ประชุมพระราชปุจฉา ภาคที่ ๓ พระราชปุจฉาในรัชกาลที่ ๑ ตอนที่ ๒

พระราชปุจฉาที่ ๑๗ ความว่า

ปลาว่ายน้ำตามสำเภาฟังธรรมที่พระสงฆ์อยู่ในสำเภาสังวัธยาย และนกแขกเต้าภาวนาอัฏฐิกรรมฐาน กลับชาติมาเป็นมนุษย์ได้สำเร็จพระอรหัตต์ เพราะอานิสงส์ฟังธรรมและภาวนาอัฏฐิกรรมฐานเท่านั้นหรือ ?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๑๗ สมเด็จพระสังฆราช ถวายวิสัชชนาว่า

ปลาและนกแขกเต้านั้นจะได้พระอรหัตต์ เพราะฟังธรรมและบริกรรมอัฏฐิกรรมฐานแต่เท่านั้นหามิได้ อาศัยบารมีได้สร้างสมอบรมมามากแก่บริบูรณ์แล้ว จึงได้บรรลุพระอรหัตต์ แต่ที่กล่าวเพียงเท่านั้น ว่าเป็นสังเขปกถา

พระราชปุจฉาที่ ๑๘ พระธรรมเจตีย์ถวายเทศนาว่า

สัตว์เกิดในอขณะอสมัย ๘ จำพวก ไม่ควรรักษาพรหมจรรย์ มิผิดกับพระพุทธฎีกาในพระสูตรต่างๆ หรือ

แก้พระราชปุจฉาที่ ๑๘ สมเด็จพระสังฆราช พร้อมด้วยพระราชาคณะ ๖ รูป ถวายวิสัชชนาว่า

ซึ่งพระธรรมเจดีย์ถวายพระธรรมเทศนาว่า สัตวอันเกิดในอขณะอสมัย ๘ จำพวกไม่ควรรักษาพรหมจรรย์นั้น ว่าแต่โดยย่อตามพระบาลี อขณะอสมัยศัพท์นั้นมิได้แปลว่า ไม่ควรจะรักษาพรหมจรรย์ อขณะศัพท์แปลว่าใช่ขณะจะเกิดๆ แล้วเปล่าเสียจากมรรคผล อสมัย แปลว่า ใช่กาลจะตรัสรู้มรรคและผล และคำว่า พรหมจรรย์นั้น มือรรถาธิบายได้ถึง ๑๒ ประการ สัตวที่เกิดในอขณะอสมัยนั้น แม้ถึงจะรักษาพรหมจรรย์ก็ไม่ได้ครบทั้ง ๑๒ ประการ หรือบางพวกก็ไม่ได้เลย คำที่กล่าวว่า อขณะอสมัยนั้นเป็นเยภุยยนัยตามที่เป็นไปโดยมาก

พระราชปุจฉาที่ ๑๙ แยกพระราชปุจฉาออกเป็น ๒ ข้อ คือ

ข้อ ๑ ผู้ร้ายลักทรัพย์ที่เขาถวายไว้เป็นของสงฆ์ จับได้จึงปรับไหมจากผู้ร้ายนั้น ทรัพย์ที่ปรับไหมได้นั้นจะควรทำเป็นประการใดจึงจะพ้นโทษ ?

ข้อ ๒ สัตว์นรกที่กำหนดอายุด้วยพุทธันดรนั้น ถ้าพุทธันดรยาวออกไป สัตว์นั้นจะมิต้องทนทุกข์ทรมานมากไปหรือ ?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๑๙ สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะ ๑๐ รูป ถวายวิสัชชนาว่า

ข้อ ๑ ทรัพย์ที่ปรับไหมได้นั้น แล้วแต่เจตนาของพระเจ้าแผ่นดิน จะเอาไปบูชาพระรัตนตรัยก็ควร

ข้อ ๒ พุทธันดรนั้นหาได้เท่ากันหมดไม่ สัตว์เสวยทุกขเวทนา มีกำหนดช้าบ้าง เร็วบ้าง ตามผลกรรม

พระราชปุจฉาที่ ๒๐ ความว่า

นาคทั้งปวงย่อมกลัวมนตร์ทิพย์ ยาทิพย์ ของอาลัมภายน์ ดุจกล่าวไว้ในจัมไปยนาคราชชาดก และภูริทัตตชาดก แต่เหตุไร พระสุทัศน์และนางอัจจมุขี ก็เป็นชาตินาค จึงเข้าไปเจรจาโต้ตอบกันกับอาลัมภายน์ ซึ่งกำลังสังวัธยายทิพยมนต์อยู่ หาได้กลัวไม่?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๒๐ สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะ ๗ รูป ถวายวิสัชชนาว่า

ทิพยมนต์ของอาลัมภายน์นั้นเป็นทิพยมนต์ครุฑ ได้มาแต่สำนักดาบศ แต่นาคทั้งหลายที่เกิดในสกุลทั้ง ๗ มีสกุลธตรฐเป็นต้น หากลัวครุฑทำอันตรายไม่ นาคที่กลัวครุฑจำเพาะแต่ที่เกิดในสกุลต่ำกว่าสกุลทั้ง ๗ นั้น พระภูริทัตเกิดในสกุลธตรฐ จึงไม่กลัวทิพยมนต์ แต่เพราะเหตุที่จำศีล จึงไม่ทำอันตรายแก่อาลัมภายน์ๆ จึงทำได้ตามปรารถนา เพราะกลัวศีลขาด และพระสุทัศน์กับนางอัจจมุขี ก็เกิดสกุลเดียวกันกับพระภูริทัต จึงมิได้กลัว

พระราชปุจฉาที่ ๒๑ ความว่า

การบรรพชาอุปสมบท ย่อมมีในประเทศต่างๆ คือเมืองเหนือ มอญ ลาว พม่า ว่าอักขระตามภาษาของตนผิดเพี้ยนกับสยามภาษา ที่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายปรึกษากันให้สึกภิกษุลาวเสีย แล้วบวชใหม่ โดยมีบรรพชาโทษ เพราะอักขรวิบัตินั้น มีพระพุทธบัญญัติว่า อักขระภาษาอื่นผิดเพี้ยนไม่เป็นบรรพชาอุปสมบทหรือ ?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๒๑ สมเด็จพระสังฆราช พร้อมด้วยพระราชาคณะ ๗ รูป ถวายวิสัชชนาว่า

ซึ่งกุลบุตรในประเทศเมือง ลาว มอญ พม่า เขมร บรรพชาอุปสมบทในภาษาของตนนั้น ย่อมสวดกรรมตามพระบาลีมคธภาษาอย่างเดียว และนักปราชญ์ต่างๆ ในประเทศเหล่านั้น ย่อมรู้มคธภาษา มิได้สวดให้ผิดอักขระ บรรพชาอุปสมบทนั้นก็สมบูรณ์ นานมากุลบุตรในภายหลังมิได้รู้บาลีว่าอักขระให้ผิดไป บรรพชาอุปสมบทก็ไม่สมบูรณ์ จึงให้สึกเสียแล้วบวชใหม่

พระราชปุจฉาที่ ๒๒ แยกพระราชปุจฉาออกเป็น ๖ ข้อ คือ

ข้อ ๑ คนใบ้หนวก จะอุปสมบทได้หรือไม่ ?

ข้อ ๒ บุทคลว่าอักขระผิดเพี้ยน คือว่า ระ เป็น ละ ฉะ เป็น สะ และมีสูตร โทธสฺสจ ให้อาเทศ ได้อยู่ จะจัดเข้าในบรรพชาอุปสมบทได้หรือไม่ ?

ข้อ ๓ บุทคลกล่าวอักขระเสียงเบาดังเสียงกา เช่นเรื่องพระอุทายี จะสวดปาฏิโมกข์ รับพระไตรสรณคมน์บรรพชาควรหรือไม่ ?

ข้อ ๔ คนพูดไม่ชัด จะดีกว่า คนใบ้ บอด หนวกหรือไม่แลจะบรรพชาอุปสมบทได้หรือไม่ ?

ข้อ ๕ เวลาอุปสมบทก็มิได้ซักถามถึงเรื่องกล่าวอักขระวิปลาศ และคนมีอาพาธ ๕ ประการ แล้วกล่าวปฏิเสธว่าไม่มี จะมิเป็นมุสาหรือ จะอุปสมบทเป็นภิกษุได้หรือไม่ ?

ข้อ ๖ ซึ่งว่าคนใบ้ บอด หนวก บวชได้นั้น พระอุปัชฌาย์ พระกรรมวาจาจารย์ และเจ้าตัวผู้บวช จะสำคัญสิ่งไรจึงจะรู้ว่าอักขระบริบูรณ์ ?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๒๒ สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะ ๒๒ รูป ถวายวิสัชชนาว่า

ข้อ ๑ คนใบ้หนวก มิควรให้บรรพชาอุปสมบท แต่เมื่อให้บรรพชาอุปสมบทแล้ว ก็ย่อมเป็นภิกษุ หากพระแต่พระอุปัชฌาย์ และคณะสงฆ์ผู้ให้บวชเป็นโทษทั้งสิ้น

ข้อ ๒ ถ้าสงฆ์จะให้อุปสมบท อย่าให้ยิดเพี้ยนบทอักขระ พยัญชนะ และกรรม จึงเป็นธรรม ให้บรรพชาเป็นสามเณรพึงกล่าวพระไตรสรณคมน์ให้ถูกต้องทั้งศิษย์และอาจารย์ จึงจะควร อนึ่งถ้าอนุญาตให้อาเทศได้ตามสูตรโทธสฺสจ ในคัมภีร์มูลนั้นแล้ว ภายหลังจะมีผู้อาเทศอักขระในพระไตรสรณคมน์ต่างๆ กัน ได้ตามชอบใจ เห็นไม่สมควร

ข้อ ๓ เรื่องพระอุทายีนั้น ก่อนจะสวคปาฏิโมกข์ก็ได้บอกให้รู้แล้วว่า เสียงของตนเป็นดังนั้น แต่ก็ได้พยายามจะสวดให้ดีอยู่ เมื่อพยายามด้วยเจตนาอันดีแล้ว แม้จะสวดไม่คล่องเบาไป ก็หาโทษมิได้ และพระอุทายีนั้น สวดปาฏิโมกข์ก็ดี ว่าพระไตรสรณคมน์บรรพชาก็ดี จะได้ผิดอักขระหามิได้ หากแต่เสียงดุจเสียงกา ไม่สละสลวยเท่านั้น

ข้อ ๔ คนพูดไม่ชัดเพี้ยนอักขระนั้น ดีกว่าคนใบ้ บอด หนวก เพราะยังจะสอนได้อยู่ บรรพชาอุปสมบทได้

ข้อ ๕ ที่มิได้ถามถึงการกล่าวอักขรวิปลาศในเวลาอุปสมบทก็เพราะว่า การบรรพชาเป็นสามเณรนั้นมีอาจารย์ผู้ให้พระไตรสรณคมน์ชำระมาก่อนแล้ว จึงมิได้ถามซ้ำด้วยเรื่องพระไตรสรณคมน์ ถามถึงอันตรายิกธรรมอันเป็นกิจอุปสมบทต่อไปทีเดียว

คนมีอาพาธ ๕ ประการ เมื่อพระกรรมวาจาจารย์ถาม ก็ปฏิเสธธนั้น หาเป็นมุสาวาทไม่เพราะเป็นคำว่าตามพระพุทธบัญญัติ เช่นเดียวกับถามว่า “มารดาบิดาอนุญาตแล้วหรือ ?” ก็ถ้ามารดาบิดาตายแล้ว จะได้อนุญาตที่ไหน แต่ก็คงรับว่า “อาม ภนฺเต” เหมือนกัน ฉนั้นการที่ผู้นั้นอุปสมบทก็ย่อมเป็นภิกษุ แต่ว่าถ้าสงฆ์รู้ว่าผู้นั้นมีอาพาธ ๕ ประการแล้วให้อุปสมบท ก็เป็นโทษ แต่ถ้าไม่รู้ ก็หาโทษมิได้

ข้อ ๖ คนใบ้ บอด หนวก นั้น มีพระพุทธบัญญัติห้ามมิให้บวชเลย

พระราชปุจฉาที่ ๒๓ ความว่า

คนว่าอัขระวิปลาศนั้น มิโทษประการใด จึงไม่โปรด ถ้าดัดแปลงสั่งสอนมิได้ แล้วจะสวดญัตติให้เป็นภิกษุทีเดียวไม่ได้หรือ ?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๒๓ สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะทั้งปวง ถวายวิสัชชนาว่า

การบรรพชาอุปสมบท ต้องอาศัยพระไตรสรณคมน์เป็นมูล อาจารย์ผู้จะให้ และศิษย์ผู้จะรับต้องว่าให้ถูกอักขระ พยัญชนะ ฐานกรณ์ การบรรพชาอุปสมบทจึงจะบริบูรณ์ แตะคนที่ว่าอักขระวิปลาศ จะพิพากษาเอาว่า มีศรัทธาอุตสาหะอยู่ แต่หากว่าวิปลาศไป ให้บรรพชาอุปสมบทเถิดเช่นนี้เห็นว่ายังเบาไป ไม่ต้องด้วยหลักในพระวินัย จะเป็นทิฏฐานุคติฟั่นเฟือนสืบไป

พระราชปุจฉาที่ ๒๔ แยกพระราชปุจฉาได้ ๒ ข้อ คือ

ข้อ ๑ บุทคลจะบรรพชาเป็นสามเณรนั้น ถ้าว่าพระไตรสรณคมน์มิชัด มิเป็นสามเณร แต่ถ้าผู้นั้นมีศรัทธาตั้งใจมั่นคง ตั้งใจจะรักษาพระไตรสรณคมน์ และศีล ๑๐ จะไม่ดีกว่าผู้ที่ว่าไตรสรณคมน์ชัด แต่ไม่มีศรัทธาปฏิบัติหรือ ?

ข้อ ๒ พระพุทธเจ้าโปรดสัตว์ กำหนดเอาอักขระพยัญชนะเป็นประมาณ หรือกำหนดเอาจิตต์ศรัทธาเป็นประมาณ ?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๒๔ สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะทั้งปวงถวายวิสัชชนาว่า

ข้อ ๑ ตามพระวินัย ภิกษุจะให้บรรพชา ต้องว่าพระไตรสรณคมน์ให้ถูกต้องทั้งอาจารย์และศิษย์ จึงจะเป็นสามเณรทรงไตรสรณคมน์และศีล ๑๐ หาได้ถือเอาศรัทธาอุตสาหะเป็นประมาณไม่ เพราะพระพุทธเจ้าบัญญัติวินัยสิกขาบท หาได้บัญญัติเอาแต่จิตต์สิ่งเดียวเป็นประมาณไม่ ต้องพร้อมด้วยกาย วาจา จิตต์ ส่วนผู้มีศรัทธาจิตต์ แต่ว่าอักขระไม่ชัดไม่ถูก ก็บรรพชาไม่ขึ้น ดีแต่ฝ่ายปฏิบัติ แต่ฝ่ายใดจะดีกว่ากันนั้น ยังไม่พบพระบาลี

ข้อ ๒ พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาในพระไตรปิฎก กำหนดเอาวาสนา ศีล ศรัทธา สติ วิริยะ สมาธิ ปัญญา ของสัตย์เป็นประมาณ แต่การบรรพชาอุปสมบทเป็นพุทธประเวณี เป็นกิจฉะเพาะในพระวินัย

พระราชปุจฉาที่ ๒๕ แยกพระราชปุจฉาเป็น ๔ ข้อ คือ

ข้อ ๑ คนลิ้นคับปาก ไม่สามารถจะว่าอักขระให้ชัดได้ แต่ก่อนได้ทำบาปสิ่งใดไว้ พระพุทธเจ้าจึงมิได้โปรดให้บรรพชาอุปสมบทในศาสนา ?

ข้อ ๒ คนแก่ชราฟันหักก็คงจะว่าอักขระไม่ชัด เหตุไฉนจึงบรรพชาอุปสมบทได้ ?

ข้อ ๓ ทารกซึ่งพอจะเปิบเข้าและขับกาได้ ก็คงยังพูดไม่ชัดเหตุไฉนจึงว่าบรรพชาเป็นสามเณรได้ ?

ข้อ ๔ ภิกษุสามเณร ลาว จีน ญวน เขมร ชาวเหนือ ประเทศต่างๆ บรรดาที่ว่าอักขระไม่ชัด ว่าไม่เป็นภิกษุสามเณรนั้น จะเรียกว่าเป็นอันใด จะมิเป็นเถยยสังวาสลักเพศไปหรือ ? จะมีโทษเป็นอาจิณกรรมอันใดบ้างหรือไม่ ?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๒๕ สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะทั้งปวงถวายวิสัชชนาว่า

ข้อ ๑ คนลิ้นคับปาก พูดไม่ชัดนั้น เกิดแต่อกุศลกรรมที่ตนกล่าววจีทุจริต ๔ เป็นเศษบาปติตมา พระพุทธเจ้าก็โปรดเหมือนกัน แต่โปรดตามวาสนาบารมี แต่ในการบรรพชาอุปสมบท ฉะเพาะให้ว่าอักขระถูกจึงให้บวชได้

ข้อ ๒ คนชราฟันหักว่าอักขระอันเป็นฐานกรณ์เกิดแต่ฟันไม่ชัด บวชเป็นภิกษุได้ แต่เป็นโทษแก่อุปัชฌาย์อาจารย์และคณะสงฆ์ผู้ให้บวช

ข้อ ๓ ซึ่งว่าอนุญาตให้ทารกซึ่งพอจะเปิบเข้าและขับกาได้ให้บรรพชาเป็นสามเณรได้นั้น ฉะเพาะทารกที่ขับกาได้เอง โดยไม่มีผู้สอน และพอจะสอนให้ว่าไตรสรณคมน์ได้ชัด จึงจะอนุญาตให้บรรพชาเป็นสามเณรได้ ทารกอ่อนที่ว่าไม่ชัด ก็หาอนุญาตไม่

ข้อ ๔ ภิกษุสามเณร ลาว จีน ญวน เขมร ประเทศเหนือต่างๆ นั้น เป็นบรรพชาอุปสมบทที่สมมติกันตามประเทศภาษา มิได้พิพากษาว่าเป็นหรือมิเป็น และจะเรียกชื่อว่าอันใด ก็เหลือสติปัญญาพ้นวิสัย จะได้มีโทษในเถยยสังวาสลักเพศหามิได้ เพราะมีเจตนาจะบวช และมีผู้สมมติให้ ไม่ได้นุ่งห่มกาสาวพัสตรเอาเอง หามีโทษอาจิณกรรมอันใดไม่

พระราชปุจฉาที่ ๒๖ ความว่า

ภิกษุเป็นปาราชิก และบุทคลอุปสมบทไม่ขึ้นเป็นอุปัชฌาย์ กรรมวาจา ให้อุปสมบทกุลบุตร จะเป็นภิกษุหรือไม่ และทำสังฆกรรมต่างๆ จะเป็นสังฆกรรมหรือไม่ ?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๒๖ สมเด็จพระสังฆราช พร้อมด้วยพระราชาคณะและฐานานุกรม ๑๒ รูป ถวายวิสัชชนาว่า

ถ้าสงฆ์ไม่รู้ และบุทคลผู้อุปสมบทไม่ขึ้นนั้นเป็นการเกินกว่าองค์ คณะสงฆ์ที่มีบัญญัติให้ทำกรรมนั้นๆ ได้แล้ว จะเป็นอุปัชฌาย์ กรรมวาจา หรือทำสังฆกรรมใด ๆ ก็ดี ก็เป็นอันกระทำและสำเร็จไปด้วยดีทั้งนั้น

พระราชปุจฉาที่ ๒๗ ความว่า

ถ้าผู้เป็นปาราชิกเป็นคู่สวด บวชกุลบุตรเป็นภิกษุได้แล้วจะหัดสวดให้ถูกฐานกรณ์ไปต้องการอะไร ?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๒๗ สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะถวายวิสัชชนาว่า

มีบาลีว่า ถ้าภิกษุจะกล่าวกรรมกาจามิได้บริบูรณ์ กรรมวาจาและอนุสาวนะนั้นดีอยู่ มิได้เป็นปาราชิก กุลบุตรผู้บวชนั้นมิเป็นภิกษุ ถ้ากรรมวาจาอนุสาวนะเป็นปาราชิกกล่าวกรรมวาจาบริบูรณ์ กุลบุตรผู้บวชนั้นก็เป็นภิกษุอันดี เพราะกรรมกาจามีคนทุศีลสวดนั้น ได้ชื่อว่าสงฆ์สวด สวดด้วยอาณัติของสงฆ์ และสงฆ์ก็สำคัญว่า คนทุศีลนั้นเป็นภิกษุดีอยู่

พระราชปุจฉาที่ ๒๘ ความว่า

ผู้ร้ายลักลอกทองพระพุทธรูป และเอาพระพุทธรูปเงินทองไปหล่อหลอมนั้น จะบรรพชาอุปสมบทขึ้นหรือไม่ ?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๒๘ สมเด็จพระราชาคณะ ๒๒ รูป ถวายวิสัชชนาว่า

บุทคลลักลอกทองพระและหล่อหลอมพระพุทธรูปเงินทองนั้นไม่มีบาลีห้ามบรรพชาอุปสมบท แต่เห็นว่าสันดานแห่งคนพวกนี้หยาบช้ายิ่งนัก พระปฏิมากรเป็นทีควรเคารพบูชาของสัตว์โลกยังทำลายได้ กรรมของคนพวกนี้เป็นกรรมหนัก มีโทษมาก เช่นเดียวกับอนันตริยกรรม ถ้าจะให้เข้าบวชในศาสนา สันดานเคยหยาบช้าอยู่ก่อนแล้ว เกรงจะทำกรรมหยาบช้าต่อไปอีก ไม่รักที่จะสงเคราะห์ให้บุทคลจำพวกนี้ได้บรรพชาอุปสมบทในศาสนาเป็นอันขาดทีเดียว

พระราชปุจฉาที่ ๒๙ ความว่า

เศวตฉัตรมีกี่ชั้น ?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๒๙ พระธรรมอุดม พระพุทธโฆษาจารย์ ถวายวิสัชชนาว่า

ในพระบาลียอรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์ศาสนาหลายแห่งกล่าวไว้ต่างๆ กัน บางแห่งก็ว่า เศกตฉัตร ๗ ชั้น บางแห่งก็ว่า เศวตฉัตรมีชั้นเป็นอันมาก บางแห่งก็ว่า ฉัตรชั้นน้อยซ้อนฉัตรชั้นใหญ่ต่อๆ กันขึ้นไปเป็นลำดับ ที่เรียกว่า “ฉัตตาธิฉัตร” บางแห่งก็ว่า เศวตฉัตรประตับด้วยดอกไม้ทอง มีในคัมภีร์ต่างๆ กันดังนี้ จึงเห็นว่า เศวตฉัตรสำหรับราชาภิเศกนั้น มี ๗ ชั้น

พระราชปุจฉาที่ ๓๐ ความว่า

อานิสงส์ที่บุทคลถวายไตรจีจรนั้น จะได้ไตรจีวรลอยมาต่อเมื่อชาติที่จะได้พระนิพพาน ฤๅจะได้ในชาติที่ยังไม่ได้พระนิพพาน ?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๓๐ สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะทั้งปวงถวายวิสัชชนาว่า

บุทคลได้ถวายไตรจีวรนั้น จะได้บาตรไตรจีวรลอยมาในระหว่างชาติที่ยังไม่ได้พระนิพพานนั้น มิได้พบพระบาลี พบแต่ว่าได้เสวยมนุษยสมบัติ สวรรค์สมบัติมีคลังผ้าและไม้กัลปพฤกษ์เป็นต้น ครั้นชาติที่สุด จึงได้บาตรและไตรจีวรอันลอยมาแต่อากาศ เป็นเอหิภิกขุสำเร็จอรหัตต์ในชาตินั้นทีเดียว

พระราชปุจฉาที่ ๓๑ แยกพระราชปุจฉาได้ ๔ ข้อ คือ

ข้อ ๑ พระอรหันต์บางพวก ที่ได้เป็นเอหิภิกขุ ทรงบาตรไตรจีวรเป็นทิพย์ก็มี ที่ไม่ได้ก็มี ที่ต้องเที่ยวแสวงหาไม่ได้จนต้องนิพพานก็มี ท่านทั้ง ๓ จำพวกนี้ได้บำเพ็ญกุศลไว้ต่างกันอย่างไร ?

ข้อ ๒ มีพระบาลีว่า ถ้าบุรุษถวายไตรจีวร อานิสงส์จะได้เป็นเอหิภิกขุ ถ้าสตรี จะได้มหาลดาประสาธน์ และในศาสนานี้ บางนางก็ได้ บางนางก็ไม่ได้ ส่วนนางที่ไม่ได้นั้น ไม่ได้ถวายไตรจีวรไว้แต่ก่อนหรือ ?

ข้อ ๓ บุรุษที่ได้เอหิภิกษุก็มีอยู่ ส่วนสตรีนั้นได้เอหิภิกขุมีบ้างหรือไม่

ข้อ ๔ นางภิกษุณี แม้ถึงจะมีอายุร้อยพรรษา และเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลศแล้วก็ดี ยังต้องไหว้ภิกษุบุถุชนที่บวชใหม่ ข้อนี้สงสัยว่า พระพุทธเจ้าไม่เอาธรรมเป็นประมาณ เอาเพศเป็นประมาณหรือ ?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๓๑ สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะทั้งปวงถวายวิสัชชนาว่า

ข้อ ๑ ผู้ปราถนาเป็นอริยสาวกแล้วในระหว่างบำเพ็ญบารมี ย่อมจะได้ถวายไตรจีวร แต่ที่ได้เป็นเอหิภิกขุได้ทรงไตรจีวรทิพย์ก็ดี ที่ไม่ได้ก็ดี ที่ต้องแสวงหาเอาเองก็ดี ทั้งนี้เป็นด้วยเคยปราถนาไว้เช่นนั้น จึงได้ ถ้ามิได้ปรารถนาไว้ก็ไม่ได้ ส่วนที่แสวงหาไม่ได้จนนิพพานนั้น เป็นด้วยกำลังอกุศลที่ตนได้ทำไว้

ข้อ ๒ สตรีที่ถวายไตรจีวรแล้ว บางนางก็ได้เครื่องประดับมหาลดาประสาธน์ บางนางก็ไม่ได้นั้น ข้อนี้ก็เป็นด้วยความปรารถนา คือ ตั้งความปรารถนาไว้จึงได้ ถ้ามิได้ตั้งไว้ ก็ไม่ได้

ข้อ ๓ สตรีที่เป็นภิกษุณี ได้เอหิภิกขุบรรพชา เอหิภิกขุอุปสมบทนั้น ไม่มีอย่างธรรมเนียมในพระศาสนา

ข้อ ๔ นางภิกษุณีแม้ถึงจะมีอายุร้อยพรรษา และเป็นพระอรหัตต์ ก็ยังต้องไหว้ภิกษุบุถุชนที่บวชใหม่นั้น ข้อนี้เป็นครุธรรมที่นางมหาปชาบดีได้รับไว้ต่อพระพุทธเจ้าแต่คราวขออนุญาตให้สตรีบวชในศาสนาได้ อีกประการหนึ่ง เหตุว่าภูมิธรรมของบุรุษเป็นใหญ่มีคุณมาก เป็นที่ตั้งแห่งพระศาสนา พระพุทธเจ้าจึงมิได้อนุญาตให้ภิกษุณีให้โอวาทแก่ภิกษุ แต่อนุญาตให้ภิกษุให้โอวาทแก่ภิกษุณีได้ และการบวชของนางภิกษุณีต้องสำเร็จด้วยอุภโตสงฆ์คือ ต้องอาศัยภิกษุด้วย แต่การบวชของภิกษุหาได้สำเร็จเพราะภิกษุณีด้วยไม่ ทั้งนี้เป็นกิจในพระวินัย มิได้เอาโลกุตตระเป็นใหญ่แต่ถือวินัยสิกขาบทเป็นใหญ่ เพราะวินัยเป็นอายุพระศาสนา

พระราชปุจฉาที่ ๓๒ ความว่า

บรรดาพระอัครสาวก พระอสีติสาวก และพระปกติสาวก ย่อมสร้างบารมีมาจนสำเร็จอรหัตช้าเร็วกว่ากันตามกำหนด แต่กิริยาอารมณ์ก็เป็นปกติ มิได้ปรากฎว่าหยาบช้าประการใด แต่พระอังคุลิมาลนั้น เกิดในชาติใดๆ ก็ล้วนแต่ปรากฏว่าใจบาปหยาบช้าทำปาณาติบาตโดยมาก จนมาในชาติที่สุดจะได้สำเร็จพระอรหัตต์อยู่แล้ว ก็ยังเป็นโจรฆ่ามนุษย์เสียเป็นอันมาก เมื่อเป็นดังนี้ ที่ว่าพระอังคุลิมาลสร้างบารมีแสนกัลป์นั้น จะว่าเป็นบารมีอย่างไร เอาสิ่งใดมานับเป็นแสนกัลป์บารมี ?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๓๒ สมเด็จพระสังฆราชและพระราชาคณะ ๘ รูป ถวายวิสัชชนาว่า

พระอังคุลิมาลนี้จำเดิมแต่สร้างบารมีมาไม่ว่าชาติใด ปรากฏว่าได้กระทำกรรมอันเป็นบาปหยาบช้าฆ่ามนุษย์ ทำปาณาติบาตก็จริง แต่กรรมอันเป็นบาปนั้น ก็ให้ผลไปทนทุกข์ในอบายภูมิจนสิ้นบาปกรรม และที่ทำบาปหยาบช้าในชาติใด ชาตินั้นจะไม่นับจัดเอาเป็นขาดบารมีหามิได้ อนึ่งพระอังคุลิมาลจะได้หยาบช้าไปทั้งชาตินั้นหามิได้ ย่อมได้พบพระโพธิสัตว์ ได้ฟังเทศนา ได้ละพยศร้ายตั้งอยู่ในศีล ๕-๘ เป็นสุจริตธรรมอันดี นับเป็นบารมีสืบมา และการจะกำหนดบารมีแสนกัลป์นั้น ไม่ได้นับเอาการที่คนทำบุญทำบาปมากกว่ากันในชาตินั้นเป็นประมาณ นับเอากาลอันนานได้แสนกัลป์เป็นประมาณ ถ้าสร้างบารมีครบแสนกัลป์แล้ว ก็ได้สำเร็จอรหัตต์นิพพานทุกองค์ และผู้สร้างบารมีที่จะสำเร็จนั้นประกอบด้วยองค์ ๒ คือ ฉันทตา ปรารถนารักใคร่พอใจในอรหัตตภูมิ ๑ อธิกาโร กระทำบุญให้ทานการกุศล ในสำนักพระอริยเจ้า ๑ เมื่อพรัตมด้วยองค์ ๒ นี้แล้วหากจะประมาทหยาบช้า เมื่อมีผู้ให้สติอารมณ์แล้ว ก็ย่อมกลับตัวได้ ดีกว่าสามัญชน

พระราชปุจฉาที่ ๓๓ แยกพระราชปุจฉาเป็น ๒ ข้อ คือ

ข้อ ๑ มีพระบาลีว่า พระโพธิสัตว์สร้างบารมีบำเพ็ญเบ็ญจมหาบริจาคให้เศียรเป็นทาน ก็มากกว่าผลมะพร้าวในแผ่นดิน ให้พระเนตรเป็นทาน ก็มากกว่าดวงดาวในอากาศเหล่านี้เป็นต้น แต่เมื่อค้นในเรื่องชาดก ทำไมจึงมีน้อยนัด เพียง ๕๕๐ ชาติเท่านั้น ไม่สมกับที่อุปมาไว้

ข้อ ๒ ที่ว่าพระเจ้าอชาตศัตรู ได้ฟังเทศนาสามัญญผลสูตรจบแล้ว สมควรจะได้โสดาปัตติผลในขณะนั้น หากแต่โทษทำปิตุฆาต จึงไม่ได้ แต่กลับว่าจะได้เป็นพระปัจเจกพุทธในภายหน้า ถ้ากระนั้นการที่ปราถนาพระอรหัตต์ ถ้าถึงชาติที่สุด ไม่พอใจในพระอรหัตต์ก็ฆ่าบิดาเสีย จะได้เป็นพระปัจเจกพุทธยิ่งขึ้นไป การฆ่าบิดาก็หาโทษมิได้ฉะนั้นหรือประการใด ?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๓๓ สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะ ๑๕ รูป ถวายวิสัชชนาว่า

ข้อ ๑ การที่กล่าวว่า พระโพธิสัตวบำเพ็ญบารมีมากมายหนักหนา แต่มีชาดกกล่าวไว้เพียง ๕๕๐ ชาตินั้น พระพุทธเจ้านำมาตรัสนั้นน้อย ต่อมีเหตุมีผู้อาราธนาพระองค์ จึงนำมาตรัส ที่หาเหตุมิได้ และไม่มีผู้อาราธนา พระองค์ก็ไม่ได้นำมาตรัสไว้ และที่ไม่ได้นำมาตรัสนั้นมากมายหนักหนา เหตุนี้ชาดกจึงมีแต่เพียง ๕๕๐ ชาติเท่านั้น

ข้อ ๒ ที่ตรัสว่าพระยาอชาตศัตรูได้ฟังสามัญญผลสูตรจบลงควรจะได้พระโสดาในขณะนั้น เช่นนี้ ด้วยสรรเสริญพระบวรพุทธศาสนา และธรรมานุภาพแห่งสามัญญผลสูตร ทั้งพระยาอชาตศัตรูก็ได้บำเพ็ญบารมีปราถนาพระปัจเจกโพธิภูมิไว้แต่ก่อน แต่มิได้เป็นพุทธเวไนย เช่นพระอังคุลิมาลจึงได้ประมาท กระทำปิตุฆาตห้ามมรรคห้ามผลเสีย จึงต้องวับวิบากของกรรมไปทนทุกข์ในโลหกุมภี สิ้นโทษแล้วต้องสร้างบารมีไปใหม่ มิใช่จะได้เป็นปัจเจกโพธิ เพราะทำปิตุฆาต การทำปิตุฆาตนั้นก็มิโทษมากจนถึงห้ามมรรคห้ามผลปรากฏอยู่แล้ว

พระราชปุจฉาที่ ๓๔ ความว่า

ซึ่งว่า พระอัครสาวกสร้างบารมี ๑๐ อสงไขยแสนกัลป์ พระอสีติมหาสาวกสร้างบารมีแสนกัลป์ และพระปกติสาวกสร้างบารมีแสนกัลป์บ้างหย่อนกว่าบ้าง จึงจะสำเร็จความปราถนา แต่พระพุทธเจ้าที่จะมาตรัสในโลกนี้นั้น ไม่เสมอเหมือนกัน บางครากก็เป็นสูญกัลป์ว่างเปล่า ไม่มีพระพุทธเจ้าตรัสไปนับด้วยอสงไขยในสูญกัลป์เช่นนี้ จะปราถนาเป็นอัครสาวก อสีติมหาสาวก ปกติสาวก ต่อฤาษีมุนีให้ทำนายได้หรือไม่ และถ้าผู้สร้างบารมีมากเข้าในสุญกัลปนั้น แม้ไม่มีพระพุทธเจ้ามาตรัส จะได้นิพพานหรือไม่ ถ้าไม่ได้ แทนที่จะเป็น มิต้องนับเอาสูญกัลป์อันว่างเปล่านับด้วยแสนกัลปเข้าด้วยหรือ และที่ว่าปกติสาวกสร้างบารมีหย่อนกว่าแสนกัลป์ได้นิพพานนั้นหย่อนกว่าสักเท่าใด ?

ประการหนึ่งในบาลีอักษรสังขยาว่าในปลายแสนกัลป์ พระโพธิสัตว์ทั้ง ๕ พระองค์สร้างบารมีมาครบเข้าพร้อมกัน แต่ได้พบพระพุทธเจ้าไม่เท่ากัน มากน้อยกว่ากันนั้น เพราะเหตุไร ?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๓๔

พระอัครสาวก พระอสีติมหาสาวก พระพุทธบิดา พระพุทธมารดา พระพุทธอุปัฎฐาก พระพุทธบุตรทั้ง ๕ นี้ เป็นพุทธสหจรจาริก สำหรับประดับพระพุทธเจ้า ถ้าบารมีครบเข้าในอสุญกัลป์ใด และได้พบพระพุทธเจ้าองค์ใด ถ้ามีอุปนิสสัยเข้ากับพระพุทธเจ้าองค์นั้น ก็สำเร็จความปรารถนา ถ้าหาอุปนิสสัยประกอบกับพระพุทธเจ้าองค์นั้นมิได้ ก็ยับยั้งเสวยสุขสมบัติสร้างบารมีไปก่อน เช่นพระพากุลเถระสร้างบารมีมานานเท่าบารมีของพระสารีบุตรอัครสาวก เป็นบารมีอสีติมหาสาวกเกินบารมีของพระปกติสาวกนั้นกำหนดแสนกัลป์ก็มี เกินไปเป็น ๒-๓ อสงไขยแสนกัลป์ก็มี หย่อนลงมาสร้างบารมีเพียง ๙๔ กัลป์ได้สำเร็จนิพพานก็มี เช่นพระสุธาปิณฑิยเถระ การปรารถนาเป็นพระปัจเจกโพธิครั้งแรกต้องปรารถนาในสำนักพระพุทธเจ้าและอริยสาวก ส่วนพระอัครสาวก อสีติมหาสาวก ปกติสาวก ครั้งแรกจะปรารถนาในสำนักพระพุทธเจ้า ในสำนักพระอริยสาวก พระภิกษุบุถุชน หรือในเจดียสถานแห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้ แต่ต้องเป็นภายในพระศาสนา จะปรารถนาในสำนักฤๅษีมุนีนอกศาสนานั้นมิได้ แต่ความสำเร็จตามปรารถนานั้น ย่อมเหลื่อมล้ำในสุญกัลป์ อสุญกัลป์มีอยู่ และพระบาลีในอักษรสังขยานั้นผิดจากพระบาลีในพระสูตร พระปรมัตถ์ พระวินัย จะถือตามมิได้

พระราชปุจฉาที่ ๓๕ ความว่า

บุตรภรรยาพระโพธิสัตว์นั้น เป็นคู่สร้างบารมีกันมาในชาดกอันใด ครั้นกลับชาติมา บุตรก็ได้มาเป็นพระราหุล ภรรยาก็ได้มาเป็นพระพิมพา เหตุไฉนในพุทธสหจร ๖ จำพวก จึงไม่นับภรรยาเข้าด้วย หรือไม่มีสตรีใดปรารถนาเป็นพุทธภริยา ก็ถ้าไม่มีสตรีปรารถนาแล้ว ไฉนจะได้ภรรยามาบำเพ็ญภริยาบริจาค ไฉนจะได้พุทธบุตรเล่า ?

ประการหนึ่ง ที่ว่าพระอริยสาวก สร้างบารมีมาเท่าไรก็ระลึกชาติได้เท่านั้นแล้ว ไฉนจึงมาสรรเสริญมหาอภิญญาว่า ในพระศาสนานี้ มีพระสาวกยิ่งด้วยอภิญญา ฉะเพาะแต่ ๔ องค์ คือ พระอัครสาวกซ้ายขวา พระพิมพา พระพากุลเท่านั้นเล่า ? ส่วนพระพากุลเป็นแต่เพียงอสีติมหาสาวก เหตุใดจึงระลึกชาติได้เท่าพระอัครสาวกเล่า ?

อนึ่ง เหตุไฉนจึงจัดพระบารมีพระพุทธบิดา พระพุทธมารดา พระพุทธบุตร พุทธภริยา ว่าแสนกัลป์เท่ากับพระอสีติมหาสาวก และปกติสาวกเท่านั้นเล่า ? ก็ท่านเหล่านี้ปรากฎว่าได้เป็นคู่สร้างติดพันกันมายืดยาว ควรจะนับเท่าพุทธบารมี

แก้พระราชปุจฉาที่ ๓๕

พระพิมพานั้นเป็นพุทธสหจรคู่สร้างบารมีด้วยกันมาแต่มิได้ยกพุทธภริยาขึ้นว่า ก็เพราะเหตุว่าได้กล่าวถึงพระพุทธบุตรแล้ว ก็เป็นอันกล่าวไปด้วยกัน เพราะไม่มีภรรยาจะมีบุตรได้อย่างไร แต่หากอรรถกถาบาลีมิได้กล่าวไว้ ก็รู้ได้โดยนัยแล้ว

อนึ่งการที่สรรเสริญพระสาวกในพระศาสนานี้ว่า ยิ่งด้วยมหาอภิญญานั้น มิได้จำเพาะพระอริยสาวกองค์ใด หากแต่ว่าในศาสนาพระพุทธเจ้าองค์ ๑ จะมีได้แต่เพียง ๔ องค์ เท่านั้น ที่พระพากุลระลึกชาติได้เท่าพระอัครสาวกนั้น เหตุว่ามีปัญญาระลึกชาติได้ถึงอสงไขยแสนกัลป์ แต่ไม่ได้ปรารถนาเป็นอัครสาวก

พระพุทธบิดา พระพุทธมารดา พระพุทธบุตร พระพุทธภริยา เป็นคู่สร้างกันมาจริง แต่ที่กำหนดเท่ากับพระอสีติมหาสาวก ปกติสาวกนั้น ก็โดยกำหนดมั่นไว้ว่าเพียงแสนกัลป์ก็สำเร็จความปรารถนา แต่ถ้าจะบำเพ็ญให้มากขึ้นไปด้วยประการใด ด้วยอุปนิสสัยติดพันรักใคร่กันมา ก็ยิ่งดีมิได้ห้าม

พระราชปุจฉาที่ ๓๖ ความว่า

ช้างปาเลไลย์ที่ได้ปรนนิบัติพระพุทธเจ้าในคราวไปอยู่ป่า ได้พุทธทำนายว่าเป็นพระโพธิสัตว์ แต่ปรากฏว่าเจรจาภาษามนุษย์ไม่ได้ แต่ไฉนในจามเทวีวงศ์จึงกล่าวว่าพระยากาเผือกเจรจาภาษามนุษย์กับพระอาทิตยราชผู้ครองสมบัติในเมืองละโว้ได้ จะมีเหตุผลเป็นประการใด และกำหนดอายุมนุษย์เท่าใด เดียรฉานจึงจะเจรจาร่วมภาษามนุษย์ได้ ฯ

แก้พระราชปุจฉาที่ ๓๖ สมเด็จพระสังฆราช ถวายวิสัชชนาว่า

ซึ่งจะกำหนดอายุมนุษย์เท่านั้นแล้ว สัตว์เดียรฉานเจรจาร่วมภาษามนุษย์ได้ ไม่ได้นั้น มิได้พบพระบาลี แต่ที่พระยากาเผือกมาเทศนาแก่พระยาอาทิตยราชด้วยภาษามนุษย์นั้นเป็นด้วยพุทธานุภาพของพระพุทธเจ้ารู้แจ้งเหตุด้วยพระสัพพัญญุตญาณ เช่นเดียวกับปลาตะเพียนทองพูดภาษามนุษย์ได้ในเรื่อง กบิลภิกษุ ในพระธรรมบท

พระราชปุจฉาที่ ๓๗ ความว่า

ที่ว่าพระพุทธเจ้า พระปรัตเยกโพธิเจ้า และพระยาบรมจักรพรรดิ ย่อมไม่บังเกิดในสุญกัลป์ แต่เหตุไฉนจึงว่าพระพุทธเจ้าตรัสทำนายนายสุมนมาลาการ พระเทวทัต และนกเค้า ว่าจะไต้ตรัสเป็นพระปรัตเยกโพธิในอนาคต นับแต่ภัทรกัลป์นี้ไปแสนกัลป์ จะมิเป็นพระปรัตเยกโพธิในสุญกัลป์ไปหรือ มืความเป็นสองเงื่อนอยู่ ด้วยเหตุผลเป็นประการใด ?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๓๗ สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะ ๑๑ รูป ถวายวิสัชชนาว่า

ข้อที่ว่า นายสุมนมาลาการ พระเทวทัต และนกเค้าได้พุทธทำนายว่า จะได้เป็นพระปรัตเยกโพธิ ในที่สุดแสนกัลป์ แต่ภัทรกัลป์นี้ไปนั้น เป็นอันเป็นพระปรัตเยกโพธิในสุญกัลป์ เพราะพระพุทธฎีกาที่ตรัสว่า ในสุญกัลป์หาพระปรัตเยกโพธิ พระยาบรมจักรพรรดิบังเกิดมิได้นั้น กล่าวโดยเยภุยยนัย ที่เป็นไปโดยมาก ที่มาเกิดสุญกัลป์ก็มีบ้าง แต่เป็นส่วนน้อย เช่นพระปทุมปรัตเยกโพธิ เกิดในสุญกัลป์ระหว่างศาสนาพระพุทธวิปัสสี กับพระพุทธสิขีต่อกันนั้น

พระราชปุจฉาที่ ๓๘ ความว่า

ธรรมดาสัตว์ตัวเมียมีนกสาลิกา โนรี เป็ด ไก่ ห่าน เป็นต้น มิได้สัมผัสตัวผู้ ก็มีฟองไข่ได้ แต่ฟักไม่เป็นตัวด้วยเหตุไร เมื่อต้มทุบต่อยฆ่าเสีย จะเป็นปาณาติบาตหรือไม่ ?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๓๘ สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะ ๙ รูป ถวายวิสัชชนาว่า

เพราะเหตุว่า สัตว์ตัวเมียเหล่านั้นมิได้สัมผัสด้วยสัตว์ตัวผู้ตามประเวณี ราคจิตต์ยินดีนั้นน้อย เพราะราคจิตต์อ่อนสัตว์จึงมิได้เกิดเป็นตัว แต่ก็นับว่าเกิดเป็นฟอง มีปฏิสนธิวิญญาณอยู่ ถ้ายังมิเปื่อยเน่า ทุบต่อยก็เป็นปาณาติบาต ถ้าสัตว์นั้นจุติสูญไปแล้ว จึงไม่เป็นปาณาติบาต

พระราชปุจฉาที่ ๓๙ ความว่า

มีพระราชกุศลเจตนาโสมนัสศรัทธาจะทรงฟังพระวินัยปิฎก จะควรด้วยพระบรมพุทธาธิบายหรือไม่ประการใด ?

แก้พระราชปุจฉาที่ ๓๙ สมเด็จพระสังฆราช และพระราชาคณะฐานานุกรม ๑๘ รูป ถวายวิสัชชนาว่า

ซึ่งอนุปสัมบัน คือ สามเณรเละฆราวาสจะฟังพระวินัยมิได้นั้น เป็นบุราณคติ ไม่พบพระบาลี บัดนี้ได้พบเนื้อความในปฐมสามนต์และคัมภีร์มหาวงศ์ต้องกันว่า พระเจ้าเทวานัมปิยดิส พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ และราชบริษัท ในลังกาทวีปทรงสดับฟังพระวินัยที่พระมหาอริฏฐเถระเจ้าสำแดงในชุมนุมภิกษุ มีพระมหินทรเถระเป็นประธานในถูปาราม

บัดนี้สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภาร ผู้เป็นศาสนูปถัมภ์ปรารถนาจะฟังพระวินัยปิฎก ก็ควรโดยพุทธจักรอาณาจักร์อยู่แล้ว.

----------------------------

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ