พระราชปุจฉาที่ ๔ ว่าด้วยเรื่องปัญจอภิเษก

(ไม่พบพระราชปุจฉา มีแต่คำถวายวิสัชนา)

วัดบวรนิเวศวิหาร

วันที่ ๑๗ เมษายน ร.ศ. ๑๒๓

ขอถวายพระพร

เรื่องปัญจอภิเษกมีในท้ายกลสตรี ที่ถวายมา เริ่มตั้งแต่หน้า ๓๐๐ ข้างท้ายเรื่องอ้างว่า สมเด็จเจ้าพระพิมลธรรม คัดจากคัมภีร์พระโลกบัญญัติแลฎีกาพระมงคลทีปนี ชะรอยจะเป็นพระเจ้าทรงธรรม แต่ภาษาอยู่ข้างจะใหม่ไปกระมัง ชื่อคัมภีร์นี้ไม่มีในบัญชีพระไตรปิฎก หอหลวงกรุงเทพฯ มีละม้ายคล้ายคลึงกันอยู่เรื่องหนึ่ง ชื่อโลกสัณฐานบัญญัติจะค้นดูก่อน ถ้าได้ความชัดหรือแปลกออกไปอย่างไรอีก จะแปลถวายในภายหลัง ตามแบบนี้ อภิเษก ๕ อินทราภิเษก โภคาภิเษก ปราบดาภิเษก ราชาภิเษก อุปภิเษก อินทราภิเษก นั้น น่าจะเป็นอภิเษกอย่างอินเดียจริงกระมัง จะคิดเทียบกับกาลใกล้ก็ไม่ค่อยสนิท จะเป็นอภิเษกที่มี by grace of God เมื่อประเทศขาดเจ้าผู้ครองจะสืบราชสันตติวงศ์ ประชุมชนพร้อมกันอัญเชิญท่านผู้หนึ่งให้รับอภิเษก แลท่านผู้นั้นหามี claim to the throne ไม่ แต่ด้วยเดชะพระเป็นเจ้าหรือด้วยบุญมีมาเอง ก็ได้รับอภิเษก

หรือมิฉนั้น เทียบกับเสี่ยงราชรถแปลว่า nation พร้อมใจกันอัญเชิญเจ้าเมืองอื่นมาครอง เช่น พระเจ้าแผ่นดินกรีกในบัดนี้ข้อนี้ยังลังเล โภคาภิเษกนั้นพอเห็นทาง เทียบในเรื่องพราหมณ์ครองเมือง เช่น ในอัมพัฏฐสูตร ในทีฆนิกาย สีลักขันธวรรค กล่าวถึงพราหมณ์โปกขะระสาติครองอุกกัฏฐะ ที่พระเจ้าปเสนทิโกศลพระราชทานเป็นพรหมไทย ตามนัยนี้น่าจะได้แก่อภิเษกเป็นเจ้าผู้ครองเมืองหรือเจ้าประเทศราช ดังนี้จะสมความกับบาลีพระวินัย แก้ศัพท์ราชา

ในในทุติยปาราชิกสิกขาบท วางลำดับว่า พระราชานั้นคือ (ปฐวิยาราชา) พระราชาในแผ่นดิน (ปเทสราชา) พระราชาในประเทศ (มณฺฑิกา) ผู้ครองมณฑล (อนฺตรโภคิกา) ผู้ครองเสวยสมบัติในระหว่างรัชสีมา ฯลฯ สันนิษฐานตามเหตุเหล่านี้ โภคาภิเษก สำหรับตำแหน่งที่ต่ำกว่าพระเจ้าแผ่นดิน ข้อนี้ก็ยังไม่พบทางเทียบกับข้างพราหมณ์ฯ ปราบดาภิเษกนั้นน่าจะมีมูลมาแต่อภิเษกของพระเจ้าแผ่นดินผู้บูชายัญอัศวเมธฯ ราชาภิเษกนั้น เข้าใจกันอยู่แล้วว่า อภิเษกสืบราชสันตติวงศ์ ฯ อุปภิเษกนั้น ก็น่าจะมีมูลมาจากสวยัมวระ หรือการที่คล้ายคลึงกันฯ พระราชมติอย่างไร ขอพระราชทานเรียนไว้เป็นความรู้ ฯ พิจารณาภาษามคธที่นำขึ้นไว้ในระวาง ดูเหมือนเป็นมคธไทยๆ ชะรอยจะแต่งขึ้นที่เมื่องลาว เก็บเรื่องราวในที่นั้นๆ มาร้อยกรองไว้เช่นเดียวกับตำราพิชัยสงครามที่ชักมากล่าวในชินกาลมาลี คำแปลก็ต้องช่วยแก้ไขให้ได้รูปความมากฯ

ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรด

ขอถวายพระพร

กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส

----------------------------

วัดบวรนิเวศวิหาร

วันที่ ๒๐ เมษายน ร.ศ. ๑๒๓

ขอถวายพระพร

พระราชหัตถเลขาวันที่ ๑๗ กับที่ ๑๘ เดือนนี้ ได้รับพระราชทานแล้ว ข้อที่ทรงพระสันนิษฐานอภิเษก ๕ ว่าเป็นพิธีรดน้ำมีอย่างนั้นเห็นจะถูกแน่ มีเค้าเงื่อนมาก พระบรมราชาธิบายในปราบดาภิเษกนั้นมีตัวอย่างเข้าใจชัดฯ ในส่วนราชาภิเษก ข้อที่ทรงพระสันนิษฐานว่า คำว่าราชานั้น จะใช้ได้ทั่วไปในเจ้านายชั้นสูงด้วยนั้น ก็สมจริง มีเรื่องในอรรถกถาธรรมบทว่า “เมื่อถึงคราวนักษัตรฤกษ์ พระราชาในเมืองเวสาลี ๗๗๐๗ องค์กับอุปราชแลเสนาบดีเป็นต้นของเธอก็เท่านั้นแต่งองค์แล้ว หยั่งลงสู่วิถีเพื่อจะเล่นนักษัตรฤกษ์” ดังนี้ คำนี้ ถึงหารแล้ว ก็คงยังมีราชาอยู่กว่าองค์เดียวอยู่นั้นเอง แต่การปกครองเมืองเวสาลีนั้น

พวกเจ้าลิจฉวีผลัดกันปกครองโดยเฉพาะ ถึงอย่างนั้น จะได้ชื่อว่าราชาแต่ผู้ที่เคยได้ปกครองก็หาไม่ ด้วยคำใช้ว่าเจ้าในที่นี้ไม่มีต่างออกไป อาตมภาพได้เคยค้นศัพท์ว่าเจ้า เคยใช้ในภาษามคธว่าอย่างไร อยฺโย ใช้แก่เรียกนาย แลผู้หญิงเรียกพระ คำว่าเจ้าในชั้นยังเป็นเด็กเป็นเล็ก เช่นยังอยู่ในอายุศึกษาเล่าเรียน เรียกว่า กุมาโร แน่แล้ว เช่น ปเสนทิกุมาโร ครั้นเจริญขึ้น เช่นปเสนทิกุมารเสร็จการเล่าเรียน กลับมาถึงบ้านเมืองแล้ว ก็ได้รับอภิเษกเป็นราชา อย่างเพลาก็เป็นอุปราชา หาคำเรียกเจ้าที่เป็นให้แล้วไม่ได้ ตามเหตุนี้ ข้อที่ทรงพระสันนิษฐานคงจะถูก แลราชาภิเษกนั้น ก็จะเป็นรดน้ำ ตั้งให้เป็นในราชอิสรริยยศอย่างหนึ่งอย่างใด ที่สุดรดน้ำในการตั้งกรม ก็น่าจะเป็นตามรอยนี้เองฯ พระบรมราชาธิบายในเรื่องคราวเดียวรวมกันหลายอย่างนั้น ชอบแล้ว มีคำเล่าในอรรถกถาธรรมบทว่า พระนันทกุมาร (โอรสพระเจ้าสุทโธทนะแลพระนางมหาปชาบดี) กำลังทำอภิเษกแลขึ้นตำหนักใหม่แลวิวาหะในคราวเดียวกัน พระพุทธเจ้าพามาบวชเสีย อภิเษกนั้นในที่นี้ ตามตำราลอชิค ก็ต้องไม่ใช่ขึ้นตำหนัก ไม่ใช่วิวาหะ คงเป็นตั้งแต่งให้มีอิสริยยศนั้นเอง

ที่เรียกพระนนท์ว่ากุมาร ก็เพราะยังไม่เคยรับอภิเษก ปราบดาภิเษก ที่เข้าใจกันอยู่ ก็คงจะทำรวมกันกับอภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่ข้อที่ชนะสงครามเป็นพระเกียรติยศแลพระเดชานุภาพใหญ่ จึงครอบงำอภิเษกอย่างหลัง คงขึ้นชื่อแต่อย่างเดียวฯ ข้อที่ทรงเว้นอินทราภิเษกแลโภคาภิเษกไว้ให้เป็นภาระของอาตมภาพเป็นผู้คิดนั้น เป็นการหนักอยู่ ยังไม่แน่แก่ใจจนเขียนมาถึงเรื่องพระนนท์ จึงเกิดปฏิภาณขึ้นว่า โภคาภิเษกได้แก่พิธีรดน้ำขึ้นเรือนใหม่ที่เกี่ยวกับการครองสมบัติแน่แล้ว เทียบตามนี้ คงเป็นพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรหรือคำว่าเถลิงถวัลยราชสมบัติ ก็จะเล็งเอาอภิเษกชนิดนี้เอง ส่วนอินทราภิเษกนั้น เทียบกับคำว่าพระเจ้าแผ่นดินเป็นสมมติเทวราช ก็น่าจะเป็นอย่างทรงพระดำริเห็น คงจะเป็นอภิเษกที่เฉลิมพระเกียรติยศขึ้นไปกว่าราชาภิเษก แต่ยังมัวกว่าทุกอภิเษกฯ เมื่ออภิเษก ๒ ข้างต้นสันนิษฐานลงได้แล้ว อุปภิเษกก็เป็นอันชัดว่ารดน้ำในการอาวาหวิวาหะ พระบรมราชาธิบายในเรื่องอภิเษก ๕ ดีมาก จะรับพระราชทานจำไว้เป็นความรู้ฯ

ควรมิควรสุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรด

ขอถวายพระพร

กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส

----------------------------

  1. ๑. ไม่พบสำเนาเรื่องกลสัตรีที่ทรงอ้างถึง

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ