ประชุมพระราชปุจฉาภาคที่ ๔ พระราชปุจฉาในรัชกาลที่ ๓

พระราชปุจฉาที่ ๑ แยกข้อความเป็น ๓ ข้อ คือ

ข้อ ๑ การสร้างหอพระในพระราชวังจะควรหรือไม่ ?

ข้อ ๒ การสร้างหอพระกับสร้างพระวิหาร จะมีผลเสมอกันหรือต่างกัน ?

ข้อ ๓ ถ้าจะมีผู้เชิญพระไปไว้ยังพระวิหาร แล้วเข้าอาศัยอยู่ในหอพระหรือรื้อหอพระไปปลูกเสียที่อื่น แล้วปลูกที่อาศัยลงในที่นั้น จะมีโทษหรือไม่ ?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๑ สมเด็จพระสังฆราช พร้อมด้วยสมเด็จพระราชาและพระราชาคณะ ๑๙ รูป ถวายวิสัชชนาว่า

ข้อ ๑ การที่ทรงสร้างหอพระประดับด้วยเงินและทองอันวิจิตร ไว้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธปฏิมากร พระสถูป และพระไตรปิฎก ด้วยพระหฤทัยเลื่อมใสในคุณพระรัตนตรัยนั้น เป็นบุญญาภิสันท์ ไหลหลั่งมาแห่งกองกุศลเป็นเนืองนิตย์ทุกค่ำเช้า หาโทษมิได้ มีแต่กุศลฝ่ายเดียว จะเป็นเหตุให้เสวยสุขสมบัติในสวรรค์โดยแท้

ข้อ ๒ การสร้างหอพระเจ้ากับวิหาร ถ้าประมาณใหญ่น้อยเท่ากัน บริจาคทรัพย์ก่อสร้างมีประมาณเท่ากัน ก็มีผลเสมอกัน ถ้าวิหารใหญ่กว่าหอพระ วิหารมีผลมาก เหตุบริจาคทรัพย์มาก ทั้งประโยคความเพียรยินดีก็มากกว่ากัน

ข้อ ๓ การที่บุทคลมีความเข้าใจดังนั้นแล้ว เข้าอาศัยอยู่ในหอพระนั้น มีโทษ เหตุไม่เคารพ เอาที่อยู่แห่งพระเจ้ามาเป็นที่อยู่แห่งตน ด้วยจิตต์เป็นอกุศล

อนึ่ง การที่จะรื้อหอพระเจ้าไปปลูกไว้ในที่อื่น โดยเคารพ แล้วเอาที่นั้นปลูกเป็นที่อยู่ก็ควร เพราะเดิมมิได้อุทิศถวายไว้ทั้งที่ ถ้าเดิมอุทิศถวายไว้ทั้งที่แล้ว จะรื้อหอพระไปปลูกที่อื่นแล้วปลูกที่อาศัยลงในที่นั้นก็ไม่ควร ถ้าหอพระชำรุดทรุดโทรมลง ควรทำการทะนุบำรุงให้ดีดังเก่า หรือถ้าจะรื้อไปปลูกที่อื่นก็ควรปลูกหอพระลงไว้ให้เหมือนดังเก่าจึงจะควร

พระราชปุจฉาที่ ๒ แยกข้อความเป็น ๓ ข้อ คือ

ข้อ ๑ อากรค่าน้ำและอากรสุราที่พระเจ้าแผ่นดินทรงบัญญัติขึ้น จะเป็นโทษหรือเป็นคุณ ?

ข้อ ๒ พระเจ้าพิมพิสาร และพระเจ้ามหานามจะปราบปรามโจรผู้ร้ายมีให้เกี่ยวข้องแก่ทศอกุศลกรรมบถ และจะเรียกส่วยสาอากรให้ปราศจากมิจฉาชีพนั้น จะวางพระอารมณ์ประการใด ?

ข้อ ๓ ท้ากเวสสวัณมหาราชเป็นพระโสดา จะลงทัณฑกรรมแก่บริวารที่หยาบช้าด้วยกรรมกรณ์อันใด และจะวางพระสติประการใด?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๒ สมเด็จพระสังฆราช พร้อมด้วยสมเด็จพระราชาคณะ และพระราชา คณะ ๒๒ รูป ถวายวิสัชชนาว่า

ข้อ ๑ สมเด็จพระบรมขัติยาธิบดี ซึ่งดำรงแผ่นดินล่วงไปในอดีตนั้น ล้วนกอบด้วยพระมหากรุณาคุณ ทรงพิจารณาเห็นว่า สันดานแห่งสัตว์โลกมักหนาไปด้วยราคะโทสะโมหะ จะข่มขี่ด้วยราชอาชญาโดยกรรมกรณ์ต่างๆ นั้น เกรงจะหนักนัก จึงทรงบัญญัติด้วยราชทัณฑ์สินไหม เพื่อจะบรรเทาโทษแห่งชนที่เสพสุราและกระทำปาณาติบาต ให้กระทำน้อยลงดุจสมเด็จพระมหากรุณาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเห็นคติแห่งพระเทวทัตต์ด้วยพระสัพพัญญุตญาณว่า ถ้ามิได้บรรพชาในพระศาสนาจะกระทำอกุศลกรรมเนืองๆ และจะต้องไปบังเกิดในอบายภูมิสิ้นกาลช้านาน จึงทรงพระมหากรุณาพระราชทานบรรพชาอุปสมบทแก่พระเทวทัตต์ เหตุจะให้บรรเทาเสียซึ่งอกุศลโทษในมหานรกนั้น

อนึ่งข้อที่ทรงพระวิมุติสงสัยในอากรค่าน้ำและอากรสุรา เกรงจะเป็นที่เศร้าหมองแห่งสัมมาอาชีวะนั้น เห็นว่าซึ่งจะเป็นกุศลากุศลกรรมนั้น ก็อาศัยแก่เจตนาเป็นประธาน เมื่อหาเจตนามิได้แล้ว ผลแห่งกุศลและอกศุลนั้นก็มิได้มี

ข้อ ๒ กษัตริย์ทั้งสองพระองค์จางพระอารมณ์มัธยัสถ์อยู่ตามเสกขภูมิ มิได้มีพระกมลเจตนาในอันที่จะทำโทษแก่ผู้ละเมิดพระราชอาชญา แต่มิได้ตัดรอนโบราณราชประเพณี เพื่อรักษาจารีตบรมกษัตริย์ซึ่งดำรงแผ่นดินมาแต่กาลก่อน แม้มีผู้กราบทูลว่าจับโจรผู้ร้ายได้ ก็มีพระราชโองการดำรัสสั่งให้นำไปพิจารณาว่ากล่าวกันเถิด ซึ่งจะปลงพระทัยให้ลงโทษพระราชอาชญานั้นมิได้มีเลย เพราะสันดานแห่งพระโสดา ขาดจากวธกเจตนา

อนึ่ง ข้อที่กษัตริย์ทั้งสองจะวางพระอารมณ์ให้พ้นจากมิจฉาชีพประการใดนั้น ข้อวิสัชชนาเหมือนในบทก่อน

อันกษัตริย์ที่เป็นกัลยาณบุถุชน ประพฤติโดยโบราณจารีตราชบัญญัติมิได้ตัดรอนนั้น ได้ชื่อว่าตั้งอยู่ในอปริหานิยธรรม พระสัพพัญญูเจ้าตรัสสรรเสริญ มิได้ทรงติเตียนว่าเป็นมิจฉาชีพแล้ว จะป่วยกล่าวไปไยถึงกษัตริย์ที่บรรลุพระโสดาเล่า เพราะอำนาจโสดาปัตติมรรคญาณนั้น ฆ่าเสียได้ซึ่งมิจฉาอาชีวะในกองมิจฉัตตธรรมขาดสูญ

ข้อ ๓ ท้าวกุเวรราชโลกบาลบพิตรก็จะกวางพระอารมณ์เหมือนกับพระเจ้าพิมพิสารและพระเจ้ามหานาม ที่ถวายวิสัชชนามาแล้วในข้อ ๒ เพราะพระองค์เป็นพระโสดาด้วยกัน บาปธรรมทั้งปวงที่เป็นส่วนพระโสดาประหารเสียได้ก็ขาดสูญจากพระกมลสันดานเหมือนกัน แต่มิได้ละจารีตพระราชประเพณี มิได้ปลงพระทัยลงในอันจะกระทำกรรมกรณ์อาชญาบรรพสัชด้วยอกุศลเจตนาเลย

พระราชปุจฉาที่ ๓ ความว่า

จะเอาทองพระพุทธรูปวัดมงคลบพิตรซึ่งหักพังอยู่นั้น กับทั้งทองเครื่องประดับสำหรับพระบาง มาหล่อเป็นพระพุทธรูปขึ้นอีกองค์หนึ่ง จะควรหรือไม่ ?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๓ สมเด็จพระสังฆราช พร้อมด้วยสมเด็จพระราชาคณะ และพระราชาคณะ ๑๘ รูป ถวายวิสัชชนาว่า

ถ้าพระเจดีย์ชำรุดทรุดโทรมก็ดี อยู่ในที่ซึ่งหาผู้รักษามิได้ก็ดี ตั้งอยู่ในที่อันมิควรและที่ใกล้มิจฉาทิฏฐิ และที่ใกล้คนอันเป็นบาปก็ดี บุทคลปรารถนาจะให้เป็นบุญ จะทำลายเสียก็ดี จะชะลอมาและจะกระทำด้วยอุบายอันใดอันหนึ่งก็ดี แล้วกระทำให้เป็นปกติดังเก่า ผู้นั้นย่อมได้อานิสงส์มากมายยิ่งนัก ดุจหมออาชีวกโกมารภัจ ซึ่งถวายติขิณโอสถพอกพระบาทสมเด็จพระสัพพัญญูเจ้า เพื่อทำลายพระโลหิตอันห้ออยู่นั้นออกเสียสิ้น แล้วถวายพระโอสถสมานพระมังสะทําให้พระบาทหายแผลเป็นปกติดังเก่า ประกอบด้วยบุญผลานิสงส์เป็นอันมาก

อนึ่งถ้าจะกล่าวถึงพระพุทธรูป ก็มีอรรถาธิบายเหมือนพระเจดีย์นั้น

อีกประการหนึ่ง ซึ่งจะเอาสรรพเครื่องประดับเครื่องบูชาของพระบางนั้นมา ที่ควรจะยุบจะหลอมก็จะยุบจะหลอม ที่ควรจะจำหน่ายได้วัตถุเงินทองมาแล้ว จะหล่อสร้างเป็นพระพุทธรูปขึ้นใหม่อีกพระองค์หนึ่ง เพราะจะมิให้ราชภัยกับอบายทุกข์บังเกิดแก่ฝูงชนที่เป็นโจรนั้น ก็นับเข้าในพระเมตตาบารมีมีผลยิ่งนัก แม้ฉัตรและธงซึ่งเหลือจากบูชาในที่นั้น แล้วนำไปถวายแด่พระเจดีย์องค์อื่นต่อไปอีกก็หาโทษมิได้ดุจกัน

พระราชปุจฉาที่ ๔ ความว่า

สรรพสัตว์ที่เกิดมาในโลก ก็ย่อมถึงความตายเป็นธรรมดา แต่ผู้ที่ยังอยู่นั้นต้องมาวิโยคโศกเศร้าระลึกถึงผู้ตายจนได้เสวยปิยวิปโยคทุกข์ต่างๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ จะว่าผู้ที่รักใคร่อาลัยถึงนั้น ได้ทำบาปอกุศลไว้ประการใด และจะได้พ้นจากปิยวิปโยคทุกข์นั้น จะปรนนิบัติประการใด และผู้ที่เศร้าโศกถึงญาติที่ตายไปแล้วนั้น จะมีประโยชน์อันใดแก่ญาติที่ตายไปแล้วเหล่านั้นบ้างหรือไม่?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๔

พระพิมลธรรม ถวายวิสัชชนา (สำนวนที่ ๑)

บรรดาสัตว์ที่ยังทรงชีวิตอยู่ต้องมาปิยวิปโยคเศร้าโศกถึงผู้ตายนั้น เพราะตนได้กระทำอกุศลกรรม คือ ปาณาติบาตไว้แต่ชาติปางก่อน ครั้นกระทำกาลกิริยาตายแล้ว ก็ไปบังเกิดในอบายภูมิทั้ง ๔ ครั้นจุติจากอบายภูมิแล้ว ก็ขึ้นมาบังเกิดในมนุษยโลก เมื่อมาเกิดนั้นก็อาศัยกุศลเข้าอุปถัมภ์เป็นชนกกรรมนำให้เกิด ครั้นต่อมาผลวิบากนั้นยังไม่สิ้นเข้าเบียดเบียฬตนให้ผลอีก จึงให้วิโยคพลัดพรากจากสัตว์และสังขารอันเป็นที่รัก เมื่อบุทคลจะปฏิบัติให้ปราศจากวิปโยคทุกข์นั้น พึงรักษาศีลให้บริสุทธิ์

อนึ่ง ที่ว่าผลแห่งกุศลที่ได้ทรงบำเพ็ญ และทรงอุทิศพระราชทานแก่ชนทั้งหลาย มิให้ผลเป็นทิฏฐะบ้างนั้น เพราะพระราชกุศลที่พระองค์ทรงบำเพ็ญก็มีผลานิสงส์เป็นเอนกอนันต์ คงจะให้ผลในอนาคตกาล จะจัดเปนทิฏฐธรรมเวทนิยกรรมให้ผลเห็นประจักษ์ในชาตินี้ไม่ได้ โดยจะต้องพร้อมด้วยสัมปทา ๔ ประการ

บุทคลที่เศร้าโศกร่ำไรถึงหมู่ญาติซึ่งดับสูญไปแล้วนั้นมีแต่ทำให้ร่างกายของตนเดือดร้อนอย่างเดียว ญาติที่ดับสูญไปนั้นจะกลับฟื้นคืนมาก็หามิได้

พระวินัยมุนี ถวายวิสัชชนา (สำนวนที่ ๒)

ปิยวิปโยคทุกข์นี้ ย่อมเกิดแต่ความรักเป็นเดิมเหตุ และข้อว่าทรงบำเพ็ญพระราชกุศล แล้วทรงอุทิศพระราชทานแก่สรรพสัตว์ทั้งปวง ไฉนบุญกุศลจึงมิได้ช่วยบำรุงสรรพสัตว์เหล่านั้นให้นิราศจากอันตรายนั้น เพราะกุศลที่บุทคลอื่นกระทำจักให้ผลแก่บุทคลอื่นหามิได้ แม้สรรพสัตว์ทั้งหลายได้รับอนุโมทนาส่วนกุศลก็ดี แต่ปัตตานุโมทนาบุญกิริยาวัตถุนั้นมิได้บังเกิดในปฐมเชาวนะ จึงมิได้เป็นทิฏฐธรรมเวทนิยะ

ผลที่ได้เสวยปิยวิปโยคทุกข์นั้น เพราะทำอกุศลกรรม ๓ ประการ คือ ปาณาติบาต อทินนาทาน และกาเมสุมิจฉาจาร เมื่องดเว้นเสียได้ก็จะไม่เกิดวิปโยคทุกข์

พระราชปุจฉาที่ ๕ แยกข้อความเป็น ๔ ข้อ คือ

ข้อ ๑ ได้บำเพ็ญพระราชกุศลสิ่งใดไว้ จึงได้มาเสวยศิริราชสมบัติ

ข้อ ๒ ด้วยทรงพระปริวิตกถึงสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง และพระพันปีหลวง และพระบรมราชประยูรวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองพระบาท และพระราชพาหนะทั้งปวงว่ายังไม่สมควรที่จะล่วงลับไป ไฉนจึงล่วงลับไป

ข้อ ๓ ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลไว้เป็นอันมาก และได้ทรงแผ่ส่วนพระราชกุศลนั้นแด่สมเด็จพระประยูรวงศานุวงศ์ มีสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเป็นต้น ไฉนพระราชกุศลนั้นจึงไม่ช่วยป้องกันไว้ได้

ข้อ ๔ ว่าจะบำเพ็ญพระราชกุศลสิ่งใด จึงจะมีพระชนม์ยืนนาน แลพรักพร้อมด้วยพระราชโอรสราชธิดา แลพระประยูรวงศานุวงศ์ทั้งปวง

แก้พระราชปุจฉาที่ ๕ พระธรรมเจดีย์ วัดจักรวรรดิราชาวาส ถวายวิสัชชนา ว่า

ข้อ ๑ การที่พระองค์ทรงประพฤติเป็นไปด้วยอำนาจบุญญาภินิหาร หากไตด้ทรงบำเพ็ญมาแต่เบื้องบุริมภพ ดังข้อความในนิธิกัณฑสูตรว่า บุญฺญนิธิ ขุมทอง กล่าวคือบุญนี้ย่อมสำเร็จความปรารถนาแห่งเทพยดาและมนุษย์ทั้งปวง

บุทคลจะได้เป็นอธิบดึ คือได้ขัตติยมหาศาล พราหมณมหาศาล คหบดีมหาศาล เป็นต้นก็ดี บุทคลซึ่งเป็นมนุษย์จะได้เสวยสมบัติทิพย์ในเทวโลกเป็นต้นก็ดี ย่อมได้ด้วยบุญนิธิ ใช่แต่เท่านั้น บุญนิธินี้ยังให้สำเร็จผลตลอดถึงโลกุตตรสมบัติ การที่พระองค์ได้มาเสวยสิริราชสมบัติดังนี้ ก็เพราะอำนาจกุศลราศีที่ได้บำเพ็ญมาแต่ในปางก่อน

ข้อ ๒ ที่เป็นไปเช่นนั้นด้วยอำนาจแห่งกุศลกรรมของท่านที่มีมาแล้วในกาลก่อน มีกระทำปาณาติบาตกรรมเป็นต้น ผู้นั้นเมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ เศษบาปอันเป็นกรรม ๔ ประการอำนวยผลให้ได้ความลำบากเวทนามีประการต่างๆ ไม่รู้แล้ว ให้ผลให้เป็นบุทคลมีอายุสั้นพลันตาย

ส่วนผู้ที่มีอายุยืนนั้น ก็เพราะกุศลที่ตนรักษาศีลปาณาติบาต ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต มีเมตตากรุณาสัตว์ เห็นสัตว์ต้องภัยได้ทุกข์แล้ว ก็คิดอ่านปลดเปลื้องให้พ้นจากความตาย

ข้อ ๓ เพราะอำนาจอกุศลมาตาปิตุฆากรรมมีกำลังกล้า เป็นกรรมาวรณ์ป้องกันซึ่งกุศลทั้งปวงเสีย จะป่วยกล่าวไปไยถึงโลกียปุถุชนเล่า แม้พระมหาโมคคัลลานเถรเจ้า ซึ่งเป็นพระอริยบุทคลอันประเสริฐ โจร ๕๐๐ ยังจับพระผู้เป็นเจ้าประหารให้แหลกได้ สมเด็จพระทศพลญาณยังไม่สามารถเอาพระพุทธานุภาพช่วยได้

ข้อ ๔ บพิตรพระราชสมภารและพระราชโอรสธิดา พระประยูรวงศานุวงศ์ มีพระศรัทธาเชื่อลงในคุณแห่งพระรัตนตรัย บำเพ็ญทานตั้งอยู่ในปัญจางคิกศีล และอัษฎางคิกศีลาจารวัตร ปฏิบัติเหมือนนางวิสาขามาแต่ปุริมชาติ จึงจะมีพระชนม์ยืนนาน และพร้อมด้วยพระราชโอรสธิดาและพระประยูรวงศานุวงศ์

พระราชปุจฉาที่ ๖ ความว่า

สามัคคีรสจะมีคุณประการใด ?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๖ สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะ ๔ รูป ถวายวิสัชชนาว่า

สามัคคิรสนี้มีคุณเป็นเอนกประการ ความสามัคคีคือความพร้อมเพรียงกัน มีพร้อมเพรียงประชุมกันเนืองนิตย์เป็นต้น ย่อมให้ได้สดับข่าวสารร้ายและดี อันบอกมาแต่นิคมคามเขตต์ประเทศต่างๆ ว่าเกิดศึกและเกิดโจรเป็นต้น ฝ่ายปัจจามิตรหมู่โจรทั้งหลาย รู้ข่าวว่าบรมกษัตริย์มิได้ประมาท ก็ไม่สามารถจะพากันกำเริบไต้ พระเกียรติยศก็จะปรากฎไปทั่วทิศานุทิศ ความสามัคคีของหมู่คณะนำความสุขมาให้ การงานทั้งทางโลกและทางธรรม ย่อมสำเร็จผลได้ด้วยความสามัคคี แม้สัตว์ดิรัจฉานมีมดและปลวกเป็นต้น เมื่อมันสามัคคีกันแล้วมนุษย์ยังไม่กล้าทำลายรังของมันได้ สามัคคีมีคุณสังเขปดังนี้

พระราชปุจฉาที่ ๗ ความว่า

ฉันใดจะได้พระภิกษุสามเณรเป็นเปรียญ ให้สมควรแก่พระราชศรัทธา ?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๗

สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะทั้งปวง ถวายวิสัชชนา (ความที่ ๑) ว่า

แก้ว ๕ ประการที่หาได้ยากในโลก ซึ่งสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแก่กษัตริย์ลิจฉวี ใจความว่า ความบังเกิดแห่งพระสรรเพ็ชญ์ผู้เผด็จสรรพกิเลศมาร ตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณโดยอาการมิได้วิปริตนั้น ๑ บุทคลที่สำแดงบอกกล่าวได้ซึ่งพระธรรมวินัยนั้น ๑ บุทคลที่รู้ซึ่งพระธรรมวินัย ที่พระสัพพัญญูตรัสรู้นั้น ๑ บุทคลที่รู้พระธรรมวินัย และบัณฑูรพระธรรมเทศนา อุตสาหะปฏิบัติตามธรรมโมวาทานุศาสน์ได้นั้น ๑ บุทคลกอบด้วยกตัญญูกตเวที ๑ ทั้ง ๕ นี้ล้วนเป็นแก้วหาได้ด้วยยากในโลก และยอมรับสารภาพว่าบกพร่องด้วยการบํารุงพระภิกษุสามเณร ในอันให้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม ขอปฏิญาณว่าแต่นี้ไปจะเอาธุระในการให้พระภิกษุสามเณรได้ศึกษาพระปริยัติธรรมจนกระทั่งสอบไล่ได้ดังพระราชประสงค์

สมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะทั้งปวง ถวายวิสัชชนา (ความที่ ๒) ว่า

อันตราย ๕ ประการ คือ ต้องลิ้นลมแห่งคนพาล แล้วหน่ายรักพระปริยัติไปด้วยเหตุต่างๆ ๑ โรคภัยมารันทำย่ำยี ๑ มาตุคามมาปองเพียรทำให้กุลบุตรสิ้นศรัทธา ๑ มัจจุราชมาครอบงำ ๑ กุศลวาสนาในอดีตและปัจจุบันมิได้มี จึงมิควรที่จะทรงพระไตรปิฎกได้ และมิควรจะรับจตุปัจจัยบูชาแห่งพระมหากษัตริย์ได้ ๑ และรับปฏิญาณว่าจะอุตส่าห์ตักเตือนกุลบุตรที่มีกุศลวาสนา ให้มีศรัทธาความเพียรยิ่งๆ ขึ้นไป

พระราชปุจฉาที่ ๘ แยกข้อความเป็น ๒ ข้อ คือ

ข้อ ๑ ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลมามากแล้ว ยังมีการพระราชกุศลอย่างใดที่พอจะทำได้ แต่ยังไม่ได้ทรงบำเพ็ญบ้าง

ข้อ ๒ คนเข็ญใจมีทรัพย์อยู่เพียงกหาปณะหนึ่ง จะทำบุญสิ่งใด จึงจะได้อานิสงส์มากเท่ากับผู้มีทรัพย์ทำตั้ง ๑๐๐ และ ๑๐๐๐ กหาปณะ

แก้พระราชปุจฉาที่ ๘

ข้อ ๑ ยังไม่พบคำวิสัชชนา

ข้อ ๒ พระพิมลธรรมถวายวิสัชชนาว่า

บุทคลให้ทานมากแก่พระภิกษุสงฆ์มากนั้นให้ผลมากยิ่งโดยวิเศษ ดังข้อความในอรรถกถาว่าบุทคลจำพวกหนึ่งมีศรัทธาน้อยมีทรัพย์มาก บุทคลนั้นไม่อาจกระทำกุศลให้มากได้ บุทคลจำพวกหนึ่งมีศรัทธาน้อยมีทรัพย์น้อย ไม่อาจกระทำกุศลให้มากได้ บุทคลจำพวกหนึ่งมีศรัทธามาก มีทรัพย์น้อย ไม่อาจกระทำกุศลให้มากได้ บุทคลจำพวกหนึ่งมีศรัทธามาก มีทรัพย์มาก อาจกระทำกุศลให้มากได้

พระราชปุจฉาที่ ๙ ความว่า

พระราชปรารภเรื่องพระสงฆ์ไทยห่มผ้าอย่างมอญ

แก้พระราชปุจฉาที่ ๙

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังทรงผนวชได้ทรงทำคำปฏิญาณถวายแด่สมเด็จกรมพระปรมานุชิตฯ ความว่า ขอรับพระราชทานสารภาพโดยสัตย์จริงว่า แต่ก่อนเมื่อเป็นภิกษุหนุ่มแรกบวช กำลังตั้งหน้าแสวงหาความรู้วินัยสิกขา ไปคบหากับสงฆ์พวกศึกษาคิดละเอียดไปต่างๆ ไปฟังพูดกันว่าห่มอย่างรามัญเห็นถูกต้องด้วยเหตุต่างๆ ก็พลอยเห็นไปด้วย แต่ยังมิได้ห่มเอง ครั้นภายหลังพระสงฆ์อื่นห่มเข้าไปในรัง มีรับสั่งถามเลยๆ คิดดีใจไปว่าทรงพระกรุณาโปรดให้ถือตามชอบใจ จึงพลอยทำด้วย ต่อมาโดยรักไปข้างทางสิกขา หาได้นึกถึงพระเกียรติยศและการแผ่นดินไม่ ถ้านึกได้แต่ครั้งนั้น ก็เห็นจะมิได้ประพฤติมา ครั้นต่อมามีศิษย์หามากขึ้นๆ โดยอาศัยพระบารมีที่ทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงจึงคิดเห็นว่า จะประพฤติห่มอย่างรามัญไม่สมควรแก่พระเกียรติยศและประเพณีพระนคร จึงขอประพฤติตามพระราชประสงค์ เพื่อมิให้มีความรําคาญเคืองพระบรมราชอัธยาศัย อนึ่งจะได้สามัคคีกันในระหว่างพระเถระผู้ใหญ่ในเบื้องหน้า

----------------------------

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ