ประชุมพระราชปุจฉา ภาคที่ ๒ พระราชปุจฉาในรัชกาลที่ ๑ ตอนที่ ๑

พระราชปุจฉาที่ ๑ ความว่า

สิ่งซึ่งมีผู้อุทิศเป็นกัลปนาในอารามนั้นๆ แต่กาลก่อนเป็นต้น ซึ่งบัดนี้ยับเยินสาบสูญแล้ว จะควรทำประการใดจึงจะไม่มีโทษ ?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๑ สมเด็จพระสังฆราช แลพระราชาคณะ ๑๒ รูปถวายวิสัชชนาว่า

สิ่งซึ่งอุทิศเป็นกัลปนาของอารามใด มิควรนำไปอุทิศบูชาในอารามอื่น แต่ถ้าอารามเดิมไม่มีผู้รักษา จะนำมารักษาและปฏิสังขรณ์ในอารามอื่นก็ควร ถ้าเป็นพระพุทธรูปใหญ่โตนัก นำมามิได้ จะเอาทรัพย์ที่เป็นกัลปนาไปจำหน่ายเป็นสัมภาระ ทำเป็นร่มขึ้นก็ได้ตามสมควร ส่วนทรัพย์ที่เหลือจะนำไปสร้างพระไตรปิฎก แล้วจารึกอุทิศฉะเพาะอารามนั้น แต่นำไปรักษาไว้ในอารามอื่นไปพลางก่อน จนกว่าจะมีผู้รักษาในอารามนั้น แล้วจึงส่งคืน ก็ควรสิ่งอื่นเป็นกุฎี และเตียงตั่งของสงฆ์ หรือของเจดีย์ ก็เช่นเดียวกัน แต่ทั้งนี้เป็นแต่สิกขาบทห้ามพระภิกษุฝ่ายเดียว ฝ่ายฆราวาสหากล่าวว่ามีโทษไม่

พระราชปุจฉาที่ ๒ แยกข้อความเป็น ๕ ข้อ คือ

ข้อ ๑ ที่ว่าสรรพสัตว์ทั้งปวงที่เกิดมาในวัฏฏสงสาร ล้วนเป็นญาติกัน ก็ในสาสนาพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระพุทธองค์ที่ล่วงมาแล้วนั้น ปรทัตตูปชีวีเปรตที่เป็นญาติของพระเจ้าพิมพิสารนั้น มิได้เป็นญาติกับคนที่เกิดในศาสนาพระเจ้าทั้ง ๓ พระองค์นั้นบ้างหรือ จึงได้ทนทุกขทรมานรอพระเจ้าพิมพิสารอยู่ถึง ๓ ชั่วพุทธันดร

ข้อ ๒ อายุของปรทัตตูปชีวีเปรตอันเป็นเศษบาปจากนรก เหตุไรจึงยืนกว่าสัตว์ในมหาอเวจีนรก ?

ข้อ ๓ อายุสัตว์ในอเวจีมหานรกนั้น กำหนดตด้วยกัลป์แผ่นดินหรืออันตรากัลป์

ข้อ ๔ พระปัจเจกโพธิและพระยาจักรพรรดิ์จะเกิดขึ้นเมื่อสิ้นศาสนาพระเจ้าแห่งเราหรือไม่ ?

ข้อ ๕ พระอินทร์และเทวดาองค์ใหม่ จะได้วิมานและบริวารขององค์เก่า หรือได้เป็นส่วนบุญของตนเอง ?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๒ พระองค์ ๑๖ รูป มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน ถวายวิสัชชนาว่า

ข้อ ๑ เมื่อครั้งศาสนาพระพุทธเจ้าทั้ง ๓ พระองค์นั้น หมู่ญาติมิได้รฤกถึง หรือรฤกถึงและได้อุทิศไป หากแต่เปรตมิได้อนุโมทนา เพราะหมู่เปรตจะพ้นทุกข์ได้ด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ ญาติได้บำเพ็ญกุศลและอุทิศไปให้ ๑ เปรตเหล่านั้นได้อนุโมทนา ๑ ปฏิคาหฺก รับทาน เป็นผู้ควรแก่ทักษิณา ๑ ผลทานจึงจะสำเร็จแด่หมู่เปรต จนมาถึงผลทานแห่งพระเจ้าพิมพิสาร

ข้อ ๒ ข้อนี้เป็นด้วยโทษที่ตนเบียดเบียฬของที่ท่านอุทิศให้แก่สงฆ์ประมาณเก้าหมื่น และขอยงที่อุทิศถวายพระเจ้าและโทษเผาโรงทานเป็นโทษอันใหญ่หลวง

ข้อ ๓ กำหนดด้วยอันตรากัลป์ คือ นับอายุมนุษย์ตั้งแต่ ๑๐ ปี ขึ้นไปถึง ๑๐๐ ปีๆทวีขึ้นปีหนึ่ง จนถึงอสงไขย แล้วลดลง ๑๐๐ ปี ถยอปีหนึ่งลงมาจนคงอยู่ ๑๐ ปี ดังนี้ชื่ออันตรากัลป์

ข้อ ๔ เมื่อสิ้นศาสนาพระเจ้าแห่งเราแล้ว อายุสัตว์น้อยต่ำกว่า ๑๐๐ ปีลงไปจน ๑๐ ปีนั้น พระปัจเจกโพธิและพระยาจักรพรรดิ์ มิได้บังเกิด ถ้าอายุสัตว์เจริญขึ้นตั้งแต่ ๑๐๐ ปีไปจนถึงอสงไขย พระปัจเจกโพธิและพระยาจักรพรรดิจึงจักบังเกิด

ข้อ ๕ เทวบุตรองค์ใดองค์หนึ่งมีพระอินทร์เป็นต้น ที่มีทิพยวิมานและบริวารเป็นอันมากนั้น เมื่อจุติแล้ววิมานและบริวารยังคงอยู่ ถ้าเทวบุตรเกิดใหม่มีบุญควรจะได้ ก็ได้มรดกขององค์ก่อน ส่วนบริวารองค์ก่อนนั้นก็ย่อมจะจุติไปบ้าง เทวบุตรลางองค์ก็ได้ทิพยวิมานและบริวารด้วยบุญแห่งตนเอง แต่ถ้าเป็นอากาศวิมานแล้ว เมื่อเจ้าของจุติ วิมานและบริวารก็จุติสูญไป เหตุว่าสมบัตินั้นหาควรแก่เทวบุตรองค์อื่นไม่

พระราชปุจฉาที่ ๓ ความว่า

เมื่อมาฆมานพเป็นพระอินทร์ ก็มีช้างเอราวัณ และสมบัติอื่นๆ เกิดด้วยบุญ แต่เมื่อผู้อื่นได้เป็นพระอินทร์ต่อไปนั้น จุติขึ้นไปแต่มนุษย์หรือ ๆ เทวบุตรอยู่ในชั้นนั้นเลื่อนขึ้นเป็นพระอินทร์ และจะมีช้างเอราวัณและสมบัติอื่นเหมือนมาฆมานพหรือไม่ ?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๓ สมเด็จพระสังฆราช พร้อมด้วยพระราชาคณะ ๑๕ รูป ถวายวิสัชชนาว่า

ถ้าบุทคลบำเพ็ญกุศล สมควรระได้เป็นพระอินทร์แล้วก็ย่อมจะได้บังเกิดเป็นพระอินทร์ ส่วนการสร้างกุศลนั้น ก็มีต่างๆ กัน แต่หลักสำคัญบุทคลจะได้เป็นพระอินทร์ต้องบำเพ็ญวัตตบท ๗ ประการ ส่วนสมบัติของพระอินทร์ก็ย่อมต่างๆ กัน แต่สมบัติอันเป็นหลักฐานเช่น บัณฑุุกัมพลศิลาอาศน์ ไม้ปาริกชาติ นันทนอุทยาน เป็นต้นนั้น ย่อมตั้งอยู่ตราบเท่าสิ้นภัททกัลป์ และช้างเอราวัณนั้นก็เกิดขึ้นด้วยอานุภาพเทวบุตรนิรมิต แม้ถึงเทวบุตรองค์นั้นจุติแล้ว ก็ย่อมมีเทวบุตรอื่นนิรมิตเป็นช้างเอราวัณถวายพระอินทร์ ตามประเวณีมาแต่ก่อน

พระราชปุจฉาที่ ๔ แยกพระราชปุจฉาเป็น ๔ ข้อ คือ

ข้อ ๑ เหตุไรจึงนับอายุมนุษย์ตั้งแต่ ๑๐ ปีขึ้นไปจนถึงอสงไขย แต่อสงไขยลงมาจน ๑๐ ปี ว่าชื่ออันตรากัลป์ซึ่งเป็นกำหนดอายุสัตว์ในอเวจี ?

ข้อ ๒ โทษอนันตริยกรรมทั้ง ๕ กับโทษญาติพระยาพิมพิสารกินของสงฆ์เผาโรงทาน ช้างไหนจะหนักเบากว่ากัน ?

ข้อ ๓ ถ้ากัลป์ฉิบหายวันใด สัตว์ในอเวจีมหานรกที่พ้นทุกข์ในวันนั้นจะพ้นทุกข์ไปทีเดียวหรือๆ กรรมจะให้ผลสืบไปในกัลปอื่นอีก ?

ข้อ ๔ โทษเปรตญาติพระยาพิมพิสาร ว่าเบากว่าอนันตริยกรรม กรรมนั้น ครั้นไฟบรรลัยกัลป์มา ก็ว่าพ้นโทษ ได้ไปเกิดในพรหมโลก ส่วนเปรตพวกนี้เหตุไรจึงต้องทรมานในจักรวาฬนี้ จักรกาลโน้น ช้านานถึง ๙๒ แผ่นดิน ?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๔ สมเด็จพระสังฆราช พร้อมด้วยพระราชาคณะ ๑๕ รูป ถวายวิสัชชนาว่า

ข้อ ๑ วิธินับอันตรากัลป์นั้นมี ๒ ประการ คือ ถ้านับอายุแผ่นดินว่านาน ๖๔ อันตรากัลป์ ให้นับแต่อสงไขยลงมาถึง ๑๐ ปี แล้วนับ ๑๐ ปีขึ้นไปถึงอสงไขยเป็นอันตรากัลป์ ๑ ถ้านับอายุอเวจีให้นับอายุมนุษย์ตั้งแต่ ๑๐ ปีขึ้นไปถึงอสงไขย แต่อสงไขยลงมาถึง ๑๐ ปีเป็นอันตรากัลป์ ๑

ข้อ ๒ โทษอนันตริยกรรมทั้ง ๕ เป็นครุกรรมโทษหนักแต่มีกำหนดสิ้นโทษเร็ว โทษเปรตญาติพระยาพิมพิสารกินของสงฆ์ เผาโรงทาน เป็นพหุลกรรม โทษมากยืดยาว กว่าจะสิ้นโทษนั้นช้านาน

ข้อ ๓ ถ้ากัลป์ฉิบหายวันใด สัตว์ในอเวจีนรกก็พ้นทุกข์ในวันนั้นทีเดียว กรรมหาให้ผลสืบไปในกัลปอื่นอีกมิได้

ข้อ ๔ โทษกินของสงฆ์เผาโรงทาน เช่น เปรตผู้เป็นญาติพระยาพิมพิสารนั้น ชื่อว่าพหุลกรรมเป็นโทษช้านานยืดยาว แม้จะได้เสวยทุกขเวทนาไม่สาหัสเหมือนอนันตริยกรรมก็จริง แต่เป็นอปราปรเวทนียกรรมให้ผลยืดยาวช้านาน เมื่อไฟบรรลัยกัลป์ไหม้แผ่นดินให้สูญสิ้น และสัตว์อื่นไปเกิดในสวรรค์แล้ว อกุศลกรรมจึงยกเปรตจำพวกนี้ไปทนทุกขทรมานอยู่ในจักรวาฬอื่นอีกช้านานถึง ๙๒ แผ่นดิน

พระราชปุจฉาที่ ๕

มีพระบาลีกล่าวว่า เมื่อแรกปฐมกัลป์ พระโพธิสัตว์ได้เป็นกษัตริย์ ชื่อว่าพระเจ้ามหาสมมติวงศ์ แต่อีกแห่งหนึ่งว่า พระโพธิสัตว์ได้เป็นพระอินทร์ในต้นภัททกัลป์นี้ เนื้อความทั้ง ๒ นี้เถียงกันอยู่ พระโพธิสัตว์เป็นพระเจ้ามหาสมมติวงศ์หรือเป็นพระอินทร์แน่ ?

อีกประการหนึ่ง ที่มาฆมานพได้เป็นพระอินทร์นั้น ได้บำเพ็ญกุศลในภัททกัลป์นี้ หรือในกัลป์อื่น

แก้พระราชปุจฉาที่ ๕ สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะ ๑๕ รูป ถวายวิสัชชนาว่า

เมื่อแรกตั้งปฐมกัลป์ พระโพธิสัตว์เป็นพระยามหาสมมติวงศ์นั้น หาได้มีพระบาลีกำหนดวันเดือนปีว่าเท่าใดมิได้ แต่ที่มีพระบาลีว่า พระโพธิสัตว์ได้เป็นพระอินทร์ในต้นภัททกัลป์ เป็นภายหลังพระเจ้ามหาสมมติวงศ์มาช้านาน แต่ทว่าในระยะกาลที่พระอรรถกถาจารย์เรียกปฐมกัลป์ด้วยกัน ฉะนั้นการที่มาฆมานพได้เป็นพระอินทร์ ก็บำเพ็ญกุศลในภัททกัลป์นี้

พระราชปุจฉาที่ ๖ แยกพระราชปุจฉาเป็น ๓ ข้อ คือ

ข้อ ๑ มีพระบาลีว่า อสูรคิดถึงต้นปาริกชาติในดาวดึงส์ จึงขึ้นไปทำสงครามกับพระอินทร์ เห็นเป็นหนึ่งว่าต้นปาริกชาติเกิดอยู่ก่อนพระอินทร์มาฆมานพ

ข้อ ๓ ถ้าต้นปาริกชาติเกิดภายหลัง เพราะบุญของพระอินทร์มาฆมานพแล้ว จะเป็นไม้ประจำดาวดึงส์ได้หรือ ? และถ้าเป็นไม้ประจำดาวดึงส์แล้ว จะว่าเกิดเพราะบุญมาฆมานพได้หรือ ?

ข้อ ๓ ที่ว่าเมื่อแรกตั้งปฐมกัลป์ หามีดาวดึงส์ไม่ มิแต่สุทัศนะนครเป็นที่อยู่ของเนวาสิกเทวดา ต่อเมื่อพระอินทร์กับพวกขึ้นไปขับไล่เนกาสิกเทวดาลงมาอยู่ในอสูรพิภพ ที่นั้นจึงได้ชื่อว่าดาวดึงส์สืบมา ถ้าดังนั้นจักรวาฬอื่นไม่มีพระอินทร์หรือ และเรื่องพระอินทร์วิวาทกับอสูรนั้นมีทุกจักรวาฬหรือไม่ ?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๖ สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะ ๑๕ รูป ถวายวิสัชชนาว่า

ข้อ ๑ พระอินทร์บังเกิดก่อน ต้นปาริกชาติบังเกิดภายหลังด้วยบุญของพระอินทร์ และที่อสูรขึ้นไปทำสงครามกับพระอินทร์นั้น ก็เพราะเห็นต้นแคฝอยอันเป็นไม้ใหญ่ประจําทวีปของตนเผล็ดดอก จึงชวนให้นึกถึงต้นปาริกชาติ และพิภพเดิมของตน

ข้อ ๓ มีพระบาลีกล่าวว่า ต้นปาริกชาติเกิดภายหลังด้วยบุญของพระอินทร์ เป็นไม้ใหญ่ประจำดาวดึงส์ แม้ต้นแคฝอยประจำทวีปในอสูรพิภพ ก็เกิดขึ้นภายหลังด้วยบุญพวกอสูร เมื่อพวกอสูรไปอยู่แล้ว ถึงต้นไม้ใหญ่ประจำทวีปอีก ๕ แห่งนั้นก็ดี มิได้มีพระบาลีว่าเกิดพร้อมกับตั้งกัลป์ตั้งแผ่นดิน มีพระพุทธเจ้าตรัสว่า ไม้ประจำทวีปก็เพราะว่าเกิดขึ้นในส่วนเป็นปฐมแล้วมีอายุยืนไปชัวกัลป์แผ่นดิน

ข้อ ๓ ในจักรวาฬอื่น ก็มีพระอินทร์เหมือนกัน แต่พระอินทร์ในจักรวาฬอื่น จะวิวาทกับอสูรเหมือนมงคลจักรวาฬนี้หรือไม่ ยังมิได้พบพระบาลีกล่าวไว้

พระราชปุจฉาที่ ๗ ความว่า

ถ้าบุทคลผู้ใดได้พลั้งพลาดในสงฆ์ จะมีวิธีขมาลุกโทษประการใด โทษนั้นจึงจะหายบริสุทธิ์

แก้พระราชปุจฉาที่ ๗ ถวายวิสัชชนาว่า

ผู้ใดด่าพระอริยเจ้า พระสงฆ์ ถ้าขอขมาโทษแล้วก็หาย ถ้าท่านไปเสียที่อื่น จะตามไปมิได้ ให้ขมาในสำนักพระมหาเถระหรือภิกษุรูปใดรูปหนี่ง ถ้าท่านมรณภาพแล้วให้ขมาในที่เผา ถ้ากินของสงฆ์ ต้องใช้ให้มากกว่าของเดิมหลายร้อยหลายพันเท่า จึงหมดโทษ เว้นไว้แต่ที่เปนมหันตโทษๆ นั้นไม่หาย

พระราชปุจฉาที่ ๘ ความว่า

ที่กล่าวถึงผลานิสงส์อันยิ่งหย่อนกว่ากันโดยลำดับ ตั้งแต่บุคคลิกทาน, สังฆทาน, วิหารทาน ถึงพระไตรสรณคมน์ และรักษาศีลด้วย, จำเริญเมตตาภาวนา, เห็นพระไตรลักษณ์ล้วนมีอานิสงส์ยิ่งกว่ากันเป็นลำดับ ถ้าจะเทียบดังได้บำรุงยกพระศาสนาข้างใดจะมีผลานิสงด์มากกว่ากัน

แก้พระราชปุจฉาที่ ๘ ถวายวิสัชชนาว่า

ทั้งนี้กล่าวโดยอาศัยไตรสรณคมน์เป็นโลกีย์ ศีลเป็นโลกุดร และเมตตาภาวนาซึ่งถึงอัปนาถาน และการเป็นพระไตรลักษณ์อันใกล้มรรคผลอยู่แล้ว ถ้าเป็นบุถุชน และรักษาพระไตรสรณคมน์, ศีล ๕, ศีล ๘, อันเป็นโลกีย์จำเริญเมตตายังมิได้ถึงฌาน จำเริญวิปัสสนา มิได้ถึงมรรคผล จะนับว่ามีผลานิสงส์ยิ่งกว่าทำนุบำรุงยกย่องพระศาสนายังมิได้ เพราะการทำนุบำรุงยกย่องพระศาสนาเป็นปฏิบัติบูชา มีผลานิสงส์มากกว่าสิ่งเหล่านั้น

พระราชปุจฉาที่ ๙ แยกพระราชปุจฉาเป็น ๒ ข้อ คือ

ข้อ ๑ บุทคลในจักรวาฬอื่นรักษาศีล ๕, ศีล ๘, ศีล ๑๐ หรือไม่ ถ้ารักษาศีล ผู้ใดสั่งสอนให้รู้จักองค์แห่งศีล เมื่อไม่รู้จักองค์ศีล จะจัดเอาเป็นศีลได้หรือไม่ ?

ข้อ ๒ บุทคลเป็นนิยตมิจฉาทิฏฐิ ถ้าประพฤติต้องเข้าในศีล ๕ ศีล ๘ จะจัดเอาเป็นศีลได้หรือไม่ ถ้าเป็นศีลได้แล้วจะไปโลกันตนรกหรือไม่ ?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๙ ถวายวิสัชชนาว่า

ข้อ ๑ ศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ประการ เป็นโลกบัญญัตินักปราชญ์ปฏิบัติสืบๆ กันมา เห็นว่ามีรักษากันทั่วไปในจักรวาฬอื่น เช่นดาบสฤๅษีอันเป็นธรรมวาที ย่อมอธิษฐานศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ นี้ด้วยตนเอง แล้วสั่งสอนผู้อื่นให้รักษา, ชาวอุตตรกุรุก็รักษาศีล ๕ เป็นปกติ ดั่งนี้ เป็นต้น

ข้อ ๒ ถ้าประพฤติต้องเข้าในศีล ๕ ศีล ๘ ก็เห็นว่าเป็นศีลได้ ชื่อว่าสัมปัตตวิรัติศีล แต่ถึงมาตรว่าปฏิบัติต้องเข้าในสัมปัตตวิรัติศีลก็ดี ถ้านิยตมิจฉาทิฏฐิเหล่านั้น ยังมิได้ละทิฏฐิอันผิดแล้วยังถือว่าทำบุญไม่ได้บุญ ทำบาปไม่ได้บาป และมิได้นับถือคุณพระรัตนตรัย ครั้นตายไป ก็ต้องไปตกในโลกันตนรก อานิสงส์สัมปัตตวิรัติศีลหาอาจช่วยได้ไม่

พระราชปุจฉาที่ ๑๐ แยกพระราชปุจฉาเป็น ๓ ข้อ คือ

ข้อ ๑ อานิสงส์แห่งสัมปัตตวิรัติศีล ซึ่งนิยตมิจฉาทิฏฐิปฏิบัติ พอเข้าแล้วๆ นั้น จะพลอยสิ้นสูญไปด้วยหรือจะให้ผลสืบไป ?

ข้อ ๒ ธรรมดาศีลแห่งพระพุทธมารดานั้น เกิดด้วยบารมีของพระพุทธมารดา หรือเกิดด้วยอานุภาพบุญแห่งพระโพธิสัตว์ ?

ข้อ ๓ บุทคลอันเป็นนิตยมิจฉาทิฏฐินั้น จะได้พ้นจากสังสารทุกข์สำเร็จแก่พระนิพพานหรือหามิได้ ?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๑๐ ถวายวิสัชชนาว่า

ข้อ ๑ อานิสงส์แห่งสัมปัตตวิรัติศีลนั้น เป็นอปราปรเวทนียกรรม ซึ่งโทษนิยตมิจฉาทิฏฐิกำหนดที่สุตแห่งทุกข์ ถ้าโทษนั้นเคลื่อนคลายเมื่อใด สัมปัตตวิรัติศีลจะให้สำเร็จผลเมื่อนั้น หาสูญไม่

ข้อ ๒ ธรรมศีลแห่งพระพุทธมารดานั้น เกิดด้วยบารมีของพระพุทธมารดา และอานุภาพบุญแห่งพระโพธิสัตว อันเป็นปัจฉิมภวิกชาติประกอบกัน

ข้อ ๓ นิยตมิจฉาทิฏฐิบุทคลนั้น จะพ้นมาจากโลกันตนรกได้ด้วยกุศลอันเป็นอปราปรเภทนียกรรม และเมื่อได้มาเกิดในมนุษย์โลกแล้ว ถ้าได้บำเพ็ญกุศลเป็นวิวัฏฏคามีกุศลปราถนาพระนิพพาน ก็จะได้พ้นจากทุกข์ได้สำเร็จแก่พระนิพพาน แต่ทว่าเนิ่นนานหนักหนา จะกำหนดด้วยพระพุทธญาณนั้นมิได้

พระราชปุจฉาที่ ๑๑ ความว่า

แก้วแหวนเงินทองทีผู้มีศรัทธาสร้างเป็นพระพุทธรูปพระสถูปเจดีย์ หรือบูชาได้เป็นของพระรัตนตรัย ภายหลังโจรลักไปทำลายหรือนำมาขาย ผู้ไม่รู้ซื้อไว้ใช้สอยก็ดี หรือของเหล่านั้นทำลายไปเอง มีผู้ขุดร่อนได้มิทราบว่าเป็นของสงฆ์ นำมาใช้สอยเอง หรือให้ปันผู้อื่นก็ดี ทั้งนี้จะมีโทษหรือหาไม่ ?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๑๑ ถวายวิสัชชนาว่า

แก้วแหวนเงินทองเหล่านั้น เมื่อตกเป็นของบุทคลแล้ว มีผู้ซื้อหาแลกเปลี่ยนบริโภคใช้สอย ด้วยเจ้าตัวมิได้เห็นไม่ได้ยิน ไม่รังเกียจสงสัย เข้าใจว่าเป็นของบริสุทธิ์แล้วก็หาโทษมิได้ เพราะกรรมทั้งหลายมีเจตนาเป็นของสำคัญ เช่นเดียวกับภิกษุฉันเนื้ออันบริสุทธิ์สามประการ

พระราชปุจฉาที่ ๑๒ ความว่า

ที่ว่าเมื่อกัลป์ฉิบหายแล้ว พระอริยเจ้าในชั้นสุทธาวาสมหาพรหม ชวนกันลงมาดูดอกปทุมชาติอันเป็นบุพพนิมิตในแผ่นดิน ถ้าเห็นดอกปทุมชาติ ก็รู้ว่า จะมีพระพุทธเจ้าบังเกิดในกัลป์นั้น เท่าจำนวนดอกบัว เป็นอสูญกัลป์ ถ้าไม่เห็นมีก็รู้ว่า กัลป์นี้ ปราศจากผู้มาตรัสเป็นพระพุทธเจ้า เป็นสูญกัลป์ ถ้าแผ่นดินเป็นสูญญกัลป์ ติดต่อกัลป์ไปตั้งหลายแสนกัลป์แล้ว พระอริยเจ้าในชั้นสุทธาวาสมหาพรหมที่มีอายุยืนตั้งหลายหมื่นกัลป์ ก็ไปนิพพานกันหมดแล้ว ใครจะมาดูดอกปทุมชาติอันเป็นบุพพนิมิตรเล่า ?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๑๒ ถวายวิสัชชนาว่า

เมื่อสิ้นพระอริยเข้าในชั้นสุทธาวาสแล้ว ยังแต่ท้าวมหาพรหมอันเป็นบุถุชน ก็พากันลงมาดูปทุมนิมิตรตามประเพณีเช่นเดียวกับพระอริยเจ้าในชั้นสุทธาวาสมหาพรหม แต่ทว่าต่อนานๆ จึงจะมีสักครั้ง

พระราชปุจฉาที่ ๑๓ ความว่า

เรื่องพระพุทธโฆษาจารย์ถวายพระธรรมเทศนาว่า พระโพธิสัตว์เกิดเป็นพระยากระต่ายในกำเนิดสัตว์เดียรัจฉาน ว่ามีปัญญาเกิดพร้อมมาแต่ปฏิสนธิจิตต์ อันเป็นอเหตุกปฏิสนธิจิตฝ่ายบาป ก็ปัญญาเป็นชาติกุศล เกิดพร้อมกับอกุศลจิตต์ได้หรือ ? ข้อความนี้ไม่ต้องด้วยพระพุทธฎีกาหรือประการใด ?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๑๓ พระพุทธโฆษาจารย์ถวายพระพรรับสารภาพว่า

อาตมภาพถวายพระธรรมเทศนาเป็นสติสัมโมหะ ปราศจากปัญญา ถือแต่วาระพระบาลี มิได้ทันพิจารณาในอรรถาธิบาย จึงเข้าใจโดยอรรถอันผิด ขอพระราชทานอภัยโทษ

พระราชปุจฉาที่ ๑๔ ความว่า

พระโพธิสัตว์ที่ได้บำเพ็ญบารมีจนได้ลัทธยาเทศในสำนักพระพุทธเจ้า ว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ย่อมไม่ไปเกิดในจักรวาฬอื่น ส่วนพระสาวกที่ได้บำเพ็ญบารมีจนได้ลัทธยาเทศแล้ว จะไปบังเกิดในจักรวาฬอื่นบ้างหรือไม่ ?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๑๔ ถวายวิสัชชนาว่า

พระสาวกที่บำเพ็ญบารมีจนได้ลัทธยาเทศแล้ว มิได้ไปบังเกิดในจักรวาฬอื่น ด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ อธิการมีทานบริจาคเป็นฉันทาธิการอันยิ่งนัก ๑ ฉันทตา คือมีความปราถนาเป็นฉันทาธิบดีมั่นในอรหันตภูมิ มิได้จลาจลหวั่นไหว ๑

พระราชปุจฉาที่ ๑๕ ความว่า

ผู้สมาทานศีล ๕ แล้ว ไปประมาท ขาดศีล กับบุทคลมิได้สมาทาน แต่ไปกระทำปาณาติบาต อทินนาทานเป็นต้น ใครจะมีโทษมากกว่ากัน ? และผู้สมาทานศีล ๘ แล้วประมาทขาดศีล หรือรักษาไปไม่ได้ลาศีลเสียก่อน หรือทำศีลให้ต่างพร้อย จะมีโทษเป็นประการใด ? ถ้าดังนั้นไม่รับรักษามิดีกว่าหรือ?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๑๕ ถวายวิสัชชนาว่า

ผู้ได้รับศีล ๕ หรือมิได้รับก็ดี เมื่อล่วงศีลพร้อมด้วยองค์แล้ว ก็ชื่อว่าขาดศีลเหมือนกัน แต่ผู้รับศีล โทษน้อยเพราะมีเมตตาและเมตตาจิตต์ และหิริโอตตัปปะ ส่วนผู้มิได้รับศีล มีโทษมาก เพราะปราศจากหิริโอตตัปปะ ส่วนผู้สมาทานศีล ๘ แล้วประมาทขาดอพรหมจริยา เป็นโทษให้เดือดร้อนกินแหนงเศร้าหมอง เป็นคลองอกุศลกรรมบถ จะให้ไปสู่อบายภูมิ ส่วนอีก ๓ ข้อ ไม่เป็นคลองแห่งอกุศลกรรมบถ แต่เป็นโทษในบัญญัติ ทำให้ศีลทั้งปวงเศร้าหมอง ส่วนผู้ที่รับศีล ๘ แล้ว รักษาไปไม่ได้ ลาเสีย ก็เป็นโทษตามตำแหน่งศีล แต่ทว่าเบากว่ามิได้ลา (นอกนั้นมิได้แก้โดยตรง)

พระราชปุจฉาที่ ๑๖ ความว่า

เมื่อพระพุทธศาสนาครบ ๕๐๐๐ ปีแล้ว ก็สิ้นกาลกำหนดแล้ว ถ้ามีผู้ประทุษฐร้ายแก่เจดีย์ฐานใดๆ ซึ่งยังปรากฎอยู่จะมีโทษหรือหามิได้ ?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๑๖ ถวายวิสัชชนาว่า

เมื่อพระพุทธศาสนาครบ ๕๐๐๐ ปีแล้ว ถ้าบุทคลมีเจตนาเป็นอกุศลไปกระทำประทุษฐร้ายในเจดีย์ฐานนั้นๆ ผู้นั้นก็ได้บาปมาก.

----------------------------

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ