื่อถูกกรรมการซักถาม เป็นต้องถูกประธานร้องห้ามทุกครั้ง ขอไม่ให้ยืนให้การ ให้นั่งให้การตามสบาย ซึ่งโดนเข้ากับตัว ร.ต. เนตร และ ร.ต ถัด รัตนพันธุ์เองทุกครั้ง กรรมการผู้ที่ซักถามและจดคำให้การมักจะตกหน้าที่ของนักกฎหมาย เช่น พระสุนทรา เป็นต้น ส่วนกรรมการอื่น ๆ หากสงสัยติดใจใคร่จะซักถามท้วงติงบ้าง ก็ย่อมทำได้ไม่ขัดข้อง
สำหรับผู้ต้องหาประเภทที่ ๑ ที่ถูกจำขังอยู่คุกต่างประเทศ หาได้ถูกเรียกตัวออกมาทำการไต่สวนที่ศาลในกระทรวงกลาโหมไม่ ศาลได้จัดส่งกรรมการเข้าไปไต่สวนภายในคุกเอง ที่เรียกว่า ‘เผชิญสืบ’ แต่ผู้ต้องหาในคุกนั้น บางคนก็ถูกทั้งสอบสวนและไต่สวน โดยทางเรือนจำได้จัดห้องให้เป็นพิเศษ โดยเฉพาะสำหรับเจ้าหน้าที่หรือกรรมการศาลทหารทำงาน แต่บางคนถูกไต่สวนเพียงครั้งเดียวก็มี เฉพาะ ร.ต. บุญ แตงวิเชียร ได้ถูกสอบสวนโดยหลวงประจันต์ฯ ปลัดกองพลที่ ๑ รอ. กับคณะได้นำข้อถามไปให้เขียนตอบที่ในเรือนจำ แต่จะให้ตอบทุกคนหรือไม่ ร.ต. บุญ ไม่ทราบ เพราะไม่พบเห็นกัน ครั้นถึงคราวไต่สวนโดยกรรมการศาลทหาร ร.ต. บุญ ก็ถูกไต่สวนอีกครั้งหนึ่ง โดย พลตรี พระยาพิชัยสงคราม กับ น.ท. พระสุนทรา ๒ คนเท่านั้น กรรมการทั้งสองได้เขียนคำถามไปเสร็จ แล้วก็ขอให้ตอบด้วยลายลักษณ์อักษร แต่ถ้าตอบขาดเกินอย่างใด กรรมการก็คอยซักไซ้ไล่เรียงไปด้วย เฉพาะ ร.ต. บุญ ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อหาทั้ง ๒ คราว ผิดกับ ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์ ซึ่งถูกไต่สวนเพียงครั้งเดียว และก็ไม่สนใจที่จะพิจารณาข้อถามให้เสียเวลา เขาเขียนตอบไปว่า “กระผมขอประธานโทษต่อท่านกรรมการ ที่ไม่อาจจะให้การตามข้อถามเหล่านี้ได้ทั้งสิ้น” แล้วก็เซ็นชื่อส่งให้กรรมการไป เมื่อกรรมการรับไปอ่านดูแล้วก็หัวเราะ พลางพูดว่า “การที่คุณไม่ตอบข้อถามเสียเลยเช่นนี้ ผมเห็นว่าคงจะไม่เกิดประโยชน์อย่างใดแก่คุณเลย” ทั้งยังได้พูดปลอบโยนอีกในฐานผู้ใหญ่ตักเตือนเด็ก แต่ ร.ต. เหรียญ ด้วยความที่นึกเกรงใจว่าจะต้องทำให้กรรมการเสียเวลาเปล่า ๆ เขาจึงเลยตัดบทเสียว่า “กระผมได้เรียนต่อท่านประธานกรรมการไว้แต่วันแรกที่ถูกจับแล้ว ก็ขอให้เป็นวาจาที่ตรงกันทั้งคำแรกและคำสุดท้าย” เมื่อกรรมการเห็นว่าไม่มีทางที่จะให้ ร.ต. เหรียญ เปลี่ยนใจได้ ก็กล่าวตอบด้วยความหมดอาลัย และพยักหน้าให้ผู้คุมที่ยืนหน้าประตูเข้ามาคุมตัว ร.ต. เหรียญ กลับไปเข้าห้องขังตามเดิม
หมอเหล็ง หัวหน้าคณะให้การว่า เพียงแต่มีการหารือกันเพื่อจะทำหนังสือในทูลเกล้า ฯ ถวาย ในอันจะขอพระมหากรุณาให้องค์พระมหากษัตริย์ทรงปรับปรุงการปกครองประเทศให้สอดคล้องกับสมัย โดยเปลี่ยนการปกครองเป็น ลิมิเต็ดมอนากี้ มิได้มีการตระเตรียมกำลังที่จะยึดอำนาจแต่อย่างใด พระยาพิชัยฯ ท้วงว่าถ้าไม่มีกำลังทหารบีบบังคับแล้ว พระมหากษัตรย์จะทรงยินยอมหรือ ? หมอเหล็งก็อ้างประเทศญี่ปุ่นเป็นตัวอย่าง ทำให้พระยาพิชัยฯ หยุดนิ่งไป มีข้อความส่วนสำคัญเพียงเท่านี้
ส่วน ร.ท. จือ เสนาธิการของคณะ ได้ให้การละม้ายคล้ายคลึงกับหัวหน้าคณะ แต่ได้เพิ่มเหตุผลบางประการที่เกี่ยวกับการทหารของประเทศ โดยเกรงว่าจะมิเป็นรั้วของประเทศสมปรารถนา ตามหลักวิชาตามที่เสนาธิปัตย์ทุกคนได้ศึกษาเล่าเรียนมาจากทูลกระหม่อมจักรพงษ์ และผู้ทรงคุณแห่งวิชาการทหารอย่างสูงอยู่ในขณะนั้น
ผู้ที่ให้การอย่างน่าฟังอีกคนหนึ่ง ก็คือ ร.ต. วาส วาสนา ผู้กล้าหาญและทำจริง ได้ให้การแบบขวานผ่าซากทำนองเดียวกับ ร.ต. ถัด คือ ตามทัศนะของเขาเห็นว่า ราชการแผ่นดินสมัยนั้นเป็นประหนึ่ง ‘ตุ๊กตา’ เครื่องเล่นของประเทศ จะยึดอะไรให้เป็นล่ำเป็นสันสักอย่างแทบไม่ได้ เขาว่า เพราะเขาเป็นนายทหารมหาดเล็ก เขาได้เห็นพฤติการณ์ในพระราชสำนักมาเป็นอย่างดี
เป็นอันว่าผู้ต้องหาในคุกต่างประเทศ ไม่มีผู้ใดให้การรับสารภาพตรง ๆ เลยสักคนเดียว นอกจาก ร.ท.จรูญ เนติบัณฑิต ได้ยอมให้การสารภาพ แต่จะสารภาพขนาดไหน เพียงใด ไม่มีใครทราบ ทั้งนี้ ก็เพราะเขาเคยเป็นศิษย์หัวแก้วหัวแหวนของพระยาพิชัยสงครามโดยตรงมาตั้งแต่เป็นนักเรียนนายร้อย จรูญเคารพพระยาพิชัยฯ ยิ่งนัก ถึงกับรำพรรณองค์ความดีของอาจารย์ต่าง ๆ นานาให้เพื่อนฝูงฟังเสมอ ท่านอาจารย์ก็คงจะรักจรูญมากเช่นเดียวกัน ถึงกับนำบุหรี่เป็นอันมากเข้าไปให้จรูญ และขอให้แจกแก่เพื่อน ๆ ของจรูญด้วยในวันที่ท่านเข้าไปไต่สวน ทำให้พวกเรารำลึกถึงบุญคุณของท่านมิได้ขาด
ฝ่ายทางศาลที่กลาโหมเล่า ก็ได้เรียกตัวผู้ต้องหาไปไต่สวนทุกวัน เว้นวันหยุดราชการ พวกที่ถูกเรียกไปไต่สวนซึ่งอยู่ทางด้านโรงเรียนนายสิบ หามีผู้ใดรับสารภาพไม่ เป็นแต่ให้การภาคเสธบ้าง ไม่ยอมให้การบ้าง เช่น ร.ต. จรูญ ษตะเมษ ผู้ต้นคิดปฏิวัติ ก็ไม่ยอมให้การอย่างใดเลยแบบ ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์ เหมือนกัน
มีผู้ต้องหาประเภทที่ ๓ บางคน ที่ต้องการจะเอาตัวรอดถ่ายเดียว หาได้คำนึงถึงคำขวัญของคณะหรือสัจจะสาบานไม่ ได้เปิดโปงให้แก่ศาลจนหมดจนสิ้นเท่าที่ตนรู้ เลยเป็นช่องทางให้ศาลล้วงถามความจริงจากผู้ถูกซัดร่ำไป พยายามเรียกไต่สวนแล้วไต่สวนเต่า ถึงกับกระทำให้ประธานศาลทหารหงุดหงิดใจในบางคราว เมื่อล้วงเอาความจริงผู้ที่ถูกซัดทอดไม่ได้ดังปรารถนาก็มี
ราว ๆ กลางเดือนมีนาคม ๑๓๐ หลังจากการสอบสวนที่กองพลที่ ๑ แล้ว กรรมการศาลทหารได้เรียกตัว ร.ต. เนตร ไปไต่สวนเป็นครั้งแรก ร.ต. เนตร ได้ถูกประธานกรรมการเชิญให้นั่งหัวโต๊ะตรงข้ามกับประธาน มีทหารถือปืนสวมดาบยืนเป็นเกียรติยศอยู่สองข้าง ประธานกรรมการขอให้พระสุนทราทำการไต่สวนและจดปากคำ ตามหัวข้อคล้ายกับเมื่อเขาเขียนตอบ จึงทำให้ง่ายต่อการตอบคำถาม เพราะเขาเคยเขียนตอบมาแล้วเมื่อสอบสวนที่กองบัญชาการกองพลที่ ๑ เช่นคำถามที่ว่า เคยไปประชุมที่ไหนกี่ครั้ง ร.ต. เนตร ก็ตอบว่าเคยไปประชุม ๓-๔ ครั้ง แต่เป็นการประชุมพบปะเพื่อนฝูงเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ และสนุกสนานกัน เช่น ยิงนกปลา ตามท้องทุ่งท้องนาเป็นต้น คำถามที่ว่า ในเวลาประชุมได้พูดกันถึงเรื่องเปลี่ยนการปกครองหรือเปล่า พูดว่าอย่างไร คำตอบมีว่า ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะคุยกันถึงเรื่องการเมืองได้ทุกแห่ง ตลอดถึงระบอบการปกครองและลัทธิ แม้แต่ทูลกระหม่อมจักรพงษ์และพระยาเทพหัสดิน (ผาด เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เมื่อเข้าสอนวิชายุทธศาสตร์ยุทธวิธีในห้องเรียน ท่านก็เคยสอนลัทธิการเมืองของหลายประเทศ ลัทธิไหนดีท่านก็ชมเชย ลัทธิไหนชั่วท่านก็ติเตียน ทำไมลูกศิษย์จะนำมาสังสรรพูดคุยหรือถกเถียงกันบ้างมิได้เชียวหรือ คำถามมีว่า ได้จัดตั้งเป็นสมาคมกันหรือเปล่า (คงจะหมายความถึงพรรคการเมืองอย่างสมัยปัจจุบันนี้) คำตอบมีว่า ไม่ได้ตั้งแต่อย่างใดเลย และไม่มีใครที่จะคิดตั้งสมาคมเพื่อหย่อนใจให้เป็นเรื่องน่าขบขัน คำถามมีว่า ตัวผู้ต้องหาได้รับหน้าที่อะไรจากที่ประชุมนั้นบ้าง (แทงใจดำ) ร.ต. เนตร ตอบอย่างเสียงแข็งว่า ก็เมื่อไม่มีการประชุมเพื่อกิจการใด ๆ เลยแล้ว หน้าที่อะไร ๆ ก็ย่อมไม่มีเกิดขึ้น นอกจากใครจะเป็นคนยิงนก ใครจะเป็นคนตกปลา และใครจะเป็นผู้จัดหาอาหารอร่อยๆ ไปร่วมด้วย ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีคำถามอีกหลายข้อ แต่ถ้าเกี่ยวด้วยเป็นความสำคัญของคณะก็ไม่ตอบหรือปฏิเสธ หรือใช้คำว่า ไม่ทราบ จนกระทำให้กรรมการบางคนฮึดฮัด หาว่าไม่ให้การตามความจริง แต่ ร.ต. เนตร ก็ยืนยันว่ามันคือความจริงของเขา ประธานกรรมการถึงกับชักฉุน แต่อาศัยที่ท่านเป็นคนวัยปลาย จึงพยายามหักใจเอาดีเข้าต่อด้วยเล่ห์กะเท่ห์ของผู้ใหญ่ โดยใช้คำปลอบโยนว่า ขอให้บอกความจริงจะได้รับความลดหย่อนผ่อนโทษลง ร.ต.เนตร ก็คงยืนกรานตามที่ตอบไป ลงท้ายประธานโกรธจัด พูดสบัดหน้าว่า เมื่อเขาไม่ยอมให้การจริงๆ ก็แล้วไป และแล้วสั่งให้ทหารยามคุมตัว ร.ต. เนตร กลับได้ ร.ต. เนตร เมื่อลุกขึ้นทำการคารวะแล้วก็เดินตามทหารยามเกียรติยศไป พอถึงห้องขังที่เล่าเรื่องราวสู่เพื่อนปฏิวัติอย่างสนุกขบขันตามประสาของทหารหนุ่ม
ร.ต. ถัด รัตนพันธุ์ เป็นนักปฏิวัติอีกผู้หนึ่งที่มีอุปนิสัยเถรตรงและทำจริง เมื่อเขาถูกเรียกตัวจากกรมทหารมหาดเล็กไปไต่สวนยังศาลทหาร เขาได้ให้การอย่างมิเกรงขามเลย เขาตอบกรรมการตามความจริงใจว่า เขาพอใจที่จะคิดเปลี่ยนแปลงประเพณีการปกครอง เพราะการเล่นโขนเล่นละครเสียเองของพระประมุขแห่งชาตินั้นไม่มีประโยชน์แก่ชาติอันใดเลย มีแต่จะเสื่อมพระเกียรติยศเกียรติคุณแก่นานาประเทศ และมีผลกระทบกระเทือนถึงชาติ ถึงประชาชนคนไทยอีกด้วย ควรให้เป็นหน้าที่ของคนอื่นเขาแสดงและจัดการ การมีกองเสือป่าก็เช่นกัน ทำให้หมดเปลืองเงินของแผ่นดินเปล่าๆ ทำให้ข้าราชการทหารและพลเรือนแตกร้าวกัน ดั่งเคยมีตัวอย่างร้ายกาจมาแล้วในประเทศเตอรกี ฯลฯ ถึงกับประธานกรรมการนั่งฟังอย่างคอแข็งและแก้แทนองค์พระประมุขต่างๆ นานา เช่นแก้ว่า คนเราจะทำงานอย่างเดียวตะพึดตะพือไปได้อย่างไร จำเป็นจะต้องมีการเล่นการหวัวบ้าง เพื่อเป็นการหย่อนพระราชหฤทัย จะได้ทรงพระราชภาระต่อไปอีกนาน ๆ ร.ต. ถัดก็คงยืนยันเหตุผลของเขาอยู่ตามเดิม รู้สึกว่ากรรมการบางคนยิ้มด้วยความเห็นอกเห็นใจ และบางคนถึงกับกล่าวคำขอบใจที่เขาได้ให้การตรงเผงกับความในใจไม่บิดเบือน
ครั้นราวกลางเดือน เมษายน ร.ศ. ๑๓๑ ซึ่งล่วงเข้าศกใหม่ของสยาม (ไทย) สมัยนั้น ร.ต. เนตร ได้ถูกเชิญตัวไปไต่สวนอีกครั้งหนึ่ง พอเขานั่งลงตรงข้ามกับประธานภายหลังทำความเคารพแล้ว ประธานก็ส่งความยิ้มย่องผ่องใสมายังเขา พร้อมกับกล่าวปฏิสันถารว่า คราวนี้คงจะเปลี่ยนจิตใจได้แล้ว และหวังว่าจะได้ฟังความจริงจากปากเขาเป็นแน่ เพราะทางสอบสวนไต่สวนปรากฏชัดว่า เขาเป็นคนสำคัญชั้นตัวการของคณะ ร.ต. เนตรยิ้มรับ และตอบด้วยคารวะว่า เขาไม่ทราบอะไรมากไปกว่าที่ได้ให้การไปแล้ว
ทันใดนั้น กรรมการผู้หนึ่ง ได้งัดเอาคำซัดทอดของผู้ต้องหาเพื่อนตายของ ร.ต. เนตร ออกจากแฟ้มหนังสือ อ่านให้ฟังอย่างช้าๆ ชัดถ้อยชัดคำ สังเกตเห็น ร.ต. เนตรเงี่ยหูฟังด้วยความตั้งใจ และคงจะนึกว่าเพื่อนตายของเขาช่างด่วนกลัวตายเสียนี่กระไร เพราะในคำซัดทอดนั้น แสดงว่าเป็นผู้รู้ความลับของคณะอยู่มาก และรู้หน้าที่ของ ร.ต. เนตร และใครต่อใครไม่น้อย พอกรรมการอ่านจบ ประธานก็รีบบอกทันทีว่า ให้รับสารภาพเสียเถิด เพราะอย่างไรๆความจริงมันหนีความจริงไม่พ้นดอก ร.ต. เนตร ก็ศอกกลับว่า การซัดทอดมันเป็นของง่าย ถ้าต้องการจะให้เขาซัดบ้าง บางทีกรรมการอาจจะเดือดร้อนก็ได้ แปลว่า ร.ต. เนตรไม่ยอมเปลี่ยนใจทั้ง ๆ ที่กำลังถูกหมัดเด็ดเข้าจังหน้าเช่นนั้น
ประธานกรรมการกล่าวกำชับว่า จงนึกเสียให้ดี จะให้เวลาตรึกตรองอีกสักครู่หนึ่ง ร.ต. เนตร ก็คงเรียนยืนกรานอย่างกระต่ายขาเดียวทันทีนั้นเอง กรรมการก็งัดเอาคำซัดทอดออกมาอีกฉบับหนึ่ง อ่านให้ฟังช้าๆยิ่งกว่าฉบับแรก คล้ายกับเกรงว่าฉบับแรกยังไม่ซึมเข้าสมองของ ร.ต. เนตรพอ แต่ตรงข้าม สำหรับฉบับหลังนี้ ร.ต. เนตรไม่ยอมฟังเสียเลย คอยสำเหนียกแต่ชื่อผู้ซัดทอดในตอนจบเท่านั้น ชื่อผู้ซัดทอดคนแรกกับคนหลังเป็นนายทหารสังกัดคนละกรม เป็นสมาชิกที่เพิ่งเข้าประชุมก่อนหน้า “ผู้หักหลัง” และเป็นนายทหารคนละชุดกับ ร.ต. เนตร เป็นคนหนุ่ม แต่ไม่ใช่ทหารหนุ่ม เพราะความหนุ่มของเขาไม่มีความกล้าหาญพอที่จะรักษาวินัยของคณะปฏิวัติเพื่อชาติไว้ได้ แต่ก็ยังดีกว่าได้ชื่อว่าเป็น “ผู้หักหลัง” ต่อคณะ
ประธานกรรมการกล่าวเมื่อคำซัดฉบับสองถูกอ่านจบลงว่า “เธอถูกซัดทอดถึงสองคนแล้วนา จะยังขืนกางร่มไปถึงไหน”
ร.ต. เนตร ลุกขึ้นยืน หมายจะโต้ตอบให้งดงาม ก็ถูกประธานกรรมการขอร้องให้นั่งตามสบาย และกล่าวว่า “เรายังมีเวลาพอที่จะคุยกันอีกไม่ต้องยืนให้การหรอก”
ตรงกันข้าม พอ รต. เนตรนั่งลงแล้วก็ตอบว่า “ไม่มีอะไรจะตอบอีก เพราะได้ตอบไปแล้ว ๒ ครั้ง คำซัดทอดสักกี่ฉบับ – กี่ฉบับ ก็ไม่กลับใจและกลับคำให้การของเกล้าฯ ได้เลย ซึ่งเป็นความจริงของเกล้าฯ”
สังเกตได้ว่า กรรมการทุกคนชักงุ่นง่านไปตาม ๆ กัน ต่างลุกจากที่มาโอ้โลมปฏิโลม ร.ต.เนตรหลายคนว่าควรจะรับเสียโดยดี ยิ่งแข็งไป โทษก็ยิ่งหนัก ร.ต. เนตร ได้กล่าวขอบคุณกรรมการที่กรุณาต่อเขา และยืนคำอยู่ว่า ไม่มีอะไรจะตอบจริง ๆ จะสรรอะไรมาตอบที่ไม่ตรงกับความต้องการแห่งจิตใจของเขา เขาก็ทำไม่ได้ กรรมการกล่าวแย้งว่า เพื่อนของ ร.ต. เนตร ได้ให้การตรงกันแล้ว ๒ คน ร.ต. เนตรจะขืนปฏิเสธอย่างไร ๆ ก็ไม่น่าเชื่อ ร.ต. เนตร ก็ย้อนให้ว่า มันเป็นเรื่องของคน คนเราอาจจะทำความตกลงกันมาเพื่อประโยชน์ตนที่จะหวังเอาตัวรอดโดยมิคิดถึงโทษของคนอื่นก็มี เพื่อจะทำให้ถูกใจรัฐบาลก็มี ความจริงเขาผู้ซัดทอดกับ ร.ต. เนตรเคยไปด้วยกัน แต่ไม่ได้คิดร้ายต่อใครหรือคิดกบฏ นอกจากจะไปเพื่อหย่อนอารมณ์ในเวลาว่างงานเท่านั้น แล้วก็พูดคุยกันฐานเพื่อน มันก็ย่อมพาดพิงไปหลายเรื่อง เช่นเรื่องการบ้านการเมือง ตามที่ ร.ต. เนตร ได้ให้การไว้แล้วนั้น เป็นอาทิ
ประธานกรรมการได้ฟังดังนั้นก็โกรธเกรี้ยว ถึงกับทะลุขึ้นไล่กรรมการที่ปลอบ ร.ต. เนตรว่า “เมื่อเขาไม่ยอมให้ความจริงก็ช่างเขา ดีแล้ว!” ตรงคำว่า ดีแล้ว นี้เอง ร.ต. เนตรคิดว่า ประธานคงจะพ่นด้วยความอาฆาตมาดร้ายต่อตัวเขา แล้วประธานก็บอกให้ ร.ต. เนตร กลับได้ ร.ต. เนตรก็แสดงคารวะตามวินัย เดินตามทหารยามเกียรติยศของเขาไป พร้อมด้วยความคิดขบขันหลายประการ ที่ได้รักษาสัตยะสาบานของคณะและสรรพยอกกรรมการเล่นอย่างสนุกๆ พอถึงห้องขังก็เล่าแบบนิทานให้เพื่อนปฏิวัติฟัง ส่วนชื่อของเพื่อนตายที่ซัดทอดนั้น เขาจำได้ดีในขณะนั้น แต่มิช้า เขาก็พยายามลืมมันเสียสิ้น
ร.ต. เนตรเล่าว่า เขามีผู้ใหญ่คนหนึ่งเป็นสตรีชื่อ นาก เราเรียกท่านว่าคุณป้านาก คุณป้านากผู้นี้ที่เคยนำ ร.ต. เนตร เข้าเฝ้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กเรือนนอกของทูลกระหม่อมจักรพงษ์ ก่อนที่ ร.ต. เนตร จะเข้าร่วมงานปฏิวัติประมาณสัก ๒-๓ เดือน ครั้นพอเกิดการจับกุมคณะปฏิวัติ คุณป้านากก็ใจหายที่ทราบว่า ร.ต. เนตร มีชื่อร่วมด้วย หะแรกก็ทั้งโกรธทั้งแค้น ร.ต.เนตร ที่ทำให้ท่านพลอยเสียชื่อเสียงไม่ด้วย จึงได้รีบเข้าเฝ้าทูลกระหม่อมจักรพงษ์ เพื่อขอพระกรุณาในการนำคนเข้าถวายตัวผิดไป แต่แทนที่ทูลกระหม่อมจะถือพิโรธ กลับรับสั่งว่า เป็นเรื่องของคนหนุ่มตามยุคตามสมัย ไม่มีอะไรรุนแรงเท่าที่สอบสวนแล้ว บางทีจะถูกลงโทษบ้างคนละ ๓ ปี ๕ ปี เท่านั้น ซึ่งตรงกับ “กู๊ดพ้อยท์” ที่พระบำบัด ฯ นำไปบอกผู้ต้องหา ๑๐ คน ในคุกต่างประเทศ คุณป้านากเองกลับมีแก่ใจขึ้น ได้นำพระดำรัสไปเล่าให้มารดาของ ร.ต. เนตรฟัง ร.ต. เนตรก็ได้รับข่าวนั้นจากมารดาเช่นกัน ทุกคนที่ถูกขังร่วมด้วย ร.ต. เนตร ก็พลอยได้รับรู้ด้วยความทุกข์ใจน้อยลง
แต่ใด ๆ ในโลกล้วนอนิจจังนี้ นับเป็นแม่บทธรรมชาติได้อันหนึ่งซึ่งทุกคนย่อมเคยโดนเข้ากับตัวเองมาแล้วด้วยกันทั้งสิ้น บางคนก็โดน-ดี บางคนก็โดน-ร้าย ผู้ต้องหาคณะปฏิวัติ ๑๓๐ แทนที่จะได้รับโทษฐานกรุณาของรัฐบาล ผู้มีมโนธรรม เพียงติดคุกคนละ ๓ ปี ๕ ปี ฐานใช้ความหนุ่มซุกซนเล่นกับไฟการเมือง ตามข่าวที่น่าเชื่อมาแล้วเป็นอันดับ กลับต้องถูกคำตัดสินลงโทษประหารชีวิตฐานอุกฤษฎ์โทษเข้าอย่างจัง ทั้งนี้ ด้วยเหตุดังฤๅ ?
ด้วยเหตุที่ ร.ต. เหรียญกับ ร.ต. จรูญ ไม่ยอมให้การกระนั้นหรือ ? ไม่ใช่ ด้วยเหตุที่ ร.ต. ถัด และ ร.ต. วาส ให้การกราดเกรี้ยวอย่างเถรตรงกระนั้นหรือ ? ไม่ใช่ ด้วยเหตุที่ ร.ท. จรูญ ให้การรับสารภาพกระนั้นหรือ? ไม่ใช่ หรือว่าด้วยเหตุที่ ร.ต. เนตร ให้การดื้อดึง แถมหยอกแกมหยิกกรรมการทุกครั้งกระนั้นหรือ? ก็หาใช่ไม่
เหตุนั้น-ได้แก่เพื่อนตายคนหนึ่งของเรา ซึ่งได้ถูกปล่อยตัวไปแล้ว ถือคติว่า สละชีวิตอาตมาเพื่อประโยชน์แก่คนทั้งหมู่ ย่อมเป็นพลีกรรมประจำวิสัยของชายชาตินักรบ เขาผู้นั้น คือ ร.ต. เจือ ศิลาอาสน์ กับ ร.ท. จรูญ ณ บางช้าง หัวกฎหมาย ซึ่งถือคติว่า มนุษย์ทุกคนไม่มีใครสมัครที่จะเกิดมาเป็นฝ่ายแพ้
ฤทธิ์ที่ ร.ต. เจือ รักเพื่อนรักคณะจริงๆ เพื่อนจะใช้ให้เขาทำอะไร เป็นเอาทั้งนั้น ขอแต่ให้ความสำเร็จเป็นของคณะของเพื่อนก็แล้วกัน จรูญรู้ใจเจือ และรู้ว่ารัฐบาลจะลงโทษ ๓ ปี ๕ ปี ซึ่งเขาเชื่อหัวของเขาเองว่า เขาและคณะไม่ควรจะได้รับโทษานุโทษเลย ตามที่เขาเคยตอบด้วยท่าทางนะโปเลียนกับ ร.ต. เหรียญ ศรีจันทร์ มาแล้ว ประกอบกับความกลุ้มกลัดอัดอั้นตันใจในการถูกจองจำด้วยเครื่องพันธนาการอยู่ในห้องขังอันคับแคบนั้นอีก เขาจึงได้ออกกโลบายเพื่อขู่รัฐบาล ทำจดหมายขึ้นฉบับหนึ่ง ข้อความยืดยาวแสดงว่ารู้กันแล้ว ยังแต่จะรอคำสั่งเท่านั้น ซึ่งมีใจความตามที่เขาสารภาพกับคณะในตอนหลัง แต่เพียงย่อ ๆ ว่า ถ้าหากสมาชิกของคณะปฏิวัติยังถูกจองจำหรือเพียงแต่ถูกคุมขังอยู่แม้แต่คนเดียว ก็ให้ปืนใหญ่ ๒ พร้อมกับเหล่าอื่น ๆ ลงมือทำการได้ แล้วก็แกล้งขว้างจดหมายให้ผ่านกำแพงคุกไม่พ้น จดหมายคงตกอยู่ข้างกำแพงจนผู้คุมเก็บได้ โดยเจือไม่เคยทราบข้อความในจดหมายฉบับนั้นเลย
ในที่สุด ราวๆ กลางเดือน เมษายน ร.ศ. ๑๓๑ เมื่อจดหมายฉบับนั้นถูกเสนอขึ้นไปตามลำดับชั้น จนถึงทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ซึ่งขณะกำลังทรงพิจารณาคำพิพากษาของกรรมการศาลทหาร ที่ปรับโทษไว้อย่างสูงเพียง ๕ ปีเท่านั้น องค์พระประมุขก็เลยทรงงดที่จะมีพระราชวินิจฉัย และส่งกลับลงไปพร้อมกับจดหมายฉบับนั้น ให้กรรมการศาลทหารทำการไต่สวนใหม่อีก โดยอ้างว่า คณะปฏิวัติมิได้มีความมุ่งมาดจะทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองบ้านเมืองเท่านั้น กลับได้ความชัดว่า สมคบกันเพื่อประทุษร้ายต่อองค์ประมุขอีกด้วย เจือก็เลยเข้าปิ้ง ถูกจับตัวไปคุมขังและไต่สวนฐานอุกฤษฎ์โทษ ตลอดจนชาวคณะปฏิวัติทุกคนพลอยเข้าปิ้งไปตาม ๆ กัน ดังจะได้ปรากฏในคำพิพากษาย่อที่กระทรวงกลาโหมนำมาประกอบการประกาศถอดยศนายทหาร ๒๒ คน ตามคำสั่งลงวันที่ ๗ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๓๑ และนำลงไว้ในหนังสือราชกิจจานุเบกษาฉบับประจำวันที่ ๑๒ พฤศภาคม ร.ศ. ๑๓๑ (พ.ศ. ๒๔๕๕) เล่ม ๒๙ หน้า ๓๘๕ (ส่วนคำพิพากษาฉบับพิสดารนั้น ได้พยายามสืบค้นแล้วยังหาไม่ได้ เพราะเวลาล่วงเลยมาถึง ๔๘ ปีเศษ เกืมบกึ่งศตวรรษ ตามที่ได้กล่าวขออภัยไว้แล้วในภาคอารัมภะ)
ในตอนกลางเดือน เมษายน ร.ศ. ๑๓๑ คณะกรรมการศาลทหารก็เบิกตัวผู้ต้องหาไปไต่สวนอีกหลายคน ที่สงสัยว่าจะเกี่ยวข้องกับจดหมายขู่ฉบับนั้น ร.ต. จรูญ ษตะเมษ ร.ต. ปลั่ง ปูรณโชติ และ ร.ต. เนตร พูนวิวัฒน์ ก็ถูกเบิกตัวไปไต่สวนอีกในกรณีนั้นด้วยเท่าที่ทราบ ส่วนทางภายในคุกต่างประเทศก็สั่งกวดขันผู้ต้องหาคดีปฏิวัติอย่างเช่นเมื่อวันถูกจับกุม ห้ามติดต่อกับบุคคลภายในและภายนอกห้ามการส่งเสียเสบียงอาหารและบุหรี่เป็นพิเศษ ตลอดจนการลงอาบน้ำชำระกายก็ถูกห้ามอย่างเด็ดขาด ร.ต. เจือ ศิลาอาสน์ ก็ไม่ยอมให้การแต่อย่างใด ประกอบกับรูปร่างหน้าตาและคำพูดของเขา ดูช่างบึกบึนไปทุกอย่าง ทำให้กรรมการเห็นคล้อยตามจดหมายของ ร.ท. จรูญ หมอกฎหมายไปด้วย ส่วน ร.ท. จรูญเอง ก็ให้การต่อสู้คดีอย่างนักเลงกฎหมาย เพราะถือว่าไม่มีใครในโลกจะอยากได้รับโทษเลยในเมื่อความผิดนั้นยังไม่เข้าขั้นจะรับโทษ จดหมายใดที่ยังไม่ถึงมือผู้รับ และการกระทำนั้นก็ยังหาเกิดผลไม่ จึงไม่มีศาลยุติธรรมใดจักลงโทษจำเลยได้นอกจากศาลเตี้ยเท่านั้น ความจริงก็เป็นความจริง ทั้ง ๆ ไม่มีใครในพวกปฏิวัติได้รู้เรื่องเลยสักคนเดียวว่าจรูญทำจดหมายขู่รัฐบาล นอกจากตัวเขาผู้ใช้สมองของเขาแต่ลำพังผู้เดียวเท่านั้น แต่กรรมการศาลทหารแห่งรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็ต้องเขียนคำพิพากษาคล้อยตามความประสงค์ของผู้ตั้งศาลเป็นการเผื่อเอาไว้ และเอาตัวรอดไว้ก่อน ผลของคำพิพากษาจึงมีการประหารชีวิตกับโทษหนักเบาตามลำดับ หาใช่ ๕ ปี ๓ ปีตาม “กู๊ดพ้อยท์” นั้นไม่ (เราได้พิมพ์ตัวฝรั่งเศสไว้ในคำพิพากษาเป็นตอน ๆ เพื่อผู้อ่านได้พิจารณาด้วยแล้ว) นี่แหละ “ลางร้าย” ที่พระบำบัดฯ พลอยสลดใจ และคุณป้านาก ก็ได้รับข่าวร้ายไปบอกกับญาติของ ร.ต. เนตร มีข้อความตรงกันในระยะเวลาใกล้ ๆ กัน คุณป้านากกลับโกรธ ร.ต. เนตรมาก หาว่าไม่รู้จักเข็ดหลาบ ยังขืนจะคิดการใหญ่อยู่ร่ำไป นี้คือ “อนิจจัง” อมตธรรมประจำโลกียวัตร
ในระหว่างที่พวกเรารอฟังการวินิจฉัยของกรรมการศาลทหารอยู่นั้น ได้เกิดข่าวลือกันต่าง ๆ นานา บางข่าวก็ว่า พวกทหารปฏิวัติจะลุกขึ้นอีก โดยมีสมัครพรรคพวกจะเข้าช่วงชิงช่วยแก้แบบทำลายคุกบาสติลล์ในประเทศฝรั่งเศส เมื่อ ค.ศ. ๑๗๘๙ และพระราชวังดุสิตจะแหลกลานไปด้วยอานุภาพของปืนใหญ่สนามหนัก ล้วนแต่เป็นข่าวร้าย ๆ เสียโดยมาก มูลความจริงแห่งข่าวนั้น จะว่ามันไม่มีเสียเลยทีเดียวก็ไม่ถนัดนัก เพราะเมื่อนักปฏิวัติภายนอกคุกกับนักปฏิวัติภายในคุกลอบติดต่อกันได้เสมอ ๆ ประกอบทั้งเป็นเพื่อนร่วมตาย ถูกทรมานจองจำได้รับความทุรนทุรายอยู่ตำตาเช่นนั้น ก็เหลือที่จะอดกลั้นได้ ความเห็นใจซึ่งกันและกันก็ย่อมจะเกิดขึ้นได้ตามวิสัย เพียงพูดกันได้ทางสัญญาณใดสัญญาณหนึ่ง เช่น ใช้มือและแขนส่งสัญญาณตามระหัสการตีธงคู่ ก็จะรู้กันได้ และเข้าหูพรรคพวกต่อ ๆ กันไป ยิ่ง ร.ต. เจือ เป็นคนจริงโดยอุปนิสัยด้วยแล้ว เพื่อนฝูงทางกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๒ บางซื่อ ก็จะต้องได้รับข่าวแพร่งพรายกันไปบ้าง เพราะขณะนั้น พวกทหารปฏิวัติทางบางซื่อทุกเหล่าต้องถูกคุมขังและกักบริเวณโดยมาก หากต้องถูกกักขังกันนาน ๆ ก็ไม่พ้นที่จะทำให้เขาเหล่านั้นคิดงุ่นง่าน ประกอบกับที่เป็นทหารหนุ่มใจเพชรก็มีไม่น้อย ย่อมจะหาช่องทางกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดให้ตนและพรรคพวกมีอิสระ โดยคนหนึ่งคิดอย่างนั้น อีกคนหนึ่งคิดอย่างนี้ แต่หาได้สำนึกไม่ว่า ขณะนั้นรัฐบาลได้ตื่นตัวแล้ว ที่ไหนเขาจะไม่มีเสือป่าแมวมองคอยย่องสดับตรับฟัง ยิ่งจับได้หนังสือลับสั่งให้ทำงานอย่างรุนแรงดังกล่าว แม้จะเป็นการขู่ขวัญก็ตาม ก็เป็นการสวมรอยกันได้สนิท
ด้วยข่าวอันมิเป็นมงคลนี้เอง ผู้ต้องหาคดีปฏิวัติทุกประเภทถูกกวดขันจากการควบคุมไปตาม ๆ กัน โดยมิรู้ต้นสายปลายเหตุ เป็นแต่มีข่าวแว่ว ๆ ว่า เจ้าหน้าที่จับหนังสือลับสำคัญได้จากพวกคิดก่อการกำเริบที่จำขังอยู่ในคุก แต่จะเป็นความลับแรงร้ายเพียงใดไม่ตระหนักชัด พวกที่มีสมองปฏิวัติแท้ก็ส่งเสริมให้ผลสำเร็จไปในทางดีแก่ชาติบ้านเมือง พวกที่ขี้ขลาดตาขาวก็พึมพำไปในทางกลัวตัวจะเข้าตาร้าย บางพวกที่เดินสายกลางก็ขอให้รอฟังข้อเท็จจริงกันไปก่อน
ครั้นวันที่ ๖ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๓๑ (พ.ศ. ๒๔๕๕) มาถึง คำพิพากษาของศาลทหารที่ถวายขึ้นไปกราบบังคมทูลเป็นครั้งที่ ๒ เพื่อขอพระบรมราชวินิจฉัยเด็ดขาดนั้นก็ตกลงมา และหลังเที่ยงวันนั้นเองคณะกรรมการศาลทหารครบทั้ง ๗ คน ได้รับสนองพระบรมราชโองการ นำคำพิพากษาไปอ่านให้ผู้ต้องหาในคุกต่างประเทศฟัง ณ ระเบียงคุกด้านเหนือ โดยเบิกตัวผู้ต้องหาทุกคนเข้าไปรวมกันไว้ในห้องใหญ่ อยู่ติดกับประตูระเบียง เป็นห้องสำหรับขังนักโทษชาวยุโรป แล้วปิดประตูลูกกรงลงกุญแจ ผู้ต้องหาทั้ง ๑๐ คนก็นั่งสำรวมตนอยู่กับพื้นห้องอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย
คณะกรรมการทั้ง ๗ คน อยู่ในห้องรับแขกหน้ามุขชั้นบน เมื่อผู้ต้องหาเข้าประจำที่เสร็จแล้ว ประธานกรรมการกับพระสุนทรา (พระยาวินัย ฯ) ก็เข้าไปในระเบียงคุกตามคำเชื้อเชิญของเจ้าหน้าที่เรือนจำ และหยุดลงตรงหน้าห้องขังใหญ่ แล้วพระสุนทราก็คลี่คำพิพากษาออกอ่านให้ผู้ต้องหาฟังด้วยเสียงกระเส่า ๆ ส่วนประธานกรรมการซึ่งมีอายุมากแล้ว แสดงอาการเหมือนจะอยากช่วยเหลืออะไร ๆ ถ้าสามารถ จำเลยทุกคนสงบใจฟังคำพิพากษาด้วยสีหน้าเป็นปรกติ ครั้นเมื่อการอ่านจบลง กรรมการทั้งสองก็รีบออกจากระเบียงไปยังห้องกรรมการหน้ามุข
“ทำแล้วอย่ากลัว จะชั่วหรือดี” คติขวัญของคณะ ร.ศ. ๑๓๐ ก็พลันบังเกิดขึ้นในห้องขังใหญ่ทันที หมอเหล็ง กับ จรูญ ลุกขึ้นสวมกอดกันกลม ส่วนอีก ๘ คนก็สวมกอดกันบ้าง จับมือถือแขนกันบ้าง สำแดงอาการของทหารผู้มีอายุระหว่าง ๑๙ กับ ๒๙ ขวบเท่านั้น และพูดคุยกันอย่างปราศจากความสะทกสะท้านใด ๆ ตามเยี่ยงอย่างของผู้พลีชีพเพื่อชาติทั้งหลาย
ในฉับพลันนั้นเอง ประธานกรรมการแต่ผู้เดียวก็เดินเข้าไปที่หน้าประตูห้องขังอีกวาระหนึ่ง พวกนักโทษการเมือง (ขณะนี้เรียกนักโทษได้เต็มปากเต็มคำแล้ว) ก็นั่งลงด้วยสันติคารวะ โดยมิได้คิดว่าจะได้พบกับประธานศาลทหารอีก เมื่อประธานเห็นนักโทษการเมืองสงบอารมณ์แล้ว ก็กล่าวให้โอวาทว่า “พวกเธอทั้งหลายคงซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณกันดีแล้ว ที่โปรดยกอุกฤษฏ์โทษให้ คงเหลือแต่โทษจำเท่านั้น แต่หาใช่เพียงเท่านี้ไม่ พระองค์ยังจะทรงพระมหากรุณาแก่พวกเธอต่อไปอีกเป็นแม่นมั่น ถ้าและพวกเธอได้ประพฤติตนให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย ฉะนั้น ขอให้พวกเธอทุกคนจงตั้งอยู่ในความสงบ อย่าได้กระทำอย่างใดซึ่งจะเป็นภัยแก่ตนเองขึ้นอีก” แล้วประธานกล่าวคำอำลานักโทษการเมืองในที่สุด พวกนักโทษก็แสดงคารวะรับโอวาทพร้อมกัน แต่มิทันที่จะกล่าวแสดงความขอบคุณประการใด ประธานก็รีบออกจากระเบียงไป นับเป็นฉากแรกที่ผู้ต้องหาในคดีการเมือง ๑๐ คนภายในคุกต่างประเทศ ต้องเปลี่ยนภาวะเป็นนักโทษปฏิวัติ เมื่อเป็นฝ่ายแพ้ทางทัศนะแห่งการเมืองแล้ว และถูกแยกย้ายเข้าห้องขังตามเดิม
ในวันเดียวกันนั้น ประมาณเวลา ๑๔ นาฬิกา พวกผู้ต้องหาทางกระทรวงกลาโหมและทางกรมกองทหาร คือ พวกประเภทที่ ๒ และที่ ๓ แต่เพียง ๑๓ คน ได้ถูกเบิกตัวมารวมกันในห้องประชุมแห่งกองบัญชาการกองพลที่ ๑ คือ ๑. พันตรี นายแพทย์หลวงวิฆเนศร์ประสิทธิ์วิทย์ (อัทย์ หะสิตเวช) ๒. ร้อยโท ทองดำ คล้ายโอภาส ๓. ร้อยตรี บ๋วย บุณย์รัตพันธุ์ ๔. ร้อยตรี ปลั่ง ปูรณโชติ ๕. ร้อยตรี เจือ ศิลาอาสน์ ๖. ร้อยตรี เหรียญ ทิพยรัตน์ ๗. ร้อยตรี จรูญ ษตะเมษ ๘. ร้อยตรีเนตร พูนวิวัฒน์ ๙. ร้อยตรี สอน วงษ์โต ๑๐. ร้อยตรี โกย วรรณกุล ๑๑. ร้อยตรี จันทร์ ปานสีดำ ๑๒. ร้อยตรี ถัด รัตนพันธุ์ ๑๓. ร้อยตรี ศิริ ชุณห์ประไพ ทุกคนได้สรวมยูนิฟอร์มทหารตามยศเดิมเป็นที่เรียบร้อยแต่ไม่ขัดกระบี่ ผู้เบิกตัวได้แจ้งว่า ให้ไปฟังคำพิพากษาของศาลและพระบรมราชวินิจฉัยเด็ดขาด แต่พวกเราก็อยู่ในอาคารสงบไม่ตื่นเต้น เพราะอยากจะให้เรื่องราวมันสิ้นสุดกันเสียที
ครั้นพวกเรา ๑๓ คน ถึงกองบัญชาการกองพลที่ ๑ เจ้าหน้าที่ก็เบิกตัวเข้าไปในห้องประชุมทีละคน ๆ ภายในห้องนั้นมีนายทหารชั้นนายพันยืนจังก้าอยู่ ๒-๓ คน ซึ่งจำได้ว่า มี พ.ต. หลวงไกรกระบวนหัด (สวาท บุญนาก) อยู่คนหนึ่ง (ต่อมาเป็น พลโท พระยาสีหราชเดโชชัย) เขาผู้นี้ได้ปลดอินทรธนู (บ่า) อัมมีเกียรติของกองทัพบกแห่งชาติ ด้วยอาการกระชากออกจากบ่าเสื้อ แล้วขว้างลงบนพื้นห้องข้างหน้า กับถอดเสื้อเครื่องแบบอันมีค่าของพวกเราเหวี่ยงตามไปด้วย เหลือแต่กางเกงไว้ให้พร้อมด้วยรองเท้า ทั้ง ๆ ที่พวกเรายังมิทันจะได้รับฟังคำสั่งให้ถอดออกจากตำแหน่งยศบรรดาศักดิ์เลย เป็นแต่เพียงผู้แพ้ทางการเมืองเท่านั้น ทั้งนี้ เขาจะกระทำเองโดยพลอำนาจ หรือโดยอำนาจผู้ใหญ่สั่งลงมา พวกเราหาทราบไม่ แต่จะอย่างไร ๆ ก็ตาม อากัปกิริยาเช่นนั้นนับว่าไม่สุภาพแน่ ๆ และไม่ชอบธรรมด้วย เสร็จแล้วก็สวมกุญแจมือพวกเราทุกคน แล้วก็นำเข้าไปรวมอยู่ในห้องเล็กสำหรับแต่งตัวของผู้บัญชาการกองพล
เมื่อพวกเราเข้าไปรวมกลุ่มกันได้ แทนที่จะสร้อยเศร้าเหงาหงอย กลับสนทนาพาทีกันครื้นเครงที่มิได้พบปะกันมาช้านาน บางคนก็รำพึงถึงกำหนดโทษที่จะได้รับ ไม่รู้ว่าจะโดนเข้าสักกี่ปี หมออัทย์ แม้จะมีอายุ ๓๕ ปีเศษ นับว่าสูงสุดในคณะ ๑๓๐ ก็ยังไม่เป็นทุกข์ร้อนเท่าใดนัก คอยปลุกปลอบพวกเราอยู่เสมอ พวกเรารอคอยคณะกรรมการอยู่ราว ๑๕ นาที กรรมการจึงโผล่เข้ามาในห้องประชุม เข้านั่งประจำโต๊ะพร้อมกันทันทีทั้ง ๗ คน ส่วนพวกเราได้ถูกเชิญให้ไปเข้าแถวอยู่หน้าโต๊ะกรรมการ สังเกตว่ากรรมการบางคนวางท่าขรึม บางคนสีหน้าสลด บางคนแสดงท่าล่อกแล่ก และบางคนก็ลุกลนตามอุปนิสัย ประกอบด้วยเหน็ดเหนื่อยมาจากคุกต่างประเทศอย่างรีบร้อน แล้วพระยาพิชัยสงคราม (หม่อมนเรนทร์) ก็ลุกขึ้นอ่านคำพิพากษาให้ฟังด้วยเสียงแผ่วเบาแต่ชัด
ประวัติศาสตร์ของเรื่องนี้จะจำกัดอยู่ที่คำพิพากษาคดีก่อการกำเริบของพวกข้าราชการฝ่ายทหารและพลเรือน เท่าที่ปรากฏจากการสอบสวนไต่สวน เท่านั้นหาได้ไม่ พวกที่มิได้พาดพิงถึงและไม่มีชื่อในคำพิพากษา ก็ขอจดลงไว้ในประวัติศาสตร์ด้วย เท่าที่นึกชื่อได้ดังกล่าวมาแล้วในภาคต้น ๆ
คำปรึกษาโทษของศาล ลงวันที่ ๔ พฤษภาคม ร.ศ. ๑๓๑ (พ.ศ. ๒๔๕๕) พระบรมวินิจฉัยเด็ดขาดลงวันที่ ๕ ต่อมาพอถึงวันที่ ๗ เดือนเดียวกัน คำสั่งกลาโหมจึงประกาศถอดนายทหาร ๒๒ คน ซึ่งนำลงในหนังสือราชกิจจานุเบกษาในวันที่ ๑๒ เดือนนั้นเอง ดังเราได้คัดเอาคำพิพากษาย่อจากประกาศถอดนายทหารฉบับนั้นนำมาจารึกลงไว้ต่อไปนี้:-
“ด้วย เรื่องก่อการกำเริบ ตามที่กรรมการได้พิจารณาปรึกษาโทษแล้วนั้น เรื่องนี้ เดิม มีนายทหารบกบ้าง นายทหารเรือบ้าง บุคคลพลเรือนซึ่งทำการอยู่ในกระทรวงยุติธรรมบ้าง สมคบคิดกันด้วยมูลความประสงค์ คิดจะเปลี่ยนแปลงราชประเพณีการปกครองของพระราชอาณาจักร ได้ประชุมกันตั้งเป็นสมาคม เมื่อเดือนมกราคม ร.ศ. ๑๓๐ แล้วได้ประชุมกันต่อ ๆ มาอีกรวมเป็น ๘ คราว (น้อยไป ๓ - ๔ คราว-ผู้เขียน) ตระเตรียมกันทำการกบฎถึงประทุษร้ายพระเจ้าแผ่นดิน กระทรวงกลาโหมทราบการเรื่องนี้ขึ้น เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ร.ศ. ๑๓๐ จึงได้จับนายทหารบกที่เป็นหัวหน้าและเป็นคนสำคัญในสมาคมนี้ จัดการไต่สวนตลอดจนพรรคพวก ส่วนนายทหารเรือ และบุคคลพลเรือนในกระทรวงนั้น ๆ ได้จัดการไต่สวนส่งต่อกระทรวงกลาโหม กระทรวงกลาโหมได้ทำรายงานตามที่ไต่สวนได้ความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นายทหารบก นายทหารเรือรวม ๗ นาย เป็นกรรมการพิจารณาปรึกษาโทษ กรรมการพร้อมกันพิจารณาทำคำปรึกษาโทษขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา มีใจความที่วินิจฉัยตามที่พิจารณาได้ความว่า ผู้ที่ร่วมคิดในสมาคมนี้มีความเห็นจะเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นริปับลิกบ้าง เป็นลิมิเต็ดมอนากี้บ้าง แต่ฝ่ายริปับลิกชนะโหวตในที่ประชุม (ผิดกับมติของคณะ-ผู้เขียน) ส่วนที่จะจัดการอย่างไร จึงจะเปลี่ยนการปกครองได้นั้น ปรากฏชัดในที่ประชุม ถึงกระทำการประทุษร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเรื่องนี้เดิมทีเดียวดูเหมือนสมาคมนี้ตั้งขึ้นเพียงจะเปลี่ยนแปลงการปกครองบ้านเมือง แต่ครั้นพิจารณาตลอดแล้ว กลับได้ความชัดว่า สมคบกันเพื่อความประทุษร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย แม้แต่บางคนจะไม่มีเจตนาโดยตรงที่จะประทุษร้ายต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี แต่ได้สมรู้เป็นใจ และช่วยปกปิดความ เพราะฉะนั้นตามลักษณะความผิดนี้ กระทำผิดต่อกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๙๗ ตอนที่ ๒ ถึงประหารชีวิตด้วยกันทุกคน แต่ครั้นจะวางโทษถึงประหารชีวิตทุกคนไป บางคนกระทำความผิดมาก ไม่สมควรจะลดโทษเลย แต่บางคนกระทำความผิดน้อยบ้าง ได้ให้การรับสารภาพให้เป็นประโยชน์ในทางพิจารณาบ้าง และมีเหตุผลอื่น สมควรจะลดหย่อนความผิดบ้าง อันเป็นเหตุควรลดโทษฐานปรานี ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๓๗ และ มาตรา ๕๙ จึงได้กำหนดโทษเป็น ๕ ชั้น คือ:-
ชั้นที่ ๑ ให้ลงโทษประหารชีวิต ๓ คน
ชั้นที่ ๒ ลดโทษลง เพียงจำคุกตลอดชีวิต ๒๐ คน
ชั้นที่ ๓ ลดโทษลง เพียงจำคุกมีกำหนด ๒๐ ปี ๓๒ คน
ชั้นที่ ๔ ลดโทษลง เพียงจำคุกมีกำหนด ๑๕ ปี ๖ คน
ชั้นที่ ๕ ลดโทษลง เพียงจำคุกมีกำหนด ๑๒ มี ๓๐ คน
ฯลฯ
เป็นอันว่า รวมนักปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลทหาร ปรากฏเพียง ๙๑ คนเท่านั้น ซึ่งมีรายชื่ออยู่ในคำพิพากษาพิศดาร แต่เรายังค้นหามาจารึกลงไว้ไม่ได้ดังกล่าว ต่อไปนี้เป็นพระบรมราชวินิจฉัยเด็ดขาดในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ดังนี้:-
“ด้วยได้ตรวจดูคำพิพากษาของกรรมการศาลทหาร ซึ่งได้พิจารณาปรึกษาโทษในคดีผู้มีชื่อ ๙๑ คน ก่อการกำเริบ ลงวันที่ ๔ พฤษภาคม นั้นตลอดแล้ว
“เห็นว่า กรรมการพิพากษาลงโทษพวกเหล่านี้ ชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมายทุกประการแล้ว แต่ว่าความผิดของพวกเหล่านี้มี ข้อสำคัญที่จะกระทำร้ายต่อตัวเรา เราไม่ได้มีจิตพยาบาทคาดร้ายต่อพวกนี้ เห็นควรที่จะลดหย่อนผ่อนโทษโดยฐานกรุณา ซึ่งเป็นอำนาจของพระเจ้าแผ่นดินจะยกให้ได้
“เพราะฉะนั้น บรรดาผู้ที่มีชื่อ ๓ คน ซึ่งวางโทษไว้ในคำพิพากษาของกรรมการว่า เป็นโทษ ชั้นที่ ๑ ให้ประหารชีวิตนั้น ให้ลดลงเป็นโทษชั้นที่ ๒ ให้จำคุกตลอดชีวิต
“บรรดาผู้ที่มีชื่อ ๒๐ คน ซึ่งลงโทษได้ว่าเป็นชั้นที่ ๒ ให้จำคุกตลอดชีวิตนั้น ให้ลดลงเป็นโทษชั้นที่ ๓ คือให้จำคุกมีกำหนด ๒๐ ปี ตั้งแต่วันนี้สืบไป
“แต่บรรดาผู้มีชื่ออีก ๖๘ คน ซึ่งวางโทษไว้ชั้นที่ ๓ ให้จำคุก ๒๐ ปี ๓๒ คน และวางโทษชั้นที่ ๔ ให้จำคุก ๑๕ ปี ๖ คน และวางโทษชั้นที่ ๕ ให้จำคุก ๑๒ ปี ๓๐ คนนั้น ให้รอการลงอาญาไว้ ทำนองอย่างเช่นที่ได้กล่าวในกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๔๑ และ ๔๒ ซึ่งว่าด้วยการลงอาญาในโทษอย่างน้อยนั้น และอย่าเพ่อให้ออกจากตำแหน่งยศก่อน
“แต่ฝ่ายผู้มีชื่อ ๓ คน ที่ได้ลงโทษชั้นที่ ๒ กับผู้ที่มีชื่อ ๒๐ คน ที่ได้ลงโทษชั้นที่ ๓ รวม ๒๓ คน ดังกล่าวมาข้างต้นนั้น ให้ถอดจากตำแหน่งยศบรรดาศักดิ์ตามอย่างธรรมเนียม ซึ่งเคยมีกับโทษเช่นนั้น”
ผู้ที่ต้องรับพระราชอาญาจำคุก ๒๓ คนนี้ เป็นคนพลเรือนคนหนึ่ง คือ นายอุทัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา กองล่ามกระทรวงยุติธรรม ส่วนนี้เป็นนายทหารบก ๒๒ คน ได้ถอดออกจากยศบรรดาศักดิ์แล้ว คือ: -
พวกจำคุกตลอดชีวิต
๑ นายร้อยเอกขุนทวยหาญพิทักษ์ (เหล็ง ศรีจันทร์)
๒ นายร้อยโท จรูญ ณ บางช้าง
๓ นายร้อยตรี เจือ ศิลาอาสน์
พวกจำคุก ๒๐ ปี
๑ นายร้อยโท จือ ควกุล
๒ นายร้อยตรี เขียน อุทัยกุล
๓ นายร้อยตรี วาส วาสนา
๔ นายร้อยตรี ถัด รัตนพันธุ์
๕ นายร้อยตรีหม่อมราชวงศ์ แช่ รัชนิกร
๖ นายร้อยตรี เหรียญ ศรีจันทร์
๗ นายร้อยตรี เหรียญ ทิพยรัตน์
๘ ว่าที่นายร้อยตรี ทวน เธียรพิทักษ์
๙ นายร้อยตรี เนตร พูนวิวัฒน์
๑๐ นายร้อยตรี สอน วงษ์โต
๑๑. นายร้อยตรี ปลั่ง ปูรณโชติ
๑๒ นายร้อยตรี จรูญ ษตะเมษ
๑๓ นายร้อยโท ทองดำ คล้ายโอภาส
๑๔ นายร้อยตรี บ๋วย บุณย์รัตพันธุ์
๑๕ ว่าที่นายร้อยตรี ศิริ ชุณห์ประไพ
๑๖ นายร้อยตรี จันทร์ ปานสีดำ
๑๗ ว่าที่นายร้อยตรี โกย วรรณกุล
๑๘ นายพันตรี หลวงวิฆเนศร์ประสิทธิ์วิทย์ (อัทย์ หะสิตเวช)
๑๙ นายร้อยตรี บุญ แตงวิเชียร
ศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม
แจ้งความมา ณ วันที่ ๗ พฤษภาคม รัตนโกสินทรศก ๑๓๑
(คำว่า “นาย” นำหน้ายศได้มีมาแต่เดิม เพิ่งมาตัดออกเมื่อสมัยตั้งทหารหญิงขึ้น “ว่าที่นายร้อยตรี” ทั้ง ๓ นายก็เป็นยศเดิม ครั้นเมื่อมาได้รับพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ทรงพระราชทานคืนยศบรรดาศักดิ์ให้ตามกฎหมาย ล้างมลทินโทษคณะก่อการ ร.ศ. ๑๓๐ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ โดยสภาผู้แทนราษฎร สมัยที่ ๑ ชุด ๗๐ คน ที่มี จรูญ ณ บางช้าง และ เนตร พูนวิวัฒน์อยู่ด้วย ซึ่งเป็นสมัยแรกแห่งคณะปฏิวัติ พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้น จึงเลยทรงพระราชทานให้ผู้ที่ว่าที่ร้อยตรีทั้ง ๓ คน ได้เป็นร้อยตรีเสียเลยทีเดียว ส่วนนามสกุลก็ได้นำมาลงไว้ในภายหลัง)
ขณะที่พวกเรายืนฟังคำตัดสินอยู่นั้น สังเกตว่าทุกคนตั้งใจฟังด้วยอารมณ์สงบ และคงจะภาวนาคำขวัญของคณะที่ว่า “ทำแล้วอย่ากลัว จะชั่วหรือดี” ส่วนพวกกรรมการพออ่านจบก็รีบออกจากห้องไป แทบไม่ทันจะได้รับคารวะจากพวกเรา และมิได้มีการให้โอวาทอย่างที่ให้แก่นักโทษการเมืองในคุกต่างประเทศ เข้าใจว่าคณะกรรมการจะต้องรีบไปอ่านคำพิพากษาให้พวก ๖๘ คน ที่รอการลงอาญาฟังอีก เป็นอันว่า อำนาจกรรมการศาลทหารได้สิ้นสุดลงด้วยพฤติกรรมเหน็ดเหนื่อยมาประมาณ ๒ เดือนเศษ กรรมดีกรรมเลวย่อมมีอยู่ในหมู่สัตว์โลก หนีไม่พ้นฉันใด ก็ย่อมมีอยู่ในคณะกรรมการศาลทหารด้วยฉันนั้น และคณะเราก็ได้อำนวยสวัสดิ์ และขออภัยทางจิตใจมาแต่บัดนั้นแล้ว (เราได้พิมพ์อักษรฝรั่งเศสไว้บางแห่งในคำพิพากษา ซึ่งพอจะแสดงให้เห็นว่าคำพิพากษาครั้งแรกกับครั้งสุดท้ายอาจจะมีความแตกต่างกันมาแล้วอย่างไรบ้าง)
พอกรรมการพ้นจากบังตาประตูไปสักครู่หนึ่ง รถยนต์ชนิดมิดชิดที่เรียกกันว่า “รถคุก” ก็มารับพวกเราไปทีละพวก พวกแรก ๗ คนเที่ยวหนึ่ง พวกที่สอง ๖ คนอีกเที่ยวหนึ่ง พร้อมด้วยหมู่ทหารสวมดาบปลายปืนไปส่งเป็นเกียรติยศด้วย ขณะที่พวกเราเดินลงไปจะขึ้นรถนิรภัยนั้น มีนายทหาร ข้าราชการพลเรือนกระทรวงกลาโหม และนายสิบพลทหารราบที่ ๓ และโรงเรียนนายสิบเป็นอันมากมาดักคอยดูพวกเราด้วยสีหน้าต่าง ๆ กัน พวกเราก็มิได้พูดคุยกันเลยในระหว่างทางเมื่อขึ้นรถแล้ว เห็นจะเป็นด้วยตื่นรถชนิดที่มองไม่เห็นเพื่อนมนุษย์ภายนอก และได้ตัดสินใจอย่างเด็ดขาดแน่วแน่กันทุกคนแล้วว่า เมื่อเป็นฝ่ายแพ้อำนาจ ก็ต้องตายหรือรับทัณฑ์ แต่เมื่อวิญญาณของประชาธิปไตยยังไม่ตาย ลัทธิประชาธิปไตยก็คงคลอดภายในแผ่นดินไทยได้สักครั้งหนึ่งเป็นแน่
----------------------------