อธิบายประเพณีมีพระราชปุจฉา

ประเพณีมีพระราชปุจฉา คือ ที่พระเจ้าแผ่นดินมีรับสั่งถามข้ออัตถธรรมซึ่งทรงสงสัย ให้พระราชาคณะแต่บางรูป ฤๅประชุมกันถวายวิสัชนานี้ เข้าใจว่าจะมีมาแต่โบราณทีเดียว ส่วนประเทศอื่นยังไม่ได้พบหนังสือพระราชปุจฉา นอกจากความที่ปรากฎในพระสูตร ว่ามีพระเจ้าแผ่นดินบางพระองค์ไปทูลถามข้ออัตถธรรมแก่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า กับหนังสือเรื่องมิลินทปัญหาซึ่งปรากฎว่า พระเจ้ามิลินท์ทรงซักไซ้พระนาคเสนด้วยข้ออัตถธรรมต่างๆ เปนอย่างวิจิตรพิศดาร ว่าในส่วนสยามประเทศนี้ ประเพณีมีพระราชปุจฉามีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยายังเปนราชธานี มีหนังสือพระราชปุจฉาและข้อความที่พระสงฆ์ถวายวิสัชนาปรากฎอยู่หลายเรื่อง มาถึงชั้นกรุงรัตนโกสินทร์นี้ปรากฎว่า มีพระราชปุจฉาเมื่อรัชกาลที่ ๑ มากกว่ารัชกาลอื่นๆ แต่ที่หอพระสมุด ฯ รวบรวมฉบับได้ถึง ๓๘ เรื่อง

เหตุที่มีพระราชปุจฉาเมื่อรัชกาลที่ ๑ มากกว่ารัชกาลอื่น ๆ นั้น เข้าใจว่าเปนเพราะเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าข้าศึก พระไตรปิฎกและสงฆมณฑลเปนอันตรายไปเสียมาก ในครั้งกรุงธนบุรีต้องเสาะแสวงหาพระไตรปิฎกและพระภิกษุซึ่งทรงธรรมวินัยแต่หัวเมืองใหญ่น้อย มารวบรวมเปนหลักในฝ่ายพระพุทธจักร์ขึ้นใหม่ หนังสือพระไตรปิฎกก็ดี ความรอบรู้พระธรรมวินัยของพระภิกษุสงฆ์ซึ่งเปนพระราชาคณะขึ้นชั้นใหม่ก็ดี ยังบกพร่องอยู่มาก ซ้ำมาเกิดจลาจลขึ้นในสงฆมณฑล เมื่อชั้นปลายสมัยกรุงธนบุรีเปนราชธานี ถึงรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จ ฯ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จึงต้องทรงขวนขวายทำนุบำรุงพระพุทธจักร ซึ่งเศร้าหมองด้วยเหตุดังกล่าวมา ในส่วนคัมภีร์พระธรรมวินัยทรงพยายามทำสังคายนา และสร้างพระไตรปิฎกขึ้นทั้งฉบับหลวง และพระราชทานอนุญาตให้ลอกคัดไปไว้สำหรับพระภิกษุสงฆ์เล่าเรียนในพระอารามทั้งปวงอิกหลายฉบับ คงเกิดแต่มีพระราชประสงค์จะให้พระราชาคณะเอาใจใส่ตรวจตราพระไตรปิฎกให้มีความรู้แตกฉานในพระธรรมวินัย จึงได้มีพระราชปุจฉาในข้ออัตถธรรมต่าง ๆ ให้พระราชาคณะถวายวิสัชนา เพราะการที่จะถวายวิสัชนาจำต้องค้นหาหลักเปนที่อ้างในคัมภีร์ต่างๆ ซึ่งรวบรวมอยู่ในพระไตรปิฎก และจำต้องเอาใจใส่อ่านพระไตรปิฎกจึงจะถวายวิสัชนาได้สดวก ถ้าไม่มีพระราชปุจฉา พระราชาคณะก็จะอ่านพระไตรปิฎกน้อยลง จึงได้มีพระราชปุจฉาบ่อยๆ

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลหลังๆ ก็ทรงประพฤติตามแบบอย่างครั้งรัชกาลที่ ๑ ต่อมา แต่หนังสือพระราชปุจฉาฉบับกระจัดกระจาย ทราบจำนวนไม่ได้แน่ว่าจะมีในรัชกาลไหนเท่าใด หอพระสมุด ฯ มีแต่ฉบับซึ่งรวบรวมหาได้มาแต่ที่ต่างๆ พระราชปุจฉาครั้งรัชกาลที่ ๒ ยังไม่พบฉบับเลย แต่พระราชปุจฉาครั้งรัชกาลที่ ๓ พบ ๑๐ เรื่อง พระราชปุจฉาครั้งรัชกาลที่ ๔ พบแต่ตัวพระราชปุจฉาเรื่อง ๑ แต่หาพบวิสัชนาไม่ เข้าใจว่าในรัชกาลที่ ๔ จะไม่ใคร่มีพระราชปุจฉานัก เพราะการเล่าเรียนพระไตรปิฎกเฟื่องฟูมาแต่ครั้งพระบาทสมเด็จ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงผนวชอยู่ในรัชกาลที่ ๓ เหตุที่จะทรงพระปริวิตกว่าพระราชาคณะไม่เอาใจใส่ศึกษาพระไตรปิฎกไม่มีอย่างเมื่อรัชกาลที่ ๑ ส่วนพระองค์ก็ทรงทราบแตกฉานพระไตรปิฎก จะหาผู้เสมอเหมือนมิได้ จึงปรากฎเปนพระบรมราชาธิบายเสียเองโดยมาก มาในรัชกาลที่ ๕ ปรากฎพระราชปุจฉาแต่ ๒ เรื่อง ดูเหมือนเปนแต่การที่จะทรงรักษาราชประเพณีซึ่งเคยมีมาแต่ก่อนให้คงอยู่

หนังสือพระราชปุจฉาและวิสัชนาเปนหนังสือที่น่าอ่านทุก ๆ เรื่อง เพราะพระราชปุจฉาย่อมเกิดแต่เรื่องความสงสัยในข้ออัตถธรรม ฝ่ายวิสัชนาก็อธิบายโดยประสงค์จะให้แลเห็นว่าความที่ถูกต้องเปนเช่นนั้น ๆ อาศรัยหลักฐานอย่างนั้นๆ เปนที่อ้าง จึงควรเปนเครื่องประดับสติปัญญาของผู้อ่านทั่วไปไม่เลือกหน้า

การที่พิมพ์หนังสือประชุมพระราชปุจฉาซึ่งกำหนดว่าจะพิมพ์เปน ๕ ภาคนั้น คือ

ภาคที่ ๑ พระราชปุจฉาครั้งกรุงเก่า

ภาคที่ ๒ พระราชปุจฉาครั้งรัชกาลที่ ๑ (ตอน ๑)

ภาคที่ ๓ พระราชปุจฉาครั้งรัชกาลที่ ๑ (ตอน ๒)

ภาคที่ ๔ พระราชปุจฉาครั้งรัชกาลที่ ๓

ภาคที่ ๕ พระราชปุจฉาครั้งรัชกาลที่ ๔ กับที่ ๕

ในสมุดเล่มนี้เปนภาคที่ ๔ คือพระราชปุจฉารัชกาลที่ ๔ กับที่ ๕ มีจำนวนพระราชปุจฉารวม ๙ เรื่องด้วยกัน รายเรื่องและปีที่มีพระราชปุจฉาแจ้งอยู่ในสารบานต่อไปนี้

ด.ร.

แชร์ชวนกันอ่าน

แจ้งคำสะกดผิดและข้อผิดพลาด หรือคำแนะนำต่างๆ ได้ ที่นี่ค่ะ