พระราชประวัติ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง พระมหากษัตริย์ผู้ครองกรุงศรีอยุธยา (ระหว่าง พ.ศ. ๒๑๗๓ ถึง ๒๑๙๘) ปรากฏในหนังสือของชาวต่างประเทศ ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอ้างไว้ใน “พงศาวดารเรื่องไทยรบพม่า” ว่าพระราชเทวีผู้เป็นพระราชชนนี[๑]ของสมเด็จพระนารายณ์นั้น เป็นราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. ๒๑๖๓ - ๒๑๗๑) สมเด็จพระนารายณ์ทรงสมภพเมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๑๗๕ เห็นจะเป็นเดือนยี่ เพราะปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า สั่งให้ทำพระราชพิธีเบญจเพศในเดือนยี่ ปี พ.ศ. ๒๑๙๙ และเข้าใจว่า ทรงพระราชสมภพในวันจันทร์[๒] เพราะปรากฏในพระราชพงศาวดารว่า โปรดให้ฐาปนาพระพุทธปฏิมาห้ามสมุทร เป็นพระประจำวันขึ้นในรัชกาลนั้น ๒ องค์ องค์หนึ่งขนาดเท่าตัวคน หุ้มทอง อีกองค์หนึ่งหล่อด้วยทองนพคุณทั้งแท่ง สูงศอกคืบ ๙ นิ้ว และเหตุที่มีพระนามว่า “นารายณ์” นั้น มีอ้างไว้ในพระราชพงศาวดารว่า เมื่อพระราชเทวประสูติออกมานั้น “พระญาติวงศ์เหลือบเห็นเป็น ๔ กร สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (ปราสาททอง) ตรัสแจ้งความเป็นมหัศจรรย์ ก็พระราชทานพระนามว่า พระนารายณ์ราชกุมาร” แต่ในหนังสือ “คำให้การชาวกรุงเก่า” และ “คำให้การขุนหลวงหาวัด” ว่า เมื่อเพลิงไหม้พระที่นั่งมังคลาภิเษก สมเด็จพระนารายณ์ยังเป็นพระราชกุมารอยู่ เสด็จขึ้นไปดับเพลิง บรรดาคนทั้งปวงเห็นเป็น ๔ กร ครั้นขึ้นเสวยราชสมบัติ ข้าราชการทั้งปวงจึงถวายพระนามว่า พระนารายณ์

สมเด็จพระนารายณ์มีพระราชอนุชาร่วมพระชนกหลายองค์ แต่ต่างพระชนนีกัน ปรากฏว่า มีแต่พระราชกนิษฐภคินีองค์เดียวที่ร่วมพระราชชนนี คือ เจ้าฟ้าศรีสุวรรณ ซึ่งเรียกกันว่า พระราชกัลยาณี ภายหลังได้โปรดสถาปนาเป็นกรมหลวงโยธาทิพ เมื่อทรงพระเยาว์อยู่ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททองผู้เป็นพระราชบิดานั้น สมเด็จพระนารายณ์คงจะได้รับการศึกษาจากพระโหราธิบดี ซึ่งรู้จักกันว่า พระโหราทายหนู ที่มาปรากฏว่า สมเด็จพระนารายณ์ทรงปรีชาแตกฉานสามารถ ทรงพระราชนิพนธ์กาพย์กลอนโคลงฉันท์ ดังปรากฏในหนังสือสมุทรโฆษคำฉันท์และเรื่องอื่น ๆ นั้น บางทีจะเนื่องมาแต่การที่ทรงใฝ่พระทัยศึกษาจากครูอาจารย์หลายท่าน เช่น จากพระโหราธิบดีและพระอาจารย์พรหมกับพระพิมลธรรม กับทั้งจากสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์วัดเดิมด้วย และสมเด็จพระนารายณ์อาจทรงศึกษาร่วมอาจารย์เดียวกันกับพระเพทราชาด้วย

สมเด็จพระนารายณ์ คงจะโปรดการกีฬาทรงม้าทรงช้างและแข่งเรือมา แต่ทรงพระเยาว์ พระองค์มีพระสหายสหชาติเป็นเพื่อนเล่นกันมาแต่เยาว์วัย ๒ คน คือ เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ขุนเหล็ก) บุตรเจ้าแม่วัดดุสิต ซึ่งเป็นแม่นมของสมเด็จพระนารายณ์ และพระเพทราชา บุตรแม่นมอีกคนหนึ่ง แม่นมทั้งสองนี้มีลูกต่อมาอีกคนละคน คือ เจ้าแม่วัดดุสิต มารดาเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ขุนเหล็ก) มีลูกชายอีกคนหนึ่ง คือ พระยาโกษาธิบดี (ปาน) และมารดาพระเพทราชามีลูกสาว คือผู้ที่ภายหลังเป็นท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระสนมเอกในสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งคงจะมีวัยรุ่นราวคราวเดียวกันกับพระราชกัลยาณี เข้าใจว่าพระราชกัลยาณี ท้าวศรีจุพาลักษณ์และพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ทั้ง ๓ ท่านนี้ ก็คงเป็นเพื่อนร่วมสหชาติ หรือรุ่นราวคราวเดียวกันด้วย

ได้ราชสมบัติ

เมื่อสมเด็จพระเจ้าปราสาททองตรัสมอบราชสมบัติแก่เจ้าฟ้าไชย พระบรมเชษฐโอรสของพระองค์ และแล้วสวรรคตนั้น สมเด็จพระนารายณ์ได้ทรงร่วมคิดกันกับพระศรีสุธรรมผู้เป็นพระเจ้าอา ช่วยกันกำจัดเจ้าฟ้าไชยผู้เป็นพระเชษฐาธิราชเสีย แล้วถวายราชสมบัติแด่สมเด็จพระศรีสุธรรมราชา ส่วนสมเด็จพระนารายณ์ทรงดำรงตำแหน่งพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรฯ ประทับอยู่ ณ วังจันทรเกษม แต่ปรากฏต่อมาว่า สมเด็จพระศรีสุธรรมราชาได้ทรงพยายามจะเอาพระราชกัลยาณี ผู้เป็นกนิษฐภคินีของสมเด็จพระนารายณ์มาเป็นพระชายา จึงเกิดเป็นอริกันขึ้นกับสมเด็จพระนารายณ์ ๆ จึงทรงกำจัดสมเด็จพระศรีสุธรรมราชาผู้เป็นพระปิตุลาธิราชเสีย แล้วเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ด้วยเหตุนี้เมื่อศรีปราชญ์แต่งอนิรุทธคำฉันท์ขึ้นในรัชกาลนั้น จึงกล่าวคำสดุดีถวายเป็นเชิงเปรียบเทียบไว้ในตอนเริ่มต้นคำฉันท์เรื่องนั้นว่า

“ปาพระจักรีแปรเป็น กฤษณราญรอนเข็ญ
อินทรเสี้ยนสยบนา  
เสด็จแสดงเนาในเมืองทวา รพดีสมญา
คือวิษณุโลกบปาน”

ครั้นวันพฤหัสบดี แรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีวอก พ.ศ. ๒๑๙๙ สมเด็จพระนารายณ์มีพระชนม์ได้ ๒๕ พระพรรษาโดยปี นับว่าเข้าเกณฑ์เบญจเพศ จึงได้โปรดให้ทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเสวยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยา มีพระนามซึ่งถวายเมื่อราชาภิเษกตามที่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร (ฉบับพระราชหัตถเลขา) ว่า “สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดีศรีสรรเพชญ์ บรมมหาจักรพรรดิศวรราชาธิราช ราเมศวรธราธิบดี ศรีสฤษดิรักษสังหาร จักรวาฬธิเบนทร สุริเยนทราธิบดินทร์ หริหรินทราธาดาธิบดี ศรีสุวิบูลย์คุณขนิฐจิตรรุจี ตรีภูวนาทิตย ฤทธิพรหมเทพาดิเทพบดินทร ภูมินทราธิราช รัตนากาศมนุวงษ์ องค์เอกาทศรุฐ วิสุทธยโศดม บรมอาชวาธยาศัย สมุทัยดโรมนต์อนนตคุณ วิบุลยสุนทร บวรธรรมิกราชเดโชไชย ไตรโลกนารถบดินทร์วรินทราธิราช ชาติพิชิตทิศพลญาณสมันต์ มหันตวิปผารา ฤทธีวิไชย ไอสวรรยาธิบัติขัติยวงษ์ องค์ปรมาธิบดีตรีภูวนาธิเบศร โลกเชษฐวิสุทธมกุฎรัตนโมฬี ศรีประทุมสุริยวงศ์องค์สรรเพชญ์ พุทธางกูรบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว” และปรากฏพระนามในจารึกวัดจุฬามณีว่า “พระสรรเพชญ์สมเด็จพระรามาธิบดี ศรีศินทรมหาจักรพรรดิศวร ธรรมิกราชเดโชชัย บรมเทพาดิเทพตรีภูวนาธิเบศร โลกเชษฐวิสุทธิมกุฎพุทธางกูร บรมจักรพรรดิศวรธรรมิกราชาอันประเสริฐ” ในพระไอยการลักษณรับฟ้อง ขนานพระนามว่า “พระบาทสมเด็จเอกาทศรฐอิศวรบรมนารถ บรมบพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัว” และในบางแห่งขนานพระนามว่า “สมเด็จพระรามาธิบดี (ที่ ๓)”

ครั้นทำพิธีบรมราชาภิเษกแล้ว สมเด็จพระนารายณ์ก็หาได้เสด็จไปประทับในพระราชวังหลวงไม่ หากแต่ได้เสด็จออกไปประทับอยู่พระราชวังบวรสถานมงคลตามเดิม และดูเหมือนจะยังคงประทับอยู่พระราชวังจันทรเกษมนั้น ต่อมาจนถึงปีฉลู พ.ศ. ๒๒๐๔ หรือปีขาล พ.ศ. ๒๒๐๕ จึงเสด็จลงมาประทับ ณ พระราชวังหลวง สมเด็จพระนารายณ์ประทับเสวยราชย์อยู่ ณ กรุงศรีอยุธยาราว ๑๐ ปี แล้วคงจะทรงประจักษ์ต่อเหตุการณ์เกี่ยวกับชาวตะวันตกในสมัยนั้นเป็นอย่างดี ทรงเล็งเห็นว่า ถ้าจะมีราชธานีอยู่แต่ที่กรุงศรีอยุธยาแห่งเดียว อาจเป็นการล่อแหลมเกินไป จึงโปรดให้สร้างเมืองลพบุรีขึ้นใหม่เมื่อราว พ.ศ. ๒๒๐๘ หรือ ๒๒๐๙ เท่ากับเป็นราชธานีสำรองเพื่อต้อนรับเหตุการณ์เกี่ยวกับต่างประเทศ ด้วยพระปรีชารอบคอบ ไม่ทรงประมาท[๓] ซึ่งเวลานั้นเมืองลพบุรีเก่าคงจะสลักหักพังและทรุดโทรมมากแล้ว ชะรอยเมื่อสมเด็จพระนารายณ์โปรดให้สร้างเมืองลพบุรีขึ้นใหม่นั้น คนทั่วไปพากันเรียกว่า “เมืองใหม่” จึงปรากฏในบทกวีนิพนธ์ของกวีบางท่านเรียก “นพบุรี”เช่น

“นพบุรีบุเรศเจ้า กรุงอยุท- ธยาแฮ
นารายณ์พิษณุภุช สืบสร้าง”

ภายหลังแต่นั้นมา สมเด็จพระนารายณ์ก็เสด็จแปรพระราชฐานขึ้นไปประทับ ณ เมืองลพบุรี เป็นประจำราวปีละ ๘ – ๙ เดือน คงเสด็จลงมาประทับ ณ กรุงศรีอยุธยาราวปีละ ๓ – ๔ เดือน หรือเฉพาะในเวลามีงานพระราชพิธี แม้เมื่อสวรรคต ก็สวรรคต ณ พระที่นั่งสุธาสวรรย์ ที่เมืองลพบุรี จึงเป็นเหตุให้พากันกล่าวถึงพระองค์ว่า “พระนารายณ์ลพบุรี”

ณ ที่เมืองลพบุรีนั้น สมเด็จพระนารายณ์โปรดให้สร้างที่ขังน้ำที่ซับเหล็ก เชิงเขาสามยอด แล้วทำเขื่อนศิลาหรือทำนบกั้นจากระหว่างเขาหนีบกับเขาแก้ว เพื่อกักน้ำไว้ให้นิ่งแล้วไขน้ำมาทางพระที่นั่งเย็น (ทะเลชุบศร) แล้วกระแสน้ำไหลมาออกประตูปากจั่น มากักไว้ที่สระแก้ว (เก่า) หลังโรงภาพยนตร์ทหารบกทางหนึ่ง กับมีที่ฝังท่อใต้ดินอย่างท่อประปาสมัยนี้ ชักน้ำเข้ามาลงสระแก้วอีกทางหนึ่ง แล้วชักน้ำเข้ามาใช้ในพระราชวัง ดังที่พระศรีมโหสถกล่าวไว้ในโคลงเฉลิมพระเกียรติว่า

๒๒มีสินธุสายสีตซึ้ง ชลใส
เติมแต่เศขรใน ซอกชั้น
พุพวยหลั่งลงไหล เซงซ่าน>
วางท่อทางด้นดั้น สู่ท้องวังเวียน ฯ

พระปรีชาญาณ

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช นั้น ปรากฏว่าทรงพระบรมเดชานุภาพกว้างขวาง ทรงรอบรู้ในศิลปวิทยาคมและมีพระปรีชาสามารถในรัฐประศาสโนบายทั้งภายในและการเมืองต่างประเทศเป็นอย่างดี พระมหาราชครูผู้แต่งหนังสือสมุทรโฆษคำฉันท์ขึ้นในรัชกาลนั้น ก็ได้ร้อยกรองคำสดุดีเฉลิมพระเกียรติไว้ในเบื้องต้นของหนังสือนั้นว่า

(๑) พระบาทกรุงไท้ธรณี รามาธิบดี
ประเสริฐเดโชชัย  
(๒) พระบาทกมลนฤมล ทั่วทั้งภพไตร
ตระดกด้วยเดโชพล  
(๓) พระบาทกมลนฤมล ท้าวทั่วสากล
มาถวายบังคมเคารพ  
(๔) สบศิล์ปนเรศวรพบ ธรรมาคมสบ
ประการรู้รสธรรม์  
(๕) พระปรีโชบายอนันต์ บริกษาสรร-
พการสุดสงกา ฯ

ข้อความในคำร้อยกรองนี้ ถ้าจะแปลพอได้ความคงเป็นดังนี้ :-

(๑) พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดี ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินประเสริฐด้วยชัยเดชานุภาพ

(๒) พระเดชานุภาพของพระองค์สามารถทำให้ท้าวพระยามหากษัตริย์ทั่วทั้งไตรภพต้องโอนอ่อนมาด้วยความสะดุ้งสะเทือนด้วยเดชแห่งกำลังแสนยานุภาพ

(๓) (แต่) พระองค์ทรงมีพระราชหฤทัยเยือกเย็นแจ่มใส (เป็นเหตุให้) ท้าวพระยามหากษัตริย์ทั่วสากลพากันมาเฝ้าถวายบังคมด้วยความเคารพ

(๔) พระองค์ทรงรอบรู้ศิลปวิทยาคมและทรงรู้ซาบซึ้งในรสของพระธรรมทุกประการ

(๕) พระองค์ทรงพระปรีชาญาณในอุบายมากมายเหลือล้น ทั้งทรงสอดส่องรอบรู้ในสรรพกิจการทั้งหลายอย่างแจ่มแจ้งปราศจากข้อสงสัย

สัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ

สมเด็จพระนารายณ์ทรงมีสัมพันธไมตรีกับราชสำนักของพระมหากษัตริย์ ซึ่งทรงเดชานุภาพอันใหญ่ยิ่งของโลกร่วมรัชสมัยเดียวกันหลายพระองค์ มีอาทิ เช่น พระเจ้าเซิ่งจูหรือพระเจ้าเสียโจ๊วฮ่องเต้ แห่งราชวงศ์แมนจูของจีน พระเจ้า โอรังเซบ จักรพรรดิแห่งราชวงศ์โมกุลของอินเดีย[๔] พระเจ้าอับบาสที่ ๒ และพระเจ้าสุไลมานชาห์แห่งราชวงศ์โสฟีของเปอร์เซีย และหลุยส์เลอกรังด์เอมเปอเรอ แห่งราชวงศ์บัวร์บองของฝรั่งเศส ต่างมีราชทูตนำพระราชสาส์นและเครื่องมงคล ราชบรรณาการไปมาติดต่อแลกเปลี่ยนกันระหว่างราชสำนักของพระมหากษัตริย์ เหล่านี้ กับราชสำนักของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมาตลอดรัชกาล สิ่งสำคัญที่ตรงกันในราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์เหล่านี้ ก็คือ ปรากฏว่าทรงทุ่มเทเงินทองใช้จ่ายในการรับรองทางการทูตเพื่อสัมพันธ์สันถวไมตรีอันดียิ่งเช่นเดียวกัน นอกจากทางด้านการเมืองและการทหารแล้ว ปรากฏว่าต่างพระองค์ก็ทรงอุปถัมภ์บำรุงนักศิลปะและนักวรรณคดีให้เฟื่องฟูขึ้นภายในพระราชอาณาจักรของพระองค์ เช่นปรากฏว่า เซิ่งจูฮ่องเต้ของจีนได้ให้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตแต่งพจนานุกรมขึ้นชุดหนึ่ง คือ “พจนานุกรมฆังซี”[๕] และได้ทรงพระราชนิพนธ์พระบรมราโชวาทเป็นอย่างบัณฑิตพระร่วง หรือบัญญัติพระร่วงขึ้นด้วยพระองค์เองอีกด้วย[๖] ส่วนโอรังเซบจักรพรรดิราชวงศ์โมกุลของอินเดียเล่า ก็แวดล้อมไปด้วยนักปราชญ์ราชกวี ซึ่งราชสำนักของพระองค์เป็นราชฐานที่ชุมนุมของนักปราชญ์ ราชกวีที่มาร่วมกันแข่งขันต่อบทกลอนในที่เฉพาะพระพักตร์ของสมเด็จพระจักรพรรดิราชเจ้า ด้วยความสำเริงสำราญในกวีกีฬา ซ้ำปรากฏว่า ในโอกาสอันสำราญรมย์เช่นนี้ ยังมีเจ้าหญิงผู้ทรงพระปรีชา คือ พระราชธิดาผู้ทรงโฉมของพระองค์ พระนามว่า เชบุนนิชา ทรงนิพนธ์บทกวีขึ้นต้นบาทหรือต้นวรรคที่ยาก ๆ แล้วถวายไปยังราชสำนักของพระราชบิดา เพื่อโปรดพระราชทานให้เหล่ากวีหนุ่มแต่งต่อ เป็นการเพิ่มเติมเสริมส่งให้กวีกีฬามีรสสำเริงยิ่งขึ้นอีก แต่ก็ปรากฏว่า พวกกวีเหล่านั้นมักจะหาคำต่อที่เหมาะสมเป็นที่ถูกพระทัยของเจ้าหญิงเช่นศรีปราชญ์ต่อพระราชนิพนธ์ของเรามิได้ กล่าวกันว่า คราวทรงอภิเษกสมรสเจ้าหญิงผู้ปรีชาพระองค์นี้ ก็ทรงเสี่ยงหาคู่ด้วยกวีกีฬาดังกล่าวแล้ว[๗]

พระราชนิพนธ์และกวีกีฬา

เมื่อเราหันมาทางราชสำนักสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเจ้าของเรา นอกจากพระราชกรณียกิจอื่น ๆ ในด้านการเมืองและการปกครองซึ่งจะไม่กล่าวถึงในที่นี้แล้ว ก็ปรากฏว่า สมเด็จพระนารายณ์ฯ ทรงเป็นขัตติยกวี ซึ่งทรงพระปรีชาญาณในศิลปะและวรรณคดีเป็นอย่างยิ่ง ได้ทรงพระราชนิพนธ์วรรณกรรมไว้หลายเรื่อง เท่าที่ทราบกันต่อมาในบัดนี้ก็มี :-

๑. สมุทรโฆษคำฉันท์ (หน้า ๒๑๓ - ๒๒๘)

๒. พระราชนิพนธ์โคลงสุภาษิต ๓ เรื่อง คือ :

(๑) พาลีสอนน้อง ๓๒ บท

(๒) ทศรถสอนพระราม ๑๒ บท

(๓) ราชสวัสดิ์ ๖๓ บท

๓. คำฉันท์กล่อมช้าง (ของเก่า)

๔. เพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา[๘]และเพลงยาวสังวาสบางบท

๕. บทพระราชนิพนธ์โคลงโต้ตอบกับศรีปราชญ์และกวีมีชื่ออื่น ๆ

มิใช่จะทรงพระปรีชาญาณในศิลปวรรณคดีและทรงเป็นขัตติยกวีจำเพาะ พระองค์เองดังกล่าวแล้วเท่านั้น หากแต่ปรากฏว่า ในรัชสมัยอันยืดยาวของพระองค์ พรั่งพรัอมอยู่ด้วยนักปราชญ์ราชบัณฑิตและพระมหาเถรานุเถระผู้แตกฉานในคัมภีร์พระไตรปิฎกและทรงวิทยาคุณ พระองค์ทรงฝักใฝ่ในทางพระธรรมและข้อวัตรปฏิบัติในพระพุทธศาสนา ทรงวิสาสะกับพระเถรานุเถระทั้งหลายเหล่านั้นอยู่เนือง ๆ ดังจะเห็นได้จากพระราชปุจฉาหลายเรื่องที่เกิดขึ้นในรัชกาลของพระองค์ ราชสำนักของไทยในรัชสมัยนั้นจึงเต็มไปด้วยรัตนกวีผู้มีชื่อเสียง ที่เราในสมัยนี้ได้ทราบชื่อที่ลือนามสืบมาหลายท่าน เช่น พระมหาราชครู พระโหราธิบดี พระศรีมโหสถ ขุนเทพกวี และศรีปราชญ์ ฯลฯ พระมหาราชเจ้าคงจะได้โปรดอุปถัมภ์บำรุงบรรดาเหล่ากวีให้กินดีอยู่ดีและให้มีอยู่เป็นประจำ ต่างสำเริงสำราญในกวีกีฬา มีการต่อโคลงกลอนและแต่งบทกวีอวดฝีปากฝากบทกลอน ประกวดประขันประชันแต่งกันไว้ก็มี ท่านนักปราชญ์ราชกวีเหล่านี้จึงเป็นเสมือนผู้ “ระงามดนตรี คือเสียงกวีสำเนียงนิรันดร์ ประสานเสียงถวาย” ซ้องสาธุการ เฉลิมพระเกียรติพระมหาราชเจ้าของชาวไทยพระองค์นั้นเพียง “เพลงจำเรียงเวียงวัง” อยู่ตลอดนิรันดรกาล

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช มิใช่แต่จะทรงโปรดปรานเฉพาะกวีกีฬาเท่านั้น แต่ทรงโปรดคชกีฬา พอพระราชหฤทัยในการเสด็จประพาสป่า ทรงจับช้างเถื่อนเป็นประจำ จึงมีคำฉันท์กล่อมช้าง และตำราขี่ช้าง ตั้งแต่รัชสมัยของพระองค์ เหลือปรากฏเป็นหลักฐานสืบมา โดยเหตุที่ทรงโปรดปรานทั้งการกวีและกีฬาการจับช้างเถื่อน สมเด็จพระนารายณ์มหาราช คงจะได้ทรงพระราชนิพนธ์คำฉันท์กล่อมช้างขึ้นบางความด้วย ดังปรากฏในคำฉันท์กล่อมช้าง (สดุดีลาไพร) ของเก่า สำนวนหนึ่ง ซึ่งขึ้นต้นว่า “อัญขยมสดุดีพระไพร ป่าดงพงใน สระสโรชมหิมา” มีกล่าวเป็นตำนานไว้ตอนจบว่า

ส่วนพรภูธรผู้ไกร ขอลาพระไพร
ไปยังอโยธยาศรี  
จงสถาพรศุขมากมี ยศล้ำโลกีย์
หฤๅทัยมีหฤหรรษ์  
ทงงนี้โสตองค์พระสรร- เพ็ชญ์ไท้ทรงธรรม์
เลิศนิล้ำไตรตรา  
แก้กลอนกำพุชภาษา แจงแจ้งเอามา
เป็นสยามพากย์พิไสย  
ฝ่ายข้างไสยสาตรนี้ใคร ฤๅจะเปรียบปูนใน
พระองคไท้ทรงธรรม์  
เมื่อเสร็จการอุดมกรรม์ ได้ช้างเผือกอัน
วิสุทธิสารบวร  
ทุกเทพทงงหลายชมอร จึงอวยพระพร
แด่พระผู้เลี้ยงโลกา  
พระชนมจงยืนมหิมา สิบร้อยพรรษา
พระเกียรติล้ำแสนกัลป  
ศักดิสิทธิฤทธิเดชสรบสรรพ์ โองการอันพรร-
ณาประสิทธิกิจการ ฯ

“พระภูธรผู้ไกร”ซึ่งกล่าวถึงในกาพย์ฉบังนี้เข้าใจว่า หมายถึงสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเจ้า เพราะในรัชกาลนั้นได้ทรงบำรุงการช้างเป็นสำคัญทั้งในทางคชศาสตร์และคชกีฬา วรรณคดีซึ่งแต่งขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ เช่นสมุทรโฆษคำฉันท์ก็พรรณนาถึงพระสมุทรโฆษเสด็จประพาสไปวังช้างเป็นราชกีฬาอันใหญ่ และในโคลงเฉลิมพระเกียรติของพระศรีมโหสถ ก็มีบทสรรเสริญสมเด็จพระนารายณ์ฯ ว่าโปรดเสด็จประพาสป่าจับช้างเถื่อนอยู่หลายโคลง เช่น

๏ จอมภพภูวนาถเกล้า สากล
เสด็จดำเนินยังพน- เวศนั้น
ทำการเบิกไพรทนน ไชยบาศ
โดยศาสตร์พระกรรมบั้น บอกไว้เป็นเฉลิม ฯ
๏ คชลักษณ์เลงเลิศเชื้อ ชาญสนาม
ยงยิ่งในสงคราม แกว่นกล้า
คชพาลชำนินาม ศิริราช
เคยไล่สารไพรร้า รวบแร้งรุกราญ ฯ

ในพระราชพงศาวดาร ได้พรรณนาถึงสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตรัสให้หล่อรูปพระเทวกรรมองค์หนึ่งเมื่อปีวอก และรุ่งขึ้นในปีระกา ก็ “ทรงพระกรุณาตรัสให้หล่อพระเทวกรรมทอง ยืน สูงศอกหนึ่ง หุ้มด้วยทองเนื้อเจ็ดแล้ว และเครื่องอาภรณ์นั้นถมราชาวดีประดับด้วยแหวนไว้สำหรับพระราชพิธีคชกรรม” ใน “คำให้การขุนหลวงหาวัด” กล่าวสรรเสริญว่า “อันการช้างของพระองค์นี้ยกเป็นยอดยิ่งนัก เป็นอัครมหากษัตริย์ในพงศาวดาร ไม่มีกษัตริย์พระองค์ใดในการวิชาช้างนี้จักได้เสมอพระองค์นี้หามิได้” ดูช่างสมกับคำในกาพย์ฉบังข้างต้นที่ว่า “ฝ่ายข้างไสยสาตรนี้ใคร ฤๅจะเปรียบปูนใน พระองคไท้ทรงธรรม์” ในพระราชพงศาวดารกล่าวว่า เมื่อปีระกานั้น สมเด็จพระนารายณ์ฯ มีพระราชโองการตรัสสั่งพระยาจักรี ให้แต่งโรงพระราชพิธีบัญชีพรหม และชมรมสำหรับการพระราชพิธีทั้งปวง ในทะเลหญ้า ตำบลพะเนียด แล้วตรัสสั่งให้พระมหาราชครู พระราชครู และพฤฒิบาศ และปลัด พระราชครู ประพฤติการพระราชพิธีบัญชีพรหมและพระราชพิธีมหาปรายาจิตร ซึ่งยังไม่ทราบเป็นพระราชพิธีอะไร แต่คงจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการช้าง เพราะต่อไปกล่าวอ้างว่า “ประพฤติการพระราชพิธีตามสารตำรับอันมีคชกรรมนั้นทุกประการ” ครั้นรุ่งขึ้นปีจอ ก็ได้ช้างเผือกพัง จากเมืองศรีสวัสดิ์หรือเมืองกาญจนบุรี ซึ่งพระราชทานนามเมื่อขึ้นระวางว่า พระอินทรไอยราวรรณวิสุทธราชกริณี ครั้นต่อมาในปีชวด ช้างพลายเอกนครสวรรค์ก็มาสู่พระบารมี ขึ้นระวางพระราชทานนามว่า เจ้าพระยาบรมคเชนทรฉัททันต์ เรื่องราวในพระราชพงดาวดารนี้ ดูช่างตรงกับความในกาพย์ฉบังข้างต้นที่ว่า “เมื่อเสร็จการอุดมกรรม์ ได้ช้างเผือกอันวิสุทธิสารบวร” และคราวใดจะเสด็จประพาสป่าจับช้างเถื่อนหรือเสด็จกลับจากป่า ก็มักพอพระราชหฤทัยเสด็จไปประทับ ณ พระตำหนักเย็น หรือตำหนักทะเลชุบศรเนือง ๆ พระศรีมโหสถก็ได้กล่าวถึงความข้อนี้ไว้ในโคลงเฉลิมพระเกียรติ แต่เรียกทะเลชุบศร เป็น ชะเลวุธศร ดังนี้

๕๑เสร็จเสด็จดลด้าวด่าน ดงดอน
ชลชะเลวุธศร เหล่าช้าง
คชสารบั่นสมสลอน กรินิศ
ชมทรหึงเคียงข้าง จรวดร้องเรียงรมย์ฯ

พระสรีระสัณฐาน

ถ้าเราอยากจะทราบกันว่า พระสรีระรูปโฉมของสมเด็จพระนารายณ์ฯ มีลักษณะเป็นอย่างไร ก็พอจะทราบได้จากหนังสือบางเรื่อง ซึ่งชาวต่างประเทศ บางคนผู้ได้เข้ามามีโอกาสเฝ้าโดยใกล้ชิดแล้วนำไปเขียนเล่าไว้ พอจะช่วยให้เรานึกวาดภาพมองเห็นพระองค์ได้บ้าง เช่น นิโกลาสแยร์เวส์[๙] พรรณนาไว้ว่า “ตามที่ข้าพเจ้ามีเกียรติได้เข้าเฝ้ากษัตริย์พระองค์นี้ในที่ใกล้ชิดหลายครั้ง ข้าพเจ้าพอจะเล่าให้ท่านฟังได้ พระองค์ (สมเด็จพระนารายณ์ฯ) เป็นบุคคลขนาดปานกลาง พระอังสาทั้งสองเชิดนิดหน่อย พระพักตร์ยาวรี พระฉวีน้ำตาลอ่อน ดวงพระเนดรทั้งสองกลอกกลิ้งและแจ่มใสดูเป็นประกาย แสดงถึงแววแห่งพระปรีชาญาณอันกว้างขวาง พระสรีระรูปก็ดูเต็มไปด้วยความภาคภูมิมีสง่า พร้อมทั้งมีความแช่มช้อยและเต็มไปด้วยความอ่อนโยน ซึ่งผู้ที่ได้เข้าเฝ้าจะเว้นเสียมิได้ที่จะไม่รู้สึกเคารพและถวายความจงรัก” เชวาลิเอร์ เดอะฟอร์บัง ซึ่งมากับคณะทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ และได้เข้าเฝ้าเป็นครั้งแรกเมื่อคราวเสด็จออกรับพระราชสาส์นและคณะทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ มี เชวาลิเอร์ เดอะโชมองค์ เป็นราชทูต เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๒๘ ก็พรรณนาไว้ว่า “พระมหากษัตริย์พระองค์นี้ทรงพระมาลายอดแหลมคล้ายกันกับหมวกยอดที่เราเคยใช้กันมาในประเทศฝรั่งเศสในกาลก่อน แต่ริมไม่กว้างกว่าหนึ่งนิ้ว พระมาลานั้นมีสายรัดทำด้วยไหมทาบใต้พระหนุ ทรงฉลองพระองค์เยียรบับ สีเพลิงสลับทอง สอดพระแสงกริชไว้ที่รัดพัสตร์อันวิจิตรงดงาม และทรงพระธำมรงค์อันมีค่าทุกนิ้วพระหัตถ์ พระเจ้าแผ่นดินไทยพระองค์นี้ ทรงมีพระชนมายุราว ๕๐ พรรษา ซูบพระองค์มาก พระสรีระรูปแบบบาง ไม่ทรงไว้พระทาฐิกะ ที่เบื้องซ้ายพระหนุ มีพระคินถิเมล็ดใหญ่ ซึ่งมีพระโลมาสองเส้นห้อยลงมายาว”[๑๐] นอกจากนี้ ยังมีภาพเขียนขณะเสด็จออกพระบัญชรทรงรับพระราชสาส์นของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ซึ่งช่างฝรั่งเศสเขียนประกอบไว้ในจดหมายเหตุของเขา แม้จะเป็นไปโดยทัศนะของฝรั่ง แต่ก็พอจะเป็นเค้าให้เรานึกวาดภาพมองเห็นพระรูปพระโฉมของพระองค์ได้ และในหนังสือชาวต่างประเทศบางเล่มยังมีกล่าวว่า สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงพระดำรัสติดอ่าง

พระราชกิจจานุกิจ

นิโกลาส แยร์เวส์ ได้พรรณนาถึงพระราชกิจจานุกิจประจำวันของสมเด็จ พระนารายณ์ฯ ไว้[๑๑] เป็นเรื่องที่น่ารู้อยู่บ้าง ขอเก็บความมาเสนอไว้ดังนี้ “พระองค์ (สมเด็จพระนารายณ์ฯ) เสด็จตื่นบรรทมเวลาเช้า ๗ น. ตรง เป็นประจำ พวกมหาดเล็กถวายน้ำสรงและแต่งพระองค์แล้ว (เสด็จเข้าห้องพระ) ทรงกล่าวคำสวดมนต์แด่พระสมณโคดม เสร็จเสวยพระกระยาหารเช้าแล้ว เวลา ๘.๐๐ น. เสด็จเข้าที่ประชุมเสนาบดีและประทับอยู่จนเที่ยงวัน ณ ที่ประชุมเสนาบดีนั้น เมอสิเออร์ เดอ คอนสตันซ์ (เจ้าพระยาวิชเยนทร์) เสนาบดีผู้ใหญ่ของพระองค์เฝ้าอยู่ด้วย เป็นผู้คอยถวายรายละเอียดเกี่ยวกับราชการแผ่นดินที่จะต้องโปรดพิจารณา เสร็จแล้วทรงตรวจตราวินิจฉัยสรรพรายงานในที่ประชุมขุนนางและข้าราชการผู้ใหญ่ แล้วตรัสถามความเห็นเกี่ยวกับข้อราชการเหล่านั้น บรรดาขุนนางและข้าราชการทุกคนหมอบอยู่กับพื้น ยันตัวด้วยข้อศอกของตนเองอยู่ในท่านั้นตลอดเวลาที่เฝ้าอยู่ในที่เฉพาะพระพักตร์พระมหากษัตริย์ ขุนนางข้าราชการทุกคนจะเริ่มต้นคำที่กราบทูลแด่พระมหากษัตริย์ เป็นความหมายที่มีความเคารพนบนอบนิดหน่อย ด้วยคำซึ่งมีความหมายดังคำเหล่านี้ “ขอเดชะพระราชดำรัสพระบรมราชโองการ ดูเหมาะสมที่ลงมายังข้าพระพุทธเจ้าผู้เป็นแต่ของสกปรกและฝุ่นละออง ข้าพระพุทธเจ้าขอวา พระราชดำรัสและพระราชโองการนั้นไว้บนศีรษะของข้าพระพุทธเจ้าด้วยความเคารพ (ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อมฯ) และจะทรงประสบความกล้าหาญในตัวข้าพระพุทธเจ้าที่จะกราบทูลใต้ฝ่าพระบาทถึงเรื่องที่ข้าพระพุทธเจ้าคิดว่า พระองค์โปรดเมตตาประทานพระราชดำรัสแก่ข้าพระองค์ผู้เป็นแต่เพียงทาสของใต้ฝ่าพระบาท (ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระราชวโรกาสที่จะกราบบังคมทูลพระกรุณาทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทว่า ข้าพระพุทธเจ้าคิดด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม...?)

“ภายหลังที่ขุนนางข้าราชการทุกคนได้กล่าวคำ (ดังกล่าวข้างต้น) เหล่านี้ กันหมดแล้ว พระเจ้าอยู่หัวจึงโปรดพระราชทานพระราชวินิจฉัย เว้นเลยแต่จะโปรดให้ขุนนางข้าราชการเหล่านั้นกราบทูลได้ต่อไปอีก ถ้าในระหว่างที่ทรงวินิจฉัยเรื่องอันเป็นปัญหานั้น พระมหากษัตริย์ทรงพิจารณาเห็นว่าเป็นความลับและเป็นเรื่องน่าสนใจโดยเฉพาะ มิควรให้อำมาตย์มนตรีคนหนึ่งคนใดเข้าร่วมในเรื่องที่ทรงพระราชดำริโดยแท้จริงนั้น พระองค์จะทรงรอพระราชวินิจฉัยไว้ก่อนจนกว่าจะทรงพิจารณาหยั่งทราบความรู้สึกอันแท้จริงในเรื่องนั้นของท่านเสนาบดี และเพื่อที่จะมิให้บุคคลที่เกี่ยวข้องรู้สึกเคืองแค้น เมื่อทราบว่าพระมหากษัตริย์ตรัสสอบถามกับเสนาบดีผู้นั้น พระมหากษัตริย์จะโปรดพระราชทาน (กระแสพระราชดำรัส) อย่างเป็นความลับ มิให้รู้ถึงอำมาตย์มนตรีคนอื่น ๆ ไปสอบถามเสนาบดีผู้นั้นถึงเรื่องที่พระองค์มีพระราชประสงค์จะทรงทราบ”

“เมื่อเสร็จประชุมเสนาบดีแล้ว ก็โปรดให้ขุนศาลตุลาการเข้าเฝ้า ทรงสดับ คำตัดสินคดีเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งจะพิจารณาตัดสินในศาล และมีบ่อย ๆ ที่โปรดให้แก้ไขคำตัดสินที่ขุนศาลตุลาการเหล่านั้นวินิจฉัยไปแล้วเสียใหม่ตามที่ได้ทอดพระเนตรภายหลัง และโปรดพระราชทานพระบรมราชโองการสั่งไปแก่อำมาตย์ผู้ใหญ่หรือตรัสถามถึงพระบรมราชโองการที่โปรดให้เชิญออกไปแล้วนั้น ได้ดำเนินตามกันโดยเคร่งครัด เท่าที่จะเป็นไปได้หรือไม่”

“ครั้นระฆังกังวานขึ้นในเวลาเที่ยงวัน ก็เสด็จเข้าที่เสวยพระกระยาหาร กลางวัน เสร็จแล้วมหาดเล็กเปลื้องเครื่องแต่งพระองค์และถวายน้ำสรงเช่นเดียวกับตอนเช้าแล้วเสด็จเข้าที่พระบรรทม บรรเลงขับกล่อมด้วยดุริยางคดนตรีและคำขับร้อง บรรทมอยู่จน (บ่าย) ๔ น. จึงเสด็จตื่นบรรทม มหาดเล็กถวายการแต่งองค์ต่างจากที่ทรงในตอนเช้า เสร็จแล้วเจ้าพนักงานอ่านหนังสือถวายก็เข้าเฝ้าพร้อมด้วยสมุดหนังสือ โปรดที่จะทรงสดับเรื่องใด ก็อ่านเรื่องนั้นถวาย (เรื่องที่อ่านถวายก็มี) ประวัติศาสตร์จีน ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นเป็นเรื่องที่โปรดมากในตอนต้นรัชกาล แต่เมื่อได้ทรงสดับเรื่องที่เล่าถึงสมเด็จพระเจ้าหลุยส์ มหาราช ก็ทรงโปรดและสำแดงความพอพระทัยจนเห็นได้ชัด เมื่อมีผู้เล่าเรื่องของสมเด็จพระเจ้าหลุยส์ถวาย และไม่ทรงโปรดอะไรยิ่งไปกว่ามีผู้ยอพระเกียรติว่า ทรงนิยมนับถือและมีสัมพันธไมตรีกับพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ของเรา (พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔)

“ไม่มีตำแหน่งใดในพระราชวังที่น่าเบื่อหน่ายยิ่งไปกว่าเป็นพนักงานอ่านหนังสือถวาย บุคคลผู้นี้นักจะต้องอ่านถวายวันละ ๓ - ๔ ชั่วโมง ขณะอ่านก็ต้องหมอบกับพื้นและใช้ข้อศอกของตนยันไว้เกือบจะไม่กล้าหายใจหรือเคลื่อนไหวใน อิริยาบถที่สบายกว่านั้น ถ้าพระมหากษัตริย์เสด็จประทับอยู่ที่ละโว้ (ลพบุรี) ตาม ธรรมดาก็เลิกอ่านเมื่อ ๕.๐๐ น. (ห้าโมงเย็น) และที่ประตูพระราชวังจัดช้างพระที่นั่งรออยู่ เสด็จทรงช้างพระที่นั่ง ประพาสไปตามในเมือง ถ้าประทับอยู่ในพระนครหลวง (กรุงศรีอยุธยา) ก็ไม่โปรดเสด็จไปไหน เว้นเสียแต่เสด็จไปทอดพระเนตรสิ่งก่อสร้างใหม่หรือเสด็จประทับเป็นประธานในงานพระราชพิธีที่สำคัญ ๆ บางราย ทรงพอพระราชหฤทัยเสด็จสำราญพระอิริยาบถอยู่ในพระราชอุทยาน ถ้าดินฟ้าอากาศดี ก็ทรงดำเนินเล่นอยู่ในพระราชอุทยาน หรือบางคราวก็เสด็จเยี่ยมพระสนม ซึ่งพวกนั้นมักจะพากันกักพระองค์ไว้จน ๘ น. (๒ ทุ่ม) ได้เวลาเสด็จเข้าที่ประชุมเสนาบดี ราชกิจเรื่องสำคัญที่สุดที่ถวายไว้แต่ตอนเช้านั้น จะทรงเก็บไว้จนเวลาคํ่าจึงทรงพระราชทานพระราชวินิจฉัย (ในตอนนี้) ไม่ค่อยมีเรื่องใหม่ถวาย เว้นเสียแต่จะเป็นเรื่องด่วนมาก เพราะฉะนั้นพวกเสนาบดีจึงมีเวลาพิจารณาไตร่ตรองเรื่องในตอนเช้าได้ตลอดวัน อย่างไรก็ตาม การประชุมขุนนางในตอนคํ่านี้ไม่เคยเลิกก่อนเที่ยงคืน (ถ้ามิได้เสวยพระกระยาหารค่ำมาก่อนเสด็จเข้าที่ประชุม) ก็เสด็จเข้าที่เสวยพระกระยาหารคํ่า (ตอนเลิกประชุมเที่ยงคืนนี้) หรือเสด็จเข้าที่บรรทม ถ้าพระมหากษัตริย์พระองค์นี้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจคงที่สม่ำเสมออยู่เช่นนี้ตลอดไป จะเป็นเหตุให้ประเทศของพระองค์ได้รับการปกครองร่มเย็นเป็นสุขดี นอกจากนั้นพระองค์ยังทรงอุทิศเวลาส่วนหนึ่งของพระองค์เพื่อแก่การบนเทิง สิ่งที่ทรงโปรดมากเหนือสิ่งอื่นใดทั้งสิ้นก็คือ การล่าเสือและจับช้างป่า ซึ่งพระองค์ทรงปฏิบัติอยู่ตลอดเวลาที่เสด็จประทับอยู่ที่เมืองละโว้ กล่าวคือ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน จนถึงปลายเดือนกรกฎาคม หรือต้นเดือนสิงหาคม ไม่เคยมีกษัตริย์พระองค์ใดทรงเชี่ยวชาญหรือมีโชคดีไปกว่า พระองค์จะไม่ทรงปล่อยให้เวลาหนึ่งปีผ่านไปเปล่า ๆ โดยมิได้ทรงจับช้างได้เกินกว่า ๓๐๐ ตัว ช้างตัวที่ดีที่สุดทรงเลือกไว้ใช้ส่วนพระองค์ นอกนั้นโปรดพระราชทานแก่ขุนนางข้าราชการผู้ที่ทรงโปรดปราน หรือผู้ที่รับราชการเป็นประโยชน์ ส่วนที่เหลือก็ขายให้แก่ชาวต่างประเทศ ส่งไปขายแก่กษัตริย์โมกุล (อินเดีย สมัยราชวงศ์โมฆุล) และประเทศใกล้เคียง อย่างไรก็ดี การที่ทรงโปรดปรานในการจับช้างนี้ จะต้องใช้คนจำนวนมากถึง ๓๐,๐๐๐ คน คนที่ต้องล้มตาย ลงเพราะความลำบากตรากตรำเป็นจำนวนมาก บางพวกต้องท่องเที่ยวติดตามหาอยู่ในป่าทั้งกลางวันกลางคืน และเที่ยวติดตามไปในที่ซึ่งสัตว์ป่าเหล่านั้นหลบซ่อนอยู่ บางพวกก็ต้องขัดห้างสร้างเพนียดกั้นล้อมมิให้สัตว์เหล่านั้นหนีไป ความจริง บุคคลเหล่านี้ทุกคนต่างมีงานส่วนตัวของเขาที่จะต้องทอดทิ้งโดยไม่เสียดาย เพราะถ้าเขาไม่ไปเองหรือมอบหมายให้คนอื่นไปแทน ก็เป็นการแน่นอนว่า เขาจะต้องถูกลงโทษทันทีโดยมีเจ้าหน้าที่ตรวจตรางานของเขาอยู่”

พระราชกิจจานุกิจดังกล่าวนี้ ดูไม่ตรงกับที่กำหนดไว้ในกฎมนเทียรบาล แต่อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงมาตามยุคตามสมัยและตามพระราชอัธยาศัยเฉพาะ พระองค์ก็ได้ มีกล่าวถึงพระราชานุกิจของสมเด็จพระนารายณ์ไว้ในกฎ ๓๖ ข้อ ข้อ ๑๐ ว่า “เพลาเช้าเสด็จออกทอดพระเนตรแต่งตัวไม้วัดยม”[๑๒] ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับพระราชกิจจานุกิจที่นิโกลาส แยร์เวส์ กล่าวไว้ข้างต้น ก็คงเป็นเวลาภายหลังเสวยพระกระยาหารเช้า แต่ก่อนเสด็จเข้าที่ประชุมเสนาบดี และอาจเป็นพระราชานุกิจเฉพาะคราว ซึ่งในคราวเสด็จครั้งนั้นเกิดมีเรื่องให้ทรงพระราชปรารภออกกฎข้อ ๑๐ นี้ก็ได้ แต่โดยปรกติอาจเสด็จทอดพระเนตรสิ่งก่อสร้างราวเวลา ๕ โมงเย็น ดังที่ นิโกลาส แยร์เวส์ กล่าวไว้ข้างต้น

สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เสด็จดำรงราชสมบัติอยู่ ๓๒ ปี สวรรคตเมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๒๓๑ สิริรวมพระชนมายุได้ ๕๖ พระพรรษา

รัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เป็นสมัยหนึ่งในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ที่มีการเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศอย่างกว้างขวาง และ เป็นรัชกาลที่วรรณคดีและศิลปะของไทยเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างยิ่ง หากแต่เป็นที่น่าเสียดาย ที่เราผู้เป็นอนุชนไม่สามารถทราบความเป็นไปของบรรดาท่านนักปราชญ์ราชกวีในสมัยนั้นได้อย่างพิสดารเท่าที่ควร แค่ถ้ามีโอกาสได้อ่านได้ศึกษาจากผลแห่งกวีกีฬาของท่านรัตนกวีเหล่านั้น พร้อมด้วยประวัติของท่าน อันแสนที่จะลี้เร้นเฟ้นหามาได้ด้วยยาก ก็จะเป็นทางให้เกิดสติปัญญาและภาคภูมิใจในสมบัติวรรณคดีของไทยไม่น้อย



[๑] ดู - The Natural and Political History of the Kingdom of Siam ของ Nicolas Gervais หน้า ๑๐๑ – ๑๐๒ ด้วย

[๒] ในหนังสือ คำให้การชาวกรุงเก่า ว่า สมภพวันอังคาร

[๓] การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ซ่อมเมืองลพบุรีขึ้นใหม่ในรัชกาลที่ ๔ และ พณฯ จอมพล ป.พิบูลสงครามให้ขยายและสร้างเมืองใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐ เข้าใจว่า เกี่ยวกับข้อดำริให้เมืองลพบุรี เป็นนครหลวงสำรองเพื่อต้อนรับเหตุการณ์ด้วยความไม่ประมาท เช่นเดียวกับสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

[๔] Cambridge History of India, Vol. IV p. 299 กล่าวถึงราชสำนัก  Shahr-i-nua ซึ่งสันนิษฐานกันว่าได้แก่กรุงศรีอยุธยา และดูประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๒๗ หน้า ๖๗ ด้วย

[๕] สอบถามผู้รู้บางท่าน อธิบายว่า มีฉบับอักษรจีน เรียกว่า “ฆังซีจื้อเตี่ยน” ตีพิมพ์เป็นเล่มสมุดแบบใหม่ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘

[๖] อธิบายว่าเรียก “เซิ่งยื่อ” ในแผ่นฆังซีนี้มีอยู่เพียง ๑๖ ข้อ ถัดมาในแผ่นดินหย่งเจิ้งได้เพิ่มเติมเป็น ๑๐,๐๐๐ คำ มอบให้เป็นฉบับสำหรับครูอาจารย์ใช้อบรมสั่งสอน เรียกว่า “เซิ่งยื่อกว๋องซื่น”

[๗] ดู Development of Bangli Literature by Balabandra Nath Tagore ใน Indian Art and Letters Vol. XI, No. I, 1937

[๘] ตีพิมพ์อยู่ในประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖๓ และอื่น ๆ

[๙] Nicolas Gervais ใน The Natural and Political History of the Kingdom of Siam
หน้า ๑๐๑

[๑๐] จดหมายเหตุฟอร์ปัง ฉบับพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงพระศพพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย พ.ศ. ๒๔๘๖ หน้า ๙๗

[๑๑] The Natural and Political History of the Kingdom of Siam หน้า ๑๑๖ – ๑๑๘

[๑๒] ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ ๑ ตราสามดวง ฉบับพิมพ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง เล่ม ๓ หน้า ๖๒

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ