- คำอธิบาย
- พระราชประวัติ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช
- ประวัติพระมหาราชครู
- พระประวัติ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
- ตอนที่ ๑
- ตอนที่ ๒
- ตอนที่ ๓
- ตอนที่ ๔
- ภาคผนวก ๑ ชื่อช้างทุรลักษณ์
- ภาคผนวก ๒ ช้าง ๘ ตระกูล
- ภาคผนวก ๓ ช้างมงคล
- ภาคผนวก ๔ ๑๐ กษัตริย์เข้าแข่งขันยกโลหธนู ในงานสยุมพร นางพินทุมดี ณ กรุงรมยนคร
- ภาคผนวก ๕ อธิบายศร
- ภาคผนวก ๖ ทหารเอก ๑๐ ตนของพระสมุทรโฆษ
- ภาคผนวก ๗ กษัตริย์และขุนพลที่กล่าวถึงในรายการรบ
- ภาคผนวก ๘ สมุทรโฆษในปัญญาสชาดก
คำอธิบาย
สมุทรโฆษคำฉันท์นี้ เป็นวรรณคดีเรื่องสำคัญและมีประวัติการประพันธ์ที่ น่าสนใจเรื่องหนึ่ง ด้วยปรากฏว่ามีกวีสำคัญของไทย ๓ ท่าน แต่งสืบต่อกัน เริ่มด้วยพระมหาราชครู[๑] สมเด็จพระนารายณ์มหาราช และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ซึ่งประวัติความเป็นมาของหนังสือนี้ นายธนิต อยู่โพธิ์ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร ได้กล่าวไว้ในคำนำ เมื่อพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๐๓ ว่า
“สมุทรโฆษคำฉันท์ เป็นหนังสือวรรณคดีชั้นเยี่ยมเรื่องหนึ่งในประเภทกวีนิพนธ์ของไทย มีประวัติการประพันธ์เป็นมหัศจรรย์และน่าสนใจ ยากที่จะหาประวัติการประพันธ์วรรณคดีไทยเรื่องใดเหมือน ทราบได้ตามพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ในตอนท้ายเรื่องประกอบกับคำที่เล่ากันมา ปรากฏว่า กวีสำคัญของไทยถึง ๓ ท่านร่วมแต่ง เริ่มต้นด้วยพระมหาราชครูรับกระแสพระราชดำรัสจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ให้แต่งขึ้นในรัชกาลของพระองค์ (พ.ศ. ๒๑๙๙ - ๒๒๓๑) ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหาราชครูกำหนดเรื่องไว้เป็น ๔ ตอน (ดู เชิงอรรถหน้า ๑๖) และปรากฏตามพระราชปรารภ (หน้า ๒) ว่ามีพระประสงค์สำหรับใช้เล่นหนัง แต่พระมหาราชครูแต่งไว้จบตอน ๑ กับเกือบจะจบตอน ๒ (ถึงหน้า ๑๓๔ ในเล่มนี้) แล้วคงจะถึงอนิจกรรมเสียก่อน ต่อมาสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงพระราชนิพนธ์ต่อ (ตั้งแต่หน้า ๑๓๔ ถึงหน้า ๑๕๕ ในเล่มนี้) แต่ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ยังไม่จบตอน ๒ สมุทรโฆษคำฉันท์ค้างอยู่เพียงนั้นจนตลอดอายุกรุงศรีอยุธยาและล่วงมาจนสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส จึงทรงพระนิพนธ์ต่อ (ตั้งแต่หน้า ๑๕๕) จนครบ ๔ ตอน และจบเรื่องเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๒”
“แต่เรื่องสมุทรโฆษที่ปรากฏในคำฉันท์เรื่องนี้ ดำเนินเนื้อความแตกต่างกัน เป็น ๒ ภาค ภาคต้นตอนที่เป็นนิพนธ์ของพระมหาราชครู และพระราชนิพนธ์ ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ดำเนินเรื่องแตกต่างกับในสมุททโฆสชาดกในคัมภีร์ปัญญาสชาดก ส่วนภาคหลังตอนที่เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จฯกรมพระปรมานุชิตชิโนรสนั้น เห็นได้ว่าทรงดำเนินเรื่องตามสมุททโฆสชาดก ดังปรากฏ ในภาคผนวกหมายเลข ๘ ซึ่งได้มอบให้นายหรีด เรืองฤทธิ์ สอบเปรียบเทียบและนำมาพิมพ์ไว้ท้ายหนังสือนี้ นอกจากนี้ยังได้พบเรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ในคัมภีร์ไตรโลกวินิจฉัย (ฉบับคัมภีร์ลาน) ในหอสมุดแห่งชาติอีกจำนวนหนึ่ง เข้าใจว่าคงจะได้เรื่องมาจากสมุททโฆสชาดก ในคัมภีร์ปัญญาสชาดก”
เรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์ นับเป็นฉันท์เรื่องแรกที่นำมาบรรยายชาดกในทางพระพุทธศาสนา อันเป็นเรื่องราวของพระโพธิสัตว์ปางหนึ่ง ซึ่งเคยเป็นนิยายเล่าสืบกันมาก่อนอย่างแพร่หลายแล้ว กวีนิพนธ์ทุกตอนมีความประณีตบรรจง มีอรรถรสไพเราะด้วยฉันท์และกาพย์ จบลงด้วยโคลงสี่สุภาพเป็นบทส่งท้ายเรื่อง สำนวนโวหารมีความกลมกลืนกันตลอดเรื่องเสมือนเป็นกวีคนเดียวกันแต่ง ด้วยเหตุนี้สมุทรโฆษคำฉันท์จึงได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่าเป็นยอดของวรรณคดีประเภทฉันท์
สมุทรโฆษคำฉันท์นี้ หอพระสมุดวชิรญาณได้จัดพิมพ์ขึ้นเป็นเล่มครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๗ แค่คงจะรวบรวมจัดพิมพ์ขื้นในเวลากะทันหัน จึงทำให้ผิดพลาดและตกหล่นหลายแห่ง ในการพิมพ์ครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ กรมศิลปากรได้ตรวจสอบชำระใหม่ โดยจัดแบ่งตอน กำหนดหัวเรื่อง และทำสารบาญ กับทั้งได้ทำหมายเหตุและภาคผนวกเพิ่มเติม พร้อมทั้งได้นำรูปถ่ายเรื่องสมุทรโฆษจากภาพเขียนในพระอุโบสถวัดดุสิดาราม กรุงเทพมหานครมาตีพิมพ์ไว้ด้วย นอกจากนี้ยังได้นำพระราชประวัติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประวัติพระมหาราชครู เรียบเรียงโดย นายธนิต อยู่โพธิ์ และพระประวัติของสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส เรียบเรียงโดย คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกอักษรศาสตร์และวรรณคดี กองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ มาตีพิมพ์ไว้เบื้องต้นของหนังสือด้วย ต่อมา พ.ศ. ๒๕๒๒ กรมศิลปากรจัดพิมพ์เผยแพร่อีกเป็น ครั้งที่ ๓ ซึ่งได้พิมพ์ตามฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ ทุกประการ การจัดพิมพ์เรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์รวมเล่มในวรรณกรรมสมัยอยุธยา เล่ม ๒ นี้ นับเป็นครั้งที่ ๔ ซึ่งแก้ไขเฉพาะถ้อยคำในเชิงอรรถบางแห่งให้สมบูรณ์ขึ้น
[๑] ดู “ใครแต่งสมุทรโฆษคำฉันท์” ของ ชัย เรืองศิลป์ และ “บันทึกเรื่องผู้แต่งเรื่องสมุทรโฆษคำฉันท์” ของ กุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ ในวารสารศิลปากร ปีที่ ๙ เล่ม ๑ (พฤษภาคม, ๒๕๐๘) หน้า ๓๖ - ๔๕ และ “วรรณกรรมอยุธยา” ของ นิตยา กาญจนะวรรณ ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๒๖ หน้า ๑๙๓ - ๒๐๖.