พระราชปุจฉาที่ ๓ ว่าด้วยเรื่อง จตุโลกบาล

พระที่นั่งบรรณาคมสรณีย์

วันที่ ๓๐ ธันวาคม ร.ศ. ๑๒๑

กราบทูล กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส

ด้วยเดี๋ยวนี้กำลังค้นเรื่องจตุโลกบาล เพื่อประกอบการเขียนที่วัดเบญจมบพิตร ได้ตรวจดูทุกแห่งซึ่งจะพึงมีกล่าวถึง ทั้งภายในภายนอกพระพุทธศาสนา ได้ความว่าแตกกันไปบ้างซึ่งจะทูลให้ทรงทราบในหนังสือนี้ก็จะยืดยาวไป

ข้อปัญหาเช่นในอาฏานาฏิยสูตร ท้าววิรุฬหกเป็นเจ้าแห่งกุมภัณฑ์ ส่วนคาถาท้ายอาฏานาฏิยปริตในสิบสองตำนานว่าเป็นเจ้าแห่งเทวดา คำซึ่งกล่าวผิดกันนี้ เกิดด้วยเหตุใดขอให้ทรงวินิจฉัย ส่วนความต้องการที่จะทราบเพื่อสอบสวน ต้องการว่าท้าวมหาราชองค์ใดรูปแลชาติ วรรณ อาวุธ อย่างไร เป็นเจ้าแก่บริษัทหมู่ใด ถ้าได้ทอดพระเนตรเห็นแห่งใดฤๅจะค้นได้ในที่แห่งใด ขอได้โปรดให้ทราบด้วย

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

สยามินทร

----------------------------

 

แก้พระราชปุจฉาที่ ๓

วัดบวรนิเวศวิหาร

ที่ ๒๑๙

วันที่ ๓๑ ธันวาคม ร.ศ. ๑๒๑

ขอถวายพระพร

พระราชหัตถเลขาลงวันวานนี้ ได้รับพระราชทานแล้ว ความแผกกันเรื่องท้าวจตุโลกบาลนั้น ได้เคยพบอยู่ แลลงสันนิษฐานว่าเป็นเพราะความเข้าใจหรือความอนุมานเป็นไปในเวลาต่างกัน แต่ยังหาได้เคยรวบรวมไว้แห่งเดียวกันไม่ จะขอค้นถวายก่อน หวังว่าบางทีจะได้ข่าวในหนังสือของพวกข้างเหนือด้วย เรื่องเทวดาของพวกข้างใต้อยู่ข้างจะมีน้อยกว่าของเรา

ควรมิควรสุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรด

ขอถวายพระพร

กรมหมื่นวชิรญาณ

----------------------------

เรื่อง ท้าวโลกบาล

จำนวนท้าวโลกบาล

ในตำรับพราหมณ์ ท้าวโลกบาลมี ๘ องค์

๑. พระอินทร์ ประจำ ทิศบูรพา

๒. พระเพลิง ประจำ ทิศอาคเนย์

๓. พระยม ประจำ ทิศทักษิณ

๔. พระอาทิตย์ ประจำ ทิศหรดี นางนิรฤติ ก็ว่า

๕. พระพิรุณ ประจำ ทิศประจิม

๖. พระพาย ประจำ ทิศพายัพ

๗. ท้าวกุเวระ ประจำ ทิศอุดร

๘. พระจันทร์ ประจำ ทิศอีสาน

นางพระธรณี หรือพระอิศวร ในเพศแห่งพระอีสาน ก็ว่าตามตำรับนี้ อนุทิศทั้ง ๔ ได้ชื่อตามท้าวโลกบาลผู้ประจำอยู่นั้น

ในตำรับข้างพวกถือพระพุทธศาสนา ทั้งฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ ท้าวโลกบาลมี ๔ องค์ :-

๑. ท้าวธตรฐ ประจำ ทิศบูรพา

๒. ท้าววิรุฬหก ประจำ ทิศทักษิณ

๓. ท้าววิรูปักข์ ประจำ ทิศประจิม

๔. ท้าวกุเวระ ประจำ ทิศอุดรท้าวเวสวัณก็เรียกแต่องค์เดียวกัน

ในหนังสือธรรมสังคหะของพวกฝ่ายเหนือ (๑ ก) กล่าวถึงท้าวโลกบาลเป็นพวกๆ ท้าวโลกบาล ๔ ก็มี ๘ ก็มี ๑๔ ก็มี แต่ไม่ได้ระบุให้ครบว่า องค์ไหนประจำทิศไหน ท้าวโลกบาล ๔ ต้องกันกับข้างหลังเป็นแต่เรียกนามเป็นภาษาสันสกฤต ท้าวโลกบาล ๘ ก็ต้องกัน แต่ไม่กล่าวปริกัปเล็งตรงลงไปว่า พระอินทร์ พระยม พระพิรุณ ท้าวกุเวร พระอีสาน พระเพลิง พระไนรฤตะ พระพาย ท้าวโลกบาล ๑๐ เติมพระพรหมประจำทิศเบื้องบน พระกฤษณ์ประจำทิศเบื้องต่ำ ท้าวโลกบาล ๑๔ คือ ท้าวโลกบาล ๑๐ กับเติมพระจันทร์ พระอาทิตย์ นางพระธรณี อสูรเข้าด้วย ในหนังสือนี้ไม่มีคำพรรณานา แสดงแต่เพียงชื่อเท่านี้

คำพรรณนาเฉพาะท้าวโลกบาล ๔ องค์

ในบาลีมหาสมัยสูตรพรรณนาไว้ดังนี้

๑. ท้าวธตรฐ เป็นอธิบดีของพวกคนธรรพ์ ครองทิศบูรพา

๒. ท้าววิรุฬหก เป็นอธิบดีของพวกกุมภัณฑ์ ครองทิศทักษิณ

๓. ท้าววิรูปักข์ เป็นอธิบดีของพวกนาค ครองทิศประจิม

๔. ท้าวกุเวระ เป็นอธิบดีของพวกยักษ์ ครองทิศอุดร

เพราะคำว่า ททฺทลฺลมานา รุ่งเรืองอยู่ ได้ชื่อว่าพรรณนาว่าท้าวจตุโลกบาลนั้น มีรัศมี

ในอาฏานาฏิยสูตร พรรณนาความเช่นเดียวกัน ต่างแต่โวหารและไม่ได้กล่าวถึงรัศมี กับมีข้อแปลกออกไปคือ กล่าวถึงเมืองของท้าวกุเวระซึ่งจะมีแจ้งข้างหน้า เพราะคำว่า รมติ นจฺจคิเตหิ ยินดีด้วยรำและขับร้อง ได้ชื่อว่า พรรณนาว่า ท้าวจตุโลกบาลนั้นโปรดการเล่นเช่นนั้น

ในหนังสือพุทธศาสนาฝ่ายจีน กล่าวความเค้าเดียวกัน แต่มีแปลกกันบ้าง ดังนี้

๑. ท้าวธฤตราษฎระ เป็นอธิบดีของพวกคนธรรพ์กับพวกไวษชะ (ซึ่งไม่ทราบว่าอะไร) อภิบาลทวีปในทิศบูรพา

๒. ท้าววิรุฒกะ เป็นอธิบดีของพวกกุพานฺท อภิบาลทวีปในทิศทักษิณ คือชมพูทวีป

๓. ท้าววิรูปากษะ เป็นอธิบดีของพวกนาค กับพวกปูตนา (คือพวกผีผู้หญิงที่คอยทำร้ายทารก) อภิบาลทวีปในทิศประจิม

๔. ท้าวไวศฺรวณะ เป็นอธิบดีของพวกยักษ์ และพวกรากษส (คือพวกอสุรกาย?) อภิบาลทวีปทิศเหนือ

เพราะคำว่า Warlike มีท่ารบ ได้ชื่อว่า พรรณนาว่า ท้าวจตุโลกบาลนั้น มีอาการเป็นทหารเข้มแข็ง

ในอภิธานัปปทีปิกา กล่าวชื่อทวีป ๔ นั้น เรียงลำดับดังนี้ ปุพฺพวิเทหะ อปรโคยาน ชมพูทวีป อุตฺตรกุรุ ตามนัยนี้ ได้ชื่อว่าเรียงลำดับทิศดังนี้ บูรพา ประจิม ทักษิณ อุดร ท่วงทีเดียวกับลำดับทิศในบาลีมหาวรรคพระวินัย และบาลีอริยวังสิกสูตร แต่ในที่ ๒ แห่งนั้น เรียงทิศอุดรไว้ก่อนทิศทักษิณ ในธรรมสังคหะ เรียงลำดับทวีปดังนี้ ปูรฺววิเทห ชมฺพูทวีป อปรโคทานิ (อปรโคทานก็เรียก) อุตฺตรกุรุ ตามนัยนี้ ได้ชื่อว่าเรียงลำดับทิศดังนี้ บูรพา ทักษิณ ประจิม อุดร เช่นเดียวกันกับลำดับทิศในมหาสมัยสูตร

และอาฏานาฏิยสูตรได้ความว่า

๑. ทวีปในทิศบูรพา ชื่อบูรพวิเทหะ

๒. ทวีปในทิศทักษิณ ชื่อชมพูทวีป

๓. ทวีปในทิศประจิม ชื่ออปรโคยาน (อปรโคทาน)

๔. ทวีปในทิศเหนือ ชื่ออุตตรกุรุ

คนธรรพ์และเจ้าของเขา

คนธรรพ์นั้น กล่าวต้องกันทั้งฝ่ายพราหมณ์ และฝ่ายพวกถือพระพุทธศาสนาว่าเป็นพวกบรรเลงดนตรีบำเรอเทวดา ในหนังสือปทานุกรมว่าด้วยชื่อต่างๆ ในเรื่องฮินดู มีคำพรรณนาว่า พวกคนธรรพ์ในคัมภีร์เวทนั้น มีที่อยู่ในอากาศ (อากาสัฏฐกเทวดามีหน้าที่แต่งน้ำโสมะสำหรับเทวดา เขาพอใจในสตรี และมือำนาจทำให้พวกสตรีรักคนธรรพ์ ในชั้นหลัง ก็มีอาการดุจเดียวกัน มีหน้าที่แต่งน้ำโสมะ เข้าใจในโอสถ มีตบะเคร่งครัด และชอบสตรี คนธรรพ์ในพิภพของพระอินทร์ เป็นพวกขับประโคมบำเรอเทวดาในเวลาสโมสรเสพโภชนาหาร ต่อนี้ผู้เรียงปทานุกรมนี้ ชักคำที่กล่าวในที่อื่นอันแผกกันมาแสดงว่า ในหริวังวังศกล่าวว่าพวกคนธรรพ์มีเจ้าชื่อ จิตฺรรถ และมีนางอัปสรเป็นคู่ เมืองของพวกคนธรรพ์นั้น เล่าว่ารุ่งเรืองยิ่งนัก ในวิษณุปุราณเล่าเรื่องพวกคนธรรพ์รบกับพวกนาคในบาดาล พวกคนธรรพ์ชนะ เข้ายึดพิภพและสมบัติของพวกนาค พวกนาคทูลขอให้พระพิษณุทรงช่วย ท้าวเธออวตารเป็นบุรุษชื่อ ปุรุกุตฺสะ ให้นาง นรฺมทา น้องสาวพวกนาคนำลงไปบาดาลปราบพวกคนธรรพ์

ในท้ายอาฏานาฏิยปริตรสิบสองตำนาน กล่าวชื่อพวกนี้ว่า ภูต ถ้าได้แก่พวกไวษชะ ก็เข้ากันได้ ไม่เช่นนั้น ก็แปลกไปส่วนหนึ่ง เว้นได้แต่จะประสงค์ว่า เป็นผู้ที่มิใช่เทวดาแท้.

เจ้าของพวกคนธรรพ์นี้ ในตํารับของพวกถือพระพุทธศาสนาชื่อท้าวธตรฐ ในภาษามคธ ชื่อท้าวธฤตราษฎระ ในภาษาสันสกฤต มีลักษณะและอาการอย่างไร ยังไม่เคยพบในตำรับของพวกฝ่ายใต้ ในหนังสือพุทธศาสนาฝ่ายจีน ผู้รจนาเล่าถึงรูปที่ทำไว้ในวัดที่ประตูโบสถ์ ท้าวธฤตราษฎระ มีหน้าสีขาบ ถือพิณ พอดีดขึ้น โลกย่อมคอยฟัง บางคนกล่าวว่า พอดีดขึ้น ค่ายของพวกพวกศัตรูเกิดไฟไหม้ทันที (แยกสันนิษฐาน)

ตามคำในปทานุกรมว่าด้วยชื่อต่างๆ ในเรื่องฮินดู โวหารหนึ่งว่าพระอินทร์เป็นเจ้าของพวกคนธรรพ์ อีกโวหารหนึ่งว่า จิตฺรรถ คำหลังไม่มีอธิบายอะไร นอกจากแปลศัพท์ว่า มีรถอันวิจิตร

กุมภัณฑ์และเจ้าของเขา

พวกนี้เข้าใจต่างกันไป บ้างก็ว่าเป็นพวกผี บ้างก็ว่าเป็นพวกเทวดา ที่ว่าเป็นพวกผีนั้น ดังแสดงในบาลีอาฎานาฏิยสูตร ว่า เยน เปตา ปวุจฺจนฺติ เป็นต้น ความว่า พวกคนส่อเสียด เบียตเบียนผู้อื่นเลี้ยงชีพ ดุจกินเนื้อที่หลัง เป็นพรานทำปาณาติบาต เป็นโจรและล่อลวงเขา ผู้ตายไปแล้ว ท่านกล่าวไว้ในทิศใด ทิศนั้นแต่นี้ไป มหาชนเรียกทิศทักษิณที่ท้าวมหาราชผู้มียศ อธิบดีของพวกกุมภัณฑ์ มีนามว่า ท้าววิรุฬหก อภิบาลอยู่ ตามคำนี้ได้ความว่า พวกคนประพฤติหยาบช้าที่ตายไป ชื่อว่ากุมภัณฑ์ ที่ว่าเป็นพวกเทวดานั้น ดังแสดงในอรรถกถาแห่งอาฏานาฏิยสูตรนั้นเอง พระคันถรจนาจารย์เข้าใจว่า พวกกุมภัณฑ์เป็นเทวดา จึงพรรณนาความแห่งคำว่า เยน เปตา ปวุจฺจนฺติ แก้เข้าหาความเข้าใจของตนว่าคนตาย และคนหยาบช้า มีคนเจรจาส่อเสียด เป็นต้น เขากล่าวกันว่า เขานำออกไปจากเมืองทางทิศใด เพื่อเผา หรือเพื่อประหารชีวิต แล้วแก้บท กุมฺภณฺฑานํ ต่อไปว่า เต กิร เทวา เป็นต้น ความว่า ได้ยินว่า เทวดาเหล่านั้น มีท้องใหญ่ มีตัวล่ำ แต่สั้นเหมือนหม้อเหตุดังนั้น เขาจึงเรียกว่า กุมภัณฑ์ ในท้ายอาฏานาฏิยปริตรสิบสองตำนาน ว่าเป็นเทวดาเหมือนกัน และในอภิธานัปปทีปิกาก็ว่า กุมฺภณฺโฑ เทวเภเท จ ศัพท์ว่ากุมภัณฑ์ จัดเข้าในประเภทแห่งเทวดาด้วย ในตำรับของพวกฝ่ายเหนือยังไม่พบคำอธิบาย แสดงแต่ชื่อว่า กุพานฺท ซึ่งไม่มีคำแปลในที่ไหน แต่จะได้แก่ศัพท์ว่า กพนฺธ ที่แปลว่าซากศพไม่มีศีรษะบ้าง ผีไม่มีศีรษะบ้างกระมัง ในตำรับพราหมณ์ ศัพท์นี้ไม่มี ท่านอาจารย์โมเนีย วิลเลียมส์ ชักเอามาแสดงในปทานุกรมสันสกฤตก็ว่า กุมฺภาณฺฑ ศัพท์นี้มีในตำรับข้างพระพุทธศาสนา เป็นชื่อของผี และพรรณนาไปตามรูปศัพท์ว่ามีอัณฑะใหญ่เหมือนหม้อ.

เจ้าของพวกกุมภัณฑ์นี้ ในตำรับของพวกถือพระพุทธศาสนา ชื่อท้าววิรุฬหกในภาษามคธ ชื่อท้าววิรุฒก ในภาษาสันสกฤต ในหนังสือพุทธศาสนาฝ่ายจีน ผู้รจนาเล่าถึงรูปที่เห็นเขาทำไว้ว่า ท้าววิรุฒก มีหน้าดำ ท่าทางดุร้าย ถือดาบ.

ส่วนในอรรถกถาแห่งอาฬาวกสูตร ในสุตตนิบาต กล่าวว่า พระยมมีดวงตาเป็นอาวุธ ถ้าท้าวเธอโกรธถลึงตาแลดูแล้ว พวกกุมภัณฑ์หลายๆ พันพินาศระเนนไปเหมือนหญ้าและใบไม้ในกระเบื้องอันร้อนจัดดังนี้ ดูเหมือนท่านผู้กล่าวเข้าใจว่า พระยมเป็นเจ้าของพวกกุมภัณฑ์ สมกับลัทธิของพวกพราหมณ์ว่า พระยมเป็นโลกบาลประจำทิศทักษิณ.

ในปทานุกรมว่าด้วยชื่อต่างๆ ในเรื่องฮินดู พรรณนาพระยมว่าในคัมภีร์เวท พระยมเป็นเจ้าแห่งมรณะ (ทีได้แก่พระยามัจจุราช) วิญญาณของผู้ตายแล้วไปอยู่กับท้าวเธอ แต่ในมนต์อื่นกล่าวว่า เป็นมนุษย์คนแรกที่ตายและไปขึ้นสวรรค์ แต่นี้ผู้แต่งชักเอาคำของผู้อื่นมาแสดง บางแห่งกล่าวว่า ในฤคเวทไม่ได้แสดงว่าพระยมเป็นผู้ลงโทษแก่คนประพฤติมิชอบ ถึงอย่างนั้นก็ยังเป็นผู้ที่น่ากลัว เขาแสดงท้าวเธอไว้ว่ามีสุนัขที่ตะกลามจัด ๒ ตัว มันมีสี่ตา รูจมูกกว้าง คอยรักษาทางแห่งภพของท้าวเธอ คนตายผู้ไปทั้งนั้นดัยงรืบผ่านไปให้เร็ว

สุนัข ๒ ตัวนี้ เขากล่าวว่าท้าวเธอใช้ให้เที่ยวไปไนหมู่คน เพื่อเรียกเขาไปหาเจ้าของตัว บางแห่งก็ว่า ท้าวเธอใช้นกให้มาเที่ยวบอกลางร้าย ในที่บางแห่งกล่าวว่า พระยมนั้น เป็นเจ้าของวิญญาณที่ละร่างไปแล้ว และเป็นผู้พิพากษาของผู้ตาย วิญญาณเมื่อละร่างไปแล้ว ต้องไปสู่ภพของท้าวเธอในชั้นต่ำ นายยมบาลชื่อจิตรคุปต์ผู้ถือบัญชี ก็อ่านเรื่องของผู้นั้นจากบัญชีใหญ่ แล้วผู้นั้นก็ได้รับคำพิพากษา ให้ขึ้นไปเกิดในสถานของพวกปิตฺฤ (คือบรรพบุรุษ หรือภุมมเทวดา) บ้าง ให้ไปตกนรกในชั้นต่างๆ กันบ้าง ให้มาเกิดในมนุษย์โลกนี้ใหม่บ้าง ตามสมควรแก่กรรมที่กระทำ อนึ่ง พระยมเป็นโลกบาลประจำทิศทักษิณ เขาแสดงลักษณะและอาการไว้ว่ามีสีเขียว (ใบไม้) ทรงภูษาแดง ทรงมหิงส์เป็นพาหนะ ทรงกระบองใหญ่และเชือกบาศเป็นอาวุธ

ในเทวทูตสูตร ก็กล่าวว่า พระยมเป็นผู้พิพากษาของผู้ตายเหมือนกัน แต่กล่าวเฉพาะแต่ผู้ประพฤติทุจริตว่า พอตายไปเกิดในนรก นายนิริยบาลจับตัวไปถวายพระยม ท้าววเธอตรัสซักถามว่า ได้เห็นเทวทูต ๓ คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย บ้างหรือไม่ เมื่อผู้นั้นทูลว่าได้เห็น ท้าวเธอตรัสซักถามต่อไปว่า เช่นนั้น ไฉนไม่คิดบำเพ็ญกุศลบ้างเล่า เมื่อผู้นั้นทูลว่ามัวประมาทเสีย แต่นั้นท้าวเธอพิพากษาว่า นายนิริยบาลเขาจักทำกะเจ้าตามฐานเป็นคนประมาทเสีย ไม่บำเพ็ญกุศล บาปกรรมนี้ ไม่มีใครทำให้ เจ้าทำของเจ้าเอง เจ้าจักต้องเสวยผลของบาปกรรมนั้นเอง แล้วนิ่งอยู่ นายนิริยบาลก็นำผู้นั้นไปลงโทษต่างๆ ตามสมควรแก่กรรมที่กระทำนั้น.

พวกนาคและเจ้าของเขา

พวกนี้เข้าใจต้องกันทั้งฝ่ายพราหมณ์และฝ่ายผู้ถือพระพุทธศาสนาว่า เป็นชาติงูมีภพอยู่ภายใต้ เรียกบาดาล ฝ่ายพราหมณ์กล่าวตามหนังสือปทานุกรมว่าด้วยชื่อต่างๆ ในเรื่องฮินดู จัดเป็นพวก เทวดากลายๆ มีหน้าอย่างมนุษย์ มีหางอย่างงู มีคอพอกอย่างงู ที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Cobra นาคนั้นมีตั้งพันตระกูล ที่เป็นสตรีมีรูปงาม ได้ร่วมคู่กับมนุษย์ก็มี ฝ่ายพวกถือพระพุทธศาสนา เข้าใจว่า มีปกติเป็นงู แต่จำแลงเป็นมนุษย์ได้ตามใจ และชอบเล่าเรื่องไว้ในที่นั้นๆ เป็นอันมาก

เจ้าของพวกนาคนี้ ในตำรับข้างพระพุทธศาสนา ชื่อท้าววิรูปักข์ ในภาษามคธชื่อท้าววิรูปากฺษ ในภาษาสันสกฤต ในหนังสือพุทธศาสนาฝ่ายจีน ผู้รจนาเล่าถึงรูปที่เห็นเขาทำไว้ว่า ท้าววิรูปากฺษ มีหน้าแดงถือกลดหรือฉัตร (Umbrella) พอกางขึ้น ก็เกิดพายุใหญ่ฟ้าคะนองฝนตก อีกปากหนึ่งว่าพอกางขึ้น ก็เกิดมืดทั่วไปทันที.

ในปทานุกรมว่าด้วยชื่อต่างๆ ในเรื่องฮินดู กล่าวว่าท้าวโลกบาลประจำทิศประจิมนั้น ชื่อพระวรุณ เป็นเทวดาเก่าแก่องค์หนึ่งในคัมภีร์เวท เล็งเอาฟ้าที่ให้สำเร็จสิ่งทั้งปวง เป็นผู้ทำและเป็นผู้รักษาสวรรค์และแผ่นดิน เมื่อเป็นเช่นนี้ ท้าวเธอได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งโลก เป็นเจ้าแห่งเทวดามนุษย์ มีความรู้หาที่สุดมิได้ เป็นเทวดาผู้ใหญ่ เป็นที่นับถือยิ่ง ท้าวเธอเป็นคู่กับเทวดาชื่อมิตร ท้าวเธอเป็นเจ้าแห่งคืน เทวดตาชื่อมิตรเป็นเจ้าแห่งวัน แต่ชื่อของท้าวเธอ มักปรากฏแต่ผู้เดียว ชื่อของเทวดาชื่อมิตร มักเงียบหายไป ในกาลภายหลังมา ท้าววรุณเป็นประธานในหมู่อากาสัฏฐกเทวดาชั้นต่ำเรียกพวกอาทิตย์ และภายหลังแต่นั้นลงมาอีก เป็นเจ้าแห่งทะเลและแม่น้ำ ทรงมังกรเป็นพาหนะ ข้อเหล่านี้ยังเป็นอาการของท้าวเธอ เครื่องหมายของท้าวเธอเป็นปลา ท้าวเธอเป็นโลกบาลประจำทิศประจิม และเป็นดาวนักษัตรฤกษ์

อนึ่ง ในคัมภีร์เวท ท้าวเธอไม่เกี่ยวกับน้ำโดยตรง แต่มีทางที่ท้าวเธอเนื่องกับธาตุแห่งน้ำทั้งในอากาศและในปฐพี ที่ให้เขาพรรณนาอาการและกิจของท้าวเธอเนื่องกับธาตุแห่งน้ำทั้งในอากาศและในปฐพี ที่ให้่เขาพรรณนาอาการและกิจของท้าวเธอเช่นกล่าวแล้วนั้นในคัมภีร์โบราณทั้งหลาย พระวรุณเป็นเจ้าแห่งน้ำ และของติดองค์ของท้าวเธอคือบ่วง ที่เทวดาในคัมภีร์เวทใช้ถือสำหรับผูกศัตรู เรียกว่านาคบาศ ที่ประพาสที่โปรดของท้าวเธอ คือ เขาปุษฺปคิริ และภพของท้าวเธอ ชื่อสุธานครหรือสุขา ท้าวเธอมีกลดหรือฉัตร (Umbrella) ที่น้ำซึมเข้าไม่ได้ ทำด้วยหนังพังพานงู ซึ่งเรียกในภาษาอังกฤษว่า Cobra.

พวกยักษ์กับเจ้าของเขา

พวกนี้เข้าใจต้องกันทั้งฝ่ายพราหมณ์และฝ่ายผู้ถือพระพุทธศาสนา เป็น ๒ อย่าง

๑. เป็นที่ดีควรนับถือ เป็นพวกเทวดากลายๆ เช่นแสดงไว้ในเรื่องมัฏฐกุณฑลีเทวบุตร เป็นคำพราหมณ์พูดแก่มัฏฐกุณฑลีเทวบุตร อตฺถกาโมสิ เม ยกฺข ข้าแต่ยักษ์ ท่านเป็นผู้หวังประโยชน์ที่ควรต้องการแค่ข้าพเจ้า หิตกาโมสิ เทวเต ข้าแต่เทวดา ท่านเป็นผู้หวังประโยชน์เกื้อทูลแก่ข้าพเจ้า บทอาลปนะในคำนี้ คือ ยกฺข ก็ดี เทวเต ก็ดี เป็นคำเรียกมัฏฐกุณฑลีเทวบุตรผู้เดียวกัน.

๒. เป็นเทือกผี แต่เข้าใจจ่าดังจะมีรูปที่จำแลงได้ตามใจ แต่หายตัวก็ได้ มีปกติดุร้าย ตัวแสดงในบาลีอาฏานาฏิยสูตร เข้าใจกันตามประเภทหลังนี้เป็นพื้น

เจ้าของพวกยักษ์นี้ ชื่อท้าวกุเวระ ต้องกันทั้งฝ่ายพราหมณ์ ทั้งฝ่ายพระพุทธศาสนา อีกชื่อหนึ่งเรียกว่าท้าวเวสฺสวณะ ในภาษามคธ ไวศฺรกณะ ในภาษาสันสกฤตและกล่าวว่าเป็นโลกบาลประจำทิศอุดร ก็ถูกกัน.

ในอภิธานัปปทีปิกา กล่าวว่า มีคทาคือกะบองสั้นเป็นอาวุธ มีราชธานีชื่ออาลกา อาลกมันทาก็ชื่อ.

ในอรรถกถาอาฬวกสูตร ในสุตตนิบาต กล่าวว่าท้าวเวสสวัณมีกะบองสั้นเป็นอาวุธ เมื่อครั้งท้าวเธอเป็นบุถุชน ขว้างกะบองไป กะบองนั้นต่อยศีรษะพวกยักษ์หลายพันให้แตกแล้วกลับมาอยู่ในที่มือหยิบถึงอีก.

ในบาลีอาฏานาฏิยสูตร กล่าวว่า ท้าวกุเวระตั้งเมืองอยู่ในอากาศข้างทิศที่อุตตรกุรุทวีป และเขาพระสุเมรุยอดสุทัศน์ (ที่เป็นผาทอง) ตั้งอยู่ มีราชธานี ๒ ชื่อ อาลกมันทา ๑ ชื่อวิสาณา ๑ มีนครอีก ๘ ชื่ออาฏานาฏาเป็นต้น ท้าวเธอครองวิสาณาราชธานีอีก ๙ นคร มียักษ์รัฐกามาตย์เป็นผู้ครอง มีสระโบกขรณี ชื่อธรณี ที่เมฆหอบน้ำไปจากนั้นแล้วและตกเป็นฝน และที่น้ำฝนล้นไหลจากนั้นว่าไปในที่แห่งอื่น ที่ฝังสระมีสภาคารชื่อภคลวตี เป็นที่ประชุมพวกยักษ์ สระนั้นเป็นที่น่าอภิรมย์ มีหมู่ไม้ต่างพรรณประดับ และเซ็งแซ่ด้วยเสียงนกต่างชนิด งามอยู่ทุกเมือง.

ในหนังสือพุทธศาสนาฝ่ายจีน กล่าวว่า ท้าวกุเวระมีหน้าขาวถือนาคบาศและสัตว์ที่ทำร้ายมนุษย์บางอย่าง แต่ท้าวเธอทำมันให้อยู่ในอำนาจและเป็นไปได้ดังใจหวัง.

ในหนังสือปทานุกรมว่าด้วยชื่อต่างๆ ในเรื่องฮินดู กล่าวว่า ในคัมภีร์เวท ท้าวกุเวระเป็นเจ้าของพวกผีที่ชั่วอันอาศัยอยู่ในร่มเงา เรียกว่าไวศฺรวณะตามโคตรบ้าง ภายหลังความเข้าใจเปลี่ยนไปว่า เป็นเจ้าแห่งทรัพย์ และเจ้าแห่งพวกยักษ์และพวกคุหฺยกะ (คือพวกหายตัว) เมืองของท้าวเธอ ชื่ออาลกา เรียกชื่อว่าประภาบ้าง วสุธราบ้าง วสุสฺถลีบ้างก็มี ตั้งอยู่บนเขาหิมาลัย ส่วนชื่อจิตฺรรถ ตั้งอยู่บนเขามันทร ที่เป็นยอดอันหนึ่งของเขาพระเมรุ ที่พวกกินนรบำเรอท้าวเธออยู่ ณ ที่นั้น

บางโวหารกล่าวว่า วิมานของท้าวเธออยู่บนเข้าไกลาส วิษกรรมเทวบุตรเป็นผู้เนรมิต โวหารนี้กล่าวว่า ท้าวเธอสร้างตบะอยู่ตั้งหลายพันปี จึงได้พรจากพระพรหมว่าอย่าให้ตาย ให้อยู่ยั่งยืนเป็นโลกบาลองค์หนึ่งและเป็นเจ้าแห่งทรัพย์เสมอไป ท้าวเธอจึงได้เป็นโลกบาลประจำทิศอุดร และเป็นผู้รักษาทรัพย์แผ่นดินและพระพรหมประทานรถบุษบกเดินไปในอากาศแก่ท้าวเธอ ท้าวเธอมีเทพีเรียกว่า ยักษีบ้าง จารฺวีบ้าง เกาเวรีบ้าง มีโอรสชื่อมณิครี หรือกรรณกวิ ๑ ชื่อนลกุพรหรือมยุราช ๑ มีธิดาชื่อมินากฺษี ๑ เขาแสดงเธอว่าเป็นคนขาว แต่มีรูปร่างวิกล มี ๓ ขา มีฟัน ๘ ซีกเท่านั้น องค์ของท้าวเธอมีเครื่องประดับเต็มไป ท้าวเธอได้ชื่อว่า กุเวระ ก็เพราะหมายความว่า มีองค์น่าเกลียด

สันนิษฐาน

ท้าวจตุโลกบาลกับบริษัท ๔ เหล่า ถึงมีชื่อต่างกันดังแสดงมาในหนหลังแล้วนั้นก็จริง แต่เค้าเงื่อนก็คงเป็นอันเดียวกัน ความเข้าใจค่อยกลายไปโดยลำดับ มนุษย์มีอัธยาศัยค่อยเจริญขึ้น ก็ค่อยเข้าใจ ท้าวจตุโลกบาลเปลี่ยนให้มีจริยาเจริญขึ้นตามอัธยาศัยของตนนั้นแล.

หนังสือที่อ้างถึงในเรื่องนี้

๑. ธรฺมสงฺคฺรหะ ของพวกพุทธศาสนิกฝ่ายเหนือ นักพรตญี่ปุ่นชื่อเกนชิวกสวระ เรียบเรียงไว้ ภายหลังเมื่อเขาถึงมรณะแล้ว อาจารย์แมกซ์มูเลอ ได้ตรวจสอบอีก ลงพิมพ์ที่วิทยาลัยเมืองออกซฟอร์ด เป็นภาษาสันสกฤต.

ก. จำนวนท้าวโลกบาล ข้อที่ ๗ ถึงข้อที่ ๑๐.

ข. ทวีป ๔ ข้อที่ ๑๒๐.

๒. มหาสมัยสูตร มาในทีฆนิกาย มหาวรรค สูตรที่ ๗ สมุดพิมพ์หน้าที่ ๓๐๔ ในสวดมนต์ก็มี สมุดพิมพ์ครั้งแรกหน้า ๕๕.

๓. อาฏานาฏิยสูตร มาในทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สูตรที่ ๙ สมุดพิมพ์หน้า ๒๐๑ ในสวดมนต์ก็มี อยู่ในจตุตถภาณวาร สมุดพิมพ์ครั้งแรกหน้า ๑๒๖.

๕. หนังสือพุทธศาสนาฝ่ายจีน ของหมอเอดกินส์ ครูสอนศาสนา (Chinese Buddhism by Rev. Joseph Edkins, D.D.) หน้า ๒๑๖ กับ ๒๔๐.

๕. อภิธานัปปทีปิกา

ก. ว่าด้วยทวีป ๔ ภูมิวรรค คาถาที่ ๑๘๓.

ข. แก้ศัพท์กุมภัณฑ์ อเนกัตถวรรค คาถาที่ ๑๐๓๐.

ค. อาวุธและภพของท้าวกุเวระ สัคคกัณฑ์ คาถาที่ ๓๒.

๖. บาลีมหาวรรคแห่งพระวินัย เล่ม ๑ มหาขันธกะ ตอนอุปัชฌายวัตร สมุดพิมพ์หน้า ๘๖.

๗. อริยวังสิกสูตร มาในจตุกกนิบาต อังคุตตรนิกาย สมุดพิมพ์หน้า ๓๕.

๘. ปทานุกรมว่าด้วยชื่อต่างๆ ในเรื่อง ฮินดู (The Classical Dictionary of Hindu Mythology by Prof. John Dawson.)

๙. ท้ายอาฏานาฏิยปริตร แบบสิบสองตำนาน ในสวดมนต์ สมุดพิมพ์ครั้งแรกหน้า ๓๙.

๑๐. อรรถกถาแห่งอาฏานาฏิยสูตร มาในสุมังคลวิลาสินีอรรถกถาทีฆนิกาย มหาวรรค ผูก ๗.

๑๑. ปทานุกรมที่ตั้งศัพท์สันสกฤต แปลในภาษาอังกฤษ ของโมเนีย วิลเลียมส์ (Sanskrit-English Dictionary by Prof. Monier Williams)

๑๒. อรรถกถาแห่งอาฬวกสูตร มาในปรมัตถโชติกา อรรถกถาสุตตนิบาต วรรคที่ ๑ ผูก ๑๐.

๑๓. เทวทูตสุตร มาในติกนิบาต อังคุตตรนิกาย สมุดพิมพ์หน้า ๑๗๖.

๑๔. เรื่องมัฏฐกุณฑลีเทวบุตร มาในอรรถกถาแห่งวิมานวัตถุ แต่ชักมากล่าวในอรรถกถาธรรมบท นิทานที่ ๒ บั้นต้น ผูก ๑.

 

  1. ๑. พระราชปุจฉาที่ ๓-๔-๕ นี้ ในต้นฉบับเดิมไม่มี นำมาเพิ่มเติมในการพิมพ์ครั้งนี้ (กรมศิลปากร, พ.ศ. ๒๕๕๐)

 

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ