พระราชปุจฉาที่ ๕ ว่าด้วยเรื่องศัพท์ ณัฏฐ์

พระที่นั่งวิมานเมฆ

วันที่ ๒๕ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๔

กราบทูล กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส

ด้วยกระทรวงธรรมการส่งหนังสือหลวงประเสริฐอักษรนิติ ซึ่งได้เรียบเรียงอธิบายที่มาของณัฏฐศัพท์ ที่มีอยู่ในหนังสือพจนานุกรมมาอ้างว่าได้ไปกราบทูลให้ทรงทราบแล้วนั้น หม่อมฉันได้ส่งสำเนาหนังสือหลวงประเสริฐอักษรนิติถวายมาด้วยแล้ว ตามคำอธิบายของหลวงประเสริฐอักษรนิตินี้ จะทรงเห็นอย่างไร

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สยามินทร

----------------------------

แก้พระราชปุจฉาที่ ๕

วัดบวรนิเวศวิหาร

วันที่ ๒๘ เมษายน ร.ศ. ๑๒๔

ขอถวายพระพร

พระราชหัตถเลขาวันที่ ๒๕ เดือนนี้ กับคำอธิบายที่มาแห่งณัฏฐศัพท์ของหลวงประเสริฐอักษรนิติ ได้รับพระราชทานแล้ว ได้เรียงความเห็นถวายแผนกหนึ่ง

แลพระรูปเสด็จกรมหลวงวรเสรฐ ก็ได้รับพระราชทานแล้ว เปนพระเดชพระคุณ พระรูปนี้ชัดดีมาก

ควรมิควรสุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรด

ขอถวายพระพร

กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส

----------------------------

ความเห็นเรื่องณัฏฐศัพท์

ศัพท์นี้มีที่มาในบาลีแลฎีกา แห่งเอกักขรโกสจริง แต่ควรวินิจฉัยตลอดถึงคัมภีร์ชื่อนั้นด้วยฯ

หนังสือเอกักขรโกศนั้น พระสิทธัมมกิตติเถระในแคว้น ชื่อตัมพะ รจนาขึ้นไว้ เมื่อพุทธศักราช ๒๐๖๙ (นับปีที่) จุลศักราช ๘๘๗ ท่านผู้รจนาปรารภขึ้นว่า หนังสือชื่อเอกักขรโกสของเก่ามีอยู่ก็จริง แต่แต่งในภาษาสันสกฤต ไม่แจ่มแจ้งเข้าใจยาก ทั้งมีน้อยไม่บริบูรณ์ ไม่สำเร็จประโยชน์แก่ท่านผู้เป็นครูในพระศาสนา ในการแต่งอรรถาธิบายแลบอกสอนบาลีแลอรรถกา ท่านจึงคิดจะรจนาหนังสือชื่อนี้ขึ้นใหม่ ในภาษามคธเลือกอักขรตัวหนึ่งๆ ซึ่งมีที่ใช้ในพงะพุทธวจนะ เรียบเรียงขึ้นไว้ให้สมแก่พระบาลี แลจะเรียกชื่อว่า เอกักขรโกสอย่างเดียวกันฯ

เวลานั้น แคว้นตัมพะเกิดภัย ด้วยมีข้าศึกนอกแคว้นข้างทิศอุดรยกมาตีเมือง ทั้งโรคภัยโจรผู้ร้ายความขัดสนอาหารก็มีขึ้น ผู้คนทั้งคฤหัสถ์บรรพชิตถึงความพินาศ แลกระจัดพลัดพรายไปจากถิ่นฐานฯ หนังสือบาลีอรรถกถาแลปกร์ณต่างๆ ก็สูญหายไปด้วยเพลิงบ้าง กระจัดกระจายไปอื่นบ้างฯ บรรพชิตที่รอดจากภัยเหลืออยู่น้อย ก็มีจิตป่วนปั่นไม่เป็นอันขวนขวายชำระบอกกล่าวเล่าเรียนคัมภีร์ ในเวลานั้นพระอาจารย์นี้เห็นว่า เมื่อบ้านเมืองเป็นเช่นนี้ การเรียนพระปริยัติธรรมก็จักขาด แต่นั้นปฏิบัติก็จักขาดตามกัน คฤหัสถ์บรรพชิตปฏิบัติผิดแล้วก็จักพากันไปทุคคติ เมื่อตนไม่คิดยกย่องปริยัติแลปฏิบัติไว้ ทีนั้นใครเล่าจักอาจทำเช่นนั้น

กี่เมื่อท่านรจนาคัมภีร์นี้ไว้ในอนาคตกาลเมื่อภัยสงบแล้ว กุลบุตรผู้ประกอบด้วยศรัทธาเป็นลัชชี มีศีลออกบวชเพื่อพ้นทุกข์ได้อาศัยปกรณ์นี้แล้ว ก็จักมีอุตสาหะเล่าเรียนปริยัติ แลเอาใจใส่ในปฏิบัติสัทธรรมทั้งสองฝ่าย ก็จะมั่งคั่งแพร่หลาย ไม่ขาดสูญตลอด ๕,๐๐๐ พรรษา เมื่อเป็นเช่นนี้ คนในตัมพะรัฐก็จะพากันยินดี ในการบำเพ็ญปริยัติแลปฏิบัติ แลในกุศลมีทานศีลเป็นต้น จะได้ไปสวรรค์แลบรรลุพระนิพพานตามอุปนิสสัย พระอาจารย์มีใจกอปรด้วยกรุณาฉะนี้ จึงได้รจนาปกรณ์นี้แลคัมภีร์อื่นๆ

ความประสงค์ของผู้รจนาหนังสือนี้ ดูเหมือนจะอธิบายความแห่งอักษรตัวเดียวๆ อันมือรรถหลายอย่างฯ อักษรเช่นนั้น นอกจากนามแลนิบาต สำหรับเป็นพยางค์ (Syllable) เข้าประกอบเป็นศัพท์ มีอุทาหรณ์ดังต่อไปนี้

อ อักษร

มีอรรถว่าเจริญหรือใหญ่ ได้ในคำว่า อเสขา ธมฺมา ธรรมของท่านผู้ใหญ่กว่าพระเสขะฯ (อุทาหรณ์นอกคัมภีร์ ผลาผลํ ศัพท์นี้ ตัตบทสนธิว่า ผล อผลํ แปลว่าผลไม้น้อยแลผลไม้ใหญ่) ฯ

มีอรรถว่า แม้น ได้ในคำว่า อมนุสฺโส (ที่แปลว่ามีใช่มนุษย์นั้นอรรถก็คือ) แม้นมนุษย์ฯ

มีอรรถว่า อื่น ได้ในคำว่า อัพยากตา ธัมมา (ที่แปลว่าธรรมอันบัณฑิตไม่พยากรณ์ว่าเป็นกุศลหรืออกุศล อรรถก็คือ) ธรรมอันอื่นจากที่พยากรณ์ดังนี้ฯ

มีอรรถว่า น้อย ได้ในคำว่า อนูทรา กญฺญา (ที่แปลว่า หญิงสาวหาอุทรมิได้ อรรถก็คือ) มีอุทรย่อมฯ (อุทาหรณ์นอก อโรโค ที่แปลว่า หาโรคมิได้ ก็คือมีโรคน้อย)ฯ

มีอรรถว่า นินทา ได้ในคำว่า อราชา พระราชาผู้ไม่สมควร (อุทาหรณ์นอก อเนสนา ความแสวงหาเลี้ยงชีพอันไม่สมควร)ฯ

มีอรรถว่า ผิดกัน หรือตรงกันข้าม ได้ในคำว่า อกุศลา ธมฺมา ธรรมทั้งหลายที่ตรงกันข้ามต่อกุศลฯ (อุทาหรณ์นอก อโลโภ ธรรมที่ตรงกันข้ามต่อโลก)ฯ

มีอรรถว่า เว้น ได้ในคำว่า อปุตฺตกํ สาปเตยฺยํ สมบัติเง้นจากบุตร

มีอรรถว่า ว่าง ได้ในคำว่า อภิกฺขุโก อาวาโส (ที่แปลว่าอาวาสไม่มีภิกษุ ก็คือว่างจากภิกษุฯ

ก อักษร

มีอรรถว่า สรีระ ได้ในคำว่า กรชกาโย ที่แปลว่า กายเกิดแต่ธุลีมีในกาย

มีอรรถว่า น้ำ ได้ในคำว่า กมลํ คือดอกบัว แปลว่าประดับน้ำฯ

มีอรรถว่า ศีรษะ ได้ในคำว่า เกสา คือผม แปลว่าเกิดบนศีรษะฯ

กุ อักษร

มีอรรถว่า แผ่นดิน ได้ในคำว่า กุญฺชโร คือช้าง แปลว่าทำแผ่นดิน

มีอรรถว่า เลว หรือลามกได้ในคำว่า กาปุริโส บุรุษลามก (ในที่นี้แปลง กุ เป็นกา) ฯ (อุทาหรณ์นอก กุทิฏฺฐิ ความเห็นผิด)ฯ

โค อักษร

มีอรรถว่า วัว ได้ในคำว่า (นอก) ว่า โคยูโถ ฝูงโคฯ

มีอรรถว่า อินทรีย์ ได้ในคำว่า โคจโร ที่เป็นบทวิเสสนะของธรรม แปลว่าธรรมเป็นที่เที่ยวแห่งอินทรีย์มีจักษุเป็นต้น นี้ได้แก่อารมณ์มีรูป เป็นต้นฯ

มีอรรถว่า แผ่นดิน ได้ในคำว่า โครกฺขา แปลว่ารักษาแผ่นดิน ได้แก่ การทำนา

มีอรรถว่า พระอาทิตย์ ได้ในคำว่า โคกัณ์ฑโก คือดอกทานตวันฯ (อุทาหรณ์นอกโคจร ทางเดิรแห่งพระอาทิตย์ ได้แก่วิถีในอากาศ)ฯ

มา อักษร

มีอรรถว่า พระจันทร์ ได้ในคำว่า ปุณ์ณมา ปุณ์ณมี แปลว่าดิถีมีพระจันทร์เพ็ญ

มีอรรถว่า นับได้ในคำว่า มานนํ เครื่องนับฯ

มีอรรถว่า สิริ ได้ในคำว่า มัน์ธาตา เป็นพระนามพระเจ้าแผ่นดิน แปลว่าทรงไว้ซึ่งสิริฯ

มีอรรถว่า ปฏิเสธ ได้ในคำว่า มา อวจุต์ถ ท่านทั้งหลายอย่าได้กล่าวแล้วฯ

คำที่ชักมาพอเป็นตัวอย่างนี้ เลือกเฉพาะที่มีในภาษามคธเกลื่อนกลาด พอแสดงความประสงค์ของผู้รจนา แลประโยชน์ของปกรณนี้ว่าเป็นอย่างไร ฯ

แต่ท่านผู้แต่งหาได้ตั้งอยู่ในหลักนี้ทีเดียวไม่ มุ่งแต่จะให้เลอียดมีศัพท์มากๆ ไม่ขาด ครั้นถึง ฏ วรรค ก็ต้องเที่ยวเก็บแคะได้เต็มทีอยู่แล้ว ยังไม่ยาก ถึง ณ อักษร ไม่มีตัวอย่างในภาษามคธ จึงต้องเก็บมาจากเอกักขรโกสของเก่าลงไว้อย่าให้ขาดได้ ฯ

ได้สอบดิกชันนารีสันสกฤต ของโปรเฟสเซอ โมเนีย วิลเลียมส์ มีว่า ณ อักษร เป็นปุงลิงค์ แปลว่าความรู้, ความแน่นอน, ความสอบสวน, เครื่องประดับ, น้ำ แลอื่นอีกหลายอย่าง; แต่ไม่ได้วางอุทาหรณประกอบไว้ด้วย ไม่พอจะเข้าใจว่าในภาษาสันสกฤตใช้ในความอย่างไรฯ

ในฎีกาเอกักขรโกส ชักอุทาหรณ ณ มีอรรถว่าญาณ ได้ในคำว่าณัฏ์โฐ แปลว่าผู้ตั้งอยู่ในญาณ ได้แก่นักปราชญ์ฯ ณ มีอรรถว่าออกไป ได้ในคำว่า คามโณ สมโณ สมณออกไปจากบ้านฯ สองศัพท์นี้ ไม่เคยพบในภาษามคธเลย ในภาษามคธมีแต่ ฐ อักษรท้ายศัพท์ได้ในคำว่า มค์คัฏ์โฐ ท่านผู้ตั้งในมรรค ผลัฏโฐ ท่านผู้ตั้งในผล คามโณ พบในภาษาสันสกฤตว่า ค์รามณ แต่แปลว่ามาจากนายบ้านฯ แล ฐ ท้ายศัพท์นั้น เป็นธาตุ (Root) ต่างจาก ณ ที่เป็นปัจจัย (Affix)

ใคร่ครวญถึงมูลเหตุแห่งศัพท์เหล่านี้ สันนิษฐานว่าจะเกิดขึ้นในเวลาเล่นภาษาจัดเด็ดเอาแต่ท้ายศัพท์ไว้อักษรเดียว ใครเฟื่องในภาษาจึงจะแปลออกฯ ลองเทียบตัวอย่างได้หลายคำ ญาณํ ความรู้หรือ ปัญญา, นิคฺคม ณํ ออกไป, (ตามวิธีอนุโลมแก่ภาษาสันสกฤต) อาภรณํ เครื่องประดับ, นิรูปณํ สอบสวน, ล้วนแต่ลง ณ อักษรข้างท้ายทั้งนั้น ถ้าจะประกอบว่า ณฏฺโฐ จะแปลว่าตั้งอยู่ในเครื่องประดับ ก็เป็นอันไม่ได้อยู่เอง เทียบในภาษาไทยก็ได้แก่เก็บอักษรคำต้นที่เรียกว่าหัวใจ เช่น หัวใจอิติปิโส แลอื่นๆ เก็บเอาแต่คำท้ายก็มีเหมือนกัน อีกอย่างหนึ่ง เช่นเด็กๆ เคยเล่นต่อคำต่างว่าขึ้นต้น กุ ใครมีความคิด ก็ต้องต่อว่ากุหลาบ กุลา กุแหละ กุเรา และอื่นต่อไป คิดดูก็เห็นว่าเป็นอุบายให้เด็กฉลาดในคำพูดอยู่ การใช้แต่เดิมก็จะเป็นแต่คำพูดเล่นในหมู่หนึ่ง ต่อมา เมื่อเล่นคำประพันธ์ จะต้องการคำแปลคำสั้น จึงใช้ต่อออกไปก็อาจเป็นได้

ตามคำอธิบายทั้งปวงนิ้ สันนิษฐานเห็นว่า ณัฏฐศัพท์ มีที่มาจริงแต่ทางสันสกฤตยังไม่แพร่หลายมาในภาษามคธ ท่านผู้แต่งบาลีฎีกาเอกักขรโกส ชักนำเข้ามาในภาษามคธแต่ก็ไม่ปรากฎว่าใครได้ใช้ตาม ก็มีอยู่แต่ในหนังสือ หากจะมีในคัมภีร์สัททาวิเสสอื่นอิกก็มือยู่แต่ในหนังสือเหมือนกัน คราวหลังหลวงประเสริฐอักษรนิติจะเรียงพจนานุกรม มีอัธยาศัยชอบอะไรแปลกๆ แลทิ้งหลักแห่งหนังสือที่เรียงเช่นเดียวกับท่านผู้รจนาเอกักขรโกสในภาษามคธ ชักนำเข้ามาได้ในส่วนภาษาไทย ที่ว่าออกจากมคธอีกต่อหนึ่งฯ

ตามเหตุปรารภ หนังสือพจนานุกรมนั้น ควรจะเก็บศัพท์ต่า งๆ ที่ได้นำมาใช้ในหนังสือไทยแล้วทั้งนั้น หากจะเรียงปทานุกรมภาษามคธสำหรับเป็นแบบเล่นเรียน ก็ควรใช้ศัพท์สามัญที่เป็นภาษาทั่วๆ ไป ฯ

อันผู้จะแต่งแบบเรียนควรมุ่งรสของภาษาเป็นใหญ่ ไม่ควรเห็นแก่ความแปลก การเล่าเรียนที่สืบมา ก็ย่อมอาศัยแบบแผนที่แต่งเป็นหลักของภาษาทั้งนั้นฯ

----------------------------

ที่ ๓๐๐

วันที่ ๑๘ เมษายน รัตนโกสินทรศก ๑๒๔

ขอประทานกราบเรียน ท่านเจ้าพระยาวิชิตวงษ์วุฒิไกร เสนาบดีกระทรวงธรรมการทราบ

ด้วยมีบัญชาให้เกล้ากระผมไปเฝ้าพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส โดยพระบรมราชกระแสเรื่อง ณัฏฐศัพท์ ในหนังสือพจนานุกรมนั้น เกล้ากระผมได้ไปเฝ้าตามบัญชีแล้วมีรับสั่งสอบถาม เกล้ากระหม่อมก็ได้กราบทูลชี้แจงในเรื่องศัพท์นั้นแล้ว จึงมีรับสั่งให้เกล้ากระผมเรียบเรียงอรรถาธิบาย เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายทราบใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทโดยอาคตฐานที่มา ดังจะได้กราบเรียนต่อไปนี้

คือ เดิมพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงดำรงราชานุภาพ ได้โปรดเกล้าฯ ให้เกล้ากระผมเป็นแม่กองทำหนังสือพจนานุกรม รวบรวมหนังสือเรื่องต่างๆ ที่จินตกวีบางท่านได้แปลถวายพระองค์ท่าน พร้อมกับเจ้าพนักงานออฟฟิศบางนายเป็นผู้ช่วย แล้วเกล้ากระผมได้ตรวจสอบและแปลเพิ่มเติมตามที่ขาดตกบกพร่อง แล้วเรียงอักษรตั้งแต่ กอ เป็นลำดับมา ครั้นมาถึงอักษร ณ ในคำไทยมีใช้อยู่แต่ ณ คำเดียวซึ่งแปลว่า ใน ว่า เหนือ เท่านั้น เกล้ากระผมจึงค้นหาต่อไปได้พบ ณ อักษรในคำภีร์ เอกักขรโกส ในคาถาที่ ๔๖ มีว่า ญาณสฺมึ นิคฺคตมฺหีจ ณกาโร สมุทีริโต ความว่าตัว ณ โบราณาจารย์กล่าวว่ามีอรรถเป็นไปในญาณคือความรู้ และ นิคฺคต คือผู้ออกไป แต่ยังไม่มีอุทาหรณ์พอแก่ความเข้าใจจึงได้ค้นต่อไปในฎีกา ได้พบคำว่า ณฏฺโฐติ วุจฺจเต พุทฺโธ ความว่าบุทคลผู้พุทธ นักปราชญ์เรียกว่า ณัฏฐ จึงมาได้ณัฏฐศัพท์ในที่นี้ แต่ยังหาได้ความในศัพท์นั้นชัดไม่ แล้วมาได้พบอีกนัยหนึ่งว่า ณฺฏโฐติ ญาณสฺมิ ฐิโต ความว่า บัณฑิตผู้ตั้งอยู่ในญาณนั้น เรียกว่า ณัฏฐ เมื่อเกล้ากระผมได้พบณัฏฐศัพท์ มีที่มาโดยเนื้อความดังนี้แล้ว จึงได้นำมาเรียบเรียงไว้ในลำดับอักษรของหนังสือพจนานุกรม การเป็นดังกราบเรียนมานี้ ขอได้โปรดนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

เกล้ากระผม หลวงประเสริฐอิกษรนิติ

----------------------------

  1. ๑. หลวงประเสริฐอักษรนิติ (แพ ตาลลักษมณ เปรียญ) ภายหลังได้เป็นที่พระยาปริยัติธรรมธาดา

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ