ประวัติพระมหาราชครู

ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีนักปราชญ์และกวีใหญ่ผู้หนึ่งมีชื่อปรากฏตามที่กล่าวกันสืบมาว่า “พระมหาราชครู” ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้โปรดให้ท่านแต่งหนังสือสมุทรโฆษคำฉันท์ขึ้นสำหรับเล่นหนังในรัชกาลนั้น กล่าวไว้ในตอนต้นของคำฉันท์เรื่องนั้นว่า

พระให้กล่าวกาพยนิพนธ์ จำนองโดยกล
ตระการเพลงยศพระ ฯ  
ให้ฉลักแสบกภาพอันชระ เป็นบรรพบุรณะ
นเรนทรราชบรรหาร ฯ  
ให้ทวยนักคนผู้ชาญ กลเล่นโดยการ-

ซึ่งอาจแปลความหมายของกวีนิพนธ์บทนี้พอเป็นเลาความว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดให้แต่งกาพย์กลอนกล่าวสดุดีพระเกียรติพระพุทธองค์ ผูกเป็นคำร้อยกรองอันไพเราะตระการ แล้วมีพระราชบรรหารให้ฉลุฉลักแผ่นหลังเป็นภาพอันงดงามบริบูรณ์ตามแบบโบราณ แล้วโปรดให้บรรดานักศิลปะผู้ชำนาญในกระบวนการเล่น นำออกเล่นเป็นเครื่องบันเทิงใจแก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน”

พระมหาราชครูผู้นี้ คงจะเป็นข้าราชการผู้ใหญ่และเป็นที่นับถือของสมเด็จ พระนารายณ์มหาราช แต่ประวัติของท่านไม่ปรากฏ ท่านผู้รู้บางท่านสันนิษฐานว่า ที่เรียกว่าพระมหาราชครูนั้น จะเป็นคนเดียวกับพระโหรา ชาวเมืองพิจิตร ซึ่งดูเหมือนจะทำราชการมาตั้งแต่ในรัชกาลพระเจ้าปราสาททอง จนถึงรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช บางทีจะได้เป็นครูบาอาจารย์ของสมเด็จพระนารายณ์ จึงเรียกกันว่า “พระมหาราชครู” แต่อย่างไรก็ตาม บังเอิญมีนามบรรดาศักดิ์ตามทำเนียบ แสดงว่าพระมหาราชครู กับพระโหราธิบดีนั้นเป็นชื่อของข้าราชการคนละคน เช่นเมื่อเวลาพระมหากษัตริย์เสด็จออกประภาษราชการงานแผ่นดิน โดยปรกติให้ระบุผู้เข้าเฝ้าไว้เป็นคำรวมว่า “พร้อมด้วยหมู่มุขมาตยาโหราราชมนตรีกระวีชาติราชครูปโรหิตาจารย์เฝ้าเบื้องบาทบงกชมาศ” หรือ “พร้อมด้วยสมเด็จพระราชโอรสาพระภาคิไนยนาถราชมหาอำมาตย์มนตรีกระวีชาติราชปโรหิตาโหราราชครูเฝ้าพระบาทบงกชมาศ” หรือคำอื่น ๆ คล้ายคลึงกันนี้ ซึ่งเห็นได้ว่ากล่าวถึงไว้ทั้งผู้มีตำแหน่งเป็นโหราและราชครู แสดงว่าเป็นคนละคนและต่างก็มีตำแหน่งเฝ้าด้วยกัน

ในกฎมนเทียรบาล[๑] ก็กล่าวถึงพระมหาราชครูกับพระโหราธิบดีไว้เป็นคนละคน คือกล่าวว่า “อนึ่งการอายัดพระมหาราชครู พระราชครู พระอาลักษณ พระโหราธิบดี พระศรีมโหสถ พระศรีศักดิ์ ให้ทำกำหนดราชประเพณีโดยขบวนโบราณแลให้ถือกำหนดพิธีโดยตำหรับศาตราเวท...ผิให้นามมิชอบโดยพยากรจัด ครูพิทธีหมีต้องสาตร บังคับผู้ชุบโหมเวทมนตร บอกตำหรับผิดพลั้งโทษ พระอาลักษณ มัดแขวน โทษพระมหาราชครู พระราชครู พระโหราธิบดี พระศรีมโหสถ พระศรีศักดิ์ ประคำใหญ่แขวนคอ” นี้ก็แสดงว่า พระมหาราชครูกับพระโหราธิบดีเป็นคนละคน ทั้งตำแหน่งพระมหาราชครูพราหมณ์ก็ยังมีอยู่ จนตราบท้าวทุกวันนี้ ตามทำเนียบศักดินาโบราณ ก็ปรากฏว่ามีตำแหน่งพระมหาราชครูอยู่ ๒ ตำแหน่ง คือ พระมหาราชครู พระครูมหิธรธรรมราชสุภาวดีศรีวิสุทธิคุณวิบูลธรรมวิสุทธิพรหมาจาริยาธิบดีพุทธาจารย์ นา ๑๐๐๐๐ เป็นพระมหาราชครูฝ่ายลูกขุน ณ ศาลหลวงตำแหน่งหนึ่ง กับพระมหาราชครูพระราชประโรหิตาจารย์ราชสุภาวดีศรีบรมหงษองคบุรีโสดมพรหมญาณวิบูลสีลสุจริตวิวิธเวทยพรหมพุทธาจารย์ นา ๑๐๐๐๐ เหมือนกัน เป็นพระมหาราชครูฝ่ายพราหมณ์ปุโรหิตอีกตำแหน่งหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ พระมหาราชครูผู้แต่งสมุทรโฆษคำฉันท์นั้นอาจจะเป็นพระมหาราชครูผู้มีตำแหน่งฝ่ายลูกขุน หรือพระมหาราชครูพราหมณ์ปุโรหิตตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งก็ได้

พิจารณาตามเรื่องราวที่กล่าวไว้ในหนังสือสมุทรโฆษคำฉันท์ เห็นได้ว่า ท่านผู้แต่งเป็นผู้รอบรู้วรรณคดีกว้างขวางเป็นอย่างยอดเยี่ยม และรู้ขนบธรรมเนียมตลอดจนราชประเพณีต่าง ๆ เป็นอย่างดี โดยเฉพาะราชประเพณีเกี่ยวกับการจับช้างเถื่อน ซึ่งพรรณนาไว้อย่างละเอียดถี่ถ้วนและพิสดาร คงจะเป็นการแทรกพระราชจริยาวัตรของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ไว้ในคำฉันท์เรื่องนี้ด้วย เพราะปรากฏว่าสมเด็จพระนารายณ์ทรงพอพระราชหฤทัยในการจับช้างเถื่อนเป็นอันมาก หนังสือคำฉันท์เรื่องนี้จึงแสดงให้เห็นว่าพระมหาราชครู เป็นผู้รอบรู้ราชประเพณีเป็นอย่างดี ท่านคงจะเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ผู้เป็นหลักของราชการแผ่นดินผู้หนึ่งในรัชสมัยนั้น ประวัติตอนต้นของท่านหาทราบไม่ แต่เกี่ยวกับอวสานของชีวิตนั้น ตำนานแห่งเรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ของท่านที่เล่ากันสืบมาช่วยให้เราได้ทราบบ้างว่า ท่านได้ถึงแก่กรรมก่อนสิ้นรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะเล่ากันมาว่า สมุทรโฆษคำฉันท์ตอนที่ว่าเป็นสำนวนของพระมหาราชครูไม่จบเรื่อง ด้วยสิ้นสุดลงเพียงพระสมุทรโฆษกับนางพินทุมดีไปใช้บน คือตรงที่กล่าว (ในหน้า ๑๓๔) ว่า

“พระเสด็จด้วยน้องลีลาส ลุอาศรมอาส-
นเทพบุตรอันบล”  

เล่ากันมาว่า ท่านแต่งคำฉันท์เรื่องนี้ค้างอยู่ เข้าใจว่าท่านคงจะถึงอนิจกรรมเสียก่อนจึงไม่จบเรื่อง สมเด็จพระนารายณ์จึงทรงพระราชนิพนธ์ดำเนินความต่อ จากที่พระมหาราชครูแต่งค้างไว้ตั้งแต่ขึ้นความ (ในหน้า ๑๓๔ นั้น) ว่า

“พิศพระกุฏิอา- ศรมสถานตระการกล
แกมแก้วตระกลยน- ตประกิตประเกาะกัน”

แต่สมเด็จพระนารายณ์ก็ทรงพระราชนิพนธ์ไปค้างอยู่เพียงพิทยาธร ๒ ตนรบกัน ตนหนึ่งแพ้ตกลงไปในสวนของพระสมุทรโฆษเพียง (หน้า ๑๕๒) ว่า

“ตนกูตายก็จะตายผู้เดียวใครจะแลดู  
โอ้แก้วกับตนกู ฤเห็น”

ตั้งแต่นั้นมา สมุทรโฆษคำฉันท์ก็ค้างอยู่เพียงนั้น ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาและต่อมาจนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตลอดเวลาราว ๑๖๐ ปี หรือตลอดเวลาถึง ๑๐ รัชกาล ตั้งแต่กรุงศรีอยุธยาเรื่อยมา หามีผู้ใดแต่งต่อไม่ ครั้นในรัชกาลที่ ๓ กรมหมื่นไกรสรวิชิตกับพระสมบัติบาล ได้กราบทูลอาราธนาสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส ให้ทรงแต่งต่อ (ในหน้า ๑๕๕) ตั้งแต่บทว่า

“พิทยาธรทุกข์ลำเค็ญ ครวญคร่ำร่ำเข็ญ
บรู้กี่ส่ำแสนศัลย์”  

แต่เมื่อทรงนิพนธ์ไปได้เล็กน้อยยังมิทันจบเรื่อง กรมหมื่นไกรสรวิชิตกับพระสมบัติบาลก็สิ้นพระชนม์และถึงแก่กรรมไปเสียก่อน สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรสจึงทรงสังเวชพระทัย หยุดนิพนธ์ไปเสีย ๒ ปี จนกรมหลวงวงศาธิราชสนิท กราบทูลอาราธนาให้ทรงนิพนธ์ต่อไปอีกจึงทรงนิพนธ์ไปจนจบโดยดำเนินเรื่องไปตามนิทานที่ปรากฏในปัญญาสชาดก[๒] หนังสือสมุทรโฆษคำฉันท์เป็นหนังสือวรรณคดีที่มีตำนานน่าศึกษา เพราะเป็นวรรณกรรมเรื่องเดียว แต่มีกวีสำคัญในต่างยุคต่างสมัยได้แต่งต่อกันไว้ถึง ๓ คน ๓ สำนวน เท่ากับฝากฝีปากประกวดประขันกันไว้ในหนังสือเรื่องเดียวแต่ในตอนท้าย สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ก็ได้ทรงถ่อมพระองค์ไว้ตามพระวิสัยเชิงกวี ว่า

โดยมุมานะหฤทัย อดสูดูไขษย
กวีฤๅแล้งแหล่งสยาม  
ข้อยคิดลิขิตด้วยพยายาม ต่อแต่งเติมตาม
สติปัญญาอย่างเยาว์  
ห่อนเอื้อนอุกอาจโอษฐเอา เคียงคู่ดูเบา
บุราณคารมฤๅหมาย  
แรกเรื่องมหาราชภิปราย ไป่จบจนนารายณ์
นเรนทรสืบสรรสาร  
สองโอษฐฦๅสุรตำนาน เป็นสามโวหาร
ทั้งข้อยก็ต้อยติดเติม  
พอเสร็จสิ้นเรื่องเรืองเฉลิม ภพภูมิเผดิม
ผดุงพระเกียรติกษัตรีย์  

นอกจากสมุทรโฆษคำฉันท์นี้แล้ว มีหนังสือที่กล่าวกันว่า พระมหาราชครู ได้แต่งไว้อีก ๑ เรื่อง คือ เสือโคคำฉันท์ แต่เรียกไว้ในโคลงตอนท้ายของคำฉันท์ เรื่องนั้นว่า “พระบรมครู” จะหมายถึงท่านผู้เดียวกันกับพระมหาราชครูหรือไม่ ไม่อาจทราบได้แน่ คือกล่าวไว้ว่า

สิทธิฤๅษีสมพอง เศกแสร้ง
แลองค์กุรุงปอง เป็นปิ่น เมืองนา
พระบรมครูแกล้ง กล่าวไว้เป็นเฉลิม ฯ

คำฉันท์เรื่องนี้ ถ้าเป็นสำนวนของพระมหาราชครูคนเดียวกับท่านที่แต่ง สมุทรโฆษคำฉันท์ ก็ดูเหมือนท่านจะแต่งเรื่องนี้ไว้ก่อนหนังสือสมุทรโฆษคำฉันท์ นอกนั้นท่านจะแต่งเรื่องใดไว้อีกหาปรากฏไม่ และประวัติของท่านเท่าที่เล่าควบกันมาเรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ก็รู้กันเพียงเท่านี้



[๑] ประมวลกฎหมายรัชกาลที่ ๑ พิมพ์ตามฉบับหลวงตรา ๓ ดวง ของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เล่ม ๑ หน้า ๑๐๔

[๒] ดูภาคผนวก หมายเลข ๘

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ