ประชุมพระราชปุจฉา ภาคที่ ๑ พระราชปุจฉาครั้งกรุงศรีอยุธยา

พระราชปุจฉาสมเด็จพระนารายน์มหาราช ความว่า

ที่ภิกษุปลงสิกขาบทว่า “พุทฺธํ ปจฺจกฺขามิ” แปลว่าข้าพเจ้าจะปลงสรณคมน์ที่สมาทานด้วยอุปสมบทว่า “พุทฺธํ สรณํ” นั้น สรณคมน์มิได้ติดตัวไปด้วยหรือ ?

อนึ่ง เมื่อบวชเป็นภิกษุต้องสวดญัตติเป็นอันมาก ครั้นเมื่อสึก ว่าแต่ ๒-๓ คำ เท่านี้ ก็ขาดจากเป็นภิกษุนั้นเป็นไฉน ?

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ถวายวิสัชชนาว่า

ที่ปลงสรณคมน์นั้น เพื่อให้สรณคมน์สำหรับภิกษุขาดไปเสียก่อน เป็นคฤหัษถ์แล้วจึงสมาทานเอาสำหรับคฤหัสถ์ใหม่ และเมื่อสึกว่าแต่เพียง ๒-๓ คำนั้น เช่นเดียวกับเมื่อจะก่อสร้างย่อมช้า ส่วนการทำลายนั้นทำได้เร็ว

พระราชปุจฉาสมเด็จพระเพทราชา เรื่องปฤษณาธรรม ๘ ประการ ว่า

(๑) ทางใหญ่อย่าเที่ยวจร

(๒) ลูกอ่อนอย่าอุ้มรัด

(๓) หลวงเจ้าวัดอย่าให้อาหาร

(๔) ไม้โกงอย่าทำกงวาน

(๕) ช้างสารอย่าผูกกลางเมือง

(๖) ถ้าจะให้เป็นลูกให้เอาไฟสุมต้น

(๗) ถ้าจะให้ล่มบรรทุกแต่เบา

(๘) ถ้าจะเรียนโหราให้ฆ่าอาจารย์ทั้ง ๔ เสีย

ทั้งนี้หมายความว่ากระไร ?

พระสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ถวายวิสัชชนาว่า

(๑) ทางใหญ่อย่าเที่ยวจร หมายถึงทาง ๒ ทาง คือ กามสุขัลลิกานุโยค ประกอบด้วยกามสุขในเบ็ญจกามคุณทั้งหลาย ๑ อัตตกิลมถานุโยค ประกอบด้วยวัตรปฏิบัติอันให้เกิดทุกข์ลำบากแก่ตน ๑ ทั้งสองนี้นับเป็นทางใหญ่ อย่าให้เที่ยวจรไป

(๒) ลูกอ่อนอย่าอุ้มรัด หมายความว่า ลูกอ่อนนั้น ได้แก่วงศาคณาญาติ และอุ้มนั้น มี ๒ อย่าง อุ้มแล้วรัดอย่าง ๑ อุ้มแต่มิให้รัดอย่าง ๑ อุ้มหมายความว่าอุปการอุดหนุน แต่อย่าอุ้มรัด คืออุปการบำรุงด้วยตัณหาอุปาทาน ให้เป็นแต่อุปการรักษาญาติวงศ์ทั้งหลายแต่ตามประเพณีอันมีเมตตาจิตต์ อย่ารัดให้ติดตัวด้วยสามารถตัณหาอุปาทาน ดุจดังบุคคลอุ้มลูกอ่อน และมิได้รัดเข้าให้ติตตัวฉะนั้น

(๓) หลวงเจ้าวัดอย่าให้อาหาร หมายความว่า หลวงเจ้าวัดได้แก่จิตต์อันเป็นประธานเป็นใหญ่แก่เจตสิกทั้งปวงเช่นเดียวกับหลวงเจ้าวัด อันเป็นประธานแก่ภิกษุลูกวัด ที่ว่าอย่าให้อาหารนั้น คือ อย่าให้จิตต์ยินดีต่ออาหารทั้ง ๕ คือ กวฬึการาหาร ผัสสาหาร มโนสัญเจตนาหาร และวิญญาณาหาร เพราะว่าอาหารทั้ง ๔ นี้ กอบด้วยภัย ๔ ประการ คือ นิกันติภัย อุปคมนภัย อุปปัตติภัย และปฏิสนธิภัย

(๔) ไม้โกงอย่าทำกงวาน หมายความว่า กงวานทั้งปวงเป็นอุปการแก่ลำสำเภาให้แข็งแรงมั่นคง สำเภาที่ไม่มีกงวาน มิอาจทนทานกำลังละลอกในท้องทะเลได้ ก็จะอับปางลง มิอาจข้ามทะเลได้ กงวานนั้นให้เอาไม้ตรงมาทำ อย่าเอาไม้โกงมาทำกงวานฉันใด พระโยคาวจร ผู้ปรารถนาจะข้ามทะเล กล่าวคือสังสารวัฏฏ์ให้ถึงนฤพาน ก็ฉันนั้น อย่าสร้องเสพด้วยคนอันคดอันโกง อันเป็นอสัตบุรุษ ให้สร้องเสพด้วยคนอันซื่อตรง เป็นสัตบุรุษ จึงจะข้ามสงสารถึงนฤพานได้ตามปรารถนา อันว่ากัลยาณมิตรอำมาตย์ทาสกรรมกรนั้นเปรียบด้วยกงวานสำเภา จิตต์แห่งโยคาวจรนั้น ดุจพาณิชนายสำเภาแล

(๕) ช้างสารอย่าผูกกลางเมือง หมายความว่า ช้างทั้งหลายมิได้ยินดีจะอยู่ในเมือง ย่อมยินดีจะอยู่ในแต่ป่าอย่างเดียว ฉันใด พระโยคาวจรผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐานก็ฉันนั้น มิได้ยินดีในสังขารธรรมทั้งปวง แต่ยินดีอยู่ในนฤพาน อันระงับกิเลสธรรมที่ให้เดือดร้อนกระวนกระวาย ช้างสารนั้นคือพระโยคาวจร อย่าผูกนั้น คือ นิพพิทานุปัสสนา กลางเมืองนั้น คือ สังขารธรรม

(๖) ถ้าจะให้เป็นลูกให้เอาไฟสุมต้น หมายความว่า ลูกนั้นได้แก่ผลทั้ง ๔ คือโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผลและอรหัตตผล ไฟนั้นได้แก่มรรคญาณทั้ง ๔ คือ โสดาปัตติมรรค สกทาคามิมรรค อนาคามิมรรค และอรหัตตมรรค ต้นนั้น คือ กิเลสธรรมอันมีอวิชชาตัณหาเป็นมูล พระโยคาวจรผู้ปรารถนาผลทั้ง ๔ นั้นให้พึงเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เผาเสียซึ่งกิเลสธรรมอันเป็นสัญโยชน์ อันเป็นมูลเสีย ดุจว่าเอาไฟสุมต้นไม้ฉนั้น

(๗) ถ้าจะให้ล่มให้บรรทุกแต่เบา หมายความว่า สำเภาอันบรรทุกสินค้าเบามีฝ้ายและผ้าแพรไหมเป็นต้น หามีศิลากดท้องเป็นอับเฉามิได้นั้น พอชักใบกะโดงขึ้นให้เต็มกำลัง ครั้นลมแรงพัดต้องใบนั้น สำเภาก็จะหกคว่ำล่มลงฉับพลัน ถ้ามีศิลาหรือของหนักเป็นอับเฉาแล้ว สำเภานั้นก็มิได้ล่ม และจะท่องเที่ยวไปมาอยู่ในท้องทะเลสิ้นกาลช้านาน อันพระโยคาวจรผู้ปรารถนาจะให้ถึงอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ มิให้บังเกิดในวัฏฏสงสารสืบไปนั้น พึงบรรทุกแต่ของเบา คือกุศลธรรมทั้งหลาย จึงจะพลันถึงนฤพาน มิได้ท่องเที่ยวไปในวัฏฏสงสารดุจสำเภาอันบรรทุกแต่เบาและพลันล่มลงฉะนั้น

(๘) ถ้าจะเรียนโหราให้ฆ่าอาจารย์ทั้ง ๔ เสีย หมายความว่า คัมภีร์โหรานั้นได้แก่วิชชา ๓ คือ ทิพยจักษุญาณ บุพเพนิวาสญาณ และอาสวักขยญาณ, อาจารย์ทั้ง ๔ นั้น ได้แก่อกุศลธรรมทั้ง ๔ คือ โลภะ โทสะ โมหะ และมานะ พระโยคาวจร ผู้ปรารถนาวิชชา ๓ ประการนั้น ก็พึงฆ่าอาจารย์ คือ อกุศลธรรมทั้ง ๔ นั้นเสีย

พระราชปุจฉาสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ

พระราชปุจฉาที่ ๑ เรื่องสังฆภัตร ความว่า

ทายกแต่งจังหันไว้ในบ้านในเรือน แล้วถวายสังฆภัตร ถ้ามีสงฆ์มาแต่รูปเดียว จะได้สงฆ์รูปใดทำอปโลกนกรรม และจังหันที่ทายกถวายแก่สงฆ์ ๆ ฉันเหลือแล้ว สงฆ์ให้จังหันนั้นแก่ผู้ใดๆ กิน ผู้นั้นจะเป็นโทษหรือไม่ ?

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ถวายวิสัชชนาว่า

ไม่พบบาลีในวินัยว่าให้ทำอปโลกนกรรม

ภายหลังได้เชิญประชุมพระราชาคณะ และพระครู ๖ รูป ปรึกษากัน สมเด็จพระพิมลธรรมว่า ถวายจังหันเป็นสังฆภัตร แล้วว่าบาลีเป็นอปโลกนกรรม ในพระวินัยมิได้พบ เห็นแต่ปรัมปราจารย์ทำสืบๆ กันมา สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ว่า ในวินัยบัญญัติว่า ทายกถวายสังฆภัตร สงฆ์รับประเคนแล้ว จึงยกไปชี้บอกแก่พระมหาเถระๆ จึงให้สงฆ์แจกกัน หากบุทคลจะเปรียบเทียบกระทำกัน

และจังหันที่ทายกถวายแก่สงฆ์ ครั้นสงฆ์แจกกันแล้วก็เป็นของส่วนบุทคล ฉันเหลือแล้วให้แก่ผู้ใดกินหาโทษมิได้

(ตอนท้ายสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ถวายวิสัชชนาสังฆภัตร ๑๔ อย่าง และสมเด็จพระพิมลธรรม ถวายวิสัชชนาสังฆภัตร ๑๘ อย่าง)

พระราชปุจฉาที่ ๒ เรื่องอุทิศเทวดาพลี ความว่า

ญาติพี่น้องบำเพ็ญกุศลสิ่งใดๆ ในมนุษยโลกนี้ แล้วอุทิศส่วนบุญนั้นไปให้แก่ญาติผู้เป็นเทวดา ญาติผู้เป็นเทวตาจะได้ส่วนบุญหรือมิได้ ? และส่กนบุญนั้นไปอยู่ที่ไหน ?

สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะ ถวายวิสัชชนาว่า

เทวดาจำพวกใดได้อนุโมทนาล่วนบุญ ซึ่งญาติอุทิศไปให้ ผลบุญนั้นก็เจริญแก่เทวดาผู้นั้น เว้นไว้แต่พรหมโลก เพราะพรหมโลกหน่วงเอาฌานเป็นอารมณ์ มิได้มือารมณ์อื่น ส่วนเทวดาจำพวกใดมิได้อนุโมทนาก็ไม่ได้ และผลบุญนั้นก็เจริญแก่ทายกผู้เป็นเจ้าของทานนั้นเอง

พระราชปุจฉาสมเด็จพระนารายน์มหาราช (เพิ่มเติม ครั้งที่ ๑)

พระราชปุจฉาที่ ๑ ความว่า

พระสงฆ์วัดวังไชยนินทาพระเจ้าแผ่นดินว่ารักแขกเมืองยิ่งกว่าข้าแผ่นดิน จึงให้ขับพระนั้นเสีย ชอบหรือมิชอบ ?

พระพรหมวัดปากน้ำประสบ ถวายวิสัชชนาว่า

ซึ่งสงฆ์นินทาพระเจ้าแผ่นดินนั้นมิชอบ แล้วจึงถามอำมาตย์ผู้รับพระราชโองการมาว่า พระเจ้าแผ่นดินได้ยินเองหรือ ? บอกว่าข้าหลวงได้ยินแล้วกราบทูล พระพรหมว่าถ้าข้าหลวงได้ยินแล้วกราบทูล กูว่าด้วยมิได้ เพราะพระเจ้าแผ่นดินก็ไม่ได้ยิน กูก็ไม่ได้ยิน

พระราชปุจฉาที่ ๒ ความว่า

ในสารสงเคราะห์ว่าชาวอุดรกุรูมิได้เป็นทุกข์ถึงกันนี้ผิดปรมัตถ์ เพราะว่าโลกีย์จะไม่เป็นทกข์กระไรได้

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ถวายวิสัชชนาว่า

เพียงแต่บุคคลจำเริญมรณานุสสติไว้ แต่เมื่อยังดีอยู่ เมื่อมรณะมาถึง ก็บมิได้สะดุ้งตกใจกลัว ก็ชาวอุดรกุรูนั้นตามธรรมดามิได้หวงแหนพัศดุทั้งปวง และศีล ๕ ประการก็ตั้งอยู่ในสันดานมั่นคง จึงมิได้เป็นทุกข์

พระราชปุจฉาที่ ๓ ความว่า

บุทคลเชื่อกรรม เข้าไปในป่า พบช้าง พบเสือ ก็ถือเสียว่าแล้วแต่กรรม ไม่หลบหนี เสือช้างก็ทำร้ายสิ้นชิวิต ดังนี้จะว่ามึกรรมหรือหามิได้ ?

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ถวายวิสัชชนา (ความที่ ๑) ว่า

บุทคลผู้นั้นหาวิจารณปัญญามิได้ ชื่อว่ามีปุพเพกตทิฏฐิวิปลาส เชื่อแต่กรรมที่กระทำแต่ก่อนสิ่งเดียว นักปราชญ์มิควรสรรเสริญ

พระธรรมไตรโลก ถวายวิสัชชนา (ความที่ ๒) ว่า

บุทคลอันถือกรรมและมิได้พิจารณาเหตุอันผิดและชอบนั้น ได้ชื่อว่า ปุพพเหตุกทิฏฐิ เป็นถือผิดประกอบกรรมอันผิด เพราะโมหะ มึกรรมหนหลัง ในที่ใดมีสัตว์ร้ายเสือร้าย พระพุทธเจ้ายังทรงอนุญาตให้ภิกษุขึ้นต้นไม้หนีได้

พระราชปุจฉาที่ ๔ ให้นายสิทธิ์มาถามพระพรหม

นายสิทธิ์ - บัดนี้แขกเมืองเข้ามาเป็นอันมาก จะเห็นเป็นประการใด ?

พระพรหม - บุญสมภารพระเจ้า (แผ่นดิน) มากนัก ซึ่งแขกเมืองเข้ามามากดังนี้ ด้วยเดชะโพธิสมภาร

นายสิทธิ์ - แขกเมืองจะเข้ามาอีกมากกว่านี้นั้น เห็นยังจะเป็นประการใด ?

พระพรหม - แขกเมืองจะเข้ามาอีกนั้น ย่อมทราบอยู่ในพระไทยพระเจ้า (แผ่นดิน) ทุกประการแล้ว

พระราชปุจฉาสมเด็จพระนารายน์มหาราช (เพิ่มเติมครั้งที่ ๒)

พระราชปุจฉาที่ ๑ ความว่า

พระโคดมบรมโพธิสัตว์ เมื่อเป็นพระเวสสันดรก็ดี พระเมตไตรยโพธิสัตว์ เมื่ออยู่ในชั้นดุสิต หรือเมื่อจุติมาเกิดในมนุษย์ก็ดี จะรู้พระองค์ว่าจะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าหรือไม่ ?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๑ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ถวายวิสัชชนาว่า

พระโคดมโพธิสัตว์ เมื่อเกิดเป็นพระเวสสันดรนั้น พระปัญญาญาณแก่กล้าแล้ว รู้พระองค์ว่าจะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้าเที่ยงแท้ พระเมตไตรยโพธิสัตว์ เมื่ออยู่ในชั้นดุสิตหรือจุติมาเกิดในมนุษย์โลก ก็รู้พระองค์ว่าจะได้ตรัสเป็นพระพุทธเจ้า ดุจพระสมณโคดมเหมือนกัน

พระราชปุจฉาที่ ๒ ไม่มีพระราชปุจฉา แต่รู้ได้จากคำแก้พระราชปุจฉานั้น เข้าใจว่ากล่าวด้วยทศพลญาณ ๑๐ ประการ คืออะไรบ้าง ? ต่างกับสัพพัญญุตญาณอย่างไร ?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๒

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ถวายวิสัชชนา ความที่ ๑ ตั้งบาลีแล้วแปลเป็นข้อ ๆ ไปจนจบ ๑๐ ประการ

พระธรรมไตรโลก ถวายวิสัชชนาความที่ ๒ ตั้งบาลีแต่น้อย และว่าเนื้อความมาก แล้วตอนท้ายถวายวิสัชชนาว่า ทศพลญาณนี้ รู้แต่กิจแห่งตัวเองแต่ละสิ่งๆ ส่วนสัพพัญญุตญาณนั้น รู้อารมณ์ทั้งปวงทั่วไป

พระราชปุจฉาที่ ๓ ไม่มีพระราชปุจฉา แต่เข้าใจว่าปุจฉาโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ

แก้พระราชปุจฉาที่ ๓

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ถวายวิสัชชนา ความที่ ๑ กล่าวแก้ ยกบาลี บอกแต่จำนวนย่อ ๆ

พระธรรมไตรโลก ถวายวิสัชชนา ความที่ ๒ กล่าวแก้ยกบาลีแปลแจงจำนวนพิสดาร

พระราชปุจฉาที่ ๔ ความว่า

เมื่อศาสนาจะสูญไปจากโสฬสมหานครนั้น พระไตรปิฎกทั้งปรงจะสูญไปแห่งใดสิ้น จึงหาผู้ใดร่ำเรียนมิได้ ?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๔

(สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ?) ถวายวิสัชชนา ความที่ ๑ เมื่อก่อนในโสฬสมหานครนั้น พระอรหันต์ปฏิสัมภิทาญาณมีมาก ย่อมทรงพระไตรปิฎกขึ้นใจทุกๆ องค์ กุลบุตรที่เกิดในภายหลัง หาอุปนิสสัยปัจจัยมิได้ มิอาจทรงพระไตรปิฎกไว้ได้ ครั้นอาจารย์นิพพานแล้ว พระไตรปิฎกในโสฬสมหานครจึงอันตรธานไป

พระธรรมไตรโลก ถวายวิสัชชนา (ความที่ ๒) สงฆ์ทั้งปวงผู้ทรงพระไตรปิฎก ย่อมอาศัยจตุปัจจัยแห่งทายก เมื่อมัชฌิมประเทศร่วงโรย สงฆ์จึงไปประชุมกันในปัจจันตประเทศ เหตุจะอาศัยทายกผู้มีศรัทธา เหตุนี้ศาสนาในมัชฌิมประเทศ (โสฬสมหานคร) จึงสูญไป

พระราชปุจฉาที่ ๕ ความว่า

เหตุไรจึงห้ามมิให้บวชคนกะเทย ? และพระอรหันต์นั้นเหมือนคนกะเทยหรือไม่ ?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๕

(สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ?) ถวายวิสัชชนา ความที่ ๑ พระพุทธเจ้าห้ามมิให้บวชคนกะเทยนั้น เพราะเหตุคนกะเทยเป็นอภัพพบุทคล มิควรจะได้มรรคได้ผล เหตุมีกิเลสกล้า พระอรหันต์ต่างกันกับคนกะเทย เพราะคนกะเทยไม่มีของลับ และยังมีราคะ โทสะ โมหะ อวิชชา ตัณหา และบาปธรรมทั้งปวง ส่วนพระอรหันต์นั้น ของลับยังคงมีอยู่ แต่ ราคะ โทสะ โมหะ อวิชชา ตัณหา และบาปธรรมทั้งปวงหามีไม่

พระธรรมไตรโลก ถวายวิสัชชนา ความที่ ๒ มนุษย์ทั้งปวง เป็นไตรเหตุกปฏิสนธิกีมี เป็นทุเหตุกปฏิสนธิกีมี ทั้งสองพวกนี้ พระพุทธเจ้าอนุญาตให้บวชได้ ส่วนคนกะเทยนั้นเป็นอเหตุกปฏิสนธิ พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาตให้บวช และคนกะเทยนั้นยังมีราคะตัณหา มืความกำหนัดตามคดีโลกเหมือนมนุษย์ทั้งปวง ส่วนพระอรหันต์นั้นกิเลสราคะขาดหายไป จึงไม่เหมือนกัน.

----------------------------

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ