พระราชปุจฉา ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ปีมะเส็งสัปตศก จ.ศ. ๑๒๐๗ พ.ศ. ๒๓๘๘

----------------------------

ศุภมัสดุ จุลศักราช ๑๒๐๗ สัปปสังวัจฉร ............ ดิถีรวิวาร บริเฉทกาลกำหนด เพลาบ่ายโมงเศษ พระบาทสมเด็จบรมนารถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ผู้ดำรงทศพิธราชธรรมอนันตปรีชาอันมหาประเสริฐ เสด็จออกณพระที่นั่งอำมรินทรวินิจฉัย มไหสุริยพิมาน โดยสถานอุตราภิมุข ทรงพระราชรำพึงถึงสรรพกิจการ พระราชกุศลซึ่งทรงบำเพ็ญมา แต่ในอดีตแลปัจจุบันเป็นมูลเหตุ จึงมีพระราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสเหนือเกล้า ...... ภูริปรีชาราชเสนาบดีศรีสาลักษณ์ อัญเชิญพระราชปจฉา ......ผะเดียงถามสมเด็จพระสังฆราชแลพระราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงว่าสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว จำเดิมแต่พระองค์ได้เสวยถวัลราชมไหสุริยสมบัติ ก็มี ระกมลหฤทัยโสมนัสเปนอุกฤษฐ์ ในกิจอันทำนุกบำรุงพระบวรพุทธศานา พร้อมด้วยพระประสาทศรัทธา ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลรักษาสรรพสุจริต ในทศพิธราชธรรมทั้ง ๑๐ ประการ ก็ไพศาลรุจิโรภาษ ตั้กยพระราชสิริสวัสดิ์มหัจราชานุภาพกฤษฎาธิคุณ วิบุลยมหันตอิศริยยศ ปรากฎดั่ง.........ภาณุมาศปราศจากเมฆันตรายในมัชฌันติกสมัย................พฤทธิ ตามเยี่ยงอย่างบุรพภาคพุทธภูมิกโพธิสัตว์ อันปฏิบัติในมงคลมาตาปิตุปัฏฐานวัตตจริยาเปนอารมณ์โดยนิจกาล ก็บันดาลให้สมเด็จพระพันปีหลวง กรมพระศรีสุลาไลยอันทรงพระกฤติคุณ มีศีลาจารวัตรเปนคุณอาทิ เปนธงไชยเฉลิมพระบรมขัติยราชประยุรวงศานุวงศ์ และเปนที่เคารพรักแห่งสมณพราหมณาประชาราษฎรทั้งปวง ให้ด่วนเสด็จทิวงคตล่วงไปให้เสื่อมสูญเสียมหามงคล.............จรรยาอย่างหนึ่ง ก็ถึงซึ่งภาวะเปนปริณามทุกข์............ฉะนี้ สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว ก็ทรงทุกขโทมนัสพระหฤทัยนัก อนึ่งเบื้องว่าพระราชโอรสและพระราชบุตรีพระองค์ใด ที่วางพระทัยทรงพระมหากรุณาโปรดทำนุกบำรุง ให้รุ่งเรืองด้วยอิศริยยศ บริวารยศ ดังมหาอัคคีขันธ์อันใหญ่ก็พลันสูญสิ้นพระชนม์ไปเสียก่อน มิได้ดำรงอยู่คู่พระบารมีหนีทิวงคตไป ให้ได้ทรงเสวยปิยวิปโยคทุกข์ ด้วยทรงพระเมตตรภาพเสน่หาอาลัย จนแต่ชั้นพระสนมที่มีอัธยาศัย.........สามิภักดิสุจริต ทรงพระกรุณาภาพชุบเลี้ยงให้รุ่งเรือง............เอิญให้ถึงชีพิตันตรายหนีบุญไปก่อน มิได้อยู่ฉลองพระเดชพระคุณ ให้ได้เสวยพระโทมนัสทุกข์เนืองๆด้วยทรงพระกรุณา ทั้งพระบรมราชวงศานุวงศ์พระองค์ใด ที่หวังพระทัยว่าเปนคู่บุญบารมี ควรจะเปนกำลังราชการช่วยทำนุกบำรุงแผ่นดิน เปนที่พึ่งแก่สมณพราหมณาประชาราษฎรได้ เหมือนดุจล้นเกล้าฯ กรมพระราชวังบวร ฯ และกรมหมื่นสุรินทรรักษ์นั้น ก็พลันมละพระราชภารธุระเสีย เสด็จ..........สวรรคตไป ก็ตั้งแต่ทรงพระอาลัยเสวยทุกขโทมนัส.........แต่ข้าทูลลอองธุลีพระบาทที่มีสติปัญญาควรที่จะวางพระทัยได้ราชการเหมือนอย่างพระยาสุรเสนา ฉิม พระยาพิพัฒนโกษา อ้น พระยาธิเบศรบดี พิม พระยาราชมนตรีบริรักษ์ พู และพระยาศรีสหเทพ เพ็ง พระยาเทพอรชุน ทองอิน พระยามหามนตรี ทรัพย์ พระยาอินทรเทพ ช้าง พระยาพิเรนทรเทพ เกษ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดชุบเลี้ยงไว้ตามยศถาศักดิ์โดยขนาด ก็มิได้อยู่สนองพระเดชพระคุณ ด่วนถวายบังคมลาดับสูญไป ก็มีพระอาลัยอยู่ด้วยทรงพระเมตตา โดยชั้นแต่พระราชพาหนะศรีพระนคร.........เจริญพระเกียรติยศไปนานาประเทศมีเศวตกุญชรชาติและราชมงคลสินธพเปนต้นนั้น ก็พลันพิบัติอันตรายทำลายชีพ เป็นแต่เช่นนี้เนืองๆ มีอุปมาดุจมหามงคลสาลพฤกษ์พญารังใหญ่ อันเป็นประธานแก่อเนกนานาทุมาชาติในทิศทั้งปวง มีลำต้นแลบริมณฑลบริบูรณ์ เป็นที่อาศัยเสพสมาคม แห่งสรรพสัตว์จัตุบททวิบาทต่างๆ แต่มีกิ่งใหญ่พอจะเจริญยังบริมณฑลให้บริบูรณ์ขึ้นแล้ว พันเอิญให้มีผู้มาตัดรอน......ลิดล้างให้เสียบริมณฑลไป มิให้บริบูรณ์ขึ้นได้......ความเป็นดังนี้จึงทรงพระราชดำริสงสัยสังเวชพระทัยนักว่า แต่ปางก่อนนั้นได้ทรงส่ำสมพระราชกุศลไว้อันใด จึงมีผลเป็นมหัปผลานิสงส์ ส่งให้เสวยวิบุยราชสมบัติฉะนี้ แล้วไฉนจึงให้ได้เสวยปริยวิปโยคทุกขเนืองๆ ด้วยผลแห่งโบราณกรรมอันใดดังนี้ หรือจะเป็นปัจจุบันกรรมสิ่งใดมาให้ผลเป็นทิษฐะ โดยจะว่าปัจจุบันกรรมเล่า ก็ทรงพิจารณาด้วยพระปรีชาญาณว่า พระราชธุระนั้นมากเกลือกจะเคลิ้มพระสติไปให้ทศราชธรรมอันใดอันหนึ่ง พระราชหฤทัยจะ...............อกุศลทุจริตสิ่งใด้บ้าง แลทรงพระราชอนุสรคำนึงถึงโทษที่ประมาทพลาดพลั้งไป มาตรว่าครั้งหนึ่งสองครั้ง ก็ยังมิได้ทรงเห็นปรากฎ ประการหนึ่งพระกมลหฤทัยมากไปด้วยพระเมตตาเป็นปกติธรรมดา มิได้ทรงพระราชดำริที่จะให้ร้ายแก่กษัตริย์พระองค์ใดในประเทศใดๆ ด้วยอิสสาจิตต์ มาตรว่าจิตต์หนึ่งก็บพึงมี เว้นไว้แต่ขัติยราชไพรี อันจะมาเบียดเบียนบีฑาประชาราษฎรในพระราชอาณาเขตต์ให้ได้ความเดือดร้อน เหมือนพระเจ้าเวียดนามมิญมางแลนักองจันท์นักองสงวน ซึ่งเปนปัจจามิตรนั้น ได้ทรงทราบข่าวว่ามีอันตรายทำลายชีวิตเสียแล้ว ก็ทรงพระโสมนัสปรีดาบ้าง ด้วยอำนาจทรงพระกรุณาแก่ไพร่ฟ้าประชากรเกรงว่าจะได้รับความเดือดร้อนอันเกิดภยันตรายเพราะกษัตริย์ข้าศึกทั้งหลายเหล่านี้ หรือจะว่าเหตุมิจฉาวิตกที่ยินดีดังนี้นั้น มาตามทันให้ผลเห็นประจักษ์ในทิษฐธรรม ก็ทรงพิจรณาเห็นว่าพระเมตตานั้นมีมากนัก แต่มิจฉาจิตต์นิดหนึ่งเท่านั้น เห็นว่าหาควรที่จะให้ผลเปนทิษฐธรรมได้ไม่ แลเฉลียวพระทัยระลึกถึงราชประเพณี ในการที่จะป้องกันรักษาพระราชอาณาเขตต์ แลดำรัสให้ข้าทูลลอองธุลีพระบาททแกล้วทหารไปปราบปรามปรปักษ์ที่ประทุษร้ายเปนเสี้ยนหนามแผ่นดิน เขาก็กวาดต้อนครัวอพยพเอาพักพวกผู้ผิด ให้พลัดพรากจากถิ่นฐานที่อยู่นั้นมา ปรารถนาจะให้รำงับขาดสูญซึ่งเสี้ยนแผ่นดินดั่งนี้ กรรมนี้หรือจะมาอำนวยผลให้ได้เสวยปิยวิปโยคทุกข์ฉะนี้เนืองๆ ในปัจจุบัน ถึงกระนั้นบรรดาครอบครัวต่างประเทศที่เปนพวกพ้องผู้ผิด ซึ่งกวาดต้อนเข้ามานั้น ก็ยังทรงพระเมตตาหาเวรอาฆาตมิได้ ย่อมพระราชทานเสบียงอาหารและเงินตราผ้าเสื้อ ทั้งเหย้าเรือนตั้งเปนคามนิคมชุบเลี้ยงให้ได้ความสุขตามสมควร แลจะได้มีพระกมลเจตนาประทุษร้ายให้ทุกขโทษแก่พวกผู้ผิดก่อน ก็หามิได้ กรรมที่มิได้มีเจตนานี้หรือจะมาอวยผลให้ตั้งแต่เสวยพระทุกขโทมนัสเนืองๆ ดังนี้ แม้ว่าอเจตนากรรมเช่นนี้จะมาให้ผลได้โดยแท้เล่า ก็จะพึงมีตั้งแต่ได้เสวยราชสมบัติแต่ก่อนนั้น กรรมอย่างนี้ก็ยังหามีแก่พระองค์ไม่ อันลักษณะที่จะยังพระทัยให้เศร้าหมองทุกขโทมนัสเช่นนี้ ย่อมมีมาแต่ยังไม่ได้ราชาภิเศกเสวยราชสมบัติ แต่ครั้งยังทรงพระเยาว์อยู่นั้น ก็เสียสมเด็จพระราชอนุชาทั้งสองพระองค์อันควรจะอยู่คู่พระบารมี ก็เสด็จดับสูญเสียพระชนม์ไปก่อน มิได้อยู่ช่วยทำนุกบำรุงแผ่นดิน ครั้นทรงพระเจริญแล้วแลข้าพระบาทบทบริจาที่มีจิตต์สวามิภักดิ์ต้องพระราชอัธยาศัยก็ดี แลข้าทูลลอองธุลีพระบาทที่ร่วมพระนม แลราชบริวารที่วิสสาสะสนิทชิดพระองค์ ได้เล่นฝุ่นเล่นทรายโดยเสด็จมาแต่ก่อนก็ดี คนทั้งหลายเหล่านี้สมควรที่จะอยู่ฉลองพระเดชพระคุณให้ทรงชุบเลี้ยงโดยขนาด ก็มิได้อยู่ฉลองพระบาทยุคล บันดาลอันตรายไป อีกทั้งพระราชโอรสแลพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ที่หนึ่งที่ล่วงนั้น ก็มิควรที่จะอยู่รับพระราชธุระเป็นกำลังราชการ ก็บันดาพิบัติดับสูญไปเสียก่อน บมิได้อยู่ทันถึงเสด็จเถลิงถวัลราชสมบัติจนถึงล้นเกล้าฯ สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ก็ยังไม่ควรที่จะด่วนเสด็จสวรรคต ควรจะทรงพระชนม์อยู่ดำรงพระราชอาณาจักร บริรักษ์บำรุงเลี้ยงโลกสืบต่อไป อยู่ดีๆก็เสด็จทิวงคตลับล่วงไปดังนี้ จะว่าเป็นปัจจุบันกรรมก็ใช่ที่ ด้วยแต่ก่อนนั้นกรรมที่ปราศจากเจตนาเช่นนี้ก็ยังหามีไม่ ให้ทรงพระสังเวชสงสัยพระทัยนักว่า ได้กระทำอกุศลสิ่งใดไว้ จึงให้ทรงเสวยพระทุกขโทมนัสเนืองๆ ฉะนี้ อนึ่งถึงได้ทรงอาดูรด้วยวิโยคทุกข์ดังนี้ก็ดี จะได้มีพระกมลสันดานดำริอิสสาใคร ที่บริบูรณ์ด้วยบุตรภรรยาคณาญาติเขาอยู่พร้อมเพรียงกันนั้น แต่มาตรว่าขณะจิตต์หนึ่งก็หามิได้ ทรงพิจารณาเห็นว่า เพราะทํากุศลสิ่งใดไว้จึงให้ผลบริบูณ์ดังนี้เล่า กระทำอกุศลสิ่งใดไว้จึงให้ได้วิโยคทุกข์เช่นนี้ ก็ให้บังเกิดธรรมสังเวชสงสัยพระทัยยิ่งนัก อนึ่งอกุศลกรรมสิ่งใดที่บุคคลกระทำแล้วจะพึงให้ผลให้ได้เสวยปิยวิปโยคทุกข์ ถ้าทรงทราบกรรมนั้นแล้วก็จะได้ทรงมนสิการการละเสียซึ่งกรรมนั้น และกุศลสิ่งใดที่จะพึงให้ผลพ้นจากวิปโยคทุกข์ที่บังเกิดดังนี้ ถ้าทรงทราบแล้วก็จะทรงพระอุตสาหะสันนิจยาการซึ่งกุศลนั้น ให้เจริญต่อไปเปนอาจิณกุศล

อนึ่ง ได้ทรงสดับพระธรรมเทศนาอยู่เนืองๆว่ากุสลากุสลอันใดที่เปนอาจิณกรรมแล้ว ก็อาจให้ผลเป็นทิษฐธรรมเวทนิยะโดยแท้ จึงทรงพระอุตสาหะตั้งพระทัยบำเพ็ญพระราชกุศล เปนต้น คือทรงปฏิสังขรณ์พระอารามใหญ่น้อยเป็นอาจิณ พระราชประสงค์จะให้ถาวรวัฒนาการยืนนาน จื งให้ถาปนาการด้วยศิลาและอิฐปูนเป็นเสนาสนะไว้โดยมาก มีพระศรีรัตนศาสตารามและพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชบุรณ อรุณราชธาราม สุทัศน์เทพธาราม บวรนิเวศอาวาส ราชโอรสธาราม เปนอาทิ แต่ล้วนขจิตรจนาด้วยกาญจนมณีมีเอนกประการ และทรงสร้างพระพุทธปฏิมากร หล่อด้วยสุวรรณรัชฎามัยไพโรจน์ด้วยสัตตรัตนอลังการาภรณ์ พื้นมหัคฆภัณฑ์อันมีราคามาก ที่หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์องค์ใหญ่ๆ คือพระประธานในพระอุโบสถวัดสุทัศนเทพธาราม แลพระพุทธอนันตคุณ ในพระอุโบสถวัดราชโอรสธาราม ทั้งพระพุทธชมภูนุท ในพระวิหารวัดอรุณ กับพระพุทธปาลีไลย ซึ่งประดิษฐานไว้เปนพระประธานในพระอุโบสถวัดกัลยานมิตรนั้นก็มี แล้วได้สร้างพะพุทธรูปพระสัพพัญญูเจ้าทั้ง ๒๘ พระองค์ไว้ในพระอุโบสถวัดอับษรสวรรค์ แลรูปพระอรหันต์อสีติมหาสาวกทั้ง ๘๐ พระองค์ไว้ในวิหารวัดราชบุรณะล้วนหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ทั้งสิ้น และได้ทรงปฏิสังขรณะพระพุทธสัตถารสณอาวาสสระเกษวิหาร ที่ถาปนาการด้วยอิฐปูนเปนพระพุทธรูปองค์ใหญ่ๆนั้น คือพระพุทธไสยา ประธานในมหาวิหารพระเชตุวนาวาสราชโอรสธาราม และพระประธานในพระวิหารหลวงวัดกัลยานมิตรเป็นต้น และที่พระอารามอื่นๆนั้น ก็ทรงสร้างพระพุทธปฏิมาใหม่บ้าง ทรงปฏิสังขรณ์บ้าง สิ้นพระราชทรัพย์เปนมูลค่าทองสัมฤทธิก็มากกว่ามากนักหนาแล้ว แล้วได้ทรงสร้างพระมหาสถูปแลพระเจดีย์ใหญ่ๆ ก็หลายตำบล คือพระมหาสถูปวัดอรุณราชธาราม แลราชบุรณาวาสอีก พระมหาเจดีย์ทั้งสามในพระเชตุวนาราม ทั้งสิงหฬเจดีย์ในบวรนิเวศวิหารแลสมุทรเจดีย์อันประดิษฐานกลางมหาสมุทรเปนต้น

อนึ่ง ทรงพระราชศรัทธาสร้างพระปริยัติไตรปิฎกธรรมนวังคสัตถุศาสนาไว้หลายฉะบับ เปนนิรันตรกาลหาประมาณที่สุดบมิได้ ล้วนขจิตไปด้วยทองทั้งกรอบแลฉลากก็รจเรกอเนกประณีตภัณฑ์สรรพสุวรรณาภีอลังกฎมีประเภทต่างๆ ผ้าห่อแลสายรัดนั้น ล้วนสุพรรณาพิจิตรโกไสยพัตรแต่พื้นค่ามาก ทั้งยังโปรดเกล้าฯให้สืบเสาะหาฉะบับขึ้นใหม่อีก แต่นานาประเทศจนถึงลังกาทวีป ได้มาสร้างเพิ่มเติมขึ้นไว้เปนอันมาก ก็ยังหารู้สิ้นสุดพระราชประสงค์ที่ทรงพระศรัทธาไม่

อนึ่ง ทรงถาปนาพระภิกษุสงฆ์ซึ่งเรียนรู้พระปริยัติธรรมขึ้นเปนพระราชาคณะ แลถานานุกรมเปรียญก็มากกว่าแต่ก่อน ทรงพระราชูทิศถวายนิจภัตรจัตุปัจจัยไตรจีวร และบริกขารภัณฑ์ล้วนวัตถุอันประณีต สมควรแก่สมณฐานันดรศักดิ์เปนนิจมิได้ขาด แล้วโปรดให้หาปัณฑิตาจารย์ทั้งหลาย มาบอกพระไตรปิฎกธรรมแก่พระภิกษุสามเณร พระราชทานเสื้อผ้าแลเงินประจำเดือนหลายอัตรา ทั้งให้ตั้งโรงทานศาลาทรงบริจจาคพระราชทรัพย์แจกจ่ายเปนวัตถุทานต่างๆ อุทิศทั่วไปแก่คณาเนกนิกรยาจกวณิพกกัปณาประชาชนแลบรรพชิต เปนนิรันดรกาล แล้วโปรดประทานพระราชทรัพย์ จำหน่ายถวายชีวิตสัตว์จตุบาททวิบาทแลมัจฉาชาติทั้งหลาย ให้พ้นชีพิตันตรายปล่อยไปโดยยถาสุขทุกทิวาอาจิณ และสรรพราชกุศลกิจอื่นๆ ที่เป็นนิพัทธวัฒกิริยาทั้งสิ้น ก็มีอีกอเนกนานัปประการ หวังพระทัยจะให้เปนกุศลูปนิสัยานิสงส์โดยยิ่ง ผลนั้นจะได้ช่วยอุปถัมภ์บำรุงพระองค์ กับทั้งพระญาติประยุรวงศ์ และข้าทูลลอองธุลีพระบาททั้งปวง ให้อยู่นานพร้อมเพรียงกัน ซึ่งบำเพ็ญพระราชกุศลทั้งปวงนั้น ก็เปนมหาอาจิณกุศลราษีดังนี้ ไฉนจึงมิให้สำเร็จผลที่ทรงพระราชประสงค์เฉลิมพระบวรศรัทธาบ้างเลย ให้ตั้งแต่เสวยพระทุกขโทมนัสเนืองๆ ด้วยพระเมตตาฉะนี้

อนึ่ง ซึ่งสรรพสิ่งพระราชกุศล มีทรงสมาทานซึ่งองค์พระอุโบสถศีล และพุทธาทิคุณภาวนาแลวิปัสสนาภาวนา และสักการบูชาเคารพพระรัตนตรัย แลธรรมทานธรรมเสาวนะเปนอาทิดังนี้ จะได้มีพระอัธยาศัยเจือไปด้วยตัณหาปรารถนา ซึ่งมนุษย์สมบัติและสวรรคสมบัติอันเปนโลกีย์นั้นหาบมิได้ ตั้งพระทัยหมายมั่นแต่พระสัพพัญญุตัญญาณอย่างเดียวโดยแท้ แลการเมื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลขณะใด ก็ได้ทรงหล่อหลั่งทักษิโณทกพระราชูทิศแผ่ผลไปแก่สรรพสัตว์ทั้งหลายทั่วสกลโลกธาตุ มีพระบรมญาติประยูรวงศาและหมู่มัจจามาตย์ปราชญ์บรรสัชเปนต้น ไฉนจึงผลแห่งปัตตานุปทานบุญกิริยาวัตถุนั้น จึงมิได้ช่วยทำนุกบำรุงป้องกันรักษาพระบรมคณาญาติ แลราชบรรสัชทั้งปวงให้มีความเจริญปราศจากอันตรายได้เล่า หรือพระบรมราชประยุรวงศา และข้าทูลลอองธุลีพระบาททั้งหลายฝ่ายหน้าฝ่ายในเหล่านี้ มีอกุศลกรรมทำแต่ก่อน จึงให้มีอายุสั้นพลันทำลายชีพด้วยอำนาจอุปัจเฉทกกรรมแห่งตนเอง ก็เหตุไฉนเล่าชนหล่านี้จึงได้มาบังเกิดเปนพระราชสัมพันธพงศา และปริจาริกราชเสวกามาตย์เปนที่สิเนหภาพสนิทชิดชอบพระอัธยาศัย จนได้ทรงพระกรุณาโปรดชุบเลี้ยง แล้วบันดาลให้พลันถึงชิพิตันตรายไป ให้ต้องทรงพระอาลัยรันทดทุกข์โทมนัสเนืองๆ เล่า ครั้นทรงพระดำริไปก็บังเกิดวิจิกิจฉาเคลือบแคลงพระทัยเสร้าหมอง ประหนึ่งมิจฉาวิตกจะเกิดขึ้นในบวรสันดานเสียแล้ว

อนึ่ง ซึ่งบุคคลกระทำกุศลสิ่งดังฤๅ จึงมีอายุยืนอยู่พร้อมไปด้วยบุตรนัดดาคณาญาติ อย่างพระวิสาขามหาอุบาสิกานั้นก็ดี อนึ่งบุคคลกระทำอกุศลสิ่งใด จึงให้ผลให้พลัดพรากจากที่รักที่เจริญใจนั้นก็ดี ขอพระผู้เปนเจ้าทั้งปวงพิจารณาพระบาลีถวายวิสัชนามาให้สิ้นข้อพระราชปุจฉา เปนธรรโมวาทานุศาสน์ ถ้าชอบตักเตือนพระสติให้ทรงทราบ จะได้ทรงปฏิบัติบำเพ็ญซึ่งกุศลสิ่งนั้น บำบัดเสียซึ่งบาปสิ่งนั้นตามในโอวาท แห่งพระผู้เปนเจ้าทั้งปวง จะได้เปนเยี่ยงอย่างขัติยจรรยาราชานุวัตรวิธีสืบไปในภายหน้า ให้ถวายวิสัชนาเข้ามาให้แจ้งเถิด.

----------------------------

แก้พระราชปุจฉา ความที่ ๑

อาตมภาพ พระพิมลธรรม จะได้รับพระราชทานถวายวิสัชนาในพระราชปุจฉามานั้น อาตมภาพพิจารณาตฤกตรองไป เห็นความว่าลักษณะบุคคลทั้งหลาย อันเป็นบุถุชนที่ยังเวียนวนอยู่ในวัฏสงสาร ย่อมมีจิตต์ตกไปจากปีติแลความศุขโดยมาก ย่อมกอบไปด้วยทุกข์โทมนัศขัดอยู่มิได้ขาดเลย เหตุไฉนจึงเป็นไปดังนั้นเล่า เหตุว่าสัตวทั้งหลายนั้นย่อมปราศจากสิ่งอันเป็นที่รักใคร่ ก็อันใดเล่าซึ่งเป็นที่รักนั้น สิ่งอันเป็นที่รักนั้นได้แก่สัตวแลสังขาร คือบุตรแลภรรยาประยุรวงศาบิดามารดาคณาญาติทั้งหลาย แลทรัพย์สมบัติทั้งปวงเหล่านี้ เป็นที่รักใคร่แก่สัตวทั้งปวง ปางเมื่อชนทั้งหลายมีบุตรภรรยาเป็นต้นนั้น ครั้นต้องแสงพระอาทิตย์อันกล้าหาญ กล่าวคือชาติทุกข์ ชราทุกข์ มรณทุกข์เข้าแล้ว ก็ถึงซึ่งสภาวะหาบัญญัติมิได้ ก็ทำลายสาบสูญล่วงลับไป แต่บุคคลที่ยังเหลืออยู่นั้น ย่อมกอบไปด้วยทุกข์โทมนัศ รฦกถึงผู้ที่รักใคร่อันดับสูญไปนั้น ก็เมื่อเป็นอย่างนี้นี่จะว่าบุคคลที่รักใคร่อาไลยถึงนั้น ได้กระทำซึ่งอกุศลกรรมไว้เป็นประการใด ซึ่งเป็นทั้งนี้ก็เพราะอกุศลอันตนได้กระทำไว้แต่ชาติปางก่อน ปางก่อนนั้นตนได้กระทำปาณาติบาตกรรม ครั้นตนกระทำกาลกิริยาตายแล้ว ก็ไปบังเกิดในอบายภูมิทั้ง ๔ ครั้นจุติจากอบายภูมิแล้ว ก็ขึ้นมาบังเกิดในมนุษยโลก เมื่อมาบังเกิดนั้นฝ่ายกุศลอันตนกระทำไว้แต่บุพพชาติปางก่อนนั้น เข้าอุปถัมภ์เป็นชนกกรรมนำปฏิสนธิให้มาบังเกิดในสกูลอันสูง อุดมไปด้วยสมบัติทั้งหลายเป็นอันมาก ครั้นนานมาๆ ผลวิบากแห่งปาณาติบาตที่ตนกระทำไว้นั้นยังหาสิ้นไม่ จึงมาให้ผลเข้าเบียนตน ให้วิโยคพลัดพรากจากสัตวแลสังขารอันเป็นที่รัก กระทำซึ่งบุคคลผู้นั้นให้ได้ความทุกข์โทมนัศ เป็นไปทั้งนี้ก็เพราะผลแห่งปาณาติบาตกรรมสิ้นทั้งนั้น เมื่อบุคคลจะปรนิบัติให้ปราศจากปิยวิปโยคทุกข์นั้น พึงรักษาศีลให้บริสุทธิ์ เหตุมีบาลีในปรมรรถโชติการอรรถกถาขุททกปาฐว่า “ปาณาติปาตา เวรมณิยา เจตฺถ ฯลฯ ปิเยหิ มนาเปหิ สทฺธึ อวิปฺปโยคตา ทีฆายุกตาติ” สำแดงข้อความว่า ผลทั้งหลายมีต้นว่า “องฺคปจฺจงฺคสมนฺนาคตตา” คือภาวะบริบูรณ์ด้วยอวัยวะน้อยใหญ่ ๑ “อาโรหปรินาหสมฺปตฺติ” คือบริบูรณ์ไปด้วยกายอันสูงแลเป็นปริมณฑล ๑ “ชวสมฺปตฺติ” คือบริบูรณ์ด้วยกำลัง ๑ “สุปติฏฺฐิตปาทตา” คือภาวะมีท้าวตั้งเป็นอันดี ๑ “จารุตา” คือภาวะรุ่งเรือง ๑ “สุจิตา” คือภาวะสะอาด ๑ “มุทุตา สุขิตา” คือภาวะอ่อนแลเป็นสุข ๑ “สุรตา มหพฺพลตา” คือภาวะแกล้วกล้าและมีกำลังมาก ๑ “วิสิฏฺวจนตา” คือภาวะมีถ้อยคำอันสละสลวย ๑ “อเภชฺชปริสตา” คือภาวะมีบริสัชมิได้พลัดพรากจากตน ๑ “อฉมฺภิตา” คือภาวะมิได้สะดุ้งตกใจกลัว ๑ “อปฺปธํสิกตา” คือภาวะอันข้าศึกกำจัดมิได้ ๑ “ปรูปกฺกเมน อมรณตา” คือภาวะมิได้ตายด้วยความเพียรแห่งผู้อื่น ๑ “อนนฺตปริวารตา” คือภาวะมีบริวารหาที่สุดมิได้ ๑ “สุรูปตา สุสณฺานตา” คือภาวะมีรูปงาม แลมีสัณฐานอันงาม ๑ “อปฺปาพาธตา อโสกิตา” คือภาวะมีอาพาธน้อยแลมีความโศกน้อย ๑ “โลกปิยตา” คือภาวะเป็นที่รักแห่งสัตวโลก ๑ “ปิเยหิ มนาเปหิ สทฺธึ อวิปฺปโยคตา” คือ ภาวะมิได้พลัดพรากจากสัตวแลสังขารอันพึงรักแลยังจิตต์ให้จำเริญ ๑ “ทีฆายุกตา” คือภาวะมีอายุยืน ๑ แลผลวิเศษดังสำแดงมานี้เป็นผลแห่งการเว้นจากปาณาติบาต

ซึ่งมีพระราชปุจฉาว่า จำเดิมแต่ได้เสวยซึ่งวิบูลราชสมบัติมา จะได้มีความประมาทหามิได้ อุสาหะบำเพ็ญศีลทานการกุศลมิได้ขาด ได้ฐาปนาการพระอารามทั้งหลายไว้เป็นอันมาก แล้วได้อุทิศส่วนกุศลให้แก่ชนทั้งหลาย มีพระราชบุตรแลพระราชธิดาเป็นอาทิ ที่ชอบอัชฌาศรัยจะได้เป็นที่ปฤกษารักษาซึ่งแผ่นดินสืบไป ไฉนเล่าผลแห่งกุศลที่ได้อุทิศให้แก่ชนทั้งหลายนั้น จึงมิให้ผลแก่ตนแลคนทั้งปวงให้เห็นเป็นทิฏฐะบ้างเล่า ซึ่งพระราชกุศลที่พระองค์บำเพ็ญนั้น ก็มีผลานิสงส์เป็นอเนกอนันต์ คงจะให้ผลไปในอนาคตกาลสิ้นกาลช้านาน ซึ่งจะจัดเป็นทิฏฐธรรมเวทนิยกรรมให้ผลเห็นประจักษ์ในชาตินี้ไม่ได้ ซึ่งผลจะเป็นทิฏฐธรรมเวทนิยกรรมในชาตินี้นั้น ต่อเมื่อได้พร้อมด้วยสัมปทาทั้งสี่จึงจะให้ผลเห็นประจักษ์ในชาตินี้ได้ แลบรมบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ ทรงพระราชศรัทธาบำรุงพระบวรศาสนาในครั้งนี้เป็นที่สุดที่แล้ว ทรงกระทำซึ่งพระราชกุศลเป็นอาจิณมิได้ขาด พระชนมายุจะวัฒนาจำเริญสิ้นกาลนาน ครั้นสิ้นพระชนมายุสังขารแล้ว อาไศรยเพราะพระราชกุศลเป็นอาจิณกรรม ก็จะน้อมนำพระองค์ให้ไปบังเกิดในเทวโลก สมด้วยพระพุทธฎีกาตรัสเทศนาไว้ว่า “อิธ โมทติ เปจฺจ โมทติ” บุคคลผู้ใดเมื่ออยู่ในมนุษยโลก กอปร์ด้วยศรัทธาเชื่อมั่นในศีลทานการกุศลทั้งหลาย อุสาหะยินดีในที่กระทำการกุศล ครั้นนานมาเกือบใกล้จะถึงมรณาสันภาพ แลมีอารมณ์ตฤกตรองในกองกุศลที่ตนได้กระทำไว้นั้น ก็มีความยินดีในกองการกุศลแห่งอาตมา ครั้นจุติแล้ว ก็ได้ขึ้นไปบังเกิดในที่อันชื่นชม คือสมบัติในเทวโลก แลบุคคลได้กระทำบาปนั้นย่อมมีความเดือดร้อนไปด้วยอกุศล เมื่อจะใกล้ดับสูญนั้นพิจารณาไปก็เห็นแต่อกุศลที่ตนได้กระทำไว้ ก็บังเกิดวิปฏิสารเดือดร้อนด้วยกรรมแห่งตน ครั้นดับสูญแล้วก็ไปบังเกิดในที่อันเดือดร้อนคืออบายภูมิทั้งสี่ ตรัสเทศนาไว้ฉะนี้

อนึ่งเล่าพระพุทธองค์ตรัสเทศนาไว้ว่า “เปมโต ชายเต โสโก เปมโต ชายเต ภยํ” ซึ่งโศกเศร้าโสกาภยันตราย จะบังเกิดขึ้นแก่สัตวทั้งปวงนั้น ก็ย่อมบังเกิดขึ้นแต่ความรักนั้นสิ่งเดียว พระธรรมเทศนาตรัสไว้ฉะนี้ นักปราชญ์ผู้กอปร์ด้วยธรรโมชปัญญาพึงพิจารณาดูเทอญ ซึ่งอนิจตาธรรมแห่งสัตวทั้งหลาย แล้วก็พึงบำบัดเสียซึ่งวิปโยคทุกข์ให้เบาบางจากสันดานแห่งตนด้วยตทังคปหานแลวิขัมภนปหาน บุคคลผู้ใดมีสติระงับเสียได้ซึ่งความโศกให้เบาบางลงได้บ้าง ทำซึ่งจิตต์แห่งตนให้เกษมจากธุลีคือทุกข์โทมนัศได้แล้ว ก็เป็นอุตมมงคลอันอุดมในอิธโลกแลปรโลก

อนึ่งเล่าในคัมภีร์ปรมรรถโชติทีปนีอรรถกถาจริยาปิฎกนั้นมีบาลีว่า “เปตสฺส หิตาย รุณฺณาทิกํ วา” สำแดงข้อความว่า บุคคลที่เศร้าโศกร่ำไรรักซึ่งญาติอันดับสูญไปแล้วนั้น ประโยชน์แลความสุขอันใดซึ่งจะบังเกิดไปถึงหมู่ญาติทั้งปวงไม่มีเลย มีแต่จะกระทำซึ่งกายของตนให้ได้ความเดือดร้อนอย่างเดียว “เอวํ ติฏฺนติ าตโย อวิทฺธํสิโน” มีบาลีในคัมภีร์มงคลทีปนีสำแดงข้อความว่า ถึงจะร่ำไรเศร้าโศกประการใดๆ ก็ดี ญาติที่ดับสูญไปนั้น ซึ่งจะได้กลับฟื้นเป็นขึ้นมาก็หามิได้ ตั้งอยู่อย่างไร ก็อยู่อย่างนั้น

อนึ่งเล่าพระองค์ตรัสเทศนาไว้ในคัมภีร์พระธรรมบทว่า “ปุตฺตมตฺถิ ธนมตฺถิ อิติ พาโล วิหฺติ” เป็นอาทิฉะนี้ ว่าบุคคลเป็นพาลหาปัญญามิได้ ย่อมพิรี้พิไรไปว่าลูกหญิงของข้า ลูกชายของข้า หลานของข้า และสมบัติทั้งปวงเป็นของข้า ย่อมว่ากล่าวไปฉะนี้เนืองๆ อาไศรยเพราะปราศจากวิจารณปัญญา เมื่อพิจารณาไปซึ่งสิ่งของทั้งปวงนั้นก็ใช่ของอาตมาสิ้นทั้งนั้น พระธรรมเทศนาโปรดไว้ฉะนี้ แลจะขืนเศร้าโศกไปใช่วิสัย ให้ดูเยี่ยงอย่างชนทั้งหลาย อันมิได้เศร้าโศกในกาลเมื่อบุตรของอาตมาอันอสรพิษขบตายนั้น อนึ่งเล่าความตายนั้นเป็นธรรมดา ประเวณีแห่งสัตวโลกทั้งหลาย อันท่องเที่ยวอยู่ในวัฏฏสงสาร อันมรณะนั้นจะได้เว้นจากบุคคลนั้นหามิได้ อนึ่งเล่าในคัมภีร์จริยาปิฎก มีข้อความว่า “คุณํ อนุสฺสรนฺโต” ถ้าแลบุคคลที่ยังอยู่นั้น ระลึกถึงคุณแห่งผู้ตายนั้นแล้ว ก็พึงกระทำกองการกุศลแล้ว ก็พึงอุทิศส่วนกุศลไปถึงเทอญ ก็จะประกอบด้วยผลานิสงส์แก่ผู้ดับสูญไปนั้นเป็นอันแท้ อนึ่งเล่าผู้ประกอปไปด้วยวิจารณปัญญา พิจารณาเห็นทุกขลักขณะแลอนิจจลักขณะแลอนัตตลักขณะ ก็พึงเจริญมรณานุสติกรรมฐาน โดยอาการเจ็ดประการอันมีในคัมภีร์วิสุทธิมัคนั้น พึงศึกษาอารมณ์แห่งตนให้แกล้วกล้าในพิจารณาซึ่งมรณานุสติกรรมฐานไว้ให้ชำนิชำนานแต่เนิ่นๆ พึงดูเยี่ยงอย่างประเวณีแห่งโพธิสัตวเจ้าอันบำเพ็ญซึ่งพระโพธิญาณ พระองค์ย่อมให้ปัญจมหาบริจาค มีน้ำพระทัยมิได้ย่อหย่อนพระบารมีตามตันติพุทธประเพณีพระมหาสัพพัญญูโพธิสัตว์ ที่ได้ตรัสแต่กาลปางก่อน

ขอถวายพระพร ซึ่งพระราชสมภารเจ้าได้เสวยซึ่งวิบูลราชสมบัตินั้น เพราะพระราชกุศลอันพระองค์ได้กระทำไว้แต่ในบุพพชาติปางก่อน เหตุพระบาลีในนิธิกัณฑสูตรว่า “ปเทสรชฺชํ อิสฺสริยํ ฯลฯ สพฺพเมเตน ลพฺภติ” อรรถาธิบายความว่า “ปเทสรชฺชํ” อันว่าสมบัติในประเทศก็ดี “อิสฺสริยํ” อันว่าภาวะเป็นใหญ่ คือสมบัติแห่งจักรพรรดิราชก็ดี “จกฺกวตฺติ สุขํ ปิยํ” อันว่าความศุขแห่งพระยาจักรพรรดิ อันบุคคลปรารถนายินดีก็ดี “เทวรชฺชมฺปิ ทิพฺเพสุ” อันว่าสมบัติแห่งเทพยดาในเทวโลกก็ดี แลผลทั้งสี่มีประเทศรัชเป็นต้น ดังถวายวิสัชนามานี้ แต่ล้วนบุคคลได้ด้วยบุญนิธิ ขุมทรัพย์คือบุญสิ้นทั้งนั้น

ขอถวายพระพร ซึ่งพระราชปุจฉาดังนี้ ใช่วิสัยที่อาตมภาพจะวิสัชนาได้ เป็นวิไสยแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าวิสัชนา อาตมภาพพิจารณาดูพบบาลีสองแห่ง คือปรมรรถโชติอรรถกถาขุททกปาฐ ๑ นิธิกัณฑสูตร ๑ พบบาลีสองแห่งเท่านี้ ขอถวายพระพร ๚

----------------------------

แก้พระราชปุจฉา ความที่ ๒

อาตมภาพ พระธรรมเจดีย์ มุนีวงศนายกติปิฎกธรา มหาคณฤศร บวรสังฆาราม คามวาสี อันสถิตย์ณจักรวรรดิราชาวาศวรวิหารพระอารามหลวง ขอถวายพระพรว่า อาตมภาพได้รับพระราชทานข้อพระราชปุจฉามาแล้ว พิจารณาในข้อพระราชปุจฉาแต่ต้น จนอวสาน ก็เห็นว่าจะทรงทราบในพระราชบวรสันดานแล้ว ด้วยทรงพระสดับพระสัทธรรมเทศนาทั่วไปในห้องพระไตรปิฎกแล้ว จักถวายวิสัชนาโดยสังเขปกถาตามแต่จะได้ พอประดับพระสติปัญญาบารมี

แก้ข้อ ๑

ซึ่งทรงพระปริวิตกว่า ได้บำเพ็ญพระราชกุศลสิ่งใดไว้ จึงได้มาเสวยศิริราชสมบัติดังนี้ อาตมภาพพิจารณาเห็นว่า ประพฤติเป็นไปด้วยอำนาจบุญญาภินิหาร หากได้ทรงบำเพ็ญมาแต่เบื้องบุริมภพโดยวารพระบาลีในนิธิกัณฑสูตรว่า “เอสเทวมนุสฺสานํ สพฺพกามทโท นิธิ ฯลฯ สพฺพเมเตน ลพฺภติ” เนื้อความว่าบุญนิธิ ขุมทองกล่าวคือบุญนี้ ย่อมสำเร็จความปราถนาแห่งเทพยดาแลมนุษย์ทั้งปวง “ยํยํ เทวาภิปตฺเถนฺติ” เทพยดาแลมนุษย์ทั้งหลาย จะปรารถนาซึ่งสมบัติสิ่งใดๆ ก็ย่อมได้ตามความปรารถนาสิ้นทุกประการ ด้วยบุญนิธิขุมทองกล่าวคือบุญ “สุวณฺณตา สุสรตา” อนึ่งบุทคลมีฉวีวรรณพรรณแห่งกายอันงามเปรียบเสมอด้วยทอง แลมีสุรเสียงอันไพเราะห์ ประดุจเสียงแห่งท้าวมหาพรหมแลนกการเวกก็ดี “สุสณฺาณํ สุรูปตา” อนึ่งบุทคลจะมีสัณฐานแห่งสริรกายอันงาม สถานประเทศแห่งอังคาพยพใหญ่น้อยควรจะเสมอก็เสมอ ควรจะเต็มก็เต็ม ควรจะกลมก็กลม แลมีสกลกายินทรีย์อันงามพร้อม คือไม่สูงหนักไม่ต่ำหนัก ไม่พีนักไม่ผอมนัก ไม่ดำหนักไม่ขาวหนัก นั้นก็ดี “อาธิปจฺจํ ปริวาโร” บุทคลจะได้เป็นอธิบดี คือได้เป็นขัติยมหาศาล พราหมณมหาศาล คหบดีมหาศาล มีบริวารมากนั้นก็ดี สมบัติทั้งปวงนี้บุทคลย่อมได้ด้วยบุญนิธิขุมทองกล่าวคือกองบุญ “ปเทสรชฺชํ อิสฺสริยํ” อนึ่งบุทคลจะได้เป็นอิศราธิบดีเป็นใหญ่ในประเทศราช แลผ่านสมบัติเป็นบรมจักรพรรดิ์ได้เป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔ นั้นก็ดี “เทวรชฺชมฺปิ ทิพฺเพสุ” บุทคลอันเป็นมนุษย์ได้ไปเสวยสมบัติทิพในเทวโลก เหมือนพระยาสกมันทาตุราชนั้นก็ดี บุทคลอันจุติจากมนุษยโลกแล้ว ได้ไปเป็นเทวราชเป็นใหญ่ในเทวโลกนั้นก็ดี สมบัติทั้งปวงนี้บุทคลย่อมได้ด้วยบุญนิธิขุมทองกล่าวคือกองบุญ ใช่แต่เท่านั้นบุญนิธินี้ ย่อมให้สำเร็จผลตลอดจนพระโลกุตรสมบัติ อาไศรยวารพระบาลีดังนี้ แลซึ่งได้มาเสวยศิริราชสมบัติดังนี้ ก็จัดได้ชื่อเป็นไปด้วยกุศลราษีพระบารมีได้บำเพ็ญมาแต่ในกาลปางก่อน

แก้ข้อ ๒

ประการหนึ่ง ซึ่งทรงพระปริวิตกปรารภถึงสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พระพันปีหลวง ถึงว่ายังไม่ควรที่จะเสด็จสวรรคต แลด่วนเสด็จสวรรคล่วงไป พระบรมราชประยูรวงศานุวงศ์ มีองค์สมเด็จพระอนุชาธิราชเป็นอาทิ ก็ยังไม่ควรจะเสด็จทิวงคต ไฉนจึงเสด็จทิวงคตล่วงไป แลข้าพระบาทบริจาฝ่ายใน แลข้าทูลลอองธุลีพระบาททั้งปวงฝ่ายน่าก็ยังไม่ควรที่จะลาล่วงลับไป เหตุไฉนจึงถวายบังคมลาล่วงลับไป แลราชพาหนะทั้งปวงเล่าก็ยังไม่ควรจะล่วงลับไปก็ดี

ข้อนี้อาตมภาพพิจารณาเห็นว่า เป็นไปด้วยอำนาจผลแห่งอกุศลกรรมของท่านที่มีมาแล้วในกาลก่อน อาไศรยวารพระบาลีในคัมภีร์พระสารสังคหะแลทศศีลว่า “ปาณาติปาโต ฯลฯ ปาณาติปาตสฺส วิปาโก” ความว่า บุทคลผู้ใดกระทำปาณาติบาตกรรม บุทคลผู้นั้นเมื่อได้มาเกิดเป็นมนุษย์นั้น เศษบาปเป็นกรรม ๔ ประการคือ อุปปิฬกะกรรม ๑ อุปัจเฉทกะกรรม ๑ ชนกะกรรม ๑ อุปัตถัมภกะกรรม ๑ เป็น ๔ อุปปิฬกะกรรม เป็นพนักงานที่จะเบียดเบียฬสัตวให้ยากลำบากเวทนา อุปัจเฉทกะกรรม เป็นพนักงานที่จะเข้าไปใกล้ ได้โอกาศแล้วก็จะตัดซึ่งชีวิตินทรีย์แห่งสัตวให้ขาด ชนกะกรรมเป็นพนักงานที่จะยังสัตวให้อุบัติบังเกิดในที่ชั่วต่ำช้า อุปัตถัมภกะกรรม เป็นพนักงานที่จะอุปถัมภ์ค้ำชูอุดหนุนสัตวให้ได้ทุกข์ได้ยาก ให้ได้ความลำบากเวทนามีประการต่างๆ ไม่รู้แล้ว กรรมทั้งหลายให้ผลให้เป็นบุทคลมีอายุสั้น พลันมรณภาพแต่ในปฐมไวยแลมัชฌิมไวย “ปิเยหิ มนาเปหิ วิโยโค” กรรมที่กระทำไว้วิโยคพลัดพรากจากสัตวแลสังขารอันเป็นที่รักแลเป็นที่ยังจิตต์ให้เจริญ ก็เพราะปาณาติบาต ใช่แต่เท่านั้น ปาณาติบาตนี้มีโทษมากอยู่ สมเด็จพระบรมครูตรัสเทศนาแก่ศุภมานพ ในศุภสูตรในคัมภีร์พระมัชฌิมนิกายอุปริปัณณาสว่า “มาณว” ดูกรศุภมานพ “มนุสฺสา” อันว่ามนุษย์ทั้งหลาย “กมฺมสฺสกา” มีกรรมเป็นของแห่งตน “กมฺมทายาทา” อนึ่งมนุษย์ทั้งหลายมีกรรมเป็นทรัพย์แห่งตน “กมฺมโยนิ” อนึ่งมนุษย์ทั้งหลายมีกรรมเป็นกำเนิดแห่งตน “กมฺมพนฺธุ” อนึ่งมนุษย์ทั้งหลายมีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ญาติแห่งตน “กมฺมปฏิสรณา” อนึ่งมนุษย์ทั้งหลายมีกรรมเป็นที่พึ่งแห่งตน มนุษย์ทั้งหลายที่เกิดมามีอายุสั้นพลันมรณภาพแต่ประถมไวยกับมัชฌิมไวยนั้น ก็เพราะกระทำปาณาติบาตกรรม ฆ่าสัตวตัดชีวิตในปุริมภพ

อนึ่งบุทคลทั้งหลายที่เกิดมา ย่อมมากไปด้วยโรคาพยาธิมักป่วยมักไข้นั้น “วิเหธนชาติกา” เพราะเหตุเบียดเบียฬสัตวกระทำให้สัตวลำบากป่วยเจ็บ กระทำทัณฑกรรมต่างๆ “อทยาปนฺนา” ไม่เอ็นดูสัตวในปุริมภพนั้น

อนึ่งบุทคลทั้งหลายที่เกิดมา “ทุพฺพณฺณา” มีสีสันพรรณอันเศร้าหมองนั้น ก็เพราะเหตุมีความโกรธมากปุริมชาตินั้น

อนึ่งบุทคลทั้งหลายที่เกิดมา “อปฺเปสกฺขา” มีศักดานุภาพน้อยนั้น ก็เพราะเหตุผูกจิตรอิจฉาฤศยาประทุษฐร้ายในลาภสักการครุการมานนะวันทนะบูชาแห่งชนทั้งหลายอื่นในปุริมภพ

อนึ่งบุทคลทั้งหลายที่เกิดมา มีสมบัติพัศถานน้อยนั้น ก็เพราะเหตุมิได้ให้ซึ่งเข้าแลน้ำวัตถายานมาลาคันธะวิเลปนะ แก่สมณะแลพราหมณ์ในปุริมภพ

อนึ่งบุทคลที่เกิดมา มีตระกูลอันต่ำช้านั้น ก็เพราะเหตุไม่มีคารวะ เป็นคนกระด้างด้วยมานะ ไม่มีคารวะบิดามารดา สมณะพราหมณ์ แลพระอุปัชฌาย์อาจารย์แลผู้เฒ่าผู้แก่ ควรจะบูชาก็ไม่บูชา ในปุริมชาตินั้น

อนึ่งบุทคลที่เกิดมา “ทุปฺปฺโ” เป็นคนโง่เง่าเฉาโฉดหาปัญญาบมิได้นั้น เพราะเหตุไม่ไต่ถามซึ่งอรรถธรรมแก่สมณะแลพราหมณาจารย์ท่านเป็นผู้นักปราชญ์ว่า “กึ ภนฺเต กุสลํ” ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าผู้เจริญ จะกระทำเป็นประการใด จึงจะเป็นบุญเป็นกุศล “กึ อกุสลํ” กระทำเป็นประการใดจึงเป็นบาปเป็นอกุศล จะได้ไต่ถามดังนี้ก็หามิได้ กระทำแต่อกุศลกรรมในปุริมชาตินั้น ครั้นเกิดมาในชาตินี้จึงหาปัญญาบมิได้ สมเด็จพระศาสดาตรัสพระสัทธรรมเทศนาในอกุศลราษี มีปาณาติบาตเป็นต้น แก่ศุภมานพยุติลงเพียงนี้

สมเด็จพระศาสดาจึงตรัสพระสัทธรรมเทศนา “ปาณาติปาตา เวรมณี” ในกุศลราษีมีเว้นจากปาณาติบาตเป็นต้น ต้องเข้าในข้อที่ทรงพระปริวิตกว่าจะบำเพ็ญพระราชกุศลสิ่งใดจึงจะมีพระชนม์ชีพยืนนั้น แก่ศุภมานพว่า “มาณว” ดูกรศุภมานพ “ทีฆายุโก” บุทคลที่มีอายุอันยืนนั้น ก็เพราะกุศลที่ตนรักษาศีลปาณาติบาต ไม่ฆ่าสัตวตัดชีวิต สันดานมากไปด้วยเมตตากรุณา “ทยาปนฺโน” อนุเคราะห์เอ็นดูสัตว เห็นสัตวต้องไภยได้ทุกข์แล้ว ก็คิดอ่านปลดเปลื้องให้พ้นจากมรณภาพ ด้วยอุบายอันเป็นธรรมปราศจากโทษปราศจากบาป

อนึ่งบุทคลที่เกิดมา “อปฺปาพาโธ” มีความศุขมากไม่อาพาธป่วยไข้ ปราศจากทุกข์โศกโรคภัยนั้น “อวิเหธกาติโก” เพราะเหตุที่ไม่เบียดเบียฬสัตว ไม่กระทำให้สัตวทั้งปวงได้ความลำบากสันดานมากไปด้วยหิริแลโอตัปปะในปุริมชาติปุริมภพ

อนึ่งบุทคลที่เกิดมาแลมากด้วยญาติมากด้วยสมบัติพัศถาน มิได้ยากมิได้จน เพราะกุศลที่ตนรักษาศีลอทินนาทาน ไม่ฉกไม่ลักไม่ช่วงไม่ชิงไม่ฉ้อไม่ตระบัดเอาทรัพย์อันเจ้าของหวงแหนรักษา อนึ่งก็มีใจศรัทธาอุสาหะบำเพ็ญทาน ทรมานจิตต์ตระหนี่เสียได้

อนึ่งบุทคลที่เกิดมา มีบุตรภรรยาว่าง่ายสอนง่ายตั้งอยู่ในถ้อยคำมิได้กระทำให้เคืองให้แค้น มีแต่จะแสวงหาประโยชน์มาให้ แต่ใจก็มิได้ส่งไปในภายนอก ได้บุตรภรรยาที่ดีๆ อย่างนี้ เพราะกุศลที่ตนรักษาศีลกาเมสุมิจฉาจารไว้เป็นอันดี มิได้ประมาทในปุริมชาติ

อนึ่งบุทคลที่เกิดมามีตบะเดชะมาก จะว่ากล่าวสิ่งใดชนทั้งปวงบมิอาจฝ่าฝืนเกินเลยได้ ชนทั้งหลายนับถือเชื่อฟังตั้งอยู่ในถ้อยคำนั้น ด้วยอำนาจกุศลที่รักษาศีลมุสาวาทไว้ในชาติหนหลัง ในปุริมภพนั้นถือความสัตย์ปราศจากมายา กุศลนั้นติดตามมาอำนวยผล เกิดมาจึงมีตบะเดชะมีสง่า มีวาจาประสิทธิประสาท ชนทั้งหลายบมิอาจจะล่วงจะเกินได้

บุทคลที่เป็นนักปราชญ์มีสติสัมปชัญญะ บริบูรณ์ด้วยหิริแลโอตัปปะ มาตรว่าแก่ชราก็หาฟั่นหาเฟือนไม่ เป็นคนดีมีสติมาก มิได้รู้เป็นใบ้เป็นบ้านั้น ด้วยกุศลที่รักษาศีลสุราเมรัยไว้ในปุริมภพ

ตกว่าสรรพสัตวในโลกสันนิวาศ จะชั่วจะดีจะมีจะยากจะได้เสวยสุขแลทุกข์นั้น แล้วด้วยกุศลแลอกุศลประชุมแต่ง

อนึ่งบุทคลที่เกิดมา “มหาปฺโ” เป็นบุทคลมีปัญญามากเฉลียวฉลาด ก็เพราะกุศลที่ตนไม่ประมาท มีคารวะเคารพแก่สมณะพราหมณาจารย์ท่านผู้เป็นปราชญ์ “ปริปุจฺฉิตา” ไต่ถามว่า “กึ ภนฺเต กุสลํ” ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า จักกระทำเป็นประการใด จึงจะเป็นบุญเป็นกุศล “กึ อกุสลํ” กระทำเป็นประการใด จึงเป็นบาปเป็นอกุศล “กึ สาวชฺชํ” กระทำเป็นประการใด จึงประกอบไปด้วยโทษ “กึ อนาวชฺชํ” ทำเป็นประการใด จึงจะไม่มีโทษ อุสาหะไต่ถามแล้วก็ปรนิบัติตามคำสอน แต่ในปุริมชาติ ครั้นเกิดมาชาตินี้ จึงมีสติแลปัญญาปรีชาญาณอันประเสริฐ

สมเด็จพระทศพลญาณตรัสประทานพระสัทธรรมเทศนาด้วยบุทคลอันกระทำซึ่งปัญจพิธเวรกรรมทั้งห้า แล้วตรัสเทศนาด้วยบุทคลอันเว้นจากปัญจพิธเวรกรรมทั้งห้า แก่ศุภมานพจบลงแล้ว ศุภมานพได้ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมน์ ถวายวิสัชนาโดยสังเขปกถาในศุภสูตรยุติลงแต่เพียงนี้

แก้ข้อ ๓

อนึ่งซึ่งได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศล เป็นต้นว่าทานแลศีลสดับพระสัทธรรมเทศนา แล้วแลทรงแผ่ส่วนพระราชกุศลนั้น แด่สมเด็จพระประยูรวงศานุวงศ์ มีองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พระพันปีหลวงเป็นต้น แลให้ทั่วไปแก่สรรพสัตวทั้งปวง แลพระราชกุศลซึ่งทรงแผ่ให้บมิอาจป้องกันรักษาซึ่งพระประยูรวงศานุวงศ์ มีองค์สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พระพันปีหลวง เป็นต้นไว้ได้ ด้วยอำนาจอกุศลมาตาปิตุฆาฏกรรมมีกำลังกล้า เป็นกรรมาวรณ์ป้องกันซึ่งกุศลทั้งปวงเสียได้นั้นอย่างหนึ่ง จะป่วยกล่าวไปไยถึงโลกิยบุถุชนเล่า จนแต่พระอริยบุทคลอันประเสริฐ คือพระมหาโมคคัลลานเถรเจ้า สำเร็จซึ่งสาวกบารมีญาณ เป็นบรมอรรคสาวกเบื้องซ้ายแล้ว เมื่ออกุศลคือมาตาปิตุฆาตกรรมที่พระผู้เป็นเจ้ากระทำไว้ในกาลก่อนนั้นมีกำลังกล้า โจรทั้งหลาย ๕๐๐ มาเข้าแวดล้อมซึ่งวัสนสถานที่อยู่ของพระผู้เป็นเจ้าไว้ พระมหาโมคคัลลานเถรรู้ว่าโจรมาล้อมไว้แล้ว พระผู้เป็นเจ้าก็ออกโดยช่องดาลไป วันนั้นโจรทั้งหลายไม่พบแล้ว ไปวันอื่นโจรทั้งหลายก็ไปล้อมเข้าไว้อีก พระผู้เป็นเจ้าก็ทำลายปริมณฑลช่อฟ้าเหาะไป “เอวํ เต โจรา” โจรทั้งหลายพากันไปแวดล้อมดังนั้นสิ้น ๒ เดือน แล้วก็กระทำอันตรายท่านไม่ได้ ครั้นล่วงเข้าในเดือนเป็นคำรบ ๓ พระผู้เป็นเจ้าก็รู้ว่า มาตาปิตุฆาฏกรรมนำโจรทั้งหลายมา พระผู้เป็นเจ้าก็ไม่หลีกหนี โจรทั้งหลายก็จับพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ก็ประหารพระผู้เป็นเจ้าให้แหลก เหลืออยู่แต่พระธาตุประมาณเท่าเมล็ดเข้าสาร “ณานเวเธน ถิรํ กตฺวา” พระผู้เป็นเจ้าก็ผูกพันพระกายให้มั่นด้วยเชือกกล่าวคือฌาณ มาถวายนมัสการสมเด็จพระทศพลญาณ แล้วกลับไปปรินิพพานในฐานที่นั้น อาตมภาพนำมาถวายวิสัชนาเพื่อจะให้ทรงทราบว่าอกุศลกรรมมีกำลังกล้า

พระมหาโมคัลลานเถรนี้ ได้ที่เอตทัคคว่าเลิศว่าประเสริฐข้างฤทธิ์แล้ว พระผู้เป็นเจ้าก็ไม่เอาฤทธิ์มาป้องกันโจร คือมาตาปิตุฆาฏกรรมได้ สมเด็จพระทศพลญาณเจ้าก็เป็นอรรคบุทคลอันเลิศยอดโลกแล้ว ก็ยังไม่เอาพระพุทธานุภาพเจ้าไปช่วยพระมหาโมคคัลลานป้องกันโจรคือมาตาปิตุฆาฏกรรมได้ จะป่วยกล่าวไปใยกับด้วยโลกิยบุถุชน วัตถุนี้อยู่ในคัมภีร์พระธรรมบท

แก้ข้อ ๔

ซึ่งทรงพระปริวิตกว่า จะบำเพ็ญพระราชกุศลสิ่งใด จึงจะมีพระชนม์ยืนพร้อมด้วยพระราชโอรสพระราชธิดา พระประยูรวงศานุวงศ์นั้น อาตมภาพพิจารณาเห็นว่า แต่ชั้นพระวิสาขามหาอุบาสิกา ท่านมีอายุยืนพร้อมด้วยประยูรวงศาคณาญาติแล้ว ไฉนเล่านางสุทัตตีกุมารีที่พระวิสาขาตั้งไว้ให้เป็นไวยาวัจกร สำหรับปรนิบัติพระสงฆ์ที่เข้าไปฉันในเรือนวันละ ๒๐๐๐ นั้น นางสุทัตตีปรนิบัติพระสงฆ์มาไม่สู้ช้าสู้นาน อกุศลของนางสุทัตตีที่กระทำไว้ในปุริมภพนั้น เป็นอุปเฉทกะกรรมเข้าตัดเอาชนม์ชีพของนางสุทัตตีนั้นให้ขาดเด็ดไปแต่ในประถมไวย กุศลที่นางสุทัตตีกระทำในปัจจุบันชาติก็ช่วยชีวิตรนางสุทัตตีไม่ได้ กุศลของพระวิสาขาก็บริบูรณ์ ก็ไม่อาจจะช่วยชนม์ชีพแห่งนางสุทัตตีไม่ได้ บุตรนัดดาคณาญาติที่มีอายุยืนอยู่พร้อมเพรียงกันกับด้วยนางวิสาขานั้น ก็เพราะกุศลที่ตั้งอยู่ในวัตรปรนิบัติ มีศรัทธาเชื่อลงในคุณแห่งพระศรีรัตนไตร บำเพ็ญทานตั้งอยู่ในปัญจางคิกศีล แลพระอัษฎางคิกศีลาจารวัตร ปรนิบัติเสมอด้วยพระวิสาขามาแต่ในปุริมชาติ จึงมีชนม์ชีพอายุยืนอยู่พร้อมด้วยพระวิสาขา “กาเรตฺวา” นางให้ชนทั้งหลายกระทำการฌาปนกิจแห่งนางสุทัตตีแล้ว “อสกฺโกนตี” นางบมิอาจดำรงซึ่งความโศกไว้ได้ “ทุกฺขิ ทุมฺมนา” นางเสวยซึ่งทุกข์โทมนัศไปยังสำนักนิ์แห่งพระศาสดา นางถวายนมัสการสมเด็จพระทศพลญาณแล้ว นั่งร้องไห้อยู่ในฐานที่นั้น สมเด็จพระศาสดามีพระพุทธฎีกาตรัสว่า ดูกรนางวิสาขาไฉนจึงมานั่งร้องไห้อยู่ในฐานที่นี้ พระวิสาขากราบทูลว่า “ภนฺเต” ข้าแต่พระพุทธองค์ผู้ทรงพระเจริญ “วตฺตสมฺปนฺนา” นางสุทัตตีหลานสาวเกล้ากระหม่อมประกอบด้วยวัตรปรนิบัติดี เป็นที่พึ่งแก่พระสงฆ์ทั้งหลาย บัดนี้นางวิโยคพลัดพรากจากเกล้ากระหม่อมไปแต่ในประถมไวย เกล้ากระหม่อมจึงมีความโศกาไลยอยู่ในนางสุทัตตีดังนี้ พระวิสาขามหาอุบาสิกานี้ ก็มีพระบารมีบริบูรณ์ ได้พระโสดาวัตตาภิรัติมาแต่พระนางมีชนม์ชีพได้ ๗ ปี นางก็เสวยปิยวิปโยคทุกข์ดังนี้ ถึงมาตรว่าจะเป็นไปพร้อมด้วยพระประยูรวงศานุวงศ์บริบูรณ์ เหมือนนางวิสาขาก็ดี ก็ไม่พ้นจากที่เสวยปิยวิปโยคทุกข์

แม้มิได้ยุติด้วยธรรมกถาอธิบายโวหารในข้อใดข้อหนึ่งก็ดี ขอเดชะพระเมตตาคุณพระกรุณาคุณพระขันตีคุณ จงทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานอไภยแก่อาตมภาพ ผู้มีสติปัญญาน้อย ขอถวายพระพร ๚

----------------------------

แก้พระราชปุจฉา ความที่ ๓

พระวินัยมุนี ส่งวิสัชชนาแก้พระราชปุจฉามา

วันอาทิตย์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีมะเส็งสัปตศก (๑๒๐๗)

อาตมภาพพระวินัยมุนี อันสถิตย์ณบพิตพิมุขวรวิหารพระอารามหลวง รับพระราชทานถวายวิสัชชนาในพระราชปุจฉา ที่ทรงพระมหากรุณา โปรดรับสั่งให้ราชบุรุษอัญเชิญมาผะเดียงถามนั้น ข้อซึ่งทรงพระราชดำริอนุสรณ์คำนึงถึงพระบรมประยุรองศา และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ทั้งฝ่ายในและฝ่ายหน้า อันถึงชิวิตันตรายดับสูญไปนั้น อาตมภาพพิจารณาเห็นว่า เปนประเพณีสรรพสัตว์ทั้งหลายอันสัญจรท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏแล้ว ก็ย่อมวิปโยคพลัดพรากจากกัน สมเด็จพระสัพพัญญูมีพระพุทธฎีกาบันฑูรธรรมเทศนาไว้ ในพระมหาปรินิพพานสูตรว่า สพฺเพเหว ปิเยหิ มนาเปหิ นานาภาโว วินาภาโว เปนอาทิฉะนี้ แปลเปนเนื้อความว่า สรรพสัตว์นิกรทั้งหลาย ย่อมจักพิโยคบำราษปราศจากสัตว์และสังขาร อันเป็นที่รักที่เจริญใจ บุทคลจะดำริว่าปัญจขันธ์อันใดอันปัจจัยประชุมตกแต่ง มีพินาสฉิบหายเปนธรรมดา ปัญจขันธ์อันนั้น อุบัติบังเกิดมาแล้ว จงอย่าได้พินาสฉิบหายเลย ความดำริดังนี้ บุทคลจักได้สำเร็จดังมโนรถแต่ที่ดังฤๅ

ประการหนึ่ง ปิยวิปโยคทุกข์นี้ย่อมบังเกิดแต่ความร้อน พระพุทธฎีกาตรัสธรรมเทศนาแก่กฎุมพีผู้หนึ่ง ในปิยชาติกสูตรว่า ปิยชาติกาโสกปริเทวทุกฺขโทมนสฺสุปายาสา ปิยปฺปภูติกา แปลเปนเนื้อความว่า ความโศกและปริเทวทุกข์โทมนัสอุปายาส ความคับแค้นทั้งปวง บังเกิดแต่ความรักเปนเดิมเกิด

ข้อซึ่งทรงพระราชดำริว่า ทรงพระอุตสาหะบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ เป็นอเนกประการ คือทรงพระราชศรัทธาถาปนาและปฏิสังขรณ์ซึ่งพระอาวาสราชวิหาร กุฎีเสนาสนะ พร้อมด้วยพระพุทธปฏิมาและพระเจดียฐาน และทรงสร้างพระปริยัติไตรปิฎกล้วนขจิตบรรจงและทรงพระราชทานอาหารบิณฑบาต แก่ภิกษุสงฆ์สามเณรเปนอันมาก และทรงพระบริจจาคพระราชทรัพย์ซื้อสัตว์ปล่อยเปนนิจ และพระราชกุศลอื่นๆ ก็มีอีกเปนอันมาก ให้เอมโอฐด้วยโภชนากระยาหาร ทั้งวัตถาลงการสรรพโอสถ ทั่วไปแก่เสวกามาตย์ราษฎรประชาทั้งปวง ทรงสร้างพระราชกุศลทั้งนี้แล้ว ก็ทรงพระมหากรุณาโปรดอุทิศส่วนพระราชกุศลนั้นไป แก่สรรพสัตวนิกรทั้งปวง ทั่วทั้งสากลจักรวาฬ เหตุไฉนปัตตานุปทานานุโมทนาบุญกิริยาวัตถุนั้น จึงมิได้ช่วยบำรุงรักษาพระบรมวงศา และข้าทูลละอองธุลีพระบาท ให้นิราศจากอันตรายได้เล่า กระแสพระดำริดังนี้ อาตมภาพพิจารณาเห็นว่า เมื่อทรงพระราชูทิศโปรดพระราชทานส่วนพระราชกุศลไปนั้นพระประยุรวงศาและข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งหลาย จักมิได้รับพระราชทานอนุโมทนา ส่วนพระราชกุศลจึงมิได้คุ้มครองรักษา เพราะเหตุกุศลบุทคลอื่นกระทำ จักได้ให้ผลแก่บุทคลผู้อื่นหามิได้ มีพระบาลีในพระมงคลทีปนีว่า

น อฺเน กตํ กมฺมํ อฺสฺส ผลทํ โหติ

เนื้อความในพระบาลีก็เหมือนกันกับเนื้อความในเบื้องต้นที่ถวายวิสัชนามาแล้วแต่หลัง ประการหนึ่งถึงว่าได้รับพระราชทานอนุโมทนาส่วนพระราชกุศลก็ดี ปัตตานุโมทนาบุญกิริยาวัตถุนั้น มิได้บังเกิดในปฐมเชาวนะ ปัตตานุโมทนานั้นจึงมิได้เปนทิฏฐธรรมเวทนิยะ

มิพระบาลีในอรรถกถามัชฌิมนิกายว่า กมฺมํ หิ กริยมานเมว ตโย โกฏฺฐาเส ปุเรปิ เปนอาทิฉะนี้ แปลเป็นเนื้อความว่า กุศลและอกุศลอันบุทคลกระทำ ย่อมหยั่งส่วนทั้งหลายสามให้บริบูรณ์ คือจัดเป็นทิฏฐธรรมเวทนิยกรรมส่วนหนึ่ง จัดเป็นอุปปัชชเวทนิยกรรมส่วนหนึ่ง จัดเป็นอปราปรเวทนิยกรรมส่วนหนึ่ง จึงเป็นสามส่วนด้วยกัน อธิบายว่า ปฐมเชาวนเจตนาอันเปนกุศลและอกุศลนั้น จัดเป็นทิฏฐธรรมเวทนิยกรรม ให้ผลปรากฏในอัตตภาพชาตินี้ ถ้าไม่อออวยผลในเบื้องปัจจุบัน ก็เป็นอโหสิกรรม เชาวเจตนาเปนคำรบเจ็ด จัดเปนอุปปัชชเวทนิยกรรม ให้ผลในอัตตภาพเปนลำดับ ถ้าไม่ให้ผลในชาติอันเปนลำดับ ก็เปนอโหสิกรรม เชาวนเจตนาทั้งหลาย ๕ ในระหว่างแห่งเจตนาทั้งสองนั้น จัดเปนอปราปรเวทนิยกรรม ได้โอกาสเมื่อใด ก็ให้ผลเมื่อนั้นในอนาคตกาล เพราะเหตุพระบาลีดังกล่าวนี้ อาตมภาพพิจารณาเห็นโดยอัตโนมัติยาธิบายว่า พระราชประยุรวงศา และข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวง แม้ว่าได้อนุโมทนาส่วนพระราชกุศลก็ดี ปัตตานุโมทนากุศลเจตนานั้นมิได้เปนไปในปฐมเชาวนะ จึงมิได้เปนทิฏฐธรรมให้ผลเห็นประจักษ์ในชาตินี้ ปัตตานุโมทนาเจตนานั้น จัดเปนไปตั้งแต่เชาวนะคำรบสอง ตราบท้าวถึงสัตมเชาวนวิถี กุศลเจตนานั้นจัดเปนอุปปัชชเวทนิยกรรม และอปราปรเวทนิยกรรม จักให้ผลในชาติอันเปนลำดับและในชาติอื่นๆ ในอนาคตกาล จึงมิได้สำเร็จผลเปนทิฏฐธรรมเห็นประจักษ์ในชาตินี้

ข้อซึ่งทรงพระราชดำริปรารภว่า อกุศลกรรมอันใดจักอวยผลให้ได้ทรงเสวยปิยวิปโยคทุกข์ จักทรงมละเสีย กุศลอันใดจักให้ผลสโมสรพร้อมเพรียงด้วยพระประยุรวงศาเปนอาทิ จักทรงบำเพ็ญซึ่งกุศลอันนั้น อาตมภาพพิจารณาเห็นว่า อกุศลกรรมคือปาณาติบาตและอทินนาทาน ทั้งกาเมสุมิจฉาจาร อกุศลกรรมทั้งสามประการนี้แลอาจเพื่ออวยผลให้ได้เสวยปิยวิปโยคทุกข์ ข้อซึ่งกุศลจักอวยผลให้สโมสรพร้อมเพรียงนั้น ถ้าทรงบำเพ็ญพระราชกุศลแห่งพระองค์ฝ่ายเดียว แล้วและทรงปณิธานปรารถนา ก็จักคุ้มครองรักษาได้แต่อวิญญาณกวัตถุ คือสิริราชโภไคศวรรย์สรรพราชูปริโภคทั้งปวง เหมือนดังโชติกเศรษฐี ในชาติก่อนเมื่อบังเกิดเปนอปราชิตคหบดีนั้น เห็นพราหมณ์ผู้หนึ่งมาลักไปซึ่งแก้วมณีของอาตมา จึงตั้งความปรารถนาไว้ว่า ขอยย่าให้ทรัพย์พัสดุวิบัติอันตราย ครั้งเมื่อบังเกิดเปนโชติกเศรษฐี พระเจ้าอชาตศัตรุราช กอบด้วยพหลกำลังโลดลอยขึ้นไปในอากาศได้ ๕๐ ศอก ก็ไม่อาจถอดแหวนจากองคุลีแห่งมหาเศรษฐีได้ แต่สวิญญาณทรัพย์ คือราชบริวารยศเปนต้น จักให้สโมสรพร้อมเพรียงนั้น อาตมภาพพิจารณาเห็นว่าต้องบำเพ็ญกุศลพร้อมด้วยกันทั้งสองฝ่าย จึงจักพร้อมเพรียงกัน เหมือนดังธรรมปาลชาดก เรื่องธรรมปาลชาดกนั้นว่า ในอดีตกาลมีบ้านตำบลหนึ่งนามชื่อว่า ธรรมปาลคาม ในกาสิกราษฐประเทศ เพราะเหตุบ้านนั้นเปนที่อยู่แห่งตระกูล อันอภิบาลรักษาซึ่งทศกุศลกรรมบถธรรมในตระกูลอันนั้น โดยต่ำแต่ทาษกรรมกรก็ให้ทานรักษาศีลสมาทานอัษฎางคิกอุโบสถ พระบรมโพธิสัตวอุบัติบังเกิดในตระกูลนั้น นามชื่อว่าธรรมปาลกุมาร ครั้นเจริญวัยวุฒิภาพแล้ว บิดาให้ทรัพย์พันหนึ่งส่งไปสู่เมืองตักกศิลา เพื่อจะให้เรียนศิลปศาสตร พระมหาบุรุษบรมโพธิสัตวไปสู่เมืองตักกศิลาราชธานีแล้ว ก็เรียนศิลปศาสตรในสำนักทิศาปาโมกขอาจารย์ ได้เปนอันเตวาสิกผู้ใหญ่กว่ามานพ ๕๐๐ บุตรผู้ใหญ่แห่งอาจารย์นั้นกระทำมรณกาล ทิศาปาโมกขอาจารย์กับมานพและหมู่ประยูรญาติทั้งหลาย ปริเทวนาร่ำไรพากันไปกระทำฌาปนกิจยังสุสานประเทศ แต่ธรรมปาลกุมารพุทธางกูรโพธิสัตวผู้เดียวมิได้ปริเทวนาการ ธรรมปาลกุมารจึงบอกแก่มานพทั้งหลายว่า ประเวณีตระกูลเราไม่ตายแต่หนุ่ม ต่อชราจึงกระทำกาลกิริยาตาย มานพทั้งหลายจึงบอกแก่อาจารย์ๆ จึงถามสอบธรรมปาลกุมารๆ ก็รับว่าจริงดังนั้น ทิศาปาโมกขอาจารย์จึงดำริว่า ธรรมปาลกุมารนี้กล่าวถ้อยคำควรอัศจรรย์ยิ่งนัก อาตมาจะไปถามบิดาธรรมปาลกุมารดู ถ้าจริงดังนั้น อาตมาก็จักบำเพ็ญซึ่งธรรมอันนั้น ดำริดังนั้นแล้วจึงนำอัฐิแพะมาล้างเสียแล้วใส่ลงในกระทอ กับจุลุปัฐากคนหนึ่งมาสู่ธรรมปาลคามโดยลำดับ แล้วก็ไปประดิษฐานยืนอยู่แทบประตูเรือน ครั้นพราหมณ์ผู้เปนบิดาธรรมปาลกุมารรู้ ก็เชิญให้ขึ้นไปสู่เรือน แล้วให้นั่งเหนือบัลลังก์ และเชิญให้บริโภคโภชนาหาร ทิศาปาโมกขอาจารย์บริโภคโภชเสร็จแล้ว จึงบอกว่า ธรรมปาลกุมารบุตรของท่านประกอบด้วยปรีชาญาณ เรียนจบเพทางคศาสตร์สรรพวิทยาคมทั้งปวง อาพาธป่วยหนักลงกระทำกาลกิริยาตายเสียแล้ว สรรพสังขารธรรมทั้งหลายนี้มิได้เที่ยง ท่านจงอย่าได้โศกเศร้าเสียน้ำใจเลย มหาพราหมณ์ได้สดับตบหัตถ์แล้วก็สำรวลสรวลด้วยศัพท์สำเนียงอันดัง ทิศาปาโมกขอาจารย์จึงถามว่า เหตุดังฤๅท่านจึงสำรวล มหาพราหมณ์จึงบอกว่า บุตรข้าพเจ้าไม่กระทำกิริยาตาย ที่ตายนั้นจักเปนบุคคลผู้อื่น ทิศาปาโมกขอาจารย์จึงว่า ท่านไม่เชื่อก็จงดูอัฐิบุตรแห่งท่าน กล่าวดังนั้นแล้วก็นำอัฐิออกสำแดงให้ดู มหาพราหมณ์จึงกล่าวว่าอัฐินี้จักเปนอัฐิอื่น บุตรแห่งข้าพเจ้าไม่กระทำกาลกิริยาตาย ชนทั้งหลายในตระกูลแห่งข้าพเจ้าเจ็ดชั่วตระกูลแล้ว ไม่เคยตายแต่หนุ่ม ท่านแกล้งกล่าวมุสาวาท ทิศาปาโมกขอาจารย์ได้สดับแล้วโสมนัสยินดี บอกโดยอันควรแก่จริงแล้วจึงถามว่า ท่านประพฤติพรตพรหมจรรย์เปนประการใด ชนทั้งหลายในตระกูลแห่งท่านจึงมิได้ตายแต่หนุ่ม มหาพราหมณ์จึงบอกว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายพร้อมกันประพฤติซึ่งกุศลสุจริตทั้งสิบประการ เว้นเสียจากอกุศลอันลามก ละเสียซึ่งมิตรอันเปนพาล ส้องเสพซึ่งบัณฑิตยชาติ เมื่อจะบำเพ็ญทานก็บริบูรณ์ด้วยเจตนาทั้งสามประการ เหตุดังนั้นคนทั้งหลายในตระกูลแห่งข้าพเจ้า จึงมิได้กระทำมรณกาลแต่หนุ่ม ทิศาปาโมกขอาจารย์จึงขอเรียนซึ่งกุศลกรรมบถนั้น ยับยั้งอยู่สองสามวัน แล้วก็ลากลับไปเมืองตักกสิลา สิ้นเนื้อความในธรรมปาลชาดกโดยสังเขป อาตมภาพพิจารณาเห็นดังนี้ จึงรับพระราชทานถวายพระพรว่า สวิญญาณกวัตถุ คือพระประยุรวงศา และข้าทูลละอองธุลีพระบาททั้งปวง มละเสียซึ่งอกุศลกรรม บำเพ็ญซึ่งไตรพิธสุนทรสุจริตธรรมให้บริบูรณ์ โดยพระราชกฤษฎาภินิหาร ถ้าหาอกุศลกรรมที่กระทำมาแต่ก่อนมิได้แล้ว ก็จะสโมสรพร้อมเพรียงอยู่คู่พระบารมี ด้วยอานุภาพผลไตรพิธสุจริตธรรม อาตมภาพรับพระราชทานถวายวิสัชนาปัจจุปการสนองพระเดชพระคุณ ควรมิควรขอเดชะพระเมตตาธิคุณ พระกรุณาคุณ พระขันติคุณ จงทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานอภัยแก่อาตมผู้มีสติปัญญาน้อย ขอถวายพระพร.

----------------------------

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ