ประชุมพระราชปุจฉา ภาคที่ ๕

พระราชปุจฉาในรัชกาลที่ ๔ กับ รัชกาลที่ ๕

----------------------------

พระราชปุจฉารัชกาลที่ ๔

พระราชปุจฉาที่ ๑ ความว่า

ทรัพย์มรดกของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ จะเป็นของสงฆ์หรือไม่ ?

(ไม่มีคำถวายวิสัชชนา)

พระราชปุจฉาที่ ๒ ความว่า

เรื่องพัทธสีมาจะต้องมีพระบรมราชานุญาตหรือไม่ ?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๒

เรื่องนี้น่าจะมีคำตอบพระราชปุจฉา แต่หาพบฉะบับไม่แต่การทีเป็นอยู่ในบัดนี้ เป็นอันต้องกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน จึงจะผูกพัทธสีมาได้

พระบรมราชาธิบายที่ ๓ ว่าด้วยการในพระพุทธศาสนา

มีพระราชดำรัสว่า พระพุทธศาสนานี้มีความดีความอัศจรรย์เปนเอนกประการ จึงมีคนเป็นอันมาก ตื่นกันเข้านับถือ แล้วเล่าลือต่อๆ กันไป มีผู้บริจาคทรัพย์สมบัติเกื้อหนุนแก่ผู้บวชเรียน คนที่บวชเป็นพระสงฆ์สามเณรเถรชี ว่าโดยสมมุติเป็นผู้อธิษฐานศีลเป็นนิตย์ คฤหัสถ์แม้เป็นเจ้านายก็ต้องถวายนมัสการ และเป็นผู้ที่จะรับทักขิณาทานที่เขาให้ในเวลามังคลามงคลการ ได้สร้างวัดวาอารามแผ่สร้านไปในบ้านน้อยเมืองใหญ่ จนถวายเป็นถิ่นฐานของคนยากจนอนาถา เข้ามาอาศัยเลี้ยงตนเลี้ยงท้อง ทั้งนี้ก็เพราะมีผู้ไม่ถือศาสนาจริงๆ เข้ามาแอบอิงอาศัยอ้างเท็จอวดโกงต่างๆ และทรงบรรยายถึงบททกฺขิเณยฺโย ว่า จ้องมองจะหาคำพูดดังนี้ทรงตำหนิลัทธิที่ถือกลุ้มอยู่ในวัดซึ่งสืบเนื่องมานาน ว่าพระราชาคณะมิได้เอาใจใส่เลย มัวแต่ถือสิ่งไม่เป็นสาระ ในหลวงทุกวันนี้ก็ถือพระพุทธศาสนา แต่ถือฉะเพาะเนื้อและแก่นเปลือกและกะพี้รุงรังสกปรกโสโครกที่ปนเปอยู่ถือไม่ได้ เมื่อเห็นว่าสิ่งใดไม่ดีก็จะต้องติสิ่งนั้น

พระบรมราชาธิบายที่ ๔ ว่าด้วยคำว่า ตถาคต อหํ มํ มมํ เม พระสงฆ์มาใช้ว่าอาตมาเสียหมด

ข้อนี้ทรงอธิบายถึงถ้อยคำที่พระภิกษุใช้เทศนาอยู่ทุกวันนี้ว่ารังเกียจอยู่สองคำ คำหนึ่งคือเทศน์ว่าพระพุทธเจ้าเรียกพระองค์ท่านเอง ว่าพระตถาคต ๆ ทุกคำไป ไม่มีวิเศษเว้นบ้างควรจะใช้ให้ตรงกับบาลีที่มีอยู่ เช่นในที่บางแห่งเป็น อหํ มํ มมํ เม ก็ดี มิใช่มีแต่ตถาคโตเท่านั้น ถ้าใช้ผิดพลาดเกรงจะเป็นเท็จไป จึงควรใช้ให้ตรงกับความประสงค์ของภาษานั้นๆ อีกคำหนึ่ง คือ อาตมา มักใช้ปนเปกันไปหมดเหมือนกัน ควรจำกัดใช้กับชนนั้นๆ เช่น ใช้แทนคำพูดของท่านผู้พูดกับเจ้าและขุนนางตั้งแต่ชั้นเจ้าพระยา ถึงพระ เป็นต้น จึงจะเหมาะสม

พระบรมราชาธิบายที่ ๕ พระภิกษุบางรูปเที่ยวฝากตัวให้กว้างขวางในกรมมหาดไทย กลาโหม กรมท่า โดยหวังยศเมื่อสึกแล้ว

มีพระราชดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมว่า พระบาทสมเด็จพระมหากษัตราธิราช พระเจ้าแผ่นดินซึ่งได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติในกรุงเทพมหานครนี้ ๓ พระองค์ ๔ พระองค์ ทั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้วนทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใส หยังพระราชหฤทัยจะทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไป เมื่อทรงเห็นภิกษุรูปใดมีสติปัญญาวิทยาคุณ ควรจะเป็นพระราชาคณะ พระครูฐานานุกรมเปรียญ ก็ทรงพระราชทานฐานันดรศักดิ์นั้นๆ และทรงสละพระราชทรัพย์อุทิศถวายปีหนึ่งเป็นเงิน ๘๐๔ ชั่งเศษ ครั้นบัดนี้ท่านเหล่านั้นที่เป็นโลลัชฌาศัยใจมักบาป แสวงหาแต่ลาภสักการะและยศถ่ายเดียว เที่ยวประจบฝากตัวในเจ้าในขุนนาง ไว้ตัวเป็นคนกว้างขวางในกรมมหาดไทย กรมกลาโหม กรมท่า ด้วยคิดเห็นว่า ท่านเหล่านั้นจะช่วยกราบทูลพระกรุณาให้สึกออกมาเป็นขุนนาง การที่คิดดังนี้คงไม่สมประสงค์แล้ว ต้องพระราชประสงค์แต่คนมีชาติตระกูลเป็นขุนนาง พวกชาววัดนั้นควรจะเป็นขุนนางได้แต่ในกรมลูกขุน กรมอาลักษณ์ กรมธรรมการราชบัณฑิตสังฆการีเท่านั้น ซึ่งชาววัดมิใช่บุตรมีชาติตระกูลจะคิดเสือกสนไป

พระบรมราชาธิบายที่ ๖ หนังสือโต้ตอบกับพม่า ในรัชกาลที่ ๔ พม่า ๔ คน ถือหนังสือเสนาบดีพม่า มีมาถวายสมเด็จพระสังฆราช ใจความว่า อยากจะทราบการฝ่ายพระศาสนาในกรุงสยาม

จึงทรงพระกรุณาโปรดให้พระพิมลธรรม (ยิ้ม) วัดพระเชตุพน เมื่อยังเป็นพระพรหมมุนี มีลิขิตตอบไปใจความว่า ตามที่มีพวกพม่า ๔ คนเข้ามากรุงเทพมหานครนำเอาสมณศาสน์และไทยธรรมเป็นอันมากมาให้เรา และได้ถวายพระเถรานุเถระ ๔๔ รูปนั้น ขออนุโมทนา และทรงชี้แจงความเป็นไปของกรุงเทพมหานคร จำเดิมแต่ประเทศสยามตกไปอยู่ในอำนาจของชนชาติอื่นและกลับมาเป็นของสยามตามเดิมแล้ว หรือการที่พม่าเป็นข้าศึกกับไทย และไทยเป็นอย่างไรกับพม่านั้น ก็ทราบอยู่ในใจของไทยแล้ว เคยมีพม่าที่แสดงตนเป็นทูตเข้ามาเจรจาเป็นสัมพันธไมตรีกับสยามแต่ฟังไปๆ ก็เป็นเท็จทั้งนั้น นั่นจะเป็นความประสงค์อย่างไรก็แล้วแต่การ สยามมีอัธยาศัยอันดีอยู่เสมอ สยามมีกษัตริย์ปกครองสืบๆ กันต่อมา การศาสนาอยู่ในความอุปถัมภ์ของพระมหากษัตริย์ ยกย่องเกียรติคุณของพระภิกษุผู้มีสติปัญญา โดยให้ได้รับฐานันดรศักดิ์ตามสมควรแก่หน้าที่ ได้ตั้งอยู่ในข้อปฏิบัติบำเพ็ญกุศลทั้งภายในและภายนอกพระนคร คัมภีร์พระพุทธวจนะพร้อมทั้งอรรถกถา ฎีกา ก็มีพร้อมมูลในกรุงเทพมหานครนี้

พระบรมราชาธิบายที่ ๗ ว่าด้วยพระเทพโมลีถวายเทศนาใช้คำผิด

เวลากลางคืนพระเทพโมลีถวายพระธรรมเทศนา พระธรรมบทเบื้องต้นผูก ๑ ถึงในที่ว่า ประทับพระราชอาสน์ มีดินอันบุทคลประดิษฐานแล้วด้วยแหวนแห่งพระราชา ครั้นถวายเทศนาจบทรงประเคน จึงทรงเปลื้องพระธำมรงค์ที่ทรงอยู่ในพระอนามิกา แล้วรับสั่งให้หลวงนายศักดิ์กลับไปถามพระเทพโมลีว่าอะไร ท่านก็บอกมาว่าแหวน การเรียกเครื่องประดับของพระราชาใช้คำไพร่ๆ เช่นนี้ พระเทพโมลีเป็นพระราชาคณะที่ได้เล่าเรียนมาแล้ว น่าจะรู้จักภาษาบาลีได้ดี ถ้าเป็นพระราชาคณะไม่สมควร ควรที่จะรู้จักคำสูงคำต่ำ นี่ใช้คำพูดเหลวเละไป พระเทพโมลีเป็นพระราชาคณะผู้ใหญ่แล้ว แต่จะหักชราก็ไม่ได้ เพราะอายุยังไม่ถึง ๗๐ ปี จึงให้ลดนิตยภัตรเสีย

----------------------------

พระราชปุจฉาในรัชกาลที่ ๕

(พระราชปุจฉาที่ ๑ ไม่พบพระราชปุจฉา มีแต่คำถวายวิสัชชนา)

เรื่องแปลศัพท์พระนิพพาน

แปลศัพท์นิพพาน ตามโวหารพระราชาคณะหลายพระองค์ โดยพระราชปุจฉาเมื่อปีระกาเบ็ญจศก ศักราช ๑๒๓๕

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ยังตำรงพระยศเป็นกรมพระ

นิพพานนั้น คือความดับไม่เหลือแห่งอวิชชาแคะตัณหาจนขันธ์ทั้ง ๕ ไม่มีไม่เป็นต่อไป ความที่อวิชชาและตัณหาดับไม่เหลือ ด้วยอริยมรรคสมุจเฉทปหานนี้แล ชื่อว่านิพพาน

หม่อมเจ้าพระญาณวราภรณ์

นิพพานศัพท์นั้น แปลว่าสิ้นราคะโทสะโมหะทั้งปวง

แปลว่า ธรรมเป็นที่ดับทุกข์ทั้งปวง

แปลว่า ธรรมชาติออกจากตัณหา ฯ

หม่อมเจ้าพระสมเด็จพระพุฒาจารย์ ครั้งยังเป็นหม่อมเจ้าพระพุทธบาทปิลันทน์

ธรรมชาติออกจากธรรมร้อยไว้ซึ่งสัตว์ ชื่อว่านิพพาน

นัยหนึ่งว่า ธรรมชาติออกจากคัณหา อันกล่าวคือวานะชื่อว่านิพพาน

อีกนัยหนึ่ง “นิพฺพานํ” แปลว่า ธรรมเป็นเครื่องดับแห่งเพลิง คือ ราคะ เป็นต้น ฯ

หม่อมเจ้าพระธรรมุณหิศธาดา

“นิพฺพานํ” นั้น เป็นเครื่องดับเพลิงกิเลส และเพลิงทุกข์ทั้งสิ้น และสรรพสังขารทั้งหมดดับสนิทสิ้นเสื้อ หาเศษมิได้ ฯ

สมเด็จพระวันรัต (ทับ) ครั้งยังเป็นพระพิมลธรรม

นิพพาน แปลว่า ดับเหตุเกิดทุกข์ ฯ

สมเด็จพระสังฆราช (สา) วัดราชประดิษฐ์ ครั้งยังเป็นพระสาสนโสภณที่พระธรรมวโรดม

นิพพานศัพท์ ว่าดับ คือดับเครื่องร้อนเครื่องเผาเสีย ฯ

ก็แต่นัยว่า นิพฺพานํ ดับ คือดับเครื่องร้อนเครื่องเผา ฯ

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ศรี) ครั้งยังเป็นพระพรหมมุนี

นิพฺพานํ ธรรมชาติไม่มีแห่ง วานะ คือ ตัณหา ฯ

พระพรหมมุนี (เหมือน) ครั้งยังเป็นพระอริยมุนี

นิพฺพานํ แปลว่า ธรรมเป็นที่ดับเพลิงกิเลส เพลิงทุกข์ หรือแปลว่า ธรรมเป็นที่ไม่มี วานะ ของร้อยรัดคือตัณหา ฯ

พระเทพกระวี (นิ่ม) ครั้งยังเป็นพระสุคุณคณาภรณ์

นิพพานศัพท์ คือนิพฺพานํ แปลว่า ธรรมชาติเป็นที่ออกจากตัณหาและกิเลสทั้งปวง ฯ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี่)

นิพพาน แปลว่า ออกจากตัณหา ฯ

สมเด็จพระวันรัต (สมบุญ)

อาตมภาพทราบว่าเดิมเป็น นิ ๑ วานะ ๑ ครั้นปริยายเอา ว เป็น พ แล้วทเวภาพเป็นสองสำเร็จรูปเป็นนิพพาน แปลว่าธรรมเข้าไประงับสิ้นไม่เหลือหลง ฯ

พระพิมลธรรม (อ้น) ครั้งยังเป็นพระธรรมไตรโลกอยู่

นิพฺพานํ นั้น ตามพยัญชนะ ว่าออกจากตัณหา เป็นเครื่องเย็บร้อยไว้ อย่างหนึ่ง แปลว่า ดับ ฯ

พระธรรมเจดีย์ (เนียม) ครั้งยังเป็นพระเทพโมลี

แปลว่า ธรรมชาติอันใดดออกจากตัณหาชื่อว่า วานะ เพราะฉะนั้น ธรรมชาตินั้นชื่อว่า นิพพาน

นัยหนึ่งตัณหาชื่อว่า วานะ ไม่มีในธรรมชาตินี้ เพราะฉะนั้น ธรรมชาตินี้ชื่อว่า นิพพาน

นัยหนึ่ง ในเมื่อธรรมชาตินี้บุทคลได้แล้ว ความที่หามิได้แห่งตัณหา ชื่อว่า วานะ ปรากฏ เพราะฉนั้น ธรรมชาตินี้ ชื่อนิพพาน ฯ

พระธรรมไตรโลก (ทอง) ครั้งยังเป็นพระเทพมุนี

ในบทคือนิพพานนั้นว่าดับโดยไม่เหลือ ฯ

สมเด็จพระวันรัต (แดง) ครั้งยังเป็นพระเทพกระวี

นิพฺพานํ นั้น โดยพยัญชนะว่า ออกจากตัณหาเป็นเครื่องเก็บร้อยไว้ อย่างหนึ่ง แปลว่า ดับ ฯ

พระธรรมภาณพิลาศ (ผ่อง) เมื่อยังเป็นพระโพธิวงศ์

นิพพานศัพท์ มีเนื้อความวิภาคมากหลายอย่างนัก ถ้าจะแปลสั้นๆ นิพพาน แปลว่า ของเป็นที่ดับกิเลสเท่านี้ จึงจะสรุปความได้มากกว่าอื่น ๆ

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (แสง) ครั้งยังเป็นพระราชมุนี

ธรรมอันออกแล้วจากตัณหาโดยบทว่า “วานโต นิกฺขนฺตํ นิพฺพานํ” ธรรมอันใดออกแล้วจากตัณหา ธรรมนั้นชื่อว่านิพพาน

“นตฺถิ เอตฺถ วานนฺติ นิพฺพานํ” ตัณหาไม่มีในอสังขตธรรมนี้ เพราะเหตุนั้น อสังขตธรรมนั้นจึงชื่อว่านิพพาน เป็นที่ไม่มีตัณหา

นัยหนึ่ง “อธิคเต วานฺสส อภาโวติ นิพฺพานํ” อสังขตธรรมบุทคลได้สำเร็จแล้วตัณหามิได้มี เพราะเหตุนั้น อสังขตธรรม จึงว่านิพพานธรรมอันไม่มีตัณหา

พระญาณสมโพธิ (อิ่ม)

นิพพานศัพท์นี้ แปลว่า เป็นที่ดับแห่งเพลิง คือ ราคะ โทสะ โมหะ

อีกนัยหนึ่ง นิพพานศัพท์ แปลว่า ออกแล้วจากตัณหาเป็นที่ยังจิตต์ให้หลง

พระราชปุจฉาที่ ๒ แยกข้อความเป็น ๔ ข้อ คือ

ข้อ ๑ การก่อทรายหรือพระเจดีย์ทรายในฤดูตรุษสงกรานต์และฤดูอื่นบ้าง เช่นอย่างก่อกันทุกวันนี้ จะมีบทพระบาลีหรืออรรถกถาฎีกา คัมภีร์ไดบ้าง

ข้อ ๒ การก่อพระทรายนี้ มีมาแต่ครั้งพุทธกาล หรือมีขึ้นภายหลังเมื่อพระพุทธเจ้าเข้าปรินิพพานแล้ว

ข้อ ๓ ถ้ามีขึ้นภายหลังพุทธกาล มีขึ้นณประเทศใดก่อน ผู้ใดเป็นต้นบัญญัติจัดการ และปรารภเหตุอะไร จึงได้คิดจัดการก่อพระทราย ขึ้นเป็นธรรมเนียมในบ้านเมืองที่นับถือพระพุทธศาสนาสืบมาจนถึงกาลทุกวันนี้

ข้อ ๔ ในเรื่องเตภาติกชฎิล เดิมว่าพระอุระเวลกัสสป มีบริวาร ๕๐๐ พระคยากัสสปมีบริวาร ๓๐๐ พระนทีกัสสปมีบริวาร ๒๐๐ รวมชฎิลบริวารครบพันหนึ่ง ควรจะเป็นพันสามรูปทั้งอาจารย์ด้วย

ครั้นเรื่องความในอาทิตตปริยายสูตรมีว่า “ตสฺส ภิกฺขุ สหสฺสสฺส อนุปาทาย อาสเวหิ จิตฺตานิ วิมุจฺจึสุ” ว่าจิตต์ของพระภิกษุพันหนึ่งนั้นหลุดจากอาสวะทั้งหลายแล้ว คือบรรลุอรหัตตผลสิ้นด้วยกันทั้งพันหนึ่งนั้นแล้ว

อนึ่งความในพระปฐมสมโพธิ กล่าวด้วยพระพุทธเจ้าเสด็จมาเมืองกบิลพัสดุ์ครั้งแรกมีว่า “ขีณาสวสหสฺสปริวุตฺโต” ว่าพระภิกษุขีณาสพพันหนึ่ง คือท่านบุราณชฎิลพวกนั้นนั่นและแวดล้อมตามเสด็จพระผู้มีพระภาคมาแล้ว

ในจาตุรงคสันนิบาต มีว่าพระภิกษุขีณาสวารหันตโบราณชฎิลพันพระองค์ ได้มาเฝ้าพระผู้มีพระภาคในสมัยจาตุรงคสันนิบาต ในความนี้ ก็คือพระบุราณชฎิลพวกพระอุรุเวลกัสสปนั้นนั่นแหละ มิใช่พระอรหันต์พวกอื่น

ความเรื่องนี้ทรงฟังยังเคลือบคลุมอยู่ จะเป็นพระอรหันต์พันถ้วนหรือพันสาม อย่างไรแน่ จะมีข้อวินิจฉัยถ่องแท้ในพระคัมภีร์ใดบ้าง

แก้พระราชปุจฉาที่ ๒ พระราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อยถวายวิสัชชนา ว่า

ข้อ ๑ การก่อพระทรายหรือพระเจดีย์ทราย เช่นอย่างก่อกันทุกวันนี้ ไม่พบที่มาในพระบาลีแห่งใด นอกจากทรงอนุญาตให้ก่อพระสถูปพระตถาคตเจ้าไว้เป็นที่สักการะบูชาในที่ประชุมทางสี่ ซึ่งมีมาในบาลีมหาปรินิพพานสูตรทีฆนิกายมหาวรรค ส่วนในคัมภีร์อรรถกถาฎีกาทั้งหลาย จำแนกพระสถูปไว้ ๔ อย่าง คือ พระสถูปที่บรรจุพระธาตุ เรียกธาตุเจดีย์บ้าง สารีริกเจดีย์บ้าง อย่าง ๑ พระสถูปที่บรรจุพุทธบริกขารและวัตถุสถานที่พระพุทธองค์ทรงบริโภคเรียกบริโภคเจดีย์อย่าง ๑ พระสถูปที่บรรจุอักษรแสดงพระธรรมที่เป็นพุทธพจน์ เรียกว่าธรรมเจดีย์อย่าง ๑ พระสถูปพระปฏิมาที่สร้างอุทิศต่อพระพุทธเจ้าเรียกอุทเทสิกเจดีย์อย่าง ๑ ก็สถูปนั้นในพระบาลีและอรรถกถาฎีกาไม่ได้นิยมชัดว่าให้ก่อด้วยสิ่งอันใด แต่การก่อพระสถูปที่มีปรากฎในเรื่องนั้นๆ ล้วนก่อด้วยถาวรวัตถุมีอิฐเป็นต้น ที่ปรากฏว่าพระเจดีย์ทรายแท้นั้น มีมาในธรรมิกบัณฑิตราชชาดก ในคัมภีร์ปัญญาสชาดก ซึ่งทราบว่าเป็นของลาวแต่งแสดงว่าเป็นคำพระอินทร์บอกแก่พระโพธิสัตวว่า ก่อพระเจดีย์แล้วได้วิมานแก้ว ส่วนในคัมภีร์อื่นๆ ก็พรรณนาแต่อานิสงส์ในการเกลี่ยทรายในภูมิสถานให้ราบรื่นเท่านั้น

ข้อ ๓ ไม่มีในบาลีแห่งใดว่าพระพุทธเจ้าทรงอนุญาตหรือตรัสสอนให้ก่อด้วยทรายโดยอาการที่ก่อกันในทุกวันนี้ ได้ความสันนิษฐานว่า มีขึ้นภายหลังแต่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว

ข้อ ๓ ได้ความสันนิษฐานว่า มีขึ้นในประเทศลาวก่อน ลาวเป็นต้นบัญญัติจัดการ คืออยากจะได้บุญให้มากกว่าการเกลี่ยทราย หรือคิดจะชักชวนผู้ที่อยากจะได้บุญมากๆ ให้ทำได้โดยสะดวก เช่นการบอกบุญก่อพระเจดีย์ดินทุกวันนี้ ชะรอยผู้ต้นบัญญัติจะคิดเห็นว่าสถูปเป็นของที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต เมื่อก่อทรายให้เป็นจอมขึ้นแล้วจะได้เป็นสกูปแล้วเก็บเอาใบโพธิ์เป็นต้นบรรจุไว้ภายในอุทิศต่อพระพุทธเจ้า ได้ชื่อว่าเป็นบริโภคเจดีย์ และอุทเทสิกเจดีย์กว่าจะเกลี่ยโดยปกติ

อีกประการหนึ่ง จะเป็นของย่อมาแต่ก่อพระสถูปด้วยถาวรวัตถุ เหมือนเรื่องมีแจง ซึ่งถือกันว่าใครทำได้ชื่อว่ายกย่องพระพุทธศาสนา เป็นของย่อมาแต่ก่อนมาแต่สังคายนาฉะนั้น

ข้อ ๔ ข้อนี้ ในบาลีมหาวรรคก็ว่าเคลือบคลุมอยู่ ในอรรถกถามหาวรรคก็มิได้ว่าไว้ เหมือนบริวารพระสาริบุตรพระโมคคัลลานะก็ว่า ๒๕๐ กับทั้งอาจารย์ควรจะเป็น ๒๕๒ รูป ครั้นเรียกรวมกันหมดก็ว่าแต่ ๒๕๐ เช่น ในเรื่องจาตุรงคสันนิบาตนั้นเอง ว่าโดยความเห็นก็เป็นต่างๆ กัน ถ้าจะวินิจฉัยตามที่มากกว่าแล้ว พระปุราณชฎิลทั้งอาจารย์ทั้งศิษย์ เป็นแต่พันถ้วนเท่านั้น.

----------------------------

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ